กิเลสตื่นนอน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๑๑๙๕. เรื่อง ขอกำลังใจ
สวัสดีครับหลวงพ่อ ช่วงนี้ผมภาวนารู้สึกเหนื่อยและท้อมาก เหนื่อยทั้งหน้าที่การงานและจิตที่โง่ ผมต้องรับรู้อาการของจิตตลอดทั้งวัน เวลาอยู่ในสังคมมันชอบคิดไม่ดี คิดในทางลบ ผมต้องพยายามดูลมหายใจเพื่อพยุงจิตเอาไว้ บางวันผมเดินจงกรมรู้สึกเหนื่อยมาก จนผมต้องเอารูปที่หลวงพ่อถ่ายกับหลวงตามากอดไว้ เดินจงกรมพร้อมกับร้องไห้ไปด้วย จนมีกำลังใจพอที่จะสู้ได้ ตอนนี้ผมเอารูปหลวงตาที่อยู่ในแสตมป์มาเข้ากรอบแขวนคอไว้เป็นกำลังใจ บางทีผมคิดว่ามือที่จับกันมือหนึ่งเป็นมือของครูบาอาจารย์
ตอนนี้ปัญญาที่ผมใช้ก็ไม่ค่อยออกดูอานาปานสติ ก็ค่อนข้างยาก เพราะบางทีเรามีสัญญาเหมือนที่หลวงพ่อบอก มันตามมาหลอกเรา แต่ก็นึกคำที่หลวงตาพูดว่า
ไม่ว่าจิตเราจะดีหรือเสื่อมเราก็ไม่สนใจ
นึกถึงคำที่หลวงปู่มั่นบอกกับหลวงตาว่าให้อยู่กับผู้รู้ สุดท้ายนี้ผมจะตั้งใจภาวนา เพราะผมไม่รู้ว่าถ้าชาตินี้ไม่จบสิ้น เราจะเกิดมาอีกทีจะมีโอกาสดีๆ แบบนี้ไหม และผมจะพยายามสละอารมณ์ความรู้สึกที่เรายึดเอาไว้มากมาย ซึ่งสุดท้ายนี้ก็ทำให้เราทุกข์ เคารพและรักหลวงพ่อ (เขาว่านะ)
ตอบ : นี่เขาขอกำลังใจไง เขาบอกเวลาเขาปฏิบัติเขารู้สึกเหนื่อยมาก ท้อมาก เหนื่อยนะมันมีอยู่ ๒ อย่าง เวลาหลวงตาท่านพูดถึงอย่างนี้ อย่างนี้เขาเรียกว่าจิตมันถอย จิตมันเสื่อม เวลาปฏิบัติขึ้นมา เรานี่บางทีรู้สึกว่ามันท้อแท้ มันเหนื่อยหน่าย มันไม่มีโอกาส พยายามปฏิบัติของเราแล้วมันล้มลุกคลุกคลาน อันนี้เวลาเราไม่มีกำลังใจ แต่ถ้าเวลาจิตใจเราดีนะ พอเราปฏิบัติเราภูมิใจว่าเราเกิดมาเป็นชาวพุทธพบพุทธศาสนา แล้วได้ประพฤติปฏิบัติ พอได้ประพฤติปฏิบัติบ้างมันมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อาศัยไง
มันมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อาศัย เราพออยู่ พอกินหมายความว่าเราปฏิบัติของเราได้ แต่เวลาจิตใจมันท้อถอยนะ เวลามันท้อแท้ขึ้นมา มันล้มลุกคลุกคลานนะ นี่หลวงตาใช้คำว่าถ้ากิเลสมันไม่ตื่นนอน กิเลสมันนอนหลับนะ เราทำสิ่งใดเราก็พอมีโอกาส กิเลสมันนอนหลับไง เราทำอะไรเราก็ทำได้สะดวก ได้ง่ายดาย แต่ถ้ากิเลสมันตื่นนอนมานะล้มลุกคลุกคลานเลย พอกิเลสมันตื่นนอนนะ มันอึดอัดขัดข้อง มันมีความทุกข์ใจทุกเรื่องเลย นี่กิเลสมันตื่นนอน
ฉะนั้น สิ่งที่เวลาปฏิบัติตามความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ แต่เวลาเราปฏิบัติกัน เห็นไหม เวลากิเลสมันนอนหลับเราคิดว่าเราภาวนาดี เวลากิเลสนอนหลับนะเราคิดว่าเราทำอะไรก็ทำได้ เราเกิดมาเรามีศรัทธา มีความเชื่อมันเป็นโอกาสของเรา มันเป็นคุณงามความดีของเรา เพราะกิเลสมันนอนอยู่ กิเลสมันยังไม่ตื่นขึ้นมา เพราะเรามีสติพอสมควร แล้วเรามีความปรารถนาดี เราคิดถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราก็มีโอกาส แล้วเราปฏิบัติเราก็มีจุดยืนของเรา
นี่ถ้ากิเลสมันงัวเงียขึ้นมานะ โอ้โฮ มันจับพลัดจับผลูแล้ว แค่มันงัวเงียมันยังไม่ตื่นเลย พอมันงัวเงียขึ้นมานะเราก็จับพลัดจับผลูแล้ว ปฏิบัติถูกบ้าง ผิดบ้าง ปฏิบัติแล้วมันจะล้มลุกคลุกคลานแล้ว แล้วถ้ากิเลสมันตื่นนอนมานะมันมีอำนาจเหนือความรู้สึกเราแล้ว ถ้ามันมีอำนาจเหนือความรู้สึกเรานะมันท้อแท้ เพราะธรรมชาติของกิเลสเป็นแบบนั้น ธรรมชาติของกิเลสเป็นผู้ทำลาย ธรรมชาติของกิเลสนะมันเป็นผู้ทำลาย มันทำลายทุกอย่างเลย
อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง เพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้มันถึงได้มาเกิด แล้วความไม่รู้ อวิชชามันมีอยู่กับจิตโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติเลย แล้วพอเวลามันไปสร้างเวรสร้างกรรม มันสร้างให้มันเข้มแข็ง ให้มันใหญ่โตขึ้น นี่เวลากรรม เห็นไหม กรรมชั่ว กรรมไม่ดี กรรมไม่ดีเราเกิดมาเป็นมนุษย์ได้อย่างไร?
จิตดวงหนึ่ง เวลามันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะมันก็ทำดี ทำชั่ว ดีก็เคยทำมา ชั่วก็เคยทำมา แต่คุณงามความดีมันให้เราได้เกิดในสถานะของมนุษย์ แต่กรรมที่มันทำไว้ เกิดในสถานะของมนุษย์ แต่มนุษย์ ดูสิมนุษย์คิดแตกต่างกัน มนุษย์บางคนคิดแต่เรื่องดีๆ นะ คิดเรื่องทำลายคนไม่เป็นเลย คิดไม่เป็น แล้วเวลาเขาไปเจอคนที่เขามาหลอกลวง คนที่เขาเจ้าเล่ห์เจ้ากล เขาจะคิดท้อใจเลยว่ามนุษย์คิดได้ขนาดนี้เชียวหรือ? ทำไมมนุษย์คิดได้ขนาดนี้? ทำไมมนุษย์ทำได้ขนาดนี้?
นี่เวลากิเลสเขาหนา เขาคิดได้อย่างนั้น แต่เวลากิเลสของเรา เราได้สร้างสมมาดี เราทำคุณงามความดี เราคิดแต่เรื่องดีๆ เราคิดเรื่องดี นี่มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม ถ้าเรื่องเวรเรื่องกรรมนะ กรรมคือการกระทำ เราทำของเรามา ถ้าเราทำของเรามา เห็นไหม เราทำของเรามา เรามีกิเลสอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาเรามีเจตนาดีนะเราต้องให้กำลังใจตัวเองไง
ถ้าเราให้กำลังใจตัวเอง กำลังใจของเรา เราเกิดเป็นมนุษย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ในฐานะที่เรากำเนิดเป็นมนุษย์ ทรัพย์ที่ว่ามันมีต้นทุน นี่ความเป็นมนุษย์ เห็นไหม เพราะเราเป็นมนุษย์ เรามีกายกับใจ เราทำหน้าที่การงานใดๆ ก็แล้วแต่ก็เป็นสมบัติของเรา เราหาสมบัติมาได้ขนาดไหนก็เป็นสิทธิของเรา เป็นสิทธิของเราทั้งหมดเลย เพราะอะไรล่ะ? เพราะความเป็นมนุษย์ไง
แต่ถ้ามนุษย์เวลาเราตายหรือเราพลัดพรากสิ่งนี้ไป นี่ของที่มีอยู่เป็นของใครล่ะ? ถ้ามีทายาทก็เป็นมรดกไป ถ้าไม่มีทายาทก็ตกเป็นของหลวง ตกเป็นของแผ่นดิน ถ้าตกเป็นของแผ่นดิน เห็นไหม นี่แผ่นดินมันมีชีวิตไหม? ทำไมสมบัติเราหามาขนาดนี้ เวลาเราเสียชีวิตไปทำไมตกเป็นของแผ่นดินล่ะ? ก็เป็นเรื่องของโลกไง เป็นเรื่องของโลก สมบัติที่เราหามานี่เป็นสมบัติของโลก
ฉะนั้น เราเกิดมาเป็นมนุษย์เราถึงหาทรัพย์สมบัติทางโลกก็ได้ เราจะหาทรัพย์สมบัติทางธรรมก็ได้ แล้วถ้าหาทรัพย์สมบัติทางธรรมก็ได้ ถ้าหาทรัพย์สมบัติทางธรรมเป็นเรื่องใหญ่มาก เรื่องใหญ่มากเพราะอะไร? เพราะในปัจจุบันนี้ คนเรานี่ ศาสนาในการประพฤติปฏิบัติ กรรมฐานกำลังเจริญรุ่งเรือง ใครๆ ก็อยากปฏิบัติ เพราะปฏิบัตินี่ในศาสนาพุทธ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด
สมาธิธรรม ปัญญาธรรม วิมุตติธรรม ถ้าเกิดสภาวธรรมนั้นขึ้นมา นี่เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด แล้วธรรมนี้เป็นอย่างไรล่ะ? ธรรมนี้เป็นนามธรรม นามธรรมเพราะจิตเป็นนามธรรม จิตเป็นความรู้สึกนึกคิด นี่เป็นนามธรรม เห็นไหม ถ้าคนที่ปฏิบัติไป สิ่งที่เป็นนามธรรมเป็นได้ถึงรูปธรรม เพราะ เพราะสติจักขุญาณมันเห็น จักขุญาณ ตาของใจมันรู้มันเห็นนะ มันเป็นวัตถุเลย มันเป็นวัตถุเพราะอะไร? เพราะคนที่ทำงาน แม้แต่เชื้อโรคเขายังใช้กล้องจุลทรรศน์ เขาขยาย เขารู้หมดเชื้อโรคเขาเป็นอย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน จักขุญาณมันเห็นนะ มันเห็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเห็นจิต ที่ว่าเห็นจิต ความรู้สึกนึกคิดมันเป็นรูปเป็นร่าง นี่ว่านามรูป รูปนามของเขานั่นแหละ นี่มันเป็นชื่อของเขา แต่เวลาคนปฏิบัติเขาจะเห็นของเขาอย่างใด เขาเห็นรูปอย่างไร นี่อารมณ์ความรู้สึกเป็นรูปอันหนึ่ง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่เขาคิชฌกูฏนะ หลานของพระสารีบุตร พระสารีบุตรบวชทั้งตระกูลเลย แล้วเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๘ องค์ ๙ องค์ เป็นพระอรหันต์ทั้งครอบครัวเลย
ฉะนั้น หลานของพระสารีบุตรจะมาต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเอาพระสารีบุตรมาบวชไง
เราไม่พอใจสิ่งต่างๆ ไม่พอใจทุกอย่างเลย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง
ความรู้สึกนึกคิดเป็นวัตถุอันหนึ่ง ผู้ที่จักขุญาณที่มองเห็นได้ แต่เรานี่ความรู้สึกนึกคิดเป็นวัตถุไหม? ความรู้สึกนึกคิดเป็นวัตถุไหม? มันก็เป็นนามธรรม เป็นนามธรรมเรารู้ได้อย่างไรล่ะ? เรารู้ได้อย่างไร? นี่ถ้าจิตเวลามันมีสติมีปัญญาของมันนะ มันรู้มันเห็นของมัน เห็นไหม ถ้ารู้เห็นขึ้นมานี่มันจับต้องสิ่งนั้น มันพิจารณาสิ่งนั้น ถ้าพิจารณาสิ่งนั้นขึ้นมามันจะมีคุณธรรมขึ้นมา
ถ้ามีคุณธรรมขึ้นมา นี่มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ? ก็เกิดขึ้นมาจากมีสติ เกิดขึ้นมาจากจิตสงบ ถ้าจิตสงบ นี่สิ่งที่ว่าเป็นนามธรรมๆ เวลาเราหาทรัพย์สมบัติทางโลกมันก็ต้องมีเชาวน์ มีปัญญา มันต้องมี เห็นไหม ในปัจจุบันนี้เขามีบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ เขาต้องวิเคราะห์วิจัยของเขาเพื่อทำธุรกิจของเขา เดี๋ยวนี้แข่งขันกันทางปัญญานะ แข่งขันทางข้อมูลข่าวสาร เขาต้องแข่งขันทางโลก ต้องกระชับมาก นี่พูดถึงทางโลกนะ แล้วปัจจุบันนี้การปฏิบัติจะรุ่งเรืองมากๆ แล้วรุ่งเรือง เห็นไหม รุ่งเรืองแล้วมันเป็นความจริง มันมีสาระคุณมากน้อยแค่ไหน? มันทำความเป็นจริงได้แค่ไหน?
ถ้าทำความเป็นจริง เห็นไหม สิ่งที่เป็นจริง เวลาเราเข้าไปมันต้องมีสติปัญญาจริงๆ ทีนี้ไม่มีสติปัญญาตามความเป็นจริงนะมันก็มีสติปัญญาตามโลก ตามโลกคือตามสมมุติ ตามโลกคือตามสมมุติ ตามความรู้สึกนึกคิดกันไป จินตนาการกันไป นี่จินตมยปัญญา ถ้าจินตมยปัญญามันก็จินตนาการกันไปนะ จินตนาการ เวลาจิตมันดีมันจินตนาการได้สวยงามมาก จินตนาการได้ว่างมาก จินตนาการด้วยความพอใจมาก แต่เวลามันเสื่อมนะหมดเลย แล้วเสื่อมไม่มีที่ไปเลย นี่พูดถึงจินตมยปัญญาใช่ไหม? แต่เรานี่เราจะภาวนามยปัญญา
ฉะนั้น เวลาภาวนามยปัญญาเราก็ต้องมีความเข้มแข็งของเราขึ้นมา ฉะนั้น เวลากิเลส กิเลสที่ว่ามันงัวเงียขึ้นมา เวลามันตื่นนอนขึ้นมามันก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน ทีนี้ความล้มลุกคลุกคลาน ถ้ามันทำนะเอาหัวชนฝา เวลาเอาหัวชนฝา เราคิดแต่เรื่องนั้น ทำแต่เรื่องนั้น ถ้าวิธีการมันเป็นอุบายนะ อุบายที่เราจะวาง ถ้ามันคิดสิ่งใด มันท้อแท้สิ่งใดนะเรากำหนดพุทโธของเราไปตลอด หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราไป
เราภาวานาของเราไป เราอย่าท้อแท้ ถ้าเราท้อแท้นะ พอแพ้หนหนึ่งมันจะแพ้บ่อยๆ แพ้มากๆ คราวนี้ก็ภาวนาแล้ว พอแบบว่าเราเลิกแล้ว เราไม่ภาวนา คราวหน้าจะมาเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนามันแหยงเลย มันทำไม่ได้เลย ฉะนั้น สิ่งที่เวลากิเลสมันตื่นนอนขึ้นมา มันหันรีหันขวาง มันฟาดงวงฟาดงาในหัวใจของเรา ถ้ามันฟาดงวงฟาดงาในหัวใจของเรานะ นี่ขันติธรรม มีความอดทน มีความวิริยะ มีความอุตสาหะแล้วย้อนกลับมา
ฉะนั้น เวลาเราทำงานทางโลกใช่ไหม เวลาภาวนารู้สึกเหนื่อยมาก รู้สึกท้อแท้มาก แล้วเรายังต้องมีหน้าที่การงานอีก เวลาอยู่ในสังคม หน้าที่การงาน สังคมเขาคิดอย่างไร เขาทำอย่างไร เพราะเขามองแปลกๆ นะ เวลาคนภาวนาเขาคาดหวังมาก เขาคาดหวังว่าถ้าใครเป็นชาวพุทธ และเป็นนักปฏิบัติจะต้องมีสติ มีปัญญา เขาก็คาดหวังว่าคนนี้ต้องทำดี แล้วถ้าคนที่พูดจาเสียงดังบอก อืม ทำไมปฏิบัติแล้วยังไม่มีสติล่ะ? เวลามีอารมณ์ขึ้นมา ทำไมปฏิบัติแล้วยังโกรธอยู่ล่ะ?
นี่เขาทิ่มทันทีเลยนะ แล้วเวลาปฏิบัติเขาไม่โกรธใช่ไหม? ทีนี้เวลาปฏิบัติทำไมโกรธอยู่ล่ะ? เวลาอยู่ในสังคม พอบอกเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นนักปฏิบัติเขาจะคอยจับผิดทันทีเลย แล้วคนที่ไม่ปฏิบัตินะเขาจะโกรธก็ได้ เขาจะทำอย่างไรก็ได้ เขาจะใช้เล่ห์กลของเขาก็ได้ เพราะว่าเขามีกิเลสนี่ คนมีกิเลสทำอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าคนปฏิบัตินะจะต้องอยู่ในกรอบหมดเลย เอาไม้บรรทัดผูกไว้กลางหลังเลยต้องตรงตลอด
มันก็ต้องตรงอย่างนั้นแหละถ้ามันตรงได้จริง นี่พูดว่าเราเอาไม้บรรทัดวัดเลยว่าคนๆ นี้เป็นคนดีหรือคนไม่ดี นี้เป็นสังคม เป็นโลกธรรม ๘ ที่เขาคอยมองเรา แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา เรารู้จิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเราถ้ามันจะเสื่อมถอย ถ้ามันจะเสื่อมถอยมันมีความหงุดหงิดของมัน นี่กิเลสมันตื่นตัวขึ้นมา กิเลสมันตื่นนอนขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เห็นไหม เราก็พยายามต่อสู้กับมัน ถ้ากิเลสมันหลับอยู่กลางหัวใจของเรา ปฏิบัติมันจะดีงามไปมาก เวลากิเลสมันตื่นนอนขึ้นมาเราก็ล้มลุกคลุกคลาน
อันนี้เป็นการปฏิบัติไหม? อันนี้เป็นสัญชาตญาณ เป็นธรรมชาติของมัน เป็นธรรมชาติของผู้ทำลาย กับเป็นธรรมชาติของผู้สร้าง ผู้สร้างคือสติ คือปัญญา ผู้สร้างกับผู้ทำลาย เวลาผู้สร้างนี่ผู้สร้างสร้างเกือบเป็นเกือบตาย เวลาผู้ทำลาย ดูสิสร้างบ้าน สร้างเรือนขึ้นมา ไม้ขีดก้านเดียวเท่านั้นแหละ เขาจุดไฟเผานี่ไฟเผาหมดเลย บ้านเรือนเราสร้างมาเกือบเป็นเกือบตาย ไม้ขีดก้านเดียวมันเผาหมดเลย ปฏิบัติมาเกือบเป็นเกือบตาย แล้วเวลาผู้ทำลาย กิเลสมันตื่นนอนขึ้นมา นี่มันทำลายเราหมดเลย ถ้าทำลายหมดเลยจะไม่โทษ ในการปฏิบัติเราต้องโทษกิเลส
ถ้าคำว่าโทษกิเลส โทษกิเลสหมายความว่าโทษความไม่รู้ในใจของเรามันทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน แต่เราก็มีสติ มีปัญญา เรามีความตั้งใจของเราแล้วนะ ถ้าเรามีความตั้งใจของเราเราควรภูมิใจ เราควรภูมิใจ เห็นไหม เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้นไม้มีเปลือก มีกระพี้ มีแก่น คนที่มีเปลือก สังคมที่เป็นเปลือกๆ เขาไปทำพิธีกรรมกัน
วัยรุ่นเขาจะทำบุญกันเฉพาะวันปีใหม่ วันปีใหม่ พอสงกรานต์เขาตักบาตรปีละวัน ๒ วัน นี่พวกเปลือก แล้วทางสังคมเขาจะทำบุญกันเขาก็ต้องเป็นประเพณีวัฒนธรรม ถึงวัฒนธรรม ถึงประเพณีเขาจะทำบุญกันทีหนึ่ง แล้วเวลาเราสนใจทางศาสนา เขาสนใจศาสนาในทางพิธีกรรม ถึงเวลาทำนะ นี่ทางรัฐบาลเขาก็ส่งเสริมนะ ส่งเสริมให้คนเข้าวัด ส่งเสริมให้คนไปทำบุญกุศลกัน ส่งเสริมให้คนมีศีลธรรม ให้คนมีจริยธรรม ถ้าคนมีศีลธรรม มีจริยธรรมแล้วการปกครองก็ง่ายขึ้น นี่เขายอมรับกฎหมาย กฎหมายความถูก ความผิดเขายอมรับของเขา แต่ถ้าเขาแอนตี้ เขาไม่ยอมรับ เขาก็ฉ้อฉล เขาก็ทำลาย เขาก็ทำให้สังคมนี้เดือดร้อน
นี่พูดถึงว่าเป็นชาวพุทธเปลือกๆ เวลาบอกว่าเป็นเปลือก เป็นกระพี้ กระพี้ก็ไปวัดแล้วอยากจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แต่ก็ไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา นี่เราอยากจะเป็นแก่น ถ้าเราอยากเป็นแก่น เราเป็นแก่น แก่นคืออะไรล่ะ? แก่นคือหัวใจ คนเรานี่ดีชั่วอยู่ในหัวใจ มันสุข มันทุกข์มันอยู่ที่ใจ ถ้ามันสุข มันทุกข์อยู่ที่ใจนะ เราหาสมบัติพัสถานมามหาศาลเลย ทุกคนก็แสวงหาด้วยตัณหาความทะยานอยากว่าสิ่งนั้นจะเป็นความสุข สิ่งนั้นเป็นความสุข แต่เวลาถึงเป็นจริงๆ แล้วมันก็ไปนั่งอยู่บนกองเงิน กองทอง มันก็ไปทุกข์อยู่บนนั้นแหละ
นี่เวลาคนมีทุกข์ในใจนะจะอยู่โคนไม้มันก็ทุกข์ ไปอยู่บนกองเงิน กองทองก็ทุกข์ ไปอยู่บนยอดตึกสูงๆ มันก็ทุกข์ ไปอยู่ใต้บาดาลมันก็ทุกข์ ถ้าคนมันทุกข์มันทุกข์ทุกที่แหละ แต่ถ้าคนมีความสุขนะ นี่อยู่บนกองเงิน กองทองมันก็สุข อยู่บนตึกสูงเท่าไหร่มันก็มีความสุข อยู่ที่ไหนมันก็มีความสุขทั้งนั้นแหละถ้าใจมันเป็นสุข แล้วความสุขมันหาได้ที่ไหนล่ะ? นี่ความสุขมันหาได้ที่ไหน? ความสุขมันหาได้ที่เรามีปัญญาไง
เราอยู่กับสังคม เราต้องยอมรับว่าสังคมเป็นแบบนั้น บางคนไม่มีความรู้สึกนึกคิดนะ นี่เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม? เราเป็นคนดีใช่ไหม? เราต้องอยู่ในสังคมที่ดีๆ ใช่ไหม? ก็จะเกณฑ์ให้คนอื่นดีไปหมดเลย แล้วเราจะมีความสุขไปด้วย มันก็เหมือนกับลงเล่นน้ำไง อยากให้น้ำใสสะอาดหมดเลย แต่เราไปโรงงานที่บ่อน้ำเสีย มันจะมีน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ไหม? มันก็มีแต่น้ำเสียเท่านั้นแหละ ในโรงงานที่เขามีน้ำจากอุตสาหกรรมที่เป็นน้ำเสีย เขามีบ่อกำจัดน้ำเสียของเขา แล้วเราไปสระ ไปทะเล ไปต่างๆ น้ำสะอาดบริสุทธิ์มันก็อีกเรื่องหนึ่ง
นี่ก็เหมือนกัน สังคมมันมีหลากหลาย ฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติเองเราก็เหนื่อย ท้อแท้มาก แล้วเวลาทำหน้าที่การงาน เห็นไหม นี่ในสังคมเขาก็คิดกันอย่างนั้น เขาก็มองเราอย่างนั้น ในสังคมก็คือสังคมไง ในสังคมนะ ผลของวัฏฏะ ถ้าเราเกิดมานะเกิดมาเจอสังคมที่ดี ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเจอสังคมที่ดี ดูทางตะวันตกนะ เวลาเขามาเที่ยวเมืองไทยเขาบอกว่าคนไทยเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เขาชอบอัธยาศัยของชาวพุทธมาก เพราะชาวพุทธมันมีความจริงใจ มันออกมาจากหัวใจ
นี่ยิ้ม แม้แต่ทุกข์มาก็ยังยิ้ม โดนโจรปล้นก็ยังยิ้ม มีอะไรมันก็ยิ้มทั้งนั้นแหละ มันยิ้มเพราะอะไร? เพราะมันปลงตกไง มันเป็นเรื่องเป็นเวรเป็นกรรม แต่ถ้าเราปลงไม่ตกมันเครียดมากนะ มันทุกข์มาก นี่มันเป็นอัธยาศัย มันออกมาจากหัวใจใช่ไหม? ฉะนั้น เราจะปรารถนาว่าให้สังคมเป็นอย่างที่เราพอใจ มันไม่ได้หรอก สังคมก็คือสังคม มันเป็นอย่างนั้นแหละ แต่เราต้องดูแลใจของเราไง ฉะนั้น เวลาเราอยู่กับสังคม หน้าที่การงานเราก็ทำความดีของเรา เพราะ เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าสังคมไม่มีหลักมันก็จะไหลกันไปหมดใช่ไหม?
สังคมของคนที่เห็นแก่ตัว ทั้งสังคมนี่เห็นแก่ตัว ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว สังคมนั้นเดือดร้อน แล้วสังคมนั้นก็ยิ่งเห็นแก่ตัวมากขึ้นไปมันก็ยิ่งจะเลวร้าย สังคมนั้นเห็นแก่ตัว เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นแก่ตัว เราไม่ต้องไปแบกรับเขาหรอก แต่เราก็ไม่ทำแบบเขา ถ้าเขาคิดได้ ทำไมคนหนึ่งเห็นแก่ตัว ทำไมอีกฝ่ายหนึ่งเขาไม่เห็นแก่ตัว ถ้าคนหนึ่งเรามีแต่ความโลภ ความมักมาก ทำไมเขาเสียสละได้ เราทำเฉพาะตัวเรา แต่ถ้าไม่มีจุดยืน พอเราทำแล้ว ๑.เหนื่อย ๒.สังคมเพ่งโทษ เราจะยืนจุดยืนของเราไม่ได้ นี่มันต้องมีกาลเทศะไง กาลเวลา ควรทำอย่างไร ไม่ควรทำอย่างไร แล้วมีจุดยืนของเรานะ
นี่พูดถึงปัญหาสังคม แต่ถ้าจิตใจเราท้อแท้ จิตใจเราเสื่อมนะมันเป็นเรื่องของผู้ทำลาย ในเมื่อใจของเรามีกิเลสมันเป็นธรรมชาติอย่างนี้ ถ้ามันเป็นธรรมชาติอย่างนี้ปั๊บ เหมือนกับว่าเราวิตกกังวลกับเรื่องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็จะไปยึดสิ่งนั้น แล้วแบกสิ่งนั้นไว้ในใจ มันก็เป็นเรื่องภาระ แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ เราภาวนาแล้วไม่ก้าวหน้า เราภาวนาแล้วมันรู้สึกเสื่อมถอย เราทิ้งมันเลย เราวางมันไว้ แล้วเราภาวนาของเราไป จะก้าวหน้า ไม่ก้าวหน้านี่เป็นสาระ เป็นข้อเท็จจริง
แต่ถ้าเราไปแบกกันไว้ เราไปแบกไว้ด้วย เราภาวนาด้วย เราอยากให้มีสาระคุณ เราอยากให้มีประโยชน์กับเราด้วย แล้วไปแบกสาระความเสื่อมถอยนั้นด้วย นี่แล้วก็ปฏิบัติไปมันก็ไม่ก้าวหน้า ของอย่างนี้มันแค่ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นนะ ถ้ามีสติปั๊บมันปล่อยวางแล้ววาง เฮ้อ ถ้ามันปล่อยวางไม่ได้ มันแบกไว้นะ แบกไว้แล้ว ของที่มันแบกไว้เล็กน้อย แต่จิตใจมันผูกมัด มันผูกมัดความโกรธ ความที่เสียใจ ของเสียใจ ความโกรธ ความเสียใจสิ่งที่ไม่ดีเลยมันควรสละทิ้งได้ ทำไมมันชอบคิด ชอบทำล่ะ? ทำไมมันคิดแต่เรื่องอย่างนั้นเราก็เจ็บปวด เราก็ชอบคิดอยู่อย่างนั้นแหละ
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ไม่เป็นสาระ สิ่งที่มันเป็นความเสื่อมเราก็ไม่ต้องการมันหรอก เราต้องการภาวนาดี แต่ทำไมจิตเราไปเกาะตรงนั้นล่ะ? สวะ ถ้ามันไหลไปตามน้ำ มันไปติดสิ่งใดนะมันติด มันไปไม่ได้ สวะ ถ้ามันไหลไปตามน้ำนะ มันไหลไปเรื่อยๆ มันจะไปของมันไป ติด ติดคือจิตใจมันไปติดว่าทำไมมันไม่ดี ทำไมมันเสื่อม ทำไมเราท้อแท้ นี่ไปติดอยู่นั่นล่ะ ก็ทิ้งมันไปสิ ทิ้งมันไป พอทิ้งมันไปแล้วนะ พอพุทโธมันจะเป็นอย่างไรก็ช่าง เป็นอย่างไรก็ช่าง เห็นไหม นี่มันไม่มีสมุทัย เป็นอย่างไรก็ช่าง ช่างมัน
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีนะ อดอาหารจนขนหลุดเลย เวลากั้นลมหายใจสลบถึง ๓ หน เพราะตอนนั้นยังทำไม่ถูก นี่ก็เหมือนกัน เราก็ยังทำไม่ถูก มันก็ล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ แล้วเราก็ไปแบกไว้ๆ แบกไว้มันก็ยิ่งเป็นภาระใหญ่เลย ทิ้งมันไปเลย แล้วไม่ทิ้งพุทโธ เห็นไหม นี่ที่หลวงปู่มั่นว่า ไม่ทิ้งผู้รู้ ไม่ทิ้งพุทโธ อย่างอื่น ความเป็นกังวลในใจ ความบีบคั้นในใจ สิ่งที่มันเป็นภาระนี่ทิ้งหมดเลย
สังคมก็คือสังคม เราก็เกิดมาอยู่ในสังคม เราเกิดมาในสังคม หน้าที่การงานของเรามันก็ต้องอาศัย เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ถ้าเป็นสัตว์สังคมแล้ว สังคมมันจะดีสูงส่งขนาดไหน มันจะบีบคั้นขนาดไหนเราก็อยู่กับมัน แล้วเรารักษาใจของเรา ถ้ารักษาใจของเราได้มันก็อยู่ในสังคมนั้นได้ แล้วเราทำของเราไป มันจะเหนื่อยล้าขนาดไหน มันก็เหนื่อยล้าทั้งนั้นแหละ คนทำงานทุกคนก็เหนื่อยล้าทุกคน ไม่มีใครทำงานแล้วมีความสะดวกสบายหรอก
นี่พูดถึงงานข้างนอกนะ แล้วถ้างานข้างในเป็นอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าภาวนายังไม่เป็น ภาวนาไม่เป็นมันก็ล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ แต่ถ้าภาวนาเป็นนะ รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันพิจารณาจนเห็นโทษของมัน มันทิ้งนะเวลามันขาด เวลาขาด รูป รส กลิ่น เสียงมันไม่ใช่บ่วงของมาร มันไม่ใช่พวงดอกไม้แห่งมาร จิตมันเป็นกัลยาณปุถุชน มันทำสมาธิได้ง่ายขึ้น ถ้าทำสมาธิได้ง่ายขึ้น รักษาใจตั้งมั่น รักษาใจตั้งมั่นย้อนกลับมาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมมันมีงานทำ
พอมีงานทำขึ้นไป เห็นไหม อวิชชาคือความไม่รู้ มีงานทำขึ้นมามันใช้ปัญญาพิจารณาของมัน พอพิจารณาของมันแล้วอะไรที่มันไม่รู้ล่ะ? มันก็รู้ตามความเป็นจริง ถ้ารู้ตามความเป็นจริงอันนั้นจะเริ่มเป็นประโยชน์แล้ว ถ้าภาวนาเป็นนะมันรู้จักปล่อย รู้จักวาง สิ่งใดนะมันปล่อยก็ต้องควรปล่อย สิ่งใดถ้ามันจะเป็นประโยชน์มันจะเหยียบคันเร่งเลย อันนี้เป็นประโยชน์ของเรานะ นี่พูดถึงถ้าจิตมันเสื่อม
แล้วสิ่งที่ว่าเราเดินจงกรมแล้ว นี่มันเป็นอุบาย เอารูปมาแขวนไว้ เราพยายามต่อสู้ไว้ เวลาพระโสณะเดินจงกรมนะ ฝ่าเท้าท่านนุ่มนวลมาก จนเลือดนี่แดงไปหมดเลย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตรวจ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจะตรวจวัด ท่านจะเดินสำรวจตลอด ไปเห็นทางจงกรมของพระโสณะ ถามว่า
ที่นี่เป็นที่เชือดโคของใคร? เพราะเลือดมันแดงเป็นเถือกไปหมดเลย
เป็นที่เดินจงกรมของพระโสณะ
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงให้พระโสณะใส่รองเท้าไง พระโสณะไม่ยอม ก่อนหน้านั้นเวลาท่านเดินจงกรมอยู่ เห็นไหม ไปไม่ได้ท่านก็ไปของท่าน นี่ท่านเดินจงกรมของท่าน ท่านพยายามทำของท่าน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตรวจวัดไปเห็นเข้า
นี่เวลาคนมันทุกข์มันทุกข์ได้ขนาดนั้นนะ แต่เวลาคนที่อย่างที่ว่าพาหิยะๆ ฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์ เขาทำของเขามา เขาสร้างของเขามา เอาสิ่งนี้เป็นคติธรรมนะ จิตใจมันก็มีกำลังใจขึ้นมาบ้าง ไม่ท้อแท้จนเกินไป สิ่งที่เราจะเสียใจขนาดไหน สิ่งที่เราทำแล้วเราก็ทำของเรา วางไว้เลย วางไว้เลยแล้วทำตามความเป็นจริง
นี่ย้อนกลับมาที่ว่า
ถาม : ตอนนี้ปัญญาที่ผมเคยใช้ในการดูอานาปานสติก็ค่อนข้างยาก เพราะบางทีเรามีสัญญาเหมือนที่หลวงพ่อบอก มันตามมาหลอกมาหลอน
ตอบ : สัญญานะ ถ้าเป็นสัญญาเราวางไว้สิ เราวางไว้ ถ้าเราคิดว่ามันเป็นสัญญาๆๆ เรานึกขึ้นมาก็เป็นสัญญานะ ถ้าเป็นสัญญาหรือไม่เป็นสัญญาเราก็ทำของเราไป นี่เป็นสัญญาเพราะว่าอะไร? เพราะว่าอานาปานสติ สติมันต้องพยายามตามรู้ลมหายใจ ถ้ามันใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ใช้ปัญญาไล่มันไป เป็นสัญญาก็ใช้สติไล่ต้อนมัน ไล่เข้าไปๆ เดี๋ยวมันก็ปล่อย ถ้าปล่อยแล้วมันก็ว่าง พอปล่อยแล้วมันก็เป็นความจริง
นี่หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ ท่านบอกว่า อย่าเสียดายอารมณ์ความรู้สึก
อารมณ์ความรู้สึก เราเคยคิดอย่างใด มันดูดดื่มอย่างไร เราคิดอยู่อย่างนั้นแหละมันก็ยิ่งดูดดื่ม เห็นไหม เราจะวางปั๊บมันก็ละล้าละลังไง วางมันจะผิดหรือจะถูก อย่าเสียดายอารมณ์ ทิ้งเลย อารมณ์ความรู้สึกทิ้งเลย แล้วกำหนดพุทโธของเราไป ปัญญาอบรมสมาธิของเราไปตามข้อเท็จจริง สาระ ให้มันมีสาระไม่ใช่เป็นพิธีกรรม ถ้าเป็นพิธีกรรมมันก็เป็นพิธีกรรม แล้วเราไปยึดไว้ก็เป็นพิธีกรรมอยู่อย่างนั้นแหละ ทิ้งไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสาระ พุทโธก็คือพุทโธจริงๆ ปัญญาอบรมสมาธิก็ปัญญาอบรมสมาธิจริงๆ มันเป็นความจริงขึ้นมา เดี๋ยวมันก็เข้าที่ ถ้าเข้าที่ขึ้นมามันก็ถูกต้อง ถ้าถูกต้องมันก็ใช้ได้แล้ว ถ้าใช้ได้มันก็เป็นความจริง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้ามันเป็นสัญญาวางไว้ นี่พูดถึงว่ากำลังใจไง นี่ผู้ปฏิบัติเวลามันเสื่อมนะ เวลากิเลสมันตื่นนอน เวลากิเลสถ้ามันหลับนะ กิเลสมันไม่รู้สึกตัว นี่พูดถึงว่าเราทำความสงบของใจกิเลสมันหลับ คือว่าอวิชชา ฐีติจิตมันเป็นอนุสัยนอนเนื่องในใจ เราไม่ทันนะ
มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดบนหัวใจของเราไม่ได้อีกเลย
นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร แต่นี้มันนอนอยู่ในหัวใจ นี่เราแค่ทำความสงบเข้ามา ทำความสงบเข้ามาเพื่ออะไร? ทำความสงบเข้ามาเพื่อค้นคว้าหามันไง ทำความสงบเข้ามา สงบแล้วออกหากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม สติปัฏฐาน ๔ ไง
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่เราจะหาของเรา ถ้าเราหาจริงมันก็เจอกิเลสจริงๆ ถ้าเราทำความสงบของใจขึ้นมา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา หรือเราใช้ตรึกต่างๆ มันเป็นโลกียปัญญาหมดแหละ แล้วมันไม่เห็นกิเลส นี่กิเลสนอนหลับ ถ้าพอทำความสงบเข้ามา เห็นไหม ถึงเวลาสงบแล้วเราต้องขุดคุ้ยหามัน ถ้าเราขุดคุ้ยหามันขึ้นมา นี่กิเลสเป็นนามธรรม เพราะอะไร? เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม กิเลสก็เป็นนามธรรม
มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า
แล้วดำริอยู่หรือเปล่าล่ะ? คิดอยู่หรือเปล่าล่ะ? ถ้าคิดมันคิดเพราะอะไร? เพราะมันมีสังโยชน์ไง เวลาจิตสงบแล้วก็จะไปค้นหามันอีก พอค้นหามันแล้ว พิจารณาของมันจนกว่ามันจะตทังคปหาน จะปล่อยวางบ่อยครั้งเข้าๆ จนถึงที่สุดมันสมุจเฉทปหานมันขาดขึ้นไป เห็นกิเลสขาดเลย เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาดเลย เวลาดั่งแขนขาดมันเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรม อฐานะที่จะเสื่อม อฐานะที่จะเปลี่ยนแปลง อฐานะที่จะกลับมาอีก อฐานะแล้ว แต่ตอนนี้เป็นฐานะเพราะมันยังอยู่กับเรา กิเลสมันอยู่กับเรา เป็นฐานะที่เป็นไปได้ ถ้าเป็นไปได้เราก็สู้ของเรานะ ถ้าสู้ได้เราก็ทำของเราได้
ฉะนั้น ถ้าทำได้นะ นี่ยังมีสติปัญญาอยู่ ถึงบอกว่า
ถาม : เวลาจิตจะดีหรือเสื่อมก็ไม่สนใจ นึกถึงคำที่หลวงปู่มั่นบอกหลวงตาว่า ให้อยู่กับผู้รู้
ตอบ : เราอยู่กับผู้รู้ของเรา ตั้งสติของเราไว้ ถ้ามีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะของเรานะ นี่คนจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียรของเรา ถ้าความเพียรของเราถูกต้องดีงาม สิ่งที่มันเสื่อมไปมันจะกลับมาเอง
หลวงปู่มั่นบอกหลวงตาไว้ เวลาจิตมันเสื่อมไง จิตนี้เหมือนเด็กๆ มันออกเที่ยวเล่นของมันไป อย่าตามมันไป เราพุทโธ พุทโธไว้
นี่เวลาเด็กมันออกไปเที่ยว เวลามันหิว มันไม่มีอาหารมันต้องกลับมาหาอาหารของมัน พุทโธ พุทโธคืออาหารของใจ กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ กำหนดพุทโธไว้ มันจะไปไหน มันจะเสื่อมไป มันจะเร่ร่อน มันจะไปเที่ยวไหนนะเรื่องของมัน ไม่ต้องไปตาม พอเด็กมันไปเที่ยวของมันนะเราก็จะไปตาม เวลาจิตมันเสื่อม จิตมันท้อแท้เราก็ตามความท้อแท้นั้นไปไง นี่หลวงปู่มั่นบอกว่าไม่ต้อง ไม่ต้อง
เด็ก เด็กมันไปเที่ยวเล่นของมัน คือเด็กมันเถลไถล เด็กมันไม่เชื่อผู้ใหญ่มันก็ไปตามอำนาจของความคิดมัน ฉะนั้น เราก็พุทโธ พุทโธของเราไว้ไง พุทโธนี่เป็นอาหารของใจ เด็ก ถ้ามันขาดอาหาร เดี๋ยวมันต้องกลับมากิน เด็กมันหิวขึ้นมามันจะคิดถึงอาหาร คิดถึงพ่อแม่มัน เด็กถ้ามันไปของมันได้ มันยังไม่หิวมันก็เร่ร่อนของมันไป เราพุทโธ พุทโธของเราไว้ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราไว้ พุทโธอยู่อย่างนั้นแหละ พุทโธอยู่อย่างนั้นแหละ นี่โลกนี้จะพลิกฟ้าคว่ำดิน โลกนี้จะแตกสลายช่างมัน พุทโธอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียว เดี๋ยวพอจิตมันกลับมานะ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นอย่างนี้เอง
นี่ถ้ามันเป็นความจริงก็เป็นความจริง เราปฏิบัติโดยมีสาระ มีข้อเท็จจริงขึ้นมามันจะเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าจิตใจมันอ่อนแอ มันท้อแท้ให้คิดแบบนี้ ให้คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องอะไรของเรา เรื่องของเราคือเรื่องจิต เรื่องความรู้สึกนึกคิดอันนี้ เวลามันท้อแท้เป็นเรื่องของกิเลส เวลามันลังเลสงสัย มันไม่เอาไหน เป็นเรื่องจิตของเราที่ความรู้สึกมันไปจอดที่สถานีผู้ทำลาย จอดในสถานีของความท้อแท้ เพราะจิตเรามันเสวยอารมณ์ ไปพักอยู่ตรงอารมณ์แบบนั้นมันก็มีแต่ความทุกข์ ความยากไง จิตเราไปพักอยู่ที่สถานีผู้ทำลาย
แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธของเรา เราพุทโธนี่อาหารที่มันขึ้นมา จิตนี้มันจะเคลื่อนย้าย ย้ายไปสู่สถานีผู้สร้าง ถ้ามันย้ายไปสู่สถานีผู้สร้าง เห็นไหม โอ้โฮ มีความสุข มีความสงบ มีความร่มเย็น นี่จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้มหัศจรรย์นัก เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ มันเป็นไปได้ทุกอย่างเลย แต่ถ้าเรามีสติปัญญาดูแลมันๆ ดูแลมัน ดูแลตัวเราเอง ทำตัวเราเอง แล้วให้เป็นประโยชน์กับตัวเราเอง นี่พูดถึงว่าถ้าปฏิบัติแล้วจิตมันเสื่อมไง นี้จิตมันเสื่อม ข้อ ๑๑๙๕ เนาะ
ถาม : ข้อ ๑๑๙๖ เรื่อง กราบขอบพระคุณพระอาจารย์
กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ที่กรุณาตอบคำถาม ที่ถามมาในหัวข้อเรื่อง ช้างเผือกกับคำทำนายของหลวงปู่มั่น กระผมได้ฟังเทศน์ของพระอาจารย์แล้วครับ ในเทศน์ที่ชื่อว่า จิตที่ดิบ สืบเนื่องจากสาเหตุที่กระผมได้ถามไปดังกล่าว เพราะว่ามีผู้นำไปโพสต์ตามอินเตอร์เน็ต ซึ่งกระผมพิจารณาแล้วเหมือนกับเป็นการตื่นกระแสภัยพิบัติของกลุ่มคน เมื่อนั้นจะมีการล้างบางคนไม่ดี จากนั้นจะเป็นการปรากฏตัวของพระธรรมิกราชเพื่อมาสืบต่อพระศาสนา จึงมีผู้นำไปโพสต์ตามบอร์ดต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตเยอะมากเกี่ยวกับช้างเผือกกับคำทำนายของหลวงปู่มั่น ดังนั้นเพื่อความชัดเจน เพื่อคลายความสงสัย กระผมจึงได้ถามมา และพระอาจารย์ได้เมตตาตอบมาแล้ว จับใจความได้ว่า
โลกเขาเป็นอย่างไรไม่สำคัญที่คุณธรรมในหัวใจเรา เพราะสิ่งนี้ประเสริฐที่สุด
กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ครับ และกระผมถือว่าเป็นการรบกวนพระอาจารย์ สิ่งใดที่พลาดพลั้งไปกระผมต้องกราบขออโหสิกรรมด้วยครับ สาธุ
ตอบ : อันนี้เรื่อง จิตที่ดิบ มันตอบไปแล้วเรื่องจิตที่ดิบ จิตที่ดิบหมายถึงว่าจิตดิบๆ จิตที่ให้พิษ ให้ภัยไง อย่างเช่นกลอยเวลามันดิบมันมีพิษ ใครกินเข้าไปเจ็บไข้ได้ป่วยเลย แต่ถ้าเอาไปแช่น้ำจนพวกพิษมันโดนทำลายไปแล้ว เห็นไหม มันจะเป็นกลอยที่ไม่มีพิษ แล้วพอเวลาไปต้ม ไปทำ กลอยนี่จะเป็นอาหาร เป็นอาหารอย่างหนึ่งถ้าไม่มีข้าว ถ้ามีข้าวเขากินข้าว ถ้าอยู่ในป่าเขาจะขุดกลอยมาแช่น้ำแล้วเอามากิน เราเคยอยู่ป่ามา เรากินมาเยอะมาก เพราะไปอยู่ป่าอยู่เขามันไม่มีหรอก แล้วชาวบ้านเขาเอาอย่างนี้มาทำ
จิตที่ดิบหมายถึงมันมีสารพิษในตัวของมัน ถ้ามีสารพิษในตัวของมัน จิตที่ดิบ จิตที่ทำก็ทำอย่างที่ว่า สิ่งที่ว่าเรื่องคำทำนายของหลวงปู่มั่นๆ ถ้าหลวงปู่มั่นพูดมันก็มีผู้ฟังมาเยอะ หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ ครูบาอาจารย์เราที่อยู่กับหลวงปู่มั่นมาท่านได้ฟังสิ่งนี้มาเป็นคติธรรม อย่างเช่นหลวงปู่ขาว เห็นไหม ท่านทำสิ่งใดที่ผิดพลาดขึ้นมา แม้แต่ในนิมิตนะ เวลาหลวงปู่ขาวท่านทำความสงบของใจ นี่หลวงปู่มั่นท่านจะคอยมาชี้แนะ มาคอยบอกตลอดเวลา หลวงตาท่านก็เคย เวลาไปอยู่กับหมู่คณะ หลวงปู่มั่นท่านคอยมาชี้แนะ สิ่งนั้นท่านไม่เอามาพูดข้างนอกหรอก
สิ่งที่เอามาพูดข้างนอกเพราะอะไร? เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว มันเป็นเรื่องส่วนบุคคลว่าระหว่างท่านกับจิตที่มันสงบแล้วไปรู้ไปเห็น สิ่งที่ว่าท่านสัมพันธ์กันได้ นี่เพราะอำนาจวาสนาบารมีมันถึงกัน มันเกี่ยวเนื่องกัน อย่างนี้มันเป็นเรื่องวงในของกรรมฐาน เรื่องวงในของหัวใจ เขาจะไม่เอามาพูด เอามาเพื่อประโยชน์ใช่ไหม?
คำว่าเพื่อประโยชน์ ถ้าเพื่อประโยชน์สังคมนะ ประโยชน์ตามความเป็นจริง อย่างเช่นเวลาเราเข้าไปทำข้อวัตร ครูบาอาจารย์ท่านจะพูดเรื่องนี้ให้ฟัง ท่านบอกว่าถ้าเวลาท่านสอน ท่านบอกถึงข้อวัตรปฏิบัติ ถึงวิธีการปฏิบัติ แล้วเราลังเลสงสัย ท่านบอกว่าท่านทำเอง แล้วท่านได้ประโยชน์ด้วย แล้วท่านมีครูบาอาจารย์คอยบอกมา มีที่มาที่ไปด้วย แต่เวลาเอามาโพสต์ เอามาเป็นหนังสือ เอามาเป็นการประชาสัมพันธ์มันไม่บริสุทธิ์
มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ เพราะ เพราะว่าถ้าเป็นประโยชน์นะ ประโยชน์เฉพาะบุคคลมันก็เป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้ามันเป็นการ เขาเรียกว่าการหาศรัทธา การหาความเชื่อของคนมันไม่เป็นประโยชน์ แล้วเวลาไปแล้ว เราทำอะไรก็แล้วแต่เหรียญมีสองด้าน คนจะมองในแง่ดีก็ได้ มองในแง่ลบก็ได้ ถ้าคนเขามองในแง่ดี เขาเอาความปรารถนาดีเป็นความดี มันก็ได้ แต่ถ้าคนเวลาเราทำความดีๆ นี่แหละ แล้วเขามองไปในแง่ลบล่ะ?
นี่พูดถึงเขามองด้วยความสะอาดบริสุทธิ์นะ แต่ถ้าเราเป็นพระ เราเป็นครูบาอาจารย์ เราจะเป็นหลักเราควรจะทำอย่างใด? อันนี้ต่างหากเราถึงบอกว่าเราไม่เห็นด้วยไง เราไม่เห็นด้วยว่าเอาเรื่องอย่างนี้มาแสวงหาศรัทธา มาทำให้คนเขาเชื่อ ถ้าคนเขาเชื่อนะ เวลาเขาเชื่อเราต้องเชื่อสาระความจริงต่างหากถึงจะดี ในการปฏิบัติถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธให้ได้ประโยชน์ขึ้นมา นี่เชื่อในข้อเท็จจริง ถ้าปฏิบัติจริง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น
ฉะนั้น ถ้าไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น แล้วให้เชื่ออะไรล่ะ? ถ้าให้เชื่ออะไร? ถ้ามีศรัทธา มีความเชื่อในครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์เราท่านทำขึ้นมาแล้วเป็นความจริงขึ้นมา เป็นความจริงขึ้นมามันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความจริงในหัวใจนั้น แล้วถ้าเป็นหัวใจนั้นนะ ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ท่านจะสอน ท่านจะบอกด้วยความถูกต้องทั้งนั้นแหละ สมมุติว่าใจดวงหนึ่ง ใจที่มืดบอด ใจที่ดิบ จิตที่ดิบๆ ใจที่มืดบอด เวลาลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติขึ้นมานะ จิตเป็นสมาธิมาถามเราจะตอบเขาไม่ได้เลย
เวลาจิตลูกศิษย์ปฏิบัติมาแล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมา ปฏิบัติไปแล้วมันเห็นของมันใช่ไหม แล้วมันต้องการให้คนชี้นำยังบอกไม่ได้เลย ไปไหนมา? สามวาสองศอก เขาถามอย่างหนึ่งตอบอย่างหนึ่ง อ้าว คนถามก็ถามด้วยความกังวลในใจนะ คนถามก็ถามด้วยสิ่งที่รู้ ที่เห็นมันทุกข์มากเลย นี่แล้วจะแก้อย่างไร? ถามสามวา บอกว่าสองศอก มันพูดไปอีกเรื่องหนึ่งเลย ในวงกรรมฐานเขาจับกันตรงนี้ เขารู้กันตรงนี้ รู้ว่าเวลาธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํมันถูกต้องจริงไหม?
ถ้ามันถูกต้องจริง อริยสัจมีหนึ่งเดียว ถ้าถูกก็คือถูก ถ้าผิดก็คือผิด แต่คนที่เขาถูกนะ เวลาลูกศิษย์ผิดบางทีมันต้องให้กำลังใจ กำลังใจเขาก็บอกว่าให้วางอันนี้ไว้ก่อนแล้วปฏิบัติอย่างนี้ๆ ไปนะ พอเขารู้จริงขึ้นมาเขาจะรู้เลย เพราะความจริงมีอันเดียว พอเขาเข้าไปสู่ความจริงปั๊บนะเขาจะรู้เลยว่าสิ่งที่ทำมานี่ผิด แล้วเขาก็วางเอง แต่ถ้าเขาปฏิบัติมาผิด พอบอกว่าผิดนะ เขาเกิดทิฐิ เขายึดความผิดของเขา พอยึดความผิดของเขามันเกิดมานะ เกิดมานะ แทนที่เขาจะปล่อยกิเลสนี้ เขายิ่งยึดเข้าไปใหญ่เลย ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ต้องมีเทคนิค มีอุบายไง
นี่ที่หลวงปู่มั่นท่านบอก แก้จิตแก้ยากมากนะ ให้พระปฏิบัติมา ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ผู้เฒ่าจะแก้
คนจะแก้ได้เขาต้องมีประสบการณ์ของเขา เขาจะรู้ว่ากิเลสมันหลอกอย่างไร นี่กิเลสเวลามันหลอกมันหลอกอย่างไร แล้วเวลาชำระกิเลสมันชำระกิเลสอย่างไร ถ้ามันชำระแล้วนะ นี่มันเป็นสมุจเฉทปหาน มันเป็นอกุปปธรรม มันเป็นอันเดียวกัน แต่วิธีการที่จะเข้ามานี่เข้ามาอย่างไร ต้องทำอย่างไร แต่นี่ไม่อย่างนั้น ไปพูดถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นทำนาย คำทำนายต่างๆ ทำนายมันก็เหมือนคำพยากรณ์ แต่มันเป็นความจริงขึ้นมาหรือเปล่าล่ะ?
ฉะนั้น เราถึงบอกว่าจิตที่ดิบ จิตที่ดิบมันมีกลิ่นเหม็นเขียว กลิ่นแปลกประหลาด แต่จิตที่สุกมันจะมีกลิ่นหอมหวาน กลิ่นของอาหารที่มันสุก กลิ่นของอาหารที่ไม่เป็นพิษ แต่จิตที่มันดิบมันจะมีกลิ่นเหม็นเขียว กลิ่นเหม็นดิบๆ ฉะนั้น กลิ่นเหม็นอย่างนั้น การกระทำมันจะฟ้องถึงกลิ่น การกระทำ ฉะนั้น สิ่งนี้ได้ตอบไปแล้ว จบไปแล้ว
ฉะนั้น บอกว่าโลกเขาจะเป็นอย่างใด นี่หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ สอนว่าถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราจะเป็นผู้ชี้นำ เราจะบอกเขาได้ นั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราบอกเขาไม่ได้ เห็นไหม มันเรื่องของโลก เรื่องของสังคม ต้องรักษาใจเรา รักษาใจของเรา ดูแลใจของเรา โลกเขาจะเป็นอย่างใด เขาสร้างคุณงามความดี เขาก็ได้ประโยชน์ของเขา เขาทำความผิดพลาดมันก็เป็นกรรมของเขา แต่เราล่ะ? ถ้าเราทำดีก็เป็นกรรมของเรา ถ้าเราทำความผิดมันก็เป็นความผิดของเรา
ฉะนั้น สิ่งที่เป็นเรื่องโลกเราต้องมีสติปัญญา กาลามสูตร ต้องพิสูจน์ ต้องตรวจสอบ อย่าเชื่อไง อย่าเชื่อ นี่มันถึงว่าให้ดูแลหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเราผิดถูก ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกเรารู้ของเราได้ ถ้าผิดอย่างไรก็คือผิด จะว่างขนาดไหนมันก็คือผิด มันว่างข้างนอก แต่ตัวมันไม่ว่าง มันว่างที่สัญญาอารมณ์ไง มันว่างสิ่งที่เรารู้สึกนึกคิดไง แต่ตัวจริงๆ มันไม่ว่าง แล้วทำให้ตัวจริงๆ มันว่างได้อย่างไร? ถ้าทำให้ตัวจริงมันว่าง ถ้าข้างนอกก็ว่าง แล้วถ้าข้างในมันว่างจริง เออ มันเป็นอย่างนี้เอง แต่ถ้าข้างในมันยังไม่ว่างนะมันรู้ไม่ได้หรอก ถ้ามันรู้ไม่ได้ สิ่งที่เขาทำนายต่างๆ มันเป็นเรื่องของโลก
ฉะนั้น ที่เราพูดนี่พูดเพราะคำว่าหลวงปู่มั่นนี่ไง ถ้าไม่พูดถึงหลวงปู่มั่น หรือเป็นหมู่คณะสงฆ์อื่นเราบอกว่าเรื่องของเขาเลยนะ เราไม่สนใจเลยล่ะ เพราะว่าโลกทัศน์ วิสัยทัศน์มันแตกต่างกัน มันไปกันไม่ได้หรอก แต่ถ้าเป็นอริยสัจมันมีหนึ่งเดียว จะโลกทัศน์ วิสัยทัศน์อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้ามันเป็นอันเดียวกัน มันเป็นอันเดียวกัน มันพูดกันรู้เรื่อง แต่ถ้ามันพูดกันไม่รู้เรื่องมันไม่เข้าอริยสัจหรอก มันอยู่นอกอริยสัจ มันอยู่ในอำนาจของกิเลส มันอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหาความทะยานอยากในกลุ่มชนของเขา
เขาจะอ้างว่าเป็นพุทธ อ้างว่าเป็นการปฏิบัติ เขาจะอ้างว่านี่เป็นอริยสัจ อริยสัจของกิเลส อริยสัจของเขา เราไม่เชื่อหรอก แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม เพราะหลวงปู่มั่นท่านสอนมาอย่างนี้ ท่านสอนมามีผลงานมาก เพราะหลวงปู่มั่น นี่กระดูกของท่านก็เป็นพระธาตุ แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่กงมา นี่ผลงาน ผลงานของหลวงปู่มั่นเยอะมาก
นี่มันยืนยันไง เพราะมีผลงานอย่างนั้นมันก็กลับไปยืนยัน ยืนยันคำสอนของท่าน ยืนยันการปฏิบัติของท่านว่าท่านปฏิบัติมาจริง ท่านถึงได้สอนคนอื่นทำได้จริง แล้วมันมีผลจริง ถ้าผลจริงมันก็เป็นความจริงขึ้นมา ฉะนั้น ถ้าเป็นสังคมอื่นเราไม่สนเลย ฉะนั้น เขาถามมาว่าเป็นคำทำนายของหลวงปู่มั่น เราถึงบอกว่าจิตที่ดิบมันมีกลิ่นเหม็น ถ้าจิตที่สุกเขาจะเก็บกันไว้ภายใน เวลาพูดถึงหลวงปู่มั่นเราพูดในการเชิดชู เราพูดถึงคำสอนของท่าน แต่เวลาความเชิดชูเพราะว่าเราซาบซึ้งคำสอนของท่าน แต่เราไม่เอาของท่านมาขายกิน เอวัง