ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ในพุทธวจนะ

๑๙ ม.ค. ๒๕๕๖

 

ในพุทธวจนะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๔๕. เนาะ

ถาม : ๑๒๔๕. เรื่อง “สงสัยในข้อปฏิบัติครับ”

ก่อนอื่นผมกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาตอบข้อสงสัยที่เคยถามในหัวข้อ “วางอย่างใดคือวาง” ครับ วันนี้ผมอยากกราบขอโอกาสพระอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง ขอพระอาจารย์ช่วยแนะนำสั่งสอน ชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติธรรมครับ แต่เดิมผมนับถือศาสนาแค่เพราะทำตามผู้ใหญ่ จุดเปลี่ยนของความคิดจริงๆ เกิดเมื่อราว ๔ ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสบวชแทนบุญคุณพ่อแม่เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะต้องจากบ้านมาเรียนต่อต่างประเทศ

ผมไม่เคยแม้แต่บวชเณรมาก่อน คงเป็นวาสนาของผมที่เพื่อนบ้านที่สนิทกันได้ฝากฝังผมกับหลวงพ่อรูปหนึ่ง ท่านช่วยสั่งสอน ท่านให้ข้อคิดหลายๆ อย่างที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน โดยรวมคือท่านสอนว่า “คนเราเกิดมาเพื่อหาความสุข” แล้วท่านก็สอนถึงความสุขแบบต่างๆ ที่คนเราต้องการ แล้วท่านก็ชี้แจงให้เห็นว่าแท้จริงความสุขเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งยั่งยืน ท่านสอนถึงไตรลักษณ์ อริยสัจ ๔ และทิ้งประเด็นให้คิดว่าอะไรคือสุขแท้ ท่านเน้นความสำคัญจริงๆ ของการใช้ชีวิตอยู่ที่การวางใจให้ถูก สิ่งที่ท่านสอนแปลกใหม่และน่าสนใจ ผมจึงจำฝังใจเสมอมา แต่ตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจจริงๆ เท่าไร

ขณะที่บวชอยู่ผมมีโอกาสได้ทำวัตรเช้าและนั่งสมาธิ ผมไม่เคยนั่งสมาธิจริงจังมาก่อน แต่วันหนึ่งขณะนั่งสมาธิประจำวัน ดูลมหายใจ ผมรู้สึกว่าจิตเกิดสงบขึ้นมา มีอาการเหมือนใจแยกออกห่างจากอารมณ์ ขณะนั้นผมเห็นความคิดต่างๆ ผุดขึ้นมาเอง และดับไปเอง หลังจากวันนั้นก็เลยเชื่อว่าไตรลักษณ์มีจริง อริยสัจ ๔ ก็มีจริงๆ ดังนั้นธรรมะข้ออื่นๆ ก็คงเป็นเรื่องจริง ทำให้ผมสนใจศึกษาข้อธรรมต่างๆ และวิธีปฏิบัติธรรมเพิ่มเติมมาตลอด

ผมเป็นคนชอบคิด ปัจจุบันนี้ผมนั่งสมาธิประจำวันโดยใช้หลักหลวงพ่อตามที่เคยอ่านมา คือปล่อยใจให้คิด แต่เราตามรู้ไปเรื่อยๆ ก็เห็นว่าความคิดบางอย่างเกิดขึ้นมาเอง ความคิดบางอย่างเกิดเพราะเราตั้งใจให้เกิด ทำแบบนี้ก็เกิดสภาวะใจแยกจากอารมณ์แบบตอนบวชได้บ่อยๆ เมื่อใจสงบแล้วผมก็ยกเรื่องที่ตั้งใจว่าจะพิจารณาในวันนั้นขึ้นมาพิจารณา ผมเข้าใจว่านี่คงเป็นสมาธิ แต่ก็คงเป็นเพียงแค่ขั้นต้นๆ ผมเข้าใจว่าการได้สมาธิที่ลึกกว่านี้จะยิ่งส่งผลดีต่อการปฏิบัติ จึงอยากขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดสมาธิขั้นที่ลึกไปกว่านี้ หรือในที่สุดทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้

นอกจากเฝ้าดูความคิด ระยะหลังนี้ผมเริ่มดูสิ่งอื่นเพิ่มเติม สิ่งที่ชอบดูมากคืออาการของใจ ปกติในชีวิตประจำวันผมจะรู้ว่าวันนี้เกิดอารมณ์ด้านลบ เช่นโกรธ หงุดหงิด หรือทุกข์ใจเพราะเรื่องอะไรบ้าง ขณะที่เกิดอารมณ์พวกนั้นก็พยายามห้ามตัวเองอย่าให้ทำอะไรแย่ๆ ออกไป ซึ่งก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่จะจำได้เสมอว่าอารมณ์เหล่านั้นเกิดเมื่อมีเรื่องอะไรมากระทบ เมื่อกลับถึงบ้านก็จะทำความสงบใจ เมื่อใจสงบลงบ้างแล้วก็จะยกเรื่องนั้นขึ้นมาพิจารณาเพื่อหาว่าผมวางใจต่อ หรือเรื่องที่มากระทบผิดไปอย่างไร

บางครั้งก็ได้ข้อสรุปว่าเราทุกข์เพราะเราอยากได้สิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบเราเป็นอย่างที่ใจเราชอบ สิ่งที่เราต้องการขัดแย้งกับความจริงเราจึงทุกข์ แต่ถึงจะเข้าใจแบบนี้ แต่บางทีพอเจอเรื่องเดิมๆ มันก็ยังเกิดหงุดหงิดขึ้นมาอยู่บ้าง ถึงจะไม่มาก ไม่นานเท่าแต่ก่อน แต่ก็ยังหงุดหงิด ผมควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไปจึงจะไม่ต้องหงุดหงิดครับ

ปัญหาอีกข้อที่ผมเจออยู่คือนั่งสมาธิไม่ทน นั่งไปราวๆ ครึ่งชั่วโมงก็จะเกิดปวดขา ไม่ไหว ใจก็เอาแต่ฟุ้ง พิจารณาอย่างไรไม่ได้เลย ก็เลยต้องออกจากสมาธิทุกที จึงอยากทราบว่าวิธีการแก้ไขอย่างไร และพิจารณาทุกขเวทนาทางกายอย่างไรครับ

ตอบ : คำถามคือ “สงสัยในข้อปฏิบัติ”

นี่เริ่มสงสัย คนเรานะถ้าใช้ชีวิตโดยประจำวัน ก็ใช้ชีวิตประจำวันของเราไป แล้วเวลาเรามีการศึกษา พอมีการศึกษาขึ้นมา เราศึกษาแล้วมันเป็นวิทยาศาสตร์ พอเป็นวิทยาศาสตร์แล้วเราจะโต้แย้งไง เขาบอกวิทยาศาสตร์กับธรรมะมันจะขัดแย้งๆ กันตลอด ถ้าวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์ๆ เพราะวิทยาศาสตร์มีที่มาที่ไป เพราะใครศึกษาทางวิทยาศาสตร์แล้วก็เชื่อมั่น แล้วพอพิจารณาเรื่องธรรมะ ธรรมะนี่เลื่อนลอย ธรรมะนี่ไม่มีที่มาที่ไป ธรรมะนี่เป็นศรัทธาอย่างเดียว

นี่ความคิดของเราส่วนใหญ่จะคิดกันแบบนั้น แต่จริงๆ คนปฏิบัติแล้วธรรมะลึกซึ้งกว่าวิทยาศาสตร์ แล้วมีที่มาที่ไปชัดเจนกว่า มีที่มาที่ไปชัดเจนกว่า วิทยาศาสตร์พิจารณาได้แต่ในเรื่องสสาร เรื่องสิ่งที่พิสูจน์ได้ทางทฤษฎี ทางที่เราพิสูจน์ เรารู้ เราเห็น แต่วิทยาศาสตร์ยังเจริญก้าวหน้าไปกว่านี้อีกเยอะ สิ่งที่เรายังคิดไม่ได้ ยังคิดต่างๆ มันยังมีของมันอยู่ สิ่งที่มีอยู่มันมีของมันอยู่ แต่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกธรรมะมีอยู่ ธรรมะมีอยู่ไง

พอธรรมะมีอยู่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม นี่เวลาเจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาก็บอกเขาเป็นศาสดาเหมือนกัน เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่ขนาดเจ้าชายสิทธัตถะยังไม่เชื่อเลย เพราะอะไร? เพราะศึกษาจบกระบวนการของเขาแล้ว แต่เจ้าชายสิทธัตถะก็ยังมีความทุกข์อยู่ในใจ เวลาเจ้าชายสิทธัตถะมาปฏิบัติของเจ้าชายสิทธัตถะเอง พอจิตสงบเข้าไป นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ วิชชา ๓ ทำลายอวิชชาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว นี่ก็เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นพุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทางพุทธ วิทยาศาสตร์ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

ทีนี้เราเรียนวิทยาศาสตร์กัน วิทยาศาสตร์ทางทฤษฎีไง วิทยาศาสตร์ทางปริยัติไง วิทยาศาสตร์ทางโลกไง แต่ถ้าเราปฏิบัติเข้าไปมันก็เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่วิทยาศาสตร์มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกที่คนรู้ได้ วิทยาศาสตร์นะ ดูไอน์สไตน์ ทฤษฎีสัมพัทธภาพของเขา แบบว่าขณะที่เขาพิสูจน์ได้ เขารู้ของเขาได้ตามความเป็นจริง แต่การพิสูจน์ต้องพิสูจน์มาเมื่อไอน์สไตน์ตายไปแล้วถึงจะพิสูจน์กันได้ เพราะเครื่องมือมันยังไม่มีไง วิทยาศาสตร์ที่ไอน์สไตน์เขาวางไว้ แบบว่าค้นคว้าแล้วเราพิสูจน์กัน

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก แล้วพิสูจน์พิสูจน์ทางไหนล่ะ? เวลาพิสูจน์ขึ้นมา พิสูจน์ขึ้นมาโดยปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์มา ๕ องค์ ยสะอีก ๖๐ องค์ นี่ก็พิสูจน์กันไง พิสูจน์กันความจริง แต่พิสูจน์แล้ว พิสูจน์มาเวลามันทำได้ทำได้อย่างนั้น แต่เวลาพวกเรานี่เราศึกษาทางวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องธรรมะเราอยากพิสูจน์ เราศึกษาได้ เราเข้าใจได้ ศึกษา ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคเราเรียนจบหมดแหละ แต่เวลาปฏิบัติมันไม่ได้ พอปฏิบัติไม่ได้มันจะพิสูจน์กันอย่างไรล่ะ?

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาเรามีปัญญาขึ้นมาเราก็คิดของเราว่าเป็นแบบนั้น เป็นแบบนั้นใช่ไหม? ฉะนั้น เวลาทางโลกมันถึงว่าขัดแย้งกันๆ ความจริงไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่ขัดแย้งเพราะกิเลสมันทำให้ขัดแย้ง ขัดแย้งเพราะคนๆ นั้นขัดแย้ง เพราะความสงสัยไง ความสงสัย ความวิตกกังวลในใจมันพาให้ขัดแย้ง พอขัดแย้ง ถ้ามีความเชื่อปั๊บมัน จะเข้ามานี่แล้ว

พอความเชื่อ เริ่มต้นก่อนจะไปเมืองนอกไปศึกษากับพระองค์หนึ่ง ถ้าพระนี่พระเขาสอนตามหลักวิชาการ ถ้าวิชาการเราก็คิดได้ นี่ทางวิชาการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไอน์สไตน์บอกไว้ทฤษฎีสัมพัทธภาพใครก็พูดได้ แต่เวลาจะพิสูจน์กันต้องมีเครื่องมือนะ นี่บิกแบงต่างๆ ที่เขาเอาอนุภาคกับอนุภาคชนกันนั่นน่ะ ต้องสร้างเครื่องมือขึ้นมา เร่งอนุภาคขึ้นมาให้มันชนกัน ให้มันเกิดปรากฏการณ์ขึ้นมา ให้เห็นว่าจริงหรือเปล่า

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้ว นี่จิตสงบจริงหรือเปล่า? เวลาเกิดมรรคญาณจริงหรือเปล่า? ถ้าพิสูจน์มันพิสูจน์จากหัวใจไง ฉะนั้น เวลาพระเขาเสนอทฤษฎีมา เราไปบวชกับเขา แล้วเขาเสนอมา นั่นน่ะอย่างนั้นทำให้เราได้คิดไง พอเราได้คิดขึ้นมาเราก็อยากพิสูจน์ พอพิสูจน์ขึ้นมาก็มีการปฏิบัติ

ฉะนั้น เราปฏิบัติไป อย่างเช่นที่บอกว่า

ถาม : เวลาเรานั่งปฏิบัติไป ทำวัตรเสร็จแล้วนั่งปฏิบัติไปมันมีอาการเหมือนใจแยกห่างออกจากอารมณ์

ตอบ : ใจแยกห่างจากอารมณ์มันเริ่มรู้ เริ่มเห็น ถ้าจิตมันจะสงบนะมันจะมีอาการของมันแปลกๆ ไปอย่างนั้นแหละ อาการว่าแปลกๆ แปลกๆ ไม่ใช่เข้าโรงพยาบาลศรีธัญญานะ มีอาการแปลกๆ แล้วก็ส่งโรงพยาบาล ไอ้แปลกๆ อย่างนั้น แปลกๆ อย่างนั้นขาดสติ ขาดสติ เห็นไหม ต้องให้คนอื่นเป็นคนบอกว่าเรานี่ปกติหรือไม่ปกติ ต้องให้หมอเป็นคนวินิจฉัย

แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา ปัจจัตตัง สติปัญญาเราเป็นคนพิสูจน์ สติปัญญาของเรา สติของเรา จิตของเรา ความรู้สึกของเรามันพิสูจน์ อาการที่มันแยกออกจากอารมณ์ ใจที่แยกออกจากอารมณ์เรารู้ของเรา นี่แยกจากอารมณ์เราก็รู้แล้ว มันเริ่มปล่อย มันเริ่มมีระยะห่าง มีต่างๆ คนเรามีสติ มีสัมปชัญญะ จะทำสิ่งใด จะคิดสิ่งใดมันก็ไม่วู่วาม ไม่วู่วาม ไม่ไปตามอารมณ์ เพราะเรามีสติปัญญาทันความคิดเรา

นี่ทันความคิดเรามันแค่รู้เท่า จากที่เมื่อก่อนอารมณ์เป็นเรา ทุกอย่างเป็นเราไปหมดเลย พอมันรู้เท่านี่ตามรู้ตามเห็น รู้ถึงความรู้สึกของเรา รู้เท่ารู้ทันของเรา รู้แจ้งแทงตลอดมันปล่อยหมดนะ ถ้ามันปล่อยหมด ปล่อยหมดอย่างนี้มันก็เข้ามาสมถะทั้งนั้นแหละ นี่วิธีการปฏิบัติทั้งหมดทุกวิธีการ ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือการปล่อยวาง ปล่อยวางเพราะจิตมันต้องปล่อยวางเป็นธรรมดา ถ้าจิตไม่ปล่อยวางเข้ามา เวลาเกิดภาวนามยปัญญาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ทำความสงบของใจ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำความสงบของใจด้วยการปฏิบัติอานาปานสติ

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ ทำไมปัญจวัคคีย์ไม่บอกว่าให้ทำอานาปานสติก่อนแล้วค่อยเทศน์ล่ะ? เพราะปัญจวัคคีย์เขาปฏิบัติของเขาอยู่ จิตของเขาสงบได้อยู่ แต่มันยังไม่มีทางวิชาการ ไม่มีความรู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เลย เพราะปัญจวัคคีย์ปฏิบัติกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๖ ปี ปฏิบัติอยู่ ทำความสงบของใจเข้ามามันมีความสงบอยู่ แล้วเวลาเทศน์ถึงวิชาการเข้าไป ก็พิจารณาเข้าไปมันก็เป็นผลขึ้นมา

ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติขึ้นมานะ เห็นว่าจิตมันวางเข้ามา นี่อาการมันเริ่มมีของมันขึ้นมา ฉะนั้น ทำให้เราเชื่อ เขาบอกให้เชื่อ เห็นไหม ถ้ามันเป็นไตรลักษณ์จริง นี่เขาพอเห็นอาการจริงๆ ก็เลยเริ่มมีความเชื่อว่าไตรลักษณ์มีจริง อริยสัจมีจริง ถ้ามีจริงมันก็เป็นไปได้ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติมา สิ่งนั้นปฏิบัติมาแล้วใช่ไหม พอในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันนี้เราไม่ใช่กำหนดพุทโธ เราไม่ใช่กำหนดต่างๆ เราใช้ตามความคิดไป ถ้าตามความคิดไปมันก็รู้เท่ารู้ทัน รู้เรื่อยมา มันรู้เห็นของมัน ก็เป็นความจริงของมันขึ้นมา ถ้าเป็นความจริง เป็นความจริงนี่เป็นปัจจัตตังนะ

เวลาคนปฏิบัติ เวลาคนปฏิบัตินะมันแบบว่าเราได้ประโยชน์ไง อย่างเช่นโดยทั่วไปหมอเขาจะบอกว่าให้คนนี่นะให้รู้จักการกินอาหาร รู้จักการออกกำลังกาย โรคภัยไข้เจ็บมันจะมีน้อย จิตใจของคน ถ้าคนปฏิบัติจิตจะเข้มแข็ง จิตใจจะแข็งแรง จิตใจที่แข็งแรงมันก็ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าจิตใจที่มันอ่อนแอ กระทบอะไรมันก็มีแต่ความรู้สึก มีแต่ความทุกข์ ประสบสิ่งใดก็มีแต่ความทุกข์ แต่เราฝึกหัดปฏิบัติของเรา เราฝึกสติของเรา เราใช้ทำสมาธิของเรา จิตใจมันได้ออกกำลังกาย มันได้ปฏิบัติของมันมันก็เข้มแข็ง พอเข้มแข็ง ไปเจอเชื้อโรค ไปเจอต่างๆ ถ้ามีภูมิต้านทานมันก็ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

นี่ก็เหมือนกัน ทีนี้เราปฏิบัติของเรา เราปฏิบัติของเราให้จิตใจเราแข็งแรง พอแข็งแรงมันเจออะไรกระทบปั๊บ มันก็ไม่ไหลไปตามอารมณ์นั้น ถ้าทำความสงบมากขึ้นมันก็เป็นปกติ คำว่าปกติ ดูคนเราสิ คนเราร่างกายแข็งแรง ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย พอหมดอายุขัยก็ต้องตาย จิตถ้าแข็งแรงขนาดไหน จิตมีหลักมีเกณฑ์ขนาดไหนมันก็เวียนตายเวียนเกิดทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น พอจิตมันแข็งแรงแล้วเราถึงจะฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาคือการฝึกหัด พอฝึกหัดใช้ปัญญามันจะเกิดมรรคญาณ มรรคคือมัคโคทางอันเอก ทางอันเอกคือการชำระล้างกิเลส พอชำระล้างกิเลสมันก็จะแก้ไขการเกิด การตายเลย ศาสนาพุทธสอนถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือไม่เกิด แต่เกิดมาแล้วพระพุทธเจ้ายังต้องนิพพานไป คนเกิดมามันมีเศษส่วน มีสิ่งที่เหลือ มีเวรมีกรรม บุคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐานมันมีของมันอยู่ ถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องทิ้งไป พอทิ้งไป ทิ้งไปก็ไปเวียนตายเวียนเกิดตามโลกเขา แต่ถ้าที่สุดแล้วมันทิ้งไปมันไม่เกิด นี่พอไม่เกิดมันก็จบ นี้หลักของศาสนา

ฉะนั้น หลักของศาสนา เราเกิดมาทางโลกเราต้องมีการศึกษาเพื่อเป็นความรู้ของเรา แล้วจะประกอบสัมมาอาชีวะอย่างใด พอประกอบสัมมาอาชีวะแล้ว เราจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อประโยชน์กับเรา ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติมามันก็ถูกต้อง ถูกต้องใช้ได้ ทีนี้ใช้ได้

ถาม : นี่ผมตรวจสอบการปฏิบัติ จึงขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ที่จะเกิดสมาธิลึกขึ้น พอเห็นประโยชน์ขึ้นมาแล้ว ถึงที่สุดแล้วอยากจะเข้าถึงอัปปนาสมาธิ

ตอบ : คำว่าอัปปนาสมาธินะ หลวงตาท่านพูดบ่อย “ถ้าคนไม่เคยเข้าอัปปนาสมาธิ คนไม่เคยรวมใหญ่ จะไม่รู้สึกว่าอาการรวมใหญ่เป็นแบบใด”

ในภาคปฏิบัติขึ้นมา แม้แต่สมาธิก็ยังไม่รู้ แล้วเวลาอัปปนาสมาธินี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ในปัจจุบันนี้พูดถึงว่ารวมใหญ่ทำได้ยากมาก ทำได้น้อยมาก หลวงตาท่านบอกว่าท่านศึกษาอยู่ ๗ ปี นี่ศึกษาอยู่ด้วย ปฏิบัติด้วย ใน ๗ ปีท่านเคยเป็นอย่างนี้ เป็นรวมใหญ่ เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นสักแต่ว่ารู้โดยปล่อยจนละเอียดเลย ๓ หน ๗ ปีได้ ๓ หน

คนที่มีอำนาจวาสนาขนาดนี้นะ นี่หลวงตาท่านเป็นผู้ที่มีอำนาจวาสนามาก เวลาท่านสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปแล้ว เวลาท่านเอาอำนาจวาสนาบารมีของท่านมาช่วยจรรโลงสังคม มาค้ำจุนประเทศ มาค้ำจุนสังคม คนไม่มีบารมีจะทำอย่างนี้ได้อย่างไร? ขนาดคนมีบารมีขนาดนี้นะ เวลาปฏิบัติ ๗ ปีเรียนหนังสืออยู่ด้วย ทำสมาธิได้แค่ ๓ หน สมาธิเข้าอัปปนาสมาธิ

ฉะนั้น อย่างของเรา อย่างผู้ถาม ผู้ถามถ้ามีบารมีมาก ถ้ามีบารมีมาก ทำนี่ก็ทำได้ แต่ถ้ามันไม่มีบารมี หรือว่าทำแล้วมันไม่เข้าถึงอัปปนาสมาธิ เราทำสมาธิ สัมมาสมาธิแล้วใช้ปัญญาพิจารณาของเราไป มันไม่เข้าถึงตรงนี้ก็ได้ คำว่าเข้าอัปปนาสมาธิ นี่ชื่อว่าอัปปนาสมาธิ แต่เวลาคนทำ จิตมันเข้าไปขณิกะมันก็คิดว่าเป็นอัปปนาสมาธิ คนนอนหลับมันก็คิดว่ามันเป็นอัปปนาสมาธิ เพราะว่าเป็นอัปปนาสมาธิ มันก็อธิบายคำว่าอัปปนาสมาธิไป ตอนนี้เลยฟั่นเฝือว่าอัปปนาสมาธิเป็นแค่ไหนไง แต่ถ้าคนเคยเข้าไปถึงอัปปนาสมาธินี่ฟังออกเลย อย่างไรถึงเป็นอัปปนาสมาธิ

อัปปนาสมาธิคือรวมใหญ่ เห็นไหม บอกว่าเราพิจารณากายแล้วปล่อยกาย วางกาย สมาธิมันก็วางได้ วางได้ตรงอัปปนานี่ อัปปนาหมายความว่าเข้าอัปปนาสมาธิมันสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้ นี่จิตใจในร่างกายเรา จิตในร่างกายเรามันวางหมด มันวางหมดจนมันไม่รับรู้เรื่องร่างกาย ถ้ามันรับรู้เรื่องร่างกายนะ นี่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ลมพัดมาหูต้องได้ยิน สัมผัสนี่ลมผ่านมามันต้องรับรู้ แต่ถ้าอัปปนาสมาธิมันสักแต่ว่ารู้ คือมันดับหมดไง

มันดับเรื่องอายตนะ คือคัตเอาท์มันตัด มันตัดไม่ออกรับรู้ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันตัดเลยมันสักแต่ว่า มันจะไม่ได้รับรู้สิ่งใดเลย ไม่มีเสียง ไม่มีสิ่งใดเข้าถึงใจดวงนั้นเลย มันปล่อยวางกายได้ตามความเป็นจริงเลย แต่ปล่อยวางด้วยสมาธิ เวลามันคลายตัวออกมา มันคลายออกมามันเริ่มรับรู้สึก มันก็ออกมารับรู้แล้ว ฉะนั้น ว่าทิ้งกายๆ นี่ทิ้งอย่างใด? อัปปนาสมาธิเข้าไปแล้วมันจะมีปัญหาอย่างใด

ฉะนั้น เขาถามว่า

ถาม : จะทำอย่างไรให้เข้าอัปปนาสมาธิ

ตอบ : ที่เราพูดแบบนี้เราพูดให้ไม่ต้องวิตกกังวลไง เราไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะต้องเข้าอัปปนาสมาธิ จะเป็นอัปปนาสมาธิหรือไม่เป็นอัปปนาสมาธิให้จิตมันตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่น จิตแข็งแรง จิตแข็งแรงแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาไปเลย ไม่ต้องรอให้เป็นเศรษฐีก่อนแล้วค่อยกินข้าว แล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าจะเป็นเศรษฐีอดข้าวไป อดจนตายเลย อดไปรอกินข้าวตอนเป็นเศรษฐี

นี่ก็เหมือนกัน ไม่ต้องฝึกหัดใช้ปัญญาเลย จะไปใช้ปัญญาตอนเป็นอัปปนาสมาธิ นี่กินข้าว จะเศรษฐี คนทุกข์ คนจนเข็ญใจก็ต้องกินอาหารทั้งนั้นแหละเพื่อดำรงชีวิต จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันมีหลักเกณฑ์ มันแข็งแรงแล้วก็พิจารณาปัญญาของเราไป เราคนทุกข์คนจนเราก็มีแค่ข้าวราดแกง ไอ้คนที่เขาจะมีเงินมีทอง เขาจะกินหูฉลามน้ำแดงอะไรก็เรื่องของเขา เขากินหูฉลามน้ำแดงเพราะเขามีสตางค์ใช่ไหม? ไอ้เรามันคนไม่มีสตางค์เราก็กินข้าวราดแกงมันจะเป็นไรไป กินข้าวราดแกงก็อิ่ม หูฉลามก็อิ่มเหมือนกัน อ้าว ถึงเวลาแล้วถ้าเรามีเงินมีทองขึ้นมาเราอยากกินหูฉลามบ้างมันก็กินได้

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบแล้วเราพิจารณาของเรา เรามีปัญญาเราก็ทำของเราได้ ถึงตอนนั้นนะเราพิจารณาของเรา จนถ้ามันใช้ปัญญาไปมันเป็นไป เพราะอัปปนาสมาธิมันเกินสมาธิในมรรค มรรค นี่สัมมาสมาธิในมรรค ๘ นะ สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว คำว่าสัมมามันสมดุลของมัน แต่อัปปนา ถ้าไม่สัมมา นี่มรรคไม่สามัคคี มรรคไม่สามัคคี สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กำลังมากกว่ามันไม่รวมตัว คือไม่สมดุล ความสมดุลของมันแค่อุปจารสมาธินั่นแหละมันก็สมดุลแล้ว ถ้ามันใช้ปัญญาเป็น มันทำของมันเป็น

ฉะนั้น คำว่าอัปปนาสมาธิมันเข้าไปพักได้ คำว่าอัปปนาสมาธิมันมีพระองค์หนึ่งจะบอกว่าเข้าอัปปนาสมาธิแล้วปัญญามันจะเกิดเอง ทุกคนจะรอตรงนี้ แล้วอัปปนาสมาธิคือนั่งหลับทั้งนั้นล่ะ นั่งสัปหงกเขาว่าเป็นอัปปนาสมาธิ คือนั่งแล้วก็รอ เข้าอัปปนาสมาธิแล้วก็รอปัญญามา คือมันขาดวรรคขาดตอน คือมันไม่ต่อเนื่อง การปฏิบัติมันไม่เป็นสัจจะ มันไม่ต่อเนื่องกันไป แต่ถ้าการปฏิบัติเป็นสัจจะนะ พอจิตมันสงบ มันแข็งแรงแล้วเราก็พิจารณาของเราไป พิจารณาของเราไป เวลามันเป็นไป มันรวมลง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ คือมันแยกหมดแล้วจิตรวมลง รวมลงแล้วมันปล่อยอีก ปล่อยอีกมันรู้อีก อู๋ย มันไปอีกไกลเลย นี่ถ้ามันไปแบบนั้น มัคโคทางอันเอกเอาตรงนั้น

ฉะนั้น ที่พูดนี่เพราะว่าคำว่าอัปปนาสมาธิ ถ้าคนมีอำนาจวาสนาเขาทำเป็นปกตินะ คนที่มีอำนาจวาสนาเขาทำได้ปกติเลย นี่หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ฝั้นเรื่องนี้สบายมาก เพราะท่านมีความชำนาญทางนี้ นี่จะรู้วาระ รู้สิ่งต่างๆ แปลกประหลาดมหัศจรรย์ ท่านรู้ของท่าน แต่รู้ในใจของท่าน แล้วท่านเก็บไว้ในใจของท่าน เพราะท่านรู้ว่าใจที่เป็นอย่างนี้มันหาได้ยาก แล้วจะเอาความรู้อย่างนี้มาบอกให้ทุกคนต้องรู้เหมือนเรา มันไม่มีหรอก

ฉะนั้น ท่านรู้ของท่าน ท่านรู้ท่านถึงไม่พูดเลยนะ ท่านรู้ท่านไม่ค่อยพูดหรอก ถ้าเป็นคราวจำเป็นท่านจะบอกว่าไอ้นั่นเป็นอย่างนั้น ไอ้นั่นเป็นอย่างนั้น แต่ท่านไม่พูดออกมาหรอก ถ้าพูดออกมาแล้วนะไอ้คนก็อปปี้มันมีเยอะ ไอ้คนก็อปปี้มันจะไปใช้กิน ฉะนั้น อัปปนาสมาธิถ้ามันทำได้ก็สาธุ ถ้าทำไม่ได้เราก็เก็บของเราไว้ เราก็ปฏิบัติของเราไป นี่พูดถึงอัปปนาสมาธินะ

ถาม : ระยะหลังผมดูสิ่งต่างๆ เพิ่มเติม การชอบดูต่างๆ

ตอบ : นี่เราใช้ปัญญาของเราไป ปัญญาเราพิจารณาของเราไปมันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นแหละ นี้การฝึกหัดไง นี่สิ่งต่างๆ ทำมา แล้วทำมานะ ถ้าเราใช้ความคิดไป สติปัญญาเราตามไป ปฏิบัติมาแล้วก็คือการปฏิบัติ นี้คำถามว่าเขาต้องการให้เราเช็คไงว่าทำอย่างนี้มันถูกต้องไหม แล้วมันควรจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าควรทำอย่างไรต่อไปมันอยู่ที่สมดุลของเรา

สิ่งที่ชอบดูมากคืออาการของใจ ปกติชีวิตประจำวันต่างๆ ดูอย่างนี้มันเป็นปัญญา เป็นปัญญาคือเป็นปัญญาแบบพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ นี่สมาธิมันจะไม่ลึกซึ้งเหมือนเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตตินี่พระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะกำหนดพุทโธ กำหนดพุทโธเข้าไป เป็นพระโสดาบันแล้วนะ เวลาปฏิบัติถึงที่สุดกำลังสัปหงกโงกง่วง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสอนเลย ไปสอนว่าให้ตรึกในธรรม ให้เอาน้ำลูบหน้า ให้มองดูดาวไง อย่าให้มันลงไปทางใดทางหนึ่ง ให้มันเป็นมัชฌิมาอยู่แล้วพิจารณาไป จนพระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ไป

แต่เวลาพระสารีบุตรใช้ปัญญา เห็นไหม ปัญญาไตร่ตรองต่างๆ ใช้ปัญญา มีปัญญาเทียบเคียงมาก ฉะนั้น ถ้าใช้ปัญญามันใช้ปัญญาไม่ลงแบบพระโมคคัลลานะ คือมันไม่ลงแบบสมาธิ เป็นอัปปนาที่ว่าลึกๆ นั่นน่ะ อัปปนาสมาธินะมันอาศัยสมาธิเป็นหลัก นี่ฝ่ายพระโมคคัลลานะจะเป็นเจโตวิมุตติ จะมีความรู้ความเห็นแปลกๆ แปลกๆ เป็นความรู้ความเห็น แต่ปัญญาที่จะละเอียดลึกซึ้ง ละเอียดลึกซึ้งแบบพระสารีบุตร นี่ผู้ที่ใช้ปัญญา

ฉะนั้น เราใช้ปัญญาแยกแยะอย่างนี้ เราใช้ปัญญาของเราไป มันมีปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ ไม่ต้องไปห่วง ห่วงอย่างเดียว ห่วงว่าเราได้ทำความเพียรจริงหรือเปล่า เราได้ทำความเพียรเป็นปกติ เป็นปัจจุบันไหม ถ้าเป็นปัจจุบันขึ้นมามันจะรู้ขึ้นมา ไม่ต้องไปห่วงเรื่องนั้นเลย ฉะนั้น ถ้าเป็นปัญญาขึ้นมา แยกแยะอย่างนี้เราทำมา แล้วเราบอก

ถาม : ถึงเวลาแล้ว อารมณ์หนึ่ง วันหนึ่งๆ มาทบทวนอารมณ์ของตัวเอง

ตอบ : ถูกต้อง อย่างที่เวลาปฏิบัติ เห็นไหม วันๆ หนึ่งเราพุทโธของเรา พุทโธของเรา นี่หลวงตาท่านเปรียบเทียบเหมือนวัวของเรา วัวของเราคือใจของเรา วัวของเรา นี่วัวผูกไว้ ใจของเราผูกไว้กับพุทโธ ผูกไว้กับปัญญาอบรมสมาธิ ผูกไว้กับปัญญา เวลาเราใช้งานเราก็ไปเอาวัวนั้นออกไถนาได้เลย วัวปล่อยมันปล่อยอยู่ในป่าในเขา เวลาจะใช้งานมันก็ต้องไปหาวัวใช่ไหม?

วันๆ หนึ่งเราไม่ได้กำหนดพุทโธเลย วันๆ หนึ่งเราไม่ได้ใช้สติปัญญาเลย ก็ปล่อยใจมันไปเร่ร่อนทั้งวันเลย พอทำวัตรเสร็จ กลางคืนก็จะนั่งสมาธิ มันหาวัวไม่เจอ นี่ตัวอยู่ในห้องนะ ห้องพระ ไหว้พระสวดมนต์เสร็จหาวัวไม่เจอ มันจะออกไปหา วัวไปไหนไม่รู้ แต่ถ้าพูดถึงเราผูกของเราไว้ พุทโธไว้ทั้งวันเลย พอทำวัตรเสร็จ ทำวัตรสวดมนต์เสร็จ นี่วัวอยู่กลางอก เราก็นั่งของเราไปเลย

ฉะนั้น ที่เขาบอกว่าใช้ปัญญาทั้งวันๆ นี่ถูกต้องดีงาม ฉะนั้น สิ่งที่บางครั้งเราก็ใช้ นี่ความขัดแย้งขณะในปัจจุบันนี้ คือว่าเวลาทำไปแล้วมันเกิดความหงุดหงิด ไอ้ความหงุดหงิดนี่นะ คนเราเวลาปฏิบัติแล้วบอกว่า เอ๊ะ คนปฏิบัติทำไมชอบมีอารมณ์โกรธมาก เสียงกระทบหน่อยก็ไม่พอใจ เสียงกระทบหน่อยไม่พอใจ นี่ถ้าผ้าขี้ริ้ว ผ้าเช็ดเท้า เช็ดเท้าจนสีดำสนิทเลย มันก็ไม่เห็นว่าความสะอาดเป็นแบบใด แต่ผ้าเช็ดเท้า ผ้าขี้ริ้วที่ซักสะอาด เวลาใครเอาความสกปรกมา ใครเช็ดหน่อยมันก็มีสิ่งสกปรก

จิตใจที่ฝึกหัดภาวนามันจะเป็นอย่างนี้แหละ เหมือนใจมันได้ซักได้ฟอกจากการพุทโธ พุทธานุสติ การซักฟอกแบบปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันมีความสกปรกเข้ามามันก็หงุดหงิด ไอ้หงุดหงิดๆ เมื่อก่อนไม่หงุดหงิด เวลาความคิดนี่ความคิดเป็นเรา คิดว่าชอบ จะไปกินเหล้าไปเลย ไปเที่ยวนี่ไปเลย แต่เดี๋ยวนี้พอจะคิดมันหงุดหงิด มันไม่อยากไป นี่ใจมันเริ่มมีความสะอาด จะบอกว่าคนปฏิบัติจะเป็นแบบนี้ เขาเรียกชวนะ คือตาก็ไว หูก็ไว ใจก็ไว แต่ก่อนใครจะพูดอะไรก็เชื่อเขาไปหมดเลย แต่พอพุทโธ พุทโธแล้วใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วใจมันเริ่มสะอาด มันไว นี่พอมันไวปั๊บอะไรกระทบมันจะหงุดหงิด มันกระทบแล้วมันไม่พอใจ

อย่างเช่นเด็กๆ มาไล่ทุกวันมันไม่พอใจ มันหงุดหงิดๆ มันหงุดหงิดเพราะมันไว หูมันไว ตามันไว นี่คนภาวนาแล้วมันเป็นอย่างนี้ แล้วบอกทำไมมันหงุดหงิดๆ ถ้าหงุดหงิดแล้วก็บอก เออ ถ้าปฏิบัติแล้วมันก็เหมือนกับซื่อบื้อเลย อะไรมาก็ไม่เป็นไร มันก็ไม่ใช่ มันยิ่งปฏิบัติมันยิ่งชัดเจน พอมันชัดเจนขึ้นมามันก็หงุดหงิด คำว่าหงุดหงิดมันมีบ้าง หงุดหงิดจากสิ่งที่มันไม่พอใจไง มันไม่พอใจคืออยากให้จิตสงบ อยากให้มันเป็นแต่ความดีตลอดเลย แล้วมันกระทบมันก็อย่างนี้ พอผิดมันก็หงุดหงิด หงุดหงิดเพราะมีสติปัญญาไง เรารู้ผิด รู้ถูก

ฉะนั้น อาการแบบนี้มันมีอยู่บ้าง ไม่ใช่ว่า อู๋ย ปฏิบัติแล้วจะไม่รู้อะไรเลย เอาไฟจี้ก็ไม่เป็นไร สบาย อ้าว จี้เลย จี้เลย ไม่เป็นไรปล่อยวาง มันก็เลยเป็นแบบนั้น มันก็มีหงุดหงิดบ้าง หงุดหงิด เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปแล้วจะไม่ให้มีอะไรเลยมันก็มีนะ นี้พูดให้พอเข้าใจไง ไม่ต้องไปทุกข์ร้อน เพราะหงุดหงิดยังมีกิเลสอยู่

จิตมันสงบ จิตสงบก็คือความร่มเย็น พอมันไม่ร่มเย็นหรือเข้าสมาธิยากก็หงุดหงิดแล้วล่ะ แล้วความหงุดหงิดคือกิเลส เรายังไม่ชำระล้างกิเลส เรายังไม่ใช้ปัญญาแยกแยะให้เห็นถูกเห็นผิด มันจะไปชำระล้างกิเลสนะ สังโยชน์มันขาดไปแล้ว ไอ้เรื่องนี้มันจะเบาลงหรือขาดไปเลย แต่สิ่งที่ละเอียดอยู่ กามราคะหรือความผ่องใส นี่ความเศร้าหมองในใจมันก็ยังมีอยู่ ค่อยๆ ทำไป ของอย่างนี้มี มีเพราะผ้าสะอาด ผ้าที่มันสกปรกมันโดนอะไรมันก็ไม่รู้ พอผ้ามันสะอาด พอมันเลอะมันก็เห็น

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันเริ่มปฏิบัติอยู่ พออะไรไม่พอใจมันก็หงุดหงิด การหงุดหงิดนี้มันก็มีบ้างไง ไม่ใช่คนตาย หลวงตาบอกไม่ใช่คนตาย คนเป็นเว้ย คนเป็นก็รับรู้ คนตายสิมันนอนตายเผาไฟยังไม่ร้องเลย ทำอย่างไร ไปแช่ตู้เย็น ไม่มีอากาศหายใจก็ไม่เป็นไรคนตายนี่ ไม่หงุดหงิดเลย แต่เราหงุดหงิดไม่เป็นไร

ถาม : ปัญหาอีกข้อหนึ่งคือผมนั่งสมาธิไม่ทน นั่งได้ราวครึ่งชั่วโมงจะทนปวดขาไม่ไหว ใจจะฟุ้งซ่าน

ตอบ : ไอ้กรณีนี้มันเป็นขันติธรรมเนาะ มีความอดทน แล้วขันติธรรมถ้าจิตมันดี จิตมันปลอดโปร่งมันก็ผ่านได้ ถ้าจิตไม่ปลอดโปร่ง จิตมันมีอะไรกระทบมันก็มีความขัดแย้ง ขัดแย้งเราก็ค่อยๆ ปฏิบัติเอา ค่อยๆ กระทำของเราไป การฝึกหัด ดูนักกีฬาสิ นักกีฬานะเวลาเขาซ้อม ซ้อมมากกว่าแข่งเยอะมากเลย ไอ้นี่เราปฏิบัติถ้าจิตมันลงมันก็ดีไป ถ้าจิตมันไม่ลงก็ค่อยๆ แก้ไขของเราไป ถ้าแก้ไขของเรานี่ฝึกหัดของเราไปเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

เรื่อง “ข้อสงสัยในการปฏิบัติ” นี่ตอบแล้วนะเรื่อง “ข้อสงสัยในการปฏิบัติ”

อันนี้มันจะเป็นปัญหาแล้ว ข้อ ๑๒๔๖.

ถาม : ข้อ ๑๒๔๖. เรื่อง “พุทธวจนะ”

ถ้าเราฟังแต่คำพุทธวจนะ แล้วปฏิบัติไปตามพุทธวจนะโดยไม่สนใจคำครูบาอาจารย์เลย เราสามารถที่จะบรรลุธรรมได้หรือไม่ครับ

ตอบ : ได้ ได้เด็ดขาดเลย แต่ แต่ทำได้จริงหรือเปล่าล่ะ? นี่โดยความจริง สามัญสำนึกพูดถึงเมื่อกี้ บอกว่าถ้าเป็นวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสตร์ที่มันขัดแย้งๆ กันไง ถ้าเราทำพุทธวจนะเราก็ทำตามพระพุทธเจ้า แล้วโดยทั่วไปก็บอกว่านี่ทำตามพุทธพจน์ๆ พุทธวจนะ ทุกคนปฏิบัติตามพุทธวจนะ แล้วพุทโธ พุทโธ แล้วทำสมถะ พระป่าไม่ทำตามพุทธวจนะ เวลาศึกษาก็ไม่ยอมศึกษา ศึกษาแล้ววางไว้

ดูสิคำว่าศึกษานะ หลวงตาท่านเป็นพระมหา เวลาท่านศึกษาขึ้นมา เวลาท่านศึกษา ท่านอ่านแล้วท่านบอกว่าอ่านว่ามีสวรรค์ ท่านอยากไปสวรรค์ พอศึกษาไปถึงสวรรค์ เออ สวรรค์มันยังเวียนตายเวียนเกิด ไปถึงนิพพาน อยากไปนิพพาน แล้วศึกษาเป็นมหา เพราะท่านตั้งใจว่าเป็นมหาแล้วท่านอยากออกปฏิบัติ เวลาจะออกปฏิบัติขึ้นมา บอกว่า

“ถ้ามีใครแก้ข้อสงสัยว่านิพพานมีจริงหรือไม่มีจริง เราจะหาครูบาอาจารย์องค์นั้นฝากเป็นฝากตาย จะปฏิบัติกับองค์นั้น”

แล้วขณะที่หลวงตาท่านออกไปหาหลวงปู่มั่น ท่านไปอยู่กับพระอรหันต์หลายองค์นะ ก่อนที่จะไปเจอหลวงปู่มั่นท่านไปอยู่กับพระอรหันต์หลายองค์ แล้วพระอรหันต์องค์ที่หลวงตาไปอยู่ด้วยก็อยากจะให้หลวงตาอยู่ด้วย เพราะ เพราะคนที่จะฝึกหัดปฏิบัติ คนที่มีแวว คนที่มีเป้าหมาย คนที่มีบารมีจะเป็นคนมีความเพียร มีความขยันหมั่นเพียร มีสติ มีปัญญา เด็ก คนที่ช้างเผือก พอมันมีแววทุกคนก็อยากจะเอาไว้ปฏิบัติ

หลวงตาก่อนที่จะไปหาหลวงปู่มั่น ท่านบอกท่านไปอยู่กับพระหลายองค์ พระหลายๆ องค์นั้นก็อยากจะเอาท่านไว้อยู่กับท่าน เพราะท่านเป็นคนใฝ่ดี ปฏิบัติดี นิสัยดีมาก แต่หลวงตาท่านบอกว่าขนาดว่าพระองค์นั้นพูดท่านก็ยังเฉยอยู่ ก็ไปหาญาติโยมมาช่วยโน้มน้าว แต่หลวงตาท่านบอกว่าท่านตั้งใจไว้แล้วว่าอย่างไรก็ต้องไปหาหลวงปู่มั่น อย่างไรก็ต้องไปหาหลวงปู่มั่น ท่านถึงลาทั้งหมดไปหาหลวงปู่มั่น เวลาไปถึงหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกว่า

“มหา มหามาหานิพพานใช่ไหม? นิพพานไม่ได้อยู่บนอากาศ นิพพานไม่ได้อยู่ในตำรา นิพพานไม่ได้อยู่ในสรรพสิ่งในโลกนี้ นิพพานมันอยู่ที่ใจ”

แล้วใจมันอยู่อย่างไร? นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการให้ฟังเชื่อมั่นมากเลย พอเชื่อมั่นมาก เออ มีคนแก้ความสงสัยของเราแล้ว ฝากชีวิตนี้ไว้กับครูบาอาจารย์องค์นี้เลย นี่แล้วท่านปฏิบัติมา เวลาปฏิบัติมา หลวงปู่มั่นท่านยังบอกเลยบอกว่าสิ่งที่เราศึกษามา พุทธวจนะ พุทธวจนะ เวลาหลวงตาท่านจบมหามาใช่ไหมท่านบอกว่า

“ท่านมหาเรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานี่มันประเสริฐมาก ฉะนั้น ประเสริฐขนาดไหนนะเทิดใส่ศีรษะไว้ก่อน เทิดใส่ศีรษะไว้แล้วเก็บใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจไว้อย่าให้มันออกมา ถ้าออกมา เวลาปฏิบัติไปมันจะเตะมันจะถีบกัน”

มันจะเตะมันจะถีบกัน หมายความว่าเรานี่รู้หมดแล้ว เพราะศึกษามามันจบ ธัมมจักฯ สวดธัมมจักฯ บทเดียวมันก็จบแล้ว ทางนี้ไม่ควรเสพสองส่วน กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ให้มัชฌิมาปฏิปทา เวลาปฏิบัตินี่มรรค ๘ มัคโคทางอันเอก ปฏิบัติธัมมจักฯ ก็จบหมดแล้ว แล้วปฏิบัติมันไปได้ไหมล่ะ? มันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้เพราะมันเตะ มันถีบกัน มันเตะ มันถีบกันเพราะอะไร? เพราะเรามีกิเลสใช่ไหม? เราก็บอกไอ้นี่เป็นสมาธิใช่ไหม? อันนี้เป็นมรรคใช่ไหม? มันมีไปหมด มันขัดแย้งกัน ท่านถึงบอกว่าให้วางไว้ก่อน แล้วปฏิบัติไป ถ้าปฏิบัติไปแล้วนะ ถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นอันเดียวกัน

แล้วหลวงตาท่านปฏิบัติไปนะ เวลาท่านปฏิบัติไปท่านบอกว่าตอนที่โรคเจ็บอก นี่มันเสวยอารมณ์แล้วมันก็ปล่อย มันเสวยอารมณ์แล้วมันก็ปล่อย เอ๊ะ ถ้าปล่อยอย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ ท่านบอกว่านี่บุญของปริยัติ เพราะท่านเป็นมหามา “ถ้าอย่างนี้” คือสงสัย ถ้าสงสัยไม่เอา ไม่เอาก็เอามาเปรียบ เวลาปฏิบัติไป นี่ทำตามพุทธวจนะ ก็ทำตามหมด แล้วกิเลสมันก็อยู่กับใจเรา มันก็อ้างพุทธวจนะ แล้วมันก็จะชักนำเราไป

ฉะนั้น

ถาม : ในการปฏิบัติทำตามพุทธวจนะมันจะถึงที่สุดได้ไหม?

ตอบ : แน่นอน ทำตามพุทธวจนะสำเร็จแน่นอน ทำตามพุทธวจนะสำเร็จแน่นอนเลย แล้วกิเลสมันฟังไหมล่ะ? เวลาคนบวชนี่นะ ทุกคนบวชเป็นพระทุกคนปรารถนาเป็นพระอรหันต์หมดเลย แล้วพอบวชมาแล้วสึกหมดเลย นี่ตั้งใจเต็มที่เลย สึกเกือบหมดเลยเหลือไม่กี่องค์ หลวงตาท่านบอกว่าพระที่วัดป่าบ้านตาดเยอะมากเลย ออกไปแล้วนะหายหมดเลย ไม่รู้ว่าหายไปไหนหมด ท่านพูดประจำออกจากบ้านตาดไปนี่หายเกลี้ยงเลย ไม่เหลือสักองค์ ใครเอาไปกินหมดไม่รู้ ท่านบอกนะใครเอาลูกศิษย์ท่านไปกินหมดไม่รู้

นี่ขนาดทำตามพุทธวจนะด้วย มีครูบาอาจารย์คอยบอกชี้แนะด้วย แล้วมีครูบาอาจารย์คอยตามกำกับตรวจสอบด้วย มันยังไปไม่รอดเลย มันยังโดนเอาไปกินหมดเลย ฉะนั้น ถ้าไม่ทำตามครูบาอาจารย์เลย ฉะนั้น คำว่าทำตามครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงตา อย่างเช่นครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านมีประสบการณ์จริง ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ไม่มีประสบการณ์จริง ไอ้นั่นมันก็เลวร้ายกว่าอีก เลวร้ายกว่า เห็นไหม ธรรมของพระพุทธเจ้าก็อย่างหนึ่ง เขาก็บอกไปอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น พุทธวจนะเราก็สงสัยแล้วนะ ดูสิใครอ่านพระไตรปิฎกมางงนะ เพราะอะไร? เพราะในพระไตรปิฎกมันก็เหมือนครูบาอาจารย์เรา ครูบาอาจารย์เราสอนนะ อย่างเช่นพระบวชใหม่ พระบวชใหม่นะ พระบวชใหม่จะทนคำสอนได้ยาก นี่พระบวชใหม่ ในนวโกวาทบอกไว้เลย พระบวชใหม่จะทนคำสอนได้ยาก เพราะเขาติดนิสัยของคฤหัสถ์มา แล้วสมณสารูปควรทำอย่างใด ถ้าสมณสารูปควรทำนะ แม้แต่สมณสารูปก็มาฝึกหัด พระบวชใหม่ทนคำสอนได้ยาก

ฉะนั้น เวลาพระบวชใหม่มา คำว่าทนคำสอนได้ยากมันก็เหมือนกับทารกเพิ่งออกมา พอทารก เราจะเลี้ยงทารก เราจะสอนทารกอย่างไร แล้วพอมันสัก ๑๐ ขวบนี่สอนอย่างไร? พอเป็นวัยรุ่นจะสอนอย่างไร? พออายุมันสัก ๓๐-๔๐ มันยิ่งเถียงใหญ่เลย ตอนนี้วัยทำงานมันหาเงินได้แล้ว มันยิ่งไม่ฟังพ่อแม่มันเลย แล้วเวลามันแก่มันเฒ่าขึ้นมาแล้ว ไม้ใกล้ฝั่งนะมานั่งคอตกมันทำอย่างไร?

ฉะนั้น เวลาคำสอน เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริง เวลาท่านสอนนะท่านสอนเด็กๆ ท่านสอนภิกษุบวชใหม่ เห็นไหม ก็ต้องสอนข้อวัตร สอนให้ยึดหลักให้ได้ เหมือนกับเด็กเลย เด็กนี่นะ อนุบาลนะถ้ามันศึกษามา ภาษามัน การคำนวณดีนะ พอมันเรียนขึ้นไปมันจะเรียนได้ดีมากเลย ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนท่านสอนอย่างนั้น ฉะนั้น บอกว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าครูบาอาจารย์ไม่จริงนะมันไม่ใช่พุทธวจนะ มันเป็นการที่กิเลสมันนำ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะมันจะในพุทธวจนะ

คำว่าในนะ ในหมายความว่าเวลาหลวงตาท่านไปที่ดอยธรรมเจดีย์ ท่านชำระอวิชชาของท่านได้ ท่านกราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า ท่านกราบอะไรน่ะ? ท่านกราบถึงความซาบซึ้ง หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าที่หนองอ้อโคนต้นไม้ใหญ่ เวลาจะออกมาละล้าละลังนะ เวลาหลวงปู่ขาวท่านบอกว่าท่านอยู่โคนต้นไม้เหมือนกัน เวลาท่านจะออกจากที่นั่นมามันฝังใจ โอ๋ย มันมีความซาบซึ้ง

นี่หลวงตาท่านบอกว่าท่านอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ท่านกราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า กราบอะไร? กราบพุทธวจนะ กราบคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา ท่านกราบธรรมๆ กราบธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมา แล้ววางธรรมและวินัยคือพุทธวจนะให้เรา แต่เวลาเราจะปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยปฏิบัติตามพุทธวจนะ ตอนนี้ในการปฏิบัติเขาบอกว่าพุทธพจน์ๆ ต้องทำตามพุทธพจน์ ทำตามนะ ตอนนี้เขาบอกไว้ใช่ไหม?

เราเป็นคนใช่ไหมเราก็อยากมีเงินมีทอง มีเงินมีทองเราก็ไปซื้อเครื่องพิมพ์มาพิมพ์แบงก์กันที่บ้านเนาะ ต่างคนที่บ้านก็มีที่พิมพ์แบงก์คนละเครื่อง ต่างคนต่างพิมพ์แบงก์ออกมาใช้กันเอง เพราะอะไร? เพราะว่ามันพิมพ์ออกมา พุทธวจนะทำอย่างนั้นหรือ? พุทธวจนะท่านก็สอนใช่ไหม สอนให้เราต้องทำไร่ไถนา เราทำไร่ไถนาขึ้นมานะเราจะมีข้าวกิน เราจะมีอาหารกิน เราจะมีพืชเกษตรเอาไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้ามา สินค้ามาเราก็ได้เงินได้ทองมา

ในการปฏิบัติขึ้นมาก็เหมือนกัน พุทธวจนะก็สอน แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เป็นจริงขึ้นมาจะทำอย่างไร? ถ้ามีครูบาอาจารย์มันมีอุบายการสั่งสอนเรา

ฉะนั้น บอกว่า

ถาม : ถ้าเราฟังแต่พุทธวจนะ แล้วปฏิบัติตามพุทธวจนะโดยไม่สนใจคำครูบาอาจารย์เลย เราจะบรรลุธรรมได้ไหม?

ตอบ : ได้ล้านเปอร์เซ็นต์เลย ถ้าทำตามพุทธวจนะแล้วทำได้จริงนะ แต่ทีนี้เรามีกิเลสใช่ไหม? พอเราทำพุทธวจนะเราก็อ้างพุทธวจนะไง กิเลสมันจะอ้าง อ้างพุทธวจนะเลยว่าพระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ ถ้าชอบใจอันนี้เป็นพุทธวจนะ ถ้าไม่ชอบใจนะอันนี้มันเจือปนเข้ามา มันเริ่มแยกแล้วนะ อะไรถ้าถูกใจนะพุทธวจนะ อะไรถ้าไม่ถูกใจนะ เพราะอะไร? เพราะกิเลสมันพาทำในพุทธวจนะไง มันไม่เป็นความจริงไง

แต่ถ้าเวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น ขณะมีหลวงปู่มั่นนะท่านควบคุมอยู่ยังติดสมาธิอยู่ ๕ ปี เวลาหลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นลาก ลาก ลากเลยลากออกจากสมาธิ ลากนะลากจิตของท่านออกจากสมาธิมา ลากมาให้ใช้ปัญญาพิจารณาอสุภะ เวลาพิจารณาอสุภะเต็มที่เลยนะท่านก็ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น

“นี่บอกให้ใช้ปัญญาแล้ว ให้ใช้ปัญญาแล้ว ตอนนี้ก็ใช้ปัญญาจนไม่ได้นอนเลย ไม่ได้นอนเลย พุทธวจนะทำจนเต็มที่เลย”

ท่านบอกนั่นน่ะ “ไอ้บ้าสังขาร”

“บ้าได้อย่างไรล่ะ? ถ้าไม่บ้า มันไม่ใช้ปัญญามันก็ชำระกิเลสไม่ได้”

“นั่นแหละมันบ้าสังขาร”

นี่พุทธวจนะทั้งนั้นเลยแหละ แต่เวลากิเลสนะเหมือนคนไข้ คนไข้นะ คนที่เป็นหมอ เวลาเขาเป็นโรคภัยไข้เจ็บเขายังต้องไปหาหมอให้หมอรักษาเขา คนที่เป็นหมอ เวลาเป็นโรคร้ายต้องผ่าตัดยังต้องให้หมอผ่าตัดให้หมอ หมอยังผ่าตัดตัวเองไม่ได้ คนที่เป็นหมอ เป็นโรคร้าย ไปหาหมอให้หมอผ่าตัดก็ไปเถียงกับหมอว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น หมอบอกมึงนอนเฉยๆ เถอะจะผ่าตัดให้เอง เอ็งนอนเฉยๆ

นี่เวลาเราบอกพุทธวจนะ กิเลสมันอยู่กับเรา กิเลสมันอยู่ในใจเรานี่แหละ เวลากิเลสอยู่ในใจเรา ถ้ามันถูกใจมันก็บอกเป็นพุทธวจนะ ถ้ามันไม่ถูกใจมันก็บอกว่าอันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่ แล้วปัจจุบันนี้คนที่มาสอนพุทธวจนะ พุทธพจน์ๆ นี่ต้องรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวทั่วพร้อม คอมพิวเตอร์มันรู้ตัวดีกว่า ไอ้เซฟทีคัทเวลาไฟมามันตัดเลย มันป้องกันไฟไหม้ได้ด้วย เซฟทีคัทมันมีของมัน มันป้องกันไฟไหม้เลย มันตัดให้ทุกอย่างเลย มันเป็นอะไรล่ะ? มันก็เป็นเซฟทีคัทไปตัดไฟไง มันไม่ได้ตัดกิเลสไง

นี่ก็เหมือนกัน พุทธวจนะ สาธุนะ พระป่านี่ พระที่ปฏิบัติ หลวงตาเวลาท่านบรรลุธรรม ท่านกราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า แล้วหลวงตาเวลาท่านเทศน์นะท่านบอกว่าเวลาเหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เหยียบวินัยไป คือทำผิด แม้แต่ความซื่อสัตย์กับตัวเองยังไม่ซื่อสัตย์ ถ้าความซื่อสัตย์กับตัวเองมันก็จะไม่พูดจาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล เวลามุสาโกหกนี่นะมันผิดศีล แต่นี้มันยิ่งกว่าผิดศีลเพราะมันรู้ถูก รู้ผิด แล้วพูดออกไป นี่เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปแล้วแสดงธรรม พุทธวจนะไหม?

เวลาบอกพุทธวจนะๆ เอ็งรู้จริงหรือ? พูดเรื่องพุทธวจนะแล้วมันเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า? มันเป็นจริงตามที่พุทธวจนะบอกไว้อย่างนั้นไหม? สติ สมาธิ ปัญญามันเป็นอย่างนั้นไหม? ที่ว่าเป็นปัญญาๆ นี่เอาพุทธวจนะมาข้อหนึ่ง แล้วก็ตีแผ่ แล้วก็ตีกระจาย เอาพุทธวจนะแล้วก็อธิบายๆ มันเป็นพุทธวจนะไหม? มันเป็นความจริงอย่างนั้นไหม? ที่บอกเป็นพุทธวจนะ แล้วพูดอธิบายมันเป็นอย่างนั้นไหม? ปัญญาที่พระพุทธเจ้าปรารถนา ปัญญาพระพุทธเจ้าที่สั่งสอน ปัญญาที่พระพุทธเจ้าต้องการทำมันเป็นอย่างนั้นไหม? แต่เวลาหลวงปู่มั่นของเรา เวลาท่านพูดออกมา เวลาหลวงตาท่านติดสมาธิ ท่านบอกว่า

“มหา จิตเป็นอย่างไร?”

“สงบดีครับ สงบดีครับ”

จนได้จังหวะ “สงบแบบนี้มันสงบแบบเศษเนื้อติดฟัน”

หลวงตาท่านบอกว่า “ถ้าเป็นเศษเนื้อติดฟัน แล้วสัมมาสมาธิ พุทธวจนะ มรรค ๘ สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร? สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าที่เป็นสมาธิ นี่เป็นสัมมาสมาธิ”

หลวงปู่มั่นบอกว่า “สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้า สัมมาสมาธิมันไม่มีสมุทัย สัมมาสมาธิของท่านมันมีสมุทัย สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก สมุทัยคือกิเลส มันมีกิเลสอยู่ในสมาธินั้น”

อืม มหานะ เรียนพุทธวจนะมานะ งงเลยล่ะ งง ไปไม่ถูก หมุนเลย งงเลย เอ๊ะ น่าจะจริงของท่าน เห็นไหม พุทธวจนะ สัมมาสมาธิๆ สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร? หลวงปู่มั่นบอกว่าสัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าไม่มีสมุทัย สัมมาสมาธิของท่านมีสมุทัยในสมาธินั้น สมาธิกิเลสไง จนท่านแก้ไข

นี่เราจะบอกว่าถ้าไม่ฟังคำสอนของครูบาอาจารย์เลย ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ แต่ในปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นธรรมอ้างพุทธวจนะ เห็นไหม นี่ดูจิตกันไป ไม่ต้องใช้ปัญญา สติถ้าตั้งใจมันจะเป็นสติปลอม มีสติปลอม สติจริงอีกนะ สติตัวปลอม สติตัวจริง ปัญญาตัวปลอม ปัญญาตัวจริง ปัญญาโจร โอ๋ย พุทธวจนะเนาะ พุทธวจนะเป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ถ้าไม่เป็นจริงมันก็พูดออกไปด้วยความฟั่นเฝือ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์จริงนะท่านให้อุบายได้ แล้วครูบาอาจารย์จริงอยู่กับท่านเถอะ

คนอยู่ใกล้ชิดกัน ศีลจะเห็นได้ต่อเมื่อเราอยู่ใกล้ชิดกัน ปัญญาจะเห็นได้ต่อเมื่ออธิบายธรรมะนี่แหละ ถ้าอธิบายธรรมะไม่มีเหตุมีผล อธิบายธรรมะเป็นเหมือนกับวังวนอยู่ในวงกิเลส นี่เราเข้าใจได้ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะเหมือนเรือวิ่งเข้าฝั่ง ไม่ใช่เรือไม่มีหางเสือ วนอยู่นั่นแหละ หมุนอยู่นั่นแหละกลางทะเล ไปไหนไม่พ้น แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่มีหลักมีเกณฑ์นะ เรือนั้นจะมีหางเสือ จะแล่นเข้าสู่ฝั่ง แล่นเข้าสู่ฝั่ง ปัญญาของเราจะอยู่ฝั่ง นี้ครูบาอาจารย์ที่เป็นประโยชน์ไง

ฉะนั้น

ถาม : ถ้าฟังพุทธวจนะ ปฏิบัติตามพุทธวจนะโดยไม่ฟังครูบาอาจารย์ สามารถบรรลุธรรมได้ไหมครับ

ตอบ : ได้แน่นอน ได้แน่นอน ได้ แต่คนที่จะผ่านมานี่ขอดูสักคนหนึ่ง มีสักคนไหมที่จะไปได้ ยากนัก แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านทุกข์ยากแสนเข็ญมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติมาองค์เดียว ตรัสรู้องค์เดียวนะ นี่สอนสามโลกธาตุ

ครูบาอาจารย์ที่ท่านพ้นแล้วนะท่านจะมีวิธีการบอกเรา มีวิธีการคอยแนะนำเรา อันนี้เป็นประโยชน์มาก แต่ส่วนใหญ่แล้วครูบาอาจารย์ที่สับสน ครูบาอาจารย์ที่ไม่ได้ประโยชน์อันนั้นก็เยอะ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วมันยิ่งเหลวไหลใหญ่ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริง แล้วจะพิสูจน์กันอย่างไรล่ะ? จะพิสูจน์กันอย่างไร? พิสูจน์เราทำสมาธิของใจ เราปฏิบัติเถอะแล้วถามท่าน เรารู้เราเห็นมา ถ้าท่านตอบไม่ถูก ไปไหนมาสามวาสองศอก อันนั้นมันจานกระเบื้อง แต่ถ้าเป็นอาจารย์ของจริง ครูบาอาจารย์ที่ดีท่านจะชี้นำได้

พุทธวจนะนี้เป็นธรรมและวินัย เป็นศาสดาของเรา เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก เราเคารพบูชามากนะ พระที่ปฏิบัติมา ถ้าไม่เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เคารพธรรมและวินัย เป็นพระได้อย่างใด? ทีนี้บอกว่าถ้าคำสอนของครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเคารพอยู่แล้ว แล้วท่านปฏิบัติได้ด้วยมันยิ่งบอกอุบาย บอกวิธีการ บอกให้เราชนะตัวเอง ชนะกิเลสของเราเอง ไม่ใช่ว่าพอใจก็เป็นพุทธวจนะ ไม่พอใจก็บอกว่าเขาแต่งเติมเข้ามาในพระไตรปิฎก เอาแต่ใจ แล้วทำแต่ความรู้สึกของตัว แล้วก็เลยวนอยู่ในกิเลสไม่ได้ไปไหนเลย ไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ก้าวหน้าเลย

แต่ถ้าเราฟังแล้วเราปฏิบัติ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้วกาลามสูตรไม่ให้เชื่อใคร ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น แล้วเราปฏิบัติมันพิสูจน์ได้ไง พุทธวจนะก็สุดยอด แล้วครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงคอยชี้คอยแนะ เหมือนนักมวยมีพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงคอยให้น้ำ คอยให้กำลังใจ คอยให้ทุกๆ อย่าง สุดยอดมากเลย แต่ถ้าพี่เลี้ยงเขาไปเล่นการพนัน แล้วเขาเล่นว่าเราแพ้ด้วยนะ เขาจะหลอกให้เรา ให้น้ำก็ให้น้ำผสมยาสลบ ให้เราแพ้ ถ้าพี่เลี้ยงของเราไปเล่นพนันไว้เล่นตรงข้าม แล้วคอยขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงเราด้วย ครูบาอาจารย์อย่างนี้ไม่ควรคบ เอวัง