ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทำดี ได้ดี

๒o ม.ค. ๒๕๕๖

 

ทำดี ได้ดี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๔๗. เนาะ

ถาม : ข้อ ๑๒๔๗. เรื่อง “หนูอยากเป็นคนดีแล้ว”

ตอบ : หนูอยากเป็นคนดีไง แสดงว่าก่อนหน้านั้นไม่ดี ตอนนี้หนูอยากเป็นคนดี

ถาม : กราบหลวงพ่อ ๓ ครั้ง หนูเคยฟังเทศน์หลวงพ่อ หลวงพ่อเมตตามาก หนูขอขมาหลวงพ่อก่อนค่ะ เพราะประโยคต่อไปนี้อาจไม่ไพเราะ แต่มันมาจากใจ เพราะหนูพูดภาษาสวยหรู ศัพท์ที่คนเขาใช้กับพระไม่ค่อยเป็นค่ะ หลวงพ่อคะหนูจิตใจไม่ดีเลย จริงๆ หนูได้ฟังเทศน์หลวงพ่อไปแล้วเรื่อง “กิเลสแก้ยาก” แต่หนูไม่ได้ถามเอง คนอื่นถาม หนูอยากถามเองมากกว่าค่ะ

หนูเคยคิดไม่ดีต่อแม่ชีผู้มีพระคุณ จนกระทั่งผ่านมาท่านทราบเองโดยที่หนูไม่ได้บอกท่าน ท่านโทรมาอโหสิกรรมให้ และหนูไปขอขมาแล้ว กับองค์อื่นหนูก็คิด หนูบาปหนาแต่หนูได้กลับใจแล้วค่ะ ท่านให้ภาวนา หนูก็ภาวนาเห็นตัวเองเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่คน จิตตกไปพักหนึ่ง แต่หนูก็ภาวนาเรื่อยมา ท่านก็บอกว่าตอนนี้เป็นคนแล้ว และต่อมามีประมาณ ๓ วันหนูไม่ได้ภาวนาแล้วมันกลับมาอีกค่ะ

เมื่อประมาณ ๒ เดือนกว่าหนูฝันว่าขึ้นไปเจดีย์ครูบาอาจารย์แล้วร้อน เปลี่ยนจากคนเป็นอย่างอื่น แต่หนูก็ยังภาวนาทุกวันค่ะ เพราะหนูคิดไม่ดี แต่หนูไม่ได้อยากคิดเลยจริงๆ ไม่อยากไปวัดที่ไหนก็แล้วแต่ จะหลับก็กลัวมากๆ ภาวนาหนูก็ทำ ทำไมความคิดหนูยังไม่ดีเลย แต่หนูก็ไม่เคยคิดที่จะเลิกภาวนาหรอก หนูจะทำอย่างไรดีคะ? ฝันแบบนี้หนูกลัวจริงๆ หนูจะเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่าคะ หรือเป็นแล้ว หนูควรทำอย่างไรดีถึงจะเป็นคนเดิมที่ยังเป็นเด็กดี หรือเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม

ตอบ : นี่คำถามเขียนมาไม่หมด ถ้าคำถามเขาเขียนมาหมด แสดงว่าเวลาเขาภาวนาไป หรือเขานอนหลับไปแล้วเขาจะฝันเห็นสิ่งที่มันเป็นศัตรูต่อตัวเองไง ศัตรูต่อตัวเองหมายความว่าไปเห็นภาพที่ตกใจ เห็นภาพที่กลัว เขาบอกว่าเวลาเขาภาวนาไปแล้วเหมือนกับเขาไม่ใช่คนๆ นี้ เหมือนกับตัวเขาเองมีภาพลักษณ์ที่เสียหายมาก อย่างเช่นเป็นผี เป็นสาง เป็นต่างๆ นี่จนกลัวเองไง จนตัวเองกลัว กลัวความเห็นของตัวเอง

คนเป็นแบบนี้มีนะ ถ้าคนเป็นแบบนี้มี นี่จะไปปรึกษาหารือใคร ถ้าไปปรึกษาหารือใคร ถ้าไปในสำนักที่เขาเป็นธุรกิจ เขาเห็นเรื่องอย่างนี้เป็นสินค้า นี่สินค้าอย่างดีเลย เหยื่ออย่างมหันต์เลย ถ้าไปที่ไหน เพราะฝันไม่ดี เพราะเห็นอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น ต้องสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ต้องทำอะไรร้อยแปดพันเก้าไปเลย แล้วมันจะเป็นจริงไหมล่ะ? แต่เวลาถ้าเขาฝัน หรือว่าเขามีความระลึกต่างๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี

สิ่งไม่ดีนะ คนเรา เห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเวลาเกิดมาคนเรามีกรรมเก่ากรรมใหม่ นี่มีเวรกรรม ทำดีมาก็มีสิ่งที่ผิดพลาดมาก็มี ถ้าสิ่งที่ผิดพลาดมามันฝังมากับใจ พอฝังมากับใจ ถึงเวลามันให้ผลนะ ถึงคราวๆ หนึ่ง คนเวลานอนหลับไป เวลาฝันไปมันจะไปเจอสภาวะแบบนั้น แล้วเจอสภาวะแบบนั้นทำอย่างไร? มี มีคนที่แบบว่าเวลานอนหลับแล้วไม่กล้านอนเลย นอนหลับไม่ได้เลย พอนอนหลับ พอหลับไปแล้วจะฝันเห็น ฝันเห็นสิ่งที่ไม่ดี ฝันเห็นสิ่งที่ตัวเองทำไว้ แล้วจะแก้อย่างไรล่ะ?

ถ้าจะแก้นะ เวลาเราจะแก้เราต้องตั้งสติไว้ พอตั้งสติไว้ เวลาถ้าเราจำเป็นจะต้องนอนหลับเราก็พยายามกำหนดพุทโธ พุทโธ หลับไปพร้อมกับพุทโธ ถ้าไปเจอสภาวะนั้นตื่นเต้นมันกลัวมาก ถ้าไปเจอสภาวะแบบนั้น โดยปกติธรรมดา นักเลง คนจะดีขนาดไหนก็แล้วแต่ เวลาไปเจอผีนี่ไปหมดเลย คนจะเป็นคนขี้ขลาด คนจะเป็นคนเข้มแข็ง เวลาไปเจอผีเจอสาง กลัวเหมือนกันหมดแหละ กลัวเหมือนกันหมด ทีนี้เวลาว่าเข้มแข็ง มันเข้มแข็งเพราะโลกปัจจุบันนี้ไง แต่เวลาไปเห็นภาพลักษณ์ข้างหลัง ไปเห็นความเป็นไปของตัวมันก็มีความกลัว

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลากำหนดพุทโธ พุทโธ ให้เราหลับไปพร้อมกับพุทโธ แต่เราไปเจอสภาวะแบบนั้น ถ้ามันตกใจตื่นก็ตื่นมา ถ้าตกใจแล้ว ถ้ามีสติแล้วมันจะแก้ไขในนั้นเลยก็ได้ หมายถึงว่าพอไปเจอในนั้นเราอโหสิกรรมให้เขา หรือเราทำสิ่งใดที่ให้มัน นี่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราอโหสิกรรมต่อกัน เราทำสิ่งที่ดีต่อกัน อาจจะหายในฝันก็ได้ อาจจะหายเห็นอย่างนั้นก็ได้ ถ้าไม่หายเราตกใจตื่นก็ตื่นขึ้นมา แล้วก็พยายามตั้งสติ

ตั้งสติ เห็นไหม เราทำคุณงามความดี สิ่งที่มันแก้ไขไม่ได้มันคืออดีต สิ่งที่เราทำความผิดต่างๆ มาสิ่งนั้นไม่ดีเลย แต่ไม่ดีเลยเราก็ทำมาแล้ว พอทำมาแล้วมันจะให้ผลอย่างนี้ ถ้าให้ผลอย่างนี้ปั๊บ มันยังดีนะ มันดีที่ว่าเรายังมีสติสัมปชัญญะรู้เรื่องอย่างนี้ ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะรู้อย่างนี้ นี่ทำอย่างไร? เสียหายกันไปหมดเลย เสียหายหมายความว่าถ้าถึงที่สุดแล้ว คนเรานะถ้าไม่มีทางไปมันทำร้ายตัวมันเองได้ มันทำร้ายตัวเองได้

ฉะนั้น มันไม่มีทางออก ถ้ายิ่งทำร้ายตัวเองมันก็ยิ่งทับถมให้หนักขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามันจะให้เบาบางลงล่ะ? ให้เบาบางลงใช่ไหม? นี่ใครทำโทษหนัก เวลาศาลตัดสินก็ต้องโทษหนัก ใครทำโทษเบา เวลาศาลตัดสินก็โทษเบา ถ้าใครทำโทษที่ไม่เจตนา ศาลแบบว่ารอลงอาญา นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราทำมาแล้วก็คือทำมาแล้ว สิ่งที่ทำมาแล้ว เห็นไหม ถ้าศาลตัดสิน ศาลตัดสินก็คือจบกัน แต่นี้เราจะตัดสิน ทำอย่างไรเราจะตัดสิน เราจะแก้ไขของเรา ถ้าแก้ไขของเรา เราตั้งสติ ตั้งสตินะ

นี่เวลามีครูบาอาจารย์ อย่างที่ว่าเขาเคยเป็นเด็กดีมาก่อน เสร็จแล้วคิดไม่ดี ทำสิ่งที่ไม่ดี แม้แต่ผู้มีพระคุณก็ยังไปเจตนาไม่ดีกับเขา จนเขารู้เอง เขาให้อภัย ให้อโหสิกรรมมาเราสำนึกได้ ตอนนี้สำนึกได้นี่สำคัญ ถ้าคนที่สำนึกได้นะ สำนึกได้ เห็นไหม นี่คนที่เขายังมีปัญหาต่อกันเพราะเขาสำนึกไม่ได้ พอเราสำนึกได้เราอยากจะเป็นเด็กดีคนเดิม แต่ก่อนเราเป็นเด็กดีอยู่ แล้วเรามีพ่อมีแม่ พ่อแม่ดูแลเรามาสิ่งที่ดี นี่เราก็อยู่ในโอวาท อยู่ในสิ่งที่ดีๆ มา แต่เวลากรรมมันให้ผลขึ้นมามันคิดน้อยใจ มันคิดเสียใจว่าคนนั้นไม่รักเรา คนนั้นเบียดเบียนเรา

ดูสิเด็กที่มันไม่พอใจมันจะบอกว่าสังคมรังแกๆ นี่สังคมรังแก ถ้าเราไปอยู่ในสังคมที่เขาเอารัดเอาเปรียบมันก็มีบ้าง แต่โดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติในทางโลกทุกคนก็มีกิเลสทั้งนั้นแหละ เขาก็มีการแข่งขันทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเราคิดในเชิงบวก นี่มันเป็นความแข่งขันของเขา เราก็ต้องมีสติปัญญาของเรา รักษาตัวของเราเพื่อประโยชน์กับเรา แล้วถ้าเราเข้าใจสิ่งนั้นได้เราก็ไม่เป็นเหยื่อเขา ถ้าไม่เป็นเหยื่อเขา สังคมก็มารังแกเราไม่ได้

ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม เราเคยเป็นเด็กดีมาก่อน แล้วเดี๋ยวนี้เรามีความเห็นผิด พอมีความเห็นผิด แต่มันก็มีความคิดที่ดีงามขึ้นมา คิดที่ดีงามคือสำนึกผิด สำนึกผิด นี่สิ่งที่ว่าสำนึกผิดนะ เรื่องที่ว่าเขาเคยฟังเทศน์เรามาเรื่อง “กิเลสแก้ยาก” ฟังแล้วมันสะเทือนใจ เพราะกิเลสมันแก้ยาก แต่มันไม่ใช่คำถามของหนู หนูอยากถามเอง ถามเองก็คือถามว่า

ถาม : สิ่งที่ผู้มีพระคุณต่อเรา แล้วเราไปคิดไม่ดีต่อเขา จนเขารู้ของเขาเอง เขารู้ของเขาเอง เขาก็ยกโทษให้เราแล้ว

ตอบ : อย่างนี้ผู้มีพระคุณต่อเรา เห็นไหม กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ผู้มีพระคุณต่อเรา แม้แต่สังคมไทยนะ สังคมไทยบอกว่าแม้ใครให้น้ำให้ข้าวเราแม้แต่แก้วเดียว มื้อเดียว เราจะระลึกถึงบุญคุณเขาตลอด บุญคุณของเขามีนะ เพราะอะไร? ถ้าเราอดหิวโหยกระหายจนถึงที่สุดเราตายได้นะ เขาให้อาหารเรามา ดำรงชีวิตเรามา ถ้าวันไหนเราตั้งตัวเราได้ เรามีกำลังได้เราจะสนองคุณเขา เราจะช่วยเหลือเจือจานเขา เราคิดถึงบุญคุณของเขา เพราะบุญคุณของเขา เขาทำให้เราได้ดำรงชีวิตต่อมา นี่มันจะฝังใจเรามา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดได้ เราคิดได้ว่าเราเคยเป็นเด็กดีมา แล้วตอนนี้เพราะว่าอะไร? เพราะว่ากรรมเก่า กรรมของเรามันขับดันออกมา ขับดันมาให้เห็นผิด แม้แต่ผู้มีพระคุณเราก็จะไปคิดไม่ดีต่อเขา ฉะนั้น เราสำนึกผิดแล้ว พอสำนึกผิดมาเห็นโทษไง พอเห็นโทษขึ้นมาบอกว่า

ถาม : หนูภาวนาไปแล้ว ท่านให้ภาวนา หนูก็ภาวนาเห็นตัวเองเป็นอย่างอื่นไปที่ไม่ใช่คน จิตตกไปพักหนึ่ง

ตอบ : นี่สิ่งนี้ก็เป็นอดีตเหมือนกัน สิ่งที่ไม่ดีมันก็เป็นอดีตเหมือนกัน เห็นไหม เราเป็นหนี้ใครก็แล้วแต่ เราได้ใช้หนี้เขาแล้ว หนี้มันก็ต้องหมดไปเป็นธรรมดา สิ่งที่เรามีความคิดไม่ดีต่อใครก็แล้วแต่ เราขออโหสิกรรมต่อเขาแล้ว แล้วเขาก็ให้อโหสิกรรมต่อเราด้วย แล้วเรามาภาวนาเราไปเห็นตัวเราไม่ใช่คน นี่อโหสิกรรมต่อกันแล้ว เขาได้ยกเว้นให้เราแล้ว เราก็ได้ตอบแทนเขาแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่เห็นแล้วมันก็เป็นอดีตไปแล้ว

นี่เวลาเมื่อก่อนเป็นเด็กดี เป็นเด็กดีมาตลอด แล้วเดี๋ยวนี้มาคิดไม่ดี เห็นไหม แล้วพอเราคิดไม่ดีเราก็วางความคิดไม่ดีแล้วจะกลับไปเป็นเด็กดี ความที่ว่าเราภาวนาไปแล้วเราเห็นว่าเราไม่ใช่คน มันก็เป็นอดีตไปแล้ว ฉะนั้น เราวางสิ่งที่เป็นอดีตไปแล้วเราก็กลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน เราก็ตั้งสติของเรา เราภาวนาของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเราทำของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : ต่อมา ๓ วันที่แล้วหนูภาวนาไปแล้วมันกลับมาอีก

ตอบ : นี่พระอาทิตย์ขึ้นแล้วพระอาทิตย์ก็ตก ความคิดของคนมันก็มีที่ผ่านไปแล้ว เดี๋ยวมันก็คิดได้อีก นี่เวลาภาวนาไปแล้วที่ว่าพิจารณาอสุภะๆ เวลาทำลายไปแล้วอสุภะอย่างหยาบ กามราคะอย่างหยาบ กามราคะอย่างละเอียด สิ่งที่มันกำจัดไปแล้ว แต่มันก็ยังมีเศษส่วนที่ตกค้างอยู่ นี่ความไม่ดีของเรา ความไม่ดีของเราที่เราเคยทำมาแล้ว เห็นไหม เราทำของเรามาแล้ว มันก็ผ่านไปแล้ว อโหสิกรรมไปแล้ว ทำไมมันยังมาอีกล่ะ? มันมาอีกเพราะมันมีสมุทัย มันมีกิเลสฝังไว้ในใจ

สิ่งที่กิเลสฝังไว้ในใจ กิเลสมันจะเอาความคิดไม่ดีของเรา เอาความเห็นของเรา เอาสิ่งที่มันฝังใจเรามาขยายผลไง ถ้ามันขยายผลเราก็มีสติปัญญาสิ สิ่งที่ไม่ดีแล้ว เราสำนึกดีแล้วเราก็ปล่อยวาง เราอย่าไปคิดถึงมัน นี่เราพยายามหักห้ามใจของเรา เราไม่คิดถึงสิ่งที่มันจะให้เป็นโทษกับเรา เราคิดแต่สิ่งที่ดีๆ สิ่งที่ดีๆ ที่เราจะทำความดีของเรา แล้วเราตั้งของเรา กำหนดพุทโธของเรา ควบคุมใจของเรา ถ้าเราควบคุมใจได้มันก็จบ

ควบคุมใจได้ เห็นไหม ความคิดทั้งหมดเกิดจากจิต เกิดจากพลังงาน มีพลังงานมันเสวยอารมณ์ใช่ไหม? เสวยออกมาเป็นความรู้สึกนึกคิด พอความรู้สึกนึกคิดมันก็ขยายผลต่อไป พอขยายผลต่อไป ถ้าเราตามสิ่งนั้นไปเราก็มีแต่อย่างนี้ เริ่มต้นว่าต้นไม้พิษๆ ต้นไม้คือพลังงาน อวิชชามันคิดออกมา ต้นไม้มันเป็นพิษ พอมันคิดสิ่งใดมันก็เป็นผลของมัน เราตั้งสติย้อนกลับมาๆ ไปที่ต้นไม้นั้น แล้วถ้ามีสติปัญญาต้นไม้นั้นมันจะไม่เป็นต้นไม้พิษ

ความคิดที่เป็นสิ่งที่ไม่ดี พอมันกลับมาอีก สิ่งที่มันกลับมาอีกเพราะเราไปตะครุบเงา ไปตะครุบสิ่งที่มันสร้างผลมา ต้นไม้พิษมันให้ผลเป็นพิษ สิ่งที่มันทำไม่ดีมันก็ให้โทษต่อๆ ไป แล้วถ้าเรามีสติปัญญา ถ้ามันสงบได้ อโหสิกรรมต่อกันได้จบ พอมันจบขึ้นมา ต้นไม้นั้นพอจิตสงบแล้วมันไม่มีอวิชชามันถึงสงบได้ พอสงบแล้วมันก็ปล่อยวางกัน แต่ถ้ายังชำระกิเลสไม่ได้ พอจิตมันเสื่อมมันก็คิดอีกแหละ

จะบอกว่าสิ่งนี้มันมีเกิดดับ ความคิดเกิดดับๆ มันมีของมันอยู่ ถ้ามีของมันอยู่ นี่เวลาไม่สำนึกผิดมันก็ไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึก เวลาสำนึกผิดแล้วจะบอกว่าอย่างนี้ไม่เกิดขึ้นมันก็ไม่ใช่ มันก็มีของมันเป็นธรรมดา แต่เรามีสติปัญญารักษาแก้ไข รักษาแก้ไขมันก็จบไป

ถาม : ประมาณ ๒ เดือนที่แล้วหนูขึ้นไปเจดีย์ครูบาอาจารย์มันร้อนมาก นี่มันร้อนเปลี่ยนจากคนอื่นไป ฝันว่าขึ้นไปเจดีย์ครูบาอาจารย์นะ แล้วทุกวันนี้หนูภาวนาอยู่ค่ะ

ตอบ : มันร้อนมากก็ปล่อยไป มันปล่อยได้นะ มันเป็นความฝันไง มันเป็นความฝัน เหมือนกับเรารู้สิ่งใดแล้ว เราจะแก้ของเรามันเป็นความฝัน นี่โลกแห่งความฝันกับโลกแห่งความเป็นจริง โลกแห่งความฝัน แต่ความฝันแล้วมันฝังใจเพราะอยากจะกลับมาเป็นคนดี ฉะนั้น ถ้ามันเป็นความฝันมันก็ปล่อยไป ความฝันมันแก้ไม่ได้เพราะเราขาดสติ ฉะนั้น เรามีสติเราตั้งสติของเรา เรากำหนดพุทโธของเรา พุทโธของเรา แก้ไขเรา

นี่เราจะแก้ไขเรา ทำดีต้องได้ดี เราทำดีของเรา อยากเป็นคนดี อยากทำคุณงามความดี นี่เราพอใจที่ว่านึกได้ สำนึกได้ คนสำนึกได้เหมือนกับคนยอมรับผิด คนยอมรับผิดแล้วขออภัยเราควรให้อภัยเขา นี่เราสำนึกผิดกับตัวเราเอง เวรกรรมมันอยู่ในใจไง สิ่งที่ไม่ดีก็เกิดจากใจเรา สิ่งดีก็เกิดกับใจเรา แล้วเกิดจากใจเราแล้ว พอเกิดจากใจเรา ความรู้สึกนึกคิดเวลามันแสดงออกไปมันก็แสดงออกไปจากความรู้สึกนึกคิดเรา นี้เรากลับมาแก้ที่นี่ มันก็จบกันที่นี่

นี้เป็นความฝัน ความฝันก็ฝันไป นี่เวรกรรมมันมา ฝันดิบ ฝันสุก คนเราเวลาฝันดิบ เห็นไหม ฝันดิบๆ เวลาเราอยู่ของเรา เราคิดของเราคือความฝัน เวลาฝันสุกๆ นอนหลับไปมันก็ฝัน นี่เวลาความฝัน เวลาฝันที่มันสุกคือฝันจริงๆ นั่นแหละ นี่เป็นความฝัน แต่ในความรู้สึก เราอยู่ในโลกแห่งความจริงคือโลกแห่งความฝัน ถ้าโลกแห่งความฝันคือฝันดิบๆ นี่ฝันดิบๆ พอฝันดิบๆ ความรู้สึกนึกคิดเราจะควบคุมได้ไหม? ถ้าสติปัญญาตั้งแต่ฝันดิบๆ เราควบคุมได้ เวลามันดีขึ้น เวลานอนหลับไปแล้วฝันสุกๆ คือฝันตามความเป็นจริงของมัน เราขาดสตินะเราจะคุมอย่างไร? แล้วดูแลตรงนั้น

ฉะนั้น ความฝันก็เป็นความฝัน มันเป็นการชี้บอก ชี้บอกว่าเราคิดอะไร เรารู้สึกอย่างไรมันจะมีจิตใต้สำนึกแสดงออกมา แล้วถ้าเราเห็นแล้วเราแก้ไขของเรา เพราะ

ถาม : เพราะหนูอยากเป็นคนดี หนูอยากกลับมาเป็นคนเดิมที่ยังเป็นเด็กดี หรือเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม

ตอบ : ถ้ามันจะดีกว่าเดิม เราอยู่กับความเป็นจริงนะ อยู่กับความเป็นจริง อยู่กับปกตินี่แหละ เราตั้งสติของเรา โลก เห็นไหม เวลาโลก สังคมเป็นใหญ่ ถ้าสังคมเป็นใหญ่ สังคม กระแสสังคม ถ้ากระแสสังคมนะอุปาทานหมู่ ถ้ากระแสสังคม ดูสิเวลากระแสมันเกิดขึ้น เขาปลุกกระแส เขาสร้างกระแสเกิดขึ้นมามันก็ไปตามกระแส ถ้าเราเป็นคนดีเราจะไปตามกระแสสังคมไหม? ถ้าเราเป็นคนดีนะ เราไม่ไปตามกระแสสังคมเราก็ไม่เป็นเหยื่อ เวลาคนนะ เวลาใครไปตามกระแสสังคม เห็นไหม พอกระแสนั้นหมดไปนะต่างคนต่างกลับมาตรวจสอบตัวเองว่าใครเป็นเหยื่อบ้าง ใครเป็นเหยื่อบ้าง แล้วตัวเองก็เป็นเหยื่อกันไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะเป็นคนดีกว่าเดิม เรามีสติปัญญาของเรา เราไม่ไปตามกระแสสังคม เราจะไปเป็นเหยื่อใคร? เราไม่เป็นเหยื่อใคร ถ้าไม่เป็นเหยื่อใครนะเราสร้างสติของเรา มันจะเป็นคนดีได้ เป็นคนดีได้ถ้าเราตั้งสติ ถ้าเราตั้งสติของเรา เรามีปัญญาของเรา เราจะเป็นคนดีของเรา หนูอยากเป็นคนดี ถ้าอยากเป็นคนดี ดีที่ไหน? ดีที่ไหน? ถ้าเป็นคนดี ไปอยู่สังคมใด สังคมเขาจะชักนำไปความดีของใคร

นี่สังคมที่ดีของเรา เราต้องมีศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่ศีลคือความปกติของใจ มันจะดีตรงนี้ ถ้ามีศีลมีเครื่องบังคับ ถ้าเรามีศีล มีธรรมของเรา เห็นไหม ถ้ามีศีล มีธรรม บ้านมีรั้วรอบขอบชิด เรามีรั้วก็เป็นศีล พอเป็นสมาธิขึ้นมา เราก็มีบ้านมีเรือนที่อาศัยของเรา แล้วถ้ามีสติปัญญาของเรา นี่โลกทัศน์ โลกนอก โลกใน โลกข้างนอกเราเกิดมาอยู่ในโลกนี้ โลกในคือวัฏวน คือโลกทัศน์ คือจิตปฏิสนธิจิตที่เวียนตายเวียนเกิดนี่โลกใน ถ้าเราเข้ามาที่โลกในของเราได้ เราแก้ไขโลกในของเราได้ เราเข้าใจ รู้แจ้งทั้งโลกนอกโลกใน ใจดวงนี้จะเป็นที่พึ่งใครก็ได้ ถ้าใจดวงนี้มันรู้แจ้งโลกนอกโลกในแล้วจบนะ

นี่จะดียิ่งไปกว่านี้ จะดียิ่งไปกว่านี้จะดีที่ไหน? ถ้ารู้แจ้งโลกในแล้วจบเลย ถ้าจบเราทำของเราได้ ถ้าเราตั้งใจของเราได้เราจะแก้ไขของเราให้เป็นประโยชน์กับเรา นี้พูดถึงว่า “หนูอยากเป็นคนดี” ถ้าหนูอยากเป็นคนดีหนูก็ต้องทำดี ทำดีเพื่อประโยชน์กับความดี ถ้าเป็นความดีได้มันก็เป็นความดีของเรา อันนี้อันหนึ่งนะ

ถาม : ข้อ ๑๒๔๘. เรื่อง “กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์” (นี่คำถามเขานะ)

ดิฉันได้นำสามีลูกมาหาหลวงพ่อที่วัด แล้วลูกก็ได้เอาบิดา มารดามาด้วย อยากให้บิดา มารดาไปหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดาของลูกยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ (นี่เขาว่านะ วันนั้นเขาพามาที่นี่) ขากลับพ่อพูดเรื่องธรรมตลอดทาง อย่างน้อยลูกไม่ห่วงพ่อแม่แล้วว่าสักวันท่านจะออกจากมิจฉาทิฏฐิได้ เพราะท่านได้เห็นแล้วว่าพระสุปฏิปันโนเป็นเช่นไร ตัวลูกจะยึดไม้หลักปักตมไว้ หากลูกยังเอาใจไม่รอด ไม้หลักยังมั่นอยู่ ลูกจะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องอื่นๆ เพราะการติดดีของลูกแล้ว จะไม่เอาพระธรรมของพระพุทธเจ้ามาสอนคนอื่น ทั้งๆ ที่ลูกยังมีกิเลสตัณหาเต็มในหัวใจ ขอบพระคุณมากค่ะ

นี่พูดถึงความดีๆ ถึงว่าถ้าเราไม่มีสติปัญญาเราก็เกิดจากพ่อจากแม่เหมือนกัน แต่เวลาอาศัยพ่อแม่อยู่ เวลามีสติปัญญาขึ้นมาแล้วก็อยากให้พ่อแม่เป็นคนดีเหมือนกัน คำว่าความดีของเรา คนถ้าจิตใจเป็นธรรมแล้วอยากให้พ่อแม่เข้าสู่สัมมาทิฏฐิ ถ้าพ่อแม่เข้าสู่สัมมาทิฏฐิ แล้วถ้าเปิดใจของพ่อของแม่ได้ นี่เวลาพ่อแม่มีบุญกุศล เวลาเวียนตายเวียนเกิดก็จะเวียนในวัฏฏะนี้ ฉะนั้น ก็เป็นห่วงเป็นใยกัน

ทีนี้คำว่าเป็นห่วงเป็นใยกัน เวลาพยายามจะดึงพ่อดึงแม่เข้ามา แต่พ่อแม่เขาเป็นพ่อแม่ ทิฐิมานะของพ่อแม่มหาศาลเลย เพราะ เพราะพ่อแม่เป็นคนเลี้ยงลูกมา นี่ลูกเกิดมาจากพ่อจากแม่ เวลาเลี้ยงลูกขึ้นมา ลูกของเราๆ ความยึดความมั่นอันนี้มันจะมีในใจ แล้วมันก็เกิด เห็นไหม เกิดที่ว่าถ้าเราทำสิ่งใดเราก็อยากให้ลูกเป็นคนดี พ่อแม่ก็คิดว่าอยากให้ลูกเป็นคนดี ลูกก็เป็นคนดี ลูกก็อยากให้พ่อแม่เปิดหัวใจ เปิดหัวใจเพื่อความดีของโลก

ความดีของโลก ลูกมีเหย้ามีเรือน เป็นฝั่งเป็นฝา ลูกประสบความสำเร็จทางโลกพ่อแม่ก็ดีใจ อันนี้เป็นเรื่องโลกๆ นะ แต่ถ้าความคิดที่ลึกเข้าไปในใจใครจะมองใจของใครได้ นี่พ่อแม่ถ้าเขามีความปรารถนาอันหนึ่งเขาก็อยากให้ลูกของเราประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเรียงนามไปถึงสุดขอบฟ้าถึงจะเป็นความพอใจของตัว แต่ลูกมันมีความสุขในครอบครัวแล้วก็อยากให้พ่อแม่มีที่พึ่งของใจ ถ้ามีที่พึ่งของใจ นี่ต่างคนต่างคิดไง ลูกก็ว่าพ่อแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไอ้พ่อแม่ก็บอกว่าลูกไม่เอาไหนเลย ไม่ทำหน้าที่การงานเลย มันก็ต่างคนต่างคิดไง

พอต่างคนต่างคิดเพราะอะไร? เพราะจิต เห็นไหม จิตของคนหลากหลายนัก ความรู้สึกนึกคิด แค่ไหนเป็นความพอดีของโลก แค่ไหนเป็นความพอดีของธรรม ถ้าความพอดีของธรรมนะ เวลาถึงที่สุดปฏิบัติธรรมถึงที่สุดแห่งทุกข์นี่จบ ธรรมมันมีความเต็ม แต่โลกมันมีแค่ไหนล่ะ? โลกมีแค่ไหน ว่าแค่ไหนเป็นความพอดีว่าพ่อแม่หวังขนาดนี้ ลูกหวังขนาดนี้ ทุกคนหวังขนาดไหนถึงจะเป็นเป้าหมายที่ทุกคนหวังเหมือนกัน

แต่ถ้าลูกจิตใจเขาเป็นธรรมนะ สิ่งที่เขายืนอยู่ได้อยู่ในสังคมเขาพอแล้ว แต่สิ่งที่ว่าเขาพอแล้ว เขาพอแล้วเขาก็เป็นคนรวยแล้ว แต่ถ้าเป็นใครคนหนึ่งบอกว่ายังไม่พอๆ เขายังเป็นคนจนอยู่เขาก็แสวงหากระเสือกกระสนของเขาไป เขาทุกข์ตายห่าเลย แต่ถ้าใครทางโลกเขามีเป้าหมายว่าพอแล้ว เป้าหมายว่าพอแล้วหมายความว่าชีวิตนี้อยู่แล้ว ปัจจัยเครื่องอาศัยเราอยู่ได้แล้ว แต่เราอยากจะมีที่พึ่ง ที่พึ่งที่ความเป็นจริงเพราะเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเขาปฏิบัติ ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่ว่ามีความเห็นแตกต่างกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ความเห็นแตกต่างกันถึงได้เป็นห่วงเป็นใยกัน คำว่าเป็นห่วงเป็นใยนะ เวลาเป็นห่วงเป็นใย เราก็เป็นห่วงเป็นใยกันทุกๆ คน แต่ทีนี้เพียงแต่ว่าเราทำได้หรือเปล่า การกระทำนะถ้าเราทำแบบไม่ทำ คืออยากจะเอาพ่อแม่นั่นแหละ แต่ถ้าเราไปเจาะจง เราไปตีเส้น ไปตีกรอบมันก็มีแรงต้าน แต่เราทำแบบไม่ทำไง คือเราเสนอในทางที่ดี ชักชวนในทางที่ดี ถ้าความเห็นตรงกัน ความเห็นเป็นไปมันก็ง่าย แต่ถ้าเราตีกรอบ เรามีเส้น ไอ้ตรงเส้นนั้นไม่มีใครอยากเข้าไปใกล้ ไม่อยากเข้าไปใกล้เส้นนั้น

แต่ถ้าเราไม่มีกรอบเลยนะ ทุกคนก็ปรารถนาดีทุกคน แต่เราไม่มีกรอบไง ไม่มีเส้น ถ้าเราทำให้มันเป็นอย่างนั้นจริงได้ ทุกคนก็ปรารถนาอย่างนั้น ทุกคนก็ปรารถนาให้มันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นได้เราก็พอใจ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นไม่ได้เราก็หาวิธีการของเรา เราก็พยายามของเราให้เป็นวิธีการอย่างนั้น แต่ถ้ามีเส้น ไอ้เส้นแบ่งนั้นแหละ เส้นแบ่งกรอบนั้นแหละมันจะเป็นประเด็น เป็นประเด็นให้มีความเห็นแตกต่าง แล้วมีความเห็นแตกต่างมันก็มีปัญหาขึ้นมาแล้ว

ฉะนั้น เวลาเราทำขึ้นมา เห็นไหม เราทำแบบไม่ทำ ทำแบบไม่ทำมันจะได้ ทำแบบพยายามจะทำมันจะไม่ได้ เว้นไว้แต่เกิดมาเป็นสัมมาทิฏฐิด้วยกันทั้งหมด มีความรู้ความเห็นเหมือนกัน พ่อแม่ปลูกฝังลูกไว้ที่ดี เวลาทำสิ่งใดลูกจะเดินตามพ่อแม่ไปเลย เออ ถ้าอย่างนั้นมีเส้น มีเส้นได้ มีกรอบได้ เพราะเราทำกันมาด้วยความเห็นอันเดียวกัน คือเล่นกีฬาชนิดเดียวกัน มีกติกาเดียวกันมันคุยกันง่าย แต่เล่นกีฬาคนละชนิด กติกาก็คนละอย่าง เวลาเล่นก็เล่นคนละสนาม แล้วก็จะคุยเอากติกากัน อันนี้ไม่มีกรอบ ไม่มีกรอบ ไม่มีกติกา แล้วทำแบบไม่ทำ ถ้าทำแบบไม่ทำมันจะใช้ได้นะ

ฉะนั้น ถ้าเขาบอกว่าเขาพาพ่อแม่มาที่นี่ แล้วพอพ่อมาเห็นไง พ่อมาเห็นเข้า พ่อมาเห็นเข้ากลับบ้านไปพูดธรรมะตลอดเวลาเลย ลูกดีใจมาก ถ้าดีใจมาก ดีใจมากเราก็ยังทำตัวของเราเป็นที่ดีต่อไป ความดีนะ ความดีที่ดียิ่งไปกว่านี้ยังมีอยู่ ความดีที่เราเห็น ดูสิเขาอาบเหงื่อต่างน้ำ เขาอาบเหงื่อ หาเงินหาทองกัน เขาทุกข์เขายากกันหมดเลย แล้วเวลาบอกว่าทุกข์มากๆ อยากจะพ้นจากทุกข์ อยากจะพ้นจากทุกข์ อยากจะพ้นจากทุกข์ต้องปฏิบัติ

เวลาปฏิบัติไม่ต้องทำอะไรเลยนะ เวลาทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ของหนักขนาดไหนก็ยกได้ เวลานั่งเฉยๆ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธทำไม่ได้ เวลาอาบเหงื่อต่างน้ำนี่ทำได้หมด เหงื่อไหลไคลย้อยทำได้หมดเลย ทุกอย่างทำได้หมดเลย นั่งเฉยๆ เอาใจไว้นี่ทำไม่ได้ ทำไม่ได้ นั่งเฉยๆ นี่งานอันละเอียด เห็นไหม เวลางานหยาบๆ ทุกคนเห็นได้ ทุกคนอาบเหงื่อต่างน้ำทุกข์ได้ เวลางานอันละเอียดนะ เอาใจไว้ในอำนาจของเรานี่งานละเอียดมาก ถ้างานละเอียดมากเขาต้องมีอุบายไง อย่างที่ว่าทำแบบไม่ทำ เราจะไปเอาใจที่ไหนล่ะ? ใจมันก็เป็นนามธรรม ใจมันก็เป็นความรู้สึกนึกคิด แล้วทำอย่างไรล่ะ?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บอกว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้องไง กำหนดพุทโธ พุทโธซะ พุทโธ พุทธานุสติ เอาความรู้สึกทั้งหมดมาไว้ที่พุทโธ เห็นไหม ต้องมีคำบริกรรม กำหนดลมหายใจเข้าออก ถ้ามันไปไหนไม่ได้ก็ระลึกถึงความตาย ระลึกถึงกระดูก ระลึกถึงหนัง ระลึกถึงเนื้อ เพราะให้มันมาเกาะไว้ นี่สิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดมันเป็นนามธรรม เราจะจับต้นชนปลายมันอย่างไรล่ะ? คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ เดินไม่ถูกนะ ทำงานอย่างอื่นทำมาแล้วทั้งนั้น หลวงตาเวลาท่านพูดบ่อย ตอนที่ว่าศาสตราจารย์นายแพทย์นะไปอยู่กับท่าน เก่งมาก แล้วเวลาสุดท้ายก็มาบวช บวชพรรษาเดียวก็สึกไป

หลวงตาท่านพูด เราอยู่นั่นด้วย ดูสิงานอย่างอื่นทางโลกทำได้หมดเลย งานที่ว่ายากแสนยากเขาทำได้ทั้งนั้นแหละ เวลาภาวนาขึ้นมานี่ทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ขึ้นมา คนเรามันทำไม่ได้ ยิ่งอย่างนั้นยิ่งทำไม่ได้ เพราะ เพราะว่าความคิดมาก ความคิดมาก ผ่านงานมามาก แล้วเราจะมาสะสางความคิดให้มันวาง ให้มันปล่อยมันยิ่งทำได้ยากขึ้นไป พอทำได้ยากขึ้นไป เห็นไหม เหมือนเด็กๆ เด็กๆ ถ้ามันทำนะ ร่างกายก็ยังแข็งแรงอยู่ ดูเด็กเวลามันวิ่งเล่นสิ มันยิ่งหกล้มมันยิ่งโต คนแก่เดินหกล้มหน่อยเดียวขาหักเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่มันสะสมมาๆ มันเป็นคนขี้โรค แต่เวลาประสบการณ์ทางโลกเรายังน้อยอยู่ เห็นไหม เราพยายามทำใจของเรา ถ้าทำใจของเรามันจะทำขึ้นมาได้ ถ้าทำขึ้นมาได้ นี่งานภายในๆ ที่ว่างานอันละเอียด งานอันละเอียดถ้าทำขึ้นมาได้ ทำขึ้นมาได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ความเห็นไง ความเห็นระหว่างพ่อกับลูกในครอบครัว

คนเวลาเจอเพื่อน เจอต่างๆ เราทักทายกันได้ เราบอกเป็นห่วงเป็นใยกันได้ แต่เวลาคนในครอบครัวไม่พูด ไม่พูดนะ คนในครอบครัวมันไม่กล้าพูด มันเขิน มันอาย แต่เวลาเพื่อนๆ เจอกันนะโอ๋ย เป็นอย่างไร? สุขสบายดีไหม? แต่เวลาพ่อแม่ไม่เคยคุยกัน ไม่เคยถาม ไม่เคยถามเลย ในบ้านไม่เคยถามเลย นั้นเพราะมันใกล้ชิดไง

นี่ก็เวลาพ่อแม่นะ แล้วตัวเราล่ะ? ในใจของเราล่ะ? ถ้าในใจของเรานะ ถ้าเราว้าเหว่ เห็นไหม ว้าเหว่เราจะพูดกับใคร ถ้าจิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์เรารู้ของเราขึ้นมา ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ แม้แต่เราเป็นฆราวาสนี่แหละ เราทำอาชีพนี่แหละ แต่ถ้าจิตใจเราไม่ว้าเหว่ มันทำสิ่งใดมันทำด้วยกำลังที่มันเป็นสัมมาทิฏฐินะ ทำด้วยความเต็มไม้เต็มมือ แต่เวลาจิตใจที่มันว้าเหว่ ทำสิ่งใดมันว้าเหว่ มันไม่มีหลักยึดเลยแม้แต่เป็นฆราวาส มาเป็นพระนะ มาเป็นพระไปอยู่ป่าอยู่เขาอยู่องค์เดียว เวลาอยู่ในหมู่คณะมันนอนใจ แยกออกไปเป็นหน่อแรด ไปอยู่ในป่าในเขาอยู่องค์เดียว

เวลาไปอยู่ในป่าในเขาอยู่องค์เดียว ถ้าจิตใจมีหลักมีเกณฑ์มันไม่กลัวสิ่งใดเลย ไม่กลัวสิ่งใดเลย แม้แต่ว่าอยู่ในป่าในเขานะ สัตว์ร้ายก็เยอะแยะไป แล้วสิ่งที่กลางคืนมืดขึ้นมา เราไม่รู้ว่าจะมีพวกภูต ผี ปิศาจที่จะมารังควานเราไหม? นี่จิตใจมันกลัวไปหมดเลย เพราะมันเหมือนคนจนตรอกอยู่ที่นั่นองค์เดียว ถ้าคนไม่มีสตินะ คนไม่มีสติมันจะมีความหวาดกลัวมาก แล้วพอหวาดกลัวมาก คืน ๒ คืนหนีแล้ว

แต่ถ้าคนเข้าไปอยู่ในป่านะเขามีหลักมีเกณฑ์ของเขา ถ้ามีสิ่งใดที่เขาระลึกถึงพุทโธของเขา ถึงมีสติปัญญาของเขา เขารักษาใจของเขา ยิ่งประพฤติปฏิบัติมันยิ่งก้าวหน้าๆ เพราะอะไร? เพราะจิตใจมันไม่นอนจมอยู่กับกิเลสไง จิตใจมันตื่นตัวตลอดเวลาไง แต่ถ้าเราอยู่กับหมู่คณะมันนอนใจ เออ ออกพรรษาค่อยไป อืม ปีหน้าค่อยธุดงค์ นี่มันนอนใจไง มันอยู่มันสุขสบายไง แต่ถ้าเราไปอยู่ของเราคนเดียวจิตใจมันตื่นตัว ถ้ามันตื่นตัวมันแก้ไขของมัน มันปฏิบัติของมัน

นี่ที่ไปป่าไปเขากันเพราะเหตุนี้ เราไม่เห็นประโยชน์ไง ไม่เห็นประโยชน์การธุดงค์ ไม่เห็นประโยชน์กับการออกวิเวก เห็นเวลาปฏิบัติแล้ว เราเป็นคนดีแล้ว แต่ถ้าออกไปวิเวกนะ มีบิณฑบาตได้ก็ได้ฉัน บิณฑบาตไม่ได้ก็ไม่ได้ฉัน ๓ วัน ๔ วันถ้าบิณฑบาตไม่ได้เลยก็ไม่ต้องฉัน อยู่ของเราไปอย่างนั้น นี่แล้วชีวิตนะ ดูสิเวลาคนหลงป่า คนหลงป่านี่เขาหลง หลงป่าแล้วไม่มีทางออก แต่เวลาพระไปอยู่ในป่าล่ะ?

พระไปอยู่ในป่า เห็นไหม เขาอยู่ในป่า อยู่ในป่าเขามีทางเข้าทางออก เขารู้ทางของเขา เพราะเขามีความชำนาญของเขา เลือกเอง เลือกที่ไกลๆ บ้าน เลือกที่พอบิณฑบาตได้ แต่ถ้าเวลาเข้าป่าลึกๆ ไปหลงก็มี พระหลงป่าก็มี หลงป่าพอมันไปแล้วมันจับต้นชนปลายไม่ได้แล้ว จับต้นชนปลายเพราะมันหลงทิศ หลงทุกอย่างไปเลย แล้วจะออกทางไหน นี่หลงป่านะ แต่ปัจจุบันนี้เราหลงในใจของเรา ในใจของเราหลง ถ้าใจของเราหลง เราทำของเราให้มันถูกต้องดีงามมันก็จบนะ

นี่เขาขอบคุณมา เรื่องว่าตัวเองก็มีปัญหาของตัวเอง เพราะว่าตัวเองบอกว่าต่อไปนี้ถ้ายังไม่รู้จริงจะไม่เอาความดีของเรา ไม่เอาธรรมของพระพุทธเจ้าไปสอนคนอื่น ถ้าไปสอนคนอื่น เพราะวันนั้นมาเขาพูดไงว่าเขาพยายามจะไปชี้นำเพื่อนเขา เราบอกว่ามันเป็นกรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์หมายความว่าถ้าเราพอใจอาจารย์องค์ใด เราฟังสิ่งใดแล้วมันถูกใจเรา แต่คนอื่นเขาฟังแล้วไม่ถูกใจก็เยอะแยะไป มันไม่ถูกใจกัน สายบุญสายกรรมไง

ฉะนั้น สายบุญสายกรรมเรื่องของเขา เราทำเรื่องของเรา เวลาครูบาอาจารย์องค์อื่นเขาบอกว่าดีมากๆ เลย เราไปฟังแล้วเราไม่เข้าใจก็ได้ แต่ถ้าเราฟังของเรา เรามีครูบาอาจารย์ของเรา มันตรงกับจริต ตรงกับนิสัยของเรา ถ้ามันตรงจริต ตรงนิสัยหนึ่ง แล้วอย่างที่ว่าคนด้วย คนถ้าจิตใจมันเป็นธรรมนะมันต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่ว่าจะไปตามกระแสโลก กระแสโลกหมายความว่าปฏิสันถาร กระแสโลกปฏิสันถารคือการเอาอกเอาใจกัน การดูแลอะลุ่มอล่วยต่อกัน แต่ถ้าเป็นธรรมนะมันจะซื่อตรง ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก จะใครก็แล้วแต่ผิดเป็นถูก

นี่หลวงตาท่านบอกว่าสมัยอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาพูดกันส่วนตัวหมายความว่าอยู่กันโดยสังคม อยู่กันแบบอาจารย์กับลูกศิษย์ ท่านบอกเหมือนพ่อกับลูกเลย พูดกันนี่ดีมาก นี่ท่านเป็นห่วงเป็นใยมาก เป็นห่วงเป็นใยเพราะอะไร? เป็นห่วงเป็นใยเพราะว่าใครที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมานะ แล้วถ้ายังเอาตัวเองรอดไม่ได้ เพราะมันยังรู้ว่าชีวิตนี้ยังไม่ปลอดภัย นี่เป็นห่วงเป็นใยมาก จะพูดกันเป็นภาษาพ่อ ภาษาลูกเลย แต่เวลาพูดธรรมะทีไรหงายท้องทุกทีเลย นี่เพราะว่าเวลาพูดถึงธรรมะมันต้องถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ต้องซื่อตรง ต้องสัจธรรมคือสัจธรรม ฉะนั้น ถ้าสัจธรรมมันเป็นความจริง ความจริงมันไม่ใช่กระแสโลก

ถ้าเป็นกระแสโลก เห็นไหม กระแสโลกนี่ปฏิสันถาร การอะลุ่มอล่วยต่อกัน เพราะมันเป็นเรื่องน้ำใจต่อกัน นั่นเป็นกระแสโลก แต่ถ้าเป็นธรรม น้ำใจเราก็มีอยู่ แล้วน้ำใจที่ดีกว่าคือน้ำใจต้องการความจริงกับลูกศิษย์ ฉะนั้น ผิดต้องบอกว่าผิด ถ้าผิดบอกว่าผิด ผิดแล้วแก้ไขอย่างไร? ผิดเพราะอะไรถึงผิด ถ้ามันผิด ผิดเพราะอะไร? ผิดเพราะอะไร? สมาธิมันเป็นสมาธิไหม? ปัญญาเป็นปัญญาไหม? ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาที่กิเลสมันเข้ามาร่วมด้วย คือว่ามันจะมีสมุทัยร่วมอยู่ ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่มัชฌิมาปฏิปทา ปัญญาที่มันสะอาดบริสุทธิ์ ที่มีมรรค ๘ มันเป็นอย่างไร? มันต้องกลั่นกรองขึ้นมา มันต้องปฏิบัติขึ้นมา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ถ้าเขาปฏิบัติขึ้นมา ถ้ากำลังปฏิบัติอยู่ ถ้าครูบาอาจารย์ไม่บอกเขาก็นอนจมอยู่อย่างนั้น เพราะ เพราะสิ่งที่เราเข้าไปเจอใหม่ๆ มันจะแปลกประหลาดมหัศจรรย์ คือปัญญาอย่างนี้มันไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น มันเพิ่งเกิดขึ้นกับจิต จิตมหัศจรรย์มาก มันก็บอก โอ๋ย อันนี้จริงๆ แต่ความจริงมันต้องลึกเข้าไปอีก มันยกขึ้นสูงขึ้นกว่านั้นไปอีก นี่ครูบาอาจารย์ต้องคอยดึง คอยบอก คอยชี้ คอยแนะ นี่จริงคือจริง ความจริงถ้ามันถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติเป็นความจริงขึ้นมานะ ถ้าใจมันเป็นจริงขึ้นมาเราจะเป็นความจริง แล้วจริตนิสัยถ้ามันตรงกันมันก็เข้ากันได้ ถ้ามันไม่ตรงกันนะ เราปฏิบัติแล้วนะ โอ๋ย เกือบเป็นเกือบตายเลย ถ้าใครบอกว่าถูก ใครบอกว่าดีงามหน่อยก็เชื่อเขา ก็ชอบอย่างนั้น ไม่อยากให้มันทุกข์ยากมากไปกว่านั้น

นี้พูดถึงว่าสายบุญสายกรรมไง นี่ถ้าเรารู้จริงของเราแล้วเราเข้าใจได้ พอเราเข้าใจได้แล้ว เห็นไหม อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า เพราะพระอริยเจ้ารู้ถูกรู้ผิด แล้วพูดออกไปเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าในสังคม ในสำนักที่ปฏิบัติอยู่ท่านพูดจริงหมดแหละ แต่เวลาปฏิสันถาร เวลาคุย นี่ถ้าพูดออกไปมันกระทบเขา หรือพูดออกไปแล้วมันสะเทือนคนอื่นท่านถึงไม่พูดไง

นี่พระอริยเจ้ารู้ถูกรู้ผิดด้วย แล้วพูดออกไปเป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ด้วย ทีนี้พอเราเห็นว่านั่งเฉยๆ ผิดก็ไม่พูด ถูกก็ไม่พูด นึกว่าไม่มีปัญญา พูดออกไปแล้วมันไม่เป็นประโยชน์ไง พูดออกไปแล้วมันไม่เป็นประโยชน์กับใคร ฉะนั้น พระอริยเจ้าถึงนิ่งอยู่ไม่พูด แต่ถ้าเวลาให้ท่านพูด ท่านพูดความจริงนะน้ำไหลไฟดับเลยล่ะ เพราะ เพราะปัญญาของท่านมหาศาล ปัญญาการชำระกิเลส เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ แต่ละขั้น แต่ละตอน ปัญญามันมหาศาล

มันเป็นสติปัญญา มหาสติ มหาปัญญา มันมีปัญญาอัตโนมัติเป็นชั้นเป็นตอนนะ ปัญญาของขั้นโสดาบันอย่างหนึ่ง ปัญญาของขั้นสกิทาคามีอย่างหนึ่ง ปัญญาของขั้นอนาคามีอย่างหนึ่ง ปัญญาของขั้นอรหันต์อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกันหรอก แล้วคนที่มันชำระกิเลสได้เป็นพระอริยเจ้า คิดดูสิว่าปัญญามันมากมายขนาดไหน ทำไมเขาไม่พูดออกมาล่ะ? ก็เขาไม่เอาหญ้าไปให้ควายกินไง ควายมันต้องกินหญ้า เขาไม่พูดกับควายไง แต่เขาจะพูดกับคน

ถ้าคนมีปัญญาท่านจะเปิดเลย แต่ถ้าควายมา อ้าว เอ็งเอาหญ้าไปกำหนึ่งก็แล้วกัน แต่ถ้าเป็นคนมาท่านจะพูดให้ฟังนะ ท่านจะแยกแยะแจกแจง นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ฉะนั้น ถ้าท่านพูดออกมานี่น้ำไหลไฟดับเลย แต่ท่านไม่พูด เพราะคนกับควายพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ควายก็หญ้ากำหนึ่งก็แล้วกัน เวลาคนท่านอธิบายให้ฟัง นี่พูดถึงความจริงนะ

ฉะนั้น ถ้ากราบขอบพระคุณ สิ่งที่เป็นจริงก็คือเป็นจริง สำนึกดีเป็นความดีนะ ถ้าสำนึกดี อยากเป็นคนดี แต่อันที่ ๒ นี้ ตัวเองดีแล้ว คิดว่าดีแล้วอยากให้พ่อแม่ดี แล้วตัวเองก็ต้องดีด้วย ทำดีต้องได้ดี เอวัง