ตื่นรู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๑๒๕๔. เรื่อง สงสัยเกี่ยวกับอาการ
ช่วงนี้มีอยู่ ๒ วันที่ผมนอน ช่วงหลับแรกๆ จะเหมือนตัวตกจากที่สูง (แต่ยังท่องพุทโธหรือทำอานาปานสติได้นะครับ หรือเหมือนตัวควงสว่านล่องลอยอยู่ในอากาศ แต่ก็ยังท่องพุทโธได้) สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติ หรือเป็นอาการที่สามารถบอกเกี่ยวกับการภาวนาว่าต้องปรับปรุงหรือเปล่าครับ ผมคิดว่ามันเป็นอาการของภวังค์ รบกวนหลวงพ่อตอบด้วย
ตอบ : มันไม่เป็นอาการอะไรหรอก มันเป็นอาการมันจะหลับ มันหลับแล้ว เพราะคำถามว่า
ถาม : ช่วงนี้มีอยู่ ๒ วันที่ผมนอน ช่วงหลับแรกๆ
ตอบ : ช่วงหลับแรกๆ ช่วงหลับแรกๆ มันก็นอนแล้วแหละ ถ้านอนแล้วนะ เวลาเราทำกัน ถ้าขาดสติแล้ว สมาธินะถ้าทำสักแต่ว่า คือเราไม่มีสติพร้อม พุทโธ พุทโธสักแต่ว่าพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ความคิดคือปัญญา ใช้ความคิดนี่ แต่มีสติมันเป็นปัญญา แต่พอสติมันอ่อนปั๊บมันก็จะเป็นสัญญา สัญญาคือว่ามันเป็นความจำ มันเป็นสัญชาตญาณ มันไปตามสัญชาตญาณของมัน นั่นคือขาดสติแล้ว เพราะสรรพสิ่งเป็นเราไง กิเลสเป็นเรา ธรรมะเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา เพราะเป็นเราไง เพราะเป็นเราเลยไม่ได้อะไรเลยไง แต่ถ้ามันไม่ใช่เรา อะไรไม่ใช่เรา มันต้องรู้ต้องเห็นเป็นขั้นตอนของมันไปไง
ฉะนั้น ถ้าสักแต่ว่า ทำแต่สักแต่ว่า สติไม่ดี เห็นไหม แม้แต่ปัญญาอบรมสมาธิ ทีแรกก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ หมายความว่าสติมันดี พอปัญญามันหมุนไปสติมันตามทันหมด พอตามทันหมดมันก็เป็นไปตามแบบว่าเหมือนเป็นเอกภาพไปในช่องทางเดียวกัน แต่พอขาดสติปั๊บปัญญามันแกว่งแล้ว คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ซ้อนมาเรื่อยๆ นี่มันไปแล้ว แล้วก็บอกว่านี้เป็นปัญญาอบรมสมาธินะ เพราะมันขาดสติไง
นี่มันจะลงสู่ภวังค์ มันจะลงสู่การหลับใหล หลับใหลในอะไร? หลับใหลในกิเลสไง ให้กิเลสมันเหยียบย่ำเอาไง แต่ถ้าบอกว่าช่วงแรกๆ เหมือนจะหลับ แล้วมีอาการ ถ้ายังพุทโธยังพุทโธได้ ถ้ายังท่องพุทโธได้ นี่มันจะควงสว่านขนาดไหนมันไป คือว่าเราจะนอนแล้วแหละ คำถามว่าผมนอน ช่วงแรกผมนอน ถ้านอนแล้วก็คือนอน ถ้านอนพุทโธให้มันหลับไป เราปฏิบัติมาแล้วใช่ไหม? แต่เราจะพักผ่อนเราก็นอนพุทโธ พุทโธ หลับก็หลับกันไปเลย แต่ถ้ามันนั่งไง ถ้ามันนั่งอยู่ ถ้าพอพุทโธ พุทโธ พุทโธมันจะลงนะ ขณิกสมาธิมันจะละเอียดเข้ามา เริ่มรับรู้ตัว
นี่เรานั่งพุทโธใหม่ๆ พุทโธ พุทโธ พอเป็นขณิกะมันเริ่มรู้ตัวชัดเจน มันเริ่มปล่อยวางข้างนอกเข้ามา ขณิกสมาธิ ถ้าอุปจารสมาธิละเอียดเข้ามาแล้ว ละเอียดเข้ามาแล้วมีกำลัง กำลังมันออกรับรู้ได้ มันยังมีความรับรู้สึกได้ พุทโธต่อไป พุทโธต่อไป มันจะลงอัปปนาสมาธินี่ดับหมดเลย อายตนะดับหมด อายตนะดับหมดเลย แม้แต่ตัวเองก็ไม่มี ตัวเองก็ไม่มี แต่มันมีความรู้สึกอยู่ คือสักแต่ว่ารู้ นั่นจิต ถ้ามันเข้าสู่อัปปนาสมาธิ อันนั้นเป็นอัปปนาสมาธิ นี้เวลานั่งสมาธิชัดเจนนะ แต่ถ้าพอมันคลายออก มันจะอยู่อย่างนั้นไม่ได้
เหตุที่เป็นขณิกะ เป็นอุปจาระ เป็นอัปปนา เพราะธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ไม่มีของฟรี ไม่มีของฟลุค สิ่งที่ส้มหล่น คนมีอำนาจวาสนานะ พอภาวนาไป สักแต่ว่าทำไป ทำเล่น ทำจริงไปเรื่อยๆ มันลงได้ มันลงได้นั่นคือคนมีวาสนา คือเราทำบุญกุศลมา คนเราทำบุญกุศลมา อย่างเช่นทางโลกเดี๋ยวก็ลาภลอยมา บางคนก็ทุกข์ยาก นี่มันแตกต่างกัน
ฉะนั้น สิ่งที่เวลามันเป็นสมาธิมันอยู่อย่างนั้นไม่ได้หรอก ที่มันเป็นอย่างนั้นเพราะเรามีสติ เพราะมีสติ เพราะมีคำบริกรรม หรือเพราะมีสติ เพราะมีปัญญาอบรมสมาธิมันถึงเข้าไปสู่ขณิกะ อุปจาระ อัปปนาด้วยเหตุด้วยผล ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติ ด้วยคำบริกรรมที่ชัดเจนขึ้นไปมันกล่อมใจ จนใจมันละวางเข้ามา มันถึงได้เป็นผลอย่างนั้นๆๆ ทีนี้ผลอย่างนั้นมันเกิดจากอะไร? เกิดจากเหตุที่เราส่งขึ้นไป พอส่งขึ้นไป ถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องคลายตัวออกมาเป็นธรรมดา แล้วสมาธิมันก็คลายตัวออกมาเป็นธรรมดา ถ้าเหตุมันสมควรมันก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเหตุมันอ่อนลง เหตุมันด้อยลงมันก็คลายตัวออกมาเป็นปกติ
ถ้าเป็นปกติ นี้เวลาเราปฏิบัติโดยชัดเจนนะ เราปฏิบัติโดยการตั้งใจปฏิบัตินะ แต่ถ้า ถ้าเราจะนอน เราจะพักผ่อน เราปฏิบัติเราจะพักผ่อน พักผ่อนเราก็นอน เราก็นอนพุทโธไปเพราะเราเป็นนักปฏิบัติ พอพุทโธไป อาการที่มันเป็นมันจะเป็น เวลาเอาจริงเอาจังมันไม่ได้ แต่เวลาทำเล่นทำอะไรมันจะได้ไง เอาจริงเอาจังคือมันเกร็ง มันเกร็ง กิเลสมันหลอก แต่เวลาเราทำนี่เราทำโดยที่ไม่หวังผล เราทำโดยสัจจะ ทำโดยธรรมชาติของมัน นี่เวลานอนมันปล่อยวางหมดไง นี่มันเหมือนกับตัวมันจะสูงขึ้น ตกจากที่สูง
ถ้ามันเป็นนั่งอยู่นะ ถ้าตกจากที่สูง นี่วูบลง เวลาจิตมันจะรวมลงนะบางทีมันวูบลงก็ได้ ตกจากที่สูงก็ได้ สิ่งที่มันจะเข้าสู่ เห็นไหม มันจะเข้าสู่สมาธิมันเป็นไปได้ แล้วบางทีมันควงสว่าน มันเป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ จิตนี้เป็นไปได้ร้อยแปด แต่อาการทั้งนั้นไม่ใช่ความจริง พอความจริงมันจะไปถึงที่สุดของมันนะ กึก วื้ดๆ วื้ดขนาดไหนนะไปกับมัน แต่พอเราวื้ดนี่สะดุ้งแล้ว วื้ดเรากลัวแล้ว โดยธรรมชาติคนจะกลัว โดยธรรมชาติ เพราะเหมือนตกจากที่สูง แล้วพอลมหายใจมันเริ่มเบาลงๆ กลัวตาย โดยธรรมชาติคนมันกลัวตาย รู้ไปก่อนไงก็เลยไม่ได้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าต้องรู้ ต้องตื่นรู้ ต้องชัดเจน ตื่นรู้ไม่ใช่หลับไง เวลาจะหลับมันจะลงสู่ภวังค์ ถ้าสู่ภวังค์ ขณะนั่งยังนั่งหลับเลย ไอ้นี่นอน นอนไป กรณีว่าถ้าเราพักผ่อนแล้วยกไว้เลย เพราะเรารู้ว่าเรานอนใช่ไหม? แต่เวลาครูบาอาจารย์ ท่านเป็นพระอริยบุคคลนะ เวลาท่านนอนฝันก็ชัดๆ นะ คำว่าฝันของพระอริยบุคคล ฝันนั้นมันไม่มีส่วนร่วม มันมีสิ่งใดสื่อความหมายได้
ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมท่านจะไม่บอกหรอกว่าท่านนิมิตเห็น ท่านจะบอกว่าฝันว่ะ ฝันว่ะ นั่นแหละของจริงทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าของปลอมบอกว่านั่งเห็นนะ บอกเห็นตั้งแต่ชาติที่แล้วนะ โกหกทั้งนั้นแหละ ถ้าของปลอมมันปลอมมาตั้งแต่ต้น มันปลอมมาตั้งแต่จิต จิตมันจอมปลอมมาตั้งแต่เริ่มต้น มันพูดอะไรมีแต่ความจอมปลอมไปทั้งหมด แต่จิตที่ใสสะอาด จิตที่มีคุณงามความดี พูดอะไรมาท่านพูดออกมาด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านพูดมาเพื่อประโยชน์ ประโยชน์กับใคร? เวลาภาวนาประโยชน์กับใคร? ก็ประโยชน์กับตัวเราเอง
เวลาเรารู้เราเห็น ใครไปรู้ไปเห็น ก็เรารู้เราเห็นเอง แล้วจะบอกว่าใครรู้ล่ะ? คนที่จิตใจเขาสะอาดบริสุทธิ์เขาไม่โอ้อวด ไม่พูดสะเปะสะปะไร้สาระหรอก ถ้าจิตท่านใสสะอาด แต่ไอ้พวกสกปรกนั่นแหละ นี่พูดถึงเวลาทางโลกนะ ฉะนั้น มาถึงในการปฏิบัติของเรา ถ้าเราปฏิบัติของเรา ถ้ามันจะเป็นอย่างนั้น นั่นล่ะมันจะไปแล้วล่ะ
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าช่วงที่จะหลับแรกๆ หลับแรกๆ มันก็นอนแล้ว เวลานอนหลับพักผ่อนก็เรื่องหนึ่ง เวลาปฏิบัติก็เรื่องหนึ่ง อย่าเอามาคลุกเคล้ากัน ฉะนั้น ต้องตั้งสติ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ต้องตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา ต้องตื่นรู้นะไม่ใช่หลับรู้ หลับรู้นั่นมันนอนหลับแล้ว การหลับมันเป็นสิ่งที่ว่ามันจะเป็นการชักนำไปสู่มิจฉา เพราะการหลับมันขาดสติ การหลับมันเป็นการพักผ่อนไป พักผ่อนก็พักผ่อนเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ถ้าไม่มีการพักผ่อนเลย ภาวนาไปไม่มีการพักผ่อนเลยก็ไม่ได้ เวลาปฏิบัติ ถ้าไม่ทำสมถะ ไม่ทำความสงบเข้ามาจะเอากำลังมาจากไหน? แล้วถ้าบอกว่าสมถะมันไม่มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์
สิ่งที่ทำมา คนที่เหนื่อยล้า คนที่จะเป็นจะตายอยู่แล้วยังฝืนทำงานอยู่มันจะได้งานอะไรมา? มันก็ได้แต่การคาดหมายมาทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น เวลาจำเป็น เวลาความสงบต้องเป็นความสงบ เวลาใช้ปัญญาต้องใช้ปัญญา มันเป็นคนละคราวกัน คนเรามีสองเท้า เท้าซ้ายและเท้าขวา คนมีเท้าเดียวต้องกระโดดไป คนมีสองเท้าเขาถึงก้าวเดินได้ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานเขาต้องไปด้วยกัน ไม่มีเท้าเดียวหรอก คนมีเท้าเดียวก็แข่งวิ่งกระสอบไง กระโดดไปๆ ไง
นี่ก็เหมือนกัน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานมันจะไปด้วยกัน ถ้าคนเป็นนะ ฉะนั้น บอกว่าสิ่งนี้มันคืออะไร? ควรแนะนำอย่างไร? แนะนำก็บอกว่าเวลาพักผ่อนก็พักไปเลย ไม่ต้องไปห่วง เวลาจะนอนก็นอนไปเลย แล้วเวลาปฏิบัติห้ามขาดสติ ห้ามหลับเลย แล้วถ้าเกิดอาการแบบนี้ ถ้าเกิดอาการ อาการที่มันจะตกจากที่สูง จะตกอย่างไรตกไปเถอะ อาการไม่ใช่จิต ถึงที่สุดถ้าสติตามไปนะพิสูจน์กัน ถ้ากำลังพอนะมันจะลงได้เลย แต่ถ้ากำลังไม่พอมันก็มาล่อมาหลอกเท่านั้นแหละ ถ้าล่อหลอกปล่อยเลยพุทโธอย่างเดียว พุทโธกับปัญญาอบรมสมาธิอย่างเดียว ผลคือผล เราปฏิบัติเราหวังผลลัพธ์กัน ผลลัพธ์นั้นมันจะแสดงเอง
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ หน้าที่เรามีแต่สร้างเหตุ วิธีการที่เราจะทำชัดเจนตลอด แล้วผลมันจะปรากฏขึ้นมาเลย แต่ถ้าเราหวังผลเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นๆ นี่จินตนาการ พอจินตนาการไปนี่เละ ตั้งใจให้ทำของเราใหม่เนาะ
ถาม : ข้อ ๑๒๕๕. เรื่อง กราบขอบพระคุณ
กราบนมัสการหลวงพ่อที่ศรัทธายิ่ง หนูได้ฟังคำตอบหลวงพ่อตอน จิตไร้สาระ คำตอบหลวงพ่อสะเทือนใจมาก ชัดเจนมากแทบไม่ต้องลังเลสงสัยอะไรอีกแล้วค่ะ ขนาดหลวงพ่อยังไม่เชื่อการแก้กรรม แล้วหนูเป็นแค่ปุถุชนคนหนึ่งจะเชื่อไปทำไม หนูสลดสังเวชใจตัวเองมากๆ ค่ะที่หลงผิดเสียเวลามามาก
ตอบ : อันนี้หลงผิด มันอยู่ที่สายบุญสายกรรมเนาะ ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนานะเขาจะไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้ ไม่เชื่อเลย ยิ่งถ้าเป็นพระกรรมฐานนะ สมัยที่เราออกเที่ยวใหม่ๆ ไปหาครูบาอาจารย์ เขาเรียกอะไรนะ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ที่ว่าที่ไหนมีเสียงเพลง ที่ไหนมีอะไร ไม่เลยนะ ไม่เลย เพราะถ้าเป็นลูกศิษย์กรรมฐานจะชัดเจนเรื่องนี้มากเลย ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ฟังเสียงร่ำลือใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง เพราะเราชัดเจนของเรา ถ้าเราชัดเจนของเราเพราะมันมีผู้นำที่ดี ผู้นำคือหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา ท่านทำตัวเป็นแบบอย่าง ท่านทำของท่านเต็มที่
ฉะนั้น ในสมัยปัจจุบันนี้ โลกมีความเชื่อถือศรัทธาในผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ทีนี้โลกมีความเชื่อถือศรัทธา เขาก็มีทิฐิมานะ มีความเห็นของเขาเข้ามาเหมือนกัน พอมีความเห็น เขาเข้ามาในสังคมของพระปฏิบัติ สังคมของสงฆ์ นู่นดีกว่านี่ นี่ดีกว่านั่น ก็มีข้อต่อรองไปทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคิดดูสิ หลวงปู่ฝั้นท่านพูดเอง หัวโล้นๆ ไปเชื่อหัวดำๆ ได้อย่างใด? หัวดำๆ คือฆราวาสไง หัวดำๆ คือผมของเขาไง ในเมื่อเขายังหัวดำๆ เลย ทำไมเราหัวโล้นๆ ต้องไปเชื่อหัวดำๆ หัวดำๆ มันจะพูดเรื่องอะไร? พูดเรื่องอะไรก็ความเห็นของหัวดำๆ เท่านั้นแหละ
ฉะนั้น ถ้าหัวโล้นๆ นี่เราสละมาหมดแล้วเรื่องของโลก แล้วเราจะไปเชื่ออะไรเขา? ถ้าไม่เชื่ออะไรเขา เรื่องอย่างนี้จบเลย ทีนี้พอเวลาพูดไป จิตใจของคนนะ สังคม เห็นไหม เชื่อมรรค ผล นิพพาน แต่ก็ยังปฏิบัติมา ต้องให้ตัวเองมีความสะดวกสบายเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าใครเสนอทางสะดวกสบาย ทางอะลุ่มอล่วย ไปหมดเลย แล้วพอไปหมดแล้วนะ นี่ไง แล้วก็นี่หนูเสียเวลา หนูสลดสังเวชมาก หนูหลงผิดไป ก็กิเลสของเราไง หวังให้เขาอำนวยความสะดวกไง หวังให้ใครเข้ามาเพื่อจะชักนำไง แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ไม่อย่างนั้น ต้องหักเลย
หลวงตาท่านพูดประจำ ถ้ามีหนึ่ง จะมีสองตลอดไป
ฉะนั้น ไม่มีเลย ไม่อนุญาตให้ตัวเองทำอะไรเลย มัดตัวเองตายอย่างนั้นแหละ พอมัดตัวเองตายปั๊บมันก็จบ เพราะมัดตัวเอง ถ้ามันมีหนึ่งมันก็มีสองตลอดไป เพราะอะไร? เพราะเราหวังไง เราหวังของเราเอง นี่พูดถึงว่าเขาขอบคุณมาแล้วนะ ขอบคุณแล้วหลวงพ่อขึ้นอีกแล้วหรือ? ขอบคุณมาแล้วก็จบเนาะ นี่จบ
ข้อ ๑๒๕๖. ไม่มีนะ
ถาม : ข้อ ๑๒๕๗. เรื่อง ข้อสงสัยในการปฏิบัติครับ
กราบเรียนหลวงพ่อ ผมภาวนาพุทโธควบคู่กับกำหนดลมหายใจครับ เมื่อกำหนดไปเรื่อยๆ พุทโธหายไปเหลือแต่กำหนดลมหายใจ รู้ว่าลมเข้า-ออก หนัก-เบา ยาว-สั้นครับ พิจารณาลมหายใจไปเรื่อยๆ จนลมหายใจเบาลง จากนั้นเกิดเป็นภาพเห็นตัวเองนั่งอยู่ จากนั้นผิวหนังก็หายไปเหลือแต่โครงกระดูก ผมก็เลยพิจารณากระดูกจากศีรษะลงถึงปลายเท้าว่าเป็นของไม่สวยงาม แล้วก็ไล่กลับไปถึงศีรษะ พิจารณาอยู่ครู่หนึ่งภาพก็หายไป กลับมาอยู่กับลมหายใจต่อ
หลังจากนั้นมีเวทนาเกิดอาการปวดขา ขณะที่ปวดอยู่ผมก็พิจารณาดูตามเวทนา ดูจนมันดับหายไปผมก็กลับมาดูลมหายใจต่อ หลังจากนั้นก็มีเวทนาหนักกว่าเดิมอีก ๒ ครั้ง ซึ่งครั้งที่ ๒ ปวดหนักมาก เวลากำหนดลมหายใจไม่ได้เลยครับ ผมเลยภาวนาพุทโธรัวๆ จากอาการปวดกลายเป็นอาการชาไล่ขึ้นมาทั้งตัวถึงศีรษะ จนไม่ไหวแล้วต้องออกจากการภาวนา แต่ก็แปลกครับ ออกจากการภาวนา อาการชาหายหมด ไม่มีอาการปวดใดๆ ลุกขึ้นเดินได้ทันทีครับ เลยอยากจะขอความเมตตาจากหลวงพ่อให้คำแนะนำด้วยครับ
๑. การที่เห็นภาพตัวเองนั่งอยู่กลายเป็นกองกระดูก ผมยกมาพิจารณา แบบนี้ถูกต้องไหมครับ หรือควรจะปล่อย ไม่สนใจ กำหนดลมหายใจต่อไปดี
๒. จะต่อสู้กับเวทนาที่มาหนักๆ อย่างไรดีครับ ไม่กลัวที่จะต้องเจออีกครับ
ตอบ : นี่เขาถามมา ๒ ข้อนะ ฉะนั้น ข้อที่ ๑. การเห็นโครงกระดูก การเห็นโครงกระดูก การเห็นต่างๆ ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันเห็น นี่คนที่มีอำนาจวาสนา เวลาจิตมันสงบแล้วมันจะเห็นเป็นโครงกระดูก เห็นเป็นศีรษะต่างๆ ถ้าเห็นอย่างนี้ ถ้ามันเห็นใช่ไหม? ถ้าจิตใจเราจับได้ พิจารณาได้มันก็พิจารณาได้
นี้เวลาพูดนะ แต่เวลาคนที่เคยปฏิบัติมาแล้ว อย่างที่ว่าตั้งแต่ตอนเช้า เวลาเราเห็นกาย เห็นต่างๆ ถ้ามันเห็นโดยที่กำลังเรายังไม่ดีมันเห็นผิวเผิน คำว่าเห็นผิวเผินคือว่าเห็นแล้วมันจับต้องไม่ได้ คือมันไม่มั่นคง แต่ถ้ามันมั่นคง มันพิจารณาไปแล้วมันก็จะหาย พอหายไปแล้ว พอเราเริ่มทำงานต่อไปมันก็จะเกี่ยวเนื่องกันไปต่ออย่างนี้ แต่ถ้าเราจะให้มันมั่นคงชัดเจนใช่ไหม เราวางเลย เราพุทโธชัดๆ ไว้ พุทโธชัดๆ ไว้ พุทโธชัดๆ หมายถึงว่าจิตมันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามาแล้ว ถ้าออกไปเห็นกายอีกเราก็พิจารณากาย
ทีนี้ถ้าออกไปบางทีมันไม่เห็นกาย มันไม่เห็นกาย ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจับเวทนาได้ คำว่าเวทนานะ ถ้าเวทนาเริ่มต้นเรานั่งสมาธิ พอเวทนา เวทนาคนที่นั่งใหม่ๆ เวลาพุทโธ พุทโธไปมันจะเกิดอาการปวด แล้วพออาการปวด จิตใจเรามันคลอนแคลน พอจิตใจคลอนแคลน พอเราพุทโธอยู่ไง แต่พออาการปวดขึ้นมันตกใจไง จะปวดมาก ปวดน้อย มันจะปวดอย่างไร มันไปสนใจอาการปวดไง อาการปวดมันก็ใหญ่โตขึ้นมา ใหญ่โตขึ้นมา แล้วมันทำจนเราไม่มีกำลังใจเลย แต่ถ้าคนที่เขาชำนาญนะ พอมันมีอาการจะปวดขึ้นมา พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่มันทำให้จิตใจสงบ คือมันปล่อยอาการ ปล่อยเวทนาเข้ามาสู่จิต สู่พุทธานุสติ
อยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันสงบเข้ามานะ สงบมันก็ปล่อย มันสงบด้วย แล้วปล่อยเวทนาเข้ามาด้วย แต่ถ้าเวลาอาการมันปวดขึ้น เพราะจิตใจเราคลอนแคลนอยู่แล้ว เพราะมันมีอาการปวดไง พุทโธมันก็ทำครึ่งๆ กลางๆ ไอ้เวทนาหรือ เราว่าครึ่งๆ กลางๆ นะ แต่เวทนามันมาเต็มร้อย จนมันทนไม่ไหว แล้วพอปฏิบัติไปล้มลุกคลุกคลาน ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะใจเราไขว้เขว ใจเราคลอนแคลนไง ทีนี้ถ้าใจเรามั่นคงนะ เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
นี่เวลาจิตสงบแล้วใช่ไหม เราไปเห็นกายนะเราก็พิจารณาของเราขึ้นมาใช่ไหม ตั้งแต่ผิวหนังขึ้นมาจนถึงศีรษะ ย้อนไปย้อนกลับ ถ้ามีสติมันถึงจะทำได้ ถ้าไม่มีสตินะภาพนั้นไม่อยู่กับเราหรอก พอเห็นกายปั๊บมันแว็บๆ หายแล้ว พอจะเริ่มต้นจับนะมันพลิ้วหายหมดเลย อันนี้เพราะอะไรล่ะ? อันนี้เพราะจิตไม่มีกำลังพอ
ถ้าจิตไม่มีกำลังพอนะ แต่พอจิตเรามีกำลังพอ เราเห็นกายใช่ไหม เราพิจารณาของเราไป เดี๋ยวพอมันหายไปแล้วเรากลับมากำหนดลมหายใจ กลับมาพุทโธ เดี๋ยวก็ออกไปเวทนาอีก คือว่าจิตใจเราไม่มีกำลังพอไง พอไม่มีกำลังพอมันก็สับสนว่าอย่างนั้นเลย มันก็สับสน มันก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ถ้ามันจะเป็นชิ้นเป็นอัน ดูสิเวลาคนเขาออกกำลังกาย เห็นไหม เขาก็ออกกำลังกายของเขา เวลานักกีฬาเขาซ้อมเขาก็ซ้อมเต็มที่เลย เวลาเขาขึ้นแข่ง เขาเอาลงไปแข่งเขาต้องแข่งเต็มที่เหมือนกัน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรากำหนดพุทโธของเรา เห็นไหม เหมือนกับเราฝึกหัดของเรา เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมาเราก็ต้องเต็มที่ของเรา คือเต็มที่อย่างใดอย่างหนึ่ง เวลาซ้อมก็ซ้อมจริงๆ เวลาแข่งก็แข่งจริงๆ เวลาพักแล้วก็พักจริงๆ ทำอะไรให้มันจริงจังนะ มันจริงจังไปมันจะเห็นชัดเจน แต่ถ้ามันยังก้าวเดินอยู่อย่างนี้ คำว่าก้าวเดินอย่างนี้หมายความว่าเวลามันจับมามันไล่กันเป็นเรื่องๆ ไง มันไล่กันเป็นเรื่องๆ
ฉะนั้น คำถามว่า
ถาม : ๑. การที่เราเห็นภาพตัวเองนั่งอยู่กลายเป็นโครงกระดูก ผมยกมาพิจารณา แบบนี้ถูกต้องไหม?
ตอบ : นี่ถ้ากำลังมันมีอยู่ก็ถูกต้อง แต่ถ้ากำลังมันไม่มี พอพิจารณาไปแล้วมันจบแล้ว พอพิจารณาไป เหมือนกับเราฟุ่มเฟือย แต่ถ้าเราพิจารณาไปแล้ว ถ้ามันจับได้มาพิจารณาฝึกหัดก่อน ใครเห็นใครก็อยากทำทั้งนั้นแหละ พอมันพิจารณาไป พอมันปล่อยแล้วไง พอมันปล่อย ถ้ามันปล่อยหมดมันก็สักแต่ว่ารู้ ถ้าสักแต่ว่ารู้ก็อยู่ตรงนั้น ถ้าอยู่ตรงนั้นทำอย่างไรต่อ? พุทโธต่อไปก็ได้ แล้วถ้ามันพุทโธต่อ มีกำลังถ้ามันเห็นกายอีกก็จับอีก จับอีกพิจารณาซ้ำไปอีก พิจารณาซ้ำไปอีก แล้วเวลาพิจารณาถ้ามันเป็นจริงนะ มันเป็นจริงอย่างที่ว่า เห็นไหม
แต่มันเป็นเรื่องแปลก แปลกเพราะอะไร? แปลกที่ว่าเวลามันออกจากการภาวนาแล้วมันไม่เจ็บไม่ปวดเลย นี่ถ้ามันไม่เจ็บไม่ปวด เพราะจิตใจมันอยู่ในธรรม แต่ถ้ามันไม่อยู่ในธรรมนะเราทนเอาเฉยๆ เวลาจะลุกจะนั่งปวดมาก นี่ถ้าเรามีอาการปวดอยู่ เวลาเราเลิกแล้วอาการปวดก็อยู่กับเรา แต่ถ้าจิตใจเราดี จิตใจเราสงบอยู่ นี่เวลาอาการปวดมันต่อสู้กันอยู่ เวลาจบแล้วก็คือจบ มันลุกได้เลย มันออกมาได้ อาการต่างๆ มันจะหายไป
ฉะนั้น สิ่งที่เห็นกายแล้วพิจารณาอย่างนี้ถูกไหม? ถูก ถูกแล้วมันก็ถูก แต่เวลาทำซ้ำ ทำซ้ำไปบ่อยๆ ครั้งเข้ามันมีความชำนาญการของมัน ระดับอย่างนี้ควรทำอย่างนี้ ระดับอย่างนี้ควรทำอย่างนี้ แล้วระดับหมายความว่าถ้าเราพิจารณาของเรามันยังหยาบๆ อยู่เราจะจับต้นชนปลายไม่ถูก แต่พอเราฝึกหัดเรามีความชำนาญของเรา เราจะรู้เลยจังหวะของเรามันจะทำอย่างใด ถ้าจังหวะอย่างนี้มันไปไม่ได้เราต้องถอยกลับเลย ถอยกลับมาพุทโธ ถอยกลับมาให้จิตมีกำลัง พอจิตมีกำลังแล้ว ถ้ามันออกพิจารณาอีกก็พิจารณา ถ้ามันออกพิจารณาไม่ได้เราก็ทำพุทโธให้จิตมันมีกำลังมากขึ้นๆ แล้วถ้าออกไปพิจารณาของเรามันต้องก้าวเดินไปเป็นวิปัสสนา จากสมถกรรมฐานเป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันจะก้าวเดินของมันไป
นี้พูดถึงว่าการเห็นกายข้อที่ ๑. นะ
ถาม : ข้อที่ ๒. จะต่อสู้กับเวทนาที่มันหนักๆ อย่างไรดีครับ? ไม่กลัวจะต้องเจออีก
ตอบ : เขาบอกเขาไม่กลัวเลย ไม่กลัวเลย นี่ถ้าเวทนาเป็นเราใช่ไหม? เริ่มต้นเวทนาเป็นเรา เวทนากับเราเป็นอันเดียวกัน มันไปด้วยกันมันก็มีความรู้สึก เพราะเวทนาเป็นเรา แต่ถ้าเราทำพุทโธ พุทโธ จิตมันสงบมาก่อน เวทนาไม่ใช่เราแล้ว จิตสงบแล้วเห็นเวทนา เห็นไหม นี่ที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่า จิตเห็นอาการของจิต
ถ้าจิตสงบแล้วมันจะเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าอย่างจิตเรายังไม่สงบ กาย เวทนา จิต ธรรมกับเราเป็นอันเดียวกัน พออันเดียวกันมันทำอะไรก็แล้วแต่เวทนาเป็นเรา นั่งไปมันก็เจ็บก็ปวดทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าจิตสงบแล้วนะเวทนาไม่ใช่เรา เวทนาไม่ใช่เรานะ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นเวทนา ถ้าจิตเห็นเวทนามันจะมีจิต เห็นไหม จิตจับเวทนา จิตจับกาย จิตจับเวทนา จิตจับจิต จิตจับธรรม
นี่สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ สติปัฏฐาน ๔ จริงต่อเมื่อจิตสงบจริงๆ จิตมันสงบเข้ามา อย่างพวกเราปุถุชนจิตมันสงบแบบปุถุชน แบบปุถุชนนะ ถ้าเราพิจารณาของเรา ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้ว จากปุถุชนจะเป็นกัลยาณปุถุชน นี่จิตสงบเข้ามาส่วนจิตสงบ แล้วจะเป็นโสดาปัตติมรรค จิตเห็นอาการของจิตนี่โสดาปัตติมรรค จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม ถ้าจิตเห็นตามความเป็นจริงนะ
ถ้าจิตเห็นตามความเป็นจริง เพราะจิตเห็นอาการของจิต จิตเป็นผู้ที่พิจารณา เพราะจิตตัวนี้มันเวียนตายเวียนเกิด จิตตัวนี้มันมีอวิชชาอยู่ แล้วเราพิจารณาของเรา วิปัสสนาคือว่าสอนจิตให้ฉลาดขึ้น ฉะนั้น จิตมันจะฉลาดขึ้นมันต้องวางก่อน มันวางสามัญสำนึก วางสัญชาตญาณของมันก่อน จนมันเป็นตัวของมัน เป็นอิสระโดยความเป็นจริงของมัน แล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง
เห็นกาย เห็นไหม เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต นี่จิตเห็นจิตๆ จิตเห็นจิตเป็นมรรค ถ้าจิตเห็นจิตเป็นมรรค ถ้ามันจับต้องของมันได้ แล้วพิจารณาของมัน แยกแยะของมันไป นี่ถ้าจิตมันจับเวทนา สู้กับเวทนาหนักๆ ได้อย่างไร? จะสู้กับเวทนาหนักๆ ถ้าเราจิตสงบเข้ามาแล้ว เราจับเวทนาไล่ด้วยปัญญาเลย อะไรชื่อเวทนา เวทนามันสวมใส่ชื่ออะไร เวทนากับขาหรือ? เวทนากับแขนหรือ? เวทนากับอะไร? เวทนามันชื่ออะไร?
เวทนามันสักแต่ว่า เวทนามันไม่มีชื่อ เวทนาเพราะจิตมันไปรับรู้ว่าสิ่งใดเป็นเวทนา ในเมื่อธาตุมันเป็นเวทนาไม่ได้ ในเมื่อจิตมันไม่รับรู้ จิตมันโง่เอง จิตมันหงุดหงิดของมันเอง นั่นก็เป็นเวทนาของจิตแล้ว ถ้าจิตมันเข้าใจ จิตมันสลัดทิ้งหมด จบเลย
ถาม : จะสู้กับเวทนาหนักๆ ได้อย่างไร?
ตอบ : หนักๆ นี่สู้เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป อย่างเช่นหลานเวทนา ลูกเวทนา พ่อเวทนา ปู่เวทนา เห็นไหม นี่ ๒-๓ ชั่วโมงก็เวทนาระดับหนึ่ง ถ้าเราพิจารณาของเราไป ถ้าเราจะสู้ให้ถึงที่สุดนะเวทนาสักแต่ว่าเวทนา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา ถ้ามันพิจารณาถึงที่สุดนะ ถ้าคนจะพูดอย่างนี้ คนจะเข้าใจอย่างนี้ได้มันต้องพิจารณาเห็นตามความเป็นจริง แล้วมันแยกแยะตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง
ปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง เห็นไหม นี่สิ่งที่เป็นนามธรรม ความรู้สึกนึกคิดเป็นนามธรรมหมดนะ แล้วพลังงานมันเป็นตัวจิตแท้ๆ พลังงานเป็นตัวจิตแท้ๆ นี่ความรู้สึกนึกคิดมันเป็นความคิด พลังงานเป็นตัวจิตแท้ๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งนั้นมันจับต้องกัน มันพิจารณากัน แล้วพลังงานมันวางความรู้สึกนึกคิดมันแปลกไหม? ความคิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นขันธ์ ๕ มันเป็นขันธ์ นี่จิตเห็นอาการของจิต แล้วจิตมันเป็นพลังงาน แล้วพลังงานมันจับสิ่งนี้ได้ มันจับตรงนี้ได้ แล้วจับพิจารณาได้ พิจารณาจนเข้าใจได้ แล้วมันวางได้
ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความคิด แล้วมันไม่ใช่เราอย่างไร? มันปล่อยวางอย่างไร? นี่พูดถึงถ้าหนักๆ มันพิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไปมันจะเห็นอาการของมัน มันพิจารณาของมัน มันเป็นของมัน
ถาม : การต่อสู้กับเวทนาหนักๆ อย่างไรดีครับ
ตอบ : อย่างไรดีมันก็เริ่มต้นต้องมีปัญญาอย่างเดียวนี่แหละ ปัญญาถ้ามันจับต้องได้ มันพิจารณาได้ เพราะว่าเวลาครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงตาท่านบอกท่านพิจารณาเวทนาท่านนั่งตลอดรุ่ง เวลาถึงที่สุดนะท่านบอกว่าเหมือนกับเรานั่งอยู่นี่เขาเอาฟืนสุมใส่เรา แล้วจุดไฟเผาร้อน กระดูกแทบทุกท่อนแทบจะแตกจะหักเลย อันนั้นมันเป็นปู่เวทนา
เพราะเวลามันถึงที่สุดคำว่าจะขาดนะ เราพิจารณาเวทนามันปล่อย ปล่อยนี่มันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยๆ ลูกเวทนา หลานเวทนามันปล่อยให้ได้ มันถอยล่นให้ได้ แต่ถ้ามันจะถึงที่สุด มันจะสมุจเฉท มันจะทิ้งกันเลยนั่นล่ะตัวนั้นถึงว่าเป็นปู่เวทนาเลย ถ้ามันจะทิ้งกัน เวลาเวทนาหนักๆ ไง ถ้าเวลามันทิ้งกัน มันขาดกันที่นั่นนะจบแล้ว มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ เวทนาก็คือเวทนาอย่างนี้ ในเมื่อมันได้ต่อสู้กันมาแล้วมันก็จบแล้วล่ะ จบคือว่ากิเลสมันขาดนะ พอกิเลสมันขาดไปแล้วนะเวทนาอยู่กับเราไหม? อยู่
เวทนาอยู่กับเราหมายความว่ากิเลสที่มันใช้เวทนามาหลอกเรานี่ เราได้ต่อสู้กันจนกิเลสมันขาดไปแล้ว เวทนายังอยู่กับเราหมายความว่าเรายังมีความรับรู้สึกอยู่ไง ความรู้สึกที่ไม่มีกิเลสไง ความรู้สึกที่มันแทงทะลุแล้วไง กับความรู้สึกที่มันเป็นธาตุไง แต่ก่อนเวทนามันเป็นธาตุใช่ไหม? ความรู้สึกนึกคิดมันมีอำนาจเหนือเราใช่ไหม? เราพิจารณาต่อสู้กับมันจนเราเห็นแจ้งหมดแล้ว มันแทงทะลุหมดแล้วนะกิเลสขาดไป แต่ความรู้สึกนึกคิดนี้มันก็ยังมีอยู่ แต่มีอยู่แบบว่ามันไม่มีกิเลสมาหลอกไง
มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ? แต่เวทนายังมีอยู่ไหม? มี นี่ถ้าเวทนามี มีแบบไม่มีมารไง มีแบบที่ไม่มีสมุทัยไง ที่มันเอากิเลสมาหลอกเราไม่ได้ นี่พูดถึงเวทนาหนักๆ นะ ถ้าจะต่อสู้เวทนา แต่ แต่ในการใช้ปัญญาในการวิปัสสนานะมันมีกาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดก็แล้วแต่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นี่จับสิ่งนั้นแล้วพิจารณาเอา สิ่งใดที่เกิดขึ้นปัจจุบัน
นี่คนถนัดกายนะ เวลาพิจารณาก็จะเห็นกาย พิจารณาเป็นกายหยาบ กายละเอียด ละเอียดสุดไปอย่างนั้นแหละ แต่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันก็พิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ จนถึงที่สุด แล้วถ้าเป็นพิจารณากายล่ะ? บางทีมันเกิดเวทนา ไปจับเวทนา ถ้าเกิดจิต จิตคือว่าถ้ามันผ่องใส เศร้าหมองผ่องใสถ้าเกิดธรรม ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเป็นธรรม ถ้าจิตมันเป็นธรรม จับพิจารณาอย่างนี้สติปัฏฐาน ๔ สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้
เราจะบอกว่ามันไม่จำเป็นจะต้องผ่านทางเวทนา ต้องต่อสู้กันทางเวทนา แต่ถ้าเป็นความถนัดนะ ถ้าเป็นความถนัดนะ เป็นจริตนิสัยใส่เลย เต็มที่เลย เพราะว่ามันไม่มีงานอย่างใดที่มันจะมีคุณประโยชน์มากเท่านี้ เวลาเราอยู่ทางโลกนะ ทางโลกเขาประกอบสัมมาอาชีวะกัน เวลาทุกข์ยากนะเขาว่าสิ่งนั้นทุกข์ยากมาก แต่เวลาปฏิบัตินะ เวลามันทุกข์ยากนี่มันทุกข์ยากอยู่ภายในใจเรานี่แหละ ระหว่างกิเลสกับธรรมในใจที่มันต่อสู้กันมันวิกฤติมาก มันวิกฤติขนาดที่ว่าตายเป็นตาย
หลวงตาท่านพูดบ่อย ทำงานอย่างอื่นไม่มีใครว่าต้องสละตายเลย แต่ถ้าเวลาปฏิบัติขึ้นมา นี่ธรรมะฟากตายๆ เวลากิเลสมันอ้างนะ มันอ้างว่าภาวนาไม่ได้นะ นั่งไปไม่ได้นะ เดี๋ยวตายนะ เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น นี่แพ้หมดไง แต่ถ้าอะไรจะตายขอดูซิสิ่งใดตายก่อน ในร่างกายเรานี่อะไรมันจะวิกาลก่อน มันจะทำลายไปก่อน อะไรที่มันจะทำให้สิ้นชีวิตก่อน ขอดูตรงนั้น ถ้าไล่เข้าไปแล้วจบนะ พอจบขึ้นมาแล้วกิเลสมันสู้ไม่ได้ มันถอย ถ้ามันถอยได้อันนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา
นี่พูดถึงว่าการพิจารณาเวทนานะ เขาเขียนว่า
ถาม : ซึ่งความจริงผมมีข้อสงสัยอีกเยอะแยะเลย ไว้ผมจะขออนุญาตเขียนมาอีก
ตอบ : นี่พูดถึงว่าเริ่มต้นภาวนาไง เริ่มต้นเวลาภาวนาไป ปฏิบัติไปแล้ว นี่เรารู้ เราเห็นของเราอยู่คนเดียว แล้วถ้าไปถามครูบาอาจารย์ที่ท่านไม่เป็นนะ ไปไหนมาสามวาสองศอก คนเห็นมันก็ถามไปอย่างหนึ่ง ไอ้คนตอบมันก็ตอบตามหนังสือตามวิชาการ มันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง นี่เขาวัดภูมินักปฏิบัติเขาวัดภูมิกันตรงนี้ ตรงที่ว่าเราถามมันตอบตรงประเด็นไหม ถ้ามันปฏิบัติไม่เป็น ถามแล้วมันไม่รู้ว่าประเด็นมันคืออะไร มันมั่วหมด แต่ถ้าคนเป็นนะ อ้าปากนี่คนเป็นมันผ่านมาหมดแล้ว
ฉะนั้น ถึงว่า
ถาม : ซึ่งความจริงผมมีข้อสงสัยอีกเยอะมาก ขออนุญาตไว้เขียนถามเพิ่ม ไว้จะขออนุญาตเขียนถามอีก
ตอบ : นี่คำถามเขาเปิดทางมาก่อนไง ฉะนั้น คนที่ปฏิบัติเขาจะหาครูบาอาจารย์ที่คอยชี้นำ ใจที่สูงกว่าจะดึงใจที่ต่ำกว่าขึ้นไป ฉะนั้น ใจที่สูงกว่า เวลาไปถามนะเห็นมีครูบาอาจารย์ที่ท่านว่าท่านเป็นครูบาอาจารย์ แต่เวลาเราถามปัญหาไปนี่ตอบไม่ได้
หลวงตาท่านพูดนะ เวลาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นท่านเสียไป โอ้โฮ ฟ้าดินถล่มเลย แล้วเวลาไปถามปัญหาคนอื่น เวลาคนตอบไม่ถูกท่านบอกเลย เอาเรื่องสัพเพเหระมาตอบเราได้อย่างใด? ถ้าตอบอย่างนี้แสดงว่าวุฒิภาวะในใจไม่มีเลย ถ้าคนมีวุฒิภาวะในใจนะ เราถามปัญหาอย่างนี้ ผลัวะ! คนเป็นนี่คำเดียวๆ เท่านั้นแหละ นั้นพูดถึงว่าต่อไปจะถามมาอีก นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ อันนี้จบ
ถาม : ขอความเมตตาตอบปัญหาเรื่องธรรมเกี่ยวกับอัปปนาสมาธิ
ตอบ : คำว่าอัปปนาสมาธิ นี่อัปปนาสมาธิ แบบว่ามันเป็นศัพท์ธรรมะในพระไตรปิฎก ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แต่ถ้าเป็นพระกรรมฐานนะเขาเรียกว่ารวมใหญ่ คำว่ารวมนะ นี่รวมใหญ่ รวมใหญ่มันจะปล่อยวางหมด ทีนี้คำว่ารวมใหญ่ หลวงตาท่านบอกว่า
ถ้าคนไม่เคยรวมจะไม่รู้ว่าอาการเป็นแบบใด
อัปปนาสมาธินี้เป็นศัพท์ในพุทธศาสนา แต่ในกรรมฐาน นี่พระป่าเขาพูดกันกระชับ รวมใหญ่ เคยรวมใหญ่ไหม? หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาใครรวมใหญ่จะรวมขนาดไหน? รวมใหญ่นะ ภาษาเราทางโลกว่ามันเป็นไปได้ยาก แล้วเราฟังดูนะ เราฟังเวลาคนที่เขาอธิบายธรรมะๆ กัน เขาไม่เคยได้รับผลอันนี้ ไม่เคยรับผลลงถึงอัปปนาสมาธิ เขาถึงได้พูดถึงเรื่องสมาธิเรื่องความเห็นของเขา มันไม่เข้าหลักเลย ถ้ามันเข้าหลักนะ ถ้าอัปปนาสมาธิเราพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เวลามันจะเข้านะ เวลามันจะเข้ามันจะละเอียดเข้ามาๆ ละเอียดเข้ามาแบบคำถามแรก
คำถามแรกบอกว่าเวลามันดิ่งลงๆๆ ถ้ามันดิ่งลงนะดิ่งลงเต็มที่เลย ดิ่งลงนี่ถ้ามันดิ่งมันตกจากที่สูงวูบขนาดไหน มันจะวูบนะ ถ้าพูดถึงทางโลกมันจะวูบแบบว่าเรานี่หลุดออกไปจากโลกเลย แต่ถ้าเป็นการปฏิบัตินะมันมีความรู้สึกในใจนี่แหละ เราก็นั่งอยู่นี่มันจะไปไหนล่ะ? อาการมันเฉยๆ แล้วถ้าเราตามไปไม่มีวันจบเลย ถ้ามันจะวูบขนาดไหน ถ้าคนมีสตินะไปเลยมีสติตามไปตลอด พอเรามีสติเราอยู่กับความรู้สึกอันนั้นเลย ถึงที่สุดมันไปไหนไม่ได้เพราะมันมาหลอกไม่ได้นะ จบเลยนะ วูบขนาดไหน วูบจนละเอียดเข้าไปจนดับหมดเลย
คำว่าดับนะ ดับอายตนะ ดับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ดับ แม้แต่เรานั่งอยู่นี่ เรานั่งอยู่ของเรา จิตนี่มันไม่รับรู้ว่าเราเลย มันไม่รับรู้เรื่องร่างกายนี้เลย มันอยู่ของมันสักแต่ว่ารู้ เขาไม่ใช่ว่าความรู้ ถ้ารู้ความรู้สึกนี้มันออกรับรู้โดยธรรมชาติของมัน สักแต่ว่ารู้คือว่ามันรู้ในตัวมันเอง แต่มันไม่รับรู้เรื่องร่างกายนี้ แม้แต่ร่างกายนี้มันยังไม่รับรู้เลย
ฉะนั้น ในภาคปฏิบัติเขาถึงบอกว่า ถ้าบอกว่าเราละกายได้ ละกายได้ สมาธิก็ละได้ สมาธิละได้ตรงนี้ไง ละได้ตรงจิตที่มันปล่อยหมด ปล่อยจากตัวมันเอง ปล่อยร่างกายนี้หมดเลย แล้วจิตมันมีอยู่ใช่ไหมมันปล่อยทุกอย่างหมด คือปล่อยอาการรับรู้ทั้งหมดมันเป็นตัวของมัน ฉะนั้น พอตัวของมัน มันก็ปล่อยกายมาเป็นตัวของมัน นี่อัปปนาสมาธิ
พอเวลาอัปปนาสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ อัปปนาสมาธิวิปัสสนาไม่ได้ ไม่ได้หรอก ในเมื่อมันไม่รับรู้อะไร มันไม่รับรู้ออกมามันเป็นสักแต่ว่ามันจะใช้ปัญญาอย่างไร? ถ้ามันใช้ปัญญาไม่ได้ เวลามันคลายตัวออกมาจากอัปปนาสมาธิเป็นอุปจาระ อุปจาระ พอมันคลายออกมามันเริ่มชาออกมา เริ่มเคลื่อนออกมา พอเคลื่อนออกมานี่รับรู้เสียงมาแล้ว
ทีนี้เสียงมา เช่นลมพัดมาผิวหนังจะรับรู้แล้วนี่มันมีความเย็น พอรับรู้ออกมาๆ นี่ถ้ารับรู้ออกมาแต่มันไม่ได้ออกไปข้างนอก แล้วไม่ได้ออกไปข้างนอก ถ้ามันออกมา นี่เพราะจิตอย่างนี้เป็นอุปจาระมันรับรู้ได้ รับรู้ได้มันถึงเห็นกายได้ เห็นเวทนาได้ เห็นจิตได้ เห็นธรรมได้ ถ้าเห็นธรรมได้ ถ้ามันจับได้ ถ้าออกมารับรู้ได้แต่ไม่เห็น ไม่มีอำนาจวาสนาออกไปอุปจาระรับรู้ได้ แต่ไม่เห็นกาย ไม่เห็นกายก็ต้องฝึกหัดอีก ต้องฝึกหัดของมัน นั่นอุปจารสมาธิ พออุปจารสมาธิ ถ้าขณิกะอย่างที่เราทำกันทั่วๆ ไปนี่สงบดี ใจสบายดี ขณิกสมาธิทั้งนั้นแหละ
ถ้าเป็นขณิกสมาธิ เห็นไหม นี่ขณิกสมาธิ ถ้าใช้วิปัสสนาได้ไหม? ได้ วิปัสสนาอ่อนๆ ปัญญาอ่อนๆ เวลาปัญญาอ่อนๆ ปัญญามันก็เสริมจิต พอเสริมจิตเข้าไปมันก็ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป พอมันละเอียดเข้าไป ปัญญาที่มันลึกเข้าไป พอลึกเข้าไปเพราะอะไร? เพราะเวลาใช้ปัญญา เห็นไหม เวลาเป็นมรรค มรรคหยาบ มรรคละเอียด มันจะละเอียดเข้าไป พัฒนาเข้าไป พอพัฒนาเข้าไปขอให้จับต้องได้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นอัปปนาสมาธิ เราจะบอกว่าอัปปนาสมาธิก็คือผลลัพธ์ของอัปปนาสมาธิ ฉะนั้น อัปปนาสมาธิมันก็เป็นพื้นฐาน พอพื้นฐาน ถ้าเราจะใช้ปัญญาเราก็ต้องออกมาใช้วิปัสสนาเหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นอัปปนาสมาธินั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าบอกว่าเราพิจารณาแล้วเรารู้ เราเห็น อันนั้นไม่ใช่อัปปนาสมาธิหรอก เวลาที่ว่าพอเราออกเห็นต่างๆ เห็นนี่มันออกรับรู้แล้ว ออกมาเห็น ที่เห็นนั่นล่ะอุปจาระทั้งนั้นแหละ ที่โยมบอกว่าโยมเห็นนู่น เห็นนี่ใช่ไหม เห็นทุกอย่าง
การเห็น เห็นไหม การเห็นคือการรับรู้ การกระทบ มันสักแต่ว่าไหม? ไม่สักแต่ว่า ถ้าสักแต่ว่ามันจะไม่รู้ไม่เห็น มันเป็นตัวของมันเอง แต่ที่มันรู้มันเห็นนี่มันออกแล้ว มันออกรู้แล้ว แต่พอมันออกรู้แล้ว อัปปนาสมาธิส่วนอัปปนาสมาธิ แต่การออกรู้มันออกรู้ด้วยปัญญา ปัญญามันรับรู้ ทีนี้พอปัญญามันรับรู้ พอมันรู้แล้วมันก็มีผล ผลที่บอกว่าจิตใจเรา พอมันรับรู้แล้วใช่ไหมมันได้รส รสของธรรม รสของการใช้ปัญญา รสของสมาธิ รสของปัญญา รสของศีล สมาธิ ปัญญา
นี่เวลาใช้ปัญญาแล้วมันรู้มันเห็น เช่นเห็นนิมิตอะไร เห็นพิจารณาอะไร เวลามันเห็นแล้วมันปล่อยเข้ามา พอมันปล่อยเข้ามา นั้นคือรสของธรรม รสของธรรม เห็นไหม สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แล้วพอจิตมันสงบแล้วนะ จิตที่มันพิจารณาไปแล้วนี่มันมีรสไง
รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง
รสชาติที่โลกเขามีกันอยู่นี่ ที่เราไปเสพสุขกันอยู่นี้ว่ามีความสุขๆ นั่นล่ะสุขทางโลก แต่ถ้านั่งเฉยๆ นี่นะ เห็นไหม มันมีพระเรานะเขาบอกอยู่ บอกว่ามนุษย์เรานี่จะไปเที่ยวกันรอบโลก แต่พระเขาไม่เที่ยวหรอกเขาไปสามโลก เขาไม่เที่ยวหรอกโลกนี้ เขาไปเที่ยวสามโลกเลย แล้วเอาอะไรไปเที่ยวล่ะ?
นี่ไงออกรับรู้ พวกเรานี่จะไปเที่ยวรอบโลกกันไง จะไปเที่ยวรอบโลก ๒ รอบ ๓ รอบ แต่พระกรรมฐานเขาไปเที่ยวสามโลกธาตุ เขาไม่เที่ยวกับโลกนี้ เพราะโลกนี้มนุษย์ขี้เหม็นมันสร้างขึ้นมา มนุษย์เป็นคนสร้าง แต่สามโลกธาตุ นี่ถ้าเขาไปเขาไปแบบนั้น นี่รสของธรรม
ทีนี้รสของธรรมมันเป็นอีกอย่างนะ รสของสมาธิอย่างหนึ่ง รสของสมาธิ นี่สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี พอจิตมันสงบมานี่มีความสุขมาก มีความสุขมาก แต่ถ้ามันออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญา ปัญญาพิจารณาของมันไปแล้ว แล้วปัญญามันแยกแยะ เห็นตามความเป็นจริงแล้ววาง เห็นไหม พิจารณาไปแล้ว พอมันเห็น อ๋อ มันเป็นอนิจจัง อ๋อ รสชาติมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะสมาธิมันเป็นผลของสมาธิ
น้ำ นี่รสของน้ำ ดื่มแล้วก็มีความสุขดี ทีนี้น้ำนั้นเขาเอาไปแกง เอาไปทำของหวาน ก็น้ำเหมือนกัน แต่มีรสชาติต่างไปอีก เห็นไหม เพราะน้ำนั้นเขาไปปรุงรส แต่น้ำที่ใสสะอาดมันก็มีอีกรสหนึ่ง เขาเอาไปทำเป็นอาหาร เขาเอาไปปรุงเป็นน้ำเพื่อประโยชน์กับร่างกายมันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง อันนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย
ฉะนั้น คำว่าอัปปนาสมาธิ ทีนี้ปัญหาที่ถามมา เห็นไหม ถามว่าให้ช่วยอธิบายเรื่องอัปปนาสมาธิ แต่เราคุยแล้วเขาบอกว่าจิตเขาเห็นนู่น เห็นนี่ไป ถ้าจิตสงบแล้วจะเห็นอย่างนั้น แล้วเห็นตามความเป็นจริงของเรา เห็นแล้วก็คืออดีตไปแล้ว ฉะนั้น ต่อไปก็กำหนดพุทโธของเราอีก กำหนดพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา แล้วถ้าจิตมันจับอะไรได้ก็พิจารณาของเราไป เราพิจารณาไป สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็คือผ่านมาแล้ว นี่สิ่งที่ผ่านมาแล้วไง
พอเราพิจารณามาแล้ว เราปล่อยแล้ว ทีนี้ปล่อยแล้วมันเป็นการภาวนามา แล้วทำอย่างไรต่อไป เพราะอะไร? เพราะเราปฏิบัติมาแล้วมันเป็นอดีตไปแล้ว อดีต อนาคตแก้กิเลสไม่ได้ สิ่งที่เป็นอดีตมา เห็นไหม สุคโต ให้ปัจจุบันนี้สุคโต ให้สุขสงบที่นี่ พรุ่งนี้ก็จะสงบต่อไป อันนี้มันสุขสงบมาตั้งแต่เมื่อวาน แต่วันนี้กำลังจะเดือดร้อนนะ วันนี้กำลังจะฟิวส์ขาดอยู่นี่ กำลังจะล่อเขาอยู่นี่
ฉะนั้น เมื่อวานนั้นมันดีมาใช่ไหม? วันนี้ต้องทำต่อไปให้ดี นี่สุคโต ในปัจจุบันมันสุคโต แล้วมันจะสุคโตไปข้างหน้า ฉะนั้น ถ้าเราทำมาได้อย่างนี้เราทำของเราไป ทำของเราไปคือจับนะจับพุทโธไว้ ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้ามันเห็นอย่างนั้น เราจะบอกว่าที่โยมพูดให้ฟังว่ามันเห็น มันเห็นอย่างนั้นแหละ มันเป็นการเห็นที่ว่ามันลอยมาเองไง แต่ถ้ามันจะเป็นมรรคนะเหมือนเราบริหารจัดการ ถ้าเราบริหารจัดการของเราเอง นี่มรรคก็จะเกิดตรงนี้
ถ้าบริหารจัดการ มรรคหยาบ มรรคละเอียดมันจะเร็วขึ้นๆ เร็วขึ้นหมายความว่าพอจับกายได้พิจารณาปั๊บมันปล่อยรอบหนึ่ง พอเสร็จแล้วก็จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมพิจารณาไป ถ้ามันไม่มีกำลังนะมันจับแล้วมันพิจารณาไปไม่ได้ คือเหมือนกับเราทำงานไม่เสร็จ เราทำงานแล้วเราคำนวณไม่ได้ ทุกอย่างไม่ได้ นี่มันไปไม่ได้ มันไม่ได้เพราะเราเครียด แต่ถ้าสมาธิดีนะ เราคำนวณได้ผลตอบเลย ตอบหมดเลยเป็นหนี้เท่าไร ได้กำไรเท่าไร ขาดทุนเท่าไร จบเท่าไร เสร็จหมดๆ
นี่พิจารณาซ้ำๆๆ มันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ถ้าทำอย่างนี้บ่อยครั้งเข้าๆ นี่ทำอย่างนี้มันถึงจะเป็น ที่ว่าหลวงตาบอกให้ทำซ้ำๆ ทำซ้ำขึ้นมาเพื่อเรา ทำซ้ำขึ้นมาเพื่อการปฏิบัติ ฉะนั้น ถ้ามันจับต้องได้นะ ถ้ามันจับต้องได้ บริหารจัดการได้ แต่ถ้ามันมาเอง มันมาเองเขาเรียกว่าวาสนา ถ้าวาสนา คิดดูสิเวลาเขาเล่นการพนันมันจะชนะตลอดไปไหม?
นี่ก็เหมือนกัน วาสนามันอยู่ที่ว่าอำนาจวาสนาของคน แต่ถ้าเราทำของเรา เราทำของเราไม่ใช่วาสนา วาสนาเรามีอยู่แล้ว แต่เราทำของเรา บริหารจัดการของเรา ถ้าทำของเราเสร็จสิ้นกระบวนการของเรา เห็นไหม นี่โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ดูหัวใจของเราไง ถ้ามันจบที่นี่ มันจบแล้วมันสำเร็จที่นี่ มันเป็นที่นี่ เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม มาดูผลการกระทำของเรา มาดูความจริงในหัวใจของเรา มันองอาจกล้าหาญ ถ้าอย่างนั้นมันไม่ได้
เราจะบอกว่าส้มหล่นอย่างหนึ่ง เห็นโดยที่ว่าเราไม่ได้บริหารจัดการ แต่ถ้าเราบริหารจัดการนะ เราน้อมไป เราควบคุมได้ เราเป็นผู้ควบคุมได้ นี่นักปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ นักปฏิบัติจะควบคุมได้ สติ สมาธิ ปัญญาเราควบคุมได้ เราจัดการได้ เราบริหารได้ แต่ไม่ใช่วิปัสสนึกนะ วิปัสสนึกนั่นเป็นอย่างหนึ่ง จะวิปัสสนึก วิปัสสนา พูดคำเดียวรู้ แต่ที่โยมพูดมานี่เราฟังแล้วมันเป็นส้มหล่น มันเป็นส้มหล่น มันมาเอง ทีนี้พอมันมาเองแล้วมันก็ไปแล้ว ฉะนั้น เราจะต้องตั้งสติแล้วบริหารจัดการมัน ถ้าทำได้เราถึงจะเป็นนักภาวนา เอวัง