ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตที่ดิบ

๒๗ ต.ค. ๒๕๕๕

 

จิตที่ดิบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๑๘๖. เรื่อง “ฟังเทศน์ตอนเช้าไม่ได้”

(เขาบอกว่าฟัง) เทศน์เช้าทุกวันเลย แต่ตอนนี้เสียงมันหายไป ฟังได้ประมาณ ๑ นาทีแล้วเสียงหายไป

ตอบ : นี่เจ้าหน้าที่เขาแก้ไขให้แล้ว

พูดถึงขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เห็นไหม ขันธ์ ๕ มันเป็นขันธ์ จิตมันเป็นจิต ถ้าขันธ์ ๕ เกิดจากจิตเป็นเกิดจากจิต

นี่ก็เหมือนกัน เทคโนโลยี เครื่องมือสื่อสารมันเป็นเครื่องมือสื่อสาร นี้เครื่องมือสื่อสาร เทคโนโลยีมันอาจจะขาดตกบกพร่องได้ การขาดตกบกพร่องได้ พอขาดตกบกพร่องแล้วเราก็ทุกข์ใจ เสียใจ คนที่ใช้มันอยู่ เวลาโทรศัพท์เสีย ของเสีย โทรศัพท์เสียก็คือโทรศัพท์เสีย ทำไมเราต้องทุกข์ด้วยล่ะ? ทุกข์ โทรศัพท์เสียนี่ทุกข์มากเลย เห็นไหม เทคโนโลยี เราใช้มันเพื่อประโยชน์ แต่พอเราใช้มัน มันเป็นของเรา เราก็เลยทุกข์ไง

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเว็บไซต์ต่างๆ มันก็เป็นเทคโนโลยี มันเป็นเครื่องมือสื่อสาร เราสื่อสารกัน มันก็มีความชำรุดเสียหายบ้างเป็นธรรมดา ฉะนั้น เวลาถ้าฟังไม่ได้ นี่แจ้งเจ้าหน้าที่มามันก็เป็นน้ำใจ แล้วทางนี้เขาเช็คแล้ว เขาแก้ไขแล้ว ทีนี้คำว่าแก้ไขแล้ว เวลาเครื่องส่งกับเครื่องรับมันอาจจะแบบว่าข้างใดชำรุดก็ได้ ฉะนั้น สิ่งที่แจ้งมานี้ก็เห็นดีด้วย ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่มันเป็นเครื่องมือสื่อสาร มันชำรุดเสียหายได้ อายุการใช้งานมันมี ทุกอย่างมันมี ฉะนั้น เวลาขาดตกบกพร่องมันเป็นเรื่องของเครื่องมือสื่อสาร ฉะนั้น เราจะเอาความเข้าใจ เอาเนื้อความกัน เอาเนื้อความที่เราฟังแล้วเป็นประโยชน์อันนั้น

ฉะนั้น สิ่งนี้ก็แก้ไข แม้แต่เครื่องมือสื่อสารเรายังต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษา แล้วสื่อสารเรื่องอะไร? สื่อสารสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ถาม : ข้อ ๑๑๘๘. เรื่อง “คนโง่” (เขาถามมาไง)

กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาตอบคำถามข้อ ๑๑๘๑. ทำให้ลูกเข้าใจกระจ่างแจ้งยิ่งกว่าการหงายของคว่ำให้หงายเสียอีกเจ้าค่ะ

ตอบ : เออ ถ้าเข้าใจแล้วก็สาธุเนาะ ถ้าเข้าใจแล้วมันเป็นประโยชน์ ถ้าไม่เข้าใจเนาะ ไม่เข้าใจหรือตอบแล้วไปขัดใจยิ่งยุ่งใหญ่เลย แหม คิดอย่างหนึ่ง หลวงพ่อก็ตอบอีกอย่างหนึ่ง ยุ่งไปใหญ่เลย ถ้ามันเข้าใจแล้วก็จบเนาะ สิ่งนั้นจบแล้ว ทีนี้จะเข้าเนื้อความ

ถาม : ข้อ ๑๑๘๙. เรื่อง “ช้างเผือกในการทำนายของหลวงปู่มั่น”

กราบเรียนนมัสการหลวงพ่อ เรื่องช้างเผือกหนุ่มที่หลวงปู่มั่นทำนาย มีความชัดเจนอย่างไรครับ เพราะผมได้อ่านเนื้อความจากลิงค์ในเว็บไซต์

ตอบ : ถ้าลิงค์ในเว็บไซต์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะว่าเรื่องเนื้อความว่า “ช้างหนุ่มจากหลวงปู่มั่น” อันนี้มันเป็นที่หลวงปู่มั่นพูด หลวงปู่มั่นเวลาท่านพูด ท่านไม่พูดสะเปะสะปะ หลวงปู่มั่นนะ เพราะท่านเห็นสภาพสังคมมานาน หลวงปู่มั่นเวลาท่านออกปฏิบัติ เห็นไหม ท่านเป็นเณรมาบวชกับหลวงปู่เสาร์ แล้วพ่อแม่ก็สึกไปให้ไปทำนา ทำนาแล้วหลวงปู่เสาร์ท่านก็มีอำนาจวาสนาบารมี ท่านก็คอยรอแล้วก็ไปเอาหลวงปู่มั่นกลับมาบวชใหม่

พอหลวงปู่มั่นกลับมาบวชใหม่ หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์ท่านออกประพฤติปฏิบัติ ออกประพฤติปฏิบัติเพราะท่านเป็นพระป่า พระที่ฝึกหัดออกปฏิบัติ ทีนี้ออกปฏิบัติแล้ว ในสมัยนั้น ในที่อุบลฯ นี่เจ้าคุณอุบาลี ครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่ท่านมาเป็นนักปราชญ์อยู่ในกรุงเทพฯ ในกรุงเทพฯ คือปริยัติ คือทฤษฎี หลวงปู่มั่นท่านออกปฏิบัติแล้วมันไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ท่านก็มาศึกษา มาศึกษากับเจ้าคุณอุบาลีที่วัดบรมนิวาส มาศึกษาต่างๆ อันนี้เป็นปริยัติ ทีนี้เป็นปริยัติท่านเห็นสังคม ท่านเห็นความเชื่อ ท่านเห็นสังคมว่าสังคมมันฟั่นเฝือกันไปขนาดไหน

ทีนี้ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะคำว่าฟั่นเฝือคือกระแสสังคมไง ฝืนกระแส น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ แต่หลวงปู่มั่นท่านขวางเต็มที่เลย ขวางเพราะอะไร? ขวางเพราะว่าท่านต้องการบรรลุธรรม ท่านต้องการออกจากกิเลส แล้วสังคมเขาไม่เชื่อ ถ้าสังคมไม่เชื่อ เห็นไหม หลวงตาท่านบอกไว้ในประวัติหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาท่านธุดงค์ไปห่มผ้าสีดำๆ นี่ทางอีสานเขาทำไร่ไถนาอยู่ในป่า เห็นพระเดินมาไกลๆ วิ่งหนีเลยนะ ทิ้งจอบ ทิ้งเสียมหนีกันเลยนะ

หลวงปู่เสาร์เวลาท่านออกธุดงค์ไป เห็นไหม ไปกับสามเณรน้อย ไปกับพวกปะขาว ชาวบ้านกระแสสังคมไง บอกว่า โอ๋ย จะย้ายครัวไปไหนกัน นี่จะย้ายครัวไปไหน? เขาเชื่อถือหรือเปล่า? เขาไม่เชื่อถือเลย ในเมื่อสังคมเขาไม่เชื่อถือ เขาต่อต้าน เขาต่อต้านเพราะอะไร? เพราะความเห็นในสังคมเขาเป็นแบบนั้น แต่ความจริงยังไม่มีไง ถ้าความจริง นี่ถ้าหลวงปู่มั่นท่านเห็นกระแสสังคมขนาดนั้น สังคมเขาเชื่อถือไหม? ขนาดเราปฏิบัติเขายังกีดยังขวางนะ

หลวงปู่มั่นในประวัติ ประวัติหลวงปู่มั่นที่หลวงตาท่านเขียน ท่านบอกว่าท่านเขียนแต่แง่บวก สิ่งที่ดีๆ งามๆ ทั้งนั้นแหละ สิ่งที่หลวงปู่มั่นนะเวลาท่านโดนไล่ โดนไล่มาจากอุบลฯ โดนไล่จากอุบลฯ มานครพนม ก็สั่งมา สั่งที่นครพนมอย่าให้ใส่บาตรให้พระผู้เฒ่านี้ได้ฉัน หนีจากนครพนมมาสกลฯ มาหนองคาย หนีๆๆ หนีมาตลอด

สังคมเขาไม่เชื่อถือกันอย่างนั้น แล้วฝ่ายปกครองก็เห็นว่าพวกนี้พวกออกนอกรีดนอกรอย ถ้าอยู่ในร่องในรอยต้องอยู่ในความเชื่อของการปกครอง อยู่ในความเชื่อของกระแสสังคม ถ้ากระแสสังคมมันเป็นขนาดนั้น ถ้าเรารู้สิ่งใดในหัวใจเรา เราจะพูดพร่อยๆ ออกไปไหม? ไอ้ที่ว่าช้างๆ นี่พูดพร่อยๆ ออกไปไหม? ไม่หรอก

หลวงปู่มั่นท่านพูดนะ ท่านพูดกับหลวงตา เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านขึ้นไปอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นท่านพูดในหมู่สงฆ์ตลอด บอกต่อไปอนาคต อนาคตังสญาณของหลวงปู่มั่นไง จะมีพระหนุ่มๆ พระหนุ่มๆ จะบรรลุธรรมตามเราไป หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็ดูไว้ว่าเป็นใคร สุดท้ายเป็นใคร เห็นไหม ท่านบอกว่าเหมือนท่านเจี๊ยะ แต่ไม่ใช่ท่านเจี๊ยะ แล้วพอหลวงปู่เจี๊ยะอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่านี่มันมาหาเราแล้ว มันมาหาแล้วแต่มันยังไม่เข้ามา ตอนที่หลวงตาท่านไปเจดีย์หลวง ที่ไปดูหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านรู้ของท่าน ท่านรู้ของท่าน

ฉะนั้น เวลาหลวงตามา หลวงตาไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม นี่ถามว่า

“นั่นใครน่ะ?”

“ผมครับๆๆ”

นี่เพราะท่านรู้ ท่านรู้ว่าในเมื่อบุคคลเอกบุรุษมา จะสร้างประโยชน์กับศาสนา คนที่จะสร้างประโยชน์กับศาสนา เขาสร้างบารมีของเขามามาก ถ้าเขาสร้างบารมีของเขามามาก จะไปสอนสุ่มสี่สุ่มห้า หรือวางพื้นฐานที่ไม่แน่นหนาให้กับคนที่จะแบกรับภาระของสังคม ท่านไม่พูดอย่างนั้นหรอก ท่านถึงวันแรกก็เอาเลย

“นี่ผมๆๆ ผมมันใคร? คนหัวล้านมันก็มีผม”

เล่นตั้งแต่ก้าวแรกเข้าไปหาท่านเลยนะ พอก้าวแรกเข้าไปนี่โดนมาตลอดเลย พอโดนมาตลอด พวกเรานี่นะเวลาไปศึกษาที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ท่านลงปฏักกับเรา เราจะเสียใจไหม? เราจะน้อยใจไหม? แต่ถ้าคนที่เป็นนักปราชญ์ เขาได้สิ่งใดเขายิ่งดีของเขา นี่เวลาคุยกันนะ เพราะอยู่ด้วยความผูกพัน อยู่ด้วยความรัก หลวงปู่มั่นท่านออกประพฤติปฏิบัติมา ท่านเห็นกระแสสังคมมาเต็มที่ แล้วท่านปฏิบัติของท่านมา ท่านต้องเอาคุณธรรม เอาความดี เอาความดีเพื่อชนะกระแสสังคม แล้วเวลาหลวงตาท่านศึกษาของท่านมา ท่านศึกษาจนเป็นมหามา ท่านสร้างบารมีของท่านมา แล้วมันทำอย่างไรมันจะส่งต่อให้กับผู้ที่จะเป็นประโยชน์ล่ะ?

ผู้เป็นประโยชน์ เห็นไหม ฉะนั้น เวลาอยู่ด้วยกันอย่างกับพ่อกับลูก หลวงตาท่านบอกว่าเวลาพูดเรื่องข้างนอกนี่นะ พูดกัน โอ๋ย รักกันเหมือนพ่อกับลูกเลย แต่พอเข้าหาข้อเท็จจริงคือธรรมะ เปรี้ยงทันทีเลยนะ ถ้าเอาความจริงไม่มีพ่อ ไม่มีลูก ไม่มีใดๆ ทั้งสิ้น สัจจะคือสัจจะ ความจริงคือความจริง ความจริงมีหนึ่งเดียวไม่มีสอง ความจริงมีหนึ่งเดียว ไม่มีว่าถ้าเป็นพ่อเป็นลูกกันแล้ว โอ๋ย จะคอยพะเน้าพะนอ จะให้ได้ดั่งใจ ไม่ เต็มที่อย่างเดียว

ฉะนั้น เราจะบอกว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านทำเต็มที่ของท่าน เห็นไหม แล้วหลวงตาท่านน้อยเนื้อต่ำใจไหม? ไม่ ท่านยิ่งรัก ยิ่งเคารพ ยิ่งผูกพัน ผูกพันมาก ทีนี้เวลาผูกพันมาก เราจะบอกว่าความผูกพันอย่างนี้ ความเชื่อมั่นกันอย่างนี้ท่านถึงได้เล่าให้ฟัง เพราะว่าไอ้ช้างสองตัวมันมาจากประวัติหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านเขียนในประวัติหลวงปู่มั่น ถ้าไม่มีหนังสือประวัติหลวงปู่มั่นมา ไอ้ช้างหนุ่ม ช้างแก่มันไม่มีหรอก ไอ้ช้างหนุ่ม ช้างแก่ ช้างพิการ ช้างเฒ่า ช้างเน่ามันไม่มีออกมาหรอก

ไอ้ช้างเน่า ช้างตายมันออกมาเพราะหลวงตาท่านเขียนหนังสือออกมา มันเลยมีช้างตาย ช้างเหม็น ช้างขี้ไหล มันก็เลยอ้างกันไปไง แต่ถ้ามันไม่มีหลวงตาเขียนมามันจะมีช้างอีกไหมล่ะ? มันไม่มีหรอก ไอ้ช้างเหม็นๆ มันไม่มีหรอก ทีนี้ไอ้ช้างหรือไม่ช้างมันไม่สำคัญ มันสำคัญที่ว่ามันเป็นที่หลวงปู่มั่นท่านพูดอย่างนั้น พอท่านพูดของท่านอย่างนั้นใช่ไหมใครๆ ก็อยากจะเป็นอย่างนั้น ทุกคนก็ไปถาม ไปถามหลวงตาเลยล่ะ หลวงตาใช่ช้างตัวนั้นไหม? ตบปากเอาเลย

ทุกคนไปถามหลวงตาทั้งนั้นแหละว่าหลวงตาเป็นช้างตัวนั้นหรือเปล่า? อ้าว แล้วหลวงตาตอบว่าอย่างไร? บอกว่าเราเป็นช้างตัวนั้นเหรอ ได้ยินบ้างไหม? ได้ยินหลวงตาบอกว่าเราเป็นช้างตัวนั้น มีไหม? มีหรือเปล่า? ไปฟังเทศน์หลวงตาสิตั้งแต่ท่านเทศน์มา มีคนไปถามหลวงตาเยอะมาก เวลาท่านถาม-ตอบ เวลาท่านเทศน์เสร็จมีคนไปถามว่า

“หลวงตาๆ ที่หลวงตาเขียนในประวัติหลวงปู่มั่น บอกว่าช้าง ๒ ตัว หลวงตาได้เป็นช้างตัวนั้นใช่ไหม?”

“เดี๋ยวตบปากเลย”

ไม่มีหรอก คนที่มีคุณธรรมมันเป็นคุณธรรม แต่ส่วนที่กระแสสังคมมันเป็นกระแสสังคม กระแสสังคมมันขนาดนั้น หลวงปู่มั่นท่านไม่พูดพร่อยๆ หรอก ทีนี้พอหลวงปู่มั่นไม่พูดพร่อยๆ แต่เพราะด้วยความผูกพัน ด้วยการที่ว่าศาสนานะ หลวงปู่มั่นนะ ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง เราเกิดไม่ทัน เราเกิดไม่ทันหลวงปู่มั่นหรอก หลวงปู่มั่นท่านเสียปี ๙๒ เรายังไม่เกิดเลย ท่านปฏิบัติมานะท่านไปทั่ว ท่านเข้าไปในพม่า ดูหลวงปู่ลีสิ หลวงปู่ลี วัดอโศฯ ท่านเดินไปอินเดีย เดินไปกลับ ๒ รอบ

หลวงปู่มั่นท่านเข้าไปในพม่า เข้าไปในลาว เข้าไปในเขมร ท่านไปทั่วนะ ไปทำไม? ไปหาอาจารย์ ไปหาคนสอน ไปมาทั่ว พอไปศึกษาแล้ว เห็นไหม พระพุทธเจ้าเวลาไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ไปศึกษาลัทธิไหนก็แล้วแต่ เขาสอนมานะ เขาสอนมาหมดคำสอนเขาแล้ว ถึงที่สุดของเขาแล้ว ว่าเขาเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าเจ้าชายสิทธัตถะยังกิเลสเต็มหัวใจเลย จนสุดท้ายเจ้าชายสิทธัตถะต้องมาปฏิบัติของเจ้าชายสิทธัตถะเอง

หลวงปู่มั่นท่านไปนะ พม่าก็ไปมา ไปมาหมด ไปมาทั่ว เข้าไปในลาว เข้าไปในเขมร เข้าไป ในเมืองไทยนี่ค้นหาหมด อยากหาคนสอน อยากหาคนสอน มันไม่มี มันไม่มี ในเมื่อมันไม่มีขึ้นมาท่านก็ต้องปฏิบัติของท่านเอง ปฏิบัติของท่านเอง สิ่งที่ท่านปฏิบัติมา เห็นไหม เวลาท่านปฏิบัติมา ท่านค้นคว้าของท่านมา นี่ความเห็นของท่าน เพราะว่าท่านได้สร้างบุญญาธิการมาขนาดนั้น

นี่เวลาท่านสอนนะ เวลาจิตสงบแล้วเข้าไปพิจารณากาย พิจารณากายไปแล้วมันก็ไม่ปล่อย พิจารณากายไปแล้วมันก็เหมือนกับปัญญาอบรมสมาธิ เต็มที่ ออกมาก็กิเลสอย่างเก่า อันเก่านี่แหละ มันเป็นเพราะอะไร? ท่านถึงย้อนดูจิตของท่านไง อ๋อ ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ไว้ ถึงได้ลาพระโพธิสัตว์ไง พอลาพระโพธิสัตว์มาแล้ว พอจิตสงบ พอพิจารณากายมันก็ปล่อย ทีนี้มันไปลิ่วๆๆ เลย

ทีนี้พอไปลิ่วๆ แล้ว ท่านปฏิบัติท่านอยู่ที่ถ้ำสาริกา พออยู่ที่ถ้ำสาริกา เวลาท่านปฏิบัติไปถึงว่าได้อนาคามี ได้สกิทาคามีด้วย เพราะสกิทาคามีหมายถึงว่าจิตท่านรวม รวมแล้วมันมียักษ์ใหญ่เข้ามานั่นล่ะ นั่นน่ะกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส แล้วท่านปฏิบัติต่อไป ต่อไปท่านถึงเป็นอนาคามี อนาคามีเสร็จแล้วท่านคิดถึงหมู่คณะ เห็นไหม ท่านก็ยังไปสอน เวลาไปสอนท่านบอกว่า “กำลังไม่พอๆ” เพราะสอนแล้วมันไม่ละเอียดพอที่จะเข้ามาทำของตัวเองได้ ท่านถึงต้องบอกว่ากำลังไม่พอ ทิ้งหมู่คณะขึ้นไปเชียงใหม่ ไปเชียงใหม่ท่านก็ไปรื้อค้นของท่านเอง ท่านไปทำของท่านเอง ท่านไปพิจารณาของท่านเองที่เชียงใหม่ สุดท้ายท่านไปสำเร็จที่เชียงใหม่

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าท่านเห็นกระแสสังคมขนาดนั้น ท่านทำประโยชน์มหาศาลนะ ฉะนั้น ท่านถึงบอกว่าต่อไปอนาคตไง อนาคตที่ว่าใครจะมาเป็นประโยชน์ พอมาเป็นประโยชน์ปั๊บ เช่นหลวงปู่ขาว หลวงตา หลวงปู่ชอบ ครูบาอาจารย์ที่เป็นประโยชน์นะท่านจิตถึงจิต เวลาจิตมันสงบแล้วนิมิตมันจะถึงกัน มันจะบอกกัน มันจะสอน จะกล่าว จะบอกกันได้ ทีนี้บอกกันได้ พอคำว่านิมิตปั๊บเขาบอกว่าพระปฏิบัติ นิมิตมันไม่ใช่ปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญามันก็ทำให้เสียหายกันไป

นี่คำว่านิมิตของคนมีกิเลสก็อย่างหนึ่ง นิมิตของคนที่ไม่มีกิเลสก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ความละเอียดรอบคอบเป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่พูดถึงความละเอียดรอบคอบนะ ย้อนกลับมาก่อน ในสมัยพุทธกาลนะ ในสมัยพุทธกาล เวลากษัตริย์เขาขึ้นเป็นกษัตริย์ เขาจะแบบว่าทำบุญกุศลของเขาไง เขาบอกเขาเป็นกษัตริย์แล้ว ทุกอย่างเขาจะปกครองประชาชนด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนะ แล้วไม้ หญ้า น้ำถวายสมณะ ถวายพระ

ทีนี้พอถวายพระนะ สมัยพุทธกาลในราชวังเขาก็มีโรงไม้ของเขา แบบว่าเอาไว้ซ่อมแซมราชวัง มีพระไปขอ ไปขอผู้เฝ้าโรงไม้ไง ไปขอว่าขอไม้นั้นมาสร้างกุฏิของเขา สร้างวัดของเขา แล้วผู้เฝ้าก็บอกว่าไม่ได้หรอกเป็นของกษัตริย์ นี่ถ้าให้ไปหัวขาดเลย ไม่ต้องหรอกกษัตริย์เขาอนุญาตแล้ว บอกถ้ากษัตริย์อนุญาตแล้ว นี่จำชื่อไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎก เขาก็เอาไม้นั้นไป ไปสร้างกุฏิ

ทีนี้เวลาเสนา อำมาตย์เขามาตรวจไง ไม้มันขาดไป พอขาดไปก็ไปแจ้งกษัตริย์ กษัตริย์ก็สอบสวน พอสอบสวนขึ้นมาก็บอกพระเขามาเอา พระเขามาขอเขาบอกว่ากษัตริย์ให้แล้ว บอกกษัตริย์ให้แล้วเขาก็ขนกันไป เขาไม่ผิด เขาให้ไปด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ของเขา นี่ก็สอบสวน สอบสวนก็จับพระองค์นั้นมา พอจับพระองค์นั้นมาก็สอบสวนพระ พอสอบสวนพระ เขาบอกว่า

“พระผู้มีศีล เขาต้องไม่ทุศีล เขาต้องพูดจาไม่โกหก แล้วพระนี่บอกว่ากษัตริย์ให้ไม้จริงหรือ? ที่ไปเบิกเอาไม้นั้นน่ะ”

พระองค์นั้นบอกว่า “จริงๆ ครับ”

กษัตริย์ก็งงนะ กษัตริย์ก็บอกว่า “อ้าว นี่กษัตริย์เป็นผู้ปกครอง งานเยอะมาก พูดสิ่งใดไปอาจจะลืมได้ พระลองพูดซิว่าอนุญาตตอนไหน?”

พระบอกว่า “จำไม่ได้หรือ? ก็ตอนที่ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ไง บอกว่าหญ้า ไม้ น้ำนั้นให้สมณะไง”

โอ้โฮ กษัตริย์นั่นคอตกเลยนะ บอก “ใช่ นี่รอดตายเพราะว่าเป็นสมณะ รอดตายเพราะผ้าจีวร ถ้าไม่มีผ้าจีวรนี่ตัดศีรษะเลย แต่นี้รอดตายเพราะได้ห่มผ้าจีวรนี้ไว้”

คำพูดคำนี้ เป็นคำพูดพูดให้แก่ผู้ที่มีความละอาย พระที่เขามีความละอาย เขาจะเข้าไปในป่า ในเขา เพราะว่ากษัตริย์ปกครองประเทศใช่ไหม? ในป่า ในเขานั้นน่ะมันเป็นของกษัตริย์นะ พระที่เขามีความละอายเขาว่ามีเจ้าของ เราเข้าไปในที่ใด ถ้าเขามีเจ้าของ อย่างเช่นในแหล่งน้ำก็มีเจ้าของ เขาไม่กล้าใช้ คนที่มีความละอายเขาไม่ใช้ แล้วไม้ เศษไม้ ไม้ต่างๆ ที่มันอยู่ในป่าก็มีเจ้าของ

กษัตริย์ก็เป็นเจ้าของประเทศ เขาเป็นเจ้าของ เราพูดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ละอาย ผู้ที่เกรงกลัวต่อบาปให้เขาได้ใช้สอย สิ่งที่บอกว่าน้ำ หญ้า ไม้นี้ให้กับสมณะ ให้สมณะผู้ที่มีความละอาย แล้วนี่เขาอนุญาตหญ้า น้ำ ไม้ ในป่าในเขา ผู้ที่มีความละอายเข้าไปในป่า ในเขาได้ใช้สอย ได้ออกธุดงค์ ได้ดำรงชีวิต ไม่ใช่ให้มาเอาไม้ในคลังนี้ นี่รอดตายเพราะผ้าจีวร ถ้าไม่มีจีวรหัวขาด

ฉะนั้น พอเรื่องอุทายี อุทายีดำหรืออย่างไรนี่แหละ อุทายีเขาเป็นอำมาตย์แล้วออกมาบวชกับพระพุทธเจ้า แล้วข่าวนี้ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงบอกว่านี่โมฆะบุรุษไม่มีความละอาย พระพุทธเจ้าเลยบัญญัติเรื่องปาราชิก เรื่องต่างๆ เรื่องข้าวเกินบาตรมาจากตรงนี้แหละ นี่อยู่ในวินัยปิฎก นี่ไงถ้ามันมีความละอายนะมันทำไม่ลง มันทำไม่ได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ไอ้ช้าง ๒ ตัวๆ หลวงตาท่านมาเขียนไว้เพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์กับศาสนา ไม่ใช่เขียนไว้เพื่อให้ใครมาอ้างอิง อ้างอิงว่าเป็นๆ แล้วถ้าไม่มีช้าง ๒ ตัวนั้นใครจะอ้างอิงเรื่องอะไร ใครจะเป็นหรือไม่เป็น โดยศักยภาพมันก็เป็นโดยศักยภาพ ถ้าใครไปทำคุณงามความดี มันก็เป็นคุณงามความดีโดยศักยภาพ แต่ถ้ามันไม่เป็นคุณงามความดีโดยศักยภาพ จะเขียนเท่าใด จะทำกระแสขนาดไหน พยายามจะสร้างภาพขนาดไหนมันก็ไม่เป็นความจริงหรอก มันไม่เป็นความจริงในข้อเท็จจริงไง แต่มันเป็นความจริงตามกระแสไง

หลวงปู่มั่นท่านเห็นอยู่แล้วใช่ไหมว่ากระแสสังคมมันขนาดไหน ท่านถึงได้พยายามเอาคุณธรรมสิ่งนั้นชนะสังคม ให้สังคมยอมรับนะ นี่ตั้งแต่หลวงปู่มั่น แล้วก็มารุ่นหลวงปู่แหวน หลวงปู่ฝั้น แล้วก็มารุ่นหลวงตา ๓ รุ่น ๓ ชั่วอายุคน กว่าที่ว่าการประพฤติปฏิบัติว่ามรรคผลมี กว่าจะยืนยันกันในสังคมว่ามรรคผลมี เรายืนยันกันมา ๓ รุ่น ๓ ชั่วอายุคน ทีนี้พอสังคมเขาเชื่อถือแล้ว ทีนี้พูดอะไรเขาก็เชื่อ จะช้างขาเป๋ ช้างพิการ ช้างหางด้วน จะช้างอะไรบ้าบอคอแตก

ฉะนั้น สิ่งที่บ้าบอคอแตกกันไป นี่มันย้อนกลับมาที่ว่ามันละอายหรือไม่ละอายไง เพราะนี่เขาพูดอย่างนั้น เขาพูดว่ามันเป็นเรื่องของเขา มันเป็นเรื่องของเขา ถ้ามันมีความละอาย คำว่าความละอายนะเขาไม่พูดเชิดชูตัวเอง ความดี ความชั่วคนอื่นเขาเห็น ไม่ใช่ว่าเราเห็น ถ้าเราเห็นนะ ถ้าเราเห็นของเราจริงๆ เห็นเป็นวิปัสสนาญาณมันละเอียดกว่านี้นะ แล้วไม่กล้าพูดเรื่องอย่างนี้หรอก ไม่กล้าพูด

หลวงตาท่านไม่พูดเรื่องอย่างนี้เลย ทีนี้ท่านมาพูดเอาต่อเมื่อ ต่อเมื่อความจริงมันประจักษ์แล้ว ความจริงประจักษ์แล้ว หมายความว่าสังคมเชื่อถือแล้วท่านถึงพูดออกมา พูดออกมาให้สังคมเห็นเป็นคติธรรม เป็นคติเตือนใจ แต่เมื่อมันยังไม่ประจักษ์ท่านไม่พูดออกมาหรอก เพราะพูดออกมาแล้วนะมันไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครรู้ได้ตรงไหน? ตรงที่ว่าวุฒิภาวะ จิตที่สูงกว่าเท่านั้นจะดึงจิตที่ต่ำกว่าขึ้นมาได้ จิตที่เสมอกัน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครมีกิเลสและใครไม่มีกิเลส แล้วกิเลสมันคืออะไร? แล้วสิ่งที่แสดงออกมามันเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม

มันไม่เป็นธรรมหรอก มันไม่เป็นธรรมที่ไหน? มันไม่เป็นธรรมที่มันมีการทุจริต มันไม่สุจริตไง ถ้าเป็นความสุจริต หลวงตาเวลาท่านเขียนออกมา หรือท่านพูดออกมามันเป็นความสุจริต ความสุจริตหมายความว่า นี่คำว่าสุจริตนะมันเป็นคติธรรม มันเป็นความดี แต่ถ้ามันเป็นความทุจริตมันมีคนได้ คนเสียไง มันมีคนได้ คนเสีย แล้วคนได้ คนเสีย ใครได้ ใครเสียล่ะ? ใครได้ ใครเสีย? ถ้ามันไม่มีคนได้ คนเสียนะ อย่างเช่นที่พูดกันมาอยู่นี่ เห็นไหม บอกว่าเวลาใครไปถามท่านท่านว่าตบปากๆ

คำว่าตบปาก ถ้าพูดออกไปนะหลวงตาท่านทำอย่างไร? ปฏิบัติอย่างไร? เวลาคนมันจำ ความจำ จำแล้วมันเป็นสัญญา พอเป็นสัญญา เพราะตอนนี้นะ เวลาใครปฏิบัติมันจะบอกเลยว่าจิตของเขาจะเป็นจุด เป็นต่อม เป็นอะไร มันว่ากันไปนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดอะไรออกมา ท่านพูดออกมาเป็นวิทยานิพนธ์ เป็นวิทยานิพนธ์ของแต่ละครูบาอาจารย์ คำว่าวิทยานิพนธ์นะมันเป็นจริต เป็นนิสัยไง อย่างเช่นคนเป็นโรค คนเป็นโรคสิ่งใดเขาก็ต้องรักษาตามโรคนั้น แล้วคนไม่ได้เป็นโรคนั้น แต่ไปรักษาตามอย่างนั้น แต่เขาเป็นโรคอื่นมันจะหายจากโรคนั้นไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ความชอบไง กิเลสในหัวใจนะ นี่กิเลสในหัวใจ คนเรามันผูกพันอย่างใด? มันรักชอบสิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นไปสะกิดปั๊บกิเลสมันจะฟูทันทีเลย แต่ถ้ามันไม่ชอบนะ อย่างเช่นเรา นี่เราอยากจะเป็นช้างตัวหนึ่งเหมือนกัน เออ เราก็บอกว่าดูสิ ดูพระสงบสิไม่เคยโกรธใครเลย เออ แล้วใครๆ ก็จะมาแหย่นะ เราก็จะไม่โกรธ เราจะนั่งเฉยไม่โกรธเลย ใครจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ไม่โกรธ ไม่โกรธตอนแหย่นี้นะ ลับหลังโกรธน่าดูเลย

นี่ทุกคนพูดอย่างนี้ เห็นไหม เมื่อก่อนเป็นคนขี้โกรธมาก เป็นคนขี้โลภมาก เดี๋ยวนี้ไม่โกรธเลย พอมาปฏิบัตินะเดี๋ยวนี้เย็นมากเลย ใครจะเอาปืนมายิงก็ไม่โกรธเลย มันต่อหน้า มันต่อหน้า พูดเพื่ออะไร? พูดเพื่อพิสูจน์กันตรงนี้ไง แต่ความจริงโกรธไหม? มันยังไม่แทงใจดำไง ถ้าวันไหนแทงใจดำนะ เอ็งไม่ต้องบอกว่าโกรธหรือไม่โกรธหรอก ลุกเป็นไฟอยู่นี่ ลุกเป็นไฟเลยบอกไม่โกรธๆ

นี่ถ้าบอกแล้วมันเป็นแบบนั้น รู้โจทย์ พอรู้โจทย์แล้วนะมันจะเสียหายกับผู้ที่ปฏิบัติ ครูบาอาจารย์นะ ทั้งๆ ที่ท่านอยากบอก อยากพูด อยากแสดงคติธรรม อยากแสดงตัวอย่างไงว่าท่านปฏิบัติมา อย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสำเร็จอย่างไร ท่านตรัสรู้อย่างไร ท่านอธิบายมา นี่วิชชา ๓ ครูบาอาจารย์ท่านอธิบายมา พออธิบายมา เราก็เอาสิ่งที่อธิบายมานี่ เอามาเป็นตัวตั้ง เอามาเป็นโจทย์ แล้วก็พยายามสร้างภาพให้ใจมันเหมือน

พอเหมือนแล้วนะ คำว่าเหมือนคือทำให้เหมือนไง พอเหมือนแล้วเป็นจริงไหม? ไม่จริง เพราะอะไร? เพราะสัญญาไปลอกเลียนแบบนั้นมา จิตนี้ร้ายกาจนัก ฉะนั้น หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านพูดบ่อย หลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการมาทั้งชีวิตท่าน ท่านไม่เคยบอกว่าท่านเป็นพระอะไรเลย แต่สังคมทั้งสังคมเชื่อว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ สังคมทั้งสังคมเชื่อว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ แต่หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยบอกว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ไม่เคยพูดแม้แต่คำเดียว แล้วเวลาเทศน์ก็ไม่บอกด้วย แต่เวลาคนปฏิบัติแล้วมันถึงไง

อย่างเช่นหลวงปู่ฝั้น ครูบาอาจารย์ หลวงปู่กงมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นอยู่ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ครูบาอาจารย์เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลยนั่งฟังอยู่ อย่างเช่นในปัจจุบันนี้เวลาหลวงตาท่านเทศน์ หลวงปู่ลีเป็นพระอรหันต์อยู่ ท่านนั่งฟังอยู่ พระอรหันต์เทศน์ให้พระอรหันต์ฟังมันจะหลอกกันได้ไหม? นี่แล้วท่านก็ไม่เคยพูดเลยว่าท่านเป็นพระอะไร หลวงปู่มั่นไม่เคยบอกว่าท่านเป็นพระอะไรนะ แต่สังคมเขาเชื่อหมดเลย แต่ไอ้ช้างนี่ใครๆ ก็อยาก แหม เขียนออกมาเลยเนาะ อยากจะเป็นช้างมาก

เราแปลกใจ เราแปลกใจว่า เอ๊ะ คนทำไมอยากเป็นสัตว์ เออ เป็นคนมันดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน เอ๊ะ คนทำไมอยากเป็นสัตว์ เออ งง งงมาก (หัวเราะ) คนมันดีกว่าสัตว์อยู่แล้วนะ แล้วถ้าคนที่มีคุณธรรม ถ้าคนที่มีคุณธรรมมันจะสร้างประโยชน์ได้มาก ทำประโยชน์ได้มาก

ฉะนั้น เรื่องอย่างนี้ นี่เขาถามมา บอกว่าอยากได้รับความชัดเจน วันนี้ชัดเจน ชัดเจนแล้ว เขาเขียนมาเลย บอกว่า

ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อเรื่องช้างเผือกหนุ่มที่หลวงปู่มั่นทำนาย มีความชัดเจนอย่างไรครับ

ตอบ : (หัวเราะ) ถ้าจะเขียนมาอีกเราก็จะอธิบายอีก แต่ถ้าอธิบายนะ เราจะอธิบายเป็นเรื่องสุจริต-ทุจริต เพราะธรรมะนี่มันลึกซึ้ง แล้วเราไปเอาสิ่งที่เขาเขียน เอาสิ่งที่เขาทำการประชาสัมพันธ์กันมา อันนั้นมันมีผู้ร่างโครงสร้าง ผู้วางแผน ผู้จัดการ

เดี๋ยวนี้นะ ดูพรรคการเมืองสิ เดี๋ยวนี้เขาต้องจ้างนักการตลาดไว้คอยสร้างภาพให้เขา แม้แต่ออกจากบ้านไป ผมเส้นหนึ่งก็ไม่ให้กระดิกเลยล่ะ ต้องเนี๊ยบเลย แล้วตอนนี้นะจากนักการเมืองมันก็จะมาสู่พระแล้วล่ะ ตอนนี้พระอรหันต์จะเยอะมาก สร้างภาพกันให้สวยงามมาก แล้วเราไปดูตรงนั้นเราจะเชื่อไหมล่ะ? ถ้าให้เราพูดอีก เราก็จะพูดมากกว่านี้นะ

ฉะนั้น ถ้าเรื่องอย่างนี้ให้ไปถามคนอื่น ถ้าไปถามคนอื่นเขาจะไม่พูดอย่างนี้ แต่ถ้ามาถามเรา นี่เพราะอะไร? เพราะถ้าเราบอกใช่หรือไม่ใช่ มันก็กระเทือนกันไปหมด แต่นี้เราพูดถึงสุจริต-ทุจริตเลย ถ้าเป็นความสุจริต เราขาดแคลนอะไร เราบกพร่องอะไร เราอยากได้อะไร เราถึงทำแบบนั้น ถ้าจิตใจเราไม่ขาดแคลน ไม่บกพร่อง ไม่ต้องการสิ่งใด เราจะทำสิ่งนั้นไหม? ถ้าเราอิ่มเต็ม เราไม่ขาดแคลน ไม่บกพร่อง ไม่ต้องการสิ่งใด ทำไมต้องทำอย่างนั้น?

ถ้าทำอย่างนั้น นี่ถ้าเราตอบเราจะตอบว่า “สุจริตหรือทุจริต”

ถ้าใจมันดิบๆ ถ้าใจมันสุกแล้วจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะอะไร? เพราะคุณธรรมในหัวใจนั้นประเสริฐที่สุด ความเป็นโสดาบันสุดยอดมาก ความเป็นสกิทาคามีเหนือกว่าโสดาบัน ความเป็นอนาคามีเหนือกว่าสกิทาคามี ความเป็นพระอรหันต์สุดยอดของใจ แล้วจะไปต้องการอะไรอีก? ต้องการสิ่งใด? ต้องการอะไร? ถ้าต้องการแสดงว่าสิ่งนั้นในหัวใจนั้นของปลอมหมด เพราะมันปลอมมันถึงต้องการให้คนนับถือ ถ้ามันจริง ถ้ามันจริง ถ้ามันปลอมนะเพราะมันดิบไง ดิบๆ มันเป็นแบบนั้น

อันนี้พูดถึงช้างนะ พูดไปเดี๋ยวมันจะไปใหญ่ ไปใหญ่แล้วเดี๋ยวหมู่คณะจะบอกว่า แหม ทำไมพูดเรื่องนี้กันไม่ได้เชียวหรือ? ไอ้พูดเรื่องนี้นะมันส่วนว่าพูดเรื่องนี้ แต่เราไม่ได้คิดว่าพูดเรื่องนี้ เรารังเกียจสุจริต-ทุจริตไง ทุจริต ความทุจริต กิเลสตัณหาความทะยานอยากอันนั้นต่างหากล่ะ เรื่องมันส่วนเรื่อง แต่เรื่องสุจริต-ทุจริตมันเป็นเรื่องของกิเลส ถ้าเรื่องกิเลสนี่ใช้ไม่ได้เลย

ถาม : ข้อ ๑๑๙๐. เรื่อง “เริ่มต้นการปฏิบัติ”

ตอบ : เริ่มต้นควรทำอย่างนี้ ถ้าเริ่มต้นทำอย่างนี้นะ

ถาม : ๑. การเริ่มต้นปฏิบัติตอนนั่งสมาธิให้วางความรู้สึกไว้ที่ตำแหน่งใดครับ โดยปกติผมเอาความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูก และนึกพุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ โดยเน้นความรู้สึกที่ปลายจมูกชัดๆ และนึกพุทโธชัดๆ ส่วนการเดินจงกรม กระผมก็กำหนดความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูกและนึกพุทโธ พุทโธชัดๆ เหมือนกับตอนนั่งสมาธิ แต่เปลี่ยนเป็นอิริยาบถเดิน ไม่ทราบว่ากระผมปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ครับ

๒. ก่อนการเริ่มต้นเดินจงกรม และก่อนการนั่งสมาธิต้องมีการพูดอะไรก่อนหรือไม่ครับ เช่นบทพูด บทสวดมนต์ หรือว่าต้องปฏิบัติอย่างไรครับ และหลังการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิเสร็จ ต้องมีบทสวดมนต์หรือบทแผ่เมตตาหรือไม่อย่างไรครับ ขอบพระคุณ

ตอบ : นี่เริ่มต้นกันอย่างนี้ เริ่มต้นขึ้นมาเราอยากประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นเราก็มาจากโลกๆ ทั้งนั้นแหละ ถ้าเราจะปฏิบัติขึ้นมา ข้อที่ ๑ อย่างนี้ถูกต้องหมดแล้ว ชัดเจน นี่เขาว่า

ถาม : เมื่อการเริ่มต้นปฏิบัติ ตอนนั่งสมาธิให้วางความรู้สึกไว้ที่ตำแหน่งใดครับ โดยปกติกระผมเอาความรู้สึกนี้ไว้ที่ปลายจมูก และนึกพุทโธไปเรื่อยๆ โดยเน้นความรู้สึกที่ปลายจมูกชัดๆ และนึกพุทโธให้ชัดๆ เช่นการเดินจงกรม กระผมก็กำหนดความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูก และนึกพุทโธชัดๆ เหมือนกับการนั่งสมาธิ แต่เปลี่ยนเป็นอิริยาบถเดิน ไม่ทราบว่ากระผมทำถูกต้องหรือไม่ครับ

ตอบ ถูก โดยเริ่มต้นนะ นี่พื้นฐานทำแบบนี้ ทีนี้เราขอแก้นิดหนึ่ง คำว่าพุทโธชัดๆ คำว่าชัดๆ จิตมันชัดจากความรู้สึก มันไม่ได้ชัดที่ว่าเราจะต้องให้ชัดๆ จะต้องแบบว่าคอยนึกคำพูด อย่างเช่นถ้าเราพุทโธไม่ได้ เหมือนเรานึกพุทโธมันไม่คล่องปาก เราพูดที่ปากเลย พุทโธ พุทโธนี่พูดออกมาเป็นเสียงเลย แต่พอพุทโธมันอยู่แล้วที่เสียงเราหยุดได้ มันก็เป็นความคิด ความคิดนึกพุทโธ พุทโธ

ถ้านึกพุทโธชัดๆ อย่างนั้น ชัดๆ อย่างนั้นปั๊บถ้ามันละเอียด ความรู้สึกมันละเอียดไปเอง ถ้าละเอียดไปเองมันละเอียดที่ความรู้สึกไง มันละเอียดเข้าไป พุทโธชัดๆ แต่นี้พอพุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้เลย พุทโธไม่ได้ก็อยู่กับผู้รู้ อยู่กับผู้รู้ ทีนี้อยู่กับผู้รู้ถ้ามันไม่ตกภวังค์ ถ้าตกภวังค์เราก็พุทโธชัดๆ มันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าไง เหตุการณ์เฉพาะหน้าว่าบางทีจิตมันดี จิตมันดีหมายความว่าจิตมันนุ่มนวล จิตไม่มีอะไรไปยุแหย่ ไม่มีอะไรไปสะกิดให้มันฟู แต่บางทีจิตมันกระด้าง คือว่ามันโดนกระทบมารุนแรง

จิตของเรามันไม่แน่นอน โดนกระทบอะไร นี่ลองนึกสิ นึกที่เราโดนด่ามานี่ขึ้นฟูเลยนะ แล้วนึกสิ่งที่มันฝังใจมันฟูทันทีเลย นี่อย่างนี้พุทโธชัดๆ พุทโธแรงๆ ได้ แต่เวลาถ้าจิตมันนุ่มนวลล่ะ เวลาพุทโธ เราพุทโธ พุทโธไว้ชัดๆ

นี่คำว่าชัดๆ เพื่อให้มีสติพร้อม ถ้าไม่มีสติพุทโธมันจะหายไป พอพุทโธหายไปมันจะตกภวังค์ มันจะหายไป แต่ถ้าพุทโธมันได้พุทโธอย่างนี้ ถ้าจิตมันสงบแล้ว เวลาฝึกหัดใช้ปัญญา พอฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกใช้ความคิด ความคิดที่เป็นสัมมาสมาธิมันจะชัดเจนของมัน มันจะซาบซึ้งของมัน มันจะเข้าสู่เนื้อของจิตคือความรู้สึกมันจะลึกซึ้ง มันจะซาบซึมเข้าไปข้างในหัวใจ มันจะซาบซึ้งมาก แต่ถ้าความคิดจากสมอง ความคิดโดยธรรมชาติมันก็คิดได้ แต่มันอยู่ข้างนอกๆ ไง

ธรรมชาติของใจมันเป็นอย่างนี้ คืออาการของใจกับใจ แต่พอพุทโธแล้วมันเป็นที่เนื้อของใจ พอเนื้อของใจ พอมันเกิดที่นั่นมันจะเข้าถึงใจ เข้าถึงใจมันจะคลายตรงนั้นไง ถ้าคลายตรงนั้นมันก็ถูกต้อง นี่พูดถึงว่าพื้นฐาน เห็นไหม

ถาม : ๒. ก่อนการเริ่มเดินจงกรมและนั่งสมาธิต้องมีคำพูดหรือบทสวดต่างๆ หรือไม่

ตอบ : ไม่ต้อง เราสวดมนต์ก่อน เราสวดมนต์เสร็จแล้วเรานั่งสมาธิหรือเดินจงกรมก็ได้ แต่ถ้าเราสวดมนต์ตอนเช้าแล้ว เราจะภาวนาตอนกลางวันนี่ไม่ต้องสวดก็ได้ เดินเลย พอเดินเลย บทพูด บทสวด เพราะบทพูด เวลาพูด

นี่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าบางคนไม่พูด ถือไม่พูด ไอ้คนถือไม่พูดมันคิดในใจมากกว่าพูดอีก เพราะถ้าพูดแล้วก็จบใช่ไหม? เวลาคนเข้ามาบอกว่าฉันอยากดื่มน้ำ เขาก็เอาน้ำมาให้ดื่มใช่ไหม เราบอกเราไม่พูด อยากดื่มน้ำก็เขียนเลย ฉันอยากดื่มน้ำแล้วยื่นกระดาษไป เขาก็อ่านว่าอยากดื่มน้ำ นี่ขั้นตอนมันเยอะขึ้นไปอีก ไอ้คนไม่พูดมันมากกว่าพูดอีก

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าถือว่าไม่พูด แต่ใจมันพูดอยู่นะ เพราะใจมันพูดอยู่เลยต้องให้มันพุทโธไง ไม่ให้พูดเรื่องอื่น ให้พุทโธ พุทโธ พุทโธ เอ็งอย่าพูดเรื่องอื่น พุทโธเลย แล้วปฏิบัติไป เราจะบอกว่าการปฏิบัติไปมันมีอุปสรรค จริตนิสัยของคน หรือว่าอารมณ์ สภาวะแวดล้อมมันมีผลทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น เหตุการณ์มันอยู่ที่สภาวะแวดล้อม อยู่ที่ปัจจุบันที่เราจะคัดแยก คัดเลือกอย่างใด ไม่ใช่ว่าเราถือเถรตรงเลยว่าต้องทำแบบนี้ จะลงทะเลก็ต้องทำแบบนี้ ชุดดำน้ำมันดำน้ำไปนะ เวลาไปช้อปปิ้งมันก็จะใส่ชุดดำน้ำไปช้อปปิ้ง มันก็ไม่ใช่ใช่ไหม เวลาเอ็งดำน้ำเอ็งก็ใส่ชุดดำน้ำใช่ไหม ถ้าเอ็งไปช้อปปิ้งเอ็งก็ต้องใส่ชุดของเอ็งไปต่างหากสิ เอ็งจะเอาชุดดำน้ำไปช้อปปิ้งได้อย่างไร? ใส่ชุดช้อปปิ้งก็ลงน้ำไม่ได้เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน เหตุการณ์เฉพาะหน้า ปัจจุบันมันเป็นอย่างไรเราแก้ไขตามนั้น ถ้าแก้ไขตามนั้นได้แล้วมันจะภาวนาขึ้น นี่พูดถึงว่าถ้าเราปฏิบัติกันอย่างนี้ เห็นไหม เราเริ่มต้นจากที่นี่ เราไม่ใช่ไปเริ่มต้น ไปรู้เหนือ รู้ใต้ ไปรู้ว่าหลวงปู่มั่นท่านว่าอย่างไร อันนั้นเป็นคติธรรม เป็นสิ่งที่เราคิดไว้ เรามีครูบาอาจารย์ เราเชื่อมั่นครูบาอาจารย์ของเรา แล้วเรามาปฏิบัติของเราอย่างนี้

เริ่มต้นปฏิบัติอย่างไรให้ได้ผล ถ้าได้ผลขึ้นมาแล้วมันจะเป็นคุณธรรมของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา แล้วถ้าใครจะเป็นช้าง ไม่เป็นช้าง ใครจะเป็นม้า เป็นเสือก็ช่างมันไป สุดท้ายแล้วนี่เราปฏิบัติแล้วได้ผลงานของเรา ไม่ต้องไปรู้ ใครเป็นช้าง เป็นม้า เป็นเสือ เป็นแมว เป็นหมา นี่เรื่องของเขา เราเอาความจริงของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง