ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ติดตัวเอง

๒๙ ธ.ค. ๒๕๕๕

 

ติดตัวเอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อ การที่ลูกทำพิธีโอนอายุตนเพื่อต่ออายุให้พ่อแม่นั้นเป็นจริงได้หรือไม่คะ

ตอบ : กรณีอย่างนี้มันกรณีในพุทธศาสนานะ มันกรณีที่ว่าเวลาคนอายุขาด คนที่มีอายุขัยจะขาดเขาจะต่ออายุกัน บังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย สิ่งนี้เพื่อทำเป็นกำลังใจ แต่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกไง เวลาสามเณรลูกศิษย์พระสารีบุตร นี่พระพุทธเจ้าบอกพระสารีบุตรว่าจะตาย ให้ไปลาพ่อแม่ซะ พอลาพ่อแม่ไป เด็กมันไม่รู้เรื่องหรอกมันก็ไป พอไปมันไปเห็นปลา ปลาอยู่ในแหล่งน้ำที่มันจะแห้ง ก็ไปช่วยปลานั้นเอาปลานั้นไปปล่อย

นี่ให้ชีวิตคนอื่นเขา ให้ชีวิตสัตว์ ทีนี้พอครบ ๗ วันแล้วสามเณรนั้นไม่ตาย พอไม่ตายเขาไปถามพระพุทธเจ้าว่าทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? ก็บอกว่านี่อายุขัยเขาจบแล้วแหละ แต่เพราะเขาได้ต่ออายุของเขา เขาได้เอาปลานั้นไปปล่อย เห็นไหม

ประเพณีปล่อยนกปล่อยปลามันเกิดจากนั่น พอประเพณีปล่อยนกปล่อยปลาเกิดจากนั่น ถ้าปลาปล่อยแล้วมันก็ไป ถ้าปล่อยนกเขาก็ทำเป็นธุรกิจของเขา จนทางโลกเขาบอกว่าอย่าไปปล่อยนก เพราะนกนี่เขาให้มันกินสารเสพติด พอปล่อยแล้วมันก็กลับมาอีก นี่มันเป็นการไปส่งเสริมให้คนมีอาชีพ ให้คนทรมานสัตว์ เห็นไหม เวลาข้อเท็จจริงเขาทำด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ เวลาถ้าคนเขาจะปล่อยสัตว์ เขาจะไปซื้อที่โรงฆ่าแล้วก็ปล่อยเลยให้มันได้จริง แต่ถ้าไปซื้อที่เขาทำกันแล้วมันก็เป็นธุรกิจไป

นี่สิ่งนั้นมันเป็นคติธรรมที่ในสมัยพุทธกาลทำแล้วเกิดประโยชน์จริง เพราะ เพราะเขาทำด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ เขาทำโดยที่เขาไม่รู้ เจตนาเขาไม่รู้เลย สามเณรไม่รู้เรื่องเลยนะ แต่สามเณรนั้นไป พอไปเจอปลาเข้า ด้วยเด็กมีเมตตา เด็กนั้นก็เอาปลาไปปล่อย สามเณรน้อยไง ครบแล้วเขาไม่ตาย นั้นข้อเท็จจริงในพุทธศาสนา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คือเขาให้ชีวิตคน ฉะนั้น พอเป็นอย่างนั้นปั๊บเราก็เอาคติธรรม เอาสิ่งนั้นเป็นตัวตั้ง แล้วเราก็จะมาทำพิธีกรรมกัน ต่ออายุ โอนอายุ สร้างอายุ เพิ่มอายุ ลดอายุ เรามองแล้ว ถ้าพูดถึงทำเพื่อให้กำลังใจกันนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ตอนนี้ปั๊บ แล้วตอนนี้มันไปหมด

ฉะนั้น ในกรรมฐานเราไม่เชื่อเรื่องดวง ไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ไม่เชื่อเรื่องพยากรณ์ ไม่เชื่อเรื่องอะไรเลยนะ นี่กรรมฐาน กรรมฐานให้เชื่อสัจจะ เชื่อความจริง นี่สันทิฏฐิโก คนเรานะถ้ามันมีสติไม่ตายหรอก นี่เวลาหลวงตาท่านอยู่ที่หนองผืออาเจียนถึงกี่หน แล้วที่มันจะไปๆ นี่พอจะไปสติมีพร้อม แล้วภาพมันซ่านออกมา ไม่ไปหรอก ถ้ามีสตินะรั้งไว้ๆ นี่เขารั้งไว้ คนที่เป็นนี่เขารั้งไว้ แต่ถ้าไม่รั้งไว้ล่ะเรามีสติของเรา เราทำของเรา

ฉะนั้น ที่ว่า

ถาม : การที่ลูกทำพิธีโอนอายุของตนเพื่อต่ออายุพ่อแม่

ตอบ : พ่อแม่ใครๆ ก็รักนะ นี่ถ้าทำได้ก็ได้ถ้าเป็นจริง เพราะเราก็อยากจะให้พ่อแม่แข็งแรง ให้มีอายุมั่นขวัญยืน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร นี่มันธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมดาของเรา เราทำของเราเต็มที่แล้ว เพราะว่าทำพิธีกรรมอะไรแล้วมันเป็นเรื่องโลกๆ ไปแล้ว พอเรื่องโลกไปแล้วมันก็จะเป็น ประสาเราว่าเป็นธุรกิจ ตอนนี้ทุกอย่างเป็นธุรกิจไปหมดเลย แล้วบอกว่า โอ๋ย ไม่มีหรอก ไม่ต้องการอะไรเลย ไม่ต้องการอะไรเลย ไม่ต้องการเดี๋ยวจะย้อนหลังมา

นี่พูดถึงว่าการโอนการต่อนะ จบ นี้เรื่องทางโลกนะ ทีนี้เรื่องการภาวนาแล้ว

ถาม : กราบอาจารย์ กระผมมีนิมิตเกิดขึ้นมาว่า ภาวนาการันตียังส่งออกอยู่มากๆ จิตถอนออกมาแล้วพิจารณาว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณคือผู้ถูกรู้ ให้กลับมาดูที่ผู้รู้อย่างเดียวตามคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ แล้วกำหนดจิตใหม่ พลันมีความรู้สึกนึกขึ้นว่าจิตเอยจงกล่อมจิต จงเลี้ยงจิตให้เจริญในที่ผู้ถูกเลี้ยงเถิด ในที่ผู้ถูกเลี้ยงนี้มีปัญญาเป็นเครื่องเล่น พอจิตถอนออกมา จิตกล่อมจิต จิตเลี้ยงจิตให้เจริญ ไม่สงสัยว่ากล่อมและเลี้ยงอย่างใด แต่สงสัยว่าในที่ผู้ถูกเลี้ยงนั้นเป็นเช่นไรจึงกำหนดจิตต่อ จิตจะเริ่มรวมเป็นสีขาวหมด และสว่าง ทดลองท่องพุทโธและกำหนดลมหายใจก็ได้พลิ้วไหวแผ่วเบาดุจปุยนุ่น และเย็นสบายดี

กระผมกราบอาจารย์เพื่อโปรดเมตตากระผมให้เข้าใจ

๑. จิตกล่อมจิต

๒. จิตเลี้ยงจิตให้เจริญในที่ผู้ถูกเลี้ยง

๓. ในที่ผู้ถูกเลี้ยงมีปัญญาเป็นเครื่องเล่นนั้น กระผมควรพิจารณาขันธ์ ๕ หรือดูความคิดและอาจารย์แนะนำให้ดูความคิดว่าสนุกยิ่งกว่าเล่นเกม ก็ดูไม่รู้ว่าความคิดเกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากไหน เคยเห็นเป็นตัวหนังสือผุดขึ้นมาจากที่ราบๆ โล่งแจ้ง เคยมีนิมิตว่าใจเป็นของสมมุติ และดีใจที่มีนิมิต อุชุ ญายะ และมีนิมิตที่ไม่ทราบความหมายคือ (นี่เขาว่านะ)

ร่วม ๒๐ ปี กระผมเคยมีนิมิตให้พิจารณากายของจิต กราบถามพระอาจารย์มาประมาณ ๔ ปีแล้วทำไม่ได้ จึงไปถามหลวงตามหาบัวท่านให้พิจารณากายหยาบ กายละเอียด และพิจารณาจิตก็ทำไม่ได้ พอดูความคิดรู้สึกว่าดีครับ อนึ่งคำสอนหลวงปู่ดูลย์ ให้ดูผู้รู้ อย่าดูผู้ถูกรู้ นี้คือการตัดนิมิต (นี่ผู้ถาม)

ตอบ : ทีนี้คำถามเขาถามว่าเขาเห็นกายของจิต จิตของกาย เขาถามเรามา ๒๐-๓๐ ปีแล้ว เราก็ตอบเขามาเกือบ ๓๐ ปีแล้ว แล้วเขาก็ยังไม่รู้เรื่อง เขาไม่รู้เรื่องเพราะอะไรล่ะ? เขาไม่รู้เรื่องเพราะว่าเขาติดตัวเองไง ติดเรา ติดเขา ถ้าติดตัวเอง เกิดมีทิฐิมานะ ถ้ามีทิฐิมานะโดยที่ว่าไม่มีทิฐิหรอก อยากจะพ้นทุกข์ อยากจะประพฤติปฏิบัตินี่แหละ แต่เขาติดตัวเอง ติดตัวเองคือว่าพอเขารู้สิ่งใดขึ้นมาเขาก็ยึดติดสิ่งนั้น พอยึดติดสิ่งนั้น ไปถามใครก็เอาความที่ตัวเองติดสิ่งนั้น แล้วยึดสิ่งนั้นไว้

ใครอธิบายมาอย่างไรเขาก็ยึดความรู้สึกนึกคิดของเขา ความรู้สึกนึกคิดของเขา แล้วเขาก็เที่ยวไปหาเขา เที่ยวไปหาครูบาอาจารย์องค์นั้น เที่ยวไปหาครูบาอาจารย์องค์นี้ ให้ปลดสิ่งที่มันติดข้องในใจของเขา ถ้าติดข้องในใจของเขา เขาให้คนอื่นปลดๆ แต่ใจเขาไม่ปลด ถ้าใจเขาไม่ปลด ให้คนอธิบายขนาดไหน นี่มาหาเราตั้งเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว แล้วเวลาไปหาหลวงตามหาบัว เพราะว่าฟังเราแล้วไม่เข้าใจหรอก ก็ไปหาหลวงตามหาบัว หลวงตามหาบัวท่านก็บอกให้พิจารณากายหยาบ กายละเอียด ให้พิจารณาจิตก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ทำได้ทั้งนั้นแหละ

นี่หาเราเราก็อธิบายแล้ว หาหลวงตามหาบัว หลวงตามหาบัวก็อธิบายแล้ว แล้วจะไปหาใครอีก? ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม? ก็ต้องให้มันตายไปก่อนแล้วก็ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ไปเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การติด เราติดตัวเราเอง เราติดความรู้สึกนึกคิดของเราเอง แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านอธิบายเป็นธรรมๆ ธรรมของครูบาอาจารย์มันอยู่ข้างนอก ทิฐิมานะ ความยึดติดในใจของเรา

ถ้ายึดติดในใจของเรา ถ้ามันยึดติดสิ่งที่ดีมา มันเห็นสิ่งใดเป็นคุณงามความดีมา สิ่งนั้นก็จะเป็นประโยชน์กับเรา มันไปเห็นสิ่งที่เป็นนิมิต สิ่งที่ไปรู้เห็นขึ้นมา แล้วก็ทิฐิมานะยึดว่ารู้ ยึดว่าเห็น ใครอธิบายแล้วต้องอธิบายให้มาตรงกับความรู้ของเรา ถ้าใครอธิบายไม่ตรงกับความรู้ของเรา สิ่งนั้นมันก็ไม่ฟัง ฟังมามันก็จะเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา มันก็ไม่เอามาเป็นเนื้อหาสาระเพื่อมาแก้ไขตัวเอง ถ้าไม่เอามาแก้ไขตัวเองมันจะเป็นประโยชน์อะไร?

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อยู่ในตู้พระไตรปิฎก ธรรมะของครูบาอาจารย์ก็อยู่ที่ตัวท่าน อยู่ที่ใจท่าน ท่านพูดออกมามันก็ลอยลมผ่านหู เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไป มันไม่เป็นประโยชน์กับใครทั้งสิ้น ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรามันต้องมีความสำนึกไง ความสำนึกว่าสิ่งนั้น ถ้ามันเป็นจริง ถ้าความรู้ ความเห็นเราเป็นจริง

ถาม : มาหาหลวงพ่อตั้งเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ร่วม ๒๐ ปีแล้วกระผมมีนิมิตที่ไปถามเรื่องกายของจิตกับหลวงพ่อ

ตอบ : นี่ ๒๐ ปีที่แล้ว นี่เสียเวลาไป ๒๐ ปี แล้วก็ไอ้กายของจิตๆ มันก็ยังอยู่ที่ความทิฐิมานะอันนั้นยึดถือมั่นไว้ แล้วมันยึดถือมั่นไว้ เห็นไหม

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ นี่เวลาออกไปเที่ยวป่ากลับมา เขาเห็นมูตร เป็นคูถ เห็นขี้เขาก็แบกมา ไปกันสองคน ก็แบกมาด้วยกันสองคน เวลาแบกมาสองคน อีกคนหนึ่งพอไปถึงครึ่งทางเขาไปเจอเงิน คนหนึ่งเขาทิ้งขี้นั้น เพราะขี้นั้นเอาไปบ้านก็เป็นปุ๋ย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขาได้ เขาทิ้งเขาแบกเงินไป ไปถึงปลายทางเขาไปเจอทอง เขาทิ้งเงินนะเขาแบกทอง

เวลากลับไปถึงบ้านนะ คนที่เขาทิ้งมาเขาได้ทองคำไปฝากครอบครัวของเขา ไอ้อีกคนหนึ่งแบกขี้มาตั้งแต่ต้น ไปถึงเงินเห็นเงินแล้วมันก็ไม่ยอมทิ้ง มันก็ยังแบกขี้ต่อไป พอไปถึงทอง มันเห็นทอง โอ๋ย แบกมาไกลแล้ว แบกขี้มาไกลแล้วทองก็ไม่เอา มันไม่ทิ้งขี้เอาทอง กลับไปถึงบ้านเขามีแต่มูตร แต่คูถ เขามีแต่ขี้ไปฝากครอบครัวเขา ภรรยาของเขาติฉินนินทาเขาเลยบอกว่าทำไมดูบ้านนั้นสิ ไปด้วยกันแบกขี้มาด้วยกัน เวลาถึงบ้านทำไมเขามีทองคำกลับมาล่ะ? เพราะเขาทิ้งขี้มาแบกแท่งเงิน พอไปถึงปลายทางเห็นแท่งทอง เขาทิ้งแท่งเงินมาแบกแท่งทองไป ไอ้คนแบกขี้ แบกขี้มาตั้งแต่ต้นทาง จนไปถึงบ้านมันก็เอาขี้ไปฝากครอบครัวไง

ทิฐิมานะของคน ถ้าทิฐิมานะของคน สิ่งที่รู้ที่เห็นมันคืออะไรล่ะ? นิมิตก็คือนิมิต เวลาธรรมมันเกิด นี่เวลาเกิดขึ้นมามันผุดขึ้นมากลางหัวใจ เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาเรื่องนี้ท่านรู้อยู่แล้ว นี่ควายมันก็กินหญ้า มนุษย์มันก็กินข้าว ควายที่ไหนมันกินข้าว ควายก็กินหญ้าทั้งนั้นแหละ ว่ากินหญ้าแล้วมันแข็งแรง นี่แล้วควายมันกินหญ้าเราจะไปกินหญ้ากับควายไหมล่ะ? ควายมันกินหญ้าเราก็ต้องกินข้าวใช่ไหม เรากินข้าวปลาอาหารของเราเพื่อร่างกายของเราได้เจริญเติบโต ควายมันกินหญ้าแล้วมันก็เข้มแข็ง ร่างกายมันก็เข้มแข็งของมัน แล้วมันก็เจริญเติบโต

จิต จิตเวลามันรู้มันเห็นของมัน มันรู้มันเห็นนิมิตต่างๆ มันก็แค่นิมิต นิมิตมันก็ผ่านไปแล้ว เราเป็นคนเราจะกินอาหาร เราจะกินข้าว เราไม่ใช่ควาย ควายมันได้กินหญ้า ได้กินหญ้าตามข้างทาง มันไม่ต้องทำไร่ไถนา มันมีหญ้ากินของมันอยู่แล้ว จิตมันเห็นนิมิต มันรู้สิ่งใดขึ้นมา มันผุดขึ้นมาก็เท่านั้นแหละ มันไม่มีอะไรแปลกประหลาดมหัศจรรย์เลย คนปฏิบัติมันก็ธรรมดา มันจะมีอะไรผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมามันก็แล้วกันไป แต่นี่มันไม่อย่างนั้นน่ะสิ พอมันผุดขึ้นมาแล้วนะของฉัน ของฉัน แบกไปถามคนนู้น แบกไปถามคนนี้ แบกของฉันไปไง

มันติดตัวมันเอง พอมันติดตัวมันเองเราก็แก้ไม่ได้หรอก เพราะมันตั้ง ๒๐ ปีแล้ว แก้กันมา ๒๐ ปีแล้ว เราแก้ไม่ได้ก็ไปหาหลวงตา หลวงตาท่านก็บอกแล้วให้กลับมาพิจารณากายหยาบ กายละเอียด อ้าว เราก็บอกแล้ว หลวงตาก็บอกแล้ว ทีนี้มันจะติดตัวเอง ติดทิฐิมานะมันก็เรื่องของผู้ติด ติดก็ต้องติดไปอย่างนั้นแหละ เพราะตัวเองติดไปเอง แล้วไปตีโพยตีพายเอากับใคร? เวลาตัวเองตีโพยตีพาย ไปไหนก็จะให้คนยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นจริงๆ

ถาม : ๑. จิตกล่อมจิต

ตอบ : จิตกล่อมจิตก็ยากล่อมประสาทไง จิตกล่อมจิต เวลาคนก็ไปศรีธัญญาใช่ไหม? หมอเขาก็ให้ยาไง ให้ยากดประสาทไว้ ไม่ได้เดี๋ยวมันหลุด เดี๋ยวจิตกล่อมจิตก็ยากล่อมประสาทไง

ถาม : ๒. จิตเลี้ยงจิต

ตอบ : จิตเลี้ยงจิต จูงเอาไปกินหญ้าซะ จูงไปกินหญ้า มันเจอหญ้ามันก็กิน จิตเลี้ยงจิต นี่ในสิ่งที่รู้ ผู้ถูกรู้ หลวงปู่ดูลย์เวลาท่านพูดนะ ท่านพูดออกมาจากความจริงของท่าน ถ้าท่านพูดจากความจริงของท่านมันก็เป็นประโยชน์กับท่าน แต่ถ้าเราไปยึดนะวุฒิภาวะไง

ดูสิเวลาผู้อำนวยการเขาสั่งเป็นนโยบายนะ เขาเซ็นชื่อทีเดียวเท่านั้นแหละ ไอ้ลูกน้องทำงานกัน ๑๐ ปีไม่จบ หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นเจ้านายของจิตท่าน หลวงปู่ดูลย์ท่านหักนายช่างใหญ่ ผู้ทำ ผู้สร้างบ้าน สร้างเรือนในใจของท่าน ท่านทำของท่านจบแล้ว เหมือนนายช่างใหญ่ นายช่างใหญ่ที่ชำนาญการ เหมือนผู้อำนวยการ ท่านวางนโยบายแล้วลูกน้อง อู้ฮู ทำกัน ๑๐ ปี ๒๐ ปีไม่จบ

ฉะนั้น เวลาคำพูดของนายช่างใหญ่ นี่สิ่งที่ถูกรู้มันก็ขันธ์ ๕ ผู้รู้มันก็จิต จิตมันคือผู้รู้ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นั่นล่ะคือสัมมาสมาธิ พุทธะ ผู้รู้ ผู้สว่าง ผู้ไสวนั่นคือพุทธะ นี่คือตัวจิต ผู้ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้คือขันธ์ คืออารมณ์ความรู้สึก เวลามันเสวยอารมณ์มันก็เป็นของมันไป ไอ้เรานะ ไอ้เรามันไปเห็นมันเป็นนิมิต มันเป็นความรู้สึกนึกคิด มันเป็นเรื่องหยาบๆ เป็นเรื่องของโลกๆ แล้วเราก็จะไปเปรียบเทียบไง มันก็เหมือนกับนักการภารโรงในองค์กรนั้น แต่เวลานักการภารโรงมันบอกว่ามันเป็นผู้อำนวยการนะ มันรับผิดชอบทั้งสำนักงานนี้เลย

ผู้อำนวยการเขาดูแลรับผิดชอบทั้งองค์กรนั้น นักการภารโรงมันทำความสะอาด มันก็แค่ทำความสะอาดในองค์กรนั้นเท่านั้นแหละ ถ้ามันทำความสะอาดในองค์กรนั้นมันจะรับผิดชอบอะไรล่ะ? มันก็รับผิดชอบไม่ให้คนเข้ามาขโมยของ อะไรสกปรกมันก็ต้องเช็ดถู ก็เท่านั้นแหละ คำพูดเหมือนกัน เวลานักการภารโรงกินข้าวก็บอกว่ากินข้าว เวลาผู้อำนวยการจะกินข้าวก็บอกว่ากินข้าว ก็กินข้าวเหมือนกัน คำพูดเหมือนกัน กินข้าว กินอาหารเหมือนกัน แต่ความรับผิดชอบมันแตกต่างกัน

ฉะนั้น สิ่งที่เข้าใจอย่างนี้ คำว่าจิตที่มันรู้ สิ่งที่มันผุดขึ้นมามันเป็นแค่นิมิต แค่สิ่งนั้นเวลามันเกิดมาธรรมมันเกิด สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา มันรู้มันเห็นสิ่งใดมันเกิดแล้วมันก็แล้วกันไป คนที่เขาปฏิบัติ เห็นไหม ดูสิรถวิ่งมา เหมือนเครื่องบินนะ เวลาเครื่องบินเขาลงเรือบรรทุกเครื่องบินเขาจะเอาสลิงดึงไว้ มันจะหยุดเลย นี่เวลาจะออกรถนะก็เอาสลิงมาผูกไว้กับเสา แล้วก็ติดเครื่องแล้วก็เร่งมันไปอย่างนั้นแหละ รถมันจอดอยู่นั่นล่ะ มันไม่มาหรอก พอมันไปรู้ไปเห็นเข้ามันก็ไปยึดไง พอยึดแล้วมันก็ไม่ขยับไปไหนหรอก แล้วบอกให้ปล่อยมาๆ ต้องบอกให้ฉันรู้ ต้องบอกให้ฉันเข้าใจ ต้องแก้ฉันสิ

ติดตัวเอง ถ้ามันติดตัวเองแล้ว เหตุผลขนาดไหนมันก็ไม่เข้าใจหรอก แล้วพอตัวรู้ตัวเห็นสิ่งใดก็ว่าตัวรู้ตัวเห็นสิ่งนั้นเป็นความถูกต้อง การปฏิบัตินะต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามามันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ถ้ามันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ถ้ามันมีสติ มันมีปัญญา ถ้ามีสติ มีปัญญา เห็นไหม เวลามันออกรู้ นี่สติปัฏฐาน ๔ จริง สติปัฏฐาน ๔ จริงคือจิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง

คนที่เห็นตามความเป็นจริงมีสติสัมปชัญญะ มันรู้นะเห็นกายก็คือกาย กายนี่ถ้าแปรสภาพไปมันเป็นไตรลักษณ์อย่างไร พิจารณากาย พอพิจารณากาย พิจารณาเวทนา เวทนาความรู้สึกนึกคิด เวทนาของกาย เวทนาของจิตพิจารณามา ถ้าเกิดจิต จิตผ่องใส จิตเดิมแท้จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง ถ้าพิจารณาธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นพิจารณาธรรม ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้น ถ้ามีสติสัมปชัญญะ สิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเหมือนเด็กๆ เด็กๆ นะ ดูสิตอนนี้นะเด็กหายๆ เด็กนะเวลาเขาจะไปล่อเด็ก เขาจะชวนเด็กไปเที่ยว เขาจะชวนเด็กไปเล่นเกม เขาจะชวนเด็กไป

นี่ก็เหมือนกัน พอจิต สติปัญญามันอ่อนด้อย พออ่อนด้อยมันมีสิ่งใดผุดขึ้นมา เห็นไหม นี่เขามาหลอกเด็ก เขามาหลอกใจ สิ่งที่ไปรู้เห็น นิมิตๆ เขามาหลอกใจ พอหลอกใจ เด็กเวลาเขาหลอกไปนะ นี่การค้ามนุษย์เขาหลอกเด็กไป เด็กคนนั้นเขาไปทำเป็นขอทาน เด็กคนนั้นเขาไปทำให้ร่างกายพิการ ให้มีความน่าสงสารเพื่อจะขอทาน เพื่อหาเงินเลี้ยงผู้ที่เป็นผู้ควบคุม

อันนี้จิตของเราๆ เวลามันเกิด เห็นไหม มันเกิดนิมิตขึ้นมา นี่กิเลสเอามาหลอก พอหลอกแล้วก็ไปติด พอติดแล้วนะก็ตีโพยตีพายบอกว่าตำรวจไม่จับ คนนี้ลักเด็ก คนนี้มาหลอกเด็ก เด็กนี้เอาไปเป็นสินค้า นั้นมันเป็นสังคมโลก แต่นี้มันเป็นความรู้สึกนึกคิดของเรา สิ่งที่ผุดขึ้นมาๆ นี่รู้ไปหมดสิ่งต่างๆ นี่เหยื่อล่อทั้งนั้นแหละ กิเลสมันเอามาหลอก พอกิเลสเอามาหลอกแล้ว พอไปรู้แล้ว คำว่ากิเลสเอามาหลอกมันเป็นธรรมไหม? ถ้ามันไม่เป็นธรรมขึ้นมา นี่จิตกล่อมจิต จิตเลี้ยงจิต จิตดูจิต อะไรล่ะ? นี่คืออะไร? นี่คืออะไร?

กิเลสมันเอาสิ่งนี้มาล่อ เอาสิ่งนี้มาหลอก แล้วไปเชื่อมันทำไม? แล้วไปติดมันทำไม? แล้วพอติดขึ้นมาแล้วให้คนนู้นแก้ คนนี้แก้ แล้วแก้อย่างไรในเมื่อตัวเองติดอยู่ บอกให้กินยาเขาเย็บปากไว้ไม่ยอมกิน แล้วบอกว่าหมอคนนี้รักษาไม่ดี ไม่หายสักที ให้กินยามันเย็บปากไว้มันไม่ยอมกิน ไม่ยอมกินแล้วมันจะหายไหม? ถ้ากินยามันก็จบ

สิ่งที่ถามมานี่นะเพราะเคยคุยกับเรามาหลายรอบแล้วล่ะ ไอ้กายของจิตๆ คุยกันมา ๒๐ ปี เราพูดนี่เราพูดเพื่อให้ปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าไปรู้ไปเห็นขึ้นมามันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง สติปัฏฐาน ๔ จริงคือจิตมันสงบจริงๆ พอจิตมันสงบขึ้นมาแล้วมันรู้ มันเห็นตามความเป็นจริงนั้น ถ้ารู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น ขณะตามความเป็นจริงนั้นเป็นปัจจุบันนั้นเป็นความจริง แต่เวลาสิ่งนั้นพิจารณาแล้วจนปล่อยวาง หรือสิ่งนั้นมันผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้วเป็นสัญญาแล้ว ถ้าไปนึก ไปคิด ไปอยากได้สิ่งนั้น นี่สัญญา สิ่งที่สัญญาต้องเป็นปัจจุบัน

เวลาจะเกิดขึ้นใหม่ ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามันเกิดขึ้นมาใหม่ มันรู้เห็นในปัจจุบัน มันก็จะเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมในปัจจุบัน แล้วมันไม่เหมือนกับครั้งที่แล้ว ไม่เหมือน เพราะครั้งที่แล้วนะ คนเราปฏิบัติแต่ละครั้งๆ มันจะไม่เหมือนกัน ถ้ามันไม่เหมือนกัน แต่ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เพราะฝึกหัดให้จิตใจนี้มั่นคงขึ้นมา

ถ้ามันมั่นคงขึ้นมา นี่เข้าสู่กระแส เข้าสู่การประพฤติปฏิบัติ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล แต่ถ้ามันยังเห็นนิมิต ยังรู้เห็นความรู้สึกนึกคิด แล้วความรู้สึกนึกคิดพอเห็นไปแล้วงงด้วยนะ งงเสร็จก็แบก แบกขี้เที่ยวไปถามคนนั้น เที่ยวไปถามคนนี้ แบกขี้ไปด้วยไง เขาบอกให้ทิ้ง ถ้าเจอเงินแล้วให้ทิ้งขี้นั้น แบกเงินนั้นไป ถ้าไปเจอทองข้างหน้าให้ทิ้งเงินนั้นไปเอาทองข้างหน้า

การปฏิบัติเวลามันปล่อยวางทีละครั้ง ทีละคราว มันปล่อยวางแล้วปล่อยวางเล่า มันจะพัฒนาขึ้นไปจากขี้กลายเป็นเงิน จากเงิน ทองคำดีกว่า นี่สิ่งที่พอทองคำดีกว่าเราถึงไปเจอเพชร เพชรที่น้ำงามๆ ดีกว่าทอง นี่มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แต่นี้ไม่อย่างนั้น พอนิมิตมันสร้างขึ้นมา ขี้ก็คือขี้ ขี้มันมีกลิ่นเหม็นนะ

เวลาเขาไปทำ ตอนนี้อีเอ็มที่เขากำลังนิยม เวลาใช้อีเอ็มขึ้นมามันเป็นประโยชน์ แต่มันก็มีกลิ่น มีผลกระทบ มีทุกอย่างทั้งนั้นแหละ แต่เรารู้ว่ามันเป็นประโยชน์ เรารู้ว่ามันเป็นประโยชน์ แต่นี้มันเป็นประโยชน์ไหมล่ะ? ถ้ามันเป็นประโยชน์ นี่ ๒๐ ปีแล้วนะ กายของจิตๆ ๒๐ ปีแล้ว แล้วตัวเองได้อะไรล่ะ? ได้งงๆ ไง แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านบอกแล้ว บอกว่าวางมันซะ

อดีตมา ๒๐ ปี ถ้าเป็นอายุเรา ๒๐ ปีนี่คิดดอกเบี้ย ดอกเบี้ยปีละเท่าไร? ตอนนี้ดอกเบี้ยมันทบต้นไปแล้ว ถ้า ๒๐ ปีมันทิ้งมาตั้งแต่ตอนนั้นนะ แล้วปฏิบัติมานะมันจะได้ผลมากกว่านี้กี่ร้อยเท่า อันนี้ปฏิบัติมานะก็ยังติดกายของจิตนั่นแหละ ๒๐ ปี อ้าว ร้อยละเท่าไร? กี่เปอร์เซ็นต์? แล้ว ๒๐ ปีกี่เปอร์เซ็นต์ ทบต้นหรือยัง? มันทบต้นไปแล้ว

ฉะนั้น สิ่งนี้เพราะเวลาคุยกันแล้วมันก็จบ ทีนี้แบบว่าจะถามไง ถามนี่วันนี้พูดดีมากเลย ดีมากเพราะอะไร? เพราะไม่นั่งอยู่ต่อหน้า ถ้านั่งอยู่ต่อหน้า พูดอย่างนี้ โอ้โฮ ชักตายเลย แล้วก็ถามมา ๒๐ ปีแล้ว กล้าถามก็กล้าตอบนี่ไง ถามมาก็ตอบแล้ว เลี้ยงจิตๆ ถ้าพูดอย่างนี้แล้วมันก็เป็นนิยาย เป็นละครไป เลี้ยงจิตใช่ไหม? เลี้ยงจิตแล้วมันก็สร้างภาพ

การเลี้ยงจิตนะ จิตเลี้ยงจิตต่างๆ ไอ้ที่ว่าเล่นเกมของเราเพราะจิตมันสงบแล้ว เวลาจิตมันสงบแล้วมันเห็นขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง เวลามันพิจารณาไปมันเป็นปัจจุบัน มันสนุก มันสนุกเพราะอะไร? เพราะมันมีงานทำ คนภาวนานะ คนภาวนาที่ภาวนาแล้ว เวลามันเดินมรรค เห็นไหม นี่เวลาหลวงตาท่านภาวนาของท่าน ขณะที่ว่าเวลาพิจารณาอสุภะอยู่กับใครไม่ได้เลย มหาสติ มหาปัญญา ปัญญามันหมุนติ้วๆ มันหมุนของมันเต็มที่ สนุกมาก

นี่ภาวนาไปแล้วมันจะได้จะเสีย จะได้จะเสีย มันภาวนาไป นี่เวลาถ้าเต็มที่ไป ถ้าสมาธิมันอ่อน มันเลยเถิดไปก็ต้องกลับมาทำความสงบของใจ เวลามันภาวนาไปมันเป็นอย่างนั้น แต่นี่มันไม่ใช่ ถ้ากายของจิตแล้วก็กายของจิตอยู่อย่างนั้นน่ะ กายของจิตก็เอากายของจิตมาพลิกหน้าพลิกหลังอยู่อย่างนั้นแหละ มันก็คือสัญญาอันเก่า นิมิตอันนี้มันเกิดขึ้นมาหนหนึ่ง มันหลอกได้ ๒๐ ปี มันหลอกมา ๒๐ ปี ยังเอาความหลอกอันเก่ามาถามอยู่ แต่ถ้ามันทิ้งไปนะ ถ้ามันเกิดขึ้นมาเป็นปัจจุบันมันอีกเรื่องหนึ่งนะ

ฉะนั้น ทิ้งหมด อะไรที่มันผ่านมาแล้วต้องทิ้ง ฉะนั้น เวลาเรากินข้าวเสร็จแล้วใช่ไหม? แม้แต่จาน เศษอาหารยังต้องล้างเลย ถ้าเรากินอาหารแล้วนะก็สะสม หมักหมมไว้อย่างนั้นแหละ พรุ่งนี้ก็กินไอ้จานเก่านั่นแหละ นี่ปีหนึ่งก็ยังกินจานนั้นนั่นแหละ กินลงไหม? มันจะบูด มันจะเน่าไปขนาดไหนแล้ว ไอ้กายของจิต ๒๐ ปีมันบูด มันเน่าจนมันเหม็นขนาดไหนแล้วยังคาอยู่ในใจนั้น ติดตัวเองนะ ติดตัวเอง ครูบาอาจารย์ไม่ติดหรอก ธรรมะก็ไม่ติด ตัวเองติดตัวเองต่างหาก

ถาม : ข้อ ๑๒๒๔. เรื่อง “พิจารณาอย่างไรคะ?”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพเป็นอย่างสูง ขออนุญาตหลวงพ่อขอความเมตตาจากท่านให้แนะนำแก้หนูด้วยค่ะ

๑. ปกติตอนนอนหนูจะภาวนาพุทโธอ่อนๆ คือไม่ชัด จะไปเรื่อยๆ จนหลับไป พอรู้สึกตัวตอนใกล้เช้าตัวมันจะนอนนิ่ง จะมีความรู้สึกว่าตัวเรากลวง ตรงช่องอกจะรู้สึกแน่น รู้สึกหนักและแน่น พอรู้ตัวหนูก็จะภาวนาพุทโธบ้าง แต่ก็ยังนิ่งเฉย จนสักพักก็ลุกขึ้น บางวันหนูก็จะพิจารณาว่า อืม ตัวเราเหมือนถุงหนังที่มีเนื้อแดงเลือดน้ำหนองอยู่ข้างใน บางวันก็จะพิจารณาว่าตรงช่องอกมันเป็นธาตุดินนะ มันไม่ใช่เราเลย

บางวันก็จะนึกถึงตอนที่เห็นแม่หนูที่ตายแล้วนอนอยู่ ตอนจะยกเข้าโลงว่ามันเหมือนกันเลย เหมือนศพศพหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้ก็สลับกันไปมา แต่หนูดูแล้วร่างกายกับจิตใจมันก็จะนิ่งเฉยตลอดจนเราต้องลุกขึ้น หรือไม่ก็เผลอม่อยหลับไปอีกรอบหนึ่ง เวลาที่รู้สึกตัวตื่นแต่ยังไม่ลุก หนูจะรู้สึกอยากจะนอนรู้ตัวอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่จำเป็นต้องลุกขึ้นไปทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้หนูกลัวว่าเราจะติดในความรู้สึกแบบนี้ และไม่อยากก้าวหน้าต่อไป ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าเจ้าคะ ควรจะพิจารณาให้อย่างไรอย่างหนึ่งหรือไม่เจ้าคะ

ตอบ : การพิจารณาอย่างนี้มันเป็นการไหลตามไป การไหลตามไปนะ อย่างเช่นเรากำหนดพุทโธ พุทโธแล้วเราหลับไป ตื่นขึ้นมาเหมือนเรามีความรู้สึก มีความรู้สึกว่าตัวนี้กลวงๆ มันเกิดปีติได้ เวลาปีติขึ้นมามันจะว่างๆ นี่มันจะตื่นเต้นต่างๆ เกิดปีติของมันได้

การปีติอย่างนี้ นี่ตอนนี้เราคิดของเราอย่างนี้ ถ้าคิดอย่างนี้ เวลาเราเอามาเทียบเคียง เห็นไหม นี่เทียบเคียงใช้ปัญญาว่าเราเหมือนถุงหนัง เราเหมือนซากศพต่างๆ อันนี้มันก็เป็นปัญญาของเรา แต่เป็นปัญญาของเราแล้ว ถึงเวลาเรานอนแล้วเรากลัวว่าต่อไปเราจะคุ้นชินกับสิ่งนี้ ถ้าคุ้นชินกับสิ่งนี้ นี่คนถ้ามีสติมีปัญญานะ สิ่งที่เกิดขึ้นมาเขาเรียกว่าธรรมสังเวช เวลาเราใช้ปัญญาของเรา เราพิจารณาร่างกายของเรา พิจารณาความรู้สึกนึกคิดของเรามันจะเกิดความสังเวช ความสังเวชนะ การกระทำสิ่งใดมันต้องมีผล นี่กระทำสิ่งใด

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราใช้ปัญญาของเราไป เราพิจารณาของเราเป็นซากศพ ร่างกายของเราเหมือนถุงหนัง มันมีเนื้อแดงๆ อยู่ข้างในนี้ นี่เราพิจารณาต่อเมื่อมีสติปัญญามันจะพิจารณาอย่างนี้ แต่ถ้าเวลาสติปัญญามันอ่อนนะ เวลาพิจารณาอย่างนี้มันก็บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสมมุติ ใครๆ ก็รู้กันหมดแล้ว นี่ถ้าปัญญามันไม่ก้าวเดินไปเพราะกิเลส เพราะความหยาบ ความหนาของกิเลส ความหนาของใจเรามันจะคิดไม่ออกหรอก มันคิดอย่างนี้ไปไม่ได้

แต่ถ้าเรามีสติ มีสมาธิอยู่ นี่กิเลสมันเบาบางลง พอเบาบางลง ความรู้สึกนึกคิดมันไปพร้อมกับมันมีสมาธิ มีกำลังของมัน มันก็คิดออกมาได้อย่างนี้ ถ้าคิดออกได้อย่างนี้มันก็เกิดความสังเวช เกิดความสังเวชนะ ถ้าคนคิดอย่างนี้มันเกิดความสังเวช มีความสำนึก เกิดในความรู้สึกนึกคิดที่ดีๆ ถ้าคิดดีแล้ว ทีนี้พอคิดดีๆ มันผ่านไป พอมันผ่านไป นี่เวลาเราตื่นนอนขึ้นมาแล้วก็ขี้เกียจลุกเราก็นอนต่อ พอนอนต่อแล้วบางทีก็จำเป็นต้องลุก แล้วถ้าหนูเป็นอย่างนี้ไปหนูจะไม่ก้าวหน้า

นี่ถ้าหนูจะไม่ก้าวหน้า มันก็บอกอยู่แล้วหนูจะไม่ก้าวหน้า ถ้าหนูจะไม่ก้าวหน้าหนูก็ต้องทำให้ดีกว่านี้สิ ให้ดีกว่านี้นะ นี่สิ่งที่ทำมันทำไปโดยอัตโนมัติไง คือเรานอนกำหนดพุทโธไปมันทำให้เป็นกิจจะลักษณะ แต่ถ้าเรากำหนดนะ เรามีเวลาภาวนาเราก็นั่งสมาธิ เราเดินจงกรมให้มันคิดในปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันมีสติมีปัญญาขึ้นมา นี่สิ่งนี้มันจะพัฒนาขึ้น แต่นี้เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิเราก็ขี้เกียจของเรา เราก็นอนพุทโธ พุทโธ พุทโธให้มันหลับไปไง แล้วก็นอนคิด นอนปรุงของเราไป สิ่งนั้นมันจะไม่ก้าวหน้า มันจะไม่ก้าวหน้ามันก็เป็นอันหนึ่ง จะบอกว่าให้หลวงพ่อแนะนำว่าจะทำอย่างไร ให้ทำเป็นกิจจะลักษณะหรือจะทำอย่างนี้ต่อไป?

ทำอย่างนี้ต่อไป ถ้าทำอย่างนี้ต่อไป เราทำอย่างนี้ต่อไปเพราะเราทำมาเราได้อย่างนี้ แต่เวลาเราจะเอาจริงเอาจังขึ้นมาไง ถ้าเราทำเป็นกิจจะลักษณะ เวลาภาวนาเราก็ภาวนาของเรา เวลาเขาบอกว่าให้นับเงิน ถ้าเราบอกว่าเราแกล้งนับเงิน เรานับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เราก็นับของเราไปใช่ไหม? เขาบอกว่านับเท่าไรให้เอาเท่านั้นนะ โอ้โฮ หู ตาพองเลย อู๋ย อยากจะนับมากๆ นะ นี่ใครนับเงินกองนี้ ใครนับได้มากก็เป็นของคนคนนั้นไป โอ้โฮ มันรีบนับใหญ่เลย ตั้งสตินับอย่างดีเลย แต่เวลาภาวนาจะนอนเฉยๆ จะทำของเรา

ถ้าเราจะเห็นคุณประโยชน์ของเรา เราเห็นคุณประโยชน์ใช่ไหม? นี่เงินทองทุกคนเห็นมันมีค่า แต่เวลาคุณธรรมในใจใครจะเห็นมันมีค่ามากขนาดไหนล่ะ? ทรัพย์ที่เป็นสาธารณะ ทรัพย์ที่เป็นสมมุติ ทรัพย์ที่เป็นทางโลกกับอริยทรัพย์ที่มันมีคุณค่ามากกว่านี้ ถ้ามีคุณค่ามากกว่านี้เราจะต้องมีสติปัญญามากกว่านี้ เราควรจะมีสติปัญญามากกว่านี้เพื่อเราจะทำของเราไง ทำเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา ให้มันทำจริงทำจังขึ้นมาซะ สิ่งที่ถามมาว่าตัวเราเห็นว่าร่างกายนี้เป็นถุงหนัง มีแต่เนื้อแดงๆ อยู่ สิ่งนี้ที่มันคิดขึ้นมาได้ คิดขึ้นมาได้นะมันเป็นปัจจุบัน แต่เวลาไปฟังคนอื่นเล่าให้ฟังสิมันฟังแล้วมันจืดๆ ฟังแล้วมันไม่มีอารมณ์ความรู้สึกหรอก

นี่ธรรมแบบนี้ครูบาอาจารย์ท่านคิดมาหมดแล้วแหละ ทีนี้เวลาหลวงตาท่านพูดนะท่านบอกท่านพิจารณาร่างกาย เราพิจารณาร่างกาย เวลาท่านกลัวเสือท่านพิจารณาแบบเสือนะ เสือมีลายเราก็มีลาย เสือมีขนเราก็มีขน เสือมีตาเราก็มีตา ท่านบอกว่าท่านพิจารณาของท่านอย่างนี้ ใช้ปัญญาไล่กับความกลัวในใจ แล้วเวลาท่านไปคุยกับหลวงปู่คำดี หลวงปู่คำดีท่านบอกว่าท่านก็เคยทำมาอย่างนี้เหมือนกัน ท่านก็ใช้อย่างนี้

เวลาท่านอยู่ในป่านะหลวงปู่คำดีท่านก็ใช้เปรียบเทียบ เปรียบเทียบว่าเสือมันก็มีร่างกายเหมือนเรา เราก็มีร่างกาย เสือก็มีร่างกาย ทั้งที่เราเป็นมนุษย์ด้วยเราต้องมีศักยภาพดีกว่าเสืออีก พอมีปัญญาไล่ไปอย่างนี้ปั๊บ หลวงปู่คำดีท่านก็แก้ความกลัวของท่านได้เหมือนกัน นี่เราจะบอกว่าเวลาคนทำ เห็นไหม ทำเหมือนกัน แต่ทำคนละครั้งคนละคราว ทำที่เป็นปัจจุบันของครูบาอาจารย์เรา ท่านจะได้ประโยชน์ในการกำราบความกลัว กลัวเสือ อยู่ในป่ากลัวเสือ กลัวเสือจะเข้ามาขบหัวเอา แต่ใช้สติปัญญาไล่ต้อนด้วยปัญญา จนความกลัว จนกิเลสตัณหามันต้องสงบตัวลง จนท่านมีความองอาจกล้าหาญมาก นี่การใช้ปัญญา

ทีนี้เขาว่าถุงหนังๆ นี่ครูบาอาจารย์ท่านก็พิจารณาของท่าน ท่านพิจารณาของท่านมันก็เป็นของครูบาอาจารย์ของเรา แต่เวลาเราเกิดปัญญาของเราขึ้นมา พอเราพิจารณาของเราขึ้นมาว่าถุงหนัง เห็นไหม นี่มันทำให้เป็นปัจจุบันของเรา มันเป็นปัญญาของเรา เราก็มีความรู้สึกอย่างนี้ เราก็มีธรรมสังเวช มันก็มีความสะเทือนใจ นี่ปัญญาในปัจจุบันมันเกิดอย่างนี้ ฉะนั้น ถ้าเกิดอย่างนี้ขึ้นมา ถ้าเราปฏิบัติของเราขึ้นไปมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ทำมา นี่ถามว่าควรทำอย่างใด? กลัวว่าตัวเองจะแบบว่าไม่ก้าวหน้า ถ้าไม่ก้าวหน้าสิ่งที่ทำมันเป็นปัจจุบัน มันเป็นข้อเท็จจริง มันถึงทำให้เรามีรสมีชาติ เวลาเราปฏิบัติกันอยู่ สิ่งที่มันไม่มีรสไม่มีชาติ เพราะว่าใจมันไม่เป็นจริงมันก็ไม่มีรสไม่มีชาติ มันเป็นสัญญา มันเป็นความจำ มันเป็นสมบัติของคนอื่น เราเอามาเป็นตัวอย่าง เอามาเทียบเคียง แต่ถ้าเป็นสมบัติของเรา พั่บ! มันเข้าถึงใจเราไง

ฉะนั้น เพียงแต่ทำให้เป็นกิจจะลักษณะ ถ้าภาวนาเราก็ตั้งใจภาวนาของเรา ถ้าเราจะพักผ่อนเราก็พักผ่อนของเรา ถ้าเราอาบเหงื่อต่างน้ำ เราทำงานมาเราจะพักผ่อนก็พักผ่อนไปเลย เวลาเราตื่นขึ้นมาเรามีโอกาสของเราเราก็ปฏิบัติของเรา เวลาจะปฏิบัติเอาจริงเอาจังมันไม่เป็นอย่างนี้ เวลาปฏิบัติไปเล่นๆ เห็นไหม ธรรมะได้จริงๆ เวลาปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้เลย เวลาจะเอาเป็นกิจจะลักษณะ โอ้โฮ หลวงพ่อไม่ได้เลย ทุกข์ยากน่าดูเลย

ทุกข์ยาก แต่เพราะทำจริงได้จริง ทำเล่นได้จริง แต่ถ้าทำเล่นได้จริงแล้วมันยังไม่เป็นความจริง แต่ถ้าทำจริงได้จริงมันจะต่อเนื่องไง เหมือนนักกีฬา เห็นไหม เขาต้องฝึกซ้อมของเขา เขาต้องมีเทคนิคของเขา เขาต้องฝึกฝนเทคนิคของเขาตลอดไปเพื่อเป็นวิชาชีพของเขา เราปฏิบัติของเรานะ ถ้าเป็นความจริงของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ เราต้องทำจริงๆ ทำให้เป็นประโยชน์กับเรา ให้เป็นประโยชน์กับเรา เราทำนี้เพื่อเรา เพื่อหัวใจของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรม

เราเกิดมาเป็นชาวพุทธนะ พบพุทธศาสนา ถ้าเราทำได้เราไม่เสียชาติเกิด ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันนี้เรามีศรัทธาความเชื่อมันก็ไม่เสียชาติเกิดแล้ว ไม่เสียชาติเกิดเพราะเรามีโอกาสได้แสวงหา เราได้ทำของเราแล้วไง แต่คนเราเกิดมาเป็นชาวพุทธมีโอกาสนะ มีชีวิตนี้ชีวิตหนึ่งให้ได้ประพฤติปฏิบัติ ให้ได้ทดสอบ ให้ลองปฏิบัติ แล้วเขาไม่ทำเลย นี่เขาเสียโอกาสในการประพฤติปฏิบัติ เราเกิดมาเราพยายามทำของเรา นี้ไม่เสียโอกาส แล้วถ้าทำได้จริงขึ้นมามันจะเป็นสมบัติของเราเนาะ เอวัง