เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๑ พ.ย. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทุกคนเกิดมาอยากสะดวกสบาย อยากจะทำสิ่งใดสมความปรารถนาทั้งหมด แล้วเวลาตั้งความหวัง เห็นไหม ถ้าความเชื่อมันมีมันก็เป็นไปได้ ศรัทธาคือความเชื่อ ความเชื่อว่ามรรคผลมีเราก็จะประพฤติปฏิบัติกัน แต่ทางโลกเขาบอกมรรคผลมันไม่มีหรอก นรกสวรรค์ เขาเขียนเสือให้วัวกลัว ทำสิ่งใดแล้วมันก็แล้วกันไปไง แต่เวลาตกทุกข์ได้ยากนะ เวลาคนไม่ตกทุกข์ได้ยากยังปากแข็งได้ เวลาตกทุกข์ได้ยากนะ มันเจ็บช้ำน้ำใจนี่ใครช่วยเหลือเจือจานสิ่งใดได้ล่ะ มันฝังอยู่ในหัวใจทั้งนั้นแหละ

ทีนี้คนเกิดมาทุกคนปรารถนาอยากให้ประสบความสำเร็จ เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ขิปปาภิญญา เวลาฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวแล้วเป็นพระอรหันต์ นี่เขาสร้างสมบุญญาธิการเขามา เขาสร้างของเขามานะ เวลาคนไม่ศรัทธานี่ไม่เชื่อหรอกว่าคนเขาเสียสละชีวิตกันอย่างใด เวลาพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลนะสำเร็จท่ามกลางปากเสือ เวลาเสือกินเท้าเข้าไป เห็นไหม กินตั้งแต่เท้าเข้าไป กินไปถึงหัวเข่าเข้าไป กินถึงบั้นเอว

อย่างเรานะแค่เจ็บปวดขนาดนี้เราก็ทนไม่ได้แล้วแหละ แต่ทำไมพระท่านเวลาเสือมันกิน มันกินเข้าไปเลยนะ ทำไมท่านวิปัสสนาของท่านได้ล่ะ เวลาเราเจ็บปวดของเรา เราจะมีอารมณ์วิปัสสนาไหม จิตใจของเรามันอยู่ที่เจ็บปวด มันโอดโอยอยู่แล้วแหละ แต่นี่เวลาเสือมันกิน มันกัดเท้า กัดเข้าไปถึงหัวเข่ากับถึงบั้นเอว คิดดูสิมันกัดเท้าเรา มันกินเท้าเราไป เราจะเจ็บปวดขนาดไหน ทำไมท่านวิปัสสนาของท่านได้ ทำไมท่านรักษาใจของท่านได้

คำว่ารักษาใจของท่านนะ ถ้ามันไปอยู่ที่เจ็บปวดมันก็ส่งออกใช่ไหม นี่มันไม่ส่งออก มันอยู่ที่จิตนั้น จิตมันวิปัสสนาไป วิปัสสนาตรงไหน วิปัสสนา เห็นไหม นี่เราจะตายแล้วล่ะ ขณะนี้เสือกินเราแล้วล่ะ ถ้าเสือมันกินเรานะ ชีวิตเราต้องสิ้นไปแล้วล่ะ แล้วชีวิตสิ้นไป มันจะเวียนตายเวียนเกิดไหม...มันไม่ตีโพยตีพายเพราะอะไร นี่เขาสร้างบุญญาธิการของเขามา แต่ของเรา เราไม่ได้สร้างบุญญาธิการมา สิ่งใดขัดข้องหมองใจมันสะเทือนใจไปหมดเลย ถ้ามันสะเทือนใจไปหมด เราจะต้องมีสติ มีปัญญา เพราะเราสร้างบุญมาขนาดนี้ไง

เราสร้างเวรสร้างกรรมของเรามานะ ถ้าเรามีความเชื่อความศรัทธา เรายังมีความศรัทธาอยู่ เรามีความศรัทธา ศรัทธาที่ไหน เขาบอกทำไมต้องนับถือศาสนาด้วย ถ้าเราถือศีล เราปฏิบัติของเรา ไม่ต้องนับถือศาสนาพุทธไม่ได้หรือ นี่เขามาถามนะ เราบอกว่านั้นคือการไม่เคารพตนเอง การเคารพตนเอง เห็นไหม ถ้าจิตใจเราศรัทธาเราเชื่อ ถ้ามีศรัทธาความเชื่อ มีการกระทำขึ้นมา เห็นไหม เราเคารพตนเอง แต่เราบอกว่าเราถือศีล ๕ ศีล ๕ เราถือศีล ๕ ก็ได้ เราประพฤติปฏิบัติก็ได้ เราไม่ต้องนับถือพุทธศาสนาได้ไหม

นั้นไม่เคารพตนเอง ไม่เคารพตนเองหมายความว่า ศีล ๕ มันก็ศีล ๕ ตามที่มันพอใจ เวลามันปฏิบัติขึ้นมามันปฏิบัติที่มันพอใจ ถ้าส่งออกมันบอกวิปัสสนา ถ้ามันเข้ามามันบอกว่าผิด เพราะอะไรล่ะ เพราะมันปฏิบัติตามความพอใจ ตามกิเลส ตามตัณหาความทะยานอยาก ตามสมุทัย ไม่ใช่ตามศาสนาพุทธ ถ้ามันตามศาสนาพุทธนะ พุทธศาสนา ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เขาบอกว่าทำไมต้องนับถือศาสนาด้วย

กรณีนี้เป็นกรณีของวัยรุ่น วัยรุ่นพูดอย่างนี้บ่อยกันมาก เพราะถือว่าอีโก้ไง ถือว่าอัตตาตัวเองสูงมาก ถ้าอัตตาตัวเองสูงมาก ไม่เคารพตนเองคือไม่เคารพพุทธะ ไม่เคารพความจริงไง ความจริงคือพลังงานตัวนั้น พลังงานคือตัวจิต ถ้าจิตมันเป็นพลังงานตัวนั้น เราเคารพตัวเราเอง พลังงานนั้นต้องออกมาต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องมีความเห็นถูกต้อง ถ้าเป็นความเห็นถูกต้องนะ เวลาถือศีล ๕ ศีล ๕ นั้นสะอาดบริสุทธิ์ เห็นไหม ถ้าศีล ๕ เป็นศีล ๕ ขึ้นมา

ไม่ใช่หลวงตาบอกว่าศูนย์ไง ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ มันเหลือศูนย์ไง ศูนย์เพราะอะไร ศูนย์เพราะกิเลสมันครอบงำ ศูนย์เพราะกิเลสมันผลักไส เพราะกิเลสมันไม่เอามาเป็นประโยชน์ไง มันเอาแต่ตัวมันเองเป็นที่ตั้ง ถ้าเอาตัวเองเป็นที่ตั้งนี่ไม่เคารพตนเอง ไปเคารพกิเลส กิเลสมันเหยียบหัวเอา พอกิเลสเหยียบหัวเอา ทิฏฐิมานะว่ากันไป นี่กิเลสพูด เวลากิเลสมันพูดน่ะมันอาศัยจิตนี้ อาศัยร่างกายนี้ อาศัยปากเราพูดออกมา แต่เวลาถ้าธรรมมันพูดนะ เวลาธรรมมันพูดนะมันคอตกไง เวลาธรรมะมันขึ้นมานี่เราคอตกเลยนะ มันสลดสังเวชไง มันสลดสังเวชมาก มันสลดสังเวช เห็นไหม

นี่เคารพตนเอง เคารพตนเองที่ไหน ถ้าใครเคารพตนเองคนนั้นจะเป็นคนดีมาก คนดีมากเพราะอะไร เพราะถ้าเราเคารพเรานะ เราศรัทธาในตัวเรา เห็นไหม เราจะทำสิ่งใด เพราะเราศรัทธาในตัวเรา เรามีค่าใช่ไหม ถ้าเราทำผิดมันก็เป็นบาปอกุศลใช่ไหม ถ้าเราทำถูกมันก็เป็นบุญกุศลใช่ไหม ถ้าเราเคารพตัวเองเราก็เคารพคนทุกๆ คนไป แต่ถ้าเราไม่เคารพตัวเราเอง เราเหยียบย่ำตัวเราก่อน มันมีทิฏฐิมานะ เราเหยียบหัวเขาไปหมดเลย จะทำลายคนไปหมดเลยเพราะอะไร เพราะอีโก้ อัตตาตัวตนมันสูงส่งขึ้นมา เห็นไหม นั้นคือการไม่เคารพตัวเอง

ฉะนั้น ถ้าเคารพตัวเองขึ้นมาปั๊บ เรามีศรัทธาความเชื่อ เชื่อที่ใคร? เชื่อที่พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธ ถ้าเราเชื่อพุทโธ เชื่อพลังงาน เชื่อความดีงามของเรา เห็นไหม แต่ถ้าเราบอกว่าเราทำสิ่งใดก็ได้ นั่นมันเป็นการส่งออก มันไม่เห็นตัวมันเอง ถ้าไม่เห็นตัวเองนะ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต แค่จิตสงบนี่มันทึ่งนะ ถ้าจิตสงบ เห็นไหม สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ถ้าจิตสงบนะมันมีความสุขมัน

แต่ในปัจจุบันนี้เขาว่าว่างๆ ว่างๆ นั้นมันไม่สงบ มันไม่สงบจริง พอไม่สงบจริงมันก็ไม่มีผลจริง ไม่มีผลจริงมันก็ไม่มีความสุขไง แล้วเขาก็แปลกใจนะ เอ๊ะ! ศาสนาพุทธว่าวิมุตติสุขๆ มันก็ว่างๆ ว่างๆ แทบจะไม่มีความสุขเลย ทำไมปฏิบัติมันจืดชืด ทำไมปฏิบัติแล้วไม่มีอารมณ์เลย ปฏิบัติทำไมไม่รู้เหนือรู้ใต้เลย เห็นไหม นี่มันไม่เคารพตนเอง ไม่เคารพตัวเอง ตัวเองก็ไม่ได้ผลสิ่งใดเลย

ถ้าเคารพตัวเองนะ มีสติ พอมีสติมันก็มีจิต เพราะสติปัญญาทุกอย่างเกิดที่จิต ศีล สมาธิ ปัญญาเกิดจากจิต นี่มันมีตัวจิตเพราะมันเคารพตนเอง จิตมันมีศักยภาพ เวลามันเข้ามาถึงตัวมันเองจิตมันจะสงบเข้ามา พุทโธ พุทโธ มันปล่อยวาง ปล่อยขันธ์ ปล่อยธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เข้ามาเป็นตัวของเขาเอง ตัวจิต เห็นไหม นี่ปฏิสนธิจิต จิตเกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ เกิดในโอปปาติกะ การเกิด กำเนิด ๔ พอกำเนิดแล้วได้สถานะ

สถานะ เห็นไหม ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือความคิด เวลาเกิดแล้วมีขันธ์ ๕ มีความคิด เราก็คิดของเรา เออ! จิตเป็นอย่างนี้ๆ...นั่นความคิดทั้งนั้นแหละ ในเมื่อพุทโธ พุทโธก็เป็นความคิด ทุกอย่างเป็นความคิดทั้งนั้นแหละ เพราะเป็นความคิด แต่คิดด้วยมีสติ คิดด้วยความเคารพ คิดด้วยมีความเคารพ ด้วยมีสติมันปล่อยเข้ามา เห็นไหม บริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ เพราะอะไร เพราะมันชัดเจนไง มันพุทโธ พุทธานุสติ นี่จิตเป็นคนระลึกถึงพุทโธ พุทโธเกิดจากจิต นี่ชื่อของมัน ชื่อของธาตุรู้ ชื่อของพุทธะ

พุทโธ พุทโธ พุทโธ เวลามันปล่อยพุทโธนี่มันปล่อยขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันปล่อยเข้ามาๆ เป็นตัวเป็นอิสรภาพ แล้วมันมีความสุข สุขจริงๆ มาก พอจิตมันสงบเข้ามานี่มีความสุขมาก เวลาจิตมันลงอัปปนาสมาธิ เห็นไหม มันชุ่มชื่น มันมีความสุขนะ มันสักแต่ว่า มันสักแต่ว่ามหัศจรรย์ไง ไม่ใช่สักแต่ว่าลืมๆ ไง นี่สักแต่ว่า นี่ก็สักแต่ว่า ดูโลกนี้เป็นสักแต่ว่า ไม่รับรู้สิ่งใดเลย...นั่นมันเผลอ นั่นมันปฏิเสธ ปฏิเสธว่าไม่มี นี่สักแต่ว่า ไม่มีแบบสักแต่ว่าด้วยการปฏิเสธ ด้วยการไม่รับรู้ไง แต่ถ้ามันสักแต่ว่านี่มันรู้ รู้ชัดๆ สักแต่ว่าตัวมันเอง ตัวมันเองรู้ตัวมันเอง มันสักแต่ว่า มันรู้ของมันชัดๆ อย่างนั้นน่ะ นี่ไงความสุขมันเกิดตรงนี้ไง ถ้ามันเกิดตรงนี้ เห็นไหม เราเคารพตัวเราเอง

แล้วมันปรารถนา ปรารถนาให้เราเป็นอิสระ ปรารถนาให้จิตมันสงบเข้ามา ถ้าปรารถนาสิ่งนี้ มันทำของมัน ถ้าทำของมัน จิตมันสงบเข้ามาแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าจิตมันสงบระงับพอสมควร ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิคือมันสงบแล้วมีกำลังด้วย มีความรู้สึกด้วย แต่มันยังรับรู้ได้ รับรู้เสียงได้ รับรู้ต่างๆ รับรู้ขันธ์ ๕ ได้ จิตใจมันสงบเข้ามา เห็นไหม เหมือนไข่กับเปลือกไข่ นี่ไข่ในจาน จานไม่ใช่ไข่ ไข่ไม่ใช่จาน ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด พอมันสงบเข้ามามันเห็นนะ ไข่กับจานมันรับรู้กัน เห็นไหม ตัวไข่คือตัวธาตุรู้ มันอยู่บนจานมันก็รู้ว่าจาน นี่มันมหัศจรรย์ พอมหัศจรรย์นี่มันวิปัสสนาได้ไง นี่ไงอุปจารสมาธิ ถ้าอย่างนี้เราฝึกหัดใช้จิตเราพิจารณาของเราไป พิจารณาธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาของเราไป

ถ้าพิจารณาไป เวลาถึงที่สุดเวลามันขาดนะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ ดูสิเวลาหางจิ้งเหลนมันขาด หางจิ้งจกมันขาด มันดิ้นของมัน แต่มันไม่มีใครรับผิดชอบมัน นี่เวลามันขาดออกไป แต่เวลาเขากวาง กวางบางชนิดมันจะสลัดเขาของมัน เวลาเขาของมัน มันสลัดเขาของมัน พอสลัดแล้วเดี๋ยวเขามันก็ขึ้นใหม่

นี่ก็เหมือนกัน เวลาขาดถ้ามันปล่อยวางชั่วคราว ว่ามันขาดๆ นี่มันขาดโดยจินตนาการ มันพิจารณาของมันไป มันต้องเป็นอย่างนั้น มันเป็นระหว่างที่เราพิจารณาธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ พิจารณาไปแล้วมันปล่อยๆ ปล่อยมันก็ปล่อยวางชั่วคราว มันเหมือนกับขาดนั่นแหละ เพราะมันปล่อย เห็นไหม ไข่กับจาน

จิตกับขันธ์ เวลามันปล่อย ปล่อยแล้วเหมือนเขากวางมันจะงอกอีก เดี๋ยวเขากวางมันก็งอกขึ้นมาใหม่ พอมันสลัดเขาเดี๋ยวมันก็งอกขึ้นมาใหม่ แต่เวลาหางจิ้งเหลน หางจิ้งจกมันขาดไปแล้วมันขาดเลยนะ มันขาดมันดิ้นของมันอยู่นั่น แต่มันไม่มีใครรับผิดชอบมัน เห็นไหม นี่เวลาจิตมันเป็นไปเราพิจารณาของเรา เราต้องมีความขยันหมั่นเพียร ถ้ามีความขยันหมั่นเพียรขึ้นมา เราทำของเพื่อเราไง เราทำเพื่ออบรมหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรานะ จิตมันสงบแล้วมันได้อบรมบ่มเพาะ มันได้ฝึกหัดใช้ปัญญา เวลามันฝึกใช้ปัญญามันรู้ของมันเองนะ

เวลาเขาข่มเขาโคกินหญ้า โคมันไม่ยอมกิน ข่มจับเขามัน กดมันให้มันกินหญ้าๆ หญ้านี้อร่อย หญ้านี้ดี หญ้านี้สดๆ นะเพิ่งเกี่ยวมา ข่มเขาควายกินหญ้า นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันพยายามพิจารณาไปมันข่ม ข่มหัวใจ ข่มหัวใจเป็นธรรมๆ นี่สักแต่ว่าๆ มันปล่อยแล้ว มันขาดแล้ว มันข่ม ข่มหัวใจ นี่มันข่ม ใช้สติปัญญาเราด้วยข่มใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ มันไม่เป็นน่ะ มันเป็นธรรมที่ขณะว่ามันพิจารณาของมัน มันปล่อยวางมันก็ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เกิดอีก

ถ้าขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เวลาพิจารณาแล้วมันจะรวดเร็ว มันจะขาดด้วยกำลังของมัน แต่ถ้าเราพิจารณาของเราแล้วมันปล่อย เราทำมาถูกทางแล้วนะ เราพิจารณาของเรา มันปล่อยวางไปแล้วเราเดินมาถูกทางแล้วแหละ แต่เวลาคนปฏิบัติ เห็นไหม หัวใจที่มันไม่มีกำลัง หัวใจที่มันอ่อนแอมันก็อยากเรียกร้องให้มันเป็นธรรม แล้วสิ่งที่เป็นธรรมขึ้นมา พอไม่เป็นธรรมขึ้นมามันก็น้อยใจ พอมันน้อยใจ การปฏิบัติมันก็ท้อแท้ พอความท้อแท้ สิ่งนั้นมันก็ซับสมเข้าไปที่หัวใจ เห็นไหม นี่เวลากิเลสมันแหย่ขึ้นมาเราก็มีไฟสุมขอนเผาอยู่ในหัวใจ

แต่ถ้าเราบอกเราสร้างกรรมมาอย่างนี้ เรามีอำนาจวาสนาอยู่แล้ว เพราะเราประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว ทาน ศีล ภาวนา เราทำภาวนานี่มันสุดยอดของธรรมะอยู่แล้ว เราปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาเพื่อเกิดปัญญา เพื่อเกิดปฏิภาณไหวพริบเพื่อให้มันฉลาดขึ้นมา เราก็ขยันหมั่นเพียรของเรา มันจะทุกข์มันจะยากก็เวรกรรมของเรา ก็เราสร้างมาอย่างนี้ เราสร้างของเรามา เราไม่ได้สร้างมามหาศาลแบบครูบาอาจารย์เราที่ขิปปาภิญญา ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย นั่นท่านสร้างของท่านมา

ท่านต้องสร้างของท่านมา เราจะไปขโมยของใคร เราจะไปฉกฉวยอำนาจวาสนาบารมีของใครมายัดในใจเรานี่มันไม่มีหรอก มันต้นทุนที่ใจเรานี่แหละ เราทำมาได้มากได้น้อยแค่ไหนเราก็พยายามทำของเราไป เราจะไปน้อยใจอะไร เวลาคนเขาเสียสละ เขาทำของเขา เขายังทำของเขาได้ เวลาเราไม่ได้ทำของเรา เราก็มีเท่านี้แหละ เรามีเท่านี้เราก็ใช้เท่านี้ เรามีเท่านี้เราก็ปฏิบัติเท่านี้ เรามีเท่าไรเราก็พยายามทำของเรา แล้วเราก็ขยันหมั่นเพียรของเราไป

ถ้าขยันหมั่นเพียรของเราไป เห็นไหม นี่คนขยันหมั่นเพียรคนนั้นจะประสบความสำเร็จ

“มนุษย์จะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร”

เรามีความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เราทำของเรา นี่เราเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านไม่ได้โกหกหลอกลวงเราหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ เราก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะเราก็เกิดมาจากท่านนี่แหละ เกิดมาจากธาตุรู้นี่แหละ แต่เราเกิดมาแล้วเราไม่เห็นท่านต่างหาก เราไม่ดูแลท่าน เราปล่อยท่านไปเอง

แต่ถ้าเรามาดูแลใจของเรา เรามีสติปัญญาของเรา เราก็จะดูแลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะดูพุทธะในหัวใจของเรา แล้วนี่พระพุทธเจ้าอยู่กลางหัวอกเรา เราพิจารณาของเรา เราทำของเรา นี่เราเป็นคนมีสติปัญญา เราไม่หลงโลก เราไม่เกิดมารกโลก เราไม่เกิดมาอยู่กับเขา เราเกิดมาเพื่อพิจารณาของเรา เราก็เป็นคนมีวาสนาแล้ว ถ้าคิดได้อย่างนี้มันก็มีกำลังขึ้นมา คิดอย่างนี้มันก็ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วมันทำของมันได้ มันปฏิบัติได้ นี่เราปฏิบัติ เห็นไหม พูดเพื่อให้กำลังใจนะ

เวลาหลวงปู่ขาวท่านสละบ้านสละเรือนออกมา แล้วท่านบวชมา ท่านบวชออกมาอยู่วัดบ้าน เวลาท่านจะออกประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ญาติโยมต่างๆ ว่า “อยู่ที่นี่ก็ดีแล้ว อยู่ที่นี่ก็สะดวกสบายแล้ว ทำไมต้องไปทุกข์ ไปยากด้วย”

หลวงปู่ขาวท่านปฏิญาณในหัวใจของท่าน ท่านเล่าให้หลวงตาฟัง

“ตั้งแต่ออกจากวัดนี้ไป ถ้าไม่สิ้นกิเลส ไม่เหยียบกลับมาอีกเลย”

ท่านออกมานะ แล้วท่านปฏิบัติของท่าน ไปหาหลวงปู่มั่นจนถึงท่านสิ้นกิเลส ท่านถึงได้ย้อนกลับไปบ้านเดิมของท่าน นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของเรานี่ หลวงตาท่านชมหลวงปู่ขาวมากว่าหัวใจท่านเข้มแข็ง หัวใจของท่านเคี้ยวเพชรได้เลย กัดเพชรนี่แหลกหมดเลย เห็นไหม ความมั่นคง ความแข็งแรง ความวิริยอุตสาหะในหัวใจ อันนั้นแหละมันจะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าจิตใจเราอ่อนแอ เราเคี้ยวอะไรก็ไม่แหลก เราทำสิ่งใดก็ไม่ได้ เพราะจิตใจของเราอ่อนแอ ถ้าจิตใจของเรามั่นคงขึ้นมา แล้วให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง แล้วเราจะได้มีธรรมในหัวใจของเรา เอวัง