เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ ธ.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าใครเกิดเป็นมนุษย์นี้ ใครเกิดเป็นมนุษย์เป็นผู้มีบุญ การเกิดเป็นมนุษย์นี้เกิดได้แสนยาก เหมือนเต่าตาบอดอยู่กลางทะเลโผล่จากน้ำขึ้นมาถ้าเข้ามาในบ่วงนั้น ถ้าโผล่ขึ้นมาไม่เข้าบ่วงนั้นไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ การเกิดเป็นมนุษย์ สิ่งนี้เป็นบุญกุศล เป็นบุญกุศลขึ้นมา เกิดเป็นมนุษย์แล้วมีคนหนาคนบาง

ถ้าคนหนา เห็นไหม ดูสิถ้าคนหนา คนหนาทำสิ่งใด พูดสิ่งใด พ่อแม่จะสั่งสอนอย่างใดก็ไม่เชื่อฟัง แต่ถ้าคนบางนะ เวลาเขาเบาบางของเขา เขาเห็นพ่อแม่ของเขาทำหน้าที่การงานของเขา เขาจะช่วยเหลือเจือจานพ่อแม่ของเขาด้วยความรู้สึกนึกคิดของเขา นี่คนบางนะ แต่เวลาโดยทางจิตวิทยาเป็นตามวัยๆ วัยของวัยรุ่น วัยของเด็กน้อยเขาก็เอาแต่ใจของเขา ถ้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมานี่เป็นไปตามวัย

ถ้าเป็นตามวัยนะ เวลาในสมัยพุทธกาล สามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นไปตามวัยเด็ก ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร? เด็ก ๗ ขวบเท่านั้น ทำไมเขามีเชาวน์ปัญญาของเขาถึงเป็นพระอรหันต์ได้ การเป็นพระอรหันต์ไม่ใช่เป็นขึ้นมาโดยลอยๆ การเป็นพระอรหันต์มันต้องมีมรรคญาณ ต้องมีสัจจะความจริงในหัวใจของพระอรหันต์นั้นถึงจะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ สามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ได้นะ แต่นี้ทางวิทยาศาสตร์ ทางจิตวิทยาบอกว่าเป็นไปตามวัยๆ ใช่ มันก็เป็นไปตามวัยนั่นแหละ เป็นตามวัย แต่คนบุญกุศลมันแตกต่างกัน ถ้าคนบุญกุศลแตกต่างกันนะ เขามีความรู้สึกนึกคิดของเขา เขาพัฒนาตัวเองของเขา

เราเกิดเป็นมนุษย์ สิ่งที่ว่าเป็นอริยทรัพย์ๆ เกิดมาแล้วยังมีความหนาความบางในใจของตัว ถ้าความหนาความบางในใจของตัวนะ ถ้าคนหนาเขาเป็นเหยื่อของโลกนะ เขาเป็นเหยื่อของโลกด้วย แล้วเขาหาเหยื่อด้วย ดูสิเวลาคนที่เป็นคนพาล เขาพยายามแสวงหาผลประโยชน์ของเขา เขาจะรังแกใคร เขาจะหยิบฉวยของใครเขาคิดว่าเป็นของของเขา เห็นไหม เขาก็เป็นเหยื่อด้วย เขาเป็นเหยื่อเพราะอะไร? เพราะเขาทำความผิดของเขา แต่เขาก็หาเหยื่อของเขาด้วย

นี่ถ้าจิตใจของเราล่ะ? จิตใจของเรามีอวิชชาครอบงำอยู่ เราเป็นเหยื่อตัวเองนะ เป็นเหยื่อการครอบงำของความไม่รู้ ในใจของเราอวิชชามันครอบงำเราอยู่ ถ้าความไม่รู้เราก็วิตกกังวล ความลังเลสงสัย เราจะทำอะไรละล้าละลังเพราะความลังเลทั้งนั้นแหละ ลังเลเพราะอะไร? เพราะเราไม่เข้าใจว่าเราจะประสบสิ่งใด เราจะพบสิ่งใดในข้างหน้านี้ แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ สิ่งที่จะประสบจะพบสิ่งใดก็แล้วแต่ สิ่งนี้สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นปัจจุบัน นี่มันเป็นเวรเป็นกรรมนะ

คำว่าเป็นเวรเป็นกรรม ทำไมอุบัติเหตุๆ ทำไมมันเกิดเฉพาะเราล่ะ? นี่รถเขามาเป็นสายทำไมต้องมาจำเป็นเฉพาะเราล่ะ? จำเป็นเฉพาะเรา เขาว่านั้นเป็นอุบัติเหตุ แต่อุบัติเหตุมันก็แฝงไปด้วยกรรม กรรมของคน ใครสร้างบุญกุศลมานี่มันก็ผ่านสิ่งนั้นไป มันก็ไม่ประสบอุบัติเหตุ มันผ่านเราไปๆ นี้คือบุญกุศล

การสร้างบุญกุศล เห็นไหม เป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิส ถึงจะเกิดในวัฏฏะนี้ก็ให้บุญกุศลเป็นที่พึ่ง เราถึงทำบุญทำทานกันนี้ไง เราทำบุญทำทานกันเพื่อจิตใจของเรา เราทำบุญทำทานเพื่อเรา เราทำบุญทำทานเพื่อหัวใจเราให้เข้มแข็งขึ้นมา การเสียสละนี้ ดูสิเวลาทุกข์เวลายากเราก็อยากให้มีคนช่วยเหลือเจือจานเรา สิ่งที่ช่วยเหลือเจือจานเรา เวลาเราทุกข์เวลายาก สิ่งที่เราเสียสละออกไปนี้ๆ นี่มันก็ช่วยเจือจานในหัวใจของเรา ช่วยเจือจานในหัวใจของเราเพราะหัวใจของเรามันหมักหมม มันตึงเครียด ในหัวใจของเรานี่สิ่งที่กิเลสครอบงำมัน เวลาเสียสละสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพราะกิเลสมันครอบงำอยู่ มันไม่ยอมให้เสียสละหรอก

จิตใจของเรานะ สิ่งของที่เราหามามันก็เป็นของเราใช่ไหม? เราอาบเหงื่อต่างน้ำมาเป็นแรงงานของเราทั้งนั้นแหละ ทำไมเราต้องเสียสละล่ะ? เราเสียสละเพื่อไม่ให้หัวใจเป็นเหยื่อของกิเลสไง เวลาทางโลกเราเป็นเหยื่อของใครล่ะ? มันก็ไม่อยากจะเป็นเหยื่อใครทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคนหนาเขาเป็นเหยื่อด้วย แล้วเขาทำให้คนอื่นไปหาเหยื่อของเขาด้วย โดยความที่เขาคิดว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเขา

แต่ถ้าในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ความตระหนี่ถี่เหนียว ความยึดมั่นถือมั่นในใจมันเป็นอิทธิพลของกิเลสครอบงำให้จิตใจนี้เป็นเหยื่อของมัน ถ้าเราจะเสียสละ เราจะให้ใจของเราเป็นอิสระขึ้นมา เราเสียสละขึ้นมาเพื่อให้จิตใจมันพ้นออกไปจากการครอบงำของกิเลสไง ของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันครอบงำของมัน มันยึดมั่นของมัน

แล้วสิ่งที่ใจจะทำๆ ดูสิเราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา เราต้องการสิ่งใด? เราต้องการจิตใจเราให้สงบ เราต้องการปัญญาของเรา แล้วเดินจงกรมทำไม ทำไมไม่ยืนเฉยๆ ทำไมไม่นอนเฉยๆ เดินขึ้นมาให้เกิดปัญญาขึ้นมาล่ะ? นั่งสมาธินั่งทำไมให้หลังขดหลังแข็ง นั่งให้เมื่อยทำไมล่ะ? เรานั่งขึ้นมาเพราะจิตใจ จิตใจมันอยู่ในร่างกายนี้ ถ้าจิตใจอยู่ในร่างกายนี้ เห็นไหม เราใช้ชีวิตของเราโดยปกติของเรา

นี่กิเลสมันก็อาศัยสิ่งนั้น อนุสัยนอนเนื่องมากับความรู้สึกนึกคิดของเรา มันออกแสวงหาผลประโยชน์ของมัน เห็นไหม กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันเป็นความรู้สึก ความรู้สึกนี้มันจะแสดงอิทธิฤทธิ์ของมันได้อย่างไร? มันแสดงอิทธิฤทธิ์ของมันด้วยความรู้สึกนึกคิดของคน คนคิดอย่างใด คนทำอย่างใด ไอ้กิเลสตัณหาความทะยานอยากนี้มันนอนเนื่องมา มันอาศัยสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์กับมัน

ถ้าอาศัยสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับมัน นี่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา นี่เราก็เดินของเรา นี่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา เพื่อยับยั้งมันด้วยสติปัญญายับยั้ง นี่มันเสวยอารมณ์มันถึงมีความรู้สึกนึกคิดออกไป ถ้ามันยับยั้งมัน มันไม่เสวยอารมณ์ของมัน ให้มันเสวยพุทโธ พุทโธ เห็นไหม บังคับคำบริกรรมให้มันพุทโธ พุทโธไว้ นี่มันจะเป็นอิสระไง มันไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก นี่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา เห็นไหม

เราทำบุญกุศลก็เหมือนกัน สิ่งที่เสียสละออกไป ดูสิเราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา นี่บุญกิริยาวัตถุ แม้แต่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา บุญกิริยาวัตถุ กิริยาของเราไง เราจะนั่ง เราจะนอนอย่างไรก็ได้ เราจะทำความสะดวกสบายของเราขนาดไหนก็ได้ เราเสียสละ นี่บุญกิริยาวัตถุ เราได้บุญกุศลมาด้วยการนั่งภาวนา การนั่งภาวนา นี่การภาวนาเพื่อให้จิตมันมีสติมีปัญญา ถ้าจิตมีสติมีปัญญา มันมีเชาวน์ปัญญาของมัน จากคนหนาๆ มันจะเบาบางลงมา เบาบางลงมา

นี่การบ่มเพาะ ลูกหลานเราเราเลี้ยงดูแลมา เราก็ฝึกหัดให้ลูกหลานของเราให้เห็นดีเห็นงาม เห็นความถูกต้องดีงาม สิ่งผิดสิ่งถูกให้มันเข้าใจของมัน ถ้ามันเข้าใจของมัน นี่เขาวางของเขาเอง จิตใจของเราถ้าเรามีคำบริกรรม เห็นไหม ดูสิมันเสวยอารมณ์ มันคิดไปตามความรู้สึกของมันโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเป็นอวิชชา มันก็หาสิ่งที่มาปรนเปรอมันนั่นแหละ พญามารๆ มันหามาปรนเปรอมัน มันต้องการล้นฝั่งไปตลอด ต้องการสิ่งที่เกินกว่าเหตุ แต่ถ้าเราทำหน้าที่การงานของเรา เราหาปัจจัยเครื่องอาศัยในชีวิตมันเป็นกิเลสไหม? ไม่เป็น ไม่เป็นเพราะอะไร? ไม่เป็นเพราะมันเป็นหน้าที่ มันเป็นหน้าที่

ชีวิตนี้มีค่าไหม? ชีวิตนี้มีค่า แล้วเราจะดำรงชีวิตนี้ได้อย่างไรถ้าไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้ามีปัจจัยเครื่องอาศัย ดูสิอาหาร ๔ ในวัฏฏะ กวฬิงการาหารอาหารคำข้าว วิญญาณาหาร ผัสสาหาร วิญญาณาหาร มโนสัญเจตนาหาร นี่เกิดในภพใดชาติใดต้องมีอาหาร เกิดในภพใด อยู่อย่างใด กินอาหารอย่างใด ดำรงชีวิตอย่างใด ชีวิตนี้มีค่าๆ มีค่าอย่างนี้ไง นี้เราหาปัจจัย ๔ เพื่อดำรงชีวิต ดำรงชีวิตไว้ทำไม?

ดำรงชีวิตไว้ ถ้าทางโลกเขาดำรงชีวิตไว้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของเขา ถ้าเราดำรงชีวิตไว้นะ ดำรงชีวิตไว้เพื่อจะขัดเกลามันไง เพื่อจะขัดเกลาให้จิตนี้มันเป็นอิสระ ไม่อยู่ใต้อิทธิพลของกิเลส ถ้าไม่อยู่ใต้อิทธิพลของกิเลส นี่ถ้ามันเสวยอารมณ์ๆ มันเสวยมันก็เสวยของมันโดยธรรมชาติ เห็นไหม ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ความคิดก็เป็นธรรมชาติ การเกิดก็เป็นธรรมชาติ กิเลสก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง นี่เราจะทำให้เหนือมันไง เราจะทำให้บังคับ บังคับให้พุทโธ บังคับให้ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าบังคับ เห็นไหม พุทโธไปทำไม? พุทโธนี่พุทธานุสติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ คำบริกรรม จิตมันบริกรรมมันปล่อย พอมันละเอียดเข้าไปๆ นี่บำรุงบำเรอ บำรุงขึ้นมาให้จิตมันเข้มแข็งขึ้นมา พอจิตมันเข้มแข็งขึ้นมามันวางอย่างอื่นหมด มันวางทุกอย่างหมด มันเป็นอิสระ มันไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของกิเลส ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของใคร ถ้ามันไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของใคร นี่สัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ที่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญาๆ ปัญญามันเกิดอย่างไรล่ะ?

นี่การกระทำอย่างนี้เรายังต้องทำ โลกเขาแสวงหากันเพื่อประโยชน์ของเขา ผลประโยชน์ของเขา ถ้าคนหนาเขาก็ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ของเขา นี่แล้วเสียสละไม่ได้ ทำทานก็ทำไม่ได้ แต่การเสียสละ คนที่มีจิตใจขึ้นมา เสียสละเพื่ออะไรล่ะ? เสียสละเพื่อหัวใจของเรา นี่ถ้าจิตใจมันเสียสละขึ้นมา มันเปิดออกๆ ความตระหนี่ถี่เหนียว นั่นล่ะการเสียสละออก ถ้ามันยึดมั่นๆ ของมัน เห็นไหม เสียสละวัตถุขึ้นมา แล้วเราเสียสละอารมณ์ได้ไหม?

คิดสิ่งใด ทำสิ่งใด ยึดมั่นสิ่งใด เจ็บช้ำน้ำใจอยู่กับจิตนั่นแหละ วางไม่ได้ๆ เพราะอะไรล่ะ? เพราะไม่ฝึกหัดไง เวลาทุกข์ขึ้นมาก็อยากจะโยนทิ้ง สิ่งใดที่เกิดมาในใจก็อยากจะขว้างปามันออกไป แล้วมันไปไหมล่ะ? ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้เสียสละๆ ให้ทำลายมันๆ แล้วทำลายตรงไหนล่ะ? ทำลายอย่างไรล่ะ? เพราะมันไม่ได้ฝึกหัดขึ้นมา แต่ถ้าเราเสียสละทานขึ้นมามันเป็นวัตถุที่จับต้องได้ แล้วทำบุญทำทานได้ เขวี้ยงทิ้งก็ได้ โยนทิ้งก็ได้ แต่เพราะมีศรัทธามีความเชื่อ เอาสิ่งนี้มาฝึกหัดใจ เห็นไหม

เสียสละมันออกไป เสียสละออกไปเพื่อขัดเกลาหัวใจของเรา ถ้าทำได้นะ แต่ถ้าทำไม่ได้ๆ ทำไม่ได้มันก็นั่นล่ะคนหนา ถ้าคนบางเขาทำได้ ถ้าทำสิ่งนี้ได้ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเราก็วางได้ แม้แต่วัตถุ ดูสิจิตใจที่เขาสูงส่ง เวลาเขาเสียสละนี่เราทึ่ง เราอึ้งเลยนะ ทำไมเขาทำของเขาได้ ทำไมเราทำของเราไม่ได้ นี่เพราะจิตใจของเขาบาง จิตใจของเขาเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของเขา เขาเสียสละออกมา เสียสละแล้วไปไหนล่ะ?

นี่ข้าวของเงินทองมันก็เป็นวัตถุ เสียสละมือหนึ่งก็ไปมือหนึ่ง มันเป็นสมบัติของโลกไง มันเจือจาน มันเพื่อเป็นประโยชน์ของสังคม ใครเอาไปทำลายล่ะ? มันก็เป็นสิ่งที่มีค่าในโลกนี้แหละ เขาก็ใช้อยู่ในโลกนี้แหละ แต่ถ้าคนเป็นประโยชน์เขาทำประโยชน์กับโลก ถ้าประโยชน์กับโลก นี่ถ้าสังคมร่มเย็นเป็นสุข สมณะ ชี พราหมณ์ก็มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราเข้าไป นี่บรรยากาศ ดูสิถ้ามันสิ่งสภาวะแวดล้อมที่ดีมันก็ชวนให้เราประพฤติปฏิบัติใช่ไหม?

ถ้าสังคมดี คนดี สังคมดี คนดีเขาเห็นแต่คุณงามความดี เขาไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก การแย่งชิง การแย่งชิง การเบียดเบียน การทำลายกัน แล้วการแย่งชิง การเบียดเบียน การทำลายกัน แล้วจะกำหนดพุทโธ พุทโธอยู่เหรอ? เอาพุทโธมาจากไหน? นี่จิตใจมันมีอารมณ์ให้พุทโธไหม? แต่ถ้าจิตใจ ถ้าสภาวะสังคมมันร่มเย็นเป็นสุขเกิดมาจากอะไรล่ะ? เกิดจากเราเห็นอกเห็นใจกัน เรามีน้ำใจต่อกัน เราเห็นคุณประโยชน์ต่อการเสียสละของเรา สิ่งนั้นมันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมาใช่ไหม? ถ้าเป็นประโยชน์ขึ้นมามันก็ย้อนกลับมา

นี่ถ้าทุกอย่างก็ทำเสร็จหมดแล้ว แล้วจะเหลือสิ่งใด? เหลือแต่หัวใจเรามันยังไม่หลุดพ้น เหลือแต่หัวใจของเรามันทุกข์ยาก ถ้าเหลือแต่หัวใจของเราทุกข์ยากเราก็จะมาเริ่มบำเพ็ญเพียรกัน ต้องบำเพ็ญเพียรนะ ถ้าเราไม่บำเพ็ญเพียร เห็นไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมวินัยนี้ไว้ให้เราศึกษาเล่าเรียนของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันจะเป็นสมบัติของเรา สติก็เป็นสติของเรา สมาธิก็เป็นสมาธิของเรา แล้วถ้าเกิดปัญญาก็เป็นปัญญาของเรา ปัญญาของเราก็จะชำระกิเลสของเรา ชำระกิเลสที่มันมีอิทธิพลเหนือใจของเรา

จิตใจของครูบาอาจารย์ท่านก็ชำระจิตใจของท่าน ใครประพฤติปฏิบัติก็ชำระจิตใจของครูบาอาจารย์ท่าน ถ้าผู้อื่นปฏิบัตินั้นก็เป็นธรรมของเขา แล้วธรรมของเราล่ะ? ธรรมของเรา เราไม่ต้องไปเงี่ยหูฟังหรอกว่าของใครจะดีกว่าใคร ของเขาก็คือของเขา อาหารในภูมิภาค ดูสิทางภาคใต้เขาก็กินอาหารประเภทหนึ่ง ทางภาคเหนือก็กินอาหารประเภทหนึ่ง ทางภาคอีสานเขาก็กินอาหารประเภทหนึ่ง แล้วแต่ความเคยชินของเขา ถ้าเขาได้กินอาหารของเขา เขาก็มีความสุขของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ความเพียรของใคร อาหารของใคร เวลาใครทำประโยชน์ของใคร จิตใจของใครได้มีความร่มเย็นเป็นสุขนั่นก็เป็นเรื่องของเขา เรื่องของเขานะ เรื่องของเราล่ะ? เรื่องของเรา ความทุกข์ร้อนในใจของเราใครจะดูแลรักษา? แล้วถ้าไม่มีสติปัญญามันเป็นความจริงขึ้นมา มีสติก็สติจริงๆ มีสมาธิก็สมาธิจริงๆ ถ้ามีปัญญาก็ปัญญาจริงๆ นี่ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะส่วนบุคคลเพราะอะไร? เพราะมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าจิตใจมันไม่เป็นธรรมมันจะเอาธรรมะมาจากไหนล่ะ?

ธรรมะเป็นสัญญาเป็นความจำมา นี่เป็นความจำมา สิ่งที่จำมามันก็จำมาจากข้างนอก เห็นไหม เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาหายา ยาไม่มีสักเม็ดหนึ่ง แต่ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยยาเราเต็มไปหมดเลย นี่ธรรมโอสถๆ มันเกิดขึ้นมาแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ธรรมโอสถเข้ามาชำระล้างในหัวใจของเรา ของเรามันมีอยู่ นี่ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะส่วนบุคคลไง นี่ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็เป็นปัญญา เป็นธรรมโอสถที่จะไปชำระล้างกิเลสในใจของเราไง

เวลามรรคญาณมันเกิดขึ้น มรรคญาณมันรวมตัวขึ้นมา สมุจเฉทปหานในใจของเรา เห็นไหม ใจเป็นธรรมๆๆ ไม่ใช่รู้ธรรมๆๆ รู้ธรรมมันรู้จำมา ถ้าใจเป็นธรรมแล้ว เพราะเป็นธรรมมันถึงแสดงธรรมออกมาด้วยสัจจะความจริง ถ้าสัจจะความจริงจากคนหนานะ คนหนา คนเบาบางอยู่ที่การฝึกหัด นี่คนจะดีจะชั่วอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ เกิด เห็นไหม คนมีดีไม่ใช่ดีเพราะการเกิด การเกิดในตระกูลที่สูงส่งเราก็ได้เกิดมาแล้วมีคนอุปถัมภ์ค้ำจุน เราเกิดในตระกูลที่ยากจนเข็ญใจ แต่เราก็เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน

มนุษย์ไม่ใช่ดีเพราะการเกิด มนุษย์ดีเพราะการกระทำ มนุษย์ดีเพราะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา แล้วเกิดถ้ามีความเป็นจริงขึ้นมาในหัวใจของเรา สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับใคร? ถ้าเป็นประโยชน์กับเรานะ ใจเป็นธรรมๆ ใจที่มันจากหนาแล้วมันเบาบางลงจนมันสิ้นไป สิ้นไปอย่างไร? ทำอย่างใด? เพราะทำอย่างนั้น นี่มันจริงมันจริงอย่างนั้นไง ถ้ามันจริงอย่างนั้น นี่มรรค ผลนิพพานมี ดีชั่วมี ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว

ทีนี้ทำคุณงามความดีของเรา ใครจะทำอย่างไรเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีของเรา สะสมคุณงามความดีของเราเพื่อเรา ไม่ใช่เพื่อใครเลย เขาดูถูกเหยียดหยามกัน เขาเสียดสีกันว่าคนที่ทำบุญกุศลคนเสียสละนั้นเป็นคนโง่ คนที่ตักตวงคนที่แย่งชิงของเขามาคนนั้นเป็นคนฉลาด มันฉลาดอะไรนั่นน่ะ มันหามาวัตถุมันเป็นของโลก แต่เวรกรรมที่มันสร้างนี่ของใคร? ของเรา นี่เราเสียสละวัตถุออกไป เราเสียสละเขาบอกว่าน่าเสียดายๆ แต่เราได้คุณงามความดีในใจ เรามีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเราด้วยหลักด้วยเกณฑ์ของเรา ใครจะติฉินนินทาช่างหัวมัน เอาความจริงในใจเรา

ในใจของเรา เห็นไหม ใจของเราดูแลใจของเรา เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีแก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัยของเรา เราเชื่อที่นี่ ทำที่นี่เพื่อประโยชน์กับเรา เรื่องของโลกอย่าไปยุ่งกับเขา เราอยู่กับโลกนี่แหละ เราไปยุ่งกับเขา แบกโลกๆ หลังหักนะ นี่กิเลสในหัวใจทำไมไม่ดูแลรักษามัน ทำไมไม่จัดการมัน จะแบกโลกนะ

เราอยู่กับโลก ไม่ใช่ยุแหย่ให้เห็นแก่ตัวนะ นี่จิตใจนี่นะนั่งอยู่นี่มันคิดไปรอบโลก ถ้ามีสิ่งใดอยู่ตรงหน้า คนดีอยู่ที่ไหนก็ดี อยู่ที่ไหนก็เป็นประโยชน์ถ้าคนดี แต่กิเลส กิเลสมันเป็นเหยื่อ มันมีอิทธิพลเหนือใจนี้ แล้วบังคับให้จิตใจนี้ไปแบกรับภาระโดยที่เป็นสมบัติบ้า เพราะมันยังไม่มา เป็นสมบัติบ้า รู้สึกนึกคิดนี่ไง

ฉะนั้น เราตัดที่นี่ ไม่ใช่ยุให้เห็นแก่ตัวนะ คนดีมันเห็นแก่ตัวไม่ได้หรอก คนดีเห็นแก่สังคม แต่เพราะกิเลสมันยุมันแหย่แล้วเราไปเชื่อมัน เราหลงเป็นเหยื่อ เหยื่อจากในหัวใจของเรา เราแก้ไขที่นี่เพื่อประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเรา ถ้าเราดีขึ้นมาจริงแล้วเราจะช่วยเหลือเขา เราจะดูแลเขา เราจะเจือจานเขาได้อย่างไร อันนั้นมันเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ในหัวใจของเราเราต้องแก้ของเราก่อน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาองค์เดียว เป็นศาสดาสั่งสอนสามโลกธาตุ แล้วเราล่ะ? เราล่ะ? ถ้าเราทำได้จริง จิตใจ เห็นไหม นี่เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เป็นสัตว์นรกอเวจีขนาดไหนเขาก็มีจิตเหมือนกัน เขามีความสุข เขามีความรู้สึกนึกคิด เขารู้สึกทุกข์รู้สึกสุขของเขาเหมือนกัน จิตใจอย่างนี้นะ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนได้หมด สอนที่ไหน? สอนที่ใจของสัตว์โลก เอวัง