เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ พ.ย. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ธรรมะ ธรรมะคือความปกติ เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ ความเป็นไปของธรรมชาติมันเปลี่ยนแปลง ความปกติคือมันเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

ฉะนั้น ความปกติของใจ ถ้าศีล เห็นไหม ศีล ศีละคือความมั่นคง ศีละคือศิลา ศิลาคือความมั่นคงของใจ ถ้าใจมันมั่นคง นี่ความปกติของใจ ถ้าความปกติ ชีวิตที่เป็นปกติ แต่ชีวิตเราไม่เป็นปกติ เพราะเราต้องการอาหารไง เราต้องการปัจจัยเครื่องอาศัย ชีวิตนี้ต้องมีอาหารเพื่อดำรงชีวิต มันถึงผิดปกติ ผิดปกติแล้วถ้ามันขวนขวาย มันขวนขวาย ต้องแสวงหาเพื่อความดำรงชีวิตของมัน ถ้าดำรงชีวิตของมัน ถ้าเราไม่มีสิ่งใดดำรงชีวิต เราต้องมีข้าวปลาอาหารเพื่อดำรงชีวิต

เทวดาเขากินอาหารทิพย์นะ นี่ถ้าพรหม ผัสสาหาร ในวัฏฏะนี้ต้องมีอาหารเพื่อดำรงชีวิต จุนเจือชีวิตนี้ไป ฉะนั้น เวลาจิตใจของเรามันต้องดำรงชีวิต มันก็แสวงหาของมัน นี้การแสวงหาของมัน ดูสิจิตใจของคนเป็นปกติ การแสวงหานั้นแสวงหาเพื่อดำรงชีวิต แต่จิตใจของคนมันบกพร่อง มันแสวงหามาเพื่อความสะสม เพื่อความมั่นคงของชีวิต แต่ชีวิตมันไม่มีความมั่นคง ไม่มั่นคงเพราะอะไร เพราะมันหวั่นไหวไง

ดูสิ เวลาเรามีความคิด ความวิตกกังวล เห็นไหม นี่วิตกกังวล คิดจนเครียด คิดจนร่างกายนี้เป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ แต่ถ้าเป็นปกติของใจนะ สิ่งที่มันจะคิดมันก็คิดไปธรรมชาติของมัน มันมีความคิดอยู่แล้ว นี่สิ่งที่ว่าเราเห็นแต่ความรู้สึกนึกคิดของเรา เห็นแต่สัญญาอารมณ์ เวลาเราโกรธ นี่เวลาโกรธ เวลาสิ่งที่กระทบรุนแรงมันจะชัดเจนมากเลย แต่เวลาถ้าจิตใจมันปกติ จิตใจมันมั่นคงของมัน เราว่าจิตใจเราอยู่ไหน จิตใจเราอยู่ไหน เราหาใจเราไม่เจอไง ถ้าเราหาใจเราไม่เจอนะ เราจะแก้ไขสิ่งใดล่ะ

การจะแก้ไขสิ่งใด เห็นไหม คนถ้ารู้สำนึกว่าผิด คนนั้นมีโอกาสแก้ไขได้ คนเรานี่สังเกตว่าเราจะไม่มีความผิดพลาดสิ่งใดเลย มีแต่สังคมจ้องจับผิดเรา ทุกคนคอยมองว่าเรามีความผิดๆ ไง เราก็มีความผิด แต่เราว่าเรามีความถูก ถูกเพราะอะไร ถูกเพราะเราเข้าข้างตัวเองไง เพราะเรามีกิเลส มีตัณหาความทะยานอยาก สิ่งใดที่เรารู้สึกนึกคิดขึ้นมา เพราะจิตใจเราอ่อนแอนะ สิ่งใดที่มันรู้สึกนึกคิดนี่ว่าถูกต้องไปหมดแหละ แต่เวลามันคิดสิ่งใดแล้วมันเจ็บช้ำน้ำใจ มันถูกได้อย่างไรล่ะ ถ้ามันถูกทำไมมันมีความทุกข์ขนาดนี้ ถ้ามันถูกทำไมมันเร่าร้อนขนาดนี้ ถ้ามันถูกมันต้องมีความร่มเย็นเป็นสุขสิ

นี้เราคิดแต่เรื่องสิ่งดีๆ เห็นไหม เราคิดว่าเราประสบความสำเร็จ เราทำสิ่งใดมามันก็มีแต่ผลเจริญงอกงามขึ้นมา เราก็ดีใจไปกับมัน สิ่งที่มันเป็นความรู้สึกนึกคิดที่มันทำให้เราทุกข์จนเข็ญใจนั้นมันก็ทำให้เราทุกข์ยาก พอเราแสวงหาสิ่งใด ทำสิ่งใดประสบความสำเร็จขึ้นมาเราก็มีความพอใจกับมัน เห็นไหม นี่อามิส สิ่งที่เป็นอามิสมันต้องมีความสุข เพราะมันต้องมีสิ่งที่จุนเจือมัน มันถึงจะมีความสุขของมันได้ไง

นี่ก็เหมือนกัน ทำสิ่งใดประสบความสำเร็จ ว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ๆ เห็นไหม นี่มันก็ไม่ปกติอีกแล้ว มันตกไปซ้ายและขวา อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค สิ่งที่มันตกไปทางซ้ายและขวา แต่ถ้ากลับมาเป็นปกติ เราทำความสงบของใจของเราเข้ามา ถ้าใจมันสงบได้ ถ้ามันปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดมามันก็เป็นกลางได้ คำว่าเป็นกลางนะ กลางคือมันเฉยๆ ของมัน แต่ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิมันไม่เป็นกลาง มันพุทโธ พุทโธ พุทโธ พลังงานนี่มันสะสมตัวมันเอง มันถึงมีความสุขไง

คำว่าเป็นกลางๆ เห็นไหม เวลาเราปล่อยวางสิ่งใดขึ้นมาเราก็ปล่อยวางไว้เฉยๆ ปล่อยวางไว้เราก็เข้าใจได้ มันก็เบา มันก็สบาย มันก็เรื่องธรรมดา แต่เวลามันขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เวลาเป็นสมาธิขึ้นมามันร่มเย็น มันมีความร่มเย็น มันมีกำลังของมัน คนนี่ฤๅษีชีไพรเขาทำสมาธิได้ เขาเหาะเหินเดินฟ้าได้นะ พอจิตสงบขึ้นมาเขารู้วาระจิตของคนอื่น เขาเหาะเหินเดินฟ้าได้ นี่จิตมันมหัศจรรย์ขนาดนั้นนะ มหัศจรรย์เพราะอะไร สิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์ นี่มันมีกำลังของมัน มหัศจรรย์เพราะมันมีกำลังของมัน คนมีอำนาจวาสนาทำสิ่งนั้นได้ ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนาก็ต้องฝึกฝน ฝึกฝนนี่ทำได้หมดแหละ จิตก็คือจิต พลังงานก็คือพลังงาน แต่ถ้ามันมีกำลังของมัน มันทำของมันได้ อย่างนี้เป็นโลกๆ

คำว่าโลก เห็นไหม นี่ดูสสารสิ สสารมันแปรสภาพไป มันมีของมันใช่ไหม จิตก็มีของมันใช่ไหม พลังงานที่มันสะสมมันก็มีของมันใช่ไหม นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง แต่ถ้ามันจะเป็นธรรมๆ นี่ถ้าเป็นความปกติของใจ ถ้าใจเป็นปกติแล้ว แล้วเป็นปกติทำอย่างไรต่อไปล่ะ? เราอยากให้จิตเป็นปกติ ถ้าเป็นปกตินะ นี่ศีลคือความปกติของใจ ถ้าคนมีศีลมันควบคุมใจของมัน ควบคุมใจของเราได้ ถ้าควบคุมใจของเราได้ เรากำหนดพุทโธๆ เพราะมันจะต้องลึกเข้ามา ต้องปล่อยวางเข้ามาในพลังงานนั้น

นี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิมันแตกต่างกันอย่างไร แม้แต่ระดับของสมาธิมันยังมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด เวลามันปล่อยวางเข้ามา พอมันสงบเข้ามา มันรู้มันเห็นของมัน รู้เห็นอะไร? รู้เห็นรสชาติไง เวลามันแบกรับภาระ เวลามันรกรุงรัง มีแต่ความเครียด แต่เวลามันปล่อยวางเข้ามาก็ อืม! ว่างๆ ว่างๆ แต่เวลาสงบเข้ามานะ โอ้โฮ! ทำไมมัน…

นี่ทุกคนเราค้นหาตัวเราเอง เราค้นหาตัวเราไม่เจอหรอก แต่เวลาจิตสงบเข้ามา นี่ตัวของมัน มันรู้ของมันนะ เพราะอะไร เพราะมีสติ พอมีสติ เพราะมีคำบริกรรม เพราะมีสติ เพราะมีปัญญาอบรมสมาธิ พอเป็นสมาธิ เห็นไหม นี่เราเป็นเรา เราต้องไปถามเลยนะ ฉันชื่ออะไร ฉันเป็นใคร นี่เขาไปถามกันว่ารู้จักฉันไหม รู้จักฉันไหม แต่เวลาจิตมันสงบเข้ามา สติมันรู้จักตัวมันเอง สติมันรู้จักตัวมันเอง พลังงานที่มันเข้าใจตัวมันเองของมันได้ เห็นไหม นี่ขณิกสมาธิมันปล่อยวางชั่วคราว มันมีสมาธิเล็กน้อย

แต่เวลามันอุปจาระมันลึกเข้าไปแล้ว พอมันลึกเข้าไปนะ อุปจาระนี่มันมีกำลัง อุปจาระคือมันออกรอบรู้ได้ ปกติของเรา ความรู้สึกนึกคิดเรา เราคิดของเราตลอดเวลา มันเป็นสัญชาตญาณ เราคิดเราบริหารจัดการ เราทำของเราได้ อันนี้เป็นสัญชาตญาณมันไปโดยธรรมชาติ แต่พอจิตมันสงบเข้ามา นี่ขณิกสมาธิ ถ้าเป็นอุปจารสมาธิ เห็นไหม อุปจาระคือวงรอบของมัน

ตัวจิตของมัน ตัวจิตนี่เรารู้โดยร่างกาย เรารู้เพราะว่ามีผลกระทบจากอายตนะ พอผลกระทบจากอายตนะ สมองมันก็สั่งงานของมันไป นี่บริหารจัดการ ภาษาสื่อภาษากันมันเป็นเรื่องสัญชาตญาณ เรื่องโลก แต่เวลาจิตมันสงบเข้ามามันไม่อาศัยร่างกาย มันไม่อาศัยความเป็นไปของร่างกาย นี่อุปจาระคือวงรอบของจิต จิตเป็นพลังงาน วงรอบของมัน มันเห็นของมัน มันจับต้องของมัน อุปจาระนะ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นตามความเป็นจริงของมัน เห็นไหม ไม่ใช่เห็นโดยสัญชาตญาณของโลกของเราแบบนี้ไง ถ้าเห็นโดยโลกของเราแบบนี้หมอมันก็เห็น หมอเขารักษาคนไข้ เขาผ่าตัดทุกวัน เขาเห็นกายทั้งนั้นแหละ แต่เขาเห็นกายเพื่ออาชีพของเขา แต่จิตเราสงบเข้าไปนี่มันเป็นธรรม เป็นธรรมเพราะเป็นอุปจาระ อุปจาระวงรอบ วงรอบของจิต จิตมันออกรู้ มันออกรู้ในอะไร มันจับต้องสิ่งใด นี่เป็นอุปจาระ นี่วิปัสสนาตรงนี้

ถ้าพุทโธเข้าไป เห็นไหม จากขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าเข้าไปอัปปนาสมาธินะ อัปปนามันสักแต่ว่ารู้ มันปล่อยวางอายตนะ ปล่อยวางทุกอย่างหมดเลย พอมันปล่อยวางทุกอย่าง ตัวมันเป็นเอกเทศ จิตที่เป็นเอกเทศ เห็นไหม เวลาคนตายไป จิตวิญญาณนี้ออกจากร่างไป เวลาออกจากร่างไปมันไม่เป็นเอกเทศหรอก เพราะมันไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม มันมีสถานะของมัน

สถานะของเทวดา จิตนี้ไปกำเนิด กำเนิด ๔ จิตไปเกิดเป็นเทวดา จิตไปเกิดเป็นพรหม จิตไปเกิดเป็นมนุษย์ นี่มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นธรรมชาติของมัน แต่เวลากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เห็นไหม พออัปปนาสมาธินี่สักแต่ว่ารู้ จิตมันเป็นเอกเทศได้เลยล่ะ จิตมันคงที่ของมันได้เลยล่ะ คงที่ของมันโดยคำบริกรรมที่มันละเอียดเข้าไปจนจิตมันปล่อยวางสิ่งต่างๆ จนตัวมันเป็นอิสระได้ อิสระเป็นอิสระของสมาธินะ

สมาธิ เห็นไหม ดูสิจิตมันปล่อยวางกายเลย ปล่อยวางกายโดยสักแต่ว่ารู้ มันไม่รับรู้อะไรเลย ไม่รับรู้อายตนะ ถ้าไม่รับรู้อายตนะ นี่ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วตัวใจ เห็นไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มันอายตนะทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วใจมันปล่อยวาง สัญชาตญาณที่มันรับรู้มันปล่อยวางตัวมันเอง แล้วตัวมันเองเป็นอัปปนา ดูสิมันละเอียดลึกซึ้งขนาดนั้น ถ้ามันละเอียดลึกซึ้งขนาดนี้ เห็นไหม นี่ตัวใจ

นี่กายกับใจๆ สิ่งที่ว่าเราอยากเป็นอิสระ เป็นความปกติ เราจะเป็นปกติถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นปกติด้วยความรู้สึก ด้วยพลังงาน ด้วยตัวใจเป็นปกติของมัน แต่โดยธรรมชาติของเรา คำว่าปกติของเรามันเป็นสมมุติไง เราว่าเป็นปกติ เรารับรู้ได้โดยสัญชาตญาณ เราปล่อยวางสิ่งใดเราก็ว่าเป็นปกติของเราไง นี่ความเป็นปกติ

แต่ชีวิตนี้เป็นปกติธรรมดามีความสุขมากนะ ที่เราเดือดเนื้อร้อนใจกันนี่เราต้องรับผิดชอบ เราต้องพยายามขวนขวายของเรา อันนี้มันเป็นหน้าที่ มันเป็นหน้าที่การงานของโลก ถ้าเราอยู่กับโลก เราก็ต้องมีหน้าที่การงานของเราเพื่อการดำรงชีวิต เพื่อความมั่นคงของชีวิต เพื่อความเป็นปกติของเรา เห็นไหม นี่มันเป็นเรื่องของโลก แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรม พอจิตมันสงบเข้าไปมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยล่ะ

ทีนี้โลกกับธรรมมันแยกกันไม่ออกไง โลกกับธรรมแยกไม่ออกเพราะอะไร เพราะคนคนนั้น จิตดวงนั้น ดูสิดูบุรุษ ๘ จำพวกสิ เห็นไหม เราเป็นบุคคลที่ ๑ บุคคลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี่มันเป็นขั้นเป็นตอนของมันนะ มันละเอียดลึกซึ้งของมันเป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นไปนะ แล้วมันละเอียดลึกซึ้งอย่างไรล่ะ

เห็นไหม โสดาปัตติมรรคกับสกิทาคามิมรรคแตกต่างกัน สกิทาคามิมรรคกับอนาคามิมรรคมันแตกต่างกัน อนาคามิมรรคกับอรหัตตมรรคแตกต่างกันแน่นอน แตกต่างกันอย่างไร? แตกต่างกันที่ปัญญามันละเอียดลึกซึ้งแตกต่างกัน สถานะมันแตกต่างกัน ความเป็นไปมันแตกต่างกัน แตกต่างกันที่มันพัฒนาของมันขึ้นไปไง ถ้ามันไม่มีมรรค ๔ ผล ๔ มันจะพ้นจากกิเลสไปได้อย่างไร

เวลาเข้าอัปปนาสมาธิว่างหมดเลย มันปล่อยวางหมดเลย เป็นเอกเทศหมดเลย แต่เอกเทศโดยจิตที่มันเป็นภวาสวะเป็นภพ นี่มันเหมือนกับสารเคมี เราแยกสารเคมีแต่ละชนิดๆ สารเคมีแต่ละชนิดมันก็แตกต่างกันไป แต่สารเคมีถ้าเราเอามาผสมกัน เราต้องการให้มันเป็นแร่ธาตุสิ่งใด เราผสมสิ่งนั้น มันก็เป็นแร่ธาตุอย่างใหม่ขึ้นมา เพราะเราผสมส่วนผสมของมัน

นี่ก็เหมือนกัน สารเคมี เห็นไหม อาการของจิต วิถีแห่งจิต นี่วิถีแห่งจิต อาการของขันธ์ อาการความรู้สึกต่างๆ ถ้ามันมีสติปัญญามันย้อนกลับเข้าไป มันก็เหมือนกับเราแยกสารเคมีทั้งหมด กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ นี่ภวาสวะ ตัวภพ มันเป็นสถานะ เป็นตัวภพเลย แต่ภพโดยสันตติ ภพโดยนามธรรม แล้วมันอยู่ของมันอย่างไร แล้วสติของมันเป็นอย่างไร เห็นไหม นี่ความปกติของใจมันก็ยังมีแตกต่างหลากหลาย มันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป ทีนี้มันแตกต่างหลากหลายมันเป็นอย่างนี้ขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ สิ่งนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นความลังเลสงสัยกันต่อไป แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว แล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้ เราก็ไปศึกษากันมาทางวิชาการ มันก็เป็นทางวิชาการ แล้วเราก็มาตรรกะ เราก็มาพิจารณาของเรา เราก็ยังลังเลสงสัยกันต่อไป แต่ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติมันจะรู้จริง เห็นจริงตามความเป็นจริงของมัน ถ้ามันไม่รู้ตามความเป็นจริงของมันนะ มันจะแก้ความสงสัยในตัวมันเองได้ไหม

ถ้าเวลาปฏิบัติ กาลามสูตรอย่าเชื่อสิ่งใดเลย ให้เชื่อแต่สัจจะความจริงที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติของเรา แล้วเวลาปฏิบัติของเรามันเป็นความจริงขึ้นมา นี่เป็นความจริง แล้วความจริงของใครล่ะ ถ้าความจริงของเด็กๆ ความจริงของทารก ความจริงของผู้ที่เป็นปัญญาชน ความจริงของผู้เฒ่าผู้แก่ เขาผ่านโลกผ่านต่างๆ มา เขามีความจริงของเขา เขามองโลกออก

จิตใจก็เหมือนกัน ดูสิมันพัฒนาขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันปล่อยวางอย่างไรขึ้นมา มันพัฒนาของมันขึ้นมา มันรู้มันเห็นของมันนะ ถ้ารู้เห็นอันนั้น ถ้ารู้เห็นแล้วเป็นเรา เรารู้เราเห็นมันยังเป็นเราอยู่ เวทนาเป็นเรา ธาตุ ๔ เป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา เป็นเราไปหมดเลย แบกรับภาระไปหมดเลย แต่ถ้าพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวางล่ะ นี่ไม่ใช่ของเรา แล้วไม่ใช่ของเราทำไมอยู่กับเราล่ะ ความคิดมันอยู่กับเราไหม ร่างกายกับจิตมันอยู่ด้วยกันมันเป็นของเราไหม นี่มันเป็นอันเดียวกัน กายกับใจมันเป็นสถานะ

ดูสิเราทำบุญกุศลมานะ รูปสมบัติ เห็นไหม รูปสมบัติสิ่งต่างๆ มานี่รูปสมบัติของเรา แล้วธรรมะสมบัติล่ะ อัตตสมบัติล่ะ สมบัติมันเป็นอย่างไร นี่รูปร่างต่างๆ แตกต่างกัน แล้วมันแตกต่างกันเพราะอะไร เพราะมันเป็นบุญกุศล ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำสิ่งใดมาก็ได้ผลมาสภาวะแบบนั้น แล้วร่างกายกับจิตมันก็อยู่ด้วยกันด้วยสถานะของความเป็นมนุษย์ แล้วเวลานี่มันเป็นเราไหมล่ะ มันจะเป็นเราหรือไม่เป็นเรามันอยู่ด้วยกัน แต่ถ้ามีปัญญา มีสมุจเฉทปหาน เวลามันขาดมันขาดอย่างไร นี่สิ่งที่อยู่ด้วยกันแต่ไม่ใช่อันเดียวกันมันเป็นอย่างไร

นี่ความคิดกับจิต ขันธ์ไม่ใช่จิต ขันธ์ไม่ใช่จิต ขันธ์คือความรู้สึกนึกคิด ขันธ์ ๕ จิตก็คือจิต จิตคือพลังงาน ภวาสวะคือตัวภพ แล้วเวลามันทิ้งขันธ์ มันละขันธ์มา ขันธ์กับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน มันไม่ใช่อย่างไร อยู่ด้วยกันแต่ไม่ใช่อันเดียวกัน นี่แล้วเวลามันปล่อย มันขาด มันขาดแล้วมันเก้อๆ เขินๆ มันอยู่กันอย่างไร แล้วเวลาภวาสวะ ทำลายภพแล้ว ทำลายภพ ทำลายชาติ ทำลายทุกอย่างหมดเลย ทำลายทุกอย่างหมดเลยแล้วมันเหลืออะไรล่ะ ดูสิเวลาทำลายภพทำลายชาติ รื้อภพรื้อชาติหมดไปแล้ว แล้วเป็นธรรมธาตุ ธาตุอะไร? ธาตุธรรม ธาตุธรรมเป็นอย่างไร ถ้าธาตุธรรมมันไม่มี นิพพานมันไม่มี ถ้าธาตุธรรมมันมี นิพพานมันก็มี นิพพาน เห็นไหม นิพพานมีอย่างไร ถ้ามีก็มีแบบโลกอีกแล้ว

นี่ถ้าจิตใจเราละเอียดลึกซึ้ง มีสติมีปัญญาของเรา เราต้องแก้ไขของเรานะ เวลาสิ่งที่กระทบมันกระทบกระเทือนกันไปหมด ถ้าเราดูแลรักษาของเรา ไฟในไม่เอาออก ไฟนอกไม่เอาเข้า นี่ไฟนอก เห็นไหม เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไฟนอกหรือเปล่า เราศึกษามาจากข้างนอกนะ ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามาเพื่อ เพื่อชำระล้างของเรา นี่ปริยัติศึกษาแล้ววางไว้ นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทำให้มันเป็นความจริงของเรา สติก็เป็นสติจริงๆ ไม่ใช่สติชื่อ

สติมันคืออะไร สติมันต้องระลึกรู้ รู้อะไร รู้...ไปเลย สติคือระลึกรู้ ก็เราระลึกอยู่นี่ไง ก็สติเราพร้อมอยู่นี่ไง ถ้ามีสติความรู้สึกนึกคิดก็หยุดหมดไง ถ้าเผลอ เผลอมันก็ออกไง นี่สติคืออะไร นั่นล่ะมันไปแล้ว เพราะเอาตัวสติมาตรรกะ เอาตัวสติมาเป็นตัวประเด็น ประเด็นมันก็คิดเรื่องสติ มันจะค้นคว้าเรื่องสติมันก็ไปแล้ว สตินั่นมันชื่อ แล้วสติระลึกรู้ ระลึกรู้อยู่นี่ไง ระลึกรู้นี้จิตมันก็หยุดไง ถ้าหยุดได้ หยุดได้เดี๋ยวก็ไปอีกแล้ว เพราะอะไร เพราะมันสันตติ

ความรู้สึกนึกคิดของมันเร็วมาก สติปัญญาของเราดีๆ ขึ้นมา เห็นไหม นี่มันยับยั้งได้ แล้วเราบริกรรมของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา พยายามฝึกฝนของเราให้จิตใจนี้ให้มันมีธรรมเป็นเครื่องอาศัย เราประพฤติปฏิบัติธรรมให้มีธรรมเป็นเครื่องอาศัย จนใจถ้ามันเป็นธรรมเสียเองนะ เวลาพระอรหันต์ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม นี่มันเหมือนกัน อันเดียวกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เวลาใครถ้าพ้นจากกิเลสไปแล้ว เวลามีคนไปติฉินนินทา

“เธอไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ เขาเป็นสติวิมุตติ เขามีสติพร้อมอยู่แล้ว นี่มันเป็นสติวินัย มันพ้นจากกิเลสไปแล้ว สิ่งที่กิเลสมันคนละสิ่งกัน” นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอย่างนี้มันมาจากไหนล่ะ เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนาคตังสญาณรู้หมด รู้เข้าใจต่างๆ แต่ของเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เข้าใจหมดเลย รู้หมดเลย แต่สงสัย แต่ไม่มีอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ในหัวใจของเรา

ฉะนั้น ศึกษาสิ่งใดมาแล้ววางสิ่งนี้ไว้ แล้วฝึกหัด ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริง ให้เป็นข้อเท็จจริงในใจของเรา แล้วเราจะมีธรรมเป็นที่อาศัย ปัจจุบันนี้เรามีบุญกุศล มีสถานะของมนุษย์เป็นที่พึ่งอาศัย เราเป็นมนุษย์นะ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เวลาจิตออกจากร่างนี้ไป เราจะไปเกิดเป็นอะไรมันอยู่ที่เวรที่กรรม แต่ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เห็นไหม เรามีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ธรรมนี้มันไปกับเรา เรามีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจะไปสถานที่ดีๆ ถึงที่สุดแล้วนะ เวลาพ้นจากทุกข์ไปแล้วนี่ธรรมธาตุ กิเลสมันตายตั้งแต่ขณะสมุจเฉทปหาน ไม่มีสิ่งใดเกิดและตายอีกแล้ว การเกิดและการตายนี้เป็นผลของวัฏฏะ แต่นี้มันพ้นจากวัฏฏะ มันจะเกิดมันจะตายได้อย่างใด แล้วมันเป็นอย่างใดล่ะ ธรรมธาตุนี้มันอยู่ในใจของเรา เป็นความจริงของเรา เรามีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เอวัง