ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แดนเกิด

๑๑ พ.ย. ๒๕๕๕

 

แดนเกิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๑๙๘. เนาะ ข้อ ๑๑๙๘. เรื่อง “กำเนิด ๔”

เขามีความสงสัยเนาะ มันเป็นคำถามที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เขาไม่ไปเปิดอันเก่าดูไง

ถาม : ๑. สิ่งมีชีวิตทางโลกกับทางธรรม นิยามต่างกันหรือไม่ครับ จุลินทรีย์ เชื้อโรค ต้นไม้มีชีวิตหรือไม่ครับ ทำลายแล้วผิดไหมครับ

๒. กำเนิด ๔ อธิบายถึงสถานที่เกิดว่าเกิดที่ไหน เช่นเกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ แต่ไม่ได้บอกว่าเกิดอย่างไรใช่ไหมครับ อย่างในมนุษย์ตามมุตโตทัยนั้นเกิดจากนะและโม แล้วปฏิสนธิจิต เกิดในน้ำครำซึ่งในสัตว์ผมก็เชื่อว่าเกิดจากพ่อและแม่เหมือนกัน แต่ในปัจจุบันสามารถให้กำเนิดหนูจากไข่ของแม่ กระตุ้นจนเป็นตัวอ่อนโดยไม่ใช้พ่อ สิ่งที่ทำนี้คืออจินไตยของโลกๆ ใช่ไหมครับ แล้วการเกิดจริงๆ จับหลักที่ตรงไหนครับ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ อันนี้มันไม่ใช่เรื่องภาวนาเลย แล้วมันก็จะถามมา เออ ถ้าภาวนาแล้วติดถามมาก็เรื่องหนึ่งเนาะ ไอ้นี่เรื่องกำเนิด ๔ กำเนิด ๔ ทีนี้อย่างที่เขาว่า

ถาม : ข้อ ๑. สิ่งที่มีชีวิตทางโลกกับทางธรรม นิยามต่างกันหรือไม่ครับ จุลินทรีย์ เชื้อโรค ต้นไม้มีชีวิตหรือไม่ครับ ทำลายแล้วผิดไหม

ตอบ : อันนี้มันก็อยู่ที่ว่าถือศีลข้อไหน ถือศีลไง ถ้าเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ยังไม่ผิด ศีล ๑๐ เณรก็ยังทำได้ เณรทำได้หมายความว่าเวลาพระจำพรรษา พระใช้เณรทำความสะอาด หมายความว่าถากหญ้า พระใช้เณรตัดกิ่งไม้ พระใช้เณรนี่พระใช้ได้ พระใช้ให้ทำไง แต่ถ้าพระทำไม่ได้ เพราะพระพรากของเขียว คำว่าพรากของเขียวทำให้ใบไม้หลุดจากต้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าพระนี่ไม่ได้

ฉะนั้น เวลาถามมันอยู่ที่สถานะ สถานะว่าเราถือศีลอย่างใด ถือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เรื่องต้นไม้ อย่างเชื้อโรค เชื้อโรคนะอย่างเช่นหลวงปู่แหวน หลวงปู่มั่น หลวงปู่หล้าท่านทำตามหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่เข้าโรงพยาบาล ไม่รักษา ไม่ทำ นี่บางคนเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะถือนะ บางคนถือว่าเชื้อโรคมันก็มีชีวิต

ถาม : จุลินทรีย์ เชื้อโรค ต้นไม้มีชีวิตหรือไม่?

ตอบ : สิ่งมีชีวิต ต้นไม้มันมีชีวิตอยู่แล้ว มีชีวิตแต่ไม่มีวิญญาณครอง ถ้าวิญญาณครองนะ แล้วทำลายผิดหรือไม่? ทำลายนี่มันอยู่ที่ถือศีลไง ถือศีล ๘ นี่ได้ ศีล ๑๐ ก็ยังได้ แต่ศีล ๒๒๗ พระไม่ได้แล้ว เพราะพระนี่พืชคาม ภูตคาม พืชคามพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ของที่ยังเกิดได้ เวลาถวายพระต้องทำกัปปิยะ เพราะของนี่มันยังมีสิทธิเกิดของมันอยู่

ฉะนั้น กัปปิยัง กโรหิ ของนี้สมควรกับภิกษุไหม? กัปปิยะ ภันเต ของที่สมควรกับภิกษุ นี่ของกัปปิยภัณฑ์ แม้แต่รังเกียจไง แม้แต่รังเกียจนี่ทำไม่ได้แล้ว ภิกษุสงสัย ทำ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ สงสัย รังเกียจ ทำ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ฉะนั้น เวลาบอกว่าภิกษุใช้เณรทำ ใช้เณรทำมันก็กัปปิยะโวหารนั่นแหละ ให้ทำอย่างนั้นๆ

ฉะนั้น ว่า

ถาม : ทำลายผิดไหม?

ตอบ : ทำลายผิดไหมนี่ถ้าบอกว่าเอาแบบพระ ผิด ถ้าเอาแบบโยมไม่ผิด แบบโยมไม่ผิด ทีนี้มันก็อยู่ที่สถานะไหน นี่พูดถึงเริ่มต้นสถานะมันแตกต่างกัน มันจะให้ผลแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ทำผิดต้องมีโทษมากกว่าประชาชนทำผิด เห็นไหม สถานะมันแตกต่างกัน สถานะทางสังคม สถานะในการทำหน้าที่มันแตกต่างกัน

ฉะนั้น ข้อที่ ๑. เรื่องกำเนิด ๔ สิ่งที่มีชีวิตนะ

ถาม : ข้อ ๒. กำเนิด ๔ อธิบายถึงสถานที่เกิดว่าเกิดที่ไหน เช่นเกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ แต่ไม่ได้บอกว่าเกิดอย่างไรใช่ไหมครับ

ตอบ : ไม่ได้บอกว่าเกิดอย่างไร นี่พระพุทธเจ้าบอกไว้เลย บอกว่าปฏิสนธิจิตลงในไข่ เห็นไหม ในพระไตรปิฎกบอกหมดเลยนะ บอกว่าพอปฏิสนธิแล้วจะเกิดเป็นน้ำมันใส น้ำมันข้น นั่นพูดถึงว่าเกิดอย่างใด? เกิดอย่างใดใช่ไหม?

ฉะนั้น ว่ากำเนิด ๔ มันเขียนมาอย่างนี้ไง แต่เวลากำเนิด กำเนิดของมนุษย์ ที่หลวงปู่มั่นบอกว่าจากนะและโม นี่เหมือนกัน นะโม แต่หลวงปู่มั่นพลิกกลับมามโนไง มโนคือใจ นะ มะ มโน นี่เอาใจเป็นตัวเกิด หลวงปู่มั่นท่านเทศน์เป็นกรรมฐาน ถ้านักปฏิบัติจะเห็นแบบนั้น จะรู้อย่างนั้น จะเห็นอย่างนั้น ว่าการเกิดเกิดอย่างไร เวลาสิ้นแล้ว เพราะมันต้องจบกระบวนการของมัน

ฉะนั้น หลวงปู่มั่นท่านพูดใจเป็นตัวเกิด ปฏิสนธิจิต แต่นะโมนี่ท่านมาแยกให้เราดู เห็นไหม มันเป็นปัญญาว่าใครกว้างขวาง ใครละเอียดลึกซึ้งกว่ากันก็เอามาอธิบาย อธิบายให้เราได้ฉุกคิด ฉุกคิดเราก็ได้มีเหตุผลมาพิจารณาของเราเอง

ฉะนั้น ถามว่า

ถาม : ในมุตโตทัย การเกิดนะและโมแล้วปฏิสนธิจิตนั้น

ตอบ : อันนี้มันถูกต้อง ถูกต้องอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะแตกแขนงไปอย่างไร ถ้าใครมีปัญญารอบคอบกว่า ใครมีปัญญาลึกซึ้งกว่าจะเห็นแตกต่างกันอย่างไร คำว่าแตกต่างนะ แตกต่างคือความละเอียดไง ความละเอียดคือว่าอธิบายได้กว้างขวางกว่า แต่มันก็เป็นหลักอันเดียวกัน

ถาม : เกิดในน้ำครำ ซึ่งในสัตว์ผมก็เชื่อว่าเกิดจากพ่อ จากแม่เหมือนกัน แต่ในปัจจุบันสามารถให้กำเนิดหนูจากไข่ของแม่ กระตุ้นจนเป็นตัวอ่อนโดยที่ไม่ใช้พ่อ สิ่งนี้เป็นอจินไตยไหม?

ตอบ : คำว่าอจินไตยมันละเอียดจนเราอธิบายไม่ได้ คำว่าอจินไตยไม่ใช่มันไม่มีเหตุ ไม่มีผลนะ อจินไตยพูดไปก็แบบว่าเหมือนเราวิจารณ์เรื่องโลก เห็นไหม โลกนี้เป็นอจินไตย แล้วมันจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อไหร่? มันจะกำเนิดเอาเมื่อไหร่? มันไม่มีวันจบสิ้น มันแปรสภาพของมันไป นี่เป็นอจินไตย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : หนูนี่กระตุ้นจากไข่ของแม่โดยไม่ต้องใช้พ่อ สิ่งนี้เป็นอจินไตยไหม?

ตอบ : เพราะยึดว่าเป็นโลกไง ยึดว่าเป็นโลกนะต้องเกิดจากพ่อ จากแม่มันถึงจะเกิดต่อๆ ไป

ถาม : ผมเข้าใจว่าสัตว์เกิดจากพ่อ จากแม่

ตอบ : ก็ใช่ แต่ถ้าเป็นโอปปาติกะล่ะ? โอปปาติกะของมันมีนะ เพราะกระตุ้นมันปฏิสนธิเท่านั้นเอง ปฏิสนธิตัวอ่อนไปไว้ไหนล่ะ? นี่กระตุ้นจนเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนเอาไปไว้ไหน? มันก็ต้องเอาไปอยู่ในท้อง มันทำของมันเป็นธรรมดา นี่พูดถึงโดยหลัก กำเนิด ๔ กำเนิด ๔ โลก กำเนิดในไข่ ในน้ำครำ ในครรภ์ ในโอปปาติกะ เห็นไหม โอปปาติกะก็กำเนิด ๔ เพราะว่ามันเป็นสามโลกธาตุ กำเนิด ๔ โอปปาติกะเกิดเลย เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดนรกอเวจีนี่เกิดเลย เกิดเลยๆ เกิดโดยกรรม

ฉะนั้น

ถาม : การเกิดจริงๆ จับหลักที่ตรงไหนครับ

ตอบ : กรรมพาเกิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มันเกิดจากกรรม เกิดจากกรรมของคน กรรมมันเป็นอย่างใด มันถึงมาเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น พอกรรมมันให้ผลปั๊บ เวลาเกิดในสถานะของโลกมันเป็นอย่างนั้น สถานะของโลกเกิดจากมนุษย์ มีพ่อ มีแม่ เกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ เกิดในครรภ์ เกิดในโอปปาติกะ เวลาเกิดในโอปปาติกะล่ะ? เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เวลาเกิดในโอปปาติกะ นี่อย่างที่ว่ากระตุ้นๆ กระตุ้นมันก็เหมือนกับทางโลก ทำแล้วมันเป็นไป

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันเป็นเรื่องโลกนะ แต่ถ้าเวลาเราพิจารณาเข้ามามันเข้ามาที่ใจ พอใจมันสงบ ใจมันเห็นของมัน มันพิจารณาของมัน เวลามันปล่อยวางของมัน เห็นไหม มันปล่อยวางที่นี่ มันปล่อยวางกิเลสที่นี่ แล้วเวลาชำระกิเลสแล้ว เป็นธรรมธาตุแล้วมันเหลือสิ่งใด? มันทำอย่างไรต่อไป? แล้วมันเกิดในธรรมเกิดอย่างไร? เกิดเป็นโสดาบัน เกิดเป็นสกิทาคามี เกิดเป็นอนาคามีมันเกิดอย่างใด? ถ้ามันเกิดในธรรม เกิดในธรรมนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้เวลาเกิดเป็นโลกเกิดเป็นอย่างนี้

เกิดเป็นโลก เห็นไหม กำเนิด ๔ ถ้าจะให้เข้าใจมันไม่มีวันจบหรอก เพราะมันยังเจริญต่อไปเรื่อยๆ นะ คำว่าเจริญหมายความว่าวิทยาศาสตร์เขาจะค้นคว้าของเขาไป แล้วมันไม่จบ มันไม่จบหรอก เพราะอะไร? เพราะวิทยาศาสตร์ยังพิจารณากันไม่จบ ยังไปของเขาได้ ถ้าไปของเขาได้ แล้วถ้ามันเทียบมาที่ธรรม

ถาม : ๑. สิ่งมีชีวิตในทางโลกกับทางธรรม นิยามต่างกันหรือไม่ครับ จุลินทรีย์ เชื้อโรค ต้นไม้มีชีวิตหรือไม่ครับ ทำลายแล้วผิดไหม?

ตอบ : นี่ทางโลกกับทางธรรม ถ้าทางโลก เห็นไหม ทางโลกทางวิทยาศาสตร์เขายังต้องพิสูจน์กันไป พิสูจน์กันไปเพื่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์ของเขา แต่ทางธรรมมันจบแล้ว จบที่ไหน? จบที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกธาตุ ทั้งโลกนอกและโลกใน แล้วจบแล้ว

ฉะนั้น เวลาสาวก สาวกะ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าใครทำได้ ใครทำขึ้นมาให้รู้แจ้ง เห็นไหม รู้แจ้งภายใน แต่การอธิบาย การสื่อสาร ความละเอียดรอบคอบ หรือความกว้างขวางของปัญญา ไม่มีทางเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปไม่ได้เลย พุทธวิสัยก็เป็นอจินไตยเหมือนกัน แล้วสาวก สาวกะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้ นี่ทางธรรมจบแล้ว จบตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนอกและโลกใน

แล้วตอนนี้เราว่าทางโลกกับทางธรรม ถ้าทางธรรม เราเข้ามาทางธรรมแล้วทางโลกนี่วางไว้ เดี๋ยวเวลาทางธรรมเราจบกระบวนการแล้วเราจะเข้าใจหมดเลย แล้วเข้าใจหมดแล้ว เข้าใจแล้ววาง ถ้าเข้าใจแล้ววางนี่จบนะ ถ้าเข้าใจแล้วไม่วางนะได้เสียเลยล่ะ เถียงกันปากเปียกปากแฉะ ถ้าเข้าใจแล้ววาง วางแล้วนี่วิมุตติหลุดพ้น จบ ถ้าเข้าใจแล้วแบกไว้ไง แบกหามกันไป แล้วก็จะเถียงกันไปไม่มีวันจบ นี่โลก ฉะนั้น เรื่องของโลก เรื่องของธรรมถ้าเข้าใจจบแล้ว จบ

ถาม : ข้อ ๑๑๙๙. เรื่อง “การรางใจ”

ตอบ : อันนี้ยาวมาก เขียนมาจากนิวซีแลนด์ อันนี้มันเป็นคำถามที่เขาฟังเทศน์แล้วเขาสะเทือนใจ

ถาม : กราบนมัสการพระคุณเจ้า ลูกมีความยินดี และกราบระลึกถึงพระคุณของหลวงพ่อที่เมตตาบอกธรรมะ ขอน้อมกราบจากใจดวงนี้ ลูกเพิ่งได้เข้ามาฟังธรรมของหลวงพ่อเป็นครั้งแรก ธรรมะที่หลวงพ่อพูดสั่งสอน ลูกฟังแล้วหัวใจเต้นแรง บางหัวข้อธรรมน้ำตาจะเอ่อ ลูกฟังเข้าไปถึงใจลูก เวลาธรรมะหลวงพ่อหมุนขึ้นมา ลูกฟังแล้วใจนี้สะเทือนตามคำพูดของหลวงพ่อ ลูกตื่นเต้นมากทุกครั้งที่หลวงพ่อพูดในหัวข้อธรรม

ลูกอยากกราบเรียนถามว่า ใจที่เฝ้าดูจิตของตัวเอง พร้อมกับความเห็นกระเพื่อมของกิเลสที่อยู่ในหัวจิตของเรา ซึ่งเกิดขึ้นบ้าง สงบบ้าง โดยมีสติเป็นผู้ยับยั้ง เป็นผู้ตั้งรับ ตั้งเห็นการกระทำเพิ่มของจิตที่เงียบสงบบ้าง มีแส่ส่ายบ้างที่กิเลสแสดงขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ เช่นกระทบอายตนะภายนอกเกิดวิญญาณขันธ์ไปรับรู้ จิตลงไปครอบงำถึงอดีตสัญญารมณ์ หรือสังขารที่ผุดขึ้น ปรุงแต่งขึ้น จิตก็หลงไปครอบงำตามแต่กิเลสจะสร้าง หรือบีบให้ใจหลงไปตามโลภ โกรธ หลง มีสติกับปัญญาที่แก้ไขใจดวงนี้ไม่ให้หลงไปตามกิเลส

ลูกเพียรทำตลอด ใช้สติเป็นตัวตั้งในการภาวนาพุทโธ พร้อมเอาความรู้สึกสัมผัสที่ลมหายใจตรงปลายจมูก ใจรวมได้ดี สติตั้งมั่น แต่เรื่องของกิเลสภายในใจก็มี ลูกเห็นว่าสงบสักพักกิเลสก็พยายามดีดดิ้นจะออกมา สติมา ปัญญาเห็น บางครั้งมีการพิจารณาตัวกิเลสที่ดีดดิ้นออกมา ความสงบมีมากขึ้นเหมือนกิเลสยอมหมอบราบ ไม่มาหลอกหลอนหรือมาแสดงให้ลุ่มหลง

ลูกเบื่อหน่ายกับกิเลสที่แสดงตัวอยู่ภายในจิตเรา เราห้ามอะไรในตัวกิเลสไม่ได้ มันเหมือนสัจธรรมที่มีอยู่ เป็นอยู่ของกิเลส เหมือนกับว่าวัฏจักรของกิเลสมันหมุนไป ครอบงำไป เขามีอยู่ของเขา ห้ามเขาไม่ให้เกิดในดวงจิตเราไม่ได้ มันเป็นสัจธรรมความจริงในด้านของกิเลส มีแต่สติกับปัญญาเท่านั้นที่จะถอนรากถอนโคนเหง้าของกิเลสออกไป จนเป็นจิตที่บริสุทธิ์เหนืออำนาจของกิเลส ลูกอยากจะทราบว่าความเห็นของลูกถูกต้องหรือเปล่า

เมื่อการปฏิบัติตามเฝ้าดูจิตเรา พยายามไม่ให้กิเลสมานั่งในหัวใจ แล้วบังคับเราให้โลภ โกรธ หลง ซึ่งผลร้ายของมันก็คือกรรม ไม่ว่าคนหรือสัตว์ สุดท้ายคือเวียนว่ายตายเกิดซึ่งน่ากลัวมาก กิเลสแสดงตัวได้แยบยลมาก สงบก็เป็น ถ้าเผลอแว็บเดียวแสดงออกมาทันที จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกำลังของสติ การเบื่อหน่ายกับกิเลสก็เป็นเรื่องของกิเลสที่แสดงออกมาให้ใจหดหู่หรือไม่พอใจ ติดสุข ติดทุกข์ การปล่อยวางปล่อยด้วยปัญญาเข้าไปรู้เห็นสัจธรรม เป็นการปล่อยวางที่ขาด ใช้ได้ผล กิเลสสงบ ลูกต้องเพียรมากแค่ไหน พิจารณาธรรมอย่างไร ให้ใจดวงนี้เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส

เวลาลูกนั่งสมาธิ พอไปถึงไม่มีกาย มีผู้รู้อยู่ จิตก็เห็นว่าเวทนาดับ ลมหายใจดับ มีความรู้สึกเฉยๆ อยู่ที่โล่ง เงียบ มองดูมีความรู้สึกว่ามีจิตอยู่ ลูกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร? ถ้าจิตแว็บหรือสงสัยนิดเดียว ก็จะกลับมามีกาย เวทนา และลมหายใจ ลูกก็ต้องมาสู่ขั้นตอนเดิม ลูกยังทำงานอยู่ ฉะนั้น ลูกต้องใช้กำลังสติมากในการถอดถอนกิเลสที่มีอยู่ภายในจิต แล้วปล่อยวางไม่เชื่อกิเลส กิเลสกับลูกต้องฝืนเดินคนละทาง พยายามไม่ให้มันจูงไปเพื่ออะไร? เพื่อเวลาลูกรวมจิตจะได้ไม่แส่ส่ายไปมาก เพราะกิเลสไม่มีดี มีแต่หลอกให้หลง

ที่ลูกร่ายยาวมากเพราะลูกอยากได้ฟังธรรมจากหลวงพ่อ สอนให้ลูกทำให้ดีกว่านี้ เอาให้กิเลสสั่นกลัว ให้ลูกมีปัญญาแหลมคมเหมือนมีดที่ตัดไม่ขาด ลูกอยากฟังธรรมจากหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อพูดหัวข้อธรรมะ ใจลูกสะเทือนเหมือนมีคนมาขย่มในหัวใจลูก จะปลุกใจลูกให้ฮึกเหิม เอาเป็นเอาตายกับกิเลสตัวพ่อ หรือโคตรของมัน เอามันให้ตายไปจากจิตของลูก มีมันอยู่ในใจมันก็ไม่สามารถมานั่งในหัวจิตหัวใจลูกได้ ต่างคนต่างอยู่

ลูกอยากฟังธรรมหลวงพ่อแสดงอย่างถึงพริกถึงขิง หรือแกงหม้อจิ๋วที่ใช้สอนพระแบบสุดๆ เป็นแบบว่าธรรมะที่ไม่อยากพูด เพราะเป็นเรื่องที่ต้องสอนในหมู่พระ ลูกอยากฟังเวลาธรรมะของหลวงพ่อขึ้น มันหมุน ลูกสัมผัสรู้สึกได้ แล้วใจลูกชอบ แล้วใจลูกรับธรรมของหลวงพ่อ เหมือนจ่อด้วยหัวใจเต้น อยากฟังบอกว่าใช่ ใช่ ใช่

ตอบ : ถามมายาวมาก เขียนมายาวมากไม่ใช่ถามมายาวมาก เพราะเขียนมาเพื่อต้องการให้เทศน์เท่านั้นเอง เพื่อต้องการให้เทศน์ให้ฟัง แต่ถ้าเทศน์ให้ฟัง เห็นไหม เวลาเขาบอกว่าเขาฟังเทศน์ นี่เพิ่งเข้ามาเจอ พอเข้ามาเจอนะ พอฟังแล้วมันถูกใจ นี่เวลาฟังเทศน์ถูกใจ เห็นไหม บางหัวข้อน้ำตาไหล แล้วฟังแล้วเข้าใจ

น้ำตาไหลมันสะเทือนใจ เวลาเราอยู่ด้วยกัน พระนะคุยกันว่าเวลาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ ถ้ามันสะเทือนใจขนลุกขนพอง อันนั้นแหละมีโอกาสมาก เพราะมันมีความละอาย แต่เวลาฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ มันผ่านไป ผ่านมา แล้วของอย่างนี้มันมี มันมี เห็นไหม เวลาจิตเราดี ฟังแล้วมันซาบซึ้งมาก แต่เวลาจิตมันด้านนะ ธรรมะอันนั้นแหละ แต่ฟังแล้วทำไมมันเฉยๆ

ฉะนั้น เวลาเรารักษามันต้องกลับมารักษาที่ใจเรา ถ้าใจของเรามันดื้อ ใจของเรามันไม่รับสิ่งใดแล้ว มันฟาดงวง ฟาดงาแล้ว มันบอกเลยว่าไม่มี ไม่ต้องทำ ทำแล้วไม่ได้ประโยชน์ ทำแล้วมีแต่ความทุกข์ ความยาก นี่เวลามันท้อแท้มันเป็นแบบนั้น เวลากิเลสมันฟูนะ เวลากิเลสมันฟูขึ้นมามันทำให้เราล้มลุกคลุกคลานเลย แต่ถ้าเวลาธรรมะมันเจริญ ธรรมะมันเจริญขึ้นมาโลกนี้สวยงามไปหมดเลย อะไรนี่ดีไปหมดเลย อยากประพฤติปฏิบัติ อยากพ้นจากทุกข์ เวลาใจมันดี

ฉะนั้น ถ้าใจมันดี เห็นไหม หลวงตาท่านสอนว่า เวลาถ้าใจมันดีต้องเหยียบคันเร่ง เราต้องขยันหมั่นเพียรของเรา แต่เวลาใจมันดื้อ มันด้านต้องเหยียบเบรกไว้ เหยียบเบรกไว้ ถ้ามันจะพาเราไปหลงทาง มันจะพาเราไปนี่เหยียบเบรกไว้ เบรกคืออะไร? สติ เอาสติยับยั้งไว้ เบรกไว้ แต่เวลาถ้ามันดีล่ะ? มันดีเราต้องเหยียบคันเร่งเลย

ฉะนั้น พอมาฟังเทศน์น้ำหูน้ำตาไหล เวลาฟังเทศน์ไป เวลาปฏิบัติไป ถ้ามันปฏิบัติไปนะ เวลาปฏิบัติถ้าอยากจะพ้นจากกิเลส เห็นไหม สิ่งที่ถามมา นี่พรรณนามา แต่พรรณนามามันต้องอยู่ที่นี่ อยู่ที่ว่าเรามีสติไหม? แล้วเรามีคำบริกรรมไหมถ้าจิตมันสงบไง ถ้าจิตสงบเข้าไป จิตสงบแล้วเวลาออกมาพิจารณา อันนั้นต่างหาก

เวลาฟังเทศน์ เราฟังเทศน์ของเรา แล้วนั่งพิจารณาของเราไป ฝึกปัญญาของเรา ฝึกปัญญาของเรา ให้ปัญญาของเรามีกำลังของเรา ถ้าปัญญาของเรามีกำลังของเรานะ เวลามันเกิดเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม เรากินอาหารนะ เราไปร้านอาหารเราสั่งอาหารกินได้หมดเลย แต่เวลาเราครัวทำอาหารเราต้องทำของเราเอง เวลาทำอาหารขึ้นมาเราจะต้องหาของเราเอง หากุ้ง หอย ปู ปลาเพื่อจะมาทำอาหาร

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราฟังเทศน์มันก็เหมือนอาหารสำเร็จมา นี่จะสั่งอะไรก็ได้ จะกินอะไรก็ได้ แต่มันเป็นของเราหรือเปล่าล่ะ? เราฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์ของเรา นี่สำรับเอามาตั้งไว้ต่อหน้า แล้วกินหรือไม่กินล่ะ? ถ้ากินเข้าไป ฟังแล้วมันก็มีความเจริญงอกงามในหัวใจ คือมีความขยันหมั่นเพียร มีความตั้งใจ มีความต่างๆ มันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าทำแล้วมันเกิดขึ้นมา ถ้าไม่เกิดขึ้นมาเราจะมาหวังกินแต่อาหารของคนอื่นได้อย่างใด? เราต้องมีอาหารของเราเอง

ถ้าเรามีอาหารของเรา เห็นไหม สติเราต้องฝึกของเราขึ้นมาเอง ถ้าเกิดมีสติ ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามาแล้ว เวลามันออกรู้ไง นี่เวลาปฏิบัติของเรามันมีของมัน ถ้ามันออกรู้ของมัน มันถึงจะเป็นประโยชน์กับมัน มันจะทำของมันได้

ฉะนั้น สิ่งที่เราปฏิบัติเราต้องกำหนดพุทโธ พุทโธเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา อย่าปล่อย อย่าทิ้งนะ เวลาจิตมันไม่ดีมันทำให้เราหลงไป เราจะพึ่งอะไรเป็นที่พึ่ง เวลาจิตเราไม่ดีนะมันจะคิดเรื่องร้อยแปดไป บังคับมันให้คิดพุทโธ บังคับมันมาพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่พุทธานุสติ อย่างไรก็แล้วแต่เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธานุสติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ กิเลสมันจะบอกว่าพุทโธมันไม่มีเหตุมีผล มันไม่ใช่ปัญญา มันทำให้เราไม่เจริญก้าวหน้า ไปพุทโธอยู่ทำไม? คิดตามมันดีกว่า

เวลากิเลสมันหลอกไปนะ เวลาคิดตามมันไปแล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาล่ะ? คิดตามไปแล้วมันก็มีแต่ความอ่อนล้า คิดไปแล้วมันก็มีแต่ความทุกข์ยากของมัน ถ้าเราทิ้งเลยกลับมาที่พุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ ถ้ามันออกคิด มันคิดอย่างนี้ มันออกมาคิดหมายความว่าถ้าจิตมันสงบแล้ว เวลาคิดสิ่งใดแล้วมันซาบซึ้ง มันสะเทือนใจ มันเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา เห็นไหม กุ้ง หอย ปู ปลามันต้องมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา แล้วเราจะทำอย่างไร? เราจะทำอาหารของเราอย่างไร?

ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ นี่ถ้าทำสิ่งนี้ขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เราจะทำอาหารของเราขึ้นมาเองแล้ว ถ้าเราทำอาหารของเราขึ้นมาได้เอง เรามีอาหารของเราเอง เราทำได้เอง เรากินเอง เราใช้บริหารจัดการของเราเอง มรรคมันจะเกิด ถ้ามรรคจะเกิดเราทำของเราได้ เราจะพึ่งตัวเองได้

“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เห็นไหม นี่เราแก้ไขแบบนี้ แล้วเราทำขึ้นไปแล้ว ถ้าทำขึ้นไปเป็นธรรมทายาท ถ้าธรรมทายาทเราทำของเรา เราเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา อันนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น เขาถามว่า

ถาม : ลูกอยากทราบว่าความเห็นของลูกถูกต้องหรือเปล่า?

ตอบ : นี่ถ้าความเห็นถูกต้อง ถ้าเราปฏิบัติแล้วถูกต้อง เวลาคนไปถามหลวงตาว่าถูกไหม? ถูก ถูกแล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ถูกเราก็ต้องขยันมากขึ้นไป ถูกเราก็ต้องซ้ำของเราขึ้นไป เราปฏิบัติซ้ำเข้าไปๆ ปฏิบัติให้มันละเอียดเข้าไป ถ้าละเอียดเข้าไปมันก็เป็นประโยชน์กับเรา

สิ่งที่ถามมาถูกไหม? ถูก ทีนี้บางคนถามว่าถูกไหม? พอถูกขึ้นมามันนอนใจเลย พอถูกขึ้นมาทีนี้ปล่อยแล้ว ถูกไหม? ถูก แต่สติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา ปัญญานี้ถูกไหม? ถูก แต่มหาปัญญาข้างหน้าจะต้องละเอียดรอบคอบมากกว่านี้ ต้องละเอียด ต้องรอบคอบ เพราะเวลากิเลสมันละเอียดใช่ไหม ปัญญามันก็ต้องละเอียดขึ้น แต่พอว่าถูก พอถูกแล้ว ชำนาญแล้ว คนๆ นั้นมันจะเริ่มเสื่อม เริ่มถอยไป

นี่ถามว่า

ถาม : ที่ลูกพูดมาถูกไหม?

ตอบ : ถูก แต่จะต้องทำให้มันดีขึ้น จะต้องทำให้มันละเอียดรอบคอบขึ้น ปฏิบัติของเราต่อไป ถ้าปฏิบัติต่อไปมันก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้น เวลาเราไปเห็นกิเลสแล้ว นี่บอกว่ากิเลสแสดงตัวได้แยบยลมาก ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบแล้วเผลอแป๊บเดียวมันก็ไปอีก ฉะนั้น ถ้าเวลากิเลสมันลากไปมันจะรู้นะ เราจะรู้ของเราว่าเวลากิเลสลากไปมันจะเป็นแบบใด

ฉะนั้น

ถาม : เวลาทำความเพียรแค่ไหน พิจารณาอย่างใด อยากให้จิตดวงนี้เป็นอิสระ

ตอบ : พิจารณา นี่จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา หลวงตาบอกว่า นี่ถ้าเกิดความสงบร่มเย็นแล้ว ถ้ามันจะเป็นธรรมเองมันเป็นไปไม่ได้ มันจะต้องฝึกหัด นี้เขาบอกว่าการฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิมันก็เป็นโลกียปัญญา ฉะนั้น ทำความสงบของใจแล้วถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา เวลาใช้ปัญญาไป ฝึกหัดใช้ปัญญานะ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม พิจารณาเห็นธรรมๆ เห็นธรรมคืออารมณ์ความรู้สึกเรานี่แหละ อารมณ์ความรู้สึกนี่เป็นธรรม ถ้ามันมีสมาธิก็จับมาพิจารณา พอพิจารณาแล้วมันก็ละเอียดลึกซึ้ง คำว่าละเอียดลึกซึ้งคือมันปล่อย

พุทโธ พุทโธจิตสงบนั้นอย่างหนึ่งนะ สมถะนี้อย่างหนึ่ง สมถะคือพุทโธกำหนดให้สงบไป แต่เวลาใช้ปัญญา จิตสงบแล้วมันพิจารณาเอาความคิด เอาความรู้สึกนึกคิดมาพิจารณา พอพิจารณาโดยกำลังของสมาธิ กำลังของสมาธิที่มันเป็นสมาธิ เพราะสมาธิคือจิต สมาธินี่เพราะจิตเป็นสมาธิ พอสมาธิคือจิต จิตพิจารณาเอง พอจิตพิจารณาเอง เวลามันปล่อยมันก็ปล่อยสิ่งที่มันสะสมในจิตนั้นคืออวิชชา คือความไม่รู้ปล่อยจากจิตนั้น มันจะลึกซึ้งมากกว่า มันจะเข้าใจมากกว่า ถ้าทำอย่างนี้ปั๊บมันจะเข้าใจ พอเข้าใจมันเห็นของมัน นี่ฝึกหัดใช้ปัญญา

แล้วที่บอกว่า

ถาม : ทำอย่างใดดวงจิตนี้จะเป็นอิสระ

ตอบ : นี่ขยันหมั่นเพียรอย่างนี้ถึงจะเป็นอิสระ ถ้าเรากินอาหารเสร็จ เห็นไหม เรากินอาหารเสร็จเราก็เก็บล้าง ทีนี้พอปฏิบัติเสร็จเมื่อไหร่จะได้เก็บล้างล่ะ? คำว่าเมื่อไหร่จะได้เก็บล้าง เก็บล้างถ้วยจานของเราสักทีหนึ่ง นี่เก็บล้างแล้วเดี๋ยวก็ใช้อีก เก็บล้างเดี๋ยวก็ใช้อีกเพราะเรากินต่อไป นี่เราขยันหมั่นเพียรของเรา พิจารณาของเรา พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันปล่อยวางขนาดไหนก็กินอาหารมื้อหนึ่ง แต่เราก็ต้องกินต่อไปเรื่อยๆ ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดเวลามันอิ่ม

อิ่มนี่กินอาหารมื้อหนึ่งก็ต้องอิ่มเหมือนกัน แต่เวลากินอิ่มทางธรรม คือว่ามันสมุจเฉทปหาน คือไม่กินอีก ถ้าทางโลกอิ่มแล้วเดี๋ยวก็ต้องกินอีก เดี๋ยวมันก็ต้องกินอีกใช่ไหม? อาหารแต่ละมื้อพิจารณาตทังคปหานไปเรื่อยๆ แต่ในทางธรรมเวลามันอิ่มนะ เวลามันอิ่มมันขาดนะมันกินไม่ได้อีกแล้ว อกุปปธรรม อฐานะที่จะดื่ม จะกิน มันอยู่ของมัน คงที่ของมันเป็นอกุปปธรรม นั้นถึงจะเป็นอิสระ ทีนี้ทำอิสระมันต้องทำแบบนี้ ฉะนั้น ทำแบบนี้ต้องขยันหมั่นเพียรไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น เวลาจิตมันเฉยๆ เวลาพิจารณาไปลมหายใจมันดับรู้สึกเฉยๆ อยู่ มันโล่ง สิ่งที่เฉยๆ อยู่มันพัก อยู่กับมัน แล้วถ้าถึงเวลาแล้วเราออกใช้ปัญญาของเราไปเรื่อยๆ ฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา มันจะได้ประโยชน์ของมัน

ฉะนั้น ที่ถามมานี้ไม่มีอะไรเลย อยากจะฟังธรรมะอย่างเดียว อยากให้หลวงพ่อแสดงธรรม แสดงธรรมมันก็แสดงธรรมอยู่แล้วนะ ถ้าแสดงธรรมแล้ว ถ้าฟังแล้วมันเป็นประโยชน์ อันนี้ว่าจิตใจเราดี เราเปิดกว้าง จิตใจเราเปิดกว้าง แต่ถ้าฟังแล้วมันขัดข้องหมองใจ ขัดข้องหมองใจมันเหมือนกับว่าเวลาเราชำระล้างทำความสะอาด สิ่งที่มันโต้แย้งในหัวใจมันก็ต้องขัดแย้งเป็นธรรมดา ถ้าขัดแย้งเป็นธรรมดาเรามีสติปัญญาคอยพิสูจน์ คอยดูของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเราได้ เห็นไหม อันนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น เราต้องค่อยๆ ดูแลรักษานะ ถ้าใจใครดีขึ้นมามันจะดีมาก ต้นไม้เรารดน้ำ พรวนดิน เวลามันสดชื่น มันออกมา เห็นไหม เรารดน้ำ พรวนดินที่โคน ผลมันจะออกที่ปลาย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราฝึกหัดสติ เราฝึกหัดปัญญาของเรา ผลของมันก็คือความสงบร่มเย็น นี่ถ้าบอกว่าเราจะจบเมื่อไหร่ เราต้องการเมื่อไหร่ อันนั้นเราต้องการผลคือวิบาก เราต้องการผลไม้ที่ออกที่ปลาย แล้วเราไม่ดูแลที่โคนต้น เราไม่รดน้ำ พรวนดิน ถ้าเราไม่รดน้ำ พรวนดิน ต้นไม้นั้นจะตาย ต้นไม้นั้นจะตาย แล้วผลที่เราหวังจะไม่ได้ แต่ถ้าเราหวังผลที่ปลาย ที่มันออกดอก ออกผล เห็นไหม เราต้องดูแลโคนต้น เราต้องดูแลโคนต้นนะ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย

นี่ก็เหมือนกัน เราต้องกลับมาที่สติของเรา นี่ถ้าเรากลับมาที่สติของเรา ทำความสงบของใจของเรา รักษาตรงนี้ไว้ รักษาใจของเรา รักษาต้นไว้ รักษาต้นของมัน ถ้ามันไม่ออกดอกก็รักษาต้นมันไม่ให้ตาย ถ้าเรารดน้ำ พรวนดินที่ดีแล้ว เรารดน้ำ พรวนดินให้ปุ๋ยที่ดี ถึงเวลาถ้ามันออกดอก ออกผลเราจะได้ผลอันนั้น ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราต้องรักษาที่เหตุนั้น แต่เวลาเราฟังธรรมกันเราหวังผลๆ ทุกคนก็หวังผลทั้งนั้นแหละ แล้วไปเอาผล ไปเอาผลของใครล่ะ? ไปเอาผลของใคร?

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

เวลาพระอัสสชิสอนพระสารีบุตร เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ให้ไปดับที่เหตุนั้น ไปดับที่เหตุนั้น นี่ก็เหมือนกัน เราไปดับเรามีเหตุของเรา เราดับที่เหตุ เดี๋ยวผลมันมาเอง ถ้าผลมาเองเราจะรู้ว่าผลอันนั้นจะเป็นผลของเรา ถ้าผลของเราเกิดขึ้นมาเรารู้เอง ถ้าเรารู้เองอันนั้นเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรานี่ทำอย่างนี้

นี่อยากฟังธรรมๆ อยากฟังธรรมนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านลงมาจากเชียงใหม่ ท่านจะขึ้นไปอีสาน เจ้าคุณจูมธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์นิมนต์ นี่เวลามาพัก สมเด็จมหาวีรวงศ์ถามเลยว่าท่านอยู่กับตำรับ ตำรา ท่านยังต้องค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา แล้วหลวงปู่มั่นอยู่ในป่าท่านจะไปฟังธรรมที่ไหน? ท่านจะไปค้นคว้าตำรับ ตำราที่ไหน?

หลวงปู่มั่นบอกว่า “เกล้ากระผมฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา”

ถ้าฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา ธรรมมันเกิดตลอดเวลา ธรรมมันเกิดตลอดเวลา ความรู้สึกนึกคิดเราเกิดตลอดเวลา แล้วถ้าใจเป็นธรรมมันจะมีคุณธรรมแสดงออกมาตลอดเวลา คนเวลาปฏิบัติมันจะฟังธรรมอย่างนั้นเลย ถ้าธรรมมันไหลออกมาจากใจเรา เราจะได้ฟังธรรมตลอดเวลา

ฉะนั้น การฟังธรรม ถ้าของเราเวลามันไหลออกมานี่มันเป็นกิเลสไหลออกมา มันเป็นเรื่องขัดอกขัดใจ เป็นเรื่องความลังเลสงสัย เป็นเรื่องสิ่งต่างๆ ไหลออกมา สิ่งที่ไหลออกมาจากใจเรามันมีแต่กิเลส ถ้ามีแต่กิเลส มันยังไม่เป็นธรรมเราก็ต้องตั้งสติบริกรรม ต้องทำสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานถึงเกิดขึ้น ถ้าวิปัสสนากรรมฐานเกิดขึ้น เห็นไหม นี่จักรมันหมุนแล้ว พอจักรมันหมุน จักรมันหมุนคือธรรมจักรมันหมุน นี่ธรรมมันออกแล้ว

ถ้าธรรมมันออกขึ้นมามันคิดแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้นแหละ นี่คิดแต่เรื่องดีๆ นะ แต่เวลาถ้ามันเป็นสัจธรรม เป็นธรรมจักร ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบมันเกิดกำลังของสมาธิ มันเกิดเป็นพลังงาน พลังงานที่มรรคสามัคคี ธรรมจักร จักรนี่ดูสิดำริชอบ งานชอบ แล้วมันรวมตัวอย่างไร? มันรวมตัวเข้าไปแล้วมันสมุจเฉทปหาน มันทำลายกิเลส นั้นเป็นผลของมัน

นี่ฟังธรรมๆ ฟังธรรมจากข้างนอกอย่างหนึ่ง ฟังธรรมจากหัวใจเราอย่างหนึ่ง ถ้าฟังธรรมจากหัวใจของเรามันจะเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเราจะเกิดประโยชน์กับเรา ถ้าเกิดประโยชน์กับเรา นี่การปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ ปริยัติการศึกษามาจากภายนอก แต่ปฏิบัติมันจะเกิดจากในหัวใจของเรา แล้วถ้าเกิดจากในหัวใจของเราแล้ว เป็นความจริงในหัวใจของเรา มันยิ่งเป็นประโยชน์กับเรามากขึ้น เพราะมันได้ความจริงขึ้นมาเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการปรารถนาอย่างนี้ ปรารถนาอยากจะสร้างศาสนทายาท ศาสนทายาทคือในบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาสามารถประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนมีคุณธรรมขึ้นมาในหัวใจ เวลามารมาดลใจ มานิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานตลอดเวลา

“มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรา ยังไม่เข้มแข็งสามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เรายังจะไม่ยอมนิพพาน”

จนถึงที่สุด เผยแผ่ธรรมมา สร้างศาสนทายาทขึ้นมาเข้มแข็ง สุดท้ายวันมาฆะบูชา มารนิมนต์มาตลอด มาดลใจนิมนต์ตลอดให้นิพพานเถิด อยู่ไปทำไม เป็นพระอรหันต์แล้วอยู่ไปทำไม ให้เสวยวิมุตติสุขไปเลย นี่ถึงเวลาแล้วพอพระพุทธเจ้าเห็น

“มารเอย บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของเจ้าลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน”

นี่ถึงที่สุด ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้ามันมีคุณธรรมขึ้นมา เวลาปฏิบัติของเราขึ้นมา เรามีคุณธรรมของเราขึ้นมา สิ่งที่เป็นธรรมๆ เวลามันฟังธรรมในหัวใจ ออกมาเป็นธรรมหมดแหละ แต่ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่นะ กิเลสมันออกมามันก็เป็นเรื่องของกิเลสหมดในหัวใจ ถึงต้องฟังธรรมครูบาอาจารย์ อาศัย ต้องอาศัยไปก่อน

เวลาเราจะอาศัยครูบาอาจารย์นะ อาศัยครูบาอาจารย์ไป ดูสิเวลาหลวงตา ท่านบอกว่า ท่านลาหลวงปู่มั่นเข้าไปในป่า เวลาปฏิบัติยังไม่เป็น เวลามันเสื่อมมันก็เหมือนถ่านดำๆ ถ่านดำๆ มันสกปรกไปหมดเลย เวลามันจะจุดไฟขึ้นมามันก็เผาลนตัวเอง เวลาถ่านมันติดไฟขึ้นมามันก็เผาตัวมันเอง คือหันซ้ายก็ผิด หันขวาก็ผิด ทำอะไรมันไม่ไปไหนเลย แต่เวลาถ้ามันไปไม่รอดท่านกลับไปหาหลวงปู่มั่นเลย

ท่านพูดเองนะเวลาลาหลวงปู่มั่นไป ๒-๓ วันกลับมาแล้ว ถามว่าทำไมกลับมาแล้วล่ะ? ท่านรู้แล้ว ท่านแหย่เล่น เป็นอย่างไรกลับมาแล้ว? กลับมาเพราะมันสู้ไม่ไหว มันสู้กิเลสในใจไม่ไหว แต่เวลาท่านตั้งตัวของท่านได้ พอท่านฝึกหัดตั้งตัวของท่านได้ เวลาหลวงปู่มั่นท่านแก้จนไปได้ ทีนี้พอไปนั่นน่ะ กลับมาที โอ้โฮ ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? กลับมาเพราะอดอาหารมามาก นี่ท่านพลิกกลับเลย อืม นักรบ นักรบต้องเป็นอย่างนี้สิ ให้เข้มแข็ง ให้ต่อสู้ ถ้าต่อสู้มันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมาในใจ ถ้าใจมีความจริงขึ้นมานะมันจะพึ่งตัวเองได้ มันถึงจะเป็นศาสนทายาท

นี่ธรรมเป็นแบบนั้น ประโยชน์เป็นแบบนั้น เพื่อความจริงของเรา ถ้าความจริงเกิดขึ้นมันจะเป็นความจริงของเรานะ อันนี้เป็นการฟังธรรม นี่พูดถึงอยากฟังเทศน์ก็เทศน์ให้ฟัง จบแล้วเนาะ เอวัง