ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กลางกิเลส

๑๖ ก.พ. ๒๕๕๖

 

กลางกิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๖๔. เนาะ

ถาม : ๑๒๖๔. เรื่อง “สงสัยครับ”

๑. ความพอใจ ไม่พอใจมันต่างจากดีและชั่ว และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร? มันเหมือนกันตรงที่มันเป็นสมมุติหรือเปล่าครับ เพราะผมคิดว่าอะไรที่อยู่ในสมมุติมันมี ๒ ด้านเสมอ

๒. หลวงพ่อครับทำไมโลกนี้มีแต่ตัณหา เพราะหัวใจเราเป็นโลก รู้สึกว่าขยับไปทางไหนก็เป็นตัณหา

๓. อะไรคือทางสายกลางของความพอใจ ไม่พอใจ และเฉยๆ ครับ ขอบคุณครับ

(นี่คำถามเนาะ)

ถาม : ข้อ ๑. ความไม่พอใจและพอใจมันเป็นดีและชั่ว มีความสัมพันธ์กันอย่างไร? มันเหมือนกันตรงไหน? เป็นสมมุติหรือเปล่าครับ เพราะผมคิดว่าอะไรที่เป็นสมมุติมี ๒ ด้านเสมอ

ตอบ : มันสมมุติตั้งแต่ต้น สมมุติมาตั้งแต่ต้นคือว่ามันเป็นตอ ตอคือพลังงานมันออกมา มันออกมาจากที่เดียวกัน พอใจและไม่พอใจ ดีและชั่วออกมาจากที่เดียวกัน เพียงแต่ว่ากิเลสพาออก ถ้ามีธรรม นี่ธรรมพาออก กุศล อกุศลมันมาเหมือนกันหมด

ฉะนั้น เวลาภาวนาเข้าไปมันก็เริ่มเห็น เริ่มรู้ไป มันก็เริ่มจับพลัดจับผลู จับพลัดจับผลูคือว่าจับผิด จับถูกไง ตื่นเงา ตะครุบเงาไปเรื่อย ถ้ายังตะครุบเงาไปเรื่อยอย่าเพิ่งเชื่อสิ่งใด กาลามสูตรไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น เชื่อผลการปฏิบัติ เชื่อความจริงที่เรารู้จริง ทีนี้ผลการปฏิบัติมันก็อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดไง

เริ่มต้นจากที่ว่า เอ๊ะ อะไรเป็นใจ อะไรเป็นกาย สิ่งที่ว่านามธรรมมันจะจับต้องอย่างไร พอปฏิบัติไปมันจะเริ่มตะครุบเงาไปเรื่อย ตะครุบเงาไปเรื่อย มันยังตะครุบเงาอยู่ ยังได้ตะครุบ ถ้าไม่ตะครุบเงาเลยมันตะครุบอากาศเลยล่ะ มันหยิบฉวยสิ่งที่เราจับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย แต่ถ้ามันยังเห็นดี เห็นชั่วอยู่ เห็นไหม มันมีดี มีชั่ว มันเป็น ๒ ด้านๆ ๒ ด้านมันบวกกับลบ ถ้าบวกมันก็เป็นกุศล ถ้าลบก็เป็นอกุศล มันยังออกไปอยู่เพราะมันยังไม่สงบเข้าไปถึงฐีติจิต เข้าไปสู่ความสงบ

ถ้าสู่ความสงบแล้ว ความสงบมันจะออกมาแต่เรื่องสัจจะเลย เรื่องสัจจะคือว่ามันจะดีหรือชั่วมันออกมาให้เราเห็น การออกมาให้เห็นนี่คือวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาไปเห็นแล้วมันจะสะท้อนใจ สะท้อนใจมันจะรู้ถูก รู้ผิดไง รู้ถูก รู้ผิดเพราะมันมีสามัญสำนึก แต่นี้บางทีเราไม่มี นี่โดยสัญชาตญาณมันคือสัญชาตญาณ สามัญสำนึกมันไม่ทัน มันไม่ทันเพราะอะไร? เพราะมันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นสัจจะของสมมุติ แต่ถ้ามันเป็นอริยสัจจะมันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปที่ว่าเป็น ๒ ด้าน ๓ ด้านมันเป็นอย่างนี้

ฉะนั้น เวลาเป็นอย่างนี้แล้ว เวลาพระอรหันต์ เห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน นี่เศษส่วนไง ขันธ์ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ พระอรหันต์หมายความว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ อีก ๔๕ ปีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ขันธ์ ๕ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมอยู่ก็อาศัยขันธ์

อาศัยขันธ์ ๕ นี่แหละ อาศัยขันธ์ ๕ รูป รส กลิ่น เสียงที่การแสดงออก แต่มันเป็นภารา หเว ปัญจักขันธาที่เป็นภาระ เป็นภาระ มันสะอาดบริสุทธิ์ มันไม่มีกิเลสเป็นขันธ์นี้เป็นภาระ แต่ถ้าเป็นปุถุชน เป็นคนมีกิเลสมันเป็นขันธมาร นี่รูป รส กลิ่น เสียงมันเป็นของมาร ของกิเลส กิเลสเอาไปใช้นี่ของมาร นี่ขันธมารมันเจ็บ มันปวด มันแสบ มันร้อน มันเป็นไปหมดเลย มันทุกข์ไปหมดเลย เพราะมันเป็นของมาร มารมันใช้ขันธ์ นี่ขันธ์ไม่สะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าขันธ์สะอาดบริสุทธิ์ ขันธ์มันมีสะอาดบริสุทธิ์ด้วยหรือ? สะอาดบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ไง

ฉะนั้น เวลาพระอรหันต์เสียชีวิตนี่ทิ้งหมดเลย นี่อนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีเศษส่วน ไม่มีขันธ์ ไม่มีธาตุ ไม่มีขันธ์ ไม่มีใดๆ ทั้งสิ้น นี่มันเป็นวิมุตติไปเลย แต่ขณะที่พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ เห็นไหม ขันธ์นี่สะอาดบริสุทธิ์ เวลาหลวงตาท่านพูด ขันธ์ทำงาน ขันธ์ทำงาน เวลาขันธ์มันทำงาน ถ้าขันธ์ไม่ทำงานเราจะสื่อความหมายกันได้อย่างไร? นี่พูดถึงขันธ์ที่มันสะอาดบริสุทธิ์นะ ถ้าเราคิดแบบวิทยาศาสตร์มันสะอาดบริสุทธิ์ได้อย่างไร? เออ มันเป็นขันธ์มันสะอาดบริสุทธิ์ได้อย่างไร?

ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ความคิดคนสะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์เพราะเริ่มต้นจากมันไม่มีมาร ไม่ใช่มาร เห็นไหม นี่พูดถึงว่าดีและชั่ว ยังจะต้องสงสัยไปเรื่อยๆ แหละ เพราะเขาถามมาว่าสงสัยครับ แล้วก็ต้องสงสัยไปเรื่อยๆ สงสัยไปจนกว่ามันจะเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นอกุปปธรรมมันถึงหายสงสัย ฉะนั้น เวลาพระอรหันต์บอกว่าหายสงสัยแล้ว หายสงสัยในสมมุติบัญญัติ หายสงสัยทั้งสิ้น นั้นถึงเป็นพระอรหันต์ ถ้ายังมีกิเลสในหัวใจจะสงสัยไปเรื่อยๆ สงสัยขนาดไหนเราวางไว้ก่อนไง แล้วเราประพฤติปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา มันต้องสงสัยอยู่แล้วเพราะเรายังมีกิเลส คนที่สิ้นกิเลสเท่านั้นถึงหายสงสัย

ฉะนั้น เรายังมีกิเลสอยู่ เรายังจะต้องสงสัยต่อไป แต่ที่ว่าสงสัยครับ ถามมาก็พูดกันเป็นธัมมสากัจฉา เราคุยกันเป็นธรรม เป็นธรรมแล้วเราก็พยายามขวนขวายของเรา ปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริงของเรา ถ้าให้เป็นความจริงของเราแล้วนะ นี่เป็นอันเดียวกัน หลวงพ่อไม่ต้องพูดหรอก สงสารหลวงพ่อ หลวงพ่อเหนื่อย พูดทุกวันเลยผมก็รู้แล้ว แต่นี่ยังไม่รู้นะบอกทีๆ ก็ว่ากันไปนะ

ถาม : ๒. หลวงพ่อครับทำไมโลกนี้มีแต่ตัณหา เพราะหัวใจเราเป็นโลก รู้สึกว่าขยับไปไหนมันจะเป็นตัณหา

ตอบ : มันก็เหมือนเงา เราขยับไปไหน ถ้ามีแสงอยู่มันก็มีเงาตลอดไป ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่มันก็เป็นตัณหา กิเลสของเรานั่นล่ะเป็นตัณหา ถ้ากิเลสเกิดจากใจเรา ที่ไหนก็มีแต่ตัณหาไปหมด แต่ความจริงแล้วโลกเขาเป็นธาตุ โลกนี้นะเขาไม่ใช่ตัณหา โลกนี้ไม่ใช่กิเลส

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์นะ “รูป รส กลิ่น เสียงมันไม่ใช่มาร มันไม่ใช่กิเลส รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากที่ไปยึดมั่นถือมั่นมัน อันนั้นเป็นกิเลส”

รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตร เสียงอันวิจิตร รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส แต่ความยึดมั่นถือมั่นของคนต่างหากเป็นกิเลส ฉะนั้น เราบอกว่าโลกนี้เป็นตัณหาไปหมดเลย โลกนี้เป็นกิเลสไปหมดเลย ไม่ใช่ โลกมันเป็นสสาร มันเป็นธาตุ มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่มันแปรปรวนอยู่อย่างนั้น มันเป็นอจินไตย นี่มันเป็นอนิจจังและเป็นอจินไตยด้วย

ฉะนั้น โลกก็คือโลก นี่ธาตุมันเป็นกิเลสได้อย่างใด? มันเป็นตัณหา เป็นความทะยานอยากอะไรมันไม่มีหรอก แต่คนไปยึดมั่นถือมั่น ดูสิเวลาคนมันอยากได้ อยากดีขึ้นมา มันบุกรุกป่า มันเผาผลาญ มันทำลายไปหมดเลย นี่มันทำลาย ถ้าพูดถึงว่าโลกมันเป็นธรรมๆ เราไปทำลายความเป็นธรรมอย่างนั้นหรือ? นี่มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งนั่นแหละ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทำไมโลกนี้มีแต่ตัณหา เราเข้าใจผิดแล้วล่ะ โลกนี้มันก็เป็นโลกนี่แหละ แต่เพราะตัณหาความทะยานอยากของใจเราต่างหาก ความเห็นผิดของเราต่างหาก ตัณหามันอยู่ที่นี่ ไอ้อย่างนั้นมันไม่ใช่เป็นตัณหา มันเป็นธรรมชาติของเขา เขาอยู่ของเขาอย่างนั้น ธรรมชาติของเขาแปรปรวนของเขาอยู่อย่างนั้น สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอยู่อย่างนั้น เราต่างหากไปดีใจ เสียใจกับมันต่างหาก เราไปดีใจ เสียใจกับมัน

นี่ย้อนกลับมาดูที่นี่ เห็นไหม เราไปดูสิเวลาปฏิบัติขึ้นมา คนนู้นก็เป็นธรรม คนนี้ก็เป็นธรรม แล้วเรามีหรือเปล่าล่ะ? แล้วเราไปฟังธรรมของใคร นี่ไปในธนาคาร เงินในธนาคารมันเป็นของธนาคารเขา เราเข้าไปในธนาคารเราว่าเป็นเงินของเราไม่ได้หรอก เวลาเรามองโลกเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราว่าโลกนี้เป็นตัณหาความทะยานอยากไปหมดเลย แต่เวลาถ้าใจเราเป็นธรรมนะ โอ๋ย เป็นธรรมๆ จะไปหยิบฉวยของเขา ไม่ใช่ทั้งนั้นแหละ มันเป็นการปฏิบัติของเรา เป็นการกระทำของเรา

ถ้าเราทำของเรามันจะเป็นผลงานของเราขึ้นมา ถ้าเราทำไม่ได้เราก็พยายามฝึกฝนของเรา เราทำไม่ได้ทำอย่างไรต่อ? ทำไม่ได้เราก็พยายามฝึกหัด พยายามฝึกหัด พยายามทดสอบของเราให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้าเป็นจริงขึ้นมามันเป็นปัจจัตตัง มันจะรู้ขึ้นมาตามความเป็นจริง ถ้ามันยังไม่รู้ตามความเป็นจริง นี่มันก็ปฏิบัติขึ้นมามันก็ดีขึ้นมาระดับหนึ่ง ดีขึ้นมาระดับหนึ่ง เห็นไง เห็นโลกกับเราไง เห็นว่าความผิด ความถูกไง

ถ้าเห็นระดับหนึ่ง ถ้าเห็นแล้วพยายามมีความมุ่งมั่น อธิษฐานบารมีมีเป้าหมายพยายามทำของเรา ถ้าทำเป็นจริงขึ้นมาแล้วนะมันก็จะรู้จริงขึ้นมา ถ้ายังไม่เป็นความจริง ระหว่าง เห็นไหม ระหว่างที่เรากำลังค้นคว้าอยู่นี่มองเห็นเป็นอย่างนี้ จะบอกว่าถ้ามีสติปัญญามันก็ดีขึ้นมา แต่มันติดตรงนี้ไม่ได้ ถ้าบอกว่าอันนั้นเป็นอันนี้ อันนี้เป็นอันนั้นเรายังติดคาอยู่ เรายังต้องละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ สิ่งนี้มันเป็นการพัฒนาขึ้นมา เมื่อก่อนถ้าไม่ได้ภาวนาก็จะไม่รู้อย่างนี้เลย แต่เวลาพอภาวนาเข้ามาจะเห็นโทษไปหมดเลย

เห็นโทษๆ แล้วโทษเป็นอย่างไรล่ะ? อะไรเป็นโทษล่ะ? นี่เราไปเห็นวัตถุธาตุข้างนอกเป็นโทษ แต่เราไม่เห็นความรู้สึกนึกคิดเราเป็นโทษ ไม่เห็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่ปฏิสนธิจิตเป็นโทษ ถ้ามันเห็นเข้ามาๆ เดี๋ยวโทษที่มันเกิดจากเรา โทษเพราะความยึดมั่นถือมั่น เพราะความมั่นหมายของเราต่างหาก แล้วข้างนอกไม่มีอะไรเลย มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้น โลกนี้เป็นตัณหาความทะยานอยากไปหมดเลย จะเอากิเลสไปแขวนไว้กับโลกนะ แล้วบอกว่าฉันสะอาดบริสุทธิ์ แต่เอากิเลสไปแขวนไว้ข้างนอกไม่ได้ นี่เพราะกิเลสเราไปยึดมั่นถือมั่นมันถึงเป็นขึ้นมา ต้องย้อนกลับมาข้างใน มาดูเราข้างใน ฉะนั้น นี่เรื่องมุมมอง

ถาม : ๓. อะไรคือทางสายกลาง ความพอใจ ไม่พอใจ และเฉยๆ ครับ

ตอบ : อันนี้มันเป็นกุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากะตาธัมมา เห็นไหม อภิธรรมเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นไปเทศน์โปรดมารดา เทศน์เรื่องอภิธรรม เพราะอภิธรรม เป็นเทวดาเขามีสติปัญญา เขาต้องเอาความจริงอันละเอียดมาพิสูจน์กัน กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากะตาธัมมา นี่แล้วอะไรเป็นทางสายกลางล่ะ? ความพอใจ ไม่พอใจ เฉยๆ อุเบกขาเป็นทางสายกลางหรือ? ไม่ใช่ทางสายกลาง ทางสายกลางคือมัชฌิมาปฏิปทา อัตตกิลมถานุโยคคือการทำที่ลำบากเปล่า กามสุขัลลิกานุโยค ติดในสุข แล้วลงอย่างไรมันพอดี ถ้าลงพอดีนี่ทางสายกลาง

ฉะนั้น ทางสายกลาง ถ้าเราเข้าใจในปัจจุบันนี้มันเป็นทางสายกลางของกิเลส กลางกิเลสไง เพราะกิเลสมันอ้างอิงทางสายกลาง นี่กิเลสมันอ้างอิงสายกลาง ถ้าเห็นพระปฏิบัติ เห็นไหม เวลาพระปฏิบัติเขาก็แบ่ง พระกลุ่มนี้เคร่งในศีล พระกลุ่มนี้ทำแต่สมาธิ พระกลุ่มนี้มีแต่ปัญญา แล้วสายกลางมันอยู่ไหนล่ะ? ถ้าเขาเคร่งในศีล เขาประพฤติปฏิบัติได้จริงขึ้นมามันก็มรรคหยาบ มรรคละเอียด นี่ถ้าเคร่งในสมาธิ ถ้าสมาธิเขาปฏิบัติขึ้นไปล่ะ แล้วถ้าพุทธะกลุ่มหนึ่งเป็นมุ่งต่อปัญญา ไม่ใช่สักอย่าง เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่ทางสายกลาง ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามรรคมันรวมตัว นี่ทางสายกลางของใคร?

เด็ก เห็นไหม เด็กถ้ามันไม่งอแง เด็กที่มันสมบูรณ์ นี่ทางสายกลางของเด็ก แล้วเด็กเป็นอย่างนั้นตลอดชีวิตได้ไหม? ใครจะดูแลให้เด็กคนนี้มีชีวิตตลอดไป มันก็ต้องโตขึ้นมา พอเป็นวัยรุ่นขึ้นมานี่ทางสายกลางของใคร? คนระหว่างทำงานทางสายกลางของใคร เวลาระหว่างผู้เฒ่า ผู้แก่ล่ะ? ทางสายกลางของผู้เฒ่า ผู้แก่ทำอย่างไร? ผู้เฒ่า ผู้แก่เขาอยากให้พักผ่อน แล้วนอนเฉยๆ เป็นทางสายกลางหรือ? ความพอดีทางสายกลาง

ฉะนั้น อะไรคือทางสายกลาง ทุกคนคิดกันอย่างนี้ไง นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงทางสายกลาง มรรคโคทางอันเอก ทุกคนว่าทางอันเอกมันจะมุ่งสู่ธรรม เราก็จะวิเคราะห์กันเลยว่าอะไรเป็นทางสายกลาง เราก็พยายามจะทำให้เป็นอย่างนั้น ไม่เป็น นี่ระหว่างในศีล ถ้าศีลมันสะอาดบริสุทธิ์นั่นก็สายกลางของศีล ถ้าทางสายกลางของสมาธิ ทางสายกลางของปัญญา แล้วถ้าทางสายกลางของปัญญา เห็นไหม ดูสิโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผลไม่เหมือนกันหรอก ไม่เหมือนกัน

ทางสายกลางไม่มีตายตัว ทางสายกลางระหว่างกิเลสหยาบหรือกิเลสละเอียด กิเลสอย่างหนามันก็ต้องใช้ธรรมะที่เข้มข้น ถ้ากิเลสอย่างกลาง ธรรมะยิ่งเข้มข้นขึ้นไปใหญ่เลย แต่เข้มข้นแบบอย่างกลาง ไม่ใช่เข้มข้นแบบอย่างหยาบหรืออย่างละเอียด ถ้าอย่างละเอียด เห็นไหม นี่เวลาอย่างละเอียดใช้สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งไม่ได้เลย เพราะมันเป็นปัญญา มันเป็นปัญญา มันเป็นขันธ์ นี่มันเป็นสังขาร แต่ถ้ามันเป็นญาณล่ะ? เป็นญาณเพราะมันผ่องใสๆ ผ่องใสถ้าขยับมันก็ออกข้างนอก

นี่ทางสายกลางนะ ถ้าคนรู้ คนเห็นมันจะกลางพอดี มรรคโคทางอันเอกมันจะรวมตัวของมัน แล้วมันจะสมบูรณ์ของมัน แต่ถ้าทางกิเลส ทางกิเลสนี่อ้างอิงไปหมด คำหนึ่งก็สายกลาง สองคำก็สายกลาง ถ้าพอใจก็เป็นสายกลาง ไม่พอใจก็ไม่ใช่สายกลาง แล้วถ้าเป็นพวกเราก็เป็นสายกลาง ไม่เป็นพวกเราก็ไม่ใช่สายกลาง ถ้าสายกลาง กลางของใคร? กลางอ้างอิงไปในพระไตรปิฎก อ้างอิงทฤษฎีหมดเลย นี่ทางสายกลาง ในศาสนาพุทธเป็นทางสายกลาง แล้วก็บอกว่าเวลาผู้ที่ปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราอย่างนี้มันเป็นการสุดโต่งๆ

ถ้าสุดโต่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำทุกรกิริยามา อดอาหารมา ๔๙ วัน แล้วเวลาบอกว่าพระนี่ห้ามให้อดอาหาร แต่เวลาท่านไปพูดไว้ในบาลี เห็นไหม

“ถ้าใครอดอาหารเพื่ออวด ปรับอาบัติทุกกฏ ทุกกิริยาเคลื่อนไหว ถ้าใครอดอาหารเพื่อชำระล้างกิเลส เราตถาคตอนุญาต”

เพราะว่าทางสายกลางบอกว่าการอดอาหารอย่างดี มันก็อดอาหารตายกันหมดเลย แต่ถ้าพูดถึงอดอาหารเพื่อเป็นอุบายวิธีการเพื่อชำระล้างกิเลส ใครมีสติปัญญาจะทำสิ่งนี้ได้ เห็นไหม เวลาเนสัชชิกไม่นอนตลอดคืน ไม่นอน นี่คนเราไม่นอนพักผ่อนมันมีที่ไหนล่ะ? แต่เวลาอยู่ในธุดงควัตร ๑๓ ทำไมมันมีการอดนอนล่ะ? มันมีฉันมื้อเดียวล่ะ? นี่แล้วทางสายกลางตรงไหนล่ะ?

อันนั้นมันเป็นคนที่เข้มข้น อันนั้นคนที่เขาประพฤติปฏิบัติเขาเห็นคุณ เห็นคุณในธุดงควัตร ในการขัดเกลากิเลส เห็นคุณอันนั้นมาต่อสู้กับกิเลส นั้นมันสายกลางในการปฏิบัติ สายกลางในการที่การชำระล้างกิเลส ถ้าคนปฏิบัติขึ้นมามันจะรู้ว่าสายกลางมันอยู่ตรงไหน แต่ถ้าเรายังไม่ได้ปฏิบัติเราก็สายกลางตามทฤษฎีไง แล้วก็อ้างอิงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าห้ามอดอาหาร การอดอาหาร ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามนี่เห็นคุณมหาศาลเลย

ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่กางกั้นไว้ก่อน ดูสิในสมัยพุทธกาลนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลีกเร้น เห็นไหม แล้วพระปฏิบัติไป พอปฏิบัติไปพิจารณาอสุภะ เห็นร่างกายเป็นอสุภะ แล้วรังเกียจมาก ฆ่ากันเองก็มี จ้างให้นายช่างกัลบกเชือดคอให้ก็มี เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมานี่ถามพระอานนท์ทำไมพระมันเบาบางไป? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อยู่เขาเชือดคอกันนะ เขาฆ่ากันตายนะ เอาบริขารไปจ้าง ไปจ้างให้ช่างกัลบกคือช่างตัดผมเชือดคอให้เลย แล้วให้บริขารเขาไป

นี่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันจะมีอย่างนั้น เวลาอสุภะเกิดขึ้นมันจะมีความรังเกียจ มีความขยะแขยง มีต่างๆ อันนั้นมันเป็นคราว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามันเป็นคราวถึงได้หลีกเร้นไป แต่เรื่องอดอาหารนี่ก็เหมือนกัน ถ้าลององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ห้ามไว้นะ คนแบบว่าสมองบ้องตื้นก็ตะบี้ตะบันจะอดอาหารไง อดอาหารให้สำเร็จไง ไม่ใช่ การอดอาหารเพื่อบรรเทา เพื่อให้สิ่งที่ง่วงเหงาหาวนอน ให้สิ่งที่มันภาวนาไม่ได้มันมีช่องทางไป เวลาภาวนาไปมันหัวชนเขา มันอั้นตู้ มันไปไม่ได้

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดทางไว้ เปิดทางนี้มันเป็นทางออกได้ ทางนี้เป็นทางที่เอาชนะตนเองได้ ทางนี้เป็นทางประโยชน์ได้ แต่ต้องมีปัญญา อดพอรู้กำลังของตนว่ามันพอได้ไหม? สุดท้ายแล้วก็ต้องฉันอาหารเพื่อดำรงชีวิตนี้ไป นี่ก็ทางสายกลางอันหนึ่ง กลางในธรรมวินัย กลางในธุดงควัตรเลย กลางในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ถ้าเป็นทฤษฎี เวลากลางแล้วกลางอย่างไร?

ฉะนั้น ถ้ากลางกิเลสมันมีปัญหาแล้ว แต่ถ้าเป็นกลางแล้วผู้ปฏิบัติเห็นคุณนะ เวลาจิตมันเป็นขึ้นมา เวลาหลวงตา ครูบาอาจารย์ท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาท่านกราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า กราบในปัญญา ในเมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ้งในบุญ ซึ้งในคุณ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี แต่ธรรมวินัยนี้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ แล้วเราค้นคว้ากัน ปฏิบัติกัน แล้วมันเป็นจริงขึ้นมาในใจมันซึ้งบุญ ซึ้งคุณนะ กราบแล้วกราบเล่า ซึ้งบุญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฉะนั้น ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมามันซึ้งบุญ ซึ้งคุณ มันกตัญญูอย่างนั้น แล้วถ้าทฤษฎีล่ะ?

ถาม : อะไรคือทางสายกลาง ความพอใจ ไม่พอใจ หรือเฉยๆ ครับ

ตอบ : อันนี้ทฤษฎีชัดๆ เลยล่ะ อันนี้มันทุกข์ สุข อัพยากฤตเท่านั้นเอง มันเป็นเวทนา เวทนาเป็นความรับรู้อันหนึ่ง มันยังไม่เป็นสายกลาง สายกลางคือมัชฌิมาปฏิปทา มรรคสามัคคี สมุจเฉทปหานนั้นคือทางสายกลาง

ข้อ ๑๒๖๕. เขาขอยกเลิกนะ แล้วไปถามใหม่ข้างหลัง

ข้อ ๑๒๖๕. เรื่อง “จะไปต่ออย่างไรดี?” แล้วขอยกเลิกนะ ยกเลิกแล้วมาถามเป็นปัญหาต่อไป

ข้อ ๑๒๖๖. ไม่มี

ข้อ ๑๒๖๗. เรื่อง “ขอยกเลิกคำถามที่จะไปต่ออย่างไรดี” แล้วถามใหม่ไง

ถาม : นมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ เมื่อวานนี้ได้ส่งคำถามที่ว่ามีการสลับใช้วิธีการภาวนาจากปัญญาอบรมสมาธิไปเป็นพุทโธแก้อาการคว่ำหงาย หรือการใช้ตามลมหายใจแล้วสลับกับพุทโธนั้น วันนี้ลูกบังเอิญเปิดเจอคำตอบจากหัวข้อ “สมาธิเพื่อปัญญา” เทศน์เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๓ เข้าใจแล้วค่ะ เป็นปัญหาหญ้าปากคอกจริงๆ และอาการตื่นตัวหลังจากเกิดขนลุกขนพองจนน้ำตาไหลนั้นเข้าใจว่าน่าจะเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากการตรึกในธรรมจนเกิดธรรมสังเวช เหมือนที่หลวงพ่อเทศน์ไว้ ลูกเข้าใจถูกไหมเจ้าคะ

ในการใช้ปัญญาพิจารณาของวันนี้ หลังจากที่จิตสงบสักครู่ใหญ่ลูกก็ใช้พิจารณาขันธ์ ๕ โดยเอาอารมณ์เศร้าที่เกิดกับตัวเองในช่วงนี้มาแยกแยะว่าเกิดจากอะไร มันเริ่มจากเห็นความคิดเป็นคนต้นเรื่องที่ลูกกำหนดให้เป็นลูก ตามมาด้วยเห็นการระลึกเรื่องราวเก่าๆ เป็นสัญญา จากนั้นก็คิดปรุงไปสารพัดเป็นสังขาร เห็นว่ามีการรับรู้เรื่องราวที่ปรุงขึ้นเป็นวิญญาณ แล้วทำให้เกิดเวทนา คือความเศร้าโศกเสียใจ เห็นตัวเองเหมือนงูที่ไปฉกแต่ละกองต่อๆ กันจนเกิดความเศร้าต่อเนื่องวนไปไม่รู้จบ

พอลองบอกตัวเองว่านี่ฉกกองแรกคือคิดถึงต้นเรื่องแล้วให้หยุดค้างไว้แล้ว แยกคนต้นเรื่องที่เห็นกองแรกเป็นธาตุ ๔ มันกลับไปเห็นว่าเป็นต้นเรื่องที่มีขันธ์ ๕ เช่นเรา จิตเราไปผูกไว้กับจิตเขา เลยพากันเวียนตายเวียนเกิดตามหากันไม่รู้จบเสียที บอกให้ตัวเองคลายความรู้สึกอันนี้ลง ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระเสีย แต่เหมือนใจยังไม่ยอมรู้สึกเกิดอารมณ์ตื้อๆ ลูกคิดเอาเองว่ากำลังสมาธิไม่พอ เลยหยุดพิจารณากลับออกมาพุทโธต่อ

๑. ทำเช่นนี้ถูกต้องไหมเจ้าคะ แล้วที่หลวงพ่อย้ำบ่อยๆ ว่าให้ซ้ำอีก คือการพิจารณาแบบนี้เดิมๆ ซ้ำๆ ลงไปอย่างนั้นหรือเจ้าคะ (ฝึกใหม่ตื่นเต้นเจ้าค่ะ กลัวผิด ไม่อยากเสียเวลาอีกแล้วเนิ่นช้ามา ๗ ปีโดยไม่ไปไหนเลย)

๒. สงสัยการเรียงลำดับ เวลาพูดถึงขันธ์ ๕ มักพูดว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแต่ตามที่ตัวลองพิจารณาตามความเห็นเข้าใจว่า เวทนาน่าจะเกิดหลังจากการกระทบรับรู้ของวิญญาณแล้ว ลูกอาจจะเข้าใจผิด กราบหลวงพ่อช่วยเมตตาแนะนำด้วยเจ้าค่ะ

ถาม : ข้อ ๑. ทำเช่นนี้ถูกต้องไหมเจ้าคะ แล้วที่หลวงพ่อบอกให้ย้ำทำบ่อยๆ ว่าให้ซ้ำอีก คือการพิจารณาแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ลงไปอย่างนั้นหรือเจ้าคะ

ตอบ : เขาฝึกใหม่ การฝึกใหม่นะฝึกใหม่ สิ่งที่ทำมาแล้วเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง เช่นคำถามเริ่มต้นที่อารัมภบทมา บอกพิจารณาไปแล้วมีอาการล้ม มีอาการหงาย คือเขาพิจารณาไปแล้ว เวลานั่งภาวนาไปแล้วมันมีแต่อุปสรรคมากมายมหาศาล สิ่งที่อุปสรรคมากมายมหาศาล เวลาไปภาวนากับสำนัก หรือผู้ที่เขาสั่งสอน ถ้าเขาไม่มีหลัก

คำว่าไม่มีหลักนะ มีหลักหมายถึงครูบาอาจารย์ของเราที่พิจารณา ท่านผ่านไปแล้วท่านจะรู้ว่าไอ้ล้มคว่ำล้มหงายต่างๆ ที่มันเป็นมันเป็นอาการทั้งนั้นแหละ แล้วถ้าไปแก้ตามอาการมันก็จะวนอยู่นั่นแหละ ถ้าเราไม่ไปแก้ตามอาการ ทิ้งหมดเลยกลับมาที่พุทโธ กลับมาที่จิต อาการมันจะล้ม จะหงายไม่เกี่ยว อันนั้นวางไว้ ทีนี้เราไปแก้ตามอาการไง คือเราไปล้ม นี่เวลาจิตนั่งไปแล้วมันเหมือนจะล้ม จะคว่ำ จะหงายอะไรนี่ แล้วเราก็ไปแก้ที่อาการนั้น ไม่มีวันจบหรอก ถ้ากลับมาที่ตั้งสติไว้ จะล้ม จะเป็นอย่างไรช่างหัวมัน

ดูสิเวลาเราอยู่ที่ร่างกายของเรา เห็นไหม เงามันจะเป็นอย่างไร ถ้าร่างกายของเราอยู่ตรงๆ เงามันไม่เป็นไปตามร่างกายเราหรอก นี่ก็เหมือนกัน เรากลับมาที่จิต กลับมาที่ร่างกายซะ ไอ้เงาก็ปล่อยมันไป ไม่ต้องไปรับรู้มัน อันนี้ ๗ ปี ๗ ปีที่เสียเวลามามันก็ไปแก้ที่อาการอยู่อย่างนั้นไง ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้เราไม่ต้องไปแก้ที่อาการนั้นกลับมาที่ตัวจิตเลย กลับมาที่สติแล้วกำหนด ถ้าเราพุทโธเราก็พุทโธของเราไป ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ถูกต้องแล้ว

ทีนี้ปัญญาอบรมสมาธิแล้ว เวลามันเห็นนี่ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นเป็นกอง คนต้นเรื่อง เห็นรูปขึ้นมาก็เป็นคนต้นเรื่อง เห็นต่างๆ นี่สติมันทัน ปัญญาอบรมสมาธิมันเห็นอาการของใจ ถ้าอาการของใจ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันเป็นอาการของใจ ฉะนั้น ถ้าเรากลับมาที่นี่ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิที่นี่ มันเข้ามามันก็ถูกต้องเข้ามา ฉะนั้น ถ้าถูกต้องเข้ามา คำถามว่า

ถาม : ๑. ทำเช่นนี้ถูกต้องไหมเจ้าคะ แล้วที่หลวงพ่อให้ย้ำๆ

ตอบ : ย้ำๆ เห็นไหม ถ้าเราทำแล้วนี่ปัจจัตตัง ปัจจัตตังก็จิตถ้ามันพิจารณาแล้วเราพิจารณาของเรา เรามีสติปัญญาของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเราก็รู้ทัน รู้ทันมันก็หยุดใช่ไหม? ถ้าใช้พุทโธ พุทโธมันก็หยุดใช่ไหม? นี่ทำความสงบของใจเข้ามา การปฏิบัติทุกแนวทาง ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือความสงบ

ถ้าคนเราอยากจะพะรุงพะรังอยู่ พิจารณาไปเพื่อความปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วถ้าจิตมันเข้าไปสู่ฐีติจิต จิตมันสงบแล้ว เวลามันเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา ภาวนามยปัญญามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงเพราะจิตมันสงบ มันรู้ มันเห็นของมัน ถ้าจิตมันไม่สงบมันเห็นแต่เงา เห็นแต่ความสามัญสำนึก แล้วก็ให้ค่ากันเองว่าไอ้นั่นเป็นไอ้นั่น ไอ้นี่เป็นไอ้นี่ แล้วก็ให้ค่าไป อาการทั้งนั้น แล้วก็วนอยู่นั่นแหละ ๗ ปี ๗ ปีนะแล้วยังปฏิบัติอยู่มันจะเป็น ๑๐ ปี มันจะเป็น ๑๐๐ ปีอยู่ตรงนั้นแหละ เพราะมันก็ลูบๆ คลำๆ ปฏิบัติพอเป็นพิธี

หลวงตาท่านบอก “ปฏิบัติพอเป็นพิธี” คือว่าพิธีปฏิบัติธรรมไง นี่พิธีปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติธรรมกันไง แล้วสิ่งนี้ก็ถูกต้องไง ทำตามพระไตรปิฎกไง พระไตรปิฎกสอนไว้อย่างนี้ นี่ทางสายกลางๆ ไง ปฏิบัติตามพระไตรปิฎกมันจะผิดไปไหน? ปฏิบัติตามพระไตรปิฎกมันผิด ผิดเพราะว่าเราเข้าใจผิด เราย้ำคิดย้ำทำอยู่ในที่ที่ผิด มันก็ไม่ไปไหนหรอก มันก็อยู่อย่างนั้นแหละ มันเป็นโลกียปัญญา นี่ทางสายกลางของโลก

ถ้าทางสายกลางของธรรม นี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราทำขึ้นมา เห็นไหม พอจิตเห็นคนต้นเรื่อง คนต้นเรื่องนี่จิตมันหมาย มันหมายไปในความรู้สึกนึกคิดนี่มันหมายไป รูป รส กลิ่น เสียงมันหมายออกไป แล้วถ้ามันละเอียดเข้ามามันก็เป็นขันธ์ จิตมันก็ส่งออกไปที่ขันธ์ มันเสวยอารมณ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันจะเกิดขึ้น ถ้าเราเห็นคนต้นเรื่อง มันแยกแยะขึ้นมานี่ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ถูกต้องเข้ามา

ทำซ้ำๆ ซ้ำๆ แบบนี้ ทำซ้ำๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าพุทโธได้ก็พุทโธต่อไปซ้ำไปอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าจิตมันสงบนะมันรู้ของมัน ถ้าปัญญาอบรมสมาธิเห็นของมัน แล้วไปสังเกตของมัน จับของมัน มันจะเริ่มเป็นผลงานของเรา มันจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นการกระทำจริงๆ เป็นปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ปฏิบัติพอเป็นพิธี ปฏิบัติพอเป็นพิธี จิตมันเป็นจิต อาการคือธรรมชาติของจิต อาการคือสัญชาตญาณของจิต มันเป็นอยู่อย่างนั้น แล้วเราไปแก้ที่สัญชาตญาณอย่างนั้น

จิตก็คือจิต สัญชาตญาณก็เป็นอย่างนั้น อาการเป็นอย่างนั้น แก้ที่อาการกัน ล้มคว่ำล้มหงายกันอยู่นั่นแหละ ไม่มีวันจบหรอก ทำอย่างนั้นทำขึ้นมา พอมันปล่อยอาการขึ้นมาก็สบายๆ ปล่อยขึ้นมาแล้วก็ดี นี่ภาวนาก็แค่นั้น พอเป็นพิธี แต่ถ้าเอาจริงขึ้นมา เอาจริงขึ้นมาเหมือนงูมันฉกเลย ฉกกองแรก กองสอง งูคือจิต มันฉก ทีนี้พอมันฉกกองแรก กองที่สองก็ขึ้น ฉกรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันก็ขึ้นเป็นอารมณ์ขึ้นมา อันนี้พูดเป็นอารมณ์กันไป เห็นไหม

ถาม : ๒. สงสัยการเรียงลำดับขันธ์ ๕ มักพูดว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ตามจริงที่ลองปฏิบัติแล้วเข้าใจว่าเวทนามันน่าจะเกิดหลังจากการกระทบรู้

ตอบ : อันนี้มันคือว่าสติใครทันตอนไหน ถ้าสติมันทันตอนไหนมันก็จะไปรับรู้ตอนนั้น แล้วสติทันตอนไหนมันก็เป็น นี่พันธุกรรมของจิต จิตของใคร การปฏิบัติสำเร็จรูปมันไม่มี การปฏิบัติแบบสำเร็จรูปไม่มี ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไป นี่บอกว่าเราฉกไปที่ไหน ถ้าจิตนี่วิญญาณมันเห็นก่อน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูป มหาภูตรูป รูปกาย รูปจิต รูปความยึดมั่น นี่พอรูปมันก็มีเวทนา เวทนา เวทนาเกิดจากอะไร? เกิดจากสัญญา สัญญา เห็นไหม สังขารมันปรุง ปรุงวิญญาณ นี่เรียงลำดับแบบนี้ เรียงลำดับแบบนี้เป็นพุทธพจน์ พระไตรปิฎก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียงลำดับอย่างนี้มันเป็นหลัก พอมันเป็นหลัก นี่ธรรมวินัยเป็นหลัก แต่เราจะเห็นอะไรก่อน เห็นอะไรหลังมันเป็นจริตนิสัย นี่ไม่ต้องไปเถียงกับใคร ค้านกับใคร ให้รู้ตามความเป็นจริงของเรา

นี่เพราะไปศึกษามาใช่ไหม ตามตำราว่าอย่างนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่พอเราไปเห็นวิญญาณก่อน เห็นวิญญาณรับรู้ไปฉก ฉกคนต้นเรื่องก่อน แล้วก็จะยึดว่าคนต้นเรื่อง แล้วถ้าไปฉกคนหลังเรื่องล่ะ? ไปฉกคนที่สอง ไปฉกคนที่สาม งูมันจะฉกกองไหนก่อนมันอยู่ที่มันจะฉกนะ สิ่งที่ละเอียดขึ้นไป เดี๋ยวสัญญามันจะละเอียดกว่า เดี๋ยวสังขารมันจะละเอียดกว่า โอ๋ย ต้องเอาสังขารขึ้นก่อน เดี๋ยวต้องเอาสัญญาขึ้นก่อน ใครมีความชำนาญตรงไหนมันจะจับตรงนั้นได้ชัดเจน ถ้าจับได้ชัดเจนไม่ต้องไปวิตกกังวลว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอะไรจะขึ้นก่อน อะไรจะเป็นรูปแรก นี่งูจะฉกกองไหนก่อน

งูมันจะฉกกองไหน การว่าฉกนั่นล่ะคือมีสติ เพราะมันรู้ มันเห็นไง เราตักอาหารเข้าปากนะ จะเผ็ด จะเปรี้ยว จะหวานเรารับรู้รส เวลาจิตมันรับรู้มันฉกไปที่ไหนไง มันฉกนี่มันชัดเจน เพราะมันฉกมันมีรส พอมันฉกขึ้นไป เหมือนอาหารใส่ปาก อาหารใส่เข้าไปในปาก ลิ้นมันรู้รส รสกลมกล่อม รสเผ็ด รสต่างๆ มันจะรับรู้ จิตถ้ามันฉกตรงไหนมันก็ทันตรงนั้น ถ้าทันตรงนั้นเราก็พิจารณาของเราตรงนั้น ถ้าพิจารณาไปก็ถูกต้อง

ฉะนั้น

ถาม : สงสัยว่าการเรียงลำดับขันธ์ ๕ นี่ถูกไหม? ลูกอาจจะเข้าใจผิด

ตอบ : ไม่ต้องอาจเข้าใจผิด อย่าไปเข้าใจผิด มันเป็นปัจจัตตัง เราปฏิบัตินี่เรารู้ หลวงตาท่านสอนบ่อย ถ้าเราเป็นนักปฏิบัตินะ เราทำสมาธิได้เราไปถามพระเลย ถ้าพระตอบสมาธิไม่เหมือนเรานะ ไม่เราผิดก็พระผิด แต่นี้พวกเราไม่มีสมาธิไง ไปถามใคร พอพระพูดอย่างนั้นก็ เออ พระพูด เราต้องไม่ถูกก่อน พระต้องถูก ทั้งๆ ที่สมาธิเรามีนะ แต่พระไม่มีสมาธิ พระตอบผิด ตอบถูก ไอ้คนไม่มีสมาธิ นี่เพราะเรายังไม่มีหลัก ถ้าเรามีหลักเรามีสมาธินะ พอพระตอบผิดเรารู้ว่าพระองค์นี้ทำสมาธิยังไม่เป็น

แม้แต่สมาธิยังทำไม่ได้เลย แล้วถ้าเราเกิดปัญญาขึ้นมานะ เรามีสมาธิด้วย เรามีปัญญาด้วย เราไปถามพระ ถามครูบาอาจารย์นะ ถ้าครูบาอาจารย์ตอบผิดนะมันเปิดกึ๋นเลยว่าครูบาอาจารย์องค์นี้ไม่มีกึ๋น ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นนิพพานไป หลวงตาท่านถึงได้เศร้ามาก เพราะเวลาท่านเที่ยวธุดงค์ไป ไปเจอพระนี่ตอบผิด ตอบถูก แล้วอย่างนี้หรือจะมาสอนเรา คนที่ไม่มีวุฒิภาวะจะมาสอนเราได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน เราจะย้อนกลับมาที่ว่าถ้าเราเห็นขันธ์ ๕ เรารู้ของเราแล้ว นี่สิ่งนี้เราถามพระได้เลย พระที่ตอบเราถ้าตอบผิดนะแสดงว่าพระองค์นั้นภาวนายังไม่เป็น แม้แต่พื้นฐานอย่างที่ว่างูฉกกองไหนก่อน งูฉกอย่างไร คำว่างูฉก เราฉกที่ไหน กองนั้นเกิดขึ้น เรารับรู้เกิดขึ้น นี้คือมีสติ มีปัญญาแล้วนะ คือมีสติรู้เท่าทันใจของตัว ใจมันฉก นี่ใจมันฉกนะ เรารู้เห็นมันเป็นโทษ แต่ธรรมชาติของมันเสวยอารมณ์ มันเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว มนุษย์เกิดมามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี่มันทำของมันอยู่อย่างนี้

เหมือนโทรศัพท์ถ้ามันทำงานมาทุกอย่างสมบูรณ์ โทรศัพท์มันจะรับคลื่นได้ธรรมชาติของมัน แล้วเวลาพูดมีเสียงตอบรับด้วย นี่ธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น แต่เราไม่เคยรู้เคยเห็นไง แต่พอเราภาวนาขึ้นไป โทรศัพท์เราซื้อมานะจากห้างร้านใช่ไหม เขาทำมาให้เราสำเร็จรูป ทีนี้เรามาแกะไง แกะโทรศัพท์มันทำงานอย่างไร? โทรศัพท์ทำงานอย่างไร? เราซ่อมโทรศัพท์ของเราเป็น

นี่เวลาพิจารณาของเรา เวลาจิตสงบไปจิตมันฉก เห็นไหม โทรศัพท์มันใช้งานอย่างไร นี่มันรับคลื่นอย่างไร มันส่งต่อคลื่นอย่างไร นี่มันเป็น ถ้าภาวนาเป็นคือมันรู้มันเห็นอย่างนี้ไง นี่ทางสายกลาง เห็นไหม ถ้าทางสายกลางคนไม่เป็นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทางสายกลางคนเป็นก็เป็นอย่างนี้ นี่เริ่มเป็นนะ แล้วทางสายกลางที่ละเอียดเข้าไปจะเป็นมากไปกว่านี้

ฉะนั้น สิ่งที่สงสัยว่าเรียงลำดับขันธ์ ๕ ผิดไง แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้วหลวงพ่อช่วยแนะนำด้วย ช่วยแนะนำคือว่าไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่นอะไร ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด มันอยู่ที่จริตนิสัย เขาว่าร้านอาหารร้านนี้อร่อยนัก เราไปกินแล้วมันไม่อร่อยเลย ไม่ถูกใจเราเลย แล้วเราจะบอกว่าไม่อร่อยได้ไหม? เพราะร้านอาหารนี้อร่อยนัก เขามีตรารับประกันเต็มไปหมดเลย เราไปกินอาหารร้านนี้เราไม่อร่อย แล้วจะทำอย่างไรล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน ตำราชี้ไว้อย่างนั้นๆ แต่เวลาเราเป็นขึ้นมาเราจะทำอย่างไร? นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกไง ปฏิบัติละเอียดเข้าไปๆ เดี๋ยวจะรู้ยิ่งกว่านี้ ถ้ารู้อย่างนี้มันจะเคลียร์เอง ร้านนี้เป็นร้านอาหารที่อร่อยนัก มีเครื่องรับรอง มีใบประกาศรับรองมหาศาล เขากินกันอร่อยมันก็เรื่องของเขา แต่เรากินของเรานี่น้ำพริกปลาทูอร่อยนัก เราก็กินน้ำพริกปลาทูของเราไป มันจะเป็นอะไรก็อร่อยของเรา

นี่ถ้ามันเสร็จแล้ว พอมันทำเสร็จแล้ว ประเดี๋ยวนะน้ำพริกปลาทูมันจะเป็นอาหารของโลก ถ้าน้ำพริกปลาทูเราทำให้ดีนะ คนทั้งโลกเขามาชิมแล้ว น้ำพริกปลาทูจะอร่อยกว่าร้านอาหารที่อร่อยนั้นอีก นี่มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ไม่ต้องเดือดร้อนนะ ให้ปฏิบัติของเราไปไม่ต้องเดือดร้อน สิ่งที่ผิดพลาดมาแล้ววาง สิ่งที่เราปฏิบัติมานี่มันเห็นผลชัดๆ อยู่แล้วแหละ เราทำของเราไป ทำของเราไป พิสูจน์ของเราไป มันจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นประโยชน์กับเรา

ถาม : ข้อ ๑๒๖๘. ผมเป็นพระบวชใหม่ ต้องการมาอยู่เพื่อศึกษาครับ ผมชื่อพระ... พรรษา ๒ อายุ ๕๓ ปรารถนาจะมาศึกษาเพื่อปฏิบัติ

ตอบ : นี่ปรารถนาจะมาศึกษาเพื่อปฏิบัตินะ ฉะนั้น ถ้าปรารถนามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ถ้าการประพฤติปฏิบัติ ความจำเป็นของมันคือกายกับใจ ถ้าเราอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่เรามีกายกับใจ นั่นล่ะคือสนามชัยภูมิแห่งการปฏิบัติ จิตใจของเรานั่นล่ะเป็นสถานที่ที่จะปฏิบัติ เราอยู่ที่ไหน ถ้ามันสะดวก มันสบาย แล้วมันมีช่องทาง มีโอกาสที่ปฏิบัติได้ควรอยู่ที่นั่น

ฉะนั้น ถ้าบวชใหม่ต้องการมาอยู่เพื่อศึกษาปฏิบัติ การมาอยู่เพื่อศึกษาปฏิบัติมันก็เป็นเจตนา เป็นความตั้งใจ ทีนี้ความตั้งใจเป็นความตั้งใจอันหนึ่งนะ แต่เวลาพอถ้าไปอยู่ที่ไหนแล้วไปเจอครูบาอาจารย์ที่เข้มงวดขึ้นมา ไปเจอหมู่คณะขึ้นมา เอ๊ะ ทำไมครูบาอาจารย์ท่านไม่เห็นน้ำใจเราเลย เราอยากปฏิบัติบ้าง ทำไมครูบาอาจารย์ท่านไม่ชี้นำเราเลย จะไปชี้นำอะไรในเมื่อมุมมองของคน มุมมองของคน การปฏิบัติของคนมันต้องปรับตัว

นี่เวลาพระเขาไปอยู่ด้วยกันเขาขอนิสัย ถ้า ๗ วันให้ดูกันก่อนว่านิสัยเข้ากันได้ไหม ถ้านิสัยเข้ากันไม่ได้ให้เก็บของไป ถ้านิสัยเข้าได้ ถ้าล่วงราตรีที่ ๗ ถ้าราตรีขึ้น ถ้าอรุณที่ ๗ ขึ้น ถ้าไม่ขอนิสัยนะมันจะเป็นอาบัติต้องต่างคนต่างไป ฉะนั้น เราคิดว่าเราจะศึกษาปฏิบัติ พอไปศึกษานี้เป็นความเจตนา เป็นความตั้งใจ แล้วถ้าตั้งใจถ้าไปแล้ว พอไปอยู่ที่ใดก็แล้วแต่มันจะเป็นอย่างที่เราคิดไหม? นี่ถ้านิสัยไม่ตรงกัน นิสัยรับกันไม่ได้ ไปหาครูบาอาจารย์ที่จะชี้เราประพฤติปฏิบัติ มาถึงครูบาอาจารย์สับเอา โขกเอา สับเอา โขกเอา อ้าว ครูบาอาจารย์ไม่เห็นรักเราเลย

นี่มันก็จะน้อยเนื้อต่ำใจไปอีก เห็นไหม เพราะ เพราะว่าใจของเราเขาเรียกสมณสารูป นิสัยๆ มันต้องพิจารณากันก่อนว่ามันจะไปกันได้ไหม ปัจจุบันนี้เวลาพูดถึงหลวงปู่มั่นทุกคนก็อยากพบหลวงปู่มั่น แต่ครูบาอาจารย์ท่านเล่ามาต่อใครที่อยู่กับหลวงปู่มั่น นี่ถ้าขณะคิดผิดท่านยังโขกยังสับเอาเลย กลางคืนนี่นะภาวนาอยู่เราตั้งเจตนาไว้ไม่ดี เช้าขึ้นมาโดนแล้ว โดนทันทีเลย ทุกคนต้องระวัง ไม่ใช่ระวังที่กิริยานะ ระวังแม้แต่ความคิด ความคิดของเราต้องระวังให้ดี ถ้าไม่ระวังให้ดีพรุ่งนี้เช้าโดนทันทีเลย

ฉะนั้น ถ้าเราดูแลที่จิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเรานะเราจะปฏิบัติ มีความรู้สึก มีใจก็พุทโธของเราไป ปัญญาอบรมสมาธิของเราไป ปฏิบัติของเราไป นี่กายกับใจเป็นชัยภูมิแห่งการปฏิบัติ กายกับใจเป็นชัยภูมิแห่งการปฏิบัติ ถ้าเรามีกายกับใจที่ไหนเราปฏิบัติที่นั่นได้ เราปฏิบัติกายกับใจของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าจะต้องไปอย่างนั้น จะต้องไปอย่างนี้มันก็เป็นความคิดอันหนึ่ง แสวงหาครูบาอาจารย์ ฉะนั้น แสวงหาครูบาอาจารย์มันก็ต้องเป็นความเจตนาของเรา ถ้าแสวงหาครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ดี ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ดีเป็นเรื่องหนึ่งนะ แต่กิเลสของเรามันยอมรับ ไม่ยอมรับนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วถ้ากิเลสเราไม่ยอมรับ แสวงหามาขนาดนั้นแล้ว นี่เวลาปฏิบัติทุกคนเหมือนเด็กเลย อยากหาครูดีๆ แล้วครูนั้นก็สอนให้นักเรียนฉลาด ครูดีๆ สอนนักเรียนแล้วนักเรียนไม่ดีก็เยอะไป เพราะนักเรียนมันไม่เอา ถ้านักเรียนไม่เอามันจะดีขึ้นมาได้ไหม?

ครูดีๆ มีเยอะ แต่นักเรียนที่หาครูดีๆ นี่นะ แล้วเวลามันจบแล้วมันต้องได้เหรียญทองเลย ครูก็ปรารถนาสอนให้นักเรียนดีทั้งนั้นแหละ อันนี้มันเป็นเจตนาไง เราจะบอกว่าถ้าเจตนามันก็เป็นเจตนานะ ความจริงมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น ถ้ามันเอาสิ่งที่เป็นปัจจุบันเลยเราปฏิบัติของเราเลย กายกับใจเป็นสถานที่ในการปฏิบัติ แล้วโอกาสของเรา โอกาสของเรา เห็นไหม โอกาสการแสวงหานั้น ถ้าเราติดขัดขัดข้องเราก็ถามหาได้ ถามเป็นการแก้ปฏิบัตินั้นก็ได้

นี่สิ่งที่เราแก้ปฏิบัติ แก้ความผิดพลาดอันนั้นอันหนึ่ง แต่ถ้าเราคิดเอง จินตนาการเอง ถ้ามันไม่สมความปรารถนา มันไม่สมกับที่เราคาดหมายแล้วเราจะเสียใจ เอวัง