ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้ติด-รู้แจ้ง

๓o มี.ค. ๒๕๕๖

 

รู้ติด-รู้แจ้ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๙๒. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๑๒๙๓. เรื่อง “ต่อเนื่องจากการติดครั้งที่แล้วครับ”

กราบขอบพระคุณหลวงพ่อมากที่กรุณาเมตตาแนะนำจากกระผมถามปัญหาเรื่อง “ติด” ที่ส่งไปเมื่อวันที่ ๑๖/๐๒/๕๖ ที่ผ่านมา กระผมขอรายงานต่อเนื่องดังนี้ครับ จากการถามครั้งก่อน พอจิตสงบไม่สามารถยกพิจารณาได้ เพราะมันจะวางทันที ปรุงขึ้นวางทันทีนั้น กระผมได้จับเงื่อนที่หลวงพ่อแนะนำคือ ถ้าจิตสงบให้รำพึง และถ้ารำพึงแล้วยังพิจารณาไม่ได้ให้ทำความสงบเข้ามาใหม่ให้สงบมากขึ้นกว่าเดิมนั้น

กระผมได้พิจารณาต่อไป ที่เห็นชัดที่สุดคือความคิดครับ จะพบว่าเมื่อเวลาเราคิดปรุงขึ้น จิตตามรู้ทันความคิดจะหยุด ทั้งความคิดที่พอใจและไม่พอใจ ถ้าทันตอนที่เริ่มคิดก็จะหยุดที่เริ่มคิด ถ้าทันตรงกลางความคิดก็จะหยุดที่ตรงกลาง ถ้าจะไม่เลยเถิดไปจนจบเรื่องแห่งความคิดนั้น สภาพของจิตก็เฉยและกลับมามีตัวรู้เหมือนเดิม จากนั้นจะมีความคิดขึ้นมาอีกเรื่อยๆ ทันอีกก็หยุดอีก จิตกลับมารู้เฉยๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ เวลาจิตทันความคิดแล้วหยุดจะไม่มีความรู้สึกเสียดายการคิดให้จบเรื่องที่คิดนั้นเลย

แปลกมากแต่ก่อนจิตเสียดายอยากคิดให้จบเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เรียกว่าความฝัน ผมก็เลยคิดว่าแบบนี้ดีเหมือนกันฮะ เพราะความทุกข์ที่ดึงให้อยากคิดจนจบเรื่อง คอนโทรลได้ เพราะอะไร? ก็เพราะว่าคิดไปจนจบเรื่องแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีแต่เพียงจิตที่ต้องรับผลจากความคิด ซึ่งมีทั้งทุกข์และสุข ส่วนความคิดนี้ก็ไม่ได้เป็นก้อนวัตถุอะไร มีแต่ความว่างที่ดันให้จิตรับผลจากความคิดนั้นๆ กระผมพิจารณาแบบนี้ ควร มิควรประการใดหลวงพ่อโปรดอภัยด้วย

จากนั้นมาจิตเริ่มเสื่อมครับ ความคิดทั้งหลายเริ่มประดังประเดเข้ามามากๆ เร็วๆ มากๆ ทันบ้าง ไม่ทันบ้าง ใช้ความคิดช่วงนี้สังเกตว่าเหนื่อย กระผมเลยทำความสงบมาหลายรูปแบบ เช่นฟังเทศน์ ปัญญาอบรมสมาธิ จนพอจิตมีความสงบขึ้นมาบ้างก็สบายครับ ถึงตอนนี้พอมีความคิดขึ้นมาแล้วรู้ทัน เบรกได้ ความคิดนั้นก็จะหมุนหายไปในจิตอย่างนิ่มนวล สบาย หรือเมื่อมีความคิดแรงๆ จะปรุงขึ้นก็จะเกิดการกั้นขึ้นมาในจิตเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกคือความคิด ถ้าตามความคิดนั้นไปก็จะพิจารณาไปสองภาค คือถ้ากำหนดมาที่ตัวจิตก็จะไม่สนใจในความคิดนั้นเลย จิตจะอ่อนยวบเข้าไปข้างในเลย

เมื่อถึงตอนนี้ถ้ากระผมไม่พิจารณาอะไรก็จะฟังเทศน์ พอฟังเทศน์จิตก็จะอ่อนยวบเข้าไปข้างในแน่นหนาขึ้นมากๆ ดูดแน่นสบายมากขึ้น ขอถามหลวงพ่อดังนี้ครับ

๑.ที่เล่ามานี้ถูก-ผิดประการใด หลวงพ่อโปรดเมตตาแนะนำด้วยครับ

๒.กระผมต้องพิจารณาแบบนี้ไปต่อเนื่องเรื่อยๆ หรือไม่ประการใด ขอความเมตตาด้วย

(นี่คำถามนะ)

ถาม : คำถามที่ ๑ ที่เล่ามานี้ถูกไหม? กับคำถามที่ ๒ จะทำอย่างไรต่อเนื่อง

ตอบ : ฉะนั้น คราวนั้นเขาถามมา ถามมาเรื่องการพิจารณา เห็นไหม เขาว่าการติด เพราะติดแล้ว ถ้าคนไม่เข้าใจ พอภาวนาไปๆ ก็คิดว่าสิ่งนั้นเป็นผลงาน แต่ถ้าเป็นผลงาน คนปฏิบัติไปแล้ว ถ้ามันปฏิบัติไปแล้วไม่ต่อเนื่องหรือไม่ก้าวหน้ามันก็มีความอึดอัดว่าจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าจะทำอย่างไรต่อไป เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไปแล้วท่านจะเห็นวิถีแห่งจิต จิตมันจะก้าวเดินของมันไปอย่างนั้น

ใครจะปฏิบัติวิธีการอย่างใดก็แล้วแต่ ถ้าจิตมันปล่อยวางเข้ามาคือมันสงบ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะจะบอกว่าความสงบนั้น ความสงบนั้นเป็นสมถะ ความสงบนั้นเป็นสมาธิ มันเป็นของมันโดยข้อเท็จจริง ใครจะปฏิบัติวิธีการใด ที่บอกใช้ปัญญาๆ อย่างสูงสุดคือปัญญาอบรมสมาธิแล้วเป็นมิจฉาด้วย เป็นมิจฉาเพราะเข้าใจว่าการใช้ปัญญานั้นคือการวิปัสสนา การใช้ปัญญานั้นคือการใช้ปัญญาโดยการชำระล้างกิเลส

แต่ความจริงแล้ว คนเราในเมื่อมันเกิดมาในโลกมันมีความรู้สึกนึกคิดโดยธรรมชาติของมัน ความรู้สึกนึกคิดอันนั้นมันเป็นโลกชัดๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ความรู้สึกนึกคิดคิดแบบวิชาการ วิชาชีพมันก็เป็นเรื่องทางโลก เวลาความรู้สึกนึกคิดนั้นมันคิดเรื่องธรรมะมันก็เป็นเรื่องโลกๆ ธรรมะเรื่องโลกๆ นี้เพียงแต่ว่าเราคิดว่าเราคิดเรื่องธรรมะเราปล่อยวางจากความรู้สึกนึกคิดทางโลกวิชาชีพ สัญญาอารมณ์ทางโลก นี่มายาคติทางโลก แล้วเรามาคิดธรรมะๆ เราว่าสิ่งนั้นเป็นปัญญาการชำระล้างกิเลส มันก็เป็นเรื่องโลกๆ

ถ้าเป็นเรื่องโลก เวลาใช้ความคิดมากขนาดไหน หรือเราใช้สติยับยั้งขนาดไหน เพราะเขาไม่ใช่ให้คิด เขาใช้ปัญญาแล้วเขารู้ตัวทั่วพร้อมมันจะหยุด มันหยุดนั่นล่ะมันคือสมถะ นั่นล่ะมันคือสมาธิ แต่ด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความว่าถ้ามันปล่อยวางแล้วมันคือความว่าง ความว่างนั้น ผลของสมาธิ ผลของธรรมว่าคือความว่าง ความว่างมันก็เลยเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะความว่างแล้วไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครบริหารจัดการมัน ไม่มีใครรู้เท่าทันมัน เขาเรียกว่าขาดสติ พอขาดสติ พอว่างแล้วก็สูญหายไปเลย ว่างแล้วก็พ้นจากการควบคุม นี่มันถึงเป็นมิจฉา

ฉะนั้น การปฏิบัติทางไหนก็แล้วแต่ ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือสมาธิ วิถีแห่งจิตมันเป็นแบบนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา โดยความรู้สึกนึกคิดสมาธิของโลก สมาธิของเรา เห็นไหม มนุษย์มีสติ มีสมาธิถึงเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ แต่ถ้ามนุษย์มันขาดสติ ขาดสมาธิ นี่ควบคุมจิตไม่ได้ก็เป็นคนบ้า นี่คนบ้าก็มีจิตเหมือนกัน แต่ขาดสติ ขาดการบำรุงรักษาก็เป็นคนบ้าเลื่อนลอย คนบ้าจะทำสิ่งใดเขาทำด้วยเต็มไม้เต็มมือของเขา เพราะเขาไม่รู้สึกตัวของเขา

ฉะนั้น พอเราใช้ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้เหมือนกัน มันก็เหมือนคนบ้า เห็นไหม เพราะมันเป็นเรื่องโลกๆ ไง เรื่องโลกๆ มันไม่มีสติปัญญาจะเข้าไปสู่ความจริง ถ้าเข้าไปสู่ความจริง ใช้ปัญญาขนาดไหน ถ้าผลมันปล่อยมา ถ้ามีสติขึ้นมานั่นล่ะคือปัญญาอบรมสมาธิ อบรมสมาธิคือสมถะ จากสมถะขึ้นมาแล้ว ถ้ามันออกใช้ปัญญาขึ้นไป มันออกใช้ปัญญา ออกฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาที่เราฝึกหัดใช้ ทีนี้พอเราใช้ปัญญาของเราเราบอกว่าเรามีปัญญาในพุทธศาสนา พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราก็ใช้ปัญญาของเราไป ใช้ปัญญาของเรา นี่โลกียปัญญา ปัญญาของโลก

สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา นั่นน่ะโลกียปัญญาชัดๆ แต่เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็เป็นปัญญาโลกๆ นี่แหละ ปัญญาโลกๆ เพราะเราเกิดมากับโลกมันก็มีโลก โลกก็โลกเต็มตัวอยู่แล้ว แต่ถ้ามีสติปัญญาเราก็ตรึกในธรรมๆ พอตรึกในธรรมด้วยสติสัมปชัญญะ เวลามันปล่อยมามันมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม สติรู้เท่าทันจิต พอสติรู้เท่าทันจิต จิตมันปล่อยมามันก็รู้ว่าจิตปล่อยมา เดี๋ยวก็คิดอีก นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ นี่วิถีแห่งจิต

จิต สัญชาตญาณธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น แต่คนที่ไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีครูบาอาจารย์ที่ผ่านการประพฤติปฏิบัติมา จิตที่สูงกว่าจะคอยแนะนำเรา เราจะเข้าใจสิ่งนั้นไม่ได้ มันก็กลายเป็นการตะครุบเงากันอยู่อย่างนั้น ตะครุบเงาอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วมันจะไม่พัฒนา แต่ถ้าพัฒนาแล้ว คำว่าพัฒนา เห็นไหม เวลาปฏิบัติไป นี่ที่คำถามถามมาอย่างไรก็แล้วแต่ แล้วเขาบอก

ถาม : หลวงพ่อบอกว่าถ้าจิตสงบแล้วให้รำพึง

ตอบ : นี่ถ้าจิตมันสงบนะ คนที่มีอำนาจวาสนา ถ้าครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้วนะ คนที่มีอำนาจวาสนา ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ คนที่มีวาสนามันจะเห็นกาย กายนี้จะมาให้เห็นเลย ถ้ามีวาสนานะ แต่ถ้าไม่มีวาสนา คำว่าไม่มีวาสนาเพราะคนเราอำนาจวาสนาบารมีกับธรรม มันไม่เท่ากันไง คนที่เขามีอำนาจวาสนานะ พอมันเป็นมันมา แล้วอำนาจวาสนาของคนก็ไม่เหมือนกันอีก บางคนพอมาแล้วเห็นภาพไง พอเห็นภาพนั้นมันจับได้ จิตมันมั่นคงจับได้มันก็พิจารณาแยกแยะได้ เพราะเราทำงาน เห็นไหม งานเสร็จ ไม่เสร็จ เนื้องานอยู่กับเรา เราบริหารจัดการจนจบ แต่ถ้าทำงานอยู่ นี่เอกสารนั้นหายไป เอกสารนั้นชำรุด นี่มันทำงานไปไม่ได้

จิตก็เหมือนกัน ถ้าคนมีอำนาจวาสนา บางทีเราเห็น เห็นชั่วครั้งชั่วคราว พอครั้งต่อไปมันเห็นไม่ได้ มันไม่เห็น นี่แม้แต่เราทำงานเอกสาร เอกสารถ้าเราทำได้ต่อเนื่องจนกว่าจะสรุป จนเสร็จงานนั้นมันก็จบ ถ้ามันไม่เสร็จงานล่ะ? มันไม่เสร็จงานเราก็ต้องปล่อยกลับมาทำความสงบของใจ ถ้าทำความสงบของใจเราก็รำพึงเอา แล้วรำพึงเอา เราทำงานเอกสาร ทำหน้าที่การงานอะไรก็แล้วแต่วิชาชีพของเราใช่ไหม? แล้ววิชาชีพของเรา เราทำงานแล้วเราต้องกินไหม? เราต้องนอนไหม? เราต้องพักผ่อนไหม? มันก็ต้องอีกแหละ เราทำงานเสร็จแล้วเราก็ต้องอยู่ ต้องกิน เราต้องพักผ่อนของเรา เราต้องนอนของเรา เราไปทำธุระส่วนตัวของเรา แล้วเรากลับมาทำงานอีก เราก็กลับมาทำงานอีก

นี่ก็เหมือนกัน เราพิจารณากาย เราพิจารณาสิ่งใดอยู่ก็แล้วแต่ เห็นไหม พอเวลาพิจารณาไปแล้วถ้ามันเกิดเวทนาขึ้นมาล่ะ? พิจารณากายไปแล้ว ทำงานอยู่แล้วมันอัดอั้น เวลาเวทนามาเราก็พิจารณาเวทนาได้ เราเห็นความสว่าง ความผ่องใสของจิตเราก็พิจารณาได้ เราเห็นขุ่นมัวของใจ ธรรมารมณ์ อารมณ์ความกระทบ สิ่งที่กระทบในใจ ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้าเราพิจารณากายได้เราก็พิจารณาธรรมารมณ์ได้ อารมณ์ที่เป็นธรรม แต่ถ้าเราไม่มีสติปัญญา นี่อารมณ์เป็นโลกๆ มันไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมเพราะอะไร? เพราะมันเป็นอกุศล มันเป็นอกุศล มันเป็นกิเลสมันก็เหยียบย่ำเรา

ฉะนั้น บอกว่าเราพิจารณากายอยู่ เราพิจารณากายอยู่ คนทำงานทางวิชาชีพเขายังต้องทำงานส่วนตัวของเขา เขายังมีหน้าที่การงานของเขา เขามีหน้าที่รับผิดชอบของเขา เขามีสถานะอย่างไร เขาต้องมีความรับผิดชอบของเขา จิตก็เหมือนกันถ้าเราพิจารณาของเรา พิจารณากายแล้วพิจารณาอย่างอื่นก็ได้ นี่พูดถึงว่าถ้าจิตสงบให้รำพึงไป นี่เขาเรียกรำพึงไป พิจารณาไปแล้ว พอมันสงบเข้ามาอีก เห็นไหม มันสงบมากขึ้น มันดีขึ้น พิจารณาไปแล้วเห็นชัดขึ้น แล้วให้พิจารณาซ้ำไป บอกว่าทำไมซ้ำๆ ซ้ำๆ ต้องซ้ำ ซ้ำอย่างนี้ หน้าที่การงานยังไม่จบสิ้น

ฉะนั้น พอซ้ำไปแล้วเขาเจอ เห็นไหม เจอความคิดหมดเลย ความคิด ความคิดนั่นล่ะธรรมารมณ์ ความคิดคืออารมณ์ อารมณ์คือความคิด พูดถึงถ้าเราไม่มีสตินะ ความคิดมันมีกำลังมากกว่ามันไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมารมณ์ มันเป็นสัญญาอารมณ์ ถ้าสัญญาอารมณ์ไม่มีใครบริหารจัดการมัน มันมีกำลังมากกว่า แต่ถ้ามีสติปัญญามันเป็นธรรมารมณ์

กาย เวทนา จิต ธรรม นี่มันก็พิจารณา ความคิดถ้าจับได้นะ ถ้าจิตสงบแล้วมันจับได้ ถ้าจับได้ สมาธิกับความคิดมันคนละอันกัน จิตเห็นอาการของจิต จิตคือสมาธิ จิตคือฐีติจิต อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ความคิดเกิดดับ ความคิดเกิดดับ จิตเห็นอาการของจิต อาการทั้งนั้น สิ่งที่เกิดดับๆ อาการทั้งนั้นแหละ ถ้าจับมาพิจารณาได้ นี่เราพิจารณาได้ ถ้าพิจารณาได้ทำต่อเนื่องกันไป ทำต่อเนื่องไป

ฉะนั้น ผลของมัน เห็นไหม

ถาม : แปลกมาก แต่ก่อนจิตเสียดายความคิด คิดให้จบเรื่องเฉพาะเรื่องความฝัน ผมก็คิดว่าเรื่องแบบนี้มันก็ดี เพราะความทุกข์ที่ดึงให้อยากคิดให้จนจบเรื่องมันคอนโทรลได้

ตอบ : นี่ถ้ามีสติ มีปัญญามันจะดีขึ้น มันจะดีขึ้นของมัน ถ้าดีขึ้นของมันเราปฏิบัติไป เขาบอกว่านี่ถ้ามันเป็นกิเลสมันรู้ติด รู้แล้วติด นี่มันรู้ติด หมายถึงว่ามันติดคิด รู้แล้วติด ติดไปหมดเลย นี่กิเลส แต่ถ้าเป็นธรรมมันรู้แจ้ง รู้แล้วเข้าใจ รู้แล้วปล่อยวาง รู้ติดกับรู้แจ้ง ถ้ารู้ติดนะ รู้ติดรู้แล้วก็เป็นสมบัติของเราไง

นี่โดยธรรมชาติ โดยวิทยาศาสตร์ใช่ไหม ถ้าเงินทองของเรา อยู่ในกระเป๋าเราก็เป็นของเรา ทีนี้เครดิตล่ะ? เครดิตเป็นนามธรรม ใครมีเครดิตมาก จะทำสิ่งใดมันมีแต่คนให้ความร่วมมือเพราะเครดิตเขาดี เครดิตนี่ไม่ใช่แบงก์นะ แต่เป็นเครดิต แต่ถ้าเป็นเงินล่ะ? เราจะบอกว่าวัตถุไง สิ่งที่เป็นวัตถุ วิทยาศาสตร์เขามองกันที่วัตถุ เขาไม่ได้มองกันที่นามธรรม ทีนี้พอมองวัตถุ ถ้าแบงก์เรามีจำนวนเท่าไร มันก็อยู่กับเราคงที่ คงที่เฉพาะจำนวนตัวเลขนะ แต่ขนาดว่าในทางเศรษฐศาสตร์มันยังมีเสื่อมค่า มันยังมีลดค่า นี่มันยังมีเพิ่มมีลดอีกน่ะ

นี้ในทางเศรษฐศาสตร์ แต่ถ้าในทางวิทยาศาสตร์ ในทางตัวเลขมันมีอยู่เท่านั้นแหละ นี่พูดถึงวัตถุ ฉะนั้น พอเราปฏิบัติกันแล้ว ใครเป็นสมาธิแล้ว ใครมีปัญญาแล้วก็ว่าสิ่งที่ปฏิบัติแล้วจะอยู่กับเรา เราปฏิบัติแล้วจะต่อเนื่องตลอดไป ไม่ใช่ เครดิตของคนนะเครดิตดีมาก แต่ถ้าเขาเสียเครดิตไปแล้ว พอผิดการชำระหนี้ เครดิตเขาจะเสียมากเลย ถ้าเครดิตเขาเสียไปแล้วนะ ถ้าเขาจะพูดสิ่งใดไม่มีใครเชื่อถือแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เวลาเราทำแล้ว เป็นสมาธิมาแล้ว สิ่งที่มาแล้วมันก็ผ่านมาแล้ว เราปฏิบัติไปเราก็ต้องตั้งสติของเราไป นี่ถ้าคนภาวนาเป็นเขาจะรู้ของเขา มันจะเป็นอย่างใด ถ้าเป็นอย่างไร เห็นไหม เขาบอกว่ามันแปลกแฮะ มันแปลกมาก ในเมื่อเมื่อก่อนคิดแล้วมันจะคิดตามไป เดี๋ยวนี้มันควบคุมได้ มันคอนโทรลได้ มันคอนโทรลได้เพราะเรารู้เท่ามันแล้ว แต่ก่อนรู้ติด รู้แล้วยึดว่าเป็นของเรามันไม่อยู่กับเราหรอก

กรณีนี้เวลาหลวงตาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาจิตท่านเสื่อมหมดหลวงปู่มั่นท่านบอกเลยนะจิตนี่มันเหมือนเด็กๆ มันเที่ยวเล่นของมัน ทีนี้เด็กมันต้องกินอาหาร ฉะนั้น มันจะเที่ยวเล่นที่ไหนแล้วแต่ปล่อยมันไป อย่าไปวิตกกังวลกับมัน ให้พุทโธ พุทโธ พุทโธไว้ นี่พุทโธเป็นอาหารของใจ พุทธานุสติ หลวงตาท่านทุกข์มามากท่านก็เชื่อ พอเชื่อแล้วท่านก็พุทโธเฉยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพราะมีสตินะ มีสติปัญญาเราก็พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ

แต่เดิมมันห่วงแต่ความเป็นสมาธิ จิตมันเคยสงบ เคยร่มเย็น มันเคยทำมาได้ นี่เหมือนพวกเราที่ปฏิบัติปัจจุบันนี้ สมาธิเราก็ทำแล้ว สติเราก็มีแล้ว มีแล้วมันก็เสื่อมแล้ว มีแล้วมันก็หายไปแล้ว ฉะนั้น พอมีแล้วก็หายไปแล้ว แล้วมันก็อยากได้อีก อยากจะยึดมั่นว่าเป็นของเราๆ เราเคยทำมาแล้ว แล้วพอรู้ว่ามันไม่อยู่กับเรายิ่งเสียใจ ยิ่งอยากได้ นี่มันเสื่อม พอจิตมันเสื่อมแล้วมันขวนขวาย มันขวนขวาย มันดิ้นรน ดิ้นรนเป็นความทุกข์มาก พอความทุกข์มาก เพราะของเราเคยมีใช่ไหม? เหมือนของเราเคยทำได้ ทำไมทำไม่ได้ นี่เครียดมากเลย แล้วก็จะเอาให้ได้ๆ ยิ่งจะเอาให้ได้กิเลสซ้อนกิเลส ตัณหาซ้อนตัณหายิ่งทุกข์มากเลย

หลวงปู่มั่นท่านอธิบายไว้แล้วนี่มันเลือกมาก ถ้าทางวิชาการต้องอธิบายไป ๕ วัน ๕ คืน แต่หลวงปู่มั่นท่านไม่อธิบายเลย ท่านเปรียบว่าจิตนี้เหมือนเด็กๆ เด็กนี่มันต้องกินอาหาร ถ้าเด็กมันสดชื่น มันเล่นของมันมันก็เพลินของมัน แต่ถ้ามันหิวมันต้องหาอาหารของมัน แล้วอาหารมันอยู่ที่ไหนล่ะ? ฉะนั้น เราทำอาหาร รักษาอาหารนี้ไว้ เดี๋ยวเด็กมันต้องกลับมากินอาหารนี้ หลวงตาท่านเชื่อท่านกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่พอพุทโธจิตมันก็ชัดเจนในใจเรานี่แหละมันก็ไม่เร่ร่อนไปหรอก พอพุทโธชัดๆ ขึ้นมาสมาธิมันก็คืนมาหมด ท่านทึ่งมากเลย ทึ่งมากเลย

คนที่ปฏิบัติใหม่เป็นอย่างนั้น พอเวลาเราหลงไปเราก็ไม่รู้ว่าเราหลงอย่างไร เราผิดพลาดอย่างไรเราไม่รู้ตัวเราหรอก แล้วเราก็ว่าทางวิชาการ ทางทฤษฎีเราเรียนมามากแล้ว เราก็ว่าเราทำดีแล้ว จะทำให้ถูกต้องตามวิชาการทั้งหมดเลย ยิ่งทำนะตัณหามันยิ่งซ้อนตัณหา แต่ถ้าวางหมดเลย พอวางหมดเลยแล้วเราตั้งสติของเรามันเป็นมรรคแล้ว เป็นมรรคเพราะมันไม่มีกิเลสซ้อนเข้ามา ไม่มีสมุทัยเจือปนเข้ามา เราพุทโธ พุทโธเราจะรักษาอาหารนี้ไว้ ถ้าเด็กมันหิวให้กลับมากิน

แต่จริงๆ มันก็กลับมา เพราะมันอยู่กับเราอยู่แล้วแหละ พอพุทโธชัดๆ ขึ้นมามันมาเลยนะ สงบร่มเย็นเลย แล้วพอมาทดสอบ มาพิจารณาย้อนหลัง อืม จริงของท่าน แล้วพอมาเข้าใจถึงวิถีแห่งจิตนะ มันก็เป็นอย่างนี้จริงๆ นั่นแหละ แต่ก่อนหน้านั้นเพราะเราภาวนาไม่เป็น เพราะเราไม่เข้าใจของเรา เราขวนขวาย เราอยากได้ของเรามันก็เลยไม่ได้ แต่พอเราทอดธุระ เราทอดธุระเรื่องความอยากได้อยากเป็น แต่เรามาชัดเจนเรื่องพุทโธ ชัดเจนเรื่องสติ มันกลับมาหมดเลย มันชัดเจนหมดเลย เห็นไหม

นี่พอถ้าตัวเองรู้แจ้งแล้วมันก็จบ ถ้าไม่รู้แจ้งนะมันก็พยายามขวนขวาย พยายามหาของมันอยู่อย่างนั้นแหละ นี่เราทำของเราอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้กลับมามันก็เป็นของเราใช่ไหม? ฉะนั้น เขาบอกว่ามันดีมาก มันแปลกมาก แล้วนี่ที่ว่าเขาคิดของเขาอย่างไร มันเป็นวัตถุ จิตมันเป็นก้อน ไม่เป็นก้อน อันนี้มันเป็นความเห็นของเขานะ นี่ถ้าจิตมันดีขึ้น มันพัฒนาขึ้นมาอย่างนี้

ถามว่า

ถาม : ที่เล่ามานี้ถูกต้องประการใด โปรดเมตตาแนะนำด้วย

ตอบ : ที่เล่ามานี่ ถ้าคนปฏิบัติไม่เป็น มันก็เหมือนนักเรียน ถ้าไม่มีข้อสอบนะ เราทำข้อสอบไม่ได้เราจะเอากระดาษเปล่าไปส่งครูหรือ? เราจะส่งครูนะเราก็ทำ เราตอบแล้วใช่ไหม เราตอบข้อสอบของเราอย่างไรๆ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัตินะ เวลาตอบคำถามตอบข้อสอบนั่นแหละ นั่นล่ะส่ง

ถาม : ที่เล่ามานี้ถูกต้องไหม?

ตอบ : ถ้าทำมามันมีเหตุมีผลแล้ว นี่อย่างนี้มันก็ถูกต้อง ถูก แล้วถูกอย่างไรล่ะ? ถูกแบบเริ่มต้นไง ถูกแบบพื้นฐาน พื้นฐานการศึกษานะ นี่เด็กเล็กถ้าเรียนอนุบาลมาดี ภาษาดี ทุกอย่างดี พอเขาเรียนต่อเนื่องไปมันก็จะดีขึ้น ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติอย่ารีบร้อน ทำนี่พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิฝึกหัดจิตใจเราให้ดี ถ้าฝึกหัดจิตใจให้เราดี พอเราพัฒนาขึ้นไป ไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม การเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนั้นคือการฝึกหัดใช้ปัญญา

การจะใช้ปัญญาต้องฝึกหัด ปัญญาจะไม่เกิดขึ้นเอง แต่ที่เวลาบอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราก็ใช้ปัญญาของเราไปเลย นี่โลกียปัญญา ปัญญาของสมุทัย ปัญญาของกิเลส เพราะจิตเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่แล้ว มีสมุทัยอยู่แล้ว แล้วเราก็ตรึกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยหลักคืออวิชชา โดยหลักคือจิตของเรามีอวิชชา มีความไม่รู้ แล้วตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นปัญญาๆ นี่มันมีสมุทัยเจือปนเข้าไป พอสมุทัยเจือปนเข้าไป ก็ธรรมะเป็นเรา เราเป็นธรรมะ

ถ้ามีตัวตน มีเรา มีเราคือสมุทัย มันปนกันอยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่ไปไหนหรอก มันก็บอก เออ ปฏิบัติแล้วก็ดี ไม่ทุกข์ไม่ยากเลย อ้าว ก็ดีสิ ก็บอกว่าสมุทัย กิเลสตัณหาความทะยานอยากกับธรรมะของพระพุทธเจ้ามันผสมปนเปกัน นี่มันก็หลอกกันไปหลอกกันมา แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ปัญญาอบรมสมาธิ หรือว่าพุทโธสมาธิอบรมปัญญา ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วปัญญามันจะเกิดเองไม่ได้หรอก ปัญญามันไม่เกิดเองหรอก ปัญญาไม่เกิดเอง เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญาที่พิจารณาไปโดยรู้แจ้ง แต่ถ้าเป็นของเรา เราต้องรำพึงไป อย่างที่ว่าเห็นกาย ถ้าเห็นกายขึ้นมา เห็นกายทำอย่างไรต่อไป?

นี่เห็นกายถ้ามันเป็นสมาธิอบรมปัญญา จิตสงบแล้วเห็นกายเป็นสมาธิอบรมปัญญา ถ้าสติดี สมาธิดี รำพึงให้มันแยกส่วนขยายส่วน การแยกส่วนขยายส่วนคือเป็นไตรลักษณะ นี่ถ้าเห็นนิมิตมันเป็นอุคคหนิมิตคงที่ตายตัว ถ้า อุคคหนิมิต วิภาคะนิมิต นิมิตคือการแยกส่วนขยายส่วนให้มันแปรสภาพ การแปรสภาพคือการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงคือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือจิตมันรู้มันเห็นของมัน ถ้ารู้เห็นของมัน มันก็ เอ๊ะ ไม่มีอะไรของเรา ไม่มีอะไรคงที่

นี่ปัญญามันต้องฝึกหัด การฝึกหัดนะ ถ้าไม่ฝึกหัด ไม่ชักนำก่อนปัญญาจะไม่เกิดขึ้น ปัญญาจะไม่เกิดขึ้น ถ้าปัญญาที่เกิดขึ้นเองนั้นเป็นปัญญาของกิเลสทั้งนั้น ปัญญาที่เกิดขึ้นเองคือปัญญาอัตโนมัติมันเป็นปัญญาของอวิชชาทั้งนั้น เพราะอวิชชาในหัวใจเรามีอยู่แล้ว มันเกิดขึ้นมาสิ่งใดมันจะเอาสิ่งนั้นขึ้นมาหลอกเรา หลอกเราว่าปัญญาเกิดแล้ว ทุกอย่างเกิดแล้ว กระบวนการของการกระทำได้สิ้นสุดแล้ว เราเป็นพระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์จมอยู่ในกองขี้ไง มันไม่มีหรอก ถ้ามันจะเป็นความจริงขึ้นมาเราน้อมนำไปก่อน

ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาต้องฝึกหัด ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นเองนะ ครูบาอาจารย์เราไม่ติดสมาธิหรอก คนที่ทำสมาธิได้ สมาธินี้แน่นหนามาก แม้แต่ผ่านโสดาบัน ผ่านสกิทาคามีขึ้นไปแล้วก็ยังติด ผ่านอนาคามีก็ยังติด ถ้าติดอย่างนั้นปัญญาเกิดขึ้นเอง คิดดูสิเป็นพระอนาคามีนะยังไปคาอยู่พระอนาคามี ครูบาอาจารย์เราเป็นพระอนาคามีที่ไปคาอยู่ แล้วหลวงตาท่านไปแก้หลายองค์มาก ถ้าเป็นขึ้นไปเองเป็นพระอนาคามีแล้ว พิจารณามาขนาดนั้นแล้วทำไมปัญญามันไม่เกิดขึ้นเองล่ะ? ไม่มีหรอก ปัญญาเกิดขึ้นเองไม่มี

ถ้าปัญญาเกิดขึ้นเองนี่กิเลสทั้งนั้น ปัญญาเกิดขึ้นเองเป็นปัญญาของกิเลส มันเป็นปัญญาของโลก ปัญญาที่กิเลสมันพาใช้ แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ความจริงเราต้องฝึกหัด นี่โน้มไป โน้มไป ถ้าไม่ได้ ไม่ได้ก็น้อมกลับมา น้อมกลับมาในกาย เปรียบเทียบ ปัญญาในสิ่งเปรียบเทียบก็ได้ ปัญญาถ้าเราเห็นตามความเป็นจริงก็ได้ ฝึกหัด ต้องฝึกหัด ต้องฝึกฝนของเราจนเข้มแข็งขึ้น นี่ถ้าปัญญาเข้มแข็งมันจะเป็นธรรมจักรแล้ว ถ้าธรรมจักรขึ้นมา ถ้าจักรมันเคลื่อน ถ้าจักรมันเคลื่อน นี่ไฟที่มันจุดไม่ติด ขยะเปียกที่จุดไม่ติดเลย แต่ถ้ามันจุดติด ไฟมันติดแล้วมันจะเผาไหม้ของมันไปถ้ายังมีขยะอยู่

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าปัญญามันฝึกหัด ฝึกหัดจนมันติดนะ ติดเข้ามา มันทำจนชำนาญ จนคล่องตัวแล้ว มันรู้ของมันแล้วว่าสิ่งใดที่เราติดอยู่ อย่างเช่นเราทำสมาธิเราทำของเราไม่ได้ เราทำสิ่งใดไม่ได้เราก็คิดว่าสมาธิมันทำได้อย่างไร แต่พอเราพุทโธแล้ว เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้ว จนสมาธิมันมั่นคง นี่ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าออกแล้วเราก็อ๋อ เข้าใจได้หมดเลย เราควบคุมได้แล้ว นี้เราว่าเป็นปัญญาๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว บารมีของคน จิตมันไม่มีกำลัง พอมันพิจารณาไปแล้ว มันใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นปัญญา เพราะมันเป็นความแปลก ที่ว่านี่มันแปลกมาก มหัศจรรย์มาก

นี่มันแปลกสิ มันแปลกเพราะว่ามันเป็นโลกุตตระ มันแปลกเพราะมันจะพ้นจากโลก ถ้ามันเสื่อมมันก็เข้าไปอยู่กับโลก แล้วสิ่งที่ว่าแปลกๆ มันจะฝังใจอยู่ว่าเราเคยทำได้อย่างนั้น สิ่งนี้เราเคยมีอยู่ เราเคยทำได้อย่างนั้น แต่ทำอีกไม่ได้ ถ้ามันทำอีกได้ สิ่งที่ว่ามันแปลกมันจะมีแปลกประหลาดมหัศจรรย์กว่านี้เยอะแยะเลย ถ้าเยอะแยะ เยอะแยะจากไหนล่ะ? ถ้าจิตมันมีพละ มีกำลัง มีวาสนามันจะก้าวเดินของมัน

ถ้าก้าวเดินของมัน เห็นไหม ฝึกหัดใช้ปัญญา ใช้ปัญญา นี่ตทังคปหานมันก็ปล่อยชั่วคราว ปล่อยชั่วคราว แล้วทำซ้ำ

ถาม : ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ถูกต้องไหม? ขอเมตตาแนะนำด้วย

ตอบ : แนะนำก็นี่ให้ซ้ำๆๆ เข้าไป ซ้ำเข้าไปโดยสติ โดยปัญญา เห็นไหม โดยสติพัฒนาขึ้นไป นี่จากครั้งที่แล้วที่ถามมาว่ามันติด คราวนี้พอแก้มาติด แก้จากติดมันก้าวเดินแล้ว พอมันก้าวเดิน เพราะความก้าวเดิน ความก้าวเดินทุกคนจะเห็นความผิดของตัว นี่แต่เดิมครั้งนี้มันแปลก ครั้งที่แล้วมันไม่แปลกสิ มันไม่แปลกเพราะมันเป็นเรา มันยึดมั่นถือมั่นของมันอยู่ มันก็กิเลสกับธรรมมันก็ผสมปนเปกันอยู่อย่างนั้นแหละ มันก้าวเดินไปไม่ได้ แต่ถ้าสติเราดีขึ้นๆ นี่ธรรมะมีกำลังมากขึ้น กิเลสมันเบาบางลง เราเห็นความแปลกประหลาดของใจเลย ใจพัฒนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปเลย นี้ข้อที่ ๑

ถาม : ข้อที่ ๒. กระผมต้องพิจารณาแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือประการใด

ตอบ : การพิจารณามันพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ พิจารณาต่อไปแล้วมันเป็นปัจจุบันไง คำว่าต่อไปเรื่อยๆ นะ ถ้าเราเอาสิ่งนี้เป็นเป้าหมายตลอดไปมันจะเป็นสัญญาไป สิ่งใดที่เราผ่านมาแล้วเราวาง สิ่งที่ทำมาแล้วถูกต้องไหม? ถูก ถูกต้องแล้ว พอถูกต้องแล้วโจทย์มันจะรุนแรงกว่านี้ โจทย์มันจะละเอียดกว่านี้ ดูสิสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสใช่ไหม กามราคะ ปฏิฆะใช่ไหม แล้วพอกามราคะ ปฏิฆะขาด นี่รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไป

ฉะนั้น โจทย์ที่มันละเอียดกว่านี้ โจทย์ที่มันทุกข์ยากกว่านี้ โจทย์ที่มันโหดกว่านี้ข้างหน้ายังมีอีกเยอะเลย แต่พูดนี้ไม่ใช่พูดให้ท้อถอยนะ พูดให้เห็นว่าการกระทำข้างหน้ามันยังมีอีกมาก ถ้าจะสิ้นสุดแห่งทุกข์ แต่ถ้าปฏิบัติไปเป็นการปฏิบัติเพื่อเผชิญกับธรรมะว่าธรรมะมีจริงหรือไม่จริง เราได้พิสูจน์แล้ว พิสูจน์ว่ามันมีจริงหรือไม่มีจริง ถ้าคนปฏิบัติ นี่คนภาวนาเป็นนะจิตมันเคยทำความสงบได้ จิตมันพิจารณาของมันได้ เขาเรียกว่าภาวนาเป็น คนภาวนาเป็นคุยกันง่ายนะ เป็นการพูดภาษาเดียวกัน คนพูดภาษาเดียวกันพูดกันรู้เรื่องได้ง่าย ถ้าคนละภาษามันต้องพูดสื่อผ่านคนกลาง ผ่านล่าม ผ่านต่างๆ

นี่ก็เหมือนกัน ระหว่างเรื่องโลกกับเรื่องธรรมมันคนละเรื่องเลย แต่คนภาวนาเป็นแล้วมันเข้าไปเห็น ไปเผชิญกับสัจจะความจริง มันเป็นการพูดภาษาเดียวกัน คุยกันรู้เรื่อง คุยกันง่าย ถ้าภาวนาเป็นกับภาวนาเป็นพูดกันนะ แต่ในปัจจุบันนี้มันคนภาวนาไม่เป็นไง แล้วเวลาภาวนาไม่เป็นกับภาวนาไม่เป็นคุยกันมันก็สื่อกันเป็นเรื่องโลกๆ ใครภาวนาเป็นมาสิ่งนั้นเป็นสัตว์ประหลาดเลย ทำอะไรแปลกเขาไปหมด ทำอะไรไม่เห็นเหมือนโลกเขาเลย แต่ไม่เหมือนโลกเขาเลยนี่เหมือนธรรมไง

หลวงตาท่านบอกเลย ถ้าพูดถึงทางโลก ทางโลกเขาอยู่ทางโลก เขาได้ผลประโยชน์ทางโลกกันเขาก็ทำอย่างนั้นถูกต้อง แต่ทางธรรมเขาไม่มี ถ้าเราได้ทางธรรมของเราขึ้นมา เห็นไหม แต่ทางธรรมนี่มันเหนือโลก เหนือทุกๆ อย่างเลย แต่ทางโลกเขาเข้าใจไม่ได้หรอก เขาเข้าใจไม่ได้เขาก็ว่าสิ่งนี้แปลกโลก สิ่งนี้แปลกโลก สิ่งนี้แปลกโลกแต่มันไม่แปลกธรรม มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงนะเราจะต้องพิจารณาซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไปโดยพิจารณากายก็ได้ พิจารณาเวทนาก็ได้ ถ้าไม่มีความคิดก็พิจารณาความคิด ถ้าพิจารณาความคิด ถ้าไปเจอกามราคะมันก็จะเป็นกามฉันทะ

ถ้าพิจารณากาย พิจารณากาย พอไปเจอกามราคะมันก็จะเป็นอสุภะ มันเป็นการพิจารณากาย นี่เวลามันเดินเข้าไป วิถีแห่งจิต วิธีการของมัน นี่จิตที่มันพัฒนาขึ้นมา สเต็ปของมัน อริยสัจมีหนึ่งเดียว กาย เวทนา จิต ธรรม มันมีหนึ่งเดียว ใครภาวนาขึ้นมาแล้วนะ ถ้าถูกต้องแล้วนะผลมันเหมือนกันหมดแหละ แต่วิธีการแตกต่างกัน แม้แต่วิธีการเดียวกัน อำนาจวาสนาก็ยังไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันหมายความว่าดูสิการกินอาหาร บางคนกินจำนวนน้อยก็อิ่ม บางคนต้องกินจำนวนมากถึงจะอิ่ม บางคนกินจำนวนมากแล้วยังต้องกินบ่อยครั้งอีก มันอยู่ที่ว่านิสัยการกิน อยู่ที่นิสัยการที่เราฝึกมา

นี่ก็เหมือนกัน จิตนิสัยของมัน มันแตกต่างกัน เราทำอย่างไร แม้แต่ทำทางเดียวกันมันก็ยังไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ถ้ามันเหมือนกันมันเป็นการจำมา คนๆ หนึ่งต้องเป็นสัญญา นี่คนๆ หนึ่งอธิบายให้คนหนึ่งฟัง อีกคนๆ หนึ่งเอาไปทำวิธีการเหมือนกัน แล้วเหมือนกันไม่มี ไม่มี ในเมื่อคนๆ หนึ่งทำความสงบแล้ว อธิบายให้คนหนึ่งฟัง เวลาเขาไปทำเขาจะละเอียดกว่า เขาจะหยาบกว่า เขาจะมีวิธีการที่แตกต่างกว่า การรวมลงขณะรวมลงแตกต่างกัน แล้วขณะจิตที่มันจะเป็นไปก็ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันหรอก คนมีอำนาจวาสนาเท่ากันไม่มี ในโลกนี้ไม่มี คนเราที่จะคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน แล้วรู้สึกเหมือนกัน ตรงกันเลยหาไม่มีหรอก ในโลกนี้ไม่มี

ฉะนั้น ในโลกนี้ไม่มีแล้ว ทีนี้เวลาปฏิบัติแล้วจะให้เหมือนกันมันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ อริยสัจมีหนึ่งเดียวใช่ไหม? สัจจะมีหนึ่งเดียว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นบรรทัดฐาน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วนี่กาย เวทนา จิต ธรรม มรรค ๘ สิ่งนี้มันเป็นทางไง ทางสายกลาง ทางอันเอกใช่ไหม เราฝึกหัดอย่างนี้ เราศึกษาของเรามาอย่างนี้ แล้วเราปฏิบัติของเราไปอย่างนี้ เราปฏิบัติไปตามความจริงของเรา เราหวังความจริง ถ้าเราหวังความจริง เราทำของเราไป

ถาม : กระผมต้องพิจารณาแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ

ตอบ : ใช่ พิจารณาต่อไปเรื่อยๆ เพียงแต่ต่อไปเรื่อยๆ พิจารณาแบบนี้ ถ้าแบบนี้ปั๊บมันจะคงที่ตายตัว มันจะเป็นอัตตา เราต้องพิจารณาแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่ให้เป็นปัจจุบัน สิ่งใดเกิดขึ้น เช่นเราไปในท้องถิ่นใด มีอาหารอย่างใดที่ประทังชีวิตได้เราก็กินตามอาหารท้องถิ่นนั้น เพราะเราไปในท้องถิ่นนั้น อาหารอะไรที่พอกินดำรงชีวิตได้เราก็กิน

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่มันภาวนาอยู่ เดี๋ยวมันก็เห็นกาย เดี๋ยวมันก็เห็นเวทนา เดี๋ยวมันก็เห็นจิต เดี๋ยวมันก็เห็นธรรม สิ่งที่มันเผชิญหน้ามันขึ้นมาในปัจจุบันธรรม ในท้องถิ่นของใจ ในท้องถิ่นคือในปัจจุบันของใจ ถ้าในปัจจุบันของใจเจอสิ่งใด จับสิ่งนั้นพิจารณาของเราไป แล้วถ้าพิจารณาไปแล้วมันจะเกิดการกว้างขวางมาก ปัญญามันได้ฝึกหัดนะ บางคนนี่เถรตรง ถ้าไม่ใช่กายจะไม่พิจารณา จะรอแต่กายมา แล้วพอกายมันมาบ้างไม่มาบ้าง มันก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะมันเถรตรงของมันไง

ทั้งๆ ที่เวลากายมา กายมันไม่มาก็เสียใจ เวทนามันเกิดแล้วแหละ ก็ไม่เอา เวทนาเกิดก็ยังไม่รู้จักเวทนาเป็นอย่างไร จะเอาแต่กายอย่างเดียว เพราะหัวมันปักลงที่กายอย่างเดียว ไม่ได้คิดเลยว่าความเสียใจนั้นเป็นเวทนา ความที่กระเพื่อมในใจนั้นเป็นเวทนา เวทนาถ้าจับเวทนาได้มันก็พิจารณาได้เหมือนกัน นี่ถ้าเถรตรงมันก็ทำให้เนิ่นช้า ถ้าเถรตรงมันทำเฉพาะทางของตัว ทีนี้มันก็เป็นเรื่องวาสนาอีกแหละ ถ้าวาสนานะเราพิจารณากายแล้วมันพิจารณาได้ พอพิจารณาอย่างอื่นพิจารณาไม่ได้ บางคนพิจารณาเวทนาอย่างเดียว พิจารณาเวทนาแล้วมันปล่อยวาง มันดีมาก มันชัดเจนมาก

เวลาคนพิจารณาจิต นี่จริตนิสัยอย่างนี้มันแตกต่างกัน มันแตกต่าง แล้วแต่ว่ากาย เวทนา จิต ธรรม นี่มันเป็นหลัก เป็นหลักเพราะว่าในชีวิตเรามันมีกายกับใจมันก็เข้ากับสติปัฏฐาน ๔ มันไปไหนไม่รอดหรอก ในเมื่อมันไปแล้ว กรอบมันเป็นอย่างนี้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซอยออกเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม แต่มันก็เกิดกับจิตดวงเดียวนี่แหละ เกิดกายกับใจนี่แหละ มันมีอยู่แค่นี้แหละ เพียงแต่ว่าอารมณ์มันแตกต่างกัน อารมณ์เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม กายนี้เป็นรูปธรรม เวทนาก็เป็นนามธรรม สิ่งที่ว่าเป็นจิต จิตที่ว่าเป็นนามธรรม แต่ถ้าสติปัญญามันเป็นรูป มันเป็นก้อนมันก็เป็นรูปธรรม สัญญาอารมณ์ต่างๆ นี่ถ้ามันมีสติปัญญา มันแก้ไขของมัน มันพิจารณาของมัน มันก็จะเป็นไปของมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าต้องพิจารณาแบบนี้ต่อเนื่องเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นในปัจจุบันไง เราพูดนี้เราต้องการไม่ให้เป็นเถรส่องบาตร คือซื่อตรง ซื่อสัตย์ ถ้าแบบว่าซื่อเซ่อมันจะแก้กิเลสไม่ได้ ต้องซื่อสัตย์มีปัญญา ซื่อสัตย์พร้อมทั้งมีปัญญาแก้ไขของเราไป ถ้าซื่อเซ่อ ซื่อแล้วเถรตรง นี่จะเอาเฉพาะแบบนั้น ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เรามีความชำนาญอย่างนี้เท่านั้น มันไม่กว้างขวาง แต่ถ้ามันพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดก็ได้จับต้องได้ คนนั้นจะเก่งมาก คนนั้นจะภาวนาได้มาก แต่ แต่หาได้น้อยมาก เพราะครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ถ้าพิจารณากาย ส่วนใหญ่แล้วถ้าพิจารณากายมันจะคล่องแคล่ว มันจะชำนาญของมัน แล้วพิจารณากายจะไปต่อเนื่องได้ดีมากๆ เลย แล้วพอพิจารณาอยู่นี่มันไม่ค่อยสะดวก

ฉะนั้น การพิจารณากายไป ฉะนั้น เวลาพิจารณากายไปแล้ว ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม พิจารณากายเหมือนกัน เช่นหลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะพิจารณากายเหมือนกัน แต่น้ำหนัก การกระทำไม่เหมือนกันหรอก ไม่เหมือนกัน นี่บางคนจะไปเบาตรงนั้น จะไปหนักตรงนี้ มันเป็นจังหวะ จังหวะที่มันจะสมดุลของมัน มัชฌิมาปฏิปทา ถ้าจังหวะมันสมดุล ถ้ามันปล่อย มันรอบตัว ปัญญามันชำนาญของมันมันก็จะปล่อย ปล่อย ปล่อยเพราะกำลังของสมาธิ กำลังของปัญญา

ปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถ้ามันรวมตัว มันมัชฌิมาปฏิปทาสมดุลของมัน ความสมดุล ความพอดี ความสมดุล ความพอดีมันจะมรรคสามัคคี สมุจเฉท นี่ตทังคปหานมันปล่อยๆๆ ปล่อยวางชั่วคราว สมุจเฉทปหานมันขาด สังโยชน์ขาดเข้าใจได้ง่ายๆ เลย เห็นชัดเจนมาก เวลาสังโยชน์ขาดเหมือนดั่งแขนขาด เราตัดแขนขาด ตัดกิเลสขาดมันจะชัดเจนมาก นี้พูดถึงว่าถ้ารู้แจ้ง รู้ติด รู้ติด รู้โดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก รู้แจ้ง รู้แจ้งโดยสัจจะ รู้แจ้งโดยมรรค รู้แจ้งโดยสัจธรรม

ฉะนั้น เราปฏิบัติไป ฝึกฝนไปมันจะเป็นแบบนี้ ถ้ารู้ติดมันก็ติดมาแล้ว เห็นไหม คนติด รู้ติด ติดมานี่เราแก้ไขมาแล้ว แล้วพิจารณาแล้ว เห็นตามความเป็นจริงแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่เราทำมาถูกต้องไหม? ถูกต้องไหม? คำว่าถูกต้อง ถูกต้องมันก็ถูกต้องในที่เราทำมาแล้ว สิ่งที่ส่งมานี้เป็นโจทย์ โจทย์ที่มาให้อธิบาย พออธิบายแล้วมันก็เป็นอดีต อนาคตไปแล้วล่ะ เราทำของเราตามความเป็นจริงนะ ถ้าทำความเป็นจริงมันเป็นจริงขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เพราะ เพราะเวลาติดมาเราทุกข์ของเราอยู่คนเดียว แล้วนี่เราถามปัญหามา พอตอบไปแล้ว ปฏิบัติแล้วมันได้ผลขึ้นมา พอได้ผลขึ้นมา นี่ส่งผลงานมา ถ้าส่งผลงานมา แล้วถามด้วยว่า

ถาม : ที่เล่ามานี้ผิด ถูกประการใด กระผมต้องทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ใช่ไหม?

ตอบ : ถ้าเราทำแล้วได้ประโยชน์อย่างนี้ เห็นไหม มันไม่เสียค่าไฟ ตั้งเว็บไซต์มามีทั้งค่าเจ้าหน้าที่ด้วย ค่าไฟด้วย แล้วถ้ามันเป็นประโยชน์ขึ้นมา นี่มันเสียสตางค์ เสียสตางค์เพื่อประโยชน์สังคม แล้วมันได้ประโยชน์มามันก็ว่าไม่เสียสตางค์ฟรีๆ ไง มันได้ประโยชน์มา การกระทำนี้เพื่อประโยชน์กับศาสนา เอวัง