ใจหลงคิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ข้อ ๑๒๐๕. มันยกเลิกคำถาม ข้อ ๑๒๐๕. ยกเลิกคำถามเนอะ เขายกเลิก
ถาม : ข้อ ๑๒๐๖. เรื่อง ขอเรียนถามเรื่องความละเอียดในการพิจารณาครับ
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ผมใช้การพิจารณากายก็พิจารณาไปทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะ อาหาร หรือลักษณะสุดท้ายของกายที่จะต้องตายลงไป เป็นต้น แต่ปัญหาของผมคือเมื่อจิตเห็นกายแล้วปล่อยสมมุติอันวุ่นวาย อันทำให้ลังเล สองจิตสองใจ และเกิดทุกข์ลงได้ แล้วตัวจิตจะรวมอยู่ที่หน้าอก แต่มันก็ไม่มีนิมิตอะไรเกิดขึ้นมาเลย อีกทั้งหากจะรำพึงถึงกาย จิตก็จะรวมลงคล้ายออกไปเลย เสมือนหนึ่งว่าหาผู้กระทำความผิดไม่เจอ
ผมระลึกถึงตอนที่หลวงพ่อเมตตาตอบคำถามแก่ผมไว้ว่า ให้ดูตอนที่มันออกพิจารณาอนุโลม ปฏิโลม รวมถึงการพิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นทุกอย่างต่อหน้า
ผมได้ปฏิบัติตามนั้นได้ผลดียิ่ง และได้ความรู้จากภายในมากและชัดเจน แต่ก็มีปัญหาบางประการอยากขอความเมตตาจากหลวงพ่อเพื่อถามคำถามดังต่อไปนี้
๑. ผมดูขณะที่มันส่งออก ก็พิจารณาย้อนไปหาสาเหตุเลยว่ามันส่งออกเพราะอะไร? ก็จะพบสาเหตุแต่ละครั้งที่มันออก เช่นมันไปติดกับสมมุติ เช่นนิมิตกายว่าเป็นเรา หรือมันไปติดกับกำลังอัดของจิตมันที่เพิ่มกำลังมากขึ้น ก็ว่านั่นเป็นเราอีก เป็นต้น จิตก็กลับมารวมต่อ แล้วก็พิจารณาตอนมันส่งออกอีก กราบเรียนถามว่า ผมจะพิจารณาให้มันลงได้ การกระทำเช่นนี้เพียงพอหรือไม่
๒. ผมดูขณะที่มันส่งออก แล้วพิจารณาว่าใครเป็นผู้กระทำให้พลังงานส่งออก และส่งออกไปเพื่ออะไร? คราวนี้ความรู้จะไปอีกมิติหนึ่งเลยครับ คือเห็นว่าใครนั้นที่คอยบอกว่าสิ่งนั้นถูกต้อง หรือสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง เสมือนเป็นนายทาสของพลังงานตัวรับรู้นั้น ใช้สิ่งนี้ควบคุมพลังงาน รับรู้ให้อยู่ในอำนาจของเขา แล้วสร้างวัฏวนโดยพลังงานรับรู้ เป็นทั้งตัวสร้างวัฏวนก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฏฏะเสียเองด้วย ตามความประสงค์ของใครผู้นั้น และตามกำลังของอำนาจวาสนาของพลังงานรับรู้นั้นประกอบไปกัน กราบเรียนถามว่าผมจะต้องพิจารณาใครตัวนี้หรือไม่ และต้องพิจารณามันอย่างไร? พิจารณาใคร? พิจารณาผู้รู้ พิจารณาก้อนจิต
ตอบ : เพราะเราพูดอย่างนี้บ่อย เราพูดอย่างนี้บ่อย มีคนถามปัญหานี้มามาก ว่าไอ้ที่เป็นก้อนๆ นั้นคืออะไร? ไอ้ที่เป็นจิตนั้นเป็นอะไร? นี่มันก็เป็นสมมุติอันหนึ่งนะ สมมุติไง สมมุติที่ว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับโมฆราช
เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ
ทีนี้คำว่ากลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ไอ้ก้อนของจิตเอย ไอ้ตัวที่ว่าเป็นใคร ไอ้ตัวต่างๆ นี่เราก็ไปสมมุติขึ้นมาอันหนึ่ง แล้วถ้ามันไม่สมมุติมันมีจริงหรือเปล่า? มันมีของมันจริงๆ ทั้งนั้นแหละ เพราะกิเลสเป็นนามธรรม แต่พอกิเลสเป็นนามธรรม เราพิจารณาขึ้นมา พิจารณาเพื่อจะปล่อยวาง พิจารณาเพื่อชำระล้างกิเลส ถ้าชำระล้างกิเลสไปชำระล้างที่ไหนล่ะ? เราไปสมมุติอันใดเป็นที่ตั้งนะมันก็เป็นประเด็นขึ้นมา แล้วถ้าเราไม่สมมุติล่ะ? ไม่สมมุติมันก็มีของมันอยู่ไง
ทีนี้พอมันสมมุติขึ้นมามันก็อยู่ที่จิตของใคร นี่อยู่ที่กิเลสของใคร กิเลสของใครมันไปติดตรงไหน มันสร้างสิ่งใด ถ้ากิเลสของใครนะ แล้วมันติดตรงไหน ถ้ามาประพฤติปฏิบัติมันยังดี มันยังเห็นว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส แต่ถ้าคนที่เขาไม่ได้ปฏิบัติเลยเขาว่าเขาไม่มีกิเลส เพราะคำว่ากิเลสๆ คืออะไรเขาไม่รู้จัก เขารู้จักแต่ว่าความพอใจของเขา เขามีความพอใจของเขา เขามีความปรารถนาของเขา เขามีความคิดของเขา เขาจะทำทุกอย่างให้สมความปรารถนาเขา เขาว่าสิ่งนั้นเป็นความสุขของเขา นี่เป็นความสุขของเขา เป็นความสุขที่กิเลสมันสร้างขึ้นไง กิเลสมันสร้างขึ้นคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง
ตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม ตัณหา วิภวตัณหา อยากได้ อยากดี อยากเด่น ผลักไสสิ่งที่ไม่ต้องการต่างๆ มันก็ต้องการของมัน กิเลสมันต้องการของมันใช่ไหม? เราก็บอกว่าสิ่งที่เป็นความพอใจๆ สิ่งนั้นเป็นความสุขของเรา เป็นความพอใจของเรา เราก็ทำตามสิ่งนั้น เพราะเขาไม่รู้จักกิเลส เขาไม่ใช่นักปฏิบัติ แต่พอนักปฏิบัติขึ้นมา นักปฏิบัติขึ้นมา เรายังปฏิบัติไม่เป็น เราปฏิบัติไม่เป็นเราก็มีครูบาอาจารย์ เราก็มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกถึงวิธีการเอาไว้
ถ้าบอกถึงวิธีการเอาไว้ เราก็ให้ชื่อมันไงว่าคนนั้นเป็นชื่ออย่างนั้น กิเลสเป็นชื่ออย่างนี้ กิเลสเป็นชื่ออย่างนั้น พอกิเลสเป็นชื่ออย่างนั้นปั๊บเราก็บอกว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น แล้วกิเลสของใคร จริตของใครมันติดสิ่งใด บอกไอ้ก้อนๆ ไอ้ก้อนๆ ที่กลางหัวอกมันคืออะไร? ไอ้ก้อนๆ ไอ้ก้อนๆ คำว่าก้อนๆ เมื่อก่อนการปฏิบัติเริ่มต้น คนที่ยังเริ่มปฏิบัติ เพราะกิเลสเป็นนามธรรม กิเลสเป็นนามธรรม เขาก็หากิเลสไม่เจอ พอหากิเลสไม่เจอ กิเลส เห็นไหม นี่เวลาที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับหลานของพระสารีบุตรไง
ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ อารมณ์ความรู้สึกของเธอที่ไม่พอใจ เธอก็ต้องไม่พอใจสิ่งนั้นด้วย เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกที่เธอไม่พอใจด้วย
อารมณ์ความรู้สึกที่เธอไม่พอใจ ไม่พอใจสิ่งต่างๆ ไม่พอใจทุกคนเลย แต่ไม่คิดถึงไอ้ความรู้สึกนึกคิดที่ไม่พอใจเขา อันนั้นก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง อันนั้นก็เป็นก้อนๆ อันหนึ่ง เห็นไหม นี่อันนี้มันเป็นผู้ที่มีปัญญาเขาจับของเขาได้ ถ้าจับของเขาได้ เขาเห็นของเขาได้ เขาจับของเขาได้จริงนะ พอจับได้จริง เหมือนเรานี่ไปหาหมอ หมอบอกว่าเป็นมะเร็ง อีก ๒ วันตาย โอ๋ย ช็อกเลยนะ ถ้าหมอไม่บอกว่าเป็นมะเร็งนะ แหม ชีวิตนี้ยังราบรื่น ชีวิตนี้ยังสวยงาม โอ๋ย โลกนี้เป็นของเราอยู่นะ พอหมอบอกว่าเป็นมะเร็ง อีก ๒ วันตายช็อกเลยนะ เข่าอ่อนเลย เดินไม่เป็นเลย
เวลามันเห็นกิเลสมันเห็นอย่างนั้นแหละ เวลาถ้าจิตสงบแล้วเห็นกิเลสมันจะเห็นอย่างนั้น เห็นโทษของตัวเอง ขนพองสยองเกล้า แต่นี้การเห็น นี่ใจมันหลงคิดไป เพราะมันมีครูบาอาจารย์บอก ครูบาอาจารย์บอกเอย แล้วเวลาเราพิจารณาของเราไป ใจมันหลงคิดกันไป ใจมันหลงความคิด นี่หลวงปู่สุวัจน์บอก
ใจนี้ร้ายนัก เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว คิดดี คิดชั่ว เดี๋ยวฝักใฝ่คนนู้น เดี๋ยวฝักใฝ่คนนี้ เดี๋ยวมันก็ทำร้ายเรา เดี๋ยวมันก็ยกย่องเรา ใจนี้รักดี รักชั่ว ใจนี้ให้คุณ ให้โทษ
ใจนี้ เห็นไหม ใจนี้ทั้งนั้นเลย แล้วพอใจนี้ขึ้นมา เวลาเราปฏิบัติไปใจนี้มันอยู่กับเราแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่เราไปรู้ ไปเห็นต่างๆ ไอ้สิ่งที่เราพิจารณา ถ้าเขาพิจารณามันก็ว่างหมด มันก็จับต้องสิ่งใดไม่ได้ คือมันจับจด เวลาปฏิบัติใหม่ๆ นะมันจับจด มันเป็นตรรกะ ตรรกะเป็นการอนุมาน อนุมานว่านั่นคือกิเลส อนุมานว่าเป็นสิ่งนั้น อนุมานว่าเป็นสิ่งนี้ แล้วอนุมานโดยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย นี่เป็นสมุทัย นี่เป็นกิเลส เป็นตัณหาความทะยานอยาก เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นอกุศล เราก็อนุมานๆ อนุมานเอา
แต่เวลาคนเขาไปเห็นเขาเห็นจริงๆ ทีนี้พอเห็นจริงๆ นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับหลานของพระสารีบุตร
ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกที่เธอไม่พอใจอันนั้นด้วย
เธอต้องเป็นสุภาพบุรุษสิ ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ไม่พอใจอะไรไปหมดเลย อารมณ์ความรู้สึกมันก็เป็นสิ่งหนึ่ง ถ้าเป็นสิ่งหนึ่งเธอก็ต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย ถ้าอารมณ์ความรู้สึก ถ้ามันเห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกเราเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันก็เอาอารมณ์ความรู้สึก เพราะมันมีอารมณ์ มันถึงได้เอาอารมณ์นั้นมาเป็นรสชาติ พอเป็นรสชาติมันก็เป็นตัณหา มันก็เป็นสมุทัย มันก็เที่ยวโกรธ เที่ยวไม่พอใจเขา
ถ้ามันไม่พอใจเขา มันก็ไม่พอใจจากอารมณ์เรานี่แหละ ไม่พอใจจากสมุฏฐานที่เราคิดนี่แหละ แล้วสมุฏฐานที่เราคิดอยู่ นี่เราคิดแล้วเราไม่พอใจคนอื่น แต่เราไม่ได้คิดถึงสมุฏฐานแห่งเหตุอันนี้เลยว่ามันไม่พอใจเขาเพราะเหตุอันนี้ ถ้าเธอมีปัญญารู้เท่าตรงนี้ เธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ ที่ไม่พอใจเขา มันก็จะไม่มีเหตุไปไม่พอใจคนอื่นไง ถ้ามันรู้เท่าอารมณ์ของมันเอง รู้เท่าเหตุที่มันไม่ไปพอใจเขา มันจะไม่พอใจคนอื่นได้ไหมถ้ามันรู้เท่าอารมณ์ของมัน นี้มันไม่รู้เท่า มันไม่รู้เท่าอารมณ์ของมัน แต่มันไม่พอใจสิ่งที่กระทบข้างนอกนู่น
ฉะนั้น ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นของมัน มันจับต้องของมันได้มันถึงไม่เร่ร่อน มันถึงไม่จับจด มันถึงไม่สับสน วิปัสสนาๆ นี่สติปัฏฐาน ๔ พิจารณาปฏิบัติโดยแนวสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ อนุมานเอาทั้งนั้นแหละ มันอนุมานเอาทั้งนั้นแหละ มันไม่มีจริงหรอก แต่ถ้ามันมีจริงขึ้นมา มันจับของมันได้ มันเป็นความจริงขึ้นมามันจับของมันได้ ถ้าจับของมันได้ มันจับแล้วมันเป็นปัจจุบัน ถ้าปัจจุบัน สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม?
ฉะนั้น จะย้อนกลับมาที่ว่าปฏิบัติ ที่ว่าการพิจารณากายๆ พิจารณาอสุภะต่างๆ ถ้าใจมันดีขึ้นก็ดีขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่เรากระทำ เห็นไหม เรากระทำของเรา เราปฏิบัติของเรา นี่อนุโลม ปฏิโลมของเราไปเรื่อยๆ นี่ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ซ้ำไปเรื่อยๆ หลวงปู่มั่นเทศนาสอนลูกศิษย์ทุกองค์ คนจะทำนาก็ทำลงที่นานั่นแหละ หมั่นคราด หมั่นไถของมันอยู่นั่นแหละ
นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติก็ปฏิบัติอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ แต่ปฏิบัติไปแล้ว ทำนานะถ้ามันได้ผลมันได้ข้าว ได้ประโยชน์ของเรา เราก็พอใจ ถ้าทำนานะ เวลาน้ำท่วมต้นข้าวนี่เน่าหมดเลย เวลานามันแล้งนะต้นข้าวมันก็แห้งตายหมดเลย เราจะไม่ได้ข้าวเลย ในการปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน เดี๋ยวน้ำท่วม เดี๋ยวภัยแล้ง นี่ถ้ามันปฏิบัติดี สัมมาสมาธิทุกอย่างพร้อมมูลมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางทำนาก็ได้ผล การทำนา เดี๋ยวก็ได้ผล เดี๋ยวก็ไม่ได้ผล การทำนามันก็ทุกข์ยากแล้วนะ แต่ก็ต้องทำนา ถ้าไม่ทำนาเราจะเอาข้าวที่ไหนมาดำรงชีวิต
นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติถ้าเราไม่พิจารณาของเรา เราจะเอาผลมาจากไหน? ถ้าเอาผลขึ้นมาแล้ว มันเอาผลขึ้นมาจากความเป็นจริง ถ้าเป็นจริงขึ้นมา นี่พูดมายืดยาว ให้เห็นว่าในการปฏิบัติมันปฏิบัติไปแล้ว ผลตามความเป็นจริงอย่างนั้น ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมานะท่านทุกข์ยากกว่านี้อีก เพราะอะไร? ดูสิเวลาหลวงตาท่านออกปฏิบัติใหม่ๆ ท่านบอกเวลากิเลสมันเอาเรา นี่นั่งร้องไห้อยู่กลางป่าเลยล่ะ
อู้ฮู เอาขนาดนี้เชียวนะ เอากูขนาดนี้เชียว
คือมันไปไม่ได้ไง มันปฏิบัติไปไม่ได้เลย ล้มลุกคลุกคลาน มืดแปดด้านเลย อู้ฮู เอาขนาดนี้เชียวหรือ? เวลาตั้งใจมานี่ แหม พอบวชเสร็จจะไปนิพพานนะ ใครบวชพระก็บอกจะเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นแหละ แต่พอปฏิบัติไปแล้วล้มลุกคลุกคลาน แล้วมันไปเจอเหตุวิกฤติ หลวงตาท่านบอกว่าท่านไปปฏิบัติท่านออกป่านะ ออกป่า ไปนั่งร้องไห้อยู่กลางป่า ต้องรีบกลับไปหาหลวงปู่มั่น ต้องรีบกลับไปหาหลวงปู่มั่น พอกลับไปหาหลวงปู่มั่น
โอ๊ะ! มาอีกแล้วหรือ? จะไปต่อสู้กับกิเลสทำไมรีบกลับมาล่ะ? กลับเพราะเอาตัวไม่รอดไง กลับมาเพราะมาหาครูบาอาจารย์ไง หาครูบาอาจารย์ให้ติดดาบ ติดอาวุธเพื่อจะไปต่อสู้กับกิเลสอีกไง นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติ เราปฏิบัติไป ครูบาอาจารย์ท่านผ่านวิกฤติมาก่อน ท่านผ่านทุกข์ยากมาก่อน แต่เราปฏิบัติไปแล้วเราอนุมานเอาๆ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ
ฉะนั้น ถ้ามันไม่เป็นอนุมานเอา เป็นข้อเท็จจริง
ถาม : ๑. ผมดูขณะที่จิตมันส่งออก มันก็พิจารณาย้อนไปหาสาเหตุเลยว่ามันส่งออกไปเพราะอะไร? ก็จะพบสาเหตุแต่ละครั้งที่มันออก เช่นมันไปติดกับสมมุติ เช่นนิมิตกายว่าเป็นเรา หรือมันไปติดกับกำลังอัดของจิตที่มันเพิ่มกำลังมากขึ้น มันก็ว่าเป็นเรา
ตอบ : นี่ถ้ามันเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา มันเป็นเราอยู่แล้ว ถ้ามันไม่เป็นเรานะอารมณ์ความรู้สึกเราไม่มี เพราะเรามานะ แบบว่าเราหยิบส้ม เห็นไหม ส้มมันมีเปลือกส้ม มีใยส้ม มีเปลือกชั้นใน มีเนื้อส้ม แล้วก็มีแกนของส้ม เราจับไปเราก็จับโดนเปลือกส้มเป็นธรรมดา จิตปฏิบัติใหม่เราจะคิดว่าเราถึงแกนของส้มแล้ว เราผ่านเปลือกส้ม ผ่านใยส้ม ผ่านเปลือกชั้นในของส้ม ผ่านเนื้อส้มมาเป็นแกนของส้ม นี่เราก็คิดของเราเอง แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าไม่รู้ เพราะอะไร? เพราะถ้ามันเป็นจริงมันจะเห็นของมันอย่างนั้น
ฉะนั้น ส้มมันเป็นแบบนั้น จิตมันก็เป็นแบบนั้น จิตถ้าเวลาความรู้สึกนึกคิดมันก็ขันธ์ ๕ มันก็เป็นขันธ์ ๕ ทั้งนั้นแหละ ถ้ามันปล่อยขันธ์ ๕ เข้ามามันก็เป็นสมาธิ ถ้าจากสมาธิมันออกค้นคว้ามันก็เป็นวิปัสสนา วิปัสสนาจิตเห็นอาการของจิต จากแกนของส้มมันก็เป็นจุดศูนย์กลางของส้ม มันก็ยึดเนื้อส้มไว้ ยึดเปลือกส้มไว้ ยึดใยของส้มไว้ ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันก็ถึงแกนของจิต
จิตเห็นอาการของจิต จิตมันก็พิจารณาเปลือกส้ม พิจารณาแยกแยะส้มมันก็ปอกเปลือกส้ม ปอกเปลือกส้มเสร็จแล้วมันก็ปอกใยส้ม ปอกเปลือกชั้นในของส้ม ถึงเนื้อของส้ม มันก็เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นั่นพูดถึงส้ม แต่ถ้าพูดถึงจิต เวลาจิตมันพิจารณาไปแล้ว สิ่งนั้นมันก็เป็นสมมุติ มันติดในสมมุติเห็นว่ากายเป็นเรา ติดว่าสิ่งนั้นเป็นเรา มันเป็นเราก็เป็นเรา จบแล้วก็คือจบ เช่นวันหนึ่งกินอาหาร ๓ มื้อ กินเสร็จแล้วก็เก็บล้าง มื้อกลางวันก็ต้องกินอีกก็เก็บล้าง มื้อเย็นต้องกินอีกก็เก็บล้าง มื้อเช้าก็กินอีกแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน เราก็หน้าที่ปฏิบัติของเราไป มันมีหน้าที่ปฏิบัติของเราไป ถ้าคนที่มีจริตนิสัย มีกำลังของเขา เขาหมั่นเพียรของเขา หน้าที่ของเรา ถ้าปฏิบัติไปแล้วมันก็บอกว่าเมื่อไหร่มันจะปล่อย เมื่อไหร่มันจะขาด เมื่อไหร่มันจะได้ผล ส่วนใหญ่คนก็คาดหมาย
ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ถ้าคาดหมายด้นเดาธรรม มันก็ได้ธรรมะคาดเดา ธรรมะคาดหมาย แต่ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริงก็ทำตามความเป็นจริงของเราไป ถ้าทำความเป็นจริงของเราไป หน้าที่ของเราคือทำความเป็นจริงของเรา หมั่นพิจารณาของเราไป พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อให้จิตใจนี้ นี่เหมือนหลวงปู่มั่นว่าหมั่นคราด หมั่นไถ หมั่นคราด หมั่นไถของเราไป มันเป็นความจริงก็เป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม เขาบอกว่าถ้ามันเป็นเรา
ถาม : กราบเรียนถามว่าผมพิจารณาให้มันลงได้ การกระทำเช่นนี้เพียงพอหรือไม่?
ตอบ : นี่การพิจารณาให้มันลงได้ ให้มันลง พอลงไปมันก็ปล่อย
ถาม : การกระทำเช่นนี้เพียงพอหรือไม่
ตอบ : การกระทำเช่นนี้เป็นหน้าที่ การกระทำเช่นนี้ เพราะคน เห็นไหม ดูสิต้นไม้ ต้นไม้ตอนนี้ยางพารากำลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่เขานิยมมากเลย นี่ไปดูทางที่เขาขายกล้ายางพาราสิเต็มไปหมดเลย แล้วเขาปลูกขึ้นมา ๕ ปีถึงกรีดได้ พอกรีดได้ พออายุมันหมดนะเขาโค่นทิ้งปลูกใหม่ พอโค่นทิ้งปลูกใหม่ ยางพันธุ์ใหม่ น้ำยางดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น นี่เขาต้องทะนุถนอมของเขา สวนยางพารา นี่ก่อนหน้านั้นกิโลหนึ่งเกือบ ๒๐๐ บาท ตอนนี้กิโลหนึ่ง ๗๐-๘๐ บาท นี่มันก็มีขึ้นมีลง มันก็เรื่องธรรมดา มันก็ต้องมีความขยันหมั่นเพียร มีการกระทำของเราไป
นี่เขาบอกว่า
ถาม : ผมพิจารณาให้มันลงได้ การกระทำนี้เพียงพอหรือไม่?
ตอบ : คำว่าเพียงพอหรือไม่? เพียงพอหรือไม่แล้วมันจบใช่ไหม? เพียงพอหรือไม่ การกระทำเพียงพอหรือไม่ แต่ละคราวเห็นไหม ในเมื่อเราปลูกกล้าไม้ กล้าไม้มันใช้น้ำขนาดไหน เวลามันโตขึ้นมาแล้วเราต้องดูแลเหมือนตอนที่มันยังเป็นกล้าอ่อนอยู่ไหม? มันก็ไม่ต้อง แล้วโตขึ้นมาแล้วมันจะให้ผลเราอย่างไร?
นี่ก็เหมือนกัน
ถาม : การกระทำเช่นนี้พอหรือไม่?
ตอบ : การกระทำเช่นนี้ ถ้ากล้าไม้มันพอ ถ้าเป็นยางที่มันโตแล้วล่ะ? นี่เราจะดูแลขนาดไหน? เราจะให้ปุ๋ยอย่างไร? แล้วเวลาขณะที่เรากรีด ระยะที่ว่าถ้าน้ำมันชุ่มชื้น น้ำยางมันให้ผลอย่างใด? นี่หน้าที่ของเราก็ทำของเราไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป
ฉะนั้น
ถาม : มันจะเพียงพอหรือไม่?
ตอบ : คำว่าเพียงพอหรือไม่ ขณะที่มันเป็นกล้าไม้เพียงพอของมัน ขณะที่เป็นไม้ที่โตแล้วมันเพียงพอของมัน ขณะที่ไม้ที่เขาจะหมดอายุแล้ว ความเพียงพอของมัน แต่ละระดับ แต่ละอย่างมันไม่เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน ความเพียงพอหรือไม่? เดี๋ยวก็ติดอีก เพียงพอหรือไม่? กล้าไม้เขาให้ดูแลอย่างนี้ มันโตแล้วก็ยังดูแลแบบกล้าไม้อยู่ นี่เหนื่อยตายเลย เวลากล้าไม้ต้องดูแลให้รอบคอบหน่อย เพราะไม้มันอ่อน แต่ถ้าโตแล้วมันเลี้ยงตัวมันได้แล้ว
นี้การปฏิบัติพอหรือไม่ ปฏิบัติไปมันปล่อย พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันจะพัฒนาของมันไป มันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มันแต่ละขั้นตอนของมัน แต่ว่าเพียงพอหรือไม่? พอ ถ้ามันลงได้นะ พิจารณาซ้ำเลยให้มันลงไป
ถาม : ๒. ผมดูขณะที่มันส่งออก แล้วพิจารณาว่าใครเป็นผู้กระทำให้พลังงานนี้ส่งออก แล้วส่งออกไปเพื่ออะไร? คราวนี้ความรู้เป็นอีกมิติหนึ่งเลยครับ คือเห็นว่าใครนั้น ที่เคยบอกว่าสิ่งนั้นถูกต้อง หรือสิ่งนั้นที่ไม่ถูกต้อง เป็นเสมือนนายทาสของพลังงานที่ตัวรับรู้ ใช้สิ่งนี้ควบคุมพลังงานรับรู้ให้อยู่ในอำนาจของเขา และสร้างวัฏวน โดยพลังงานรับรู้เป็นทั้งตัวสร้างวัฏวนก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฏวนเสียเอง ความประสงค์ของใครผู้นั้น
ตอบ : นี่พูดถึงกิเลสไง กิเลสถ้าไปตามรู้กิเลส กิเลสมันอยู่ที่ไหน? เราต้องตามรู้เท่าทันให้จิตมันพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมนี่แหละ พิจารณาซ้ำ พิจารณาซากเข้าไป นี่ถ้าพูดถึงนะใจมันหลงคิดไป ใจมันหลงคิด เหมือนว่าถ้าเริ่มต้นจากความเร่ร่อน ใจหลงคิดไปโดยที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ แต่พอบอกว่าใช้ปัญญาแล้วมันเป็นปัญญาขึ้นมาจริง แต่มันมีสมุทัยร่วมมาด้วย นั่นก็คือความหลงอันหนึ่ง ความหลงอย่างหยาบ ความหลงอย่างกลาง ความหลงอย่างละเอียด
ความหลงอย่างละเอียดนะ แม้แต่ใช้ปัญญาอยู่มันก็มีสมุทัยร่วมมา คือมีกิเลสร่วมมา มันก็ไม่สะอาดบริสุทธิ์ ถ้าไม่สะอาดบริสุทธิ์มันก็ไม่มัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามันไม่มัชฌิมาปฏิปทามันก็ไม่ขาด การพิจารณาโดยมรรคญาณ มรรคสามัคคี นี่ถ้ามันไม่สามัคคีมันก็ตกไปอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เวลาพิจารณาไปพอมันปล่อยวางเป็นกามสุขัลลิกานุโยค พอใจ ดีใจ มีความสุข เวลามันพิจารณาของมันไม่ได้ มันอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย นั่นเป็นอัตตกิลมถานุโยค
เวลาปฏิบัติไปมันจะลงไปสู่อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เพราะ เพราะมันมีกิเลส คือสมุทัยมันเจือปนเข้ามาในการประพฤติปฏิบัตินั้น แต่ถ้าเราพิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก พิจารณาบ่อยครั้งเข้า ถ้ามันไม่ตกไปกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยคมันก็จะลงสู่มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทามันจะเป็นท่ามกลาง ถ้าเป็นท่ามกลาง ในการฝึกฝนของเราทำเพื่อให้ลงสู่ท่ามกลางนั้น
ถ้าสู่ท่ามกลางนั้น นี่พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก เพราะการกระทำของเรา ถ้าสมุทัยมันร่วมคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรามันร่วมด้วย ทั้งๆ ที่เราทำสมาธิเข้ามาแล้ว จิตมันสงบเข้ามามันถึงเป็นปัญญาได้ๆ แต่ถ้าเป็นปัญญาได้ ขณะพิจารณาขนาดไหนแล้วมันก็มีสมุทัยร่วม ถ้ามันมีสมุทัยเจือปนเข้ามา เพราะจิตมีอวิชชา จิตมันสงบ มันถึงต้องมีการฝึกหัด มีความหมั่นเพียร มีการกระทำของเรา มันถึงจะไปรู้เท่าไงว่าใครเป็นคนสร้างพลังงานขึ้นมา
ไอ้สร้างพลังงาน ไม่สร้างพลังงานเราตั้งใจไปดูตรงใดก็แล้วแต่ นั่นล่ะมันไม่เป็นปัจจุบันแล้ว มันตกไปข้างใดข้างหนึ่ง ทีนี้หน้าที่ของเราคือใช้ปัญญาพิจารณาของเรา พิจารณาสิ่งใดก็ได้ พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก พิจารณาด้วยความละเอียด เราไม่ต้องไปตอบโจทย์ว่ามันจะเป็นอะไร ไม่เป็นอะไร แต่ขณะที่มันพิจารณาไปแล้ว นี่ไปเห็นว่ามันเป็นพลังงานที่มันสร้างให้เหมือนวัฏฏะ ให้เป็นนายทาส เป็นต่างๆ นี้คือปัญญารอบหนึ่ง ปัญญารอบหนึ่งมันผ่านไปแล้วก็เท่ากับจบแล้ว
ถ้ามันเป็นปัญญารอบหนึ่งมันรวมลงทีหนึ่ง แล้วคราวหน้าจะรวมลงใหม่มันจะเป็นโจทย์ใหม่ มันจะเป็นปัญหาใหม่ มันจะเป็นปัญญาใหม่ ปัญญาสดๆ ร้อนๆ ถ้าปัญญามันตากแห้งจนรามันขึ้นหมดแล้ว นี่เวลาปัญญามันไปผึ่งแดดไว้ ปลาแห้งไง เวลาปลาสดมาเราก็มาแร่ มาตากเป็นปลาแดดเดียว นี่เราตากบ่อยๆ ไปเป็นปลาเค็ม
นี้ปัญญาที่มันดึกดำบรรพ์มา ปัญญาที่มันผ่านมาแล้วก็เป็นปลาแห้ง แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบัน เห็นไหม มันเป็นปัจจุบันของมัน ใครจะเป็นนายทาส ใครจะเป็นทาส ใครจะมีอำนาจมันก็เรื่องของมัน เรื่องของกิเลสมันเป็นอย่างนั้น นี่เรื่องของกิเลสมันก็เป้าลวง เห็นไหม ใจหลงคิดๆ แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบัน ถ้าใจหลงคิดมันเป็นปัญญาได้ไหม? มันเป็นปัญญา แต่ปัญญานี้มันผ่านมาแล้ว ฉะนั้น มันต้องให้เป็นปัจจุบันไง ถ้าพิจารณาเป็นปัจจุบันมันถึงจะเป็นปัจจุบันธรรม เห็นไหม มันแก้กันที่นี่
ถาม : จะต้องพิจารณาใครที่เป็นตัวนี้หรือไม่?
ตอบ : พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสอาศัยสิ่งนี้อยู่ พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก พิจารณาของเราไปมันก็เป็นความจริงของเรา นี้พูดถึงในการปฏิบัตินะ นี่ถ้าเป็นปริยัตินะ เวลาสอบ พอข้อสอบมันถูกให้คะแนนจบแล้ว เวลาสอบนี่ยกชั้นเลย แต่เวลาปฏิบัตินี่เวรกรรมใครเวรกรรมมัน ปฏิบัติรู้ง่าย รู้ยาก รู้ได้ รู้ไม่ได้ นี่มันไม่มีใครช่วยเหลือใครได้ ชี้ทางเท่านั้น ยังดีมีครูบาอาจารย์คอยชี้ทาง ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้ทาง ทางนี้เข้ากรุงเทพฯ เดินไป เข้ากรุงเทพฯ นี่เดินไป ถึงหรือไม่ถึงเดี๋ยวรู้
เวลาเราเดินตามไปนะ เราไปถึงสนามหลวง เอ๊ะ! ไม่เห็นคนนี้ที่ชี้มาก่อนมันไปไหนวะ? อ๋อ มันเดินออกสมุทรสาคร มันลงออกปากน้ำไป มันไม่เข้ากรุงเทพฯ มันไปไหนก็ไม่รู้ นี่ทางนี้เข้ากรุงเทพฯ ใครเดินเข้าไป ไปถึงกรุงเทพฯ ไปกลางสนามหลวงนั่นเลย เข้ากรุงเทพฯ แล้วคนเข้าไปนั่งรออยู่กรุงเทพฯ มันไม่มาสักที เอ๊ะ ชี้มันเข้ามากรุงเทพฯ มันไปไหนวะ? มันออกสมุทรสาครไง มันออกสมุทรปราการ มันออกปากอ่าวไป เห็นไหม การกระทำต้องทำซ้ำ ทำซาก นี่ผู้ชี้ทาง เราต้องปฏิบัติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ
ต่อไปข้อ ๑๒๐๗. เนอะ
ถาม : ๑๒๐๗. เรื่อง สอบถามข้อสงสัย
๑. กราบขอบพระคุณที่ให้กำลังใจ
๒. ในขณะเดินจงกรมผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราโกรธใคร? ตัดสินดี ไม่ดีให้ใคร? แล้วพอใจ ไม่พอใจใคร? มันเกิดจากจิตที่รู้สึกกับสิ่งนั้น จากนั้นจิตก็สร้างเป็นอารมณ์ จากอารมณ์จดจำก็เป็นสัญญา จากสัญญาเอามาทำให้จิตพอใจ ไม่พอใจใช่ไหมครับ
๓. ความรู้สึกว่าตอนนี้ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เหตุผลที่เราเคยเข้าใจมาก่อน มาตอนนี้เหตุผลนั้นเหมือนไม่ใช่ เหตุผลที่เกิดขึ้นมาใหม่มันเปลี่ยนไปครับ แล้วผมรู้สึกว่ามันหดสั้นเข้ามาครับ
๔. อยากให้หลวงพ่ออธิบายคำพูดที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา และผมอยากรู้ว่าปัจเจกพุทธเจ้าหมายถึงอะไร?
ตอบ : ฉะนั้น ข้อที่ ๑. เขาพูดถึงว่าใจเขามีกำลังขึ้นมา
ข้อที่ ๒. เห็นไหม บอกว่า
ถาม : ขณะเดินจงกรมผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราโกรธใคร? ตัดสินดี ไม่ดีให้ใคร? และพอใจหรือไม่พอใจใคร? มันเกิดจากจิตที่รู้สึกกับสิ่งนั้น จากนั้นจิตก็สร้างเป็นอารมณ์ จากอารมณ์ก็จดจำเป็นสัญญา จากสัญญาก็เอามาทำให้จิตพอใจ ไม่พอใจใช่ไหมครับ
ตอบ : นี่วัฏฏะ นี่เกิดดับวงเวียนของจิต ถ้าจิตมันคิดของมัน แล้วเกิดด้วยสมุทัย คือด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันจะย้ำคิดย้ำทำจนเกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ เกิดรสชาติ ยิ่งเข้มข้นมันยิ่งพอใจ ยิ่งคิดยิ่งพอใจคิด แต่ถ้าเราใช้สติปัญญาทัน เรามีสติควบคุมไป
มีสติควบคุมไป นี่ความคิดเหมือนกัน ความคิดอันหนึ่งความคิดโดยกิเลส ความคิดโดยสามัญสำนึก ความคิดโดยสัญชาตญาณ ยิ่งคิดยิ่งเข้มข้น ยิ่งคิดยิ่งมีรสชาติ ยิ่งคิดยิ่งมีความรู้สึก มันก็ย้ำคิดย้ำทำ นี่มันจะเป็นตราบาปตราไปที่ในหัวใจ นี่ไงบุพเพนิวาสานุสติญาณ สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับจิต แล้วมันฝังอยู่กับจิต นั่นล่ะเป็นเวร เป็นกรรม แต่ขณะที่เรามีสติปัญญา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราพิจารณาสิ่งนี้เหมือนกัน พิจารณาความคิดเหมือนกัน แต่พิจารณาเพื่อปล่อยวาง พิจารณาเพื่อถอดถอนมันแตกต่างกัน
นี่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาใช้ความรู้สึกตามความคิดนี้ไป พอตามความคิดนี้ไปสติมันเท่าทันมันปล่อย พอมันปล่อยเพราะอะไร? เพราะบอกว่ามึงโง่ๆ คิดแต่เรื่องเจ็บช้ำน้ำใจ คิดแต่เรื่องเจ็บปวด คิดแต่เรื่องตอกย้ำอยู่นี่แหละ บ้าบอคอแตกอยู่นี่ ไอ้จิตโง่ๆ พอมันทันมันก็ปล่อย ให้คนอื่นบอกมันไม่ปล่อยนะ ให้พ่อแม่บอกลูก ลูกก็ไม่ปล่อย แต่ถ้าให้จิตบอกจิตมันปล่อย ให้จิตในตัวมันเองนั่นแหละ สติมันทันความคิดมันก็ปล่อย พอมันปล่อยขึ้นมา นี่ปัญญาอบรมสมาธิ
ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่มันทันมันก็พอใจ ที่ความพอใจ ไม่พอใจในจิตของเรา พอจิตมันสร้างเป็นอารมณ์ขึ้นมาก็จดจำเป็นสัญญา สัญญาพอจดจำขึ้นมามันก็เอาสิ่งนั้นที่ว่าเอามาวนรอบใหม่ มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว จิตมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ถึงวิถีแห่งจิต รู้ถึงจิตที่มันก้าวเดินไปอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงให้ทวนกระแสกลับด้วยสติ ด้วยปัญญาของเรา เพื่อเป็นปัญญาอบรมสมาธิไง นี่ทำอย่างนี้ ถ้ามีปัญญาขึ้นมาก็เป็นอย่างนี้ ถ้ามีปัญญาขึ้นมามันก็เท่าทันของมันอย่างนี้ นี่ข้อที่ ๒.
ถาม : ๓. ผมรู้สึกว่าตอนที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เหตุผลที่เราเคยเข้าใจแต่ก่อน มาตอนนี้เหตุผลนั้นเหมือนมันไม่ใช่ เหตุผลที่เกิดขึ้นมาใหม่มันเปลี่ยนแปลงไปครับ และผมรู้สึกว่ามันหดสั้นเข้ามา
ตอบ : เหตุผลที่มันเปลี่ยนแปลงไปครับ เพราะว่าสติปัญญามันทันครับ ถ้าสติปัญญามันทันขึ้นมามันก็เห็นเหตุ เห็นผลใช่ไหม มันก็ปล่อยวางได้ๆ ถ้ามันไม่มีเหตุผล ไม่มีปัญญาขึ้นมามันก็พอใจ
คำว่าพอใจคือเราคิดถูกไง เราคิดด้วยเหตุผลทำไมเราเชื่อหมดเลย นี่ถ้ามันไม่มีสติปัญญานะ เราคิด นี่ทั้งๆ ที่คิดเรื่องผิดนะ เราเข้าใจผิดเรื่องสิ่งใด แล้วเราคิดเรื่องนั้น แล้วมันก็พอใจว่าดีนะ เพราะเราเข้าใจผิด แต่มันคิดแล้วมันก็ดี เราคิดเองเราคิดถูกหมดเลย แต่ถ้ามีสติปัญญา เออ คิดผิด นี่มันเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงเพราะว่าความคิดมันเป็นอารมณ์ เขาถึงบอกว่าเราจะเชื่ออารมณ์ความรู้สึกของเราไม่ได้ เราต้องเชื่อเหตุ เชื่อผล เขาไม่ให้ใช้อารมณ์ความรู้สึกตัดสินปัญหานะ เขาให้ใช้ปัญญาตัดสินปัญหา แต่คนมันมีอารมณ์ความรู้สึก มันตัดสินกันที่อารมณ์ความรู้สึก
ทีนี้อารมณ์ความรู้สึกมันตัดสินไปแล้ว เราเคยใช้มันใช่ไหม? เราก็เอาอารมณ์ความรู้สึกมาพิจารณา อารมณ์ความรู้สึกนั้นถูกต้องไหม? อารมณ์ความรู้สึกมันมีเหตุผลอะไร? ถ้าเรามีเหตุผล เหตุผลมาไตร่ตรอง มาควบคุม มาดูแล เอาเหตุผลมาชั่งน้ำหนักกับอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกมันแพ้ มันแพ้เหตุผล แพ้เหตุผลมันก็เชื่อฟังเรา มันก็ดีขึ้น พัฒนาขึ้น เห็นไหม
ที่มันเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ไง แล้วเวลามันหดสั้นๆ หดสั้นอยู่แล้ว หดสั้นรอบที่หนึ่ง ความคิดรอบที่หนึ่งมันทัน พอรอบที่สองมันใช้เวลาน้อยลง นี่หดสั้นๆ ถ้าเดี๋ยวจะชัด คิดปั๊บทันเลย คิดปั๊บทันเลย จนบางทีความคิดมันจะเกิดขึ้น แน่ะๆๆ สติมันทันนะ ความคิดไม่กล้าเกิด มันอาย แต่ถ้าสติมันไม่ทันนะมันคิดไปห้ารอบแล้ว ไอ้นั่นไม่ทัน ยังไม่เกิด ไอ้นั่นยังนอนหลับยังไม่ตื่น แต่ถ้าสติมันตื่นนะความคิดมันไม่เกิดเลย
นี่หดสั้นๆ จนได้ขนาดนี้นะ พิจารณาไปๆ พอมันคิดมันจะทันหมด พอทันนั้นคือปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิคือพลังงานที่มันไม่ได้คิด พลังงานที่ไม่ได้คิดมันต้องมีสติด้วยนะ พลังงานที่ไม่คิดคือพลังงานที่ตายแล้ว คือมันนอนหลับ พลังงานที่ไม่คิด มีสติพร้อมมันถึงจะเป็นสมาธิ จิตมันปล่อยหมด แล้วมันรู้ตัวของมันพร้อม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ นี้เป็นเรื่องของปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าเป็นพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่สมาธิอบรมปัญญามันลงลึกกว่านี้ เวลามันรวมลง โอ๋ย มันร่ม มันเย็น มันมีรสชาติ มันดูดดื่มกว่านั้น
พุทโธ พุทโธ นี่ ถ้ารสของสมาธิอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิที่ปล่อยจากปัญญามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันเป็นสมาธิเหมือนกัน สมาธิคือจิตสงบ จิตปล่อยวาง ไม่ใช่สมาธิจะไปรู้นู่น รู้นี่ นั่นไม่ใช่ นั่นสมาธิมันส่งออกแล้ว พอเป็นสมาธิแล้วมันไปรู้อีกมิติหนึ่ง ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ต้องมีความรู้เท่า
ฉะนั้น ใครปฏิบัติไปมันเป็นจริต เป็นนิสัย เขาเรียกว่าอำนาจวาสนาของคน นี่จริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน ความที่ปฏิบัติแล้วมันไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันในวิธีการที่ปฏิบัติ แต่สมาธิคือสมาธิอันเดียวกัน สมาธิคือสมาธิ แต่วิธีการที่เข้ามาไม่เหมือนกัน ทีนี้เวลาคนเถียงกันเถียงกันที่วิธีการ เถียงกันนี่เถียงกันมากเลย ใครผิด ใครถูกล่ะ? ใครผิด ใครถูกนั้นวิธีการ แต่เวลาเป็นสมาธิคือสมาธิ สมาธิอันนั้นเป็นความจริง
ถาม : ๔. อยากให้หลวงพ่ออธิบายคำพูดว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา และผมอยากเข้าใจพระปัจเจกพุทธเจ้า
ตอบ : สัพเพ ธัมมา อนัตตามันอยู่ในธัมมจักฯ นะ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ทำวัตรเช้าก็มี สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลาย แปลเป็นศัพท์ ไปเปิดสวดมนต์แปลก็จบแล้วเรื่องนี้ สวดไป สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายนี้เป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายนี้เป็นอนัตตา แม้แต่สภาวธรรมทั้งหลายนี้เป็นอนัตตา นี่พูดถึงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตาไง
ทีนี้เวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลาผู้ที่ปฏิบัติ ใช่สัพเพ ธัมมา อนัตตาเราก็ยึดมั่นถือมั่นว่าสรรพสิ่งเป็นอนัตตา มันก็เลยธรรมะนี้ไม่มีอะไรเลย เป็นอนัตตา มันแปรปรวนตลอดเลย แต่เวลาปฏิบัติไปมันเป็นอนัตตา มันเห็นสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อยๆ สัพเพ ธัมมา อนัตตาตามศัพท์ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลาสิ้นสุดไปแล้ว กุปปธรรม อกุปปธรรม
นี่กุปปธรรมคือสัพเพ ธัมมา อนัตตา อกุปปธรรม อฐานะ ไม่ใช่อนัตตา อะไรที่ไม่ใช่อนัตตา เออ ถ้าสัพเพ ธัมมา อนัตตามันก็เป็นอนัตตาทั้งหมดนะ อย่างเช่นมนุษย์นี่เกิดมาจากเด็กมันต้องโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วโตเป็นผู้ใหญ่มันต้องโตเป็นยักษ์ไปเลยสิ มันต้องโตไปเรื่อยๆ มันไม่จบสิ ทำไมโตเป็นผู้ใหญ่ ทำไมมันกลับมาชราภาพล่ะ? มันไม่โตไปเรื่อยๆ ล่ะ? โตถึง ๒๕ ปี นี่อายุถึง ๒๕ ปีไม่โตอีกแล้ว ถึง ๒๕ ปีจบแล้ว นี้มันก็ต้องชราภาพไปเป็นธรรมดา
นี่สัพเพ ธัมมา อนัตตา คือสัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา นี่พูดถึงว่าให้พูดถึงคำนี้ ทีนี้พูดถึงคำนี้ปั๊บ เวลาคนพูดถึงสัพเพ ธัมมา อนัตตา ทีนี้คนก็เลยไปยึดว่าสภาวธรรมนี้เป็นอนัตตาหมด สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตาจริงๆ แต่ผลของมัน ผลที่เป็นอกุปปธรรมที่ไม่ใช่อนัตตา อกุปปธรรม อฐานะ คำว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตามันเป็นประเด็นในสังคมไง ในสังคมพระเรา สังคมปฏิบัติ สังคมศาสนาพุทธเขาบอกว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนัตตา นิพพานก็ต้องเป็นอนัตตาไง นิพพานก็ต้องเป็นอนัตตา
ทีนี้นิพพาน มรรค ๔ ผล ๔ อรหัตตมรรค อรหัตตผล นิพพาน ๑ นิพพาน ๑ มันพ้นอนัตตาไป มันพ้นไปอย่างไร? ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บอกไว้ นี่มันพ้นจากอนัตตาไปแล้วนะ ในพระไตรปิฎกไม่ได้พูดอย่างนั้น เป็นอนัตตา นี่พูดถึงคำว่าอนัตตา
ถาม : ผมอยากรู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าหมายถึงอะไร?
ตอบ : พระปัจเจกพุทธเจ้าหมายถึงพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เองโดยชอบ แต่เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เห็นไหม นี่พระพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเกิดขึ้นมา พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาแล้วจะเป็นยุค เป็นคราวที่สั่งสอนศาสนาในยุคนั้น แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ
คำว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า พระปัจเจก เห็นไหม พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะตน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าสำหรับโลกธาตุ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเผยแผ่ธรรม จะเผยแผ่ธรรมเพราะว่าสั่งสอน แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมไหม? พระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาก็สั่งสอนได้ในวงแคบๆ ในวงที่คนเชื่อ ในวงที่ศรัทธา นี่พระปัจเจกพุทธเจ้า นี่มีสาวก สาวกะไหม? เขาบอกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าสอนไม่ได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนไม่เป็น
พระปัจเจกพุทธเจ้าก็คือพระพุทธเจ้าประเภทหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยโลก โดยสาธารณะ เพราะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะสั่งสอน เพราะมันรื้อสัตว์ ขนสัตว์ แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ โดยพระองค์เอง แต่ไม่ได้สั่งสอนใครกว้างขวาง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็คือพระพุทธเจ้าประเภทหนึ่ง
เดี๋ยวจะเป็นประเด็น เพราะมันออกไปเว็บไซต์ เดี๋ยวพระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกต้องทะเลาะกันแน่ๆ เลย พระปัจเจกพุทธเจ้าข้างหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าก็ต้องแบ่งข้างกัน แล้วพระพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นประเด็น
ฉะนั้น ของอย่างนี้มันเป็นวิธีการ มันเป็นอำนาจวาสนาของผู้สร้าง ผู้สร้าง ผู้ทำลายนะ เราเป็นผู้สร้างเราสร้างกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา มีบุญญาธิการสั่งสอนสัตว์โลกได้มาก พระปัจเจกพุทธเจ้าก็สร้างสมตัวเองขึ้นมา สร้างสมตัวเองขึ้นมา เวลาตรัสรู้ด้วยตัวของท่านเอง
ฉะนั้น เวลาสร้างมา มันไม่ได้สร้างมาถึงอธิบาย สังเกตได้โดยที่ว่าครูบาอาจารย์ของเราสมัยปัจจุบัน บางองค์ท่านสำเร็จแล้วท่านสั่งสอนได้กว้างขวางมาก เพราะท่านได้สร้างบารมีของท่านมา แต่บางองค์สำเร็จแล้ว สำเร็จโดยตัวท่าน ท่านรู้ของท่านชัดเจนมาก ถ้าถามท่าน แล้วท่านตอบด้วยส่วนตัวจะชัดเจนมาก แต่ถ้าให้ท่านเทศน์เป็นสาธารณะ ให้พูดเป็นตัวอย่างสาธารณะท่านพูดไม่ค่อยได้ชัดเจน นั่นเป็นเพราะอำนาจวาสนาของแต่ละบุคคลที่สร้างมา
มันเหมือนกับเราเป็นนักศึกษา เราเป็นนักศึกษาเราไปเรียนกับอาจารย์ อาจารย์บางคนจะอธิบายให้เราเข้าใจได้ชัดเจนมาก อธิบายได้ละเอียดมาก บางอาจารย์อธิบายเรางงๆ นะ ทั้งๆ ที่ท่านก็จบมาเป็นอาจารย์สอนเหมือนกันนะ แต่เราก็งงๆ ว่าท่านพูดแล้วเราเข้าใจไม่ค่อยได้เลย ทำไมพูดแล้วเราไม่เข้าใจเลย อันนั้นก็เป็นเชาวน์ เป็นปัญญาของท่าน เป็นเชาวน์ปัญญาของท่าน
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านี้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าตรงตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันมีพระปัจเจกพุทธเจ้า กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสาธารณะ พระปัจเจกพุทธเจ้าเฉพาะตัวท่าน เฉพาะตัวท่านเป็นพระอรหันต์ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เหาะเหินเดินฟ้าได้เลยล่ะ
ทีนี้เพียงแต่ว่าคำสั่งสอนจะสอนบุคคลอื่น ท่านไม่ได้สร้างมามากเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สร้างมาจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านสร้างมาเพื่อตัวท่าน เพื่อตัวท่านที่ท่านจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แล้วพอสำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะคำว่าตัวท่าน ท่านถึงบอกว่าท่านไม่ต้องสอนใครก็ได้ หรือท่านจะบอกใครเพื่อประโยชน์กับใคร ท่านไม่ได้สร้างตรงนี้มา
ทีนี้ไม่ได้สร้างตรงนี้มา แต่โดยสามัญสำนึก ถ้าคนที่อยากรู้ อยากเห็นไปถามท่าน หรือให้ท่านสอน ท่านก็สอนได้ด้วยภูมิปัญญาของท่านนั่นแหละ แต่ผู้ที่จะรับจะรับได้ไหม? แต่ถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ถ้าถึงเวลาเผยแผ่ธรรมนะ เริ่มต้นจากอนุปุพพิกถา เริ่มต้นจากสั่งสอนให้คนหัดทำทานกันก่อนเลย ให้คนหัดเสียสละเลย พอคนเสียสละขึ้นมา คนก็มีพื้นฐานขึ้นมาเลย มันเกิดเป็นประเพณี เกิดเป็นวัฒนธรรม เกิดเป็นสังคม เกิดเป็นการทุกคนค้นคว้า พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านทำอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทำอย่างนั้นเลย
นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม เห็นไหม ไปเจอพวกฆราวาสท่านจะสอนเรื่องอนุปุพพิกถา คือให้ทำทานก่อน แล้วพอทำทาน ผลของมัน ผลของทานคือได้เกิดเป็นเทวดา ผลของเทวดา เทวดาก็เวียนตายเวียนเกิด เกิดเนกขัมมะ เกิดเนกขัมมะถือพรหมจรรย์ พอจิตใจ เออ พรหมจรรย์ พรหมจรรย์มันดีกว่าเทวดา พอเทวดาอยากจะสิ้นกิเลส ท่านก็เทศน์อริยสัจ นี่พอจิตใจมันควรแก่การงาน เห็นโทษไง เห็นผลของการทำทาน ผลของการทำทานก็ไปเกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นเทวดาก็ต้องตาย พอต้องตายแล้วทำอย่างไร?
นี่พอคนมันเห็นของมัน เวลาทำอะไรเราเห็นผลงานของเรา เราอยากได้ผลงานมากขึ้นๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์อริยสัจ ทุกข์ ชีวิตนี้ทุกข์ทั้งนั้น สมุทัยเป็นอย่างไร? เวลาเกิดนิโรธ นิโรธเกิดจากมรรค นี่มันไปแล้ว พอไปขึ้นมาพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ นี่พระพุทธเจ้ามีประเพณี มีวัฒนธรรม มีพื้นฐานขึ้นมา เป็นสังคม สังคมก็ค้นคว้ากัน แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านจะบอกใคร ใครจะเชื่อ ท่านไม่รู้จะบอกใคร ท่านก็บอกตัวท่านเอง แล้วท่านก็ค้นคว้าของท่านเอง แล้วท่านก็เป็นพระอรหันต์
ท่านเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็อยู่ของท่านอยู่ในป่า ท่านก็อยู่ของท่านด้วยความสุขในหัวใจของท่าน ท่านไม่ได้มาแบกโลก ท่านไม่ได้มาห่วงใครว่าใครจะไม่เชื่อพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็ไม่ได้คิด เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ไม่ได้ห่วงนะว่าประชาชนมันจะเชื่อเราหรือเปล่าว่าเราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ประชาชนต้องรู้ไหมว่าเราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็ไม่ได้คิดเพราะท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านไม่มีความวิตกกังวลในใจ ท่านไม่สนใจ
นี่ไงพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นแบบนี้ เพราะเขาถาม เขาถามว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอย่างไร? เราก็งงนะ เอ๊ะ ทำไมคำถามถามแบบนักธรรมตรีเลย พวกนักธรรมตรีเขาศึกษาแล้ว ไอ้นี่นักปฏิบัติแท้ๆ เลย เพราะศัพท์มันตรงตัวอยู่แล้ว สัพเพ ธัมมา อนัตตา พระปัจเจกพุทธเจ้า ศัพท์ตรงตัวอยู่แล้ว แต่สังคมเราไม่เคยเห็นไง แล้วพอสังคมไม่เคยเห็น
ฉะนั้น เวลาพระที่ไม่ซื่อสัตย์ ก็บอกว่าเราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เราสอนไม่ได้ สอนไม่ได้มันก็ต้นเสาไง ต้นเสาในศาลามันสอนใครไม่ได้ ขนาดต้นเสามันยังเป็นเสาค้ำให้หลังคานี้ทรงอยู่ได้ ให้เรามาหลบแดด หลบฝนในศาลานี้ได้ แม้แต่ต้นเสามันมีประโยชน์นะ แต่ถ้าพระไม่ซื่อสัตย์จะบอกว่าเราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เราสอนไม่ได้ แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านะ ต้นเสายังมีคุณประโยชน์เพื่อจะค้ำศาลานี้ไว้ให้เรามีความร่มเย็น แล้วเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วจะบอกว่าเราสอนไม่ได้ สอนไม่ได้พูดทำไม? สอนไม่ได้บอกทำไมว่าเราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
นี่ในสังคมของพระ พระกับพระเข้าใจกันได้นะ ฉะนั้น นี่เป็นปัญหา นี่เป็นคำถาม ฉะนั้น ใจหลงคิดกันไปมันก็เร่ร่อนกันไป ถ้าใจมีสติ มีปัญญา เราจะเป็นสาวก สาวกะ ขอให้เราประพฤติปฏิบัติตามธรรม แล้วเรารู้ธรรมตามหัวใจของเรา อันนี้เป็นความปรารถนาของชาวพุทธ เอวัง