เทศน์พระ

รู้ไม่จริง

๒๖ มี.ค. ๒๕๕๖

 

รู้ไม่จริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อให้เป็นเข็มทิศเครื่องดำเนิน ถ้าไม่มีเข็มทิศเครื่องดำเนินนะเราดำน้ำของเราไป เวลาเราปฏิบัติเราก็ปฏิบัติไปตามความเห็นของตัวความเข้าใจของตัว ถ้าตัวเข้าใจสิ่งใดเราก็เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นความถูกต้อง เพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา นั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากนะ ขันธ์ ๕ ขันธ์ถ้าเป็นขันธ์ของพระอรหันต์ ภารา หเว ปัญจักขันธา ขันธ์นั้นไม่มีกิเลส ขันธ์นั้นเป็นภาระ ถ้าจะว่าขันธ์สะอาดบริสุทธิ์ก็ได้ เพราะขันธ์มันเป็นขันธ์ มันไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ฉะนั้น รู้เท่าทันตามความเป็นจริง สิ่งใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมวินัย ในพระไตรปิฎก ผู้ที่สิ้นกิเลสอ่านแล้วจะเข้าใจตามนั้น เห็นผลตามนั้น แต่เพราะเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ขันธ์ของเราถึงเป็นขันธมาร มาร มารนะ

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร แต่ของเรา จิตใจของเรามันเป็นมาร มันเป็นอวิชชา มันครอบงำมา มันทำให้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพุทธศาสนา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มารมันก็ศึกษาด้วย

ฉะนั้น เวลาเป็นขันธมาร เราศึกษาตามสัญญาอารมณ์ ศึกษาตามความเข้าใจของเรา พอศึกษาตามความเข้าใจของเรา แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ความเข้าใจอันนั้น แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นไปมันออกทะเลนะ ถ้ามันออกทะเลไป ออกทะเลไปเพราะเหตุใด? ดูสิขันธมาร ขันธ์มันเป็นมาร เพราะขันธ์มันเป็นมาร ความรู้สึกนึกคิดความบีบคั้นในใจมันก็เป็นความทุกข์ของเราอยู่แล้ว ความบีบคั้นความทุกข์ของเราในหัวใจ เราเอามาศึกษาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ว่าอยากจะพ้นจากทุกข์ๆ

ความที่อยากพ้นจากทุกข์ สิ่งใดมันก็จะตะกุยตะกายเอาไง มันจะตะครุบเงา สิ่งใดก็แล้วแต่ตะครุบว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ เวลาทฤษฎีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันชี้ไปสู่จิตใจ ชี้เข้าไปสู่ฐีติแห่งจิต ชี้เข้าไปสู่พญามารที่มันแอบซ่อนอยู่ในใจของเรา แต่พญามารที่มันแอบซ่อนอยู่ในใจของเรามันอยู่ในคูหาของจิต มันขับดันออกไป มันขับดันออกไปนี่มันส่งออก มันส่งออกไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่าเข้าใจๆ แล้วเราก็จะตะครุบเอาให้เป็นแบบนั้น

ฉะนั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นวิธีการ สิ่งที่เราศึกษาวิธีการขึ้นมา สัจจะความจริง เราศึกษาสัจจะความจริงที่มันอยู่ในใจของเรา ถ้ามันชี้กลับมา เห็นไหม ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราวางสิ่งนั้นไว้ แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติให้มันรู้จริงขึ้นมา รู้แต่ไม่จริงไง เรารู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ เวลาท่านไม่ถนัดในการเทศนาว่าการท่านไม่พูดหรอก ท่านไม่พูดของท่าน แต่ท่านรู้ของท่าน

ไอ้ของเรานี่พูดแจ้วๆๆ เลย พูดทุกอย่าง พูดทุกอย่างที่เรารู้ที่เราเข้าใจ แต่มันไม่จริงสักอย่างหนึ่ง มันไม่จริงสักอย่างเพราะมันรู้ไม่จริงไง เห็นไหม คำว่าความรู้ไม่จริง รู้ สื่อสารได้ พูดได้ เข้าใจได้ แต่ไม่จริง นี่ถ้าพูดได้ รู้ได้มันไม่จริง มันเป็นอย่างไรล่ะมันถึงไม่จริง ถ้ามันไม่จริงเพราะมันชำระล้างกิเลสไม่ได้ ถ้ามันชำระล้างกิเลสไม่ได้ เพราะมันเป็นสัญญาอารมณ์ ดูสิเวลาว่าฌานโลกีย์ๆ สิ่งที่เป็นโลกเป็นเรื่องฌานโลกีย์ นี่อภิญญา ๕ อภิญญาที่รู้ต่างๆ สิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ลึกลับมหัศจรรย์ไหม?

เรารู้ความรู้สึกนึกคิดของคน เราได้ยินเสียง เสียงเทวดาที่เขาคุยต่างๆ เราได้ยิน มีหูทิพย์ ตาทิพย์ต่างๆ นี่สิ่งที่รู้อย่างนี้มันเป็นฌานโลกีย์ มันเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ไหม? สิ่งนี้น่ามหัศจรรย์ นี่รู้ที่ไม่จริงไง รู้ที่ไม่จริงเพราะในสมัยปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเขาเป็นไปได้ เหาะเหินเดินฟ้าเขาทำได้ทั้งนั้นแหละ เครื่องยนต์กลไกเขาทำให้ได้ เขาพิสูจน์ได้ พอเขาพิสูจน์ได้ขึ้นมา นั้นมันเป็นเทคโนโลยีที่เขาพิสูจน์ได้ แต่หัวใจของคนที่คิดเทคโนโลยีขึ้นมาก็ยังต้องเกิดต้องตาย ยังเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ยังมีความทุกข์บีบคั้นในหัวใจ ใครคิดสิ่งใดขึ้นมาเพื่อเป็นวิชาชีพของเขา เพื่อเป็นอาชีพของเขา เพื่อความสะดวกสบายในโลกของเขา เขาก็ยังทุกข์ของเขา เห็นไหม

สิ่งที่เขาทุกข์เขายากเพราะใจเขาทุกข์ ฉะนั้น ฌานโลกีย์ๆ รู้ที่ไม่จริงมันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์นะ แล้วสิ่งที่มันลึกลับมหัศจรรย์ พอเราเข้าไป ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์เราก็เชื่อสิ่งนั้น ต่อไปภายภาคหน้าถ้าครูบาอาจารย์ของเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ คนที่ประพฤติปฏิบัติ พอรู้พอเห็นสิ่งต่างๆ สิ่งที่เป็นพื้นฐานเขาก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม แล้วคนก็จะเชื่อถือกันไปหมด เชื่อถือไปหมดเพราะคนรู้จริงที่จะชี้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูกมันไม่มีอยู่ไง นี่มันอยู่ในตำรา อยู่ในทฤษฎี ต่างคนต่างก็ว่าสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนจะวิเคราะห์วิจัยอย่างไรก็ได้ ถ้าวิเคราะห์วิจัยอย่างไรก็ได้มันก็เป็นเรื่องโลกไป

แต่ถ้าเราจะรู้จริงของเรา เห็นไหม ถ้าเรามีสติมีปัญญานะ เราพยายามทำความสงบของใจเข้ามา เราพุทโธก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ จะว่าเสียเวลา เราทำแล้วมันไม่ได้ผลเพราะเราต้องใช้ปัญญาของเราไป เราอยากจะพ้นจากทุกข์ ปฏิบัติแล้วจะให้รู้เห็นตามความเป็นจริง โลกเขาก็คิดกันแบบนั้น เห็นไหม ถึงว่าถ้ารู้ไม่จริงมันเหมือนจริงนะ รู้เหมือนจริงแต่ไม่จริง ถ้ารู้เหมือนจริงเพราะมันมีแบบอย่างไง ดูสินค้าหนีภาษีสิ ของเขาที่เขามีอยู่แล้วมันลอกเลียนแบบ มันเหมือนทุกอย่างเลย แต่คุณภาพก็ไม่เหมือนกัน คุณสมบัติทุกอย่างก็ไม่เหมือนกัน แต่เวลาคนไปใช้มันใช้ได้ชั่วคราว

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริง แต่เวลาเราไปศึกษามาเราจะสร้างอย่างไรมันก็ไม่จริงทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเราจะทำจริงของเราล่ะ? ทำจริงของเรานะ นี่สมบัติส่วนบุคคล ถ้าเป็นสติก็สติของเรา ถ้าคนมีสติกับคนขาดสติมันก็รู้ได้นะ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เวลาเรามีสติเรารักษาจิตของเราได้มันก็เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่พอเราขาดสติขึ้นมาเรามีความทุกข์ความร้อน แล้วเราก็จะถามว่าทำอย่างไร? ทำอย่างไร?

ก็มันพื้นฐานคือขาดสติเท่านั้นเอง แต่เวลาขาดสติขึ้นมา เวลามีสติขึ้นมามันควบคุมตัวเองได้ มันควบคุมได้มันก็นึกว่าตัวเองควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่เวลามันขาดสติขึ้นไปมันก็ไปตะครุบเอาแต่สัญญาอารมณ์ พอเอาแต่สัญญาอารมณ์มันก็มีความทุกข์ความยาก พอมีความทุกข์ความยากเราก็คิดว่าทำไมมันทุกข์มันยาก ทำไมมันทุกข์มันยาก เห็นไหม เราก็หาเหตุหาผลว่าทำไมมันทุกข์มันยาก ทั้งๆ ที่เหตุผลของมันก็คือขาดสติ แต่เวลามันมีสติเราก็ไม่รู้ เวลาขาดสติเราก็ไม่รู้ รู้แต่ไม่จริง นี่รู้แต่ไม่จริงนะ แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่รู้เสมือนจริง มันก็ไม่จริงอีกแหละ มันไม่จริงเพราะอะไร? มันไม่จริงเพราะว่ามันเป็นการคาดหมาย

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คำว่าสมควร เราทำอย่างไรมันจะสมควรล่ะ? คำว่าสมควรนะ สมควรนี่จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกันใช่ไหม คนอื่นเขาทำได้ เราศึกษามา เราฟังมาเราก็เอามาเป็นแบบอย่างเท่านั้น แต่เวลาเราทำแล้วไม่ได้เราต้องพิสูจน์เอา

นี่เวลาหลวงตาท่านพูดนะ บอกเวลาท่านอดนอนนี่ไม่ดีเลย อดนอนแล้วมันคิดอะไรไม่ออกเลย แต่ท่านอดอาหารดี เวลาครูบาอาจารย์บางองค์นะท่านอดอาหารแล้วมันกระวนกระวาย แต่เวลาท่านอดนอนดี ครูบาอาจารย์บางองค์นะท่านเดินจงกรม ๗ วัน ๗ คืนนี่สบายมากเลย บางคนเดินไม่ได้ แต่เวลานั่งนั่งได้ทั้งวันทั้งคืนเหมือนกัน

คนเราจริตนิสัยมันไม่เหมือนกัน นี้จริตนิสัยไม่เหมือนกัน สิ่งที่เขาทำแล้วเป็นประโยชน์ เราฟังไว้เป็นคตินะ คนที่เขาทำเป็นประโยชน์มันเหมือนกับว่านักวิทยาศาสตร์เขารื้อค้นสิ่งใดมา ถ้าไม่เป็นประโยชน์กับเรา เราก็ฟังไว้ ฟังไว้ว่าสิ่งนั้น วันหนึ่งสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน วันหนึ่งสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าจิตใจของเรามันพัฒนาขึ้นมา จิตใจของเรามันพัฒนาขึ้นมานะ เวลาขั้นของปัญญามันไม่มีขอบเขต เวลาขั้นของสมาธินะ เราทำความสงบของใจ พุทโธ พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันสงบเข้ามาเราก็รู้ได้ ถ้าเรารู้ได้นะ นี่มันเป็นความจริง

สติ เห็นไหม ชื่อของมันกับตัวของมัน สมาธิ ชื่อของมันกับตัวของมัน จิตใจเวลามันสงบระงับมันวางเข้ามาเรามีความร่มเย็นของเรา แล้วเวลามันเสื่อมมันก็เสื่อมของเรา เวลาคนเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติใหม่ เวลาดีนะมันก็เหมือนกับลอยมาจากฟ้า ทั้งๆ ที่คุณงามความดีเกิดขึ้นมาจากการเราสร้างสติ เกิดขึ้นจากเราบริกรรมพุทโธ เกิดขึ้นจากปัญญาอบรมสมาธิ หรือเกิดขึ้นจากการกระทำสิ่งใดก็แล้วแต่ แต่เราทำของเราไปโดยที่เรามีสติมีปัญญา แต่เราไม่คิดว่าเราไม่ได้คาดหมายคาดหวังผลว่าเป็นอย่างใด เวลาจิตมันลงขึ้นมามันตื่นเต้นมากเลย พอมันตื่นเต้นขึ้นมา จะไปทางซ้ายก็ไม่ถูก จะไปทางขวาก็ไม่ถูก ทำอย่างไรก็ไม่ถูก

ไม่ถูกเพราะอะไร? เพราะมันเป็นมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ พอจะตั้งใจไปไม่เป็นนะ พอจะตั้งใจ เวลาไม่ตั้งใจมันมา เวลาจะตั้งใจจริงๆ ทำไม่ได้ มันทำไม่ได้เพราะอะไร? นี่ชำนาญในวสี เห็นไหม การปฏิบัติใหม่ การปฏิบัติเริ่มต้น การปฏิบัติเริ่มต้นนะล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นแหละ นี่คนดิบๆ ไง คนดิบๆ จะทำให้เป็นคนสุก เวลาคนสุก เห็นไหม อาหารพวกกลอย เอามาดิบๆ กินนี่เป็นพิษนะ ตายได้นะ แต่เวลาเขาเอามาแช่น้ำ ที่น้ำไหลแช่ไว้ ๓ วัน ๗ วัน เอามานึ่งกินกลอยเป็นอาหารนะ

การประพฤติปฏิบัติของเรา ผลของมันเราต้องการปรารถนาผลของมัน เราปรารถนาผลของธรรมนะ นี้ผลของธรรม ถ้าเราปรารถนาผลใช่ไหม? ดูสิทางโลกเขาว่าเขาศึกษาทางปริยัติกันมา เขาศึกษาทางวิชาการกันมา เขาก็รู้หมด เวลาเขาศึกษาขึ้นมา เขาบอกว่าการปฏิบัติต้องใช้ปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เขาก็ใช้ปัญญาของเขากันไป แล้วเวลาเขามาเห็นพระป่า เห็นครูบาอาจารย์เราท่านแนะนำสั่งสอนให้ทำความสงบของใจ ให้กำหนดพุทโธก่อน

เขาบอกเป็นสมถกรรมฐานแล้วมันจะเป็นพื้นฐานที่จะทำวิปัสสนากรรมฐาน เขาบอกว่าสมถกรรมฐานมันก็ไม่เป็นประโยชน์ เห็นไหม เพราะเขาศึกษาของเขามา พอเขาศึกษาของเขามา เขาจะตะครุบเงา เขาจะตะครุบเอามรรคเอาผล แล้วเขาจะตะครุบเอามรรคเอาผล เขาจะไม่ได้มรรคได้ผลของเขาเลย เพราะมรรคผลมันตะครุบเอาจากข้างนอกมันไม่มี

มรรคผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันอยู่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ต้องสร้างบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านถึงวางธรรมและวินัยนี้ไว้ให้เราศึกษา ให้เราศึกษาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้เราเห็นจริงตามความเป็นจริงในหัวใจของเรา

ฉะนั้น มรรคผลมันอยู่ในใจ มรรคผลมันอยู่ที่ฐีติจิต มรรคผลมันไม่ได้อยู่ในตำรา มรรค ผลมันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย แม้แต่มรรคผลมันก็ไม่ได้อยู่ที่ขันธ์ด้วย มรรคผลมันอยู่ที่ฐีติจิต มันอยู่ที่ปฏิสนธิจิต มันไม่ได้อยู่ที่ขันธ์ แต่ขันธ์นี้มันครอบหัวใจนั้นอยู่ เห็นไหม ฉะนั้น เราศึกษานี่เราศึกษาด้วยขันธ์ ศึกษาด้วยสัญญาอารมณ์ ถ้าสัญญาอารมณ์เราศึกษาไปขนาดไหน เราศึกษามาแล้วมันก็เป็นทฤษฎี เป็นความจำ เป็นสิ่งที่เรารู้ได้

นี่สิ่งที่เป็นทฤษฎีที่เป็นรูปธรรม ความรู้สึกนึกคิดก็เป็นรูปธรรม แล้วเราก็สร้างมรรค สร้างผลว่าสิ่งนี้เป็นรูปธรรม ธรรมะจะเป็นความว่าง สิ่งที่เป็นสัญญาอารมณ์ขึ้นมามันเป็นความขัดข้องหมองใจ เวลามันปล่อยวางเข้ามาก็ว่าง ว่างนั่นก็คือนิพพาน มันจะไปตะครุบเอามรรคผลจากข้างนอกมันไม่มี มันไม่มีหรอก นิพพานไม่อยู่ที่ไหน? เห็นไหม เขาบอกนิพพานนี้เป็นภพไหม? เป็นสถานที่ไหม? เป็นต่างๆ นี่เขาคาดหมายกันไปว่าจะเข้าไปสู่นิพพานๆ

นิพพานเข้าไปสู่ไม่ได้ เพราะถ้าเข้าไปสู่ มันมีคนไปขวางนิพพานนั้นไว้ นิพพานมันคือนิพพาน นิพพานเกิดที่ฐีติจิต เกิดที่ปฏิสนธิวิญญาณได้ เกิดที่ปฏิสนธิจิตนี่มันเกิดได้เพราะมันเป็น ตัวจิตนี้มันเป็นนิพพาน แต่มันจะเข้านิพพานเอาที่ไหนมาเข้า ถ้าเอานิพพานมาเข้ามันไม่มีที่เข้า แล้วเวลาจะเอามรรคเอาผลไปตะครุบเอา เห็นไหมมันก็ไปตะครุบเงา ถ้าไปตะครุบเงา การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ถ้ามันสมควรแก่ธรรมนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติมา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ท่านปฏิบัติมาตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลาน นี่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านเป็นมนุษย์ไหม? ท่านบวชพระไหม? แล้วท่านฝึกหัดปฏิบัติขึ้นไปไหม? มันก็เหมือนเรานี่แหละ ตั้งแต่เป็นมนุษย์มาแล้วก็มาบวช พรรษา ๑ พรรษา ๒ พรรษา ๓ พรรษา ๔ นี่ไง มันก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ แต่เวลาท่านปฏิบัติขึ้นไปท่านล้มลุกคลุกคลานมา ท่านถึงมีอำนาจวาสนาบารมี ท่านถึงได้วางข้อวัตรไว้ชักนำพวกเราให้ทำประพฤติปฏิบัติ

เวลาฝ่ายปริยัติเขาก็บอกว่า ต้องใช้ปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เวลาหลวงตาท่านบอกว่าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่ใช้กันอยู่นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ โดยธรรมชาติของโลก โดยธรรมชาติของโลกความรู้สึกนึกคิดสัญญาอารมณ์เป็นธรรมชาติของโลก ถ้าธรรมชาติของโลกคิดอย่างไรมันก็คิดเป็นเรื่องโลก วิทยาศาสตร์คิดออกมามันก็โลกทั้งนั้นแหละ วิทยาศาสตร์เป็นทฤษฎี คิดออกมาเป็นเรื่องโลกนั่นล่ะ แต่เวลาถ้าทางทฤษฎีนั้นจะเอามาทำเป็นผลประโยชน์

ความรู้ไง ความรู้ในทางอุตสาหกรรม เขาต้องใช้ความรู้อันนั้นของเขา ความรู้นั้นก็เป็นเทคโนโลยี มันก็เป็นอริยสัจ มันก็เป็นสัจจะ แต่มันจะเป็นจริงขึ้นมาเขาต้องประกอบทำเป็นธุรกิจการค้าของเขาขึ้นมา นี่แม้แต่เป็นกฎหมายเขาก็เป็นที่ปรึกษากฎหมาย แม้แต่กฎหมายเขาก็เอามาเป็นกฎกติกา เอามาเป็นวิชาชีพของเขา นั่นเขาก็หาผลประโยชน์ขึ้นมาจากวิชาการกฎหมายของเขา นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นทฤษฎีเป็นโลก เราศึกษามาแล้วเราไปยึดเอาว่าเป็นของของเรามันไม่มีหรอก มันไม่มี ปริยัติแล้วปฏิเวธมันไม่มี

ถ้าเรียนปริยัติมา เห็นไหม ดูสิศึกษาวิชาการมา ถ้าเราไม่ตั้งสติ นี่เวลาเราศึกษาเรายังต้องมีสติเลย ถ้ามีสติเราก็อ่าน เราก็ทำความเข้าใจ เราทำวิจัย เราทำวิทยานิพนธ์ต่างๆ มันก็ทำได้ ถ้าขาดสตินะเราก็มึนงงนั่นล่ะ ทำสิ่งใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ คิดอย่างใดมันก็ทำสิ่งใดไม่ประสบความสำเร็จ แล้วคิดอย่างไรก็คิดไม่ออก แต่ถ้ามันกลับมาทำความสงบของใจ พอมันตั้งสติ พอมันมีสมาธิการศึกษานั้นมันก็ปลอดโปร่ง การทำวิทยานิพนธ์มันก็คล่องแคล่ว

ศึกษาแล้วได้มาก็ได้กระดาษมาใบหนึ่ง ได้กระดาษมาใบหนึ่งบอกเรามีความรู้ แล้วมีความรู้มันก็ยังเกิดยังตายอยู่ มีความรู้มันก็ยังทุกข์ยังยากอยู่ แล้วมีความรู้นี่ก็เอาความรู้เป็นวิชาชีพ เอาไปสอนทางวิชาการเพื่อหาผลประโยชน์ขึ้นมาเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ของเรานี่เราประพฤติปฏิบัติมาเราทิ้งมาหมดแล้ว เรามาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาโดยภาคปฏิบัติ

นี่ดูสิพระไตรปิฎกเราก็เปิดอ่านได้ จะเอาทางวิชาการใดเราก็รื้อค้นได้ เรารื้อค้นมาเพื่อมาเป็นเป้าหมายเครื่องดำเนิน เป็นเป้าหมายเพื่อเราประพฤติปฏิบัติ เป้าหมาย เป้าหมายมันก็ส่งออกสิ ไม่ศึกษามันก็งง จับหลักไม่ได้ว่าไม่มีสิ่งใดเป็นหลักยึดเลย เราก็ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ศึกษามาเป็นหลักยึด พอหลักยึดแล้ว นี่หลักยึดเราก็เทียบหลักยึดเข้ามาในใจ

ถ้าเข้ามาในใจนะ พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิมันก็เกิดจากจิตทั้งนั้น ถ้าจิตมันไม่คิด จิตมันไม่ระลึกขึ้นมามันก็ไม่มี เห็นไหม พุทโธ พุทโธ เราเขียนพุทโธแปะไว้มันก็เป็นอักษร คำว่าพุทโธอยู่ข้างนอก เราระลึกว่าพุทโธขึ้นมามันก็ระลึกพุทโธขึ้นมาด้วยสัญญา ด้วยความระลึกรู้ แต่ถ้าพุทโธ พุทโธจนมันละเอียดเข้ามาจนพุทโธไม่ได้เลย นี่ชื่อมันกับตัวมันแตกต่างกันอย่างใด? ชื่อมันก็ทฤษฎีใช่ไหม? เวลาเป็นตัวมันก็เป็นตัวจริงใช่ไหม?

นี่เวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธละเอียดเข้าไปๆ จนพุทโธไม่ได้เลย แล้วพุทโธไม่ได้เลยมันก็หลับไปใช่ไหม? พุทโธไม่ได้ก็คือไม่รู้สึกตัวเลยใช่ไหม? นี่มันตะครุบเอาเพราะมันไม่เคยเป็นความจริงขึ้นมาในใจ แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาในใจนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนละเอียด พอละเอียดขึ้นไปมันก็ตกใจแล้ว คนเรานะเวลากำหนดลมหายใจ ถ้าลมหายใจมันละเอียดขึ้นมาจนหายใจมันจะไม่มีในความรู้สึกนะ แต่มันมี เห็นไหม มันจะไม่มีในความรู้สึกเราก็ตื่นเต้น พอตื่นเต้นมันก็ตกใจ มันก็ออกมา มันก็หยาบอีก

เวลาพุทโธก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธจนละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปมันระลึกรู้อยู่ที่ใจ มันกังวานอยู่ที่ใจแต่มันละเอียด มันไม่ใช่ว่าพุทโธ พุทโธแล้วมันจะหายไปเลย แล้วพุทโธจนพุทโธไม่ได้เลย มันก็เห็นชัดๆ ไง เวลาจิตเดิมแท้มันผ่องใส มันผ่องใสขนาดไหน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ นี่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม นี่ถ้ารู้จริง มันเป็นความจริงขึ้นมา กลางหัวใจนี่มันเป็นความจริง รู้เหมือนจริงแต่ไม่จริง รู้ไม่จริงเลยมันยิ่งไปรู้โดยสัญญาทั้งหมดเลย รู้เหมือนจริงไง มันเหมือน มันเหมือนเพราะอะไร? มันเหมือนเพราะมันตกภวังค์ไง

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธละเอียดเข้ามาๆ เพราะการคาดหมาย เพราะการคาดหมายว่าพุทโธมันต้องละเอียด แล้วเราอยากจะเป็นคนดี เราอยากจะตะครุบเอา เราอยากจะตะครุบเงา เราอยากจะได้ของเรา เห็นไหม พุทโธ พุทโธแล้วก็พยายามบั่นทอนไง สติมันปล่อย สติมันไม่รับรู้มันก็ละเอียดขึ้น ความละเอียดนี่สติมันชัดนะ สติ มหาสติ พุทโธ พุทโธจนละเอียด ละเอียดจนมันพุทโธไม่ได้ มันพุทโธไม่ได้มันก็เห็นว่าทำไมถึงไม่ได้ เพราะเริ่มต้นถ้าจำไม่ได้มันจะตื่นเต้น

คนเรานะ คนหายใจ พอมันหายใจไม่ขัดมันก็เหมือนเราจะตาย ดูสิคนไข้เขาวางยาสลบ หมอที่เขาวางยาสลบเขาต้องการให้สลบไปเพื่อเขาจะผ่าตัด เพราะเขาคำนวณว่ายาควรจะให้มีความสลบไปกี่นาที กี่สิบนาที แล้วมันจะฟื้นมา ถ้าเขาวางยาผิดนะสลบแล้วไม่ฟื้นเลย สลบแล้วไม่ฟื้น นั่นคนไข้นิทราไปเลย แต่ถ้าเวลาจิตมันละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา

พุทโธ พุทโธ พุทโธที่มันละเอียดเข้ามา คนไข้เขาวางยาสลบ เพราะคนไข้เจ็บไข้ได้ป่วย หมอเขาวางยาสลบ แต่เวลาเราพุทโธ พุทโธ เวลาจิตมันจะหายไป เวลาสิ่งที่พุทโธมันจะหายไป ลมหายใจจะขาดมันเหมือนกับตกใจ พอตกใจขึ้นมามันก็ออกมา เวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธจิตมันละเอียดเข้าไปมันจะตกใจนะ เราไม่ตายหรือ? เราไม่ตายหรือ?

นี่กิเลสมันอยู่กับใจ ทำสิ่งใดเข้าไปกิเลสมันก็รู้ด้วย ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็รู้ด้วย เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริงมันก็รู้ด้วย รู้เหมือนไม่จริง มันรู้ไปหมดแหละแต่มันไม่จริงเลย เพราะมันมีกิเลสบวกเข้ามามันเลยเหมือนไม่จริง รู้แต่เหมือนไม่จริง รู้เหมือนไม่จริงเพราะมันไม่จริงจริงๆ นั่นแหละ แต่ไม่จริงเพราะอะไรล่ะ? ไม่จริงเพราะเรามี

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

ถ้าเรายังมีมารอยู่ในหัวใจ เรามีเจตนา เราดำริ เรามีการกระทำ มารมันก็ตามมาด้วย ทั้งๆ ที่ว่าพุทโธ พุทโธ ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา นี่บอกเลยศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าใครปฏิบัติโดยที่มีสติปัญญาสมบูรณ์ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีอย่างน้อยเป็นพระอนาคามี นี่เราก็ปฏิบัติด้วยความสมบูรณ์ของเรา เราปฏิบัติด้วยความเต็มใจของเรา แต่มารที่มันปฏิบัติกับเราด้วย จิตใจเวลามันละเอียดเข้ามาก็กลัวตายขึ้นมาอีก เวลากลัวตายขึ้นมาก็สะดุ้ง เวลากลัวตายขึ้นมามันก็อยากออกมา พออยากออกมา นี่เวลาภาวนาไปมันจะเจอแบบนี้

ถ้าคนปฏิบัติไป ทุกคนที่ปฏิบัติใหม่มันเจอเหมือนกันหมด แต่เวลาเจอเหมือนกันแล้วมันจะล้มลุกคลุกคลานไหม? เวลาเจอแล้วมันจะน้อยเนื้อต่ำใจไหม? เวลาเจอ ดูสิเราแสวงหาเงินเกือบเป็นเกือบตาย พอหามาแล้วทำเงินหาย เวลาจะหาสมบัติอะไรขึ้นมา หามาอยู่กับเรา หามาหยิบอยู่กับมือ แล้วมันหายไปเฉยๆ ต่อหน้า คนเราจะน้อยใจไหม? คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่มันเหมือนจะได้ เหมือนจะเป็น แล้วมันหลุดไม้หลุดมือไป มันก็น้อยเนื้อต่ำใจเป็นธรรมดา

พอน้อยเนื้อต่ำใจ นี่กิเลสมันสวมรอยแล้ว กิเลสมันสวมรอยนะให้เราล้มลุกคลุกคลานเลย เห็นไหม ปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้ ปฏิบัติแล้วก็ไม่เป็นความจริงสักที ถ้ามีสติปัญญานะ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี่มารเกิดโดยธรรมชาติ ทีนี้ถ้าเรามีสติปัญญาเราก็บอกว่า ใช่ มันเกิดอย่างนี้แหละ เพราะมันเป็นอย่างนี้ไง มารมันละเอียดอย่างนี้ไง เราถึงต้องต่อสู้ไง คนที่มีสติมีปัญญาอย่างเรา คนที่มีสติมีปัญญาเป็นชาวพุทธที่ออกบวชอย่างเรา เห็นไหม เราพยายามต่อสู้ก็ต่อสู้อย่างนี้ไง

งานหยาบๆ โลกเขามีการกระทำกัน โลกนะกี่พันล้านคนเขาทำมาหากินกันทั้งโลก แล้วมาบวชพระมันมีเท่าไหร่? แล้วบวชพระแล้วมีใจฝักใฝ่เกี่ยวกับการปฏิบัติ มีใจฝักใฝ่เกี่ยวกับการฝึกหัดบังคับจิตของตนเองมีเท่าไหร่ ศึกษามา บวชมาแล้วเขากลัวจะไม่รู้ กลัวจะไม่มีศักดิ์ศรีทางสังคม ก็พยายามจะศึกษาทางโลกกัน ศึกษาทางวิชาการกัน เอากระดาษมาคนละใบมาอวดกันว่าครั้งนั้นครั้งนี้กัน แต่เวลาเอาใจของตัวจริงๆ พูดไม่ได้ พูดไม่ได้เพราะอะไร? เพราะที่พูดธรรมะออกมานั้นเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดศรัทธาความเชื่อเท่านั้น มันไม่เกี่ยวกับวิถีแห่งจิต มันไม่เกี่ยวกับความได้ความเสียของใจของเรา มันไม่เกี่ยวกับตัวของเราเลย มันไปเกี่ยวกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ สิ่งนั้นมันเป็นสัจจะ วิทยาศาสตร์นี่ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้น วิทยาศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงของมันตลอดเวลา แล้วทฤษฎีสัมพัทธภาพเขาอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของมัน เห็นไหม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิต่างๆ ที่มันเปลี่ยนแปลงของมัน นี่ก็เป็นวิทยาศาสตร์ นี่ก็เป็นธรรมชาติ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นธรรมชาติ แต่สิ่งที่หัวใจเขารู้ธรรมชาติ รู้สิ่งที่เหนือกว่า ที่มันรู้เท่าความเป็นจริงเพราะมันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งใช่ไหม?

นี่ชีวิตของเราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ เรามาบวชเป็นพระก็ธรรมชาติอันหนึ่ง ธรรมชาติอันหนึ่งเกิดมาบนโลก เกิดมาเป็นมนุษย์ ธรรมชาติอันหนึ่งเกิดจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ญัตติจตุตถกรรมขึ้นมาเป็นพระ มันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง

นี่ไง รู้เหมือนไม่จริง รู้แต่มันก็ไม่จริง มันไม่จริงเพราะอะไร? มันไม่จริงเพราะมันเป็นสัจจะ อริยสัจจะตามความเป็นจริงที่เราปรารถนา เราปรารถนาเราจะแก้กิเลสของเราไง เราจะไปตะครุบเอามรรคผลนิพพานจากไหน เราก็ต้องตะครุบเอามรรคผลนิพพานจากเหตุ จากเหตุเริ่มต้นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เรามีสติ ให้มีสติ ถ้ามีสติการกระทำทุกๆ อย่างๆ มันจะเป็นธรรม เป็นธรรม การศึกษาทางวิชาการถ้ามีสติเราก็ศึกษาทางวิชาการด้วยความเข้าใจ เราจะทำงานหน้าที่สิ่งใด ถ้าเรามีสติงานนั้นก็จะประสบความสำเร็จ เรากำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้ามีสติพุทโธก็เป็นพุทธานุสติ เรากำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้าขาดสติอันนี้มันก็เป็นการท่องบ่น เป็นการท่องบ่น

ดูสิเวลาทางวิชาการเขาจะศึกษาเขาก็ท่องบ่นทางวิชาการของเขาเหมือนกัน เขาท่องบ่นวิชาการขึ้นมาเพื่อความรู้ของเขา เดี๋ยวความรู้ของเขาสัญญาความจำมันลืมไปเขาก็ทบทวนของเขา อันนี้เป็นทางวิชาการของเขานะ แต่ของเรานี่เราจะเอาเนื้อแท้ เนื้อแท้ของเราคือเอาตัวจิตของเรา ถ้าตัวจิตของเรา ถ้าเราไม่มีสติ เราไม่กำหนดระลึกบริกรรมพุทโธขึ้นมา ระลึกพุทโธขึ้นมามันก็เป็นพุทธานุสติ พุทธานุสติมีสติด้วย ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามันละเอียดลึกซึ้งขึ้นมาเราก็มีแก่ใจ มีกำลังใจ มีกำลังใจเพราะ เพราะแค่จิตนี้มันเกาะพุทโธไว้ แค่จิตมันเกาะพุทโธไว้มันก็ไม่เร่ร่อนแล้ว

สิ่งที่มันร้อนอยู่นี่นะจิตมันอยู่กับเรา ความรู้สึกนึกคิดอยู่กับเรา เราบวชเป็นพระ ห่มผ้านี่ห่มผ้าจีวรแต่หัวใจมันคิดไปร้อยแปด หัวใจมันคิดออกไปข้างนอก เห็นไหม เพราะอะไร? เพราะมันไม่เกาะพุทโธไว้ไง มันทิ้งพุทโธ แล้วมันก็ออกไปแส่ส่ายหาแต่ความพอใจของมัน แต่ถ้าเรามีสติบังคับเลย ตอนนี้เป็นพระ ถามตัวเองเลยว่าตอนนี้เป็นอะไร? ตอนนี้เป็นพระ นี่ร่างกายเป็นพระ ห่มผ้าไตรจีวรอยู่นี่แต่จิตใจคิดเรื่องอะไร?

ถ้าจิตใจมันคิดเรื่องธรรม พุทธานุสติ คิดว่าพุทโธ พุทโธมันเป็นพระทั้งกายและใจ แต่ถ้ามันกำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้าจิตละเอียดเข้าไป เห็นไหม พอจิตเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเกิดที่มันใช้ปัญญาของมันขึ้นมา เวลามันพิจารณาขึ้นไป เวลาจิตมันพิจารณาของมันขึ้นมา พิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม พิจารณาแยกแยะของมัน จนถึงที่สุดถ้าสมุจเฉทปหานมันขาด เป็นพระทั้งกายเป็นพระทั้งใจ นี่เพราะเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี นี่สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔

“การเห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง”

เราบิณฑบาต ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดสัตว์ แต่เรานี่ไปให้โยมโปรด ถ้าโยมไม่ใส่บาตรเราไม่ได้ฉัน แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจิตใจท่านเป็นธรรมนะ ท่านเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา เวลาโปรดสัตว์ ใครแค่ได้เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบุญอย่างยิ่ง แล้วเรานี่เราไปบิณฑบาตไปให้เขาโปรดนะ ถ้าเขาไม่ใส่บาตรมันก็ไม่ได้ฉัน

ถ้าได้ฉัน นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดสัตว์ เห็นไหม เราถามตัวเราว่าเราเป็นอะไร? ถ้าตัวเรามันคิดได้ว่าเราเป็นพระ ถ้าเราเป็นพระเราต้องปฏิบัติ ร่างกายของเรานี่สมณะสารูป การเคลื่อน การไหว การไปให้ไปสมกับความเป็นพระ โลกเขาเป็นอย่างนั้น โลกเขามีกฎหมายทางโลกนะ เราเป็นพระนะเราเกิดเป็นประชาชน เราเกิดเป็นคนไทย คนไทยเราต้องนับถือกฎหมายไทย พระนี่กฎหมายทางโลกก็มีผลบังคับ แล้วเวลามาบวชแล้วเรายอมรับศีล ๒๒๗ ถ้าในพระไตรปิฎกก็ ๒๑,๐๐๐ ข้อ นี่เรายอมรับสิ่งนี้ ถ้าเรายอมรับสิ่งนี้ ประเพณีวัฒนธรรม

โลก เห็นไหม ปลาอยู่กับน้ำ เราอยู่กับบริษัท ๔ เราเป็นบริษัทหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้บวชเราก็เป็นอุบาสก เวลาเราบวชแล้วเราก็เป็นพระ นี่พอเราเป็นพระขึ้นมา บริษัท ๔ นี่บริษัท ๔ ปลากับน้ำมันอยู่ด้วยกัน ถ้าอยู่ด้วยกันสมณะสารูปเพื่ออะไร? เพื่อความชื่นชม เพื่อความเบิกบานในใจของบริษัท ๔ แล้วเวลาบริษัทหนึ่ง เห็นไหม ถ้าเราอยู่ในเพศของพระเราก็ต้องเป็นสมณะสารูป สมณะสารูปคือกิริยาการเคลื่อนไหว ความเป็นอยู่ของเรา ความเป็นอยู่ต่างๆ เราก็มีทั้งกฎหมายโลก มีทั้งธรรมวินัยบังคับ แล้วถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เรามีสติปัญญานะ เราจะรักษาใจของเรา

ถ้าจิตเป็นสมาธินะ รูปฌาน อรูปฌาน มันเป็นรูป มันเป็นที่ตั้ง มันตั้งมั่น จิตเอกัคคตารมณ์จิตตั้งมั่นเป็นอย่างไร? นี่สิ่งที่เป็นนามธรรมๆ เวลาทำสัมมาสมาธิขึ้นมามันจะเห็นของมัน ผู้ที่มีอำนาจวาสนานะเข้าฌานสมาบัติ เห็นไหม ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เวลาเขาเข้า เขาออกมันเป็นอย่างไร เขารู้เขาเห็นของเขานะ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี่รูปฌาน เวลารูปฌาน อรูปฌานไง

นี่เวลาปฏิบัติขึ้นไปนะ เวลาปฏิบัติขึ้นไป เวลาละสังโยชน์ นี่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ เวลาสังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ นี่ไงรูปฌาน อรูป ฌาน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา รูปราคะ อรูปราคะ นี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันว่างหมด นี่รูปราคะ อรูปราคะ มันเป็นรูป มันเป็นสิ่งที่มันจับต้องของมันได้ สิ่งที่เป็นอรูป สิ่งที่เป็นอรูป เห็นไหม นี่ความผ่องใสๆ สิ่งที่มันเป็นไป สิ่งที่เป็นนามธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันจะเห็นของมัน มันจะจับต้องของมัน พอจับต้องของมัน นี่ไงถ้ามันสมถกรรมฐาน สิ่งที่พุทโธ พุทโธไม่มีความหมาย

มรรค ผล นิพพาน ตะครุบเอาจากข้างนอกมันไม่มี ถ้ามรรค ผล นิพพาน เกิดขึ้นจากจิต เวลาจิตมันรู้มันเห็นของมันนะ เวลามันพัฒนาของมันนะ เวลาจิตมันทุกข์ใครเป็นคนทุกข์ เราบวชเป็นพระ เป็นชื่ออะไรก็แล้วแต่เราเป็นพระ เวลามันทุกข์มันยาก จีวรมันก็ไม่ทุกข์ บาตรมันก็ไม่ทุกข์ บริขาร ๘ มันไม่ทุกข์เลย บริขาร ๘ ไปหาซื้อที่ร้านก็มี อ้าว บาตรมันร้องไหม? บาตรมันเจ็บปวดไหม? มันก็ไม่เจ็บปวด นี่บวชเป็นพระก็ไม่เห็นใครทุกข์ ถ้าเป็นฆราวาสเป็นคน คนไหนมันทุกข์ มันก็ไม่เห็นมันทุกข์ แต่เวลามันทุกข์ขึ้นมามันทุกข์ที่ไหนล่ะ? มันทุกข์ที่ใจ

นี่เวลาใจของเรามันทุกข์มันยาก เวลาใจมันทุกข์มันยาก นี่เวลาอุบาสกเขาก็ทุกข์ของเขา เวลาเราบวชเป็นพระเราก็ทุกข์ของเรา แต่สถานะของอุบาสก สถานะของพระ อะไรมันทุกข์ล่ะ? นั้นเราหาไม่เจอ เราหาทุกข์ไม่ได้ เราจับต้นชนปลายไม่ได้ เราจะเริ่มต้นอย่างใด? แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ พอจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม ถ้ามันจิตสงบได้เราก็มีความสุขแล้ว จิตที่มันเร่ร่อน นี่จิตที่เร่ร่อนที่มันแส่ส่ายไป แล้วมันก็ว่ามันรู้นะ ศึกษามาแล้วนะมันรู้ ศึกษาปริยัติมาก็รู้ ปฏิบัติมาเป็นฌานโลกีย์ เป็นต่างๆ มันก็ว่ามันรู้

รู้แต่มันไม่จริง ไม่จริงเพราะว่ามันระงับกิเลสไม่ได้ รู้แต่ชำระล้างกิเลสไม่ได้ แต่ถ้าเป็นอริยสัจ สัจจะความจริงในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปรื้อค้นมานะกับเจ้าลัทธิต่างๆ รื้อค้นมาตลอด ทำทุกขกิริยามา ๖ ปี นี่พยายามจะศึกษาให้มันรู้นะ แล้วมีคนคะยั้นคะยอด้วยว่ารู้จริงเห็นจริง แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ ไม่รู้ ไม่รู้ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากำหนดอานาปานสติ แล้วเวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ เวลาอาสวักขยญาณขึ้นมา ชำระล้างแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบอกว่าไม่รู้อีกเลย คำว่าไม่รู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่พูดถึงอีกเลย

นี่เวลาตรัสรู้ขึ้นมา เห็นไหม เวลาออกโปรดสัตว์ ที่มีคฤหัสถ์ ๒ คนที่ไปเจอ ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าใครเป็นศาสดา? เห็นกิริยาท่าทางไง ถ้าคนนะมันเห็นธรรม ใจเป็นธรรม การเคลื่อนไหวนี่คนเขาดูออก เวลาเขาดูออกนะเขาถามว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชมาจากใคร? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเราตรัสรู้เองโดยชอบ เขาไม่เชื่อ เขาสั่นหน้าแล้วหนีไปเลย

สิ่งที่เขาสั่นหน้าหนี เขาไม่มีอำนาจวาสนา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงไปเทศน์โปรดเอาปัญจวัคคีย์ เวลาไปเทศน์โปรดเอาปัญจวัคคีย์ นี่สิ่งที่ว่าไม่บอกว่าไม่รู้อีกเลย เพราะมันรู้จริง พอมันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ถ้ารู้จริงมันเต็มหัวอก มันรู้ของมันจริงๆ แล้วไม่มีสิ่งใดจะเข้ามาแปลกแยก ไม่มีสิ่งใดจะเข้ามาชักนำให้มันเคลื่อนไหวไปเป็นอย่างอื่นไปได้อีกเลย มันจะมาชักนำ จะมาล่อ มาหลอก มายั่ว มายวน มาทำมารยาสาไถยให้มันออกนอกลู่นอกทางมันเป็นไปไม่ได้เลย มันเป็นไปไม่ได้เลย

เวลารู้ตามความเป็นจริงขึ้นมาแล้วมันจริง มันยิ่งกว่าจริง พอมันยิ่งกว่าจริง พอเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเป็นธรรมว่า ถ้าผู้ใดบรรลุธรรมขึ้นมา เหมือนกับแท่งศิลายาว ๘ ศอก ฝังดินไป ๔ ศอก โผล่จากดินมา ๔ ศอก จะมีลมพัดพายุโหมกระหน่ำขนาดไหน เสานั้นจะไม่หวั่นไหวเลย นี่ถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริง เหตุใดถึงเป็นจริงล่ะ? เหตุที่เป็นจริงมันต้องมีที่มาที่ไป

คำว่าจริงๆ เวลาเขาบอกกันสมัยนี้ นี่บอกว่ากินแล้วก็อิ่มเอง กินแล้วก็อิ่มเอง กินแล้วก็อิ่มเองมันต้องมีเหตุมีผล กินแล้วอิ่มเองกินอะไรถึงอิ่ม ถ้ามันกินแล้วมันไม่อิ่ม เห็นไหม ดูสิเวลาทำสมาธิขึ้นมามันส้มหล่น มันก็เป็นขึ้นมาได้บางครั้งบางคราว เวลามันเสื่อมไปแล้วหาต้นชนปลายไม่ถูก เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาที่เป็นจินตนาการขึ้นมา ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แยกแยะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันทะลุทะลวงไปหมดเลย เวลาพิจารณาปล่อยวางไปแล้ว เวลากิเลสมันไม่ได้ชำระล้างไป เวลากิเลสมันย้อนกลับมานี่ไปไม่ถูกเลย อิ่มตรงไหนล่ะ? อิ่มตรงไหน?

บอกกินแล้วอิ่มเองอิ่มอย่างไร? ถ้ากินแล้วมันอิ่ม อิ่มนี่สัจจะมันต้องเป็นความจริง เห็นไหม ดูสิอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เวลามันพอใจขึ้นมาเป็นกามสุขัลลิกานุโยค นี่สมความปรารถนาไปทั้งหมด ทำสิ่งใดก็ดีไปหมดเลย นี่กามสุขัลลิกานุโยค เดี๋ยวมันก็เสื่อมเพราะมันไม่มีที่มาที่ไป มันไม่มีเหตุมีผล แต่ถ้าเป็นอัตตกิลมถานุโยค ดูสิทำไปแล้วมันทรมานตนขนาดไหนมันก็ไม่เห็นเป็นความจริงขึ้นมา

มันจะเป็นอัตตกิลมถานุโยคหรือกามสุขัลลิกานุโยค พิจารณาของมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันมีเหตุมีผลมันจับต้องของมัน ถ้ามันจับต้อง มันพิจารณากาย ถ้าเห็นกายตามความเป็นจริงมันก็สะเทือนถึงหัวใจ นี่ดูสิพิจารณากาย จิตสงบแล้วมันเห็นกายขึ้นมา นี่มันเป็นนิมิตไหม? มันก็เป็น ถ้าเป็นนิมิตขึ้นมา ถ้ามันจับต้องได้ ถ้าจิตมันมีกำลังของมัน นี่พอรำพึงเข้าไปแล้วมันจะเป็นสภาวะแบบนั้นเลย

นี่คนปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ จนมีความชำนาญ เวลากาย ขึ้นพิจารณากายมันก็แยกแยะไปตามความเป็นจริงของมัน นี่มันปล่อยวางของมันไป มันย่อยสลายเข้าไปสู่ความจริงของมัน พอจิตมันรู้มันเห็นขึ้นมามันก็สำรอก มันก็คายของมันออก พอมันคายแล้วคายเล่ามันต้องมีเหตุของมัน นี่กว่ามันจะอิ่มมันอิ่มเพราะอะไร? คนนะเวลากินไก่กินเป็ดเขาไม่กินทั้งตัวหรอก นี่กินแค่อิ่มเอง เจอเป็ดขึ้นมาก็จับทั้งตัวเคี้ยวเลย เวลาเจอไก่ขึ้นมา ไก่วิ่งมาก็จับไก่เคี้ยวเลยไม่มี

ในท้องตลาดเขาต้องเชือดไก่ก่อน เชือดแล้วเขาต้องไปถอนขน ถอนขนเสร็จแล้วเขาต้องควักเอาเครื่องในมันออก เสร็จแล้วเขาต้องมาทำอาหาร พอทำมาเป็นอาหารแล้วเขายังต้องเลือกว่า นี่ถ้าเป็นพ่อครัวใหญ่เขาก็จะเลาะเอากระดูกมันออก นี่ก็เหมือนกัน ไก่ทั้งตัวเคี้ยวหมดเลย อิ่ม อิ่มหนำสำราญ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นความจริงนะ ถ้ากินกินอะไร?

สมัยปัจจุบันนี้เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่ากินเองก็รู้เอง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ทีนี้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ว่ากินมันก็อิ่มเอง กินก็อิ่มเองเพราะเขาไม่ต้องการธรรมที่แท้จริง เขาไม่ต้องการความรู้จริง เขาต้องการความไม่รู้กับความรู้เสมือนจริงคุยกัน แต่เขาไม่ต้องการความจริง เพราะถ้าเขาต้องการความจริง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นี่ในเมื่อเรากินอาหารมาเรากินอาหารอะไร? อาหารนั้นประกอบไปด้วยอะไร?

ในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม นี่ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบมันทำอย่างใด? อาหารที่จะมาประกอบเป็นอาหาร นี่อาหารที่เป็นสารพิษ ตอนนี้ดูสิสารเร่งเนื้อแดง สารฟอมาลีนที่เขาแช่เนื้อสัตว์มา นี่ประกอบไปอย่างนี้เป็นอาหารไหม? นี่อิ่มไหม? ตาย กินฟอมาลีนก็ตายสิ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาที่ว่าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเขาต้องการความรู้จริง ถ้ามีสติ สติอย่างไร? ถ้าทำสมาธิ สมาธิเป็นผลอย่างไร? นี่สมาธิเวลามันสงบร่มเย็นมา สงบร่มเย็นแล้วมันดีอย่างไร? ถ้ามันดีแล้ว พอมีสมาธิแล้วมันเกิดปัญญาจับต้องกาย เวทนา จิต ธรรม นี่เกิดสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง จิตถ้าเป็นตามความเป็นจริง สงบระงับตามความเป็นจริง มันจะรู้จะเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมตามความเป็นจริง

คนที่เวลาเห็นเวทนานะ จิตที่สงบแล้วเห็นเวทนา จับเวทนาได้ พิจารณาเวทนา เห็นไหม เวลาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวทนาไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เวทนา นี่เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา มันเป็นอย่างใด? แต่เวลาเวทนาเป็นเรานี่มันเป็นจริงๆ เวลาเวทนาไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่เราด้วยแล้วไม่ใช่ทุกข์ด้วย เวทนาก็ไม่ใช่เรา ขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่เรา แล้วไม่ใช่เราแล้วยังไม่ใช่ทุกข์อีกต่างหาก มันก็ไม่ทุกข์ด้วย แล้วมันก็ไม่ใช่ของเราด้วย แล้วมันอยู่กับเราอยู่นี่มันเป็นอย่างไร?

อ้าว ใครไม่มีเวทนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน นี่บอกพระอานนท์

“อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน ตักน้ำมาให้เราฉันเถิด”

พระอานนท์ไม่อยากจะตักเลย เพราะว่าน้ำนั้นกองเกวียนเขาเพิ่งผ่านไปน้ำมันขุ่น

“ขอนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปข้างหน้าเถิด ไปข้างหน้าจะมีลำธารที่ใสสะอาด”

“อานนท์ เรากระหายเหลือเกิน กระหายเหลือเกิน”

นี่ไงมีเวทนาไหม? นี่คือเวทนา เวทนามันมี นี่ภารา หเว ปัญจักขันธา เป็นภาระ เป็นเครื่องดำเนิน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดำเนินไปคืนนี้เพื่อปรินิพพาน จะเอาธาตุขันธ์นี้ไปโยนทิ้ง จะเอาธาตุขันธ์นี้ไปโยนทิ้ง แล้วอนุปาทิเสสนิพพานคือสิ้นสุดกันเสียที เห็นไหม นี่เวทนามันก็คือเวทนา แล้วมันจับต้องเวทนาอย่างไร? พิจารณาเวทนาอย่างไร? แล้วสรุปว่าเวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาอยู่กับเรา เป็นภาระหน้าที่ต้องดูแลกันไปเพราะยังมีชีวิตอยู่ เวทนาอยู่กับเราแต่ไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา แต่มันอยู่กับเรา นี่ไงรู้จริง รู้จริงเป็นความจริง

ถ้ารู้จริงมันก็จริงของมัน เห็นไหม รู้เหมือนจริง รู้ไม่จริง นั้นมันเป็นความรู้ของกิเลส แล้วเราก็มีกิเลสนะ เรามีกิเลส เราพยายามจะแก้ไขของเราอยู่ ชีวิตของเรา เราเป็นสมณะ เรามีธรรมวินัย เราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ความเป็นอยู่ของเรา นี่ดำรงชีวิตนี้ไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ มันจะทุกข์มันจะยากในความเห็นของกิเลสนะ แต่ถ้าเป็นธรรมไม่ทุกข์ไม่ยากหรอก คนเขาทุกข์เขายากกว่าเราเยอะนะ เขาปากกัดตีนถีบเพื่อหาอยู่หากิน เขาทุกข์ยากวิตกกังวลไปหมดเลย

เรานี่เช้าขึ้นมาเราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ทำข้อวัตรปฏิบัติแล้วนี่ประคองบาตรออกไปภิกขาจาร กลับมาเพื่อดำรงชีวิต แล้วหาความสงบสงัด ฉันแล้วให้อยู่โคนไม้ ให้อยู่ในที่ร่มที่เงา แล้วเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ทำฌาน ทำสมาธิให้เกิดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่เขาทำบุญกุศลมา นี่เราฉันแล้ว ไม่ใช่ฉันแล้วไม่เป็นประโยชน์กับใคร เขาถวายอาหารมา เราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นคุณประโยชน์กับเขา ให้ทานที่เขาเสียสละมานั้นมีคุณประโยชน์กับเขา ให้เป็นประโยชน์กับเขา ให้หัวใจเขาร่มเย็นเป็นสุข ให้เป็นทุกอย่าง

นี่รู้ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ชีวิตมั่นคงแล้วไม่ทุกข์ไม่ยาก ไม่ทุกข์ไม่ยากเพราะควบคุมหัวใจได้เพื่อเป็นประโยชน์กับใจได้ นี้จะเป็นธรรมของเรา นี้คือการฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเตือนตัวเราให้มีสติ ให้มีความระลึก ให้เป็นสมณะ สมณะทั้งภายนอกและสมณะทั้งภายใน เอวัง