เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๓ ก.พ. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! เราตั้งใจฟังธรรมเนาะ ทุกคนต้องการความเป็นธรรม ความสงบร่มเย็นทุกคนต้องการปรารถนา ทีนี้พอเราปรารถนา ของที่อยู่ใกล้ตัวเรา เราจะไม่เห็นคุณค่านะ คนเราอยู่กันสามีภรรยา อยู่ด้วยกันไม่มีคุณค่า เห็นแต่คนนอกมีคุณค่า เห็นไหม คนอยู่ด้วยกันมีคุณค่ามาก

นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาสังคมร่มเย็นเป็นสุขมีค่ามาก แต่เรามองไม่เห็นไง เพราะเราไม่เคยบ้านแตกสาแหรกขาด คนที่บ้านแตกสาแหรกขาดเวลาเขาไปอยู่ต่างประเทศ เขาคิดถึงบ้านเกิดเขามาก แล้วเวลาเขามีฐานะขึ้นมาเขาจะฟื้นฟูบ้านเกิดของเขา นี่ไง เพราะอะไร เพราะเขาบ้านแตกสาแหรกขาดไง แต่เราไม่เคยบ้านแตกสาแหรกขาด ถ้าเราไม่เคยบ้านแตกสาแหรกขาดเราก็ไม่เห็นความทุกข์ยากอย่างนั้น

ฉะนั้น ถ้าเราเกิดมาในสังคมที่ว่าเป็นธรรมๆ แต่ในปัจจุบันนี้มันไม่เป็นธรรมๆ แล้วความเป็นธรรมอันนั้นมันจะมาจากไหนล่ะ? ความเป็นธรรมอันนั้น สังคมที่ร่มเย็นเป็นสุขมันเกิดจากมนุษย์ ถ้าเป็นมนุษย์มันต้องเป็นความเป็นธรรมในหัวใจของเราก่อน ถ้าเป็นธรรมในหัวใจจากตัวเรา เห็นไหม ดูสิ ความเป็นธรรมของเรามันจะมีจิตใจเมตตา เรามองออกไปมีแต่น้ำใจเนาะ เห็นเขาทุกข์เขายาก เราอยากช่วยเหลือเจือจานเขา เราอยากจะมีน้ำใจต่อเขา แต่เพราะความไม่ไว้วางใจ เราช่วยเหลือใครไม่ได้ เพราะเราไปช่วยเหลือใครแล้วสิ่งนั้นมันจะตอบสนองกลับมาในทางที่ลบ พวกเราทุกคนมีแต่ความไม่แน่ใจตัวเองว่าเราทำแล้วจะถูกหรือผิดไง แล้วถ้าไม่แน่ใจตัวเองว่าถูกหรือผิด เราจะทำอย่างไร

แล้วถ้าจิตใจเราเป็นธรรมขึ้นมา เราแน่ใจตัวเราเองก่อนไง สิ่งที่เราทำแล้วเราพอใจใช่ไหม เราเสียสละไปแล้วใช่ไหม เขาจะเอาไปทำสิ่งใด เขาจะทำสิ่งใดมันเป็นเรื่องของเขาใช่ไหม ถ้าใจเราเป็นธรรมพอ แต่ถ้าใจเราเป็นธรรมไม่พอ เราสละสิ่งใดไปเรายังต้องติดตามไป เห็นไหม ให้เขาไปแล้วยังเป็นทุกข์นะ ให้เขาไปแล้วยังไม่รู้ว่าเขาไปทำอะไร เพราะอะไร เพราะจิตใจเราไม่มั่นคงพอ จิตใจเราไม่เป็นธรรมพอไง ถ้าจิตใจเราเป็นธรรมพอ เป็นธรรมพอมันเป็นธรรมที่ไหนล่ะ? เป็นธรรมที่เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เวลาเกิดมาเป็นชาวพุทธนะ อนุปุพพิกถา ให้มีการเสียสละกัน เสียสละเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของสังคม ถ้ามีการเสียสละอย่างนั้นก็ไปเกิดบนสวรรค์ เพราะคุณงามความดีไง คุณงามความดีนี่จิตใจมันเบาใช่ไหม เวลาจิตออกจากร่างไปมันก็ลอยขึ้นสูงใช่ไหม จิตใจของเรามีแต่อาฆาตมาดร้าย จิตใจมันมีแต่กดดันใช่ไหม จิตใจมันมีแต่ความหนักหน่วงใช่ไหม เวลาตายไปมันก็กดลงต่ำ

จิตใจของเราถ้ามันทำคุณงามความดีมันก็ลอยขึ้นสูง เพราะจิตใจเรามีความสบายใจ ไม่มีความข้องใจ ไม่มีความหมักหมมในใจ ออกจากร่างไปมันก็ลอยขึ้นไป เห็นไหม นี่อนุปุพพิกถา เวลาทำบุญกุศลแล้วไปเกิดบนสวรรค์ ถ้าไปเกิดบนสวรรค์แล้วมันก็เวียนว่ายตายเกิด ก็ให้เนกขัมมะ นี่เนกขัมมะเพราะจิตใจเขาเห็นการกระทำของเรามีคุณค่า ชีวิตเราก็มีคุณค่า เพราะเรามีความสำนึกใช่ไหม ถ้าเรามีความสำนึก เราเป็นคนขึ้นมา เราจะมีคุณค่าทันทีเลย

แต่เวลาเราน้อยเนื้อต่ำใจ เรามีความคิดในหัวใจ คุณค่าของมนุษย์มันน้อยลง แต่ไอ้พญามาร ไอ้ความกดถ่วงในหัวใจมันมีค่ามากขึ้น พอมีมากขึ้น เราไม่เป็นธรรมกับตัวเราเอง เราสงสัย เราลังเล เรามีความลังเล เราทำสิ่งใดมันลังเลตั้งแต่ที่นี่ไง เพราะมันไม่เป็นธรรมจากตัวของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนอนุปุพพิกถา ให้ทำทาน ให้เสียสละกัน ให้เสียสละต่อเมื่อถ้ามีกำลัง ถ้าไม่มีกำลัง ให้อภัยต่อกัน มีน้ำใจต่อกัน

การทำบุญกุศลไม่ใช่เป็นการเสียสละอย่างเดียว การทำบุญกุศล เห็นไหม มีน้ำใจต่อกัน ให้ธรรมเป็นทานประเสริฐที่สุด ให้ปัญญาคนประเสริฐที่สุด ให้คนมีปัญญา ให้คนฉลาด ให้คนมันเอาตัวมันรอดประเสริฐที่สุด

การให้จะให้อย่างไร การให้มันให้ได้มากมายมหาศาล สิ่งที่เป็นการให้ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นวัตถุ คนพูดบ่อยนะ “หลวงพ่อ หลวงพ่อต้องการอะไร”

เราบอก “ไม่ต้องการอะไรเลย”

“อ๋อ! ต้องการเงินใช่ไหม”

นี่พูดขนาดนั้นนะ

คำว่า “ไม่ต้องการอะไรเลย” เห็นไหม ต้องการน้ำใจของเอ็ง ถ้าเอ็งมา เอ็งมีใจของเอ็งไหม ถ้าเอามาปฏิบัติ เพราะอย่างนั้นจะเอาแต่วัตถุมาอวดกันไง “หลวงพ่อต้องการอะไรๆ”

ต้องการหัวใจมึงน่ะ ต้องการหัวใจที่มึงมีน้ำใจน่ะ หัวใจอันนั้น ถ้าหัวใจอันนั้นมันมีคุณค่า เวลาเราลุ่มหลงสิ่งใดไป เราเอาหัวใจเราไปฝากไว้กับคนอื่นนะ เราเชื่อเขา ศรัทธาความเชื่อ เราเชื่อมาทำไมล่ะ เราเชื่อมาเพื่อพิสูจน์ เชื่อมาเพื่อค้นคว้า พอเชื่อมาแล้วมันจะค้นคว้ากลับมาที่เรา ถ้าเราไม่มีความเชื่อ เราก็ไม่สนใจอะไรเลยใช่ไหม เรามีความเชื่อ แต่เราเอาหัวใจไปฝากไว้กับคนอื่นใช่ไหม เราเอาหัวใจไปที่อื่นใช่ไหม ทำไมเราไม่เอาหัวใจไว้ในตัวเราเอง

ถ้าเราเอาหัวใจไว้ในตัวเราเอง เรามีสติสัมปชัญญะ สำนึก เรามีความสำนึก เรามีคุณค่าแล้ว นี่มนุษย์มีค่าตรงนี้ไง ถ้าเรามีค่า ทรัพย์สินเงินทองมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย มันมาทีหลัง เห็นไหม โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ โลกธรรมมันเป็นของเก่าแก่ ถ้าโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ แล้วเราไปเป็นทาสมันใช่ไหม

แต่ถ้าเราไม่เป็นทาสมัน สิ่งต่างๆ เรื่องนี้มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญาของเรา เรามีสำนึกของเรา เราจะดีขึ้น เราทำสิ่งใด คนมีสติ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพาน “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” ถ้าเราไม่มีความประมาท ไม่มีความเลินเล่อ มีสติสัมปชัญญะ มีความสำนึกของตน เราทำอะไรเราทำด้วยสติปัญญา

ผิดชอบชั่วดีทุกคนรู้ แต่ลำเอียง ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะพวกเรา นี่เราลำเอียง แต่ถ้าเราไม่ลำเอียง สิ่งที่มันเป็นปัญหาสังคมคือปัญหาสังคม เรารู้ผิดชอบชั่วดีอยู่ แต่กระแสมันรุนแรง เราจะทำอย่างไร

ผิดชอบชั่วดีเรารู้อยู่ แต่เราไม่ไปตามกระแสนั้น เพราะทำสิ่งใดได้สิ่งนั้นนะ เราตามกระแสนั้น บารมีธรรมๆ เราจะเอาอย่างนั้นใช่ไหม เราจะเอาคุณงามความดีของเรา ถ้าเราต้องการสังคมร่มเย็นเป็นสุข เราต้องการความสงบร่มเย็น เราต้องมีความสงบมีความร่มเย็นในใจเราก่อน เราต้องมีสติสัมปชัญญะแยกแยะถูกผิดได้ก่อน ถ้าแยกแยะถูกผิด เราทำสิ่งใดเราทำด้วยความมั่นใจของเรา ถ้าทำด้วยความมั่นใจของเรา เราทำได้เต็มไม้เต็มมือเลย พอทำอย่างนี้แล้ว เวลาเราจะค้นคว้าความเป็นธรรมจากหัวใจ ความเป็นธรรมๆ ดูสิ เอตทัคคะ ๘๐ องค์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งเอตทัคคะ พระอรหันต์ทั้งนั้นน่ะ แต่ความถนัดของพระแตกต่างกัน

หัวใจของคนก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจมันแตกต่างกัน ดูสิ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง วิธีการทำความสงบของใจ ๔๐ วิธีการ ถ้าทำความสงบของใจเข้ามาก่อน เรามีสามัญสำนึก เราทำสิ่งใดเราทำด้วยความมั่นใจของเรา แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่โลกียปัญญา โลกียปัญญาเป็นปัญญาเกิดจากโลก สัญญาความจำได้หมายรู้ เราศึกษามา ค้นคว้าๆ นี่แหละ แต่พอค้นคว้าขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา จิตสงบขึ้นมาแล้วมันวางสิ่งนั้นเข้ามา

ด้วยสามัญสำนึกผิดชอบชั่วดี เรารู้ของเรา สังคมเป็นเรื่องหนึ่ง ความคิดที่เกิดขึ้น ความคิดที่ว่ามีศรัทธามีความเชื่อ พอมีความเชื่อสิ่งใดเราก็จะขวนขวายสิ่งนั้น มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด มรรคหยาบคือความหยาบๆ ความหยาบๆ คือการกระทำที่มันหยาบ พอหยาบๆ เราต้องขวนขวายทำคุณงามความดีเพื่อให้คนยอมรับว่าเรามีคุณงามความดี นั่งเฉยๆ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ใครเป็นคนดี จิตมันรู้ไง จิตมันรู้ถ้ามันสงบเข้ามามันรู้ตัวมันเอง ถ้ามันสงบเข้ามานี่มันรู้ ถ้ามันรู้ เห็นไหม “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” เรารู้ของเราเอง

เราหิวกระหายมานะ เราได้อาหารมาประทังชีวิต เราอิ่มหนำสำราญ เรามีความสุข จิตมันมีแต่ความรู้สึกนึกคิดเหยียบย่ำมันอยู่ในหัวใจ ตัณหาความทะยานอยากมันเหยียบย่ำ นี่สมุทัย สมุทัยมันเจือปนมา คิดแล้วก็สงสัย คิดแล้วก็ไม่แน่ใจ คิดแล้วมันก็วิตกกังวลไปหมดเลย แล้วพุทโธๆ ไปทำไมล่ะ พุทโธเพื่ออะไร

พุทธานุสติ จิตเกาะไว้ๆ เห็นไหม เขาทำความสะอาด เขาต้องแก้ไขของเขา ทำความสะอาดสิ่งใดเขาต้องมีการซักฟอกของเขา จิตใจของเราถ้ามันยังลังเลสงสัย ลังเลสงสัยเพราะอะไรล่ะ ลังเลสงสัยเพราะมันไม่มีสิ่งใดเป็นประสบการณ์ ไม่มีสิ่งใดพิสูจน์ ไม่มีสิ่งใดเป็นปัจจัตตัง ไม่มีสิ่งใดที่เป็นความจริง

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” ถ้ามันไม่ได้รสของธรรม ได้รสของความจำ ได้รสของความเชื่อ ได้รสของสังคมที่เขาสรรเสริญเยินยอกัน นั่นเรื่องของเขา โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มีจริงกับมีไม่จริง มันมีของคู่ ถ้าเราพุทโธๆ จิตมันเกาะมันไปๆ มันเป็นความคิด มันเป็นความรู้สึกนึกคิดใช่ไหม เวลามันปล่อยวางมาๆ มันจะปล่อยวางได้อย่างไร เพราะพุทธานุสติมันเกาะไว้หนึ่งเดียว เกาะพุทโธๆ เพราะมันตัด พุทโธ เห็นไหม นาโนมันพยายามสะสมเข้ามา พอมันปล่อยวางเข้ามาๆ ถ้ามันปล่อยวาง ปล่อยวางคือพุทโธมันชัดเจน พุทโธมันละเอียด นี่ไม่มีความประมาท ไม่มีความเลินเล่อ มันต้องเป็นจริงของมัน

แต่เพราะเราทำของเราไม่ได้ เพราะอะไร เพราะด้วยความสงสัย ด้วยมารมันคอยสอดคอยแทรก เพราะมารมันต้องการหัวใจของเราไว้เป็นที่ขับถ่ายของมัน มารมันต้องการภวาสวะ ต้องการภพ ต้องการหัวใจของคนไว้เป็นที่ขับถ่าย ไว้เป็นที่อยู่ของมัน แล้วเราพยายามจะหาทางออก เราพยายามจะพาเราออกไปจากมัน ถ้าเราจะออกไปจากมัน มันต้องมีความต่อต้าน มันต้องมีเล่ห์กลของมัน

พุทโธๆ นี่พุทธานุสติ พุทโธคือศาสดาของเรา พุทโธคือตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมารล่ะ มารมันข่มเหงในใจของเรามันก็ผลักไส มันก็ฉ้อฉล มันก็ทำให้พุทโธเรา “พุทโธ อู๋ย! พุทโธมาตั้งนานแล้ว แล้วพุทโธไปทำไมอีกล่ะ”

ถ้าไม่พุทโธนะ มันก็คิดไปตามแต่มารมันจะฉ้อฉลของมัน แล้วคิดด้วยความฉ้อฉล ด้วยความสงสัย ด้วยความไม่แน่ใจ ศรัทธาแล้วก็ว่า “มันจะจริงหรือ เออ! ไปทำบุญแล้วได้บุญจริงหรือเปล่า”

แม้แต่เราให้อาหารสัตว์ สัตว์มันยังพอใจเลย แล้วนี่เราทำคุณงามความดีมันจะไม่มีได้อย่างไร เราทำความดีของเรา

แล้วทำความดีแล้วทำไมมันไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตสักที

ประสบความสำเร็จขึ้นมา ประสบอยู่แล้ว หายใจเข้าและหายใจออก เห็นไหม ถ้าหายใจเข้าไม่หายใจออกมันก็ตาย นี่หายใจเข้าและหายใจออก ประสบชีวิตคือว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรง ทุกอย่างยังดีงามอยู่ ยังพร้อมอยู่เสมอ ทุกอย่างพร้อมเสมอ แต่ไอ้อย่างที่เราคาดหมายไปมันเป็นเรื่องของโลก สมบัติของโลกไง มันจะเป็นความจริงของเราขนาดไหนล่ะ

แต่เราทำขึ้นมาเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัยใช่ไหม ทำขึ้นมาเพื่อชีวิตนี้ใช่ไหม ถ้าชีวิตนี้มันอยู่ของมันได้ มันประสบความสำเร็จตั้งแต่ตรงนี้แล้ว แต่ถ้ามันถึงเวลามันต้องหลุด มันต้องพลัดพรากจากไป ถึงตอนนั้นเราจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย

ฉะนั้น เรามีสติปัญญา เราพุทโธของเราไป ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม ความเป็นธรรม เราจะให้ความเป็นธรรมกับตัวเราเอง มันลุ่มหลงไปกับสิ่งที่พญามารมันป้อนมาตลอดเลย เราก็อยู่ที่พญามารมันคอยชุบเลี้ยงมา พญามารมันชุบเลี้ยงหัวใจนี้มาตลอดเลย ถ้ามันพุทโธๆๆ จนสงบเข้ามา เราจะมีธรรมแล้ว พุทธานุสติมันจะชุบเลี้ยงหัวใจเรา

จิตใจที่มันเคยอยู่กับพญามาร ที่มันป้อนมันเลี้ยงมันมา แล้วไปอยู่กับพุทธานุสติจนมันเป็นจริงขึ้นมา มันเป็นธรรมขึ้นมา เราเทียบได้แล้ว สิ่งที่เราทำได้จริง นี่ปฏิบัติเขาปฏิบัติกันอย่างนี้ไง ถ้าใครทำสมาธิได้ พูดถึงสมาธิได้ถูกต้อง ถ้าใครทำไม่ได้มันก็ยังเหลวไหลของมันอยู่ แล้วจิตใจของเรา เราประสบขึ้นมาเอง แล้วใครพูดถูกพูดผิดทำไมเราจะไม่รู้

พูดออกมาถ้าไม่เป็น พูดผิดทั้งนั้นแหละ พูดตามตำรับตำรา พูดตามทฤษฎี มันไม่มีอยู่จริง ถ้ามีอยู่จริงแล้ว มึงจะเอากูหัวทิ่มขนาดไหนกูก็พูดถูก พูดถูกเพราะอะไร เพราะมันเป็นความจริงในหัวใจ เพราะมันมีอย่างนี้มันถึงจะเป็นธรรมไง

คำว่า “เป็นธรรม” ผิดชอบชั่วดีเรารู้ใช่ไหม ถูกผิดในใจเรารู้ใช่ไหม เราภาวนาพุทโธไม่ได้เราก็รู้ใช่ไหม เวลามันเป็นขึ้นมานี่งงนะ เวลาของจริงเข้าไปกลับงง “นี่มันอะไร นี่มันอะไร”...ก็นี่มันสมาธิไง ก็นี่ตัวมึงเอง เวลาเข้าไปถึงตัวเองงง เวลาให้มารมันหลอกก็ชื่นใจ เวลามารมันหลอก โอ๋ย! ไปเลยนะ เวลามันฉ้อฉล มารมันหลอก “โอ๋ย! เป็นอย่างนั้น โอ๋ย ปลื้มๆ” พอไปเจอความจริงไม่รู้จัก

ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เราต้องมีครูมีอาจารย์ไง ครูบาอาจารย์ของเราท่านจะคอยชี้นำ

หลวงปู่มั่นท่านพูดประจำ “ผู้นำสำคัญนะ ผู้นำสำคัญนะ” ผู้นำถ้าไม่ผ่านอย่างนี้มา ผู้นำจะรู้ได้อย่างไร อะไรเป็นจริง อะไรเป็นปลอม

มันปลอมในหัวใจเรา มันปลอมที่ไหน มันปลอมที่พญามารมันคอยฉ้อฉลอยู่ในหัวใจของเรา แล้วพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้ามันสงบมันก็ตื่นตัวขึ้นมา มันก็เบิกบานขึ้นมา มันก็เป็นจริงขึ้นมา พอจริงขึ้นมา มันจะเปรียบเทียบๆ นี่เรารู้ของเราได้

ถ้าเรารู้ได้ ฝึกหัดใช้ปัญญาๆ พอสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา พอสงบแล้ว โอ้โฮ! มันสุข มันสงบระงับ ไม่ยอมไปไหนอีก นอนจมอยู่นั่นอีก ก็ต้องลากออกมานะ...คิดสิ! คิดสิ! ไม่คิดแล้วมันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร

“อ้าว! คิดมันก็เป็นโลก คิดมันก็โดนหลอกมาพอแรงแล้ว”...ไอ้นั่นกิเลสมันหลอก

แต่อันนี้พอมันเป็นสมาธิแล้วมันเป็นธรรม ตั้งเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่นแล้วต้องหัดทำงานสิ ออกทำงานสิ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านลากกันออกมา พิจารณาออกไป พอภาวนาออกไปมันแตกต่างกัน

จากโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา โลกียะคือสัญชาตญาณ คือความเป็นอยู่จริงของโลก ความเป็นอยู่จริงของจิตที่มันรู้สึกนึกคิด ภาวนามยปัญญาเกิดจากธรรมจักร เกิดจากความวิริยะ ความอุตสาหะ เกิดจากความเพียรชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรมที่เกิดขึ้นก็เกิดธรรมจักร จักรมันเคลื่อนออกไป ปัญญามันเคลื่อนออกไปพร้อมกันศีล สมาธิ ปัญญามันเคลื่อนออกไป มันเป็นความมหัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา

นี่เราเรียกร้องความเป็นธรรมจากสังคม ความเป็นธรรมของเราในหัวใจ ถ้ามันมีคุณธรรมจริง มันไม่หวั่นไหวไปหรอก โลกธรรม ๘ ก็คือโลกธรรม ๘ ความหนักแน่นของหัวใจ ความหนักแน่นของธรรมมันหนักแน่นในหัวใจของเรา ไม่ต้องให้มารมันมาฉ้อฉล ให้มารมาเลี้ยงดูแลหัวใจของเรา เราจะเลี้ยงดูแลหัวใจของเราด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เราจะเลี้ยงดูแลหัวใจของเราให้มันประเสริฐมันพัฒนาของมันขึ้นมา มันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

การพัฒนา มรรคหยาบ มรรคละเอียด มันจะเห็นของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป “อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้” บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๔ คู่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่หัวใจของเรานะ

เราเรียกร้องทุกอย่าง ความเป็นธรรมๆ เราต้องดูความเป็นธรรมในหัวใจของเรา เราพัฒนาหัวใจของเราให้เป็นความจริงขึ้นมา นี่มีค่ามากๆ มีค่ามากตรงนี้ เห็นไหม เรามีทาน เราเสียสละของเราขึ้นมาเพื่อให้จิตใจเราเสียสละ เพื่อให้ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว มันมีศีล ศีลคือความปกติของใจ ใจมันสละทานแล้วมันก็มีความปกติ มันมีสิ่งเปรียบเทียบ

ถ้าไม่ทำของเราเลย มันอีโก้ มันก็ว่ามันแจ๋ว มันแน่ มันยอดทั้งนั้นแหละ พอสละไป เอ็งไม่แน่จริง เอ็งต้องพึ่งพาอาศัยเขา นี่เสียสละกัน เราเสียสละมา มีศีล ศีลปกติขึ้นมา แล้วมีศีลก็ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมา นี่ให้ความเป็นธรรมกับตัวเราเอง ให้ความเป็นธรรมกับหัวใจนี้

หลวงตาท่านบอกว่า หัวใจนี้เรียกร้องความช่วยเหลือ

หัวใจพวกเราเรียกร้อง เรียกร้องธรรม เรียกร้องความช่วยเหลือ แล้วใครหาให้มัน ใครหาให้มันถ้าเราไม่หา เราไม่พัฒนาของเราขึ้นมา หัวใจเราเรียกร้องความช่วยเหลือ ถามใจตัวเอง ถามใจว่ามันสงสัยไหม ถามใจตัวเองว่ามันทุกข์ไหม ถามใจตัวเอง แล้วใครจะช่วยมัน ใจดวงนี้ใครจะช่วยมัน

ต้องมีคุณธรรมเท่านั้น เราเรียกร้องความเป็นธรรมต้องทำที่นี่ ทำของเราขึ้นมา เรามีครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่าน สมบัติของท่าน เราฟังธรรมจากท่านแล้วเราพยายามปฏิบัติของเรา เราพยายามฟื้นฟูใจของเราให้มันรู้จริงขึ้นมา มันจะเป็นสมบัติของเรา เอวัง