ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กิเลสสวมรอย

๒o ต.ค. ๒๕๕๕

 

กิเลสสวมรอย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๑๘๓. เรื่อง “การสวดมนต์และนั่งสมาธิ”

หลังจากนั้นประมาณ ๑ เดือน จิตใจดิฉันเริ่มว่างเปล่าไม่อยากคิดอะไร สนใจกับอะไร ไม่อยากจะทำอะไร นั่งเฉยๆ ในแต่ละวันให้เวลามันผ่านไป แม้กระทั่งงานที่ทำก็ไม่อยากจะทำและไม่อยากจะสวดมนต์ จนกระทั่งตอนนี้บางเวลาจิตใจดิฉันจะเงียบมาก แต่บางเวลามีอารมณ์ว้าเหว่และไม่พอใจกับบางสิ่งบางอย่างจนรู้สึกว่าจะไม่พอใจ ทำไมคล้ายๆ อารมณ์ของดิฉันมี ๒ อย่าง สีขาวกับสีดำ บางครั้งเหมือนดิฉันจะควบคุมตัวเองไม่ได้ ดิฉันจะท่องพุทโธ พุทโธในใจอยู่เกือบตลอดเวลา แบบนี้ดิฉันต้องทำอย่างไรเจ้าคะ

ตอบ : เวลาภาวนานะ เราภาวนาเราก็ตั้งใจว่าเราภาวนาแล้วจะต้องประสบความสำเร็จ จะต้องมีความสุข จะต้องมีคุณงามความดีทั้งนั้นแหละ ถ้าสิ่งนั้นเราภาวนาด้วยความถูกต้อง สิ่งนั้นจะเป็น นี่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันจะมีความสุข ความสงบ มีความร่มเย็น ความสุข ความสงบ ความร่มเย็นนั้นทุกคนปรารถนา ทุกคนไม่ปรารถนาความทุกข์ความยากหรอก ทุกคนปรารถนาความสุข

ทีนี้ความสุขเราจะไปซื้อ-ขายเอาที่ไหนล่ะ? เราจะไปหาซื้อตามแผงขายความสุขมันก็ไม่มี ความสุขมันจะได้มาต่อเมื่อเรามีการประพฤติปฏิบัติตรงตามความเป็นจริง ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไม่ตรงกับความเป็นจริง เห็นไหม นี่ในทางโลกนะอาการนี้อาการแพ้ยา เวลาเราให้ยา เราฉีดยา เราให้ยาผู้ป่วย ถ้ายานี้โดยพื้นฐานมันก็ไม่แพ้ยา แต่บุคคลที่เคยแพ้นะเขาแพ้ตลอดเวลา กิเลส กิเลสในหัวใจของเรา เราพยายามจะแก้ไขมัน เราพยายามจะดูแลมัน เวลามันพลิกกลับมา ยาเขาเอาไว้รักษาคนไข้นะ ทำไมเราไม่รักษาไข้ ทำไมเราแพ้ยาถึงกับเสียชีวิตได้

ปฏิบัติธรรมเพื่อคุณงามความดี ปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขสงบไง แล้วปฏิบัติไปๆ เขาว่า

ถาม : ดิฉันหาคำตอบให้ตัวเองไม่เจอ ดิฉันหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ค่ะ ดิฉันงงนะคะ ดิฉันไม่รู้จะไปทางไหนค่ะ

ตอบ : นี่ไงมันเป็นเพราะเหตุใดล่ะ? เวลากิเลสมันสวมรอยนะ เราคิดว่าเราประพฤติปฏิบัติกัน ทำคุณงามความดี เราจะทำคุณงามความดีแล้วกิเลสมันจะพอใจ กิเลสมันจะให้เราปฏิบัติธรรมๆ กิเลสนี้ตัวร้ายมาก นี่ถ้ามันสวมรอยมานะ สวมรอยมาเราหาเหตุหาผลไม่ได้ แต่ถ้าหาเหตุหาผลไม่ได้นะเรามีสติ เห็นไหม เรามีสติ เราพยายามทำของเรา

ในการทำดี นี่ปฏิบัติมา ศึกษาธรรมะมา ๓ ปี เขาศึกษามา ๓ ปี ศึกษามา ปฏิบัติมาตลอดเวลา ปฏิบัติตลอดเวลา สิ่งนี้เป็นเครื่องประคองใจเรามานะ ๓ ปีถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติเราไปตามกระแสของเรา มันตึงเครียด ในชีวิตเรามันจะมีความบกพร่องอยู่ตลอดเวลา มันจะมีความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ในมรรยาทสังคม สบายดีไหม? สบายดี หน้าชื่นอกตรมไง หน้าชื่นนะ เราบอกเรามีความสุขกัน เรามีความสุข แต่ในเมื่อมันมีอวิชชา มีกิเลสในหัวใจ มันเผาลนทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น ๓ ปีเราประคองหัวใจเรามา ถ้าเราปฏิบัติตามความเป็นจริงมันจะเป็นความจริงของมัน ถ้าปฏิบัติตามความไม่จริงเราก็พยายามปฏิบัติเพื่อให้ภพชาติสั้นเข้า ปฏิบัติเพื่อสร้างบารมีของเรา ทำความเป็นจริงของเรา แล้วทำทำไมล่ะ? เขาบอกว่ามันเป็นทุกข์ ใช้ชีวิตแบบแห้งแล้ง ในเมื่อเขาอยู่ทางโลกเขามีความสุขกัน เราทำไมต้องมาถือศีล? ทำไมต้องปฏิบัติกันให้มันแห้งแล้ง?

พรหมจรรย์ ถ้ามันแห้งแล้ง ก็แสดงว่าใจของเรามันไม่มีที่อาศัย แต่ถ้าใจของเราเป็นสุขนะ แหม มันปลื้มใจมาก ถ้าจิตของคนสงบนะ นี่มันจะมีความสุข มันจะมีความพอใจ มันแห้งแล้งจริงหรือเปล่าล่ะ? มันไม่เห็นแห้งแล้งเลย มันมีแต่ความสุข ความชื่นบาน ถ้าจิตมันสงบ ถ้าจิตมันไม่สงบ อ้าว ไม่สงบก็ถือพรหมจรรย์ ถือพรหมจรรย์เราก็ริดกิ่ง ริดใบ

สิ่งใด เห็นไหม ต้นไม้เวลาถึงปีหนึ่งมันต้องผลัดใบของมัน มันจะแตกใบอ่อนของมัน มันยังรู้จักสลัดใบมันทิ้งเลย นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดในหัวใจของเราที่มันย้ำคิดย้ำทำที่ไม่ดีสลัดมันทิ้ง ถ้าสลัดมันทิ้ง เรามาริดกิ่ง ริดใบ ริดกิ่ง ริดใบสิ่งที่มันหมดอายุ มันไม่สามารถสังเคราะห์อาหารให้กับลำต้นได้ เขาสลัดทิ้งแตกใบใหม่ของเขา นี่ก็เหมือนกัน เราคิดแต่สิ่งที่ดีๆ ทำสิ่งที่ดีๆ ไป

ฉะนั้น สิ่งที่ทำมา เขาทำมา ๓ ปีนะ แล้วบอกว่าหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ คำว่าหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้มันไม่ใช่ธรรม หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ ดูเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เรามีคำตอบให้ตัวเองไหม? เราไม่มีคำตอบให้ตัวเองหรอก เพราะเรานี่เป็นคนที่หยาบ เป็นคนที่ค้นหาตัวเองไม่เจอ แต่เพราะเราเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้มีคำบริกรรม จิตมีคำบริกรรม

โดยสัญชาตญาณจิตเป็นธาตุรู้ จิตเป็นธรรมชาติที่รับรู้ ธรรมชาติที่คิด ถ้าธรรมชาติที่คิด แล้วมันมีอวิชชามันก็เสริม มันก็กระตุ้นให้คิดออกไปตามอำนาจของกิเลส เราไม่มีปัญญา หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ เราถึงใช้คำบริกรรม เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่เราก็เชื่อมั่นในคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธไม่ให้หัวใจ ไม่ให้ความรู้สึกนึกคิดคิดไปตามกิเลส เราเชื่อมั่น มันไม่มีเหตุผล เราพุทโธไว้ พุทโธไว้ พุทโธ พุทโธจนมันเป็นจริง

เหมือน เหมือนกับน้ำหยดลงหิน น้ำหยดลงหิน ตักน้ำใส่ตุ่ม เราตักน้ำใส่ตุ่ม นี่ไม่มีเหตุมีผล ตักใส่ตุ่มๆ น้ำมันเต็มตุ่ม เออ น้ำมันเต็มตุ่ม พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป ถ้าพุทโธนะมันอิ่มเต็มของมัน นี่มันมีเหตุมีผลให้เราเองไง ถ้ามันมีเหตุมีผลให้เราเอง ตอนนั้น เออ พุทโธมันก็ทำได้จริงๆ เนาะ พุทโธมันก็สงบได้จริงๆ แต่ถ้าพุทโธยังไม่สงบ อืม ตุ่มมันรั่ว ตุ่มมันรั่วตักน้ำใส่มันก็รั่วไปหมดไม่เต็มสักที ไม่เต็มสักทีมันก็ไม่เห็นต่อหน้าว่าน้ำเต็มสักที มันก็ไม่มีเหตุมีผลตลอดไป แต่ถ้าตุ่มมันรั่วเราก็ดูแลสิมันรั่วที่ไหน ปะ ปะมัน ยามันไม่ให้มันรั่ว แล้วตักน้ำใส่ตุ่ม

พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าน้ำมันเต็มนะ อืม นี่เหตุผลไง เขาบอกว่าเขาหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ ถ้าเราทำไป เราปฏิบัติไปนี่ภาคปฏิบัติ ปริยัติคือการบอกเล่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้เราก็ไปศึกษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่าถึงวิธีการปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ไปจำ ไปศึกษามา จำมาแล้วมันหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้

ปริยัติ ปฏิบัติ นี่เราทำเลย ตักน้ำใส่ตุ่มๆ ตุ่มมันรั่ว ตุ่มมันแตกให้ปิด ตุ่มมันรั่วให้ยา ดูแลมัน ทำรักษามัน ดูมัน เออ มันเต็มได้จริงๆ นะ เพราะในคำบอกเล่าบอกว่าพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ อนุสติ ๑๐ นี่สิ่งนี้มันทำแล้วมันได้ประโยชน์หมด ถ้ามันทำได้จริงมันก็เป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม ปริยัติแล้วปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติมันจะมีคำตอบให้ตัวเอง ถ้าหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้เรายังสงสัยอยู่ ให้เราค้นคว้า ให้เรามีสติปัญญาไง อันนี้เป็นปัญญาที่เราเกิดขึ้น ทำให้เราไม่หลงไปกับมันนะ

ฉะนั้น บอกว่าเวลาปฏิบัติไปๆ แล้วเราร้องไห้ สะอึกสะอื้น คำว่าร้องไห้สะอึกสะอื้นนะ เด็กมันร้องไห้ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ หลวงตาท่านบอกว่า เวลาน้ำตาที่ผูกมัด น้ำตาที่ทุกข์ยาก น้ำตาที่เสียดแทงใจ น้ำตาที่มันออกมาจากวามทุกข์ อันนี้เป็นน้ำตาผูกมัด เวลาผู้ที่บรรลุธรรม มันสะเทือน ธาตุขันธ์มันสะเทือน โลกธาตุไหว คือธาตุขันธ์มันหวั่นไหว น้ำตามันแตกพรั่งแตกพรู น้ำตาล้างภพ ล้างชาติ น้ำตาที่จะมาชะล้าง

นี่คำว่าร้องห่มร้องไห้มันตีความไปได้หลายแง่มุม ถ้าน้ำตาที่ออกมาจากธรรมสังเวช คือมันสลดสังเวช มันสะเทือนใจ อันนี้เป็นน้ำตาที่มันชำระล้าง เราซักล้างทำความสะอาด แต่ถ้ามันเป็นสิ่งสกปรกนะ เวลาเราไปซับมันมา สิ่งนั้นมันมีแต่กลิ่นเหม็น มีแต่สิ่งที่ไม่ดีไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาสวดมนต์ไปแล้วร้องห่มร้องไห้ มันสะอึกสะอื้นตลอดเวลา เรายับยั้งได้ คือถ้าเด็กมันร้องไห้ คนทุกข์ คนยากเขาเสียใจ เขาพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นของรักของเขา เขาร้องห่มร้องไห้ ทุกคนก็จะไปปลอบประโลมว่าโลกมันเป็นแบบนี้ ธรรมชาติมันเป็นแบบนี้ ให้กำลังใจกัน แต่คนที่เขาประสบความสำเร็จ คนที่เขามีสิ่งที่ดีงามของเขา เขาสะเทือนใจของเขา เขาร้องไห้ของเขา ไม่ต้องไปปลอบเขา เพราะเขามีความสุข เขาธรรมสังเวช เขาสังเวช เขาสำรอก เขาคลายของเขา

นี่การร้องไห้มันมีทั้งบวกและลบ คำว่าบวก ร้องไห้มีบวก มีลบด้วยหรือ? เพราะน้ำก็คือน้ำ น้ำตาก็คือน้ำตา โดยปกติคนไม่ร้องไห้มันก็มีน้ำหล่อเลี้ยงตา มันมีของมันอยู่แล้วแหละ ไอ้นี่น้ำธรรมชาติมันก็มีของมันอยู่ แต่มันบวกไปที่ว่าดีใจกับเสียใจ กิเลสกับธรรม

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันร้องไห้ๆ ร้องไห้พูดถึงถ้ามันสะเทือนใจเป็นธรรมสังเวช คือคนเราเวลาสวดมนต์ไปนะ นี่คนอ่านประวัติพระพุทธเจ้ายังร้องไห้ อ่านประวัติที่ว่า โอ้โฮ ท่านทุกข์ทรมานของท่าน โอ้โฮ กษัตริย์ทำไมมาเป็นอย่างนั้น อ่านแล้วมันก็สะเทือนใจ ถ้ามันสะเทือนใจน้ำตาไหล นี่อย่างนี้มันธรรมสังเวช ถ้าเราสวดมนต์แล้ว ถ้ามันสะเทือนใจนะ สะเทือนใจที่พระพุทธเจ้าทุกข์ยากมาก่อน เวลาท่านเทศนาว่าการเรื่องใดๆ มันสะเทือนใจเรา

ถ้ามันน้ำตาไหล อันนั้นมันน้ำตาไหลเพราะ เพราะมันธรรมสังเวช แล้วถ้ามันสังเวช ถ้าเราเจริญเติบโตขึ้นไป คือจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมามันก็ต้องหาไง ให้หาเหตุผลว่าร้องไห้มันก็ได้แค่นี้แหละ แล้วถ้าไม่ร้องไห้ล่ะ? ไม่ร้องไห้นะ จิตใจมันสงบระงับ เรื่องของธาตุขันธ์ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในเมื่อน้ำในร่างกายมันมีอยู่แล้ว สิ่งนี้มันจะดีใจ เสียใจมันอยู่ที่ใจ มันไม่ได้อยู่ที่น้ำ ไม่ได้อยู่ที่ธาตุ ๔

ทีนี้ธาตุ ๔ เราคิดของเรานะมันก็ระงับ ระงับเสร็จแล้วเราก็ทำคุณงามความดีมากขึ้นไป พอมากขึ้นไป เดี๋ยวมันไปสะเทือนในหัวใจนะ เวทนากาย เวทนาจิต ถ้าเวทนากายเจ็บปวดเมื่อย นี่เวทนากาย ดีใจ เสียใจ ทุกข์ใจนี่เวทนาจิต ถ้าจิตมันมีแต่เวทนา มีแต่ความสุข ความทุกข์ จิตมันจะมีน้ำตาไหลไหมล่ะ? จิตไม่มีน้ำตาไหลหรอก จิตมันเป็นนามธรรม ถ้าเราร้องไห้ ถ้าเรามีปัญญาอย่างนี้มันจะเข้าใจของมันได้

นี่ร้องไห้มาเป็นเดือนๆ ถ้ามันร้องไห้โดยสะเทือนใจ โดยที่ไม่มีโทษมีภัย มันเป็นนิสัย นิสัยคนอ่อนโยน นิสัยของคนอ่อนโยนนะมีอะไรสะกิดมันก็สะเทือนใจ นิสัยของคนหยาบกระด้าง ตีมันมันยังไม่ร้องเลยล่ะ ทุบมันมันยังไม่สะเทือนใจเลย กรณีอย่างนี้มันก็มีของมันนะ ฉะนั้น สิ่งที่กรณีเราร้องไห้มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ มันสะเทือนใจมากน้อยแค่ไหนมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้ามันร้องไห้ เรามีสติแล้วเราก็มาทบทวนเอา ทบทวนจิตใจมันจะละเอียดเข้ามาๆ พอละเอียดเข้ามามันจะเห็นสิ่งที่ว่าเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิด แล้วเราจะแก้ไขสิ่งนั้น เพราะ เพราะธรรมะมันสัมผัสด้วยความรู้สึกคือจิต ความรู้สึกคือหัวใจนี่สัมผัสธรรมะ ถ้าสัมผัสธรรมะ สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ แล้วถ้าจิตเราสงบเข้าไปถึงที่นั่น ถ้าจิตสงบ จิตดีจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันจะเป็นวิปัสสนา ถ้าจิตมันไม่ดี กาย เวทนา จิต ธรรมใครเห็นล่ะ? สัญชาตญาณมันรู้สึกนึกคิด นี่สิ่งที่ทำมันเป็นสัญญา สัญญาก็เป็นเรื่องโลกๆ จิตดีหรือจิตไม่ดีเรารักษากันตรงนี้ แล้วมันจะละเอียดเข้าไป นี่พูดถึงว่าร้องไห้สะอึกสะอื้นนะ

ถาม : แล้วพอร้องไห้ไปแล้ว หลังจากประมาณ ๑ เดือนนั้นจิตใจของดิฉันว่างเปล่า ไม่อยากคิดอะไร ไม่สนใจสิ่งใด นั่งเฉยๆ ให้เวลามันผ่านไป

ตอบ : นี่เพราะมันเริ่มต้นมาจากว่าหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ พอหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ มันก็ไม่มีสิ่งใดเจริญหรือสิ่งใดเสื่อม มันก็คาอยู่อย่างนั้นแหละ เวลาเราติดเราบอกว่าเราปฏิบัติมาเพื่อประโยชน์กับเรา เราตั้งใจเพื่อทำคุณงามความดีทั้งนั้นแหละ นี้เราทำคุณงามความไปแล้ว ทำไมข้างหน้ามันก็ไปไม่ได้ ถอยหลังก็ถอยหลังไม่ได้ ทำไมมันคาอยู่อย่างนี้ล่ะ? มันคาอยู่อย่างนี้เพราะอะไร? เพราะมันไม่เป็นความจริง มันปฏิบัติมา ปฏิบัติมาเพื่อคุณงามความดีทั้งนั้นแหละ

กิเลสมันร้ายนัก กิเลสมันสวมรอยมาไง พอมันสวมรอยมา เห็นไหม นี่ธรรมะเป็นความว่าง มันปล่อยวางหมดเลย ปล่อยวางแบบอะไรล่ะ? ถ้าปล่อยวางหมด วัตถุมันก็ปล่อยวางนะ ดูสิอิฐ หิน ทราย ปูนมันเดือดเนื้อร้อนใจไปอะไรกับใคร? เหล็ก ไม้มันเดือดเนื้อร้อนใจไปกับใคร? มันก็ปล่อยวาง ถ้าบอกปล่อยวางโดยไม่มีเหตุมีผล มันก็ปล่อยวางแบบวัตถุไง ดูสิไม้มันไปรับรู้อะไร? เอามาทำเป็นตั่ง เป็นโต๊ะมันก็เป็น รื้อมันออกมันก็ไม่เดือดร้อน มันก็ไม่บอกใคร มันก็ไม่เสียใจ ทำให้มันเสร็จขึ้นมามันก็ไม่ดีใจ

ฉะนั้น การปล่อยวางแบบนี้มันเป็นเรื่องของวัตถุธาตุ มันไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกนึกคิดหรอก มันไม่ใช่เรื่องของหัวใจ ถ้ามันไม่ใช่เรื่องของหัวใจนะ การปล่อยวาง เห็นไหม จิตว่าง ไม่อยากคิด ไม่อยากทำอะไร นี่ไม่อยากคิด ไม่อยากทำนะ ถ้าขาดสติมันก็ไปเลย หลุดไปเลย แต่ถ้าไม่ขาดสติมันก็เป็นแบบนี้ คือก้าวหน้าก็ไม่ก้าวหน้า ถอยหลังก็ไม่ถอยหลัง ฉะนั้น สิ่งนี้เราต้องสลัดทิ้งเลย

นี่กิเลสมันสวมรอยะ เวลากิเลสมันสวมรอยในการปฏิบัติ มันสวมรอยมาแล้วเราไปไหนไม่ถูกเลย แล้วเราไปไหนไม่ถูกแล้วมันเหมือนเด็ก เอาเด็กไปวางไว้ที่ไหน แล้วเด็กมันก็ช่วยตัวเองมันไม่ได้ มันจะกลับบ้านก็กลับไม่ได้ มันจะไปไหนมันก็ไปไม่ถูก แต่ถ้าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่นี่เราไปที่ไหน หรือเราหลงทางไปที่ไหนเราก็กลับบ้านได้นะ เพราะผู้ใหญ่มีความรู้สึกนึกคิดไง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจมันเด็ก มันว่างๆ นั่งเฉยๆ ให้วันเวลามันผ่านไปวันๆ หนึ่ง หน้าที่การงานก็ไม่อยากทำ ไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำอะไรเลยมันก็ไม่ได้อะไรเลย คนไม่ใช่วัตถุธาตุ ถ้าเป็นอิฐ หิน ทราย ปูน มันก็เป็นของมันไม่มีชีวิต ไอ้นี้ความรู้สึกนึกคิดมันมีนะ แต่ทำไมเราปล่อยใจให้เป็นแบบนั้นล่ะ? ถ้าเราปล่อยใจให้เป็นแบบนั้น ถ้ามันเป็นความเห็นผิดมันก็บอกว่า ก็นี่ไงธรรมะพระพุทธเจ้าบอกให้ปล่อยวาง นี่ก็ปล่อยวางหมดแล้ว แต่การปล่อยวาง หลวงตาท่านใช้คำว่า “เศรษฐีธรรม”

เศรษฐีปล่อยวาง เป็นเศรษฐีแล้วปล่อยวาง ไอ้นี่เรามันยาจก ทุกข์เกือบเป็นเกือบตายแล้วก็ปล่อยวางๆ ปล่อยวางได้อะไรล่ะ? ปล่อยวางไม่เห็นได้อะไรเลย ถ้าปล่อยวางมันต้องมีเหตุมีผล มีคำตอบให้ตัวเอง เป็นเศรษฐี เศรษฐี เห็นไหม นี่ทำจิตสงบได้ มีสติ มีสมาธิก็เกิดปัญญา ปัญญาเข้าไปเห็นอะไร? ปัญญาเข้าไปเห็นกิเลส กิเลสมันคืออะไร? กิเลสคือมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด แล้วมันเกิดปัญญาพิจารณากัน พิจารณาจนความเห็นมันถูกต้องเกิดสัมมาทิฏฐิ

พอเกิดสัมมาทิฏฐิ เห็นไหม อวิชชา ปัจจยา สังขารา นิโรโธโหติ เกิดนิโรธ เกิดอะไร มันปล่อยวางของมัน ถ้ามันสมุจเฉทปหานมันขาดของมัน นี่มันรู้ มันเห็นของมัน การปล่อยวางแบบนั้นต่างหากมันถึงเป็นเศรษฐีธรรม มันมีเหตุมีผล อืม เราทุกข์ทนเข็ญใจ จนเราสร้างจิตของเราเข้มแข็งจนมีเงินมีทอง มีเงินมีทองก็ใช้สติปัญญาวิปัสสนา ทำเหตุทำผลของมันขึ้นมาจนมีผลตอบสนองกลับมา ได้ผลตอบสนองกลับมา นี่เศรษฐีเริ่มมีผลกำไรเข้ามา ถ้ามีผลกำไรเข้ามา ถึงผลกำไรแล้วมันก็ยังติดในติดดี ถึงที่สุดแล้วนะ ทั้งดีและชั่วทิ้งหมดเลย

พอทิ้งหมดเลย มันถึงที่สุดของมัน เห็นไหม มันก็ขาด มันสมุจเฉทปหานมันก็เป็นความจริงของมัน แล้วมันว่างอย่างไรล่ะ? มันว่างมีเหตุมีผลไง มันมีขอบเขต ขอบเขตของโสดาบัน ขอบเขตของสกิทาคามี ขอบเขตของพระอนาคามี ขอบเขตของพระอรหันต์ก็พูดกันรู้เรื่อง นี่เวลาเขาคุยกัน อย่างนี้เป็นพระโสดาบัน อย่างนี้เป็นสกิทาคามี อย่างนี้เป็นอนาคามี อย่างนี้เป็นพระอรหันต์ เขาคุยกันรู้เรื่องนะ เขามีเหตุมีผล เขามีขอบมีเขตของเขา เขาคุยกันรู้เรื่อง มันไม่ใช่ว่าปล่อยวางเฉยๆ ปล่อยวางๆ ปล่อยวางแล้วไม่ทำอะไรเลย มันเป็นมิจฉาทิฏฐินะ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ นี่กิเลสมันสวมรอยมา สวมรอยมา

การปล่อยวางความว่าง กับเวลาเราพูดธรรมะกันพระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่น บอกให้ปล่อยวาง แล้วปล่อยวางอย่างไรล่ะ? ปล่อยวางอย่างไร? ถ้าปล่อยวางถูกต้องมันก็ถูกต้องนะ ถ้าปล่อยวางไม่ถูกต้อง นี่เวลามันแพ้ธรรม เวลาแพ้ยามันตายเลยล่ะ ไอ้นี่เวลามันแพ้ธรรมะ ธรรมะที่กิเลสมันใช้ยาพิษ ใช้สารพิษ นี่เขาว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ ความจริงมันไม่ใช่ธรรม ถ้ามันลึกกว่านี้ไปนะเขาเรียกวิปัสสนูปกิเลส เวลาวิปัสสนูปกิเลสมันเกิดนะ นี่เวลาปฏิบัติไปมันจะมีวิปัสสนูปกิเลสอีก เห็นไหม เป็นความว่าง เป็นแสงสว่าง กิเลสละเอียดมันเป็นกิเลสละเอียดไปหมด นี่กิเลสมันสวมรอย ถ้ากิเลสมันสวมรอยแล้ววางซะ

คำว่าเวลาปฏิบัติมา เริ่มต้น ๓ ปีที่แล้วศึกษามา แล้วมาปฏิบัติเอา ๓ เดือน เวลาปฏิบัติไปมันมีรสชาติ เวลาปฏิบัติไปจิตมันมีสติ จิตมันมีสมาธิมันมีรสชาติของมัน รสชาติของมัน นี่คนมันแปลกประหลาดไม่เคยเห็น พอรสชาติของมัน พอมันวางขึ้นมามันก็เข้าใจว่าสิ่งนี้ปฏิบัติธรรม สิ่งนี้กิเลสมันสวมรอย ปฏิบัติโดยกิเลสมันจัดให้ กิเลสมันจัดฉากให้ ปฏิบัติโดยกิเลส แล้วกิเลสมันก็เดินตามมันมา มันก็ให้ผลมาเป็นแบบนี้ไง นี่เราจะฆ่ากิเลส ไม่ใช่ให้กิเลสมันสวมรอยธรรมะ แล้วทำให้เรางงๆ อยู่นี่ หมุนซ้าย หมุนขวาไปไม่ถูก

ถาม : จนกระทั่งตอนนี้บางเวลาจิตใจดิฉันจะเงียบมาก บางเวลามีอารมณ์ว้าเหว่และไม่พอใจบางสิ่งบางอย่าง รู้สึกว่าไม่พอใจไปหมด

ตอบ : ผลที่มันให้ไง ถ้าพูดถึงโดยปกตินะ ถ้าจิตของเราปกติ การปฏิบัติด้วยสติสมบูรณ์มันก็เป็นปกติ ถ้าจิตของเราไม่ปกติ เห็นไหม เวลาปฏิบัติสิ่งใด นี่โดยธรรมชาติของผู้รู้ โดยธรรมชาติของธาตุรู้มันจะรู้ของมันโดยธรรมชาติ แล้วเราขาดสติ พอขาดสติมันก็รู้ตามแต่สิ่งที่มันจินตนาการไป

ฉะนั้น เราจะต้องทำจิตของเราให้เป็นปกติ พอเป็นปกติแล้วเราค่อยประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริง เห็นไหม อารมณ์ที่ว้าเหว่ อารมณ์ที่มีความรู้สึกต่างๆ โดยธรรมชาติของคนมันว้าเหว่ทั้งนั้นแหละ นี่เพราะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้จริงๆ เลยนะ

“ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่”

คำว่าว้าเหว่คือมันไม่มีจุดยืนของมันไง ที่เรามาหาจุดยืนของเราก็มาตั้งสติของเรานี่แหละ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เธออย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

เราจะพึ่งใครล่ะ? เราจะพึ่งครูบาอาจารย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาดีกับสาวก สาวกะ วางธรรมและวินัยไว้อีก ๕,๐๐๐ ปี เราก็พยายามจะประพฤติปฏิบัติให้เป็นธรรมของเรากันขึ้นมา นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็นิพพานไปแล้ว นี่เราจะพึ่งใคร? เราจะพึ่งคนอื่น เราจะพึ่งครูบาอาจารย์นะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็นิพพานไปแล้ว หลวงตาท่านก็นิพพานไปแล้ว เราจะพึ่งใครล่ะ? เราจะพึ่งใคร? เราพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมา

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนพึ่งมาได้ ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ตนก็ไม่ว้าเหว่ ที่ตนว้าเหว่เพราะตนพึ่งตนเองไม่ได้ พึ่งใครก็ไม่ได้ พึ่งสิ่งใดไม่ได้เลย ทีนี้พึ่งไม่ได้ เห็นไหม เราบอกเรามีแก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เราก็อยากพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พึ่งรัตนตรัย นี่พึ่งรัตนตรัย พระธรรม เห็นไหม พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ธรรม พระสงฆ์ก็บรรลุธรรม นี่ตัวธรรมตัวสำคัญ ถ้าตัวสำคัญ ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาเรามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิดมันก็ไม่ว้าเหว่ แล้วธรรมมันอยู่ไหนล่ะ?

สติธรรม สมาธิธรรม สติก็เป็นธรรมอันหนึ่ง สมาธิก็เป็นธรรมอันหนึ่ง ปัญญาธรรม เห็นไหม โลกุตตรธรรม ถ้าธรรมมันเกิดขึ้นมา

“เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

นี่ถ้าเรามีที่พึ่งของเรามันก็ไม่ว้าเหว่ ที่มันว้าเหว่อยู่นี้ ว้าเหว่อยู่นี้เพราะมันส่งออกหมดไง มันส่งออกว่าเราจะมีที่พึ่งที่อื่น มันก็จะไปตะครุบว่าสิ่งใดเป็นที่พึ่ง สิ่งใดเป็นที่พึ่ง นี่สิ่งที่เป็นที่พึ่งมันเป็นนามธรรม มันเป็นสติปัญญาที่เกิดขึ้นมาเป็นปัจจุบัน สติระลึกเดี๋ยวนี้ก็เป็นสติเดี๋ยวนี้ พอระลึกแล้วสติมันก็จางลง สติมันก็จางลง แล้วสมาธิจะระลึกเดี๋ยวนี้ไหม? ถ้าเรามีสติ มีปัญญาเดี๋ยวนี้ เราระลึกเดี๋ยวนี้ ธรรมก็อยู่กับเราเดี๋ยวนี้ไง แต่ถ้าเราส่งออกเราจะหวังพึ่งอย่างอื่น หวังส่งออก พอส่งออกไปมันจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง? มันก็ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งเลย ถ้าไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งมันก็ว้าเหว่

ทีนี้คำว่าว้าเหว่นะ ว้าเหว่แล้ว นี่เขาบอกว่า

ถาม : ในปัจจุบันนี้ดิฉันเหมือนมีสองอารมณ์ เดี๋ยวขาว เดี๋ยวดำ

ตอบ : เดี๋ยวขาว เดี๋ยวดำ เพราะถ้ามันทันนะ เวลาปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าเป็นสมาธิ ถ้ามีธรรม โอ้โฮ ชีวิตนี้ชื่นบานมาก แต่ถ้าวันไหนกิเลสมันขี่นะ เก้าอี้ดนตรีในหัวใจไง เดี๋ยวกิเลสก็นั่ง เดี๋ยวธรรมะก็นั่ง ถ้าธรรมะนั่งเราจะมีความปรารถนาดี อยากทำคุณงามความดี ถ้าวันไหนกิเลสนั่งนะเราก็ทำความดีมาตั้งเยอะแล้ว ทำไมมันไม่ได้ดีตอบแทน? มันได้ดีแล้วแหละ มันได้ดีตอนทำนั่นล่ะ

ฉะนั้น ในเมื่อเราได้ดีแล้ว แต่เรามีอวิชชา มีสิ่งที่เป็นพญามารอยู่ในหัวใจ ถ้าพญามาร ถ้าเขาพยายามจะฟื้นตัวของเขาขึ้นมามันก็เป็นสิ่งที่คิดโดยมาร ถ้าคิดโดยมารนะก็คือกิเลสนั่งอยู่ในหัวใจ เดี๋ยวก็คิดขาว เดี๋ยวก็คิดดำ ถ้าโดยสัจจะความจริงมันก็เป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนี้เพราะกิเลส นี่หินทับหญ้าๆ เราก็ทับมันไว้เฉยๆ ถ้าเวลาหินมันเบาลง ดูสิหินมันแกร่งขนาดนั้น หินกว่ามันจะย่อยสลายต้องกี่ปี? แต่หินทับหญ้า หินนี่เป็นนามธรรม หินมันย่อยสลายเหมือนฟองสบู่เลย ถ้าหินมันดีมันก็ทับไว้ พอฟองสบู่มันแตกหญ้ามันก็เกิด

นี่ก็เหมือนกัน พอสีขาวก็สิ่งที่ดีๆ มันเกิดขึ้น นี่พูดถึงโดยข้อเท็จจริงนะ ข้อเท็จจริงมันก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว ถ้าข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้ แล้วเรามีสติปัญญา เราถึงจะต้องมีความมั่นคงแล้วต่อสู้ ต่อสู้กับสิ่งนี้เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเราได้นะมันก็จะเป็นความจริงของเรา

ฉะนั้น เขาบอกว่า

ถาม : ในปัจจุบันอารมณ์ดิฉันมันเหมือนมีขาวกับดำ บางครั้งเหมือนดิฉันควบคุมตัวเองไม่ได้ ดิฉันจะท่องพุทโธ พุทโธในใจอยู่ตลอดเวลา แบบนี้ดิฉันจะต้องทำอย่างไรคะ?

ตอบ : ที่พูดนี่ พูดมาทั้งหมดเลยให้เห็นถึงการปฏิบัติ เวลาเห็นถึงการปฏิบัติทุกคนว่าเราปฏิบัติธรรมแล้วเราจะต้องประสบความสำเร็จ เราจะต้องแบบว่าเขาจะปูพรมให้เราเดินเลย นี่ชีวิตนี้จะโรยด้วยกลีบกุหลาบไปหมดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติอยู่ ๖ ปีนี่ทุกข์มาก ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมานี่นะ คำว่าทุกข์ มันทุกข์เพราะว่ามันต่อสู้กับกิเลสไง เหมือนกับเราเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาเรารักษาเขาต้องฉีดยา ถ้าเกิดเป็นแผลเขาต้องผ่าตัด การฉีดยา การผ่าตัดนี่เจ็บไหม? เจ็บ เจ็บเพื่ออะไร? เจ็บเพื่อให้โรคหาย

การปฏิบัติก็เหมือนกัน เขาว่าทุกข์ยากๆ คำว่าทุกข์ยากเราต้องลงทุนลงแรงไง เราจะรักษาใจของเราไง มันก็ต้องมีสติ มีปัญญาเข้าไปต่อสู้กับมัน ถ้าต่อสู้กับมัน มีต่อสู้กับกิเลสเราตลอดเวลา มันก็จะเหมือนกับเรารักษาตัวเราเอง ถ้าเรารักษาตัวเราเองนะ ถ้ามีบารมีนะมันจะไม่ล้มลุกคลุกคลานกับเรื่องอย่างนี้ไง จะทุกข์ จะยากขนาดไหนก็จะสู้ จะทุกข์ จะยากขนาดไหน ไปฟังหลวงตาท่านพูดสิ ปฏิบัติใหม่ๆ นะ เวลากิเลสมันขี่เอาร้องไห้เลยล่ะ หลวงตาท่านบอกท่านเสียใจจนน้ำตาไหลนะ

“อืม กิเลส มึงเอากูขนาดนี้เชียวนะ กูไม่กลัวมึง กูจะสู้”

แล้วท่านก็พลิกขึ้นมา คำว่าพลิกขึ้นมาท่านลงทุนลงแรงขนาดไหน? ท่านต้องตั้งใจขนาดไหน? ท่านต้องตั้งใจขนาดไหน? ขึ้นไปในป่าในเขานะ อดอาหารจนเหมือนดีซ่านเลย กลับมาหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นตกใจเลย โอ้โฮ ทำไมเป็นแบบนี้ล่ะ? ขนาดคนเห็นยังช็อกเลย นี่ด้วยความเข้มแข็งของท่าน เพราะจะต่อสู้กับสีขาว สีดำนี่ไง นี่สีขาวเป็นสิ่งที่ดี ต่อสู้กับมัน ต่อสู้ให้ไปทำลายสีดำ ถ้าทำลายสีดำมันก็เป็นไปได้ แล้วท่านก็พูดด้วย บอกว่าคิดในใจว่าถ้าปฏิบัติไปแล้ว ต่อไปข้างหน้าจะสะดวกสบายขึ้นเรื่อยๆ พอปฏิบัติไปเราก็จะมีหนทางที่ดีงามไปเรื่อยๆ

ท่านบอกว่าเวลาปฏิบัติจริงไม่เป็นแบบนั้นเลย เพราะเราเป็นโสดาบันเราไปฆ่าหลานของมัน คือฆ่าหลานกิเลส หลานกิเลส ลูกกิเลส พ่อกิเลส ปู่กิเลสมันแตกต่างกัน ฉะนั้น พอเราไปฆ่าหลานมัน ลูกมัน พ่อมัน ปู่มันมันจะต้องฉลาดกว่า ฉลาดกว่า การต่อสู้มันก็ต้องยากขึ้น แต่ในมุมกลับทางโลกนะ โอ๋ย ถ้าเราชำระกิเลสไปแล้วนะ ถ้ามันจะดีขึ้น เบาขึ้น สะดวกขึ้น โอ๋ย ไปฆ่าหลานมัน ลูกมัน พ่อมัน ปู่มันรวมกันจะกระทืบเอา

ทีนี้พอกระทืบเอาขึ้นไปก็งงน่ะสิ ปฏิบัติขึ้นไปเดี๋ยวลูกมันเอย พ่อมันเอยหลอกลวง งงเลยนะ ในการปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ ยิ่งละเอียดเข้าไป กิเลสยิ่งละเอียดมันยิ่งทำให้เราหลง ยิ่งละเอียดยิ่งทำให้เราผิดพลาด เราจะไปผิดพลาดตลอด ฉะนั้น ปฏิบัติไปมันจะติดขัดไปตลอด ถ้าติดขัดไปตลอด ท่านพูดอยู่ หลวงตาท่านก็พูด พวกเราก็คิดกันทุกคนแหละ ปฏิบัติตอนนี้มันยาก ต่อไปข้างหน้ามันจะง่าย มันจะง่ายขึ้นไปเรื่อยๆ เออ แล้วมันจะง่าย แล้วมึงจะเห็นว่ามันจะง่ายอย่างไร

ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยบอกเราก็ยังมีคนคอยบอกทางนะ หลงทางแล้วมีคนคอยบอกมันยังพอจะไปถูกทาง หลงทางแล้วไม่มีคนบอก ไปถามไอ้พวกที่ไม่เคยหนทางมันก็บอกวนอยู่นั่นแหละ ยิ่งบอกยิ่งงง ยิ่งงงก็ยิ่งหลง ยิ่งหลงก็ยิ่งหาทางออกไม่เจอ ถ้าไปเจอคนบอกทางที่ไม่เป็นทาง ไม่รู้จักทางบอกทาง เออ แล้วเอ็งจะหาทางออกกัน นี้มันจะทุกข์ จะยาก แต่เราก็ยังมีครูบาอาจารย์คอยชี้ทางให้เรา คอยบอกทางให้เรา ถ้าคอยบอกทางให้เรานะ

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไป ถ้ากิเลสมันสวมรอย ถ้าเราคิดโดยกิเลส จริงๆ คิดโดยกิเลสเลย เพราะพวกเรานี่กิเลส ปุถุชนนี่กิเลสหมด คิดโดยกิเลสไงว่าถ้าปฏิบัติไปแล้วมันจะเรียบง่าย มันจะสะดวกสบาย ปฏิบัติแล้วมันจะดีงาม แล้วพอปฏิบัติไป พอเวลามันเจออุปสรรคแล้วเราก็ท้อใจ นี่ไงหลวงปู่มั่นท่านถึงพูด ท่านพูดบ่อยนะเวลาครูบาอาจารย์อยู่ท่านบอกว่า

“หมู่คณะให้ปฏิบัติมานะ แก้จิตมันแก้ยากว่ะ”

ผู้เฒ่าคือตัวท่าน ผู้เฒ่าคือหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า “ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ถ้าผู้เฒ่าตายไปแล้วหาคนแก้ยากนะ ถ้าผู้เฒ่าตายไปแล้วหาคนแก้ยากนะ คนแก้จิตหายากนะ”

นี่ผู้เฒ่า เวลาผู้เฒ่าปฏิบัติมา ผู้เฒ่าล้มลุกคลุกคลานมา ผู้เฒ่าต่อสู้กับกิเลสของผู้เฒ่ามา ผู้เฒ่าเห็นว่ามันทุกข์ยากแค่ไหน แล้วผู้เฒ่าปรารถนาดีกับพวกเรา ปรารถนาดี เป็นห่วง เป็นใยนะ

“หมู่คณะปฏิบัติมา แก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ผู้เฒ่าตายไปแล้วหาคนแก้ยากนะ”

แล้วนี่พวกเรานะตาบอดคลำช้าง คนนู้นก็จะสอน คนนี้ก็จะสอน แล้วคนหลงก็บอกคนหลง แล้วก็หลงกันไป ก็หาทางออกไม่ได้ นี่ก็ทุกข์ยากอย่างนี้ นี้พูดถึงอธิบายให้เห็นไงว่าทำดีแล้วทำไมเป็นแบบนี้ ปฏิบัติมา ศึกษามา ๓ ปี แล้วนี่ปฏิบัติมาทำไมมันเป็นแบบนี้? มันเป็นแบบนี้เพราะเราปฏิบัติ แต่กิเลสมันพยายามต่อต้าน กิเลสมันพยายามสวมรอย กิเลสมันพยายามครอบงำในชีวิตประจำวันของเรา แล้วเราต้องพยายามต่อสู้

เขาบอกว่านี่เพราะอะไร? เพราะว่าพุทโธ พุทโธมันเลยเป็นสมถะไง มันก็เลยไม่ได้สู้กับกิเลสเลยไง บอกว่าใช้ปัญญาดีกว่า ปัญญามันจะรอบรู้ มันจะเท่าทัน นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง อันนั้นมันก็เป็นการติดไปอีกอย่างหนึ่งนะ แต่นี่เราพูดถึงของเรา พูดถึงกรรมฐานเขาปฏิบัติกันอย่างนี้ ถ้ากรรมฐานเขาปฏิบัติกันอย่างนี้เราก็ต้องต่อสู้ของเราเป็นแบบนี้ แล้วมันจะเป็นความจริงของเราเป็นแบบนี้

ฉะนั้น ถ้าจิตมันขาว จิตมันดำ ถ้าจิตมันขาว จิตมันดำ

ถาม : อารมณ์ดิฉันมีสองอย่าง เดี๋ยวขาว เดี๋ยวดำ

ตอบ : ถ้าเรายังมีสติอยู่ ยังรู้ว่าขาว ยังรู้ว่าดำ มันยังมีสติอยู่ คนมีสติสัมปชัญญะ คนยังสำนึกตัวอยู่แก้ไขได้ แต่ถ้าคนหลงไปเต็มตัวนะมันจะบอกว่าทั้งขาว ทั้งดำเป็นสีเทาๆ สีเทาๆ นี่คือนิพพาน สีเทาๆ นี่สุดยอด ถ้ามันไปอย่างนั้นแล้วจบ ค่อยๆ แก้มัน นี่ถ้ามันสีเทาๆ นะ อ้าว ธรรมะ เอากิเลสกับธรรมะมายำรวมกัน พยายามยำรวมกันเสร็จแล้วมันก็ว่างๆ เป็นเทาๆ ถ้าอย่างนั้นก็คือจบกันไป คือมันขาดสติ แต่ถ้าเรายังมีสีขาว สีดำอยู่นะ เรายังมีสติ แล้วเราค่อยมาคัดแยกเอา ถ้ามันขาดสติแล้วเราก็มาพุทโธเอา

สิ่งที่พูดมาทั้งหมด ถ้ามันไม่เข้าใจแล้ววางไว้ หลวงปู่มั่นสอนหลวงตาไว้ ตอนหลวงปู่มั่นท่านเสียไป หลวงตาท่านไปนั่งที่ปลายเท้าไง ร้องห่ม ร้องไห้ “จิตนี้ยังต้องการคนที่จะสั่งสอน ผู้ที่สั่งสอน จิตดวงนี้ก็ลงเฉพาะหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็เสียไปแล้ว”

ฉะนั้น นั่งรำพึงต่อไปนี้จะพึ่งใคร? ต่อไปนี้จะไปพึ่งใคร? แล้วท่านก็ระลึกขึ้นมาได้ว่าหลวงปู่มั่นสั่งไว้

“ถ้าไม่มีใครสอนหรือไม่ไว้ใจใคร ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธจะไม่เสีย ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับความรู้สึกของเรา อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งหัวใจ อย่าทิ้งผู้ที่มันจะต้องต่อสู้ ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธ แล้วจะไม่เสีย”

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันสีขาว สีดำ มันจะทุกข์ มันจะยากให้ระลึกรู้ พุทโธไว้ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับตัวเราไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นคืออาการทั้งหมด จะขาว จะดำ จะร้องไห้ จะว่าง จะไม่ทำอะไรเลย จะนั่งซื่อบื้อ นั่นมันเรื่องของกิเลสมันฉุดกระชากไป อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ เดี๋ยวอาการอย่างนี้มันจะสงบไป อาการอย่างนี้ไม่สงบเพราะมันหลอกเราได้ แล้วเราก็ตื่นเต้นไปกับมัน สนใจมัน ศึกษามัน มันก็หลอกต่อไป ถ้ามีสติปัญญาไม่รับรู้ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ อาการต่างๆ จะดับหมด

อาการต่างๆ ที่มันหลอก นี่มันจะหลอกไม่ได้เพราะเราไม่สนใจมัน เราไม่สนใจ เราไม่ให้มันสวมรอย ไม่ตามมันไป เราอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ พวกนี้จะดับหมด แล้วกลับมาที่ความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาแยกแยะในความที่ผิดพลาดมา ผิดพลาดมาเป็นแบบนี้ ถูกเป็นแบบนี้

ถ้าใช้ปัญญาออกไป ปัญญาในชีวิตประจำวัน ปัญญาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ฝึกหัดใช้ปัญญาไป แล้วพอมันก้าวเดินทางปัญญาเป็น ก้าวเดินทางปัญญาได้มันจะรู้เลยว่า อ๋อ ติดเป็นอย่างที่เป็นมา ที่เป็นมานั่นล่ะมันติด มันทำให้เราก้าวเดินมาไม่ได้ พอเราก้าวเดินได้ อ๋อ นี่มันถูก ผิดและถูกมันก็จะสอนเรา ประสบการณ์มันจะสอนจิต จิตมันจะก้าวเดินไปได้ แล้วมันจะผ่านของมันไปได้

เพราะเขาบอกว่า

ถาม : แล้วแบบนี้ดิฉันจะต้องทำอย่างไรต่อไป?

ตอบ : กำหนดพุทโธไว้ชัดๆ ก็ได้ แล้วปล่อยวางไป ไม่ต้องคิดสิ่งใดเลย ไม่ต้องไปคิดอะไรเลย แล้วถ้าพุทโธมันสงบได้มันจะสงบของมัน ถ้ามันเป็นปัญญาได้ มันจะเป็นปัญญาของมัน ให้ทำแบบนี้ อันนี้พูดถึงเรื่อง “การสวดมนต์และนั่งสมาธิ”

ถาม : ข้อ ๑๑๘๔. เรื่อง “บุญกฐิน”

ตอบ : บุญกฐิน เขาถามถึงกฐิน แล้วพอถามถึงกฐินมามันเป็นแบบว่า มันรู้สึกว่าเราดูแล้วอันนี้จะยกไว้ เพราะบุญกฐินอันนี้ เวลาที่เขาเขียนปัญหามานี่มันผิดปกติเยอะมาก มันมีเรื่องสิ่งใดผิดปกติหลายเรื่อง แล้วพอพูดถึงบุญกฐินนี้เป็นกฐินของครูบาอาจารย์ด้วยเราถึงไม่พูดถึง แล้วเวลาที่ยังไม่ถึงเวลา

นี่กรณีที่เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ผิดปกติจะต้องมีคนที่เขาสงสัย แล้วมีคนที่เขาต้องหาความจริง แล้วเดี๋ยวความจริงมันจะเกิดขึ้น แล้วความจริงเกิดขึ้นมันจะจบกันที่ตรงนั้นไง มันจะจบกันที่เป็นความจริงอันนั้น เพราะว่าโดยเหตุและผล โดยเหตุและปัจจัยมันไม่ควรเป็นแบบนี้ มันไม่เป็นแบบนี้หรอก ถ้าเป็นแบบนี้มันเป็นแบบโลกๆ แต่ถ้ามันเป็นแบบธรรม แล้วครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมเขาจะไม่ทำแบบนี้ ไม่ทำแบบนี้ แล้วถ้าทำด้วยเหตุด้วยผลมันจะไม่มีเหตุการณ์ขัดข้องแบบนี้

ฉะนั้น อันนี้เรื่อง “บุญกฐิน” ยกไว้ไม่ตอบ เอวัง