ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมสีเทา

๓ พ.ย. ๒๕๕๕

 

ธรรมสีเทา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๑๙๓. เนาะ

ถาม : ๑๑๙๓. เรื่อง “กราบขอบพระคุณหลวงพ่อครับ”

กราบเท้าหลวงพ่อ ผมเรียนอยู่ต่างประเทศ ทางสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนได้นิมนต์พระนักเทศน์ชื่อดังท่านหนึ่ง ซึ่งมีวุฒิทางสังคมสูงมาก ออกทีวีบ่อยมาบรรยายธรรมะ ท่านสอนให้มีสติตามรู้ ไม่ต้องมีคำบริกรรม (ผมใช้อุบายของหลวงพ่อที่ว่า “เอาพุทโธอยู่ในใจใครจะมารู้” ผมจึงบริกรรมพุทโธไปตามปกติ)

ท่านกล่าวถึงการปฏิบัติของหญิงคนหนึ่งว่ามีความทุกข์มากเพราะสามีไปมีเมียน้อย จึงไปปฏิบัติที่วัดวัดหนึ่ง เดินจงกรมอยู่ก็คิดเรื่องสามี แต่ก็เดินไม่ลดละ วันที่ ๔ ของการปฏิบัติ ระหว่างเดินจงกรมอยู่ จู่ๆ หญิงคนนี้ก็หยุดยืนกางแขนออก นิมิตเห็นสามีกำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเลทุกข์ ส่วนตัวเธออยู่บนฝั่งไม่ต้องทุกข์อีกแล้ว น้ำตาไหลพรากจากความสุขในธรรม

เมื่อฟังจบผมเทียบเคียงกับธรรมะที่ฟังจากหลวงพ่อ รู้สึกว่ามันแปลกๆ ถ้าเป็นความจริงก็น่าจะเป็นส้มหล่น จึงถามไปว่า

“ปล่อยชั่วคราวหรือปล่อยขาดครับ”

ท่านตอบว่า “ปล่อยขาด” ยังกล่าวอีกว่าตอนนี้ผู้หญิงคนนี้กำลังเดินสายสอนการปฏิบัติธรรมอยู่ สลดใจครับจึงเขียนมา

พ่อแม่ครูอาจารย์ของเราเดินจงกรมจนทางเป็นร่อง เป็นเหว นั่งจนก้นแตก ก้นพอง อดนอน อดอาหารจนตัวเหลือง กว่าจะได้ธรรมมาครองใจแสนทุกข์ยากลำบาก อันนี้เดินอยู่ ๔ วันออกสอนธรรมะกันแล้ว แย่กว่านั้นก็คือพระท่านนี้เชื่อแล้วนำมาบอกต่อ และจะโฆษณาไปอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ได้ให้วัคซีนป้องกันโรค ลัดสั้น สบายๆ วิมุตติไว้ครับ ผมจะตั้งใจปฏิบัติ เรียนจบจะไปกราบหลวงพ่อครับ

ตอบ : นี่ถามมาจากเยอรมัน ถามมาจากเมืองนอก นี้ถามมาจากเมืองนอก เห็นไหม เขาไปเรียนเมืองนอก ทีนี้สำนักดูแลนักเรียนเขาก็คิดดีนะ ตอนนี้สังคมทุกคนก็คิดดีทั้งนั้นแหละ เพื่อต้องการให้เด็กของเรา บุคลากรเขาจะมีการอบรมกันบ่อยๆ เพื่อให้บุคลากรมีความสามารถ ให้บุคลากรมีคุณภาพ ฉะนั้น พออบรมขึ้นมาแล้วเพื่อให้ทำงานมีประโยชน์ไง

ฉะนั้น เวลานิมนต์พระมา นี่เวลาพระมา เห็นไหม เขาบอกว่า

ถาม : พระองค์นี้มีวุฒิภาวะทางสังคมสูงมาก ออกทีวีบ่อย มาบรรยายธรรมะ ท่านสอนให้มีสติตามรู้ไม่ต้องบริกรรม

ตอบ : สิ่งที่เวลาเรียนมานะ เรียนในภาคปริยัติ เวลาปริยัติเรียนมา นี่เขาบอกว่ามีวุฒิภาวะทางสังคมสูง แล้วมีใบสุทธิ ใบต่างๆ เยอะแยะไปหมดเลย แต่เวลามาอบรมนี่ส่วนมากเป็นความเชื่อถือของสังคม โลกเขามองตรงนั้นนะ มองกันที่ความเชื่อถือของสังคม มีภาวะทางสังคมสูงมาก ออกทีวีบ่อย บรรยายธรรมะบ่อย มีคนเชื่อถือมาก ทีนี้มีคนเชื่อถือมาก ความเชื่อถือมันเป็นความจริงไหมล่ะ? มันไม่เป็นความจริงหรอก ปริยัติคือปริยัติ แล้วในปัจจุบันนี้ ในภาคปฏิบัติมันเป็นที่ความน่าเชื่อถือ คำว่าน่าเชื่อถือหมายความว่าเวลาปฏิบัติไปแล้วนะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คำว่าปฏิเวธคือบรรลุธรรมๆ

ฉะนั้น คนที่เรียนปริยัติมา เรียนปริยัติมามีสถานะทางสังคมสูง เพราะอะไร? เพราะเรียนมา เรียนมา เห็นไหม ดูสิดูในทางโลกนะ ดูนักเรียนของเราไปแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ ไปแข่งขันเทคโนโลยีเรื่องหุ่นยนต์ เวลาได้เหรียญทองกลับมาทุกคนดีใจ ทุกคนปลื้มใจ ทุกคนส่งเสริมนะ อย่างนี้เราควรส่งเสริมไหม? เราควรส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ ทีนี้เด็กมีความรู้ เวลาเขาไปแข่งขันทางวิทยาศาสตร์มา เขาได้เหรียญทองมา เวลาเขาไปแข่งขันทางเทคโนโลยี ทางเครื่องกล พวกหุ่นยนต์ เขากลับมาเขาได้ชัยชนะมา ได้ชัยชนะมาแล้วมันคืออะไรล่ะ? ก็ชัยชนะทางวิทยาศาสตร์ไง ชัยชนะทางการศึกษาไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราบอกว่าเขามีสถานะทางสังคมสูงมาก เขามีวุฒิการศึกษา เขามีทุกอย่างพร้อมเลย สังคมเชื่อถือ สังคมเชื่อถือก็สังคมเชื่อถือ ธรรมะไม่ได้เชื่อถือ ถ้าธรรมะเขาเชื่อถือนะ เขาต้องปฏิบัติ เขาต้องรู้จริงของเขา ถ้าเขารู้จริงของเขา เขาจะรู้จริงของเขา เขาจะเห็นตามความเป็นจริงของเขา แต่ถ้าเขาไม่ได้ปฏิบัติเขาจะรู้จริงของเขาได้อย่างใด? ถ้าเขาไม่รู้จริงของเขา แล้วที่เขาสั่งสอนอยู่นี่เขามีสถานะทางสังคมสูงเพราะอะไร? เพราะว่าเขามีปฏิภาณไง อย่างนี้มันเป็นโวหารไง

คำว่าเป็นโวหารเพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม? เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามา เราจะอธิบายอย่างไรก็ได้ เพราะเราศึกษามามันมีอยู่แล้ว นี่เวลาแสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถ้าคนที่เขาปฏิบัติเป็นเขาถามว่าแล้วมันจะเป็นจริงอย่างนั้นหรือ? อ้าว ก็พระไตรปิฎกบอกไว้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ เห็นไหม เขาปัดไปนู่นเลย เขาปัดไปทางวิชาการเลย เขาไม่ได้ปัดว่ามันเป็นจริงหรือไม่จริง

มันเป็นจริงหรือไม่จริง แล้วเวลาบอก นี่เขาบอกว่าบรรยายธรรมแล้วสอนให้มีสติตามรู้ไม่ต้องบริกรรม ไม่ต้องบริกรรม นี่เว็บไซต์เรามีประโยชน์ตรงนี้ไง มีประโยชน์ที่ว่าเขาได้ฟังกัน แล้วเขาบอกว่าเพราะมีคนใช้อย่างนี้มาก ในเรื่องกรรมฐาน ๔๐ ห้องนี่นะมันมีอยู่ ๔๐ วิธีการ ทีนี้ ๔๐ วิธีการ เวลาจริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ถึงบอกว่ามรณานุสติ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ ปัญญาอบรมสมาธิ อานาปานสติต่างๆ นี่ถ้าใครถนัดอย่างใดเขาก็ทำอย่างนั้น แต่ถ้าเราบอกว่าต้องทำอย่างนั้นๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องทำอย่างนั้น

นี่มันก็เหมือนกับอาหาร เห็นไหม อาหารเขามีหลากหลายเพื่อความชอบของแต่ละบุคคล ในท้องถิ่นใด ในพื้นที่ใด อาหารตามพื้นถิ่น อาหารตามท้องถิ่น แบบว่าเขามีวัตถุดิบอย่างนั้น เขาเคยกินอาหารอย่างนั้น เขาก็เป็นนิสัยของเขา ถ้าเขาได้กินอย่างนั้น เขาเคยมาตั้งแต่เด็ก มันก็จะถูกกับจริตนิสัยของเขา แต่ถ้าเขาไปกินอาหารอย่างอื่นเขาก็กินได้ แต่มันไม่ถูกใจ

นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติถ้าเขาจะทำสิ่งใด นี่เขาจะเปิดกว้าง กรรมฐาน ๔๐ ห้อง แล้วถ้าคำบริกรรม เวลาพุทโธ พุทโธไป ถ้าพุทโธ พุทโธไป ถ้าพุทโธเขาบอกว่าสิ่งนี้มันเป็นสมถะ มันไม่มีประโยชน์ เขาบอกว่าให้ฝึกสติไป แล้วตามรู้ไปเลย พอตามรู้ไปเลย ตามรู้ ตามรู้ในอะไรล่ะในเมื่อมันขาดสติ มันไม่มีสมาธิ มันรู้อะไร? มันก็รู้แบบที่เขาศึกษามานั่นไง มันรู้แบบตรรกะไง มันก็ศึกษามาโดยปัญญาไง

ถ้าคนมีสตินะ ถ้าเราใช้ปัญญาตามความรู้สึกนึกคิดเราไป อย่างมากมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิเท่านั้นแหละ คือถ้ามันสงบลงมันก็เป็นสมาธิ แต่ถ้ามันไม่สงบลงนะ มันพิจารณาของมันไป แล้วมันก็หายไปเลย สตัฟฟ์จิตไว้ไง สตัฟฟ์จิตไว้ นี่ตามรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวไปหมดเลย แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ก็ว่างๆ สบายๆ นี่ขาดสติเป็นมิจฉา คำว่ามิจฉาเพราะอะไร? เพราะมันไม่ลงขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

ถ้ามันลงขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าออกจากอัปปนาสมาธิมาเป็นอุปจาระ แล้วถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง อันนั้นต่างหากมันถึงจะเกิดปัญญา ปัญญาคือภาวนามยปัญญา ไม่ใช่ปัญญาที่เราตรึกกันอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันก็เหมือนปัญญาทางโลก

ดูสิดูศาสตราจารย์ เขาได้ศาสตราจารย์เพราะอะไร? เขาได้ศาสตราจารย์เพราะว่าเขาทำวิจัย เขาทำทางวิชาการของเขา เขาทำวิชาการของเขา เขาต้องใช้การค้นคว้าไหม? เขาต้องใช้การค้นคว้า เขาต้องการพิสูจน์ ต้องการพิสูจน์ว่าทางทฤษฎีอย่างนั้นมันเป็นประโยชน์ มันใช้ได้จริง ถ้ามันใช้ได้จริงขึ้นมา กรรมการตรวจสอบแล้วเขาถึงได้เป็นศาสตราจารย์ทางวิชาการนั้น ถ้าทางวิชาการนั้นมันเป็นอะไรล่ะ? มันก็เป็นวิชาชีพไง มันก็เป็นปัญญาทางโลกไง

นี้เวลาเรามารู้ตัวทั่วพร้อม หรือว่าเราปฏิบัติปัญญาอบรมสมาธิมันก็มีปัญญาอย่างนี้ไง ผลของมันก็คือการปล่อยวาง ถ้ามีสติ ถ้าผลของมันเป็นปล่อยวาง มีสตินะมันจะเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นสัมมา ถ้ามันปล่อยวางขาดสติมันเป็นมิจฉา มันเป็นมิจฉาเพราะอะไรล่ะ? เพราะว่ามันสตัฟฟ์จิตไว้ไง มันเหม่อลอยไง มันว่างๆ โดยที่ไม่มีอะไร เห็นไหม พอรู้ตัวทั่วพร้อมขึ้นมานี่ว่าง สบายๆ สบายแบบนั้นก้อนหินมันก็สบาย ก้อนหินมันไม่มีความทุกข์ความยากกับใครเลย

ถนนหนทาง ดูสิเราขับรถไป รถบดมันไป ถนนมันเจ็บปวดไหม? ถนนมันแบกรับภาระไว้ไหม? ถนนมันไม่แบกรับภาระอะไรเลย แล้วมันมีประโยชน์นะ ให้คนใช้การคมนาคมไปถึงเป้าหมายปลายทางได้ ถนนมันยังมีประโยชน์ขนาดนั้น ไอ้นี่ปฏิบัติไปแล้วมันจะมีอะไรในหัวใจล่ะ? มันจะปฏิบัติมาเพื่อประโยชน์อะไร? ถ้าปฏิบัติแล้ว ปฏิบัติความจริง เห็นไหม นี่ถึงว่าปริยัติต้องปฏิบัติ ถ้าปริยัติไม่ปฏิบัติ จะมีชื่อเสียงขนาดไหนก็แล้วแต่ ชื่อเสียงมันเป็นโลกธรรม ๘ สรรเสริญ นินทา

ในเมื่อมีการสรรเสริญ มีการยกย่องขนาดไหนก็แล้วแต่ ชื่อเสียงก็คือชื่อเสียง มันเป็นโลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่ ไม่เกี่ยวกับอริยสัจเลย ไม่เกี่ยวกับธรรมะเลย มีชื่อเสียงขนาดไหนมันก็ไม่เกี่ยวกับสัจธรรม ไม่เกี่ยวเลย ฉะนั้น ถ้าไม่เกี่ยวแล้วมันไม่รู้จริงไง ถ้าไม่รู้จริงมันก็พูดกันไป เห็นไหม พูดไปทางวิชาการนะ นี่เขาบอกว่า “ไม่ต้องมีคำบริกรรม” ถ้าไม่มีคำบริกรรม นี่คนที่ถามมาเขาบอกว่า

ถาม : ผมก็ใช้อุบายที่หลวงพ่อว่าไว้ ผมก็พุทโธอยู่ในใจ ใครจะมารู้เรา ผมก็บริกรรมของผมไปตามปกติ

ตอบ : นี่เห็นไหม ถ้าคนฉลาด เราบริกรรมของเราไป จิตเราก็เกาะไว้ มันไม่แส่ส่ายไป แล้วเขาพูดสิ่งใดมามันเปรียบเทียบ มันเทียบเคียงได้ นี่ถ้าเขาบอกว่าให้มีสติตามรู้ไป รู้ไปไหนล่ะ? รู้ให้หายไปใช่ไหม?

นี่หลวงตาท่านทำอย่างนี้ ท่านบอกว่าเมื่อก่อนท่านก็มีสติตามผู้รู้ไป จิตเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๕ เดือน ๑ ปีกับ ๕ เดือนทุกข์เกือบตาย ทุกข์เพราะอะไร? ทุกข์เพราะพยายามของเราขนาดไหน พอขึ้นไปแล้วจิตมันก็เสื่อม สุดท้ายแล้วท่านบอกว่ามันเสื่อมเพราะอะไร? อ๋อ เสื่อมเพราะเราไม่มีพุทโธ ไม่มีคำบริกรรม ตั้งแต่นั้นมาท่านก็มีคำบริกรรมของท่านไว้ แล้วท่านเกาะของท่านไว้ นี้มันเคยไง คำบริกรรมคือจิตมันขยันทำงาน ขยันหมายความว่าเรามีสติบังคับให้จิตบริกรรมพุทโธ พุทโธ จิตมันก็ทำงานของมัน ทำงานจนมันว่าง แต่ถ้าเราไม่ต้องทำงาน ดูไว้เฉยๆ คนมันแอบนอน มันแอบอู้ มันไม่ได้ทำงาน แล้วมันจะมีผลงานขึ้นมาไหม?

นี่ไงท่านบอกท่านดูเฉยๆ ดูเฉยๆ นี่จิตเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๕ เดือน มันจะดีเหมือนกัน มันว่างๆ ว่างๆ อยู่ แต่เอาไว้ไม่อยู่ เดี๋ยวก็ไปเพราะมันไม่มีคำบริกรรม จิตมันขี้เกียจ จิตมันไม่รับผิดชอบ จิตมันไม่เกาะสิ่งใดไว้ แต่ถ้าเราเกาะสิ่งใดไว้เราทำงานจนเสร็จ เราทำงานจนว่าง พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันปล่อยวาง ถ้ามันปล่อยวางมันถึงเป็นสัมมาสมาธิ เพราะขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าคนไม่มีคำบริกรรมหรือไม่ใช่ปัญญาอบรมสมาธิ เขาไม่รู้จักสมาธิ ถ้าเขาไม่รู้จักสมาธิมันจะเป็นความจริงไหม?

ถ้าเราไม่มีสมาธิ มรรค ๘ สัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิมันจะไม่เกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนาจะไม่มี มันจะเกิดปัญญาจากสัญชาตญาณ ปัญญาจากโลกทัศน์ ปัญญาจากโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนั้นคือปัญญาโลก ปัญญาอย่างนั้นศาสตราจารย์เขายังได้ค่าตอบแทนทางวิชาการนะ เป็นศาสตราจารย์เขามีค่าตอบแทนทางวิชาการ แต่ของเรานี่มันใช้ปัญญาไปแล้วมันได้อะไรล่ะ? นี่มันได้อะไรขึ้นมาล่ะ?

มันได้มิจฉาไง ได้ตัวเองไม่เจริญก้าวหน้าไง แต่ถ้ามีการศึกษา ปริยัติสำคัญไหม? สำคัญ ปริยัติสำคัญ เรียนมาเพื่อปฏิบัติ เรียนมาแล้ววางไว้ แล้วถ้าปฏิบัติให้ได้ตามความเป็นจริง ถ้าไม่ตามความเป็นจริงมันจะเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมาไม่ได้ มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความจริงขึ้นมา มันชัวร์ มันไม่มั่วหรอก ไอ้นี่มันมั่ว มั่วเพราะอะไร? มั่วเพราะความไม่รู้ไง กรณีอย่างนี้มันก็เหมือนที่ว่ามีพระองค์หนึ่งปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ท่านตั้งนะตั้งลูกศิษย์ของท่านที่เป็น ๙ ประโยค ๔ องค์ ให้สอบพระองค์นี้

นี่ ๙ ประโยคนะ มาสอบพระองค์หนึ่งว่าปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ สอบอย่างไรก็จบกันไม่ได้ เพราะ ๙ ประโยคเขาใช้ทางวิชาการของเขา วิชาการของเขาก็ทางวิทยาศาสตร์ที่เขารู้ได้ เขารู้ทางวิชาการของเขา แล้วเขาอยู่ในกรอบ เขาออกนอกกรอบไม่เป็น ออกนอกกรอบไม่ได้ นี่ปริยัติมันอยู่ในกรอบ เราศึกษามาทางวิชาการมันเป็นกรอบตายตัว แล้วก็เอาสิ่งนั้นมาตรวจสอบพระองค์นี้ ตรวจสอบอย่างไรก็ตรวจสอบกันไม่ได้ เพราะว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ตอนนั้นท่านอยู่วัดศรีมหาธาตุที่บางเขน ท่านเอามาสอบ สอบกันอยู่ เพราะว่าในวงกรรมฐานเรา วงของพระสงฆ์เราเขาก็อยากให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ ทำอย่างไรก็ไม่จบ

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านลงมาจากเชียงใหม่ เจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ ไปนิมนต์หลวงปู่มั่นกลับไปอีสาน หลวงปู่มั่นก็ลงจากเชียงใหม่ ผ่านมาก็มาแวะพักที่วัดสระปทุม นี่เขาก็เอาพระองค์ที่ว่าปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ กับกรรมการที่ตรวจสอบทั้ง ๔-๕ องค์ไปกราบหลวงปู่มั่น แล้วให้หลวงปู่มั่นตรวจสอบไง พอเขาพูดจบนะให้พระองค์ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์พูดขึ้นมา พอพูดจบขึ้นมาหลวงปู่มั่นท่านสวนทันทีเลย

“ติดสมาธิ”

พระองค์นั้นนี่นะมหา ๙ ประโยค ๔-๕ องค์ตรวจสอบอยู่ ๓ เดือน ๔ เดือนไม่จบ ตรวจสอบอย่างไร ตรวจสอบอย่างไรเขาก็แถของเขาไปได้เรื่อย เวลาหลวงปู่มั่นบอกว่าติดสมาธิ ไม่มีอะไรเลย เห็นไหม นี่มันชัวร์ มันไม่มั่ว แต่ถ้าเรียนมา ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคนะมันมั่ว

เรียนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นปริยัติ เป็นทางวิชาการ แต่กิเลสในหัวใจมันท่วมหัว เพราะมันไม่เคยประพฤติปฏิบัติ มันไม่มีความจริงในหัวใจของมัน มันก็ไม่กล้าชี้ถูก ชี้ผิด จะทำสิ่งใดก็เอาตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอ้าง แล้วคนที่ปฏิญาณตนเขาก็แถไปๆ ในความรู้สึกของเขา เพราะเขาปฏิบัติของเขามาใช่ไหม? เขาทำของเขามา จิตเขาสงบมา ว่างๆ ขึ้นมา เขาว่าว่างๆ นั้นเป็นพระอรหันต์ เขาก็อ้างความว่างของเขา อ้างประสบการณ์ของเขา

ทีนี้อ้างประสบการณ์ของเขากับทางทฤษฎีมันเข้ากันไม่ได้ พออ้างขนาดไหนก็เอากันไม่ลง มันแฉลบไปเรื่อย มันปลิ้นไปเรื่อยมันไม่จบ แต่หลวงปู่มั่นบอกนี่ท่านติดสมาธิ อ้าว เถียงมาสิ เถียงมา สมาธิคือความว่าง สิ่งที่ปฏิบัติมันก็แค่สมาธิ อ้าว ว่ามาสิ ไม่กล้าหรอก ก้มลงกราบหลวงปู่มั่นนะ สารภาพว่าจริงอย่างที่หลวงปู่มั่นพูด เห็นไหม ถ้ามันชัวร์ คนมันเป็นมันชัวร์นะ มันชัวร์ ประสบการณ์อันนั้นมันชัวร์ แต่ถ้ามีสถานะทางสังคมสูงมาก ออกทีวีบ่อยมาก บรรยายธรรมะทุกที่ไป ไอ้นี่มันมั่ว

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในพระไตรปิฎก ศึกษามาแล้วก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นปัญญาของตัว แล้วก็บอกว่าท่านสอนให้มีสติตามรู้ไปเลย ไม่ต้องมีคำบริกรรมหรอก ไม่มีคำบริกรรมเดี๋ยวจะรู้

ถาม : ท่านกล่าวถึงการปฏิบัติของหญิงคนหนึ่งว่าเขามีความทุกข์มาก เพราะสามีไปมีเมียน้อย จึงไปปฏิบัติที่วัดหนึ่ง เดินจงกรมอยู่ก็คิดแต่เรื่องสามี แต่ก็เดินไม่ลดละ วันที่ ๔ ของการปฏิบัติ ระหว่างเดินจงกรมอยู่ จู่ๆ หญิงคนนี้ก็หยุดเดินกางแขนออก นิมิตเห็นสามีกำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเลทุกข์ ตัวเธออยู่บนฝั่งไม่ต้องมีทุกข์อีก น้ำตาไหลพราก

ตอบ : น้ำตาไหลพรากเพราะสุขในธรรมนั้น นี่คำถามเขาถามมาอย่างนี้จริงๆ นะ ฉะนั้น ถ้าบอกว่ากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ มีคำบริกรรมมันจะเกิดนิมิต มันจะเป็นสมถะ ถ้ามีนิมิต สมถะมันไม่ใช้ปัญญา แล้วนี่มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ ไปปฏิบัติวัดหนึ่ง เดินอยู่ ๔ วัน จู่ๆ ก็กางแขนออก แล้วเห็นนิมิตเห็นสามีกำลังว่ายน้ำอยู่ แล้วถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมมันไม่ใช่สมถะ มันไม่เกิดนิมิต แล้วบอกนิมิตเห็นมันคืออะไรล่ะ?

มันก็ขัดแย้งกันน่ะสิ มันขัดแย้งในตัวมันใช่ไหม? บอกว่าถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมแล้วมันจะเป็นปัญญา ปัญญาแล้วมันไม่เกิดนิมิต เพราะนิมิตนี้เกิดจากสมถะ พอเกิดพุทโธ พุทโธ ไอ้คำบริกรรมพุทโธมันเป็นสมถะ พอสมถะเกิดแล้วจะเป็นนิมิต มันจะติด มันเป็นสมถะมันไม่เป็นปัญญา ไม่เป็นปัญญา นี่บอกเดินอยู่ ๔ วัน เดินอยู่ ๔ วัน เห็นนิมิตว่าสามีกำลังว่ายอยู่ในทะเลทุกข์ ตัวเองอยู่บนฝั่ง แล้วบอกว่านี่เป็นนิมิต แล้วบอกเป็นนิมิตแล้วนี่สุขในธรรม น้ำตาไหลพราก

เวลาเขาสอนอยู่เขาสอนบอกว่าไม่ให้ติดในนิมิต นี่สมถะเป็นที่น่ากลัวมาก เพราะสมถะจะทำให้คนจม ทำให้คนหลง ต้องใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญา นี่ปัญญาในสติปัฏฐาน ๔ วิธีปฏิบัติวิธีทางสติปัฏฐาน ๔ โดยกาย โดยเวทนา โดยจิต โดยธรรมด้วยการใช้ปัญญาทั่วพร้อม นี่แล้วบอกไม่ต้องใช้คำบริกรรม ให้ปฏิบัติไปเลย

ไอ้นี่มันมั่ว มันมั่วของมันไปเรื่อย มั่วเพราะอะไรล่ะ? มั่วเพราะว่าคำพูดมันขัดแย้งกันอยู่แล้ว ขัดแย้งที่ว่าถ้าพุทโธมันจะลงสมถะ มันจะเกิดนิมิตแล้วมันจะหลง แต่ถ้าใช้ปัญญา มีสติตามรู้ไป ไม่ต้องบริกรรม แล้วใช้ปัญญาไปเลยมันจะไม่มีนิมิต ไม่มีนิมิตแล้วเห็นขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ? แล้วเห็นขึ้นมาแล้ว เห็นขึ้นมาแล้วนี่บอกว่าสิ่งนี้เป็นธรรม น้ำตาไหลพราก น้ำตาไหลพราก

คนเราถ้ามันตรึกในธรรม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมา ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมา เห็นไหม นี่ถ้ามันชัวร์นะ คนที่ปฏิบัติมาเขาจะรู้ของเขา เวลามันทุกข์อยู่นี่ทุกข์เพราะอะไรล่ะ? ทุกข์เพราะเราไปยึดความรู้สึกนึกคิดของเราเอง เวลาถ้าเรามีสติปัญญามันก็ปล่อยความรู้สึกนึกคิดอันนั้น มันปล่อยความรู้สึกมันปล่อยอะไรล่ะ? มันก็ปล่อยสัญญา มันปล่อยสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง พอปล่อยแล้วจิตมันก็เป็นอิสระเข้ามา มันก็เท่านั้นแหละ

คือในภาคปฏิบัติ เห็นไหม ในภาคปฏิบัติจิตของคนมันไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนมันแตกต่างหลากหลายกัน ความรู้ ความเห็นของคนไม่เหมือนกัน มีคนเห็นไปทางหนึ่ง มีคนเห็นไปแง่มุมหนึ่ง มีคนเห็นแตกต่างกันไป แต่ความรู้ ความเห็นอันนั้นมันก็เป็นแค่จิตส่งออก จิตออกไปรับรู้เท่านั้นแหละ ถ้าจิตออกไปรับรู้ เห็นแล้วมันก็วางไว้ พอวางไว้มันก็ต้องก้าวหน้าต่อไป แต่นี้มันไม่ใช่ก้าวหน้าไง เพราะอะไร? เพราะมันมั่ว เพราะอะไร? เพราะหัวหน้าก็มั่ว ในวงการปฏิบัติมันมั่วกันไปหมดไง พอมันมั่วกันไปหมด พอมีผู้รู้เห็นอย่างนี้บอกว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เขามีความสุขของเขา สุขในธรรมๆ

นี่ไงถ้ามันมั่วมาตั้งแต่หัวหน้า มันมั่วมาตั้งแต่โคนำฝูง ถ้าฝูงโคนั้นมันพาฝูงโคนั้นลงไปวังน้ำวน มันจะปฏิบัติไปไหนล่ะ? มันก็ปฏิบัติไปสู่กิเลสไง ปฏิบัติไปสู่วังน้ำวนนั้นไง เพราะอะไร? ถ้าเกิดสภาวะแบบนี้ขึ้นมาจิตมันก็ปล่อยชั่วคราว พอปล่อยชั่วคราวก็มีความสุข มีความพอใจ เดี๋ยวมันก็เสื่อม ถ้าเดี๋ยวมันเสื่อม บอกว่านี่ทุกข์มากเพราะสามีมีเมียน้อย แล้วต่อไปนี้พอมันมีนิมิต มันเห็นสามีว่ายอยู่ในทะเลทุกข์ โอ๋ย มันมีความสุขมาก อย่าเสียใจนะว่าสามีมีเมียน้อย อย่าเสียใจนะ อย่าเสียใจว่าเมียน้อยมาแย่งสามีเราไป อย่าเสียใจนะ แต่นี้มันเสียใจอยู่ลึกๆ คือว่ามันแก้ไม่ได้

ไอ้นี่บอกอู้ฮู สามีมีเมียน้อยนะ เวลาพิจารณาไปแล้ว อู้ฮู มันปล่อยวางหมดเลย มันมีความสุขมากเลย ยกสามีให้เขาหรือเปล่าล่ะ? ยกสามีให้เขาไหม? อ้าว ยกไปแล้วเนาะ ยกให้เขาไปเลย ทุกอย่างยกให้เขาไปเลย แล้วโกนหัวออกบวชเลย บอกว่า เออ เดี๋ยวนี้ฉันเสียสละแล้ว ฉันบรรลุธรรมแล้ว ฉันจะปฏิบัติของฉันอย่างดี มันก็ไม่ใช่ เพราะ เพราะเวลามันหลงไป ทุกคนยกย่องสรรเสริญมันก็ไปพักหนึ่ง มันขี่หลังเสือ ขี่หลังเสือไปแล้ว เดี๋ยวลงจากหลังเสือไม่ได้ยุ่งเลย

นี่มันมั่ว มันมั่วเพราะอะไรล่ะ? เห็นไหม หลวงตาท่านจะออกประพฤติปฏิบัติ ท่านอธิษฐานของท่าน พอท่านเรียนจบมหานะ เรียนจบมหาแล้วอยากจะเป็นพระอรหันต์ แล้วใครจะสั่งสอนเราได้ ท่านอธิษฐานนะ บอกว่าขอให้เจอครูบาอาจารย์ที่แท้จริง จะออกปฏิบัตินะ คืนนี้ถ้านั่งสมาธิ ถ้าประสบความสำเร็จขอให้ได้เกิดนิมิต เกิดสิ่งใดขึ้นมาให้เป็นเครื่องเตือนใจ ถ้าไม่ได้ แล้วนอนขอให้ฝัน

คืนนั้นเวลาท่านนั่งปฏิบัติไปแล้วมันไม่มีสิ่งใดท่านก็นอน พอนอนหลับไป เห็นไหม ฝัน ฝันว่าตัวเองเหาะขึ้นไปบนนครหลวง ๓ รอบ นี่พอท่านตื่นขึ้นมาท่านบอก อืม เราน่าจะประสบความสำเร็จ น่าจะมีคนสั่งสอน แล้วท่านก็ตั้งเป้าว่าจะไปหาหลวงปู่มั่น พอไปหาหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นชี้ทางให้ คอยบอก คอยชี้นำ คอยชัก คอยนำขึ้นมาจนผ่านไปได้

นี่ถ้าหัวหน้าไม่มั่ว ถ้าหัวหน้าจริง ประพฤติปฏิบัติเขาวัดกันที่นี่ เขาวัดที่ว่าเรารู้ เราเห็นในใจของเรา ท่านอธิบายได้ไหม? ท่านบอกเราได้ไหม? นี่อธิบายอะไร? แค่เดินจงกรม ๔ วัน นี่ทุกข์มากเพราะสามีมีเมียน้อย พอตรึกในธรรมๆ จนเห็นนิมิต เห็นสามีว่ายอยู่ในทะเลทุกข์ เราอยู่เป็นสุข ไอ้นี่มันนิมิตชั่วคราวเท่านั้นแหละ มันไม่เป็นจริงหรอก

ฉะนั้น เขาบอกว่า

ถาม : เมื่อฟังจบผมเทียบเคียงธรรมะที่ฟังจากหลวงพ่อ รู้สึกว่ามันแปลกๆ ถ้าเป็นความจริงก็น่าจะเป็นส้มหล่น จึงถามไปว่ามันปล่อยชั่วคราวหรือปล่อยขาด ถ้ามันเป็นความจริงมันก็เป็นส้มหล่น

ตอบ : ก็ส้มหล่นจริงๆ ถ้าเขามีอำนาจวาสนาของเขา คือเขาทุกข์ของเขามานะ คนเรานะ เรื่องสามีภรรยา มันเป็นเรื่องคนสองคน แล้วมาอยู่ร่วมกันเหมือนบุคคลคนเดียวกัน แล้วถ้ามันมีปัญหาขึ้นไปมันต้องสะเทือนใจแน่นอน ทีนี้มันสะเทือนใจอย่างนั้นมันก็ฝังใจมาตลอด

ฉะนั้น ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนา เวลาปฏิบัติไป มาเดินจงกรมนี่มันปล่อยวางได้ แต่ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนานะสิ่งนั้นมันจะกระทุ้ง มันจะทำให้เราทุกข์ยากมาก เพราะอะไร? เพราะมันเป็นกิเลส มันเป็นตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ มันจะคลายพิษออกมาให้ทุกข์ยากมาก ถ้าทุกข์ยากมาก แต่ถ้าอย่างที่มันเข้าใจได้ มันมีปัญญาขึ้นมา มันปล่อยวาง มันก็ส้มหล่นเท่านั้นแหละ เพราะ เพราะมันส้มหล่น แล้วพอถามว่าปล่อยชั่วคราวหรือปล่อยขาด ท่านตอบว่ามันปล่อยขาด

คำว่าปล่อยขาด ขาดกับชั่วคราว ตทังคปหานกับสมุจเฉทปหาน สิ่งนี้มันอยู่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะตทังคปหานคือการปล่อยวางชั่วคราว การปล่อยวางชั่วคราวหมายถึงว่าเราทำใจสงบ ใจของเราสงบ ถ้าใจของเราสงบแล้วเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี่ปฏิบัติตามวิธีสติปัฏฐาน ๔ มันจะเป็นแบบนี้ มันต้องทำจิตสงบเข้ามา จิตมันเป็นความจริง จิตสงบเข้ามานี่จิตเป็นความจริง

ชื่อของสมาธิ ชื่อของสติ ชื่อของปัญญาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎก ในตำรับตำรานั้นมันเป็นชื่อ มันเป็นชื่อ มันไม่ใช่ตัวจริงหรอก มันไม่มีข้อเท็จจริง ในทางวิชาการไม่มีข้อเท็จจริงเลย มันเป็นทางวิชาการ แต่เวลาเราทำจริงขึ้นมา สติคือสติจริงๆ สมาธิคือสมาธิจริงๆ จิตที่เป็นสัมมาสมาธิ แล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี้สติปัฏฐานตามความเป็นจริงมันเกิดตรงนี้ สิ่งที่ว่าปฏิบัติทางสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นตรงนี้ มันไม่เป็นตามวิชาการนั้นหรอก วิชาการนั้นเป็นทฤษฎี เป็นเครื่องชี้นำ เป็นการบอกเข้ามาให้ปฏิบัติอย่างนี้ๆๆ ให้เป็นตามความจริงอย่างนี้

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่ามันเป็นการปล่อยวางชั่วคราว คือตทังคปหานจิตมันต้องสงบเข้าไป พอจิตสงบเข้าไป จิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง คือจับได้ พอจับได้ จับสติปัฏฐานได้ เราพิจารณาของเราตามความเป็นจริง พอตามความเป็นจริงแล้ว ถ้ามันไม่ปล่อยมันก็ยึดกันอยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่ปล่อยคือพิจารณาแล้วเราก็จบ จบแล้วเราก็ได้ทำงาน มันก็มีความสุข มีความพอใจนะ

เพราะจิตเราสงบแล้ว เราเห็นกายของเรา นี่เราก็ได้เป็นผู้ทำงาน เหมือนคนทำงานมันได้ผลตอบแทนหรือยัง แต่ถ้ามันพิจารณาไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันปล่อยนะ นี่มันปล่อยมันถึงจะเป็นตทังคปหานคือการปล่อยชั่วคราว ถ้ามันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ พิจารณานี่การปล่อยวางชั่วคราวจนมีความชำนาญการ พิจารณาจนละเอียดรอบคอบ ละเอียดรอบคอบ เวลามันขาด เห็นไหม สมุจเฉทปหาน คือปหานได้หนเดียว คือขาดได้หนเดียว

การปฏิบัติ นี่เวลาหลวงตานะ เวลาท่านพิจารณาของท่าน เห็นไหม พิจารณากายของท่าน แล้วเวลามันปล่อยแล้วมันว่างหมดเลย กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส นี่ขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นว่า “เออ นี่สิ่งนี้มันได้หลักใหญ่แล้ว มันเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว นี่เหมือนเราเลย เหมือนเราที่ถ้ำสาริกาเลยเราก็เป็นอย่างนี้”

พอเป็นอย่างนี้ปั๊บ หลวงตาท่านได้ฟังท่านก็ปลื้มใจ ตอนนั้นท่านกำลังฝึกหัดปฏิบัติอยู่ ฉะนั้น เวลาท่านปฏิบัติอีกท่านอยากได้อย่างนี้อีกไง ท่านอยากได้อย่างนี้อีก อยากได้ความสุขอย่างนี้ที่มันขาด เพราะขาดกับชั่วคราวมันแตกต่างกัน พอขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นอีก บอกว่าปฏิบัติแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้นเลย มันไม่เห็นขาดแล้วว่างไปอย่างนั้นเลย อยากจะเป็นอย่างนั้นอีก

หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “จะบ้าหรือ? เราก็เป็นหนเดียวเท่านั้นแหละ”

มันก็มีหนเดียวเท่านั้นแหละ เวลาคนมันขาดมันก็ขาดหนเดียวเท่านั้นแหละ มันจะขาด ๒ หน ๓ หนได้อย่างไร? ไอ้ขาด ๒ หน ๓ หนแสดงว่ามันผิด นั่นน่ะมันมั่วแล้ว ไอ้ขาด ๒ หน ๓ หนมันมั่ว มันไม่ชัวร์ ถ้าชัวร์มันขาดหนเดียวมันก็จบแล้ว ถ้าจบแล้วแล้วทำอย่างไรต่อล่ะ? พอคำว่าจบแล้วหนเดียว นี่ท่านก็เลยติดต่อไป

แต่ของเราเวลาที่ว่า นี่เราจะบอกว่าการพิจารณาที่เห็นนิมิตมันไม่ใช่การปหานชั่วคราวด้วย มันพิจารณาแล้วเข้าใจเท่านั้นแหละ มันไม่ใช่เป็นการปหานชั่วคราว ไม่ใช่ มันยังต่ำกว่าการปหานชั่วคราว การปหานชั่วคราวคือต้องจิตมันสงบก่อน พอจิตสงบแล้วมันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงแล้ว เราได้งานแล้ว แต่เราทำงานยังไม่จบสิ้นมันก็ปล่อยวางชั่วคราวๆๆ มันไม่จบสิ้น ถ้ามันจบสิ้น วางบิลแล้วเก็บสตางค์นั่นล่ะมันคือขาด

วางบิลแล้วเขาไม่ให้สตางค์มันก็ไม่ขาดนะ วางบิลแล้วเขาบอกว่าติดไว้ก่อน นี่ขอเครดิต ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน นั่นมันยังไม่ขาด ถ้าวันใดเราได้เงินตอบแทนมา ทุกอย่างพร้อมแล้ว นั่นล่ะมันขาด มันจบสิ้นกระบวนการคือจบสิ้นกันไป นี่ถ้าจบสิ้นกันไปเป็นวรรค เป็นตอน เห็นไหม

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกถ้าผู้ถามเข้าใจว่าเป็นส้มหล่น คำว่าส้มหล่นมันธรรมเกิด ธรรมเกิดนะ เวลาเรามีสิ่งใดที่ฝังหัวใจไว้มาก มีสิ่งใดที่สะเทือนใจแล้วฝังใจจิตใต้สำนึกนี้มาก แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราไปมันมีธรรมะจะตอบสิ่งที่มันฝังใจเรา เรามีอะไรที่ฝังใจเรานะ พอเราปฏิบัติไปมันมีธรรมะผุดขึ้นมาในใจเลยนะ เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น

อย่างที่ผู้หญิงคนนี้เป็น ผู้หญิงคนนี้เป็นก็เป็นอย่างนั้น เพราะเขาทุกข์เรื่องสามีของเขา เขาทุกข์มาก แล้วเขาเดินจงกรมของเขา เขาตรึกเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา แล้วธรรมมันก็เกิดไง ธรรมมันก็เกิดว่าสามีของเรา เขาอยู่กับเราเขาก็ทุกข์อยู่แล้ว สามี ภรรยาอยู่ด้วยกันมันก็ต้องอยู่กันในครอบครัว มันก็แบกรับภาระ มันก็ทุกข์พอแรงอยู่แล้ว แล้วเขายังไปหาภรรยาน้อยมาเป็นภาระอีก เขาก็ทุกข์ ๒ ชั้น ๓ ชั้น ไอ้เราสามีคนเดียวเราก็อยู่ของเรา เราก็ทุกข์น้อยกว่าเขา นี่ส้มมันหล่นคือธรรมมันเกิดก็เท่านั้นแหละ ก็เท่านั้น แต่มันเป็นความดีไหม? ใช่ ปฏิบัติแล้วมันเกิดขึ้นมามันเป็นความดี แต่ความดีมันมีพื้นๆ มีดีขึ้นไปอีกลึกลับซับซ้อนมาก

ฉะนั้น ถ้าผู้ที่เป็นกรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่มั่ว ท่านชัวร์ ถ้าชัวร์ขึ้นมามันจะมี เห็นไหม ปุถุชนทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามันทำความสงบระงับได้ ควบคุมดูแลได้เขาเรียกว่า “กัลยาณปุถุชน” นี่กัลยาณปุถุชนทำจิตตั้งมั่นแล้วพยายามพิจารณาของเรา ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันเห็นของมันจริงๆ นะ ถ้าเห็นจริงขึ้นมา นี่โสดาปัตติมรรค เห็นไหม โสดาปัตติมรรค

ถ้าโสดาปัตติมรรค พิจารณาของเราไป ถ้ามันปล่อยๆ นี่ชั่วคราวๆ เพราะโสดาปัตติมรรคถ้าไม่เป็นโสดาปัตติผลมันยังเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม แต่ถ้าพิจารณาไปจนมันขาด พอขาดขึ้นไปนี่มันเป็นโสดาปัตติผล แล้วหนเดียว ขาดหนเดียวไม่มีสองหรอก ขาดแล้วเป็นโสดาบันเด็ดขาด ไม่มีเสื่อม อฐานะเลย นี่ขาดตามความเป็นจริง แล้วขาดตามความเป็นจริง พอขาดตามความเป็นจริง เวลาเราส้มหล่นเราก็รู้ว่าส้มหล่น เวลาเราล้มลุกคลุกคลานเราก็รู้ว่าล้มลุกคลุกคลาน เวลาจิตเราสงบแล้วเราก็รู้ว่าจิตสงบ

เวลาจิตของเราพิจารณาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่ปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตมันไม่สงบ สติปัฏฐาน ๔ โดยความรู้สึกนึกคิดเป็นสัญญาอารมณ์ ไม่มีจริงหรอก ไม่จริงเลย เพราะจิตมันไม่จริง จิตไม่เป็นสัมมาสมาธิ จิตไม่จริง จิตเป็นหนี้ จิตที่ไม่เป็นอิสระมันจะทำงานไม่ได้หรอก จิตที่พ้นจากหนี้ พ้นจากการครอบงำของกิเลสมันจะเป็นสัมมาสมาธิ จิตที่พ้นจากหนี้ คนที่พ้นจากหนี้ เขาทำสิ่งใดเขาทำตามความเป็นจริงของเขา

ถ้าจิตมันเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา ถ้าจิตมันเป็นความจริงของมัน มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี่ไงที่มันภาวนาของมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงไง นั่นสติปัฏฐาน ๔ ตามความรู้สึกนึกคิด สติปัฏฐาน ๔ ตามสัญญาความมั่นหมายของตัว เป็นความมั่นหมาย เป็นการสร้างภาพว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ แต่ไม่เป็นความจริง เพราะมันเป็นสังคมมั่วๆ ไง เพราะสังคมมั่วๆ แล้วไม่เคยมีความจริงขึ้นมา ถึงไปอบรมว่าทำอย่างนี้ไง ว่ามีสติตามรู้ไปไม่ต้องใช้คำบริกรรม

ถ้าไม่ใช้คำบริกรรม นี่เป็นทิฐิ เป็นความเห็นของเขา เป็นสังคมของเขา ฉะนั้น การปฏิบัติของเขาถึงว่างเปล่า ไม่มีความจริง นี่มันเลยกลายเป็นมั่วกันไปไง ระหว่างปริยัติ ปฏิบัติเอามายำกัน มั่วกัน มันถึงไม่เป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้

ถาม : นี่ท่านตอบว่าปล่อยขาด ท่านยังกล่าวอีกว่าตอนนี้ผู้หญิงคนนี้กำลังเดินสายสอนการปฏิบัติธรรมอยู่ สลดใจมากถึงได้ถามมา

ตอบ : นี่เอาคนไม่รู้ไปสอนมันก็เป็นแบบนี้แหละ เอาคนมีการศึกษา เอาคนมีวิชาการทางโลก แล้วมาสอนในการประพฤติปฏิบัติ ทางวิชาการทางโลก เห็นไหม ทางวิชาการ ปริยัตินี่ถ้าเขาเรียนจบมา เขามีสถานะ เขามีใบวุฒิของเขา เขาก็ต้องสอน ไปสอนทางวิชาการ ให้วิชาการเขาก็ได้ ได้มีการศึกษา มีการสอบ สอบแล้ว ถ้าเขาสอบผ่านเขาก็ได้วุฒิการศึกษาอย่างนั้นมา นี้คือปริยัติ นี้คือทางวิชาการ แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาปฏิบัติมันมีอะไรเป็นเครื่องหมายในการบอกว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เป็นผลหรือไม่เป็นผลล่ะ?

ถ้าสำเร็จนะ จิตสงบก็สงบ จิตสงบเป็นสมาธิ ครูบาอาจารย์ที่เป็นสมาธิจะรู้ว่าสมาธิคืออะไร แล้วถ้าพูดสมาธิผิดมันจะเป็นสมาธิได้ไหม? แล้วถ้าวิปัสสนาขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ภาคปฏิบัติเขาเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ปริยัติ ปฏิบัติ วิปัสสนาธุระ คันถธุระ คันถธุระคือการสั่งสอนทางวิชาการ ทางวิชาการนี่เป็นองค์ความรู้เพื่อปกครองสงฆ์ เพื่อดูแลเรื่องศาสนา นี่คันถธุระ วิปัสสนาธุระมันเป็นความเป็นจริงในหัวใจ ถ้าหัวใจมันเกิดขึ้น มันมีกิเลสในหัวใจ ถ้ามันชำระล้างกิเลสในหัวใจ ชำระล้างกิเลสอย่างใด? มันไม่มั่ว มันเป็นความจริง

ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา นี่ไงในปัจจุบันนี้ ในการปฏิบัติขึ้นมาจนคนมีความเชื่อถือ ก็ผู้ที่มีคันถธุระ ผู้ที่มีการศึกษามาก็ว่าสิ่งนี้เขารู้ สิ่งนี้เขาปฏิบัติได้ สิ่งนี้เป็นความจริงของเขาได้ เขาก็เอาสิ่งนี้มามั่วกันระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ นี่ยำให้มันเป็นเหมือนกัน แล้วก็เอาความรู้ในทางปริยัติมาสอนในการปฏิบัติ พอปฏิบัติขึ้นไป เห็นไหม แม้แต่ปล่อยขาด ปล่อยจริงก็ไม่รู้ ปล่อยชั่วคราวกับปล่อยขาดก็ไม่รู้ แล้วพอไม่รู้ขึ้นมา สังคมที่ไม่รู้ แม้แต่ผู้นำก็ไม่รู้ เพราะเขาบอกว่าผู้หญิงคนนี้ปฏิบัติถูกต้อง นี่บรรลุธรรม

ถาม : ตอนนี้ผู้หญิงคนนี้กำลังเดินสายสอนปฏิบัติธรรมอยู่ สลดใจมากถึงเขียนมา

ตอบ : สังคมเขาเป็นกันแบบนั้น ถ้าสังคมเป็นแบบนั้น ถ้าคนมีสติ มีปัญญา แล้วมีปัญญายั้งคิด แล้วคิดถามตัวเองว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร ถ้าคนเขาไม่สนใจในศาสนาเขาจะไม่เข้าใจศาสนาเลย เขาบอกเกิดมาชาตินี้ก็ทุกข์เข็ญพอทนแล้วล่ะ ทำมาหากินก็พอทำมาหากิน งานก็ล้นมืออยู่แล้วล่ะ ขอทำมาหากินให้ประสบความสำเร็จก็พอ แต่ถ้าคนมีปัญญา คนมีอำนาจวาสนา

นี่เราเกิดมาเราต้องทำมาหากินเราก็ทุกข์ยากพอสมควรอยู่แล้วแหละ แต่ถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราพบพุทธศาสนา แล้วเราไม่หาจุดยืนของเรา หาที่ยืนของเราในศาสนา หาที่ยืนของเราในหัวใจของเรา ถ้าจิตสงบขึ้นมา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ถ้าเรากำหนดลมหายใจเข้า-ออก เรากำหนดอานาปานสติ เรากำหนดลมหายใจเข้า-ออกเพื่อจุดยืนในใจของเรา ให้ใจเรามีความมั่นคง พอมีความมั่นคง คนมีความมั่นคง ใครทำสัมมาสมาธิได้ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามีบ้านมีเรือนที่อาศัย

คนเราไม่มีบ้านมีเรือน เร่ร่อนอยู่บนถนนหนทาง นี่เวลาร้อน ฝนตกแดดออกเราทุกข์ยากขนาดไหน? แต่ถ้าเรามีบ้านหลังหนึ่ง ฝนตกแดดออกเรามีบ้านที่อาศัย เราจะมีความมั่นคงในชีวิตไหม? ถ้าเรากำหนดลมหายใจเข้า-ออก อานาปานสติ หรือบริกรรมพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันมีสมาธิขึ้นมา เรารู้เลยว่านี่ที่พึ่งที่อาศัยของเรา นี่ทำความสงบของใจมันก็พออยู่พอกินแล้วล่ะ

ฉะนั้น ถ้ามันทำอย่างนี้ขึ้นมา ทำให้เราพออยู่พอกิน คนถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมาเขาจะขวนขวาย เขาจะหาหลักใจของเขา แล้วถ้าเขาออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง มันก็จะเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม แต่นี้บอก เวลาคนที่เขาไม่สนใจศาสนาเลย เขาก็ไม่สนใจศาสนา คนสนใจศาสนาแล้ว ศาสนานี่มันแตกต่างหลากหลาย มันเป็นจริตนิสัย กรรมฐาน ๔๐ ห้อง แล้วอำนาจวาสนาของคน แล้วตรงจริต ไม่ตรงจริต

ในการปฏิบัติมันยังลึกลับซับซ้อนอีกมากเลย แม้แต่การศึกษา เห็นไหม ประเทศชาติจะเจริญเพราะการศึกษา โลกนี้จะเจริญเพราะการศึกษา ถ้าการศึกษาให้เด็กมีทางวิชาการ โลกนี้จะเจริญมาก การศึกษาที่ไม่ได้ผล การศึกษาที่เหลวไหล จะทำให้คนนี้โง่เขลา จะทำให้โลกนี้เสื่อม นี่คือการศึกษาทางโลก ในการปฏิบัติมันยิ่งกว่านั้นอีก ถ้าขาดสติขึ้นมามันจะไม่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเลย ถ้ามันมีสติ มีปัญญาขึ้นมา ถ้ามันพัฒนาขึ้นไปแล้วจิตมันจะเป็นอย่างไร?

นี่การศึกษา การประพฤติปฏิบัติ ศึกษาในหัวใจ ศึกษาเพื่อค้นคว้าชำระกิเลส มันละเอียดลึกซึ้งกว่านั้นอีกมากมายนัก แล้วมันไม่ใช่การให้คะแนน ดูสิการศึกษาเราให้คะแนน เราซ่อม เราต่างๆ เพื่อประโยชน์ได้ แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันผิดพลาดขึ้นมาใครผิดพลาด? เวลาเสื่อมขึ้นมาใครเสื่อม? เวลาปฏิบัติขึ้นมาไม่มีทางไปทำอย่างไร?

นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านคอยให้กำลังใจ ท่านคอยบอก คอยชี้ คอยแนะ ถ้ามันชัวร์มันเป็นประโยชน์มหาศาลเลย แต่ถ้ามันมั่ว นี่มันมั่วนะ ในทางการศึกษา ในทางปริยัติเขาศึกษามาเพื่อเป็นทางวิชาการ แล้วทางปฏิบัติเอามามั่วกัน กิเลสมันก็ข่มหัวใจอยู่แล้ว แล้วสิ่งนี้ขึ้นมาอีกมันยิ่งไปใหญ่เลย

ฉะนั้น ในเมื่อสังคมเขาเป็นแบบนั้น ตอนนี้ผู้หญิงคนนี้กำลังเดินสายสอนปฏิบัติธรรมอยู่ เขาสลดใจของเขา มันไม่ใช่ผู้หญิงคนนี้หรอก มันตั้งแต่อาจารย์ของผู้หญิงคนนี้ ตั้งแต่คนสอนผู้หญิงคนนี้ ในเมื่อสังคมของเขายอมรับ นี่ในเมื่อสังคมของเขา วุฒิภาวะสังคมของเขาแค่นี้เอง ในสังคมของเขา เขามีความเห็นกันเท่านี้ ว่าถ้าใครมีความรู้ ความเห็นอย่างนี้ คนนี้เป็นผู้รู้ธรรม แต่ในทางปฏิบัติของเรา ในทางกรรมฐานของเรา ในทางครูบาอาจารย์ของเรา ไอ้นี่มันยังไม่เข้าทางเลย มันยังไม่รู้จักสมาธิเป็นอย่างไรเลย เพียงแต่ไอ้นี่มันส้มหล่น มันเป็นธรรมเกิดเท่านั้นเอง

แล้วในทางความเชื่อของเขา เขาบอกว่าในเมื่อรู้ตัวทั่วพร้อมมันต้องไม่เกิดนิมิต เพราะมันเป็นวิปัสสนา แล้วนี่เกิดนิมิตขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ? เราจะบอกว่าปฏิบัติทางใดก็แล้วแต่ ถ้าจริตนิสัยมันเป็นแบบนั้นมันเกิด จะกำหนดอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันสร้างอย่างใดมา พันธุกรรมเป็นอย่างใดมา มันต้องออกมาตามนั้น แล้วในกรรมฐานเรา เราแก้กันตามไง คนที่ไม่มีนิมิตเลยก็เยอะมาก ไม่มีนิมิตเลยสงบเฉยๆ แต่ถ้าคนสงบแล้วมีนิมิตก็ต้องแก้ตรงนี้ นิมิตนี้มันยังเป็นของปลอมอยู่ นิมิตนี้คือจิตรู้

สิ่งที่จิตรู้ ความรู้ของจิตนั้นถูกต้องไหม? ถูกต้อง แต่มันเป็นความจริงไหม? มันไม่จริง เห็นไหม ที่ความรู้นี้เป็นความรู้จริงไหม? จริง แต่ปัญญาความเห็นจริงไหม? มันไม่จริง ถ้าไม่จริงแล้วมันก็ต้องข้ามไป มันก็ต้องผ่านไป แล้วปฏิบัติให้มากขึ้นมันจะดีของมันขึ้นมา ถ้าไม่ดีขึ้นมานะมันก็หลงอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น

ถาม : พ่อแม่ครูจารย์ของเราเดินจงกรมจนเป็นร่อง เป็นเหว นั่งจนก้นแตก ก้นพอง อดอาหารจนตัวเหลืองกว่าจะได้ธรรมมาแสนทุกข์ แสนยาก อันนี้เดินอยู่ ๔ วันก็ออกสอนกันแล้ว แย่ยิ่งกว่านั้น พระท่านนี้เชื่อแล้วนำมาบอกต่อ และจะโฆษณาไปอีกเท่าไหร่

ตอบ : สังคมของเขาเป็นแบบนี้ไง คือสังคมมันไม่มี สคบ. ไม่มีพวกที่ตรวจสอบในทางที่ว่าโฆษณาเกินจริง ของเขาไม่มีการตรวจสอบ แต่ในกรรมฐานของเรามันตรวจสอบกันได้ เพราะคำพูดมันตรวจสอบในตัวมันเอง คำพูดตรวจสอบ คนฟังก็รู้แล้วแหละ ฉะนั้น มันน่าสลดใจก็สลดใจอย่างนี้ มันถึงบอกว่าใครเกิดมาแล้วสร้างเวร สร้างกรรมมาอย่างใด เขาจะเชื่อตามนั้นไป เชื่อตามนั้นไปมันก็เป็นเวร เป็นกรรมของใจดวงนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาเชื่อของเขาอย่างนั้น สังคมเขาเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคนที่ไม่มีวุฒิภาวะมันไม่รู้ ไม่เห็นหรอกว่าวิสัยทัศน์ของหมู่คณะ ของการประพฤติปฏิบัติแต่ละกลุ่มเป็นอย่างใด ถ้ากรรมฐานไปอีกอย่างหนึ่งนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านวางรูปแบบมา นี่ข้อวัตรทำอย่างไร ความเคารพบูชากัน แล้วเคารพบูชาเขาเคารพบูชาที่คุณธรรมในหัวใจ แล้วถ้าคุณธรรมในหัวใจ ความจริงมันก็เป็นความจริงวันยังค่ำ แต่ถ้ามันไม่จริงนะ เขาจะพูดอย่างไรเพื่อจะสร้างภาพของเขา เดี๋ยวกิเลสมันฟูขึ้นมามันก็จะแสดงออกเอง มันเป็นความจริงของมันอยู่แล้ว แต่นี้ของเขาเขาอยู่กันโดยกระแสสังคม ด้วยการโฆษณา ด้วยความเป็นไปของเขา มันเป็นเรื่องโลกๆ มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าอาจารย์เชื่อนั่นก็เรื่องของเขา

ถาม : กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ให้วัคซีนป้องกันโรค ลัดสั้น สบายวิมุตติให้ไว้แล้ว

ตอบ : นี่วัคซีนมันจำเป็น ถ้าเราให้วัคซีนไว้ เพราะเราเห็นเรื่องโลกๆ เป็นแบบนั้น มันเป็นแบบนั้น เราทำเพื่อความจริงไง นี่ครูบาอาจารย์ของเรามีนะ ถ้าครูบาอาจารย์ของเราไม่มี ความมั่วของสังคม สังคมมันมีแต่ความหลอกลวง แล้วถ้าทำอย่างนี้ไปมันก็จะติดอย่างนี้ไป มันเสียหายกันไปหมดเลย

ฉะนั้น ถ้ามันเป็นประโยชน์ เห็นไหม เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน เราเป็นศากยบุตรด้วยกัน เราเป็นศาสนทายาท เรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาด้วยกัน ฉะนั้น สิ่งใดมันต้องตรวจสอบ ตรวจสอบเพื่อให้เป็นความจริงขึ้นมา อย่าเชื่อสิ่งใดๆ กาลามสูตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้วนะ อันนี้พูดถึงว่าเขาได้ประโยชน์ของเขา มันก็เป็นประโยชน์ของเขา ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์ของเขา เขาจะต้องมีคนชักนำไปในทางเสียหายของเขา นั้นเป็นความเห็นของเขานะ อันนี้จบ

ข้อ ๑๑๙๔. เนาะ

ถาม : ๑๑๙๔. เรื่อง “กราบขอบพระคุณหลวงพ่อ”

กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ที่ช่วยกรุณาตอบคำถามข้อที่ ๑๑๓๙. ให้กับผม ตัวผมเองอยากขอบพระคุณหลวงพ่อด้วยตัวเองที่วัด แต่หาโอกาสเหมาะไม่ได้ จึงตัดสินใจเขียนมาขอบคุณในเว็บไซต์ครับ ผมจะพยายามตั้งใจปฏิบัติเพื่อประโยชน์กับตัวเองครับ กราบหลวงพ่อ

ตอบ : อันนี้เขาถามมาเรื่องที่ว่าเขาปฏิบัติไปแล้วมันมีสิ่งใดในหัวใจ ทีนี้วิธีการแก้ไข เห็นไหม เขาบอกว่าปฏิบัติไปแล้วมีความโต้แย้ง มีต่างๆ กิเลสในใจมันเยอะนะ มีความโต้แย้ง มีสร้างเป็นส้มหล่นว่าเป็นธรรมให้เราหลงใหลไป นี่สิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้โดยอำนาจของกิเลส กิเลสในใจของเรามันมีอำนาจอยู่แล้ว มันจะชักนำ มันจะชักจูงให้ใจอ้างว่าปฏิบัติ แต่ปฏิบัติแล้วปฏิบัติไปตามรอยของกิเลส แล้วมันจบลงที่ไหนล่ะ? ก็จบลงที่ว่าเป็นผลของกิเลสไง

แต่ถ้าเราปฏิบัติ เห็นไหม มีกิเลสไหม? มี เรามีกิเลสอยู่ใช่ไหม? ทีนี้ความอยาก หลวงตาบอกว่าความอยากที่เป็นมรรค ความอยากที่เป็นมรรค เรามีกิเลสใช่ไหม? เราอยากจะพ้นจากกิเลส ความอยากอันนี้เป็นกิเลสไหม? เป็น เป็นกิเลส แต่กิเลสฝ่ายดี อ้าว กิเลสมีฝ่ายดี ฝ่ายชั่วด้วยหรือ? อ้าว ก็มีไง กุศล-อกุศล อกุศลคือสิ่งที่ไม่ดี กุศล กุศลต้องทำไหม? กุศลฝ่ายดี นี่กุศลและอกุศล ธรรมะฝ่ายขาวและฝ่ายดำ

ถ้าเป็นธรรมะฝ่ายดำมันก็ทำให้ทุกข์ ให้ยากไป ถ้าธรรมะฝ่ายขาว เห็นไหม นี่เรามีกิเลส เราอยากปฏิบัติด้วยกิเลสใช่ไหม? แต่กิเลสทำตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็วางข้อวัตรปฏิบัติให้เราทำอีก เราก็ทำตามนั้นแหละ พอกิเลสมันทำตามธรรม ทำตามข้อวัตร นี่เป็นกุศล ทำคุณงามความดี ทำไปๆๆ กิเลสมันสู้ไม่ไหว กิเลสมันสู้ไม่ได้มันก็สงบเข้ามา พอสงบเข้ามามันก็ได้สัมผัสใช่ไหม? เราก็รู้ว่า อ๋อ ถ้ากิเลสมันดึงไปเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ เราทำแล้วมันได้ประโยชน์อย่างนี้

กุศล กุศลทำให้เราสงบระงับ เราต้องอาศัยคุณงามความดี ดีและชั่ว แต่เวลาถึงความจริงขึ้นมาแล้วมันข้ามพ้นดีและชั่วไปเลย เห็นไหม นี่ข้ามพ้นกิเลสไป ความดีเป็นกิเลสไหม? เป็น กิเลสฝ่ายดีคือกุศล ขยันหมั่นเพียรเป็นกิเลสไหม? เป็น ก็ความอยาก แต่มันเป็นมรรค เป็นมรรคเพราะอะไร? เพราะอาศัยคุณงามความดีทำไป ถ้าทำไป ถ้าทำถึงที่สุดแล้ว เวลามันถึงที่สุด เวลามันขาดนี่มันข้ามพ้นไป

ฉะนั้น สิ่งที่เวลามันชักนำไป เวลากิเลสมันขึ้นมา กิเลสมันทำให้เราผิดพลาดไป ฉะนั้น ผิดพลาดไป ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ หรือเราไม่มีสติปัญญาพอ นี่เวลาถามมา เราเห็นเราถึงเข้าใจ เข้าใจว่ามันเป็นแบบนี้ จิตของคนเป็นแบบนี้ ที่มีอุปสรรค ที่มีสิ่งกีดขวาง ที่มีสิ่งใดที่มันมาชักนำให้เราไขว้เขว ชักนำให้เราเสียเวลา พยายามจะทำการปฏิบัติเราให้อ่อนด้อย ทำการปฏิบัติเราให้ล้มลุกคลุกคลาน นี่เราจะต้องมีปัญญาแยกแยะ มีปัญญาต่อสู้ มีอุบายวิธีการจะหลบหลีกให้หัวใจพ้นไปได้

ถ้าพ้นไปได้ ถึงที่สุดแล้วเราปฏิบัติไป นี่พอปฏิบัติไปมันก็ได้ผล ได้ผลตามความเป็นจริง เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงก็วิปัสสนาไป วิปัสสนาไป บางทีวิปัสสนาไปแล้วสู้ไม่ได้ วิปัสสนาไปกำลังไม่พอมันก็ยื้อกันอยู่อย่างนั้น เราไม่เข้าใจเราก็ทำอยู่อย่างนั้นแหละจนมันเสื่อมหมดเลย ถ้าไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกให้ปล่อยก่อน ให้กลับมาทำสมถะ ก็บอกทำสมถะมันเป็นสมาธิ มันไม่ได้ประโยชน์อะไร เราอยากใช้ปัญญา

ปัญญาที่มันไม่มีกำลังพอกิเลสมันก็หลอกใช้ กิเลสหลอกใช้ หลอกใช้จนตัวเองหมดเนื้อหมดตัว แล้วก็ท้อแท้น้อยเนื้อต่ำใจ แต่ถ้าเราวางไว้ก่อน เราหมดเนื้อหมดตัวก็ปล่อยมัน เรามาหาทุนหารอนของเรา เรามาทำสัมมาสมาธิของเรา เรามาสร้างปัญญาของเรา แล้วพอเรามีทุนมีรอนแล้วเราไปทำใหม่ มีดของเรา เราใช้มามากแล้วมันทื่อ มันใช้ประโยชน์ขึ้นมาเราก็มาลับให้มันคม พอคมเสร็จแล้วเราก็ไปฟันต่างๆ ใช้สอยอย่างไรมันก็ได้ประโยชน์ขึ้นมา นี่พอจิตเราทำความสงบของใจแล้วกลับไปวิปัสสนามันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมา

ถ้าทำอย่างนี้ พิจารณาไปๆ จนมันปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า จนถึงที่สุดเวลามันขาด เห็นไหม กระบวนการมันจบสิ้นแล้ว ทีนี้เราภาวนาเป็นแล้ว เรารู้แล้วอะไรผิด อะไรถูก นี่ไงมันถึงชัวร์ มันชัวร์ ภาคปฏิบัตินี่ชัวร์มาก ภาคการศึกษา ศึกษามานี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เลอะๆ เลือนๆ แล้วก็จำได้ จำไม่ได้ ต้องทบทวนอยู่ตลอดเวลา เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นชื่อ แต่ความเป็นจริงของเรานี่เราได้ตัวจริงเลย เราได้สติจริงๆ ได้สมาธิจริงๆ ได้ปัญญาจริงๆ แล้วได้มรรค ได้ผลจริงๆ

เวลาอุปกิเลส เวลากุปปธรรม อกุปปธรรมคือธรรมที่มันเจริญแล้วเสื่อม ทำมาแล้วมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ นี่กุปปธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตา นี่กุปปธรรมคือสัพเพ ธัมมา อนัตตา อกุปปธรรมมันพ้นจากอนัตตา มันพ้นจากทุกๆ อย่างไป เราก็รู้ เราก็เห็น เป็นอนัตตาเราก็รู้ว่าเป็นอนัตตา พ้นจากอนัตตาเราก็รู้ว่าพ้นจากอนัตตา ไม่เป็นธรรมก็รู้ว่าไม่เป็นธรรม เป็นธรรมก็รู้ว่าเป็นธรรม ความจริงก็เป็นความจริงไง

นี่กราบขอบพระคุณมาเราก็ตอบเพื่อประโยชน์ ตอบเพื่อปัญหานะ ปัญหาอันแรกยังไปเจออุปสรรคอยู่ ยังไปเจอคนชักนำอยู่ ปัญหาที่สองเขียนมาถามเอง แล้วเราตอบแล้ว ตอบแล้วนะเวลาได้ประโยชน์ไปเขาขอบคุณมา เราเป็นบริษัท ๔ ด้วยกัน เราเป็นลูกศิษย์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เรามีศาสดาองค์เดียวกัน ฉะนั้น ศาสดาองค์เดียวกันเราใช้สติ ใช้ปัญญาเพื่อประโยชน์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ

“มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราถึงจะยอมนิพพาน”

นี่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นบริษัท ๔ ด้วยกัน เรามีศาสดาองค์เดียวกัน นี้เรามีสิ่งใดเราตรวจสอบกัน เราปรึกษาหารือกัน เพื่อประโยชน์กับบริษัท ๔ ประโยชน์กับลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้เป็นความจริงในศาสนานี้ เพื่อให้ศาสนานี้สมบูรณ์ เพื่อประโยชน์กับบริษัท ๔ เอวัง