ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สติเฉพาะตน

๕ ม.ค. ๒๕๕๖

 

สติเฉพาะตน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๒๓๑. เรื่อง “จิตสงบแต่พิจารณากายไม่ออกครับ”

เรียนท่านอาจารย์ ผมได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์ว่าให้ทำจิตให้สงบ แล้วถึงพิจารณากายต่อไป จึงทดลองทำโดยผมใช้อานาปานสติ ผมภาวนาจนลมหายใจละเอียด จิตสงบ แต่ไม่ถึงขั้นแยกกาย จิต เป็นส่วนๆ ที่เคยภาวนาได้ (กายเป็นส่วนหนึ่ง เสียงเป็นส่วนหนึ่ง ลมเป็นส่วนหนึ่ง ความรู้สึกอีกส่วนหนึ่ง) ผมเลยอยากจะลองพิจารณากายว่าเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ แต่พิจารณากายไม่ออกครับ เจอมาแต่เวทนา ผมก็พิจารณาเวทนาแทนว่ามันจะลงไตรลักษณ์หรือเปล่า โดยการเฝ้าดูว่ามันเกิดขึ้นแล้วหายไปหรือไม่? แบบนี้ผมทำถูกหรือเปล่าครับ? แล้วทำไมผมพิจารณากายไม่ได้เลยครับ หรือความสงบที่เจอมันยังไม่สงบจริง ขอความเมตตาท่านอาจารย์ช่วยสอนด้วยครับ

ตอบ : นี่สิ่งที่เขาบอกว่าเคยฟังเทศน์ท่านอาจารย์ว่า “จิตสงบแล้วให้พิจารณากาย จิตสงบให้พิจารณากาย” โดยธรรมชาติคนก็คิดว่าถ้าจิตมันสงบแล้วก็ต้องพิจารณากาย การพิจารณามันก็เป็นเหมือนกับถ้าทำความสงบของใจมันเหมือนโรงงานผลิต โรงงานผลิต ผลิตขึ้นมาขนาดไหนนะ โรงงานผลิตสินค้า ผลิตสินค้ามาขนาดไหน แต่ไม่ได้มีการซื้อขายออกไป โรงงานนั้นอยู่ไม่ได้หรอก ถ้ามันผลิตสินค้ามา สินค้านั้นมันจะกองท่วมโรงงานเลย

ฉะนั้น เวลาโรงงานผลิต เห็นไหม ฝ่ายผลิต ผลิตเสร็จแล้วต้องจำหน่าย ถ้าฝ่ายจำหน่ายจำหน่ายออกไป เขาไม่ได้ผลิตเขาเป็นฝ่ายจำหน่าย นี่บริษัทผู้ค้า เวลาผู้ค้าเขาไม่ได้ผลิตสินค้าเอง แต่เขาได้รับสินค้ามา แล้วเขาไปค้าเขาได้กำไรมากกว่าด้วย ผู้ค้าคนกลางเขาจะได้ส่วนต่างมาก ฉะนั้น เขาได้ส่วนต่างขึ้นมาเราก็อยากได้กำไรมากๆ เราก็อยากได้ผลประโยชน์ของเรา ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นวงจรของการที่เขาทำธุรกิจ

ฉะนั้น เวลาเราภาวนาขึ้นมา เราไม่มีโรงงานผลิต เราไม่มีโรงงานผลิตนะ แต่เราอยากค้าขาย เราอยากร่ำ อยากรวย ทุกคนอยากร่ำ อยากรวย อยากจะมีเงิน มีทอง แต่ไม่มีโรงงานผลิตขึ้นมา แล้วจะเอาสินค้าที่ไหนไปขายล่ะ? ก็จินตนาการกันไปไง

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า

ถาม : เวลาทำจิตสงบแล้วต้องพิจารณากาย ทำจิตสงบพิจารณากาย

ตอบ : การทำความสงบของใจ นั่นแหละคือโรงงานผลิต ถ้ามีโรงงานผลิต มันผลิตสินค้าขึ้นมาแล้วนะ เราจะค้า เราจะขายเราก็จะมีผลกำไร เราไม่มีโรงงานผลิตนะ เราเห็นเขาค้าขายกัน ที่นั่นก็รวย ที่นี่ก็รวย ก็อยากจะรวยกับเขา แล้วเราจะรวยขึ้นมาได้ไหมล่ะ? เราก็รวยขึ้นมาไม่ได้ ฉะนั้น ถึงบอกว่าต้องทำความสงบของใจก่อน ใจสงบแล้วพิจารณากาย

ฉะนั้น ในมุมกลับ ในมุมกลับนะ แล้วเมื่อไหร่จิตมันจะสงบล่ะ? นี่เวลาเรามาสร้างโรงงาน เราทำโรงงานขึ้นมา โรงงานเราจะผลิตสินค้าอะไร? เราผลิตสินค้าไม่ได้เราก็ลังเลว่าเราจะสร้างโรงงานอะไรกัน นี่ในท้องตลาดเขาต้องการสินค้าอะไร เราจะสร้างโรงงานอะไร? เราจะบอกว่าทุกคนจะบ่นมากว่าเมื่อไหร่จิตมันจะสงบ แล้วเมื่อไหร่มันจะได้พิจารณา

ทุกคนจะคิดมากนะว่าเมื่อไหร่จิตจะสงบ เมื่อไหร่จะได้ใช้ปัญญา เมื่อไหร่จะได้ใช้ปัญญา คืออยากขายทุกคนเลย ทุกคนอยากจะค้าขายทั้งนั้นเลย แต่ไม่รู้ว่ามันจะค้าขายอะไร? พอค้าขายอะไรปั๊บ ตอนนี้ก็บอก แล้วถ้าจิตไม่สงบเราพิจารณาไม่ได้ พอจิตสงบพิจารณาไม่ได้มันก็มีการที่พวกอภิธรรมเขาบอก บอกสมถะไม่มีประโยชน์หรอก โรงงานนี้ไม่เป็นประโยชน์หรอก จะไปสร้างโรงงานทำไม? เราก็ค้าขายไปเลย เราก็ใช้ปัญญาไปเลย ทุกคนก็จะไปใช้ปัญญากัน ใช้ปัญญากัน แต่ใช้ปัญญาแล้ว ถ้าการกระทำแล้วมันก็เหมือนกับเราจะค้าขาย เราจะเอาอะไรไปค้าขายล่ะ? มันก็ต้องหาสินค้าอยู่วันยังค่ำ

ฉะนั้น ใครใช้ปัญญาขนาดไหนนะ ผลของมันก็คือหาสินค้า คือทำความสงบของใจเท่านั้นแหละ ผลของมันคือสมถะ ถ้าใครทำความถูกต้องดีงามตามสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง ผลของมันคือสมถะ ไม่มีการค้าขายอะไรหรอก มันต้องสร้างสินค้าขึ้นมาก่อน ฉะนั้น จิตสงบแล้วถึงพิจารณา แต่จิตไม่สงบเราก็ต้องใช้ปัญญาเหมือนกัน แต่ปัญญาในการสร้างโรงงานของเรา ปัญญาในการสร้างฐานของใจ ปัญญาทำความสงบของใจมันก็เป็นปัญญานะ แต่มันเป็นปัญญาการสร้างโรงงาน ปัญญาการหาโรงงานเพื่อทำสินค้า โรงงานของเราก็คือทุน ทุนก็คือสมาธิ นี่คนเราถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีทุน มันไปทำอะไรก็ไม่ได้หรอก

ฉะนั้น ถ้าจิตสงบแล้วถึงพิจารณากาย แต่การทำความสงบของใจ ใจมันจะสงบได้ก็ต้องใช้ปัญญา ฉะนั้น เวลาหัดใช้ปัญญา นี่หัดใช้ปัญญาได้ หัดใช้ปัญญาได้ แต่เวลาทำความสงบแล้วเขาพิจารณากาย ทำไมมันถึงไม่เห็นกาย ไม่เห็นหรอก เพราะการเห็นกาย การพิจารณา การสร้างโรงงาน โรงงาน เราทำโรงงานมา ทำโรงงานนั้นเป็นของเรา เราทำสินค้า สินค้านั้นเป็นของเรา ฉะนั้น เวลาเราใช้ปัญญาพิจารณากาย ที่เขาว่าพิจารณากายๆ กันนี่มันพิจารณากายของเราไง แต่คนอื่นเขาไม่เอาด้วย คนอื่นเขาก็สร้างโรงงานของเขา เขาไม่ทำผลประโยชน์ให้คนอื่นหรอก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราไม่สงบแล้วเราว่าเราพิจารณากายๆ นั่นแหละมันเป็นสัญญาไง มันเป็นโลกียปัญญาไง มันเป็นจินตนาการไง มันเป็นสิ่งที่เรานึกคิดขึ้นมาได้ไง ปัญญาอย่างนี้คือปัญญาหยาบๆ ปัญญาอย่างนี้คือการพิจารณาแล้ว ผลของมันก็คือสมถะ ผลของมันก็คือการสร้างโรงงาน

ฉะนั้น ถามว่า

ถาม : ผมฟังเทศน์ท่านอาจารย์บอกว่าทำจิตสงบก่อน ทำจิตสงบก่อนแล้วพิจารณากายต่อไป ผมก็ลองทำดูโดยการใช้อานาปานสติ พอภาวนาไปแล้วจิตมันละเอียดเข้าไป แต่มันไม่ถึงแยกกาย แยกจิต

ตอบ : ไม่แยกหรอก อานาปานสติกับพุทธานุสติ พุทธานุสติคือพุทโธ อานาปานสติคือกำหนดลมหายใจ ผลของมันคือสมถะ ถ้าผลของมันคือสมถะ แต่ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนาบารมีนะ เวลาพุทโธ พุทโธไปจิตมันสงบมันจะเห็นของมันแว็บๆ แว็บๆ สิ่งที่เห็นนั้นมันเป็นนิมิต มันออกไปมันยังไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเห็นสิ่งใดแล้ว ถ้าเราเห็นแล้วเราชื่นใจ เราเห็นแล้วมันเป็นการบอกว่าจิตเราดีขึ้น

ถ้ามันเห็น เห็นก็คือเห็นแล้ววางไว้ ถ้าเห็นแล้วติดมันก็ไปไม่รอด เห็นแล้ววางไว้แล้วพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าจิตสงบเข้าไป แล้วถ้าน้อมไปเห็นกาย ถ้าเห็นกายนั่นล่ะคือการพิจารณากาย นี้การพิจารณากายโดยจิตสงบนะ แล้วถ้าถามว่า

ถาม : ผมเลยอยากจะลองพิจารณากายว่าเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ แต่พิจารณากายไม่ออกครับเจอแต่เวทนา

ตอบ : ในเมื่อเราพิจารณาอยากเห็นดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็เป็นตัณหาซ้อนตัณหา คือมันเป็นความอยาก ความอยากเห็นดิน น้ำ ลม ไฟ นี่เห็นกายเป็นธาตุ ๔ เวลาเห็นกายเป็นธาตุ ๔ พอมันเห็นกายเป็นธาตุ ๔ นี่จิตใจเราก็จ่อไปที่ธาตุ ๔ กิเลสมันก็ได้ช่องใช่ไหม? มันก็บอกว่า เออ จิตนี้มันส่งออกไปอยู่ที่ดิน น้ำ ลม ไฟ เพราะมันจินตนาการไปที่ดิน น้ำ ลม ไฟ

นี่จิตมันไปมั่นหมายดิน น้ำ ลม ไฟ พอมั่นหมายไป ไอ้กิเลสนะ กิเลสที่มันอยู่จิตใต้สำนึก ในเมื่อมันนั่งนานไปมันก็เกิดความเจ็บ ความปวด มันก็เกิดเวทนา เห็นไหม เขาบอกว่าเวลาอยากได้ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ผมกลับเจอเวทนาแทนไง ก็เลยว่าพิจารณาเป็นไตรลักษณ์ได้ไหม? ถ้าพิจารณาเป็นไตรลักษณ์ ถ้าจิตมันสงบนะมันมีกำลังของมัน

คนจิตสงบหมายถึงว่าคนที่มีฐานะ คนที่มีฐานะเขามีเงินมีทองล้นฟ้า เขาจะไปซื้อสิ่งของสิ่งใดได้ทั้งนั้นแหละ คนที่จิตสงบนะ เวลาจิตมันเจอเวทนามันก็พิจารณาเวทนาได้ เวลาจิตมันเจอกายมันก็พิจารณากายได้ ถ้ามันเจอธรรมมันก็พิจารณาธรรมได้ ถ้าคนจิตสงบนะพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมได้เหมือนกันหมดเลย พิจารณาอะไรก็ได้ถ้าจิตมันสงบ จิตสงบมันมีกำลังของมัน มันพิจารณาก็ได้ แต่ถ้าจิตไม่สงบนะ เราเป็นคนทุกข์ คนเข็ญใจ แม้แต่จะหาอยู่หากินเรายังหาไม่ได้เลย แล้วเราจะไปเที่ยวซื้อข้าวของต่างๆ ที่เขามีราคามันซื้อไม่ได้หรอก

ฉะนั้น บอกว่าเวลาพิจารณาไปแล้วมันไปเห็นเวทนาแทน ถ้าเห็นเวทนาแทนเรากลับมาทำความสงบของใจ จะเห็นสิ่งใดก็แล้วแต่นะ ถ้ามันแบกรับภาระไม่ได้กลับมาที่ความสงบเลย พอกลับมาที่ความสงบ สิ่งที่รู้ที่เห็นนั้นหยุดหมด เพราะอะไร? เพราะธาตุรู้มันไปรับรู้ รู้เวทนา รู้กาย รู้จิต รู้ต่างๆ แต่ถ้ากลับมารู้พุทโธทุกอย่างก็จบหมด

นี่ที่เราอธิบายอยู่นี้จะอธิบายให้เห็นว่ามันเป็นกิจจะลักษณะ ขณะที่ทำความสงบของใจมันก็สงบเข้ามา จะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั้นก็คือเป็นโลกียปัญญา ปัญญาพิจารณาเพื่อความสงบ ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ ถ้าจิตมันสงบ เวลามันมีหลักมีฐานแล้ว ถ้ามันออกไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นไหม จิตจริงๆ จิตจริงๆ คือจิตที่เป็นสมาธิจริงๆ จิตที่มีหลักมีเกณฑ์จริงๆ พอเขาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี่มันจะมีรสชาติแตกต่างกัน มันเป็นกิจจะลักษณะ

ฉะนั้น คนที่ไม่มีหลัก เห็นกายโดยโลกียปัญญา เห็นกายโดยความรู้ ความเห็น มันก็ว่าไปเห็นกาย จิตสงบแล้วไปเห็นกาย โดยเป็นจิตมันก็ว่าเห็นกาย เห็นกายแตกต่างหลากหลาย เห็นกายไปทุกอย่างเลย แต่เห็นกายในสถานะอะไรไง ถ้าจิตมันเป็นโลกียปัญญา เห็นกายมันก็เห็นกาย ดูสิเวลาเรานั่งกันอยู่นี่ เรามองฝ่ายตรงข้ามเราก็เห็นเหมือนกัน เห็นกายตรงข้าม แล้วมันเป็นประโยชน์อะไร? นี่การเห็นเป็นกิจจะลักษณะ การเห็นโดยจิตที่เป็นสามัญสำนึก จิตที่ยังเป็นปุถุชน เห็นอย่างนี้มันเห็นกายนอก เห็นกายโดยเป็นการเทียบเคียง

เหมือนกับเราพิจารณากาย เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราเอามาท่องเลย เราเอากาย เอาขน ผม เล็บ ฟัน หนังมาท่องๆๆ เลย ท่องนี่มันก็เป็นคำบริกรรม เห็นไหม อย่างนี้มันเป็นลักษณะของสมถะ ลักษณะของการทำความสงบของใจเข้ามา แต่ถ้าจิตสงบแล้วถ้ามันไปเห็นกาย เห็นกายจิตสงบ เห็นแล้วมันสะเทือนกิเลสเลย เพราะจิตมันเห็น มันเห็นโดยจิต เห็นโดยตรงไง จิตเห็นเลย แต่นี่เราเห็นโดยสัญญาไง จิตมันผ่านสัญญาอารมณ์ใช่ไหม? อารมณ์นั้นก็ไปเห็นกายใช่ไหม? มันมีขันธ์ ๕ เป็นตัวกลางไง มันมีสิ่งต่างๆ เป็นตัวกลาง เป็นตัวกลาง เป็นตัวสื่อ

ฉะนั้น เห็นผ่านสื่อ ไม่ใช่เห็นโดยตรง ไม่ใช่เห็นโดยจิตไง ถ้าเห็นโดยจิต อย่างนี้เขาเรียกว่าสมถะ มันทำโดยสามัญสำนึก เพราะเราเห็นโดยการศึกษา เห็นไหม เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งนี้เราศึกษามาหมดเลย สิ่งนี้มันเป็นสัญญา เราเห็นโดยที่เรารู้ไง เรารู้ว่าอย่างนี้เป็นอย่างนี้ อย่างนี้เป็นอย่างนี้ เรารู้โจทย์ รู้ทุกอย่างไปหมดแล้ว นี่เห็นโดยโลกียะ เป็นกิจจะลักษณะในขั้นของสามัญสำนึก ในขั้นของปุถุชน ในขั้นของการทำความสงบ ถ้าจิตมันสงบแล้วออกรู้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย

ฉะนั้น บอกว่าการพิจารณากายจะออกหรือไม่ออกมันก็อยู่ตรงนี้หนึ่ง สองมันอยู่ที่ว่าคนมีอำนาจวาสนาพิจารณากายนะ คนเราถ้ามีอำนาจวาสนามาก พิจารณากายต่างๆ มันจะแบบว่าสืบเนื่องต่อเนื่องกันไป แต่คนเราสร้างอำนาจวาสนามาไม่เท่ากัน เดี๋ยวก็เห็นกาย เดี๋ยวก็ไม่เห็น เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย อำนาจวาสนาคนไม่เหมือนกัน แล้วอำนาจวาสนาคนไม่เหมือนกันแล้ว เวลาพิจารณาไปแล้วบางทีก็เห็นกาย เดี๋ยวก็ไปเห็นจิต เวลามันเห็นมันเกิดขึ้นในปัจจุบันไง เขาบอกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อะไรเกิดขึ้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันไม่มีเป็นสูตรสำเร็จ การภาวนาเป็นสูตรสำเร็จ วิทยาศาสตร์เป็นโลก วิทยาศาสตร์ เห็นไหม ทฤษฎีใดก็แล้วแต่ต้องทดสอบอย่างนั้น ทำอย่างนั้นถึงจะเป็นแบบนั้น แต่ทางธรรม ทางธรรมะมันมีกิเลสหยาบ กิเลสกลาง กิเลสละเอียด กิเลสอย่างหยาบ อย่างหนา อย่างละเอียดมันแตกต่างกัน อำนาจวาสนาของคนก็แตกต่างกัน โดยจริตนิสัยก็แตกต่างกัน ความแตกต่างกันมันมีตัวแปรอีกมหาศาลเลย

ฉะนั้น สิ่งที่ตัวแปรมหาศาล เวลามันเกิดเป็นปัจจุบันของแต่ละบุคคลมันถึงไม่เท่ากัน ฉะนั้น คนที่สร้างอำนาจวาสนามามาก ขิปปาภิญญาเขาจะทำของเขาสืบต่อต่อเนื่อง แล้วได้ประโยชน์ไป ของเราเริ่มต้นได้ดี สักพักไปนะมีแบบลบแล้ว เป็นติดลบแล้วแดงเลย แล้วจะฟื้นฟูขึ้นมามันยังขลุกขลักๆ นี่คนเราอำนาจวาสนาไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เวลาปฏิบัติธรรมมันถึงต้องเป็นปัจจุบันไง

ในปัจจุบันนะ ปัจจุบันอะไรเกิดขึ้นพิจารณาตามนั้น นั่นแหละเป็นปัจจุบัน นี่เวลาเป็นพุทธศาสตร์ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเกี่ยวเนื่องกับอำนาจวาสนาบารมี เกี่ยวเนื่องกับต้นทุน ต้นทุนคือสมาธิ มีหลัก ไม่มีหลัก เกี่ยวเนื่องกับว่ามีจุดยืนไหม? ไม่หลงใหลไปกับความรู้ความเห็นของตัว รู้แล้ววางแล้วพิจารณาต่อเนื่องกันไป ถ้าครูบาอาจารย์ท่านผ่านอย่างนี้มา ท่านจะอธิบายแล้วเข้าใจได้

เราจะบอกว่าธรรมเป็นปัจจุบัน สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาเอาตรงนั้น แล้วพิจารณาของเราไป ให้เป็นกิจจะลักษณะของเรา อย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจ อย่าไปเสียใจ อย่าไปคิดว่ามันจะต้องเป็นอย่างที่เราคาด เราหมาย ไม่ใช่ เอาตามความเป็นจริง เอาตามความเป็นจริง

ฉะนั้น

ถาม : ทำไมมันถึงพิจารณากายไม่ออกครับ

ตอบ : มันพิจารณาของเรา ฝึกหัดไปสิ ฝึกหัดไป ค่อยๆ ฝึกหัดไป แม้แต่เราตั้งใจของเรามันก็ถูกต้องแล้ว เราตั้งใจของเรา เราทำของเรามันเป็นผลประโยชน์กับเราจริงๆ นะ มันเป็นสิ่งที่เป็นคุณงามความดีของเรา ถ้าเรามีสติพร้อม นี่เวลาปฏิบัติไปมีสติเฉพาะตน เป็นปัจจุบันของเรา เป็นผลประโยชน์ของเรา สิ่งของของคนอื่นก็เป็นของคนอื่นเขา อันนั้นเรื่องของเขา นี้เราเอาเรื่องของเราเนาะ อันนี้ข้อ ๑๒๓๑. นะ

ถาม : ข้อ ๑๒๓๒. เรื่อง “เรียนสอบถามหลวงพ่อเรื่องสภาวะของกระผมครับ

คือผมรับรู้สภาวะดังนี้ครับ ผมเห็นว่าตัวผมคือโลก ในโลกผมไม่ได้สื่อสารกับใคร การกระทำทั้งหมดผมล้วนทำกับตัวเอง ไม่ว่าทำดีทำชั่วผมเข้าใจว่าจิตมันหลอกตัวเองว่าเราคุยกับคนอื่น จริงๆ แล้วจิตมันไม่รู้ตัวจิตเอง มันว่าคุยกับตัวเองตลอดเวลา พอผมเข้าใจสภาวะนี้ผมก็เริ่มรู้ว่าตั้งแต่ผมเกิดมา แม้สักวินาทีเดียวผมก็ไม่เคยคุยกับใครเลยนอกจากตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรนอกจากตัวจิตเอง

สิ่งทั้งปวงมันเหมือนโลกในความฝัน ในความฝันนี้คือสิ่งที่เป็นไปตามสิ่งที่ได้สะสมไว้ในตัวจิต จิตมันสร้างเองว่ามีเรามีเขา จริงๆ เราก็คือจิต เขาก็คือจิต ทุกสิ่งล้วนเกิดจากจิตมันสร้างขึ้นมาเองทั้งหมด จากสภาวะนี้ผมติดที่คือผมรู้แล้วว่าโลกคือผม แต่ปัญหาคือผมยังไม่รู้ตัวของตัวเอง หรือจิตตัวเอง มันยังมีอยู่ตลอดเวลา ผมไม่สามารถทำอะไรไปมากกว่านี้ได้นอกจากมีสติอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุดครับ ผมอยากเรียนถามพระอาจารย์ถึงการปฏิบัติต่อไปครับ หรือสิ่งที่ผมควรจะปฏิบัติต่อไปครับ ขอบพระคุณ

ตอบ : สิ่งที่เกิดขึ้น เห็นไหม เวลาเราเกิดมาเป็นโลกเราก็เข้าใจตามสถานะ มีการศึกษาสิ่งใดเราก็เข้าใจ ใครศึกษาสิ่งใดมาก็มองถึงความรู้สึกนึกคิดของตัว เวลาศึกษาธรรมแล้วก็มองในมุมมองของตัว ถ้ามุมมองของตัวเรามองอย่างไร?

ดูสิคนศึกษามาทางไหน ทางกฎหมายเขาก็มองจิตว่ามันเป็นแง่มุมทางกฎหมาย นี่เขาจะเห็นตามแง่มุมกฎหมาย คนเขาศึกษามาทางวิศวกรรมเขาก็บอกว่าจิตมีโครงสร้างอย่างนั้น จะมีโครงสร้างอย่างนี้ตามวิศวกรรมของเขา ใครจบมาทางเศรษฐศาสตร์เขาบอกว่าในการค่าของเงิน ในการต่างๆ ในการสะสมในอุปาทานอุปสงค์มันแตกต่างกันอย่างไร แล้วแต่คนจะมุมมองไป ทีนี้มุมมองไปอย่างนี้ เราจะบอกว่าเราศึกษาธรรมะมาแล้ว มุมมองในต้นทุนการศึกษาของใคร ก็จะมุมมองตามนั้น

ฉะนั้น เวลาเราถามคำถามเขาบอกว่าเวลาเขารู้ เขารู้สภาวะของเขาไง ว่าอะไรก็ โลกก็คือจิต จิตเรา จิตเขา นี่เวลามันเข้าไปถึงที่สุดนะ เวลามันมีมุมมองอย่างนี้ เวลาปัญญามันเกิดไง เวลาเราพิจารณาของเราแล้วปัญญาเราเกิด พอปัญญาเราเกิดมันไปติดตัวเองไง ไปติดไงไปติดว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ปั๊บมันก็เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว วิทยาศาสตร์ในการปฏิบัตินะ วิทยาศาสตร์ว่าจิตเป็นอย่างนี้ เป็นความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างนี้ แล้วสรรพสิ่งก็เป็นอย่างนี้ ก็เลยตันเลย ขยับไม่ได้เลย

เหมือนกับเราวิจัยของเรา พอเราทำวิจัยของเราแล้วผลมันตอบมาอย่างนี้ พอผลมันตอบอย่างนี้ปั๊บเราก็ติดเลยว่าผลตอบอย่างนี้ต้องเป็นแบบนี้ แล้วมันจะเป็นแบบนี้จริงหรือ? มันจริงไหมล่ะ? ถ้าเราทำวิจัยอีก ในเมื่อข้อมูลมันแตกต่างใช่ไหม เราได้ข้อมูลใหม่ ข้อมูลต่างๆ พอวิจัยแล้วมันจะลึกไปกว่านี้อีก

ถ้าลึกไปกว่านี้ นี่ไงเวลาเรารู้สิ่งใดขึ้นมาแล้ว เวลาเรามีความรู้ขึ้นมาแล้ว เห็นไหม ความรู้นั้นเรารู้ในปัจจุบันนี่ถูก แต่ถ้าจิตเราละเอียดเข้าไปล่ะ จะรู้สิ่งดี ดีกว่านี้เข้าไปอีก ถ้าสิ่งดีกว่านี้เข้าไปอีกนะ สิ่งที่เรารู้มาแล้วมันเป็นมรรคหยาบ คือความรู้ที่มันเป็นหยาบมันก็จะต่อรองว่าต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ จิตเราละเอียดไปไม่ได้เลย

“มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

ในเมื่อเขาบอกว่าในเมื่อโลกนี้ไม่มีสิ่งใดเลย มีแต่จิตเราก็คือจิต เขาก็คือจิต ทุกอย่างก็คือจิต นี่เรามองเป็นนามธรรมไง ถ้ามองว่าคือจิตใช่ไหม? มีเงินทองเท่าไหร่เอามาให้เราหมดเลย เอ็งเอาจิตไว้แล้วกัน เอ็งมีที่ดินเท่าไหร่โอนให้กูนี่ มีรถกี่คันโอนมา เอ็งก็คือจิต ก็จิตเก็บไว้ก็พอ นี่เวลามันคิดมันคิดได้อย่างนั้น เวลาเข้าไปสู่ตรงนั้นไง

นี้เวลาจิตที่มันรู้ขึ้นมา ถ้าจิตมันรู้ขึ้นมาขนาดไหน แต่ตัวจิต เห็นไหม ตัวจิตก็ตัวทุนนั่นล่ะ ถ้าตัวจิต นี่จิตเห็นอาการของจิต ผมว่าจิตมันก็คือจิตไง แล้วอะไรทุกๆ อย่างก็เป็นจิตก็จบที่นั่น แล้วจิตเห็นอะไรล่ะ? ผู้มีอิทธิพลใช่ไหมเขาทำลายคนอื่นหมดเลย แล้วผู้มีอิทธิพลนั้นก็จะอยู่ของเขา ผู้มีอิทธิพลทำลายคนอื่นไปหมดเลย แล้วเขาต้องทำลายตัวเขาด้วย ถ้าเขาไม่ทำลายตัวเขามันไม่มีความเสมอภาค เราเอาเปรียบเขาหมดเลย ทุกคนผิดหมดเลยๆ เราดีอยู่คนเดียว มันเป็นได้อย่างไร? ทุกคนผิดหมดเลยๆ เราก็ผิดด้วย ผิดเพราะอะไร? ผิดเพราะมีเราไง แล้วเราจะทำลายเราอย่างไรล่ะ? เราจะทำลายเราอย่างไร? ถ้าเราทำลายเราแล้วมันถึงรู้ความเป็นจริง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะสิ่งที่รู้แล้วนี่วาง ถ้าสิ่งที่รู้ อะไรก็คือจิต เขาก็คือจิต เราก็คือจิต โลกนี้ก็มีแต่จิตอย่างเดียวไม่มีสิ่งใดเลย ไม่มีสิ่งใดเลยเวรกรรมมันอยู่ที่ไหนล่ะ? เวรกรรมมันมีนะ ถ้าเวรกรรมมี ถ้ามีสติ มีสติพอมันเข้าใจแล้วมันจะวางได้ สตินี่สติสำคัญมาก ถ้าสิ่งใดก็คือจิตมันเป็นอดีตมาแล้วนะ เป็นอดีตแล้วเราก็ไปเหนี่ยวรั้งไว้ พอเหนี่ยวรั้งไว้ จิตนี้มันจะดีขึ้นๆ มันจะไม่พัฒนาขึ้นไปเลย เพราะมันมีคำตอบอยู่แล้ว

ถ้าพิจารณาไปแล้วก็จบลงตรงนี้จบลงที่ว่ามันก็คือจิต มันก็คือจิต

ถาม : นี่อยากถามหลวงพ่อว่าจะปฏิบัติต่อไปอย่างใด?

ตอบ : จะปฏิบัติต่อไปอย่างไร สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็คือผ่านมาแล้วก็วางไว้ แล้วเราก็ตั้งสติ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป พอสมาธิมันเข้าไปนะ โรงงานผลิต โรงงานผลิตเขาผลิตสินค้าสิ่งใดก็แล้วแต่ เราผลิตออกมาแล้วตลาดต้องการมาก แต่พอเวลาตลาดอิ่มตัวแล้วสินค้าขายไม่ออกหรอก สินค้านี่เขาต้องพัฒนาขึ้นไป ถ้าพัฒนาขึ้นไปแล้ว พัฒนาขึ้นไปแล้วผู้ที่ใช้สินค้านั้นเขาจะบอกว่าสินค้ารุ่นใหม่มันจะดีกว่า ดีกว่าเขาจะซื้อต่อไป ซื้อสินค้าต่อไป

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันพัฒนาของมันแล้ว ทุกอย่างคือจิตๆ พอคือจิตแล้ว นี่โรงงานผลิตล้นโรงงานเลย แล้วจะขายให้ใครล่ะ? ถ้าจะขายให้ใครมันต้องใช้ปัญญาพัฒนาสินค้าของเรา พัฒนาจิตของเราไง พัฒนาดูแลใจเรา ถ้าใจเราดีขึ้นมา ใจเรามันดีขึ้นมานะมันก็จะมีงานให้ทำต่อไปเรื่อยๆ ถ้ามีงานทำต่อไปเรื่อยๆ ผลประโยชน์มันก็ตกมาได้เรื่อยๆ สรรพสิ่งนั้นคือจิต ว่าจิตนี้ใหญ่ ใจเป็นประธาน ใจเป็นต้นเหตุ ถ้าต้นเหตุแล้วเราจะทำลายต้นเหตุอย่างไร? ถ้าเราทำลายต้นเหตุได้ นี้เราจะทำลายต้นเหตุอย่างไร พอไปถึงต้นเหตุแล้วก็จบ

เวลาพระโปฐิละที่ว่าจะไปปฏิบัติ เห็นไหม ปฏิบัติกับสามเณรน้อย สามเณรน้อยบอกว่าร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก ปิดจอมปลวกทั้ง ๕ รู เหลือรูไว้ตัวหนึ่งไว้ให้ดูเหี้ยมันออกจากจอมปลวกนั้น เหี้ยมันอยู่ในจอมปลวกนั้น ถ้าเหี้ยอยู่จอมปลวกนั้น ปิดรูทั้ง ๕ รู เพราะมันมี ๖ รู คนเรามี ๖ รู ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปิดได้หมดเลยให้เหลือใจไว้ แล้วรอเหี้ยตัวนั้น ถ้าเหี้ยตัวนั้นออกมาให้จับเหี้ยตัวนั้น

สรรพสิ่งก็เป็นจิต สรรพสิ่งก็เป็นจิต นี่ถ้าเราพิจารณาแล้วมันออกมา เอาจิตนั้นออกมา ถ้าจิตมันออกมา เห็นไหม มันออกมา ไอ้ตัวเหี้ยตัวนั้น อวิชชาตัวนั้นเวลามันออกมา เราพิจารณาตรงนั้นไง ถ้าเราพิจารณาตรงนั้นได้มันต้องมีสติ มันทำได้ ถ้ามันทำได้ มันเป็นประโยชน์ได้มันก็จะก้าวหน้าต่อไป ถ้าก้าวหน้าต่อไป นี่เขาถามว่า

ถาม : จะปฏิบัติอย่างใด?

ตอบ : ถ้าจะปฏิบัติอย่างใด เห็นไหม สภาวธรรมของผม สภาวธรรมมันเป็นอดีตไปแล้ว ทีนี้เราพัฒนาของเราใหม่ เราเอาปัจจุบันนี้เพื่อประโยชน์กับตัวเองนะ

อ้าว มานี่แล้ว

ถาม : ๑. ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วออกพิจารณากายแบบหลวงปู่ดูลย์ (อยากทราบว่ามีวิธีการอย่างไรอยากได้ความกระจ่างครับ)

ตอบ : ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาจิตมันสงบแล้ว เห็นไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่ใช้ปัญญาไล่ไปเรื่อยๆ ไล่ไปเรื่อยๆ พอจิตมันสงบเข้ามา จิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามามันจะดูตรงนี้ ดูที่ว่าหลวงปู่ดูลย์บอกว่า เพราะเขาถามว่า

ถาม : ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วออกพิจารณากายแบบหลวงปู่ดูลย์

ตอบ : แบบหลวงปู่ดูลย์ไง ทีนี้หลวงปู่ดูลย์ท่านพิจารณากาย เห็นไหม อย่างถ้าเป็นเจโตวิมุตติ อย่างเช่นหลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้อานาปานสติ จิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วเวลามันออกเห็นกาย ออกเห็นกายนี่เห็นกายเป็นอุคคหนิมิต แล้วพิจารณากายโดยกำลัง พิจารณาไปให้มันเป็นไตรลักษณ์ พิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ให้พิจารณาไปมันจะเปลี่ยนแปลงของมันไป อันนั้นเป็นเจโตวิมุตติ

แต่ถ้าว่าเราพิจารณา

ถาม : ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วออกพิจารณากายแบบหลวงปู่ดูลย์

ตอบ : หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “จิตส่งออกทั้งหมด” จิตส่งออกคือความคิดปกติเรานี่แหละ จิตส่งออก คิดในธรรมะ ตรึกในธรรมะนี่แหละ จิตส่งออกทั้งหมด เพราะจิตมันตรึกในธรรม จิตมันถึงส่งออกมา ถ้าจิตไม่ตรึกในธรรม เห็นไหม เราเผลอ เราไม่คิดอะไรเลย จิตมันก็อยู่ส่วนจิต มันไม่ออกมา แต่ถ้าเราตรึกในธรรมเราตรึกต่างๆ นี่จิตส่งออกทั้งหมด ผลของมันคือสมุทัย จิตส่งออกเป็นสมุทัย ผลของมันคือทุกข์ ผลของมันคือทุกข์

นี่ดูจิตๆๆ จนจิตสงบ จิตสงบ แล้วจิตเห็นจิตเป็นมรรค จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลของการจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ ทีนี้จิตเห็นจิตเป็นมรรค เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอจิตมันสงบเข้ามาแล้ว เห็นไหม นี่จิตสงบเข้ามา นี่จิตส่งออกเป็นสมุทัย ผลของมันเป็นทุกข์ ถ้าเราพิจารณาดูจิตๆ จนจิตมันสงบ จิตมันสงบมันไม่ส่งออกแล้ว จิตไม่ส่งออก จิตไม่ส่งออกมันถึงเป็นสมาธิ มันถึงเป็นสมาธิ

ทีนี้จิตเห็นจิตอย่างไร? นี่ถ้าจิตเห็นจิตที่ว่าพิจารณากายแบบหลวงปู่ดูลย์ไง จิตเห็นจิต ถ้าจิตมันสงบแล้ว เห็นไหม เวลาจิตสงบแล้วมันเสวยอารมณ์ มันเสวยอารมณ์ มันคิด มันจะคิดอย่างไร? ถ้าจิตเราสงบแล้วเวลามันออกรู้ เวลามันออกรู้ ออกรู้เพราะอะไร? ออกรู้เพราะจิตมันสงบ พอจิตสงบแล้วเรามีสติปัญญา มีสติพร้อม พอจิตสงบแล้ว จิตธรรมชาติของมันมันก็ต้องส่งออกเป็นธรรมดา

ทีนี้ส่งออกโดยเมื่อก่อนนั้นส่งออกโดยสัญชาตญาณ มันส่งออกโดยธรรมชาติของมัน โดยสัญชาตญาณ พอเราดูจิตๆ จนจิตมันสงบ ทีนี้จิตสงบมีสติใช่ไหม? ถ้าไม่มีสติจิตสงบได้อย่างไร? พอจิตมันสงบมันจะออกเสวยอารมณ์ มันจะออกรู้ เห็นตรงนี้ ถ้าจับตรงนี้ได้จิตเห็นจิต จิตเห็นจิตนะ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นความคิด จิตเห็นความคิด จิตเห็นรูป จิตเห็นเวทนา จิตเห็นกาย

นี่ถ้าจับตรงนี้ได้ เห็นไหม จิตเห็นจิตเป็นมรรค ถ้าจิตเห็นจิตเป็นมรรค นี่ถ้าจับได้ พอจับได้ไปแล้ว พอจับได้ก็พิจารณาไป พอจับได้ก็คือจับได้เฉยๆ แหวกจอกแหนๆ เขาบอกให้จับจอกแหน จับจอกแหน แล้วเอาจอกแหนขึ้นมาบนบก ตากแห้งแล้วก็เผามันทิ้ง นี่แหวกจอกแหนๆ แหวกแหนแล้วมันก็แหวกอยู่ในสระนั้นแหละ มันไม่ไปไหนหรอก จับจอกแหนเอาขึ้นไปตากแดด ตากแดดจนมันแห้งแล้วจุดไฟเผามัน

จิตเวลามันเห็นจิต มันก็เท่ากับเห็นจอกแหนนั่นแหละ เห็นจอกแหน พอเห็นจอกแหนมันก็ต้องพิจารณาของมัน ต้องพิจารณาของมัน แยกแยะของมัน จิตเห็นจิต อาการของจิตมันประกอบไปด้วยอะไร? อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดประกอบไปด้วยอะไร? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่ แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความอยากได้อยากดี ความสุขความทุกข์ที่เกิดจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันนั้นคือกิเลส

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่กิเลส คลื่นวิทยุเป็นกิเลสไหม? คลื่นนี่เป็นกิเลสไหม? ไม่เป็น แต่เวลาเขาด่ามาในคลื่น เขาโทรศัพท์มาด่าเป็นกิเลสไหม? ขึ้นเลยไหม? ใครโทรศัพท์มาด่านี่ อู๋ย เดือดเป็นไฟเลย แต่ตัวคลื่นเป็นกิเลสไหม? ไม่เป็น แต่สิ่งนี่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่กิเลส แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความอยากได้ใคร่ดีจากความรู้สึกนึกคิดอันนั้นเป็นกิเลส

ฉะนั้น ถ้ามันพิจารณาไปอย่างนี้ แยกแยะไปอย่างนี้ นี่ไงการพิจารณากายแบบหลวงปู่ดูลย์ไง การพิจารณากายแบบหลวงปู่ดูลย์ เห็นไหม มนุษย์ก็มีร่างกาย จิตมันก็อาศัยอยู่ในร่างกาย ร่างกายนี้ประกอบไปด้วยอะไร? ร่างกายกำเนิดมาจากไหน? ร่างกายนี่ปฏิสนธิจิต เกิดในไข่ เกิดในไข่ นี่เริ่มต้นจากตรงนั้นแหละ แล้วในไข่มันดำรงชีวิตอย่างไร? มันหาอาหารของมันอย่างไร?

นี่ดำรงชีวิตอย่างไร? พิจารณาไปสิ ถ้าจิตมันมีสมาธินะ จิตมันมีสมาธิ จิตมันมีตัวจริงนะ จิตมีสมาธิคือมีโรงงานผลิต ถ้าโรงงานผลิตมันผลิตสินค้าขึ้นมา คือจิตมันผลิตจนจิตที่มันหลงใหล จิตที่มันหลงใหลไปกับโลกจนมันทรงตัวของมันได้ นี่มันมีโรงงานของมัน แล้วโรงงาน โรงงานจะผลิตสินค้า เห็นไหม ผลิตสินค้า ผลิตสินค้านี่สินค้าอะไร?

นี่ไงเพราะมันจับจิตได้ จิตมันพิจารณาของมัน รูป รูปเป็นอย่างไร? เวทนาเป็นอย่างไร? สัญญาเป็นอย่างไร? สังขารเป็นอย่างไร? มันพิจารณาของมัน มันแยกของมัน ด้วยกำลังของมัน ถ้ามีกำลังนะ นี่จิตเห็นจิต จิตเห็นการเคลื่อนไหวไปของความรู้สึกนึกคิด นี่จิตเห็นจิต จิตเห็นจิตเป็นมรรคๆ มรรคมันเลื่อนตรงนี้ไง ถ้ามรรคมีการพิจารณาตรงนี้ไง ถ้ามรรคเกิดขึ้นมา ผลของมัน ผลของมันคือนิโรธ ผลของมันคือการฆ่ากิเลส ผลของมันก็คือความจริง

นี่ถ้าพิจารณาอย่างนี้ พิจารณาแบบหลวงปู่ดูลย์ ไม่ใช่ไม่มีเหตุมีผลเลย ตอนนี้คิดกันไปนะ ดูเป็นความว่าง คือเอาสสาร เอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ไม่ใช่กิเลส แล้วเอามาเทียบเคียงว่าสิ่งนั้นกระทบกับสิ่งนี้ สิ่งนั้นแปรปรวนกับสิ่งนั้น แล้วกิเลสมันตายไป ไม่มีหรอก ไม่มี ไม่มีเพราะอะไร? เพราะเขาไม่รู้จักกิเลส เขาไม่เคยเห็นหน้ากิเลส เขาไม่รู้จักกิเลส คนไม่รู้จักกิเลสจะฆ่ากิเลสได้ไหม?

เราเข้าใจกิเลสกันตามชื่อ ตามในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชำระล้างกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา ถ้าเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา ท่านจะรู้จักกิเลส ท่านชำระล้างกิเลส ท่านถึงเข้าใจกิเลสตามความเป็นจริง ฉะนั้น เวลาท่านวางธรรมและวินัยไว้ให้เราศึกษา ศึกษาเป็นกิริยาของใจ เป็นวิธีการ ถ้าวิธีการมันมีแต่ชื่อๆๆ

นี่คำว่ากิเลสๆ พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมาเองว่ากิเลสคือความชั่วร้าย กิเลสคือพญามาร กิเลสคือทำความเสียหายให้เรา แต่รูป รส กลิ่น เสียงเป็นกิเลสจริงหรือ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับพระนะ

“รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากคือกิเลส”

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาเขาพูดกัน เวลาเขาพูด ถ้าเขาไม่รู้จักสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากอันนั้นเขาไม่เคยเห็น เขาถึงไปเอาศัพท์ไง เอาศัพท์สิ่งที่ว่า นี่สิ่งนั้นชนกับสิ่งนี้ สิ่งนี้ไปรู้กับสิ่งนั้น มันไม่ใช่เอาเรื่องกิเลสมาพิจารณาเลย ไปเอาเรื่องสิ่งที่เป็นวิธีการต่างๆ มาพิจารณาของเขา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วพิจารณากายแบบหลวงปู่ดูลย์

ตอบ : นี่อธิบายแล้วพิจารณากายแบบหลวงปู่ดูลย์ ทีนี้หลวงปู่ดูลย์พิจารณากายแบบนี้ ท่านบอกพิจารณากายโดยที่ไม่ต้องเห็นกาย พิจารณากายโดยใช้ปัญญา นี้คือปัญญาวิมุตติ แต่ถ้าเป็นหลวงปู่ตื้อ เห็นไหม หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ นี่พิจารณากายโดยเห็นกาย พิจารณากายโดยเห็นกายเป็นเจโตวิมุตติ เป็นเจโตวิมุตติคือพิจารณากายโดยทางของพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะทำสมาธิมาก่อน ทำสมาธิสงบแล้ว แล้วออกพิจารณา ออกพิจารณาจะเห็นตามความเป็นจริง

แต่เวลาปัญญาวิมุตติเป็นปฏิบัติในแนวทางของพระสารีบุตร พระสารีบุตรมีปัญญามาก นี่ทำสิ่งใดจะใช้ปัญญาไตร่ตรองตลอด นี่ถ้าเป็นมรรค ๘ ก็ปัญญาเป็นตัวนำ แต่เวลาเจโตวิมุตติเป็นมรรค ๘ เหมือนกัน แต่เป็นสมาธินำ เพราะมีสมาธิเป็นหลักถึงเป็นเจโตวิมุตติ เพราะมีฤทธิ์ มีเดชใช้กำลังของจิต แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติจะใช้ปัญญาไป พิจารณากายเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน อริยสัจ ๔ ไม่เหมือนกัน ถ้าความไม่เหมือนกันมันเป็นไปตามอำนาจวาสนาของคน แล้วถ้าเราทำของเราก็แล้วแต่ ทำอย่างไรให้เป็นความจริงมันก็จะเป็นความจริงแบบนั้น

ถาม : ๒. ผมนั่งไปสักพักหนึ่ง แล้วเห็นแสงสีขาว นั่นคืออะไรครับ และเกิดจากอะไร? มีผลอย่างไรครับ

ตอบ : เรานั่งไปสักพักหนึ่ง คนนั่งนะ ถ้านั่งกำหนดอานาปานสติหรือนั่งกำหนดพุทโธ ถ้าจิตมันสงบ ส่วนใหญ่แล้วพอจิตมันสงบแล้วมันจะสงบไปเฉยๆ แต่เวลาจิตสงบแล้วคนไม่รู้ว่าสงบ คำว่าจิตสงบนะ เพราะจิตมันละเอียด พอจิตมันละเอียด คนเรานี่หยาบ คนหยาบจะไม่รู้หรอกว่ามรรยาทสังคมที่ชาววังเขาทำอย่างไรกัน จิตเวลามันหยาบๆ มันอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกเคย พอจิตมันละเอียดเข้าไปนี่งงนะ เอ๊ะ มันเป็นอย่างไร? เอ๊ะ สมาธิเป็นอย่างไร? ทั้งๆ ที่มันสงบมันไม่รู้ว่าสงบนะมึง แต่ถ้าไม่สงบนี่รู้ ไม่สงบนี่รู้ แต่ถ้าสงบไม่รู้ว่าสงบหรอก

ฉะนั้น ถ้าจิตมันสงบเข้าไป มันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป ถ้าเรามีสติพร้อมไปๆ มันจะรู้ว่าจิตสงบเป็นแบบนี้ นี่สงบโดยปกติ แล้วถ้าเราทำขึ้นมานี่มีสติมากขึ้น สติ มหาสติขึ้นไป ดีขึ้นไปมันจะสงบเข้าไปเรื่อยๆ แล้วถ้ามันออกมาเราจะมีความสุข มีความชื่นใจมาก แต่ส่วนน้อย ส่วนน้อยที่พอพุทโธ พุทโธ ใช้อานาปานสติจิตสงบแล้วมันจะออกรู้ ออกรู้

ฉะนั้น ถ้าจิตสงบแล้วเห็นแสง เห็นไหม เห็นแสงสีขาว ถ้าเห็นสีขาว เห็นแสงสีใด เห็นแสง เรานั่งอยู่นี่เราลืมตาสิเห็นแสงพระอาทิตย์ไหม? นี่เวลาอรุณขึ้นเห็นแสงไหม? ก็เห็นแสง เห็นแสงแล้วมันเป็นอะไรล่ะ? เห็นแสงก็ให้ความสว่างกับเราไง ให้ความอบอุ่นกับเราไง แล้วเราไปตื่นเต้นอะไรกับแสงล่ะ? จิตสงบ พอจิตสงบแล้วถ้ามันเห็นแสง เห็นแสงต่างๆ เห็นก็จิตเราเห็นไง พอจิตเราเห็นแล้วกลับมาที่จิต คือกลับมาที่เรามันก็จบหมด ทีนี้พอไปเห็นแสง อ้าว เห็นแสง แสงคืออะไร? แสงมาจากไหน? แสงมีคุณสมบัติอะไร? ส่งไปแล้ว

เห็นแสงก็คือเห็นแสง ก็แล้วกันไป เห็นแล้วก็วางไว้ กินข้าว แม้แต่กินข้าวเสร็จแล้ว นี่ล้างถ้วยล้างจานเก็บหมดแล้ว เมื่อกี้กินอะไร? อ้าว แล้วมันกินอะไรล่ะ? เมื่อกี้กินอะไร? ใครตักอะไรก็ได้กินไอ้นั่นไง ใครตักน้ำพริกก็ได้น้ำพริก ใครตักขาหมูก็ได้ขาหมู อ้าว กินแล้วก็จบไง เมื่อกี้กินข้าวเสร็จแล้วนะ พอนั่งกินกัน เอ๊ะ เมื่อกี้เอ็งกินอะไร? ไอ้นั่นบอกกินน้ำพริก อ้าว ไอ้นี่กินแกงจืด อ้าว กินแล้วก็กินแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ไปวิตกวิจารไง กินไปแล้ว กินเพื่อดำรงชีวิต อาหาร สิ่งมีชีวิตต้องมีอาหาร เรากินอาหารไปเพื่อดำรงชีวิตของเราก็จบ ถ้าจิตมันเห็นแสง เห็นแสงมันก็เป็นคุณสมบัติของจิตที่เห็น ถ้าคุณสมบัติที่จิตที่เห็นแล้วมันจะเป็นประโยชน์อะไรกับเราล่ะ? มันเป็นประโยชน์การบอกว่าจิตนี้มันพัฒนาขึ้นมา แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรไปมากกว่านี้ไหม? ประโยชน์ไปมากกว่านี้ ถ้าเราไปติดมันเป็นโทษ เป็นโทษเพราะว่าเรานั่งสมาธิเพื่อความสงบของใจ เราไม่ใช่นั่งสมาธิเพื่อเอาแสง

ทีนี้ถ้าไม่เอาแสง แล้วมันเห็นแสงทำไมล่ะ? ทำไมเห็นแสง? มันเห็นแสงเพราะคุณสมบัติของจิตมันเป็นแบบนั้น คุณสมบัติของจิตนะเขาเรียกว่ากรรม ถ้าพันธุกรรมของจิต จิตของใครสร้างมาอย่างใด มันจะมีคุณสมบัติอย่างนั้น อย่างเช่นคนโทสจริตก็จะมีความโกรธเป็นพื้นฐาน คนโลภะจริตก็มีความหลงเป็นพื้นฐาน

นี่มันมีพื้นฐานของมัน ถ้าพื้นฐานของมัน พอจิตสงบแล้วมันก็แสดงตัวตามนั้น นี่พื้นฐานใช่ไหม? พื้นฐานส่วนพื้นฐาน แต่การพัฒนาของจิตล่ะ? ถ้าจิตมันจะพัฒนาเราจะต้องพัฒนาจากพื้นฐานนี้ขึ้นไป ฉะนั้น เราต้องวางพื้นฐานนี้ อย่าไปติดที่พื้นฐานนี้ จิตมันก็จะพัฒนาขึ้นไป แต่ถ้าเราจะติดที่พื้นฐานนี้เราก็ไม่พัฒนา

ฉะนั้น สิ่งที่เห็นก็คือเห็น แต่ธรรมดานะ คนเห็นใหม่ๆ มันจะทึ่ง มันจะมหัศจรรย์ไง เหมือนคนไม่เคยมี พอมีสตางค์ขึ้นมาหน่อยนี่แหม แหมเลยนะ แต่ถ้าพอมีมากๆ ขึ้นไปแล้วมันเป็นเรื่องปกตินะ เราจะบอกว่าถ้าใครจะเห็นแสง เห็นต่างๆ ถ้าเห็นแล้วก็คือสิ่งที่แล้วกันไป เป็นอดีตวางไว้ ไม่ไปตื่นเต้น ไม่ไปรับรู้สิ่งนั้น ถ้าไม่ไปรับรู้ แล้วทำไมมันรู้ล่ะ? ไม่ไปรับรู้คือไม่ไปยึดไง นี่มันผ่านมาแล้วก็คือผ่านมาแล้ว เราทำปกตินี้ จิตสงบที่เห็นแสง คุณสมบัติมันจะบอกว่าจิตนี้มันไปรู้ ไปเห็นไง

นี่เห็นแสงโดยมีสตินะ มีสติสัมปชัญญะพร้อม แต่ถ้าเราขาดสติ คนใบ้บ้านะ คนที่เสียสติไป นี่เขาก็เห็นแสงเหมือนกัน เห็นแสงแต่เพราะเขาขาดสติ พอขาดสติเขาไม่มีการควบคุม แล้วถ้าเกิดความตกใจ เกิดต่างๆ นี่เราจะบอกว่าเห็นแสงนี้เป็นคุณสมบัติของจิต เป็นต่างๆ ไอ้คนที่เขาภาวนาไป นี่ไอ้ที่เห็นแสงๆ อยู่ในโรงพยาบาลศรีธัญญาเยอะแยะเลย หลวงพ่อทำไมไม่พูดถึงตรงนั้นล่ะ?

นี่ไอ้พูดถึงตรงนั้น ตรงนั้นเพราะเขาขาดสติ เขาขาดสติแล้วเขาแบบว่าจิตของคนนะ จิตที่เวียนตายเวียนเกิด จิตที่มันท่องเที่ยว จิตของคนมันมีพื้นฐานของเขามาอย่างนั้น พื้นฐานคือว่าจิตนี่ บางคนจิตไม่ปกติมาตั้งแต่ต้น จะมีความวิตกกังวล จะมีต่างๆ มามาก แล้วถ้าเขาไม่ดูแลรักษามันจะไปลงเอยกันตรงนั้นแหละ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรามันไม่ลงเอยแบบนั้น เพราะสติมันควบคุมให้จิตนี้เป็นปกติ ถ้าจิตเป็นปกติแล้วจิตมันจะเป็นแบบนั้นได้อย่างไร? แต่ถ้ามันขาดสติ พอขาดสติมันเห็นอย่างนั้นมันตกใจ มันตกใจ มันกระเพื่อม มันไปแบบไร้ขอบเขตมันถึงเป็นแบบนั้น

นี่สติสำคัญมาก สติมันจะรักษาใจเราให้เป็นปกติไง พอปกติมันก็รักษาตัวมัน ถ้ามีสติรักษาจิตเป็นปกติมันจะเป็นอย่างอื่นไปได้ไหม? ไม่ได้หรอก แต่ถ้าแบบว่าไปติดมัน ไปติดว่าจะต้องภาวนาแล้วถ้าไม่เห็นแสงก็คือไม่ใช่ภาวนา ถ้าจิตมันจะสงบมันต้องเห็นแสงก่อน นี่ไม่เกี่ยวเลย ไม่เกี่ยว พอสงบไปเฉยๆ ถ้าบางคนเห็นแสง เอ็งมีอุปสรรคอย่างใดเอ็งก็แก้ไขไปตามนั้น คือสิ่งที่รู้ที่เห็นมันต้องแก้ไข เหมือนเราไปในซอยนี้เพื่อจะเข้าบ้านเรา เราต้องผ่านซอย ผ่านบ้านคนอื่นแตกต่างมหาศาลเลยถึงจะไปถึงบ้านของเรา เราจะเข้าบ้านให้ถูกเราก็เข้าบ้านเรา อย่าไปเข้าบ้านคนอื่น

นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันจะเข้าสู่สมาธิมันก็เข้าสู่ฐานของจิต ฐีติจิตของตัวเอง มันไม่ไปปลีกแวะที่ไหน ถ้าไม่ปลีกแวะที่ไหนนะ สิ่งที่รับรู้นี่วางไว้หมดมันก็จบ นี่พูดถึงการเห็นแสง

ถาม : ๓. หลวงพ่อคะ ทำไมเวลาคนไปบนเจ้าที่ เจ้าทางแล้วไม่ไปแก้บน ถึงได้มีเหตุที่ทำให้ป่วยหรือมีอันเป็นไป มันเป็นจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นแค่อุปาทานเอง

ตอบ : เราจะบอกว่าเป็นแค่อุปาทานเอง ฉะนั้น สิ่งที่เป็นแค่อุปาทานเองเพราะไปบนเพราะอะไรล่ะ? เราไปบนเพราะว่าเราอยากได้ เราไปติดสินบนเขาเอง พอเราไปติดสินบนเขาเสร็จแล้ว พอได้อะไรมาหรือไม่ได้อะไรมาเราก็นิวรณธรรมไง คือเกิดความสงสัย เกิดความสงสัยสนเท่ห์ แล้วพอมีสิ่งใดมาก็โทษตรงนั้นเลยแหละ แต่เราเป็นชาวพุทธนะ เราไม่ต้องบนหรอก เราไม่ต้องไปบน ไปศาลกล่าวกับใคร เราตั้งใจของเรา เราตั้งอธิษฐานบารมี เราอยากทำคุณงามความดีของเรา เราตั้งสัจจะของเรา แล้วเราทำตามหน้าที่ของเราไป

ฉะนั้น คนที่เวลาเขาไปบนแล้ว ไปบนแล้วเขาไม่ได้แก้บนเขาจะมีเหตุการณ์เจ็บไข้ได้ป่วย นี่การป่วยในพระไตรปิฎกว่าการป่วยมีอยู่ ๓ ทาง

๑. การป่วยโดยร่างกายมันเจ็บไข้ได้ป่วยธรรมดา

๒. การป่วยโดยกรรม

๓. การป่วยโดยอุปาทาน

คนอุปาทาน คนเครียด คนวิตกกังวล นี่คิดว่าเป็นโรคอะไรมันก็จะเป็นอย่างนั้นได้ แต่เวลาป่วยโดยข้อเท็จจริง นี่ร่างกายมันเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา ถ้ามันเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา นี่ทางการแพทย์เขาก็ดูแลรักษาของเขาไป นี่การป่วย ในพระไตรปิฎกบอกไว้ว่าคนป่วยเป็นได้ ๓ ทาง ทางหนึ่งคือเจ็บไข้ได้ป่วยตามความเป็นจริงคือมันเสื่อมสภาพ สองเรื่องเวรเรื่องกรรม สามอุปาทานคนให้เป็นไปได้

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ามันป่วยจริงล่ะ? ถ้ามันป่วยนะ พอจิตเรามีอย่างนี้ปั๊บมันก็เป็นอุปาทาน พออุปาทานมันก็ไปย้ำตรงนั้นว่านี่เราไปบนแล้วเราไม่ได้แก้บนอะไรต่างๆ ก็ว่ากันไป แล้วสิ่งที่ว่าหนึ่งเราจะไม่ไปบนบานศาลกล่าวสิ่งใดอยู่แล้ว เพราะ เพราะมนุษย์มีคุณค่ามากกว่าจิตวิญญาณใดๆ ทั้งสิ้น เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้เชื่ออะไรเลย ให้เชื่อการประพฤติปฏิบัติของเรา ให้เชื่อธรรม

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

ฉะนั้น เราทำสิ่งใดจริง ทำสิ่งใดเป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์ ถ้าทำสิ่งใดเป็นโทษมันก็เป็นเวรเป็นกรรมของเรา ถ้าเราทำจริงของเรานะ ฉะนั้น เวลาเราเข้าถึงจนตรอกจนมุมนะเราก็บน บนบานศาลกล่าว บนบานศาลกล่าวนั่นเป็นเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าเวลาเรากราบพระ กราบเจ้า เห็นไหม เราอธิษฐานบารมี

เวลาพระโพธิสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอธิษฐานว่าจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปในอนาคต นี่อธิษฐานบารมี บารมีสิบทัศ เราตั้งเป้าหมายชีวิตเรามันไม่ใช่การบน เราตั้งเป้าหมายชีวิต เราตั้งเป้าหมายในการประพฤติปฏิบัติ เราตั้งเป้าหมายอยากได้มรรค ผล อย่างนี้ไม่ใช่การบน อย่างนี้เป็นเป้าหมาย เป็นอธิษฐานบารมี บารมีสิบทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราตั้งเป้าหมาย แล้วเราพยายามทำถึงเป้าหมายของเรา เวลาเรากราบพระๆ เราก็ตั้ง นี่มีคำถามข้างหน้าเขาบอกว่า “ปรารถนานิพพานก็ไม่ได้ เป็นเวรเป็นกรรม” โอ้โฮ เรางงเลยนะ

นี่เวลาชาวพุทธเราไปเชื่อ ไปเชื่อการประชาสัมพันธ์ของที่ต่างๆ ไป เขาประชาสัมพันธ์ ใครคิดมุขใดได้เขาก็พูดไปตามมุขของเขานั่นแหละ แล้วไอ้เราชาวพุทธนะเห็นพระพูดก็เชื่อเนาะ โอ๋ย พระพูดก็ต้องจริงเนาะ ไอ้นั่นมันเป็นมุขของเขา มุขของเขา เขาพูดอะไรให้เราเชื่อ ความจริง เห็นไหม ไม่เชื่ออะไรเลย ให้เชื่อธรรม ให้เชื่อสัจจะความจริง

ฉะนั้น

ถาม : ทำไมเวลาคนไปบนกับเจ้าที่ เจ้าทางแล้วไม่แก้บนถึงมีเหตุนั้นๆ เจ็บไข้ได้ป่วย มันเป็นจริงหรือไม่?

ตอบ : ถ้าเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นทางที่เขาเป็นพวกมีอาชีพด้วยกันเขาก็บอกว่า ถ้าเจ้าที่ไหนเขาขลังมันก็จะเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเจ้าที่ไหนเขาไม่ขลังมันก็เลยไม่เป็น อ้าว ก็ไปโทษที่ขลัง ไม่ขลังกันไปอีก เจ็บไข้ได้ป่วยเราเจ็บไข้ได้ป่วยของเราอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้ไปเริ่มต้นที่ไหน เราไม่ต้องไปตกใจกับสิ่งใดเลย

ฉะนั้น ไปบนสิ่งใด ทำไมต้องไปบนด้วยล่ะ? เราไม่ไปบน คำว่าไปบนคือการไปยอมรับ เห็นไหม เวลาใครเจ็บไข้ได้ป่วยเขาบอกว่าต้องไปรับขันธ์ ๕ รับขันธ์ ๕ รับขันธ์ ๕ คือการยอมรับให้ประทับทรง แล้วเรา จิตเราเราก็ทุกข์ยากอยู่ขนาดนี้แล้ว ยังต้องให้ใครมาประทับร่างเราอีก แล้วถ้าจิตใจคนเข้มแข็งเขาประทับไม่ได้หรอก สิ่งนี้เป็นไสยศาสตร์ ถ้าเป็นพุทธศาสนาไม่เชื่ออย่างนั้น ถ้าเป็นชาวพุทธนะเชื่อนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่ขาดจากการเป็นพุทธมามกะ

เวลาชาวพุทธๆ เขาต้องให้อธิษฐานให้เป็นพุทธมามกะ แต่ถ้าเป็นพระ เป็นเณรนะ ถ้าไม่เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขาดจากไตรสรณคมน์ ขาดจากไตรสรณคมน์คือขาดจากสามเณร สามเณรเขาให้ถือไตรสรณคมน์ ให้เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระนี่บวชเป็นสามเณรแล้ว อุปสมบทเป็นพระขึ้นมา ถ้าเป็นพระขึ้นมา เรื่องนี้นะไม่มีใครเชื่อเลย ไม่มีใครเชื่อเลย

แต่ แต่ในปัจจุบันนี้พระเข้าทรงกันเองนะ พระเข้าทรงกันเองเลยล่ะ แล้วพระเป็นพระไหม? เพราะอย่างนี้ถึงทำให้ประชาชนสับสน แต่ถ้าเป็นพระแล้วทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะอะไร? เพราะให้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรมคือสัจธรรม อริยสัจ สัจจะ แล้วถ้าไปเชื่ออย่างนั้น เชื่อการประทับทรง เชื่อภูต ผี ปิศาจใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ นี่เป็นเพราะคำถามมา เราไม่อยากพูดมากเกินไปกว่านี้ เดี๋ยวเขาจะหาว่าพระติเตียนพระด้วยกันเอง เอวัง