ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปลงตก

๗ ต.ค. ๒๕๕๕

 

ปลงตก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๑๑๗๖. เนาะ

ถาม : ๑๑๗๖. เรื่อง “ขอคำแนะนำและอยากรู้ในข้อสงสัย”

๑. เวลาผมภาวนาไป ตอนนั่งสมาธิมันจะมีสิ่งที่มันนิ่ง ผมจะรู้สึกว่าจะทำอย่างไรต่อไป ผมเกิดความลังเลว่าจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือกำหนดลมหายใจต่อไปดี

๒. มีอยู่วันหนึ่ง ผมฝันว่าเดินเข้าไปในที่ที่หนึ่ง มีหลุมศพ รู้สึกเงียบสงบเศร้าๆ แล้วผมก็เดินผ่านหลุมศพเหล่านั้น ในขณะที่เดินผ่านก็ไปได้ยินเสียงหลวงพ่อเทศน์ขาดๆ หายๆ จากนั้นเวลาผมเดินจงกรม หรือพอนึกถึงสภาวะตอนนั้นทีไรจะขนลุกทุกที จนทำให้ผมคิดสงสัยว่าเราจะเอาสัญญาอันนี้มาช่วยในการพิจารณาได้หรือไม่? หรือจะมุ่งแต่ดูลมหายใจอย่างเดียวต่อไปก่อน

๓. บางครั้งในขณะเดินก็เห็นความคิดเป็นภาพหลวงปู่มั่นยืนอยู่แล้วขนลุกซู่ มีความสงบเกิดขึ้น ผมจะใช้การนึกถึงหลวงปู่มั่นช่วยในการภาวนาได้หรือไม่ครับ หรือให้เรากำหนดลมหายใจให้ชำนาญเพียงอย่างเดียว เพราะปกติผมจะทำสลับกันระหว่างเดินจงกรมกับกำหนดลมหายใจ เดินจงกรมฟังเทศน์ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นั่งสมาธิ

๔. ตอนนี้ผมใช้อุบายทานอาหารมื้อเดียว โดยถ้าทำผิดด้านกามารมณ์ ผมจะไม่ทานอาหารทั้งวันในวันต่อไป หลวงพ่อเห็นว่าเหมาะสมหรือควรปรับปรุงตรงไหน และแนะนำอย่างใด ว่ากล่าวตักเตือนได้นะครับ

สุดท้าย ขอบคุณหลวงพ่อครับที่เทศน์เล่าประวัติพระอรหันต์ดีๆ ให้ผมมีความอดทน กำลังใจเพียรเพิ่มขึ้น ผมประทับใจมากตอนที่หลวงพ่อเล่าถึงหลวงปู่ฝั้นที่เดินจงกรมในกลดตอนฝนตก แล้วก็ประทับใจในสัจจะที่หลวงปู่เจี๊ยะตั้งไว้ ตอนท่านอยูช่วงในพรรษาว่าจะไม่นอน ทำให้ผมตระหนักเรื่องสัจจะและความเพียรมากขึ้นไปอีก เคารพหลวงพ่อ

ตอบ : ครูบาอาจารย์ที่เดินจงกรมในกลดตอนฝนตกนั้นจะเป็นหลวงปู่หลุย ไม่ใช่หลวงปู่ฝั้น เห็นว่าหลวงปู่หลุยเดินจงกรมในกลดเวลาฝนตกนะ ท่านอยู่ในกลดของท่านท่านเดินจงกรมได้ นี่เวลาเอาความเพียรของครูบาอาจารย์มาเป็นแบบอย่างให้พวกเราขยันไง ให้พวกเราขยัน ให้พวกเราเห็นว่ามีครูบาอาจารย์ทำมาแล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะทำอย่างเดียว

ฉะนั้น เราจะเริ่มต้นอย่างนี้ก่อน เริ่มต้นที่บอกว่า ข้อ ๑. เวลานั่งภาวนาไปแล้วเห็นภาพต่างๆ ฝันว่าเห็นศพ เห็นซากศพอะไรต่างๆ มันเป็นนิมิต ถ้าเป็นความฝัน ในฝันของเรามันมีความรู้สึก มันมีความรู้สึกเพราะเราภาวนาแล้วฝัน ฝันกับนั่งสมาธิใกล้เคียงกันมาก ถ้ามีสตินะ ถ้าไม่มีสติ เวลานั่งก็นั่งหลับ ถ้านั่งหลับนี่หลับเลย นั่งหลับนี่ตกภวังค์ไปเลย ถ้าคนปกติฝัน ฝันแล้วจับต้นชนปลายไม่ถูก แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าฝันนะอันนั้นอีกเรื่องหนึ่งเลย

ฉะนั้น เราจะเอาตรงนี้เป็นประเด็นก่อน ประเด็นที่ว่าถ้าเราเห็นนิมิตหรือจิตใจเราละเอียดเข้าไป ถ้าคนภาวนาไม่เป็นเขาจะบอกว่ากำหนดพุทโธ พุทโธแล้วมันจะติดนิมิต โดยทั่วไปเขาบอกศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราก็ใช้ปัญญากัน เราใช้ตรรกะพิจารณากัน นี่เราใช้ปัญญาอย่างนี้ ทีนี้ปัญญาอย่างนี้ ในการปฏิบัติถ้าคนภาวนาเป็นนะ ครูบาอาจารย์เราบอกถ้าภาวนาเป็นเขาจะรู้เลยว่าการภาวนาอย่างนี้มันเป็นโลกียปัญญา

ที่ว่าใช้ปัญญาๆ มันเป็นโลกียปัญญา คืออย่างไรก็แล้วแต่มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นเรื่องปัญญาที่เกิดจากตรรกะ เป็นปัญญาที่เกิดจากสามัญสำนึก มันไม่ใช่เป็นปัญญาที่เกิดจากการภาวนา แต่ถ้าเวลาปัญญาที่เกิดจากการภาวนาที่ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่าภาวนามยปัญญาที่แก้กิเลสๆ มันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจิตมันสงบ ทีนี้เวลาจิตมันสงบเข้าไป จิตสงบใช่ไหม? เรานั่งกันอยู่นี่ จริตนิสัยของเราไม่เหมือนกัน บางคนสงบเฉยๆ บางคนสงบไปแล้วมันจะเห็นแสง บางคนสงบแล้วจะเห็นนิมิต นี่บางคนๆ

ฉะนั้น ที่บอกว่าจิตเราเวลาสงบไปแล้วเราไปเห็นภาพ เห็นรูปหลวงปู่มั่น เห็นรูปใคร นี่ถ้าเป็นโดยวิทยาศาสตร์เขาบอกพวกนี้ต้องส่งหมอแล้ว พวกนี้สติไม่ดี สงสัยพวกนี้จะผิดปกติแล้ว นี่โดยความเข้าใจไง โดยความเข้าใจ เพราะโลกเขาจะบอกว่าอย่าภาวนานะ ภาวนาแล้วเดี๋ยวเป็นบ้า ภาวนาไปเห็นอะไรแล้วแก้ไม่ได้

นี่โลกเขาคิดกันอย่างนั้นไง ถ้าโลกคิดอย่างนั้น ถ้าคนบ้านะ ไม่ต้องภาวนามันก็บ้า คนบ้าไปดูโรงพยาบาลสิ ไปดูศรีธัญญาคนบ้าเต็มโรงพยาบาลเลย แล้วมันเกิดมาจากอะไรล่ะ? เกิดมาจากโลก เกิดมาจากคราวที่เขาเครียด เกิดจากคราวที่จิตเขาเป็นอย่างนั้น แต่เวลาคนมาภาวนานะ ถ้าจิตของคนมันมีพื้นฐานมา คือจิตของเขาผิดปกติมาแล้ว พอภาวนาไปมันก็จะหลุดไปอย่างนั้นแหละ คือเป็นจินตนาการ เป็นภาพหลอน

คำว่าภาพหลอนนี่เป็นเรื่องหนึ่งนะ แต่เวลาเรานั่งสมาธิ ถ้าเรานั่งสมาธิ เรามีครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม นี่หลวงปู่มั่นเวลาท่านจะแก้ของท่านก่อนนะ ท่านบอกพอจิตท่านออกฝึกหัด ออกปฏิบัติของท่าน หลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์พาออกปฏิบัติ พอปฏิบัติไปจิตมันสงบนะ เห็นกายพิจารณาของมันไป แล้วออกมามันเป็นปกติคือมันไม่ดูดดื่มไง มันไม่ดูดดื่ม มันเป็นอย่างไร นี่เห็นแล้วเขาไม่ตื่นเต้น เห็นแล้วเขาก็มาทดสอบไง แล้วไปหาหลวงปู่เสาร์ บอกว่าเห็นกายอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้นมันร้อยแปดพันเก้าเลย เพราะก่อนจะเห็นท่านฝัน เห็นไหม ท่านฝันว่าท่านได้ขี่ม้าขาว ม้านั้นได้ข้ามขอนภพ ขอนชาติ ท่านจะไปเปิดตู้พระไตรปิฎก

นี่เวลาฝันไปอย่างนั้นไปถามหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์บอกว่า

“บารมีท่านเยอะ ผมแก้ท่านไม่ได้หรอกท่านต้องแก้ตัวเอง”

เราไปถามอาจารย์ให้อาจารย์แก้นะ อาจารย์บอกว่าท่านมีบารมีเยอะ ท่านต้องแก้ตัวท่านเอง อาจารย์บอกกับลูกศิษย์ งง พระปฏิบัติก็ต้องงง แต่ก็ด้วยบารมีของท่าน ท่านพิจารณาของท่าน แล้วมันออกมาเป็นปกติ นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง มันไม่เข้าสู่ธรรม ท่านถึงลาโพธิสัตว์ก่อน ลาสิ่งที่ได้สร้างบุญญาธิการมา ลาสิ่งนั้นแล้ว พอลาแล้วท่านก็กลับมาพิจารณาใหม่ พอเห็นกายท่านพิจารณาไปมันปล่อย มันปล่อย มันมีรสของธรรม มันมีธรรมรส มันมีความดูดดื่ม เออ เวลาภาวนาเสร็จแล้วท่านบอก เออ อย่างนี้ใช่ อย่างนี้ใช่หมายความว่ามันเริ่มขยับตัวแล้ว กิเลสมันเริ่มโดนไล่ต้อนแล้ว มันมีการกระทำในหัวใจแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่พูดนี่เพราะเราอยู่ในสังคมของเราไง พออยู่ในสังคมของเรา เราบอกว่าภาวนาไปเราเห็นภาพหลวงปู่มั่น ฝันเห็นซากศพ เห็นอสุภะ ถ้าพูดถึงในแนวทางปฏิบัติอื่นบอกว่าพวกนี้รู้สึกว่าจะผิดปกติแล้ว เพราะติดนิมิต เห็นนิมิตแล้วลงในนิมิตไง นิมิตมันหลอกก็มี คำว่านิมิตหลอกนะ พอเวลาเราเกิดนิมิตขึ้นมา ถ้ามันเห็นสิ่งใดๆ นะเรากำหนดจิตเราเลย แล้วถามว่านั่นคืออะไร? นิมิตหายวับ

นี่ถ้าเราเห็นอะไรก็แล้วแต่นะ เรากำหนดเข้ามาที่จิตของเรา กำหนดที่ผู้รู้แล้วถามว่านั่นคืออะไร? พอถามนะผู้รู้ก็อยู่ที่ตัวมันใช่ไหม? ผู้รู้มันไม่ออกไปรู้นะภาพนั้นก็หายไป ถ้าสงสัยนะ หลวงตาเวลาหลวงปู่มั่นท่านเสีย แล้วท่านไม่มีครูบาอาจารย์สอนนะเสียใจมาก สุดท้ายนั่งคร่ำครวญอยู่ตั้งนาน แต่พอนึกได้ว่าหลวงปู่มั่นท่านสอนไว้

“อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ไม่เสีย อย่าทิ้งผู้รู้”

แต่นี่คนเราเวลามันไปเห็นนิมิต พอเห็นนิมิตปั๊บ นั่นภาพอะไร? นั่นเรื่องอะไร? นั่นมันไปไหน? เห็นไหม ส่งออกไปไง ภาพนั้นก็ต่อเนื่อง มันก็ไปเลย นั่นแหละนิมิตอย่างนั้นไม่ถูก แต่ถ้ามันเห็นภาพหลวงปู่มั่น เห็นภาพครูบาอาจารย์มันดูดดื่ม มันมีความสุขใจ พอมีความสุขใจอย่างนี้ถึงจะเป็นปกติ

ถ้าเป็นปกติ เห็นไหม ฉะนั้น ให้เอาตรงนี้เป็นหลักก่อน เป็นหลักว่าเห็นนิมิตมันถูกหรือผิด เห็นภาพหลวงปู่มั่นมันเป็นจริงหรือ? เห็นภาพหลวงปู่มั่น เห็นภาพครูบาอาจารย์ เห็นจริงๆ หรือ? ถ้ามันเห็นทางโลก เห็นโดยหลอก นั่นแหละสมมุติ แต่ถ้าเวลาเราเห็นของเรามันจริงไหม? จริง แต่ความเห็นจริงนิมิตก็เกิดชั่วคราว นิมิตคือเครื่องหมายบอก เครื่องหมายบอก ถ้าเราบอกพุทโธ พุทโธ พุทโธโดยปกติมันก็เป็นปกติ เราจะไม่รู้สิ่งใดเพราะมันรับรู้โดยสามัญสำนึกอย่างนี้ แต่จิตมันสงบเข้าไป

นี่โดยจริตนิสัยถ้ามันจะรู้ มันจะบอกว่าจิตของเรามันเปลี่ยนแปลง จิตของเราละเอียดขึ้น จิตของเราจะเห็นจิต จิตของเราจะเห็นจริตนิสัยของเรา จิตของเราจะเห็นตัวตนของเรา จิตของเราจะแก้ไขเรา ถ้าจิตของเราแก้ไขเรา นี่ภาวนามยปัญญาเกิดตรงนี้ ฉะนั้น เขาถึงต้องให้ทำความสงบของใจก่อน ให้ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้ว ถ้าใจไม่สงบ ใจไม่สงบมันก็มีวิธีการอย่างข้อที่ ๑ ที่ว่านี่

ถาม : ๑. เวลาผมภาวนาไป ตอนนั่งสมาธิมันจะมีสิ่งที่มันนิ่งผมจะรู้สึกว่าจะทำอย่างไรต่อไป ผมเกิดความลังเลว่าจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือกำหนดลมหายใจดี

ตอบ : เห็นไหม ความลังเลว่า ผมเกิดความลังเลว่า นี่เวลาจิตของเราภาวนาไป บางคนพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วมันไม่ไปไหนเลย บางคนภาวนาปัญญาอบรมสมาธิ แล้วทำอย่างไรต่อไป? ทำอย่างไรต่อไป? นี่เราสงสัยว่าจะทำอย่างไร เราสงสัยว่าทำอย่างไร ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธ เวลาเขาจุดไฟนะ สมัยโบราณเขาจุดไฟเขาต้องใช้ความร้อน ใช้ไม้สีกันให้มันเกิดความร้อน ถ้ามันสีกันจนเกิดความร้อน เกิดความร้อน เกิดประกายไฟ เขาจะจุดไฟของเขาได้

จิตของเรานี่พอพุทโธ พุทโธเราจะจุดไฟ จุดไฟ จุดสิ่งที่เป็นตบะธรรมขึ้นมาในใจ ถ้าเราสีของเราจนมันเกิดไฟขึ้นมา เห็นไหม นี่มันจะเข้าสู่ความสงบ แต่สีแล้วสีอีก ให้เด็กมันสีไฟสิมันถูกันอยู่นั่นแหละ ถูแล้วก็วาง วางแล้วก็ถู ไฟอยู่ไหนวะมันเอาจับไม้มาผ่าเลย ไฟมันอยู่ไหนมันหาไม่เจอหรอก แต่ถ้าเราสีๆๆ สีจนเกิดความร้อนขึ้นมา แล้วความร้อนนั้นมันเป็นประกายไฟไปสู่พวกปุยนุ่นมันจะเกิดไฟขึ้นมา

พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราพุทโธ พุทโธ สีจนมันร้อนๆ นะ อุ่นๆ เลยนะ พักไว้ก่อนเถอะเดี๋ยวสีใหม่ สีใหม่แล้วก็จะ นี่ไงถ้าพุทโธแล้วมันไม่ลงสู่ความสงบ เราก็หาเหตุหาผลทำไมมันเป็นอย่างนั้นได้ เราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือใช้ปัญญาแยกแยะ ถ้ามันทำพุทโธไม่ได้ บางคนทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้จริงๆ ถ้าจริตนิสัยของคนไม่มีก็คือไม่มีจริงๆ ถ้าไม่มีเราก็เปลี่ยนแปลงของเรา หาเหตุหาผลของเรา ถ้าเหตุผลของเรามันเป็นไปได้ไง เพราะคำว่า “ผมเกิดความลังเลว่าจะใช้สิ่งใดต่อไป”

ถ้าเกิดความลังเลนี่จิตมันขยับแล้ว เวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธจะนิ่งเข้าไปเรื่อยๆ นะ พุทโธ พุทโธ แล้วมันมีพุทโธอยู่เรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธจนพุทโธละเอียดขึ้นๆ จนพุทโธไม่ได้นั่นเข้าสู่อัปปนาสมาธิ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วพุทโธหายไปมันสงบเล็กน้อย แต่มันทิ้งพุทโธแล้ว พอทิ้งพุทโธมันไม่มีคำบริกรรมเพื่อจะจูงจิตเข้าไปสู่ความละเอียดมากกว่านี้ มันคาอยู่นั่น อยู่อย่างนั้นแหละ อยู่อย่างนั้นแหละ แล้วทำอย่างไรต่อไป? ทุกคนจะถามว่าทำอย่างไรต่อไป?

นี่ไงเกิดความลังเลสงสัยขึ้นมาว่าแล้วทำอย่างไรต่อไป มันเลยติดขัดไง นี่ถ้ามันติดขัดอย่างนี้ปั๊บ พอติดขัดเอาความติดขัดนี้มาเป็นคติกับเราว่าทำอย่างนี้แล้วมันไปไม่ได้ พอไม่ได้เราทำของเราขึ้นมาอีกให้มันดีกว่านี้ นี่เอาอย่างใดอย่างหนึ่งให้มันชัดเจนไปเลย นี่ข้อ ๑

ถาม : ข้อ ๒. มีอยู่วันหนึ่งผมฝันว่าผมเดินเข้าไปในที่ที่มีหลุมฝังศพรู้สึกเงียบสงบ เศร้า แล้วผมก็เดินผ่านหลุมศพเหล่านั้นไป ในขณะที่เดินผ่านไป (นี่คือความฝันนะ) ได้ยินเสียงเทศน์ จากนั้นผมก็เดินจงกรมนึกภาวนา นึกทีไรขนลุกทุกที

ตอบ : นึกทีไรขนลุกทุกที เห็นไหม เราคิดถึงป่าช้า เราว่าป้าช้าเป็นสิ่งที่น่ากลัว ถ้ากลางคืนเราเดินเข้าไปในป่าช้าสิ โอ้โฮ มันจะเกิดความกลัวมาก เพราะมันเข้าไปเผชิญกับความจริง อารมณ์อันนั้นล่ะ อารมณ์อันนั้น เราคิดถึงทีไรเราก็เสียวทุกทีเลย ถ้าเราเสียวทุกทีเลย ที่ไปเที่ยวป่าช้ากันเพราะเหตุนี้ไง

ฉะนั้น เราฝัน ฝันว่าเราเข้าไปในหลุมฝังศพ มันวิเวก มันสะเทือนใจ ความสะเทือนใจนั่นล่ะสิ่งที่จิตมันได้รู้ได้เห็นของมัน มันก็ฝังใจ พอฝังใจ เวลาเราเดินจงกรมเราก็เอาสิ่งนั้น คิดถึงทีไรขนลุกทุกที ขนลุกทุกที ขนลุกมันก็เป็นอดีตไปแล้ว ถ้ามันเป็นปัจจุบัน การกระทำมันต้องเป็นปัจจุบัน แล้วปัจจุบันถ้ามันเอามาใช้ประโยชน์ได้ ได้

เวลาถ้ามันคิด เวลามันฟุ้งซ่าน เวลามันไม่ยอมเชื่อเอาสิ่งนี้มาสอนมัน นี่เราก็ต้องตาย เราก็จะเป็นซากศพอย่างนั้นแหละ เวลาฝังไปแล้วก็เป็นอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวจิตเราเองจะมาดูซากศพเรา ถ้ามาดูซากศพเรานะมันก็ไม่คิดไปนอกเรื่องนอกราว การภานามันก็ดีขึ้น นี้พูดถึงว่าวิธีการไง วิธีการที่ว่าเราเอามาใช้ประโยชน์

ถาม : ๓. บางครั้งขณะเดินก็เห็นในความคิดเป็นภาพหลวงปู่มั่นยืนอยู่ รู้สึกขนลุก มีความสงบเกิดขึ้น ผมใช้การนึกรูปหลวงปู่มั่นในช่วงภาวนาได้หรือไม่ครับ หรือจะให้กำหนดลมหายใจต่อไป

ตอบ : ความจริงเรากำหนดลมหายใจต่อไป เพราะรูปหลวงปู่มั่นนะ เดี๋ยวนี้หลวงปู่มั่นท่านมีชื่อเสียงมาก แทบทุกวัดเลยมีรูปหล่อหลวงปู่มั่น รูปหล่อหลวงปู่มั่นมีทั่วไปหมดไง

ฉะนั้น ถ้ารูปหล่อหลวงปู่มั่นทำไมเราไม่สะเทือนใจล่ะ? นี่รูปหล่อหลวงปู่มั่นก็มี รูปภาพหลวงปู่มั่นก็มี ทำไมเราไม่สะเทือนใจล่ะ? แต่เรานึกถึงรูปหลวงปู่มั่น เราเห็นรูปหลวงปู่มั่นในใจของเรา ทำไมเราสะเทือนใจล่ะ? เราสะเทือนใจเพราะจิตมันสัมผัส จิตมันรับรู้ ถ้าจิตมันละเอียด จิตมันสัมผัส จิตมันรับรู้มันสะเทือนใจ ถ้าสะเทือนใจมันก็เป็นแง่ของการทำความสงบ ถ้าการทำความสงบแล้ว ถ้าเราภาวนาของเรา เราใช้ของเรามันทำได้ การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา

หลวงตาท่านพูดว่า “เวลานั่งสมาธิ ภาวนา เดินจงกรมให้มีปัญญา ให้มีอุบาย ไม่ใช่เดินจงกรม เวลาเดินจงกรมโง่อย่างกับหมาตาย”

นี่หลวงปู่มั่นท่านเตือนลูกศิษย์นะ โง่อย่างกับหมาตายคือไม่ใช้ความคิดไง โง่อย่างกับหมาตาย หมามันตายแล้ว มันนอนอยู่เฉยๆ มันไม่มีความคิดเลย หมาตายแล้วมันฉลาดหรือมันโง่ล่ะ? แล้วเราโง่อย่างกับหมาตาย ก็เหมือนซากศพอย่างนั้นแหละ แล้วสมองไม่คิด ไม่ทำอะไรเลย ถ้าเราเดินจงกรมมันพิจารณาของมัน พุทโธ พุทโธ ถ้าสงบแล้วมันก็คิดถึงชีวิตสิ คิดถึงความทุกข์ ความยากของเราสิ แล้วมันสลดสังเวช เห็นไหม มันสลดสังเวชบางทีน้ำตาไหลเลยล่ะ เพราะอะไร? น้ำตาไหลเพราะจิตมันสงบ พอจิตสงบ สิ่งใดที่เกิดขึ้นมันสะเทือนหัวใจทั้งนั้นแหละ

ถ้าจิตไม่สงบมันอยู่ข้างนอก คิดสิ่งใด ทำสิ่งใดมันเป็นสัญชาตญาณ มันไม่ใช่ตัวจิต มันเป็นอาการ เป็นเงา มันอยู่ข้างนอก พออยู่ข้างนอกมันก็มีความคิดอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามันคิดจากตัวจิตนะ คิดจากตัวจิตมันสะเทือนใจน้ำตาไหล ถ้าจิตมันสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามาถึงตัวใจมันจะสะเทือนใจน้ำตาไหลมาก นี่เราฝึกหัดใช้ปัญญาอย่างนี้ เราบอกถ้าภาวนาเป็นมันจะภาวนาของมันได้ ถ้าภาวนาไม่เป็นเราก็พยายามฝึกหัดของเราไป ฝึกหัดจนมันทำได้

ถาม : ๔. ตอนนี้ผมใช้อุบายทานอาหารมื้อเดียว เพราะรู้สึกช่วงหลังมันทำได้ยากขึ้น ถ้าทำผิดวันนั้นต่อไปจะไม่กินข้าวเลย นี่มันเป็นอุบาย เป็นวิธีการอันหนึ่งแล้ว นี่คิดดูสิเราทานอาหารวันละมื้อเดียว เราประหยัดไปตั้งเยอะ แล้วร่างกายก็แข็งแรงด้วย โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มี แล้วภาวนาก็ดี ดีทุกอย่างเลย ไม่ต้องไปห่วงว่า โอ๋ย ทานข้าวมื้อเดียว เดี๋ยวจะเป็นโรคกระเพาะ เดี๋ยวจะเจ็บไข้ได้ป่วย

โรคกระเพาะไอ้พวกทำงานแล้วไม่ได้กิน ไอ้พวกทำงาน เวลาทำงานแล้วหิวข้าวพวกนั้นเป็นโรคกระเพาะ ไอ้เราไม่เป็นหรอก เพราะจะกินเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เพราะเราจะทรมานกิเลส อันนี้เป็นอุบายที่ใช้ได้เลย แล้วเราฝึกของเราไป มันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายนี้ เขาบอกว่าสิ่งที่เรายกมาเป็นตัวอย่างเพราะเราก็ตั้งใจให้มันเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์มันจะดีมาก มันจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คน อันนี้พูดถึงการภาวนานะ

แล้วเขาบอกว่า

ถาม : ข้อ ๑๑๗๗. เรื่อง “คำถามเพิ่มเติม”

ความสุข ความทุกข์ ความโกรธ ชอบ-ไม่ชอบเป็นรูปธรรมใช่หรือไม่?

ตอบ : ใช่ ถ้าทางโลกเขาเรียกเป็นนามธรรม ความรู้สึกนึกคิดเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม รูป ถ้าอารมณ์ความรู้สึกมันก็เป็นรูปอันหนึ่ง ถ้ารูปอันหนึ่ง ถ้าจิตเราจับได้เราจะเห็นรูปเลย เห็นเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นวัตถุเลย ถ้าจับได้เราแยกแยะได้

ใช่ สุข ทุกข์ โกรธ ไม่โกรธ ถ้าเราไม่ทันนะมันก็เป็นนามธรรม มันก็เป็นสิ่งที่ท่วมท้นหัวใจ แต่ถ้าเราทันขึ้นมามันจับ มันหยุดได้ อย่างเช่นวัตถุเราจับไปตั้งไว้ที่ไหนก็ได้ เราจะไม่ให้มันขยับเขยื้อนก็ได้ อารมณ์ถ้าเราจับต้องได้ เห็นไหม ถ้าบอกว่าเป็นรูปธรรมใช่ไหม? ใช่ แต่ถ้าเป็นทางปริยัติเขาจะบอกว่าเอาแล้ว เอานามธรรม เอารูปธรรมมันจะไปใหญ่แล้วนะ นี่พระสงบสอนไปสอนมา พระสงบมันงงตัวมันเอง มันสอนไม่ถูก มันกำลังจะ นี่ไปใหญ่เลย

เขาเรียกว่าหยาบ ละเอียดมันเป็นอุบาย มันเป็นอุบายที่เราจะบอก เราจะสื่อกัน มันเป็นความรู้สึกที่คนเห็นกับคนเห็นสื่อกันรู้เรื่อง ถ้าคนไม่เห็น สื่ออย่างไรมันก็ไม่เห็น ถ้าคนเห็นกับคนเห็นสื่อกันจะเข้าใจได้ ถ้าเข้าใจได้ว่าทุกข์ สุข โกรธ ชอบ ไม่ชอบเป็นรูปธรรมใช่ไหม? ใช่ ใช่ถ้ามีสติ มีสมาธิที่มันรู้มันเห็น ถ้าเขายังไม่รู้ไม่เห็นเขาว่าเป็นนามธรรม เพราะนามธรรมมันจับต้องไม่ได้ จับต้องความรู้สึกไม่ได้ นั่นเขาว่าของเขาไป อยู่ที่หลักการการภาวนา

ถาม : ข้อ ๑๑๗๘. เรื่อง การเข้าใจแบบนี้ถูกต้องสักกี่เปอร์เซ็นต์ครับ

นมัสการหลวงพ่อสงบที่เคารพครับ สอบถามเรื่องความขยันกับความเกียจคร้านครับ ขออนุญาตเรียนให้ทราบว่าอาชีพผมอยู่กับคนป่วยมาพอสมควร ได้สัมผัสกับชีวิตจริงที่เจ็บปวดมาไม่น้อย ผมสังเกตอะไรได้บางอย่าง คือปัจจุบันโลกนี้มีปัญหาหลายๆ อย่างมาก ทั้งสิ่งแวดล้อมเช่นโลกร้อน หรือปัญหาสังคม ความแก่งแย่งทรัพยากรแทบทุกอย่าง

มนุษย์เกิดความขยันหมั่นเพียร สะสมทรัพย์สินอำนาจทรัพยากร หรือสิ่งใดๆ ต่อมนุษย์ที่เกิดความกังวลหวงแหน เมื่อได้สิ่งใดๆ นั้นมาก็ไม่อยากจะเสียไป อยากจะอยู่อย่างมั่นคง คิดเผื่อต่อไปถึงครอบครัว ลูกหลาน ญาติพี่น้อง แต่ที่จริงแล้วเพราะความไม่รู้ว่ากิเลสผลักดันให้ขยัน ซึ่งในหลายกรณีที่ผมเห็นมา ในระยะยาวแล้วความขยันมากเกินไปจะทำลายตัวเองในภายหลัง เพราะพลังชีวิตของมนุษย์นั้นมีขีดจำกัด แต่ความขยันไม่มีขีดจำกัด (คือไม่รู้จักพอ)

เช่นบางคนทำงานหนักทั้งชีวิต เพราะวัยเด็กลำบาก แต่พอบั้นปลาย เพราะทำงานหนักมากเกินไปทำให้ป่วยเรื้อรัง บางคนหมดเงินที่สะสมมาทั้งชีวิตในการรักษา ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าจริงๆ แล้วการที่มนุษย์ขยันหมั่นเพียรกันตามที่ถูกสอนๆ กันมาเป็นค่านิยม บางครั้งก็เป็นการทำลายตัวเอง และทั้งมนุษย์ชาติ แต่ไม่ได้ให้ผลถึงวิมุตติเลย ตัวผมเองช่วงนี้รู้สึกเบื่อหน่ายมากๆ รู้สึกว่ามนุษย์เราเกิดมาก็ต้องมาทำอะไรที่ซ้ำๆ ซากๆ มนุษย์ใช้ชีวิตกันแบบนี้จำเจ อยู่กันมาไม่รู้กี่ร้อย กี่พันรุ่น กี่ภพ กี่ชาติก็มีแต่ทำงานๆ สะสมทรัพย์ สร้างครอบครัว รับภาระ แล้วก็ตายไป จบแค่นี้

ผมก็สังเกตได้ว่าพอรู้สึกอย่างนี้ รู้สึกเบื่อหน่าย ถึงจุดหนึ่งก็เป็นความรู้สึกเกียจคร้าน แต่คนส่วนใหญ่นะครับ พอได้ยินคำว่าเกียจคร้านหรือขี้เกียจ ก็จะมักแสดงความรังเกียจหรือไม่อยากจะยอมรับ ทั้งๆ ที่จริงๆ มันเป็นธรรมชาติของจิตที่มีอยู่ เพียงแต่จะหาวิธีกดข่ม หรือก้าวผ่านไปได้ด้วยวิธีไหนก็ตามที แต่เรื่องของการภาวนาจิต สะสางกิเลสนั้นก็อีกเรื่องหนึ่งนะครับ การภาวนาทำเพื่อจะจบ (หลุดพ้น) ไม่ใช่ทำเพื่อจะทำต่อวงจรทุกข์ หมายถึงว่าต้องทำจนเต็มที่ จนสุดท้ายไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว

คำถามครับ

๑. จริงๆ แล้วความขยันก็เป็นธรรมชาติของกิเลสใช่ไหมครับ

๒. จริงๆ แล้วธรรมชาติของจิตที่เกิดจากความเกียจคร้านก็เพราะเบื่อหน่ายวัฏสงสารวงจรทุกข์ใช่ไหมครับ

๓. ในคนที่ขยันสุดๆ จริงๆ แล้วเพราะส่วนลึกๆ แล้วเขาขี้เกียจยิ่งกว่าใครๆ ถึงอยากจะทำเยอะๆ เผื่อเข้าไว้ เผื่อที่สุดท้ายเขาจะไม่ต้องขยันอีกแล้ว แต่บางคนสุดท้ายความขยันนั้นกลายเป็นทำลายตัวเอง จนถึงลมหายใจสุดท้าย คนแบบนี้เป็นคนที่ปฏิเสธโลกแห่งความเป็นจริงหรือเปล่าครับ

๔. แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เราก็ต้องอาศัยทั้งความขยันกระตุ้นตัวเองพอสมควร แต่แบบรู้เท่าทัน และก็พิจารณาความเกียจคร้านจริงๆ แล้วเป็นธรรมชาติของจิต เป็นวงจรของธรรมชาติหรือคนยังมีกิเลสใช่ไหมครับ

(นี่คำถามนะ)

ตอบ : เราจะเอาตั้งแต่ต้นเลย เอาตั้งแต่ต้นที่อารัมภบทมา เห็นไหม บอกว่าอาชีพของผมอยู่กับคนป่วยมาพอสมควร ความจริงคิดอย่างนี้ นี่ความคิดที่เกิดขึ้นมานี้เพราะว่ามีอาชีพอยู่กับคนเจ็บไข้ได้ป่วยมาเยอะ แล้วคนเจ็บไข้ได้ป่วยมาเยอะ เวลาคนทำอาชีพสิ่งใด เขาเจ็บไข้ได้ป่วยมา สิ่งที่หาเงินหาทองมานี่เกือบหมดตัวเลย รักษาจนหมดเงินหมดทองก็ยังรักษาตัวไม่หาย

ในวงการแพทย์เป็นแบบนี้ เพราะเรามีพี่สาวคนหนึ่ง พี่สาวของเราเป็นโรคไต เราเคยพาไปหาหมอ หมอก็แนะนำอย่างนี้ แนะนำให้ทิ้งเลย แนะนำให้ทิ้งเลยบอกว่าถ้ารักษาแล้วมันก็จะหมดเงินหมดทองไง สุดท้ายแล้วพวกเราไม่ยอม เราจะรักษา เขาอธิบายตรงนี้ออกมา เขาบอกเขาเห็นอย่างนี้มามาก เขาเห็นอย่างนี้มามากเลย คนเรานี่สะสมเงินมาเป็นเงินไว้ใช้จ่ายตอนบั้นปลายชีวิต เวลาเอามารักษาตัวเองจนหมดเลยก็ไม่หาย เพราะเป็นโรคเรื้อรัง เขาบอกเขาเห็นอย่างนี้มามาก เขาเห็นอย่างนี้มามาก

ฉะนั้น เวลาคนที่ขยันหมั่นเพียรไปแล้วมันก็จะเป็นโรคอย่างนี้ เพราะสังคมของเขาเห็นแค่นี้ สังคมของหมอเห็นแต่คนป่วยตลอด สังคมของทางการรักษาจะเห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วยมาตลอด แล้วก็คิดเห็นอย่างนั้นแหละ ฉะนั้น ความคิดเห็นอย่างนั้นเราจะบอกว่าถ้าคิดเห็นอย่างนี้นะ แล้วนี่ปัญหาที่เขียนมาตั้งแต่ต้นมันเป็นอาการปลงตก เวลาถ้าอาการปลงตกนะมันก็จบไง ทีนี้อาการปลงตกแล้วเขาขยันหมั่นเพียรถึงที่สุดเลย สุดท้ายแล้วก็ตายเปล่าไง

ฉะนั้น เขาบอกว่า

ถาม : จริงๆ คนเราขี้เกียจใช่ไหม? ความขยัน ถ้าขยันโดยที่ไม่มีปัญญามันจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างนี้ใช่ไหม?

ตอบ : คำว่าเกิดโรคภัยไข้เจ็บนะ คนที่ขยันแล้วทำจนเกิดโรค เกิดเป็นโรคต่างๆ แล้วต้องรักษา อันนี้มันเพราะว่าโรคนี่ในพระไตรปิฎกว่าเกิดได้ ๓ อย่าง

๑. เกิดจากความชราคร่ำคร่า เกิดจากธรรมชาติอันหนึ่ง คนเรานี่ชราคร่ำคร่าแก่เฒ่ามันก็เกิดจากความชราคร่ำคร่าอันหนึ่ง

๒. โรคเกิดจากอุปาทาน บางคนอุปาทานนะ ไม่ได้เป็นอะไรหรอก แต่อุปาทานว่าเป็นๆ จนมันเป็นได้เหมือนกัน โรคเกิดจากอุปาทานอันหนึ่ง

๓. โรคเกิดจากกรรม

การเกิดโรคนี่เกิดได้ ๓ อย่าง ฉะนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องกรรมกับเรื่องอุปาทานไม่มี อย่างใดก็แล้วแต่มันก็ชราคร่ำคร่าอยู่วันยังค่ำ มันต้องชราคร่ำคร่าเป็นธรรมดา ฉะนั้น พอชราคร่ำคร่าเป็นธรรมดา เราไปทำงานหนักไง เราไปทำงานหนักแล้วบอกว่าเราไปเป็นโรคอย่างนั้น เราเป็นโรคเพราะเกิดการทำงาน เกิดการทำงานเพราะอะไร? เพราะว่าเป็นการเห็นผิด เพราะว่าความขยันหมั่นเพียรให้โทษ นี่คำถามเขาถามอย่างนี้ ว่าความขยันหมั่นเพียรจนเกินกว่าเหตุก็ให้โทษกับร่างกายจนเจ็บไข้ได้ป่วย

ฉะนั้น ความขยันอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง เห็นไหม แล้วถ้ามันไม่ทำก็ขี้เกียจ คำว่าขี้เกียจ คำว่าเกียจคร้าน แต่มันเป็น เพราะมันอยู่ที่ว่าคนอยู่อาชีพใด แล้วเห็นประสบการณ์ของตัวมีอย่างใด ถ้ามีอย่างนั้นมันก็คิดอย่างนั้น ฉะนั้น ถ้าคิดอย่างนั้นนี่คิดแบบโลก เพราะว่ามันไม่กว้างไง แต่ถ้ามันเปิดกว้างนะ พระพุทธเจ้าบอกว่า “คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร”

ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ คนขยันหมั่นเพียรพร้อมทั้งปัญญา คนๆ นั้นเอาตัวรอด ในเหตุการณ์วิกฤติ ชีวิตวิกฤติการทำงาน วิกฤติต่างๆ คนจะแก้วิกฤติได้ด้วยปัญญาของคน แล้วปัญญา นี่ปัญญาถ้ามันมีสตินะ พอเราขาดสติมันก็คิดของมันไปโดยการบีบรัดตัวเอง มันจะแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าไม่ได้ เพราะมันเครียด แต่ถ้ามันจะมีวิกฤติอย่างไรแล้ววางไว้ ตั้งสติของเราดีๆ เดี๋ยวมันหาทางแก้ไขของมันไปได้

ถ้ามีทางแก้ไข เห็นไหม ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบระงับมันไม่ตกใจ สิ่งนั้นมันไม่เครียด นี่เวลามันเห็นช่องทางออกได้ ถ้าช่องทางออกได้ นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาแก้ไขทุกๆ อย่างได้เลย แล้วปัญญาก็จะมาแก้ไขที่ว่าขยันทั้งชีวิตแล้วเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ามีปัญญามันก็แก้ไขตรงนี้ได้ แก้ไขว่าเราขยันของเรา แต่เราก็ต้องดูแลร่างกายของเราด้วย ไม่ใช่ว่าขยันของเรา แล้วก็ปล่อยให้ร่างกายเราเจ็บช้ำ ร่างกายเราเจ็บป่วย ร่างกายต่างๆ เราก็รักษาของเรา แต่ถ้ารักษาไปแล้วนะ บางคน

นี่มีลูกศิษย์นะเขาเป็นพยาบาล แล้วเขาดูแลคนไข้ เวลาฉีดยาไปนี่เลือดบวกมันพุ่งเข้าตาเลย เลือดบวกพุ่งเข้าตา เขามาหาเราเลยนะ บอกว่าหลวงพ่อ สงสัยติด เราบอกว่าไม่แน่ใจหรอก ให้เขาแบบว่าทำใจดีๆ สุดท้ายไปตรวจไม่ติด ขนาดเลือดพุ่งเข้าใส่เลยนะ เข้าลูกตาไปเลย ธรรมดาต้องติดอยู่แล้ว เลือดบวก ถ้าคนผิดพลาดมันเป็นได้ ถ้าคนไม่ผิดพลาดมันไม่ถึงขนาดนั้น นี่พูดถึงขยันหรือขี้เกียจ คำว่าขยันหรือขี้เกียจ เพราะมันจะบวกเข้ามาที่ว่าขยันและขี้เกียจ เพราะคำถามข้อที่ ๑ บอกว่า

ถาม : จริงๆ แล้วความขยันเป็นธรรมชาติของกิเลสใช่ไหม?

ตอบ : คือความขยันกับกิเลสเป็นอันเดียวกัน ก็มีความคิดกันอย่างนี้ไง หลวงตาถึงบอกว่า พวกเราบอกว่าเราต้องปฏิบัติกันโดยไม่มีความอยาก เพราะความอยากนั้นเป็นกิเลส ความอยากนั้นเป็นกิเลส นี่ความอยากไง โดยที่ไม่มีกิเลสคือไม่มีความอยาก แล้วจิตใต้สำนึกของคนมีความรู้สึก ความนึกคิดมันก็มี

กิเลส เห็นไหม กิเลสก็คือกิเลส ทีนี้ถ้าความอยากพระพุทธเจ้าถึงใช้ปัญญาไง ถ้าความอยากนี้เป็นมรรคล่ะ? อยากพ้นทุกข์เป็นมรรค ทีนี้พออยากพ้นทุกข์บอกว่าความอยากนี้เป็นกิเลส ความอยากมันก็เหมือนความรู้สึก ถ้าความรู้สึก เห็นไหม ความขยันหมั่นเพียรเป็นธรรมชาติของกิเลส อย่างนี้ถ้าเป็นธรรมชาติของกิเลส กิเลสก็เป็นประโยชน์น่ะสิ แต่ถ้าคำว่ากิเลสมันก็รับไม่ได้ว่ามันเป็นกิเลส ถ้าเราบอกว่าเป็นมรรคล่ะ? นี่มรรค ๘ เห็นไหม ความเพียรชอบ งานชอบ ระลึกชอบ ความถูกต้องชอบธรรม ถ้าความถูกต้องชอบธรรมมันถึงเป็นธรรม

ฉะนั้น

ถาม : จริงๆ แล้วความขยันก็เป็นธรรมชาติของกิเลสใช่ไหม?

ตอบ : นี่คือว่ามันเกิดปัญญานะ ถ้าเราปลงตก เรามีความรู้สึกนึกคิด แล้วเราเอามาแยกแยะมันจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้ นี่ปัญญามันเริ่มเกิดแล้วล่ะ ปัญญามันเริ่มเกิดหมายความว่าเราจะเอาตัวเราเอง เอาความรู้สึกนึกคิดเราเอง เอาจิตเอาใจเรานี่มาวิจัย ถ้ามาวิจัย ถ้ามีสติมาวิจัยเรื่องนี้ เพราะพระอรหันต์ เวลาจะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก็วิจัยในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แต่เขาวิจัยขึ้นมาด้วยจิตที่เขาเป็นสมาธิ จิตเขามีหลักมีเกณฑ์ของเขา เขาพิจารณาของเขาโดยที่ไม่มีตัวตนเข้าไปบวก

ตัวตนก็คือความเห็นของเราไปบวกไง มันควรจะเป็นอย่างนั้น เรามีพื้นฐานวิชาการอย่างนี้ เราพิจารณาของเรา ทางวิชาการมันจะดึงมา มันก็ดึงมาทางความรู้สึกของเรา แต่ถ้าพอเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วมันเป็นสัมมาสมาธิมันจะเห็นจริงของมัน ถ้าเป็นไตรลักษณ์ก็ไตรลักษณ์ต่อหน้าเลย แต่ของเราว่าเป็นไตรลักษณ์นะ มันจะเป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์เราก็ เออ ไตรลักษณ์ต้องเป็นอย่างนั้น เราก็มีภาพของไตรลักษณ์อยู่แล้ว เราก็สร้างไตรลักษณ์ขึ้นมา มันก็เลยเป็นไตรลักษณ์ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไง

แต่ถ้าเราพิจารณาของเรา จิตเราสงบแล้วเราพิจารณาของเรา ถ้ามันเป็นไตรลักษณ์มันก็เป็นไตรลักษณ์เฉพาะหน้าเลย ไตรลักษณ์ในปัจจุบันนี้เลย ถ้าเป็นไตรลักษณ์ในปัจจุบันนี้มันไม่มีตัวตน ถ้ามีตัวตนมันสะอาดบริสุทธิ์ เห็นไหม นี่ค่าความสะอาดบริสุทธิ์ของมัน แล้วธรรมที่สะอาดบริสุทธิ์มันก็เข้าถึงใจ ถ้าเข้าถึงใจมันก็จะเข้าใจจริง มันก็จะเห็นตามความเป็นจริง มันก็จะไม่บอกว่าความขยันนี้เป็นธรรมชาติของกิเลสไหม มันจะไม่บอกว่าเป็นกิเลส มันจะบอกว่าเป็นมรรค อะไรเป็นมรรค อะไรเป็นกิเลสล่ะ?

ถ้าเป็นกิเลส กิเลสคือตัณหาความทะยานอยากแสวงหาเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นกุศล ถ้าเป็นกุศลนะทำความดีของเรา อย่างเช่นเรามาทำบุญเป็นกิเลสไหม? มีความอยากไหม? เราก็อยากทำของเรา แต่อยากทำดี ถ้าบอกว่าเป็นอยากเลยก็ขาง่อยกันหมดเลยนะ ไปไหนทำอะไรไม่ได้เลย แล้วก็จะบอกว่าพวกไปวัด นี่พวกไปวัดคือคนที่มีปัญหา ฉันเป็นคนดี ฉันอยู่บ้านไม่มีปัญหาเลย แต่อยู่บ้านมันก็ทุกข์ฉิบหายเลย อยู่บ้านมันก็อมทุกข์นะ เออ แต่ฉันเป็นคนดีไง เพราะฉันไม่ไปวัดไง ไอ้พวกไปวัดไอ้คนมีปัญหา นี่ดูแง่มุมของความคิด ถ้าความคิดมันคิดออกมาอย่างนี้ปั๊บ แล้วอะไรเป็นกิเลสล่ะ? แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ เป็นจริงมันจะเป็นของมัน นี่พูดถึงข้อที่ ๑

ถาม : ๑. จริงๆ แล้วความขยันเป็นธรรมชาติของกิเลสใช่ไหม?

ตอบ : มันเป็นอันเดียวกัน คำว่าอันเดียวกันนี่นะ เวลาปัญญาเกิดขึ้นก็คือความคิด เวลาเราคิดอยู่นี่เราทุกข์ เราคิดอยู่เราทุกข์เพราะอะไร? เพราะความคิดเป็นเรา แต่เวลาจิตสงบแล้วนะ พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิจนจิตสงบ พอจิตสงบแล้วจิตมันก็อาศัยความคิด ขันธ์ ขันธ์คือความคิด แต่เพราะจิตสงบนะมันก็เป็นปัญญา มันก็เป็นมรรค เป็นมรรคเพราะอะไร? เพราะเราบริหารจัดการได้ แต่ถ้าเป็นความคิดเรา ความคิดมันลากเราไป เวลาเราโกรธ เวลาไม่พอใจความคิดมันลากไป พอความคิดมันลากไปอันนี้เป็นกิเลส แต่ถ้าพอจิตมันสงบแล้วมันอาศัยความคิด เพราะมีสัมมาสมาธิมันถึงเป็นภาวนามยปัญญา มันก็เป็นมรรค

ความคิดก็คือความคิด ถ้าพูดถึงมันก็เป็นสังขารนั่นแหละ แต่สังขารที่มีสัมมาสมาธิ ถ้าสังขารนี้ขาดสมาธิ สังขารล้วนๆ เลย สังขารกับความรู้สึก ความปรุงแต่งมันไปหมดเลย อันนี้เป็นเรื่องโลก ถ้าภาวนาไป เราจะบอกว่าสิ่งที่ถามมานี่นะมันชักเริ่มปลงตกนะ พอปลงตกแล้วมันจะมีความรู้สึก เขาเรียกธรรมสังเวช แล้วถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมามันไม่ใช่ปลงตก มันเป็นอริยสัจ นี่ใกล้เคียงแล้ว ถ้าจิตมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ปั๊บให้คิดต่อไปอีก ให้คิดมากไปกว่านี้นะ แล้วพอคิดมากไปกว่านี้ปัญญามันวิจัยมากไปกว่านี้ มันจะเห็นว่าจริงๆ แล้วความขยันนี้เป็นกิเลสหรือเปล่า เดี๋ยวจะเห็น

ถาม : ๒. จริงๆ แล้วธรรมชาติของจิตที่เกิดความเกียจคร้านก็เพราะเบื่อหน่ายในวัฏสงสารวงจรทุกข์ใช่ไหมครับ

ตอบ : อันนี้เราว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ ถ้าจริงๆ แล้วถ้ามันเบื่อหน่าย ถ้าความเกียจคร้านเบื่อหน่ายมันชำระกิเลสไม่ได้ไง ถ้าเวลาชำระกิเลส ธรรมจักรนะ เวลาถ้าธรรมจักร จริงๆ แล้วธรรมชาติของจิตที่มันเกิดการเกียจคร้านนี่คือกิเลสเลยล่ะ พอเกิดความเกียจคร้านมันก็เกิดการปล่อยวาง อย่างเช่นเราจะทำงานเราวางมือ เราจับสิ่งใดอยู่แล้วเราวางมือ สิ่งนั้นหลุดจากมือเราไปไหม? ถ้ามันหลุดจากมือเราไปมันก็ไม่ใช่ใช่ไหม? เพราะความขี้เกียจมันก็ต้องปล่อยวาง เพราะความปล่อยวางอย่างนี้มันจะเป็นการเบื่อหน่ายในวัฏสงสารไหม? มันจะพ้นจากทุกข์ใช่ไหม? ไม่ใช่

นี่ถ้ามันจะเบื่อหน่ายในวัฏสงสาร พ้นจากวงจรของทุกข์ มันจะต้องใช้ความขยัน ขยันคือการทำแล้วทำเล่า นี่ถ้าเวลาทำไปมันก็ตกไปสองส่วนใช่ไหม? อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ไม่ลงมัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามันลงมัชฌิมานี่ขยันจนมรรคทั้งหมดรวมตัว มรรคสามัคคี มันสมดุลกัน พอมันสมดุลกันธรรมจักรมันสมดุลกัน มันทำลายกัน พอมันทำลายกันนี่จบหมดเลย ไม่ตกไปสองข้าง อันนี้ถ้าขยันก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค ขี้เกียจก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค

อ้าว ถ้าขยันก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค ขี้เกียจก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค แล้วมัชฌิมามันอยู่ตรงไหนล่ะ? มัชฌิมาก็เป็นมรรคนี่ไง นี่มันยังไม่มัชฌิมาไงมันถึงบอกว่ามันเป็นธรรมชาติของจิตใช่ไหมความคิดเกียจคร้าน เพราะนี่ความคิดไปเลยนะ ถ้ามันเกียจคร้านก็เพราะมันเบื่อหน่ายในวัฏฏะ โอ้โฮ อย่างนั้นคนไม่ทำงานมันจะรวยน่าดูเลย เพราะมันเบื่อหน่ายแล้วมันก็นอนอยู่บ้านไม่ทำอะไรเลย ไม่ใช่ เพราะนี่คิดเป็นรูปธรรมไง คิดเป็นวิทยาศาสตร์ คิดเป็นอย่างนี้มันก็เลยคิดออกมาอย่างนี้ แต่ถ้าความคิดนั้นทะลุไปอีก ความคิดนั้นมากเข้าไปนะ นี่มันมาสู่ ๒ ข้างแล้ว

อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เกียจคร้านและขยัน แล้วต่อไปมันจะลงตรงกลางอย่างไร? นี่มันลงท่ามกลางอย่างไร? ถ้าท่ามกลางเป็นความจริง ไม่ใช่เป็นการปลงตก ปลงทุกข์ ถ้าปลงตก ปลงทุกข์นี่ข้อที่ ๒

ถาม : ๓. ในคนที่ขยันสุดๆ จริงๆ แล้วส่วนลึกแล้วเขาขี้เกียจยิ่งกว่าใคร เพราะอยากทำเยอะๆ เผื่อเข้าไว้ เมื่อสุดท้ายเขาจะได้ไม่ต้องขยันอีก แต่บางคนสุดท้ายความขยันนั้นกลับทำลายตัวเอง

ตอบ : นี่เราคิดแบบนี้ไง แบบโลกๆ อีกแล้ว บอกว่าคนขยันสุดๆ เลย เพราะส่วนลึกแล้วเขาขี้เกียจกว่าใคร เพราะทำไว้เยอะๆ แล้วเผื่อเอาไว้เพื่อสุดท้ายจะไม่ต้องขยันอีก เผื่อเอาไว้ไง แต่ถ้าความไม่ต้องเผื่อใคร เวลาสร้างสมเป็นพระโพธิสัตว์นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยมันเผื่อใคร?

นี่เขาบอกว่าปัญญา การศึกษาด้วยปัญญามันไม่ต้องแบกต้องหามไง ความรู้สึกนึกคิดของคนไม่ใช่วัตถุ วัตถุมันต้องแบกต้องหาม ต้องหาที่เก็บที่ซ่อน แต่เวลาปัญญาของคนมันอยู่ในหัวใจ ประสบการณ์เวลาคิดขึ้นมามันก็มีปัญญาขึ้นมา ทีนี้ความขยันหมั่นเพียร สิ่งที่ทำมาแล้วมันเป็นนามธรรมทั้งหมด สิ่งที่ความขยันหมั่นเพียรมันก็ผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่ได้มาคือประสบการณ์ คือจิตใจที่มันรู้ว่าเราทำแล้วเราประสบความสำเร็จอย่างไร หรือเรามีความติดขัดอย่างใด

ถ้าเราทำของเรา ประสบการณ์อย่างนี้ ความขยันหมั่นเพียร การกระทำมันจะมีประสบการณ์ ประสบการณ์อันนั้นต่างหากล่ะ อันที่ตกผลึกในหัวใจต่างหากล่ะ อันนี้ต่างหาก ทีนี้เราไปคิดว่าเราขยันหมั่นเพียร โดยหัวใจที่มันต้องอาศัยร่างกาย พอร่างกายสมบุกสมบันแล้วมันก็เจ็บไข้ได้ป่วย นี่เราไปมองแต่ตรงนั้นไง แต่เรายังไม่มองบอกว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธจนจิตเป็นอัปปนาสมาธินะมันปล่อยกายเลย สักแต่ว่ารู้ นั่งอยู่เฉยๆ นี่นะ มันไม่รับรู้เรื่องร่างกายนี้เลย แล้วจิตมันไปไหนล่ะ? แล้วมันว่ามันไปไหน?

ถ้าไปอย่างนี้แล้วมันก็อย่างที่ว่านี่ก้ำกึ่ง มันก็ยังกึ่งๆ อยู่ มันเป็นการปลงตก มันไม่ใช่เรื่องจริง ถ้าเรื่องจริงนะ เพราะสิ่งที่ว่าส่วนลึกๆ แล้วคือเขาเป็นคนขี้เกียจต่างหาก เขาทำเอาไว้เผื่อไง คำว่าเอาไว้เผื่อ นี่พูดถึงนามธรรมนะ นี่คือความคิด แต่เวลาคำถามมันก็ต่อเนื่องไป เขาบอกว่า

ถาม : สุดท้ายแล้วก็มาทำลายตัวเองจนถึงลมหายใจสุดท้าย

ตอบ : นี่สุดท้ายก็มาทำลายตัวเองคือทำลายร่างกายไง

ถาม : จนถึงลมหายใจสุดท้าย คนแบบนี้เป็นคนปฏิเสธโลก

ตอบ : ไม่ได้ปฏิเสธโลก ถ้าคนปฏิเสธโลก เพราะเขาเกิดมาจากโลกเขาจะปฏิเสธโลกได้อย่างไร? ถ้าคำว่าคนปฏิเสธโลก แสดงว่าพระเข้าป่าก็ปฏิเสธโลก พระเข้าป่านี่ถือว่าปฏิเสธโลกนะ ถ้าเราไม่ปฏิเสธโลก เราอยู่กับพระมันมีความอบอุ่น มีคนคอยดูแล มันก็จะอยู่ในวัฏฏะนี่แหละ แต่พอเข้าป่าไปเหมือนกับปฏิเสธโลก แต่โลกมันตามไปมันปฏิเสธไม่ได้

เวลาเราอยู่กับหมู่คณะ เราอยู่ในสังคม เรานั่งกันนี่ไม่ค่อยคิดอะไรหรอก ไม่กลัวอะไรเลย ลองไปอยู่คนเดียวสิกลัวไปหมดเลย โลกมันตามไปไง ความคิดมันตามไป เวลาไปอยู่ในป่านะ โอ๋ย พรุ่งนี้เช้าจะกินข้าวที่ไหน คืนนี้เสือมันจะคาบหัว เดี๋ยวผีมันก็จะมาเอา นี่โลกมันตามมา มันทุกข์มันร้อนไปหมดเลย นี่คำว่าปฏิเสธโลก เราตัดโลกไม่ได้หรอก ไปอยู่ในถ้ำมันก็รู้ ความรู้สึก มันก็ตามไป มันปฏิเสธโลกไม่ได้ มันอยู่กับโลกนี่แหละ แต่ แต่เราจะวางอย่างไร? วางเพื่อให้เราเกิดปัญญา เกิดความรู้สึก แล้วเกิดการกระทำ

ถาม : ๔. แต่ไม่ว่าจะแบบไหนเราก็ต้องอาศัยทั้งความขยันกระตุ้นตัวเองพอสมควร ตามแบบรู้เท่าทัน และก็พิจารณาความเกียจคร้านจริงๆ แล้วให้เป็นธรรมชาติของจิต เป็นวงจรธรรมชาติของคนที่ยังมีกิเลสใช่ไหมครับ

ตอบ : ใช่ ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ เราทำของเรา เห็นไหม เรายึดเกินไปไง เรายึดเกินไป ถ้าปริยัติเรียนมาแล้ว นี่ที่เวลาเราพูดนะ เราพูดถึงว่าพุทธพจน์ๆ เขาบอกว่าเราขัดแย้งพุทธพจน์ ไม่เชื่อพุทธพจน์ เชื่อ แต่พุทธพจน์มันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้เป็นศาสดาของเรา เราเอานี้เป็นแบบอย่างศึกษา แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา มันจะเป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันจะเข้าใจได้หมดไง ถ้าเข้าใจไม่ได้มันก็เป็น

นี่บอกว่าเวลาศึกษาธรรมะ ศึกษาให้เป็นวิทยาศาสตร์ ใช่มันเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์เพราะมันพิสูจน์ได้ พิสูจน์ได้กับคนรู้จริงกับคนที่รู้จริงด้วยกัน แต่ถ้าของเรานี่เรายังเป็นโลกๆ อยู่ คือคิดประสาเรา เราคิดเป็นวิทยาศาสตร์ แต่พอมันจะเป็นธรรมขึ้นมานะ มันจะเป็นธรรมขึ้นมานี่เรากลัว เรากลัวจะตกไปในทางที่ผิด เห็นนิมิตก็ไม่ได้ เห็นอะไรก็ไม่ได้ แล้วมันจะเห็นนี่ทำอย่างไร?

ภาพที่เห็นมันก็คือเห็น แต่ภาพที่เห็นเราไม่ไปตกใจมัน ภาพที่เห็น เราก็ว่าภาพที่เห็นนั้นมันคืออะไร? แล้วภาพที่เห็นมันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นเราก็วางไว้ คือเราไม่ไปติดในภาพนั้นหรอก เราเห็นก็คือเห็น แต่คนไม่เห็นมันก็คือไม่เห็น ถ้าไม่เห็นก็ไม่เป็นไรไง แต่นี้เขาบอกว่าถ้าเป็นวิทยาศาสตร์นี่เห็นไม่ได้ เห็นผิดหมดเลย เห็นมันคือว่าจิตผิดปกติแล้ว จิตมันต้องเห็นโดยสายตา โดยจอภาพตาต้องเห็นอย่างนั้น ถ้าเห็นอย่างอื่นเป็นไปไม่ได้ นี่คิดแบบโลกๆ ไง

ฉะนั้น จะบอกว่าไม่ว่าจะเป็นแบบไหนเราก็ต้องอาศัยทั้งความขยันกระตุ้น นี่มันก็ถูกต้อง ถ้ามันจะเป็นแบบไหนนะ ความขยันหมั่นเพียรกับความเกียจคร้าน ความเกียจคร้านเวลาจิตมันเสื่อม มันท้อมันถอยมันก็เกียจคร้านทั้งนั้นแหละ แล้วเราพิสูจน์ดู พิสูจน์ของเรา แล้วแก้ไขของเรา แล้วถ้ามันลงตรงกลางนะ มันปลงตกมันเป็นเรื่องของโลกๆ ที่โยมคิดนี่มันปลงได้ ปลงตกแล้วมันก็เข้าใจ แต่มันไม่เป็นธรรมขึ้นมาเลย แต่ถ้ามันเป็นธรรม เป็นอริยสัจขึ้นมานะมันจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วมันจะเป็นผลของการปฏิบัติ แล้วเราจะรู้ของเรา แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง