เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ พ.ค. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี้ฟังธรรมะเนาะ ธรรมะ เห็นไหม ความเกิดเป็นมนุษย์ เราเกิดเป็นมนุษย์นะ เกิดเป็นมนุษย์แสนยาก เพราะการเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ เกิดเป็นมนุษย์เพราะมีมนุษย์สมบัติถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เวลาเกิดเป็นมนุษย์ทุกข์ๆ ยากๆ เรายังทุกข์ๆ ยากๆ ไอ้บุญพาเกิด เกิดมาแล้วอุดมสมบูรณ์ของคนๆ นั้น คนนั้นเขาสร้างบุญของเขามา ถ้าเราเกิดมาปากกัดตีนถีบเราก็เกิดมา เราก็เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน มนุษย์ก็มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน ถ้ามีเหมือนกันนะเราจะน้อยเนื้อต่ำใจไปไหนล่ะ?

การเกิดเป็นมนุษย์เสมอภาคกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าในการเกิดนี้ การเกิดเป็นมนุษย์ ในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะนี้ไม่มีจิตดวงใดเลยไม่เป็นเครือเป็นญาติกัน ไม่ภพชาติใดก็ภพชาติหนึ่งเราต้องเป็นเครือเป็นญาติกัน เพราะว่าการเวียนว่ายตายเกิดนี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย นี่การไม่มีต้นไม่มีปลายมันเกิดเสมอภาคกัน คนเกิดมาเสมอภาคกันโดยธรรม เพราะมีปากมีท้องเหมือนกัน ต้องหาอยู่หากินเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมามันมีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เหมือนกัน ถ้ามีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เหมือนกัน เวลาเรากระทบเย็นร้อนอ่อนแข็งเสมอภาค ความกระทบเย็นร้อนอ่อนแข็งนี่เสมอภาค ทุกคนกระทบได้เหมือนกันทั้งนั้นแหละ แต่ แต่มันก็มีกรรม มีกรรม เห็นไหม บางคนเกิดมามีโรคภูมิแพ้ มีโรคต่างๆ มันกระทบแล้วมันเกี่ยวกับเรื่องร่างกาย เพราะร่างกายมันเจ็บไข้ได้ป่วย ความเจ็บไข้ได้ป่วยอันนี้ นี่เราไม่เสมอกันตรงนี้ไง

เราไม่เสมอกันด้วยที่เจ็บไข้ได้ป่วย ความเจ็บไข้ได้ป่วยมันมีสิ่งใดล่ะ? มันก็เรื่องเกี่ยวกับหัวใจด้วยเพราะความรู้สึก โดยความรู้สึก ความรู้สึกที่คนละเอียดละมุนละไม การกระทบกระเทือนต่างๆ การกระทบต่างๆ เขาก็คุมของเขาได้ แต่ถ้าคนหยาบๆ เวลากระทบสิ่งใดก็ทนสิ่งนั้นไม่ได้ อันนั้นมันคืออะไรล่ะ? มันคือความชอบ ความชอบและความไม่ชอบ บุญและบาป บุญและบาปของคนเรามันแตกต่างกัน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ถ้าจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่เกิดเหมือนกัน เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราเสมอกัน เราเป็นญาติกันโดยธรรม

เราเป็นญาติกันโดยธรรม เราเสมอภาคกันโดยความกระทบเย็นร้อนอ่อนแข็ง เย็นร้อน อ่อนแข็งมันก็มีเรื่องกรรม เรื่องกรรมคือเรื่องภูมิแพ้ เรื่องสิ่งที่ธาตุขันธ์มันแพ้ สิ่งใดที่เรารับสิ่งนั้นไม่ได้ เพราะถ้าคนอื่นเขากระทบเขาก็ไม่เห็นเดือดร้อนเลย ทำไมเราไปรับสิ่งนั้น ทำไมเราเจ็บไข้ได้ป่วยล่ะ? ความเจ็บไข้ได้ป่วยมันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องเวรเรื่องกรรมหมายความว่ามันเป็นตามข้อเท็จจริง แต่มันก็มีความรู้สึกอันนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ถ้าความชอบและไม่ชอบนี่มันเรื่องของกิเลสแล้ว

ความชอบหรือไม่ชอบทำไมเขาชอบล่ะ? ทำไมเย็นร้อนอ่อนแข็งที่เขารับรู้นั้นเขารับรู้เป็นวิทยาศาสตร์ เขารับรู้ด้วยสติปัญญา เขารับรู้ด้วยบริหารจัดการของเขา ทำไมเรารับรู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง ทำไมเราไปวูบวาบกับเขา ทำไมเราไปทุกข์ยากกับเขา ทำไมหัวใจเรามันโลเลขนาดนี้ ถ้าโลเลขนาดนี้ฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้ไง คนเราเกิดมามีกายกับใจ กายกับใจ เวลาเกิดมาเป็นมนุษย์มีร่างกายเหมือนกัน ร่างกายเหมือนกันเพราะเราเกิดมาเสมอภาคกันโดยความเป็นมนุษย์ แต่ว่าจิตใจมันไม่เหมือนกัน

จิตใจไม่เหมือนกัน นี่จิตใจที่สูง จิตใจที่มีคุณงามความดี มันมีแต่เรื่องเสียสละ เห็นอกเห็นใจเขาไปหมด เราเห็นอกเห็นใจเขา เราเมตตาเขา ทั้งๆ ที่เราก็ทุกข์ยาก เราก็อาบเหงื่อต่างน้ำอยู่นี่ เราก็ยังสงสารเขาอยู่ สงสารเขาที่ว่าเขามีร่างกายเหมือนเรา แต่จิตใจเขาไม่คิดเหมือนเราไง เราก็มีร่างกายเหมือนเขา เราทุกข์ยากกว่าเขา เราต้องปากกัดตีนถีบหาอยู่หากินของเรา แต่เราก็ยังสงสารเขาๆ เขามีเงินมีทอง เขามีความสุขสมบูรณ์ของเขา แต่ทำไมเขามีความทุกข์ในใจของเขา

นี่มันต่างกัน เขามีความร่ำรวย เขามีความอุดมสมบูรณ์ของเขา แต่จิตใจของเขาบกพร่อง ของเรานี่เราปากกัดตีนถีบ เรามีความทุกข์ความยาก แต่หัวใจของเราสมบูรณ์ของเราขึ้นมา เราจะอยู่ที่ไหน เราจะอยู่โคนไม้ที่ไหนเราก็มีความสุขของเรา นี่สูงต่ำอยู่ที่หัวใจไง แต่เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ผลของวัฏฏะๆ นี่เป็นความจริงนะ เป็นความจริง เห็นไหม คนเรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรมเป็นแดนเกิด มันต้องมีเวียนว่ายตายเกิดไปตามผลของวัฏฏะ เป็นตามผลของเวรของกรรม

ผลของกรรม เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนเรื่องสิ่งใดล่ะ? พุทธศาสนาสอนเรื่องสิ่งใด พุทธศาสนาสอนเรื่องอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ ตรัสรู้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์นั้น เห็นไหม อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ตรัสรู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัตถา เทวมนุสสานัง สอนได้สามโลกธาตุ นี่สอนด้วยหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ในเมื่อใจนี่มันทะลุปรุโปร่งไปแล้ว การเวียนว่ายตายเกิด ปฏิสนธิจิตก็เวียนว่ายตายเกิดตั้งแต่พรหมลงมา

นี่สามโลกธาตุใครไปเกิด ก็ใจไปเกิด จิตที่เวียนว่ายตายเกิด ถ้าเวียนว่ายตายเกิดจิตมีอวิชชา ถ้าจิตมีอวิชชามันถึงไปเกิด แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ทำลายอวิชชา ทำลายความไม่รู้ในหัวใจทั้งหมดแล้ว เทวดา อินทร์ พรหมยังไม่รู้เลย นี่เทวดา อินทร์ พรหมต้องมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขามีความสุข เป็นทิพย์ๆ เป็นทิพย์ก็ต้องตาย เป็นทิพย์ก็ต้องหมดอายุขัยของเขา เขาเวียนว่ายตายเกิดของเขา แล้วเขาทำคุณงามความดีของเขา เขาจะทำอย่างไร? เขาทำอย่างไร เห็นไหม เขาทำอย่างไร

เวลาฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรามีกายกับใจ ร่างกายมันบีบคั้นอยู่ ฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เปรียบเทียบให้เห็นได้ง่าย แต่เทวดาเขาเป็นทิพย์ แล้วว่าเป็นทุกข์ๆ มันทุกข์ที่ไหนล่ะ? ก็มันสมบูรณ์ทั้งหมดมันทุกข์ตรงไหนล่ะ? มันไม่เห็นมีความทุกข์ตรงไหนเลย เทวดา อินทร์ พรหม ทุกข์ตรงไหน มันมีความอุดมสมบูรณ์ มันมีความทุกข์ไง ความทุกข์มันไม่ได้สมความปรารถนาไง ถ้ามันสมความปรารถนา นี่ไม่ต้องการสิ้นอายุขัยมันก็ต้องสิ้นไง

เวลาแสงเวลาสิ่งที่เป็นทิพย์มันเริ่มเจือจางลงเพราะหมดอาหารมันก็จะตาย พอจะตายก็มาตายจากเทวดา อินทร์ พรหม มันก็มาเกิดเป็นมนุษย์ นี่มันสมบูรณ์ไหมล่ะ? มันสมบูรณ์ที่ไหนล่ะ? แล้วใครขาดตกบกพร่องล่ะ? ขาดตกบกพร่องเพราะคุณงามความดีทำแล้วมันถึงไปเกิดเป็นแบบนั้น เวลาตกนรกอเวจี นี่มันโดนไฟนรกแผดเผาจนมอดไหม้ไปหมดเลย มันก็ขึ้นมาใหม่อยู่อย่างนั้นแหละเพราะมันเป็นเรื่องของกรรม มันไม่จบไม่สิ้น จนกว่ากรรมนั้นจะสิ้นไป นี่ผลของการเวียนว่ายตายเกิด มาฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟังเทศน์อย่างนี้ ฟังเทศน์เพื่อชำระล้างหัวใจของสัตว์โลก

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่เราก็เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน เวลาธรรมะสอนเรา เห็นไหม เราสร้างบุญกุศล เราทำบุญกุศลก็ทำเพื่ออำนาจวาสนาบารมี แต่เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาหลวงตาท่านพูดบ่อยมาก เวลาทำบุญกุศลนี่เป็นบุญกุศล มันก็เหมือนเขื่อนกั้นน้ำนั้นไว้ เวลาถึงที่สุดแล้วนะ เวลาภัยแล้ง เขื่อนสร้างไว้ไม่มีน้ำ น้ำแห้งเลย แล้วเอาน้ำนั้นจะไปทำกสิกรรม ไปทำสิ่งที่สาธารณูปโภคที่ไหนในเมื่อมันไม่มีน้ำ แต่เราทำบุญกุศลขึ้นมา เขื่อนกั้นน้ำๆ ไว้ กั้นถึงที่สุดแล้วเวลาจะสิ้นสุดแห่งทุกข์ก็ต้องภาวนาทั้งนั้นแหละ

จะทำมากทำน้อย สิ้นสุดมันก็ต้องถึงอริยสัจ สิ้นสุดการกระทำของเรา ถ้าทำของเรานี่มันเป็นขึ้นมา แล้วเราก็ทำบุญกุศลของเรา เราก็ทำของเราเพื่อเวลาภาวนาแล้วก็ให้มีบุญกุศลส่งเสริมบ้าง เวลาภาวนาขึ้นมาก็หัวหกก้นขวิด หัวตก คอตก ทำไมภาวนามันยากเข็ญขนาดนี้ ขิปปาภิญญาเขาก็สร้างของเขามาเยอะ พอสร้างของเขามาเยอะ เขาทำสิ่งใดเขาก็ประสบความสำเร็จของเขา ของเราเราก็สร้างมาพอประมาณ ถ้าไม่สร้างมาพอประมาณเราจะไม่มีสติปัญญาขนาดนี้ คำว่าสติปัญญาขนาดนี้นะมันคัดเลือก แยกแยะ รู้ถูกรู้ผิด ผิดชอบชั่วดี

คำว่าผิดชอบชั่วดี เห็นไหม สัตว์อาชาไนย สัตว์อาชาไนยมันเรื่องของมัน มันแยกแยะของมัน มันกินแต่หญ้าอ่อนๆ มันกินต้นน้ำ มันไม่กินปลายน้ำ มันไม่ไปกินสิ่งสกปรกโสโครก นั่นคือสัตว์อาชาไนย หัวใจของเราก็เหมือนกัน เลือกธรรมะของเราเราจะเลือกอะไร? นี่ถ้าเป็นเรื่องของทาน เรื่องของทานก็เป็นเรื่องพื้นฐาน ถ้าพื้นฐานคือทาน ศีล ภาวนา ทำก็ทำของเรา ใครไม่ทำล่ะ? คนไม่ทำมันก็ไม่มีพื้นฐาน มันไม่มีสิ่งที่รองรับหัวใจ ถ้ามีรองรับหัวใจ เวลาภาวนาไป เวลามีปัญหาขึ้นมานี่งงนะ แต่ถ้ามันมีอำนาจวาสนาบารมี พอเกิดสิ่งใดนะมันแยกแยะได้เลย อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ต้องพิสูจน์ อันนี้ที่มามันเป็นนิมิต นิมิตจริงหรือไม่จริง มันแยกแยะของมันไป

เพราะการรู้การเห็น เห็นจริงไหม? จริง การเห็นจริงๆ นั่นแหละ แต่ความเห็นนั้นไม่จริง ไม่จริงเพราะอะไรล่ะ? ไม่จริงเพราะมันยังสงสัยไง ไม่จริงเพราะเรายังไม่รู้สิ่งใดผิดสิ่งใดถูกไง แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้น สิ่งที่ปรากฏขึ้นเพราะอำนาจวาสนาของคน ดูสิคนที่เวลาธรรมเกิดๆ คนที่มีอำนาจวาสนา เวลาภาวนาไปธรรมมันจะตอบสนองตลอดเวลา มีความสงสัยสิ่งใดนี่ธรรมจะตอบ เราแก้ความสงสัยนี่พั่บๆๆ มันเข้าใจหมดเลย นี่ธรรมเกิด แล้วเป็นอริยสัจไหมล่ะ? เพราะธรรมเกิด เกิดจากอำนาจวาสนาบารมี แต่เวลาอริยสัจเกิด เกิดจากสติปัญญา สติปัญญาเพราะมีสติ มีการยับยั้งจิตสงบขึ้นมา

จิตมันมีปัญญา ปัญญามันบริหาร บริหารมรรค บริหารสิ่งที่ปัญญาที่มันหมุนไป ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เคลื่อนไปเป็นธรรมจักร จักร เห็นไหม มีศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญานี้เกิดจากสติ เกิดจากสมาธิ ความเป็นสมาธิคือความเป็นเอกภาพ ความเป็นสมาธิมันไม่มีสมุทัยเจือปนเข้ามา ถ้ามีสมุทัยเจือปนเข้ามามากมันก็เป็นขณิกสมาธิก็ชั่วครู่ชั่วยาม เวลาถ้าสมุทัยมันเจือจางมากขึ้นไปมันก็เป็นอุปจารสมาธิ เวลาอุปจารสมาธิถ้ามันเข้าไปสู่จิตของตัว จิตออกรับรู้ ออกรับรู้อะไร? ออกรับรู้ที่จิตมันโง่ นี่จิตที่มันเสวยอารมณ์ จิตที่มันเกาะเกี่ยวอยู่นี่พิจารณามันก็ปล่อยวางๆ

ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิ อัปปนาไม่เข้าเป็นเอกเทศเลย นี่สักแต่ว่าทำอะไรไม่ได้เลย เป็นสมาธิโดยสมบูรณ์ อยู่โดยสมาธิ มันไม่ออกเกี่ยวเนื่องไปกับปัญญา เวลาถอนออกมาจากสมาธิมันจะใช้ปัญญาของมันไป นี่ถ้าเกิดสมุทัยมันเบาบางลงมันก็เป็นสมาธิได้ เวลาเป็นสมาธิได้ สมุทัย สมุทัยมันเจือปนเข้ามา มันเจือปนเข้ามาในจิตของเรา ในกำลังของเรา นี่เราพิจารณาไปเพราะเราจะชำระล้างสมุทัย ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ แล้วละอย่างไรล่ะ? ละอย่างไร เห็นไหม

นี่ที่ว่าธรรมเกิดๆ ธรรมเกิดอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมี เวลามันเกิดขึ้นมามันเกิดขึ้นมาเป็นข้อความ เกิดขึ้นมาเป็นความตั้งใจจริง เกิดขึ้นมาแล้วมันชำระล้างความสงสัยได้ นั่นธรรมเกิดจากอำนาจวาสนาบารมี การทำบุญกุศลของเรา การสร้างบุญบารมีมา แต่เวลาชำระล้างกิเลสกันจริงๆ มันเกิดจากธรรมจักร เกิดจากมรรค ๘ เกิดจากมรรคโค มรรคโคคือการบริหารจัดการของจิต ถ้าจิตมีการบริหารจัดการของมัน จิตสงบขึ้นมาแล้วออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันแยกแยะของมัน เห็นไหม นี่รู้ดีรู้ชั่วไง

ถ้าคนภาวนาไปมันจะรู้ไง ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิเป็นอย่างไร เวลาเป็นสมาธิแล้วมีความสงบระงับอย่างไร แล้วเป็นสมาธิแล้วมันออกจากสมาธิมา กิเลสมันได้ยุบยอบไปบ้างไหม? แต่เวลาออกเป็นสมาธิแล้ว ถ้ามันยุบยอบแล้ว พอเป็นสมาธิแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา เราสติปัฏฐาน ๔ ไปที่กาย ไปที่เวทนา ไปที่จิต ที่ธรรมพิจารณาของมันไป เวลาพิจารณาไปมันสำรอก มันคายของมัน เวลาออกจากสมาธิมา ออกจากใช้ปัญญามามันรู้ของมันนะ นี่ความสะอาดบริสุทธิ์แตกต่างกัน เราซักผ้าโดยที่ไม่มีสิ่งใดเจือปน ซักด้วยน้ำเปล่าๆ เราซักผ้าไปด้วยสิ่งที่เครื่องซักฟอกทำให้มันสะอาดขึ้นมา

การซักผ้าซักไม่เหมือนกัน ซักผ้านี่องค์ประกอบมันแตกต่างกัน จิตที่เขาไปซักฟอกใจมันแตกต่างกัน ถ้าเป็นสมาธิก็คือสมาธิ ถ้าสมาธิเข้าไปสงบระงับ นี่เวลามันออกมามันก็เป็นแบบนั้น แต่ถ้ามันมีปัญญาขึ้นมา ปัญญามันเกิดมาจากไหนล่ะ? ปัญญาเกิดเอง ปัญญาก็นี่ธรรมเกิดไง ธรรมเกิดนะ ดูโลกสิ เวลาเราได้รางวัลสิ่งใดๆ มา เห็นไหม มันไม่มีเหตุมีผล เราได้รางวัลมาเพราะเขาให้มา แต่ถ้าเราทำมาเอง เราทำมาเอง บริหารจัดการขึ้นมา เราทำขึ้นมา นี่อริยสัจ ถ้าอริยสัจเราเป็นคนทำเอง เราเป็นคนทำเอง เราเป็นคนจัดการเอง เราจะมีความสงสัยไหม? เราจะมีอะไรติดข้องในใจเราไหม? เพราะเราทำของเรามาเอง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นสมาธิเราก็เป็นคนทำของเรามาเอง เวลาเสื่อมมันก็เสื่อมต่อหน้านี่แหละ แต่เวลาเราบริหารจัดการขึ้นมาจนมันมั่นคงขึ้นมา แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ปัญญาที่เราฝึกใช้บ่อยๆ ครั้งเข้า ปัญญาเริ่มต้นก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาการฝึกหัด พอมันเริ่มก้าวเดินได้ มันชำนาญได้ พอชำนาญได้ปัญญามันไปแล้ว พอปัญญามันไป พอมันใช้มากเกินไปเดี๋ยวมันก็เสื่อม พอเสื่อมมันต้องสมาธิเป็นแรงหนุน ถ้าพอมันเสื่อมขึ้นมา เพราะสมุทัยมันเข้ามาเจือปนมากเกินไปมันก็เป็นสัญญา แต่ถ้ามันมีสมาธิเป็นตัวรองรับ เวลามันใช้ปัญญาขึ้นมามันเป็นสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งที่มีสัมมาสมาธิ

ปัญญาที่เกิดจากสมาธิมันเป็นมรรค แต่เวลาสมาธิมันเสื่อมลง ฐานที่รองรับมันเบาบางลง เบาบางลงมันก็เป็นสัญญาเพราะมันเป็นความคาดหมายเป็นความจำ เพราะไม่มีตัวสมาธิรองรับ คือไม่มีกำลังของเรารองรับ นี่เวลามันเสื่อม เวลาเป็นสมาธิ เวลามันเสื่อมจากสมาธิ เสื่อมจากสมาธิเพราะรักษาไม่ดี ไม่มีสติปัญญารักษาสมาธิให้มั่นคง เวลาใช้ปัญญาๆ ปัญญานี่เสื่อมเป็นธรรมดาเลย เพราะการฝึกหัด การใช้ไปแล้วมันต้องเหนื่อยอ่อนเป็นธรรมดา เหนื่อยอ่อนเป็นธรรมดามันต้องมีสมาธิเป็นตัวหนุน มันต้องมีสมาธิเป็นที่รองรับ นี่มรรคมันถึงจะเดินไปได้ดีไง

ถ้ามรรคมันไปได้ดี ได้ดีเพราะอะไรล่ะ? เพราะความล้มลุกคลุกคลานของเราไง เพราะมันผิดพลาดขึ้นมาใช่ไหม เราปฏิบัติอยากให้มันถูกต้องขึ้นมาใช่ไหม ถ้ามันถูกต้องขึ้นมา พิจารณาไป เห็นไหม นี่มรรคญาณมันเกิดขึ้น นี่แก้กิเลสด้วยมรรค มรรคมันจะเกิด ธรรมจักร จักรมันเกิดขึ้นมา เวลาธรรมจักรๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร นั่นเป็นกิริยาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแนวทางของเรา เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มรรคโคทางอันเอก เราต้องสร้างขึ้นมา แล้วมรรคโคไปสร้างที่ไหนล่ะ?

ถนนหนทาง มรรคเราก็คิดว่าถนนหนทาง บนอากาศ การจราจรบนอากาศ วิทยุการบินเขาเป็นคนกำหนดนะ การจราจรบนอากาศมันยังชนกันเลย เครื่องบินมันยังเข้ามาใกล้กันไม่ได้เลย แล้วนี่เวลามรรคโคทางของใจ ใจมันจะก้าวเดินไป มันจะเข้าไปสิ่งที่มีค่านามธรรม การได้เกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์มีกายกับใจ มนุษย์ก็เสมอภาค เย็นร้อนอ่อนแข็งรับรู้โดยธรรมชาติ แต่คนหยาบคนละเอียด แล้วคนภาวนาขึ้นไป นี่เย็นร้อนอ่อนแข็ง สติปัญญามันมี มันจับมาพิจารณาของมัน มันชำระล้าง มันสำรอกมันคายของมันออก นี่สิ่งนี้มันเป็นมรรค เกิดขึ้นจากไหนล่ะ? เกิดขึ้นจากการเป็นมนุษย์ เกิดขึ้นจากมนุษย์พบพุทธศาสนา แล้วออกฝึกหัดค้นคว้าด้วยหัวใจของเรา

เทวดา อินทร์ พรหม มาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อย่างนี้ มรรคโคก็ทางในใจ นี่นามธรรม กิเลสเป็นนามธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เทวดา อินทร์ พรหม สำเร็จเป็นแสนๆ เลย แล้วเราล่ะ? เพราะเทวดาไม่มีร่างกายบีบคั้นนะ เขายังจับทุกข์จับยากได้ เรานี่ร่างกายบีบคั้นตลอด แล้วความคิดยังบีบคั้นเข้ามาอีก แล้วเราจะทำอย่างใด

ฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้นะ เราเกิดเป็นมนุษย์มีศักยภาพ ทรัพย์สมบัติเราก็หาของเรามา บุญกุศลเราก็หามาเพื่อเป็นผลการรองรับเวียนว่ายตายเกิด แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราเราไม่เสียดาย ไม่เสียดายไม่อาลัยอาวรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ทำลายทั้งหมดๆ ทำลายภวาสวะ ทำลายฐานที่ตั้งที่กองของบุญกุศล ของอวิชชา ของมาร ของสิ่งต่างๆ ที่มันตั้งอยู่บนภวาสวะ ตั้งอยู่บนภพ ทำลายทั้งหมดมันไม่มีที่อยู่ที่อาศัย แล้วเราปลอดโปร่ง ปลอดโปร่งจากการกระทำของเรา ปลอดโปร่งจากสติปัญญาของเรา เอวัง

>