ใกล้ธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ข้อ ๑๒๒๕. เนาะ
ถาม : ๑๒๒๕. เรื่อง ปัญญาหรือเจโต
กราบเรียนหลวงพ่อ ผมศรัทธาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สนใจปฏิบัติ ตอนนี้ก็ศึกษา ปฏิบัติมาเรื่อยๆ มาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว การปฏิบัติจะอาศัยภาวนาพุทโธเป็นหลัก ปกติจะนั่งสมาธิครั้งละ ๑ ชั่วโมง วันไหนไม่ค่อยมีธุระจะนั่ง ๒ ชั่วโมงก่อนนอน เคยได้นิมิตเห็นเป็นดาวเดือน เหมือนเรานั่งยานอวกาศด้วยความเร็วสูง ผ่านกลุ่มดวงดาวไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ตอนแรกก็ตกใจกลัวหลุดออกมา หลังๆ พยายามไม่ตกใจ ก็ดูตามไปเรื่อยๆ มันก็หายไปเหลือแต่ตัวเรากับความคิด แต่มันไม่ลงไปถึงอัปปนาเพราะยังได้ยินเสียงอยู่ ค้างตรงนี้มาหลายปีแล้วครับ อยากได้อัปปนาสักครั้ง อยากเห็นว่ากายเป็นกาย จิตเป็นจิตจริงไหม? จิตมันไม่ตายจริงไหม? เพื่อศรัทธาจะได้มั่นคงยิ่งขึ้น
ช่วงหลังผมนั่งสมาธิไม่เห็นนิมิตแล้ว เหลือแต่ความสงบกับความคิด ถ้าเพ่งดูมันจะไม่คิด ถ้าเผลอความคิดมันจะแว็บขึ้นมา พยายามดึงภาพกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนังขึ้นมาตามที่หลวงพ่อแนะนำ แต่อย่างไรก็ไม่เห็นภาพ ถ้าเห็นก็แว็บๆ เลือนๆ แต่ถ้าเป็นเสียงจะได้ยินชัดเจน เลยใช้วิธีไล่ถามตอบเกี่ยวกับกายไปเรื่อยๆ เช่นผมเป็นหอบ หืด ทุกข์เพราะมันมามากก็ไล่ถามเรื่องราวเกี่ยวกับปอด หลอดลมลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่มันเกิดมาจากไหน? โตได้อย่างไร? มันป่วย มันเสื่อมได้อย่างไร? แล้วมันจะตายได้ด้วยเหตุอะไรได้บ้าง? จนใจมันพอใจและวางการพิจารณาปอดลงไป ทำแบบนี้แล้วใจมันก็จะสงบ มีแรงทำงานวันพรุ่งนี้
คำถาม
๑. ด้านความสงบ ทำอย่างไรถึงจะได้อัปปนาสมาธิครับ หากได้แล้วจะดึงภาพกายขึ้นมาได้ไหม?
๒. หรือผมเป็นปัญญาจริต ต้องใช้วิธีพิจารณาถามตอบแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องสนใจอัปปนาสมาธิ ไม่ต้องสนใจภาพกาย
๓. เริ่มลองดูจิตบ้าง บ่อยครั้งจะพบว่าจิตตัวเองมันชอบไปเกาะความเศร้าหมอง รู้ว่ามันไม่ดี แต่ก็ไล่ออกไปไม่ค่อยได้ ต้องให้มันหายเอง หลวงพ่อให้อุบายไล่ความเศร้าหมองออกไปไหมครับ
กราบขอบพระคุณหลวงพ่อมาก ตอนนี้เรียนอยู่ต่างประเทศ ได้อาศัยเว็บไซต์หลวงพ่อเป็นหลักใจในการภาวนา ได้ฟัง ได้รู้ สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยได้ยิน และอุบายธรรมจากหลวงพ่อมากมาย เชื่อว่ามรรคผลมีจริง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของจริง และอยากไปให้ถึงครับ.. คนไกลบ้าน (นี่คำถามนะ)
ตอบ : ฉะนั้น คำถามนี่ คำถามว่าเขาปฏิบัติมา ๑๐ ปี ฉะนั้น เวลาทำไปแล้วอยากได้อัปปนาสมาธิสักครั้งหนึ่ง อยากรู้ว่ากายกับจิตมันแยกกันจริงไหม? อยากเห็นจิตว่ามันไม่ตายอย่างใด เพื่อความมั่นคงไง ฉะนั้น นี่ความรู้สึกนึกคิดไง ความรู้สึกนึกคิดเพราะเราไม่เคยสัมผัส แต่ถ้าโดยทั่วไปนะ โดยทั่วไปคนเรานี่ด้วยศรัทธา ด้วยความเชื่อ ด้วยศรัทธา ด้วยความเชื่อ ทำสิ่งใดไปแล้วจินตนาการมันเกิด
พอจินตนาการมันเกิด เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ถ้าเกิดจินตนาการไป มันก็จะจินตนาการไปเป็นความเวิ้งว้าง ความว่าง ความต่างๆ จินตนาการไป การจินตนาการของคนทั่วไปมันก็จินตนาการใช่ไหม? การจินตนาการของผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติมันมีเป้าหมายอยู่แล้ว เราอยากหลุดพ้น เราอยากจะมีความว่าง เราอยากจะให้มันได้ผล เราก็จินตนาการของเราไป พอจินตนาการของเราไป สิ่งที่ว่าว่างๆ ว่างๆ มันปล่อยวางๆ มันปล่อยอะไร? มันปล่อยอะไร?
นี่ระดับของการภาวนา คนที่จะปล่อยวางตามความเป็นจริงได้เขาต้องมีสติสัมปชัญญะพอสมควร เขาพูดสิ่งใดเขามีเหตุมีผลของเขา คนที่พูดอยู่ในหลักในเกณฑ์ คนพูดอยู่ในหลักเกณฑ์ไม่ใช่คนพูดพร่ำเพรื่อ คนพูดเพ้อเจ้อ คนพูดไม่มีเหตุมีผล คนอย่างนั้นหรือจะมีความว่างจริง มันไม่จริงหรอก ถ้ามันไม่จริง เห็นไหม ฉะนั้น เราจะบอกว่า เขาบอกว่าเขาอยากเข้าอัปปนาสมาธิสักครั้งหนึ่ง อยากเห็นว่ากายเป็นกาย จิตเป็นจิตมันแยกกันอย่างใด?
กรณีนี้มันเป็นกรณียืนยันไง เวลาครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นครูบาอาจารย์ที่แท้จริง เห็นไหม ท่านบอกว่าเวลาพิจารณากาย สักกายทิฏฐิ เราชำระ เราสมุจเฉทปหาน เราทำลาย สังโยชน์ขาดไปแล้วมันขาดอย่างใด? มันมีเหตุมีผลของมัน สิ่งนี้มีเหตุผล เราละกายได้จริง เราละจิตได้จริง เราละความโลภ ความโกรธได้จริง ได้จริงเพราะเหตุใด? ได้จริงเพราะมันมีเหตุมีผลของมันตามความเป็นจริง
ฉะนั้น พอจินตนาการขึ้นไป นี่เขาบอกว่าเขาก็ละกายได้ ทำได้ เพราะฤๅษีชีไพรเขาก็ทำสมาธิของเขาได้ เขาทำสมาบัติของเขาได้ เขาเหาะเหินเดินฟ้าของเขาได้ แต่เขาอวิชชาเต็มตัว เขาไม่มีความจริงในหัวใจของเขาเลย ทำไมเขาเหาะเหินเดินฟ้าได้ เขารู้วาระจิตได้ เขากำหนดรู้ด้วย อดีตชาติเขาก็รู้ได้ เขาก็รู้ได้ ฤๅษีชีไพรเขาก็รู้ได้ ฌานโลกีย์ก็ทำได้ พอทำได้ขึ้นไปแล้ว พอคนทำขึ้นไปอย่างนั้นปั๊บก็คิดว่า นี่ไงกายเป็นกาย จิตเป็นจิตไง
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านถึงบอกว่า แม้แต่ละกายได้ ละกายด้วยสมาธิมันก็ละได้ คำว่าละกายด้วยสมาธิมันไม่มีปัญญา ถ้าการละกายด้วยสมาธิมันเป็นผลของกำลัง มันเป็นผลของข้อเท็จจริงว่ามันละได้อย่างนั้น เช่นเวลากำหนดพุทโธ พุทโธเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าเข้าอัปปนาสมาธิมันละหมด มันปล่อยหมดเป็นสักแต่ว่ารู้ พอสักแต่ว่ารู้มันเข้ามาเลย นี่พุทโธ พุทโธ ขณิกะมันก็ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าอุปจาระลึกเข้าไปนะ อุปจาระมันทรงตัวมันได้ ทรงตัวมันได้แล้วมันออกรู้ได้ ออกรู้ได้เพราะอะไร? เพราะมันเป็นอุปจาระ อุปจาระคือมีวงรอบของจิต
นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้ ตรงนี้คือวิปัสสนาญาณเขาเกิดตรงนี้ นี้เป็นขณิกะแล้วมันยังทำสิ่งใดไม่ได้ก็เข้าอุปจาระ เข้าอุปจาระแล้ว พอจิตมันสงบมากขึ้น มันมีฐานมากขึ้น มีฐานมากขึ้นหมายถึงว่ามันปล่อยวาง ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดได้เป็นบางส่วน แล้วมันกลับมาเป็นอิสระของมัน พอเป็นอิสระของมัน นี่จิตเห็นอาการของจิตที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่า จิตเห็นอาการของจิต นี่จิตส่งออกคือความรู้สึกนึกคิดทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของสมุทัยมันคือทุกข์ สมุทัยคือกิเลส สมุทัยคืออวิชชา
สมุทัยนะ กามตัณหา ภวตัณหา นี้คือสมุทัย จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของสมุทัยเป็นทุกข์ ดูจิตๆ ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต ถ้าเข้าอัปปนาสมาธิ จิตมันสงบเข้ามา มันเห็นอาการ อาการวงรอบของจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นจิตเป็นมรรค จิตเห็นจิตเป็นมรรค นี่จิตส่งออกเป็นสมุทัย เป็นทุกข์ จิตเห็นจิตเป็นมรรค แล้วจิตเห็นจิตอย่างไร? จิตเห็นจิตอย่างไร? แต่พอจิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลของมรรค ผลของมรรคญาณ ผลของการประพฤติปฏิบัติ ผลของสัจธรรม ผลของมรรคมันคือนิโรธ ผลของมันคือนิโรธ ฉะนั้น สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านรู้จริงเห็นจริง ท่านทำของท่านได้จริง แล้วท่านวางหลักการได้จริง
ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าอยากเห็นกายกับจิตจริงๆ ถ้าเห็นกายกับจิตจริงๆ เขาก็บอกว่าเวลาเขาสงบเข้าไปเขาปล่อยวาง ฤๅษีชีไพรเขาก็สงบของเขาเหมือนกัน แต่ฤๅษีชีไพรเขามีปัญญาไหม? ฤๅษีชีไพรเขาไม่มีปัญญาของเขา เขาถึงไม่ใช่อริยสัจ เขาถึงเข้าถึงสัจจะความจริงไม่ได้ เขาไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่พุทธศาสนา เขาเป็นฤๅษีชีไพร ฤๅษีชีไพรมันก็เหมือนถือผีถือสาง นี่มันเป็นผลของโลกไง
ฉะนั้น เวลาที่ครูบาอาจารย์ท่านพูดไงท่านบอกว่าเวลาเข้าอัปปนาสมาธิ นี่ผลของการละกายโดยสมาธิก็มี ละกายโดยสมาธิคือจิตมันสงบเข้ามา ละกายในขณะที่อยู่ในอัปปนาสมาธิ นั่นล่ะมันละ มันคายออกมามันก็ไม่ละแล้ว เพราะมันไม่มีอะไรไปชำระล้างมันจะละอะไรของมัน แต่ขณะที่มันเข้าไปอยู่ตรงนั้นมันวางได้ กายกับจิตมันวางได้มันถึงเข้าอัปปนาสมาธิ เป็นสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าคือจิตมันอยู่ในกายแต่มันไม่รับเลย ไม่รับรู้เรื่องกายนี้เลย มันเข้าไปเป็นเอกเทศของมันเลย แต่เอกเทศเฉพาะที่มันเป็นไง เอกเทศเฉพาะที่มันอยู่ไง แต่เดี๋ยวพอมันคายตัวออกมานะ คายออกมาก็เป็นอุปจาระไง คายจากอัปปนาก็มาเป็นอุปจาระ คายจากอุปจาระก็เป็นขณิกะ แล้วก็กลับไปเป็นปุถุชน กลับไปเป็นนี่
ฉะนั้น บอกว่า
ถาม : อยากได้อัปปนาสักครั้งหนึ่ง อยากเห็นว่ากายเป็นกาย จิตเป็นจิต
ตอบ : เราจะบอกว่าถ้าคนไม่มีสติปัญญาเข้าไปแล้วนะมันก็ไม่รู้ว่ากายกับจิตมันแยกอย่างใด เพราะนี่เราเป็นคนรู้คนเห็น เราเป็นคนสงสัย พอเราเข้าไปอยู่นะ เราอยู่ในที่แจ้งเราก็สงสัย เราไปอยู่ในที่ลับเราก็สงสัย
ฉะนั้น จิตเวลามันเข้าไปเป็นอัปปนา มันก็ไม่รู้หรอกว่ามันปล่อยมาอย่างไร แล้วขณะที่เป็น เพราะเป็นนะสักแต่ว่า สักแต่ว่าคือมันไม่ใช้สมองอย่างนี้ไง มันไม่ใช้การวิตกวิจารเพื่อแยกแยะว่าอะไรไง เข้าไปใหม่ๆ มันก็ยังเงอะๆ งะๆ เงอะๆ งะๆ จนกว่าคนจะชำนาญ แต่ แต่ถ้าคนชำนาญหรือคนอ้างว่าเวลามันปล่อยกายๆ
นี่ในปัจจุบันนี้เวลาพระเขาบอกว่ามันว่างๆ มันปล่อยหมด เราจะบอกว่าพวกนี้ไม่ค่อยเข้าอัปปนาสมาธิ หลวงตาเวลาท่านมาโพธารามท่านจะพูดบ่อย ถ้าใครไม่เคยเข้าอัปปนาสมาธิจะไม่รู้จักอัปปนาสมาธิ ถ้าไม่รู้จักอัปปนาสมาธิจะพูดเรื่องอัปปนาสมาธิในทางที่ผิด เพราะตัวเองไม่เคยรู้เคยเห็น แต่ถ้าคนเคยรู้เคยเห็น พอเข้าไปแล้วมันจะรู้ของมันว่า อัปปนาสมาธิสถานะ สถานภาพของมันเป็นอย่างใด
นี่เวลาครูบาอาจารย์สมัยยุคของหลวงปู่มั่น คนที่เข้าตรงนี้ได้เยอะมาก เขาเรียกว่ารวมใหญ่ เวลารวมใหญ่ เห็นไหม เวลาพิจารณาไป กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใสมันก็รวมของมัน รวมของมันแล้วมันสำรอก มันคายกิเลส กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง แต่เวลาเข้าอัปปนาสมาธิ เวลาเข้าไปแล้วมันรวมเหมือนกัน แต่รวมโดยสมาธิ นี่รวมโดยสมาธิ จะพูดอย่างนี้ไว้ให้เป็นหลัก หมายความว่า
ถาม : อยากเข้าอัปปนาสมาธิสักครั้งหนึ่ง อยากเห็นกายเป็นกาย จิตเป็นจิต นี่จริงไหม? จิตมันไม่ตายจริงไหม? เพื่อศรัทธาจะได้มั่นคงขึ้น
ตอบ : นี่เรามีการศึกษา เรามีการค้นคว้า แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราถึงมีหลักเกณฑ์ มีความคิดอย่างนี้ อยากจะประสบเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก การปฏิบัติมันเป็นปัจจัตตัง คือจิตมันเป็นไม่ใช่รู้ จิตรู้จิตมันเป็นกิเลส จิตมันเป็นอวิชชา จิตมันเป็นพลังงานไม่มีกิเลส มันเป็นพลังงาน แต่มันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่
ฉะนั้น ถ้าจิตมันเป็นกิเลสจริงๆ ทั้งหมด เห็นไหม เวลาสำรอก เวลาคาย เพราะอวิชชามันนอนเนื่องมากับจิต ฉะนั้น เวลาจิตมันมีกิเลส มันมีกิเลสของมันใช่ไหม? เวลามันรวมลงมันก็รวมลงธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเป็นเวลามันรวมใหญ่ มันใช้ปัญญามันคลี่คลายของมัน มันชำระล้างของมัน มันปล่อยวางของมัน มันคนละอันกันไง
เวลารวม นี่รวมใหญ่รวมโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก รวมโดยปุถุชนก็ได้ แต่ถ้าจิตเป็นโพธิ กายเป็นกระจกใส เวลามันใช้ปัญญามรรคญาณมันเกิด จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นจิตเป็นมรรค พอสิ่งที่จิตเห็นจิตเป็นมรรค พิจารณาเข้าไปแล้ว เวลามันขาด สมุจเฉทปหานเวลามันขาดออกไป มันขาดออกไป มันเห็นการขาดออกไป แล้วขาดอย่างไร? นี่ถ้าขาดไม่ได้
ฉะนั้น กรณีนี้ ครูบาอาจารย์ท่านพูดของท่าน แล้วถ้าลูกศิษย์ลูกหาที่วุฒิภาวะมันถึงกัน ฟังแล้วมันเข้าใจ แต่ถ้าเราอ่อนด้อยด้วยบารมี เราฟังแล้วเราไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจอยากพิสูจน์ ทีนี้คำว่าพิสูจน์ เราพูดให้เป็นหลักยืนยันไว้ว่าถ้าเข้าอัปปนาสมาธิมันสักแต่ว่าเลย สักแต่ว่าแล้วมหัศจรรย์มาก แต่มหัศจรรย์ในตอนนั้นนะ เวลาออกมาแล้วไม่มีสิ่งใดที่ชำระล้างกิเลสเลย
ฉะนั้น เวลาใครมาถามปัญหาว่าทำไมไม่เห็นกายๆ การที่เข้าอุปจาระมันไม่เห็นกาย มันไม่เห็นกาย พอเข้าอุปจาระ เข้าสมาธิแล้วมันไม่เห็นกาย คือเราวิปัสสนาไม่ได้ เราทำสติปัฏฐาน ๔ ทำจริงไปไม่ได้ เราได้แต่จินตนาการกันมา สติปัฏฐาน ๔ ปลอมคือความรู้สึกนึกคิด คือการสร้างภาพ สติปัฏฐาน ๔ ปลอมไง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นโดยการนึกภาพ เห็นโดยสร้างขึ้นมา อย่างนี้มันเป็นปลอมๆ
แต่ว่าความเป็นปลอมๆ เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้วไม่ได้มันก็อาศัยความรำพึงเหมือนกัน มันอาศัยการจุดเชื้อในการอาศัยเป็นประเด็นให้จิตมันได้ก้าวเดินขึ้นมา ถ้าจิตก้าวเดินขึ้นมา ฉะนั้น ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันเห็นไม่ได้ มันเห็นไม่ได้ มันรู้ไม่ได้ มันไม่มีขึ้นมา เราถึงว่าอย่างนั้นก็ทำให้มันสงบมากๆ เข้าไป เข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ คือหมายความว่าเราเข้าไปสู่ฐานของเรา เข้าไปสู่ข้อมูลของเรา ค้นคว้าก่อนไง
เหมือนคน นี่เราจะชำนาญการใด? เราจะทำงานสิ่งใด? ถ้าเรามีความชำนาญการสิ่งใด เราทำอย่างนั้นเรามีความถนัด เห็นไหม แต่ถ้าเรายังหาความชำนาญของเราไม่ได้ เราหาความคล่องตัวของเราไม่ได้ เราก็เข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ เข้าไปดูนิสัยแท้ ไปดูก้นบึ้งของใจ ไปดูว่าเราควรทำอย่างใด? ควรทำอย่างใด? เราถึงบอกว่าถ้ามันทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าจะพิสูจน์กันก็พุทโธ พุทโธ พุทโธชัดๆ จนกว่ามันจะเข้าถึงอัปปนาสมาธิ แล้วถ้ามันรู้ มันเห็นของมัน มันจะเห็นสติปัญญาของตัวไง แล้วถ้ามันไม่ได้ ไม่ได้เราก็จะหาช่องทางใหม่
ฉะนั้น เวลาที่ว่า
ถาม : อัปปนาสมาธิต้องเข้าจริงหรือ?
ตอบ : ทำได้น้อยมากนะ หลวงตาท่านบอกว่าท่านปฏิบัติ ท่านเรียนอยู่ แล้วท่านปฏิบัติด้วย ๗ ปี ๗ ปีรวมได้ ๓ ครั้ง ๗ ปีรวมได้ ๓ ครั้ง นี่หลวงตานะ คนที่มีบารมีขนาดนี้ไง แล้วอย่างพวกเรา เราจะบอกว่าเราไม่เชื่อนะว่าพระหลายๆ องค์ทำได้อย่างนี้ เราไม่เชื่อ เรื่องฌาน เรื่องสมาบัติเห็นขี้โม้กันไปเรื่อย รูปฌาน อรูปฌานเป็นอย่างไร? ขี้โม้กันไปเรื่อย แต่ถ้าเป็นจริงนะ เป็นจริงมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง
นี้เราจะพูดถึงว่าอยากได้อัปปนาสมาธิสักหนหนึ่ง แล้วจะบอกว่านี่เวลาถ้าพิจารณาไปแล้ว พออยากได้ อยากพิจารณากาย ที่ว่าเห็นกาย พิจารณากายเห็นภาพต่างๆ แว็บๆ แว็บๆ แว็บๆ การพิจารณากาย สิ่งที่พิจารณากายมันเป็นการฝังใจ นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ ส่วนใหญ่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบของใจ ๔๐ วิธีการ แต่เวลาสอนก็สอน เวลาสอน เห็นไหม ก็พุทโธ พุทโธ เขาบอกทำไมต้องพุทโธ ต้องพุทโธอย่างเดียวเลยหรือ? การทำความสงบของใจ ๔๐ วิธีการ ทำอย่างไรก็ได้ให้จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามาอันนั้นคือผล
ฉะนั้น นี่เรากำหนดเหมือนกัน เห็นไหม ที่เรากำหนดของเรา พุทโธของเรา ถ้ามันไม่ลงอัปปนาสมาธิ แล้วมันทำไม่ได้ แต่เราใช้ปัญญา ใช้ถามตอบปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิคือใช้ปัญญา โดยธรรมชาตินะ ถ้าพุทโธส่วนใหญ่ที่เป็นศรัทธาจริต ศรัทธาคือความเชื่อมั่น พุทโธ พุทโธ เห็นคุณเห็นการกระทำ พอใจทำ แต่ถ้าเป็นปัญญา เป็นพวกพุทธิ พวกปัญญา นี่พุทโธมันจืด พุทโธมันเครียด พุทโธแบบมันแคบเกินไป เรามีปัญญามากเราต้องใช้การตรึก เราต้องใช้ปัญญาของเรา ใช้ปัญญาก็ใช้ปัญญาไปเลย แล้วมีสติตามไป ตามความคิดนี้ไป อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ
ปัญญาอบรมสมาธิหมายความว่าธรรมดาเราคิดของเรา เราก็ว่าเราคิด เรารู้ เราเห็น เรามีความพอใจของเรา เรามีอารมณ์ความรู้สึกของเรา แต่ถ้ามีสติตามไป เอ็งคิดอะไร? เอ็งเห็นอะไร? เอ็งรู้อะไร? นี่มันตามไปเรื่อย พอตามไปถึงที่สุดแล้วความคิดมันเป็นสมบัติบ้า คิดไม่มีวันที่สิ้นสุด สติมันทันนะ สติมันตามความคิดมานะ คิดนี้แล้วได้อะไร? คิดนี้แล้วได้อะไรไปเรื่อย คิดนี้แล้วได้อะไร? คิดจบแล้วเป็นอย่างไร? สุดท้ายแล้ว อืม ก็หลงคิด พอหลงคิดมันก็เอ๊อะ เอ๊อะนั่นคือสมาธินะ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาไล่ไป สติไล่ไป ปัญญาอบรมสมาธิไล่ไปเลย ไล่ไปเลย นี่มันจะหยุด
โดยธรรมชาติความคิดเกิดดับ แต่เพราะเรามีอารมณ์ร่วมกับความคิด ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด เรากับความคิดเป็นอันเดียวกันมันถึงไหลไปตลอดไม่มีวันดับ เพราะเราพอใจ เราคิดแล้วเรามีอารมณ์ไง อารมณ์มันก็ส่งเสริมไปไม่มีวันดับ แต่ถ้ามีสติตามความคิดไป ตามความคิดไป เพราะความคิดมันพิจารณาไง คิดทำไม? คิดมากี่ร้อย กี่พันหนแล้ว คิดโศกเศร้ามากี่ครั้งแล้ว มันตามความคิดไปมันก็เอ๊อะ เอ๊อะ เอ๊อะนั่นแหละคือสมาธิ มันหยุดชั่วคราวแต่มันเร็วมาก ความคิดเร็วกว่าแสง คิดไปรอบโลกสิ นั่งอยู่นี่คิดไป ๕ รอบ แว็บๆๆ มาแล้ว แล้วถ้ามันตามไปๆ มันทัน
นี้คือปัญญาอบรมสมาธิ เพราะมีสมาธิอันนี้มันถึงเห็นกายแว็บๆ แว็บๆ ไง ที่เห็นภาพแว็บๆๆ เห็นภาพมา ถ้าจิตเรานะมันไม่มีหลักมีเกณฑ์ไม่เห็นหรอก โดยสามัญสำนึกถ้าเราเห็นนะ ถ้าเห็นโดยปัจจุบันนี้นะเขาจับส่งโรงพยาบาลแล้ว คนบ้าไง คนบ้ามันจินตนาการ ถ้าเห็นโดยสามัญสำนึกก็นู่นศรีธัญญา ศรีธัญญาเต็มเลยโรงพยาบาลนั่นน่ะ เต็มเลยมันเห็นภาพ เห็นภาพแบบนั้นเพราะเห็นภาพโดยไม่มีสามัญสำนึก การขาดสติเห็นอย่างนั้นเป็นลบ แต่เพราะเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
เพราะเขาถามว่า ธรรมดาเขาใช้ถามตอบไล่ไปเรื่อยๆ ไล่ไปเรื่อยๆ พอไล่ไปเรื่อยๆ จิตมันสงบ จิตมันมีหลักมีเกณฑ์เราถึงเห็น เราถึงรู้ว่าเห็นแว็บๆ แว็บๆ ถ้าคนที่ไม่มีสติ เห็นแว็บๆ ก็ไม่รู้ว่าแว็บๆ ทั้งๆ ที่ก็รู้ก็เห็นอยู่นั่นน่ะ เราจะบอกว่าที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิมานี่ถูกแล้ว แล้วสิ่งที่เห็นก็คือเห็น สิ่งที่ไม่เห็น นี่จิตเห็นอาการของจิตนั้นคือมรรค จิตส่งออกเป็นสมุทัย ผลของมันเป็นทุกข์ แต่เพราะเรามีสติ เราตามปัญญาของเราไป
ปัญญาที่มีสตินั้น แต่เดิมปัญญาที่มันออกไปโดยสัญชาตญาณนั้นมันก็กระชากหัวใจไปกับมัน แต่เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน เรามีครูบาอาจารย์ของเรา เราถึงตั้งสติตามปัญญาของเราไป เพราะปัญญาที่คิดนี้มันเกิดจากจิต เพราะจิตนี้มันมีอวิชชา สัญชาตญาณของมันก็ทำงานไปตามธรรมชาติของมัน แล้วทุกคนก็ปล่อยมันไปโดยธรรมชาติ ปล่อยมันเร่ร่อนกันมาตั้งแต่เกิดจนป่านนี้ แล้วเรามีสติปัญญา เราอยากจะฟื้นฟูใจของเรา เรามีสติตามความรู้สึกนึกคิดของเราไป
เพราะมีสติตามความคิดไปมันถึงเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันถึงเป็นการปฏิบัติ มันถึงเป็นการรื้อค้นในใจของตัว พอรื้อค้นในใจของตัว ใจที่มันประพฤติปฏิบัติ ใจที่มีการควบคุมมันก็มีพลังงานของมัน พอมีพลังงานของมัน เราก็มารู้มาเห็นอย่างนี้ แว็บๆ แว็บๆ อย่างนี้ไง ทีนี้รู้เห็นแว็บๆ จับมัน เราเห็นกายโดยที่จับกายเป็นภาพกายขึ้นมานั้นเป็นเจโตวิมุตติ คือพุทโธ พุทโธ จนจิตสงบแล้ว เห็นกายขึ้นมาเป็นภาพ เป็นอวัยวะต่างๆ อันนั้นเป็นเจโต เจโตเพราะจะเห็นภาพ
อุคคหนิมิต อุคคหนิมิตแล้วทำวิภาคะคือการขยายส่วน แยกส่วน นั้นจะเป็นไตรลักษณ์ การขยายส่วน แยกส่วนนั้นมันจะเป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม ไตรลักษณะที่เราต้องการทำกันอยู่นั้น อันนั้นจะเป็นเจโตวิมุตติ แต่ถ้าปัญญาของเรามันจับ นี่มันจับภาพได้ จับสิ่งใดได้ กายเป็นอย่างนี้หรือ? กายนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เราไล่ของเราไป พอไล่ของเราไป จิตหรือความรู้สึกนึกคิดมันเกิดมาจากไหน? มันเกิดมาจากจิต ถ้าไล่ไปแล้วมันจะไปจบลงที่ไหนล่ะ? มันก็ไปจบตรงที่มันเกิดไง
สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา ถิ่นเกิดมันอยู่ที่ไหน? ถ้าสติปัญญาไล่ตามมันไป มันจะเข้าไปสู่ถิ่นเกิดมัน มันก็เข้าไปสู่จิตนั่นล่ะ แล้วจิตมันมีอะไร? จิตมันก็มีอวิชชาไง แล้วถ้าปัญญามันเข้าไปฟอกกับในอวิชชานั้นมันจะเกิดประโยชน์ขึ้นมา นี้พูดถึงว่า เพราะเราพูดมานี่เราพูดมาโดยหลักทั้งหมด เพื่อให้เห็นว่า อยากได้อัปปนาสมาธิสักครั้งหนึ่ง อยากเห็นว่ากายเป็นกาย จิตเป็นจิต จริงไหมที่จิตไม่เคยตาย นี่คือเป้าหมายไง
ฉะนั้น เราพูดมาให้เห็นว่า ถ้าทำได้ก็สาธุ ถ้าทำไม่ได้เราตั้งธงไว้อย่างนี้ แล้วเราพยายามทำของเราตลอดไปอย่างนี้มันจะเป็นภาระของเรา ถ้าจิตสงบแล้วให้ฝึกหัดใช้ปัญญาไป ใช้ปัญญาของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นจริงแล้ว นี่เราพูดมาตั้งแต่ต้น บอกว่าคนที่ไม่เคยทำเข้าไปอัปปนาสมาธิก็ยังไม่รู้ว่าอันนี้มันคืออะไร เพราะว่าเข้าไปแล้วมันสักแต่ มันละเอียดมากนะ มันละเอียดมาก แล้วละเอียดอย่างไร? ละเอียดกว่าแป้งไหม? ละเอียดกว่าแป้งฝุ่นหรือเปล่า? ละเอียดอย่างไร? ไม่เป็นมันก็ไม่เป็น พูดวันยังค่ำมันก็ไม่เป็นหรอก
ฉะนั้น ย้อนมาที่คำถาม
ถาม : ๑.ด้านความสงบ ทำอย่างไรถึงจะได้อัปปนาสมาธิครับ หากได้แล้วจะดึงภาพกายขึ้นมาได้ไหม?
ตอบ : พอเข้าอัปปนาสมาธิ เราพุทโธ พุทโธ ขณิกะเรารู้มีความสุขสงบนี่ขณิกะ พออุปจาระนี่ลึกกว่ามากเลย พอลึกแล้วมันเห็นไง พอลึกแล้ว อย่างเช่นเวลาคนนั่งสมาธิไป เห็นไหม จะเห็นแสงสว่าง เห็นต่างๆ เห็นแสงๆ นั่นน่ะ แสงมันก็คือแสง ถ้าแสงมันสำคัญ ดวงอาทิตย์มันสำคัญกว่าเราอีก ดวงอาทิตย์ขึ้นมานี่แสงสว่างหมดเลย ทำไมไม่ตื่นเต้นล่ะ? แหม พอจิตมันรวมเห็นแสงหน่อย อู๋ย เห็นแสงๆ
เห็นแสงก็เห็นแสงแล้วเป็นไรล่ะ? เห็นแสงมันกินได้ไหม? เห็นแสงก็กินไม่ได้ เห็นอะไรก็กินไม่ได้ทั้งนั้นแหละ แต่กิเลสมันหลอก ถ้าจิตมันขณิกะ มันอุปจาระมันจะรู้จะเห็นของมัน แล้วพุทโธต่อไป พุทโธต่อไป พุทโธ พุทโธต่อไป พอมันจะเข้าอัปปนานะพุทโธมันจะเริ่มพุทโธไม่ได้ พุทโธมันจะละเอียดจนพุทโธไม่ได้เลย พอพุทโธไม่ได้มันจะเกิด กิเลสมันจะเกิดกวนขึ้นมาแล้ว กิเลสบอกว่าถ้าพุทโธไม่ได้นะ เดี๋ยวตายนะ เดี๋ยวหายไป เดี๋ยวพ่อแม่ตามหาไม่เจอนะ เดี๋ยวตายไปสมบัติยังไม่ได้แบ่งนะ มันคิดไปนู่นเลย
การจะเข้าอัปปนาสมาธิมันเหมือนสละตายกันหนหนึ่ง มันสละตายไปเลย แล้วพ้นจากตายไปเลย นี่ถึงว่าทำอย่างใดถึงจะเข้าอัปปนาสมาธิ มันอยู่ที่วาสนานะ ถ้าวาสนาของคนชำนาญมันจะชำนาญมาก มีชำนาญนะ พอเข้าแล้วมีความชำนาญ นี่เป็นเครื่องอยู่เลย เวลามีผลกระทบหลบเข้าอัปปนา นอนเฉย คนที่ไม่เป็นก็ทำได้ยากมาก คนที่เป็นแล้ว อัปปนาสมาธิมันก็คือสมาธิไง
สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ ไม่ได้ แต่สมาธินี้ ถ้าไม่มีสมาธิมรรคไม่เกิด ปัญญาที่เขาใช้กันอยู่ในโลกนี้เป็นโลกียปัญญาที่ฆ่ากิเลสไม่ได้ ไม่ได้ ปัญญาที่จะฆ่ากิเลสได้ต้องมีสัมมาสมาธิเป็นฐาน ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิเป็นฐาน เป็นโลกียปัญญา ปัญญาของอวิชชา แม้จะท่องธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นอวิชชา แต่ถ้ามีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน แล้วปัญญาเกิดขึ้นบนสัมมาสมาธิจะเป็นมรรค
ฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐาน ๔ โดยความรู้สึกนึกคิดนั้นเป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอม สติปัฏฐาน ๔ เกิดบนสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน อันนี้จะเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง ถ้าสติปัฏฐาน ๔ จริง จริงที่ไหน? จริงที่ใจดวงนั้นรู้ ดวงนั้นเห็น ถ้าใจดวงนั้นรู้ ดวงนั้นเห็น ใครจะหลอกใจดวงนั้น เราไปศึกษากัน ครูบาอาจารย์ชี้นำๆ อยู่ ให้ครูบาอาจารย์ชี้ ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นครูบาอาจารย์แท้จริงจะชี้ไปสู่ทางที่ถูก เราก็ยังเข้าใจผิด ครูบาอาจารย์ชี้ไปถูกเราก็เข้าใจผิด เราก็ตีความผิด เราก็จะไปทางผิดๆ ของเราอยู่วันยังค่ำ
เราไม่ฟังครูบาอาจารย์ของเราหรอก เพราะเรากลัวครูบาอาจารย์เราจะพาไปหลง แต่ทิฐิมานะเราจริง จริงโดยทิฐิ แม้แต่ครูบาอาจารย์จริงชี้ให้เราเดินเรายังเข้าใจผิด แล้วถ้าไปเจอครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นจริง เขาก็ไม่จริงอยู่แล้ว เขาก็ไม่รู้อยู่แล้ว เขาจะชี้ไปไหนล่ะ? ชี้ไปโดยสัญชาตญาณ โดยตรรกะไง ชี้ไปโดยตรรกะ แล้วพอเขาชี้ไปในตรรกะ แล้วเราตรรกะนี่เราตรรกะ เราคาดหมายได้ตามไง เราก็ซาบซึ้ง ซาบซึ้ง ครูบาอาจารย์นี่สุดยอด สุดยอด ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์อันนั้นมันบ้า แต่พวกเราตรรกะเราได้นะ สุดยอด สุดยอด
นี่พูดถึงถ้าเรามีสัมมาสมาธิ ถ้ามีสมาธิจริง เห็นไหม นี่จะเข้าอัปปนาสมาธิทำอย่างไร? มันก็โดยพื้นฐานกำหนดพุทโธ พุทโธชัดๆ ไว้ เกาะไว้แน่นๆ เลย พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธมีแต่ส่งเสริมเรา ไม่ทำลายเราหรอก แต่เพราะกิเลสเราไม่ได้เองเราถึงเกาะพุทโธไว้ไม่ได้ นี่ถ้าพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ไป เกาะเข้าไปเลย ผลที่ถึงที่สุด เป้าหมาย จุดหมายปลายทางของการทำสมาธิคืออัปปนา
นี้คือสุดทางของสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สุดทางของมันคืออัปปนาสมาธิ แล้วถ้าสุดทางของมันคืออัปปนาสมาธิ คือเราดำเนินการสมาธิถึงสุดทางแล้วเราก็มาตรวจสอบว่าเราจะทำอย่างไรไง ก็บอกว่าเราวิปัสสนาไม่ได้ไง เราเห็นกายก็ไม่ได้ เห็นอะไรก็ไม่ได้ เราภาวนากันไม่เป็นไง
นี่ถ้าพูดถึงจะพิสูจน์กัน ไม่ต้องพิสูจน์ สิ่งที่พิสูจน์นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้หมดแล้ว เราทำความสงบของใจ
ถาม : เข้าอัปปนาสมาธิจะทำอย่างใด?
ตอบ : ก็กำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ มีสติตามไปเรื่อยๆ สติตามไปเรื่อยๆ
ถาม : หากได้แล้วจะดึงภาพกายขึ้นมาได้ไหม?
ตอบ : ไม่ได้ อัปปนาสมาธิสักแต่ว่ารู้ เหมือนกับไดร์ เครื่องปั่นไฟ ไม่มีฉนวนต่อไฟออกมาใช้ออกมาไม่ได้ ไม่ได้หรอก นี่ไดร์ที่มันหมุนอยู่ ถ้าเราไม่มีต่อสายไฟออกมาไม่มี ไม่มี อัปปนาสมาธิสักแต่ว่ารู้ออกมาไม่ได้ ดึงกายไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้หมด ไม่ได้ แต่ออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว ออกจากอัปปนาสมาธิ ออกมาแล้วเป็นอุปจาระมันมีฉนวนต่อ อุปจาระคือรอบจิต จิตมันออกได้ มันรับรู้ได้ นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้ นี่จะดึงกายดึงตรงนี้ ดึงกายออกมาที่อุปจาระ แล้วในรอบของมัน มันจะสืบต่อกันเห็นกาย จิตเห็นอาการของจิต มรรคเกิดตรงนี้ มรรคเกิดตรงนี้ จิตเห็นจิตเป็นมรรค จิตเห็นจิตเป็นมรรค มรรคเกิดตรงนี้ ถ้ามรรคเกิดตรงนี้พิจารณาตรงนี้
ฉะนั้น อัปปนาสมาธิจะดึงมาเห็นกายได้ไหม? ไม่ได้ ไม่มี ไม่มีหรอก เข้าไปพักแล้วคายตัวออกมา ฉะนั้น เข้าไปดู เข้าไปค้นคว้าสิ่งที่ก้นลึกในใจเราเลยว่ามันเป็นแบบใด นี้ข้อที่ ๑.
ถาม : ๒. หรือผมเป็นปัญญาจริต ต้องใช้วิธีพิจารณาถามตอบแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องสนใจอัปปนาสมาธิ ไม่ต้องสนใจภาพกายใช่ไหม?
ตอบ : ใช่ ในเมื่อเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือถามต่อไป มีสติตามไป ตามไป แล้วมันเกิดผล เกิดผลที่ว่าแม้แต่เราเจ็บไข้ได้ป่วย เรายังวางได้ นี่สมาธิ ธรรมโอสถ เวลาจะรักษาไข้รักษาได้อย่างนี้ เวลาเข้าไปสมาธิ เวลาเราใช้ปัญญาพิจารณาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของเรา เจ็บไข้ได้ป่วยหายเลย นี่ธรรมโอสถแต่ไม่ใช่มรรค
ถ้ามรรคนะมันพิจารณาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม พิจารณาไปอีกอย่างหนึ่ง อันนั้นเป็นธรรมาวุธ มันชำระล้าง มันสำรอกคายกิเลสเลย แต่ถ้าพิจารณาเจ็บไข้ได้ป่วย มันพิจารณาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย การเจ็บไข้ได้ป่วยมันมาจากกรรม ถ้ามาจากกรรม นี่กรรมของใคร? โรคประจำตัวของใคร? หลวงปู่มั่นก็มีโรคประจำตัว หลวงปู่ฝั้นก็มีโรคประจำตัว นี่ครูบาอาจารย์ ดูพระสารีบุตรก็มีโรคประจำตัว พระสารีบุตรมีโรคถ่ายท้องเป็นโรคประจำตัว โรคประจำตัวของคนก็มีทุกคน แล้วใครจะใช้ธรรมโอสถเข้ามารักษา
ถ้าใครใช้ธรรมโอสถรักษา นี่พระสารีบุตรนะเวลาเป็นโรคถ่ายท้อง พระโมคคัลลานะไปถามพระสารีบุตรเลย ว่า พระสารีบุตรเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมารักษาอย่างไร?
พระสารีบุตรว่า ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เช้าขึ้นมาต้องมียาคู ถ้ามียาคูขึ้นมาโรคกระเพาะมันจะเบาลง
พระโมคคัลลานะดลใจเทวดา เทวดาก็ออกมาเป็นเทพบุตร แล้วเทพบุตรก็เอาข้าวยาคูไปถวายพระสารีบุตร พระสารีบุตรเห็นเทพบุตรเข้ามาถวายข้าวยาคู รับไว้แล้วก็วางไม่ฉัน ไม่ฉัน พอไม่ฉัน พระโมคคัลลานะมาดูแลพระสารีบุตร ถามว่า
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งที่จะบรรเทาความป่วยนี้คืออะไร? ถ้าปกติมีข้าวยาคูมันจะทำให้อาการป่วยดีขึ้น
ฉะนั้น พระโมคคัลลานะก็อยากจะอุปัฏฐากก็ดลใจเทวดา เทวดาไปดลใจโยม แล้วเอามาให้ พระสารีบุตรไม่ฉัน
ถามพระสารีบุตรว่า ทำไมพระสารีบุตรไม่ฉัน?
เพราะมันทุจริต มันไม่สุจริต มันไม่มาจากเจตนาโดยปกติของเขา ไปดลใจเขา
นี่ความสะอาดบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ นี่สิ่งที่เป็นเวรเป็นกรรม สิ่งที่เป็นเวรเป็นกรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่พิจารณาโดยธรรมโอสถ การรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยนี้อย่างหนึ่ง
ฉะนั้น เวลาเราพิจารณาไป ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป นี่เจ็บไข้ได้ป่วยวางได้ๆ ถึงที่สุดวางได้ วางได้เฉพาะตรงนั้น วางได้เฉพาะที่มันวางได้ แต่ถ้าคนมีโรคประจำตัว โรคประจำตัวอาจจะหายขาดเลย นี่เป็นไปได้ แต่ถ้าจิตใจพวกเรานักปฏิบัติ เราอยากจะใช้ธรรมโอสถ เพราะเราไม่อยากไปหาหมอ เราไม่อยากเสียเวลา เราจะใช้ธรรมโอสถ เอ็งไปหาหมอซะ เพราะว่าจิตใจเอ็งไม่เข้มแข็งนะ เอ็งยิ่งทำไปๆ ร่างกายเอ็งยิ่งเสื่อมไปเรื่อยๆ แหละ ถ้าจิตใจเอ็งเข้มแข็งนี่มันทำได้
คนจะทำอย่างนี้ได้ต้องมีจุดยืน ต้องมีสมาธิ ต้องมีความเข้มแข็ง แต่ถ้าบอกว่าเห็นครูบาอาจารย์ทำได้เราก็ทำได้ เอ็งทำไปเถอะ แล้วเดี๋ยวเอ็งจะรื้อจนเป็นโรคเรื้อรังเลย พอเรื้อรังก็ไปหาหมอบอกว่าทำไมเอ็งเพิ่งมาล่ะ? บอกว่าธรรมโอสถๆ อยู่นี่ไง การปฏิบัติเรามันต้องมีหนักมีเบา การปฏิบัติของเราไม่ใช่ว่าใครจะทำอย่างนั้น ไอ้นั่นมันก็อปปี้ ไอ้ไปดูงานมาแล้วจะทำงานได้ ไม่ใช่หรอก ดูสินักศึกษามาก็พาไปดูงานกัน แล้วกลับมาใครทำได้บ้างล่ะ? ได้กี่คน?
นี่ก็เหมือนกัน อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราเป็นปัญญาจริตใช่ไหม? เราจะบอกว่าอย่างนี้นะ เราจะบอกว่าที่โยมปฏิบัติมา ใช้อย่างนี้มา หนึ่งโยมเป็นชาวพุทธโดยเนื้อแท้ โดยเนื้อแท้คือโยมเป็นชาวพุทธแล้วโยมปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังในใจของโยม นี่ถ้าเป็นปัจจัตตังในใจของโยม เราทำใจของเราให้เป็นพระ ถ้าทำใจของเราเป็นพระ ถ้าเป็นพระขึ้นมามันจะประเสริฐแค่ไหน? อย่างนี้ชาวพุทธโดยเนื้อแท้
ฉะนั้น พอเราปฏิบัติของเราขึ้นมา ปฏิบัติขึ้นมา เราปฏิบัติแล้วใช่ไหม เรามีจุดยืนแล้ว คนที่ปฏิบัติธรรมนะมันจะไม่เหลวแหลกไปกับโลก เพราะ เพราะโลกที่เหลวแหลกไปมันเป็นเรื่องโลกๆ คนปฏิบัติธรรมจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเรารู้ว่านั่นไฟ คนที่รู้ว่าไฟจะลุยไฟไหม? คนที่รู้ว่าไฟเขาไม่ไปลุยไฟหรอก ถ้าเราปฏิบัติธรรม เรามีจุดยืนของเรา เรารู้ว่านั่นไฟ นั่นน่ะเชื้อโรคทั้งนั้น เชื้อโรคมันเป็นไข้ทั้งนั้นที่เราจะเอาเข้าสู่ร่างกายเรา ใครจะเอาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเรา ไม่มีใครทำหรอก แต่คนที่เขาทำเพราะ
๑. เขาไม่รู้ เขาไม่รู้ว่านั่นเป็นเชื้อโรค เขาคิดว่าเป็นประโยชน์ของเขา เขาทำของเขาไปหนึ่ง
๒. เขาอยู่ในสถานะที่จำเป็นจะต้องอยู่ในสถานะนั้น เขาก็ต้องฝืนทน แล้วก็ต้องหาทางหลบหลีกไป อย่างเช่นตกนรก เราทำความผิด ทำความชั่วถึงตกนรกกันนะ แล้วยมบาลเขาทำอะไรเขาถึงตกนรกด้วยล่ะ? ยมบาลก็อยู่ในนรกนั่นล่ะ แต่เขาไม่ตกนรกนะ ยมบาลเขาไม่ตกนรก เขาอยู่ในนรกเขาไม่ได้ตกนรกนะ แต่เขาไปคุมไอ้พวกสัตว์นรก ถ้าเรามีความจำเป็นต้องอยู่ในสถานะแบบนั้น เราก็จะมีความจำเป็นของเรา คนเรานี่นะมันมีเวรมีกรรมนะ ในเมื่อเราอยู่ในสถานะไหน แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราก็จะไม่เป็นไปตามเขา
ฉะนั้น เวลาโยมปฏิบัติขึ้นมา โยมปฏิบัติมาแล้ว หนึ่งชีวิตของโยม เห็นไหม นี่เราไม่อีรุ่ยฉุยแฉะไปกับเขา ถ้าคนมีสติปัญญานะ เราทำผิดทำถูกเราก็รู้นะ เราทำชั่วทำดีเราก็รู้ ถ้าเราทำชั่วทำดีเราก็รู้แล้วนี่ สิ่งนี้เราจะบอกว่าที่ถามตอบมานี่มันได้ผลแล้วแหละ แต่ถ้ามันไม่เห็นกายมันเป็นที่ว่าผู้หญิงเป็นผู้ชายไม่ได้ ผู้ชายก็เป็นผู้หญิงไม่ได้ นี่ถ้าจริตเราเป็นอย่างนี้ เราจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้หรอก ถ้าเราเป็นสถานะไหนเราก็ยอมรับความจริง เราเป็นสถานะนั้น นี่มันก็จบ มันทำได้อย่างนั้น
ฉะนั้น จิตมันใช้ปัญญาได้ มันเป็นประโยชน์ได้ เราทำของเรามา แล้วถ้าเราทำของเราไป ถ้าจิตมันมีอำนาจวาสนาไปถึงจุดนั้นได้มันก็โอเคไง แต่ถ้าเราทำไป เราละล้าละลัง เราเลือกทางไม่ถูก เราจะเสียเวลาเรา นี่ปัญหาที่ ๒.
ปัญหาที่ ๓.
ถาม : ๓. เริ่มลองดูจิตบ้าง บ่อยครั้งจะพบว่าจิตตัวเองมันชอบไปเกาะความเศร้าหมอง รู้ว่ามันไม่ดี แต่ก็ไล่ออกไปไม่ค่อยได้ ต้องให้มันหายเอง ขอหลวงพ่อให้อุบายไล่ความเศร้า
ตอบ : นี่ถ้าให้มันหายเอง มันเหมือนกับเวลาเราพิจารณา เวลาเราพิจารณา จิตเราสงบแล้วเราออกพิจารณา เราออกพิจารณา เช่นพิจารณาเวทนา ถ้าจิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วจับเวทนามันจะจับของมันได้ ถ้าจิตเราไม่สงบ เราจับเวทนานะ เวทนาเป็นเรานะ เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนานี่เจ็บมาก เพราะเวทนาเป็นเรา เป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าจิตเราสงบแล้ว จิตเราสงบเห็น เวทนา เวทนามันอยู่ข้างนอก เหมือนกับเราจะจับของร้อน เราจะมีเครื่องมือไปจับ แต่ถ้าเราเอามือไปจับมันจะเจ็บ มันจะมีความร้อนมาก
ฉะนั้น ถ้าจิตมันสงบแล้ว นี่จิตสงบแล้วจับเวทนา มันพิจารณาเวทนาได้นะ เวทนานี่เราพลิกได้เลยว่าอะไรเป็นเวทนา เนื้อเป็นเวทนา หนังเป็นเวทนา กระดูกเป็นเวทนา เวทนาเป็นอะไร? นี่เนื้อหนังมังสามันเป็นเวทนาได้หรือ? เนื้อหนังมังสามันไม่มีชีวิต มันเป็นเวทนาได้อย่างไร? อ้าว ถ้ามันไม่เป็นเวทนาได้มันเจ็บทำไม? ทำไมถึงเจ็บ อ๋อ เจ็บเพราะมึงโง่ไง ไอ้ความไปยึดมันเอง ไอ้โง่นี่แหละมันทำให้เกิดเวทนา พอมันฉลาด พั่บ! อ๋อ เราโง่เอง ก็ปล่อยเลย พอปล่อยเวทนาไปไหนล่ะ? เวทนาไปไหน? ว่างหมดเลย เวทนามันไม่มี
ฉะนั้น ถ้าจิตมีหลักแล้วมันออกพิจารณาได้ ถ้าจิตมันไม่มีหลักใช่ไหม? ฉะนั้น อย่างนี้คือนักรบ แต่ถ้านักหลบล่ะ? เห็นไหม เราสู้กับเวทนาไม่ได้ เราก็พุทโธ พุทโธก่อน พุทโธ ไม่รับรู้เวทนาเลย ดึงจิตมาอยู่ที่พุทโธหมดเลย อันนี้เป็นนักรบ เป็นนักหลบ หลบเพื่อให้จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าจิตมีหลักมีเกณฑ์แล้วออกไปสู้กับมัน
ถ้าออกไปสู้กับมัน นี่เป็นมรรค แต่ถ้าเวลานักหลบมันเป็นเทคนิค มันเป็นวิธีการว่าเราจะรบหรือเราจะหลบ จะรบตลอดไปก็ไม่ได้ รบตลอดไปนะ เราไม่ได้บำรุงรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์เลยเอาอะไรไปรบ? รบอย่างเดียวๆ แพ้สิ รบแล้วมันต้องกลับมาซ่อมมาแซมใช่ไหม? อาวุธยุทโธปกรณ์เราจะทำอย่างไรเพื่อจะออกรบอีกใช่ไหม?
ฉะนั้น เวลาเราพิจารณาไปแล้ว เราพิจารณาอย่างนั้นมันถึงเป็นมรรค แต่เวลามันหลบมา เราจะกลับมาตรงปัญหาที่ว่านี่ไง นี่เวลาไล่ไปแล้วไล่มันไม่ได้ ต้องให้มันหายเอง คำว่าต้องให้มันหายเอง นี่เราหลบ เราหลบนะเพราะเราสู้ไม่ไหว สติปัญญาเราไม่พอ ถ้าสติปัญญาเราพอนะไล่เข้าไปเลย อะไรมันเกิด อะไรมันตาย ถึงที่สุดนะธรรมะอยู่ฟากตายๆ
เพราะใครปฏิบัติก็แล้วแต่ ถึงที่สุดมันจะตายแล้ว มันจะตายแล้ว โอ๋ย ตายแล้วนะ ไม่ได้แล้วนะ ตายแล้วนะ โอ้โฮ ใจนี้อยู่ที่ตาตุ่มเลยนะ ใจนี้ห่อเหี่ยวเลยนะ พอใจห่อเหี่ยวกิเลสมันหัวเราะเยาะแล้วนะ หลอกแค่นี้ก็ได้ จิตนี้โง่น่าดูเลย พอเอาตายมาอ้างมันถอยกรูดๆ เลย แล้วมันก็กระทืบซ้ำ เลิกดีกว่า พรุ่งนี้ภาวนาใหม่ แต่ถ้ามีหลักนะ นี่เดี๋ยวจะตายแล้วนะ ถ้าจะเกิด จะตายเราก็เป็นคนรู้เองว่าเราเกิด เราตาย เรามีความสุข เราก็รู้ว่าเรามีความสุข เรามีความทุกข์ เราก็รู้ว่าเรามีความทุกข์
ฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่าเรามีความสุข เรามีความทุกข์ เรารู้ว่าเราจะเกิด เราจะตาย ความตายมันจะมาหลอกเราได้อย่างไรล่ะ? ในเมื่อเรามีสติปัญญาอยู่มันจะตายได้อย่างไร? เออ ถ้ามันตายไม่ได้ ตายไม่ได้ก็ปฏิบัติต่อสิ เห็นไหม กิเลสมันก็หน้าเสียเลย โอ้โฮ เอาตายไปหลอกมันก็ไม่ได้เว้ย เออ เอาตายไปหลอกมัน มันยังรู้ทันเลย นี่เอาตายไปหลอกมันก็ไม่ได้ เอาไม่มีเวลาไปหลอกมันก็ไม่ได้ เอาพรุ่งนี้เจ็บไข้ได้ป่วยไปหลอกมันก็ไม่ได้ เพราะปัญญามันทัน แต่ถ้าปัญญามันไม่ทัน โอ๋ย จะตายๆ นะมันหยุดเลย
ฉะนั้น สิ่งที่เวลามันเศร้าหมอง ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เราต่อสู้ได้ เราไล่มันได้ ถ้าไล่มันได้นะ เราจะบอกว่าสิ่งที่เศร้าหมองแล้วเราจะปล่อยให้มันหายไปเอง มันเคยตัวนะ วันหลังเราจะไม่ทำอะไรเลย เวลาสิ่งใดแล้วจะให้มันเกิดเองหายเอง เกิดเองหายเองไม่ได้ เกิดเองหายเองมันเป็นเรื่องของมันไม่มีเหตุผล มันเป็นเรื่องของกิเลส แต่ถ้าเราจะสู้กับมันนะไล่เลย ไล่ไปเลย เศร้าหมอง ถ้าเศร้าหมองมันเป็นจริง มันต้องอยู่กับเราตลอดไป นี่มันจะเศร้าตั้งแต่วันนี้ พรุ่งนี้ก็จะเศร้าอย่างนี้ แล้วมะรืนก็จะเศร้าอยู่อย่างนี้ ถ้ามันเศร้าอยู่อย่างนี้ เวลามันเศร้าอยู่ตรงนี้ เวลามันเศร้าหมองมันเศร้าอยู่ตรงนี้ พอมันหายไป เศร้าหมองมันหายไปไหน? ไอ้ที่ว่าเศร้าหมองมันหายไปไหน?
นี่ปัญญาไล่เข้าไปสิ พอไล่เข้าไปมันเห็นเองไง เหมือนกับเรานี่ของสกปรกแล้วเราซักเอง เห็นเอง ของสกปรกมันก็มี ซักแล้วมันก็หาย เศร้าหมองมันก็เกิดจากจิต เวลาปัญญามันไล่เข้ามาแล้ว ความมันคายตัวออกมันก็สว่างไสว มันก็จบ นี่ไล่อยู่อย่างนี้ความเศร้าหมองก็ไม่มี พอความเศร้าหมองไม่มี พอเศร้าหมองมันปล่อยความเศร้าหมอง ปล่อยทุกอย่างมันก็เป็นสมาธิ แล้วเดี๋ยวก็คิดอีก มันเร็วมาก นี่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาวิมุตติเป็นแบบนี้ นี่ไล่ไปเรื่อยๆ จนจิตมันมั่นคงนะ มันไล่จนเรารู้ทันหมด อะไรจะเกิดมานี่โอ๋ย ยิ้มเลย
รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร
นี่เป็นบ่วง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันล่อจิตมาตลอดเลย พอเราไล่ไปเรื่อยๆ ไล่ไปเรื่อยๆ มันเห็น รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร พอเราพิจารณาถึงที่สุดมันขาด เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียงมันมาหลอกใจไม่ได้ รูป รส กลิ่น เสียงมันจะมาเป็นบ่วงไม่ได้ มันจะเป็นพวงดอกไม้ เป็นพวงดอกไม้มันก็มาล่อ มาหลอก เป็นบ่วงมันก็กระตุกคอ ถ้าเราทันหมดนะจบเลย นี่พอจบอย่างนี้เป็นกัลยาณปุถุชน ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนนะ ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมขึ้นมามันจะเป็นโสดาปัตติมรรคแล้ว ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรคมันก้าวขึ้นไปมันจะเป็นโสดาปัตติผล
ฉะนั้น สิ่งที่เศร้าหมองผ่องใส ถ้าเราเป็นอย่างนี้ บ่วงมันก็คล้องคออยู่ไง บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมารคล้องคออยู่ มันรัดคออยู่ แล้วก็ดึงอยู่ แล้วเราก็เดินตามต้อยๆ เลย ให้มันหายเอง ให้มันหายเอง เข้มแข็งขึ้นมา สัตว์อาชาไนย สัตว์อาชาไนยต้องเลือก สัตว์อาชาไนยมันกินแต่ยอดหญ้า น้ำ กินแต่น้ำสะอาดบริสุทธิ์ สัตว์อาชาไนยไม่ใช่สัตว์ทั่วไป เรานักปฏิบัติเราจะเป็นสัตว์อาชาไนย เราจะสู้กับเรา เราจะทำเพื่อประโยชน์ของเรา
นี่ให้รู้จักเลือก รู้จักแยกแยะ นี่คือฝึกหัดใช้ปัญญา การฝึกหัดใช้ปัญญาเราใช้ของเราได้ ไม่ต้องจิตสงบแล้วค่อยใช้ปัญญา แล้วเมื่อไหร่มันจะสงบล่ะ? ฝึกหัดใช้ปัญญาได้ทุกขั้นตอน แม้แต่รักษาศีลก็ต้องใช้ปัญญา ทำสมาธิก็ต้องใช้ปัญญา แต่บอกว่าโลกียปัญญาหมายความว่าปัญญาอย่างนี้เราอย่าเชื่อใจ อย่างพวกเราปฏิบัติแล้ว พอสิ่งใดเกิดขึ้นมาเราจะหลง เราจะเหิมเกริม บอกว่านี่เป็นปัญญา นี่ฆ่ากิเลสแล้ว นั่นล่ะมันเป็นโลกียปัญญา แต่ถ้าเราทำบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะรู้มันจะเห็นของมัน จากโลกียปัญญาจะเป็นโลกุตตรปัญญา
โลกุตตรปัญญาคือเกิดบนสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเกิดจากจิต จิตเวลามันไม่มีสมาธิมันก็ฟุ้งซ่าน เวลามีสมาธิมันทำให้จิตสงบ เห็นไหม สมาธิเกิดจากจิต แต่มันทำไมไม่อยู่กับจิตตลอดไปล่ะ? มันอยู่กับจิตตลอดไปไม่ได้ เพราะมันมีอวิชชา มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากคอยขับดันอยู่ ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา นี่สมาธิเกิดจากจิต พอสมาธิเกิดจากจิต สมาธิเกิดจากจิตจิตก็สงบ จิตสงบขึ้นมา มันเกิดปัญญาขึ้นมามันก็เป็นภาวนามยปัญญา ถ้าภาวนามยปัญญาไปมันก็เป็นโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญาก็ชำระล้างกิเลส
โลกียปัญญา นี่จำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แล้วก็ศึกษามา ค้นคว้ามา แล้วก็อู้ฮู เป็นผู้วิเศษ เป็นคนรู้ คนเก่ง คนแน่ เป็นนักโต้วาที เป็นนักแก้ไขคนอื่น แต่ไม่ได้แก้ไขตัว เห็นไหม นี่เป็นโลกียปัญญา แต่ถ้าเป็นโลกุตตรปัญญามันแก้ไขที่ใจ มันทำลายในหัวใจ มันซัก มันฟอกใจ อันนี้เป็นโลกุตตรปัญญา มันชำระล้างกิเลสไง ปัญญาอย่างนี้ถึงเป็นมรรค ถ้าปัญญามรรคเกิดขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับเรา
เราพูดเพราะว่า เขาบอกว่าเวลาเศร้าหมองเกิดขึ้นมา แล้วผมก็ปล่อยให้มันหายไปเอง ผมไม่ได้สู้มันไง ต้องสู้ เราเป็นนักรบไม่ใช่นักหลบนะ ความเศร้าหมอง ความผ่องใสทำให้เกิดขึ้นมา แล้วปฏิบัติไป ปฏิบัติของเราไป ต่อสู้ไป เพราะนี่เขาบอกว่ามาจากไกลมาก แล้วอยากเชื่อมรรคเชื่อผลนะ แล้วเราปฏิบัติไป ปฏิบัติไป แล้วเราทำของเราขึ้นมา เราจะเป็นชาวพุทธโดยเนื้อแท้
ในปัจจุบันนี้เขาบอกเลยศาสนาพุทธต้องฟื้นฟูนะ ตอนนี้ศาสนาพุทธเสื่อมมากเลยต้องฟื้นฟู เราไม่รู้ไปฟื้นฟูกันที่ไหนเนาะ แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟื้นฟูกันที่หัวใจ ถ้าใจใครเป็นพุทธะ ใจใครเป็นธรรมะ สังฆะ ใจนั้นจะประเสริฐ ถ้าใจนั้นจะประเสริฐจะเป็นศาสนทายาท ศาสนทายาทจะเป็นผู้จรรโลงธรรมะนี้ไว้ แล้วจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง เพื่อประโยชน์กับชาวพุทธ เขาจะฟื้นฟูศาสนากัน เราจะฟื้นฟูใจเพื่อให้ใจเป็นธรรม เอวัง