เทศน์เช้า วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมนะ ถ้ามีธรรมะ มีปัญญาแล้ว ทุกอย่างเราเคลียร์ได้ ปัญหามันเกิดขึ้นมา ปัญหามีไว้ให้แก้ ปัญหาไม่ใช่มีไว้ให้หมักหมม ปัญหาไม่ใช่มีไว้ให้แบกหามแล้วมันทุกข์มันยาก เห็นไหม
เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ เวลาท่านบอกว่าอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลากลัวนี่กลัวหลวงปู่มั่นมาก กลัวหลวงปู่มั่นมาก ความกลัวของหลวงตาที่กลัวหลวงปู่มั่น กลัวเพราะอะไร กลัวเพราะบารมีธรรม กลัวเพราะเราเคารพบูชาของเรา
เรากลัวท่าน กลัวเพราะบารมีของท่าน เราไม่ใช่กลัวโดยไม่มีเหตุไม่มีผล คนที่กลัวโดยไม่มีเหตุไม่มีผล เรากลัวไปหมดเลย เรากลัวผีกลัวสาง กลัวต่างๆ กลัวโดยที่ไม่มีปัญญา แต่เวลามีปัญญานะ ครูบาอาจารย์ เวลาอยู่ในปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน เวลาธุดงค์ไปอยู่ในป่าช้า นั่งอยู่ในกลดนะ กลัวผี กลัวแล้วกลัวอีก กลัวจนทุกข์จนยาก แล้วพอกลัวนี่มันจินตนาการไปเรื่อย เสียงกอกแกกก็ว่าผีมา เสียงกอกแกกก็ว่าผีมา ก็เลยบังคับตัวเอง บังคับตัวเองให้ลืมตาแล้วไปดูซิว่ามันเสียงอะไร
เสียงหมามันมาเขี่ยอาหารกิน พอเสียงหมามันเขี่ยอาหารกิน ปัญญามันเกิด เห็นไหม เราเป็นพระแท้ๆ เราเป็นมนุษย์นะ แล้วบวชเป็นพระ เป็นศากยบุตร เป็นผู้ที่มีปัญญา เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีคุณค่าเท่ากับหมาตัวหนึ่ง กลัวจนตัวสั่นอยู่ในกลด หมามันมาหาอยู่หากิน หมามันยังไม่กลัวเลย นี่ปัญญามันเกิด พอปัญญามันเกิด มันเกิดความองอาจกล้าหาญขึ้นมา
แต่เวลากลัวนี่กลัวจนทุกข์กลัวจนยากนะ กลัวจนตัวสั่นอยู่ในกลดอยู่คนเดียว กลัวผีเพราะอยู่ในป่าช้า เพราะเราเข้าไปอยู่ในป่าช้าเอง พอเราเข้าไปอยู่ในป่าช้าเอง เราก็จินตนาการว่าผีมันจะมา แล้วเสียงอะไรดังขึ้นมาเราก็ว่าเสียงผีมาแล้ว เสียงมันตะกุยดินก็ว่าเสียงผีเดินเข้ามาใกล้หน่อยหนึ่งแล้ว พอเสียงเข้ามาใกล้ๆ ผีมันจะมาเปิดกลดเราแล้ว มันจินตนาการไปหมด เห็นไหม บังคับตัวเอง บังคับตัวเองว่าลองลืมตาดูซิว่านั่นมันอะไร พอลืมตามองไป นี่หมา หมามันหาเศษอาหารกิน
เวลาปัญญามันสังเวชมันเกิดขึ้นมา เราเป็นคนนะ บวชเป็นพระด้วย ออกมาธุดงค์เพื่อจะต่อสู้กิเลสด้วย สู้หมาไม่ได้ หมามันยังไม่กลัว หมามันยังเข้ามาหาอยู่หากินของมัน เรานี่กลัวจนตัวสั่น นี่กลัวโดยไม่มีเหตุไม่มีผล มันกลัวแบบนี้
แต่ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมา นี่เรากลัวนะ กลัวด้วยความเคารพบูชา กลัวด้วยบารมีธรรมของท่าน กลัวด้วยคุณงามความดีของท่าน ท่านมีคุณงามความดี เข้าไปใกล้ๆ บารมีของท่านนะ เรามันหนาว หนาวๆ ถ้ากลัวแบบนี้เรากลัว เพราะอะไร เพราะเรามีกิเลส กิเลสเรามันฟู กิเลสเรามันจะเป็นขี้กลาก มันจะลามปาม พอเราเข้าไปหาท่าน จิตใจท่านสะอาดบริสุทธิ์ เข้าไปนี่มันกลัว กลัวแบบนี้กลัวแบบธรรม กลัวแบบมีเหตุมีผล
เพราะเราเคารพบูชาท่าน เราไปใกล้ท่านขึ้นมา เรามาหวังพึ่งพาอาศัยท่าน ไม่ใช่ว่าเราไปตีเสมอท่าน ไปเป็นขี้กลากจะลามปามท่าน นี่กลัวแบบนี้กลัวกดกิเลสไว้ ความกล้าความกลัวมันต้องมีเหตุมีผลนะ ถ้ามันมีเหตุมีผล เราจะเอาตัวรอดได้
ปัญหามีไว้ให้แก้ เพราะมีปัญหาทุกคน การว่ามีปัญหาหมายความว่า คนเราเกิดมามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ จะมากจะน้อย มีทุกๆ คน ถ้าการมีทุกคน เราก็จะมาเพื่อชำระล้างมัน ถ้าชำระล้างมัน
นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เห็นไหม สอนให้หาตัวตนเราก่อน ถ้าเราหาตัวตนของเราเจอ เราบอกว่าเรารักตนเองๆ เรารักที่ไหนล่ะ เรารักที่เงามัน ความฟุ้งซ่าน ความรู้สึกนึกคิด ความเกิดดับ คือสังขาร เรารักได้แค่นี้ เพราะเรารู้ได้แค่นี้ เพราะวิญญาณมันรับรู้ แต่เราไม่เคยเห็นจิตสงบเข้ามา ไม่เห็นจิตที่มันเป็นเอกเทศขึ้นมา จิตของเราที่เป็นเอกเทศขึ้นมา มันปล่อยสัญญาอารมณ์ นี่สัญญาอารมณ์นะ
โดยธรรมชาติของมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันเป็นขันธ์ มันเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ธรรมชาติของผู้รู้ ธรรมชาติของผู้รู้มันกระทบกระเทือนกัน มันเสวยกัน มันต้องอยู่ด้วยกัน เหมือนไฟฟ้า ไฟฟ้าถ้ามีขั้วบวกขั้วลบมันจะไปของมัน ถ้ามันไม่มีขั้วบวกขั้วลบ มันไม่มี มันไปของมันไม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน มันมีธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น แล้วเราก็รู้สึกแค่นี้ เรารู้สึกโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ไง มนุษย์เกิดขึ้นมาก็มีสัญชาตญาณ จิตใต้สำนึกนี่สัญชาตญาณของมนุษย์ ถ้าจิตมันสงบเข้าไปนะ มันปล่อยวาง มันมีปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป ใช้กำหนดพุทโธเข้าไปจนจิตมันปล่อยวาง ปล่อยวาง ถ้ามันวางถึงที่สุดของมัน อัปปนาสมาธิ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้ มันไม่เสวยอารมณ์ มันเป็นเอกเทศของมัน สิ่งนี้มันเป็นเอกเทศของมัน อย่างนี้ก็เป็นวิปัสสนาไม่ได้ เพราะมันไม่มีสิ่งใดกระทบ มันไม่มีสิ่งใดฝึกหัดใช้ปัญญาของมัน
พอจิตมันสงบแล้ว นี่จิตสงบ อัปปนาสมาธิ ถ้ามันคลายตัวออกมา คลายตัวออกมามันก็ต้องกระทบใช่ไหม ต้องกระทบความคิดใช่ไหม พอมันกระทบกับความคิด นี่อุปจารสมาธิ เพราะวงรอบของมัน วงรอบที่จิตเป็นอิสระนี้เป็นสมาธิ
สมาธิแก้กิเลสไม่ได้
แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาเกิดไม่ได้ ภาวนามยปัญญาไม่มี คนทำสมาธิไม่เป็น ไม่มีปัญญาในศาสนา ปัญญาในพระพุทธศาสนา ปัญญาในภาวนามยปัญญาเกิดไม่ได้ เกิดไม่ได้เพราะอะไร
เกิดไม่ได้เพราะสัญชาตญาณ จิต พลังงานมันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่ แล้วอวิชชามันกระทบกับขันธ์ กระทบกับเงาของมัน มันกระทบด้วยอะไรล่ะ เพราะมันมีอวิชชา อวิชชาคืออะไร? อวิชชาคือความไม่รู้ คนไม่รู้แก้กิเลสได้ไหม คนไม่รู้จะแก้ปัญหาได้ไหม คนไม่รู้ช่วยตัวมันเองได้ไหม
คนไม่รู้ ช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละ เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจไปหมดเลย ธรรมะพระพุทธเจ้าเข้าใจหมดเลย เข้าใจโดยอวิชชา เข้าใจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ตัวเองไม่เข้าใจตัวเอง เพราะตัวมันเองมีอวิชชา ตัวมันเองมีความไม่รู้ นี่ความไม่รู้
ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันเป็นเอกเทศ มันเป็นสมาธิ มันรู้ตัวมันเอง แต่ไม่รู้ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้ในมรรคญาณ มันรู้ในตัวมันเอง มันรู้ในตัวมันเองเพราะอะไร เพราะมันปล่อยวางเขาเข้ามา ปล่อยวางสิ่งที่แบกรับภาระเข้ามา ปล่อยวางขันธ์ที่สัญญาอารมณ์มันไปแบกรับอยู่ เป็นธรรมชาติความรู้สึก สัญชาตญาณ มันปล่อยมันเข้ามา ปล่อยเข้ามาจนเป็นตัวมันเอง เห็นไหม พอเป็นตัวมันเอง นี่สัมมาสมาธิ
ถ้าสัมมาสมาธิ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญา ภาวนามยปัญญาเกิดไม่ได้ มันเกิดแต่จินตนาการ จินตมยปัญญา จินตนาการของมันไป มันจะเกิดภาวนามยปัญญาไม่ได้
แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้ว จิตสงบแล้วถ้าใครไม่ออกฝึกหัดใช้ปัญญามันก็สงบระงับ ฤๅษีชีไพรเขาทำมาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมา ๖ ปี ก็ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาก็ทำสมาธิของเขาได้ พอทำสมาธิเข้ามา มันมีพลังงานของมัน มันเกิดอภิญญา อภิญญาความรู้ต่างๆ ความรู้อย่างนี้มันรู้โดยจิต จิตมันรับรู้ของมัน นี่อภิญญา
อภิญญาแก้กิเลสไม่ได้ อภิญญาแก้กิเลสไม่ได้
แต่สัมมาสมาธิ ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเกิดปัญญาของมันขึ้นมา ปัญญาเกิดในอะไร ถ้าปัญญา เห็นไหม ปัญญาทางโลกเขา อภิญญาเขาก็มีปัญญารู้ว่าเทวดาคุยอะไรกัน รู้ว่าพรหมเขานอนพลิกอย่างไร นี่อภิญญามันรู้ รู้โดยสัญชาตญาณของจิต
แต่เวลาถ้าเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญารู้ในอะไร? ปัญญารู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม กายกับใจอยู่ด้วยกัน แต่ไม่เคยคุยกัน ไม่รู้จักกัน ไม่เคยเห็นกัน แต่ถ้าจิตสงบแล้วถ้ามันเห็นกายของมัน เห็นกายของเราเองนี่แหละ กายนี้เป็นสถานะของมนุษย์ เราได้สร้างบุญกุศลมา เราถึงได้เกิดเป็นมนุษย์
จิตที่เกิดเป็นมนุษย์โดยทฤษฎี โดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเข้าใจ กายกับใจๆ ในใจนี้มันก็มีอวิชชา ในใจนี้ นี่ตำราพระพุทธเจ้าหมดเลย เป็นทางทฤษฎีหมดเลย นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราไม่รู้ ถ้าเรารู้ เราแก้กิเลสของเราได้ ถ้าเราไม่รู้ เราถึงไม่เห็นกิเลสของเรา
แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันวิปัสสนาของมัน มันแก้ไขของมัน มันพิจารณาของมัน แล้วมันปล่อยวางของมัน เวลามันขาด เวลามันขาดขึ้นมา ดูสิ หลวงตาท่านบอกท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ กลัวท่านมาก กลัวด้วยธรรมของท่าน กลัวด้วยบารมีของท่าน กลัวหลวงปู่มั่น กลัวมาก
กลัวหลวงปู่มั่น กลัวมาก แต่เวลากลัวแล้วรักษาใจของตัว ใจของตัวสงบระงับเข้ามา ใจของตัวพิจารณาเวทนา จนถึงที่สุดเวทนามันขาด นี่เวลามันองอาจกล้าหาญ เห็นไหม
เวลากล้า ถ้าเรากล้าของเรา ความกล้าบ้าบิ่นมันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ความกล้าบ้าบิ่นทำให้เรามีแต่ความเสียหาย เพราะความกล้าบ้าบิ่นมันไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรขึ้นมาให้เราเลย
แต่ความกล้าเพราะมันมีคุณธรรม ความกล้าเพราะมันเกิดสัจธรรม เพราะความกล้ามันเกิดสัจธรรม จิตมันสงบเข้ามาแล้วมันพิจารณาของมันตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงนี่ตามธรรมนะ
ตามธรรม อริยสัจมันมีหนึ่งเดียว เห็นไหม ถ้าใครมารู้จริงเห็นจริงมันก็พูดสัจจะอันเดียวกันใช่ไหม เวลาพูดสัจจะอันเดียวกัน เวลา ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ มันจะแตกต่างกันไปไหน เวลาหลวงตาขึ้นไปรายงานผลกับหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าสิ่งที่กลัวๆ เคยกลัวจนขนลุกขนพอง เวลาขึ้นไปหาท่าน เวลามีสัจธรรมขึ้นมา มันแสดงออกไป รายงานท่านด้วยความเป็นจริง รายงานท่านด้วยความเป็นจริง
นี่เวลากล้ามันมีเหตุมีผล มีเหตุมีผลเพราะอะไร เพราะมันมีองค์ความรู้ไง เพราะจิตมันวิปัสสนาญาณไง จิตมันมีการกระทำของมันไง สิ่งที่เรากระทำของเรามา เราจะบอกใครไม่ได้หรือ สิ่งที่มันเป็นจริงในใจของเรา เราบอกใครไม่ได้หรือ แล้วจะไปบอกใคร ไปบอกคนที่ไม่รู้เขาก็ไม่รู้อะไรกับเราหรอก แต่เราไปบอกครูบาอาจารย์ของเรา เราไปบอกผู้ที่รู้จริงของเรา ท่านรับรู้ของเรา ให้ท่านได้ชื่นใจของท่าน เห็นไหม
เวลาท่านรับไว้ รับไว้เพื่อฝึกฝนเรา เวลาเราไปหาท่าน ในจิตใจของเราทำความผิดพลาดสิ่งใดท่านก็รู้เห็นจิตใจของเราทั้งหมด ท่านบอกเราได้หมดแหละ อะไรควรและไม่ควร อะไรเป็นไปได้และอะไรเป็นไปไม่ได้ นี่ยิ่งบอกมากก็ยิ่งกลัวมาก กลัวมากเพราะอะไร กลัวมากเพราะเรามีความทุจริตในใจของเราไง
เราเก็บงำความทุจริตในใจของเราไว้ แล้วคนมารื้อค้น คนมาตีแผ่ ใครไม่กลัว ใครไม่กลัวบ้างว่าเรามีความทุจริตในใจ เรามีความไม่รู้ เรามีความเห็นผิด เรามีความหมักหมมในใจ แล้วมีครูบาอาจารย์คอยมาตีแผ่ในใจเรา นี่กลัวไหม มันกลัวเพราะเหตุนั้นไง มันกลัวเพราะว่ามีผู้รู้จริงคอยบอกเรา ที่มันเคารพ เคารพบูชาอย่างนี้ไง
เคารพบูชาเพราะท่านคอยบอกเรา ท่านคอยชี้แนะเรา ท่านรับเราไว้เพราะท่านจะแก้ไขเรา ท่านจะดูแลเรา ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะความกลัวอันนั้นทำให้เรามีสติ ให้เรามีความระวัง ให้เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เรามีการรักษาใจของเรา
พอใจของเรามันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เป็นสมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ เวลามันใช้ปัญญาไม่เป็น มันก็รู้ว่ามันใช้ปัญญาไม่เป็น เวลาเป็นสมาธิขึ้นมา ท่านบอกมันเหมือนถ่านแดงโร่เลยนะ อู้ฮู! มันเผาตัวมันเอง
เวลาทำสมาธิไม่ได้ก็เหมือนถ่านที่มันจุดไฟไม่ติด ดำปี๋อยู่นั่นแหละ ไปหน้าไปหลังมันติดขัดไปหมด คนภาวนามันเป็นแบบนั้นน่ะ ล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้นแหละ แล้วมันวางใจมันเป็นกลางได้ พอจิตมันสงบขึ้นมาได้ เวลามันพิจารณาของมันได้ เวลามันปล่อยวางของมันได้เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เห็นไหม นี่ปัญญามันเกิด
สิ่งที่เคารพบูชาด้วยความกลัว ด้วยความกตัญญูกตเวที กลัวอันนั้นกลัวเพื่อรักษาใจของเรา แล้วรักษาขึ้นมาแล้วมันมีความจริงขึ้นมา มันเกิดสมาธิขึ้นมา มันเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นไหม ปัญญาที่เกิดขึ้นมา มันวิปัสสนา มันแก้ไขของมัน มันชำระล้างของมัน มันถอดถอนของมัน นี่เวลามันขาด
ถ้ามันยังไม่ขาด มันยังสงสัยอยู่ ถ้าเป็นตทังคปหาน ปล่อยๆๆ ใครมาก็บอกภาวนาแล้วมันปล่อย พิจารณากายแล้วมันปล่อย ปล่อยเดี๋ยวก็ร้องไห้ ถ้าปล่อยแล้วไม่มีสติปัญญานะ ปล่อยแล้ว พอธรรมมันเสื่อม กิเลสมันครอบหัวนะ ร้องไห้เลยล่ะ ร้องไห้เพราะอะไร ร้องไห้เพราะเราเคยเป็น จิตใจเราเคยพิจารณาแล้วมันปล่อยวาง มันมีความสุขมาก มันเป็นผลเหมือนที่เราจะได้ แล้วสิ่งที่เราจะได้นี่มันหลุดมือเราไป มันเป็นตทังคปหาน มันเป็นของชั่วคราว มันปล่อยชั่วคราว ปล่อยเพราะอะไร เพราะจิตมันมีกำลังขึ้นมา มันพิจารณาของมันขึ้นมา
แต่กิเลสในใจมันเข้มแข็งของมัน มันก็ยึดของมันไว้ เห็นไหม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ครูบาอาจารย์ท่านจะคอยแนะคอยนำให้เราซ้ำ ซ้ำเพราะอะไร ซ้ำเพื่อหาความเป็นกลางไง
ถ้ามันปล่อย มันปล่อยด้วยอะไร? ด้วยกำลัง มันก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค มันปล่อยด้วยความสุข ความระงับ มันก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา มันไม่สมดุลของมัน เวลามันสมดุลของมัน มันมรรคสามัคคี มันสมดุลของมัน มันสมดุลของมันอย่างไร
ถ้ามันสมดุลของมัน เห็นไหม ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรม เวลามันขาด นี่เวลาชำระล้างกิเลสด้วยความชอบ ไม่ใช่ชำระล้างกิเลสด้วยความจำ ไม่ใช่ชำระล้างกิเลสด้วยความลังเลสงสัย ไม่ใช่ชำระล้างกิเลสด้วยความคลางแคลงใจ นี่มันซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมันขาด
เพราะเวลาเราล้มลุกคลุกคลานมา เราก็รู้ของเรา เวลามันขาดขึ้นมาจริง มันก็รู้ของเรา เวลาขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น ทำไมมันองอาจกล้าหาญขนาดนั้นล่ะ บอกว่าเวลากลัว กลัวจนขนลุกขนพอง เวลามันกล้าขึ้นมา มันกล้าด้วยคุณธรรม มันกล้าเพราะเรามีของเรา กล้าเพราะมันมีสมบัติ
เวลาโต้เถียงกันมา โต้เถียงกันมา ถ้าเรายังไม่ถึง เราเข้าใจผิดขึ้นไป ไปโต้เถียงกับท่าน พอโต้เถียงกับท่าน ท่านก็บอกว่าผิด ไอ้คนที่มีคุณธรรม ไอ้คนที่ภาวนามา ตทังคปหานคือมันปล่อยวางชั่วคราว มันก็ปล่อยวางมาจริงๆ พอปล่อยวางจริงๆ มันก็มีผลจริงๆ แต่ผลมันยังไม่สมบูรณ์ ก็เถียง เถียง เวลาโต้เถียงกันไป โต้เถียงเพื่อหาความจริง โต้เถียงเพราะอะไร โต้เถียงเพราะเราทำแล้วเรามีเหตุของเรา
เรากินอาหาร เราไม่รู้หรือว่ารสอาหารเป็นอะไร เรากินอาหาร เรารู้ไหม ทำไมต้องให้หมอเขาแนะนำนะว่า เนื้อดิบๆ อย่ากินนะ มันเป็นพยาธิใบไม้ในตับ เนื้อดิบๆ อย่ากินนะ เราก็กินของเรา ดูสิ วัฒนธรรมของเรา เราก็กินลาบกินก้อยของเรานั่นล่ะ แต่เขาบอกว่า เนื้อดิบๆ อย่ากินนะ เนื้อดิบๆ อย่ากินนะ ทำไมต้องให้คนอื่นบอกล่ะ เราก็กินทุกวัน ทำไมต้องให้หมอบอกว่าอย่ากินๆๆ ล่ะ
นี่ก็เหมือนกัน เราก็กินของเรา เราก็ภาวนาของเรา เราก็รู้ของเรา พอขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ไม่ให้กินไง ใช้ไม่ได้ๆๆ พอใช้ไม่ได้มันก็โต้เถียงๆ อย่างนี้โต้เถียงเพื่อหาความจริง เห็นไหม ความกล้าหาญมันเป็นขั้นเป็นตอนของมันนะ ถ้ามันรู้จริงของมัน มันเป็นความจริง
แล้วถ้าจริงขึ้นมา พอรายงานท่าน รายงานท่านเสร็จ ท่านฟังแล้วบอกว่า เออ! มันต้องเป็นอย่างนี้สิ จิตมันไม่ตาย ๕ อัตภาพเว้ย! มันก็เกิดตายหนเดียวเท่านั้นแหละ! นี่เพราะอะไร เพราะมันยืนยันกัน เพราะอะไร เพราะท่านฟังแล้วมันเป็นจริง แต่เวลาไม่จริงมันก็โต้แย้งกันๆ
นี้พูดถึงว่าความกลัวโดยไม่มีเหตุไม่มีผลมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ความกลัวแล้วเอาอันนั้นมาเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าความกล้า กล้าจนบ้าบิ่น ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก กล้ามาก ชนเข้าไปดะ ชนเละไปหมดเลย สังคมเขาจะสุขสงบระงับก็ไปชนเขา ไปทำลายเขา มันมีประโยชน์อะไร ความกล้าอย่างนั้นมีประโยชน์อะไร
ความกล้าที่แท้จริง เอาตัวเองให้อยู่สิ นั่งซะ ๕ วัน ๑๐ วัน นั่งลงไป ถ้ากล้าจริงเอามันไว้ให้ได้ ใจของเรานี่เอาไว้ให้ได้ ถ้าแน่จริง นั่งลง แล้วเอาใจเราไว้ให้ได้ นี่เอ็งจริง! เอ็งจริง!
แต่เอ็งจริงแล้วไปทำลายคนอื่น ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก เพราะกิเลสมันอยู่กับเรานะ นี่กิเลสมันอยู่กับเรา
ทีนี้เราอยู่ในสังคมใช่ไหม เรามีครูบาอาจารย์ใช่ไหม เวลาสังคม หลวงตาท่านพูดนะ เวลานั่งตลอดรุ่ง ลุกไม่ได้เด็ดขาด เวลาถ้าได้ตั้งสัจจะแล้วไม่ได้เลย เว้นไว้แต่หลวงปู่มั่นเจ็บป่วย หรือพระในวัดมีปัญหา ถ้าพระในวัด อย่างนี้ลุกได้
คนมีสังคม พระมีสังฆะ สังคมก็คือสังคม สังคมที่ดี เราก็ดีด้วย สังคมที่ไม่ดี เราดูเป็นแบบอย่างแล้ววางไว้ นั่นล่ะเป็นฟืนเป็นไฟของเขา เขาเอาฟืนเอาไฟเผาใจเขาโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปิดตาว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเขา นี่ประโยชน์ชั่วคราว แต่ให้ผลเป็นลบอีกมหาศาลเลย
แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรานะ สิ่งใดถ้ามันเป็นโทษกับเรา เราไม่ทำ เราไม่ควรทำ ถ้ามีสติปัญญาอยู่ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ถ้ามีสติปัญญาอยู่นะ สิ่งใดทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย สิ่งใดทำแล้ว ระลึกได้ เสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย
ถ้าสิ่งนั้นไม่ดีเลย ถ้ามีสติ อย่าทำ ถ้ามีสติปัญญา อย่าทำ
ฉะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เรารักษาของเรา แต่สังคมเป็นแบบนั้น มันไม่มีหรอก...โลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่ ธรรมะนี้เก่าแก่ มีมาก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ นินทาสรรเสริญ มันมี มันมาอย่างนี้
แล้วคนกิเลสหนา เวลากลัวก็กลัวจนไม่มีเหตุมีผล เป็นกระแส เป็นสังคมกันไป เวลากล้า กล้าจนบ้าบิ่น จนไม่มีเหตุมีผลอะไรเลย ฉะนั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกให้มัชฌิมาปฏิปทา
แต่มัชฌิมาปฏิปทาของใคร มัชฌิมาปฏิปทาของกิเลส มันก็ทำแต่ตามใจมัน ถ้ามัชฌิมาของธรรม มัชฌิมาของธรรมก็อย่างครูบาอาจารย์เราทำอยู่นี่ เห็นไหม พยายามกระเหม็ดกระแหม่อดออมเพื่อไม่ให้กิเลสในหัวใจมันฟูขึ้นมา แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติให้มันเกิดขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคญาณ ให้เกิดกับใจ
ถ้ามรรคญาณเกิดกับใจ มันจะองอาจกล้าหาญกับใจดวงนั้น ใจเราจะองอาจกล้าหาญมาก เพราะใจมันรู้จริง ใจมันรู้จริงแล้วข้างนอกมันของสมมุติทั้งหมด ใจดวงนี้มันจะไปหวั่นไหวกับสิ่งข้างนอกได้อย่างใด เพียงแต่ว่ามันรู้จริงอยู่คนเดียว พูดกับใคร ใครไม่รู้กับเราหรอก ถ้าใครไม่รู้กับเรา
กาลเวลามันจะพิสูจน์ พฤติกรรมที่แสดงออกนั้นมันจะรู้ว่าอะไรจริงและอะไรไม่จริง ถ้าไม่จริง มันต้องแสดงออกมาแบบไม่จริงแน่นอน แน่นอน! ถ้าจริง ทำอย่างใดมันก็จริง จริงวันยังค่ำ จริงแน่นอน กาลเวลามันพิสูจน์ ฉะนั้น เราใช้สติใช้ปัญญาของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ
ฉะนั้น เวลากล้า เวลากลัว ให้มีเหตุมีผล ใช้ปัญญา อย่าให้ความกล้าความกลัวมาชักจูงใจเราไปเสียหมด ให้มีสติให้มีปัญญาใคร่ครวญ แล้วเราจะกล้าจะกลัวด้วยเหตุด้วยผล ด้วยเหตุด้วยผลมันก็เป็นปัญญา ปัญญาจะหยาบจะละเอียดอย่างไรเราก็พยายามฝึกฝนของเรา เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา
นี้เราเป็นนักธรรมะ เราเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ที่มีเหตุมีผล เราทำสิ่งใดเพื่อประโยชน์กับตัวเรา แล้วประโยชน์กับหมู่คณะมันจะตามมาทีหลัง แต่ถ้าตัวเรายังสกปรกโสโครกอยู่ หมู่คณะจะได้พึ่งอะไรกับเรา ไม่มีประโยชน์หรอก ฉะนั้น เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเราก่อน เป็นประโยชน์กับเราแล้วถึงจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น
ทุกคนจะบอกเลย เห็นแก่ตัวๆ
เห็นแก่ตัวอะไร ทุกข์อยู่นี่ๆ จะชำระทุกข์ที่นี่ก่อน เห็นไหม เห็นแก่ตัว เห็นที่ไหน ถ้าตัวเองสะอาดสมบูรณ์แล้ว ประโยชน์มันมาแน่นอน ไม่ต้องห่วง ประโยชน์จะตามมา แต่เรายังทำอะไรไม่ได้เลย เราจะเอาประโยชน์ที่ไหน ไม่มีใครต้องการหรอก ของเหม็นไม่มีใครต้องการ ต้องการแต่ของดีทั้งนั้น เอวัง