ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นี่คือผลภาวนา

๒๔ ก.พ. ๒๕๕๖

 

นี่คือผลภาวนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๗๕. นะ เรื่อง “โดนซ้อนกล”

นี่เขาเขียนมาที่ว่าแม่เขาจะเสีย พอเขียนไปปั๊บกลับมาทันทีเลยนะ

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ ลูกส่งคำถามเรียนถามหลวงพ่อประมาณเมื่อ ๒ อาทิตย์ก่อน และคอยติดตามคำตอบอยู่ค่ะ เมื่อเช้านี้ได้รับฟังคำตอบหลวงพ่อแล้วเจ้าค่ะ ชัดเจนมาก กราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างยิ่ง

ตอบ : อันนี้กราบขอบพระคุณเนาะ อันนี้มันผ่านไปแล้ว อันนี้เรื่องใหม่แล้ว

ถาม : ระหว่างรอคำตอบนั้นลูกก็มุ่งปฏิบัติอย่างจริงจังเช่นเดิมมาตลอดตั้งแต่กลางเดือนมกราคม พยายามรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จดจ่อฟังธรรมทั้งวัน ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ อย่างที่เล่าไปคราวก่อนว่าหลายคืนก่อนช่วงปลายเดือนมกราคม เมื่อพิจารณาเวทนาไปเรื่อยๆ ลูกเริ่มเห็นตัวเองเหมือนงูออกไปฉกขันธ์ ๕ เห็นว่าเหตุนี้เองที่ทำให้ตนเองทุกข์หนักหนา แต่เมื่อพิจารณาจนเห็นขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าเรายับยั้งตัวเองได้ ไม่ออกไปฉกมัน ขันธ์ ๕ ก็อยู่เช่นนั้นแยกกันอยู่กับตัวเรา เราก็จะไม่ทุกข์

แล้วก็เริ่มขนลุกขนพองทั้งตัว น้ำตาไหล ร้องไห้ออกมาด้วยความปีติยินดี มีความสุขและตื่นตัวมากจนนอนไม่หลับ เพราะลูกภาวนาช่วงกลางคืน และก็ได้พยายามทำซ้ำตามที่หลวงพ่อย้ำในทุกๆ กัณฑ์เทศน์ มีการตอบปัญหาใกล้เคียงลักษณะนี้ จนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง ในระหว่างพิจารณาซ้ำเรื่องขันธ์ ๕ อยู่นั้น จู่ๆ ลูกก็เห็นว่าที่เราออกไปฉกขันธ์ ๕ นั้นมีผู้ชักจูงชักใยเราอยู่ตลอด คือตัวอยากและไม่อยากนั่นเอง ครั้นเห็นชัดเจนมากมันก็คอยบงการอยู่ตลอด

ในการพิจารณานั้น ลูกบอกตัวเองว่าต่อไปนี้จะต้องไม่ยอมให้ตัวอยากและไม่อยากบงการตัวเองอีกต่อไป มีความรู้สึกเหมือนเกิดการต่อสู้ ยื้อยุดฉุดกันอยู่ เพราะเหมือนตัวอยากและไม่อยากจะไม่ยอมแพ้ มันพยายามดึงลูกไป ลูกก็บอกตัวเองว่าไม่ ไม่ ไม่ จนรู้สึกเหมือนตะโกนกรีดร้องออกมาดังมากว่าไม่ หลังจากกรีดร้องออกมาแล้ว ตอนหลังเห็นทุกอย่างมันระเบิดออกแตกเป็นเสี่ยงๆ แหลกไปต่อหน้า เห็นแต่แสงสีขาวโพลน น้ำตาไหลพราก รู้สึกโล่งสบายมาก อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑. นี้คือตทังคปหานใช่หรือไม่คะ หรือว่าแค่ส้มหล่น เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ว่าแล้วลูกก็พยายามเร่งความเพียรให้มากขึ้น รู้สึกว่าเวทนามันจะไม่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำความสงบได้ยากขึ้น จนบางวันแพ้มัน แล้วไหลตามเวทนาไปจนต้องร้องไห้น้ำตาแฉะ มารู้สึกตัวอีกครั้งก็ตาบวมแล้ว ในระหว่างวัน บางขณะเริ่มมีความรู้สึกอยากออกไปหาอย่างอื่นทำบ้าง เริ่มคิดว่าควรทำงานจากปัจจุบันที่มีเวลาว่าง (คือไปทำธุรกิจ) ซึ่งลูกก็ได้เอามาพิจารณาในระหว่างทำปัญญาอบรมสมาธิด้วย เห็นว่าอันนี้น่าจะเป็นกิเลสชวนให้เป๋ออกจากการภาวนา เพราะถ้าไปทำธุรกิจ ความวุ่นวายในชีวิตจะมากขึ้น โอกาสในการภาวนาจริงจังก็น้อยลง เหมือนที่เคยเจอมาในสมัยที่งานยุ่งมากๆ จนแทบไม่มีเวลาฝึก (แม้ในสมัยนั้นแค่ฝึกให้จิตสงบยังภาวนาไม่เป็น)

ลูกเพิ่งจะเริ่มภาวนาเป็นหลักหลังจากมีผู้ที่บอกให้เข้ามาฟังเว็บไซต์นี้ คิดเอาเองว่ากำลังโดนเล่นงานรูปแบบใหม่ เพราะจิตเริ่มสงบยากขึ้น เรียกได้ว่าแทบจะไม่สงบเลยก็ได้ ตอนนี้นั่งสลับกับเดินอยู่ครั้งละ ๑ ชั่วโมงครึ่งถึง ๒ ชั่วโมงก็ยังฟุ้งมากค่ะ แต่ลูกจำที่หลวงพ่อเทศน์สอนไว้ว่าสงบ-ไม่สงบก็ต้องทำไป ที่หลวงพ่อเคยบอกว่าหลวงปู่เจี๊ยะบอก “ให้พุทโธอย่างเดียว สงบ ไม่สงบช่างหัวมัน เอาแค่พุทโธ” แล้วหลวงพ่อก็พุทโธอยู่ ๒-๓ เดือนจนจิตลง

๒. พยายามทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ใช่ไหมเจ้าคะ เพราะช่วงหลังๆ นี้ทำปัญญาอบรมสมาธิเหนื่อยมาก เพราะว่ามันไม่ค่อยจบ และเมื่อพุทโธก็แฉลบออกบ่อยมาก จนหลายครั้งต้องพุทโธแบบเร็วๆ ถี่ๆ จนเหนื่อยมาก และเหนื่อยมากๆ ลูกจะใช้การฟังธรรมหรืออ่านคำสอนของหลวงปู่มั่น ของครูบาอาจารย์แทน แต่ถ้าสู้ไม่ไหวจะพยายามพุทโธหรือตามลมหายใจชัดๆ ไปอย่างใดอย่างหนึ่งค่ะ หรือว่าหลวงพ่อมีอุบายอื่นจะเมตตาเจ้าคะ

๓. บางครั้งพิจารณาไปก็รู้สึกเหมือนว่าโดนตัวอยากซ้อนกลเล่นงานเข้าให้โดยไม่รู้ตัว เพราะไปอยากทำได้เหมือนที่ตัวเองเข้าใจไปเองว่านั่นเป็นการกำจัดตัวอยาก และความไม่อยากในตทังคปหาน มันซับซ้อนร้ายกาจมากนะคะ กิเลสในใจเรานี่ อันนี้ด้วยกระมังคะที่ทำให้ลูกสงบได้ยากขึ้นในช่วงหลัง กราบหลวงพ่อเมตตาแนะนำด้วยเจ้าค่ะ

ตอบ : เวลาคนปฏิบัติ พอเริ่มปฏิบัติ ถ้าล้มลุกคลุกคลานมันก็เป็นเรื่องล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าล้มลุกคลุกคลานนะ ถ้าจับหลักไม่ได้มันก็จะล้มลุกคลุกคลานไป แล้วตัวเองไม่มีหลัก คำว่าไม่มีหลักนะหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ถ้าเราทำสมาธิได้ เราจะรู้ได้ว่าสมาธิมันมีคุณสมบัติอย่างใด แล้วเราไปฟังครูบาอาจารย์องค์ไหนเทศน์หรือสอนก็แล้วแต่ ถ้าเขาบอกสมาธิผิด เราจะรู้ได้เลยว่าอาจารย์องค์นี้แม้ทำสมาธิก็ไม่เป็น

แต่ถ้าเราทำสมาธิได้นะ เราไปเจอครูบาอาจารย์องค์ไหนท่านเทศน์เรื่องสมาธิ ทำความสงบของใจระดับนี้ เราจะรู้ได้ว่าครูบาอาจารย์องค์นี้ท่านทำความสงบเป็น แล้วถ้าเราหัดใช้ปัญญา จนเราใช้ปัญญาไปแล้วจนชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นแล้วนะเราไปฟังพระองค์ไหนเทศน์ก็แล้วแต่ ถ้าเขาพูดมาสูงสุดของเขาได้ขนาดไหน คือภูมิปัญญาเขาได้เท่านั้น

ฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติของเรา ถ้าเราทำสิ่งใดไม่ได้เลย เราไปฟังครูบาอาจารย์องค์ไหนเทศนาว่าการเราก็ว่าดี๊ดี ดี๊ดี ดีเพราะอะไรล่ะ? ดีเพราะนั่นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เวลาพระบวชใหม่แล้วต้องศึกษา ต้องประพฤติปฏิบัติ ต้องศึกษา การศึกษานั้นคือศึกษาเล่าเรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนี่เราศึกษาท่องให้ขึ้นปาก เวลาพูดสิ่งใดมันก็เป็นธรรมๆ ทั้งนั้นแหละ

เวลาเราฟังธรรมนะ ฟังธรรมแบบนั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันไม่มีเนื้อหาสาระตามความเป็นจริง ถ้าเวลาครูบาอาจารย์องค์ไหนท่านทำความสงบของใจของท่านได้ ท่านก็เทศน์นะ ท่านเทศน์ถึงความสงบ นั่นล่ะเนื้อหาสาระมันจะออกมา ถ้าได้โสดาบัน ได้สกิทาคามี ได้อนาคามี หรือได้พระอรหันต์ สิ่งที่ท่านเทศน์ออกมาถ้าได้พระอรหันต์แล้ว เห็นไหม ครบวงจรแล้วท่านจะเอาอุบายชนิดไหน เอาสิ่งใดมาแนะนำเราเป็นอุบายชักนำให้จิตที่ต่ำกว่าพยายามให้ดึงขึ้นมา

ฉะนั้น ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์เราจะฟังธรรม ฟังได้ว่าใครพูดจริงและพูดไม่จริง แล้วถ้าคนพูดจริงนะ สิ่งนั้นเราก็สาธุว่าเรามีหมู่คณะ ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาท่านก็รู้ของท่านอยู่องค์เดียว เวลาท่านจะเทศนาว่าการท่านไปเทศน์ธัมมจักฯ พอพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปล่งอุทานเลยนะ

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

คือมีพยานเป็นบุคคลที่สอง เป็นสงฆ์องค์แรกของโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า มีพระธรรม แล้วก็มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระสงฆ์องค์แรกของโลก ฉะนั้น เวลาใครเป็นพยาน เห็นไหม เป็นพยานต่อกัน เวลาพูดต่อกันมันจะเป็นประโยชน์ต่อกัน อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติของเรา จิตเรามันเป็นไป เรามีหลักมีเกณฑ์เราจะรู้ของเรา เรารู้ของเราได้ ถ้ารู้ของเราได้มันจะเป็นประโยชน์กับเราว่าเรามีหลักในใจใครมาชักนำให้เราออกนอกลู่นอกทางไม่ได้ ออกนอกลู่นอกทางไม่ได้ เห็นไหม

ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติ ตอนที่ล้มลุกคลุกคลานทำไม่ได้เราก็คือทำไม่ได้ เราทำไม่ได้ใครจะชักนำไปทางไหนเราก็จะเอนเอียงไปกับเขาทางนั้น แต่พอเราทำของเราได้ ถ้าทำของเราได้ เริ่มต้นจากทำได้เขาเรียกปัจจุบันธรรม มันเป็นธรรมส่วนบุคคล ธรรมของผู้ที่มีความจริง อย่างเช่นคำที่ว่าเราเห็นขันธ์ ๕ นี่เห็นขันธ์ ๕ แล้วจิตมันฉกนั่นล่ะมันคือเสวยอารมณ์ เวลาเรารู้ เราเห็นของเราเราบอกว่าจิตของเราเหมือนงู มันฉกขันธ์ ๕ ทั้งที่บอกมันฉกขันธ์ ๕ มันฉกคือมันรับรู้ขันธ์ ๕

นี่จิตเห็นอาการของจิต ขันธ์ ๕ คืออาการนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าจิตมันฉก เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต ถ้าใครรู้ใครเห็นก็จะเห็นตามความเป็นจริง ถ้าใครไม่รู้ไม่เห็น แต่ใครรู้ใครเห็นแล้ว ใครเห็นอย่างใดก็พูดอย่างนั้น ไอ้นี่เห็นแล้วมันเป็นบุคลาธิษฐานว่าเหมือนกับความรู้สึกเรามันฉกขันธ์ ๕ คือมันเสวยอารมณ์ไง มันยึดอะไร มันอยากได้อะไรมันก็เสวยของมัน โดยเสวยแล้วถ้ามีสติปัญญามันก็แยกแยะของมัน ถ้ามันไม่มีสติปัญญานะเห็นว่าเสวย เห็นว่าคิด

คิดแล้วก็ความคิดเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา ตัณหาความทะยานอยากเหมือนกัน แต่ถ้ามีสติปัญญามันแยกของมัน นี่จิตเห็นอาการของจิต แล้วพิจารณาของมันไป พอพิจารณาไป จิตเห็นอาการของจิต กำลังมีเท่าใดทำได้เท่านั้น แต่นี้คำถามครั้งที่แล้วถามมาแค่นี้ แต่คราวนี้ต่อไป คราวนี้ต่อไป เห็นไหม บอกว่า

ถาม : นี่เมื่อพิจารณาจนเห็นขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวเรา

ตอบ : เพราะมันฉกแล้ว ฉกคือมันฉกเฉยๆ แต่ถ้าเราไปจับ เราไปจับนะ ฉกเอาเหยื่อมากิน กินเหยื่อเข้าไปในท้อง แต่เวลาเราฉก เราไปจับขันธ์ ๕ แล้วเราไม่กินเข้ามาในท้อง คือว่างูมันไม่กินเข้ามาในท้องงู เป็นอาหารของงู ถ้าเป็นอาหารของงูมันก็เป็นอันเดียวกันไง จิตกับขันธ์ก็เป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเราจับมาแล้วพิจารณา พิจารณาไป พิจารณาซ้ำซากๆ จนเห็นว่า

ถาม : จนยับยั้งตัวเองได้ จนมันฉกขันธ์ ๕ ก็อยู่เช่นนั้นมันแยกตัวเรา เพราะเราก็ไม่ทุกข์

ตอบ : นี่สิ่งที่ว่ามันไม่ใช่เรา สิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราพอมันปล่อยขึ้นมา ผลของมันคือร้องห่มร้องไห้ ผลของมันคือมีความสุข มีความปีติ พอมีความสุข มีความปีติก็พยายามทำซ้ำๆ การพยายามทำซ้ำมันต้องซ้ำเข้าไป พอทำซ้ำเข้าไป เวลาจิตมันเสื่อม คนเรานี่นะ กินอาหารมื้อนี้แล้วพอหมดเวลาไปเดี๋ยวมันก็หิวอีกมันก็ต้องกินอีก ฉะนั้น เวลาหิวต้องกินอีก ในมุตโตทัยของหลวงปู่มั่นท่านบอกว่า

“การทำนาตั้งแต่อดีตกาลมาเขาก็ทำนาบนที่ดิน ในปัจจุบันนี้การทำนาเขาก็ทำลงในที่ดิน ในอนาคตเขาทำนาเขาก็ทำลงที่ดิน ฉะนั้น ให้หมั่นคราด หมั่นไถ”

การทำนา เห็นไหม ทำนาเพื่อจะเอาข้าว การพิจารณาเขาพิจารณาโดยธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ในอดีตกาลมาเขาก็พิจารณาธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ในปัจจุบันนี้ถ้าใครมีหลักมีเกณฑ์ ทำความสงบของใจได้ แล้วจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ก็พิจารณาในขันธ์ ๕ ในธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ในอนาคตกาล ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติเขาก็จะพิจารณาในธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

ฉะนั้น การพิจารณาซ้ำๆ เข้าไปเพื่อพัฒนาให้จิตมันรู้ตามความเป็นจริงของมัน ถ้าเวลามันรู้ตามความเป็นจริงของมัน ถ้ามันทำได้จริงมันก็พิจารณาของมันได้ แต่ถ้าจิตมันเสื่อมล่ะ จิตมันเสื่อมเพราะเหตุใด? จิตมันเสื่อมเพราะว่าเมื่อก่อนภาวนาไม่เป็น เราก็บอกเราอยากทำความสงบ พอทำความสงบของใจ ทำความสงบแล้ว ความสงบมันก็แค่เป็นความสงบ เราต้องใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาไป นี่ความซาบซึ้ง การที่ว่าปีติมันเกิดขึ้น มันร้องห่มร้องไห้จนตาแฉะเพราะมันเห็นคุณ พอเห็นคุณมันก็ว่าเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์มันจะตะครุบเอาแต่ประโยชน์ พอตะครุบแต่ประโยชน์ใช้แต่ปัญญา นี่สมาธิมันก็เสื่อม พอสมาธิเสื่อมมันทำสิ่งใดไม่ได้

ฉะนั้น สิ่งที่มันทำสิ่งใดไม่ได้มันต้องกลับมาทำความสงบของใจ ถ้าพิจารณาไปแล้วถ้าจิตมันใช้งานมาก ก็ต้องกลับมาทำความสงบให้มากขึ้น ถ้ากลับมาทำความสงบมันก็แก้ไขตรงนี้ เพราะจิตมันเสื่อม พอจิตมันเสื่อมมันถึงชักจูงออกไป ชักจูงออกไปจะให้เราไปทำสิ่งอื่น ให้ไปทำสิ่งอื่น การทำนะ คนเราเกิดมา เห็นไหม ทางคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ คือเราต้องมีหน้าที่การงาน รักษาหน้าที่การงานของเรา ถ้ารักษาหน้าที่การงานของเราเราก็ทำตามความจริงของเรา

นี่งานก็คืองาน แบ่งเวลาว่าเวลาทำงานก็ทำงาน เวลาจะภาวนาก็ภาวนา ถ้าภาวนา ถ้าเรามีสติปัญญา แต่เวลาคนเขาเรียกว่าทางคับแคบ เวลารับผิดชอบไปแล้วถ้าเห็นประโยชน์ตรงนั้น ถ้าสติไม่ทันมันก็ตามเขาไป ถ้าสติมันทันนะทำงานไว้เพื่อดำรงชีวิต แล้วเอาชีวิตนี้ไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราแบ่งของเราได้เราก็จะพัฒนาตัวของเรา ถ้าเราแบ่งตัวของเราไม่ได้ เห็นไหม มันก็จะมีปัญหา มันมีปัญหา ปัญหาในตัวเราเอง ถ้ามันมีปัญหาในตัวเราเองเราก็ต้องแก้ไขตัวเราเอง

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกเป็นคนชี้ทาง เราเท่านั้นเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราปฏิบัติแล้วถ้าจิตมันเสื่อม จิตมันเสื่อมแล้วมันพิจารณาแล้วเป็นอย่างไร ฉะนั้น ย้อนกลับมาที่คำถาม เวลาคำถาม เห็นไหม คำถามว่า

ถาม : เวลาสิ่งที่เป็นไปนี่เป็นตทังคปหานใช่หรือไม่? หรือว่าเป็นส้มหล่น

ตอบ : ถ้าเป็นตทังคปหานมันจะเกี่ยวเนื่อง มันจะต่อเนื่องไป เพราะตทังคปหานเหมือนคนชำนาญการ แต่ถ้าเป็นส้มหล่น นี่มันสมควรน่าจะเป็นส้มหล่น เพราะส้มหล่นมันได้หนเดียว แล้วมันจะทำอย่างนั้นไม่ค่อยได้อีก คำว่าส้มหล่นนะ ส้มหล่นหมายถึงว่าปฏิบัติไปแล้ว ด้วยอำนาจวาสนาของคน คนเรานี่นะทุกข์ยากมาขนาดไหน แต่ได้ทำบุญกุศลของเราไว้ ถึงคราวแล้วบุญกุศลนั้นมันจะมาเสริม เสริมให้เราปฏิบัติแล้วได้ผล

ได้ผลนั่นคืออำนาจวาสนาใช่ไหม? แต่ถ้าเป็นตทังคปหานเราควบคุมทำความสงบของใจได้มั่นคง แล้วพอใจสงบแล้วเราออกไปพิจารณาของเรา พอพิจารณาของเราเหมือนคนทำงานเป็น คนทำงานเป็นเหมือนผู้ขับรถที่มีความชำนาญ เขาจะออกรถ เขาจะดูมาตรน้ำ มาตรน้ำมัน เขาจะดูของเขาพร้อม แล้วอายุการใช้งานขนาดไหนเขาจะเปลี่ยนของเขา เขาจะดูแลของเขา

นี่เขาจะซ่อมบำรุงของเขา ซ่อมบำรุงของเขา รถของเขาจะพร้อมใช้งานตลอด แล้วจะออกตัวได้ตลอดเวลา จะใช้ประโยชน์สิ่งใด จะใช้การเป็นพาหนะ จะใช้เพื่อบรรทุกสิ่งของ เขาจะใช้ตลอดไป นั้นคือตทังคปหานมันจะมีความชำนาญการ แต่ถ้าส้มหล่น ส้มหล่นเราได้รถมา เราขับรถไปมันก็ออกรถไปได้ แต่เราใช้รถโดยไม่ดูแลรักษาเลย ถึงเวลาแล้วเวลารถมันเสียขึ้นมาเราออกรถอีกไม่ได้เลย

นี้พูดถึงว่าส้มหล่นกับตทังคปหานมันแตกต่างกันอย่างใด แล้วสิ่งนี้มันเป็นตทังคปหานหรือเป็นส้มหล่น ถ้ามันเป็นตทังคปหานนะ คำว่าตทังคปหานคือว่ารถมันพร้อมที่จะออก เราจะทำของเราได้ด้วยความสะดวกสบาย ด้วยความชำนาญของเรา แต่นี่เราทำของเรา จะก้าวเดินด้วยความทุกข์ยากมาก เราก็ต้องพยายามแก้ไขเรานะ นี่พูดถึงว่าสิ่งนี้เป็นตทังคปหานหรือเป็นส้มหล่น สิ่งที่มันปฏิบัติมา ที่มันว่าไม่ๆๆ ด้วยความอยากและความไม่อยาก นี่เวลาเราพิจารณาของเรา เราแก้ไขของเรา เวลาถึงที่สุดที่มันจะเป็นไปได้ ที่เขาเขียนมา

ถาม : ถึงตอนนั้นทุกอย่างมันระเบิดออก แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ต่อหน้าเลย

ตอบ : แตกออกเป็นเสี่ยงๆ คำว่าแตกออกเป็นเสี่ยงๆ พิจารณากายก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ พอกายระเบิด ต่างๆ ระเบิดมันอยู่ที่ขณะปัจจุบันมันจะเป็นอย่างใด ไม่ใช่ว่ามันต้องระเบิดแล้ว ทุกอย่างต้องระเบิดไปหมด คราวนี้มันระเบิด คราวหน้าไม่เป็นอย่างนี้ก็ได้ เวลาคราวต่อไปมันจะเป็นแตกต่างหลากหลายไป มันอยู่ที่จังหวะและโอกาส อย่างเช่นเวลาหน้าน้ำ น้ำมานะด้วยความชุ่มชื้น วัตถุธาตุมันมีความชื้นมันก็ดูดความชื้นไว้ เวลาหน้าแล้งอากาศมันแห้ง สิ่งที่มันแห้งสิ่งนั้นมันก็ไม่ดูดความชื้นไว้ เวลามันหัก เวลามันแตกกระจายมันแตกต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณาไป สิ่งที่ผ่านมาแล้วเป็นอดีตวางไว้ แล้วเราเอาปัจจุบันนี้พิจารณาของเราไปตามปัจจุบัน ถ้ามันเป็นจริงมันก็เป็นจริง ฉะนั้น เวลามันไม่เป็นจริงแล้วมันก็ออกแล้วนี่ มาคิดถึงว่าในปัจจุบันเราน่าจะไปทำงานบ้าง ออกไปประกอบธุรกิจต่างๆ อันนี้มันอยู่ที่ความเหมาะสมนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ความเหมาะสม ความเป็นกลาง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่าเราจะประพฤติปฏิบัติจนขาดตกบกพร่องสิ่งใดไป ทางโลกเขาก็มองว่าเราเป็นนักปฏิบัติทำไมไม่มีสติปัญญา นักปฏิบัติมันต้องมีสติปัญญา แต่ถ้าเราทำงานของเราโดยที่เราบริหารจัดการได้ นั่นก็เป็นเนื้องานของเรา แต่ถ้าถึงเวลาเราปฏิบัติ การปฏิบัติมีคุณค่ากว่าแน่นอน ทีนี้การปฏิบัติมีคุณค่ากว่าแน่นอน เราจะมีจุดยืนมากขนาดไหน จุดยืนมากหมายความว่าแม้แต่หลวงตานะ หลวงตาท่านออกไปวิเวก แล้วท่านวิเวกกลับมาท่านอดอาหารมาจนร่างนี้เหลืองหมดเลย แล้วเข้ามาในหมู่บ้านใช่ไหมมันมีนักปราชญ์เขาเคยบวชมาแล้วสึกเป็นมหาไง พอเห็นหลวงตา

“ท่านอดอาหารใช่ไหม? นี่ท่านอดอาหารนะ พระพุทธเจ้าไม่ให้อดใช่ไหม?”

หลวงตาท่านก็ย้อนกลับไง “แล้วโยมกินข้าวไหม?” บอกกิน

“แล้วกินข้าวละกิเลสได้ไหม?”

“ละไม่ได้”

แล้วอดอาหาร บอกว่าอดอาหารมันจะละกิเลสไม่ได้ ใช่อดอาหารละกิเลสไม่ได้ แต่การอดอาหารนั้นเพื่อเป็นวิธีการไม่ให้กิเลสมันตัวอ้วนๆ ให้มันผอมลง แล้ววิธีการคือทำศีล สมาธิ ปัญญา อันนั้นต่างหากจะไปฆ่ากิเลส การอดอาหารมันเป็นวิธีการ เป็นอุปกรณ์ประกอบส่วนชิ้นหนึ่ง มันไม่ใช่ทั้งหมด

นี้แม้แต่พระที่เวลาอดอาหารมา นักปราชญ์เขายังบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเพราะพระพุทธเจ้าฉลาดมาก ถ้าพระพุทธเจ้าส่งเสริมการอดอาหาร ไอ้คนโง่ๆ มันอดอาหารมันจะตายเป็นเบือเลย เพราะมันอดอาหารจนตาย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกห้ามอดอาหาร เพราะกันคนโง่ๆ มันจะอดอาหาร โดยคิดว่าการอดอาหารนั้นเป็นการฆ่ากิเลส แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ถ้าใครอดอาหารเพื่ออวด เพื่ออยากให้เขานับหน้าถือตา เราปรับอาบัติทุกกฏ ทุกกิริยาเคลื่อนไหว ถ้าใครอดอาหารเพื่อการชำระล้างกิเลส ถ้าใครอดอาหารเพื่อเป็นการข่มกิเลส ถ้าใครอดอาหารมาเพื่อเป็นวิธีการชำระกิเลส ด้วยมีปัญญา เราตถาคตอนุญาต”

อยู่ในบุพสิกขา อยู่ในบาลี แม้แต่เวลาพระปฏิบัติถ้าไม่มีจุดยืน เวลาคนมาพูดอย่างนี้ อย่างเช่นเราถ้าปฏิบัติไป ใครมาบอกโอ้โฮ หลวงพ่อ หลวงพ่อทุกข์มากเนาะ หลวงพ่อควรจะพักผ่อนบ้างเนาะ โอ๋ย เรานี่ขาอ่อนเลยนะ

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติอยู่ แล้วเราบอกว่าถ้าเราจะทำงานของเรา ถ้าเรามีจุดยืนเราจะอธิบายให้ญาติพี่น้อง ให้หมู่เพื่อนเข้าใจได้ว่าเรามีเป้าหมายอะไร เราดำรงชีวิตไว้เพื่อสิ่งใด แต่ถ้าเราไม่มีจุดยืนนะ ลมปากมันทำให้เราเรรวนหมด คนนู้นมาก็เป่าลมทีหนึ่ง คนนี้มาก็เป่าลมทีหนึ่ง เราไปหมดนะ นี่พูดถึง แต่ก็ยังยืนยันว่าการปฏิบัติถ้าเป็นความจริงเราได้อริยทรัพย์ แต่เราหาทรัพย์ทางโลก ทรัพย์นี้เป็นทรัพย์สาธารณะ ใครมีอำนาจวาสนา ใครมีปัญญาก็จะหาสิ่งนั้นมาเป็นสมบัติส่วนตน

สมบัติสาธารณะ เห็นไหม ถ้ามีชีวิตอยู่เราก็ได้ใช้มัน แต่ถ้าเราตายไปนะ มีญาติมันก็เป็นมรดกตกทอด ถ้าไม่มีญาติ ตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน เป็นสมบัติของโลก ไม่ไปกับเราหรอก แต่คุณงามความดีในใจเรานี่แหละมันจะไปกับเรา ยิ่งได้เป็นอริยทรัพย์มันไปกับเรา เพราะมันเป็นสมบัติของใจ มันเป็นสมบัติส่วนตน ไม่ใช่สมบัติสาธารณะ นี้เราหาของเราเอง

ถาม : ๒. พยายามทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ใช่ไหมเจ้าคะ เพราะช่วงหลังๆ นี้ทำปัญญาอบรมสมาธิแล้วเหนื่อยมาก เพราะมันไม่ค่อยจบ และเมื่อพุทโธก็แฉลบออกไปจนบางครั้งต้องพุทโธถี่ๆ เร็วๆ เหนื่อยมากจึงต้องใช้อ่านหนังสือธรรมะของหลวงปู่มั่น ใช้อ่านหนังสือธรรมะของครูบาอาจารย์

ตอบ : เหนื่อยมากมันก็ดู หนึ่งหลวงตาท่านสอนว่า “อย่าเสียดายอารมณ์ความรู้สึก” อารมณ์ของเราถ้ามีสิ่งใดต่อต้านเราก็จะคุ้นชินกับสิ่งนั้น ถ้าเราเปลี่ยนเลย เห็นไหม เปลี่ยนคำบริกรรมใหม่ เปลี่ยนทุกอย่างใหม่ แล้วเราก็ย้อนกลับมาที่ว่า นี่ว่าถ้ามันไม่ลงเพราะเหตุใด? อดนอนผ่อนอาหารมันจะเป็น ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ธุดงควัตรๆ เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ฉันมื้อเดียว ฉันอาสนะเดียว ไม่นอนต่างๆ เนสัชชิกเป็นเครื่องขัดเกลา ไม่ใช่สิ่งที่ชำระกิเลสได้ เป็นเครื่องขัดเกลา

ฉะนั้น เวลาจิตมันเสื่อม นี่ทำสิ่งใดก็ไม่ได้ ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ไม่จบ ปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาไปจนมันจบนั่นแหละคือสมาธิ แต่พุทโธ พุทโธมันก็แฉลบ มันแฉลบหมดแหละ นี่ถ้ามันแฉลบหมด แล้วกังวล ยิ่งพุทโธก็ไม่ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ไม่ได้ ตอนนี้มันยิ่งเครียด พอยิ่งเครียดมันยิ่งมีกำลัง เราถ้าไปตามมันอารมณ์เดิม ร่องน้ำเดิมก็อยู่อย่างนั้นแหละ เปลี่ยนเลย ถ้าเปลี่ยนมาเราเปลี่ยนวิธีการใหม่ หาทางใหม่

แล้ววิธีการใหม่มันคืออะไรล่ะ? มรณานุสติก็ได้ ถ้าจะเป็นพระนะไปอยู่ในป่าช้าก็ได้ ถ้ามันไม่ยอมลงไปนั่งหน้าผาก็ได้ อ้าว ถ้าไม่ได้ก็ต้องลองกัน นั้นพูดถึงถ้ามันมีโอกาส แต่เราเป็นฆราวาส เราอยู่บ้านอยู่เรือนใช่ไหม เราอยู่บ้านอยู่เรือนเราก็หาโอกาสของเรา พลิกแพลงหาโอกาสทำของเราให้ได้ ถ้าทำได้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา นี่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเขาไปหาหมอ เห็นไหม หมอหายไหม? หมอหายไหม?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันเสื่อมเราจะไปหาใครล่ะ? เวลาปฏิบัตินี่นะความเพียรชอบ เราก็ต้องใช้ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะของเราพลิกแพลงต่อสู้กับตัวเอง การชนะตนแสนยาก เอาชนะคนอื่นชนะได้หมดแหละ ในสมัยปัจจุบันนี้ไม่พอใจใครใช้จ้างวานได้หมด แต่เวลาจะเอาชนะตนเอง จ้างใครมาเอาชนะตนเองก็ไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องสู้ของเราเอง

ถาม : ๓. บางครั้งพิจารณาไปรู้สึกว่าเหมือนโดนตัวอยากซ้อนกลเล่นงานเข้ามาโดยไม่รู้สึกตัว เพราะไปอยากทำเหมือนที่ตัวเองเคยได้

ตอบ : นี่คือสัญญาซ้อนสัญญา

ถาม : นี่ตัวเองเคยได้ว่านั่นเป็นการจำกัดตัวอยากและไม่อยากเป็นตทังคปหาน มันซับซ้อนร้ายกาจมากเจ้าค่ะ ด้วยอันนี้กระมังที่ทำให้ลูกสงบได้ยาก

ตอบ : ถ้าเรารู้อย่างนี้เราก็ทิ้งมันสิ เวลาปฏิบัติ เห็นไหม ผู้ที่ปฏิบัติใหม่หลวงตาท่านสอน เวลาปฏิบัติ โลกมีเหมือนไม่มี เหมือนมีเราอยู่กับพุทโธเท่านั้น โลกนี้เหมือนไม่มี อดีต อนาคตไม่รู้เลย แต่นี้เราอยากได้ไอ้ตัวอยากตัวไม่อยากที่เคยรู้ เคยเห็นนั่นน่ะ ไอ้เคยรู้เคยเห็นมันเป็นอดีตมาแล้ว

เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วมีเจตนาตั้งใจปฏิบัติ เราต้องมีอำนาจวาสนา เรารู้ไหมว่าชาติที่แล้วเราเป็นอะไรมา ชาติที่แล้วชาติก่อนๆ เราเป็นอะไรมา เราสร้างสิ่งใดมามันถึงมีจิตใจให้เรามีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ เราก็ไม่รู้ แต่ว่าตัวอยากไม่อยาก เรารู้เราเห็น เพราะในชาติปัจจุบันเรารู้ได้ พอรู้ได้ก็เหนี่ยวรั้งมันมา นี่ก็อดีตเหมือนกัน อดีตนี้เป็นสมบัติบ้า เอาสมบัติบ้ามาหลอกใจตัวเอง

ฉะนั้น เราไม่เอาสมบัติบ้า น้ำลายที่เราได้คายทิ้งไป เราจะเอาลิ้นไปเลียกลับมากินอีกทำไม? สิ่งที่แม้แต่เป็นสิ่งที่อยากและไม่อยากที่เราทำให้มันระเบิดไปแล้ว แต่มันก็เป็นอดีตไปแล้ว ในขณะที่มันเป็นมันเป็นประโยชน์กับเรา แต่ในปัจจุบันนี้มันกลับมาทำร้ายใจเรา เห็นไหม มันกลับมาทำให้เรา ที่ว่าจิตใจนี้ลงสงบยังลงไม่ได้เลย เพราะธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุมันเป็นปัจจุบัน เหตุมันสมควรมันก็ต้องเป็นอย่างที่มันเป็น ไอ้นี่เหตุมันไม่สมควร แต่ไปคาดหมายผลที่มันเคยเป็น เอาผลอันนั้นมาหลอกตัวเอง แล้วก็ทุกข์เอง ทุกข์เองมันทำไม่ได้ไง

ฉะนั้น คนจะรวย คนจะจน คนจะอะไร เวลากินข้าวเริ่มต้นเขาก็กินข้าวคำแรกเหมือนกัน นี่เวลาหิวกระหายมาก็หิวเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเป็นมาแล้ว ไม่เป็นมาแล้วมันก็ผ่านไปแล้ว ในปัจจุบันเริ่มต้นกินข้าวจากข้าวคำแรก เริ่มต้นภาวนาก็วางใจให้หมด วางเป็นกลางให้หมดแล้วเริ่มต้นจากตรงนั้น ถ้าเริ่มต้นตรงนั้นมันก็ถูกต้องมา ถ้าถูกต้องมามันก็จะแก้สิ่งนี้ได้ ถ้าแก้สิ่งนี้ได้มันก็จะเป็นภาวนาต่อไป

นอกนั้นก็เป็นการเขียนมายกย่องหมดเนาะ จบ

ข้อ ๑๒๗๖. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๑๒๗๗. เรื่อง “ติดครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพยิ่ง ผมกราบเรียนถามตามสิ่งที่ติดอยู่ตอนนี้ครับ เนื่องจากตอนนี้กระผมได้ตั้งสัจจะในการทำความดีระดับหนึ่งครับ แล้วกิเลสมันก็รุมเร้าเผาใจผมตลอดเวลา บางทีคิดเข้าข้างตัวเองว่าไม่เป็นไรแค่นี้เอง คนอื่นยังทำได้เลย แต่ผมไม่ยอมครับ ไม่ยอมเด็ดขาด ทำให้ทุกข์ทรมานใจมาก บางทีพิจารณาอย่างไรก็ไม่ลง อาศัยความอดทนอย่างมากๆ เอาครับ ไม่รู้จะทำอย่างใด ส่วนมากฟังเทศน์หลวงพ่อกับหลวงตาเพื่อแนวทางปฏิบัติและเป็นกำลังใจต่อสู้ครับ การปฏิบัติผมใช้ปัญญาอบรมสมาธิมากกว่าพุทโธ มีคำถามคำเดียวขอถามดังนี้ครับ

วันหนึ่งรู้สึกได้ว่าจิตสงบ แตกต่างมาก มหัศจรรย์มาก เพราะจากที่เคยทุกข์ทรมานทางใจ จิตใจกลับสงบเงียบ ไม่หิวอารมณ์ ไม่ปรุงอารมณ์ คนละโลกกับที่ต้องใช้ความอดทนข่มจิตใจที่เคยสู้มา ทำให้เห็นความแตกต่างชัดเจน ได้เดินไปในที่ผู้หญิงสวยแต่งตัวดี เมื่อเห็นจิตผมไม่ดิ้นเหมือนเก่า ไม่ปรุงเหมือนเก่า มีแต่ลักษณะเหมือนจะปรุง แต่ไม่ปรุงครับ เพราะมันตัดทิ้งไปเลย ปรุงแว็บขึ้น ปรุงแว็บมันทิ้งเอง พอมีอารมณ์อื่นขึ้นมาในจิตจะวางทันที จิตใจนิ่งมีความสุขมาก พอกำหนดเข้าไปในจิตก็มีปีติ กำหนดทีไรปีติขึ้นทุกที

ในขณะนั้นผมเลยสรุปว่าผมไม่ไว้ใจสภาวะแบบนี้ เพราะเดี๋ยวมันก็เสื่อม เพราะมันเป็นแค่สมาธิไม่ใช่ปัญญา ถึงจะสุขและแนบเนียน ไม่มีอะไรมากวนจิต เดี๋ยวก็เสื่อม เพราะผมเคยระลึกได้ว่าอารมณ์แบบนี้เคยเป็นเมื่อนานมาแล้ว เมื่อเป็นครั้งนั้นคิดว่าคงไม่มีอะไรรบกวนหัวใจเราอีก คงไม่เผลอทำชั่วแล้วชาตินี้ แต่พอนานไปก็กลับมาเป็นอย่างเก่าอีก ทุกข์ทรมานอีก

จากประสบการณ์และจากฟังหลวงพ่อมา ผมไม่ไว้วางใจความรู้สึกสงบสุขอันนี้ เพราะไม่ใช่ความรู้แจ้ง มันแค่จิตสงบ ผมก็เลยจะพิจารณาต่อแต่พิจารณาไม่ได้ครับ ผมติดตรงนี้ เพราะยกขึ้นมาพิจารณาทีไรมันก็ไม่ยอมพิจารณา มีแต่จะทิ้งอารมณ์ทุกชนิดอย่างเดียว เหมือนกับตัดทิ้งอารมณ์อื่นๆ ทำให้ปรุงขึ้นไม่ได้ ปรุงขึ้นก็ทิ้ง และกลับมาจิตที่มีความสงบสุขอย่างเก่า พอกำหนดเพ่งดูที่จิตก็จะมีแต่เกิดปีติท่าเดียว ผมจะทำอย่างไรดีครับเพื่อให้พิจารณาได้ ผมอยากพ้นทุกข์ครับ ทรมานเหลือเกิน

ตอบ : อันนี้พูดถึงว่าเคยพิจารณามา ถ้าพิจารณา จากที่ว่ามันดิ้นรนมา ทุกข์ยากมาๆ มันเป็นอย่างนั้นมา พอเป็นอย่างนั้น พอจิตมันสงบบ้าง อย่างเช่นที่เขาบอกว่าเดินเข้าไปที่ผู้หญิงสวยๆ ต่างๆ แล้วมันไม่เกิดขึ้นๆ อารมณ์ชั่วคราวทั้งนั้นแหละ ถ้าอารมณ์ชั่วคราว อารมณ์ชั่วคราวหมายความว่าถ้าไม่ปฏิบัติเลยเราก็ไม่รู้อะไรเลย เราเกิดมาเป็นชาวพุทธนะ เหมือนมดแดงเฝ้าพวงมะม่วง เป็นชาวพุทธเวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาแต่ชื่อ มดแดงเฝ้าพวงมะม่วง ปริยัตินี่ถ้าไม่ศึกษาเราจะไม่ใช่เป็นชาวพุทธ เราก็ต้องศึกษา ใช่ต้องศึกษา ปริยัติ ปฏิบัติ ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ไม่ใช่ศึกษามาเพื่อเอามาเป็นสมบัติของเรา

ฉะนั้น เวลาศึกษามา เวลาปฏิบัติมา เวลาเราปฏิบัติถ้ามันยังไม่ได้ผลมันก็ไม่ได้ผล เวลาปฏิบัติมา พอมันเริ่มแยกศัพท์ได้ เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอก บอกว่าศีล สมาธิ ปัญญา พอจิตมันมีสมาธิ มีสติปัญญาขึ้นมาตามความเป็นจริง ศึกษามานี้เป็นชื่อ พอเป็นขึ้นมาจะเดินเข้าไปที่ผู้หญิงแต่งตัวสวยขนาดไหนก็ได้ จะเข้าไปในสังคมไหนก็ได้ จิตมันทิ้งหมดมันไม่เอาสิ่งใดเลย

สิ่งนั้นมันก็เหมือนศัพท์ เราแยกศัพท์ได้ เราแยกได้ว่าอันนี้เป็นจิต อันนี้เป็นสมาธิ อันนี้เป็นสติ อันนี้เป็นสมาธิ อันนี้เป็นปัญญา อันนี้เป็นจิต อันนี้เป็นอารมณ์เราแยกได้ แต่เราทำสิ่งใดไม่เป็น พอทำสิ่งใดไม่เป็นมันก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น พอล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ เห็นไหม นี่บอกว่าพอเราปฏิบัติบอกว่านี้เป็นแค่สมาธิๆ ก็ใช่มันเป็นแค่สมาธิ พอเป็นแค่สมาธิ นี่หลวงตา ครูบาอาจารย์ ตั้งแต่หลวงปู่มั่นเลย หลวงปู่มั่นลงมา นี่หลวงปู่ลีท่านจะบอกเลยทำใจให้สงบก่อน พยายามกำหนดพุทโธให้จิตสงบก่อน ถ้าจิตสงบขึ้นมามันก็เห็นอย่างนี้

อย่างเช่นที่ว่าพอจิตสงบแล้วเราจะเดินเข้าไปที่ผู้หญิงแต่งตัวดีขนาดไหนก็ได้ เราจะไปอย่างไรก็ได้ อารมณ์นี่เราชนะหมดเลย นี่ถ้าจิตสงบมันพร้อมที่จะทำงาน ถ้าพร้อมที่จะทำงาน ถ้ามันทำงานต่อไปมันก็เป็นวิปัสสนา วิปัสสนาคืออะไร? วิปัสสนา เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาคือการวิปัสสนา ถ้าเกิดขึ้นมันก็เป็นพุทธศาสนา มันเป็นพุทธศาสตร์ ถ้ามันไม่เกิดขึ้นมันก็เป็นฤๅษีชีไพร ฤๅษีชีไพร ทำความสงบของใจก็เป็นฤๅษีชีไพร ฤๅษีชีไพรมันเป็นมิจฉา แต่ถ้ามีสติปัญญามันก็เป็นสัมมา พอสัมมาขึ้นมาเริ่มต้นตรงนี้เข้ามาอยู่ที่นี่

ฉะนั้น เข้ามาที่นี่ปั๊บ ถ้าจิตสงบแล้ว พอจิตสงบแล้วเราก็อยากจะพิจารณา แล้วมันก็ติดตรงนี้มันพิจารณาไปไม่ได้ มันพิจารณาไปไม่ได้เราก็ต้องตั้งสติ ถ้าจิตใครสงบแล้วนะ เวลาพิจารณาไปให้รำพึง คำว่ารำพึงน้อมจิตไปไง ถ้าจิตสงบนะ เวลาจิตสงบ ถ้ามีสติเรารำพึงได้ รำพึงคือเราโน้มน้าวจิตให้เราไป โน้มน้าวจิตให้เราไป รำพึงไปที่กาย บางทีนะเรารำพึงไปที่เล็บ ที่ขน ที่ผม ถ้าจิตมันสงบพอรำพึงไปมันไป ถ้าเรารำพึงแล้วมันไม่ไป นี่ถ้ามันไม่ไปกลับมาที่พุทโธ กลับมาให้มันสงบมากกว่านี้

ถ้ารำพึงแล้วมันไม่ไป รำพึงไม่ไปนะ ไม่ไปเราพิจารณา ถ้าพิจารณาเราใช้ปัญญา ปัญญาเทียบเคียง เทียบเคียงว่ามนุษย์เกิดมาจากไหน? ดูสิมนุษย์เกิดมาตั้งแต่เด็กมา จากเด็กมันเติบโตมาอย่างไร? มันใช้อาหารอะไร? มันกินอะไร มันขับถ่ายอย่างไรมันถึงโตขึ้นมา นี่ถ้ามันมีสมาธิ มีปัญญานะ เวลามันคิดเป็นธรรมขึ้นมามันสะเทือนใจนะ นี่เวลาเราเรียนปริยัติ เราเรียนปริยัติคือเรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ คิดแบบโลก ที่บอกว่าให้คิดแบบว่าชีวิตนี้ทำอย่างไร? เขาก็รู้กันทั้งนั้นแหละ รู้แบบนั้นมันรู้แบบสามัญสำนึก รู้แบบโลก เพราะจิตมันไม่เปิด จิตมันไม่เปิดมันเข้าไม่ถึงข้อเท็จจริง แต่ถ้าจิตเป็นสมาธิ จิตมันเปิดนะ คิดเหมือนกันนั่นแหละ คิดอันเดียวกันนั่นแหละ แต่มันคิดแล้วมันสะเทือนหัวใจ คิดแล้วมันสำรอกคลายออกจากจิตเลย จิตมันสะเทือนมาก ถ้ามีสมาธิมันเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้นมันก็บอกว่าไม่ติดตรงนี้ไง เพราะมันติดตรงนี้มันไปไม่ได้ มันติดตรงนี้ทุกข์เหลือเกิน ทุกข์เหลือเกิน เวลาพิจารณาขึ้นมามันไม่ยอมพิจารณา มันจะทิ้งอารมณ์ทุกชนิดอย่างเดียว เหมือนกับตัดอารมณ์ทิ้งไปเลย

นี่มันอยู่ที่วาสนาของคน ถ้าคนที่เป็นขิปปาภิญญา เห็นไหม พอจิตสงบแล้วมันเกิดขึ้นทันที พิจารณาอาสนะเดียวเป็นพระอรหันต์เลย ขิปปาภิญญาปฏิบัติง่ายรู้ง่าย นั้นเขาก็สร้างของเขามาจนเหลือล้นจิตมันถึงเป็นแบบนั้น ไอ้ของเราสร้างมาลุ่มๆ ดอนๆ พอลุ่มๆ ดอนๆ มันก็มีอารมณ์ใฝ่ดี อารมณ์กิเลสขึ้นมามันก็กระชากใจไป ถ้ามันมีสติปัญญาอารมณ์มันก็ใฝ่ดี พอใฝ่ดีขึ้นมา เราปฏิบัติขึ้นมามันก็มีโอกาส

มันก็เป็นเพราะว่าเราสร้างอำนาจวาสนามาแบบนี้ ถ้าเราสร้างอำนาจวาสนามาแบบนี้ แต่ แต่ในปัจจุบันนี้มีสติ มีปัญญาของเรา เราถึงไม่ทิ้ง ไม่ทิ้งสิ่งที่เราสร้างมา แล้วจะเสริมต่อปฏิบัติของเราขึ้นไป ถ้ามันขาดสติเราเลิกดีกว่า เรากลับไปใช้ชีวิตปกติดีกว่า ใช้ชีวิตปกตินะ มนุษย์ถ้าไม่มีศีลธรรมไม่ต่างจากสัตว์ แล้วปัจจุบันนี้เรามีศีล มีธรรม เรามาปฏิบัติเราจะเป็นสัตว์ประเสริฐ แล้วเราจะทิ้งความเป็นสัตว์ประเสริฐของเราลงไปสู่สัญชาตญาณของสัตว์ คืออยู่กินกันไปแบบนั้นไง เราจะทำแบบนั้นหรือเราจะตั้งสติของเราขึ้นมา

ถ้าตั้งสติขึ้นมา หนึ่งเราจะไม่วิตกทุกข์ร้อนไปเลยบอกว่าเราไม่มีอำนาจวาสนา คนอื่นเขาทำได้ เราทำไม่ได้ อันนั้นมันเป็นบุญกุศลของเขา เราทำมาเท่านี้ เราก็ไปของเราเท่านี้ เรามีต้นทุนเท่านี้เราก็ไปของเราอย่างนี้ แต่ แต่มีสติปัญญาของเราไป ถ้ามีสติปัญญาของเราไปนะ นี่ทำความสงบของใจให้มากขึ้น ให้จิตเข้มแข็งขึ้น แล้วโน้มไป เห็นไหม คือรำพึงไป รำพึงให้เห็นกาย ให้เห็นเวทนา ให้เห็นจิต ให้เห็นธรรม รำพึงไปก่อน

ถ้ารำพึงเกิดขึ้นมา รำพึงมันเป็นสัญญาสิ มันเป็นสมมุติ มันเป็นการสร้างขึ้น จะสร้างหรือไม่สร้างเราจะฝึกฝนใจเรา ถ้ามันสร้างขึ้นมาจนมันพิจารณาของมันเป็น เดี๋ยวมันไม่ใช่เป็นของสร้าง มันจะเป็นของจริง แต่ถ้าไม่เริ่มต้น ไม่มีการรำพึง ไม่มีการโน้มใจไปสู่กาย สู่เวทนา สู่จิต สู่ธรรมวิปัสสนาไม่เกิดหรอก สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็เป็นสัญญา สิ่งที่เกิดขึ้นมามันก็เป็นจินตนาการ แต่ถ้าเรารำพึงไป เป็นจินตนาการแต่มันมีสัมมาสมาธิ มีการใฝ่ดี มีจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ มีทุกอย่างความชอบธรรม ความชอบธรรมเพราะจิตมันยังไม่มีปัญญา

จิตมันยังไม่มีกำลังพอ ความชอบธรรมของมันก็ต้องฝึกฝนตัวมันขึ้นมา พอตัวมันขึ้นมามันมีสติปัญญาขึ้นมาแล้ว มันพิจารณาของมันตามความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว นั่นมันถึงมรรคญาณ มรรคญาณจะเกิดขึ้นจากการชอบธรรม เราทำความชอบ งานชอบ เพียรชอบ แล้วมันระลึกชอบ สติปัญญาชอบมันจะก้าวเดินของมันไปเป็นความจริงของมัน นี่คือการฝึกฝนนะ มันจะได้ไม่ติดอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ติดอยู่ตรงนี้เราพัฒนาไปมันจะเป็นสมบัติของเราเนาะ เอวัง