ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อัตตสมบัติ

๒๔ มี.ค. ๒๕๕๖

 

อัตตสมบัติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๘๙. เนาะ

ถาม : ๑๒๘๙. เรื่อง “การพิจารณาจิตที่ส่งออก สั้นแค่ตัวของมันเอง”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ วันนี้กระผมขอความเมตตาจากหลวงพ่อ โดยในส่วนอารัมภบทจะยาวนิดหน่อย เพราะมันสำคัญ วันหนึ่งไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ผมมีความฮึกเหิมและตั้งใจภาวนามาก สามารถจับต้องสิ่งที่ปรุงได้เหมือนเป็นวัตถุเลยครับ แล้วย้อนกลับได้ด้วยว่ามันเกิดขึ้นจากเหตุอะไร เสร็จแล้วสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ทราบ จนกระบวนการปรุงแต่งใหม่ขึ้นมาก็จับได้อีก

ผมฮึกเหิมและพิจารณาได้ต่อเนื่องกันไป จนโอ้โฮ ไอ้สิ่งที่จิตปรุงแต่งนี้ ไม่ว่าอย่างใดในโลก ไม่ว่าจะปรุงแต่งมาแล้วในอดีต หรือจะต้องปรุงแต่งไปในอนาคตมันก็เหมือนกันเลย มีเหตุ มีกระบวนการ มีผล และสิ้นสุดเริ่มใหม่เหมือนกันหมด จิตไร้ความสงสัยก็ปล่อยหมดทุกอย่าง แยกสิ่งที่ถูกปรุงอยู่ห่างออกไปที่สุด แยกกายอยู่ใกล้จิต และแยกจิตออกเป็นเอกเทศ หลังจากนั้นเวลาจิตจะปรุงแต่ง ผมเริ่มรู้ก่อนกระบวนการมันจะครบด้วยแล้วครับ กล่าวคือของมันจะขยับเข้าไปหาสัญญาที่เก็บไว้ในจิตก็รู้ก่อน จิตก็จะไม่ปรุงแต่ง

ผมมีความสุขมากกับอัตภาพ เปรียบเสมือนคนที่เอาตัวรอด ในอดีตผมก็คงเป็นเหมือนคนทั่วไปที่คิดว่าจะเอาตัวรอดต้องมีเครื่องใช้สอยมากๆ เช่นเงินมากๆ จึงจะเอาตัวรอดได้ แต่วันนี้ถึงทราบกับตัวเองว่า หากควบคุมกระบวนการปรุงแต่งของจิตได้แล้ว นั่นคือจะเรียกว่าเอาตัวรอดได้ เพราะวัตถุต่างๆ มันก็ไม่คงที่ ไปสั่งให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มันก็ไม่ได้เพราะเกินอำนาจของเรา แต่หากควบคุมจิตได้ แม้วัตถุเปลี่ยนไปเราก็ปรับตัวไปได้ จิตมั่นคงและรอบรู้กระบวนการปรุงแต่งของมันเอง มันมีความสุขและหาทางออกเรื่องโลกๆ เรื่องวัตถุไปได้เสมอ แต่ผมสังเกตว่ามันจะมีการลั่นออกมาจากจิตไปเชื่อมขันธ์ ๕ ให้ปรุงได้บ้าง เสมือนวงจรไฟฟ้าที่เราไม่ได้เชื่อมต่อ แต่ก็มีไฟฟ้ากระโดดลัดวงจรออกไปบ้างเป็นครั้งคราว

ผมเฝ้าพิจารณาพบว่า แค่ลำพังตัวจิตเพียงแค่อย่างเดียวนี่แหละครับ ไม่ต้องให้มีเรื่องสมมุติทางโลกอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ตัวมันเองก็เหมือนมีขันธ์ ๕ อยู่ในตัวมันเลย คือระยะทางที่มันส่งออกมันสั้นมากจนจิตไม่เคยพิจารณาปัญหาส่งออกสั้นๆ อย่างนี้มาก่อน คือบางครั้งจิตมันส่งมาที่ตัวมัน พบว่ามันรู้ชัด มันก็เก็บเป็นสัญญาไว้ พอส่งอีกทีมาเจอมันรู้ได้ชัด กระบวนการเหมือนขันธ์ ๕ หยาบๆ เลยครับ คือมันก็ค้นสัญญาแล้วปรุงแต่งได้อีก ทั้งๆ ที่ไม่มีเรื่องสมมุติแห่งโลกียะเจือปน ก็ทุกข์ใจ ขัดใจแบบละเอียดๆ ครับ จึงขอเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑. หลวงพ่อว่าลำพังแค่จิตอย่างเดียว มีขันธ์ ๕ ครบแล้วสามารถปรุงแต่งเองโดยอาศัยแค่ตัวมันได้หรือไม่?

๒. จากความรู้ของผมข้อ ๑ ผมว่าจิตนี่แหละสมุทัย เพราะมันปรุงทุกข์ในตัวของมันเองด้วยการส่งที่สั้นมากๆ มาที่ตัวของมันเอง จนคนเราไม่เฉลียวใจที่จะสังเกตได้ จึงเป็นทุกข์ที่ละเอียดและติดอยู่ในจิตตลอดเวลานั่นเอง หลวงพ่อว่าจริงไหมครับ

๓. หลวงพ่อว่าผมควรพิจารณาอย่างไรต่อไปจึงจะดีครับ

ตอบ : นี่พูดถึงคำถามเนาะ ฉะนั้น คำถามที่ว่า จิต ธรรมดาเรื่องจิตมันก็เหมือนกับสมัยที่โปฐิละใช่ไหม? ที่ไปศึกษา ที่ว่าใบลานเปล่าๆ คำว่าใบลานเปล่าเพราะเขาศึกษามาก ศึกษามากจนลูกศิษย์ลูกหามหาศาล ไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกโปฐิละมาแล้วหรือ? โปฐิละไปแล้วหรือ? นี่ใบลานเปล่าๆ พอใบลานเปล่าก็มาฉุกคิด ฉุกคิดว่าเราศึกษามาขนาดนี้ เรามีความรู้ขนาดนี้ เราสั่งสอนมีลูกศิษย์ลูกหาไปไหน ๕๐๐ มีคนนับหน้าถือตาทั่วทั้งแคว้นเลย ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกใบลานเปล่าๆ

ใบลานเปล่ามาแล้วหรือ? ใบลานเปล่าจะไปแล้วหรือ? จนฉุกคิด พอฉุกคิดก็จะปฏิบัติ พอปฏิบัติปั๊บก็ไปหาสำนักที่ปฏิบัติ พอไปหาสำนักที่ปฏิบัติ ตั้งแต่เจ้าอาวาสลงมาเลย ไม่มีวาสนาหรอก เพราะว่าพระปฏิบัติมันก็อยู่ในป่าในเขา แบบว่าอ่อนน้อมถ่อมตน แต่นี่เขามีชื่อเสียง เขาเป็นนักปราชญ์ พอเขาเป็นนักปราชญ์ก็บอกว่าเราไม่มีอำนาจวาสนาจะสอน ก็แบบว่าผลัดไปเรื่อยๆ โยนไปเรื่อยๆ ก็ลงไปถึงสามเณรน้อย เพราะสามเณรน้อยก็เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้าย องค์สุดท้าย สามเณรน้อยทำอย่างไรล่ะ? พอสามเณรน้อย อ้าว เจ้าอาวาสบอกว่าสามเณรน้อยก็ลองดู อาจจะสอนได้ก็ได้

ทีนี้พอจะสอนได้นะก็ลองทิฐิก่อน ก็ว่าจะเอาไม้ไผ่ จะเอาน้ำให้ห่มผ้าเข้าไป เขาก็ทำตาม พอจะเข้าไปใกล้ๆ บอกไม่เอาแล้ว พอเริ่มพอจิตใจเขาเปิดกว้าง พอจิตใจเขาเปิดกว้าง พอจะสั่งสอนนะ นี่เข้าตรงนี้ ตรงที่บอกว่า

“เปรียบร่างกายเรานี้เหมือนจอมปลวก จอมปลวกมีรูอยู่ ๖ รู ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มี ๖ รู ปิดซะ ๕ รู ปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย เปิดหัวใจไว้ เปิดไว้รูหนึ่งคอยดูเหี้ยตัวนั้น มันจะออกมารูนั้น จับเหี้ยตัวนั้นให้ได้ จับเหี้ยตัวนั้นมาพิจารณา นี่ตา หู จมูก ลิ้น กายปิดไว้ๆ แล้วดูตรงนั้น”

ถ้าดูตรงนั้น พอเหี้ยตัวนั้นออกมา ถ้าจับเหี้ยตัวนั้นได้มันก็จะเป็นการพิจารณาได้ ถ้าจับเหี้ยตัวนั้นไม่ได้ มันก็พิจารณาไม่ได้ ถ้าพิจารณาไม่ได้มันก็เป็นเพราะว่าเขาเป็นนักปราชญ์ใช่ไหม? เขาสั่งสอนจนมีลูกศิษย์ลูกหาไปไหนคนมหาศาลเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนั่นน่ะเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการไว้ แล้วเขาศึกษาแล้วเอาสิ่งนั้นไปสั่งสอน พอสั่งสอนนี่ใบลานเปล่า เปล่าหมายความว่าสมบัติของตนไม่มี ถ้าสมบัติของตนจะมีทำอย่างใด?

นี่ทำอย่างใด? ทำอย่างใดก็มาปฏิบัติ พอมาปฏิบัติก็เข้ามาตรงนี้ ตรงที่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดไว้ ๕ รู แล้วเปิดรูนั้นไว้ ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธ เราทำความสงบของใจ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา แล้วถ้าจิตสงบแล้วนี่ มันสงบได้มันก็ปิด ๕ รูนั้นแหละ แล้วจิตมันเป็นหนึ่ง ปิดมา ๕ รูเหลือ ๑ ถ้าเหลือ ๑ ถ้ามันจับต้องได้มันก็จะเห็น ถ้าจับต้องไม่ได้มันก็ไม่เห็น

ถ้าจับต้องได้ พอมันเห็นแล้วมันพิจารณาไป อย่างที่ว่ามันมีอารมณ์แตกต่าง โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา โลกียปัญญาคือโปฐิละๆ โลกียปัญญา คือการศึกษา คือจำมา นั่นล่ะเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลก ปัญญาสิ่งที่เป็นทางวิชาการที่โลก นี่ทางวิทยาศาสตร์เขาทดสอบ ตรวจสอบแล้ว เขาให้เป็นทางวิชาการไว้ให้เด็กมันศึกษา ให้โลกได้ศึกษามาเพื่อเอาไปทดสอบให้มันเป็นทางวิชาชีพของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็มีเรื่องโลกๆ นี่เป็นธรรมวินัยที่วางไว้ให้เรามาศึกษา ศึกษาแล้วถ้าปฏิบัติขึ้นมามันก็เข้ามานี่ ถ้าปิดตรงนั้นได้ จับเหี้ยตัวนั้นได้ จับเหี้ยตัวนั้นพิจารณาได้มันก็เป็นธรรมขึ้นมา เป็นธรรมขึ้นมามันก็จะชำระล้างกิเลสมันก็เป็นของมันขึ้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเราทำของเรา เราทำของเรา เห็นไหม เริ่มต้นถ้ามันละเอียดเข้ามาขนาดไหน มันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ แต่เดิมเวลาเราปฏิบัติไปแล้วเราว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ เพราะว่าศึกษามาแล้วทางทฤษฎีมันก็ซาบซึ้ง

เวลาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ซาบซึ้งมากนะ แต่ซาบซึ้งมันก็เป็นซาบซึ้งแบบโลกไง แต่ถ้าพอเราทำใจสงบแล้ว พอเราจับได้มันซาบซึ้ง มันตื่นเต้น มันตื่นเต้นนะ มันตื่นเต้นเพราะมันจะเป็นสมบัติของเรา ธรรมะบอกว่าอัตตสมบัติ มันเป็นสมบัติของเรา แต่ที่เราศึกษามานี้เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมบัติของโลก สมบัติสาธารณะ แต่พอจิตเราสงบเข้ามาแล้วมันจะเป็นสมบัติของเรา ถ้าสมบัติของเรา เราจับต้องสิ่งใดได้มันสะเทือนหัวใจ

ถ้ามันสะเทือนหัวใจ เริ่มต้นพิจารณาไปเรื่อยๆ พอพิจารณาไปแล้ว นี่เวลาพิจารณาไปมันก็มีสมุทัยเจือเข้ามาๆ เจือเข้ามาหมายความว่าถ้าพิจารณาไปแล้วอย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้เป็นธรรม มันเข้าใจไปหมด มันว่าเป็นผล แล้วเดี๋ยวก็เสื่อม เสื่อมเพราะอะไร? เสื่อมเพราะมันมีสิ่ง ถ้าทางกิเลสบอกว่ามันเป็นอัตตา คือมันยึดว่าเป็นความรู้ๆ มันยึดไม่ได้ มันยึดไม่ได้หมายความว่าเวลาเราเข้าบ้านนะ ถ้าบ้านมีรั้ว บ้านมีรั้วมันจะผ่านรั้ว ต้องเปิดรั้วบ้าน เปิดรั้วบ้านผ่านเข้าไปผ่านสนามหน้าบ้าน สนามหน้าบ้านมันยังต้องไปเปิดประตูบ้าน มันจะผ่านเข้าไป

นี่ก็เหมือนกัน พอพิจารณาไปนี่เปิดรั้วบ้าน ใครไปถึงบ้าน เปิดรั้วบ้านก็ดีใจตายแล้ว กลับถึงบ้านแล้ว แต่ยัง แค่รั้วยังไม่ได้เข้าบ้าน พอเปิดรั้วเข้าไปมันต้องผ่านสนามหน้าบ้านเข้าไป สนามหน้าบ้านเข้าไปต้องไปเปิดประตูบ้าน จะต้องเข้าบ้านอีกไง นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาไปแล้วมันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป มันละเอียดเข้าไป เราต้องเข้าบ้านเราไป เราต้องไปแก้ไขในบ้าน ถ้าไปแก้ไขในบ้านเพราะอะไร? เพราะเอกสารต่างๆ อยู่ในบ้านหมด เอกสารหลักฐานของเรา เอกสารหลักฐานของเราเก็บไว้ในบ้านของเรา แล้วเข้าไปในบ้านจะค้นเจอ ไม่ค้นเจอ นี่ไงถ้าค้นเจอ ไม่เจอ เวลาพิจารณาไปแล้วมันโอ้โฮ มันตื่นเต้นไปหมดเลย

มันตื่นเต้น สิ่งที่ต่างๆ มันตื่นเต้นขึ้นไป พอมันตื่นเต้น มันพิจารณาซ้ำๆ นะ ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างละเอียด ละเอียดไปเรื่อยๆ ละเอียดไปเรื่อยๆ ถ้ามันละเอียดขนาดไหนมันก็เป็นขั้นของหลาน ของหลานกิเลส มันมีหลานกิเลส มีลูกกิเลส มีพ่อกิเลส มีปู่กิเลส ถ้ามันฆ่าหลานได้นะเป็นโสดาบัน ถ้าฆ่าลูกมันได้สกิทาคามี ถ้าไปฆ่าพ่อแม่มันได้นะ นั่นล่ะอนาคามี ถ้าไปฆ่าปู่มัน ปู่มันคือพญามาร นี่ถ้ามันเป็นขั้นใดก็ขั้นนั้นแหละ ถ้าขั้นใดก็ขั้นนั้น

ฉะนั้น เราพิจารณาของเราไป ถ้าแบบว่ามันพิจารณาที่อารัมภบทมา มันเป็นสิ่งที่เราพิจารณาเข้ามา พิจารณาเข้ามามันเป็นปัจจัตตัง เป็นปัจจัตตังหมายความว่ามันเป็นสมบัติของผู้รู้ผู้เห็นคนนั้นคนเดียว คนอื่นไม่เกี่ยว คนอื่นไม่เกี่ยวนะ มันเป็นสมบัติของผู้รู้ผู้เห็นคนนั้นคนเดียว เพราะมันเป็นสมบัติส่วนตนของเขา

นี่เวลาเป็นสมบัติส่วนตนของเขา เวลาถามธรรมะมา เวลาอาจารย์แก้ปัญหาธรรมะ แล้วพอลูกศิษย์ที่ฟังร่วมมาด้วย อันนั้นฟังร่วมกันด้วยเพื่อมาเป็นแบบอย่าง แต่ของเราไม่เป็นแบบนั้น ถ้าของเรา เราต้องพิจารณาตามความเห็นของเรา ถ้าสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งใดที่มันขัดข้องหมองใจของเรา ถ้าเราใช้ปัญญา เราแยกแยะได้ เราปล่อยวางได้นั้นเป็นสมบัติของเรา นี่เวลาคนอื่นเขาพิจารณาของเขา เขาไม่ทุกข์ไม่ร้อนอะไรเลย แล้วเราทุกข์ร้อนเกือบเป็นเกือบตาย เขาบอกเขามีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มันแตกต่างกันอย่างไร?

ฉะนั้น เป็นสมบัติของเขา ถ้าสมบัติของเรา เราต้องพิจารณาเป็นของเรา อัตตสมบัติ สมบัติส่วนตน ตนเป็นผู้รู้ ตนเป็นผู้เห็น ฉะนั้น ตนเป็นผู้รู้ ตนเป็นผู้เห็นแล้ว คำถามที่ว่า

ถาม : ๑. หลวงพ่อว่าลำพังแค่จิตอย่างเดียว มีขันธ์ ๕ ครบแล้วสามารถปรุงแต่งเองโดยอาศัยตัวมันเองได้หรือไม่ครับ

ตอบ : นี่พอเราพิจารณาไป เราก็รู้ เราก็เห็นแล้วแหละ เราก็รู้ เราก็เห็นว่าจิตมันคิดเองได้ เวลาหลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านเวลาเทศน์นะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นอายตนะ คือมันต้องกระทบ พอกระทบแล้วจิตมันรับรู้มันถึงได้รู้ เวลาเราปิดตา หู จมูก ลิ้น กายนะ ไม่ต้องมีสิ่งกระทบมันก็คิดได้ ใจนี่มันก็คิดได้ แต่โดยปกตินะเราไม่เห็นรูปเราก็จะไม่รู้ว่ารูปอะไร เราไม่ได้ยินเสียง เราก็ไม่รู้ว่าเสียงอะไร

ตา หู จมูก ลิ้น กายมันเป็นอายตนะ มันกระทบรูป รส กลิ่น เสียง แต่ถ้ามันกระทบรูป รส กลิ่น เสียงแล้วจิตมันไม่รับรู้นะ จิตมันนอนจมอยู่กับตัวมันเองนะ นี่รูปผ่านมาเราก็เห็นแต่รูป แต่มันไม่รู้ว่ารูปอะไร ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่อายตนะกระทบ แต่ต้องมีจิตรับรู้ด้วย แต่ถ้าปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันก็รู้ได้ ใจมันรู้ของมันได้ ขันธ์นอกขันธ์ใน ขันธ์ละเอียดมันมีอยู่แล้ว ถ้ามันมีอยู่แล้ว โดยทฤษฎี โดยธรรมของพระพุทธเจ้ายืนยันไว้แล้ว แต่เวลาเราไปรู้ ไปเห็นเข้า สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้นั่นคือชื่อ สิ่งที่เราไปสัมผัส เราไปค้นคว้าเอง นั่นล่ะเป็นตัวจริง

เป็นตัวจริง เป็นตัวเป็นๆ ที่มีชีวิต แล้วมันดิ้นรน มันดิ้นรนอยู่ในใจเรานี่แหละ มันดิ้น มันรนของมัน มันทำของมัน แต่ไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่ศึกษามารู้ไปหมด ปากเปียกปากแฉะไปหมด แต่ไม่เคยเห็นตัวจริง พอไปเห็นตัวจริงมันเป็นแบบนี้ เห็นตัวจริงขึ้นมานี่ เห็นไหม หลวงพ่อว่า ตัวเองเห็นแล้วนะยังบอกหลวงพ่อว่า หาพยานไง กูเห็นแล้วกูยังไม่แน่ใจ หลวงพ่อว่าจริงหรือเปล่า? ทั้งๆ ที่มันไปเห็นนะ มันไม่แน่ใจหรอก เพราะเรายังแบบว่าพิจารณามันไม่เด็ดขาด ถ้าเด็ดขาดหมดแล้วมันจะแน่ใจ

ทีนี้พอเห็นแล้ว เราเห็น เราจับต้องได้ แต่เขาว่าอย่างไร มันชื่ออะไร มันจะเปรียบเทียบกับอะไร ถ้ามันจะเปรียบเทียบกับอะไรนะ นี่นั่นล่ะถ้าเราจับต้องได้ แล้วพิจารณาไป ถ้าจิตมันดี จิตมีกำลังนะมันจะพิจารณาแล้วมันจะปล่อยวาง พิจารณาแล้วมันจะรู้แจ้งแทงตลอด แต่ถ้ามันพิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ จิตมันกำลังไม่พอ นี่มันก็จะเริ่มแล้ว เอ๊ะๆๆ เอ๊ะอยู่ ต้องวาง วางแล้วกลับมาพุทโธ พุทโธ มันมีพร้อมหมด มันมีพร้อมหมด ในตัวมันมันมีพร้อมอยู่แล้ว เห็นไหม ในขันธ์มีขันธ์ ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์ในขันธ์มันยังมีของมันไปนะ

แล้วพอถึงคำว่าขันธ์ ๕ จบแล้ว ไปกระบวนการถึงที่สุดนะ ไปตัวจิตมันเป็นปัจจยาการ มันละเอียดกว่านี้อีก มันละเอียดกว่าขันธ์เยอะ มันละเอียด นี่ถ้าใครภาวนาเป็นแล้วนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ หรือเราฟังครูบาอาจารย์ นี่มันเป็นภาษา มันเป็นศัพท์ เราก็คิดมันเป็นวิทยาศาสตร์หมด แต่พอไปเจอตัวจริงนะ ไปจับ อื้อฮือ มันอธิบายไม่ถูก อธิบายไม่ถูก มันเลยจะไปซึ้งไง ซึ้งธรรมะพระพุทธเจ้าไง แล้วพอซึ้งอย่างนั้นปั๊บเราก็จะมาเทียบกับคนที่ศึกษาใหม่เลย พอคนศึกษาใหม่ ศึกษามาแล้วเขาก็มีความเข้าใจความหมายไปอย่างหนึ่ง เราก็มีความเข้าใจแบบนั้น แต่พอเวลาปฏิบัติไปๆ เอ๊ะ เอ๊ะ มันจะเอ๊ะ ก่อนนะ

เอ๊ะ เอ๊ะ อ๋อชื่อมันเป็นอย่างหนึ่งเนาะ ตัวมันเป็นอย่างหนึ่งเนาะ แต่เวลาจะคุยกันก็ต้องพูดแบบชื่อนั่นแหละ นี่ไงถึงว่าเป็นสมมุติบัญญัติไง แต่เวลาเป็นตัวจริงมันละเอียดกว่าสิ่งที่บัญญัติไว้มหาศาลเลย ฉะนั้น เวลาสื่อออกมา คนเป็นกับคนเป็นเขาจะรู้กัน

ฉะนั้น ที่ถามว่า

ถาม : ลำพังจิตอย่างเดียวมีขันธ์ ๕ ครบแล้ว แล้วสามารถปรุงแต่งในตัวมันเอง อาศัยตัวมันเองหรือไม่ครับ

ตอบ : มันยิ่งกว่านั้นนะ แบบว่ามันปรุงแต่งด้วย แล้วมันหลอกเราด้วย มันปรุงแต่งเสร็จแล้วมันหลอกด้วย พอหลอกเสร็จแล้วมันสร้างภาพอีก พอสร้างภาพเสร็จแล้วนะมันบอกว่าที่คิดมานั้นไม่ใช่หมด อันนี้ใช่ มันเสนอมาเลยนะอันนี้ใช่ พออันนี้ใช่หลงตามไปอีกแล้ว

นี่เวลาเราใช้ปัญญาไปแล้ว เวลาปฏิบัติใช่ไหม? เวลาเราบอกเราใช้ปัญญาไปแล้วมันจะแบบว่า กิเลสมันจะหลบ มันจะไม่สู้เรา คนนั้นน่ะคิดผิด แต่ถ้าเราพิจารณาไปแล้วนะ ถ้ากำลังดี กิเลสมันหลบ ถ้ากำลังดีนะกำลังเราจะสดชื่น เราสดชื่นมากิเลสมันหลบเลย พิจารณาไป แหม มันทะลุปรุโปร่ง มันโล่งไปหมดเลย พอพิจารณาซ้ำแล้ว กำลังคนวิ่งรอบหนึ่ง รอบสองก็เหนื่อยแล้ว รอบสาม รอบสี่มันจะคลานไปแล้ว

นี้พิจารณาไปรอบแรกมันสดชื่น แหม วิ่งสะดวกมาก แหม วิ่งได้เต็มที่เลย พอรอบที่สอง เออ ชักเหนื่อย พอรอบที่สามมันจะคลานไปนะ ตอนนั้นกิเลสมันจะบอกเลยล่ะ เห็นไหม วิ่งมันเหนื่อยเปล่า วิ่งมาแล้วได้ประโยชน์อะไร อยู่บ้านสบายกว่า นี่มันมาแล้ว นี่ไงบอกว่ามันมีไหม? ยิ่งกว่ามีอีก แล้วมีไม่ธรรมดา มีแล้วหลอกด้วย หลอกเสร็จแล้วจะแก้ไขอย่างใด? นี่ธรรมชาติของกิเลสเป็นแบบนี้นะ ไม่ใช่พูดให้ใครอ่อนแอ ไม่ใช่พูดให้ใครไม่มีกำลังใจ แต่ธรรมชาติอย่างนี้ เวลามันเป็นมันเป็นอย่างนั้น แล้วเวลาเราปฏิบัติไป พอเป็นแบบนั้นแล้วเราต้องใช้ประสบการณ์ของเรา

นี่เวลาใครไปถามหลวงตา ถามเรื่องปัญหาภาวนา จะถามหลวงตาว่าถูกไหม? หลวงตาจะบอกว่าถูก ถูกเพราะอะไร? ถูกเพราะเราได้ปฏิบัติมาเราถึงมีปัญหานี้มา ถ้าเราไม่ปฏิบัติมา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าปัญหานี้มันคืออะไร? เพราะเราปฏิบัติมา เรารู้ เราเห็นของเรา เราถึงรู้ว่าอย่างนี้ๆๆ ใช่ไหม? นี่ปัญหาที่เรามาถามเพราะผ่านจากการปฏิบัติมา นี้พอปฏิบัติมาแล้ว ถูกไหม? ถูก หลวงตาจะบอกว่าถูก ถูกแล้วจะถามว่า แล้วทำอย่างไรต่อคะ?

หลวงตาจะบอกว่า ก็ทำแบบเดิมนั่นแหละซ้ำไป หลวงตาตอบแค่นี้ เพราะอะไร? เพราะท่านตอบคนมาเป็นล้านมันน่าเบื่อ พอบอกว่าทำอย่างไรดีคะ? ก็ต้องไปอธิบายอีกรอบหนึ่ง มันก็เหมือนกับเริ่มต้นทำงานใหม่ แล้วพอใครมานะ ทำอย่างไรคะ? ก็เหมือนเราจะกินข้าว เขาต้องล้างถ้วยล้างจานก่อนแล้วค่อยทำอาหาร แล้วพอใครมาถามว่าทำอย่างไรคะ? ก็เปิดตู้ออกมา เอาถ้วยเอาจานมาเก็บล้างก่อนไง ทำอย่างไรคะ? ก็เปิดตู้มาล้างถ้วยล้างจาน มันพูดอยู่อย่างนี้ทุกวันๆ

ฉะนั้น ท่านสรุปว่าทำเหมือนเดิมนั่นแหละ ทำซ้ำเข้าไปๆ พอซ้ำเข้าไปมันจะละเอียดไปเรื่อยๆ ละเอียดไปเรื่อยๆ ก็เหมือนถ้วยชามนั่นแหละ เราเก็บล้างแล้ว ทำความสะอาดแล้ว ก่อนใช้เราก็มาทำความสะอาดก่อน แล้วพอใช้เสร็จแล้วเราก็เก็บล้างของเรา

นี่ก็เหมือนกัน พอพิจารณาไปแล้ว ซ้ำไปๆ แต่ที่มันเป็นมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วเป็นยิ่งกว่าด้วย ยิ่งกว่าหมายความว่ามันจะมาหลอก ถ้ามันไม่หลอกนะ ครูบาอาจารย์ของเราภาวนาจะไม่ติด หลวงปู่บัวก็ไปติดอยู่ข้างบน หลวงตาติดอยู่ ๕ ปี นี่ทั้งๆ ที่อยู่กับหลวงปู่มั่น อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น สรงน้ำหลวงปู่มั่น เก็บที่นอน มุ้ง หมอนของหลวงปู่มั่น จัดอาหารให้หลวงปู่มั่นฉัน แล้วถามปัญหาคุยกับหลวงปู่มั่นทุกวันเลย แต่ติดอยู่ ๕ ปี ติดอยู่กับหลวงปู่มั่นนั่นแหละ อยู่กับหลวงปู่มั่นนั่นแหละติดอยู่ ๕ ปี ติดอยู่ ๕ ปีเพราะอะไร?

“มหา จิตดีไหม?”

“ดีครับ”

“ว่างไหม?”

“สุดยอดว่างเลยครับ”

จน ๕ ปีนะ สุดท้ายหลวงตาถึงบอกว่า ว่างๆ แบบนั้นมันว่างๆ แบบมีสมุทัย มันไม่ถูกหรอก ว่างๆ ว่างๆ ถ้ามันไม่มีสมุทัย มันต้องว่างแบบไม่มีสมุทัย แล้วสมุทัยที่ปนกับความว่างเป็นอย่างไร? ยังเถียงนะ หลวงตายังเถียงหัวเด็ดตีนขาดเลย เพราะตัวเองรู้เองเห็นเอง ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันหลอกอีก พอมันหลอก เพราะหลวงตาเวลาท่านเขียนในตำราท่านจะบอกเลย เข้าใจว่าเป็นนิพพาน เข้าใจว่าว่างๆ นั้นเป็นนิพพาน ติดอยู่ ๕ ปี เพราะเข้าใจว่าว่างๆ นั้นเป็นนิพพาน นิพพานอย่างนั้นนิพพานของกิเลสไง นิพพานเพราะยังมีสมุทัยร่วมอยู่ไง

หลวงปู่มั่นบอกว่าเพราะมันเป็นสุขเศษเนื้อติดฟัน นี่สิ่งนี้เราปฏิบัติซ้ำไปๆ มันเอามาหลอกเราขนาดไหน เราต้องพิจารณาของเราไป พิจารณาของเราไป สิ่งที่ถามมา

ถาม : หลวงพ่อเห็นว่าอย่างนั้นจริงไหม?

ตอบ : จริง แล้วจริงมากกว่านั้นอีก จริงก็มาหลอกอีก มันจะหลอกอีก มันจะหลอกไปข้างหน้า คำว่ามันจะหลอกไปข้างหน้า พูดให้เป็นคนที่แบบว่าพยายามให้รอบคอบ ต้องรอบคอบ รอบคอบแล้วตรวจสอบ เวลาพิจารณาไปแล้วตรวจสอบ พอพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวางขนาดไหนออกมา มันเป็นอย่างไร ตอนที่มันปล่อยวางนะ จิตใจมันดี มันพิจารณามันจะเข้าใจหมด แต่พอมาเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา เอาสิ่งนั้นมาตั้งแล้วพิจารณาซ้ำ พิจารณาซ้ำ เดี๋ยวมันจะเห็นความบกพร่อง เอ๊อะ อันนั้นยังไม่ใช่ เอ๊อะ อันนี้ยังไปได้ เอ๊อะ เอ๊อะ เอ๊อะ

นี่มันจะพัฒนาไปอย่างนี้ แต่ถ้าพอไปทีแรกนะ โอ๋ย จบ รู้หมด ว่างหมดเลย พอไปตรวจสอบ เออ ตรงนี้มันยังไม่รอบคอบ เออๆๆ ตรงนี้ยังใช่ นี่พิจารณาซ้ำไปๆ มันจะรอบคอบไป มันจะรอบตัวของมัน พิจารณาซ้ำๆ อย่างนี้ นี่คือวิธีการแก้ข้อที่ ๑

ถาม : ๒. จากความรู้ข้อที่ ๑ ผมว่าจิตนี่แหละสมุทัย เพราะมันปรุงทุกข์โดยตัวของมันเอง แล้วมันส่งมาสั้นๆ มาที่ตัวของมันเอง จนคนเราไม่เฉลียวใจที่จะสังเกต จึงเป็นทุกข์ที่ละเอียดและติดอยู่อย่างนั้นตลอดเวลานั่นเอง หลวงพ่อว่าจริงไหมครับ

ตอบ : นี่จริง มันอธิบายข้อที่ ๑ มาแล้ว ข้อที่ ๑ นี่จิตมันมีสมุทัยของมัน มันพิจารณาของมัน อันนี้เป็นเหมือนกับเราทำงาน ฝึกงาน ทำงานมันต้องทำงานไปเรื่อยๆ แล้วเราจะมีความชำนาญของเราไปเรื่อยๆ นี่ภาคปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของเราไป เพื่อประโยชน์กับเรานะ แล้วข้อ ๓

ถาม : ๓. หลวงพ่อว่าควรพิจารณาอย่างใด?

ตอบ : ควรพิจารณาอย่างไรนะเอาเป็นปัจจุบัน คำว่าปัจจุบันนะ นี่ถ้าเราพิจารณาจิต พิจารณาแล้วมันปล่อยวางๆ แล้วพิจารณาจิต พอมันจับไปมันจับไม่ได้ มันจับไม่ได้เพราะมันหลบนะ จับไม่ได้ไม่ใช่เพราะมันไม่มีนะ จับไม่ได้เพราะว่ากิเลสนี่มันเป็นแก่นกิเลส กิเลสนี่มันอยู่กับจิตใจเรามาหลายภพ หลายชาติ จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดมาตลอด แล้วกิเลสมันอาศัยจิตดวงนี้เป็นที่อยู่อาศัยมา ไปเป็นพรหม พรหมอนาคามี ๕ ชั้น พรหมก็มีกิเลสหมด กิเลสอย่างหยาบ ละเอียด ไปเป็นเทวดา เทวดายังรบกัน มาเป็นมนุษย์ มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน กิเลสมันอาศัยจิตดวงนี้เวียนตายเวียนเกิดมากับเราตลอดเวลา

ถ้าจิตมันอาศัยเวียนตายเวียนเกิดตลอดเวลา นี่แก่นของกิเลส ฉะนั้น เวลาเราชำระล้าง เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า นี่ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า เวลาพิจารณาไป ถ้าเป็นโลกียะก็เป็นเรื่องโลกๆ เราเข้าใจได้ เหมือนปัญญาทางโลกเราเข้าใจได้ เราทำหน้าที่การงานได้ เราใช้ปัญญาของเราพิจารณาอย่างไรก็ได้ แต่พิจารณาอย่างไรก็ได้มันก็เป็นเรื่องโลกไง ฉะนั้น พอเรื่องโลก ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบเข้ามา มันก็เกิดปัญญาขึ้นมามันถึงเป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาเกิดจากจิต มันก็ชำระล้างจิตมาด้วย ขณะชำระล้างจิตมาด้วย กิเลสมันก็ยังหลบหลีก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าให้เป็นปัจจุบัน พิจารณากายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ อะไรที่เกิดขึ้น แม้แต่พิจารณาจิต จิตที่เกิดขึ้นมันเป็นแท่งๆ เฉยๆ มันเป็นรูปเฉยๆ เกิดมาเป็นความรู้สึกเฉยๆ ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบนะ นี่คือตัวจิต จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง นี่พอจับตัวนี้ก็ได้ เวลามันพิจารณา คิดดูสิมันพิจารณา มันปล่อยวางทุกอย่างแล้วมันก็เป็นตัวมัน ตัวมันก็คือตัวจิต แล้วเราพิจารณาเราต้องจับขันธ์ จับเวทนา จับธรรมารมณ์ แล้วมันจับแล้วมันปล่อยมาหมดแล้วมันก็เป็นตัวมันเอง แล้วตัวมันเองทำอย่างไรต่อไป?

นี่ถ้าตัวมันเอง ก็จับตัวมันเองนั่นแหละ พอจับปั๊บ พอจับ ดูสิเราจับอะไรก็แล้วแต่มันจะมีน้ำหนัก ถ้ามันจับปั๊บ จับจิต จับที่ว่าจิตที่ว่าเป็นตัวมันเอง มันก็แสดงตัวมันเอง แสดงตัวมันก็เป็นขันธ์ ถ้าแสดงเป็นธรรมมันก็เป็นธรรม นี่มันต้องเป็นปัจจุบันไง เขาถามว่าแล้วจะพิจารณาอย่างไรต่อไป? ถ้าพิจารณาไป เวลามันปล่อยมาหมดแล้วมันก็จะอ้างว่า นี่กิเลสมันจะหลอกแล้ว มันอ้างว่าว่างหมดแล้ว ถ้าพิจารณาก็พิจารณามาแล้ว นี่ไงปล่อยหมดเลยไง มันเอาผลของการปฏิบัติมาอ้างอิงด้วยนะ ก็เราพิจารณากันเองเห็นไหม แล้วเราก็ปล่อยมันเองเห็นไหม อ้าว ก็มันก็จริงๆ จริงๆ

จริงๆ จริงๆ ก็เป็นอดีตมาแล้ว ขณะที่เป็นอดีตมา เวลาปล่อยกิเลสมันก็ซุกตัว มันก็หลบไป ฉะนั้น เวลามันปล่อยแล้วก็ปล่อยจริงๆ นั่นแหละ แต่ปล่อยแบบตทังคปหาน คือปล่อยแบบมีกิเลสอยู่ ปล่อยอย่างนี้ยังมีกิเลสที่ละเอียดหลบอยู่ ปล่อยเหมือนกัน ทีนี้พิจารณาซ้ำเข้าไปอีก ซ้ำเข้าไปอีก มันจะละเอียดพิจารณาซ้ำเข้าไปอีก สิ่งที่มันปล่อยที่มีกิเลสอยู่มันปล่อยบ่อยครั้งเข้า กิเลสมันจะซุกไปทางไหนก็แล้วแต่ แต่พออยู่ในที่มืดกิเลสมันก็หลบตัวได้ อยู่ในที่สว่างบ่อยครั้งเข้าเดี๋ยวเราก็เห็นตัวมันเอง นี่มันปล่อยอย่างนี้มีกิเลสอยู่ แต่ก็ปล่อยซ้ำปล่อยซาก ปล่อยซ้ำปล่อยซาก ตทังคปหานบ่อยครั้งเข้าๆ

ถาม : นี่ควรจะทำอย่างไรอีก?

ตอบ : ก็พิจารณาซ้ำเข้าไป จับแล้วพิจารณาซ้ำ จับอะไรก็ได้ที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าต้องจับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราต้องจงใจว่าจะเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แบบว่ามันเป็นประเด็นเดียวที่มันแคบ สิ่งใดก็ได้ อะไรก็ได้ถ้ามันยังจับได้ จับสิ่งนั้นแล้วพิจารณาซ้ำไปๆ ถ้าซ้ำไป ถ้ามันเป็นสมุจเฉท เวลามันขาดมันรู้แจ้งเลย ถ้ารู้แจ้งอย่างนั้น แต่มันต้องทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ทีนี้ถ้าเราไม่ทำ หรือเราชะล่าใจ พอชะล่าใจ พอเวลาจิตมันถอยออกมาไง พอจิตมันถอยออกมามันก็ไปรับรู้เรื่องโลกๆ รับรู้สิ่งที่เป็นอดีต สิ่งที่ทำมาแล้ว จะไปข้างหน้าก็ไม่ได้ จะไปข้างหลังก็ไม่ได้ จะไปข้างหน้าหรือเราก็ต้องลงทุนลงแรง เราเหนื่อยยากมาก จะไปข้างหลังหรือเราก็เสียดายที่เราปฏิบัติมาแล้ว ไอ้อยู่เฉยๆ หรือ อยู่เฉยๆ มันก็หงุดหงิด เวลาจิตมันพิจารณาไปแล้ว เหมือนกับที่ว่าออกกำลังกายรอบ ๒ รอบ ๓ มันเหนื่อย นี้การพิจารณาไปมันมีเจริญแล้วเสื่อม ถ้าเจริญเราก็ชุ่มชื่นดีงาม ถ้ามันเสื่อม เสื่อมเราก็ต้องตั้งใจ ตั้งสติของเรา แล้วแก้ไขของเราไป

กรณีอย่างนี้มันเป็นเวรกรรม เป็นเรื่องพันธุกรรมของจิต จิตของใครสร้างผลบุญมาอย่างไร สร้างเวรกรรมมาอย่างไรมันจะออกมาโดยพันธุกรรมของมัน ถ้าพันธุกรรมของมันเราต้องแก้ไขของเรา แก้ไขของเรา มันไม่เหมือนกันหรอก ในภาคปฏิบัตินะจะไม่มีใครเหมือนใครเลย เพราะว่าลายนิ้วมือของคนไม่เหมือนกัน ลายพิมพ์ของจิต พันธุกรรมของจิตยิ่งไม่เหมือนกันใหญ่ ถ้าไม่เหมือนกันใหญ่เราทำตามหน้าที่ของเรา เราทำความเป็นจริงของเรา เราขยันหมั่นเพียรของเรา ทำเพื่อประโยชน์กับเรามันจะเป็นความจริงกับเรา ขยันหมั่นเพียรของเราต่อไป

ถาม : ข้อ ๑๒๙๑. เรื่อง “การตั้งใจและการยึดมั่นถือมั่น จะทำอย่างไรให้หายกลัว”

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ หนูมีความข้องใจที่อยากจะให้หลวงพ่อช่วยเมตตาชี้แนะค่ะ

๑. การที่เราตั้งใจว่าต่อจากนี้ไปจะตั้งใจปฏิบัติภาวนารักษาศีล ไม่ยอมให้เสื่อมถอยลงไปอีกแล้ว มันจะกลายเป็นการยึดมั่นถือมั่นไปหรือไม่คะ

๒. ทำอย่างไรจึงจะหายกลัวผีคะ เวลาหนูนั่งภาวนาที่บ้านจะไม่กลัว แต่ถ้าไปที่อื่นที่เงียบแล้วนั่งอยู่คนเดียวจะกลัวค่ะ แต่ไม่กลัวเท่าตอนเดินจงกรม จะระแวงว่ามีอะไรอยู่ข้างหลัง จริงๆ หนูก็รู้นะคะว่าจิตนี่แหละที่มันเป็นตัวหลอกเรา หลอกมา ๓๐ ปีแล้วก็ยังไปเชื่อมันอีก รู้ทั้งรู้ แต่ก็ไม่รู้จะแก้อย่างไร

มีครั้งหนึ่งหนูนั่งสมาธิที่ระเบียงคอนโดของเขา มันก็เกิดความรู้สึกกลัว เสียวๆ สันหลังอยู่ในใจ แต่ก็พยายามนั่งภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ มันก็ยังกลัวอีก ก็เลยนึกขึ้นในใจว่ากลัวอะไร ถ้าผีจะมาหักคอก็จะนั่งให้มันหักคอ ให้มันหลอกให้ตายตรงนี้ จะไม่ลืมตาจากสมาธิเด็ดขาด มันก็ยังมีมาอีกความรู้สึกกลัวๆ เสียวๆ มาอีก ทีนี้ก็คิดถามขึ้นมาในใจว่าตกลงว่าใครกลัว ถ้าเราไม่กลัว ไอ้ที่มันกลัวนี้ใครกัน หนูสับสนค่ะว่าหนูทำไมถึงกลัวและไม่กลัวพร้อมกันได้ มันเกิดอะไรขึ้นคะ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : อันนี้เอาทีละข้อ

ถาม : ๑. การที่เราตั้งใจว่าต่อจากนี้ไปจะตั้งใจปฏิบัติภาวนารักษาศีล ไม่ยอมให้เสื่อมถอยลงไปอีก มันจะกลายเป็นการยึดมั่นถือมั่นไปหรือไม่คะ

ตอบ : เวลาจะทำความดีมันกลัวเป็นการยึดมั่นถือมั่น เวลามันอีลุ่ยฉุยแฉก สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เป็นความดี นี่คนเราแปลกนะ คนเราแปลก เหมือนว่าถือศีลๆ เวลาบอกว่าปกติเราก็ปล่อยตัวเราตามสบาย พอจะถือศีลติดขัดไปหมด เกร็งไปหมด ทำอะไรติดขัดไปหมดเลย เราถือศีลเราก็ถือศีล แล้วก็ปฏิบัติตัวเราธรรมดานี่แหละ สิ่งใดถ้าเรามีสติ ผิดศีลเราก็ไม่ทำ ถ้าเราทำโดยปกติ โดยที่เราไม่มีสติปัญญาเราก็ทำของเราตามความพอใจของเรา แต่ถ้าเราถือศีลเราก็ทำปกตินี่แหละ แต่ถ้ารู้ว่าผิดก็คือผิด เราพยายามงดเว้นๆ ไว้ อย่างนี้เป็นเรื่องปกติ แต่บางคนพอถือศีลแล้วจะเกร็งมากนะ ชีวิตถ้าบอกธรรมดาใช้ชีวิตปกติ แต่พอบอกจะถือศีลแล้วถือศีล ๕ มันไม่ปกติแล้ว มันไม่ปกติมันระแวง จะทำอะไรมันเป็นความทุกข์ร้อนไปหมดเลย

นี่กิเลสมันพยายามสร้างสิ่งกีดขวางไม่ให้เราเป็นคนดี แต่ถ้าเราจะเป็นคนดีของเรานะเราก็ถือว่าเราจะถือศีลแล้วเราอยู่ปกติของเรา ถ้ามันผิด ผิดก็คือผิด ผิดเราก็วิรัตขึ้นมาใหม่ แล้วเราทำของเราไป ให้ถือเป็นเรื่องปกติ ถ้าถือเป็นเรื่องปกติมันก็เข้าศีล ศีลคือความปกติของใจ แต่นี้พอปกติเราอยู่กับกิเลส อยู่กับความพอใจของเรา แต่พอเราถือศีลปั๊บมันก็เกร็ง อันนี้เป็นกรณีหนึ่ง กรณีที่ว่า ถ้าอย่างนี้เป็นการยึดมั่นถือมั่นไปหรือไม่? ถ้าการยึดมั่นที่ดีมันจะผิดตรงไหน?

นี่การยึดมั่น เวลาพ่อแม่บอกลูกนะ ลูกเป็นคนดีนะ ลูกก็บอกว่าแม่ไม่ได้ เดี๋ยวจะเป็นการยึดมั่นถือมั่น หนูจะทำอย่างไรก็ได้ มันก็ผิดใช่ไหม? อ้าว เวลาพ่อแม่ก็บอกลูก ลูกเป็นคนดีนะ ลูกก็ตั้งใจเป็นคนดี เป็นการยึดมั่นถือมั่นไหม? เราเป็นคนดี เป็นความปรารถนาดีของทุกๆ คน เราก็ทำของเรา ไม่เป็นการยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้าถือว่าเป็นการยึดมั่นถือมั่น ถ้าเป็นการยึดมั่นถือมั่นปั๊บมันก็บอกว่าคนเราไม่ต้องทำอะไรเลย ปล่อยมันลอยไปตามกระแส สิ่งนั้นเป็นคนดี ไม่ใช่ อันนั้นเป็นปลาตาย ปลาตายน้ำจะพัดมันไป แต่ชีวิตเราเป็นปลาเป็น

ปลาเป็น ดูสิปลามันจะว่ายทวนน้ำไปวางไข่ มันพยายามจะว่ายทวนน้ำของมันขึ้นไปเพื่อจะไปวางไข่เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน นี่ก็เหมือนกัน เราจะเป็นคนดี เราจะเป็นคนดีเราต้องทวนกระแส เห็นไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทวนกระแสกลับมาดูที่เรา

ฉะนั้น

ถาม : เป็นการยึดมั่นถือมั่นหรือไม่?

ตอบ : เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด แล้วความเห็นผิด ทิฐิถือความเห็นผิดแล้วก็ไหลตามมันไป แต่ถ้าจะเป็นความเห็นถูก ความเห็นถูกมันก็ต้องมีกฎเกณฑ์กติกา คำว่ากฎเกณฑ์กติกามันไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่น มันเป็นกฎเกณฑ์กติกาของคนดี ถ้ามันเป็นกฎเกณฑ์กติกาของคนดี เราถือกฎเกณฑ์กติกาของคนดีมันจะเป็นความยึดมั่นถือมั่นไปไหน มันเป็นความดี นี่มันไม่เป็นการยึดมั่นถือมั่นหรอก อย่าให้กิเลสมันหลอก โอ้โฮ ถ้าจะเป็นคนดีเป็นความยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้าปล่อยให้มันไหลไปตามกระแสนะ โอ๋ย เป็นคนดี คนดีอย่างนั้นโลกเขาต้องการเยอะมากเลย เพราะเดี๋ยวมันจะมาหลอกลวง มันจะมาดึงของมันไปนะ นี่ข้อที่ ๑

ถาม : ๒. ทำอย่างไรจึงจะหายกลัวผีคะ เวลาหนูนั่งภาวนาที่บ้านมันไม่กลัว เวลาไปที่อื่นนั่งอยู่คนเดียวมันจะกลัว

ตอบ : การกลัวผี ความกลัวนี่นะมันเป็นสิ่งที่มีมากับจิตทุกดวง การกลัว เห็นไหม การกลัว การระแวงต่างๆ มีมาก มีน้อยทุกๆ คน มีมาก มีน้อย จะบอกว่าจะไม่กลัวเลยไม่มี มันมีความกลัวนะ เพราะคนมีสติสัมปชัญญะมันรู้ถูก รู้ผิด อย่างเช่นพระเราเข้าป่าไป โดยจิตลึกๆ มันมีความกลัวอยู่ในใจลึกๆ แต่ขณะที่มีสติปัญญาเขาก็รักษาใจของเขาได้ กลัว แต่รักษาใจไม่ให้ตื่นตระหนก ไม่ให้ไม่มีเหตุมีผลชักนำให้จิตใจเราเสียหายไป

เรื่องความกลัว ความกลัวก็เหมือนกับสัญชาตญาณ คนเรานี่นะมีสัญชาตญาณ อะไรถูก อะไรผิดมันมีสัญชาตญาณของมัน แต่เรามีสติปัญญารักษา ถ้ารักษาสิ่งนี้ได้มันก็จบไป ถ้ารักษาไม่ได้ ทุกคนไปนี่กลัว เพราะเราธุดงค์มาในป่า เวลาพระกลัวผีนี่กลัวสุดๆ เลย เรากลัวไหม? กลัว แต่กลัวแบบอยู่ได้ กลัวนะ เวลากลัว แต่เวลาถ้าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้น ถ้ามีเวรมีกรรมต่อกันตามสบาย ตามสบายหมายความว่าต้องใช้เวรใช้กรรมตามนั้น คือว่าหลบหลีกไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีเวรมีกรรมต่อกันไม่สน เรานี่ไม่สนเลย นั่งที่ไหน อย่างไรสู้หมด ถ้าสู้มันก็จบไป

ฉะนั้น ความกลัว นี่เขาบอกว่าเราเป็นคนกลัวผี แล้วคนอื่นๆ ไม่เคยมีใครกลัวเลย ลองไปถามดูสิกลัวไหม? กลัวทุกคนแหละ มากหรือน้อย ทุกคนมีความกลัวอยู่ในจิตใต้สำนึกทุกคน มากหรือน้อย ถ้าคนไม่มีความกลัว ไม่มีความวิตกกังวลเลยนั่นคือพระอรหันต์ แล้วถ้ามันยังไม่เป็นพระอรหันต์ มี อย่างน้อยๆ ก็พรุ่งนี้จะกินอะไร พรุ่งนี้บิณฑบาตใครจะใส่บาตร มี แต่เก็บไว้ในใจ ไม่เอาออกมาข้างนอก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทำอย่างไรถึงจะหายกลัวผี หายกลัวผีก็ด้วยเหตุผลนี่ไง เหตุผลนะ ถ้าเรามีเหตุมีผลหายกลัวหมดแหละ ถ้าเราหายกลัว มันจะเสียววูบเสียววาบนี่เป็นธรรมดา แต่พอเสียววูบเสียววาบแล้วเราจะเอาสิ่งนี้มาย้ำคิดย้ำทำมันก็ไปตามนั้นไง ถ้าเราไปตามนั้นนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะสอน ผีตัวแรกคือจิตวิญญาณของเรา ผีตัวแรกคือความรู้สึกเรานี่แหละ เราก็เป็นผี ถ้าตายก็เป็นผี อยู่ก็เป็นผี แต่ถ้าเราทำคุณงามความดีก็เป็นเทวดา มนุสสเดรัจฉาโน มนุสสเปโต มนุสสเทโว

เป็นมนุษย์นี่มนุษย์ธรรมดา มนุษย์เปรต มนุษย์ผี นี่มันเป็นที่ใจ ถ้าเรามีสติปัญญาเราก็เป็นเทวดา ถ้าเราเป็นเทวดามันก็เป็นคนดีแล้วไง ถ้าเป็นคนดีเราจะกลัวผีไหม? ผีจะมาขอบุญเราต่างหาก ฉะนั้น เราใช้ปัญญานี่แหละมันจะแก้ได้ ถ้ามันแก้ได้ ความกลัวมันจะเบาลง แล้วความกลัวมันจะเก็บไว้จิตใต้สำนึกที่เราจะบริหารจัดการเราได้ เราจะไปนั่งที่ไหน ไปภาวนาที่ไหนมันก็จะสะดวกสบายขึ้น

ฉะนั้น เวลาคนที่เขาไปอยู่ป่าอยู่เขากัน ความกลัวนี่จะเป็นประโยชน์ ความกลัวนะ ในวิสุทธิมรรคพลิกเอาความกลัวมาเป็นมรรค ถ้าเราไม่กลัวเราก็ดื้อด้าน เราก็คิดตามแต่กำลังกิเลสมันพาไป ถ้าเราไปอยู่ในป่าในเขา ไปอยู่ในป่าช้ามันกลัว พอมันกลัวมันไม่กล้าคิด พอไม่กล้าคิดมันกลัวมันหาที่พึ่ง หาที่พึ่งพุทโธ พุทโธ พุทโธ เขาเอาความกลัวพลิกเอามาเป็นโอกาส พลิกมาเป็นโอกาสที่จะไม่ให้จิตมันฟุ้งซ่าน แต่ถ้าจิตมันไม่เคยกลัวอะไรเลย จิตมันมีแต่ความคึกคะนองของมัน มันไปได้เต็มที่แหละ

ความกลัวนี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านพลิกมาเป็นมรรคนะ พลิกมาเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาใจเรานะ เพราะใจเรามันกลัวใช่ไหม? ถ้ากลัวก็ต้องหาที่พึ่ง กลัวก็ต้องหาพุทโธสิ กลัวก็ต้องหาครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เราไม่ใช่กลัวแล้วก็อยู่กับผี แล้วก็ไหลตามมันไป ไอ้กลัวอย่างนั้นมันกลัวเสียหายไง แต่ความกลัวที่มันเป็นประโยชน์มันเอามาเป็นประโยชน์ได้ นี่คือปัญญา

ถาม : จริงๆ หนูก็รู้นะคะว่าจิตนี่แหละมันเป็นตัวหลอกเรา หลอกมา ๓๐ กว่าปีแล้ว แล้วก็ยังเชื่อมันอยู่อีกทั้งๆ ที่รู้

ตอบ : ทั้งๆ ที่รู้ ปัญญามีแต่มันอ่อนแอ ความกลัวมันเข้มแข็งกว่า ทั้งๆ ที่รู้ แต่โดนความกลัวมันเหยียบย่ำไว้ แต่ถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญาขึ้นมา ทั้งๆ ที่รู้แต่มันพัฒนาขึ้นมา มันก็มีกำลังมากกว่าความกลัว มันก็เหยียบความกลัวลงไป ถ้าเหยียบความกลัวลงไปมันก็ทำของมันได้ มันก็องอาจกล้าหาญของมันได้ แต่ลึกๆ มันก็ยังกลัวอยู่ ความกลัวอย่างนั้น เพียงแต่เราใช้ปัญญาไม่ให้มันมีกำลังมากกว่าสติปัญญาของเรา ถ้าไม่มีกำลังมากกว่าสติปัญญาของเรา เห็นไหม แล้วถ้าใช้ปัญญาอย่างนี้

ถาม : มีอยู่ครั้งหนึ่งหนูไปนั่งอยู่ นั่งแล้วมีความคิดถามขึ้นมาในใจว่า ตกลงว่าใครกลัว เพราะว่าเราไม่กลัว ไอ้ที่มันกลัวนี่มันคือใคร หนูก็สับสนค่ะว่าทำไมหนูถึงกลัวและไม่กลัวไปพร้อมกัน

ตอบ : เออ เวลากลัวก็กลัวจนไม่มีหลักมีเกณฑ์เลย เวลาพอมีสติปัญญามันยับยั้งได้ เห็นไหม มันยับยั้งได้มันกลัวกับไม่กลัวไปพร้อมกัน มันเริ่มกลัว กลัวผีก็คือกลัวธรรมดา พอมีสติปัญญา พอจิตใจมันสดชื่น เพราะจิตใจมันได้ปัญญานั่นล่ะไปกล่อม จิตใจเวลามันกลัวมันก็เสียว เพราะมันคิดแต่ความกลัว ความกลัวก็มีอำนาจเหนือกว่าจิต จิตก็มีแต่เสียวสันหลัง พอเวลามีปัญญา มีสติปัญญาที่เรานั่งอยู่

ถาม : ถ้าผีมาหักคอก็จะให้มันหักคอ ให้มันหลอกให้ตายตรงนี้ จะไม่ลืมตาจากสมาธิเด็ดขาด มันก็ยังมีความรู้สึกกลัวๆ เสียวๆ มาอีก แต่มันก็มีความไม่กลัวขึ้นมา

ตอบ : นี่พอมีปัญญาขึ้นมา พอปัญญา รู้ทั้งรู้มีปัญญาขึ้นมา ความกลัวนั้น เหตุผลของสติปัญญามันดีกว่า ทีนี้เหตุผลของสติปัญญา เหตุผลอันนี้จิตมันได้ลิ้มรส ปัญญานี้มันได้กล่อมจิต จิตได้ลิ้มรส จิตมันก็มีความไม่กลัวขึ้นมา มันไม่กลัวของมัน เวลาพิจารณาไปนะคนกลัว กลัวมากๆ ครูบาอาจารย์อยู่ในป่า กลัวๆ กลัวนะกลัวเสือจะมากิน กลัวจนเป็นไปได้ สุดท้ายใช้สติปัญญาว่าเสือก็มีเล็บ เราก็มีเล็บ เสือมีฟัน เราก็มีฟัน เรามีเหมือนเขาหมดเลย เรามีเหมือนเขาหมดเลย แล้วเสือมันไม่กลัวตัวมันเอง เราทำไมถึงกลัวล่ะ?

พอมันพิจารณาปัญญามันไล่เข้าไปๆๆ ไล่เข้าไปจนความกลัวนี้หายหมดนะ พอความกลัวหายหมดจะเดินเข้าไปหาเสือเลย แล้วมีความมั่นใจด้วยว่าเสือทำร้ายเราไม่ได้ เสือทำร้ายเราไม่ได้ ผีก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจมันใช้ปัญญาเข้าไปถึงที่สุดแล้วนะ มันชนะหมดแล้วนะ มันจะเรียกผีมาใส่หม้อ มันจะเรียกผีมาเลย อยากดูหน้าผี อยากดูหน้าผี แต่เดิมกลัวจนตัวสั่น แต่พอถ้ามันใช้ปัญญาแล้วนะ ผีๆ ผีเป็นอย่างไรจะเรียกผีมาดูเลย

นี่เวลากลัวก็กลัวจนตัวสั่น เวลากล้าก็กล้าจนตัวสั่น เห็นไหม นี่ความกล้า ความกลัวที่เกินไป ไม่มัชฌิมาปฏิปทามันก็ไม่เป็นประโยชน์ ฉะนั้น สิ่งที่ว่ากลัว กลัวจนเราทำสิ่งใดไม่ได้เลยมันก็ไม่ควรจะมี มันไม่ควรจะมาตัดโอกาสของเรา แต่สิ่งที่ว่าเราจะกล้าหาญจนที่ว่า เพราะว่าจิตทุกดวงนะ ทุกดวงใจสร้างบุญ สร้างกรรมมา เขาเป็นผี เป็นต่างๆ สถานะของเขาอย่างนั้น ถ้าเขาหมดเวรหมดกรรมจากชาตินั้น เขาไปเกิดที่ดีกว่าเราก็ได้ ฉะนั้น เวลาเขาไปตกสถานะนั้นมันก็น่าเห็นใจทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญาเราก็ไม่ควรทำอย่างนั้น แต่ถ้าเราไปกลัวเขาๆ ในความรู้สึกเราก็มี อันนี้มันเป็นเรื่องจิตใต้สำนึก เราดูแลเราแล้วมันจะแก้ไขเราไป นี่พูดถึงว่า “การกลัวผีจะแก้อย่างไร?” แก้นี่ก็คือการแนะนำเฉยๆ แต่เวลาเราศึกษา กลัวมา ๓๐ กว่าปีแล้ว ทั้งๆ ที่รู้ ทั้งๆ ที่รู้ก็แสดงว่าก็ศึกษาธรรมะมาเหมือนกัน ศึกษาธรรมะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม รู้แจ้งไง จบหมด ๓ โลกธาตุ มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป มันต้องมีเหตุมีผลของมัน

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เรากลัว เราต่างๆ มันก็เป็นพันธุกรรมในจิตของเรา ถ้าเราแก้ไขตรงนี้จบมันก็จบ พอจบแล้วเราก็ใช้ชีวิตของเรา เราก็ฝึกหัดภาวนาของเรา เพื่อประโยชน์กับใจของเรา เราหวังพ้นทุกข์ หวังไม่เกิดอีก ถ้าหวังไม่เกิดอีก นี่มันเป็นแค่ขวากหนามของการประพฤติปฏิบัติเท่านั้นเอง ถ้ามีขวากมีหนามอย่างนี้เราจะไปออกธุดงค์ เราจะออกไปภาวนาที่ไหนมันก็ไม่สะดวก ถ้าเรากำจัดขวากหนามของเรา การปฏิบัติของเราก็ราบรื่น แล้วเวลาเกิดปัญญาขึ้นไป เวลาจิตมันไม่ยอมลงนะก็อยากจะว่าไอ้กลัวๆ อยากจะได้อีก

ความกลัวนี่นะเราเอามาใช้เป็นมรรค เป็นประโยชน์ต่างๆ ได้ถ้าคนรู้จักใช้ พอเวลาจิตมันดื้อ มันด้านนะ เวลามันหยาบขึ้นมามันภาวนาก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ตันไปหมดเลย ไอ้กลัวๆ นี่เวลาหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง เห็นไหม ว่าหลวงปู่มั่นท่านจะให้พระไปอยู่กับเสือ ไปอยู่ป่าช้า ไปอยู่ต่างๆ แล้วหลวงตาท่านก็คิด ครูบาอาจารย์องค์ไหนจะกลั่นแกล้งลูกศิษย์ ครูบาอาจารย์องค์ไหนจะทำให้เราทุกข์ลำบาก แต่ครูบาอาจารย์นั้นท่านพิจารณาแล้วว่าจิตดวงนี้มันดื้อ จิตดวงนี้สอนแล้วไม่ฟัง จิตดวงนี้ต้องให้เสือมันช่วย จิตดวงนี้ต้องให้ผีมันช่วย ความกลัวๆ อย่างนี้มันจะได้ประโยชน์ ประโยชน์ตรงนั้นไง

ประโยชน์นะถ้าเวลาจิตมันดื้อ เวลาภาวนาไปแล้วล้มลุกคลุกคลาน ภาวนาแล้วไม่มีสิ่งใดจะมาเป็นประโยชน์ ไอ้ที่ว่ากลัวๆ ที่เป็นโทษๆ กับเรามันเป็นประโยชน์ได้ มันเป็นสิ่งที่พลิกมาเป็นมรรค พลิกมาเป็นประโยชน์กับการภาวนา นี่ครูบาอาจารย์ใช้อย่างนี้ตะล่อมจิต ใช้อย่างนี้ ใช้ความกลัว ใช้ป่าช้า ใช้เสือ ใช้สาง ใช้สัตว์ป่าช่วยดูแลรักษาจิตของลูกศิษย์ จนหลวงปู่มั่นท่านสร้างศาสนทายาทในสังคมไทยเราหลายองค์มากเลย หลวงปู่มั่นท่านสร้างศาสนทายาทมาด้วยวิชาการอย่างนี้ ด้วยจิตใจของท่าน ด้วยประสบการณ์ของท่าน แล้วท่านให้พระไปอยู่อย่างนั้นๆ แล้วพระที่ไปอยู่อย่างนั้นๆ ก็เป็นพระอรหันต์มาให้เรากราบไหว้บูชากันอยู่นี่ แต่ของเราพอเราเจออย่างนี้เราก็กลัว กลัวก็หาทางแก้ไขเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

นี่พูดถึงว่าการตั้งใจไง การตั้งใจยึดมั่นถือมั่น และทำอย่างไรจะให้หายกลัว ให้หายกลัวเราก็ปฏิบัติของเรา ถ้าเราทำของเราได้มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง