ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจแพ้

๒๙ ก.ย. ๒๕๕๖

 

ใจแพ้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๔๑๘. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๑๔๑๙. เรื่อง "เมื่อรู้สึกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ"

กราบนมัสการค่ะ เมื่อรู้ตัวว่ากำลังมีความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิควรทำอย่างไร? ความคิดที่เกิดขึ้นเป็นดังนี้ค่ะ พ่อของลูกเป็นคนกินเหล้าจนป่วยเป็นมะเร็งที่ปาก เนื่องจากแผลที่ถอนฟันแล้วรักษาไม่หาย ลูกได้พาพ่อไปรักษาจนอาการดีขึ้นมาก โดยการรับการผ่าตัดและฉายรังสี จนหมออนุญาตให้กลับบ้านได้ เมื่อพ่อกลับมาถึงบ้าน ถ้าพ่อมีเงินพ่อจะแอบไปซื้อเหล้ามากิน ลูกก็รู้ได้ในวันหนึ่ง ตอนนี้ลูกมีความรู้สึกว่าพ่อของเราไม่รักตัวเองเลย

สาเหตุที่พ่อกินเหล้าเพราะพ่อบอกว่าพ่อไม่กลัวตาย กินเหล้าก็ตาย ไม่กินเหล้าก็ตาย คนที่เป็นโรคนี้แล้วต้องตาย เมื่อได้ยินดังนี้ความคิดของลูกมันพุ่งปี๊ดเลย ต่อไปนี้เราจะไม่สนใจพ่ออีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ไม่สนใจ รวมทั้งคิดว่าเราไม่มีพ่ออีกแล้ว ลูกรู้ว่าสิ่งนี้เป็นความคิดที่ผิด หากคิดเช่นนี้ไปบ่อยๆ ตัวลูกจะไปลงนรกแน่ๆ จึงจะพยายามที่จะคิดใหม่ จึงขออาราธนาให้หลวงพ่อช่วยลูกหน่อย ว่าควรทำอย่างไรจึงจะปรับความคิดได้ ทำอย่างไรจึงจะเอาชนะมิจฉาทิฏฐิตัวนี้ได้ กราบขอบพระคุณค่ะ

ตอบ : นี่ระหว่างพ่อกับลูก กินเหล้ามาก ไปถอนฟันรักษา ไปถอนฟันจนเป็นมะเร็ง พอเป็นมะเร็งไปรักษาจนหาย รักษาจนหายแล้วก็มากินเหล้าอีก แล้วกินเหล้าอีก ธรรมดาความคิดของเรามันก็เป็นอย่างนี้ ความคิดของเรารู้ว่าสิ่งที่ผิด เพราะว่าเราลำบากลำบนขนาดไหน พาไปดูแลรักษาจนกว่าจะหาย พอหายแล้วก็กลับไปกินอีกไง

ฉะนั้น สิ่งที่เขาไปกินอีกเพราะเขาแพ้ใจตัวเอง สิ่งที่แพ้ใจตัวเอง ดูทางการแพทย์สิ บุหรี่ สิ่งบุหรี่พวกสารเสพติดต่างๆ มันจะให้ผลร้ายต่อร่างกาย ให้ผลร้ายต่อร่างกาย ถ้าไม่แพ้ใจตัวเองมันก็จบ ถ้าแพ้ใจตัวเอง เขาแพ้ใจตัวเขาเอง ถ้าไม่แพ้ใจตัวเขาเอง ดูสิคนที่ชนะใจตัวเอง ทำเท่าไหร่ก็ได้ ถ้าเขาแพ้ใจตัวเองก็เป็นแบบนี้ พอแพ้ใจตัวเองแล้วก็มาพูด ในเมื่อกินก็ตาย ไม่กินก็ตาย เราก็ต้องเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น ถ้าเขาคิดแบบนั้น เขาเห็นแบบนั้น นี่ความเห็นแตกต่างกัน ความเห็นแตกต่างกัน สิ่งที่ความแตกต่างกัน ความขัดแย้งกันที่มีความขัดแย้งกันเพราะเหตุนี้ พระเรานะที่เป็นนานาสังวาสเพราะถือศีลแตกต่างกัน ถือศีลนี่ถือศีลโดยไม่เสมอกัน เพราะความถือศีลแตกต่างกันมันจะแยกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นนานาสังวาสไปเพราะความถือแตกต่างกัน

ทีนี้ความถือแตกต่างกันมันเป็นอย่างนั้น นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกไง สัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ถ้าเป็นสัปปายะทิฐิเสมอกัน นี่หมู่คณะเป็นสัปปายะทิฐิมันเสมอกัน ความเห็นเสมอกันอยู่เป็นสุขมาก แต่ถ้าความเห็นมันแตกต่างกัน พอความเห็นแตกต่างกัน อยู่กันมันมีความขัดแย้งกัน ถ้าความขัดแย้งมันเป็นความขัดแย้งเพราะอะไร? เพราะทิฐิมันแตกต่างกัน

ฉะนั้น สิ่งนี้จริงๆ แล้วทุกคนกลัวตายทั้งนั้นแหละ เขาเองเขาก็อยากหาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนะ เพราะคนเป็นมะเร็งเราก็รู้อยู่แล้ว คนเป็นมะเร็งมันเจ็บปวดขึ้นมามันเจ็บปวดมากนะ พอมันเจ็บปวดขึ้นมามันจะทุกข์มาก นี้คนทุกข์มาก สิ่งที่ว่าเวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วย แต่พอรักษาหายมาแล้วก็เป็นแบบนี้ พอรักษาหาย เพราะคนกินเหล้า คนเคยติดเหล้ามันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าคนเวลาใจเด็ด เวลาจิตใจที่เป็นธรรม เวลาเข้าพรรษา ๓ เดือนทำไมงดได้ล่ะ? ๓ เดือนงดพรรษาได้ พอออกพรรษาแล้วกินต่อ

นี่พอพรรษาเพราะใจมันจริงไง ๓ เดือนลดได้ เพราะอะไร? เพราะเขาเข้าพรรษาเขาหยุดกัน เขาหยุดกันเขาก็หยุดโดยที่ว่าจิตใจเขาสมัครใจเขาก็หยุดได้ พอออกพรรษานะเขาไปตกเบิก ก็ทบต้นทบดอกอยู่นั่น แต่ถ้าพออยู่ในพรรษามันหยุดได้ นอกพรรษามันก็ควรจะหยุดได้ ถ้ามันหยุดได้ เพราะถ้ามันชนะใจตัวมันเองนะ นี่ให้เห็นว่ากิเลสร้ายนัก ในหัวใจความเคยใจมันร้ายนัก ถ้ามันร้ายนักเขาเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น

จริงๆ เขาก็รู้ เราจะบอกว่า นี่ลูกเขาบอกว่าถ้าพ่อเขาเป็นแบบนี้เขาเสียใจมาก เสียใจมาก พ่อเองพ่อเขาก็รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกคนเรารู้นะ คนเรารู้ว่าอะไรควรไม่ควรนะ แต่มันทนกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจไม่ไหว มันทนไม่ไหว มันทำของมันไป แต่ถ้ามันมีสติ มีปัญญามันฝึกฝน มันฝึกหัดมา เริ่มต้นอย่างที่เราทำกัน เริ่มต้นที่เราไม่มีปัญญาต่อสู้กับมันเราก็ใช้ขันติธรรม ขันติคือความอดทน ขันติมันไม่มีปัญญาหรอก มันทนเอา ทนเอาด้วยกำลัง แต่ถ้าพอมีขันติมันทนเอาได้ พอมันมีกำลังขึ้นมา มีปัญญาขึ้นมา เดี๋ยวปัญญามันก็จะแทงของมันไปได้ มันเป็นขั้นเป็นตอนไง แต่ถ้าคนที่เขามีสติปัญญา คนที่เขามีอำนาจวาสนานะเขาคิดได้เอง

นี่เด็กๆ บางคนคิดได้เองเลย เห็นไหม ตอนนี้ในโรงเรียน นักเรียน บุหรี่ไม่ดี เหล้าไม่ดีนะ แต่ครูสูบให้นักเรียนเห็น ครูมันจะชี้เลย นี่ก็สอนครูบอกไม่ดี ครูสูบอยู่นี่ครูบอกไม่ดี เด็กมันยังรู้ได้ เด็กมันรู้ได้ แต่เด็กถ้ามันโตขึ้นไปมันก็อยากลอง พอมันอยากลอง พรรคพวกมันชวนไปมันก็เป็นไป นี้เราจะบอกว่าใจมันแพ้ ถ้าใจมันแพ้มันก็เป็นแบบนั้น เราจะบอกว่าเพราะเขาคิดไงเขาถามว่า ในเมื่อมันเกิดมิจฉาทิฏฐิอย่างนี้ แล้วเขาว่า

ถาม : จะทำอย่างไร หลวงพ่อช่วยอบรมหน่อยว่าจะทำอย่างไร

ตอบ : จะทำอย่างไร ถ้าเราใช้ปัญญาแบบนี้ บอกว่าพ่อก็รู้ว่าอะไรควร ไม่ควรเหมือนกัน แต่พ่อใจอ่อนแอ แพ้ใจตัวเอง นี่จะกินต่อหน้าก็ไม่กล้านะแอบไปกินข้างหลังด้วย เอาเงินไปซื้อแล้วแอบไปกิน แล้วลูกไปจับได้ นี่ก็เขารู้ว่าผิด ถ้ารู้ว่าถูก ทำดีมันต้องไปแอบทำไมล่ะ? ทำไมต้องไปลักซื้อลักกินล่ะ? นี่เขารู้ว่าผิด ถ้ารู้ว่าผิดเรามองเป็นสองชั้นสิ มองเป็นสองชั้นว่านี่พ่อนะ พ่อก็รู้ถูกรู้ผิดเหมือนกัน แต่พ่อเป็นมาแบบนี้ เราให้เห็นว่าพ่อเป็นมาแบบนี้ พ่อได้สร้างบุญมาแบบนี้ นี่พ่อก็รู้ถูกรู้ผิด แต่ใจพ่ออ่อนแอ เรากลับไปเห็นเป็นความน่าสงสารไง

ถ้าเรากลับเห็นเป็นความน่าสงสารนะ แล้วน่าสงสาร พ่อเราก็คือพ่อเรา แต่กิเลสในใจพ่อเรามันข่มขี่ในใจพ่อ แล้วกิเลสอันนั้นมันข่มขี่ มันเบียดเบียนพ่อ ถ้ามันเบียดเบียนพ่อเรากลับสังเวช เหมือนกับเราพ่อแม่ดูแลลูก เราอยากให้ลูกเป็นคนดีเราก็สั่งสอนมันทั้งนั้นแหละ ทำไมมันดื้อล่ะ? มันดื้อ นี่ก็เหมือนกัน ทำไมพ่อมันดื้อล่ะ? ดื้อเพราะว่าเขาทนแรงเสียดสีไม่ไหว ถ้าทนแรงเสียดสีไม่ไหวนะเขาก็ทุกข์นะ เขาก็ทุกข์เพราะเขาทำผิด เขาก็รู้ว่าเขาทำผิด เขาก็ทุกข์ของเขา แต่เขาทนไม่ได้ เขาก็เลยไปซื้อเหล้ามากินอีก

ถ้าซื้อเหล้ากินอีก เราก็คิดว่าต่อไปนี้จะไม่ดูแล นี่มันก็คิดได้อีกเหมือนกัน แต่จริงๆ จะดูแลไหมล่ะ? ต่อไปนี้จะไม่ดูแลอีกแล้วนะ แต่มันป่วยต่อหน้ามันก็ทำ เพราะอะไร? เพราะการทำอันนั้นมันเป็นการสร้างบุญกุศลนะ เห็นไหม พระเราเขาบอกว่าใครอยากจะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อุปัฏฐากพระป่วย พระที่เจ็บไข้ได้ป่วยเราไปอุปัฏฐากเท่ากับอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทีนี้พ่อของเราล่ะ? เป็นพระอรหันต์ของเรา ถ้าเราได้อุปัฏฐาก เราได้ดูได้แลเราก็เท่ากับได้ทำบุญ เราก็ทำบุญนะ เราก็ได้ทำบุญกับพ่อกับแม่ ฉะนั้น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเราทำไหม เราก็ทำ เราทำกับพ่อกับแม่

ฉะนั้น สิ่งที่กับพ่อกับแม่มันเป็นสายบุญสายกรรม มันทำกันด้วยสายบุญสายกรรม ทำหน้าที่ ถ้าไม่ทำนะ ถ้าไม่ทำนี่เราทำใจแข็งปล่อยไว้ แล้วพ่อเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวบ้านเขาเห็น ชาวบ้านเขาติเตียนด้วย แต่ถ้าเป็นพระล่ะ? ถ้าเป็นพระนะ นี่เป็นพระ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีต่อเนื่องกันไป ถ้าผู้ใดอยากอุปัฏฐากพระป่วยให้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำเป็นตัวอย่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเดินตรวจกุฏิ เจ้าอาวาสต่างๆ เขาจะเดินสำรวจในวัดเพื่อดูความเรียบร้อย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินตรวจวัด แล้วไปเจอพระป่วยไง ไปเจอพระป่วย

พระนี่เป็นพระผู้เฒ่า เป็นพระป่วยไม่มีใครดูแล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้อุปัฏฐากเอง แล้วอุปัฏฐากเอง พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำ พระก็มาช่วยกันทำ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศน์ ถ้าเธอไม่ดูแลกันใครจะดูแล เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ให้ความมั่นคงของศาสนา ฉะนั้น ความมั่นคงของศาสนา ในปัจจุบันนี้เราก็อ้างว่าพระป่วย เพราะพระป่วยทำอะไรก็ได้ ใครก็อ้างว่าพระป่วย พระป่วย พระออเซาะ หลวงตาท่านบอกว่าจามพรวดก็จะไปโรงพยาบาลแล้ว

ไอ้อย่างนี้ เวลาเราไปโรงพยาบาลนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าถ้าพระองค์ไหนออเซาะ คือว่าอุปัฏฐากยาก คำว่าอุปัฏฐากง่ายนะ คำว่าอุปัฏฐากหมายถึงว่าเจ็บไข้ได้ป่วยจะเช็ดเนื้อเช็ดตัวพระนี่ร่วมมือกันทำได้ แต่ถ้าพระไม่ยอมทำสิ่งใดเลยท่านบอกว่าไม่ต้องอุปัฏฐาก นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีไง นี่ข้อกฎหมายมันมีข้อยกเว้น ถ้าข้อยกเว้น อะไรที่มันไม่เข้าองค์ประกอบให้ยกเว้น ไม่ต้องทำ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพระองค์ไหนออเซาะ พระองค์ไหนเห็นแก่ตัว พระองค์ไหนอุปัฏฐากยาก มันก็ป่วยกันหมดน่ะสิ พอป่วยขึ้นมาเลยศาสนานี้เป็นโรงพยาบาลเลยเนาะ มีแต่พระป่วยนอนเต็มศาสนาเลยเนาะ ใครมาก็จะอุปัฏฐากกัน แล้วได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะแค่นั้นหรือ? แต่ถ้ามันปล่อยปะละเลย มันไม่ดูแลกันมันก็สังเวช นี่ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็ต้องดูแลกัน แต่คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็ต้องจิตใจเข้มแข็ง ต้องรู้จักอะไรควรไม่ควร ถ้ารู้จักอะไรควรไม่ควรมันก็ดูแลกันง่าย แบบว่าร่วมมือกัน ความร่วมมือกันมันทำให้ทุกอย่างดีงามไปหมด

ความสามัคคี ความรัก ความผูกพันกันมันเป็นเรื่องดีทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่แบบว่ามีข้อแม้กันอยู่อย่างนี้ นี่ฉันป่วยนะ ต้องอุปัฏฐากฉันนะ ฉันเจ็บไข้ได้ป่วย เออ เอ็งเจ็บอยู่นั่นแหละกูจะไปเดินจงกรม เอ็งก็เจ็บอยู่นั่นแหละเราจะไปนั่งสมาธิแล้ว นี่ปฏิบัติบูชา อันนี้เวลาพูดเรื่องของพระ เห็นไหม มันมีข้อยกเว้น ทีนี้ถ้าเรื่องในบ้านของเรา เรื่องพ่อ เรื่องลูกกันมันเป็นสายบุญสายกรรม พอสายบุญสายกรรมอย่างไรเราก็ทำ ถ้าทำขึ้นมาเราได้ดูได้แลเพื่อประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาพูด เห็นไหม เวลาพ่อเขาบอกว่าพ่อเขาไม่กลัวตาย ไม่จริงหรอก ไม่จริง อย่างไรก็กลัวตาย เรื่องของกลัวตาย เพราะอะไร? ถ้าขนาดจะไปอย่างไรมันก็ยังมีของมัน สิ่งที่ว่าไม่กลัวตาย ในเมื่อเขาไม่รักตัวเอง รัก รักตัวเองก็รัก เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วยเขาพยายามรักษา พอรักษาหายมาก็ลืมตัว มันเป็นอย่างนี้ไง เพราะเขาเรียกว่าอดีต อนาคต สิ่งที่ยังมาไม่ถึงทุกคนพูดดีทั้งนั้นแหละ ปากแข็งถ้ามันยังไม่ถึงตัวนะ วันใดมันถึงตัว วันนั้นคอตก แต่ถ้ายังไม่มาถึงตัวปากแข็งทั้งนั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ก็คิดว่ามันผ่อนคลายได้ มันพ้นไปได้ก็ปากแข็งไม่กลัวตาย มันต้องตายอยู่แล้ว กินก็ตาย ไม่กินก็ตาย ไอ้นี่ถ้ามันเป็นธรรมะเวลามันปฏิบัติ นี่ธรรมะอยู่ฟากตายๆ เออ สู้กันอย่างนี้ อย่างนี้เห็นด้วย ถ้าสู้กันนะ นี่อย่างไรมันก็ต้องตายอยู่แล้ว ถ้ามันสู้กันอย่างนี้มันแบบว่ามันพันตูกันอยู่ มันเป็นกิเลสการต่อสู้กันอยู่เราต้องเต็มที่เลย แต่เวลานี้มันไม่มีอะไร กินเหล้าแล้วมันไม่กลัวตาย แบบว่าพูดเพื่อให้มันพ้นไป ปัดสวะพ้นจากหน้าบ้านไปเท่านั้นเอง แต่เสร็จแล้วมันก็กลัวตายเป็นธรรมดา

ฉะนั้น สิ่งให้คิดอย่างนี้ เวลาเราเองเขาบอกว่าเวลาเจอสภาพแบบนี้ความคิดมันพุ่งรุนแรง คำว่ารุนแรงเป็นเรื่องปกตินะ เพราะมันเหมือนเรา เหมือนเราว่าเห็นมันถูกมันผิดทำไมไม่ทำ ทำไมทนไม่ได้ ทำไมสิ่งที่มันผิดฝืนทำทำไม? นี่มันเป็นความเห็น มันคนละดวงใจ มันคนละความรู้สึก ทีนี้เป็นความรู้สึกพอมันเห็นแล้วมันก็พุ่ง ถ้าพุ่งแล้วต้องมีสติยับยั้งแล้ว ถ้ามีสติยับยั้งนะ เพราะตัวเองก็รู้ว่าอย่างนี้เป็นความคิดที่ไม่ดี เพียงแต่ว่าเราจะระงับอย่างไร เพราะเราคิดด้วยวิทยาศาสตร์ คิดด้วยวิทยาศาสตร์มันเห็นชัดๆ เลย ขาวดำเห็นชัดๆ เลย แล้วทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้

นี่เรื่องกรรมเป็นแบบนี้ เวลาเรื่องกรรมรู้ๆ อยู่แต่แก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้ แต่วันใด นี่สัพเพ สัตตาไง พอวันใดหมดเวรหมดกรรมนะ เออ เข้าอกเข้าใจกันนะ กอดคอกันร้องไห้ หมดเวรหมดกรรมนี่แหม ซาบซึ้ง แต่ยังไม่หมดเวรหมดกรรมมันเกิดทิฐิ มันขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามันหมดเวรหมดกรรม ฉะนั้น เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ย้อนกลับมา ถ้าเราพิจารณาของเรานะ สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขๆ เถิด นี่เราก็ทำของเรา จงเป็นสุขๆ เถิด พ่อแม่ของเรา เราก็ทำให้ท่าน จงเป็นสุขๆ เถิด

นี่ถ้าท่านทนไม่ได้ท่านจะผ่อนคลายของท่าน ท่านจะซื้อกินบ้างเราก็เป็นสุขๆ เถิด เราก็ทำใจของเรา ทำใจของเรา อธิบายกัน คุยกันแล้วไง ถ้าคุยกันแล้วเข้าใจได้ก็จบ ถ้าคุยกันแล้วเข้าใจไม่ได้ เขาเป็นอย่างนั้นเราก็ทำหน้าที่ของเรา ท่านก็เป็นของท่านเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นไป แต่ถ้าวันไหนเขาเห็นน้ำใจเรานะ กรณีอย่างนี้มันจะเห็นน้ำใจกัน นี่พระก็เหมือนกัน เวลาอุปัฏฐากกันดูแลกันจะเห็นน้ำใจกันเลย โอ้ เพื่อนเป็นเพื่อนตายมาด้วยกันเลย เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยเขาทิ้งไปเลย ไอ้นี่มันมาจากไหนไม่รู้มาดูแลเรา มันซาบซึ้งมาก แล้วมันจะฝังใจไป

หลวงปู่มั่นพูดถึง เห็นไหม ว่ามหาทองสุขๆ นี่เพื่อนตายๆ เพื่อนตายเลยนะ เพื่อนตาย ท่านพูดนี่เป็นลูกศิษย์ ลูกศิษย์นะ มหาทองสุขนี่หลวงตาเล่าให้ฟัง ตอนที่ไปอยู่เชียงใหม่ ตอนที่เจ็บไข้ได้ป่วยหลวงปู่มั่นเป็นคนอุปัฏฐาก พอพูดถึงธรรมะให้เข้มแข็ง อู๋ย ร้องไห้เลย อย่างนี้เอาใหม่ ไปพูดอ่อนหวาน พูดอย่างดีนะ โอ๋ย ยิ้มแย้มแจ่มใส อ๋อ นิสัยก็เป็นแบบนั้นไป นี่ถึงเวลาไปเจอไฟป่า ถ้าไม่มีมหาทองสุข หลวงปู่มั่นอาจจะเผชิญไฟ โดนไฟคอก แต่เพราะว่าเป็นผู้เฒ่า มหาทองสุขเป็นคนเก็บบริขาร นี่ใส่สองชุด ของมหาทองสุขชุดหนึ่ง ของหลวงปู่มั่นชุดหนึ่ง แล้วจูงหลวงปู่มั่นหนีไฟออกมา

นี่เพื่อนตายๆ ไง สิ่งที่เวลามันสิ่งนี้มันจะฝังใจมาก ฉะนั้น เราทำหน้าที่ของเรา ถ้าท่านจะมีความสุขอย่างไรเรื่องของท่าน เราทำหน้าที่ของเรา ก็เป็นพ่อแม่เนาะ นี่เวลาพูดพูดง่ายอย่างนี้ เวลาทำมันทำยาก ทำยากเพราะอะไร? ทำยากเพราะคนใกล้ชิด คนใกล้ชิดพูดกันยาก ถ้าคนนอกพูดกันง่าย คนใกล้ชิดมันพูดกันมันพูดกันแบบว่ามันคุ้นเคย ความคุ้นเคยมันไม่มีความเกรงใจกัน ฉะนั้น ถ้าพูดถึงเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้เป็นเขยใหม่ตลอด ไปอยู่บ้านใครให้เป็นเขยใหม่ เวลาลูกเขยใครเข้าบ้านใคร เข้าไปใหม่ๆ โอ๋ย ทำตัวดี๊ดี กลัวเขาไม่รักไง พอคุ้นเคยกันมันไม่ใหม่แล้ว มันเก่าแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ทำตัวเป็นเขยใหม่ ถ้าทำตัวเป็นเขยใหม่จะไม่คุ้นเคย ถ้าไม่คุ้นเคยทำอะไรมันเกรงใจ ทำอะไรก็จะระลึกถึงกัน ไอ้นี่บอกไม่เป็นไร ไอ้คำว่าไม่เป็นไรนี่บาดใจเนาะ คนที่รักกันมากเลยนะ อีกคนหนึ่งถือวิสาสะ ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรหรอกเพราะว่าสนิทกันมาก ไอ้คนที่โดนทำเจ็บเนาะ โอ้โฮ รักขนาดนี้ทำไมทำเราได้ แต่ไอ้คนที่ทำบอกไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรไปเรื่อย อันนี้มันสะเทือนมาก

นี่พูดถึงว่าทำหน้าที่ของเราไป ถ้าท่านมีสายตามาคิดตรงนี้ได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ มันเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ นี่ใจมันแพ้มันก็เป็นแบบนั้น ถ้าใจเขาแพ้แล้วเป็นอย่างนั้น แต่เป็นพ่อเป็นแม่เราก็ดูแลของเราไป อันนี้เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

ข้อ ๑๔๒๐. เขาว่าขอบคุณเนาะ

ถาม : ๑๔๒๐. เรื่อง "ขอบคุณในคำตอบ"

โชคดีที่หลวงพ่อได้ให้คำแนะนำ ทำให้เข้าใจเพิ่มเติม ก่อนหน้านี้ได้อ่านธรรมและประวัติของพระองค์หนึ่ง แล้วก็คิดถึงประวัติหลวงปู่ชอบ (เขาว่าคิดถึงประวัติหลวงปู่ชอบด้วย) ก็พอจะคิดได้ แต่ก็ไม่มั่นใจ แต่พอได้ฟังหลวงพ่อแล้วกระจ่างมากขึ้น

ตอบ : นี่เขาก็คิดของเขาได้ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ถามมา พอถามมาแล้วก็คิดว่า เราคิดของเราเองตอนที่เราตอบปัญหานั้นไป เพราะว่าคนที่ปฏิบัติใหม่ คนที่ปฏิบัติใหม่มันเหมือนประกัน มันจะเคลมหมดเลยว่าเราได้รับประกันแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เขาถามเรื่องสักแต่ว่ารู้เนาะ นี่เรื่องพาหิยะสักแต่ว่ารู้ แล้วเขาบอกจิตของเขา เขาเป็นสักแต่ว่ารู้ คำว่าสักแต่ว่ารู้เราคิดของเราเอง นี่เราคิดของเราเองเราก็เคลมว่ามันจะเป็นแบบนั้น แต่ผู้ที่ปฏิบัติเขาจะแตกต่างมหัศจรรย์ แตกต่างกันมากคำว่าสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้ของเด็กมันก็ว่าไปอย่างหนึ่ง สักแต่ว่ารู้ๆ เธอจงทำใจให้เป็นสักแต่ว่ารู้ แล้วปล่อยวางให้หมดแล้วก็จบ แล้วเราก็ทำสักแต่ว่ารู้ เราสร้างภาพได้หมด แต่ความจริงมันไม่มีหรอก

คำว่าสักแต่ว่ารู้ นี่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ทุกคนว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ สิ่งต่างๆ เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติเวลาทุกข์มันเกิดขึ้นมาก็เป็นธรรมชาติ ทำไมทุกข์เกือบเป็นเกือบตายล่ะ? เวลากิเลสกับเราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง กิเลสก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งนะ กิเลสก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เพราะว่ากุศล อกุศล นี่ความคิดก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วเวลาธรรมชาติมันเกิดกับเรา ทำไมเราเจ็บช้ำน้ำใจล่ะ? แต่เวลาธรรมมันเกิด ธรรมมันเกิดกับเรา ธรรมชาติก็เกิดอีกแล้วทำไมไม่อยู่กับเรานานๆ ล่ะ? ธรรมมันเกิดแล้วเดี๋ยวมันก็หายไปล่ะ?

สักแต่ว่ารู้ก็เหมือนกัน สักแต่ว่ารู้ๆ นี่สักแต่ว่ารู้ มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง ก็อย่าร้องไห้สิมันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเองก็เป็นเช่นนั้นเอง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพระพาหิยะเวลาฟังอย่างนั้นทำไมเป็นพระอรหันต์ แล้วเวลาเขาถามมาว่าเขาก็คิดอย่างนั้น เขาคิดว่ามันสักแต่ว่ารู้ เพราะมันคิดมันถึงเป็น นี่แต่เขาก็บอกว่าจริงๆ แล้วเขาก็เข้าใจได้ว่ามันไม่ใช่ แต่เวลาอธิบายไปแล้วเขาถึงบอกว่าฟังหลวงพ่อแล้วมันกระจ่างขึ้นเยอะเลย ทั้งๆ ที่ว่าเขาก็คิดออก นี่วันนี้เขาขอบคุณมาด้วย แล้วยังมาบอกด้วยว่าจริงๆ ฉันก็คิดออก หลอกให้หลวงพ่อตอบเฉยๆ จริงๆ ฉันก็รู้อยู่แล้ว แต่ถามมาให้หลวงพ่อตอบสักนิดหนึ่ง อ้าว หลวงพ่อก็ตอบมา เออ มันก็กระจ่างขึ้น

นี่มันเป็นอย่างนั้น ถ้าบอกว่าเขาคิดออกได้ แล้วให้เราตอบมันก็ดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างหนึ่งว่าเขายังไม่คิดว่ามันเป็นของเขาขึ้นมาเอง แต่ถ้าคนเวลาปฏิบัติไปแล้วมันสงสัยไง เอ๊ะ ธรรมะพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น แล้วเราก็เข้าใจได้ แล้วเราก็ควรจะมีธรรม ทำไมไม่มีธรรมล่ะ? ยิ่งถ้าถามปัญหามาหาเรา นี่เราบอกไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่หมดเพราะว่าในการปฏิบัตินะ ปริยัติ การศึกษา ความเข้าใจได้ที่เขาบอกศึกษาปริยัติ เห็นไหม เขาบอกภาคปริยัติมั่นคง การปฏิบัติจะมั่นคง

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติมันมั่นคงจริงๆ มั่นคงจริงๆ ถ้าเรายึดปริยัติไว้ อย่างเช่นหลวงตาท่านปฏิบัตินะ เวลาท่านบอกว่าท่านไปอยู่ที่บ้านผือ พอจิตมันเสวยแล้วปล่อย เสวยแล้วปล่อย พอปล่อยมันก็ว่างหมดเพราะตอนนั้นท่านผ่านอสุภะมาแล้วไง ท่านบอกว่าอย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ? ทีนี้ท่านบอกว่านี่ผลของปริยัติ พอบอกว่าอย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ? ท่านบอกไม่เอาๆ อย่างนี้ไม่เอา ไม่เอาเพราะอะไร? เพราะคำว่าอย่างนี้มันสงสัย ถ้ามีความสงสัย ยังไม่แน่ใจ ไม่ใช่ ทีนี้เราปฏิบัติไปเรามีความสงสัยไหม? มี ทุกคนเวลาปฏิบัติไป เออ อันนี้น่าจะเป็นนิพพาน เอ๊ะ นิพพานทำไมเป็นแบบนี้ เอ๊ะ นิพพานจริงหรือเปล่า นี่เอ๊ะๆ มันสงสัย

ฉะนั้น เวลาบอกว่าท่านเสวยแล้วปล่อยที่บ้านผือ พอมันเสวยอารมณ์แล้วก็ปล่อย เสวยอารมณ์ไปจิตมันรู้เท่าหมด พอปล่อยแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่นิพพานหรือ? แล้วท่านสรุปทันทีเลยนะ อย่างนี้ไม่เอา ถ้ามีคำว่าอย่างนี้ไม่เอา ทีนี้พอคำว่ามีอย่างนี้ แล้วท่านพูดบอกว่าคำว่าอย่างนี้ของท่านนั่นละคือปริยัติ คือปริยัติบอกว่าถ้ายังมีความสงสัยอยู่ ไม่ใช่

นี่ปริยัติคือผลของทฤษฎี ความมั่นคงของทฤษฎี ความมั่นคงของปริยัติมันจะทำให้การปฏิบัติเข้มแข็ง เพราะท่านมีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ ท่านบอกอย่างนี้ไม่เอา พอไม่เอาท่านก็ค้นคว้าต่อไป ถ้าอย่างนี้เอาก็ติดอีก เพราะท่านติดมาบ่อยๆ คนปฏิบัติมันจะมาติดบ่อยๆ เลย พอจิตสงบแล้วเข้าใจว่านิพพาน พอเกิดปัญญาหนหนึ่งมันก็บอกว่านี่เป็นโสดาบัน เกิดปัญญาหนที่สองก็เป็นสกิทาคามี เกิดหนที่สามก็เป็นอนาคามี เกิดหนที่สี่เป็นพระอรหันต์

มี สำนักปฏิบัติใหญ่มาก เขาใช้อย่างนี้ ที่ว่าใช้ปัญญาๆ เขาขบปัญญาอย่างนี้ เขาขบปมในใจ ปมของความคิดมันปล่อยวาง เขาบอกอย่างนี้เป็นโสดาบัน นี่มี มีมากเลยที่ว่าอย่างนี้เป็นโสดาบัน แล้วว่าเป็นปัญญาๆ แล้วพอเป็นจริงแล้วเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ? เป็นจริงในสังคมของเขา เป็นจริงตามที่ว่าเขาอนุโลมเอาว่าเป็นแบบนี้ เขาสร้างทฤษฎีของเขาว่าเป็นแบบนี้ แล้วถ้าใครทำแบบนี้ได้มันจะเป็นขั้นเป็นตอนมา แต่ในสัจธรรมความจริงแล้วว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย

ขนาดเป็นสำนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงเขายังมีความเชื่ออย่างนี้ แล้วเวลาคนปฏิบัตินะ เวลาครูบาอาจารย์ที่ว่ามรรคผลที่ว่าครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมา แต่ละองค์ท่านจะผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มา จิตใจของคน จิตใจของคนที่ปฏิบัติทำไมไม่เคยประสบการณ์อย่างนี้ ถ้าเคยประสบการณ์อย่างนี้ ถ้าเริ่มต้นทุกคนก็มหัศจรรย์ทั้งนั้นแหละ แต่เวลาถ้ามันปฏิบัติต่อเนื่องไป คำว่าปฏิบัติต่อเนื่องไป เดินให้ไกลไง เดินต่อไป เดินต่อไป พอมันถึงเป้าหมาย สิ่งที่ถึงเป้าหมายเพราะมันต้องผ่านจุดนั้นมาใช่ไหม? ถ้าผ่านจุดนั้นมา ถ้าเราเชื่อตรงนั้น เราก็อยู่ตรงนั้นไง แต่นี่เราเดินมาอีกตั้งไกล พอเดินมาแล้วมาถึงเป้าหมาย พอถึงเป้าหมายมันจะรู้ อ๋อ อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นมันติดอยู่ แต่ถ้าคนยังไม่ถึงเป้าหมายมันติดอยู่ตรงนั้นมันก็ว่ามันใช่

นี่ไงคำว่าสักแต่ว่ารู้ๆ ทุกคนก็คิดเหมือนกันว่าเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงมันเป็นหรือเปล่า? ความจริงมันมีจริงหรือเปล่า? มันมีจริง มันมีจริงโดยอุปาทาน มันมีจริงโดยทิฐิของตัว มันมีจริงโดยความเห็นของตัว แต่มันไม่จริงในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง มันมีจริงในความเห็นของตัวไง นี่คำว่าสักแต่ว่ารู้ๆ มันเป็นแบบนี้ ธรรมะเป็นธรรมชาติก็เหมือนกัน ธรรมะเป็นธรรมชาติ ถ้าใจของครูบาอาจารย์ ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น ถ้าพูดตามความจริงมันก็เป็นแบบนั้น แต่คำว่าธรรมชาติ ธรรมชาติอย่างนี้มันเป็นธรรมชาติโดยสสาร แต่ธรรมชาติของธาตุรู้

นี่สันตติที่มันเกิด ธรรมชาติที่มีชีวิต ธรรมชาติที่มหัศจรรย์ จิตไม่เคยตายๆ แล้วเวลามันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่มันเจือไปด้วยอวิชชา พอมันทำลายอวิชชาออกหมดแล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ? นี่ไงที่ว่าธรรมะเหนือธรรมชาติๆ มันเหนือกว่า เหนือกว่าเยอะเลยถ้าคนเป็นพูดแล้วเข้าใจทันทีเลย แต่คนไม่เป็นมันพูดไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะถ้าธรรมชาติมันพิสูจน์ทางทฤษฎีได้ แต่พอพ้นไป ธรรมะแท้มันพิสูจน์ทางทฤษฎีไม่ได้ มันพูดออกมาไม่ได้ นี่ไงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนิพพาน สิ่งที่จิตของท่าน ท่านบอกว่ามันสื่อออกมา สื่อออกมาเป็นภาษาสมมุติบัญญัตินี่ยาก

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นภาษาสมมุติบัญญัติ ที่พูดออกมานี่เป็นสมมุติหมด คำว่านิพพาน คำว่าอนัตตาเป็นสมมุติทั้งนั้น เป็นสมมุติบัญญัติ เป็นกิริยา เป็นสิ่งที่สื่อออกมาทั้งนั้น แต่ของมันอันนั้นมันเหนือกว่านี้ ถ้ามันเหนือกว่านี้ ทีนี้เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระพาหิยะ สักแต่ว่ารู้ๆ เราก็เข้าใจกันเองว่าสักแต่ว่ารู้เป็นแบบนั้น

ฉะนั้น วันนั้นคำถาม หนึ่งคำว่าพาหิยะเป็นสักแต่ว่ารู้ แล้วผู้ถามก็บอกว่า เขาบอกว่าเขาเห็นมันคิด หยุดคิด ไอ้นี่เป็นสักแต่ว่ารู้ ถ้าคิดไม่ใช่สักแต่ว่ารู้ หยุดคิดเป็นสักแต่ว่ารู้ นี่อันนี้คือประสบการณ์ พอเราเห็นประสบการณ์อย่างนั้นเราถึงได้อธิบายไป ถ้าอธิบายไปมันก็จบ เห็นไหม นี่วันนี้เขาขอบคุณมา เขาขอบคุณมาว่า

ถาม : โชคดีที่ได้ฟังหลวงพ่อ มีคำแนะนำทำให้เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้ได้อ่านประวัติของพระองค์หนึ่ง และคิดถึงประวัติของหลวงปู่ชอบก็พอจะคิดออก ก็ไม่มั่นใจ แต่พอฟังหลวงพ่อแล้วกระจ่างมากขึ้น

ตอบ : ความกระจ่างมากขึ้น ขณะที่ฟังธรรมนะ ฟังธรรมนี่เวลาหลวงตาท่านบอกอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการ นิพพานนี่หยิบเอาได้เลยล่ะ เพราะหลวงปู่มั่นท่านมีธรรมในใจของท่าน ท่านอธิบายของท่านโดยเป็นโครงสร้าง โดยความเป็นจริง เห็นไหม แล้วเราฟังนี่ แหม มันหยิบจับได้นะ นี่เวลาฟังเทศน์กรรมฐานเป็นอย่างนี้ หลวงตาท่านถึงบอกว่า ในการปฏิบัติ ในวงกรรมฐาน ในพระปฏิบัติ สำคัญที่สุดคือการฟังธรรมจากผู้ที่รู้จริง เพราะผู้รู้จริงท่านจะพูดจากประสบการณ์ พูดจากใจของท่านที่เป็นความจริง มันมีโครงสร้าง มีรูปแบบ แล้วถ้าจิตของเรา จิตเราไม่มีโครงสร้าง จิตของเราเป็นนามธรรม จิตของเรามันไม่มีรูป ไม่มีร่าง มันไหลไปตามความพอใจของตัวเอง

ฉะนั้น พอเวลาฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์มันมีโครงสร้าง มันมีบุคคล ๔ คู่ มันพัฒนาของมันขึ้นไป แล้วเราฟังตาม เราก็เหมือนกับขึ้นบันไดตาม เดินบันไดตาม เดินไปตามๆ ถ้าใครปฏิบัติมา ติดตรงไหน ฟังตรงไหนมันจะเข้าใจ มันจะเปิดโล่งไป นี่อยู่ขั้นไหน ใจของใครอยู่ขั้นไหนท่านจะเทศน์ของท่านไปเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาฟังแล้วหลวงตาท่านบอกว่าเวลาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น นิพพานนี่จะหยิบจับเอาได้เลยล่ะ แหม มันชัดเจนมาก แต่ แต่พอหลวงปู่มั่นเทศน์จบปั๊บ ฟ้าปิดหมับ

หลวงปู่อ่อนท่านพูดอีก ซึ้งมากนะ ฟังเทศน์หลวงปู่อ่อน มรรค ๘ มันมืด ๘ ทิศ มรรค ๘ ก็มืด ๘ ด้าน นี่หลวงปู่อ่อนท่านเทศน์ ไปฟังเทศน์หลวงปู่อ่อนแล้วซึ้งมากเลย ไอ้เราว่ามรรค ๘ ทางอันเอกใช่ไหม มันทางอันเอก มรรค ๘ เส้นทาง นี่มรรค ๘ รวมกันเป็นมรรคสามัคคี หลวงปู่อ่อนบอกว่ามืด ๘ ทิศ มืด ๘ ด้าน มรรค ๘ ก็มืดหมดเลย นี่ประสบการณ์ของใคร ใครมีความเห็นอย่างใด จะเทศน์จากประสบการณ์ของใจดวงนั้น ทีนี้พอเทศน์จากใจดวงนั้น เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ นี่หลวงตาท่านพูดบ่อย เพราะหลวงตาท่านได้ประโยชน์มาจากตรงนี้มาก ใครได้ประโยชน์จากตรงไหนมามันจะฝังใจ แล้วมันจะถนอมรักษาอย่างนั้น

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านสร้างศาสนทายาท ศาสนทายาท มันจะเป็นศาสนทายาทได้มันต้องมีเหตุ มีปัจจัย คำว่ามีเหตุ มีปัจจัย เราเกิดมาจากอะไร? เราได้มรรค ได้ผลมาจากอะไร? มันจะถนอมรักษาสิ่งนั้นไว้ นี่ไงหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านถึงวางข้อวัตรถนอมรักษาไว้ นี่เวลาไปวัดหลวงปู่มั่น ใครไม่เคยก็ว่า โอ๋ย อยากพบหลวงปู่มั่นมาก ใครไปเจอนี่หงายท้องทุกคนเลย โดนเต็มที่

เมื่อก่อนอยู่กับครูบาอาจารย์ เข้าไปท่านเต็มที่ของท่านเลย เพราะอะไร? นี่มันคือหนทาง นี่มันคือเส้นทาง แล้วเอ็งจะเอามาขุด เอ็งจะมาทำลายเส้นทางให้เป็นหลุม เป็นบ่อ เอ็งจะมากีดขวางเส้นทางนั้น แล้วคนเขาจะใช้เส้นทางนี้ เอ็งมาขวางเขาทำไม ท่านจะเปิดเส้นทางโล่งตลอดเวลา แล้วเราไปเราจะเดินตามเส้นทางนั้นเลย นี่ไงหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านวางถนนหนทาง ท่านวางไฮเวย์ให้เราก้าวเดินเลย แต่เราไม่เอา เราบอกว่า อู๋ย เราจะสร้างเส้นทางของเราเอง สร้างเส้นทางด้วยความพอใจไง นี่สร้างเส้นทางก็เหมือนน้ำท่วม น้ำมันท่วมหมด มันไปไม่ได้หรอก แล้วเราจะมีอำนาจวาสนาแค่ไหน แต่เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านทำแบบนั้น

ฉะนั้น ใครได้มีประสบการณ์สิ่งใดมา จะถนอมรักษาสิ่งนั้น สังเกตได้ ครูบาอาจารย์องค์ไหนท่านเป็นธรรมนะ ท่านจะพูดจากประสบการณ์นั่นน่ะ แล้วพูดกี่วัน กี่ร้อยวัน กี่ร้อยปีก็ไม่มีวันจบตรงนั้นน่ะ เพราะมันเป็นสัจจะ ถ้ามันเป็นสัจจะ ฉะนั้น เขาจะถนอมรักษาตรงนั้น ถ้ารักษาตรงนั้นมันจะเป็นประโยชน์ตรงนั้น ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราปฏิบัติ พอมันเห็นว่าปฏิบัติเราถึงได้บอกว่าอย่าไปติดตรงนั้น เส้นทางยังยาวไกล พอไปถึงที่สุดนะ ถ้าถึงที่สุดเวลาสังโยชน์มันขาดนะ อกุปปธรรม คำว่าอกุปปธรรมคือมันธรรมแท้ๆ

นี่สัพเพ ธัมมา อนัตตา กุปปธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตา แล้วมรรค ๔ ผล ๔ มันพ้น มรรคนี่ไม่พ้น ผลนี่มันพ้น ถ้าผลมันพ้นจากสัพเพ ธัมมา อนัตตา มันพ้นไป มันยกเว้น แล้วยกเว้นอย่างไร? ยกเว้นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พูดถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บอก แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเหตุ บอกเหตุ สัพเพ ธัมมา อนัตตามันจะเป็นอนัตตา มันจะแปรสภาพของมัน มันจะเป็นจริง แล้วรู้อย่างไร เห็นอย่างไร ผลจากการเป็นอนัตตามาแล้ว ผลที่มันหลุดออกไปจากอริยสัจเป็นแบบใด

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงปั๊บนะไม่ต้องเถียงกันเลย แล้วจะเข้าใจว่าทำไมพาหิยะฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวทำไมเป็นพระอรหันต์ไปได้ ทำไมพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการพระเทวทัตนั่งฟังอยู่ข้างๆ พระเทวทัตพยายามต่อรองกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปกครองสงฆ์ เห็นไหม จ้ำจี้จ้ำไชอย่างนั้นแหละ พระเทวทัตยังจะคิดปกครองสงฆ์ พระเทวทัตยังจะคิดฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะรู้ได้ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

แล้วพอเป็นอย่างนั้น เห็นไหม พาหิยะ สิ่งต่างๆ ที่ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวเป็นพระอรหันต์ แล้วเทวทัตฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? ฟัง เถียงด้วย โต้แย้งมาตลอดด้วย ทำไมไม่เป็นพระอรหันต์ แล้วก็บอกว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง คนหนึ่งฟังทีเดียวเป็นพระอรหันต์มันก็เป็นเช่นนั้นเอง แล้วคนหนึ่งโต้แย้งพระพุทธเจ้ามาตลอดเวลา มันก็เป็นเช่นนั้นเอง นี่คำว่าเป็นเช่นนั้นเองทำไมแตกต่างกันล่ะ? มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง แล้วทำไมมันแตกต่างกันล่ะ?

อ้าว ทำไมฟังหนเดียวเป็นพระอรหันต์ล่ะ? ไอ้นี่โต้แย้งกัน เถียงกันจนจะยึดครอง จนจะปกครองสงฆ์ แล้วทำไมไม่เป็นพระอรหันต์ล่ะ? เห็นไหม สักแต่ว่าๆ มันมีเหตุ มีปัจจัย มันมีที่มา ฉะนั้น เอาเหตุการณ์หนึ่ง แล้วจะเหมารวมไปทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้ เหตุการณ์หนึ่งมันก็เป็นเหตุการณ์หนึ่ง มันจะเป็นจริง ไม่เป็นจริงมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น เราปฏิบัติไปแล้วเอาประสบการณ์ของเรา เราปฏิบัติของเราให้ได้ อย่าแพ้ใจตัวเองนะ ถ้าใจมันแพ้แล้วทุกอย่างแพ้หมด ถ้าใจเราเข้มแข็งนะ เรามีจุดยืนของเรานะ เราจะประสบความสำเร็จทั้งนั้น นี่ใจอย่าแพ้ ใจต้องชนะ ถ้าแพ้แล้วมันจะมีปัญหา

ฉะนั้น สิ่งที่เขาเขียนมาก็จบไง คือว่าเขาขอบคุณ เออ ขอบคุณยังดี ไม่ใช่เขียนกลับมาว่าหลวงพ่อพูดผิดอีกแล้ว หลวงพ่อตอบเอาแต่อารมณ์ เขาถามอย่างก็ตอบอย่าง เขาถามอย่างหนึ่ง คำถามก็ส่วนคำถาม แต่คำตอบนี่จะตอบจะเคลีย จะตอบจะให้เหตุให้ผล ให้เหตุให้ผล ถ้ามันเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่เป็นไร เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ นี่มันเทศนาว่าการได้ทำหน้าที่แล้ว ผู้ที่ได้รับผล เขาจะได้รับผล ไม่ได้รับผลมันเรื่องของเขา

นี่ก็เหมือนกัน เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว ในเมื่อสัจธรรมเป็นแบบนี้ สัจธรรมเป็นแบบนี้ มีคนเห็นผิด มีคนจะเบี่ยงเบนมันไป ถ้าเราเห็นว่าสัจธรรมมันเบี่ยงเบนไป เราพยายามสัจธรรมนั้นให้เที่ยงตรง แล้วเราพูดความเที่ยงตรงนั้นไว้ คนจะเห็น ไม่เห็นมันเรื่องของเขา ทิฐิของคนไม่เหมือนกัน แต่สัจธรรมที่เที่ยงตรงต้องพูดถึงความเที่ยงตรงนั้น ถึงจะเสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ จะเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต จะเสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ถ้ามันเที่ยงตรง แม้แต่ชีวิตเขายังเสียสละกันเลย เสียสละชีวิตเพื่อรักษาความเที่ยงตรงอันนั้น

ฉะนั้น เวลาเราได้พูดสัจธรรมไปแล้ว ใครจะเห็นดีเห็นงาม ไม่เห็นดีเห็นงามมันเรื่องของเขา เรารักษาความเที่ยงตรงอันนั้นไว้ เอวัง