ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้ไม่ทัน

๑o พ.ย. ๒๕๕๕

 

รู้ไม่ทัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ธัมมานุสติคืออะไรคะ?

ตอบ : ธัมมานุสติ เมื่อกี้เราพูดถึงธรรมารมณ์ไง ธรรมารมณ์คืออารมณ์ความรู้สึก ถ้าอารมณ์โลก เห็นไหม อารมณ์โลก อารมณ์ธรรม ถ้าอารมณ์โลก อารมณ์โลกก็อารมณ์โลกๆ โลกๆ คือตัณหาความทะยานอยากเรื่องปกติ แต่ถ้าธรรมารมณ์ ธรรมะ อารมณ์ความรู้สึกมันเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔

ฉะนั้น ถ้าธรรมารมณ์ ที่ว่าธัมมานุสติคืออะไรคะ? ธรรมารมณ์มันจะเป็นขึ้นมาได้ต่อเมื่อจิตมันสงบ จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันก็จะเป็นธรรมารมณ์ หมายความว่าเราพิจารณาอารมณ์ของเราได้ เราจับอารมณ์ของเรามาพิจารณาเป็นกิจจะลักษณะได้ แต่ถ้ามันเป็นอารมณ์โลก อารมณ์มันมีอำนาจเหนือเราไง เราเป็นทาสของอารมณ์ความรู้สึกเราไง โดยธรรมชาติของเรา นี่ทางโลกเขาศึกษากัน ศึกษาเพื่อให้มีสติ มีปัญญา

คำว่าสติปัญญา ปัญญาก็ครอบงำเรา มันครอบงำเรานะว่าเราทำอย่างนี้ถูกต้องดีงาม แล้วพอเราถูกต้องนี่ติดดี ติดชั่ว เวลาคนชั่ว พวกเสพยาบ้า พวกทำความผิดเราบอกคนนี้ผิด เถียงไม่ขึ้นหรอก ใช่ผิดชัดๆ แต่ถ้าเราเป็นคนดี เราเป็นคนดี เราเป็นคนขยันหมั่นเพียรเขาบอกว่าผิดนี่งงนะ ติดดีและชั่วไง ติดดีแก้ยากกว่าติดชั่ว ติดชั่วเราชี้ได้ใช่ไหมว่าคนนี้ผิด นี่ผิดก็ว่าผิด แต่ดีนี่ผิดตรงไหน? ดีมันผิดตรงไหน?

อ้าว ดีไม่ผิด ดีนี่เขาทำขยันหมั่นเพียรมากเลย เขาขยันหมั่นเพียร เขาทำธุรกิจทั้งชาติเลย แล้วก็ไปหาหมอไง ทำดีทั้งชีวิตเลย ผลสุดท้ายนอนอยู่โรงพยาบาลไง ทำดี นี่ดีไหม? ดี มันติดดีและชั่ว ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราติดของเรา อารมณ์ความรู้สึกนี่มันติด พอมันติดแล้วมันมีอำนาจเหนือเรา พอมีอำนาจเหนือเรา เราก็ทำตามนั้น แต่ถ้าคนเขามีสติปัญญา เห็นไหม มีสติปัญญา เวลาจิตสงบแล้ว ถ้าอารมณ์ความรู้สึกที่มันเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมันก็ทำให้เราเสียหาย ถ้าอารมณ์ที่ว่าดีๆ ดีมันก็ติดอยู่ในโลกนี้ไง

ฉะนั้น เราต้องวางให้ได้ก่อน ถ้าวางให้ได้มันก็ปล่อย ปล่อยทั้งดีและชั่ว ปล่อยทั้งดีและชั่วมันก็เป็นอิสระของมัน เป็นอิสระของมันแล้ว เวลามันไปเห็นของมัน เห็นไหม ธรรมารมณ์ ธรรมะ ธรรมเกิดแล้ว แล้วเกิดกับอารมณ์ของเราด้วย เกิดกับความรู้สึกเรานี่แหละ แต่มันมีธรรม มันมีธรรม มีสติปัญญา มันแยกแยะ มันพิจารณาของมัน ถ้าพิจารณาของมัน มันต้องภาวนาไปก่อนไง

เวลาพูดนี่พูด เวลาเรายังไม่เข้าใจ เราฟังแล้วมันเป็นคติได้ แต่ถ้ามันภาวนาไปแล้วนะ ภาวนาไปแล้วเราเป็นจริงขึ้นมา นี่เมื่อวานก็พูดใช่ไหม บอกว่าหลวงตาเวลาท่านเทศน์ หลวงปู่ลีท่านนั่งอยู่ด้วย เราก็นั่งอยู่นั่น เวลาหลวงตาท่านเทศน์นะ เพราะหลวงตาพวกเราเชื่อกันว่าเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่ลีพวกเราก็เชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ พอหลวงตาท่านเทศน์จบนะ ลีเนาะ ลีเนาะ ท่านพูดกับหลวงปู่ลีนะ เนาะ เนาะ คือพระอรหันต์กับพระอรหันต์รู้กัน

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมารมณ์ๆ ธัมมานุสติ ธรรมารมณ์ ถ้าพูดถึงคนเป็นกับคนเป็นนะพูดแล้วมันเข้าใจกันไง เหมือนเรานี่เราเข้าใจ พระอรหันต์พูด แล้วพระอรหันต์ก็เข้าใจ ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านเทศน์ เห็นไหม พระอรหันต์พูด แต่พวกเราปุถุชนฟังนะ เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะอยู่นั่นแหละ มันไม่รู้แจ้ง แต่พระอรหันต์กับพระอรหันต์รู้กัน

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านเทศน์ ตอนนั้นเทศน์บนศาลา แล้วเข้มข้นมาก เวลาเทศน์จบ นี่เรานั่งฟังอยู่นั่นด้วย ลีเนาะ ลีเนาะ คือว่าเป็นอย่างนั้นเนาะ นี่พระอรหันต์ ฉะนั้น พอพระอรหันต์กับพระอรหันต์ เวลาพูดมันจะเข้าใจกันได้หมดเลย ทีนี้ถามว่าธัมมานุสติคืออะไรคะ? เพียงแต่ว่าเป็นคำถามมา เราจะอธิบายให้ฟังเฉยๆ

ธัมมานุสติ นี่กาย เวทนา จิต ธรรมมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ จะเป็นตามความเป็นจริงต่อเมื่อจิตของคนๆ นั้นสงบ จิตของคนๆ นั้นสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงคือเห็นธรรม เป็นวิปัสสนาปัญญา เป็นวิปัสสนา เห็นไหม ถ้าเป็นวิปัสสนาเพราะอะไร? เพราะจิตเป็นผู้วิปัสสนา เป็นผู้แยกแยะ ค้นคว้าเพื่อให้จิตนั้นฉลาดขึ้นมา มันจะได้ทิ้งความลุ่มหลงของมัน แต่ถ้าจิตมันเป็นปุถุชน จิตนี่มันเศร้าหมองไปด้วยอวิชชา ด้วยตัณหาความทะยานอยาก แต่ก็ไปตีความว่ากายก็คือร่างกายนี้ ร่างกายนี้ยักษ์มันเอาไปกินนะ ยักษ์มันกินมนุษย์ ร่างกายนี้คือเนื้อหนังมังสา ถ้าเป็นสัตว์ เนื้อหนังมังสาเป็นอาหาร

กาย เวทนา เวทนาก็ความรู้สึก เจ็บช้ำน้ำใจก็เป็นเวทนา จิต จิตก็เศร้าหมองผ่องใส เราจินตนาการได้ อย่างนี้เขาเรียกว่าจินตมยปัญญา เป็นจินตนาการ มันแก้กิเลสไม่ได้หรอก มันแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าจิตสงบแล้วนะมันไม่ใช่จินตนาการ มันเป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์เลย เวลาเห็นกาย จิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นโดยจิต เห็นโดยตาของใจ พอตาของใจมันเห็น เห็นไหม เราเคยฝันไหม? นี่เราฝัน เรารู้ เราเห็นอย่างนั้น ถ้าจิตมันรู้ มันเห็น นี่เห็นอย่างนั้น

ฉะนั้น เห็นอย่างนั้นมันเห็นแบบนิมิต ถ้านิมิตเห็นกาย เห็นกายมันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจเพราะอะไร? เพราะมันเห็นตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงหมายความว่ามันไม่ให้ค่าไง เราเห็นใช่ไหม อันนี้สวย อันนี้ไม่สวย อันนี้พอใจ อันนี้ไม่พอใจ เราให้ค่า เราพอใจและไม่พอใจ ถ้าพอใจมันก็ว่าดี ไม่พอใจมันก็ผลักไส นี่มันเห็นโดยสมุทัย เห็นโดยตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าเห็นตามความเป็นจริงนะมันเห็นค่าตามนั้น ตามนั้นว่าเนื้อหนังมังสา ถ้ามันปล่อยไว้โดยที่ไม่มีไฟ ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าไม่มีไฟอบอุ่นไว้มันจะเน่า มันจะเสียของมันไป เดี๋ยวมันจะผุพังของมันไป

นี่พูดถึงทางวิทยาศาสตร์นะ แต่เวลาจิตถ้ามันเห็นกายนะ เห็นกายปั๊บถ้ากำลังมันพอมันรำพึงให้เป็นไตรลักษณ์ มันจะสลายต่อหน้าให้เราเห็นเลย มันจะแปรสภาพให้เราเห็นเลย มันจะเน่าผุพองให้เราเห็นชัดๆ อย่างนี้เลย สะอึกเลยนะ นี่ความจริงมันเป็นแบบนั้น แต่ความลุ่มหลงในใจเรา เราพอใจตามความพอใจของเรา นี่สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเป็นระบบ เขาทำเป็นระบบใช่ไหม พิจารณากาย เห็นกายเป็นจินตนาการ จินตนาการแล้วมันเข้าใจได้ไหม? ก็เข้าใจ เข้าใจแล้วอย่างไร? ก็สบายๆ ไง

คือความรู้โลกๆ เป็นมิติของโลก แต่ถ้าเป็นมิติของธรรมนะ เวลาแค่เห็นเท่านั้นแหละ เห็นนะ เราไปเห็น ดูสิอย่างเช่นเรานี่เราไปเห็นแร่ธาตุต่างๆ ที่มีค่า เราก็อยากได้ แต่ถ้าเราไปเห็นสิ่งที่เป็นพิษเราก็ผลักไส นั่นมันเห็นตามความเป็นจริงของมัน ถ้าตามความเป็นจริง นี่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง

ถาม : ธัมมานุสติคืออะไรคะ?

ตอบ : มันเป็นวิปัสสนาไง มันมีสมถะกับวิปัสสนา สมถะคือทำใจให้สงบ แต่ถ้าวิปัสสนามันเป็นการชำระล้าง เป็นมรรคญาณเลยล่ะ นี่ภาวนาเป็นหรือไม่เป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าภาวนาเป็นมันจะรู้ มันจะเห็นของมัน แล้วค่ามันแตกต่างกันระหว่างสมถะกับวิปัสสนา แต่ แต่มันอาศัยเกื้อกัน มันอาศัยกัน เพราะว่าในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเป็นแล้วท่านพูดอย่างนั้นนะ ในสมถะก็มีวิปัสสนา หมายความว่าเราจะทำสมถะ ถ้าเราไม่มีปัญญา สมถะนี่ก็ทำไม่ค่อยราบรื่นหรอก แต่ถ้ามีปัญญาด้วย สมถะจะก้าวชัดเจนขึ้น ในวิปัสสนาก็ต้องมีสมถะ ในวิปัสสนาถ้าไม่มีความสงบ ไม่มีกำลัง มันเป็นวิปัสสนาไปไม่ได้หรอก

ฉะนั้น เวลาถ้าภาวนาเป็นแล้ว ระหว่างสมถะกับวิปัสสนามันจะเกื้อหนุนกัน มันจะไปด้วยกัน เกื้อหนุนกัน แล้วมันจะประสบความสำเร็จเหมือนกัน แต่ถ้าแยกเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เห็นไหม มันทำไม่ได้ ทีนี้ถ้ามันเกื้อหนุนกันทำไมเราต้องทำความสงบก่อนล่ะ? ทำไมต้องสมถะก่อนล่ะ? เราทำสมถะเพื่อความมั่นคง เพื่อทำแล้วมันจะได้ตามความเป็นจริง ไม่อย่างนั้นมันจะไม่เป็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่า “ธัมมานุสติเป็นแบบใด?”

ธัมมานุสติคือสติปัฏฐาน ๔ แล้วถ้ามันเป็นตามความเป็นจริงขึ้นมานะมันจะเป็นแบบนั้น เป็นตามความเป็นจริงเราต้องฝึกหัดให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้าไม่เป็นความจริง อธิบายนี่ อธิบายให้เข้าใจก็พอเข้าใจได้ แต่เวลาทำขึ้นมาจะเป็นจริงไหม?

ถาม : ๒. ทำไมยิ่งภาวนาไปจึงรู้สึกว่ายากขึ้น

ตอบ : เมื่อก่อนเวลาภาวนาขึ้นมามันไม่ยาก ไม่ยากเพราะว่าเรายังไม่มีสิ่งใด ไม่มีสิ่งใดเป็นสัญญา เป็นเครื่องเทียบเคียง เราก็ทำของเราไปประสาเรา ถ้าทำแบบว่าไม่มีเป้าหมาย ทำแบบไม่มีเป้าหมาย ไม่มีสัญญา ไม่มีสิ่งหลอกลวงว่าอย่างนั้นเลย แต่เวลาเราภาวนาไปทำไมมันยิ่งยากขึ้นๆ ล่ะ? ยากขึ้นนะ โดยธรรมชาติของคน แม้แต่ศรัทธาความเชื่อ ถ้าเราเชื่อ เวลาเราเชื่อนะ แล้วกิเลสเราก็มีอยู่แล้วใช่ไหม? กิเลสคือความลังเลสงสัย อวิชชาคือความไม่รู้ในใจคือกิเลส

ฉะนั้น พอกิเลส พอทำไป มันทำไปแล้วมันจะจริงหรือไม่จริง เพราะกิเลสมันสงสัยอยู่แล้ว มันไม่เข้าใจ แล้วสังคม สังคมก็บอกเลย นี่นรก สวรรค์เขียนเสือให้วัวกลัว บาป บุญมันจะมีจริงหรือเปล่า? นี่เราก็จะเอนเอียงไปแล้ว เอนเอียงไปในอะไร? เอนเอียงไปในทางฝ่ายต่ำ แล้วถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติของเราล่ะ? เราพยายามจะทำตัวเราให้ดีขึ้นมา เห็นไหม เวลาขึ้นที่สูง เราจะดันน้ำขึ้นที่สูงแสนยาก แต่น้ำมันจะไหลลงต่ำอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพอน้ำไหลลงต่ำตลอดเวลา เรามีกิเลสอยู่แล้ว ถ้ากิเลส เห็นไหม กิเลสในหัวใจของเรา ถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อ นี่มันมีอำนาจวาสนา พอมีศรัทธา มีความเชื่อมันมั่นคง มั่นคงนี่กิเลสมันอายมันก็หลบไป พอหลบไป เราทำสิ่งใดมันก็พอทำได้ แต่พอมันทำได้กิเลสมันเสียเปรียบ พอกิเลสมันเสียเปรียบ มันจะหาเหตุหาผลของมันนะ นี่มันจะยากลำบากขึ้นไปเรื่อยๆ กิเลสมันจะต่อต้าน นั่งภาวนาก็ไม่ได้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ต้องทำงาน นั่งภาวนาไปมากๆ ทำภาวนาอยู่เดี๋ยวร่างกายมันก็เจ็บไข้ได้ป่วย มันมีข้อโต้แย้งไปหมด

แต่ถ้าเรามีศรัทธา เรามีความเชื่อของเรา ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ถึงที่สุดแล้วมันชราภาพทั้งนั้นแหละ ถ้ามันชราภาพทั้งนั้น เราทำไมไม่เอาจิตใจของเรา และร่างกายของเรามาสร้างคุณประโยชน์กับตัวเราเอง ไม่ได้สร้างประโยชน์เพื่อใครนะ แม้แต่ทำบุญกุศลก็ทำเพื่อเรา เราทำบุญกุศล เราเสียสละไปนี่เพื่อเรา เพื่อเราเพื่ออะไร? เพื่อจิตใจของเรา จิตใจเราเป็นผู้เสียสละออกไป

วัตถุเป็นแค่เครื่องแสดงออกของใจเท่านั้นเอง ถ้าใจมันอยากเสียสละ มันจะเสียสละเป็นนามธรรมเสียสละอย่างไร? แต่ถ้ามันเสียสละเป็นวัตถุมันฝึกหัดเสียสละไป พอฝึกหัดเสียสละไปแล้ว เวลาเราเสียสละจนมันมีความชำนาญขึ้นมา เห็นไหม เราเสียสละเป็น พอเสียสละเป็น ความตระหนี่ถี่เหนียวมันก็อ่อนลง นี้เราจะเสียสละในหัวใจเราแล้ว นี่ที่ว่ายาก ว่าง่าย ไอ้ที่ว่ายากมันก็กิเลสอย่างหยาบๆ ถ้ากิเลสอย่างหยาบๆ เราจะเสียสละมันอย่างไร?

ถ้าเสียสละเราหาเหตุผลของมันสิ หาเหตุผลว่านี่ภาวนาไปแล้วทำไมมันยากขึ้นล่ะ? มันยากขึ้นเพราะอะไร? เพราะถ้าเรามีศรัทธา มีความเชื่อ ดูสิในกีฬาทุกชนิดสิ่งที่เขาขาดไม่ได้คือหัวใจ ถ้าเขามีกำลังใจนะ เขาทำทุกอย่างได้หมดเลย นักกีฬาทุกชนิดเลย แพ้-ชนะกันที่ใจ ถ้าใจอ่อนแอ ใจเสาะ ขึ้นไปแข่ง ส่วนใหญ่มันไม่สู้ มันไม่สู้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีศรัทธา หัวใจมันเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว สิ่งที่มันจะมาขัดขวาง มันขวางเราไม่ได้เลยถ้ากำลังใจเราเข้มแข็ง ถ้าเข้มแข็งมันเป็นไปได้ พอมันเป็นไปได้ ภาวนาไปกิเลสมันก็ไม่เข้ามาแย่งชิง ถ้ากิเลสไม่มาแย่งชิง ยิ่งภาวนาไปรู้สึกว่ามันยากขึ้นๆ นี่ถ้าคิดอย่างนี้นะมันขาอ่อนแล้วล่ะ พอขาอ่อนกิเลสมันก็ขี่คอเลยล่ะ เพราะความขยันหมั่นเพียรหรือความเกียจคร้าน มันมาจากใจเราทั้งนั้นแหละ มันมาจากความคิดของเรา ถ้าเป็นความคิดของเรานะ ถ้าเรามีเจตนา เรามีเป้าหมายว่าเราจะปฏิบัติ เราจะพ้นทุกข์นี่เราทำได้

ถ้าทำได้นะ ยาก-ง่ายถ้าเรานักปฏิบัติแล้ว ยาก-ง่ายมันก็เหมือนเราทำของเรามาเอง ในเมื่อจริตนิสัยเราทำของเรามาเอง ขิปปาภิญญาผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย แต่ของเรานี่ไนยสัตว์ ไนยสัตว์มันยังมีโอกาสอยู่ มีโอกาสอยู่เราก็พยายามทำของเรา ถ้าทำของเรามันเป็นประโยชน์กับเรา เราทำของเราได้ งานอย่างอื่นเรายังทำได้ เวลาให้นับสตางค์นะ ใครนับเท่าไรได้ของคนๆ นั้น มันนับใหญ่เลยจะเอาสตางค์ให้มากที่สุด เวลาภาวนาใครทำได้มากเท่าไรก็เป็นของคนๆ นั้น แต่เวลาทำมากแล้วทำไมมันไม่เป็นไปล่ะ? เรานับสตางค์มาแล้ว เรานับมาแล้วมันเป็นของเราหรือเปล่า? มันเป็นของเราหรือเปล่า?

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ นับ ๑ ๒ ๓ ๔ ไป พุทโธ พุทโธ พุทโธมันเป็นของเราหรือเปล่า? แต่ถ้ามันเป็นของเรานะ พุทโธ พุทโธเราเข้าใจได้ นี้พุทโธ พุทโธมันยังเป็นพุทธานุสติ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนถ้าพุทโธเป็นเรานะ เป็นของเราแล้วนะ นี่เราวางเลย จิตมันสงบระงับเข้ามามันนึกพุทโธไม่ได้ ตัวมันเองเป็นเอง เป็นพุทธะเสียเอง ถ้าตัวเองเป็นพุทธะเสียเอง เห็นไหม ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมันจะรู้ของมันเอง ถ้ารู้ของมันเองมันจะเป็นของมันได้ ถ้าทำได้ตั้งใจทำ จะยาก จะง่ายมันเป็นที่วาสนาของเรา เราทำมาอย่างนี้ ถ้าบอกว่ามันยากขึ้นมา ยากแล้วทำอย่างไรล่ะ? ยากก็ไม่ทำเลย ไม่ทำเลยก็ไม่ได้อะไรเลย

ไม่ได้อะไรเลยนะ เราเกิดมาชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นมนุษย์แสนยาก ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าการเกิดเป็นมนุษย์เหมือนเต่าตาบอดอยู่กลางทะเล มันจะโผล่ขึ้นมาบนน้ำตลอด แล้วถ้ามันโผล่เข้าไปบ่วงนั้นถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ นี่การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ความเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์มีค่ามากเลย นี่เราทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ มนุษย์มีอิสรภาพ ทำอะไรก็ได้ แล้วเรามานั่งทรมานตนทำไม? เรามาทรมานตนทำไม?

ทรมานตนเพื่อฝึกหัดจิตไง ถ้าไม่ทรมานตน อยู่ตามสะดวกสบายมันก็เท่านั้นแหละ มันมีเท่านี้จริงๆ นะ โลกมีเท่านี้ โลกมีเท่านี้ แล้วเราก็มาอยู่ให้มันหมดอายุขัยไปเท่านั้นเอง แต่ถ้าโลกมีเท่านี้ใช่ไหม? อาชีพการงานเราก็ทำแล้ว แล้วถ้าปฏิบัติของเรา เราก็จะปฏิบัติของเรา จะฝึกใจดวงนี้ให้ใจมันรู้ขึ้นมา ถ้าใจรู้ขึ้นมา นี่ไอ้ที่ว่ายากๆ นะมันสู้หัวใจที่เข้มแข็งไม่ได้หรอก ถ้าหัวใจที่เข้มแข็งมันก็จะสะดวกสบายขึ้นมา มันพอเป็นไปได้

คำถามต่อไปเนาะ

ถาม : ตอนมาวัดหลวงพ่อ ช่วงแรกๆ ฟังเทศน์หลวงพ่อทีไร แทบทุกกัณฑ์ฟังแล้วต้องน้ำตาไหลแทบทุกครั้ง มันซาบซึ้งและสะเทือนใจมาก แต่ตอนนี้ใจผมมันชินชาหน้าด้านหรือเปล่าครับ เพราะฟังแล้วมันก็เฉยๆ

ตอบ : ฟังแล้วมันก็เฉยๆ เลย มันไม่สะเทือนใจเลย ตีเหล็กเขาตีตอนร้อนๆ ตีเหล็กต้องตีตอนมันแดงๆ พอเผาออกมานะ พอเหล็กมันแดงๆ ตีขึ้นรูปได้เลย เหล็กนี่ออกจากเตาแล้วนะ ปล่อยให้อุณหภูมิมันอ่อนลง มันเบาลง มันเย็นลงแล้วค่อยมาตี นี่ถ้าเราฟังตอนนั้นมันก็เป็นแบบนั้น เป็นอย่างนั้นแหละ

เวลาเราอยู่กับหลวงตา เมื่อก่อนนะเวลาออกมาวิเวก ออกมาเที่ยว นี่ออกมาเลย แล้วเวลาจิตใจมันแย่มากอย่างนี้เราก็กลับไปหาหลวงตา ในหมู่พระเราบอกว่าไปชาร์ตไฟ พอเข้าไปหาหลวงตาหลวงตาก็ใส่เอา พอใส่เอาก็เอาเหล็กไปเผาไปไง พอเอาเหล็กไปเผาไฟ พอมันแดงๆ ออกมาก็ตีได้อีกไง เพราะเหล็กมันแบบว่าเราไม่ได้เผาให้มันแดง ถ้าเผาให้มันแดงนะตีเหล็กตอนนั้น

ฉะนั้น เวลาฟังเทศน์แล้ว แทบทุกกัณฑ์เลยฟังแล้วดีมาก ซึ้งใจมาก ถ้าซึ้งใจมากนี่จิตใจดี ถ้าจิตใจดีมันยอมรับธรรม ถ้าจิตใจไม่ดีมันปิดกั้นนะ เสียงเหมือนกัน แต่ถ้าใจมันดีมันฟังแล้วมันเป็นประโยชน์ ถ้าใจมันไม่ดีมันฟังแล้วมันต่อต้าน มันต่อต้านนะ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์นะ จริงหรือ? จริงหรือ? นี่มันจะเป็นจริงได้อย่างไร? มันไม่เป็นจริง โธ่ หลวงปู่มั่นท่านทำขนาดนี้นะ ท่านทำของท่านมาเต็มที่ขนาดนี้ แล้วคิดดูสิถ้าเราศึกษาของเรา เราศึกษาแล้วเราเอามาเป็นคติ เอามาเป็นคติว่า

นี่เราเองเราซึ้งใจเราเอง หลวงปู่มั่นท่านไม่มีอาจารย์ ท่านอยากประพฤติปฏิบัติของท่านมาก แล้วท่านสร้างบารมีมามาก เวลาปฏิบัตินะ เพราะว่าเวลาครูบาอาจารย์ท่านเล่ากันมา ว่าเวลาหลวงปู่มั่นนะท่านออกไปในพม่า เข้าไปในลาว เข้าไปในเขมร เข้าไปในเวียดนาม หมุนหาอาจารย์นะท่านเดินรอบเลย ในเมืองไทยก็ค้นคว้าอยู่ หาคนสอน ไม่มีใครสอน แล้วไม่มีใครสอนนะ อ้าว โยมปฏิบัติไปสิ จิตโยมเป็นอย่างหนึ่ง แล้วโยมไปถามอาจารย์นะ อาจารย์ก็ตอบไป นี่ไปไหนมา? สามวา สองศอก โยมจะเชื่อไหม?

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติของเรา จิตเราเป็นแบบนี้ เราทุกข์ยากของเราอย่างนี้ แล้วเราไปถามท่าน ท่านตอบมา ตอบไปอีกเรื่องหนึ่ง แล้วเราจะทำอย่างไร? คนภาวนาเราก็มีความรู้ของเราใช่ไหม? เราปฏิบัติไปเราก็มีประสบการณ์ของเราใช่ไหม? พอเราไปถามท่าน ท่านตอบไปอีกคนละเรื่องเลย แต่ถ้าท่านตอบมาเพี๊ยะ ตรงหมดเลยนะ โอ๊ะ โอ๊ะ นี้กรรมฐานเวลาเขาถามปัญหาเขาตอบคำเดียวเท่านั้นแหละ

ฉะนั้น ท่านแสวงหามามาก พอแสวงหามามาก มันหาแล้วมันไม่มีความจริง ไม่มีความจริงหมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าเราก็ไปถามท่าน นี่ท่านก็ตอบมามันไม่ใช่ พอไม่ใช่เราก็ต้องแสวงหา อย่างนี้มันเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ๖ ปี ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ขนาดอุทกดาบส อาฬารดาบส เห็นไหม ที่ว่าได้สมาบัติ ๘

นี่เจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เสมอเรา มีเหมือนเรา ให้เป็นศาสดาได้ เจ้าชายสิทธัตถะไม่เอานะ ไม่เอาเพราะอะไร? เพราะใจเรายังทุกข์อยู่ แม้แต่อาจารย์ยกย่องนะบอกว่านี่เป็นคนสอนได้แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะยังไม่ยอมรับเลย ยังหนีเลย หนีแล้วมาประพฤติปฏิบัติของท่านเอง ถ้าประพฤติปฏิบัติของท่านเองมันก็เป็นความจริงของมันขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน พูดถึงว่าถ้าจิตใจมันดีมันเป็นอย่างนั้นแหละ อันนี้เราจะเอาคำถามมาเป็นคำตอบ คำตอบว่าถ้าใจมันมีศรัทธา มีความเชื่อมันดี ฟังแล้วมันสะเทือนใจมากเลย แล้วตอนนี้มันฟังบ่อยครั้งเข้าๆ บ่อยครั้งเข้าแสดงว่าเราเทศน์แย่ลงทุกวันเลย เมื่อก่อนเทศน์มีเหตุผลมาก เดี๋ยวนี้เทศน์เลื่อนลอย ไม่มีเหตุผลเลย เห็นไหม ถ้าจะโทษก็โทษนะ นี่เทศน์ไม่ดีเลย เดี๋ยวนี้เทศน์ไม่เอาไหนเลย เมื่อก่อนเทศน์ดี๊ดี เดี๋ยวนี้เทศน์ไม่ดี แต่ไม่ดูว่าเมื่อก่อนใจเรามันเปิดกว้าง ตอนนี้มันปิด

นี่กิเลสมันเป็นแบบนี้ กิเลสมันเป็นแบบนี้ปั๊บ ถ้าเราย้อนกลับมาดูที่ใจเรา เราก็จะแก้ไขได้ที่นี่ ถ้าเราไม่ดูที่ใจเรา เห็นไหม นี่ยาบริษัทนี้ เมื่อก่อนเคยทำคุณภาพขนาดนี้ เดี๋ยวนี้เขาทำก็มีคุณภาพเหมือนเดิม แต่ทำไมรักษาโรคไม่หายล่ะ? นี่เพราะอะไร? เพราะโรคมันดื้อยา มันดื้อยาขึ้นไปเรื่อยๆ จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจถ้ามันมีปัญหาของมันนะมันจะดื้อของมัน นี่เวลากิเลสมันพลิกกลับมันจะมีปัญหาของมันแบบนี้ ถ้ามีปัญหาแบบนี้นะ เราจะย้อนกลับมาที่นี่

ถาม : ตอนนี้จิตใจผมมันชินชา หน้าด้านหรือเปล่าครับ

ตอบ : มันชินชาใช่ไหม? วิธีแก้นะ วิธีแก้เวลาที่กิเลสมันด้าน กิเลสมันอย่างนี้ เขาแก้ด้วยการผ่อนอาหาร คือถ้าเรากินอาหารนะ นี่เรากินอาหารแล้วร่างกายเราได้สารอาหาร จิตใจของเรามันก็ได้กำลังด้วย แต่ถ้าเราผ่อนอาหารนะ ร่างกายเรามันจะแบบว่าขาดสารอาหาร พอขาดสารอาหารปั๊บจิตใจมันก็ขาดกำลังไปด้วย

ฉะนั้น ถ้ามันดื้อด้านเราก็ต้องผ่อนอาหาร อดนอนผ่อนอาหารมันเป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะมาต่อสู้กับความชินชา หน้าด้านของกิเลสนี่แหละ แต่ทีนี้พอเราจะอดอาหาร บอกว่าไม่ได้ เราหิว ถ้าเราหิวกิเลสมันก็ขี่คอ หิวไหม? หิว แต่ไม่ตายหรอก หิวนะเราก็มีน้ำปานะ มีอะไรประคองเราไป แล้วเราพยายามผ่อนมัน คือเราก็ไปตัดกำลังของมัน พอตัดกำลังของมันนะ พอจิตใจมันดีขึ้นไง พอตัดกำลังปั๊บ กำลังมันไม่มากปั๊บ พอกิเลสมันสงบตัวลงนะฟังแล้วน้ำตาไหลอีกแหละ พอมันพลิกกลับมาก็เป็นอย่างนี้ เห็นไหม ดีกับชั่วมันของคู่กัน มันเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย

จิตนี้มหัศจรรย์นัก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เพราะจิตนี้มันโดนครอบงำด้วยพญามาร ฉะนั้น พอพญามารขึ้นมามันก็เป็นแบบนี้ นี่ยังดี ยังดีที่ได้มีสติไง ยังคิดว่าเพราะจิตใจผมมันชินชา ถ้ามันไม่ชินชา แหม เมื่อก่อนเทศน์ดีมากเลย เดี๋ยวนี้หลวงพ่อคุณภาพ อย. เขาบอกว่าหมดอายุแล้ว ห้าม ใช้ไม่ได้ ใครเทศน์ก็แล้วแต่นะเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องคิดของเราอย่างนั้น ถ้าคิดอย่างนั้นมันจะเป็นแบบนั้น อันนี้ข้อนี้นะ

ถาม : เวลานั่งสมาธิรู้สึกอึดอัดจนอยู่ในสมาธิไม่ไหว มีวิธีแก้อย่างไรคะ?

ตอบ : เวลาเรานั่งสมาธินะ ถ้าเรานั่งสมาธิ สมาธิเราทำด้วยวิธีใด? สมาธิถ้าเราทำด้วยคำบริกรรม เราอยู่ที่คำบริกรรมตลอดไป สมมุติว่าเราพุทโธก็พุทโธ พุทโธ มันจะอึดอัดอย่างไรช่างมัน เรามาอยู่ที่พุทโธ

ทีนี้พอเข้าสมาธิแล้วมันอึดอัด นี่มันจะเป็นแผ่นเสียงตกร่องไง เพราะเราเคยทำสมาธิได้ใช่ไหม? สมาธิมันดีใช่ไหม? พอสมาธิมันดีกิเลสมันก็พลิกเลย พลิกมา เห็นไหม อึดอัดขัดข้อง เดือดร้อนไปหมดเลย พอเดือดร้อนปั๊บจิตมันก็ซับเลย พอซับปั๊บมันก็มีร่องในใจแล้ว พอเดี๋ยวปฏิบัติมาถึงนี่ปั๊บนะมันก็อึดอัด มันเอาความอึดอัดนี้มาเป็นข้อต่อรอง แล้วเราก็เชื่อมันไง พอเดี๋ยวก็จะไปอึดอัดแล้ว เหมือนปลามันไปติดตะขัด ไปติดแหที่เขาล่อเอาไว้

นี่ก็เหมือนกัน พอไปจะไปตรงนี้ ตรงนี้มันติด ทีนี้ถ้าพอมันจะอึดอัดนะเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือใช้คำบริกรรมก็แล้วแต่อยู่ตรงนั้น “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” สมาธิมันเกิดจากการกระทำ สมาธิมันเกิดจากสติ สมาธินี่มันเกิดจากสติ เกิดจากคำบริกรรม เกิดจากปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมมันถึงเกิดสมาธิ ถ้ามีสมาธิได้ สมาธิมันไม่ลอยมาจากฟ้าหรอก สมาธิโดยปกติของเราเขาเรียกว่าสมาธิของปุถุชน

พวกเราจะมีสมาธิอยู่นะ สมาธิสั้น สมาธิยาว เด็กสมาธิสั้นจะควบคุมตัวเองไม่ได้ เด็กสมาธิยาว เด็กสมาธิที่ดี เด็กคนนั้นจะควบคุมอารมณ์ได้ดี แล้วถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ จิตมันลงไปนี่มันจะเป็นสมถกรรมฐาน มันจะลงไปสู่สมถกรรมฐาน ถ้าสมถกรรมฐาน ถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมามันจะยกขึ้นเป็นโสดาปัตติมรรค มันจะเกิดเป็นมรรคไง โสดาปัตติมรรคก็เป็นโสดาปัตติผล ถ้าโสดาปัตติมรรคมันจะเข้าไปสู่อีกมิติของธรรมแล้ว

มันเป็นบุคคล ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล มรรค ๔ ผล ๔ ไง ถ้าไปสู่มรรคมันจะไปสู่อริยทรัพย์ ไปสู่อริยภูมิ มันไม่ใช่ภูมิของมนุษย์แล้วนะ ปกติเราเป็นภูมิของมนุษย์ แต่พอจิตเราสงบแล้วมันก็เป็นภูมิของมนุษย์อยู่ ภูมิของมนุษย์คือว่าฤๅษีชีไพรเขาก็ทำความสงบของใจเหมือนกัน แต่ฤๅษีชีไพรเขาไม่มีสติปัญญายกสิ่งที่เป็นปุถุชน เป็นสมาธิของมนุษย์ขึ้นสู่อริยทรัพย์ ขึ้นสู่อริยมรรค ขึ้นสู่อริยผล

ฉะนั้น เวลาเราทำสมาธิ ถ้าสมาธิ สมาธิโดยปุถุชนมีอยู่แล้ว แต่เราทำสมาธิขึ้นมาเพื่อจะยกสู่ ยกสู่อริยมรรค ยกสู่อริยภูมิ ถ้ายกสู่อริยภูมิ พออริยภูมิกิเลสมันรู้ทันมันหลอก มันล่อ ล่อให้เราติด ล่อให้ติดนะ อึดอัดขัดข้อง บางคนนั่งสมาธิปั๊บ พอถึงจุดหนึ่งปั๊บเหงื่อจะแตกพลั่กเลย บางคนนั่งสมาธิแล้วก็เอียงตัว อันนี้มันเป็นอาการทั้งนั้น มันเป็นอาการ นี่อาการจากภายนอก อาการจากภายใน

เวลาคนทำสมาธินะ คนทำสมาธิ ถ้าจิตมันจะเป็นสมาธิ พุทโธ พุทโธตลอดแล้วจิตมันวูบลง อู้ฮู มันวูบไกลมากเลย แต่ความจริงไม่ใช่ ก็อยู่นี่แหละไม่ไปไหนหรอก มันก็เป็นความรู้สึกนี่แหละ แต่มันวูบไม่จบ บางทีมันวูบ มันวูบที่นี่ มันจะไปโผล่ที่อเมริกามันยังไม่โผล่สักที ก็วูบ.. อาการมันทำให้เราออก ให้เราไปรับรู้อย่างนั้น พอรับรู้เราก็เสียว เราก็เสียว เราก็ตกใจ พอตกใจขึ้นมามันก็ออกมาเป็นปุถุชนนี่ไง ออกมาเป็นปกติ

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ คือมาร คือกิเลสมันพยายามจะสร้างเล่ห์กลหลอกให้จิตไปติด เราพูดถึงสวะ สวะนี่นะถ้ามันไหลไปตามน้ำมันจะออกสู่ทะเล ถ้ามันไปติดที่ไหนมันจะติดที่นั่น จิต ถ้าภาวนาไปมันก็เกิดเป็นสมาธิ มันก็เกิดวิปัสสนา มันก็เกิดโสดาปัตติมรรค เดี๋ยวมันก็สิ้นเป็นพระอรหันต์ แต่นี้พอพิจารณาปั๊บกิเลสมันก็สร้างเล่ห์กลมา นี่ติดแล้ว พอจิตเป็นสมาธิแล้วมันก็เกิดความอึดอัด พอเกิดความอึดอัดก็ไปแก้ที่ความอึดอัด ว่าทำไมถึงอึดอัด ยิ่งแก้ที่อึดอัด มันก็เลยยิ่งอึดอัดเข้าไปใหญ่เลย เพราะอะไร? เพราะความอึดอัดนั้นเป็นวิบาก เป็นผล

ความอึดอัดนั้นเป็นผลนะ เป็นผลเกิดจากกิเลสมันสร้างเล่ห์กลขึ้นมาให้เราเป็นแบบนั้น แล้วเราก็จะไปแก้กันที่อึดอัดนั่นล่ะ จะไปแก้กันที่อึดอัดน่ะ แล้วอึดอัดมันแก้อย่างไรล่ะ? แต่ถ้าเราทิ้งเลย ทิ้งเลย อึดอัดไม่เกี่ยว อึดอัดไม่รับรู้ กลับมาที่เหตุ ทำเหตุไว้ เราสร้างแต่เหตุไว้ผลมันต้องมาเอง ถ้าเราสร้างเหตุไว้ นี่กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ปัญญาอบรมสมาธิ กลับมาที่การใช้ปัญญา ความอึดอัดมันก็อยู่อย่างนั้นแหละ มันก็ยังอึดอัดต่อรองอยู่อย่างนั้นแหละ มันจะมีการต่อรองจิตเราให้เราสนใจมัน แต่ถ้าเราไม่สนใจมันนะเดี๋ยวมันก็หายไปเอง เพราะอะไร? เพราะมันเป็นเล่ห์กลไง เราจะบอกว่ามันไม่มีอยู่จริงไง

มันไม่มีอยู่จริงหรอก ความอึดอัดไม่มีอยู่จริง แต่จิตใจไปหลงกลมันก็อึดอัดไง ความอึดอัดนี่กิเลสเอามาหลอก ถ้ามันเป็นความจริงนะมันจะอยู่อย่างนั้น เราจะแก้ความอึดอัดไม่ได้ แต่ถ้าเรากลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าพออึดอัดหายไปแล้วมันก็หายไปใช่ไหม? ถ้ามันหายไปมันมีอยู่จริงหรือเปล่า? ถ้ามันมีอยู่จริงมันหายได้ไหม? มันหายไม่ได้ แต่นี้มันหายได้เพราะอะไร? เพราะมันไม่มีอยู่จริงไง มันไม่มีอยู่จริงแต่กิเลสมันสร้างภาพขึ้นมาไง

อึดอัด อู้ฮู เวลาโกรธนี่โกรธมีอยู่จริงไหม? โกรธมีอยู่จริงหรือเปล่า? อ้าว ตอนนี้มันมีอยู่ก็จริง แต่ตอนมันหายไปแล้วไม่จริง เพราะโกรธมันเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หายโกรธ พอมันหายโกรธไปแล้วมันอยู่ไหนล่ะ? พระพุทธเจ้าถึงบอกไง รูปอันวิจิตร รูป รส กลิ่น เสียง อันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากมันเป็นกิเลส เสียงอันวิจิตร รูปอันวิจิตร สิ่งที่เป็นวิจิตรมันไม่ใช่กิเลส มันเป็นธาตุต่างๆ แต่คนที่ลุ่มหลงมันต่างหาก จิตใจที่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอันนั้นต่างหากเป็นกิเลส

ฉะนั้น มันเป็นกิเลส

ถาม : เวลานั่งสมาธิก็อึดอัดจนอยู่ในสมาธิไม่ไหว วิธีแก้ทำอย่างไรคะ?

ตอบ : ถ้าอยู่ในสมาธิ นี่มันเป็นสมาธิได้อย่างไร? คือเราไปจับที่เหตุนั้น เราเข้าสมาธิอย่างไร นี่พุทโธ พุทโธ พุทโธอยู่อย่างนั้นปั๊บ มันก็จะอยู่ของมันอยู่อย่างนั้นแหละ พุทโธ พุทโธละเอียดเข้าไปแล้ว ถ้ามันอึดอัดขัดข้องมันก็มีปัญหา มันจะมีปัญหาของคน แต่ละคนปัญหามันคนละอย่าง มันจะไม่เหมือนกัน ปัญหามันจะแตกต่างกันไป วิบากกรรมของคนไม่เหมือนกัน วิบากกรรมของคนนะมันเกิดขึ้น แล้วใครเป็นอย่างไรเราแก้ไปตามนั้น นี่พูดถึงแก้แบบภาวนา แบบวิปัสสนา ถ้าแก้ตามตำรามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถาม : เวลาปฏิบัติแล้วง่วงนอน วิธีแก้อย่างไรเจ้าคะ? มีคนบอกว่าสวดมนต์แล้วจะรวย จริงหรือคะ?

ตอบ : (หัวเราะ) วิธีแก้ง่วงนอนก่อนนะ วิธีแก้ง่วงนอน ถ้าง่วงนอน เราเคยมีนะคนที่นอนประจำ ยิ่งนอนยิ่งง่วงนะ คนพอง่วงนอนแล้วก็นอนซ้ำนอนซาก ยิ่งนอนมากจิตมันยิ่งเคยตัว ถ้าง่วงนอนนะ ไม่นอนนี่แก้ง่วงนอนได้ ง่วงนอนแล้วไม่นอน แล้วไม่นอนเป็นอย่างไร? เพราะอะไร? เพราะว่าพระนี่ถือเนสัชชิกไม่นอนทั้งคืนๆ ไม่นอนหลายๆ เดือน โอ๋ย ทรมานมากนะ ใหม่ๆ ทรมานมากเพราะมันง่วงมาก

ง่วงนอนนี่นะมันทรมานยิ่งกว่าหิวข้าวอีก หิวข้าวไม่ทรมานเหมือนง่วงนอน ง่วงนอนนี่ทรมานมาก แต่ถ้าคนฝึกหัดนะ เนสัชชิกนี่ไม่นอนเลย พอไม่นอน ไม่นอนถึงจุดหนึ่งนะไม่ง่วงนอนเลย ความง่วงนอนหายไปได้ แต่ถ้าง่วงนอนนะมันเหมือนกับ เช่นเราอยากอะไรก็แล้วแต่ เราพยายามแก้อยากด้วยความปรนเปรอมันนะไม่มีจบหรอก ถ้าแก้อยากด้วยการต่อสู้ ด้วยการไม่สนใจมัน เดี๋ยวมันไม่สนใจเอง

ฉะนั้น วิธีแก้ง่วงนอนก็อดนอน อดนอน พออดนอนแล้วมันจะง่วงไหม? ง่วงเราก็ใช้สติปัญญาของเราไง ใช้สติปัญญาของเราทนเอา พอทนเอา พอมันฝึกจนเป็นนิสัยแล้วนะไม่นอน ถ้านอนก็นอนเป็นระยะ นอนเพื่อเราต้องการพักผ่อน แล้วเราฝึก เราลุกขึ้น ลุกนอนเป็นเวลานะมันจะเป็นเวลาของมัน

ฉะนั้น เวลาภาวนา อยู่กันทั้งคืนๆ นี่ทำอย่างไร? เนสัชชิกนี่นั่งกันทั้งคืนเลย นั่งกันทั้งคืน เห็นไหม เพราะเราอยากได้อริยทรัพย์ ทรัพย์ที่โลกเขาหามา เขาหามาด้วยปัญญาของเขา แต่ทรัพย์ของเรา เราต้องฝึกจิตใจของเรา จากปุถุชนสู่อริยภูมิ ถ้าสู่อริยภูมิ สู่อริยภูมิเลยนะ แล้วภูมิของอริยะมันเป็นแบบใด? แล้วถ้ามันเป็นของมันจริงขึ้นมานะเราจะเห็นเลย เราเห็นเลย ในปัจจุบันนี้เราเห็นสัตว์ไหม? เราคุยกันรู้เรื่อง สัตว์มันก็ส่งภาษาของมัน แต่เราเข้าใจมันไหม? แต่สถานะของเรากับสัตว์แตกต่างกันไหม?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราเป็นปุถุชนเหมือนสัตว์ สัตว์ประเสริฐ แต่เวลาเราสู่อริยภูมินี่เรามองเลย เรามองลงไปเลย อื้อฮือ มันเห็นชัดเจนมาก ฉะนั้น เวลาที่ว่าจิตใจเราพัฒนาแล้วมันจะมองเห็นอย่างนั้นได้ แต่ถ้าจิตใจไม่พัฒนามันก็เป็นอย่างนี้แหละ ฟังแล้วมันตลกนะ เหมือนกำปั้นทุบดินเนาะ ง่วงนอนก็แก้ด้วยการไม่นอน

เออ ไม่นอน ไม่นอนเราก็ทนเอาเฉยๆ แต่ถ้าเนสัชชิก เราไม่นอนแต่เราภาวนาของเรา พอจิตมันสว่างโพลงของมันนะ อืม ไม่นอน ไม่นอนจนถ้าภาวนาไปนะอย่างที่หลวงตาบอก ต้องบังคับให้นอนนะ ต้องบังคับให้นอน มันตื่นตัวตลอดเวลา ตานี่สว่างโพลงหมดเลยล่ะ อ้าว เหมือนไฟไหม้ บ้านเราไฟไหม้เราจะไปนอนหลับไหม? ไม่หลับหรอก มันตื่น ใจมันตื่น โอ้โฮ แล้วไปนอนหลับไหม?

นี่เวลาหลวงตาท่านบอกว่าต้องบังคับให้นอน เวลาถึงขณะเวลาจิตเป็นอย่างนั้นแล้วนะต้องบังคับให้มันนอน ให้มันพักนะ ถ้าไม่พักมันจะตาย มันตื่นโพลงอยู่ แล้วทำงานทั้งวันทั้งคืน มันตื่นตัวตลอดเวลา คนที่ตื่นตัวตลอดเวลา ไอ้อย่างนั้นทุกข์ไหม? ไอ้ตอนนี้เวลาง่วงนอนก็ทุกข์ เวลาไปตื่นโพลงอยู่อย่างนั้นนะ ตื่นโพลงอย่างนั้นเลยนะ เวลาภาวนาไปปัญญามันหมุนแล้วเป็นอย่างนั้น เวลาปัญญามันหมุนแล้ว หมุนติ้วๆ นอนไม่ได้เลย บังคับอย่างไรก็นอนไม่ได้ มันสว่างอยู่ข้างใน

ฉะนั้น ถึงเวลามันจะหาย นี่พูดถึงเวลาแก้ง่วงนอน ทำไปแล้วมันเป็นวาระ จิตที่เป็นวาระถึงระดับนั้นๆ มันจะมีผลอย่างนั้น แต่ตอนนี้มันเริ่มต้นก็เหมือนเรา เหมือนเด็กๆ เด็กๆ มันร้องงอแงประสามัน นี่ก็เหมือนกัน จิตของเราก็ยังอ่อนๆ อยู่ใช่ไหม? จิตของเราเพิ่งฝึกหัด ก็เหมือนเด็กๆ มันเรียกร้องมันน่ะ เอาแต่ใจ พอเอาแต่ใจเราก็มีสติปัญญาดูแลมัน มีสติปัญญาดูแลใจเราเอง สอนเด็กเขาก็สอนด้วยเหตุผล สอนใจก็สอนด้วยปัญญา สอนคือหาเหตุผลสู้กันไง ถามทำไมเป็นแบบนี้? เป็นแบบนี้ดีหรือไม่ดี? ถ้าไม่ดีเราก็ค่อยแก้ไขไป

ถ้าดี สัตว์จำศีลมันนอนทีละ ๖ เดือนเลยล่ะ เวลาหน้าหาอาหารมันหาอาหารเต็มที่เลย เวลามันจำศีลมันไม่นอน มันไม่ตื่นเลยนะ ถ้าดีเป็นอย่างนั้นหรือ? เวลาสัตว์จำศีล เห็นไหม มันอยู่ทีหนึ่ง ๕-๖ เดือนนะตามฤดูกาลเลย เวลามันพ้นฤดูแล้วมันค่อยออกมา เราจะเป็นแบบนั้นหรือ? เราไม่เป็นแบบนั้น เราเป็นมนุษย์ ถ้าหาเหตุผลอย่างนี้ปั๊บมันก็คิดได้ใช่ไหม?

ถาม : มีคนบอกว่าสวดมนต์แล้วรวยจริงหรือคะ?

ตอบ : สวดมนต์นี่นะ การสวดมนต์มันเป็นการเจริญพุทธคุณ สวดมนต์นี่สรรเสริญๆ เพราะเราสวด สวดมนต์ก็คือสวดคำสอนของพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกเอามาตัดเป็นบทสวดมนต์ ถ้าสวดมนต์คือระลึกถึงพระพุทธเจ้า ถ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้า นี่เวลาพุทโธ พุทโธมันก็เหมือนสวดมนต์

ถาม : แล้วเราจะรวยจริงหรือคะ?

ตอบ : ไอ้รวยหรือไม่รวยมันอยู่ที่ทำงาน ถ้าเรามีสติปัญญาทำงานนี่รวย ถ้าสวดมนต์ สวดมนต์เขาคิดกันไปนะ กรณีอย่างนี้มันเป็นความเชื่ออันหนึ่ง ถ้าความเชื่ออย่างนี้ ถ้าพูดไปแล้วมันก็จะเหมือนกับตอนที่ว่ากองทัพธรรมเนาะ กองทัพธรรมที่หลวงปู่มั่นมา ไม่ให้เชื่อเรื่องอย่างนี้ไง ถ้าเราให้เชื่อ เห็นไหม เชื่อรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้ต่างหากรวย ถ้าทำดี ทำดี ทำถูกต้อง ทำดีงาม อันนี้รวย แต่ถ้าทำดี ทำถูกต้องแล้วมันยังไม่รวย มันติดขัดอะไร

ถ้าติดขัดอะไร เห็นไหม นี่มนุษย์มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทุกคนมีเวรมีกรรมมาทั้งนั้น ถ้ามีเวรมีกรรมมา นี่ก็คือเวรกรรมของเรา ถ้าเราทำคุณงามความดีเพื่อจะตัดรอน การแก้กรรม การตัดกรรมที่ดีที่สุดคือพุทโธ พุทโธเพราะอะไร? เพราะจิตเวลามันสงบแล้ว พอพิจารณาไปแล้ว เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เห็นไหม นี่มันตัดกรรมเลย ตัดกรรมเพราะอะไร? เพราะว่าธรรมดาจิตนี่วัฏฏะวนมันไม่มีที่สิ้นสุด มันต้องเวียนตายเวียนเกิดตลอดเวลา เป็นโสดาบันอีก ๗ ชาติ แล้วเป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี จบเลยไม่เกิดในกามภพแล้ว ถ้าสิ้นไปก็จบแล้ว

นี่แก้กรรม แก้กรรม เห็นไหม ดูสิเวลาพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย แต่อดีตชาตินานมาแล้วได้เคยฆ่าแม่ไว้ แล้วตกนรกอเวจีใช้เวร ใช้กรรมหมดแล้วล่ะ แล้วสร้างบุญญาธิการมาจนมาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะ เวลาประพฤติปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์แล้ว เวลากรรมตามมา เศษกรรมตามมา ในเจ้าลัทธิต่างๆ เขาจ้างคนมาทุบ มาฆ่าจนตาย

นี่เวลามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรม ถ้าเรามีกรรมขึ้นมา เราอยากจะประสบความสำเร็จของเรา เราก็ทำคุณงามความดีของเรา เพราะ เพราะกรรมเก่าก็เรื่องของกรรมเก่า แต่ปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนเรื่องสัจจะ เรื่องทรัพย์ทางโลกและทรัพย์ทางธรรม ทางธรรมคือทรัพย์อริยภูมิ ทรัพย์ในหัวใจไง ทรัพย์คือสมบัติของใจ ถ้าใจเรามีทรัพย์ตรงนี้แล้วนะ ใช่ถ้าใครทุกข์ทนเข็ญใจ มีความทุกข์มันก็ทุกข์ ทุกข์ก็คือทุกข์ ถ้าทุกข์แล้วเราก็หาเหตุผลของเรา หาเหตุผล เราต่อสู้ของเรา เราหาทางออกของเรา เราทำของเราได้ ถ้าทำได้

ฉะนั้น

ถาม : จะรวยจริงหรือคะ?

ตอบ : นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะพูดไปกลัวสะเทือนกันมากเกินไป แต่ให้พูดประสาเรานะเป็นไปไม่ได้ ถ้าสวดมนต์แล้วรวยนะ มันจะมีใครจะรวยกว่าพระวะ? พระทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น สวดมนต์ทั้งวัน อ้าว ถ้าสวดมนต์แล้วรวยใครจะรวยกว่าพระ? เดี๋ยวก็ระฆังดังแล้ว ทำวัตรเช้า เดี๋ยวก็ระฆังดังแล้ว ทำวัตรเย็น ใครจะสวดมนต์มากกว่าพระ? ถ้ารวยนะ ถ้าสวดมนต์แล้วรวย เงินทองมันจะอยู่ที่พระหมดเลย โยมจะไม่มีเลย สู้พระไม่ได้ พระสวดมนต์มากกว่า

ทีนี้เรื่องสวดมนต์มากกว่ามันก็เป็นเรื่องสวดมนต์อันนั้นเนาะ แต่ถ้าเรื่องของเรา เราสวดมนต์เพื่อสรรเสริญพุทธคุณ สรรเสริญถึงพุทธคุณ สรรเสริญถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วสวดแล้วมันเตือนเรานะ อย่างเช่นสวดธัมมจักฯ สวดไปคิดตามไป เราสรรเสริญพุทธคุณด้วย แล้วเรายังได้คติธรรมในใจของเราด้วย ทำให้เรามีสติปัญญาขึ้นมาด้วย แล้วถ้าเงินมันจะไหลมาเทมา นั่นก็เรื่องว่ามันเป็นอำนาจวาสนา ถ้าเงินไม่ไหลมาเทมาเราก็ทำงานของเรา เพื่อประโยชน์กับเราทั้งนั้นแหละ ถ้ามันทำได้ก็คือทำได้

เอาเนาะ เข้าอันนี้สักข้อ ๒ ข้อไหม? อันนี้มันเป็นที่เขาถามมาเนาะ

ถาม : ข้อ ๑๑๙๗. เรื่อง “บาปกรรม”

นมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง กราบขอบพระคุณในเมตตาธรรมที่หลวงพ่อตอบปัญหาคาใจ เพื่อจะได้เป็นหลักสิ้นสงสัย กระผมตอนเด็กชอบเลี้ยงสัตว์ แต่การเลี้ยงก็ได้ทั้งบุญและได้ทั้งบาป อยากกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑. เคยเลี้ยงเต่า ฆ่าเต่า เคยเลี้ยงหนู เคยเลี้ยงงู (เคยเลี้ยงนี่เขาเขียนมาเต็มไปหมดเลยนะ เคยจอดรถยนต์ เคยเลี้ยงลูกแมว เคยขับรถ เต็มไปหมดเลย แล้วก็สรุป)

เช่นถ้ามันต้องมาเกิดเป็นสัตว์ ๕๐๐ ชาติ ถ้าชาตินี้มันสั้นลง ตายเร็ว มันจะได้ไปเกิดใช้กรรมหมดเร็วๆ เลยฆ่ามันไม่ให้มันทรมาน ตอนนั้นยังเด็ก คิดไปได้อย่างไรไม่รู้ ทุกชีวิตเราไม่มีสิทธิไปคิดมัน มันมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้พาไป บาปกรรมที่หนักจนเจตนาฆ่าด้วยมิจฉาทิฏฐิ พอยิ่งศึกษาธรรม ยิ่งทำบุญยิ่งเห็นบาป และไม่อยากทำบาป แต่บางทีมันก็ทำบาปไม่รู้ตัวเสมอ การกระทำของผมบาปไหม? จะแก้บาปอย่างไร? พระองคุลิมาลท่านตัดบาป ตัดกรรม ตัดใจจากบาปอย่างไรให้เข้าสู่กระแสธรรม

ตอบ : นี่พูดถึงว่าเขาวิตก วิจารว่าบาปกรรม ตอนเป็นเด็กฆ่าสัตว์มาเยอะ ทีนี้ตอนนี้สำนึกได้ สำนึกได้แล้วมันก็เป็นเรื่องอดีตไปแล้วล่ะ อดีตไปแล้ว เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าการกระทำสิ่งใดระลึกได้ทีหลังเสียใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย แต่ทีนี้ขณะที่ทำนี่ขณะที่เป็นเด็ก เป็นเด็กเราชอบเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์แล้วก็ฆ่าสัตว์เยอะมาก เขียนมานี่ฆ่ามาหลายชนิดเลย แต่สุดท้ายตอนนี้มันก็เลยเสียใจ เวลาภาวนาไปก็ไปติดอยู่ตรงนี้ว่าตัวเองมีบาปกรรมมาก มีบาปกรรมมาก

มีบาปกรรมมากมันก็เป็นอดีต สิ่งที่เป็นอดีตเราแก้ไขไม่ได้หรอก เราต้องอยู่กับปัจจุบันนี้ ถ้าปัจจุบันนี้ ถ้าไม่ได้คิดอย่างนี้ เมื่อก่อนเป็นเด็กยังฆ่าสัตว์ไว้เยอะ ถ้ายังเป็นอย่างนั้นอยู่ก็ยังฆ่าอยู่ไปเรื่อยๆ แต่ในปัจจุบันนี้เรามีสติปัญญาคิดได้แล้วเราก็เสียใจ เราเสียใจเพราะตอนนั้นเด็กมันขาดสติ เด็กมันเข้าใจสิ่งนั้นไม่ได้ แต่ปัจจุบันนี้เราโตขึ้นมาแล้ว พอโตขึ้นมาแล้วเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เราศึกษาแล้วอย่าไปละล้าละลังไง ถ้าเสียใจ ละล้าละลัง สิ่งนี้มันทำให้เราเสียโอกาสนะ

ฉะนั้น เวลาองคุลิมาลฆ่าคนมา ๙๙๙ ศพ ขาดอีกนิ้วเดียวครบพันนิ้ว ฉะนั้น สิ่งที่ทำไปแล้วนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเอาพระองคุลิมาล เวลามาประพฤติปฏิบัติแล้ว นี่ไปบิณฑบาตที่ไหน จะไปทำอย่างไร เขายิงนก ตกปลา หินนั้นจะมาโดนหัวพระองคุลิมาลตลอด จนพระองคุลิมาลเสียใจมากไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้? เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระองคุลิมาลนะ

“องคุลิมาล เวลาเธอทำเขา เธอทำเขาถึงสิ้นชีวิตนะ ไอ้ที่ว่าเธอโดนสิ่งต่างๆ มันไม่ถึงสิ้นชีวิตหรอก”

พระองคุลิมาลก็มีสติขึ้นมา มันก็มีความพอใจในบาปในกรรมของตัว นี่เวลาใครทำสิ่งใดมา เห็นไหม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ฉะนั้น สิ่งที่เราทำมาแล้วมันเป็นอดีตไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว ถ้าเรารู้ตามหลัง ตอนนั้นรู้ไม่ทัน ตอนนี้รู้ทันแล้วเราก็เสียใจ เสียใจก็เห็นว่า ถ้าอวิชชาความไม่รู้มันให้ผลขนาดนี้ ถ้ามันมีความรู้แล้วเราจะแก้ไขสิ่งนี้ไปเพื่อประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ล่วงไปแล้วก็คือล่วงไปแล้ว แล้วให้มันจบกันแค่นี้ แล้วเราทำความดี อุทิศส่วนกุศล อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร เราเคยทำสิ่งใดเราอุทิศส่วนกุศลให้เขาไป อุทิศคือการขอโทษ คือการขออภัย คนสำนึกผิดแล้วขออภัย ใครเขายกโทษให้ก็สาธุ ถ้าใครเขาไม่ยกโทษให้เราก็ขออภัยเขาเรื่อยไป

“เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

ในเมื่อเราทำมาแล้ว ขณะที่ทำเราไม่มีสติปัญญาพอ แต่ปัจจุบันนี้เรามีสติปัญญาพอแล้ว ถ้ามีสติปัญญาพอแล้ว ยังไปเสียใจอยู่ ยังละล้าละลังอยู่ การทำคุณงามความดีของเรามันไม่มั่นคง สิ่งที่แล้วก็แล้วกันไป แล้วปัจจุบันนี้เลิกแล้วตั้งต้นใหม่ ทำคุณงามความดีของเราไป เราก็ภาวนาของเราไป ก็เท่านี้ อย่าไปเอาอดีตมาเผาปัจจุบันไง เอาอดีต เอาสิ่งที่ผ่านมาแล้วมาเผาลนอยู่ตลอดเวลา คนเรามันผิดพลาดได้ ผิดพลาดได้ แล้วสำนึกได้แล้วปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชมมาก บอกว่าเป็นอริยวินัย อริยภูมิ อริยวินัยไง ใครทำผิด สำนึกผิดแล้วขอขมาลาโทษกัน นี่สุดยอด ไม่ใช่ทำความผิดแล้วก็ทนเอา แล้วยังกระมิดกระเมี้ยนทำต่อไป ทำผิดแล้วเราขอขมาลาโทษ

ฉะนั้น สิ่งที่ทำมาแล้วก็คือแล้วกันไป เขากลัวบาปกรรมมาก เขียนมาว่าจะให้แก้อย่างไร? มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นแดนเกิด สิ่งที่ทำมาแล้วก็เป็นเวร เป็นกรรม แล้วใครจะไปแก้ล่ะ? ไม่มีใครไปแก้อดีตได้ อดีตก็คืออดีตนะ เราก็ตั้งใจของเรา แล้วแก้ไขที่นี่ ทำที่นี่ ปัจจุบันนี้จบแล้วก็คือจบ ถ้าจบแล้ว เห็นไหม จบแล้วเราก็สร้างคุณงามความดีของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อชีวิตนี้ของเรา เอวัง

เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์

มันมี ในพระไตรปิฎกมีเยอะนะ ชาวนาถึงเวลาแล้วเขาต้องเผาหญ้า ทำนาของเขา แล้วเขาก็เคาะก่อน บอกว่าไปนะๆ จะเผาหญ้า จะทำนา ฉะนั้น พอเคาะแล้วเขาก็จุดไฟเผาเศษฟาง ฉะนั้น หนูบางตัวมันดื้อมันตาย นี่ในพระไตรปิฎกหรือในธรรมบทไม่รู้ ทีนี้หนูตัวนี้มันตาย มันโดนไฟเผาตาย มันก็ไปรอที่พญายมเลย ยมบาลเลย มันรอให้เจ้าของนานี่ตาย พอเจ้าของนานี่ตายมันไปเอาคืน เจ้าของนาก็เป็นคนดีไง แต่เขาเผาหญ้าหนูมันตาย พอหนูมันตาย พอเขาตายไป คนดีเขาต้องไปสวรรค์ ทีนี้ยมบาลจะให้ไปสวรรค์ บอกไม่ได้ ไอ้หนูตัวนี้มันไปร้อง

“ไม่ได้มันเผาฉันตาย เผาฉันตายมันต้องมีโทษ มันทำบุญได้อย่างไร?”

“อ้าว เขาเคาะแล้ว เขาบอกแล้วไม่ใช่หรือ? ให้ไปทำไมไม่ไปล่ะ? ให้ออกไปก่อน”

ทีนี้พอหนูมันพาลไม่ยอม ไม่ยอมยมบาลก็บอกว่า “อย่างนั้นไปเอาฟางมากองไว้กองหนึ่ง แล้วก็ให้ชาวนาขึ้นไปอยู่บนฟางนั้น แล้วก็เคาะบอกว่าเราจะเผาหญ้านะให้ไป” แล้วก็เคาะๆ พอเคาะเจ้าของนาก็ลงจากฟาง ไอ้หนูตัวนั้นก็จุดหญ้านั่น มันจะเอาคืน นี่ในพระไตรปิฎกหรือในธรรมบท เราอ่านเจออยู่ เห็นไหม ไม่มีเจตนา ไม่มีเจตนา

นี่ก็เหมือนกัน บ้านของเรา เรารักษาบ้าน เราไม่ได้ทำปลวก แต่วิธีการทำอย่างไร? ให้ทำให้มันนิ่มนวล นี่กรรมคลุกเคล้ากัน เราแก้อะไรไม่ได้เลย กรรมมันคลุกเคล้ากัน เราแก้อะไรไม่ได้เลย เราก็บอกว่าเราจะรักษาบ้านเรา แล้วทำอย่างไร? ทำอย่างไรก็หน้าที่ของบริษัทกำจัดปลวก มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา เรารักษาบ้านเรา นี่พอกรรมคลุกเคล้าแล้วเราขยับซ้ายขวาไม่ได้เลย หันซ้ายก็ผิด หันขวาก็ผิด แล้วทำอย่างไร? ก็ปลูกบ้านให้ปลวกมันอยู่ แล้วเราก็ไปอยู่บนหลังคาแล้วกัน

พอพูดอย่างนี้ปั๊บมันต้องวางใจให้ได้ แล้วตัดใจให้ได้ แล้วคิดเอาว่าเราจะรักษาอย่างไร? เพราะอะไร? เพราะพระก็ต้องรักษาของสงฆ์ ของของสงฆ์พระก็ต้องรักษา ต้องดูแลเหมือนกัน แล้วเราจะดูแลอย่างไร? เราทำอะไรให้แบบว่ามันดีที่สุด โธ่ ปลวก เรื่องปลวกนี่ของเราก็โดน ให้พระเอานั่นมาปิดอยู่ มันเจาะเข้าไปในข้างในเลย หนังสือๆ มันกินหมด ปลวก เห็นไหม มันสร้างกรรมอะไรมาถึงเกิดเป็นปลวก แล้วก็เที่ยวไปกินของเขา รักษาเอาเนาะ เราไม่เจตนาทำ ต้องรักษา โอ้โฮ จะไม่ฆ่าสัตว์ แล้วปล่อยให้มันกินบ้านทั้งหลังเลย มันก็ไม่ใช่ นั่นบ้านของเรา

เวลาโยมปลูกบ้านเสร็จแล้ว จิ้งจกในบ้านมันบอกว่าเป็นบ้านของโยมหรือว่าเป็นบ้านของมัน? จิ้งจกมันอยู่ในบ้านเรา มันว่าบ้านของจิ้งจกหรือบ้านของเรา? จิ้งจกมันก็ว่าบ้านมันนะ เราก็ว่าบ้านเรา อ้าว จิ้งจกมันเข้าไปอยู่ในบ้าน มันว่าบ้านใคร? มันก็ว่าบ้านมัน แล้วใครสร้าง? เราจะบอกว่ามันของหลายเจ้าของ ปลวกมันก็ว่าของมัน เราก็ว่าของเรา เราต้องรักษาของเรา เราก็มีสิทธิของเรา ถ้ามันเข้ามาก็นี่ให้คิด ถ้าใจมันเป็นธรรมนะมันวางใจได้ แล้วมันพิจารณาได้ ถ้าใจไม่เป็นธรรมมันแบบว่าก้ำกึ่ง ละล้าละลังไง พอละล้าละลังก็ทุกข์แล้ว แบกโลก แต่ถ้าใจมันตัดสินได้นะ เราทำ เพราะเราสร้างบ้านเรามาเนาะ นี่พูดถึงปลวก จบ