ลักษณะธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม เป็นวันพระแรกในพรรษานี้นะ ใครจะตั้งใจอย่างไร ต้องตั้งใจตามประสาเรา ลักษณะของธรรมของใจมันจะพลิกแพลงไป มันจะเปลี่ยนแปลงไป เจริญงอกงามขึ้นไป ลักษณะของธรรม ปกติธรรมชาติมันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น ใจเราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง สัจธรรมเป็นความจริงอันหนึ่ง สัจธรรมนะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแสวงหาสัจธรรม แล้วก็ร่ำลือกันว่า พระอรหันต์เกิดแล้ว พระอรหันต์เกิดแล้ว แต่ยังไม่มี เพียงแต่เป็นการคาด การหมาย การเดากันไป เจ้าลัทธิต่างๆ ก็บอกว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วก็สอนมาเห็นไหม ในลัทธิที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษา เป็นเจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษากับเขา
อาฬารดาบสทำความสงบของใจ สงบมาก สงบจนได้สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๘ นี่เหาะเหินเดินฟ้าได้นะ สิ่งนี้ติดได้ เหาะได้ สิ่งนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม มีอยู่แล้วเห็นไหม เป็นฌานโลกีย์ แล้วบอกว่าความว่าง ทุกคนว่าเป็นความว่าง ว่างของใจ ใจว่าง ว่างแบบนั้น สภาวะแบบนี้เป็นธรรมชาติ ว่างแบบนี้ว่างเกิดไง มันมีกิเลสอยู่ในหัวใจ มันยังต้องพาตาย พาเกิด
แต่เรามีวาสนา เราเกิดมาพบพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอาสวักขยญาณ ธรรมะเห็นไหม ธรรมะ-ธรรมจักร จักรเกิดขึ้นมาจากหัวใจแล้วเวียนเข้ามาชำระกิเลส นั่นล่ะ ทางอันเอก มรรคโค มรรคอันนี้มีอยู่ในศาสนาพุทธ
สุภัททะเธออย่าถามให้มากไปเลย
สุภัททะนี้เป็นคนที่มีการศึกษามาก ลัทธิศาสนาไหนก็บอกว่าของเขาดีที่สุด แล้วตัวเองก็มีความรู้ของตัว ติดในความรู้ของตัวว่าตัวเองก็มีความรู้ แล้วมีอายุมากกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย สุดท้ายแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ทนไว้ไม่ไหวต้องไปถาม ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
ศาสนาไหนก็บอกว่าดีๆ หมด แล้วศาสนาพุทธ เราว่าอย่างไร
อย่าถามให้มากไปเลย เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีเวลาแล้วจะปรินิพพาน
คนเราใกล้จะทิ้งธาตุ ทิ้งขันธ์ แต่ก็ยังเป็นธรรมอยู่ ยังสอนว่า
ในศาสนาต่างๆ ไม่มีมรรค ถ้าไม่มีมรรค ผลนั้นจะเกิดมาจากไหน
ในศาสนาต่างๆถ้าไม่มีมรรค ถ้ามีมรรค มรรคเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ามรรคเกิดขึ้นมานี้ ลักษณะของธรรม ธรรมมันพัฒนาตรงนี้ไง
โดยปกติของใจ มันพัฒนาขนาดไหน มันก็เป็นเรื่องของโลกของเขาไป เพราะมันยังไม่มีมรรค ถ้ามรรคตัวนี้เกิดขึ้นมา เราต้องมีความเห็นเข้ามาจากภายใน แล้วจะเห็นว่าความเกิดเข้าไป มรรคสามัคคี มันสามัคคีกันอย่างไร มันชำระกิเลสอย่างไร แล้วมันถึงเจริญงอกงามขึ้นมาในหัวใจ มันจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป
ลักษณะของธรรม จากพื้นๆ ธรรมมันมีอยู่ในธรรมชาติ ธรรมชาตินี้เป็นธรรมตามธรรมชาติแน่นอน ใครจะเห็นหรือไม่เห็น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ เขามีของเขาอยู่โดยดั้งเดิม แต่ไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้ เพราะเป็นความลึกลับมาก ลึกซึ้งมาก กว้างขวางจนไม่มีขอบเขต เพราะไม่มีขอบเขต ถ้าไม่มีศาสนาพุทธเราบัญญัติขึ้นมาเห็นไหม ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕
สิ่งที่เป็นธาตุขันธ์มันดำรงหัวใจไว้อยู่ หัวใจที่มีความทุกข์ในหัวใจนี้ไม่มีขอบเขต มันจินตนาการไปได้รอบโลก ในจักรวาล จินตนาการไปนรก สวรรค์ จินตนาการไปได้หมด มันกว้างขนาดนั้น กว้างไปไม่มีที่สิ้นสุด ขอบเขตของเราเห็นไหม มรรคถึงย้อนกลับเข้ามา สัมมาสมาธิทำใจให้สงบเข้ามา ให้มันว่าง สิ่งที่เป็นความว่าง ว่างนี้คือพัฒนาขึ้นมา ใจก็พัฒนาขึ้นมาชั้นหนึ่ง ลักษณะของธรรมก็เปลี่ยนไปจากปกติ
ปกติมีความว่างของเขา เป็นความว่างของมนุษย์เรา เรามีความสบายใจ ความสบายใจของเรานี่ก็ว่างเหมือนกัน เพราะมันไม่มีความคิด ถ้ามีความคิดขึ้นมา ทำให้เราฟุ้งซ่าน สิ่งที่ทำให้เราฟุ้งซ่าน มันจะให้ผลอะไรกับเรา.. ให้ผลเป็นความทุกข์ จิตนี้ถ้ารับผลของความทุกข์แล้ว มันก็ย้ำคิดย้ำทำอยู่อย่างนั้น แล้วก็เวียนไปในความเห็นของกิเลส กิเลสให้ผลแบบนั้นในเรื่องของสัตว์โลก กิเลสมันถึงเป็นพญามารไง
พญามารนี้เป็นผู้ที่ครองใจ เวียนไปในวัฏฏะ ในวัฏฏะนี้จะต้องแปรสภาพไปตามธรรมชาติของมัน ต้องเวียนไปในกาล ในวาระของจิตนั้น จิตนี้ต้องหมุนไปตามวาระของกรรม กรรมนี้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เราก็เปลี่ยนแปลงไป พอได้สถานะใหม่ขึ้นมา มันก็ลืมสถานะเก่า สิ่งที่เป็นสถานะเก่าคือความเห็นนั้น มันก็เป็นสิ่งที่สะสมไป
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะตรัสรู้ธรรมเห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ สาวไปไม่มีที่สิ้นสุด สาวถึงอดีตของใจ ใจมันมีอดีตมาแต่ภพชาติต่างๆ แต่เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้น มันเป็นความเห็นของเรา ความเห็นของเราถ้ามีกิเลสอยู่ มันก็ยึดตามกิเลส ไม่มีหรอก... เพราะถ้ามีแล้วต้องทุกข์ยาก ต้องแสวงหาไง ถ้ามีต้องมีการแก้ไขไง จะสะดวก จะสบาย จะทำความเห็นของตัวเอง แล้วแต่ความเห็น แต่ไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง.. วัฏฏะมีอยู่โดยดั้งเดิม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นสภาวะแบบนั้น แล้วตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สว่าง เห็นไปทั้งหมด ในจักรวาลนี้เข้าใจไปทั้งหมด ในวัฏฏะนี้ ในรูปภพต่างๆ เข้าใจหมด เข้าใจความเห็น เห็นตามความเป็นจริงไปหมด แล้วจะเอาสิ่งใดมาหลอกลวงเรา
คนที่มีความเมตตา มีความกรุณา ปัญญาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระกิเลสได้ เราถึงต้องเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงไม่เชื่อกิเลส กิเลสมันผลักไส มันคิดไปตามอำนาจของมัน อำนาจของกิเลสจะคิดอย่างไร เราก็ต้องคิดไป ถ้าเราเชื่อกิเลส ชีวิตมันก็เท่านี้ เกิดมาแล้วตายไป มีเท่านี้จริงๆ
เกิดมาแล้วตายไป ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วจะต้องตกไปเป็นธรรมชาติของมัน จิตนี้เกิดแล้วต้องตายโดยธรรมชาติของใจดวงนี้ มันต้องเป็นไปตามธรรมชาติตรงนั้น ร่างกายนี้ไม่คงทนถาวรไปตลอดหรอก ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย มันจะแสดงตัวของมันขึ้นมา นั้นน่ะธรรมะแสดง ยมทูต ๔ แสดงให้เจ้าชายสิทธัตถะเห็นสภาวะแบบนั้น คนมีปัญญาจะเข้าใจเห็นไหม ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยนะ เห็นยมทูตทั้ง ๔ แสดงตัวออกมา แสดงตั้งแต่เด็กเกิด มีอย่างนี้ด้วยหรือ มีคนเกิด มีคนแก่ มีคนเจ็บ และมีคนตาย
ทั้งๆ ที่ตัวเจ้าชายสิทธัตถะนั้นก็เกิดมาเหมือนกัน แต่ด้วยความคิด กิเลสบอกไม่มีไง กิเลสว่าอยู่ในปัจจุบันนี้ อยู่ในปัจจุบันนี้ทำชีวิตนี้ให้ดี แล้วก็มีความเป็นไปแบบนั้น คนดีก็ดีจริงๆ นะ คนไหนดี นิสัยดี ก็เป็นคนดีตามแต่อำนาจวาสนา แต่สภาวธรรมนั้นเป็นอันหนึ่ง มันข้ามพ้นทั้งดีและชั่วไง ความดีสร้างบุญกุศลก็เกิดบนสวรรค์ บนพรหมแน่นอน ต้องหมุนไปตามนั้น เพราะไม่มีปัญญาส่องเข้ามาหากิเลส
ถ้ามีปัญญาส่องเข้ามาหากิเลส เข้ามาหาใจ จะเข้าไปหาใจ เห็นสภาวะของใจ ปฏิสนธิเห็นไหม จิตปฏิสนธิตัวนี้สำคัญมาก เวลาจิตมันสงบขึ้นมา สงบเข้ามาจนถึงขณิกสมาธิ อ่อนตัว อุปจารสมาธิ สงบเข้าไป เห็นนิมิตต่างๆ ความสงบอันนี้มันก็มี แล้วคนเข้าไปถึงตรงนี้แล้วเข้าใจว่าเป็นธรรมเห็นไหม เข้าใจว่าเป็นธรรม มันก็เป็นธรรมจริงๆ แต่เป็นสภาวธรรม สัมมาสมาธินี้มันเป็นความสงบของใจ เป็นสภาวธรรมเห็นไหม ลักษณะของธรรมส่วนหนึ่ง
แต่ลักษณะธรรมส่วนนี้ มันก็อยู่ในอำนาจเห็นไหม มันอยู่ในอำนาจของอุปกิเลส ๑๖ อุปกิเลส ๑๖ อุปกิเลส เห็นไหม เวลาจิตมันสงบขึ้นมา โอภาส.. สิ่งที่เป็นโอภาสเป็นความติดอันภายใน จิตนี้ก็มาติดความสว่างของตัว ติดความสงบของตัว มันติดไปหมด เป็นสภาวธรรมแต่ทำไมมันทำให้ติดล่ะ จิตนี้มันต้องติดสภาวะแบบนี้ เพราะมันเป็นความสุข ถ้าไม่เป็นความสุข ทำไมทำให้คนติดได้ คนติดความสุขของตัวเอง ติดมาก ติดสภาวะอย่างนี้ แล้วเข้าใจว่าเป็นธรรม
ถ้าเข้าใจว่าเป็นธรรม มันต้องมีความรู้สึก มีขณะจิตที่เปลี่ยนไป อริยจิตเห็นไหม จิตที่เป็นภูมิของอริยจิต มันไม่เป็นแบบนี้หรอก มันต้องมีความเปลี่ยนแปลง มีสมุจเฉทปหาน มีใจที่มันสมุจเฉท กิเลสมันจะหลุดออกไปจากใจ จะเห็นตามความเป็นจริง ลักษณะของธรรม เปลี่ยนเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ถ้าเราทำถูกต้อง สิ่งที่ทำถูกต้อง
มรรคาเครื่องดำเนินจากภายนอก ต้องมีความดำเนินภายนอก เพราะคนเราเกิดมา มันมีร่างกายและหัวใจ ร่างกายและหัวใจนี้ เกิดมาแล้วอยู่ด้วยกัน สิ่งที่อยู่ด้วยกันเจริญเติบโตขึ้นมา แล้วมันเผชิญกับความทุกข์ สิ่งที่เผชิญกับความทุกข์ มันเป็นเครื่องเตือนใจให้เราแสวงหาทางออกให้ได้ ถ้าเราแสวงหาทางออก เราจะทำอย่างไร เราถึงว่า ปฏิปทา ข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม เริ่มต้นถ้าเป็นคฤหัสถ์ เราก็มีทานไง มีทาน รักษาศีล แล้วจะเริ่มภาวนา
ถ้ามีการเสียสละให้ทาน จิตใจมันคิดถึงเรื่องของศาสนา ถ้าเรื่องศาสนา พระพุทธเจ้าสอนถึงการให้ทานก่อน ทานนี้เป็นของยิ่งใหญ่มาก เป็นความยิ่งใหญ่เพราะอะไร เพราะใจที่มันเริ่มสละออกไป สละออกไป ความตระหนี่ถี่เหนียว มันต้องพยายามขัดขวางเราอยู่แล้ว นั่นล่ะฝึกใจจากเรื่องการให้ทาน ทานจนถึงที่สุด ให้ธรรมเป็นทานนี้เป็นทานสูงที่สุด เห็นไหม ให้ธรรมเป็นทาน ธรรมนี้ทำให้คนเราฉลาด สิ่งที่คนฉลาดแล้วเป็นปัญญา มันจะหาทางออกของตัวเองได้
ถ้าคนเราไม่มีความฉลาดขึ้นมา มันไม่หาทางออกของตัวเองหรอก มันหมกมุ่นอยู่กับความคิดของตัว แล้วคนเรากิเลสหนา กิเลสหยาบ ก็ต่างกัน คนที่กิเลสหนามันก็ไม่เชื่อสิ่งใดๆ เลย มันเชื่อแต่ความคิดของมัน เชื่อแต่กิเลส เห็นไหมพญามารนั้นมีอำนาจมาก ข่มขี่ใจดวงนั้น กดขี่ใจดวงนั้นจนเชื่อสนิท แล้วยอมรับความเป็นจริง แต่ถ้ามีธรรมเข้าไปขัดแย้งขึ้นมา มีธรรมเห็นไหม ธรรมที่ว่าให้ธรรมเป็นทาน
เราให้วิชาการแก่สัตว์โลก แล้วเราก็ให้วิชาการกับตัวเราเองด้วย เพราะเราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง เป็นผู้ที่ข้องอยู่ในโลกเหมือนกัน เราข้องอยู่ในโลก เราก็เวียนไปอยู่ในโลก เราต้องสงสารตัวเราเอง การศึกษาปัญญามันคิดค้นขึ้นมาแล้ว มันต้องย้อนกลับเข้ามาหาตัวเราเอง ย้อนกลับขึ้นมาหาใจ ถ้าย้อนกลับเข้ามาหาใจ ใจดวงนั้นจะประเสริฐขึ้นมา มันเริ่มมีความศรัทธา มันเริ่มให้ทานออกไป
พอให้ทานออกไป ให้ความตระหนี่ถี่เหนี่ยวออกไป ความตระหนี่มันเป็นกิเลสเรื่องหยาบๆ พอเรื่องกิเลสหยาบๆ ออกไป มันเป็นการฝึกฝนใจ ทาน ศีล ภาวนา ถ้ามีศีลรักษาใจไว้ อามิสศีลเห็นไหม มโนกรรมสำคัญที่สุด ในการกระทำต่างๆ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ในศีล ๕ นั่นล่ะ มันเป็นการกระทำเกิดขึ้นมาจากกาย การปาณาติปาตาเห็นไหม เรากระทำต่อเขา สัตว์นั้นต้องตกร่วงไป ศีลมันถึงขาด
แต่ความที่ว่า ร่างกายจะขยับไปทำร้ายสิ่งต่างๆ จะไปทำลายเขา ใครเป็นคนเริ่มคิดก่อน มโนกรรมถึงสำคัญไง กรรมอันเกิดจากใจ ถ้ามีศีลอันบริสุทธิ์ขึ้นมา ใจตัวนี้มันจะไม่คิดออกไป มันจะไม่คิดทำลายเขา มันจะคิดแต่ว่าความผิดปกติของใจนั้นคือผิดศีล สิ่งที่ใจนี้ผิดปกติ มันผิดศีลแล้ว มันไม่ควรทำสิ่งนี้ ถ้าไม่ควรทำสิ่งนี้ แต่ทำไมหักห้ามใจไม่ได้ ถ้าหักห้ามใจไม่ได้ เพราะว่ากิเลสมันมีอำนาจเหนือกว่า ถึงหักห้ามใจไม่ได้ ถึงต้องใช้คำบริกรรมไง
เราต้องใช้คำบริกรรมกำหนด พุทโธ พุทโธ ขึ้นมา เพื่ออะไร เพื่อจะให้จิตมันมีความสงบของใจ จิตนี้เปลี่ยนแปลงอาหาร อาหารสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ มันให้กับสิ่งนั้น ได้อาหารแล้วมันเจริญงอกงาม ใจนี้มีกิเลสเป็นอาหารมาตลอด กิเลสนี่เป็นอาหารของตัว หิวโหยสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้วมันก็เกาะเกี่ยวไปกับแทบทุกๆ สิ่ง สิ่งใดผ่านเข้ามาในความรู้สึก เข้ามาในอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับรู้สิ่งต่างๆ บ่วงของมาร...
บ่วงของมารนะ ใจนี้ติดข้องไปกับบ่วง บ่วงนี้ทำให้ใจนี้ฟุ้งซ่านไป บ่วงของมารทำให้รัดตรึงใจตลอดไป อยากดู อยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้กลิ่นดีๆ ทุกอย่างต้องเป็นของดีทั้งหมดแล้วใจมันจะพอใจ สิ่งที่พอใจก็เป็นการติดสิ่งนั้นไป แล้วมีสิ่งใดสะดุดใจ แม้แต่คนนั่งภาวนา บางคนก็ได้กลิ่นนะ กลิ่นแปลกๆ มันจะมา มันทำให้เราไม่เป็นปกติ ถ้าใจนี้เป็นปกติ มันเป็นสัมมาสมาธิ สิ่งที่เป็นสมาธิคือใจมันเป็นปกติ ใจอิ่มเต็ม ถ้าใจเราหิวโหยอยู่ มันอยู่ใต้อำนาจของกิเลส มันได้อาหารของกิเลส อาหารของกิเลสคือเครื่องล่อ มันชอบอยู่โดยธรรมชาติของมันด้วย แล้วมันก็ล่อออกไปตามอายตนะทั้ง ๖
อายตนะทั้ง ๖ กระทบกับสิ่งต่างๆ มันก็เกาะเกี่ยวไป แล้วเราจะยับยั้งมันอย่างไร เราถึงว่า เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องกินน้อย ต้องนอนน้อย ทำความเพียรมาก เอาความเพียรนี้สู้ตลอดเวลา สิ่งที่เราจะสู้ สู้กับอะไร เราสู้กับกิเลส สู้กับความเห็นของใจเรา ใจนี้เคยมีอำนาจมาก ใครก็แล้วแต่มีอำนาจต่อคนอื่น มันมีความภูมิใจว่าเรามีอำนาจ แต่เวลาเราดูเรื่องของกิเลส มันมีอำนาจเหนือเรา ทำไมเราไม่ภูมิใจของเราล่ะ
มันจะภูมิใจได้ได้อย่างไร ในเมื่อมันมีความทุกข์อยู่ในหัวใจ สิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็ สะสมแต่ความทุกข์อยู่ในหัวใจ แล้วมันก็จะทับถมใจไปอย่างนั้น สิ่งที่ทำแล้วทำเล่า มันทำขึ้นมามันต้องทำให้มากกว่า ทำแล้วมันก็จะต้องทำไปตามอำนาจของกิเลส มันไม่เกิดมาเป็นธรรมหรอก สิ่งที่จะเป็นธรรมต้องฝืนเห็นไหม
คำว่า พุทโธ พุทโธ มันไม่อยากคิด ไม่อยากทำหรอก มันจืด แล้วมันคิดไม่ได้ มันไม่เป็นความเป็นไป มันไม่สนุก แต่ถ้าคิดตามกิเลส มันมีความสนุก เพราะเป็นความเคยชิน คนเราเกิดตาย เกิดตาย มาในวัฏฏะนี้ยาวไกลมาก สิ่งที่เป็นจริตนิสัยคือเรื่องของกิเลสมันสะสมมา แล้วให้ใจดวงนี้อยู่ในอำนาจของมัน มันคล้อยตามกันไปตลอด
แต่ถ้าฝืนขึ้นมา แล้วกำหนด พุทโธ พุทโธ คำบริกรรมเข้าไป ฝืนขึ้นไป แล้วให้อาหารใหม่ด้วย จิตดวงนี้ถ้าได้กินพุทโธ พุทโธ อยู่กับพุทโธตลอดไป มันไม่มีโรค ไม่มีภัยกับใจหรอก ถ้ามีสติ แล้วกำหนดพุทโธอยู่ กำหนดสิ่งนี้ขึ้นมา เพื่อจะให้เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิ นี่ลักษณะของธรรมเห็นไหม
ลักษณะของธรรม การเปลี่ยนแปลงไปของธรรม การเปลี่ยนแปลงไปของความรู้สึก ความเข้าใจ เราศึกษาธรรม สรรพสิ่งนี้เป็นธรรมชาติ เราเข้าใจสภาวธรรมชาติแล้วเราก็อย่าไปเกาะเกี่ยวกับมัน แล้วเราก็ปล่อยวางธรรมชาติเข้ามา มันก็คิดของมันได้ นั้นก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง สภาวธรรมที่ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของใจ ใจไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะใจมันเป็นปกติ มันเป็นโลกียะ
ความคิดของโลก มันเป็นสัจจะความจริงของมนุษย์ มนุษย์สื่อกันด้วยคำพูด สื่อกันด้วยสมมุติ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันสื่อกัน มันเข้าใจกัน จะเป็นสมมุติในภาษาใดก็แล้วแต่ ใจนี้ออกไปรับรู้ สิ่งที่รับรู้ก็สื่อกันไปตามความหมายต่างๆ แล้วย้อนกลับเข้ามาตามความรู้สึกของตัว แล้วมันสลดสังเวชไหม ถ้ามันสลดสังเวชกับสภาวธรรมอันนั้น ธรรมมันเข้าใจสิ่งนั้น ความเข้าใจนี้ โล่ง โปร่งโถง ออกสบายเห็นไหม ความสบายของธรรมนั้นล่ะ เป็นความสบายของโลกียะ สิ่งที่เป็นโลกียะ ถึงมีปัญญาอบรมสมาธิไง
ถ้ามีปัญญาอบรมสมาธิคนเรา พุทธวิสัย พุทธะ จิตเห็นไหม มันมีความรู้ต่างๆ พุทธะ.. สิ่งที่เป็นพุทธะ เป็นผู้ที่มีปัญญา นิสัยนะ พุทธจริต จริตของเราเป็นชาวพุทธ มันเป็นจริตต่างๆ สัทธาจริต ถ้ามีสัทธาจริต มีความเชื่อ กำหนดพุทโธ พุทโธ มันจะเป็นไป เพราะความเชื่อของเราเป็นพื้นฐาน แต่พุทธจริต จริตของผู้ที่มีปัญญา มันไม่ค่อยเชื่อ มันต้องพิสูจน์กัน สิ่งที่พิสูจน์ก็ต้องใช้ความคิด สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ พิสูจน์ใจนี้สำคัญที่สุด
ถ้าใจมีความเปลี่ยนแปลง สภาวธรรมอันนี้ เราเกิดในศาสนาพุทธ แล้วเราพบพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติมา สิ่งนี้เป็นสมบัติของครูบาอาจารย์ เรายืมมาไง ฟังธรรมนี่คือยืมมาจากใจดวงหนึ่ง ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มีความสุข วิมุตติสุข อยากให้คนรู้ อยากให้คนเข้าใจนะ จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ มันลึกลับขนาดนั้น สุดท้ายแล้วออกมาเทศน์สอนธรรมจักร พระอัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ รู้แล้วหนอ ผู้ที่รู้ตามเห็นตามมันมี
นี้เหมือนกัน ในเรื่องของหัวใจ เรามีหัวใจ ความเข้าใจถึงธรรม สภาวะของธรรมที่มันจะรับรู้ธรรมได้คือเรื่องของใจเท่านั้น สภาวะของใจรับรู้สิ่งต่างๆ ทุกข์นี้ก็ทุกข์แบกทุกข์จนเต็มหัวใจ ทุกข์มาก ทุกข์ขนาดไหนก็แบกไป แล้วมันจะปล่อยวางได้อย่างไร อยากมีความสุข อยากได้ความสุขมาโดยแบบว่าอ้อนวอนเอา ขอเอา มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าอ้อนเอา ขอเอานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานให้ทั้งหมดเลย ถ้ามันให้ได้ แต่มันให้ไม่ได้เพราะอะไร เพราะใจมันมีกิเลสฝังอยู่ที่นั่น แล้วสิ่งที่เข้าไปชำระมันคือสภาวะของมรรคเห็นไหม
มรรครวมตัว ธรรมจักรเข้าไปชำระกิเลสนั้น มันต้องเกิดขึ้นจากใจดวงนั้น เพราะใจดวงนั้นเห็นไหม ของที่สกปรก ผ้าที่สกปรก เราจะไปซักผ้าผืนอื่นก็สะอาดแต่ผืนอื่น ผืนของเราไม่ได้ซักมันก็ไม่สะอาดขึ้นมา ใจของเราก็เหมือนกัน ในเมื่อใจของเรามีกิเลสอยู่ เราไม่ได้ซัก ไม่ได้ฟอกใจของเรา แล้วมันจะสะอาดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วสิ่งที่จะซักจะฟอกมาจากไหน เกิดขึ้นมาจากความเชื่อของเรา เกิดขึ้นมาจากศรัทธาก่อน เกิดขึ้นมาจากการฟังธรรมก่อน
ฟังธรรมเห็นไหม ยืมมาก็ให้ยืมมา แล้วพยายามสร้างสมขึ้นมา หาน้ำ หาผงซักฟอก หาสิ่งต่างๆ เข้ามาชำระล้างใจ ถ้าไม่มีมรรคา ไม่มีการดำเนินไป ไม่มีความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง สภาวะของธรรมจะเป็นแบบนั้น ลักษณะของธรรมมันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา ลักษณะของธรรมมันเป็นความเข้าใจนะ
ถ้าเราไม่เคยเข้าใจสิ่งใด เรามีความลังเลสงสัย พอเราเข้าใจ ความเข้าใจของเรามันจะปลดเปลื้องความสงสัยของเราออก มันจะสว่าง มีความเข้าใจ นี่เป็นสภาวะ เข้าใจว่าเป็นธรรมเห็นไหม สัมมาสมาธิเพราะอะไร เพราะสภาวะของจิตนั้นไม่มีการแก้ไขสิ่งใดๆ เลย มันเป็นเรื่องของโลกทั้งหมด โลกก็คือความคิด คือเรื่องของสังขาร สิ่งนี้มันเป็นเงา มันเป็นขันธ์ สิ่งที่เป็นขันธ์เกิดขึ้นมาจากจิต เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์
มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เห็นไหม เวลาเกิดมาเป็นพรหมมีขันธ์ ๑ เกิดมาเป็นเทวดา เกิดเป็นอินทร์ เกิดเป็นพรหม มีต่างๆ ธาตุขันธ์แล้วแต่สภาวะของภพชาติต่างๆ เราจะได้มาต่างกัน อาหารก็ต่างกัน อาหาร ๔ เห็นไหม กวฬิงการาหาร วิญญาณาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร อาหารของจิต อาหารของสัตว์โลกที่เกิดตาย เกิดตาย มันมีอาหารต่างๆ กัน
นี้ก็เหมือนกัน เราเกิดมาในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เรามีขันธ์ ๕ สิ่งที่เป็นขันธ์ ๕ มันคิดโดยธรรมชาติ สิ่งที่คิดโดยธรรมชาติมันเป็นเงาของจิต สิ่งที่เป็นเงาของจิตมันก็คิดเป็นธรรมชาติของมัน ถ้าสิ่งนี้เรากำหนดพุทโธ พุทโธ อาศัยเงา อาศัยสิ่งที่เห็น สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันก็คิดพุทโธสิ ความคิดพุทโธ คิดขึ้นมาเพื่อให้ใจมันสงบ นี่ลักษณะของธรรม
ลักษณะของธรรมเห็นไหม เอาตัวมันเองแก้ไขตัวมันเอง ให้มันสงบเข้ามาให้ได้ ถ้ามันสงบไม่ได้ เราต้องพยายามต่อสู้ มีกลอุบายวิธีการสิ่งใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ กรรมฐาน ๔๐ ห้องให้เราเดินเข้าไป พยายามให้ตรงกับจริตนิสัยของสัตว์โลก
กรรมฐาน วิธีการทำใจให้สงบมีถึง ๔๐ วิธี แล้วถ้าเรายังทำไม่ได้ เราต้องมีอุบายให้มากกว่านั้นขึ้นไป ให้มากกว่านั้นเพราะ เด็กนะ ถ้าปล่อยให้เล่นตามความสะดวกสบายของมัน มันก็จะมีความสนุกเพลิดเพลินตามประสาของมัน ถ้าเราจะให้มันอยู่ในความสงบ เราจับให้มันนั่งให้นิ่ง มันจะมีความคับแค้นใจ ถ้าจะให้สงบขึ้นไป มันถึงกับร้องไห้ได้ ถึงกับไม่พอใจได้
ใจก็เหมือนกัน เราคิดว่า เราเข้าใจว่า ธรรมเป็นสภาวะที่ว่าทำให้เรามีความทุกข์ มีความสุขได้ สิ่งที่เป็นกิเลสมันเป็นความทุกข์ของใจ เรื่องของทุกข์ไม่ต้องถามกัน ทุกหัวใจมีความทุกข์อยู่ในหัวใจ มันเป็นสัจจะความจริงในหัวใจ ทุกข์นี้มีอยู่ทุกคนเลย มันมีอยู่แล้วเราก็รู้อยู่ แล้วเราพยายามจะละสิ่งนี้ให้ได้ ก็คือสภาวธรรมที่เราจะต้องมาแก้ไข
ถ้าเรามาแก้ไข เราจะเริ่มมาทำความสงบของใจ ต้องมีพื้นฐานก่อน มีพื้นฐานคือทำสัมมาสมาธิให้จิตนี้สงบ ถ้าจิตนี้ไม่สงบ ปัญญาที่เกิดขึ้นเป็นปัญญาอบรมสมาธิทั้งหมดเลย ปัญญาที่เกิดขึ้น เป็นความคิด ความดูจิต เข้าใจสภาวธรรมต่างๆ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเราคิดสิ่งนั้น มันเป็นความสงบของใจเข้ามา แต่เวลาเราจะเริ่มทำขึ้นมา กิเลสมันต่อต้านไง เหมือนเด็กที่เราให้อยู่ในความระเบียบเรียบร้อย อยู่ในระเบียบมันจะต่อต้าน ใจก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นสภาวธรรม
เราเหมือนเด็ก จิตนี้เหมือนเด็ก เล่นไป อยู่ไปกับโลกเขาโดยธรรมชาติอย่างนั้น กิน เที่ยว ต่อไป ตามอำนาจของใจ ใจก็แสวงหาอย่างนั้น มันก็ทุกข์อยู่ แต่มันก็พอทนเอา เพราะไม่มีสิ่งที่จะมีทางออกเห็นไหม แต่พอมาเจอสภาวธรรม เราจะเริ่มให้เด็กทำงาน มันจะมีความต่อต้าน จิตของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติ มันก็ไม่มีนิวรณธรรม ไม่มีความลังเลสงสัย ไม่มีความคิดต่างๆ มันก็เพลินของมันไปได้
แต่พอจะทำขึ้นมา ธรรมะมีไหม? มรรคผลมีไหม? ความลังเลสงสัยเกิดขึ้นมาตลอดเลย เกิดความลังเลสงสัยแล้วทำให้เราไม่มีกำลังใจ ถึงต้องมีอุบายวิธีการไง เราเริ่มจากปฏิบัติธรรม กิเลสมันก็ทำให้เราขับไส พยายามทำให้เราทำได้ยากแล้ว ให้เราไม่เชื่อสภาวธรรมตามความเป็นจริง
ครูบาอาจารย์ผ่านไป ผ่านไปไหน? เวลาประพฤติปฏิบัติมา สิ่งนั้นเป็นความจริงไหม สิ่งนี้เป็นความจริง ตำราก็บอกไว้แล้ว ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ แล้วมันก็มีอยู่ สิ่งนี้พิสูจน์ได้ ธรรมและวินัย ทำให้จิตนี้พ้นออกไปจากกิเลส จากการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วธรรมและวินัยเกิดขึ้นมาไหม ถ้าธรรมและวินัยเกิดขึ้นมาจากใจของเรา เราสร้างสมมา มันจะมีพื้นฐาน ธรรมและวินัย มันเป็นความเคยชิน ถ้าเราฝึกฝนปฏิบัติขึ้นไปเรื่อยๆ ถือศีล.. ถือศีลจนเป็นความปกติของใจ ใจพลิกแพลงไป มันคิดออกไปทางไหน มันคิดออกไปทางบาปอกุศลทั้งหมดเลย
ถ้าเรากำหนดพุทโธได้ ไม่คิดอย่างอื่น ให้กำหนดพุทโธตลอดไป ฝืนอยู่อย่างนั้น ทำอยู่อย่างนั้น กำหนดอยู่อย่างนั้น ด้วยสติพร้อม มีสติอยู่เป็นงาน ถ้าสติเราสมบูรณ์ มันจะเป็นงานของเราในการสืบต่อ เราเริ่มประพฤติปฏิบัติ เราเริ่มต้นทำขึ้นมา แล้วพอทำขึ้นมา สงบครั้งหนึ่งแล้วก็ปล่อยไป ปล่อยเป็นกาลเวลาผ่านไป แล้วค่อยมาทำใหม่เพราะไม่มีกาล ไม่มีเวลาหนึ่ง ไม่มีความเข้าใจหนึ่ง แต่พอสงบขึ้นมา พิจารณาอะไรก็แล้วแต่ พอมันปล่อยวางขึ้นมา ว่าอันนี้เป็นผลแล้ว สิ่งที่เป็นผล... มันไม่เป็นผลหรอก มันเป็นลักษณะของธรรมที่เป็นเรื่องของโลกทั้งหมด
เจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษามา มันมีอย่างนี้ มันปล่อยวางอย่างนี้ สิ่งนี้มันปล่อยวางมา เพราะมันไม่มีสิ่งที่เกิดขึ้นจากหัวใจ ใจนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง ใจมันต้องเปลี่ยนแปลงในสภาวะตามความเห็นของมัน มันอาศัยสิ่งต่างๆ เห็นไหม การพิจารณากายจากภายนอกเข้ามา มันพิจารณากายของเขาขึ้นมา เพื่อให้สลด ให้สังเวช ให้สลดเข้ามาไง ถ้ามันไม่สลด มันจองหองพองขนนะ มันคิดว่ามันไม่มีวันตาย เกิดขึ้นมาแล้วไม่มีวันตาย ผัดวันประกันพรุ่งไป วันคืนล่วงไปเร็วมาก
วันคืน ชีวิตเรา เผลอแปบเดี๋ยว ตั้งแต่เกิดมาเป็นหนุ่มแล้ว เดี๋ยวเป็นหนุ่มแล้ว เดี๋ยวก็ตายแล้ว มันเป็นอย่างนั้นตลอดไป แต่เวลาความเพลินไป เพลินของมัน มันจะเพลินตลอดไป เพลินอย่างนั้นมันก็เข้ากับกิเลส กิเลสก็ดึงไปตลอดไป แล้วเราว่าเราจะชำระกิเลส ทำไมให้กิเลสมาหลอกขนาดนี้ ถ้าพอคิดขึ้นมาได้ มันก็คอตกหนหนึ่ง เห็นไหมกิเลสมันก็คอตกได้
สิ่งที่คอตก มันสลดสังเวชตัวเราเอง เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เราจะประพฤติปฏิบัติ ทำไมเราไม่มีความจริงจัง ทำไมเราทำของเราไม่ได้ ทำของเราไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่ากิเลสอย่างเดียว ต้องเข้าใจว่าเพราะกิเลสอย่างเดียว ธรรมมีคุณประโยชน์มาก แต่ธรรมเกิดกับเรา มันมีธรรมขั้นไหน ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ พอสงบขึ้นมาแล้ว มันเป็นปัจจัตตัง จิตนี้สงบแล้วความรู้สึกสงบมันเป็นเครื่องยืนยันว่ามีจริง
จิตเราฟุ้งซ่านขนาดไหน มันก็สงบได้ ความจริงมันก็มีความสงบอยู่แล้ว เพราะถ้ามันไม่มีความสงบอยู่เลย เราจะดำรงชีวิตไม่ได้หรอก เวลาทุกข์เวลายากขึ้นมามันจะมีความทุกข์มาก แล้วมันหายไปไหน พอมันหายไปเห็นไหม เพราะมันเป็นอนิจจังโดยธรรมชาติของมัน สิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง มันเป็นสภาวธรรม แต่ไม่มีใครไปรู้เห็น สิ่งที่รู้เห็นนี้เป็นสัญญาทั้งหมด ที่เรารู้เห็นนี้รู้เห็นด้วยวิชาการ เราศึกษามาเป็นวิชาการ เราเข้าใจของเรา ความเข้าใจธรรมอย่างนี้มันก็ปล่อยวาง.. ปล่อยวาง.. ปล่อยวางขึ้นมาได้
ธรรมมันปล่อยวางเข้ามา แต่ถ้าจะปล่อยวางเข้ามาแล้ว เราจะทำอย่างนี้บ่อยครั้งเข้า จนจิตตั้งมั่น ความสงบบ่อยๆ เราต้องพยายามชำนาญในวสีการเข้าออก เราจะสังเกตตรวจตราตลอดว่า ศีลของเราสมบูรณ์ไหม? สติของเราดีไหม? ถ้าเราไม่ดี พยายามตั้งขึ้นมา ผลของมันจะเกิดขึ้นมา ให้มันเกิดขึ้นมาโดยสมควรแก่เหตุ เราถึงมีหน้าที่สร้างเหตุขึ้นมา พยายามทำความสงบของใจ ตั้งใจขึ้นมา ให้มันสงบเข้ามาเป็นพื้นฐาน เพื่อให้เป็นโลกุตระไง เพื่อให้เป็นปัญญาธรรมไง ปัญญาของธรรมจะเกิดขึ้นมาเห็นไหม ปัญญาของโลกียะ ปัญญาของโลกุตระ
ปัญญาที่อยู่ในโลก คิดขนาดไหน ทำขนาดไหน มันก็เป็นปัญญาของโลก โลกเป็นแบบนั้น ความคิดเป็นแบบนั้น แต่เราเข้าใจว่าเป็นปัญญาที่เป็นการชำระกิเลส เป็นปัญญาของธรรมไง มันเป็นปัญญาของโลกเพราะมันฆ่ากิเลสไม่ได้ เกิดมาจากกิเลส ปัญญาของกิเลสมันหลอกใช้ ปัญญาของกิเลสปั้นแต่งขึ้นมา ปัญญาของกิเลสสร้างสมขึ้นมา แล้วสิ่งนั้นจะไปชำระมันได้อย่างไร ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันมีความสงบเข้ามา มันต้องมีความคิด มีความจงใจของเรา ตั้งใจของเราขึ้นมา พอมันสงบเข้ามา สงบเข้ามา สงบเข้ามาแล้ว สงบบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันตั้งมั่น ถ้ามันตั้งมั่นแล้วออกหา พอมันสงบมาก เราออกแสวงหาให้เห็นความเปลี่ยนแปลง
ถ้าจิตมันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงนะ มันพิจารณากายเหมือนกัน กายนอกทำให้สงบตัว ให้สลดสังเวช หดตัวเข้ามา มันก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้น มันปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามาให้เป็นตัวมันเอง ถ้ามันปล่อยวางสิ่งนั้นให้เป็นตัวมันเอง นี่กัลยาณปุถุชน มันจะปล่อยบ่วงของมาร สิ่งนั้นเป็นบ่วงที่จิตเคยติดอยู่ ถ้ามันเห็นความสงบบ่อยครั้งเข้า จนบังคับมันนะ แล้วความบังคับมันเห็นมันออกไป เรารู้ทันมันหมดเลย มันจะเห็น มันสลดสังเวชนะ สิ่งนี้คือความยึดติดของใจ
ใจไปเกาะเกี่ยวกับบ่วงเอง ใจออกไปหาเขาเอง ถ้าจิตมันเห็นสภาวะอย่างนั้น มันสลดสังเวช แล้วมันปล่อยได้ พอมันปล่อยได้ขึ้นมา มันเป็นกัลยาณปุถุชน สิ่งที่เป็นกัลยาณปุถุชนเห็นไหม ถ้าพิจารณากายใหม่ให้เห็นสภาวะของกาย เห็นสภาวะของจิต จิตที่สงบแล้ว สังเกตความรู้สึกตัวของมันครั้งแรก จิตที่ออกรับรู้ มันออกไปรับรู้สิ่งใด ออกรับรู้สิ่งนั้นคือตัวขันธ์เห็นไหม
จิตนี้มันมีอวิชชา มันไม่เข้าใจตัวมันเอง พอมันไม่เข้าใจตัวมันเอง มันออกไปโดยสัจจะ คือธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันมีโดยธรรมชาติของมัน มันออกเกี่ยวสิ่งนี้เข้าไป แล้วสิ่งนี้มันก็ดำเนินไป ออกไปยึดเหนี่ยวสิ่งต่างๆ ที่ว่าเป็นบ่วงนั้น ยึดเหนี่ยวสิ่งต่างๆ แล้วมันก็คิดไปตามอำนาจของกิเลส พอใจและไม่พอใจ สุขและทุกข์ตามอำนาจของมันไป สิ่งนี้เคลื่อนออกไป พอจิตมันสงบเข้ามา ให้สังเกตความรับรู้ของมัน จับสิ่งใดนั้นคือตัวขันธ์
ถ้าจับตัวขันธ์ได้ นี่รูปของจิตไง อารมณ์ของเรา เราคิดว่ามันไม่มี เราคิดว่าเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม มันก็ต้องจับต้องไม่ได้ แต่ถ้าจิตมันสงบ มีพื้นฐานของสภาวธรรม ถ้าธรรมเรามีสภาวะสิ่งนี้ขึ้นมา มันจะจับขันธ์ได้ ถ้ามันจับขันธ์ได้เห็นไหม หลานพระสารีบุตรไปต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าไม่พอใจสิ่งต่างๆ เพราะเอาพระสารีบุตรมาบวช ไม่พอใจ ถ้าไม่พอใจสิ่งต่างๆ เพราะจะต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มีธรรมไง ผู้ที่มีธรรมในหัวใจ จะให้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา
ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ ก็ต้องไม่พอใจในอารมณ์ที่เธอไม่พอใจเขาด้วย
เพราะมันก็เป็นสิ่งหนึ่ง มันเป็นความคิด มันเป็นรูปธรรมอันหนึ่งที่มันไม่พอใจแล้ว มันเป็นนามธรรมที่ไปขัดทุกอย่าง ขัดให้หัวใจเรามีความรู้สึก นี่สิ่งนี้จับได้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับหลานพระสารีบุตร พระสารีบุตรฟังธรรมอยู่เบื้องหลัง สิ่งนี้เก็บเป็นประโยชน์ขึ้นมา ให้เป็นประโยชน์ชำระกิเลสขาดไป พระสารีบุตรตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเพราะธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงให้หลานฟัง ถ้าเราจับของเราขึ้นมา มันก็มีอาการแบบนี้เหมือนกัน มันเป็นสิ่งหนึ่ง มันเป็นวัตถุอันหนึ่ง ถ้าเราจับต้องได้ มันจับต้องได้เหมือนวัตถุเลย แล้วเราจะแยกได้ แยกธาตุ แยกขันธ์เห็นไหม มันจะเห็นเป็นขันธ์เลยนะ ความคิดทั้งหมดนี้เป็นรูปของจิต
สิ่งที่เป็นรูปของจิตนั้นเป็นอารมณ์ แล้วเราจะแยกว่า มันเกิดมาได้อย่างไรรูปอันนี้ เราแยกออกไป มันเป็นกองไง เป็นขันธ์ ๕ เลย ขันธ์ ๕ นี้รวมตัวกัน เป็นอารมณ์ที่หยาบมาก ในการประพฤติปฏิบัติขันธ์นี้เป็นสิ่งที่หยาบ เพราะมันมีขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียดเข้าไป ถ้าจิตพิจารณาด้วยธาตุขันธ์ จนปล่อยวางธาตุขันธ์ จนสมุจเฉทปหาน มันจะปล่อยวาง นี่ลักษณะของธรรม มันจะเปลี่ยนแปลงไปจากปกติของใจ
ปกติของใจที่เป็นปุถุชน มันเป็นความคิดอย่างนี้ เป็นนามธรรมแล้วเราไม่เคยจับต้อง เราไม่เคยจับเห็นสิ่งนี้ แล้วเราไม่เคยวิปัสสนา เราไม่เคยใช้ปัญญาแยกแยะความคิด ความทุกข์ของเราเลย สิ่งนี้ถ้าเป็นความคิดมันก็สะสมเป็นบุญกุศล ก็ทำให้เราอยากจะทำคุณงามความดี เป็นบาปอกุศลมันก็อยากให้เราทำความผิดเพื่อเป็นโทษ เป็นภัยกับมัน มันคิดของมันตามประสาของมันอย่างนั้นตลอดไป แล้วเราไม่เคยเห็นมัน เพียงแต่เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราประพฤติปฏิบัติเข้ามา ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ปล่อยวางบ่วงเข้ามาจนเป็นเป็นตัวมันเอง จนเป็นกัลยาณปุถุชน
ถ้าจับต้องสิ่งนี้ได้ เป็นบุคคล ๘ จำพวกเห็นไหม บุคคล ๘ จำพวกจากจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นดวงเดียว จากเป็นปุถุชน เป็นคนที่หนาไปด้วยกิเลส แล้วพอปล่อยขึ้นมา ถ้าจับธาตุขันธ์ได้จะเป็นผู้ที่เดินโสดาปัตติมรรค จะเป็นบุคคลที่ ๑ เป็นบุคคลที่ ๒ แล้วก็เป็นบุคคลที่ ๓ ที่ ๔ จนถึงที่สุดได้ เกิดขึ้นมาจากการที่เราพัฒนาของเราขึ้นมาจากสภาวธรรมไง
ลักษณะของธรรมมันจะต้องมีความเปลี่ยนแปลง ให้เราเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงไป มันเปลี่ยนแปลงด้วยการวิปัสสนา มันปล่อยวางสิ่งต่างๆ นั้น มันปล่อยวางเข้ามา เหมือนกับเรารักษาใจของเรา มันปล่อยวางเข้ามา แต่ไม่ได้ชำระล้างสิ่งต่างๆ มันถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราพิจารณาอารมณ์ของใจ สิ่งนี้เป็นรูป ในรูปนี้มันเป็นความรู้สึก มันมีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ ถ้าสติทันมันจะแยกสิ่งนี้ออก แล้วเราพิจารณาของเราไป แยกออกไป
อารมณ์มันเกิดขึ้นมา มันมีความรู้สึกด้วย พอใจและไม่พอใจด้วย แล้วมันมีสัญญามารับรู้ มันมีเวทนาเข้ามาว่าสุขหรือทุกข์ มันพอใจสิ่งต่างๆ มันต้องแยกสิ่งนี้ออก ถ้าแยกออกได้นะ มันจะปล่อย พอปล่อยมันจะว่าง สิ่งที่ว่างเห็นไหม เพราะมันเห็นความแตกออกไปของขันธ์ สิ่งที่ขันธ์ ๕ มันแตกออกไป มันจะเห็นว่าเป็นกอง แล้วพอมีความชำนาญขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมา เราจะเห็นเป็นสัญญาก่อนก็ได้ เห็นเป็นเวทนาก็ได้ ถ้าสติ ปัญญาทัน มันแยกเดี๋ยวนั้นๆ เลย สิ่งที่แยกมาเป็นปัญญา ปัญญาใคร่ครวญนี้
สิ่งที่เป็นธรรมจักร สิ่งที่เป็นความดำริชอบ งานชอบ คือ พิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณาความเป็นจริงจากภายใน ไม่ได้พิจารณาจากเงา ถ้าเราพิจารณาจากภายนอก พิจารณาจากเงา กายนอกก็เป็นกายที่ว่า เราพิจารณาเพื่อความสลดสังเวชเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นธาตุก็ได้ เห็นขันธ์ก็ได้ ถ้าเห็นขันธ์ ๕ เป็นการวิปัสสนา ความรู้สึกเป็นนามธรรม
แต่ถ้าเราพิจารณาเป็นกาย นี่เป็นรูปธรรม สิ่งที่เป็นรูปธรรมเพราะใจนี้มันจะต้องเห็นสภาวะของร่างกาย ร่างกายเห็นไหม สิ่งใดสิ่งหนึ่งในอาการ ๓๒ จะเป็นกะโหลกศีรษะก็ได้ จะเป็นโครงกระดูกก็ได้ จะเป็นตับ เป็นม้าม เป็นปอด เป็นไตก็ได้ จับแล้วขยายส่วนออก ถ้าจับได้เราเพ่งอยู่นี้เป็นอุคคหนิมิต เป็นอุคคหะ เห็นไหม สิ่งที่เห็น เห็นนิมิต เห็นความเป็นไป นี่เป็นรูปธรรม
อุคคหนิมิตแล้วเราต้องตั้งได้ ถ้าจิตของเราสงบ สิ่งนี้จะตั้งอยู่ได้ แล้วเราวิปัสสนาได้ เราจะแยกแยะได้ ถ้าจิตของเราไม่สงบพอ ภาพนี้จะเคลื่อน สิ่งที่เคลื่อนไป เรากลับมาทำความสงบของใจ กำหนดพุทโธ พุทโธ ให้ใจมันตั้งมั่นได้ แล้วแยกออกไป ออกไปจากรูปธรรม สิ่งใดก็ได้ แยกออกไปให้เป็นวิภาคะ สิ่งที่เป็นวิภาคะคือแยกขยายส่วน การแยกส่วนขยายส่วนนี้คือทำความเข้าใจ คือโลกุตระ
สิ่งที่โลกุตรปัญญามันจะเกิด เกิดตรงเราแยกส่วน แยกธาตุ แยกขันธ์ ถ้าเป็นธาตุก็เห็นกาย ถ้าเป็นขันธ์ก็เห็นจิต เห็นกายกับจิตแล้วแต่วิปัสสนา ใครจะมีอำนาจวาสนาสิ่งใด อยู่ที่ภูมิหลัง อยู่ที่ความเห็นของตัว ถ้าเรามีภูมิหลังของตัวอยู่ที่อำนาจวาสนา จับสิ่งนี้แล้วแยกออก นี่โลกุตรธรรมเกิดอย่างนี้ การเกิดโลกุตรธรรม วิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนใหญ่วิปัสสนาครั้งหนึ่ง แล้วมีความเห็นว่ามันปล่อยวาง เชื่อไง
กิเลสมันก็มีความหลอก ในเมื่อเราวิปัสสนาไป กิเลสกับเรามันยังไม่ถึงที่สุด มันไม่ถึงกับตาย ถ้าไม่ถึงกับตาย อำนาจของมันก็มีอยู่ มันก็เลยว่าพอปล่อยวางแล้วเราก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันต้องหมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นคราดหมั่นไถซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้มันดับดิ้น ให้มันตายต่อหน้าไปเดี๋ยวนั้น จะเป็นประโยชน์ของเรา แต่ถ้าเราไม่สามารถทำได้ เราปล่อยวาง แล้วเรามีความนอนใจ นี่เสีย เสียตรงนี้! ถ้านอนใจแล้วมันจะเสื่อม จิตนี้เสื่อมโดยธรรมชาติ เป็นบุคคลที่ ๑ แล้ว ไม่สามารถเป็นบุคคลที่ ๒ ได้ จิตไม่พัฒนา ไม่มีความเปลี่ยนแปลง
ลักษณะของธรรม จากปุถุชน ลักษณะของธรรมชาติอันหนึ่ง แต่เราพัฒนาขึ้นมา เป็นอริยภูมิ เป็นโสดาปัตติมรรค แต่ถ้าเราวิปัสสนาซ้ำเข้าไป มันจะเป็นโสดาปัตติผล โสดาปัตติผลนี้เป็นบุคคลที่ ๒ ลักษณะของจิตมันจะเปลี่ยนไป ลักษณะของจิตมันมีขณะจิตที่เข้ามาชำระ วิปัสสนาเห็นธาตุเป็นวิภาคะแยกส่วน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า งานของเราต้องจับอยู่ตรงจุดนี้ จุดที่เราวิปัสสนาแล้วมันปล่อยวาง ปล่อยวางกลับเข้ามาแล้วมันว่างขนาดไหน เราทรงอยู่ในความว่าง นั้นคือความสุขมาก ความสุขไง
เวลาทุกข์วิปัสสนา เวลาทำขึ้นมา เวลาประพฤติปฏิบัติในการวิปัสสนา มันต้องใช้พลังงานมาก มีความทุกข์นะ ทุกข์เพราะเราสร้างสมให้งานขึ้นมา ให้มันเป็นวิปัสสนา สิ่งที่วิปัสสนา เราหาเหตุต่างๆ หาอาหารต่างๆ ขึ้นมา เพื่อปรุงเป็นอาหารของใจ หาคุณธรรมต่างๆ ขึ้นมาเห็นไหม มรรค ๘ ตั้งแต่ความดำริชอบคือดำริออกจากกิเลส แล้วเราก็พยายามสร้างสมขึ้นมา ดำริให้มันลึกขึ้นมา ให้ใจมันปล่อยวางจากโลกเข้ามา
ดำริให้จากโลกียะ ให้เป็นโลกุตระ แล้วมันก็สมความปรารถนา เพราะเราดำริชอบ สิ่งที่ดำริชอบ ความเป็นมัชฌิมาปฏิปทาจะย้อนกลับเข้ามาของใจ ถ้าดำริชอบ แต่ในเมื่อมรรคมันไม่เกิดขึ้นมา ย้อนกลับเข้ามา มันดำริเฉยๆ แต่ความเพียรมันไม่ชอบเห็นไหม ดำริชอบ ความเพียรชอบ งานชอบ ทุกอย่างชอบหมด มันก็จะเห็นธาตุคือร่างกาย มันก็จะเห็นขันธ์คือขันธ์ ๕ แล้ววิปัสสนาด้วยกำลังของเรา
ถ้าใจเราปล่อย มันเสื่อมหมดเลย แล้วเราก็ต้องเริ่มต้นขึ้นมา ทางเดินมีทางนี้ทางเดียวที่จะชำระกิเลสได้ ทางอื่นเราปล่อยวางไปแล้ว เราเข้าใจ นั้นเป็นความเข้าใจของกิเลส ซ้อนไง กิเลสบังเงาไง กิเลสหลอกให้เราเข้าใจว่าเป็นธรรม แล้วเดี๋ยวจะเสื่อมต่อหน้าต่อตา เสื่อมต่อหน้าต่อตาเพราะเป็น สัพเพ ธัมมา อนัตตา
สภาวธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป สิ่งนี้เราสร้างสมขึ้นมาเป็นสภาวธรรมของเรา เราสร้างขึ้นมาจากใจ ตั้งอยู่กับใจของเรา แล้วมันจะเสื่อมไปต่อหน้า มันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา เพราะมันอยู่ในใต้ของกุปปธรรม สิ่งนี้มันยังไม่ถึงกับสมุจเฉทปหาน ถึงต้องพยายามทำให้มันเกิดขึ้นมา มันว่างมันมีความสุข เราก็อยู่กันมีความสุข แล้วเวลามันออกรับรู้สิ่งต่างๆ จับอะไรได้ ถ้าจับสิ่งนั้นได้ นั้นคือธาตุ ๔ และขันธ์ ๕
เห็นกายก็เป็นธาตุ ๔ เห็นความรู้สึกก็เป็นขันธ์ ๕ แล้วเราพยายามแยกไป ถ้าคนเรามีความตรวจสอบใคร่ครวญอยู่ตลอดเวลา วิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า มันก็จะปล่อยวาง แล้วจับได้อีกมันจะมีปัญญาเกิดขึ้นไง มันยังมีอยู่.. สิ่งนี้มันไม่สิ้นสุดกระบวนการในการประพฤติปฏิบัติ มันยังมีอยู่ มันทำได้ เห็นไหมปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมา มันเป็นการย้ำใจไง ย้ำให้เราว่าสิ่งนี้เราปฏิบัติมาถูกต้อง แล้วทำต่อไปถึงที่สุด มันจะสมุจเฉทปหานนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ จะแยกออกจากกันตามความเป็นจริง
ลักษณะของธรรมมันจะเห็นกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะตัดออกไปเลย ตัดสิ่งนี้ออกไป จิตสำนึก แม้แต่ปุถุชน เป็นสำนึกอันหนึ่ง จิตสำนึกที่เราวิปัสสนาเข้ามา จนมันปล่อยวางเข้ามาเป็นลักษณะของธรรมอันหนึ่ง ลักษณะธรรมของโลกียะ ลักษณะธรรมของจิตสำนึกเห็นไหม
จิตสำนึกนี้มันต้องทำลายไป มันทำลายเพราะอะไร เพราะจิตสำนึกนี้มันมีความหลงผิด มันถึงเห็นว่ากายนี้เป็นเรา ตัวตนนี้เป็นเรา วิปัสสนากาย กายนี้คือเรา วิปัสสนาขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือเรา เห็นกายก็เห็นกายผิด กายนี้เป็นธาตุ ๔ มันไม่มีชีวิต แต่เพราะมันมีหัวใจของเราครองอยู่ มันถึงหลงผิดไป มันก็ติดสิ่งนั้นไป แล้วมันพิจารณาขันธ์ มันเห็นตัวตนของใจ
ตัวตนคือขันธ์กับจิตมันผูกมัดกันด้วยสังโยชน์ สิ่งนี้มันทำลายออกไป จิตสำนึกมันต้องทำลายไป ในเมื่อทำลายจิตสำนึก สภาวะจิตต้องเปลี่ยนแปลงไป นี่ลักษณะของธรรมมันจะเปลี่ยนไปเป็นส่วนหนึ่ง สิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงอันนี้ มันจะเห็นความเป็นจริง วิปัสสนาขนาดไหนว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ วิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า กายนอก กายใน กายในกาย มันเป็นขั้นตอนของจิตที่มันวิปัสสนาเข้าไป
ถ้าวิปัสสนาเข้าไป มันถึงมีลักษณะของจิต ลักษณะของธรรม มันจะแปรสภาพตลอดไป แปรสภาพในความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แบบ เห็นสติ เห็นสภาวธรรมของใจเราพัฒนาขึ้นมา มันจะปล่อยวางกิเลสออกเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป พัฒนาขึ้นมาถึงบุคคลที่ ๒ เห็นไหม เป็นบุคคลที่ ๒ แล้วจะไม่มีความเสื่อม ไม่ใช่ สัพเพ ธัมมา อนัตตา
สัพเพ ธัมมา อนัตตา คือสภาวธรรมที่เราสร้างสมขึ้นมา มารวมตัวกันเป็นพายุ จ้องทำลายสิ่งต่างๆ ยกเอาบ้านเอาเรือนเข้าไปทำลาย แล้วมันก็คลายตัวออกไป คลายตัวออกไป พายุทำลายบ้านเรือนนั้น ทำลายแล้วมันราบเป็นหน้ากลอง แต่เวลาธรรมจักรมันหมุนไปในหัวใจ มันทำลายกิเลสออกไป ยิ่งทำลายยิ่งสมบูรณ์ ยิ่งทำลายยิ่งมีความสุข สิ่งนี้มันทำลายออกไป พอทำลายแล้ว มันเป็นนามธรรม
สิ่งที่เป็นนามธรรมเป็นอกุปปธรรม พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม รู้สิ่งนี้ อัสสชิ มหานาม ยังไม่รู้ธรรม ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ว่า รู้แล้วหนอ เพราะลักษณะของจิตไม่เหมือนกันไง ลักษณะของจิตที่ยังไม่รู้ธรรม ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิต มันเป็นปุถุชน สิ่งที่เป็นปุถุชนคือจิตสำนึกธรรมดา แต่ถ้าเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะที่มีดวงตาเห็นธรรม ทำลายจิตสำนึกของเราขึ้นมา
จิตสำนึกนี้ทำลาย จิตนี้ก็พัฒนาขึ้นไปส่วนหนึ่ง ลักษณะของธรรมการเปลี่ยนแปลงไปส่วนหนึ่ง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์อบรมสั่งสอน จนพระอัสสชิ จนทั้งหมดนี้มีดวงตาเห็นธรรมเหมือนกันขึ้นมา แล้วเทศน์ต่อไป พัฒนาต่อไปจนจะพ้นออกไปจากทุกข์ จิตนี้ต้องพัฒนาเข้าไป ลักษณะของธรรมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันจะมีความเปลี่ยนแปลงของใจ ใจจะมีความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่มันว่างเฉยๆ หรอก ถ้ามันปล่อยวาง มันว่างเข้ามา มันปล่อยวางสิ่งนั้น มันเชื่อไม่ได้
ปล่อยวางแบบไม่มีเหตุ ปล่อยวางแบบไม่มีผล เราอย่านอนใจ สิ่งนี่เป็นสิ่งที่กิเลสหลอกลวงมาตลอด สิ่งที่กิเลสหลอกลวง มันหลอกลวงตั้งแต่เราเป็นทุกข์เป็นยาก ตั้งแต่เรายังไม่ประพฤติปฏิบัติ แล้วเราประพฤติปฏิบัติมันก็มาหลอกลวงในระหว่างที่เราประพฤติปฏิบัติ เราประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญธรรม เพื่อจะให้สภาวะของธรรมมันมีคุณกับใจ จนมันเป็นเนื้อเดียวกับใจ เวลามันขาดออกไปแล้วใจนี้เป็นธรรม
สิ่งที่เป็นธรรมนี่ส่วนหนึ่ง แต่กิเลสส่วนที่ละเอียดอยู่มันก็ยังอยู่ในหัวใจ อยู่ในใจของเรา เราก็ต้องพัฒนาของเราเข้าไป พัฒนาของเราจนถึงที่สุด มันจะเปลี่ยนแปลงไป จิตสำนึกนี้ทำลายลง มันก็จะเป็นจิตก่อนสำนึก ถ้าจิตก่อนสำนึกมันก็ติดในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เหมือนกัน สิ่งที่เป็นธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มีในหัวใจ เราก็ต้องทำความสงบของใจให้มันละเอียดขึ้นไป มรรครวมตัวสิ่งหนึ่งเห็นไหม
ในเมื่อมันสัมปยุตรวมกันแล้วมันวิปยุตคลายออกมา จิตนี้พ้นออกไป เป็นสภาวะที่ว่ามันกำลังเปลี่ยนแปลง เห็นในหัวใจ ใจมันจะเห็นสภาวะแบบนั้น แล้วมันปล่อยวาง ปล่อยวางเข้าไปพร้อมกับกิเลสขาดออกไป มันปล่อยวางแล้วมันก็ต้องทรงอยู่กับสภาวธรรม แต่ความที่ว่ามันจะเป็นสัมมาสมาธิที่จะสูงขึ้นไป มรรคที่จะสูงขึ้นไป เราก็ตองทำความสงบของใจบ่อยครั้งเข้า มันจะเดินคู่เคียงกันไปตลอด ระหว่างสมถกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐาน
ถ้าเป็นสมถกรรมฐานจะเป็นโลกุตระ ถ้ามีสมถกรรมฐานจะมากดกิเลสให้มันสงบตัวลง ให้เราใช้ปัญญาของโลกุตระได้ มันจะเป็นธรรม แต่ถ้ากิเลสของเรา ถ้าจิตมันไม่สงบ มันคิดมากเกินไป มันเป็นสัญญา สิ่งที่เป็นสัญญากิเลสมันมีส่วนร่วม มันคิดไปตามประสามัน แล้วมันจะไม่เป็นผลในการประพฤติปฏิบัติ เราถึงต้องเคียงคู่ไปพร้อมกับสมถกรรมฐานตลอดไป
สิ่งที่เป็นสมถะคือความสงบของใจ คือตัวพลังงาน ถ้าจิตนี้มีพลังงานมันก็ทำงานได้ ถ้าจิตนี้ไม่มีพลังงาน ใช้มันทำงาน พยายามทำงานเพราะเห็นประโยชน์ เวลาเราทำความสงบของใจเข้ามาแต่เดิม เป็นลักษณะของธรรมก็เป็นปุถุชนธรรมดา พอวิปัสสนามันขาดเข้าไปแล้ว เห็นว่าอันนี้เป็นประโยชน์ จะใช้ปัญญาตลอดไป มันใช้ขนาดไหนมันก็ฟั่นเฝือ ฟั่นเฝือคือพิจารณาไปแล้วมันเป็นสัญญา สังขารไม่มีสมาธิอยู่ มันเป็นสัญญา ถ้าสังขารมีสมาธิ พร้อมสมาธิ เป็นความคิดเหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งเป็นกิเลส ฝ่ายหนึ่งเป็นมรรค ถ้ามีสัมมาสมาธิมันจะเป็นมรรคขึ้นมา
เวลาพิจารณาเข้าไปบ่อยครั้งเข้ามันเหนื่อย มันพิจารณาไปไม่ได้ มันเหนื่อยนะ มันพิจารณาไปแล้วมันติดข้องไป ให้เราทิ้งงานแล้วกลับมาทำความสงบของใจ แล้วพิจารณาธรรมของเราให้ธรรมเกิดขึ้นมาในหัวใจ คือกำลังใจ ถ้าใจนี้มีกำลังใจ มันสามารถเดินตัวได้ ถ้าใจของเรากำลังใจมันไม่พอ กำลังใจมันล้มลุกคลุกคลาน มันทำให้แบบว่า ท้อถอยอ่อนแอ สิ่งที่ท้อถอยอ่อนแอนี้ไม่ใช่นักรบ เราจะเป็นนักรบ รบกับกิเลส เราจะชนะตัวเราเอง ชนะความเห็นของเรา ชนะกิเลสในหัวใจของเรา
สิ่งที่เป็นกิเลสในหัวใจของเรา มันมีมาดั้งเดิม มันมีมาก่อนเราเกิดเห็นไหม ก่อนที่เราเกิด เพราะมันอยู่กับจิตมาตลอด จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดไป มันมีมาอยู่โดยตลอดเลย แล้วเรามาปัจจุบันนี้ เราจะชนะเขา เขามีอยู่ในหัวใจของเราตลอดไปแล้ว แล้วเราจะชนะเขา มันจะใช้กำลังขนาดไหน ถ้าใช้กำลังได้ เราถึงจะต้องพยายามของเราขึ้นมา มันจะเกิดกำลังใจ
ถ้ามีกำลังใจขึ้นมา ทำความสงบของใจเข้ามาใหม่ จิตมันสงบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า อุคคหนิมิต วิภาคะ นิมิตเป็นเรื่องของธาตุ ธาตุวิปัสสนาไป มันจะคืนตัวมัน สิ่งที่คืนตัวมันเห็นไหม มันจะคืนว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ คืนตัวมันเอง พิจารณาขันธ์ก็เหมือนกัน ขันธ์อันละเอียด สิ่งที่ละเอียดเป็นอุปาทานที่มันเกาะเกี่ยว มันเห็นกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ปล่อยเข้ามาก็จริงอยู่ เห็นตัวตนของใจว่าไม่ใช่เรา มันก็เกาะเกี่ยว
สิ่งที่เกาะเกี่ยวเห็นไหม เกาะเกี่ยวมากับความรู้สึกของเรา ถ้ามีความรู้สึก วิปัสสนาเข้าไป ใช้กำลังของเราเข้ามา ทุ่มลงไปเวลาใช้ปัญญา เวลาปัญญามันก้าวเดินนะ มันไม่มีขอบเขต มันเทียบเคียงไปได้หมด เทียบเคียงกับสิ่งต่างๆ มันเป็นปัญญา ถ้ามันเป็นปัญญา เราใช้ปัญญาเต็มที่เลย เวลาปัญญามันเดินใช้ปัญญาไปให้ถึงที่สุด จนกว่าปัญญามาพิจารณาเทียบเคียงแล้วมันไม่เห็นตามนั้น เราก็ปล่อย กลับมาพุทโธ กลับมาทำความสงบของใจ เวลาปัญญามันเดินต้องให้มันเดินเต็มที่ของมัน แต่ถ้ามันเดินเต็มที่ของมันไปแล้ว มันก็ฟั่นเฝือ ต้องย้อนกลับ
เราทำของเราเอง แล้วเราเห็นผิด เห็นถูก สิ่งนี้แล้วเราจะคำนวณได้ เราจะวางแนวทางของเราได้ จิตจะเดินไประหว่าง ๒ เท้า คนเรามี ๒ เท้า วิปัสสนากับสมถะไปพร้อมกัน ก้าวเดินไปพร้อมกัน สมบูรณ์ตลอดไป ถ้ามีความสมบูรณ์ขึ้นไปมันก็จะปล่อยวาง
สิ่งที่ปล่อยวางซ้ำอยู่อย่างนั้น อย่านอนใจ ถ้าเรานอนใจนะ วิปัสสนาพอมันปล่อยวางแล้ว เราก็นอนใจเสวยสุขอยู่นั่นล่ะ ไม่อยากทำ... มันต้องทำ! งานของเราต้องทำ! ถ้ากิเลสมันอ่อนตัวลงแล้ว เราต้องพยายามต่อสู้เต็มที่เลย พยายามต่อสู้ ถอยล่นไป ถอยล่นไป จนถึงที่สุดแล้วต้อนมันเข้ามุม แล้วประหัตประหารมัน ขาดออกไปจากใจ จะขาดออกไปนะ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันแยกออก กายกับจิตนี้จะแยกออกไปโดยสัจจะ โดยสภาวะของธรรม ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต แยกออกจากกัน
จิตก่อนสำนึกก็ต้องทำลาย ความเปลี่ยนแปลงของใจ ลักษณะของธรรมมันจะสูงขึ้น ความเปลี่ยนแปลงขณะของจิตมันมีอยู่ทุกขั้นตอน มันจะรู้ขณะของจิต แล้วมันเป็นปัจจัตตัง รู้ขณะของจิต เวลาไปตรวจสอบกับครูบาอาจารย์ จะชี้เลยว่า รู้ว่า ๑ ๒ ขึ้นมาเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นความเห็นของเรา มันคิดว่ามันเป็นความว่าง พอเป็นความว่างมันติด ติดในความสุข ติดในความว่าง แล้วกำหนดเข้าไปเมื่อไหร่มันก็ว่างหมด เพราะจิตกับกายมันแยกออกจากกันโดยจิตสำนึก แล้วมันก็เป็นจิตใต้สำนึก
สิ่งที่เป็นจิตใต้สำนึกนี้ เราค้นคว้าไม่เจอ มันจะติดอยู่ตรงนี้นาน ถ้าเราติด มีความสุขนะ มีความสุขเพราะกิเลสมันสงบตัวลง กิเลสไม่แสดงตัว เราก็มีความสุข ความสุขมากกับความว่างของใจ เพราะเราสร้างสมขึ้นมา ธรรมอยู่ในหัวใจของเราเป็นอกุปปธรรม ขณะนี้มันจะไม่เป็นความสุขไปได้อย่างไร มันเป็นความสุขแน่นอน ความสุขจากที่ว่ามันเป็นความทุกข์ของกิเลสที่เราฆ่ามันมา เป็นความสุข สุขเห็นไหม
เหมือนเศรษฐีมีเงินล้านมันก็มีความสุขในเงินล้าน เศรษฐีมีเงินห้าล้าน สิบล้าน มีเงินร้อยล้าน เขามีมากกว่าเรา ธรรมอันละเอียดของใจมันยังมีมากกว่านี้ แต่เราไม่เห็น เราใช้สอยพออำนาจของเรา เงินล้านเราก็พอใช้ได้ เราก็มีความสุขเห็นไหม นี่ติด.. มีธรรมอยู่ในหัวใจก็ติด ติดเพราะกิเลสอันละเอียดมันบังไว้ สิ่งที่บังไว้ให้เรามีความสุขอย่างนั้น
ถ้าครูบาอาจารย์พาออก มันอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ จากใจดวงหนึ่ง ผู้ที่มีหูตาสว่างจะเข้าใจเรื่องของสภาวะของกิเลสว่ามันหลอกขนาดไหน แต่ผู้ประพฤติปฏิบัติชนะกิเลสมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา แต่กิเลสอันละเอียดมันก็หลอกได้ ถ้าหลอกไม่ได้ เราต้องก้าวเดินไปพ้นสิ เราก้าวเดินไม่พ้นเพราะกิเลสอันละเอียดมันบังไว้ มันมองไม่เห็น มันให้เรามีความสุขอยู่แค่นี้ ถ้ามีความสุขแค่นี้ เราก็ได้แค่นี้ เวลาเราตายไปเราก็เกิดเป็นเทวดา
สิ่งที่เกิดเป็นเทวดา ก็เป็นเทวดาอริยบุคคล ในเทวดา มีเทวดาปุถุชน คนทำคุณงามความดี สร้างบุญกุศลขึ้นมา เขาก็สร้างบุญกุศลได้ เวลาเขาเกิดก็เกิดเป็นเทวดาเหมือนกัน เราก็สร้างคุณงามความดี เราปฏิบัติบูชาด้วย ปฏิบัติจนใจของเราขนาดนี้ แต่เพราะกิเลสอันละเอียดมันบังตาไว้ เราไม่เข้าใจ เราตายไปเราก็เกิดเป็นเทวดา แต่เป็นเทวดาอริยบุคคล เป็นเทวดาผู้ที่มีธรรมในหัวใจ แต่ก็ต้องไปเกิดเป็นเทวดา แล้วมันก็มีวาระถ้าฟังธรรมแล้วปฏิบัติต่อไป มันก็พ้นไปได้ แต่ถ้ามันไปเพลินอยู่ในนั้น มันก็ต้องกลับมาเกิดในภพของมนุษย์นี้ไง แล้วเราประพฤติปฏิบัติเพื่อทำลายกามภพ
สิ่งที่เป็นกามภพ ตั้งแต่เทวดาลงมา ใจมันยังเกิดได้ เพราะมันมียางเหนียวไปเกิดอยู่ ถ้าเราทำลายของเราขึ้นมา ทำลายกิเลส ทำลายเพราะไม่ติดอยู่ในความว่าง ไม่ให้กิเลสอย่างละเอียดมันบังตา เราจะต้องพยายามสังเกตใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา สังเกตให้ได้ ถ้าสังเกตให้ได้นะ มันจะสะเทือนหัวใจมาก การขุดคุ้ย การหาจำเลย ทุกขั้นตอนไปต้องหาจำเลย หาจำเลยคือหาผู้ที่ผิดไง หาผู้ที่หัวใจมันไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งใด มันเกาะเกี่ยวกับธาตุอันละเอียด เกาะเกี่ยวกับอสุภะ ถ้าเห็น ถ้าจับเป็นธาตุได้ ถ้ามันจับเป็นขันธ์ได้ เกาะเกี่ยวกับกามราคะ สิ่งนี้เป็นกามนะ
แต่ถ้ามันไม่แสดงตัว กิเลสมันฉลาด มันสามารถเก็บงำเรื่องของกามภพไว้ในจิตใต้สำนึกนี้ได้อย่างไร เพื่อมันจะหลอกให้เราชะล่าใจ ให้เราตายใจ ถ้าเราตายใจ เราก็ปฏิบัติธรรมมาได้แค่นี้ ถ้าเราไม่ตายใจ เราย้อนกลับไป เราพิจารณาค้นคว้าไป มันจะจับสิ่งนี้ได้ จับสิ่งนี้ได้มันสะเทือนหัวใจมาก การค้นคว้า การออกหากิเลสออกหามัน เป็นงานอันวิเศษมาก เพราะเราได้เริ่มต้นของงาน เวลาไฟมันติด เวลาจุดไฟมันจะเผาไหม้ไป มันจะติดไปตลอด เราต้องค้นคว้าด้วย
ถ้ามันติดไปตลอดเป็นชั้นเป็นตอน บุคคล ๘ จำพวก มันจะตัดตอนไป ตัดตอนคือว่าจิตมันมีลักษณะมันเปลี่ยนแปลงไป มันจะต่างกันไป เพราะมันไม่เหมือนกัน จากหยาบ ไปกลาง ไปละเอียด จนละเอียดสุดขึ้นมา มันจะมีการพัฒนาไปของใจ ใจมันจะพัฒนาขึ้นไปเพราะมันค้นคว้าขึ้นไป มันเห็นความเปลี่ยนแปลง ลักษณะเห็นอย่างนี้เลย จะเป็นความเห็นโดยสมบูรณ์
แต่ขณะที่กิเลสมันหลอก มันเป็นความสมบูรณ์ของกิเลสต่างหาก กิเลสว่าอยู่ตรงนี้เป็นมรรค อยู่ตรงนี้เป็นนิพพาน อยู่ตรงนี้เป็นที่สุดของการประพฤติปฏิบัติแล้ว อยู่ตรงนี้เป็นความสุข แล้วมันก็มีความสุขจริงๆ เพราะใจมันเป็นความสุขส่วนหนึ่ง แต่กิเลสอันละเอียดมันก็อยู่ในใต้หัวใจ ค้นคว้าจนออกแสวงหา มันทำได้เพราะอะไร เพราะใจมันพัฒนามาถึงสิ่งนี้แล้วมันต้องทำได้ มันมีอำนาจวาสนามันจับได้ นั้นล่ะเห็นอสุภะ
สิ่งที่เป็นอสุภะ สิ่งนี้มีหรือ แล้วมาสิ่งนี้ตั้งสมาธิให้มั่นคง แล้วย้อนกลับมาวิปัสสนาไป มันจะเปลี่ยนแปลงไป มีความพลิกแพลงไปตลอดเวลา มันจะพลิกแพลงนะ เปลี่ยนแปลงไปตลอดให้เราเห็นสภาวะ ถ้าพิจารณาได้ พิจารณาไปแล้วมันก็จะปล่อย ถ้ากำลังเราพอ ถ้าไม่พอมันก็เกิด ต้องทำอยู่อย่างนั้น
การประพฤติปฏิบัติเป็นวัน เป็นเดือน เป็นเดือนๆ กว่าจะต่อสู้กันได้แต่ละหน แต่ละรอบหนึ่ง เพราะมันต่อสู้จากภายใน ล้มลุกคลุกคลานมาก ในการต่อสู้กับกิเลส ตรงนี้สำคัญที่สุด สำคัญเพราะเป็นความรุนแรงของมัน สิ่งที่รุนแรง โลกนี้รุนแรงกันได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติข้ามพ้นตรงนี้ได้ การประพฤติปฏิบัติของเราจะราบรื่น มันทุกข์ ทุกข์อยู่ตรงนี้ เวลาต่อสู้กันไป เวลาล้มลุกคลุกคลาน ตรงนี้เป็นหัวใจที่ทำให้เราเสื่อมถอย
สิ่งที่มันเสื่อมถอยเพราะมันมีความต้องการของใจ ใจนี้เป็นกามราคะ มันต้องแสวงหาสิ่งที่พอใจของมัน สิ่งที่เป็นกามฉันทะ พอใจสิ่งนี้ มันก็เสพสุขในตัวมันเอง มันก็เพลินในตัวมันเอง สิ่งที่เพลินในตัวมันเอง วันคืนก็ล่วงไป แล้วมันก็ต้องดับขันธ์ไป อยู่ในใต้อำนาจของมัน อยู่ใต้อำนาจของกามราคะ แต่ถ้าเราวิปัสสนา เรามีความสงบของใจ ใจจะหันมาทำความสงบ แล้ววิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า
ขันธ์อันละเอียดมันเป็นปฏิฆะ มันเป็นความผูกของใจ ใจมีปฏิฆะ มันมีความพอใจ ปฏิฆะคือความที่ฝังอยู่ที่ใจ พอมีความปฏิฆะ มันก็มีกามราคะ สิ่งนี้กามราคะมันพอใจ ปฏิฆะมันผูกอยู่ในหัวใจ ถ้ามีหัวใจผูกอยู่ ความโลภ ความโกรธ ความหลงมันเกิดตรงนี้ เพราะมันหมุนไปในหัวใจ มันก็หมุนอยู่ในหัวใจ หัวใจก็หมุนออกไปตามอำนาจของกิเลส ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นตลอดไป
ลักษณะธรรมมันแสดงตัวขนาดนี้ ความรุนแรงของมันแสดงตัวขนาดนี้ ให้เราล้มลุกคลุกคลานตลอดไป แล้วเวลาธรรมมันวิปัสสนาขึ้นมา มันก็ว่าง พอว่างขึ้นมาก็เข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะมันยังไม่สมุจเฉทปหาน มันว่างปล่อยนะ จะปล่อยวางแบบไม่มีเหตุไม่มีผลไม่ได้ ถ้าปล่อยวางแบบไม่มีเหตุไม่มีผล มันปล่อยวางในลักษณะธรรมส่วนหนึ่ง แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง มันจะต้องปล่อยวางสิ่งนี้แล้วมีความเปลี่ยนแปลงของจิตด้วย
ถ้าจิตมันเปลี่ยนแปลง เห็นไหม จิตใต้สำนึกนี้มันเป็นสิ่งที่ว่ามันลึกอยู่ในหัวใจมาก มันเกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้แล้วเอาเป็นอาหารของมัน แล้วหมุนออกไป หมุนออกไปเสพสุขในตัวมันเองอยู่เป็นกามราคะอยู่อย่างนั้น จิตใต้สำนึกเราไม่เข้าใจเลย แต่เรื่องของโลก เวลามันส่งออกมาจะเป็นเรื่องของความรู้สึกทั้งหมด มันเป็นกามราคะเพราะมันเป็นเรื่องของกายกับใจ แต่เวลามันอยู่ในหัวใจของเรา มันเป็นจิตใต้สำนึกอยู่ในใจเฉยๆ มันเป็นความพอใจของมัน มันก็ดื่มกินของมัน หมุนเวียนอยู่ในหัวใจอยู่อย่างนั้น
เวลาวิปัสสนาเข้าไป จะเห็นการทำลายออกไป แยกออกไป แล้วปล่อยว่าง ปล่อยว่าง จนถึงส่วนหนึ่ง มันต้องขาดออกไปจากใจ ขันธ์ ๕ กับจิตอันนี้ ขันธ์อันละเอียด สิ่งที่เป็นความละเอียดสุดมันจะขาดออกไปจากใจ พ้นออกไปจากกามภพ แม้แต่จิตใต้สำนึกนี้มันก็โดนทำลาย ลักษณะของธรรม จากจิตใต้สำนึกมันมีความเปลี่ยนแปลงไปถึงส่วนหนึ่ง สมุจเฉทปหานปล่อยออกไป จนเป็นจิตไร้สำนึกเห็นไหม
พอเป็นจิตไร้สำนึก ไม่มีสิ่งใดเลย ว่างหมด ความว่างของมัน พิจารณาไปมันก็เป็นความว่าง ติดมาก ติดมหาศาล ความติดของมัน จิตไร้สำนึกมันก็เป็นจิตไร้สำนึก มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันเป็นตัวอวิชชาด้วย สิ่งที่เป็นธรรมชาติ ดวงอาทิตย์ยังมีหลุมดำ สิ่งที่เป็นหลุมดำในดวงอาทิตย์นั้น มันเป็นสิ่งที่ว่าดวงอาทิตย์ อายุของมันขนาดไหน มันต้องเป็นความเป็นไป
จิตไร้สำนึกตัวนี้มันเป็นจิตปฏิสนธิ มันเป็นตัวพาเกิด พาตายมาตลอด แต่เพราะมันมีขันธ์ความผูกพันของมันมาตลอด มันมีความหยาบ มันถึงเกิดในกามภพ เกิดในภพชาติต่างๆ แต่ถ้าไม่มีขันธ์ตัวนี้ เวลามันดับไป มันก็เกิดบนพรหม สิ่งที่เกิดบนพรหม เพราะอะไร เพราะมันเป็นจิตไร้สำนึก มันเป็นขันธ์เดียว มันเป็นสิทธิ์อันเดียว แต่มันเป็นปัจจยาการในตัวมันเอง
สิ่งที่เป็นปัจจยาการในตัวมันเอง มันยังหมุนอยู่ในตัวมันเอง ตัวมันเองมันสืบต่อในความรู้สึกของมัน มันถึงมีความผ่องใส มันถึงมีความเศร้าหมอง สิ่งที่เป็นความผ่องใสเป็นความเศร้าหมอง มันก็เป็นความทุกข์อันละเอียดโดยแทบจะไม่รู้ในหัวใจเลย ถึงบอกว่าเป็นผู้ที่เรือนว่างไง เรือนว่างหมด สิ่งต่างๆ นี้ว่างหมดเลย แต่สิ่งที่รู้ว่าความว่าง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่รู้ว่าความว่าง ถ้ายังมีใครเอ่ยว่า ว่างๆ อยู่ นั้นคือตัวอัตตานุทิฏฐิ
สิ่งที่เป็นอัตตานุทิฏฐิคือตัวรับรู้สิ่งต่างๆ มันเป็นจิตไร้สำนึก มันถึงไปรู้ในตัวมันเอง แล้วมันก็วนเวียนอยู่อย่างนั้น เราถึงต้องพยายาม สภาวะให้สังเกตสอดรู้ขึ้นไป ถ้ามันยังมีสิ่งนี้อยู่ เราถึงจะต้องย้อนกลับไง ว่าสิ่งที่ว่างๆ สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นธรรม มันยังมีสิ่งที่ละเอียดฝังอยู่ ถ้ามีสิ่งที่ละเอียดฝังอยู่ เราจะต้องพัฒนาขึ้นไป ถ้าเราพัฒนาขึ้นไป เราจะสังเกต แต่เดิมเข้าใจว่าปล่อยวาง เข้าใจว่าหมดสิ้น แล้วมันก็จะเพลิน จะเพลินอยู่ มันเป็นการส่งออก
แต่ถ้าเราเข้าใจว่ายังมีสิ่งใดอยู่ มันจะหันเรดาร์ของจิตย้อนกลับ สิ่งที่ว่าจิตไร้สำนึกนี้ย้อนกลับเข้าไปหาตัวมันเอง ถ้าจับตัวมันเองได้ มันจะมีความตื่นเต้น สิ่งที่ตื่นเต้น ลึกลับมาก สิ่งที่ว่าอยู่ลึก กิเลสอันลึกลับอยู่ภายใน จะจับสิ่งนี้ได้ ถ้าจับสิ่งนี้ได้ปัญญาญาณอันนี้เป็นปัญญาญาณอันสมบูรณ์
สิ่งที่ว่าเป็นปัญญา ปัญญาการต่อสู้กำลังธาตุขันธ์ มันเป็นปัญญาของขันธ์ มันเป็นปัญญาของปัญญา มันเป็นมหาสติ มหาปัญญา เป็นปัญญาใคร่ครวญกัน แต่สิ่งนี้เป็นปัญญาไม่ได้ ถ้าใช้เป็นปัญญาเข้าไป มันเป็นวัตถุที่ใหญ่ จะเข้าไปทำลาย เป็นปัญญาญาณไง เป็นอัตโนมัติ เป็นมหาสติ มหาปัญญา
ปัญญาญาณอย่างละเอียดมันไม่ใช่ปัญญาของขันธ์ มันถึงเข้าไปทำลายสิ่งนั้น ถ้าทำลายสิ่งนั้นได้ พยายามใคร่ครวญอยู่ พยายามพิจารณาอยู่ มันก็ต้องมีแพ้ มีชนะเหมือนกัน ทุกอย่างถ้ามีแพ้ มีชนะ เราก็สังเกตของเรา แล้วใช้ปัญญาอันละเอียดนั้นเข้าไปชำแรกออกมา ถึงที่สุดแล้วอันนี้จะพลิกออกไปเลยนะ พลิกออกไปถึงเป็นลักษณะของธรรมอันที่ว่า ไม่มีสิ่งต่างๆ ได้ ความว่าง สิ่งนั้นเป็นความว่าง ลักษณะที่รู้อยู่ มันยังมีความรู้อยู่ มีความรู้สึกอยู่ อันนั้นมันรู้สึกเขา สิ่งนี้มันจะพ้นออกไป
ภพอันละเอียด ภพของใจ ปฏิสนธิจิตที่เป็นภพ มันจะทำลายตัวมันเองหมด บุคคล ๘ จำพวกไง มรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม เราเดินอรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๘ จำพวกแล้วทำไมต้องเป็นนิพพาน ๑ อีกล่ะ บุคคล ๘ จำพวก สิ่งที่ว่าครบสมบูรณ์แล้ว มันควรจะเป็นสิ่งที่ว่าพ้นออกไป แต่บุคคล ๘ จำพวกเห็นไหม ผู้เดินอรหัตตมรรค อรหัตตผล เราควรอยู่ในสังฆคุณ บุคคล ๘ จำพวกนี้ยังเป็นสิ่งที่เรามีหลักมีเกณฑ์ ที่จะป้ายหมาย ที่จะบอกกล่าวกันได้ ขณะที่เดินอรหัตตมรรค อรหัตตผลนี้มันเป็นธรรมสภาวะที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมที่กำลังเคลื่อนตัวไปไง
สิ่งที่เคลื่อนตัวไปทำลายกัน มันจะกล่าวได้หมด ถึงว่าพ้นจากกิเลสแล้ว จะสื่อความหมายกันถูกต้อง สื่อความหมายว่าสิ่งนี้เป็น ๑ ๒ ๓ ๔ ขึ้นไปจนถึงที่สุด จะเห็นสภาวธรรมว่า เป็นความถูกต้องจากภายใน มันเป็นความถูกต้อง กล่าวถึงสิ่งนั้น จิต ความรู้สึกไง อาสวะสิ้นไป อาสเวหิ จิตตานิ วิมุจจิงสูติ อาสวะสิ้นไปจากจิตทั้งหมด อาสวะสิ้นไปจากกิเลส
แต่เดิมมีอาสวะ มีจิต จิตนี้อาสวะปกคลุมอยู่ทั้งหมดเลย จิตนี้ถึงโดนปกคลุมอยู่ อาสเวหิ จิตตานิ วิมุจจิงสูติ จิตนี้วิมุติออกไป พ้นจากอาสวะไป อาสวะโดนทำลายออกทั้งหมดเลย แล้วจิตนี้ก็พ้นออกไป ถึงมีอยู่โดยสภาวะอันนั้นไง สภาวะที่พ้นไป นี่ลักษณะของธรรม ถ้าลักษณะของธรรมพัฒนาขึ้นมาอย่างนี้ มันจะเป็นความสมบูรณ์ของธรรม ถ้าธรรมสมบูรณ์กับใจดวงนั้น พ้นออกไปจากใจดวงนั้น แล้วเห็นสภาวะความเปลี่ยนแปลงของใจตั้งแต่ก้าวเดินขั้นเริ่มแรกขึ้นมา มันถึงจะรู้ว่า ถ้าเป็นสภาวธรรมธรรมชาติๆ เห็นว่าสิ่งใดเป็นธรรมชาติ มันเป็นความถูกส่วนหนึ่ง
ธรรมนี้เป็นธรรมชาติ สิ่งที่เป็นธรรมชาติมันก็เข้าอยู่กับธรรมชาติส่วนหนึ่ง แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เหนือธรรมชาติทั้งหมด ต้องเข้าใจธรรมชาติ คือเข้าใจตาม สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งนี้มีอยู่ ธรรมชาติมีอยู่ สมาธิก็มีอยู่ ปัญญาก็มีอยู่ ถ้าเราสร้างขึ้นมา เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่ธรรมชาตินี้มันก็ต้องรวมตัวกันเห็นไหม แล้วมันทำลายตัวมันเองเห็นไหม
ทำลายตัวมันเองเหมือนที่เราทดลองในห้องวิทยาศาสตร์ เราจะเห็นเลยว่า เราผสมสิ่งใดแล้วมันจะให้ค่าเป็นสิ่งนั้น แต่ผู้ที่ผสมคือใคร คือคนที่ทดลองในห้องวิทยาศาสตร์นั้น นี้ก็เหมือนกัน จิตนี้มันสร้างสมขึ้นมา สร้างสมสภาวธรรมขึ้นมา มันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่ความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงขั้นที่ ๑ ก็รู้ว่าอันนี้เปลี่ยนแปลงขั้นที่ ๑ เปลี่ยนแปลงขั้นที่ ๒ ก็รู้ว่าอันนี้เปลี่ยนแปลงขั้นที่ ๒ เปลี่ยนแปลงขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ จนถึงที่สุด
ลักษณะของธรรมมันจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มันถึงจะเป็นความจริง จริงในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จริงในหัวใจของผู้ที่จะพ้นจากกิเลส แล้วก็จะจริงในหัวใจของเราผู้มีกิเลส ใจของเรามีกิเลส เพราะพาเราเกิดขึ้นมา ถ้าเรายังไม่ประพฤติปฏิบัติ แล้วลักษณะของจิตของธรรม ยังไม่เป็นธรรมในหัวใจของเรา ธรรมในหัวใจของเราเห็นไหม
ใจเราจะเป็นสภาวะแบบนั้นเลย แบบที่ครูบาอาจารย์ก้าวเดินมา เดินตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บุกเบิก ผู้ที่เป็นองค์แรกที่พ้นออกไป แล้วครูบาอาจารย์ก็ก้าวเดินออกไป เอาอะไรก้าว เอาอะไรเดิน ถ้าเอาหัวใจนี้ก้าวเดิน เอาความรู้สึกของเราจากทุกข์ๆ นี่ก้าวเดิน ถึงบอกว่าสิ่งนี้ถึงเป็นประโยชน์
ถ้าเรายังมีหัวใจ มีความรู้สึกอยู่ เพราะหัวใจมันมีความสุข ความทุกข์ ร่างกายนี้ ตายแล้วเอาไปเผา มันไม่รู้เรื่องอะไรสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเรามีหัวใจ หัวใจนี้ถึงสำคัญ ทำลายถึงที่สุดแล้ว ทำลายจนหัวใจไม่มี ตั้งแต่จิตก่อนสำนึก จิตใต้สำนึก ฟังสิ ทำลายหมดเลย ทำลายถึงที่สุดแล้วทำลายจิตไร้สำนึกด้วย แล้วมันมีอะไรเหลือ ก็ อาสเวหิ จิตตานิ วิมุจจิงสูติ เอวัง