ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ถ้ารู้

๒๙ ก.ย. ๒๕๕๕

 

ถ้ารู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๑๖๔. ข้อ ๑๑๖๕. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๑๑๖๖. เรื่อง “สองจิต สองใจในการปฏิบัติครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ขณะนี้ผมภาวนาโดยการกำหนดลมชัดๆ ไว้ที่บริเวณปากที่ใกล้กับรูจมูก ได้ประมาณสักครึ่งชั่วโมงก็ปรากฏนิมิตเป็นวงแขนซ้ายของผม ตั้งแต่ไหล่ไปจนสุดที่นิ้วมือนะครับ พิจารณาดูแล้วเกิดความรู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่งว่า วงแขนนี้มันเรียว อีกทั้งมีผิวที่ขาวเกลี้ยงและเรียบเนียนเป็นอย่างยิ่ง พลิกดูก็ยิ่งพอใจในความประณีต สะอาด สวยงามของวงแขน เพียงแค่นั้นกลับเห็นแขนมีสีเขียวเจือปนเข้ามาเต็มแขน

ทีแรกก็งงๆ ว่าที่เขียวๆ ทั้งแขนนั้นมันเป็นอะไร ยิ่งงงก็ยิ่งเขียวให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้นเองครับผมเข้าใจเลย “เฮ้ย นี่มันเน่านี่หว่า” วงแขนมันเน่าไปด้วย ผมก็ช็อกอยู่ภายในจิต แต่กลับดีครับ เพราะไม่ต้องบังคับจิตให้มันไม่เอา ไม่ต้องบังคับจิตให้มันปล่อย แต่มันปล่อยของมันเอง มันเจียมเนื้อเจียมตัว สันโดษ ไม่เอาอะไรเลยสักอย่างด้วยตัวของมันเอง เกิดความรู้สึกที่ว่าชีวิตไม่มีปมปัญหาคาใจอะไรเลย สบายมาก พร้อมกับเกิดความรู้ด้วยว่า

การที่คนเราทำอะไรทุกอย่างในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะรับประทาน จะคิด ล้วนแต่เป็นสิ่งที่โอเว่อร์เกินความจำเป็นทั้งสิ้น แล้วก็รับวิบากกรรมของการกระทำเกินความจำเป็นนั้น ทำให้จิตใจตนเองว้าวุ่น จะเข้าสู่มรรคก็ยาก และส่วนใหญ่ก็จะทำการกระทบกระทั่งจิตของผู้อื่นด้วย ก็เนื่องจากความยึดติดกับกายอันละเอียดของตน โดยติดข้องว่าสวยงาม ละเมียดละไมเป็นอย่างยิ่ง เช่นนั้นเองจึงใคร่ขอความเมตตาจากหลวงพ่อเพื่อถามคำถามครับ

กล่าวคือ พอจิตมันปล่อยแล้วดังที่อธิบายมาข้างต้น ผมก็กำหนดอยู่กับจิตที่อยู่ในสภาวะปล่อยมาแล้วได้คู่ใหญ่ๆ เลยครับ แล้วสังเกตพบว่า จิตที่ปล่อยมีสภาวะหรือสถานะอะไรบางอย่างที่จิตยังติดอยู่ (ทราบได้จากการยึดนั้นมันมีน้ำหนักแตกต่างบนจิตนะครับ) ยังไม่ทันได้ใคร่ครวญ ก็เป็นจังหวะระดับสมาธิมันก็ลดลงมาเสียก่อน ก็เลยหาคำตอบไม่พบ เพราะสภาวะที่ติดข้องมันหายไปเลย จับอะไรไม่ได้ ผมก็เลยสองจิตสองใจว่า (คำถามนะ)

๑. ผมจะกำหนดจิตไว้ที่จิตเพื่อดูสภาวะที่จิตติดข้องสถานะหรือสภาวะใด หรือว่าผมจะพิจารณากายเหมือนเดิมดี แล้วถ้าจะพิจารณากายก็เหมือนเดิมใช่หรือไม่ครับ จึงไม่ค่อยแน่ใจว่าจะต้องมุ่งไปที่ตัวพลังงานตัวที่มันสัมผัส แล้วรับรู้ตัวนั้นเลยหรือเปล่าถึงจะถูกต้อง ให้อธิบายด้วย

ตอบ : ฉะนั้น พอจะอธิบายมันต้องอธิบายอย่างนี้ อธิบายถ้าเวลาเราภาวนากัน เห็นไหม เราภาวนากันโดยเริ่มต้นนี่กำปั้นทุบดิน คือความคิดโลกๆ ความคิดแบบดิบๆ พอความคิดดิบๆ เราก็คิดประสาของเราไป แล้วจินตนาการไป นี่จินตมยปัญญา จินตนาการเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จินตนาการไป พอจินตนาการไปมันก็มีความเศร้า มีความสลด นี้มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง เหมือนกับว่าเรามีความสำนึก ถ้าเราไม่มีความสำนึกเราก็ทำแต่ตามอารมณ์ของเรา แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา ใช้ปัญญาของเรามันก็มีความสำนึก มันรู้ทันความรู้สึกนึกคิด มันก็มีความเศร้า มันก็มีการกระทำ มันก็มีการสลดสังเวช มันเป็นเรื่องธรรมดา

อันนี้เป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นแหละ แต่เวลาเราจะปฏิบัติกันจริงๆ เราต้องทำความสงบของใจ ถ้าทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบจริง พอใจสงบแล้วถ้ามันออกใช้ปัญญาไม่เป็น มันสงบแล้วมันก็เสื่อมมันก็คลายออกมา แล้วเราก็ทำความสงบของใจนี้เป็นฐาน ถ้าทำความสงบของใจเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา นี่ใช้ปัญญาของเรา ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้ามันใช้ปัญญาของเราเพื่อกลับมาทำความสงบได้ง่ายขึ้น

เราทำความสงบของใจบางทีมันก็สงบ แล้วบางทีทำแล้วมันไม่ได้เรื่อง ทำอย่างไรมันก็ไม่ได้เรื่อง ทำอย่างไรมันก็ไม่ได้เรื่องสักอย่าง เห็นไหม แล้วมันก็ติดขัดไปหมดเลย เพราะอะไร? เพราะเราทำไม่ถูกทาง เราทำแล้วเราไม่เข้าใจตัวเราเอง แต่เราฝึกหัดใช้ปัญญาก็เพื่อเหตุนี้ไง ถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันก็จะมาแยกแยะ ปัญญามันจะเข้ามาพิจารณาของมัน ถ้าพิจารณาของมันแล้ว เวลามันทำความสงบได้ง่ายขึ้น พอทำความสงบได้ง่ายขึ้น มันทำความสงบได้ง่ายขึ้น

“นี่รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

เป็นบ่วงของมาร มันเป็นทั้งบ่วง เป็นทั้งพวงดอกไม้ เป็นพวงดอกไม้คือมันพอใจ เป็นพวงดอกไม้ เห็นไหม เชิดชู ดีงาม ปฏิบัติแล้วดี ปฏิบัติแล้วคนดี ดีไปหมดเลย นี่พวงดอกไม้แห่งมาร แล้วเป็นบ่วงของมารล่ะ? เป็นบ่วงของมาร เวลาปฏิบัติไปแล้วไม่ได้ผลเลย ทำอะไรก็ติดขัดไปหมดเลย ทำอะไรก็เดือดเนื้อร้อนใจไปหมดเลย

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

พอเราใช้ปัญญา ปัญญามันก็มาพิจารณาตรงนี้ ตรงที่รูป รส กลิ่น เสียงมันก็สักแต่ว่าเป็นของมัน แล้วเราไปติดทำไม? แล้วพอไปยึดติดก็ไปยึดติดรูป รส กลิ่น เสียงทำไม? ก็รูป รส กลิ่น เสียงทั้งนั้นที่ไปยึดติด นี่ถ้ามีปัญญามันแยกแยะตรงนี้ พอมันแยกแยะเข้ามาก็ทำความสงบได้ง่ายขึ้นๆ นี่คือทำความสงบของใจขั้นของสมถะ ที่เขาบอกพุทโธ พุทโธไม่มีความหมาย พุทโธไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญานี่ฝึกหัดไปก่อน ฝึกหัดไปก่อน พอฝึกหัดของเราไป พอพิจารณาไป พอจิตมันสงบ จิตมันมีหลักเกณฑ์ของมัน พอจิตสงบมีหลักเกณฑ์ของมัน นี่มันเห็นวงแขน

เราบอกเห็นนิมิต บอกว่าติดในนิมิต นิมิตที่รู้เห็นเรื่องเทวดา เรื่องอินทร์ เรื่องพรหม เรื่องภพชาติ นั่นนิมิตส่งออกหมด แต่ถ้านิมิตเห็นเป็นกายล่ะ? นิมิตเห็นโครงกระดูกล่ะ? นิมิตเห็นเป็นก้อนเนื้อล่ะ? เห็นไหม ถ้าเห็นกาย นี่ถ้าเห็นกายโดยโลกๆ เราก็จินตนาการเอาได้ ไม่ต้องไปคุยกับหมอนะ หมอนี่โครงสร้างเรื่องร่างกายเขาทะลุปรุโปร่งหมดเลย จะพูดอะไรเขาเข้าใจไปหมด พระนี่ถ้าอธิบายเรื่องร่างกายสู้หมอไม่ได้หรอก หมออธิบายดีกว่าเยอะเลย นี่มันอธิบายด้วยโลกๆ ไง ด้วยทางวิชาการ

ทีนี้พอว่าเห็นกายๆ เห็นกายอย่างไร? การเห็นกาย ถ้าเห็นกายโดยความเข้าใจ เห็นไหม หมอเขาดีกว่าเราอีก แต่ถ้ามันเห็นกายโดยจิต ถ้าจิตมันสงบนี่เราภาวนามาเรื่อย ภาวนามา เวลาผู้ถามเมื่อก่อนว่าจิตมันจะดีอย่างนั้น มันก็ดีของมัน แล้วพอดีของมันมันไม่มีตัณหา คือมันไม่คาดหมายไง ไม่มีสัญญา ไม่รู้คำตอบก่อน ธรรมชาติเรารู้คำตอบหมดเลย กายก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่กาย กิเลสก็รู้ทัน นี่โจทย์รู้หมดเลย แล้วภาวนาไม่ได้เรื่อง

กิเลสมันรู้หมด นี่มันเรื่องโลกๆ ไง เรื่องโลกๆ ศึกษาธรรมะมาก็โลกๆ ทั้งนั้นแหละ แต่พอปฏิบัติไป พอจิตมันสงบแล้วเราไม่คาดหมายอะไรเลย พอไม่คาดหมาย เวลาจิตมันสงบแล้วนี่เขาว่า “เห็นวงแขนมันเรียว มีทั้งผิวสีขาวเกลี้ยง มันเรียบเนียน มันเป็นสิ่งที่สวยงาม วงแขนนี้ทำไมสะอาด ประณีตขนาดนี้”

โอ๋ย มันปลื้มใจนะ พอมันปลื้มใจ พอมันเห็นจริงขึ้นมา

“เฮ้ย นี่มันเน่านี่หว่า เขียวๆ นี่มันจะเน่า”

พอมันจะเน่าขึ้นมา เห็นไหม พอมันจะเน่าไม่ต้องบอกเลยจิตมันปล่อยพั่บ พอจิตมันปล่อยพั่บ พอมันปล่อยเอง โอ้โฮ จิตมันปล่อยเอง ไม่ต้องบังคับ นี่มันปล่อยของมัน มันเจียมเนื้อเจียมตัว มันสันโดษ มันไม่เอาอะไรเลยทุกอย่าง มันรู้ในตัวของมันเอง มันปล่อยแล้ว ยถาภูตัง เกิดญาณทัศนะ พอปล่อยแล้วมันยังรู้ตัวมันเอง รู้ถึงว่าเราปล่อย เราวาง นี่เวลาเห็นจริงเป็นอย่างนี้ ความเห็นจริงมันเป็นแบบนี้ ถ้าความเห็นจริงเป็นแบบนี้มันก็ปล่อย นี่พอปล่อยแล้ว ถ้าปล่อยแล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? พอปล่อยแล้วเราก็อยู่กับสิ่งนั้น เดี๋ยวมันก็คลายออกมา

การคลายออกมานะ นี่ถ้ารู้ไม่ต้องถามใครเลย ถ้ารู้นะ ถ้ารู้โดยมีสติปัญญาเพราะมันรู้ ถ้ารู้ตามความเป็นจริง ถ้ารู้ ถ้าไม่รู้ล่ะ? ถ้าไม่รู้นี่เก่งมากนะ พอถ้าไม่รู้ โอ้โฮ ปัญญามันเยอะไง กายมันเป็นอย่างนั้น ความเห็นเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่รู้นะมันพูดไปปากเปียก ปากแฉะเลย ถ้ารู้พูดไม่ออก มันเป็นโดยตัวมันเอง มันเจียมเนื้อ เจียมตัว มันสันโดษ มันไม่เอาอะไรเลย มันรู้โดยตัวของมันเอง มันเข้าใจตัวมันทั้งหมดเลย ถ้ารู้ ถ้าไม่รู้นะ โอ้โฮ เห็นกายนะมันเป็นไตรลักษณ์ โอ๋ย มันแปรสภาพนะ มันสลายไปหมดเลย โอ๋ย มันปล่อยวาง นี่ถ้าไม่รู้ ปากเปียกปากแฉะมันโม้ได้ทั้งวันเลย ถ้ารู้พูดไม่ออกเลย นี่ถ้ารู้

ทีนี้ถ้ามันรู้แล้ว แล้วถ้ารู้ทำอย่างไรต่อไป? การกระทำของเรานะ พอมันปล่อยแล้วก็คือปล่อย เห็นไหม มันปล่อยแล้วนี่เราเป็นทารกมาทุกคน เรานั่งกันอยู่นี่เราเป็นเด็กมาก่อน ตอนนี้เราเป็นใคร? เราเป็นผู้ใหญ่ ถ้าคนมีอายุมากตอนนี้เราแก่เฒ่าแล้ว การแก่เฒ่าแล้ว สิ่งที่มันได้มา สิ่งที่เรานั่งอยู่ในปัจจุบันนี้ ตั้งแต่เมื่อวานไปมันเป็นอดีตหมดใช่ไหม? สิ่งที่มันรู้มันเห็นมันเป็นอดีตไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว พอมันเป็นอดีตไปแล้วมันก็ต้องเริ่มทำใหม่ เริ่มทำใหม่ นี่แนวทางในการปฏิบัติ ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านยึดหลักตรงนี้ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเคยปฏิบัติมา ท่านล้มลุกคลุกคลานมา

การเห็นอย่างนี้ถูกไหม? ถูก แล้วเป็นอย่างไรล่ะ? มันก็เป็นประสบการณ์เท่านั้น มันไม่มีอะไรจะเป็นเนื้อเป็นหนังเลย ถ้าในการปฏิบัติ ถ้าจะเอาสิ้นสุดแห่งทุกข์ไม่ใช่เป็นเนื้อเป็นหนังเลย แต่ถ้ามันเป็นธรรมล่ะ? ถ้าเป็นธรรมนะ ประสบการณ์ชีวิตอย่างนี้มันฝังใจไปจนตายเลย นี่สิ่งที่รู้มันฝังใจไปจนตาย ถ้าเราเคยทำได้ขนาดนี้ ใครทำสมาธิได้ แล้วพอมันเสื่อมไปทำสมาธิไม่ได้อีกเลย สมาธิเคยทำได้มันรู้เลยว่าสมาธิเป็นแบบนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราสงบแล้วเราเห็นกาย นี่เห็นกาย เห็นกายโดยที่ไม่มีการจัดตั้ง ไม่รู้ผลมันก่อน ไม่รู้อะไรเลย มันเกิดขึ้นมา นี่แขนมันเรียวมาก มันสวยงามมาก อันนี้คือความเข้าใจของเราไง เพราะเราเห็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ความเป็นจริงของมันเพราะจิตมันเร็ว จิตถ้ามันเห็นมันเร็ว เพราะจิตมันเร็วนะ ดูหลวงตาท่านพูดสิ เวลาท่านพิจารณาอสุภะ พอกำหนดปั๊บหายปั๊บ มันไวมาก ไวมากเพราะอะไร?

ทีแรกถ้าจิตมันดีๆ นะตั้งไว้ได้ แล้วมันพิจารณามันจะแยกแยะมันได้ แต่พอมันชำนาญเข้าๆ ภาพที่มันอยู่ไกลมันอยู่ใกล้เข้ามาๆ ใกล้เข้ามาจนภาพนั้นกับจิตนี้เป็นอันเดียวกัน พอภาพกับจิตเป็นอันเดียวกันมันจะเกิดพั่บๆ พั่บๆ จนตั้งไว้ไม่ได้เลย กำหนดทีแรกมันจะสลายลงทันที กำหนดปั๊บมันจะสลายลงทันที มันจะไป นี่เห็นไหม มันก็ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ท่านถึงจับมาตั้งไว้ให้ได้ จับตั้งให้พิจารณาของมันไป นี่ถ้าภาวนาไปแล้วมันจะมีประสบการณ์อย่างนี้ไง ประสบการณ์นะ ถ้าเป็นขิปปาภิญญา การเห็นเรียวแขนนี่นะ ถ้าพิจารณาไปแล้ว ถ้ามันลงลึกแล้วมันสมุจเฉทปหาน มันขาดพั่บ นี่สักกายทิฏฐิมันจะขาดเลย สังโยชน์ไม่ใช่เรา กายไม่ใช่เรา สังโยชน์มันจะขาดไป แต่นี่มันไม่ขาด รู้ๆ นี่มันไม่ขาด

๑. มันไม่ขาด โดยข้อเท็จจริงมันไม่ขาด

๒. เรารู้ๆ เลยว่ามันเหมือนสภาวะ มันมีอะไรอยู่แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ

นี่มันมีอยู่ มันยังมีสิ่งที่ยังคาอยู่ในใจ สิ่งที่เราพิจารณามาถูกต้อง แต่มันมีอะไรคาอยู่ แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ? ทำอย่างไรต่อ? อ้าว ถ้าพูดถึงทางวิชาการนะ ถ้าคนไม่เคยมีประสบการณ์นะ อ้าว ก็พิจารณากายแล้วไง ก็ปล่อยกายแล้วไง นี่โสดาบัน แล้วพิจารณาอีกทีนี่นะสกิทาคามี พิจารณาอีกที มันปล่อยอีกทีเป็นอนาคามี ถ้าพิจารณาอีกที ปล่อยอีกทีหนึ่งนะเป็นพระอรหันต์ เพราะอะไร? มรรค ๔ ผล ๔ ปล่อย ๔ หน พิจารณา ๔ หน ปล่อย ๔ หนเป็นพระอรหันต์

ไม่จริง คนมีประสบการณ์มันตทังคปหานคือการปล่อยวางโดยชั่วคราวอย่างหนึ่ง ถ้ามันสมุจเฉทปหาน มันขาดตามความเป็นจริงมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วเป็นอีกอย่างหนึ่งอย่างไรล่ะ? อย่างไรถึงเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่งคือรสของธรรมไง คือความลึกซึ้ง จิตที่มันเป็น จิตที่มันรู้ มันเห็นตามความเป็นจริงของมัน

ฉะนั้น เวลาทำไปแล้วมันต้องขยันไปเรื่อยๆ นี่เวลาปฏิบัติไป คนจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ สิ่งที่มันผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป นี่ที่เห็นเรียวแขนมันสวย มันงามมันผ่านไปแล้ว คราวหน้าทำความสงบของใจเข้ามาอีก แล้วถ้ามันพิจารณา พอมันสงบแล้วนี่รำพึง รำพึงให้เห็นกาย ถ้าเห็น เพราะคำว่ารำพึงให้เห็นกายมันจะขึ้นมาเอง ถ้ามันจะขึ้นมาเอง เวลามันขึ้นมาเองนะขึ้นเป็นตับ ขึ้นเป็นลำไส้ ขึ้นเป็นกระดูก ขึ้นเป็นกะโหลกศีรษะ

เวลามันขึ้น ถ้าเป็นปัจจุบันเราตั้งโจทย์ไม่ได้มันมาเอง เราเลือกดูช่องทีวีไม่ได้ ทีวีมันจะมาตามที่ว่าคลื่นมันตรงมันมาเอง แต่เราไม่พอใจช่องนี้ เราจะดูช่องอื่น คือว่าคนพิจารณากายแล้วว่าต้องกายเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ พิจารณากายคือกาย แต่มันจะเห็นกายโดยส่วนใด? บางทีเห็นเต็มร่างเลย บางทีเห็นเป็นซากศพ ซากศพนี่มันนอนอยู่ให้เห็นๆ เลย บางทีนะเวลาพิจารณาไปมันจะย่อยสลายไปเหลือสิ่งใด ถ้าเหลือสิ่งใดนี่กำลังมันไม่พอ กำลังไม่พอ พิจารณาไปแล้วมันไม่ถึงที่สุด

อย่างเช่นเราทำงานนี่ทำงานมาเรื่อยๆ แต่มันไม่เสร็จ ไม่เสร็จเพราะเราเหนื่อย พอจิตมันเหนื่อยมันจะไปอีกไม่ได้ วางแล้วกลับมาที่พุทโธเลย สร้างกำลังใหม่ แล้วกลับไปทำใหม่ แต่ถ้าเป็นงานทางโลกวางไม่ได้ วางแล้วมันไม่เสร็จ วางแล้วมันคาอยู่ นั่นเป็นความคิดของโลก แต่ถ้าเราวางแล้วกลับมาที่พุทโธ แล้วพอพุทโธจิตมันสงบแล้วเรากลับไปเริ่มต้น เริ่มต้นมันก็ไปเห็นภาพใหม่ก็ได้ เห็นภาพเดิมก็ได้ เพราะมันทำต่อเนื่อง แล้วพิจารณาไป แยกแยะมันไป ถ้าแยกแยะมันไปพอเวลามันปล่อย เห็นไหม ปล่อยมาแล้ว มันปล่อยแล้วนี่คำถามว่า

ถาม : มันเหมือนสภาวะ มันเหมือนกับมีสิ่งใดอยู่

ตอบ : ไอ้คำนี้มันเป็นคำคือเป้าหมายของเรา คือว่าเวลาปล่อยแล้วต้องไม่มีเหลืออะไรเลย เวลาปล่อยแล้วต้องสะอาดบริสุทธิ์ไปเลย นี่คือความคิดของเราไง แล้วความคิดอันนี้มันฝังใจ ถ้ามันฝังใจ มันทำสิ่งใดก็เหมือนคนเรา นี่คนเราแบบว่าจิตใต้สำนึกมีปมในใจ ทำอะไรมันก็ลงปมอันนี้ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ จะไปไหนกลับมานะมันก็ลงที่ปมในใจอันนี้ จะไปไหนมาก็กลับมาลงปมในใจอันนี้ เหมือนกับเราเวลานั่งสมาธิ เห็นไหม กลืนน้ำลาย อึก! จะทำอะไรก็ อึก! อึก! อยู่อย่างนั้นแหละ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอถ้ามันคาใจอยู่ตรงนี้นะ มันก็คาอยู่อย่างนั้นแหละ ยิ่งคาใจอย่างนี้นะกิเลสมันยิ่งเข้มแข็ง กิเลสมันยิ่งหนาแน่น นี่เราทำของเราให้มันสะอาดบริสุทธิ์ หน้าที่ของเรานะเราพิจารณาของเราไป สิ่งที่พอบอกว่า “นี่มันเน่านี่หว่า” อันนี้มันเป็นธรรม มันเป็นธรรมเพราะมันเห็นตามนั้น แต่เริ่มต้นมันยังไม่ชำนาญ ถ้ามันชำนาญนะ นี่มันเน่านี่หว่า มันก็ปล่อย ปล่อยพอจิตสงบไปนะมันก็เห็นกายอีก ถ้ามันเห็นกายนะ แล้วถ้าไม่เห็นกายล่ะ?

มันเป็นปัญหาตรงนี้ไง ถ้าจิตเราสงบแล้วถ้าไม่เห็นกายล่ะ? แล้วไม่เห็นกายจะดักดานหากายไปหาที่ไหนล่ะ? ถ้าไม่เห็นกาย กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้ามันไม่เห็นกายนะ ถ้าไม่เห็นกายมันก็หงุดหงิด ความหงุดหงิดนี้เป็นเวทนาหรือเปล่า? ก็จับตรงนี้พิจารณาได้ ถ้าเราอยากรู้ อยากเห็น แต่มันรู้เห็นไม่ได้มันก็มีความหงุดหงิด มันก็มีความไม่พอใจ นี้เป็นเวทนาไหม? เวทนาจิต เวทนา นี่คือเวทนา หงุดหงิด ขัดข้อง ไม่พอใจนั่นแหละคือเวทนา

ถ้าจับเวทนาก็พิจารณาสิ หงุดหงิดทำไม? อะไรทำให้หงุดหงิด อ๋อ อยากได้ใช่ไหมถึงหงุดหงิด อยากภาวนาให้เป็นใช่ไหม? แล้วมันไม่เป็นก็หงุดหงิด อ้าว พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ถ้ามันไม่เห็นกาย เราพิจารณาของเราคือฝึกฝนใช้ปัญญาของเราไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามันเห็นกายล่ะ? สิ่งใดสิ่งหนึ่งในขณะนั้น ถ้าเห็นกายนะ

นี่กรณีนี้นี่คือธรรมะมาสอน ธรรมะมาสอนคือขึ้นให้เห็น ขึ้นให้รู้เลย แล้วเวลาขึ้นให้รู้ ให้เห็นนี่พิจารณาไป เห็นไหม แล้วผลของมัน มันรู้ของมันนะ แต่นี้เป็นการประหารชั่วคราวคือตทังคปหาน แล้วการตทังคปหานมันต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนกับนักฟุตบอลมันจะยิงลูกโทษมันฝึกมาแล้ว ฝึกมาอีก อังกฤษมันแพ้ยิงลูกโทษนะ ยิงลูกโทษทีไรแพ้ทุกที เพราะอะไร? ฝึกแล้วก็ยังแพ้ จะไปแข่งนี่ฝึกยิงลูกโทษอย่างเดียวเลย เวลาไปแข่งแพ้อีกแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน นี่เราพิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก ฝึกหัดของเราไป นี่ทำอย่างไรต่อไป? มันก็ต้องฝึกหัดพิจารณาซ้ำๆ แล้วมันจะเหลือสิ่งใด ไม่เหลือสิ่งใดมันไม่ใช่หน้าที่ของเรา มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา เพราะกิเลสของคนมีหยาบ มีละเอียด ถ้ากิเลสคนหยาบๆ ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ากิเลสของคนละเอียดนะ มันละเอียดอ่อนจะทำอย่างไร?

นี่การกระทำ เขาถามว่า

ถาม : ทำอย่างไรต่อไป?

ตอบ : ถ้ามันทำต่อไป ถ้ารู้ ถ้ารู้นะมันจะรู้ของมันจริง นี่ถ้ารู้ นี่เริ่มรู้ แล้วถ้ารู้แล้ว ถ้ารู้แต่มันยังไม่ถึงที่สุดเราก็ต้องมีความขยันหมั่นเพียร เราพูดบ่อยมาก เวลาคำถามที่ไปถามหลวงตาไง

“นี่ที่ทำมาอย่างนี้ถูกต้องไหม?”

“ถูก”

“แล้วทำอย่างไรต่อไป”

หลวงตาบอก “ซ้ำ ทำซ้ำลงไป พิจารณาซ้ำลงไปๆ”

ก็คือประสบการณ์ไง พิจารณากายแล้วก็พิจารณาซ้ำไปอีก พิจารณากายแล้วก็พิจารณาซ้ำเข้าไปอีก เพราะมันยังมีเศษส่วนที่เหลือในใจ คือในใจเรามันยังมีสิ่งใดอยู่ นั่นล่ะคือกิเลส แล้วกิเลสมันเป็นนามธรรม มันก็อาศัยสิ่งนี้ อาศัยกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นเครื่องแสดงออก เราก็พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมก็เข้าไปถึงตัวมัน พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม นั่นแหละเท่ากับพิจารณากิเลส เพราะกิเลสมันก็อาศัยสิ่งนี้เป็นการแสดงออก สิ่งนี้เป็นความรู้สึก เราก็พิจารณาสิ่งที่เป็นความรู้สึกนี้เข้าไปสู่ตัวมัน ถ้าเข้าไปสู่ตัวมันก็ซ้ำๆ ซ้ำๆ เข้าไป จนละเอียดเข้าไป เดี๋ยวจะเขียนมาถามอีก ถ้าละเอียดเข้าไปแล้วนะ แล้วมันเป็นอย่างไรต่อ? มันเป็นอย่างไรต่อ?

คำว่าเป็นอย่างไรต่อนะมันเป็นจริตนิสัย แล้วถ้าคนพิจารณากาย เพราะผู้ที่พิจารณาเขาเคยมีประสบการณ์ของเขา ถ้าพิจารณากายก็คิดว่าตัวเองจะพิจารณากายซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น การพิจารณากายนะอย่างเช่นหลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะพิจารณากายของท่าน หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกพิจารณากายโดยที่ไม่เห็นภาพ การพิจารณากายด้วยปัญญา กับการพิจารณากายด้วยนิมิต ด้วยสิ่งที่เรารู้เราเห็น เราพิจารณาของเรา รู้เห็นชัดเจนกับพิจารณาโดยปัญญาเปรียบเทียบ

ปัญญาเปรียบเทียบ เห็นไหม นี่พิจารณากายมันก็มีซอย มีแบบว่าแตกแขนงออกไปอีกในการชำนาญของคน ฉะนั้น พิจารณากาย แล้วถ้ามันเห็นขึ้นมาเราก็พิจารณา แล้วถ้ามันไม่มีล่ะ? มันไม่มีเราก็พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ธรรมารมณ์ ฉะนั้น สิ่งที่ทำไปนี่ทำไป เขาว่า

ถาม : จึงขอความเมตตาหลวงพ่อถึงคำถาม คือจิตมันปล่อยแล้วดั่งข้างต้น แต่ผมกำหนดจิตอยู่ในสภาวะที่มันปล่อยวางสักครู่ใหญ่ๆ ครับ

ตอบ : นี่เห็นเป็นสภาวะนั้น กำหนดจิตถ้ามันปล่อยแล้วหยุดอยู่กับผู้รู้นั้น แล้วสักพักหนึ่งมันก็จะคลายออก พอคลายออกแล้วมาทบทวนสิ พอคลายออกเรานั่งสมาธิ เราเดินจงกรม เราพิจารณาถึงการกระทำของเรา สิ่งที่เคยรู้เคยเห็นมาอย่างหนึ่ง แล้วที่เห็น ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วนี่ลึกที่สุดที่เคยเห็น เพราะมันเห็นจริง สิ่งที่เห็นๆ มามันเห็นเป็นเลือนราง เห็นสภาวะเป็นนิมิต เป็นภาพต่างๆ คือมันบอกถึงคุณภาพจิต ถ้าจิตของเรานะ ถ้าไม่สงบเข้ามามันจะไม่เห็นอย่างนั้น ถ้าเห็นอย่างนั้นนะ รถถ้าไม่ขยับ ไมล์มันไม่ขยับ ถ้ารถมันขยับไมล์มันขยับ นี้เพียงแต่รถวิ่งเร็วหรือวิ่งช้า เข็มไมล์มันจะบอกระยะ บอกว่าความเร็วเท่าไหร่

จิต จิตถ้ามันสงบแล้ว มันรู้เห็นต่างๆ มันบอกว่าจิตนี้แตกต่างกับปกติของจิต เพราะปกติของจิตเราก็รู้เห็นตามวิทยาศาสตร์ ตามที่รู้เห็นอย่างนี้ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันรู้เห็นไม่เป็นแบบนี้ รู้เห็นอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม มันบอกถึงระยะ แต่พอมันเห็นแขนนี่ชัดๆ เลย แต่ชัดๆ นี้เรารู้โดยแบบว่าส้มหล่น รู้ส้มหล่น เอ๊ะ นี่มันเน่านี่หว่า เราไม่ได้พิจารณาให้มันเน่าไง ถ้าเราพิจารณานะ เราใช้กำลังเราพิจารณาแยกแยะไป เราเป็นผู้ควบคุม

ไอ้นี่เห็นเรียวแขนสวยงามมาก แต่พอเข้าใจว่า เฮ้ย นี่มันเน่านี่หว่า มันรวบรัด เฮ้ย นี่มันเน่านี่หว่า ก็เลยตื่นเต้น ก็เลยปล่อย แต่ถ้าเป็นการพิจารณานะ มันเป็นเรียวแขนใช่ไหม? เรียวแขนมันจะอยู่ของมันอย่างนี้ได้ไหม? ถ้าเรียวแขนใช้เวลาแล้วมันจะเน่าไปไหม? ฉะนั้น เน่าแล้วพอลอกหนังออกไปมันเห็นเนื้อไหม? ถ้าลอกเนื้อไปมันจะเหลือกระดูกไหม? กระดูกมันจะทลายลงอย่างใด? นี่ถ้ามันพิจารณาซ้ำเข้าไปอย่างนี้มันจะชัดเจนกว่า แล้วมันจะได้ความลึกซึ้งมากกว่า ก็พิจารณาซ้ำๆ เข้าไป ซ้ำเข้าไปนะ ซ้ำ ทำซ้ำๆ เข้าไป พอซ้ำเข้าไป โอ้โฮ หลวงพ่อมันน่าเบื่อหน่าย อะไรก็ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นแหละไม่มีรสชาติอะไรเลย

การซ้ำๆ คือความชำนาญ คนที่ชำนาญควบคุมงานนั้นได้ คนที่ไม่มีความชำนาญในงานนั้น นี่ทำเลียนแบบเขาไป ความละเอียดรอบคอบมันไม่เหมือนกัน ถ้าความละเอียดรอบคอบไม่เหมือนกัน แล้วเราจะไปชำระกิเลสได้อย่างไรล่ะ?

ถาม : ผมจะกำหนดจิตไว้ที่จิตเพื่อดูสภาวะที่จิตติดข้องสถานะ หรือสภาวะใด หรือว่าผมควรจะพิจารณากายเหมือนเดิมดีครับ

ตอบ : พิจารณาจิตนะถ้าความถนัด ถ้าพิจารณากาย ถ้าคนไม่ถนัดมันก็ไม่ก้าวเดิน ถ้าพิจารณาจิตมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะมันพิจารณาแล้ว พิจารณาความรู้สึกนึกคิดมันก็ปล่อยเข้ามาๆ ก็ฝึกหัดของมันไป ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจับจิตไม่ได้เราก็พิจารณากาย ถ้าพิจารณากายโดยที่เรารำพึงขึ้นมานั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง พิจารณากายอย่างที่ว่าเห็นเรียวแขน นี่เราไม่ได้รำพึงเลยมันมาเอง

มันมาเองมันเป็นการบอกอำนาจวาสนาของคน คนที่มีอำนาจวาสนา พอจิตสงบนะมันจะเห็นกาย เห็นต่างๆ โดยความเป็นจริง แต่ถ้าคนไม่มี เห็นไหม เราไม่มีวาสนา เราเป็นคนทุกข์ คนยาก เป็นคนขี้ทุกข์ขี้ยาก แต่เราก็พยายามหาเงินของเรา พอมีเงินแล้วเราจะไปซื้อของเขา เขาจะบอกว่า โอ้โฮ ไอ้นี่มันขี้ทุกข์ขี้ยาก มันจะมีเงินที่ไหน? เขาไม่ขายให้หรอก แต่ถ้าเศรษฐีเดินผ่านมานะเขาจะรีบขายให้เลย เพราะเศรษฐีมันมีสตางค์ แต่เราขี้ทุกข์ขี้ยาก แต่เราหาเงินได้นะ จะไปซื้อของเขาเขาไม่ขายนะ เขากลัวเราไม่มีเงินจ่าย

จิตก็เหมือนกัน จิตเรามันขี้ทุกข์ขี้ยาก กว่ามันจะทำความสงบขึ้นมา พอจิตสงบเข้าไปแล้วถ้ามันไม่เห็นกายล่ะ? ไปซื้อของเขาเขาก็ไม่ขายให้ รำพึงสิ นี่มีสตางค์นะ เงินสดนะ จ่ายสดนะ นี่ก็เหมือนกัน รำพึงให้มันมีขึ้นมา นี่วาสนาคนไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเศรษฐีนะ อยู่บ้านเขาก็มาเสนอขาย อยู่บ้านเขามาแล้วสินค้านี่ดีทุกอย่างเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีอำนาจวาสนา พอจิตสงบ กายมาเลย เห็นกายเลยนะ พอเห็นกายพิจารณาของเราไปเลย แต่ถ้าเราเป็นคนขี้ทุกข์ขี้ยาก ขี้ทุกข์ขี้ยากเพราะเราสร้างของเรามาแบบนี้ ถ้าขี้ทุกข์ขี้ยากนะ จิตสงบขนาดไหนมันก็ไม่รู้ไม่เห็นของมัน แล้วทำอย่างไร? ทำอย่างไร? มันอึดอัดไปหมดเลย ก็รำพึง รำพึงของเราขึ้นมา ถ้ามันรำพึงไม่ได้เราก็กำหนดพุทโธของเราไปเรื่อยๆ ให้ละเอียดเข้าไป แล้วถ้าเราปฏิบัติของเรา ถ้าเรากำหนดให้จิตอยู่ที่สภาวะนั้น สภาวะนั้นมันผ่านไปแล้วล่ะ ให้จิตใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

คำว่าสภาวะๆ เขาเข้าใจว่านี่คือตัวภพ นี่คือตัวกิเลส เราก็ว่านี่เป็นตัวกิเลส เห็นไหม เจ้าหน้าที่จะไปจับผู้ร้าย จะไปจับโจร ก็ชี้ไปหมดเลยคนนี้ก็น่าสงสัย คนนี้ก็น่าสงสัย คนนี้ก็น่าสงสัย มันจับเขาทั่วบ้านเลยล่ะ นี่ก็เป็นสภาวะ นั่นก็เป็นสภาวะ นี่ก็เป็นสภาวะ สภาวะมันก็คือความรู้สึก แล้วเราจะไปจับใครล่ะ? เราจะจับโจรใช่ไหม เราก็ต้องว่าคนๆ นี้กล้องวงจรปิดเขาจับภาพไว้ ภาพนี่แสดงแล้วลักษณะคนเป็นแบบนี้ ถ้าคนเป็นแบบนี้ นี่ถูกเหมือนกับภาพเลย ก็จับมาสอบสวน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เราก็จับมาสอบสวน ไอ้สภาวะๆ นั่นน่ะเราสงสัยไปหมด คนนี้เป็นโจร คนนี้เป็นโจร คนนี้เป็นโจร แต่จริงหรือเปล่า? เป็นโจรจริงหรือเปล่า? นี่ก็เหมือนกัน เราไปผูกมัดกันไว้เองไง เราไปเชื่อข้อมูลของเราเองไงว่าสภาวะแบบนี้คือกิเลส ตัวนี้เป็นตัวภพ ต้องทำลายตัวนี้ให้ได้ นี่มันก็หลอกไปเรื่อยๆ มันจะหลอกเราไปเรื่อยๆ แล้วหลอกไปเรื่อยๆ ก็จะเขียนมาถามเรื่อยๆ เพราะไอ้ภวาสวะ ไอ้ภพ ไอ้ต่างๆ นี่เขียนมาบ่อย

ทีนี้คำว่าเขียนมาบ่อยก็นี่ไง เพราะอะไร? เพราะมีครูบาอาจารย์ใช่ไหม? นี่ครูบาอาจารย์ก็เป็นผู้ที่ชี้นำ ถ้าการชี้นำ สภาวะก็คือสภาวะ แต่ถ้าเราจับกาย เวทนา จิต ธรรมได้ เราพิจารณาเข้าไป เพราะกาย เวทนา จิต ธรรมมันเกิดจากสภาวะนั่นแหละ ไม่มีสภาวะนั้นมันก็เกิดกาย เกิดเวทนา เกิดจิต เกิดธรรมไม่ได้ ถ้าเกิดเวทนา เกิดจิต เกิดธรรม เราก็จับเวทนา จับจิต จับธรรมพิจารณา มันก็กลับเข้าไปสู่สภาวะนั้น เขาพิจารณากันแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเราปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่เราจะมุมานะเข้าไปเอาสภาวะ เอาภพ เอากิเลสมาฆ่า แล้วไปเจอมันที่ไหนล่ะ?

ยังดีนะกิเลสมันไม่หลอกให้หัวปั่นเลย เข้าไปหากิเลสนะกิเลสมันจะสร้างภาพลวงไว้ให้ อันนี้ทำแล้ว อันนี้ทำแล้ว อันนี้ทำแล้ว ฉันเป็นพระอรหันต์ เวลากิเลสมันลวงขึ้นมานะเดี๋ยวจะรู้จัก นี้การปฏิบัติเราคิดว่าเราจะฆ่ากิเลส แต่ตามความเป็นจริงนะคนปฏิบัติเขารู้ว่ากิเลสมันจะหลอกลวงได้ขนาดไหน แต่จะรู้ว่ากิเลสหลอกลวงเราต้องฆ่ากิเลสได้จริง เราถึงจะรู้จักว่ามันหลอกลวงขนาดไหน แต่ถ้าเรายังไม่ได้ฆ่ากิเลส นั่นน่ะมันหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา ถ้ารู้มันจะเป็นประโยชน์แบบนี้ แล้วปฏิบัติต่อเนื่องกันไป

ถ้ารู้แล้ว ความรู้นี้คือประสบการณ์ของเรา เราปฏิบัติแล้วเราได้ข้อเท็จจริงของเรา แล้วเราปฏิบัติต่อเนื่องไป แล้วถ้ารู้อีกมันจะรู้ที่ละเอียดกว่านี้ ละเอียดลึกซึ้งกว่านี้ ละเอียดเข้าไปจนถึงเนื้อของจิต แล้วไปทำลายกันที่นั่น พอทำลายที่นั่น เห็นไหม อฐานะที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนี้มันไม่ใช่อฐานะ สภาวะต่างๆ นั้นมันมีอยู่ให้เรางงไปหมด

ฉะนั้น นี่เพิ่งเริ่มต้น เริ่มต้นเห็นจริงนะ แต่ที่เห็นมาที่ว่าเป็นรั้วบ้าน เป็นนอกบ้านมันส่งออกหมด แต่ถ้ามันเห็นจริงมันจะเห็นอย่างนี้ นี่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ให้ขยัน ให้ปฏิบัติไป แล้วมีปัญหาค่อยว่ากันใหม่

อันนี้เป็นอีกอันหนึ่ง

ถาม : ข้อ ๑๑๖๗. เรื่อง “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม” (เขาว่านะ)

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพ หลังจากที่กลับไปโยมเพิ่งมีโอกาสได้เขียนมา สิ่งที่หลวงพ่อบอกให้โยมปฏิบัติก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า แต่จะไม่ใช้คำว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะโยมคิดว่ามันเป็นการเริ่มต้นพิจารณาในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ต้องใช้เวลาเจ้าค่ะ ส่วนการพิจารณานามธรรมที่ทำมาโดยตลอดนั้นก็ยังต่อเนื่องไปโดยปกติ แม้จะเป็นการพิจารณาโดยใช้สติและปัญญาพื้นฐาน แต่ก็เห็นได้ถึงสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นของเหตุปัจจัยที่หมุนไปเป็นผล จากผลนั้นๆ ก็กลายเป็นเหตุใหม่หมุนไปไม่รู้จบ จากภายในสู่ภายนอก จากภายนอกสู่ภายใน เป็นอยู่อย่างนี้ไม่รู้จักหยุด

โยมเพิ่งจะได้สัมผัสมา ในสถานการณ์นั้นกำลังของสติทำได้แค่รับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เห็นความคิดปรุงแต่งที่เป็นอกุศล จนทำให้ใจรุ่มร้อนกระวนกระวาย แต่พอสัมผัสถึงสภาพของใจที่เป็นแบบนั้นก็รู้ว่ามันไม่ถูกต้องแล้ว โยมจึงพยายามแยกแยะความถูกผิด พิจารณาถึงสิ่งที่กำเนิดขึ้นว่าจะมีผลไปสู่อะไรต่อไป และการปล่อยจิตปล่อยใจให้เป็นอย่างนี้มันได้อะไร

ถ้าวันนั้นโยมตัดสินใจเดินตามกำลังของกิเลส ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามันครอบคลุมจิตใจของเรา และกิเลสซึ่งเป็นเพียงนามธรรมตัวนี้มันกลายเป็นมีตัวมีตนไปได้ วันนี้โยมก็คงหมดศรัทธาในตัวเอง โยมจะเป็นที่พึ่งของตัวเองได้แค่ไหน ถ้าทั้งรู้ทั้งเห็นอย่างนี้แล้วยังอ่อนแอ โยมรู้สึกดีใจที่ผ่านมาได้ และเมื่อมองกลับไปโยมยังแปลกใจไม่หายในความโง่ของตัวเอง ถึงแม้ว่ากิเลสตัวนี้ยังคงอยู่ แต่ก็คงอยู่อีกนาน แต่โยมก็มั่นใจและพร้อมมากขึ้นที่จะเผชิญกับมัน

เวลาที่หลวงพ่อเทศน์ว่า “หนทางยังอีกยาวไกลนัก” โยมรู้ซึ้งจริงๆ มันเหมือนโยมกำลังฝนทั่งให้เป็นเข็ม แต่ถ้าเราไม่ละทิ้งเสียกลางคัน ทั่งก็จะกลายเป็นเข็มได้สักวัน และเข็มก็คือเข็ม มันก็จะไม่กลับไปเป็นทั่งอีก

(นี่คือคำเขียนของเขามาที่พูดถึงนะ)

ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่พูดมาว่า “หนทางยังอีกยาวและไกล” คือเริ่มต้นปฏิบัติถ้าเราไม่เหลวไหล ถ้าเราปฏิบัติแล้วเราไม่อ่อนแอมันเป็นไปได้

ฉะนั้น สิ่งที่เขาพูดหมายถึงว่าเวลาเขาภาวนาไปแล้วเขาเกิดสิ่งที่ว่าจากเหตุเป็นผล จากผลเป็นเหตุ เขาพิจารณานามธรรมอยู่ตลอดเวลา บางทีเราแนะนำให้พิจารณากายบ้างก็ได้ พิจารณากายคือมันจับต้องได้ชัดเจน ถ้าพิจารณานามธรรม ถ้าสติมันดีนี่มันเป็นปัญญาวิมุตติ พิจารณากายโดยไม่เห็นกายไง พิจารณาโดยใช้ปัญญา แต่ถ้าเราจับหลักไม่ดีมันจะหมุนเราไปเรื่อยๆ ถ้าหมุนไปเรื่อยๆ มันแบบว่าถ้าขาดสติ ถ้ารู้ด้วยสติมันก็จะเป็นเหตุเป็นผล ถ้ารู้ด้วยกิเลสมันก็ล้มลุกคลุกคลานไป แต่ถ้าเราทำของเราได้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น ถ้าฝนทั่งให้เป็นเข็มก็ให้ขยัน ให้หมั่นเพียร ให้ทำของเราไป เราทำของเราไปด้วยปัญญาของเรา ปัญญาของเราด้วยความมุมานะของเรามันเป็นไปได้ ฉะนั้น สิ่งที่ความเข้าใจก็คือเข้าใจได้แล้ว นี่มันเป็นแง่มุมเฉยๆ

ข้อ ๑๑๖๘. ถึงข้อ ๑๑๗๐. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๑๑๗๑. เรื่อง “กราบขอบพระคุณ” นะ

กราบขอบพระคุณหลวงพ่อ จะน้อมคำสอนนั้นไปภาวนาต่อ

ตอบ : กราบขอบพระคุณเฉยๆ อันนี้เขาเขียนมาเพื่อขอบคุณ อันนี้มันตอบไปแล้วไง ตอบไปแล้วก็คือจบ ถ้าจบแล้วก็จบเท่านี้ เอวัง