ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใครรู้

๕ ต.ค. ๒๕๕๖

 

ใครรู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม   :   ข้อ ๑๔๒๑. เรื่อง "ไตรลักษณ์" (เขาว่าไตรลักษณ์นะ) 

กราบนมัสการพระอาจารย์สงบ กระผมมีความใคร่รู้เรื่องไตรลักษณ์ รบกวนท่านอาจารย์ด้วยครับ ผมมีอาการใคร่รู้เรื่องไตรลักษณ์ 

ตอบ   :   เรื่องไตรลักษณ์นี่ ถ้าพูดถึงไตรลักษณ์นะถ้ามีการปฏิบัติ ความรู้ไตรลักษณ์มันมีหลายระดับมาก ฉะนั้น คำว่าไตรลักษณ์ ถ้าการศึกษา เห็นไหม ในการศึกษา คำว่าไตรลักษณ์ทางวิชาการก็ศึกษาได้ เข้าใจได้ ถ้าเข้าใจได้ทางวิชาการ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งที่มันเป็นไปมันเป็นไตรลักษณะ เวลาพระที่เขาปฏิบัตินะเขากราบเลย พระไตรลักษณ์ พระไตรลักษณ์ คือว่ามันเป็นของสูงส่ง สูงส่งกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติที่จิตมันจะเข้าไปรู้ได้ แต่ถ้าบอกไตรลักษณะ ไตรลักษณะที่เราใคร่อยากรู้ 

ถ้าเราอยากรู้ปั๊บ เราอยากรู้ใช่ไหม? เราเป็นปัญญาชนใช่ไหม? ถ้าเราเป็นปัญญาชนเราก็ต้องศึกษาตามตำรับตำรา ถ้าเราเปิดตำรับตำรามันก็เป็นทฤษฎี เป็นทางวิชาการ ถ้าเป็นวิชาการนี่รู้ได้ไหม? ได้ เราก็รู้ได้ อย่างธรรมะนี่พวก ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคเขารู้ได้หมดแหละ เขาอธิบายธรรมะได้ เขาแต่งเรียงความได้ นี่ในสมัยก่อนหน้านี้ทางวิชาการเจริญมาก พอทางวิชาการเจริญมากเขาจะพิมพ์ตำรับตำรา เขาจะพิมพ์สิ่งที่เขาเป็นทางวิชาการออกมา พอออกมามันสะเทือนสังคมมาก 

สมัยก่อนหน้านี้ดูสินักปราชญ์ที่ว่าเป็นเจ้าฟ้า เจ้าคุณต่างๆ ที่มีชื่อเสียง มีชื่อเสียงเพราะอะไร? เพราะเขาแต่งไง เขาแต่งธรรมะออกมา พอแต่งเป็นทางวิชาการออกมา แล้วพอสังคมได้ศึกษาแล้ว โอ้โฮ มันมหัศจรรย์มาก เขามีความฮือฮามาก แต่พอเวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านค้นคว้าของท่าน ท่านบุกป่า บุกดงของท่าน ท่านปฏิบัติของท่านมา นี่สิ่งที่เวลาเทศนาว่าการมา คนมันฟังเข้าใจได้ยาก เช่น เช่นหลวงตาท่านพูดว่าท่านศึกษา ท่านเคยอยู่วัดพระศรีมหาธาตุ ท่านเคยอยู่ที่นั่น ท่านบอกเทศน์สมเด็จเราก็เคยฟังมา เทศน์สังฆราชเราก็เคยฟังมา เทศน์เจ้าฟ้าเจ้าคุณมาฟังเข้าใจหมดแหละ 

พอไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่นครั้งแรก แต่ท่านบอกมันมีวาสนาอันหนึ่ง มีวาสนาที่ว่าท่านโทษตัวท่านเอง ท่านไม่โทษเทศน์หลวงปู่มั่น ท่านโทษว่านี่เทศน์เจ้าฟ้าเจ้าคุณเราก็ฟังมาหมดแล้ว เราก็เข้าใจทุกอย่างเลย ไตรลักษณะเราศึกษามา เราเข้าใจมา เราค้นคว้ามา เราเข้าใจหมดเลย ทั้งๆ ที่ว่าสมเด็จมหาวีรวงศ์จะเอาหลวงตาเป็นอาจารย์สอนด้วย ให้เป็นครูสอนธรรมะต่อเนื่องไปเพราะว่าท่านศึกษามา เสร็จแล้วคนที่มีความรู้เขาก็เอามาเป็นอาจารย์สอนนักเรียนต่อไป แต่ท่านตั้งปณิธานของท่านว่าถ้าจบเป็นมหาคือเปรียญ ๓ ประโยคแล้วจะไม่เรียนต่อ จะออกปฏิบัติ

เวลาออกปฏิบัติทีแรกไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่นท่านติดตัวท่านเอง เห็นไหม ท่านบอก แหม มันสาธุ สาธุหมายความว่ามันเป็นอำนาจวาสนา คือไม่ไปติผู้เทศน์ไง ไม่ไปติดธรรมะอันนั้นว่าอันนั้นเทศน์ผิด อันนั้นไม่จริง อันนั้นไม่เข้าใจ ท่านกลับติตัวท่านเองว่าเรานี่เราฟังเทศน์เจ้าฟ้าเจ้าคุณมาหมดแล้ว สมเด็จสังฆราชเราก็เคยฟัง ทำไมเราเข้าใจหมดเลย ไตรลักษณะเราเข้าใจหมด เพราะเราศึกษามาเราก็มีภูมิรู้เหมือนกัน เราก็เป็นปัญญาชนเหมือนกัน แต่มาฟังหลวงปู่มั่นเทศน์งงนะ ไม่เข้าใจนะ ท่านต้องปรับตัวของท่าน ปรับตัวของท่านอยู่นาน พอปรับตัวท่านอยู่นาน พอท่านฟังเทศน์หลวงปู่มั่นเข้าใจแล้ว ท่านปฏิบัติของท่านไปเรื่อยๆ เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปแล้ว ต่อไปเทศน์คนอื่นฟังไม่ได้เลย 

เทศน์คนอื่นฟังไม่ได้เลย ฟังไม่ได้เพราะอะไร? ฟังไม่ได้ทางวิชาการ ทางวิชาการ เห็นไหม นี่ถ้าปฏิบัติตามเป็นจริงมันจะได้ผลตามนั้นไหม? ได้ แต่ทางวิชาการก็คือทางวิชาการ ถ้าทางวิชาการ ภาษาในภาคปฏิบัตินะ ทางวิชาการมันเบามาก มันไม่มีน้ำหนัก มันไม่มีเทคนิค ทางวิชาการนี่จริงไหม? จริง แต่มันเบา มันเหมือนปุยนุ่น มันไม่มีน้ำหนัก แต่ในภาคปฏิบัติเรามันมีเหตุมีผล มันมีน้ำหนัก มันมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีการกระทำ มันชัดมันเจนขึ้นมา 

นี่พูดถึงว่าไตรลักษณะใครรู้ ผมใคร่รู้ รู้อะไร? รู้ไตรลักษณ์ แล้วไปศึกษาไตรลักษณ์ แล้วจะรู้ไตรลักษณ์ไหม? ศึกษาไตรลักษณ์แล้วก็รู้ทางวิชาการไง แต่ถ้าเป็นหลวงปู่มั่นสอนนะ อย่างหลวงตาสอน พระกรรมฐานสอนอยากรู้ไตรลักษณ์ไหม? อยากรู้ อยากรู้ทำอย่างไรรู้ไหม? อยากรู้มากำหนดพุทโธ อยากรู้มากำหนดพุทโธ อ้าว เขาอยากรู้ไตรลักษณ์ เขาไม่ต้องการรู้พุทโธ เขาอยากรู้ไตรลักษณ์ แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับพุทโธล่ะ? แล้วพุทโธทำไม? ก็อยากรู้ไตรลักษณ์ เอ๊ะ อาจารย์นี่แย่มากเลย เขาถามเรื่องไตรลักษณ์ ไปบอกเรื่องพุทโธ มันคนละเรื่องเลย แต่ครูบาอาจารย์เราอยากรู้ไตรลักษณ์ไหม? ถ้าอยากรู้ไตรลักษณ์ต้องมากำหนดพุทโธก่อน 

นี่กรณีอย่างนี้มันมีไง มันมีสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ที่ว่าเป็นพระอะไรที่ว่าดูหมอแม่นมาก เคาะกะโหลก นี่เคาะกะโหลกป๊อกๆ นี่ไปสวรรค์ ป๊อกๆ ไปนรก แล้วเคาะกะโหลกพระอรหันต์ ป๊อกๆๆ ตอบไม่ได้ อยากรู้ไหม? อยากรู้ไหม? อ้าว อยากรู้นะ อยากเรียนไหม? อยากรู้ไหมว่ากะโหลกนี้ไปไหน? อ้าว มากำหนดพุทโธ พอมาปฏิบัติมันรู้ขึ้นไป เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป รู้เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป 

นี่มีมาก ในพระไตรปิฎกเวลาที่พระสารีบุตร เห็นไหม หนึ่งไม่มีสอง นางภิกษุณีเก่งมาก ทุกอย่างเก่งมาก พอถามปัญหา พระสารีบุตรตอบได้หมด แล้วพระสารีบุตรถาม หนึ่งไม่มีสองคืออะไร? อยากรู้ไหม? อยากรู้มาพุทโธ ถ้ามาพุทโธแล้วรู้ ถ้าไม่พุทโธไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ 

ฉะนั้น บอกว่า

ถาม   :   ผมใคร่รู้เรื่องไตรลักษณ์

ตอบ  :   เออ แล้วสอนไตรลักษณ์ใช่ไหม? อ้าว สอนไตรลักษณ์ใช่ไหม? มันก็เป็นอนิจจังไง สภาวะมันเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง เห็นไหม มันไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเป็นอนัตตาไง เออ เข้าใจไหม? ก็เข้าใจ แล้วรู้ไตรลักษณ์ไหม? รู้ทางวิชาการ รู้ด้วยปัญญาชน โลกเขารู้กันอย่างนี้ นี่เวลาสอนไตรลักษณ์ ใครก็สอนไตรลักษณ์ นี่ผมใคร่รู้ไตรลักษณ์ แล้วถ้าใคร่รู้ไตรลักษณ์นะ มีครู มีอาจารย์นะ ถ้าอยากรู้อยากเห็นจริงนะพุทโธ พุทโธก่อน กลับมาทำความสงบของใจให้ใจมันสงบระงับเข้ามา แล้วถ้ามันรู้ มันเห็น มันเป็นจริงขึ้นไปนะ นี่จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตมันจริง สมาธิมันจริง จิตมันจริงเห็นสติปัฏฐาน ๔ จริง นั่นแหละไตรลักษณ์จริง 

ไตรลักษณ์จริงคืออะไร? คือถ้าจิตมันเห็นของมัน มันพิจารณาของมัน มันเป็นต่อหน้า มันแปรสภาพต่อหน้า มันย่อยสลายต่อหน้า แล้วมันย่อยสลายต่อหน้า นั่นล่ะไตรลักษณ์ เห็นไหม นี่เวลาอริยสัจ หลวงตาท่านพูดบ่อย สิ่งที่เป็นอริยสัจ สิ่งที่เป็นสัจจะสิ่งนั้นคืออะไร? นี่เป็นทางเดินของจิต ไตรลักษณ์เป็นทางเดินของจิต จิตนี่มันไปรู้ไปเห็นของมัน มันรู้เห็นตามความเป็นจริงของมันแล้วมันปล่อย แล้วผลใครเป็นคนรู้มันล่ะ? 

นี่รู้ไตรลักษณ์รู้อย่างไร? ถ้ารู้ไตรลักษณ์ ดูสิในปัจจุบันอยากรู้ไตรลักษณ์ก็ไปศึกษากัน เข้าใจหมดเลย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นของมันอย่างนั้นแหละ นี่อย่าไปแบกไปหามมันก็จบ มันเป็นเช่นนั้นเอง นี่รู้เท่ารู้ทันก็จบ เป็นเช่นนั้นเอง น้ำนะเวลาเราเปิดน้ำมา เราปิดก๊อก เราปิดก๊อกจะมีน้ำไหม? เราปิดก๊อกก็แค่นั้นแหละ มันเป็นเช่นนั้นเองปิดมันเลย มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้องไปรับรู้มัน มันเป็นเช่นนั้นเอง แล้วในบ้านล่ะน้ำกินก็ไม่มี น้ำใช้ก็ไม่มี ดำรงชีวิตก็ไม่ได้ อ้าว เอ็งไม่มีน้ำเอ็งดำรงชีวิตอย่างไร? 

เขาต่อน้ำเข้ามาในบ้าน พอน้ำเข้ามาบ้าน น้ำมันเสีย นี่เวลาเปิดมาน้ำเสีย น้ำมันมีสารพิษ น้ำมันสกปรกทำอย่างไร? ทำอย่างไรล่ะ? อ้าว ก็แจ้งเขาสิน้ำเป็นพิษ นี่น้ำเป็นพิษมันต้องแก้ไขที่น้ำนั้นใช่ไหม? นี่แต่ว่าการที่ว่าน้ำมันจะไหล เราต่อน้ำเข้าบ้านเรามาเพื่อใช้สอยของเรา ถ้าใช้สอยของเรามันมีสารพิษ มันมีสิ่งที่เป็นพิษ มันมีสิ่งใดเราก็ต้องแก้ไขสิ เราต้องพิสูจน์สิ มันเป็นสารพิษ ไปร้องเรียนสิ ไปร้องเรียนประปาเขาบอกว่า โอ้โฮ ข้างบ้านเขามีแต่คนบอกไม่เป็นอะไรเลย ข้างบ้านเขาบอกว่าน้ำนี่สะอาด โอ๋ย เขาร่มเย็นเป็นสุขด้วย เอ็งร้องเรียนอยู่คนเดียว เอ็งร้องเรียน นี่แสดงว่า เขาฟ้องเลย ทำให้เขาเสียชื่อเสียง เขาฟ้องอีกต่างหาก แต่นี่ไม่อย่างนั้น ปิดเลยไง มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง แต่ครูบาอาจารย์ที่เราเป็นนะ 

ถาม   :   นี่ผมใคร่อยากรู้เรื่องไตรลักษณ์ 

ตอบ   :   ถ้าอยากรู้เรื่องไตรลักษณ์ ใครจะเป็นคนรู้มันล่ะ? เห็นไหม ปริยัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องการปริยัติ โปฐิละๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดคำไหน โปฐิละเป็นอาจารย์ใหญ่มาก มีลูกศิษย์อยู่ตั้ง ๕๐๐ นี่เขาสอนได้ สังคมเชื่อถือ สังคมศรัทธามาก มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง นี่เวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใบลานเปล่า โปฐิละใบลานเปล่ามาแล้วหรือ? ใบลานเปล่ากราบหรือ? ใบลานเปล่านั่งหรือ? ใบลานเปล่าจะกลับหรือ? เห็นไหม รู้เปล่าๆ ไง วิชาการรู้อย่างนั้นแหละ เบาโหวง ไม่มีอะไรเป็นน้ำหนักเลย 

ปริยัติไง ปริยัตินี่ศึกษาไง ศึกษาไง แล้วผมใคร่รู้ รู้อย่างไร? รู้อะไร? แต่ถ้าอยากรู้ มีครูบาอาจารย์ อยากรู้พุทโธ อ้าว ก็อยากรู้ไตรลักษณ์ไม่ใช่รู้พุทโธ ถ้าไม่พุทโธ ไม่ทำความสงบของใจก่อนไม่มีสิทธิ์รู้ ไม่มีทาง สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ไม่เกิดภาวนามยปัญญา ไม่เห็นตามความเป็นจริง จะไม่เห็นไตรลักษณ์ ถ้าจะเห็นพระไตรลักษณ์มันต้องมีพื้นฐานของมันขึ้นมา ถ้ามีพื้นฐานขึ้นมา นี่ถามมาไง ถ้าถามมาถ้าตอบไป เห็นไหม นี่ผมใคร่อยากรู้เรื่องไตรลักษณ์ ก็เอาสิ เอาไตรลักษณ์มาตั้ง เอาโจทย์ตั้งแล้วคุยกัน จบ แล้วรู้จริงหรือเปล่าล่ะ? รู้สิ่งใดล่ะ? 

ฉะนั้น ถ้าเราทำอยู่อย่างนี้ เราก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้ แต่ แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดมา เราเกิดมานี่กึ่งพุทธกาล ในพระไตรปิฎกบอกว่ากึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไปค้นคว้าของท่าน มันเจริญในใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เพราะท่านรู้จริงของท่าน ไม่มีคนรู้จริงจะเอาอะไรมาสอน ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศน์ธรรมจักร พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม เทศน์ธัมมจักฯ ขึ้นมา เทวดา อินทร์ พรหมส่งข่าวเป็นชั้นๆ ขึ้นไป จักรได้เคลื่อนแล้วๆ ถ้าไม่มีใครรู้จริง ไม่มีใครบอกกล่าว ใครมันจะรู้ได้ สาวก สาวกะ ผู้ที่ได้ยิน ได้ฟัง คนที่ตรัสรู้เองโดยชอบมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น

ฉะนั้น เราเป็นสาวก สาวกะ อำนาจวาสนาเราขนาดนี้ แต่เราเกิดมาด้วยอำนาจวาสนา เราเกิดมาท่ามกลางพุทธศาสนา แล้วนี่สิ่งที่ว่าไตรลักษณะ สิ่งที่เป็นอนัตตาต่างๆ มันเป็นหัวใจของศาสนาเลย เรื่องอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคเป็นหัวใจของศาสนาเลย หัวใจคือเป็นหลัก แล้วเราทำกันนี่ทำเพื่ออะไร? ทำกันเพื่อใจของเรา ถ้าเพื่อใจของเรา 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม   :   ผมมีความใคร่รู้เรื่องไตรลักษณ์ 

ตอบ   :   นี่ถ้ามีความใคร่รู้ อยากรู้ อยากได้ประสบการณ์ อยากได้ความเป็นจริง เราก็ต้องกลับมา นี่พยายามทำความสงบของใจ ใช้คำบริกรรมก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ารังเกียจนักว่าพุทโธเป็นฝ่ายของพระป่า พระป่ากำหนดพุทโธเรารังเกียจนัก รังเกียจนักอานาปานสติซะ ถ้าเรารังเกียจนักก็อานาปานสติ กำหนดลมหายใจก็ได้ กำหนดสิ่งใดก็ได้ ทำแบบพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้ากำหนดอานาปานสติเหมือนกัน อะไรก็ได้ แต่ต้องมีให้จิตมันเกาะ จิตมันไม่มีวิวัฒนาการของมัน จิตไม่มีทำงานของมัน นี่มันจะสงบระงับเข้ามาได้อย่างไร? 

ถ้ามันขาดสติ เพราะถ้ามีคำบริกรรม กำหนดลมหายใจต่างๆ มันเกาะมา มันฝึกหัดมา มันพัฒนาของมันขึ้นมา มันมีสติควบคุมดูแลเข้ามา มันก็ตั้งมั่นขึ้นมา มันก็มีหลักเกณฑ์ขึ้นมา พอมีหลักเกณฑ์ขึ้นมา นี่จิตจริงๆ จิตจริงๆ คือมันสุขสงบไง จิตจริงๆ คือมันไม่ฟุ้งซ่านไง จิตสงบคือมันไม่สงสัยไง จิตสงบคือไม่มีนิวรณธรรมไง มันมีความลังเล มันมีความสงสัย มีความง่วงเหงาหาวนอน มันมีเต็มไปหมดเลยในหัวใจ แต่เราก็ฝืนของเรามาเพราะมันเป็นความเคยชิน ของอย่างนั้นมันจะทำอะไรได้ แต่ถ้าเรากำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก แต่ถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมนั่นไปปิดก๊อก 

เวลาเขาจะให้พิจารณาก็ดันไปปิดก๊อกซะ ปิดว่าไม่มีเลย รู้ตัวทั่วพร้อม ไม่มีสิ่งใดเลยรู้เท่าทันหมด ปิดก๊อกเลย ปิดก๊อกน้ำมันก็ไม่มา แล้วก็จะรู้ไตรลักษณ์ อะไรไปรู้ล่ะ? ถ้ามันมาเราก็พิจารณาดูว่าน้ำนี่มันใช้ประโยชน์ได้ไหม? มันมีสารพิษจริงหรือไม่จริง นี่ถ้ามีสารพิษอยู่ น้ำใช้ น้ำกลั่น น้ำสะอาดจริงๆ เขาก็ไม่ใช้กัน น้ำนี่มันก็มีเชื้อโรค แต่ถ้าน้ำมันมีเชื้อโรค มีจุลินทรีย์ต่างๆ แต่ถ้าด้วยคุณภาพว่าความสะอาดบริสุทธิ์แค่นี้ทางโลกเขาใช้กัน ก็ใช้ได้ 

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันก็มีของมัน เห็นไหม กิเลสๆ ในใจมันมีของมันอยู่แล้วแหละ แล้วเราจะพิจารณาอย่างไร? ถ้าเราพิจารณาของมันนะ ดูสิจิตเห็นอาการของจิต อาการของมันแปรสภาพอย่างไร ถ้าแปรสภาพก็คือไตรลักษณ์ไง เวลามันแปรสภาพมันเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ไตรลักษณ์ เวลาพระไตรลักษณ์ๆ เขากราบกันนะพระไตรลักษณ์ที่สูงส่ง เวลามันเกิดมันเกิดท่ามกลางหัวใจ ถ้ามันเกิดท่ามกลางหัวใจ ผมใคร่รู้ ถ้าใคร่รู้ ถ้าจะให้รู้จริงมันต้องมีพื้นฐาน แต่ถ้าจะรู้ทางวิชาการใครก็รู้ได้ เด็กก็รู้ได้ ตอนนี้เด็กเขาเรียนศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอกมันก็รู้ทั้งนั้นแหละ 

เดี๋ยวนี้เด็กๆ มันเรียนนักธรรมกันมันก็รู้ไตรลักษณ์ ไปถามมันสิมันท่องให้ฟังเลย ไปถามเด็กนะ เด็กที่มันเรียนศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไปถามมัน ถามว่าหนูๆ ไตรลักษณ์คืออะไร? มันพูดให้ฟังเลย อ๋อ ไตรลักษณ์หนูเพิ่งเรียนมา เพิ่งตอบปัญหามา อ๋อ ครูก็เพิ่งถามเมื่อกี้เรื่องไตรลักษณ์ หนูเพิ่งตอบปัญหามาเมื่อกี้นี้เลย อ๋อ ไตรลักษณ์มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาหนูก็รู้ รู้แบบใคร ใครรู้ล่ะ? ใครรู้ ถ้าจิตของเรารู้ จิตเรารู้ เราเห็น นี่อัตตสมบัติ ถ้าสิ่งนี้ถึงสำคัญ 

ฉะนั้น ถ้าอยากรู้จริงๆ ไม่ใช่พูดด้วยแบบว่าเป็นโวหาร หรือพูดเพื่อพลิกแพลงนะ แต่ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้จริงๆ ถ้าอยากรู้กลับมาพุทโธ ต้องพุทโธก่อน ต้องอัปปนาสมาธิทำกำหนดลมหายใจให้สงบเข้ามา แล้วถ้าไปรู้ไปเห็นจริงๆ โอ้โฮ โอ้โฮ โอ้โฮจน เห็นไหม หลวงตาในประวัติของท่าน มีพระหนุ่มๆ องค์หนึ่งไปบรรลุธรรมที่ดอยธรรมเจดีย์ พอบรรลุธรรมขึ้นมา ลุกขึ้นนี่กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า กราบใคร 

นี่ไงถ้ารู้จริงมันเป็นอย่างนั้นแหละ รู้จริงมันซาบซึ้ง กราบอยู่คนเดียว นี่หัวใจมันซาบซึ้งมันกราบของมัน ไอ้ใครมองอยู่ข้างนอกเขาจะว่าคนบ้า ไม่บ้านั่นเรื่องของเขา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปรู้จริงเป็นแบบนั้น นี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก นี่อยากรู้ไตรลักษณ์ไง กระผมมีความใคร่รู้ ทีนี้ผมมีการใคร่รู้ ถ้าใคร่รู้อยากรู้จริงมันเป็นแบบนี้ แต่ถ้าบอกว่าถ้าใคร่รู้แล้วเราจะบอกให้วิธีการรู้ ไปถามเด็กนักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มันก็รู้ ไตรลักษณ์นี่มันรู้ มันตอบได้ด้วย 

ฉะนั้น ถ้ารู้อย่างนี้แล้วเราไม่เอามาเถียงกันว่ารู้จริง แบบว่าการรู้ รู้อย่างใดเราไม่เอามาเถียงกัน เพราะอะไร? เพราะในการศึกษา ภาคการศึกษาเขาต้องการส่งเสริม ต้องการให้ชาวพุทธรู้หลักธรรม ชาวพุทธ เห็นไหม ชาวพุทธอย่าให้เป็นชาวพุทธที่ทะเบียนบ้าน ให้เป็นชาวพุทธที่มีปัญญา ถ้าชาวพุทธที่มีปัญญามันจะเข้าใจหลักของศาสนา อันนี้มันเป็นพื้นฐานของชาวพุทธ ชาวพุทธต้องรู้ ชาวพุทธต้องรู้ถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ชาวพุทธต้องรู้ ชาวพุทธต้องรู้เรื่องอริยสัจ ชาวพุทธต้องรู้เรื่องไตรลักษณ์ ความรู้อย่างนี้มันรู้แบบโลกียะ รู้แบบโลก แต่เวลาเป็นภาคปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม มันต้องปฏิบัติเอาจริงเอาจัง 

นี่ถ้าผมใคร่รู้เรื่องจริง นี่อย่างนี้ต้องกลับมาพุทโธ ต้องพุทโธให้ได้ ต้องทำความสงบของใจให้ได้ ถ้าใจสงบแล้วอันนั้นจะเป็นประโยชน์ เห็นไหม นี่ใครรู้ล่ะ? ถ้ารู้จริงมันเป็นแบบนี้ ถ้ารู้จำมันเป็นอย่างนั้น ถ้ารู้โดยพื้นฐานของชาวพุทธมันก็เป็นความรู้อีกอย่างหนึ่ง รู้ได้ทั้งนั้น ไม่ต้องมาเถียงกันว่าไตรลักษณ์เป็นอย่างนั้น เพราะไตรลักษณ์เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เป็นชาวพุทธด้วยกัน พอเป็นชาวพุทธด้วยกันแล้วก็ไปเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตั้ง ตั้งแล้วก็มาเถียงกัน เถียงกันแล้วได้อะไร? 

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์กัน เป็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาลูกศิษย์ของท่าน ท่านจะแนะเป็นชั้นๆ ขึ้นมา พอไปรู้จริงขึ้นมา หลวงปู่ฝั้นท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ แล้วป่าเขาโอ้โฮ ป่าเขาสมัยก่อนมันจะเป็นป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์มาก เวลาเช้าขึ้นมาก็อยากจะไปเที่ยวเขานู้น อยากจะไปที่นู่น อยากจะไปที่นี่ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่มั่นท่านกำหนดจิตดู เพราะหลวงปู่ฝั้นท่านต้องไปเอาบาตรหลวงปู่มั่นออกมาทุกเช้า พอออกมานี่ไม่ให้ไป ที่นี่ดีที่สุด จะไปไหนไม่ให้ไป ที่ไหนไม่ดีเท่าที่นี่ ท่านก็ภาวนาของท่านอยู่นั่นล่ะ ภาวนาไปๆ พอจิตมันลง 

จิตมันลงนั่นล่ะกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส มันว่างหมด มันปล่อยหมดเลย ว่างหมดนะ พอเช้าขึ้นมา เป็นอย่างไรล่ะ? เมื่อคืนผมไม่ได้นอนทั้งคืนเลย ผมดูท่านอยู่ หลวงปู่ฝั้นท่านเป็นในใจของท่านนะ เวลาท่านภาวนาของท่าน ท่านเป็นในใจของท่าน แต่ก่อนหน้านั้นเพราะป่าเขาโอ้โฮ มันอุดมสมบูรณ์มาก แล้วพระปฏิบัติมันก็อยาก มันอยากจะไปเที่ยวที่นู่น อยากจะไปเที่ยวที่นี่ อยากจะไปธุดงค์ ไม่ให้ไป ไม่ให้ไป ไม่มีที่ไหนดีเท่าที่นี่ ไม่มีที่ไหนดีเท่าที่นี่ ท่านก็นี่ประคองมาๆ จนมันรวมลง สว่างหมด ดับหมด เช้าขึ้นมาจะไปเอาบาตรยืนขวางประตูเลย เป็นอย่างไร? เมื่อคืนผมไม่ได้นอนทั้งคืนเลยนะ เป็นอย่างไร? 

นี่ไงครูบาอาจารย์ถ้าเป็นความจริงท่านประคอง ท่านดูแลกันอย่างนั้น ให้พุทโธเข้ามาสิ พุทโธเข้ามา แล้วถ้ารู้ถ้าเห็นขึ้นมามันเห็นอย่างนั้น ถ้าเห็นจริงอย่างนี้เขาไม่เอามาคุยโม้ คุยอวดกัน เพราะคนที่ทำนี่ทำเกือบเป็นเกือบตายกว่าจะได้อย่างนั้น ฉะนั้น ถ้าผมใคร่รู้นะเราก็มีเป้าหมาย อธิษฐานบารมี บารมีสิบทัศ นี่ศีลบารมี ทานบารมี อธิษฐานบารมีคือเป้าหมาย แล้วเราจะทำสู่เป้าหมายนั้น ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ อยากรู้ไตรลักษณ์ก็ไปถามเด็กอนุบาล 

นี่อยากรู้ไตรลักษณ์ เพราะมันเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เราก็รู้แบบโลกๆ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะย้อนกลับเลย เราพร้อมหรือยังล่ะ? เราพร้อมที่จะรู้ไหม? ถ้าเราพร้อมที่จะรู้เราต้องทำความสงบของใจเข้ามา แล้วออกรื้อค้นมัน เห็นมัน ถ้าเห็นตามความเป็นจริง โอ้โฮ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ นี่พูดถึงถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ท่านคอยชักคอยนำมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ อย่างพวกเราเราก็ต้องเรียนไตรลักษณ์ ต้องเรียนตามตำรานั่นแหละ แล้วถ้าเรียนตามตำราแล้ว 

หลวงตาท่านพูดเจ็บนะ ไอ้หนอนแทะกระดาษ เกิดมาเป็นคน สมมุติตัวเองว่าเป็นหนอน แล้วก็ไปแทะกระดาษอยู่นั่นแหละ จะเรียนเอาตำรา ก็เรียนจะเอาให้รู้ เอาให้รู้ นี่มันก็เป็นหนอนไปแทะกระดาษอยู่นั่นแหละ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ นั่นคือตำรา นั่นคือทางวิชาการ แล้วถ้ารู้ รู้จากใจของเรา รู้จากความสงบของใจ แล้วเทคนิคอย่างนี้ใครรู้ แล้วเทคนิคอย่างนี้ใครเป็นคนทำ ถ้าไม่มีคนทำมา ไม่มีหลักฐานขึ้นมาเราจะเชื่อกันไหม? โอ๋ย เขาถึงดูถูกไง ดูถูกว่าพระกรรมฐานไม่มีการศึกษา วันๆ หลับหูหลับตาจะรู้อะไร วันๆ ก็นั่งหลับหูหลับตา ไอ้เขานี่กอดอยู่กองตำราเลย ค้นคว้าวิจัยหมดเลย ไตรลักษณ์ขนาดชัดเจนมากเลย แต่พระกรรมฐานเศร้า 

แต่ถ้าครูบาอาจารย์จริงนะ เรียนมานี่เรียนมาเป็นปริยัติ นั่นล่ะปัญญาของโลก แล้วเราปฏิบัติจริงให้รู้จริง ถ้ารู้จริงขึ้นมา นี่ไตรลักษณ์เขารู้กันแบบนี้ ถ้าอยากรู้ไตรลักษณ์ อานาปานสติ พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ ทำสิ่งนี้ขึ้นมาแล้วพิจารณาของเราไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเป็นจริงขึ้นมา 

ข้อ ๑๔๒๒. ข้อ ๑๔๒๓. ไม่มี 

ถาม   :   ข้อ ๑๔๒๔. เรื่อง "พุทโธ" 

ตอนนี้โยมพยายามหยุดความคิดขณะลืมตาโดยใช้พุทโธตลอด เดิน ตื่นเช้าขึ้นมาก็ใส่หูฟังธรรมะ ตอนนี้ฟังน้อยลง เวลาทำงานบ้าน เดิน ยืน นั่ง นอนก็มีพุทโธเป็นเพื่อน ไม่อยากพูดกับใคร รู้สึกว่าเย็นใจ 

ตอบ   :   นี่เขาเขียนมาอย่างนี้เขาบอกเวลาพุทโธ เห็นไหม นี่พยายามหยุดความคิดของตัวเอง ขณะลืมตาใช้พุทโธ พุทโธตลอด แล้วพุทโธ ถ้าพุทโธแล้ว ถ้ามันมีกระทำเอาหูฟังใส่ธรรมะไว้ ฟังธรรมะไว้ ตอนนี้ฟังน้อยลง เวลาทำงานบ้านมีพุทโธเป็นเพื่อน ถ้ามีพุทโธเป็นเพื่อน เวลาเราระลึกถึง ระลึกถึงพ่อถึงแม่ คนเรานี่เวลาจะมีอุปสรรคต่างๆ จะคิดถึงพ่อถึงแม่ 

นี่ก็เหมือนกัน เราคิดถึงศาสดาของเรา เราคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธคือพุทธะ พุทโธคือชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเรามีความเชื่อมั่น เพราะคนที่ภาวนาแล้วจะเห็นคุณค่าของคำว่าพุทโธมาก คำว่าพุทโธนะ เวลาหลวงตาท่านพูด พุทโธสะเทือนสามโลกธาตุ คนที่จะพูดอย่างนี้ได้เพราะคนที่เห็นคุณประโยชน์โดยหัวใจเต็มเปี่ยมในใจ จะเห็นคุณประโยชน์อย่างนี้ แต่คนที่ยังไม่ได้คุณประโยชน์พุทโธ เราก็จะบอกว่าพุทโธมันคืออะไรล่ะ? อะไรก็พุทโธ พุทโธ มันเหมือนกับที่ว่าศาสนาพุทธสอนเรื่องกรรม อะไรก็ยกให้กรรม ปฏิเสธ ไอ้พวกนี้ไม่รับผิดชอบ อะไรก็ผลักให้กรรม ผลักให้กรรม 

มันก็เป็นกรรมจริงๆ แต่เพียงแต่ใครจะรู้ว่ามันมาจากไหน แล้วมันเป็นอย่างใดเท่านั้นแหละ นี่พอเรื่องกรรมนะ ชาวพุทธนี่เป็นพวกปฏิเสธ เป็นพวกที่ไม่รับผิดชอบ เรื่องดีเรื่องชั่วก็ยกให้เวรให้กรรม แล้วตัวเองก็ไม่ทำอะไรเลย ยกให้เวรให้กรรม เพราะมีเวรมีกรรมแล้วจิตใจมันยอมรับ แต่เรื่องการแก้ไข เรื่องการดำรงชีวิตมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราก็ต้องขวนขวายทุกคน 

ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบิณฑบาตตลอดชีวิต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วก็เป็นศักดินาจะให้คนมากราบเคารพบูชา ไม่ใช่หรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อสัตว์ ขนสัตว์ ไปหาเขาถึงบ้าน บิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเขาทุกวัน บ้านไหนไปบิณฑบาตหน้าบ้านเขาไล่เลย สมณะหัวโล้นหัดทำกินบ้างสิ เช้าขึ้นมาก็มาบิณฑบาต เช้าขึ้นมาก็มาบิณฑบาต 

โฮ้ เราทำกินทั้งชาติ เราทำนาตลอด เราใช้สติเป็นเชือก ปัญญาเป็นผาน ไถไปในหัวใจของเรา เราปลูกคุณธรรม เราทำ โอ้โฮ พอเขาฟังเขาศรัทธามากเขาอยากใส่บาตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเรารับไม่ได้ เรารับไม่ได้เพราะเราบิณฑบาตภิกขาจาร เราจะไม่ออกเสียง ออกเสียงเป็นวณิพก แล้วพอผ่านมาหน้าบ้านเขาก็ไล่ พอเขาไล่ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม พอแสดงธรรมเขามีศรัทธา ศรัทธาแล้วเขาทำอย่างไรล่ะ? ถ้าเขาอยากจะถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ได้ เรารับไม่ได้ แล้วทำอย่างไรล่ะ? เอาไปเทลงแม่น้ำ เทคลองทิ้งไป 

นี่ไงสิ่งที่เวลาคนที่เห็นคุณของพุทโธ มันเห็นจากหัวใจ เห็นจากภายใจ แล้วเห็นคุณค่ามาก หลวงตาท่านพูดว่าพุทโธสะเทือนสามโลกธาตุ ถ้าเราคิดกันเป็นปรัชญาใช่ไหม เราก็พูดกันได้ ทางกวีเขาก็เขียนกันได้ เขียนอย่างนั้นมันเขียนด้วยความซาบซึ้งของใจ แต่คนที่เขาเห็นผลประโยชน์ เขาเห็นผลประโยชน์ พุทโธสะเทือนสามโลกธาตุ พุทโธมันสะเทือนตั้งแต่พรหมลงมาเลย เพราะพุทธะมันมีหมด เพราะปฏิสนธิจิตมันมีทุกดวงใจ มันไปเกิด ไปตาย แล้วถ้ามันรู้ของมันตามเป็นจริง 

ฉะนั้น บอกว่า ถ้ามีพุทโธเป็นเพื่อนไง ปัจจุบันมีพุทโธเป็นเพื่อน มีพุทโธเป็นเพื่อนเพราะว่ามีสติมันก็มีพุทโธเป็นเพื่อน เดี๋ยวกิเลสมันตื่นแล้วนะมันไม่ยอมพุทโธแล้วแหละ มันจะผลักเพื่อนทิ้ง มันไม่คบเพื่อน มันจะคบกิเลสอีกแล้ว ถ้ามันคบกิเลสมันก็ไป แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเราจะคบพุทโธเป็นเพื่อน นี่คำถามทั้งคำถามมีวรรคนี้ที่คิดว่ามันมีเหตุผลไง 

ถาม   :   ก็มีพุทโธเป็นเพื่อน ไม่อยากพูดกับใครทั้งสิ้น รู้สึกว่ามีความเย็นใจมาก 

ตอบ  : ถ้ามีความเย็นใจ มีความสุข อันนี้เป็นผลประโยชน์ของเรา นี่พุทโธเป็นคำบริกรรม พุทธะเราระลึกถึงองค์ศาสดาของเรา พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราพุทโธ พุทโธไป พุทโธจนเราเอ่ยชื่อ หลวงตาใช้คำว่า "เดินตามรอยโค" เป็นร่องรอย พุทโธคือรอยเท้าของโค เราเดินตามไปเรื่อยๆ จนไปถึงตัวโค เราไม่ต้องตามรอยเท้ามัน เราจะได้โคตัวนั้นมา 

พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่เป็นคำบริกรรม พุทโธจนพุทโธไม่ได้ พุทโธจนเข้าไปถึงสู่ตัวจิต พอตัวจิตมันเป็นเองไม่ต้องพุทโธ ก็พุทโธนั่งอยู่นี่ ก็ตัวเป็นตัวพุทโธ มันพุทโธอะไรอีกล่ะ? ก็เราเป็นพุทโธเอง นั่นล่ะเข้าสู่ฐีติจิต เข้าสู่ตัวของมัน แต่ถ้าเรายังเข้าไม่ได้เราต้องตามรอยเท้าโคไป แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้นน่ะสิ มันจินตนาการไปหมด เป็นความว่าง โคก็อยู่นู่น รอยโคก็ไปอยู่ทาง ไอ้สัญญาอารมณ์เราก็มั่วอยู่นี่ แล้วก็บอกว่ารู้ธรรมไปหมดเลย แต่ถ้าเรากำหนดระลึกรู้ พุทโธ พุทโธตามรอยเท้าไป เดินตามรอยเท้านั้นไป สาวรอยเท้านั้นเข้าไปจะไปเจอตัวโค 

ตัวโคคือตัวจิต ตัวฐีติจิตปฏิสนธิจิต พอไปอยู่ที่นั่น พอไปถึงตัวมันมันก็ละเอียดขึ้นๆ จนพุทโธไม่ได้เลย พุทโธไม่ได้แต่ตัวมันชัดเจน เราเดินตามรอยเท้าโคไปเราก็กำหนดเห็นรอยเท้า ต้องแกะรอยมันไปนะยังไม่เห็นตัวโค ถ้าพ้นจากรอยเท้านั้นไปเราออกนอกทางเลย ไม่เห็นโคหรอก จะไปถึงตัวโคไม่ได้เพราะมันหลงทาง 

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ตามรอยเท้ามันไป ตามรอยเท้า พอไปถึงตัวมันเราจะต้องตามรอยเท้าไหม? เราเห็นตัวโคแล้วจะต้องตามรอยเท้าไหม? เราตามรอยเท้าเพราะเรายังไม่เห็นตัวโค แต่เราถึงตัวโคเราต้องตามรอยเท้าไหม? เราเห็นตัวมัน นี่เราเห็นตัวมันแล้ว รอยเท้ามันกับตัวมันคนละเรื่องเลยนะ นี่ไงพุทโธ พุทโธ คำบริกรรมกับจิตมันคนละเรื่องเลยนะ เห็นไหม มันก็เหมือนเมื่อกี้นี้ อยากรู้ไตรลักษณ์ก็ต้องมาพุทโธ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน อยากจิตสงบ อยากมีความร่มเย็นก็ต้องพุทโธ แต่พอพุทโธไปแล้ว พอไปถึงตัวมันนะมันจะเข้าใจเลย ถ้ามันเข้าใจแล้ว สิ่งนั้นเรามีพุทโธเป็นเพื่อน แล้วเราจะมีความสุขใจมาก 

ถ้ามีความสุขใจ มีความสุขใจ เห็นไหม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เราก็ได้ประโยชน์กับเรา

ข้อ ๑๔๒๕. ไม่มี

ข้อ ๑๔๒๖. เหมือนกันเลย

ถาม   :   ๑๔๒๖. เรื่อง "กราบขอบพระคุณด้วยใจจริง"

กราบเท้าหลวงพ่อที่เคารพค่ะ โยมได้ปฏิบัติธรรมที่วัดเมื่อวันที่ ๒๓-๒๘ ที่ผ่านมาเป็นเวลา ๕ วัน ที่เขียนมานี้อยากขอบพระคุณหลวงพ่อมากๆ จากใจจริงค่ะ ที่หลวงพ่อมีเมตตาสั่งสอนเด็กยิ่งกว่าเตรียมอนุบาลคนนี้ให้เข้าใจการปฏิบัติได้มากขึ้นมาก ทั้งยังได้ช่วยสร้างกำลังใจอีกด้วย ตอนนี้โยมเข้าใจแล้วค่ะ การทำความเพียรนั้นสำคัญที่ความต่อเนื่อง ไม่ใช่พยายามนั่งหรือเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้ความสงบ ขอบคุณความเมตตาของหลวงพ่อมากค่ะ หากมีโอกาสโยมจะขอไปปฏิบัติ และจะพยายามพุทโธชัดๆ ให้ได้ทุกอิริยาบถค่ะ

ปล. คำถามที่โยมถามหลวงพ่อเรื่องเวทนา (อันนั้นตอนที่เขามาถามเรื่องเวทนา) ขอบพระคุณหลวงพ่อมากด้วยใจจริง บุญกุศลอันใดที่ข้าพเจ้าได้ประกอบมาแล้ว 

ตอบ  :  นี่พูดถึงสิ่งที่ความเข้าใจของเรา สิ่งที่ว่าการปฏิบัติเอาเป็นเอาตายมันก็เป็นประโยชน์อันหนึ่ง ถ้าการปฏิบัติเอาเป็นเอาตาย เวลาเข้าด้ายเข้าเข็มมันจะมีสิ่งใดที่จะมาทำให้เราผ่อนคลาย ให้เราบิดเบือนไป แต่ถ้าเราเอาจริงเอาจังขึ้นมามันก็ธรรมะอยู่ฟากตาย ฉะนั้น สิ่งที่บอกเขาเข้าใจได้ ความสำคัญคือการปฏิบัติต่อเนื่อง ความสำคัญคือการปฏิบัติต่อเนื่อง เราปฏิบัติกันนะ เวลามาวัดมีโอกาสได้ปฏิบัติ พอเวลาปฏิบัติเสร็จแล้วเราต้องกลับบ้านของเรา เราต้องมีหน้าที่การงานของเรา ทีนี้หน้าที่การงานของเราเราก็ทำหน้าที่การงานของเรา แต่ถ้าเรามีเวลาว่างเราก็ภาวนาของเราต่อเนื่องไป

นี่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกทุกข้อไปอ่านสิ นี่ทางของฆราวาสเป็นทางคับแคบ ทางของภิกษุ ทางของภิกษุเป็นทางกว้างขวาง ทางของสมณะเป็นทางกว้างขวาง กว้างขวางเพราะ ๒๔ ชั่วโมงมันทำต่อเนื่องได้ เพียงแต่ว่าเรามีสติ มีปัญญาต่อเนื่องขนาดไหน นี่เราบอกว่าการทำต่อเนื่อง ความสำคัญคือการทำต่อเนื่อง นี้ทำต่อเนื่อง เวลามาวัดขึ้นมาเพราะสิ่งอื่นทุกอย่างเราก็ทำพร้อมมาแล้วใช่ไหม พอมาวัดมันก็ตั้งใจทำ พอทำไปๆ มันคุ้นชิน พอมันคุ้นชินขึ้นไปเดี๋ยวก็เบื่อ พอคุ้นชินไปแล้วเดี๋ยวมันก็เครียด 

ฉะนั้น เวลาพระปฏิบัติเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงจะให้วิเวก ให้เปลี่ยนสถานที่ ให้ต่างๆ นี่เพราะว่าถ้าครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาแล้วท่านรู้เรื่องกิเลส กิเลสนี่เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็ให้โอกาสเรา เดี๋ยวก็เบียดเบียนเรา เดี๋ยวก็กลั่นแกล้งเรา เดี๋ยวก็ทำลายเรา แล้วเรามีอุบายอะไรไปสู้กับมันล่ะ? เรามีอุบายอะไร? นี่พอปฏิบัติมันได้อุบายอันแรกไง แหม หนูปฏิบัติแล้วหนูรู้แล้วนะว่ามันต้องต่อเนื่อง พอให้ ๑๐ วันต่อเนื่อง ๒ วัน วันที่ ๓ ไม่ต่อเนื่องแล้ว ชักเบื่อ 

อันนี้มันก็เป็นว่าถ้ากิเลสมัน เราเข้าใจสิ่งใด คือปัญญาคือมันสดๆ ร้อนๆ ไง อะไรที่มันสดๆ ร้อนๆ ที่มันประสบการณ์ครั้งแรกมันก็มีรสชาติ รสชาติมันก็เข้มข้นดี แต่พอเราเจอมันบ่อยครั้งๆ รสชาติมันก็เบาบางลง มันก็จืดจางลง อันนี้มันเป็นเรื่องปกติ พอเรื่องปกติครูบาอาจารย์ท่านถึงเปลี่ยนให้หาที่วิเวก ให้หลบหลีกไป ให้หาที่ความสงบของแต่ละบุคคล ถ้าใครหาที่สงบได้ ที่ทำเป็นประโยชน์ได้มันก็จะเป็นประโยชน์กับคนๆ นั้น 

นี่พูดถึงว่านี่คืออุบายของเรา นี่คือประสบการณ์ของเรา แล้วมันจะพลิกแพลงไปเรื่อยๆ ดูเวลาที่ว่าเริ่มต้นเรามีอุบายวิธีการแล้ว พอปฏิบัติไปกิเลสที่มันละเอียดกว่านั้นมันก็มีเทคนิคทำให้เราหลงใหลได้มากกว่านี้ เราก็ต้องมีสติปัญญามากขึ้น มันตามไปไง พอมันละเอียดเข้าไปๆ มันจะตามกันต่อไป ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นอุปสรรค อะไรที่เป็นอุปสรรคมันก็เป็นอุปสรรค เราต้องแก้ไขของเราไป มันมีอุปสรรคต่อเนื่องกันไป แต่ถ้ามีอุปสรรคแล้ว ถ้าเราแก้ไขได้แล้วเราผ่านไปได้ เดี๋ยวมันก็มีอันใหม่มาอีก เพราะถ้าปฏิบัติยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์นะมันพลิกแพลงมาตลอด 

แล้วอย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านพูด เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่าไอ้เวทนามันลูกมันนะ เวลานั่ง ๒-๓ ชั่วโมง เวทนาลูกมันทั้งนั้นแหละ ๓-๔ ชั่วโมงเดี๋ยวพ่อมันมา แล้วถ้า ๖-๗ ชั่วโมงเดี๋ยวปู่มั่นมา ท่านถึงบอกว่าท่านภาวนาตลอดรุ่ง อู๋ย เหมือนกับเอาฟืนสุมตัวเราเองแล้วจุดไฟเผา มันร้อนขนาดนั้น มันทุกข์ขนาดนั้น พอพูดอย่างนี้ปั๊บพวกเราก็ท้อหมดเลย ไม่เอาเด็ดขาด ไม่ต้องการเจออย่างนี้เด็ดขาด นี่เป็นประสบการณ์ของท่าน 

ฉะนั้น เวลาการปฏิบัตินะมันไม่ใช่ต้องปฏิบัติผ่านทางเวทนาอย่างเดียว มันมีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม บางคนก็เหมือนกันบอกว่ากลัวผีมาก ไม่อยากเจอกายเลย ภาวนาไม่อยากเห็นกาย กลัวเห็นผีก็ไม่ใช่อีก ผีคือจิตวิญญาณ การพิจารณากาย จิตนี่ จิตโดยเห็นจากภายในมันเป็นการเห็นกาย ถ้าเห็นกายภายในเป็นอสุภะ สิ่งนี้มันเป็นคุณสมบัตินะ เหมือนกับเราวิเคราะห์ คนไข้ไปหาหมอว่าเป็นโรคอะไร เป็นโรคอะไร เราอยากรู้เราเป็นอะไร

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โรคมันแตกต่างกัน ฉะนั้น ใครที่ถนัดทางกายก็พิจารณากายไป ถ้าใครถนัดเวทนาก็พิจารณาเวทนาไป ใครถนัดทางจิต หรือว่าใครถนัดทางธรรม ธรรมารมณ์ ฉะนั้น จะบอกว่าไม่ต้องว่าจะต้องผ่านเวทนาไง แต่เวทนานี่เราเอาแบบว่าเวลาจิตมันพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว แล้วมันเบื่อหน่าย หรือมันไม่มีทางไป เราพลิกแพลงเป็นอุบายมาให้จิตมันก้าวเดิน ให้จิตมันได้บริหารของมัน ให้จิตมันพัฒนาของมัน 

ฉะนั้น ไม่ต้องไปว่าเราจะต้อง อู๋ย น่ากลัว มันเป็นวิกฤติมาก มันเป็นความทุกข์มาก เพราะการปฏิบัติผ่านไป เห็นไหม นี่พาหิยะฟังพระพุทธเจ้าขิปปาภิญญาหนเดียว พระอัญญาโกณฑัญญะฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโสดาบัน พระปัญจวัคคีย์อีก ๔ องค์ฟังไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วยังไม่ได้ 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาท่านพิจารณาเวทนาเป็นปู่ของมัน เป็นอะไรของมัน นั้นคือแนวทางของท่าน นั้นคือเส้นทางของหลวงตา ท่านได้สร้างบุญกุศลสิ่งนั้นมา ท่านต้องเผชิญกับสิ่งนั้น ถ้าเผชิญกับสิ่งนั้นมันก็เป็นจริงในใจของท่าน แล้วใครที่เป็นจริงอย่างใด ประสบการณ์นั้นท่านก็เอามาสอนเรา เอามาสั่งสอนให้เราเป็นคติ เป็นแบบอย่าง แต่ถ้าเราจะพิจารณาแนวทางอื่นก็ได้ เราพิจารณาทางกายก็ได้ พิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วทำให้มันชัดเจนขึ้นมา แล้วเราจะรู้จริงของเราขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับเรา

นี่ประสบการณ์อย่างนี้ให้มันมีขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเรามีอุบายที่เราไปเจอ เห็นไหม สำคัญที่ความปฏิบัติต่อเนื่อง แล้วไม่ใช่การปฏิบัติเอาเป็นเอาตาย การปฏิบัติเอาเป็นเอาตายมันก็เป็นขณะที่จะได้เสีย ขณะที่มันจะชำระล้างกันมันต้องมีการเอาเป็นเอาตาย เห็นไหม เวลาหลวงตา หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านจะบอกว่าการปฏิบัติมีหนัก มีเบา เวลามันหนัก หลวงตาท่านนั่งหนักหน่วงมากตลอดรุ่งตลอดไป พอขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น นี่มหา ม้าที่เขาพยศเขาไม่ให้มันกินเลย แต่เวลาเขาปราบมันได้เขาก็จะให้มันกินพอประทังชีวิต ถ้ามันเชื่องแล้วเขาให้กินเต็มที่เลย 

เทคนิคการบอก เทคนิคการบอก การสอน บอกให้มันแทงใจ ให้มันคิดขึ้นมา พอคิดขึ้นมา ในเมื่อโปรแกรมมันได้เปลี่ยน มันมีความคิดใหม่ มันทำของมันเป็นประโยชน์ขึ้นมา อันนี้มันจะพัฒนาอย่างนี้ นี่พูดถึงคำถาม คำถามบอกเขารู้อย่างนี้เราก็สาธุนะ แต่เพียงแต่เขาบอกว่าไม่ต้องเอาเป็นเอาตาย คือว่าเอาแค่ทำต่อเนื่อง นี้เราจะบอกว่าสิ่งที่รู้ที่เห็นนั้นสาธุเป็นปัญญาของตนเองมันภูมิใจ แต่ที่ว่าการที่เอาเป็นเอาตาย เดี๋ยวมันอาจจะต้องได้ใช้ไง เดี๋ยวมันอาจจะต้องได้ใช้ อย่าเพิ่งปฏิเสธ อย่าเพิ่งไปทิ้งมัน 

อะไรที่เป็นปัญญาของเรา เป็นสมบัติของเรานี่สาธุเห็นด้วย แต่สิ่งที่ว่าเอาเป็นเอาตาย ที่ว่าหนักหนาสาหัสสากรรจ์ อันนั้นเดี๋ยวเราอาจจะต้องใช้ประโยชน์มัน เราจะใช้ประโยชน์ นี่ในเครื่องครัวเราใช้ทุกอย่างเป็นประโยชน์กับเรา เพียงแต่ตอนนี้เราจะใช้อะไรเพื่อประโยชน์ แล้วใช้อะไรเพื่อประโยชน์ เอาสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา นี้ทำของเรา สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา นี้ทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง