ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจไม่อยู่กับตัว

๒๓ มี.ค. ๒๕๕๖

 

ใจไม่อยู่กับตัว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๘๖. มันไม่มีเนาะ

ถาม : ข้อ ๑๒๘๗. กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง วันนี้หนูขอความเมตตาจากหลวงพ่อได้โปรดให้ความกระจ่างแก่หนูเกี่ยวกับผลการภาวนาด้วยเจ้าค่ะ วันนี้จะกึ่งถาม กึ่งรายงานผลการปฏิบัติค่ะ หนูไปภาวนาที่วัดมาเร็วๆ นี้ การภาวนาไม่ค่อยดีเท่าไร คือนั่งได้น้อยเพราะร้อนมาก เพราะง่วงมาก เพราะนั่งแล้วปวดเมื่อย หนูเดินซะเยอะ บางคืนเดินชั่วโมงครึ่งแล้วนั่ง ๒๐ นาทีบ้าง ๔๐ นาทีบ้าง รู้สึกเหมือนเราไม่ได้อะไรเลยมา ๗ วัน แต่คิดดูแล้วมันได้บางสิ่งบางอย่าง เพียงแต่อยากจะถามหลวงพ่อเพื่อความแน่ใจเจ้าค่ะ มีเหตุการณ์ ๓ เหตุการณ์ หนูขอเล่าก่อน เดี๋ยวค่อยถามคำถามเจ้าค่ะ

๑. ในขณะเดินอยู่ในวัด หนูนึกถึงหมาที่บ้าน ตอนที่เราออกจากบ้านมามันตะกุยประตูพร้อมเห่าเรียกหนู พอนึกถึงภาพนี้หนูก็ไปนึกถึงเหตุการณ์เมื่อ ๙ ขวบตอนที่พ่อกับแม่หนูแยกทางกัน แล้วหนูก็กำลังขึ้นรถไปกับพ่อ หนูเห็นแม่หนูยืนร้องไห้อีกฟากถนน เหตุการณ์เหมือนกัน หนูจึงเกิดความรู้สึกเศร้า มันกำลังจะเกิดขึ้น หนูก็คิดว่านี่แม่ไม่อยู่แล้วนะ แม่เสียไป ๑๐ กว่าปีแล้ว มีเรานี่แหละอยู่ตรงนี้ปัจจุบัน แล้วเหมือนอารมณ์กับตัวจิตตัวรู้ มันแยกออกจากกัน มันเหมือนมันรู้ว่ามีความรู้สึกแต่มันแยกกัน แล้วเราก็คิดในใจว่ามันแยกจากกันได้นะ มันไม่ใช่อันเดียวกัน

๒. หนูได้ข่าวการเสียชีวิตของรุ่นพี่ท่านหนึ่ง พอหนูได้ยิน ในอกมันก็เหมือนเกิดดวงสีขาวขึ้น เป็นความสะเทือนใจ ปกติมันจะโตขึ้นแล้วขยายออก แล้วน้ำตามันต้องไหล แต่วันนั้นพอเป็นดวงหนูก็รู้ตัวนึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ ๒-๓ คำ จุดนั้นมันก็หยุดโต แต่ไม่หายทันที แต่ความรับรู้หนูเปลี่ยนไปสิ่งที่เสียงกำลังได้ยิน แต่หนูรู้ว่าดวงสีขาวยังมีอยู่สัก ๒-๓ วินาทีมันก็หายไป

๓. หลังจากกลับมาทำงานตามปกติ วันหนึ่งหนูได้อ่านชีวประวัติ ๒ พี่น้องคู่หนึ่ง รู้สึกซาบซึ้งมาก อ่านไปแล้วน้ำตาไหลไป วันศุกร์ พอวันเสาร์หนูก็ทำความสะอาดบ้านอยู่ หนูก็คิดถึงเรื่องการภาวนา แล้วหนูก็นึกถึงเรื่องที่หนูร้องไห้เมื่อวาน หนูก็คิดว่าอารมณ์ที่เราร้องไห้มันเป็นอารมณ์อะไรกันแน่ เศร้าหรือ? ไม่ใช่ ซึ้งหรือ? เออ คงใช่ ซึ้งหรือ? แล้วมันก็นึกออกมาเอง หนูใช้คำว่านึกออกเพราะมันไม่เคยนึกออกเลย เรานี่หลงใหญ่แล้วนะ นี่มันโมหะชัดๆ อ๋อ หลงมันเป็นอย่างนี้เอง คือหนูจะชอบซึ้งนั่นซึ้งนี่ น้ำตาไหลตลอด แล้วไม่เคยรู้สึกว่าเป็นโทษด้วย รู้สึกว่าธรรมดา

ขออนุญาตตั้งคำถามค่ะ ในข้อที่ ๑ หนูรู้สึกว่ามันแยกกัน แต่มันอธิบายไม่ถูกว่ามันแยกอย่างไร? แต่พอเหตุการณ์ที่ ๒ พอมันนึกพุทโธมันเหมือนย้ายจิตไปเกาะ เลยทำให้ไม่แน่ใจค่ะว่ามันถูกหรือเปล่า มันเป็นไปตามลำดับแล้วหรือว่าหนูเข้าใจผิดกันแน่ ตอนนี้หนูรู้สึกว่าจิตกับอารมณ์มันแยกออกจากกันได้ จิตมันโปร่งสบายมาก มันรู้สึกว่าเราทำได้ ชีวิตเราจะสงบสุขขึ้นได้เยอะเลย พอถึงเหตุการณ์ที่ ๓ มันเลยทำให้นึกออกหรือเปล่าคะ สุดท้ายกราบขอบพระคุณ

ตอบ : นี้คำถามข้อที่ ๑ พูดถึงเล่าเหตุการณ์ คำถามว่าวันนี้เป็นกึ่งถาม กึ่งรายงาน คือรายงานข้อแรก เห็นไหม เอาเริ่มต้นก่อน เริ่มต้นว่าหนูมาอยู่วัด ๗ วันไม่เห็นได้อะไรเลย ร้อนมาก ร้อนมาก นี่มาอยู่วัด เดินจงกรมซะมากชั่วโมงครึ่ง เดินจงกรมซะมากชั่วโมงครึ่ง เขาเดินกันทั้งวันทั้งคืน เดินจงกรมซะมากชั่วโมงครึ่ง นั่งซะมาก ๒๐ นาที ๔๐ นาที แหม เดินซะมากเลยเนาะ นี้มันก็เป็นปกติของเขา คนถ้าทำมาน้อย พอเวลาเดินแค่นี้ก็ว่ามาก แต่เวลานักปฏิบัตินะเขาเดินกัน ๗ วัน ๗ คืนนะ เดินกันจนเต็มที่ เวลาปฏิบัติมันจะได้ผลการทำต่อเนื่อง

เดินซะมากชั่วโมงครึ่ง นั่งซะมาก ๒๐ นาที ๔๐ นาที แต่ แต่ถ้าเราทำของเราอย่างนี้ เราเคยทำมาน้อย แต่เราทำต่อเนื่องไปทั้งวันมันก็ได้ นี้มา ๗ วันไม่เห็นได้อะไรเลย ไม่ได้หรอก เพราะว่าตัณหาซ้อนตัณหา ใครมาถึงวัดนี้แล้ว เวลากลับจะเอารถสิบล้อบรรทุกทองคำเป็นแท่งๆ กลับไปไม่มี วัดนี้ไม่มีทองคำ ไม่มีเพชรนิลจินดาจะให้ใครบรรทุกกลับบ้าน วัดนี้มีแต่คนมาเสียสละอารมณ์ เสียสละความเศร้าหมอง เสียสละความติดในใจทิ้งไว้ที่วัดนี้ การเสียสละ สิ่งที่หมักหมมในใจ เราพยายามขนออกจากใจ นั้นคือสิ่งที่ได้ไป สิ่งที่ได้ไปคือได้ความรู้ ได้จิตใจที่ผ่องแผ้ว ได้สิ่งที่เราพยายามฝึกหัดของเรา เราจะได้สิ่งนี้ แต่เราคิดว่าได้ๆๆ ได้นั้นคือได้ทางโลก

ฉะนั้น บอกว่าได้คือไม่ได้สิ่งใดเลย เพราะตัณหาซ้อนตัณหา พอเราตั้งใจว่าเราไปวัด ๗ วันคราวนี้เราจะเป็นพระอรหันต์กลับมา มันจะไม่ได้อะไรเลย เพราะความตั้งใจว่าอยากจะเป็นพระอรหันต์มันจะไม่ได้อะไรเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้

“อานนท์ เราตายไป ๓ เดือน เรานิพพานไป ๓ เดือน เขาจะมีการทำสังคายนา เธอจะได้เป็นพระอรหันต์ในวันนั้น”

นี่พระอานนท์ก็อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันนั้นพอทำพิธีการเสร็จ พระกัสสปะนิมนต์พระ ๔๙๙ องค์เพื่อทำสังคายนา เว้นพระอานนท์ไว้ ฉะนั้น การทำสังคายนาต้องเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์พระอานนท์ไว้ว่าวันสังคายนาเธอจะได้เป็นพระอรหันต์ แล้วเขาก็เว้นที่ไว้ที่หนึ่งว่าให้พระอานนท์เป็นพระอรหันต์ พระอานนท์เป็นพระโสดาบันก็นับว่าวันนี้เราจะเป็นพระอรหันต์ คิดแต่วันนี้เราจะเป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าวันนี้เราเป็นพระอรหันต์ จิตมันส่งออกไปที่ผล ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ เราจะเป็นพระอรหันต์วันนี้ เราจะเป็นพระอรหันต์วันนี้ นั่งทั้งคืนเลย นั่งทั้งคืนเลยไม่ได้เป็นอะไรเลย

โอ้โฮ พระพุทธเจ้าบอกเราเป็นพระอรหันต์วันนี้ แล้วพระกัสสปะก็เว้นที่ไว้ที่หนึ่งรอวันนี้ แล้วนี่มันก็จะสว่างอยู่แล้ว มันยังไม่เป็นพระอรหันต์สักที ไม่เห็นพระอรหันต์สักที นี่อยากได้อะไรก็ไม่ได้อะไรเลย นี้พระพุทธเจ้าพยากรณ์เองนะ ตัณหาความทะยานอยากนี้มันก็หมายไป เฮ้อ เหนื่อยเหลือเกิน กว่าจะเป็นพระอรหันต์ลำบากขนาดนี้เชียวหรือ? ไม่เอาแล้วพระอรหันต์ ทิ้งเลย ขอนอนพักสักหน่อย ไม่เอาแล้วพระอรหันต์ก็ไม่เอา อะไรก็ไม่เอาแล้ว ขอให้เป็นปัจจุบัน ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น พอปล่อยวางหมด เอนตัวกำลังจะนอน ขอพักก่อนเพราะมันทำมาเต็มที่แล้วมันเหนื่อยมาก

พอทิ้งหมดเลยแล้วจะเอนตัวลงนอน เห็นไหม พอทิ้งหมดเลยมันเป็นปัจจุบัน เพราะทิ้งสิ่งที่จิตส่งออกไปหมาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเธอจะเป็นพระอรหันต์วันที่เขาทำสังคายนา ก็หมายคำนั้นไว้ หมายสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกเป้าหมายนั้นไว้ ไปหมายไว้สิ่งต่างๆ หมดเลย เวลาทิ้งเข้าไปมันก็หดสั้นเข้ามา จิตมันก็ปล่อยสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นเข้ามาเป็นตัวมันเอง ในตัวมันเองมันก็เกิดวิปัสสนาในตัวมันเอง เป็นพระอรหันต์เดี๋ยวนั้นเลย นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าเป็นพระอรหันต์มันจะเป็นจริงๆ แต่ใจมันก็ไปคิดเอง หวังเอง

นี่ก็เหมือนกัน ไปวัด ๗ วันต้องเป็นพระอรหันต์กลับมา มันไม่ได้เป็นพระอรหันต์แน่นอน ไม่ได้เป็นหรอก นี่ไปวัด ๗ วันไม่ได้อะไรเลย ก็ไม่ได้น่ะสิ ก็ไปตั้งเป้าหมายไว้อย่างนั้น ตัณหามันซ้อนตัณหามาหลอกไว้ไง นี่พอไปวัด ๗ วันแล้วไม่ได้อะไรเลย คราวหน้าไป ๑๔ วันก็ไม่ได้อะไรเลย คราวต่อไปไปเดือนหนึ่งก็ไม่ได้อะไรเลย สุดท้ายก็เลิกไปดีกว่า กิเลสมันฉลาดมากมันหลอกทีละชั้นๆ หลอกแล้วไม่ให้เห็นผลด้วย ๗ วันก็ไม่ได้ ๑๔ วันก็ไม่ได้ เดือนหนึ่งก็ไม่ได้ เออ มรรคผลคงไม่มีแล้วล่ะ ตัณหาซ้อนตัณหา

ถ้าไปวัด ๗ วันแล้วไม่ได้อะไรเลยนี่ไม่ได้ ไม่ได้เพราะตั้งเป้าไว้ ส่งออกไปยึดไว้กับสัญญาอารมณ์ แต่ถ้าเราไปวัดไปวาคราวนี้เราไปฝึกหัด เหมือนกับเขาไปออกกำลังกาย เห็นไหม เช้าก็ไปออกกำลังกาย เย็นก็ไปออกกำลังกาย เช้าก็ไปออกกำลังกาย ร่างกายมันก็แข็งแรงขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ตัว ไปวัดหรือภาวนาที่ไหนก็แล้วแต่ เราภาวนาของเราจิตใจมันจะเข้มแข็งขึ้นมา มันจะเห็นถูกเห็นผิดใช่ไหม? คราวนี้ผิด ผิดเพราะอะไร? คราวนี้ถูก ถูกเพราะอะไร? นี่มันพัฒนาของมันขึ้นมา มันได้ตรงนั้น

เขาไปวัดกันเขาไปตรงนั้นไปวัดใจ วัดคือข้อวัตรปฏิบัติ วัดคือวัดใจของตัว แล้วถ้าวัดใจของตัวมันก็รู้เช้า สาย บ่าย เย็น รู้ถูก ไม่ถูก ควร ไม่ควร นั่นแหละ สิ่งนั้นสำคัญมาก นี่การปฏิบัติสำคัญ ประสบการณ์ของจิต ถ้าจิตได้ตรงนั้นมา นี่ได้ตรงนั้น ได้ตรงที่รู้ถูก รู้ผิด รู้ควร ไม่ควร การวางอารมณ์ นี่ถ้าได้ตรงนั้นมา ไปอยู่ที่ไหนมันก็ทำได้ แต่ถ้าบอกว่าไปแล้วจะได้อะไรมามันหวังเลยนะ ถ้าไปปฏิบัติตามที่ต่างๆ มันจะได้กระดาษใบหนึ่งกลับบ้าน จัดอบรมเสร็จแล้วก็ให้กระดาษคนละใบ นี่ปฏิบัติเกือบตายเลยนะได้กระดาษมาคนละใบ ใบประกาศว่าได้อบรมจบแล้วไง จะได้กระดาษมาคนละใบ นั้นพูดถึงว่าได้อะไรหรือไม่ได้อะไรนะ

นี่ที่ว่า

ถาม : เวลาไปอยู่วัด ขณะที่ไปอยู่วัดหนูคิดถึงหมาที่บ้าน เพราะออกจากบ้านไปมันตะกุยประตู

ตอบ : นี่สิ่งนี้มันส่งออกไปที่บ้าน ถ้าใจนะ ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวปฏิบัติไม่ได้อะไรหรอก ถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัวนะมันจะปล่อยวางหมดไง อย่างเช่นออกจากบ้านมา เห็นสิ่งใดวางไว้ เพราะนั้นเป็นอดีตไปแล้ว แต่ถ้าในปัจจุบันเราจะได้ผลประโยชน์กับเรา แต่ถ้าเวลาเรามาภาวนา สิ่งที่ว่าเอาใจมาอยู่กับเรา ถ้ามาวัด เห็นไหม ใครมาจะถามประจำ

“หลวงพ่อ วัดนี้ขาดอะไร?”

วัดนี้ขาดหัวใจคนที่มาปฏิบัติ เพราะเวลามามันมาแต่ตัว ถ้าพูดถึงคนตายมันมีแต่ซากศพ นี้มันก็ไม่ใช่คนตายเพราะมันมาต้องมีชีวิตด้วย พอมามีชีวิตแล้วมันก็ไม่เอาใจมันมานะ เอาใจไว้บ้านไง คิดถึงบ้าน คิดถึงทุกอย่างเลย เอาตัวมาไว้วัดนะแต่ไม่เอาใจมาด้วย ถ้าไม่เอาใจมาด้วยมันก็คนตาย คนตายก็ศพเดินได้ อ้าว ศพมันก็ยังเดินได้นะ ศพก็ยังมีชีวิต เออ จะว่าคนตายมันก็ไม่ใช่ จะว่าคนปฏิบัติหรือมันก็ไม่เอาใจมา ใจไม่อยู่กับตัว ถ้าใจอยู่กับตัวนะมันจะเข้าเหตุการณ์เลยล่ะ เหตุการณ์ที่ว่าข้อที่ ๑.

ถาม : ๑. ขณะที่หนูคิดถึง พอคิดเรื่องหมา หมาที่มันตะกุยประตูบ้านคิดถึงเรา

ตอบ : นี่เหตุการณ์ปัจจุบันมันจะคิดถึงเลย คิดถึงว่าเหมือนกับเราตอนที่ ๙ ขวบ พอถึงตอน ๙ ขวบมันเป็นปัจจุบัน พอถึงตอน ๙ ขวบมันเสียใจ มันเศร้าใจ เพราะว่ามันเป็นผลกระทบที่รุนแรง ในเมื่อเราต้องไปกับพ่อ ทิ้งมัน เห็นไหม ภาพนั้นมันฝังใจ ภาพที่มันฝังใจมันฝังใจมาก ฉะนั้น พอฝังใจมาก จิตมันเป็นปัจจุบันมันคิดถึงความฝังใจมาก มันถึงบอกว่ามันเหมือนกับปล่อย นี่เหมือนแยกจากกัน อารมณ์ความจริงมันไม่ใช่เรา มันแยกจากเราได้มันจริงๆ อยู่แล้ว

ขันธ์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ สัญญาอารมณ์ไม่ใช่เรา ความจำนี้ไม่ใช่เรา นี่สิ่งรับรู้นี้ไม่ใช่เรา แต่ทำไมมันจำแล้วมันยังจำได้แม่นล่ะ? ยิ่งสิ่งใดที่มันฝังใจทำไมมันจำแล้วไม่ลืมเลย มันจำไม่ลืมเพราะตัณหาไง เพราะกิเลสมันชอบไง เพราะสิ่งนี้มันมีรสชาติ รสชาติสิ่งใดก็แล้วแต่ที่มันฝังใจ รสชาตินั้นมันจะมาบาดใจอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าสติปัญญามันทัน เห็นไหม นี่เพราะอะไร? เพราะมาวัด ๗ วันไง มาภาวนาอยู่ พอจิตมันคิดอย่างนั้นขึ้น ปัญญาที่มันโต้ตอบ มันโต้ตอบนี่ปัญญามันเกิดขึ้น เวลามันเกิดขึ้นมันก็วางได้

สิ่งที่มันแยกนี่จริงไหม? จริง แต่หนูไม่รู้ว่ามันแยกอย่างไร หนูบอกไม่ถูกหรอกว่ามันแยกอย่างไร ถ้าบอกถูกมันก็เป็นสัญญาไง บอกถูกมันก็เป็นความจำน่ะสิ แต่ถ้าบอกไม่ถูกมันก็เป็นความจริงสิ ถ้าเป็นความจริงอย่างนี้ มันแยกอย่างนี้แสดงว่าหนูภาวนาเก่งน่ะสิ เออ หนูภาวนาแล้วแยกได้ แล้วหนูภาวนาถูกใช่ไหม? ขณะที่ปัจจุบันนะ เวลาเราตากแดดเราก็ร้อนเอง เราเข้าที่ร่มเราก็เย็นเอง จิตใจของเรา เราปฏิบัตินะเราก็รู้เอง สิ่งที่รู้เอง เรารู้เองแต่เราไม่เข้าใจหรอก เราไม่เข้าใจเพราะอะไร? เพราะว่าเรายังทำไม่ถึงที่สุด เรายังคลำอยู่ แต่ถ้าถึงที่สุดแล้ว นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์จะรู้ว่าการเริ่มต้นควรทำอย่างใด

นี่ปากเปียกปากแฉะอยู่เพราะเหตุนี้ไง ปากเปียกปากแฉะ คนมาทำให้หนวกหูนะ เวลาคนมาส่งเสียงดัง เวลาคนมาปฏิบัติเขาต้องการความสงัด ที่ปากเปียกปากแฉะอยู่ก็เพราะเหตุนี้ไง เหตุที่พื้นฐานของคนที่ปฏิบัติ คนที่ไม่เคยปฏิบัตินะ เสียงดังก็ไม่เป็นไรหรอก เขาไม่รู้ ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้าคนที่ปฏิบัตินะชวนะเขาดี คนที่ปฏิบัติ เริ่มต้นปฏิบัติไปเรื่อยจิตมันจะเริ่มสงบมากขึ้น เสียงสิ่งใดมามันกระทบหมดแหละ เหมือนกับผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้ว ผ้าเช็ดเท้าเขาเอาไว้เช็ดเท้า เช็ดเท้าขนาดไหนก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ผ้าขาวเสื้อเราสะอาดเอาไปวางไว้สิ แม้แต่ฝุ่นลงยังเห็นเลย

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตเรามันเป็นผ้าขี้ริ้วมันก็สกปรก ไม่เป็นไรหรอก ใครเช็ดเท้าก็ไม่เป็นไร แต่พอผ้าที่มันสะอาดมันไม่ใช่ผ้าขี้ริ้ว มันไม่ใช่เช็ดเท้า เขาเอาไว้ใช้ปูโต๊ะ เขาเอาไว้ใช้ทำอย่างอื่น นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่มันสูงขึ้นมา พออะไรกระทบมันจะออก ทีนี้มันจะออก คนที่จิตใจพัฒนาขึ้นไปแล้วเขาก็อึดอัด

ฉะนั้น ผู้ที่เป็นหัวหน้ามันต้องรักษาตรงนี้ไว้ ผู้ที่เป็นหัวหน้า คนที่เป็นหัวหน้าเป็นผู้รับผิดชอบ หลวงตาท่านพูดบ่อย ผู้นำที่หายากๆ ผู้นำที่รับผิดชอบในสำนักปฏิบัตินั้นหายาก ผู้นำที่รับผิดชอบในสำนักปฏิบัตินั้นหายาก หายากเพราะอะไร? เพราะเขาต้องป้องกันไม่ให้เสียง ไม่ให้กลิ่น ไม่ให้ต่างๆ มากระทบกับผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติเขามาอาศัย อาศัยสถานที่ปฏิบัติ เขาต้องการความสงบระงับ เขาต้องการสถานที่ที่ทำความสงบใจของเขา แล้วปล่อยให้ใครก็ไม่รู้มาส่งเสียงดัง ปล่อยให้ใครก็ไม่รู้มากระทบกระเทือนกับผู้ที่ปฏิบัติ

นี่ผู้นำที่ดีเขาต้องรู้จักกาลเทศะ เวลาควรที่มาพร้อมกันทำข้อวัตรก็เป็นเวลาพร้อมกัน เวลาแยกกันปฏิบัติก็ต้องแยกกันไป ต่างคนต่างสงบท่าที ต่างคนต่างเก็บกิริยาไว้อย่าให้กระเทือนกัน นี่ผู้นำที่ดีต้องเป็นแบบนั้น ถ้าผู้นำที่ดีเป็นแบบนั้น ที่ว่าปากเปียกปากแฉะๆ เพราะป้องกันไง ป้องกันให้คนปฏิบัติเขาได้มีโอกาสปฏิบัติ แล้วถ้าโอกาสปฏิบัติไปแล้ว ถ้าเราทำของเราไป เห็นไหม เวลาความเป็นจริงขึ้นมามันเป็นปัจจัตตัง แสดงว่าเวลาหนูมีปัญญาขึ้นมา

นี่พอมีอาการทันปั๊บมันปล่อยเอง อารมณ์กับตัวรู้มันแยกออกจากกันเลย ผู้รู้กับจิตแยกออกจากกันโดยสัจจะ สายไฟกับไฟฟ้ามันเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า? ไฟฟ้าที่เดินไปบนสายไฟนั้นมันเป็นอันเดียวกันไหม? มันไม่ใช่แน่นอน เพราะเวลาไฟดับมันมีแต่สายไฟ ไฟไม่มี แต่เวลาเราใช้ไฟ ไฟมันมากับสายไฟนั้น นี่เพราะมันมีสายไฟนั้นมันถึงเป็นสื่อนำไฟฟ้านั้นมาให้เราใช้ได้ ถ้าไม่มีสายไฟนั้น ไฟฟ้าจะมาอย่างใด เราไม่มีร่างกายเราจะเห็นคนไหม? นี่เราเห็นคนที่ร่างกาย ร่างกายนี่สายไฟฟ้า ใจของเราเป็นไฟฟ้า มันให้คนนี้มีชีวิต

ฉะนั้น ความรู้สึกนึกคิด ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ความรู้สึกนึกคิดตัวจิต ตัวขันธ์ ๕ กับตัวรู้ ตัวรู้นี่พลังงานกับความคิดมันก็คนละอันอีกแล้ว พลังงานนี่พลังงานธาตุรู้ ความคิดนี่ขันธ์ ๕ เห็นไหม ขันธ์ ๕ ที่มันรู้สึกนึกคิด แต่เราไม่เคยปฏิบัติ เราไม่เคยรู้ เราไม่ใช่ช่างไฟนะเราก็ว่าไฟนี่เราเข้าใจไปหมดเลย แต่ถ้าเราไม่ใช่ช่างไฟ เราไปจับไฟฟ้าแรงสูงตายหมดเลย แต่ถ้าช่างไฟนะมันจับได้หมดเลย ไฟต่ำ ไฟสูงเขาจัดการได้หมดเลย เพราะเขาเป็นช่างไฟ เขารู้ของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมา ท่านรู้ของท่าน ท่านเห็นของท่าน ท่านเข้าใจของท่านหมด แต่ของเราเป็นคนใช้ไฟ คนใช้ไฟ ปกติเราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าใจไปหมดแหละ เวลาช่างไฟพูดให้ฟังเข้าใจหมดแหละ แต่เวลาทำทำไม่ถูก แต่เวลาทำถูกขึ้นมาก็งง แสดงว่าตัวรู้กับจิตมันแยกกันจริงไหม? ถ้าสติปัญญามันทันนะ นี่เวลาปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นแบบนี้ ถ้าเราใช้ความคิดใช่ไหม แล้วสติมันตามความคิดไป พอมันทันปั๊บมันหยุดหมด

มันหยุดนะมันหยุด ถ้ามันหยุดแล้ว จิตเห็นอาการของจิต พอหยุดแล้วก็จับได้ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันเห็นของมัน มันรู้ของมัน แล้วมันวางของมัน วางอย่างนี้จิตที่แยกถูกไหม? เพราะคำถามข้อที่ ๑ ว่า

ถาม : หนูรู้สึกว่ามันแยกจากกัน แต่มันอธิบายไม่ถูก มันแยกอย่างไร?

ตอบ : มันแยกอย่างไร เห็นไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิมันปล่อยเฉยๆ แล้วถ้าจิตสงบบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันตั้งมั่น พอตั้งมั่นแล้ว ถ้ามันจับได้มันจะเป็นช่างไฟแล้ว แล้วช่างไฟ ช่างไฟฝึกหัดใหม่มันก็ทำอะไรยังเก้ๆ กังๆ อยู่ แต่ถ้าช่างไฟชำนาญแล้วนะมันจับอะไร จับต้องสิ่งใดถูกไปหมดเลย จิตถ้ามันพิจารณาฝึกฝนมาบ่อยครั้งเข้า พอจิตมันสงบแล้วมันจับขันธ์ได้ แล้วพิจารณาของมันได้ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

เวลาเราทุกข์ เราเจ็บช้ำน้ำใจ เราอยากจะละอยากจะวาง มันวางไม่ได้ วางไม่ได้หรอก แต่คนที่ปฏิบัติไปแล้ว จับความรู้สึกนึกคิดมาพิจารณา มาแยกมาแยะ ความคิดมันเป็นอย่างไร? ความคิดมันมาจากไหน? ความคิดมันมีประโยชน์อย่างไร? มันแยกแยะจนสมุทัย จนความหลงผิดมันปล่อยวางได้ พอมันปล่อยวางได้ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ เราก็ไม่ใช่ทุกข์ เห็นไหม ขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่ทุกข์ เราก็ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไปไหนล่ะ? ทุกข์ดับ แต่เวลาเราทุกข์ขึ้นมาเราจะละทิ้งมันนะ ทุกข์ไม่เอา ทุกข์ไม่เอา

ไม่เอาก็ไม่เอาไปเถอะ ไม่เอาแต่ปากมันทุกข์อยู่นั่นล่ะ แต่มันใช้ปัญญาแยกแยะรู้เท่ารู้ทันหมดแล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา สุข ทุกข์ไม่ใช่เรา สุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ ถ้าทุกข์ไม่ใช่เรามันจะมีทุกข์ไหม? มันจะมีทุกข์ไหม? ถ้ามันไม่มีทุกข์มันก็ปล่อยได้ไง นี่ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริงมันก็เป็นอย่างนั้นไง

ฉะนั้น เราจะถามว่าสิ่งนี้คือมันแยกออกจากกันใช่ไหม? มันปล่อยวาง ปล่อยวางถูกต้อง พอปล่อยวาง นี่เพราะบอกไม่ถูก คำว่าบอกไม่ถูกเราแยกแยะหนูบอกไม่ถูกเลย บอกไม่ถูกเพราะเราไม่รู้แจ้ง แต่ผลของมันเราปล่อยจริงไหม? จริง นี่เป็นการยืนยันกันว่าธรรมะมีจริงไง เป็นการยืนยันว่าทฤษฎีที่เราศึกษามามันเป็นทฤษฎี แต่เราทำขึ้นมา พอเราเป็นจริงขึ้นมาเราก็ยังงง นี่มันเป็นความจริง ปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเราปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติมันต้องมีสิ มันต้องมีสติ มันต้องมีสมาธิ มันต้องมีธาตุรู้ มันต้องมีความรู้สึก แล้วธาตุรู้เรานี่มันพิจารณาของมัน มันแยกแยะของมัน มันปล่อยวางของมัน

นี่ปล่อยวางอย่างนี้ ถ้าให้พูดถึงถ้าจะให้บัญญัติ คำว่าบัญญัติ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันเกิดขึ้น เรานึกถึงหมาใช่ไหม? เราคิดถึงตัวเองตอน ๙ ขวบ พอคิดนี่ปัญญามันเกิดขึ้น พอเกิดขึ้นมันสลดมันก็ปล่อย ปล่อยมันก็รู้นี่มันปล่อย นี่ไงถ้าพิจารณาไป ถ้าสังโยชน์นะ ถ้าเป็นธรรม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ แต่นี่มันปล่อย มันปล่อยแล้วถ้าเขาละ เวลาขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

เวลามันขาด มันขาดมันอธิบายได้ พระโสดาบันอธิบายได้ชัดเจนหมด แล้วรู้เท่าหมดเลย เพราะมันมียถา ภูตัง ญาณทัศนะมันรู้แจ้ง แต่นี้มันไม่รู้แจ้งเพราะอะไร? เพราะว่ามันพิจารณาไป พิจารณาแล้วมันปล่อย เห็นไหม มันปล่อย มันปล่อยขันธ์นั่นแหละ มันปล่อยขันธ์มันก็กลับมาสงบไง นี่ไงสมาธิ สมาธิทะลุขันธ์เข้าไป ขันธ์คือสัญญาอารมณ์ มันทะลุสัญญาอารมณ์เข้าไปมันก็เป็นจิต นี่จิตมันก็ปล่อย แต่ปล่อยแล้วหนูพูดอะไรไม่ถูกเลย เพราะพูดอะไรไม่ถูกมันก็เลยแค่เป็นปัญญาอบรมสมาธิไง แต่ถ้ามันจับขันธ์ ๕ ได้จริงมันยังไปได้อีกเยอะมากเลย

นี้การภาวนานะ ถ้าการภาวนาอย่างนี้มันถึงเป็นตามความเป็นจริง นี่ข้อที่ ๑ ไง เขาบอกว่าหนูรู้สึกว่ามันแยกกัน แต่มันอธิบายไม่ถูกว่ามันแยกอย่างไร ถ้ามันแยกอย่างไรมันก็เป็นแยกอย่างไร ทีนี้ข้อที่ ๒

ถาม : ๒.ก็เข้าใจว่าเพราะมันนึกพุทโธ มันเหมือนย้ายจิตไปเกาะ เลยทำให้ไม่แน่ใจว่ามันถูกหรือเปล่า มันเป็นไปตามลำดับหรือหนูเข้าใจผิดไปเอง ตอนนี้รู้สึกว่าจิตกับอารมณ์มันแยกออกจากกันได้ แต่จิตมันโล่งมาก มันรู้สึกทำให้ชีวิตเราสงบเยอะมากขึ้น

ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่ข้อที่ ๒ เวลาความเห็นความเห็นหนึ่ง คือประสบการณ์ประสบการณ์หนึ่ง การทำนา หลวงปู่มั่นสอนว่าทำนาให้ทำนาที่ไหน คนทำนาเขาทำบนผืนนานั่นแหละ นักปฏิบัติให้ทำซ้ำทำซาก ทำซ้ำทำซาก พิจารณาที่จิต กาย เวทนา จิต ธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่วงจรแรกคือวงจรคิดเรื่องหมาตะกุยประตูบ้าน วงจรที่สองคิดถึงรุ่นพี่ที่เสียไป

นี่พอคิดถึงรุ่นพี่ที่เสียไป คิดถึงปั๊บมันเกิดเป็นดวงขาวๆ ขึ้นมา ไอ้ดวงขาวๆ ดวงต่างๆ มันเป็นที่จริตของคน ทีนี้ความคิด พอมันคิดมันก็เกิดอารมณ์ พอเกิดอารมณ์เราก็กำหนดพุทโธ พุทโธ มันย้ายไง มันเปลี่ยนจากคิดถึงรุ่นพี่มาอยู่ที่พุทโธ นี้จิตมันมีกำลัง มีกำลังมันก็ปล่อยได้ ทุกอย่างดับหมด ทุกอย่างปล่อยวางได้หมด

ฉะนั้น ข้อที่ ๑ เขาบอกว่า

ถาม : จิตมันแยกออกจากกันได้ แล้วมันไม่แน่ใจก็เลยทำเหมือนข้อที่ ๒ อีก

ตอบ : นี่ทำซ้ำ เห็นไหม ทำซ้ำ การทำงาน นักวิจัยเขาต้องทำวิจัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า พัฒนาการของมัน นี่ก็เหมือนกัน พอครั้งที่ ๒ กำหนดพุทโธ พุทโธแล้วมันย้ายจิต ย้ายจากความรู้สึกนึกคิดไปเกาะพุทโธ แล้วมันก็รู้สึกว่าปล่อยวางอารมณ์ได้ มันก็เป็นการทำซ้ำ นี่หลวงปู่มั่นสอนว่าทำซ้ำๆ เวลาพูดถึงการปฏิบัติให้ทำซ้ำๆๆ ซ้ำเข้าไปมันจะชำนาญขึ้นไป เหมือนคนทำงานศิลปะ เขาทำของเขาบ่อยครั้งเข้าเขาจะชำนาญของเขามาก ผู้ที่เป็นศิลปินแห่งชาติเขาจะทำงานของเขา เขาถนัดของเขามาก

อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำของเราซ้ำไปๆ ทีนี้ทำซ้ำแต่ละทีมันเป็นปัจจุบันตลอด แล้วจะเกิดอย่างนี้บ่อยๆ ขึ้น จะทำมากขึ้นๆ เราจะชำนาญมากขึ้น ชำนาญมากขึ้น เห็นไหม พอชำนาญมากขึ้นมันก็จะเป็นชำนาญในวสี ชำนาญในการควบคุมดูจิต ถ้าจิตมันดีขึ้น ทำงานสะดวกขึ้น พัฒนาจิตต้องรักษาดูแล ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ บ่อยครั้งเข้าๆ มันจะชำนาญขึ้น แล้วเดี๋ยวพอจิตมันสงบแล้ว จิตเห็นอาการของจิต มันจับขันธ์ ๕ ได้อะไรได้นะมันจะชัดเจนกว่านี้

ข้อ ๓. ฉะนั้น เวลาสิ่งที่ว่าเขาซึ้งของเขา สิ่งที่เขาทำ พอครั้งที่ ๓ มันเลยออกมาเป็นการนึกออกมา สิ่งที่นึกออกมานะ เขาว่านึกออกมาถึงอารมณ์ปกติ ถ้าสติมันดี สติมันดีนะ เวลาเดินจงกรม คนเดินจงกรมก็เป็นสมาธิได้ คนนั่งสมาธิ หลับตาก็เป็นสมาธิได้ ฉะนั้น ถ้าสติมันดีขึ้นมามันตามมา ถ้าสติมันดีขึ้น มันตามมาเราก็ดูแลของเราไป

สติ เห็นไหม เดินจงกรมก็ลืมตาเดินจงกรม นี่ปกติ โดยปกติ คนชำนาญนะ ถ้าทำสมาธิชำนาญทำที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าเวลาคนไม่ชำนาญต้องไปอยู่ที่สงบๆ บางทีเวลาภาวนาแล้วเราต้องหาที่ของเราเอง อันนั้นมันเป็นผู้ที่ฝึกหัด แต่ถ้าคนที่ชำนาญก็ทำได้ แต่มันประมาทไม่ได้ จิตของคนเดี๋ยวมันก็ดีขึ้น จิตของคนเดี๋ยวมันก็ย่ำแย่ลง การว่าดีขึ้น ย่ำแย่ลงมันเป็นครั้งคราว นี้มันเป็นสิ่งที่มากระทบ รักษาใจเราให้ดีๆ ถ้าทำอย่างนี้ได้มันก็ปฏิบัติของเรา ถ้าปฏิบัตินะให้เป็นปัจจุบัน

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติเราทำแล้ว เราเห็นว่าสิ่งใดดี สิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรา เราเอาสิ่งนั้น นี่ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก ชำนาญในการรักษา แล้วเราจะพัฒนาจิตของเราขึ้นมา เพราะการปฏิบัติก็ปฏิบัติสอนจิตให้มันฉลาดขึ้นมา ถ้าจิตมันฉลาดขึ้นมาก็เป็นประโยชน์กับเรา อันนี้เป็นปัญหาของอารมณ์กับความรู้เนาะ

ต่อไปข้อ ๑๒๘๘.

ถาม : ๑๒๘๘. เรื่อง “ปฏิเสธที่จะโกรธ”

ในเรื่องของความโกรธ ผมควรปฏิบัติตนอย่างไรถึงจะถูก ระหว่างการไม่โกรธ ทำใจให้ปฏิเสธความโกรธ กับการปล่อยให้โกรธแล้วมีสติตามรู้ความโกรธนั้นหนึ่ง อย่างไรถึงจะถูกครับ

ตอบ : นี่เขาถามถึงว่าจะปฏิเสธความโกรธ แสดงว่าความโกรธให้โทษกับเรามาก คนเราโทสจริตนะ คนโมหะจริตมันก็จะหลงเขาได้ง่ายๆ คนโลภะจริตก็ยากไปหมดเลย ถ้าโทสจริต เห็นไหม โทสจริตสิ่งใดกระทบแล้วมันจะควบคุมใจเราได้ยาก อันนี้มันเป็นเวร เป็นกรรมของคน เป็นเวร เป็นกรรม

ศาสนาพุทธชอบเรื่องอดีตชาติ พูดเรื่องเวร เรื่องกรรมนี่ปฏิเสธ มันเหมือนลัทธิยอมจำนน ไม่พูดเรื่องวิทยาศาสตร์เลย พูดแต่เรื่องไสยศาสตร์ พูดแต่เรื่องยกให้เวรให้กรรม มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริง มันเป็นข้อเท็จจริง บางคนโกรธง่าย บางคนโกรธยาก บางคนไม่รู้สีรู้สา นี่มันเป็นเพราะว่าพันธุกรรมของจิตมันสร้างมาแตกต่างกัน ถ้ามันสร้างมาแตกต่างกัน อารมณ์ของคนมันแตกต่างกัน

ฉะนั้น โทสจริต นี่ถ้าพูดถึงว่ามันเป็นความโกรธ สิ่งใดกระทบมันจะโกรธง่าย พอโกรธง่าย ถ้าเรารู้อย่างนั้น เราเห็นว่าโกรธแล้วมันเป็นไฟกับเรา นี่ให้เรามีเมตตา เราพยายามนึกแต่สิ่งที่ดีๆ ไว้ นึกอย่างไรก็นึกไม่ออกหรอก เพราะธรรมดาคนมีจริตนิสัยอย่างไรมันก็คิดเข้าข้างตัวเอง เราดี เราถูก เราดีไปหมดแหละ มีแต่สังคมมันไม่ดี คนอื่นทำให้เราโกรธหมดเลย สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรดีสักอย่างเลย ฉันดีอยู่คนเดียว

นี่ถ้าคิดอย่างนี้มันก็จะโกรธอยู่ร่ำไปๆ เพราะเรารู้อยู่ว่าความโกรธมันไม่ดี ถ้าความโกรธไม่ดี จะสังคม จะบุคคล จะวัตถุสิ่งใดก็แล้วแต่มันไม่ใช่เรื่องอะไรของเราหรอก ถ้าเป็นถนนหนทางก็รัฐบาลเขาสร้างไว้ พอเราไปถนน ถนนนี้ไม่ดี มันตัดไม่ตรง จะทำสิ่งใดก็โทษเขาไปหมดเลย พอไปโทษเขาแล้วมันก็โกรธใช่ไหม เพราะมันไม่พอใจมันก็โกรธ มันขัดแย้งไปหมดเลย เพราะมันไปเห็นอะไรมันก็เอาฟืนเอาไฟมาเผาตัวเอง

ฉะนั้น ถ้าไม่เอาฟืนเอาไฟมาเผาตัวเอง ถ้าเรามีสามัญสำนึก เรานึกได้ เรารู้ได้ว่าความโกรธมันไม่ดี เราก็เริ่มควบคุมตั้งแต่ตรงนี้ไง นี่ถ้าเป็นวัตถุข้าวของ สังคมต่างๆ มันเป็นเรื่องของสังคม เราเกิดกับสังคมนี้ เราดูแลรักษาใจของเรา ถ้าเราดูแลรักษาใจของเราเขาเรียกว่าแผ่เมตตา การที่จะว่าคนโกรธพยายามแผ่เมตตาไว้ แล้วฝึกหัดสติปัญญา ถ้าสติปัญญามันเกิดขึ้นนะ พอมันเข้าใจแล้วมันจะสำนึกเอง แล้วจะเห็นโทษ

ถ้าเห็นโทษ เห็นโทษเพราะอะไร? เห็นโทษเพราะมีสติ ถ้ามีสติมันจะเห็นโทษของตัวเองนะ เห็นไหม บอกว่าจริงๆ แล้วมันก็ไม่มีใครเลยทำร้ายเรา ใจของเราทำร้ายใจเราเอง เวลาความโกรธ นี่ความโกรธมันเหมือนกับธาตุ ธาตุนี้มันเกิดที่ไหนล่ะ? เห็นไหม ธาตุรู้ สามัญสำนึกทุกอย่างมันเกิดที่ไหน? มันเกิดที่จิต เห็นไหม เวลาวัตถุธาตุมันอยู่บนโลกนี้ นี่ความรู้สึกนึกคิดมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่ใจ

ฉะนั้น ความโกรธมันเกิดที่ไหนล่ะ? มันเกิดที่จิต เวลามันเกิดที่จิตแล้ว เวลามันให้ผลให้ผลกับใคร? ก็ให้ผลกับจิตเรา ก็ความโกรธนั่นแหละมันเกิดจากจิตของเรา แล้วมันก็เผาลนจิตของเรา แล้วเราจะไปโทษใครล่ะ? เขาบอกว่าก็

ถาม : นี่ถามหลวงพ่อมาไงว่าจะรักษาความโกรธอย่างไรนี่ไง ก็ถามหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ตอบสิ

ตอบ : ก็เพราะถามหลวงพ่อนี่มาไง หลวงพ่อถึงจะพูดให้เห็นว่าความโกรธมันเกิดจากจิต ความโกรธมันไม่ได้เกิดจากสังคม เกิดจากวัตถุ เกิดจากอะไรหรอก เพราะคนถ้าไม่มีชีวิต สังคมก็อยู่อย่างนั้นแหละ คนก็อยู่อย่างนั้นแหละ แล้วมันไม่มีชีวิต แต่เพราะมันมีชีวิต มันมีจิต พอมันกระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กายมันไปกว้านเอามา ถ้ามันไปกว้านเอามามันก็มาเผาใจเรา ถ้ามันเผาใจเรา ถ้ามันรู้ว่ามันผาใจเรา มันให้โทษกับเรา เราก็ต้องรักษาที่นี่ ถ้ารักษาที่นี่เราก็แผ่เมตตา

พอแผ่เมตตา เราจะบอกว่าหนามยอกเอาหนามบ่ง โกรธเกิดที่ไหนต้องดับที่นั่น ฉะนั้น เราบอกว่าปฏิเสธความโกรธ เราจะปฏิเสธความโกรธ เราไม่ต้องให้ความโกรธเกิดขึ้นมา แล้วเราก็ไปโทษสิ่งอื่น ไปหาผู้รับผิด ไปเบี่ยงเบนประเด็น แล้วมันจะแก้กันอย่างไรล่ะ? ถ้ามันจะแก้มันก็ต้องแก้กลับมาที่จิตของเรา ถ้ามันแก้จิตของเรา เห็นไหม นี่เขาถึงถามว่า

ถาม : ในเรื่องความโกรธเราควรปฏิบัติตนอย่างไรถึงจะถูกระหว่างหนึ่งไม่โกรธ ทำใจปฏิเสธความโกรธ ปล่อยให้โกรธแล้วมีสติตามรู้ความโกรธ อย่างไหนจะถูกครับ

ตอบ : นี่ตามรู้ความโกรธ ที่ว่าโกรธหนอ โกรธหนอ ตามรู้ความโกรธไป ถ้าสติมันทันมันก็หยุดเหมือนกัน แต่นั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าปล่อยให้มันโกรธไปแล้วมันมีสติขึ้นมา นี่ก็เป็นอีกทางหนึ่ง หรือว่าปฏิเสธความโกรธเลย ถ้ามันไม่มีสติก็ต้องเป็นอย่างนี้ ปฏิเสธไปก่อนมันไม่มีเหตุผล แต่ถ้ามีสติปัญญานะมันจะใช้สติปัญญา โกรธอีกแล้วหรือ? โกรธเรื่องอะไร? โกรธทำไม?

นี่ถ้ามีปัญญา เห็นไหม โกรธแล้วหน้าแดง โกรธแล้วเลือดมันสูบฉีดเต็มที่เลย โกรธแล้วเหมือนยักษ์เลย ถ้ามีสติปัญญามันก็หยุดได้ แต่ถ้ามันไม่หยุดนะ โกรธทำไม? ก็เขาทำเรา โกรธทำไม? ก็เขาทำผิด โกรธทำไม? ก็เขาว่าเรา โกรธตายเลยอย่างนี้ มันไปโกรธจนหมดแล้วมันยังกลับมาไม่เป็นเลย แล้วระหว่างโกรธล่ะ? ถ้ามีสติปัญญานะ สิ่งที่พูดมันเป็นจิตไง ตามรู้ ตามเห็น คือโกรธแล้วจบแล้ว แล้วมานั่งพิจารณา อืม เรานี่โกรธเนาะ เรานี่ไม่ดีเลย

นี่ตามรู้ ตามเห็น คือโกรธมันจบอารมณ์ไปแล้ว แล้วเราค่อยคิดได้ ตามรู้ตามเห็น รู้เท่า รู้ทัน เวลามันจะโกรธ มันโกรธขึ้นมา ขณะโกรธอยู่ เอ๊อะ เราโกรธๆ นี่มันรู้ทันแล้ว ตามรู้ ตามเห็นคือโกรธจบแล้ว โกรธจนเผาใจจนละเอียดไปหมดแล้ว เออ เรานี่โกรธเนาะ นี่มันยังรู้เท่า แต่ส่วนใหญ่เขาโกรธจบแล้วเขาไม่รู้เท่าหรอก เขาโกรธจบแล้วนะ เขาไปทำร้ายใครแล้วนะ เออ ดีเพราะเราชนะเขา เออ ดีเพราะเขาทำเรา

นี่โกรธจนจบแล้วนะ ทำร้ายเขาเสร็จแล้วนะยังมายกตนว่าตนถูก แต่ถ้ามันเป็นความจริง พอโกรธจบไปแล้ว เออ เราโกรธแล้วเนาะไม่ดี นี่ตามรู้ตามเห็น คนเริ่มมีสติแล้ว แล้วถ้าเราฝึกของเราบ่อยเข้ามันจะรู้เท่ารู้ทัน นี่โกรธแล้วนะ นี่โกรธแล้วนะ นี่ที่โกรธมันรู้เท่าแล้ว รู้เท่าความโกรธแล้วนะ นี่โกรธแล้วนะ นี่โกรธแล้วนะ แล้วถ้ามันรู้แจ้งแทงตลอดนะ พอมันอะไร นี่จะโกรธแล้วล่ะ ถ้าเจออย่างนี้เดี๋ยวโกรธอีกแล้ว มันรู้แจ้งไง มันรู้แจ้งแทงตลอด มันรู้ก่อน มันดักหน้าเลย นี่จะโกรธแล้วนะ นี่จะโกรธแล้วนะ มันไม่กล้าโกรธ มันอาย แต่ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะโกรธก่อน

เหตุการณ์อย่างนี้เดี๋ยวก็มีสติรู้เท่า เดี๋ยวก็ไม่มีสติรู้เท่า เพราะมันต้องมีกำลัง ถ้าจิตมันอ่อนแอ เหมือนคนเรานี่อ่อนแอ โรคภัยไข้เจ็บมันก็จะรุมเร้า คนเรานี่ร่างกายสมบูรณ์ โรคภัยไข้เจ็บมันก็ไม่รุมเร้าเรา จิตใจถ้าคนฝึกหัดเข้มแข็ง มันก็จะรู้เท่าความโกรธ รู้เท่าทันเวลา ถ้าจิตใจอ่อนแอ เราไม่ได้ฝึกฝน หรือฝึกฝนน้อยไป เหมือนจิตใจที่อ่อนแอ ความโกรธมันจะรุมเร้า มันจะทำลาย แต่ถ้าจิตใจคนเข้มแข็ง มันรู้เท่า นี่มันอยู่ที่ไหนล่ะ? มันอยู่ที่เราฝึกใจของเรา

ถ้าเราฝึกใจของเรา เราปฏิบัติของเรานะ เดี๋ยวร่างกายของคน เห็นไหม เดี๋ยวก็แข็งแรง เดี๋ยวก็อ่อนแอ มันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรื่องธรรมดามันต้องฝึกจิตบ่อยๆ ครั้งเข้า มันถึงบอกมันฝึกแล้วมันไม่คงที่ไง มันไม่คงที่เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สัพเพ ธัมมา อนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นอนัตตา มันไม่มีสิ่งใดคงที่

นี้ในการประพฤติปฏิบัติของเรา สิ่งที่เราชำนาญในวสี เห็นไหม อย่างเราชำนาญในวสี เราปฏิบัติตั้งสติกำหนดพุทโธ ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้า-ออก มันพยายามทำให้มีความชำนาญ ให้เท่าทันๆ ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา เราใช้สติปัญญาต่อเนื่องกันไป เวลามันจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง แล้วถ้ามันพิจารณาได้ มันปล่อยวาง มันขาดไป ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ อย่างนั้นเป็นอกุปปธรรมคือคงที่ตายตัว

มันมีสิ่งที่คงที่อยู่ ถ้ามันถึงที่สุดมันจบกระบวนการมันมีความคงที่อยู่ ธรรมะนี้มีความคงที่อยู่ แต่ขณะที่ปฏิบัติมันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา มันมีการเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าคงที่มันก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้สิ แต่เพราะสรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง ความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นอนิจจัง มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในการปฏิบัติเอาอนัตตา เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตาพิจารณากันไป พอมันทำลายกันแล้วมันมีความคงที่เป็นอกุปปธรรม ธรรมที่คงที่มีอยู่ แต่ธรรมที่คงที่มีอยู่มันต้องมีการกระทำขึ้นมาก่อน

แล้วถ้าธรรมที่คงที่มีอยู่ ทำไมมันถึงคงที่ล่ะ? มันคงที่เพราะเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเห็นตามความเป็นจริง เราชำระล้างปล่อยวางเป็นตทังคปหาน เราพิจารณาถึงที่สุดแล้วมันเป็นสมุจเฉทปหาน มันขาด สังโยชน์ขาดมีแต่ความคงที่ ความคงที่ของมันมีอยู่ ฉะนั้น การปฏิบัติตามความเป็นจริงมันจะเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าจะปฏิเสธความโกรธ ปฏิเสธความโกรธนะ ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ถ้าโกรธไม่เกิดกับจิตดวงนั้นคือพระอนาคามี พอพระอนาคามีชำระกามราคะ ปฏิฆะ ชำระปฏิฆะคือข้อมูล คือสัญญา คือความผูกเจ็บในใจ ใจของคนมีความผูกเจ็บ มีสิ่งใดที่อยู่จิตใต้สำนึกนั้นคือปฏิฆะ ข้อมูลปฏิฆะ กามราคะ เพราะมีปฏิฆะถึงมีกามราคะ เพราะทำลายปฏิฆะข้อมูลแล้วมันถึงจะไม่มีกามราคะ เพราะไม่มีสิ่งใดให้ชอบ ไม่ชอบมันจะเกิดกามราคะได้อย่างใด

สิ่งที่จะเกิดกามราคะเพราะมันมีสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ ชอบคือข้อมูล คือปฏิฆะอันนั้น ถ้าไปชำระตรงนั้น พระอนาคามีแล้วโกรธจะไม่มีเลย ถ้าโกรธไม่มีเลย หลวงปู่มั่นเทศน์ โอ้โฮ น้ำไหลไฟดับเลย หลวงตาเวลาเทศน์ยิ่งกว่าฟ้าผ่าอีก อันนั้นมันคืออะไรล่ะ? นั้นคืออำนาจของธรรม เวลาธรรมมันแสดงออกนะ ธรรมบันลือสีหนาทนะ ธรรมแสดงออกด้วยกำลังของธรรม มันจะอู้ฮู ยิ่งกว่าฟ้าผ่าอีก แต่ แต่มันเป็นความชุ่มชื่น มันเป็นธรรม มันไม่ใช่เป็นความโกรธ ไม่ใช่ความเป็นโลภะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ถ้าความโลภ ความโกรธ ความหลงมันไม่มีความสะอาดบริสุทธิ์ มันไม่มีความจริงใจต่อกัน มันมีแต่การทำร้ายกัน มันมีแต่การเอารัดเอาเปรียบกัน แต่หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านแสดงธรรมของท่าน ท่านแสดงธรรมด้วยความเมตตา ด้วยกำลังของธรรม ออกมานี่อย่างกับฟ้าผ่าเลยล่ะ พวกเราเวลาฟ้าผ่าบอก เฮ้ย ฟ้าผ่าๆๆ รีบไปฟังเลยนะ พวกเราฟ้าผ่าวิ่งหนีนะ เพราะฟ้าผ่ามันตายนะ แต่เวลาครูบาอาจารย์เราฟ้าผ่า ต่างคนต่างวิ่งเข้าไปเลยนะอยากไปฟังธรรมนั้น อยากได้ความชุ่มชื่น อยากได้ความร่มเย็นจากผลของฟ้าผ่าที่ผ่าออกมาจากใจที่เป็นธรรมนั้น

จะมีความร่มเย็นเป็นสุข มีความกระเทือนกิเลส สิ่งนี้เราแสวงหากัน จะบอกว่าถ้าไม่มีความโกรธเลย อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามีขึ้นไป แล้วยิ่งพระอรหันต์ไม่มีความโกรธ แต่ แต่เวลาธรรมะ เห็นไหม นี่เวลาบันลือสีหนาท สิ่งที่ธรรมมันชำระล้างให้กระเทือนหัวใจพวกเราออกมาจากธรรมมันมีกำลังของมัน ทีนี้กำลังของมัน ด้วยความที่หูหนวก ตาบอดของพวกเรา เราเลยไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นธรรม สิ่งใดเป็นกิเลส

ถ้าสิ่งที่เป็นธรรม มันออกมามันเชือดมันเฉือนใจดำเรา สิ่งที่เป็นธรรมนะมันสะเทือนใจเรา มันทิ่มมันแทงนะในหัวใจของเรา ให้เรามีความสะเทือนใจสิ่งนั้นเป็นธรรม ถ้าสิ่งที่เป็นกิเลสนะมันยกยอปอปั้น คุณโยม มาลำบากไหม? มานี้สบายดีหรือเปล่า? คืนนี้จะนอนกันที่ไหน? จะนอนสะดวกสบายไหม? นี่อันนี้มันเป็นเรื่องของกิเลส แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ฟ้าผ่า แล้วมันผ่าออกมามันมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขทั้งนั้นแหละ

นี่พูดถึงว่า “ละความโกรธ” ไง จะปฏิเสธความโกรธอย่างใด เอวัง