เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๒ มี.ค. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เรามาทำบุญกุศล การเสียสละนี้เป็นอามิส สิ่งที่เสียสละ เราเสียสละตามวัฒนธรรมประเพณี เราเป็นชาวพุทธ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราทำบุญกุศล เราตักบาตร พระภิกษุภิกขาจาร หาเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง นี่เป็นวัฒนธรรมประเพณีของเรา เราทำบุญกุศลของเราแล้วเราฟังธรรมๆ ฟังเพื่อหัวใจของเราไง

เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยากนะ ดูสิ ดูสัตว์ป่ามันเกิด สัตว์ป่ามันอยู่ในป่าของมัน ธรรมชาติของมัน มันต้องคุ้มครองชีวิตของมัน มันหาอยู่หากินของมันแลกด้วยชีวิตของมันนะ สัตว์บ้าน เขาเอาสัตว์ป่ามาเลี้ยงไง มันมีความเชื่องของมัน เอามาเลี้ยงเพื่อความเอ็นดูของคน เอามาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร เห็นไหม สัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงมีคนคุ้มครองดูแลมันนะ สัตว์ป่ามันต้องดูสัญชาตญาณของมัน มันต้องดำรงชีวิตของมัน

แต่ความเป็นสัตว์ป่า พวกอนุรักษ์เขาบอกว่าให้สัตว์ป่ามันอยู่ป่าของมัน การดำรงชีพของสัตว์ป่า ให้สัตว์ป่าอยู่โดยอิสรภาพของมัน มันจะมีความสุขของมัน แต่ด้วยความเมตตาของเรา ด้วยความเอ็นดูของเรา สัตว์ป่าเราเอามาเป็นสัตว์เลี้ยง เอามาขังมัน เอามาคุ้มครองดูแลมัน กลายเป็นสัตว์บ้าน

สัตว์บ้านมันเฉื่อยชา สัตว์บ้านมันไม่มีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด สัตว์บ้านมันเป็นแบบนั้นนะ แต่สัตว์ป่ามันมีสัญชาตญาณเอาตัวรอดของมัน โดยสัจจะของมัน มันอยู่ดำรงชีวิตของมันได้ แต่การเกิดเป็นสัตว์ สัตว์ก็คือสัตว์ เราเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เราเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ประเสริฐ เราทำบุญกุศลของเรา ทำบุญกุศลเพื่ออะไร? เพื่อให้จิตใจเราร่มเย็นเป็นสุขไง

เราทุกคนปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ทั้งนั้น ความทุกข์ทุกคนไม่ต้องการปรารถนา เวลาคนทุกข์คนเข็ญใจปากกัดตีนถีบเพื่อหาดำรงชีวิตก็เป็นความทุกข์ของเขา ถ้าคนเราเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทองมา เราเกิดมาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยชีวิต อุดมด้วยปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย แต่อุดมด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย เห็นไหม ดูสิ จริตนิสัยของคน พ่อแม่เลี้ยงลูกก็ต้องการให้ลูกเป็นคนดี ถ้าลูกเป็นคนดี พ่อแม่ก็มีความอบอุ่น พ่อแม่ก็มีความพอใจ ถ้าลูกของเรามีปัจจัยเครื่องอาศัยของมัน แล้วมันเกเร มันเห็นแก่ตัว มันทำให้พ่อแม่เจ็บช้ำน้ำใจขึ้นมา สิ่งนั้นมันเป็นบาปอกุศลทั้งนั้นน่ะ แล้วทำสิ่งนั้นมันดีไหมล่ะ

เราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์มีจิตใจที่ประเสริฐ ประเสริฐนะ จิตใจเป็นธรรมๆ มันไม่เห็นแก่ตัวของมัน มันเป็นผู้นำ มันเป็นผู้เสียสละ มันชักชวนคนทำคุณงามความดี ถ้าคุณงามความดี ความดีคืออะไร? ความดีคือการไม่เห็นแก่ตัว ความดีคือเห็นน้ำใจต่อกัน ความดีคือดูแลกัน นั่นคือความดีของเขา แล้วความดีของเราล่ะ เวลามันทุกข์ มันทุกข์เพราะความคิด มนุษย์ถ้าจะมีความสุขต้องหยุดคิด เห็นไหม สุขอื่นใดเท่าจิตสงบไม่มี แล้วหยุดคิดจะหยุดอย่างไรล่ะ เราจะหยุดคิดของเรา เราหยุดคิดอย่างไร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ทำทาน ทำทานคือทำบุญกุศลของเรา ทำบุญกุศล จิตใจก็เป็นสาธารณะ มันจะมีสามัญสำนึก สามัญสำนึกมันคิดของมันได้ มันมีสติ มันก็ยับยั้งความรู้สึกนึกคิดได้ ไม่ไปตามกระแสความคิดของเรา ถ้าความคิดของเราด้วยตัณหาความทะยานอยาก มันแสวงหาของมันด้วยตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นน้ำล้นฝั่ง

แต่ความคิดของเราคิดเพื่อดำรงชีวิต คิดเพื่อหาปัจจัยเครื่องอาศัย ความคิดอย่างนี้ไม่ใช่กิเลส ความคิดของเรา หน้าที่การงานของเรา ความคิดของเรานะ เราต้องประกอบสัมมาอาชีวะ เห็นไหม ดูสิ เราหิวกระหาย เราอยากกินข้าว เราบอกว่าเราทำสิ่งใดไม่ได้ การขยับเอื้อมมือไปจับสิ่งใดมันเป็นกิเลสๆ...มันก็ตายหมดน่ะ เวลาเราอยากกินอาหาร เราก็ต้องเอามือเอื้อมไปจับอาหารนั้นใส่ปากเรา เราก็ต้องเคี้ยวกลืนเข้าไปมันถึงดำรงชีวิตของเรา นี่คือการดำรงชีวิต

ปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าเราคิดเรื่องหน้าที่การงาน คิดสิ่งที่เป็นกุศลของเรา คิดว่าเป็นงานของเรา อันนี้เป็นงาน งานประสบความสำเร็จก็ได้ งานอาจจะผิดพลาดก็ได้ เรื่องของงาน เห็นไหม งานที่ว่าสิ่งใดเป็นกิเลส สิ่งใดไม่เป็นกิเลส คำว่า “ไม่เป็นกิเลส” ไม่เป็นกิเลสเพราะอะไร? ไม่เป็นกิเลสเพราะมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย มันเป็นปัจจัย ๔ ที่การดำรงชีวิตต้องอาศัยสิ่งนี้ แต่ต้องได้มาด้วยความเป็นกุศล ไม่ให้เป็นอกุศล เห็นไหม กุศล ความสุจริตยุติธรรม คุณงามความดีของเราไง ถ้าความดีของเราทำสิ่งนี้มาก็เป็นประโยชน์กับเรา

ทุกคนปรารถนาความสุขไง ความสุขแบบโลก โลกเขาเทียมหน้าเทียมตากัน โลกเขาเสมอกัน ความสุขอย่างนี้ สังคมไหนร่มเย็นเป็นสุข สมณะชีพราหมณ์จะได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา คนเราจะประพฤติปฏิบัติ สังคมร่มเย็นเป็นสุขมันจะมีโอกาสปฏิบัติ สังคมมีแต่ความเดือดร้อน มีแต่ความแก่งแย่งชิงดีกัน แล้วก็นั่งภาวนาๆ กัน โลกเขาเข้าใจผิด “ไปวัดๆ ทำไมต้องไปวัด ต้องไปนั่งหลับหูหลับตา ที่ไหนก็ภาวนาได้”

ภาวนาอย่างนั้นภาวนากลางตลาดใช่ไหม แต่จิตใจครูบาอาจารย์ที่ท่านทำของท่านเสร็จแล้ว ท่านอยู่ในป่าในเขาก็ได้ ท่านอยู่ในตลาดก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ที่อโคจร ที่ไม่สมควรไป เห็นไหม สมณะชีพราหมณ์ต้องอยู่ในป่าในเขา อยู่ในที่สงบสงัด สมณะชีพราหมณ์จะไปอยู่กลางตลาด กลางสังคมอย่างนั้นมันไม่สมกับความเป็นสมณะ สมณสารูปมันไม่ใช่อย่างนั้น

โลกคิดกันอย่างนั้นว่าถ้าแน่จริงก็ต้องทำอย่างนั้นได้ คำว่า “แน่จริง” ใครแน่ล่ะ ใครแน่ก็คือทิฏฐิมานะ ทิฏฐิมานะเอาชนะคะคานกันมันถึงไม่ได้สิ่งใดเป็นประโยชน์กับมัน แต่จิตใจของเราถ้าเป็นผู้ประเสริฐ เราทำบุญกุศลของเรา เสียสละทานเราก็ทำของเราแล้ว ทำเพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมี วาสนาบารมีที่ไหน

การเสียสละเป็นผู้ให้มันดีกว่าผู้รับ เห็นไหม เป็นผู้รับขึ้นมา เราต้องรับ เรารับเพื่อดำรงชีวิต ดำรงธาตุขันธ์ของเรา เรามีโอกาสได้ให้ๆ ได้ให้เพื่ออะไรล่ะ? ให้หัวใจ ให้จิตใจเป็นสาธารณะที่มันจะมีสามัญสำนึก ที่มันจะมีเหตุมีผล มันจะค้นคว้าของมัน ค้นคว้าอะไร ค้นคว้าอะไร? ค้นคว้าความสุขไง

สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี เราจะหยุดคิดๆ ไง หยุดคิดก็กดมันไว้ หยุดคิดก็ไม่รับรู้มันเลย หยุดคิดอย่างนั้นมันหยุดคิดอย่างไร

การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด การใช้ความคิดก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะจิตธรรมดา ธรรมชาติที่รู้มันคิดของมันโดยธรรมชาติของมัน แสงมันเคลื่อนที่ของมัน มันไปของมัน ธรรมชาติของมัน มันมีของมันอยู่อย่างนั้น แล้วบอกว่าไปกดมันไว้โดยที่ไม่มี

เวลาเขาดูถูกกันว่า ทำสมถะ กำหนดพุทโธแล้วเป็นหินทับหญ้าๆ

ให้มันได้ทับเถอะ อย่าให้หญ้ามันรกรุงรังเกินไป หญ้ามันเป็นโอกาสกับวัวนะ วัวควายมันกินหญ้า วัวควายมันหาหญ้ากิน หญ้าเป็นอาหารของวัวควาย นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันทับหญ้า ทับให้บ้านเรือนเราสะอาดบริสุทธิ์ ให้บ้านเรือนเราไม่สกปรกรกชัฏไปด้วยหญ้า ด้วยแมกไม้ที่มันทำให้รกรุงรัง

ถ้าบ้านของใครสะอาดนะ มันน่ารื่นรม ทุกคนก็น่าอยู่อาศัยใช่ไหม เรามีบ้านหลังหนึ่ง ให้เถาวัลย์ให้ไม้เลื้อยมันคลุมไปหมดเลย ไม่เห็นสิ่งใดเลย เข้าออกไม่ได้เลย แล้วพอเราจะถากจะถาง หินทับหญ้า หินทับหญ้า ไม่ทำอะไรเลย ไม่ต้องให้มันทำอะไรนะ ให้มันทับเลยใช่ไหม

ถึงมันจะเป็นหินทับหญ้าก็ขอให้มันทับเถอะ ถ้าใครรู้จักหินทับหญ้า เขารู้จักปกครองดูแลบ้านของเขา นี่มีบ้านอยู่หลังหนึ่ง เกิดมามีปฏิสนธิจิต เกิดมาแล้วเวียนว่ายตายเกิดก็ไม่รู้จักจิตของตัวว่าอยู่ที่ไหน เวลาไปดูก็ไปดูบ้านคนอื่น บ้านของเศรษฐีเขาทำของเขาเรียบร้อย เราก็ว่าบ้านนี้สวยบ้านนี้งาม บ้านของเรารกรุงรังก็หาไม่เจอ แล้วถ้าหาเจอ หาอย่างไรล่ะ

ถ้าเราหาเจอ ถ้ากำหนดพุทโธ เรากำหนดพุทโธ เพราะการกำหนดเป็นการเริ่มต้น เห็นไหม จะดายหญ้า หญ้ามันรกที่ไหน? รกที่บ้านคนอื่น บ้านคนอื่นเขาไม่เกี่ยว บ้านคนอื่นเขามีคนดูแลของเขา ไอ้บ้านเราอยู่ที่ไหนล่ะ “ระลึก” สติระลึกอยู่ จิตสำนึกมันก็สำนึกขึ้นมา ที่เราทำบุญกุศลกัน จิตสำนึกๆ จิตสำนึกขึ้นมาว่าเราดีเราชั่ว เราทำอะไร เรามีสามัญสำนึก ถ้ามีสามัญสำนึก เริ่มต้นที่เราจะเป็นคนดี

คนเรามันเร่ร่อน ดูสิ เวลาเถียงกัน เถียงกันว่าฉันไม่ผิดๆ คนอื่นผิด ปัดออกหมดเลย ไม่เคยคิดเข้ามาถึงตัวเลย มันไม่มีสำนึก ไม่ยอมรับความจริง ความดีความชั่วเป็นของสังคม ความดีความชั่วเป็นของคนอื่น ของเราไม่มีอะไรเลย มีอย่างเดียวคือคอยติฉินนินทาเขา มีอย่างเดียวคือคอยวัดคนอื่น มีอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกตัวเลย

ถ้ามีสามัญสำนึกขึ้นมานะ จะดีจะชั่วมันตัวของเรา เห็นไหม จิตนี้มหัศจรรย์นัก เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันเวียนว่ายตายเกิดไปของมัน ใครจะปฏิเสธ ใครจะยอมรับต่างๆ มันเป็นไปตามเวรตามกรรม ใครสร้างคุณงามความดี ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว การเวียนว่ายตายเกิดของเราไป เวียนว่ายตายเกิดในสัตว์เดรัจฉาน เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ เกิดเป็นสัตว์ก็เคยเกิด เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็เคยเกิด เกิดทั้งนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาย้อนบุพเพนิวาสานุสติญาณ ชัดเจนมาก ถ้าชัดเจนมาก จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แล้วเราเป็นมนุษย์ เราจะไม่เป็นอย่างนั้นใช่ไหม เราจะเหนือคนอื่นใช่ไหม เราจะไม่เป็นอย่างใครเลยใช่ไหม

เราจะปฏิเสธหรือไม่ปฏิเสธ มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น แต่เรามีสามัญสำนึก เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วไม่ใช้ชีวิตของเราเสียเปล่า เราใช้ชีวิตไปทางโลกชีวิตนี้เสียเปล่า เสียเปล่าตรงไหน ใครเกิดมาทำคุณงามความดีก็ฝากไว้ในประวัติศาสตร์ คนนี้เป็นคนดี ทะเบียนบ้านมีไว้นะ เวลาตายแล้วก็ออกไปจากทะเบียนบ้าน เห็นไหม ต้นขั้วมันมีของมันอยู่อย่างนั้น นี่เวียนว่ายตายเกิดไง

แต่เราเกิดเป็นมนุษย์ มีสามัญสำนึก เราเกิดเป็นมนุษย์ หน้าที่การงานเราก็ทำ คนจะเป็นคนดีได้มันต้องดีทางโลก ทางโลกหมายความว่ามันมีความรับผิดชอบ ถ้ามีความรับผิดชอบทางโลกมา มันก็จะมีความรับผิดชอบในชีวิตของเรา มาบวชเป็นพระ มาประพฤติปฏิบัติ เราก็จะรับผิดชอบจิตของเรา นี่จิตของเราๆ

เราไปอยู่ที่ไหน มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มันต้องมีหมู่มีคณะเป็นเรื่องธรรมดา ลิ้นกับฟันนะ เราเคี้ยวอาหารมันยังขบลิ้นเราเองเลย แล้วการกระทบกระเทือนกัน การกระทบกระทั่งกันไม่มี เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เราจะต้องดูจิตของเราๆ ถ้าเราไปเจอหมู่คณะ เราไปเจอสังคมที่เป็นสัปปายะ สิ่งที่เป็นสัปปายะนะ ทุกคนที่เป็นนักปฏิบัติเขาก็ต้องการความสงบความวิเวกทั้งนั้นแหละ ถ้าเขามีความปรารถนาเหมือนเรา เขารักษาดูแลจิตใจของเขา เขาพยายามอยู่ในความสงบระงับของเขา แสดงว่าเรามีวาสนา เรามาเจอสังคมที่ดี เรามาเจอสังคมที่เป็นสัปปายะ สังคมที่เขาขวนขวายกัน เราก็มาดูแลจิตเรา ถ้าดูแลจิตของเรา เห็นไหม ต้องหยุดคิด การหยุดคิดนะ

หยุดคิดแล้วพุทโธทำไม หยุดคิดแล้วพุทโธทำไม

ก็พุทโธๆๆ จนมันปล่อยวาง มันปล่อยวางพุทโธจนมันเป็นสักแต่ว่า สักแต่ว่าก็ไม่ใช่ขาดสตินะ พุทโธๆ จะละเอียดขนาดไหน พุทโธมันก็มีสติของมันไป จนมันปล่อยวางของมัน เพราะรูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

เรามีโสต โสต หู โสตวิญญาณ เสียงที่มันไม่มี เราจะได้ยินเสียงไหม เสียงไม่มี เรากระทบเสียงนั้นใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เราระลึกพุทโธนี่ก็รูป ถ้าเราไม่ระลึกพุทโธมันจะมีความรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกนี่คือรูป พุทโธๆ แล้วรูปนี่ปล่อยให้มันกระจายไป ความรู้สึกนึกคิดปล่อยให้มันแผ่ซ่านไป

เราโฟกัสเลย บังคับเลย พุทโธๆๆ ไว้ ไม่ก็ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม จะหยุดคิดได้ก็ต้องใช้ความคิด พุทโธๆๆ จนละเอียดเข้ามา คนจะรู้ได้ นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก สติก็พร้อม คำบริกรรมพร้อม พุทธานุสติมันพร้อมเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา การปล่อยวาง นี่หยุดคิด มันหยุดของมันหมด หยุดคิด แต่ก็ต้องใช้ความคิด

แต่ถ้าหยุดคิดโดยที่ไม่คิด กดไว้ ทับไว้ เวลาจิตสงบแล้วก็บอกว่าหินทับหญ้า หินทับหญ้ามันรู้จักหญ้า หญ้ายังเป็นอาหารของสัตว์ หญ้าเป็นอาหารของวัวของควาย หญ้าอ่อน วัวควายมันชอบกินของมัน มันประทังชีวิตด้วยอาหารของมัน นี่หินทับหญ้าๆ ไอ้กดไว้มันไม่ใช่หินทับหญ้า มันเป็นทิฏฐิมานะ มันเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นการสร้างภาพ มันไม่มีหญ้าให้กด มันไม่รู้ไม่เห็นของมันจะเอาอะไรไปกด หินทับหญ้าๆ หินทับหญ้าก็รังเกียจไง

แต่ถ้าเป็นความจริง ถ้าหินทับหญ้า สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ทุกข์เพราะความคิด ต้องหยุดคิด ความหยุดอันนั้น แต่มันมีสติ มีปัญญาของมัน เห็นไหม หญ้าของเราได้เกี่ยวมาแล้ว เราจะเอาหญ้าคามาตากแห้งไว้ทำหลังคาของเรา เวลาทำตับขึ้นมาเพื่อมุงหลังคา เอาหญ้ามาเป็นประโยชน์ มันทำได้หมด พอจิตสงบแล้วนะ ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญามันจะเป็นประโยชน์ของมันขึ้นมาแล้ว

นี่ว่าหินทับหญ้าๆ ขอให้มันทับเถอะ ขอให้มันได้ทับเถอะ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี เห็นไหม ทุกข์เพราะความคิด ขอให้มันหยุดคิด แต่หยุดคิดแบบมีสติมีปัญญา ไม่ใช่หยุดคิดแบบก้อนหิน ไม่ใช่หยุดคิดแบบธาตุ ก็คิดว่าไม่คิดไง ถือศีลๆ ถือศีล ๕ ศีลบริสุทธิ์...ก้อนหินมันบริสุทธิ์ที่สุด ก้อนหินมันไม่ทำสิ่งใดเลย มันทับก็ทับเฉพาะตรงที่มันตั้งอยู่นั่นน่ะ มันทับสิ่งนั้นไว้ นี่ไง มันเป็นแร่ธาตุ มันไม่มีชีวิต นี่สิ่งที่ไม่มีชีวิต แต่เรามีชีวิต เรามีความรู้สึก เรามีธาตุรู้ ธาตุรู้เราจะย้อนกลับมา นี่สัตว์ประเสริฐ สัตว์ประเสริฐที่นี่

สัตว์ป่ามีสัญชาตญาณของมันโดยการดำรงชีวิตของมัน ด้วยความเห็นภัย สัตว์บ้านเลี้ยงดูกันจนมันมีแต่ความประมาท มันหาอยู่หากินด้วยตัวเองไม่เป็น จิตใจของเราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สัตว์ป่ามันมีสัญชาตญาณ มันจะแก้ไขของมัน สัตว์บ้านเชื่องๆ อยู่ในกรง ถึงเวลาเปิดกรงมาก็ให้อาหาร ก็กินตามนั้นแหละ ถึงจะอยู่กรงทองมันก็มีความทุกข์ของมัน แล้วเราจะเอาตัวรอดอย่างไรล่ะ การเอาตัวรอด สัตว์ป่าโดยสัญชาตญาณของมัน มันหากินของมัน มันรับผิดชอบชีวิตของมัน เวลามันเกิดปัญญา วิกฤติของมัน มันเอาชีวิตรอดของมัน จิตของเราหยุดคิดแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาๆ นี่สัญชาตญาณของมัน ความเป็นไปของมัน มันจะเอาชีวิตรอดของมัน มันจะเอาจิตพ้นไปจากวัฏฏะของมัน พ้นจากวัฏฏะ ไม่เวียนว่ายไปในวัฏฏะเลย

นี่ก็เหมือนกัน ทำอะไรก็ทำเป็นพิธี เถรส่องบาตรไง นี่ไง “มรรค ๘ ทุกๆ อย่างก็พร้อมหมดแล้ว พร้อมหมดแล้ว”

มันหยุดคิดไม่เป็น ความคิดอันนั้นมันเป็นความทุกข์ทั้งนั้นแหละ ปฏิบัติก็จะเอามรรคเอาผล แล้วมันไม่มีความจริงขึ้นมาเลย เพราะอันนั้นเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมะสาธารณะ

ว่า “ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ก็ธรรมชาติเป็นแบบนั้น”

ธรรมชาติคือวัฏฏะ เวียนว่ายตายเกิด ธรรมชาติมันเปลี่ยนแปลงไง

แต่เวลาธรรมของเรามันเหนือธรรมชาติ เหนือธรรมชาติตรงไหน? เพราะมันพ้นไปจากธรรมชาติ อกุปปธรรม พ้นจากการแปรสภาพ คงที่ตายตัว

ของที่คงที่ตายตัวในโลกนี้ไม่มี ในจักรวาลนี้ไม่มี ไม่มีสิ่งใดคงที่ตายตัว มันเป็นอนิจจังทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดคงที่ตายตัว สิ่งที่เป็นความจริงคือการแปรสภาพ ความเปลี่ยนแปลงอันนั้น แต่เราไม่รู้ไม่เห็นของเรา แต่เราใช้ปัญญาของเราแยกแยะของเราไปถึงที่สุด อกุปปธรรม มันพ้นไปจากธรรมชาติ พ้นจากการเปลี่ยนแปลง พ้นจากทุกๆ อย่างไป พ้นเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เห็นไหม บุคคล ๔ คู่ จิตใจนี้เป็นผู้เป็น เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา นี่ฟังธรรมๆ เพื่อให้จิตใจมันมีทรัพย์สมบัติ มันเป็นอริยทรัพย์ฝังในหัวใจของเราไป เอวัง