เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ฟังธรรม ธรรมะ เห็นไหม คนรุ่นใหม่บอกว่าเราเกิดเป็นมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ทำไมต้องมีศาสนา เราเป็นผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ นี้เป็นความเห็นของปัญญาชน แต่ในพุทธศาสนาสอนว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก การเกิดเป็นมนุษย์เกิดมาพบพุทธศาสนา นี้เป็นมงคลชีวิต เป็นมงคลชีวิตเพราะพุทธศาสนาสอนถึงเรื่องพุทธะ พุทธะคืออะไร? พุทธะคือธาตุรู้ คือความรู้สึกของเรา สอนถึงธาตุรู้ ถึงความพ้นไปจากทุกข์
ฉะนั้น มนุษย์เกิดมา เห็นไหม มนุษย์เกิดมาด้วยศักยภาพของมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์ถ้าไม่มีศาสนามนุษย์เลวยิ่งกว่าสัตว์ มนุษย์มันเอารัดเอาเปรียบกัน มนุษย์ ดูสิร่างกายของมนุษย์เหมือนกับท่อนไม้ท่อนฟืนอันหนึ่ง ท่อนไม้ท่อนฟืนอันหนึ่งเวลาเขาเอามาทำฟืน เขาใช้ความอบอุ่นได้ เขาใช้ปรุงอาหารได้ เขาใช้เป็นพลังงานได้ ท่อนฟืนอันนั้น ร่างกายของมนุษย์แค่ท่อนฟืนอันหนึ่งนะ แต่ความรู้สึกของมนุษย์ จิตใจของมนุษย์เวลามันทำร้ายกันมันทำร้ายได้มหาศาลเลย แต่จิตใจของมนุษย์ถ้ามันดีงามขึ้นมา นี่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ
ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด
ถ้าประเสริฐที่สุด เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงสัจธรรม สัจธรรมนะความแปรปรวนของมัน โลกนี้เป็นโลกอนิจจัง ความคงที่ของมันคือการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงนี้เปลี่ยนแปลงไปเพื่ออะไรล่ะ? ถ้าเปลี่ยนแปลงไปนะ เปลี่ยนแปลงไปโดยคนทุกข์คนยาก เปลี่ยนแปลงไปด้วยความทุกข์ความยาก เปลี่ยนแปลงไปด้วยความอาบเหงื่อต่างน้ำ เปลี่ยนแปลงด้วยการกดดันหัวใจของสัตว์นั้นไว้ แต่ถ้าเป็นสัตว์ประเสริฐ การเปลี่ยนแปลงๆ เปลี่ยนแปลงเพื่อคุณงามความดีไง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ความเปลี่ยนแปลงการเวียนตายเวียนเกิดเป็นความทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่ความเวียนตายเวียนเกิดนี้เป็นความพอใจของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์พยายามสร้างคุณงามความดี การสร้างคุณงามความดี เห็นไหม ดูสิทศชาติ ๑๐ ชาตินั้นเป็นเตมีย์ใบ้ นี่เขาทดสอบ เขาตรวจสอบกัน ตัดหู ตัดทุกอย่าง นั่นล่ะทำเพื่ออะไรล่ะ? นี่ทำคุณงามความดีมันแสนยาก ทำคุณงามความดีแสนยากอย่างนี้ ทำคุณงามความดีแบบนี้ทำความดีอะไรล่ะ? คุณงามความดีเพื่อจิตใจของตัวไง ว่าจิตใจของตัวมันจะซื่อสัตย์กับตัวเองจริงไหม?
สร้างบารมี เห็นไหม ขันติบารมี นี่สมมุติว่าตัวเองเป็นใบ้ กษัตริย์ไม่เชื่อ นี่การสร้างบารมี บารมีเพื่ออะไร? เขาทดสอบ ก็แค่เราสัมมาสมาธิ แค่ตั้งสัจจะว่าเราจะสร้างขันติบารมีด้วยความอดทน เขาก็พิสูจน์ไง พิสูจน์ด้วยการตัดหู การตัดจมูก การตัดตัดเพื่ออะไร? เพื่อให้พูดออกมา นี่ขันติบารมี การทำคุณงามความดีแสนยาก โลกนี้เป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตาเพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้จริงเห็นจริงแล้วถึงเอาสัจธรรมอันนี้มาตีแผ่ให้เราเข้าใจ แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจ สิ่งนี้เราจะเข้าใจได้อย่างไร?
สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงนี้ถ้าเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงด้วยสัจจะ เปลี่ยนแปลงด้วยความคุณงามความดี เปลี่ยนแปลงด้วยทวนกระแส ด้วยเราทำคุณงามความดีของเรา แต่การเปลี่ยนแปลงของคนหยาบช้า การเปลี่ยนแปลงนี่ การเปลี่ยนแปลงไง แม้แต่จะเกิดสงครามโลกเขาก็หาผลประโยชน์จากสงครามนั้น จะเกิดวิกฤติขนาดไหนเขาก็หาประโยชน์ ในวิกฤตินั้นมันมีประโยชน์ทับซ้อนอยู่ ในวิกฤติขนาดไหน ถ้าคนมันต่ำทราม มันหาแต่ผลประโยชน์ มันเบียดเบียนกัน แต่ถ้าคนที่เป็นธรรมๆ นี่ขนาดร่มเย็นเป็นสุขขนาดไหนเขายังเสียสละมากขึ้นๆ เพื่อคุณประโยชน์ของเขา
นี่สิ่งใดที่เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังมันแปรปรวนตลอดเวลา สิ่งที่แปรปรวนนั้นมันแปรปรวนโดยสัจจะ แต่โดยสัจจะเวลาปัญญาชน เห็นไหม น้ำขึ้นให้รีบตัก เราต้องรีบขวนขวาย ขวนขวายเอาคุณงามความดีของเรา ขวนขวายเพื่อเอารัดเอาเปรียบ ขวนขวายเพื่อความมั่นคงของเรา แต่ในคำพังเพย น้ำขึ้นให้รีบตัก น้ำขึ้นให้รีบตักว่าอย่าดูดาย อย่าเชือนแช
คนที่เขาอยู่ปากน้ำ เวลาน้ำขึ้นมาเขาขึ้นมาน้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีสาธารณูปโภค ยังไม่มีน้ำประปา ไม่มีต่างๆ น้ำขึ้นมาก็ให้ตักซะ เพราะเดี๋ยวน้ำลงไปแล้ว น้ำมันลงไปมันมีแต่โคลนแต่เลนนั่นล่ะ เราอย่าเชือนแช อย่านอนใจ ทำสิ่งใดก็ให้ขยันหมั่นเพียร แต่เวลากิเลสมันตีความนะน้ำขึ้นให้รีบตัก ถ้ามีโอกาสกูฟันอย่างเดียว ถ้ามีโอกาสได้กูเอาอย่างเดียว ถ้าเดี๋ยวน้ำลงแล้วกูไม่ได้ น้ำขึ้นให้รีบตัก ถ้ามันเป็นศีลธรรมเป็นคุณธรรมรีบตักให้ขยันหมั่นเพียร อย่าเชือนแช อย่าดูดายกับชีวิต อย่าปล่อยให้เวลามันล่วงเลยไป
แต่ถ้ามันเป็นกิเลสนะน้ำขึ้นให้รีบตัก โอกาสมาฟันทันทีเลย แต่โอกาสมา โอกาสมาให้เราทดสอบหัวใจเราไง โอกาสมาทดสอบว่าจิตใจเรามั่นคงไหม? จิตใจเรามีคุณธรรมจริงไหม? นี่โอกาสนั้นมา เราเห็นโอกาสมาแล้ว แต่คนๆ นั้นเขาไม่มีปัญญาจะรู้เท่า เราสั่งสอนเขา เราบอกเขา สิ่งนี้มันเป็นการเสียเปรียบ สิ่งนี้มันเป็นที่เราเก็บไว้ก่อน เดี๋ยวถึงเวลาเราได้เปรียบมันจะเป็นประโยชน์กับเรา
นี่ไงพูดถึงพิสูจน์คุณธรรมไง พิสูจน์หัวใจของเราไง พิสูจน์สิ่งที่เรามาฝึกฝนกันอยู่นี่ไง ถ้าเราพิสูจน์สิ่งนี้ นี่อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เวลาสังคม นี่สังคมเกิดจากไหน? สังคมเกิดจากสัตว์มนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่ร่วมกัน อยู่คนเดียวไม่ได้ มนุษย์ต้องอาศัยกัน แต่เวลาสัตว์สังคม สังคมมันเกิดขึ้นมาสังคมมันก็เอารัดเอาเปรียบกัน ถ้าสังคมเอารัดเอาเปรียบกัน นี่อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน นี่สัตว์มนุษย์ มนุษย์เป็นสัตตะเป็นผู้ข้อง ข้องในอะไร? ข้องในความคิดของตัว ข้องในกิเลสตัณหาของตัว เราจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน ทุกข์จนเข็ญใจขนาดไหน ความคิดของคนมีทั้งนั้นแหละ แล้วความคิดของคน กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันหยาบมันบางแตกต่างกันทั้งนั้นแหละ ถ้ามันแตกต่างกัน นี่ตรงนี้อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริง ที่ว่าสิ่งที่เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ๆ สิ่งนั้นมันเป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าวางไว้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วพระพุทธเจ้าถึงวางไว้
ไอ้เราไปจำขี้ปากมา เราเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ ชาวพุทธเขาเห็นว่ามันแปรสภาพมันเป็นอย่างนั้น เราปล่อยวาง เราโล่งโถง ปล่อยวาง ปล่อยวางมันซัด มันเอาขยะไว้ใต้พรม เอาขยะไว้ใต้ในหัวใจไง แต่หน้าฉากก็ แหม มีแต่ความว่าง มีแต่ความเวิ้งว้าง มีแต่ความสุข มันสุขมาจากไหนล่ะ? อย่าโกหกตัวเอง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนมันรู้ ตนมันรู้ นี่หมามันห่มหนังเสือ
เสือเวลามันบันลือสีหนาทอยู่มันน่ากลัวนะ มันสัตว์นักล่านะ มันล่าโดยธรรมชาติของมันนะ มันหิว มันกระหาย มันล่าเหยื่อเพื่อความดำรงชีวิตมันเท่านั้นแหละ นี่มันเป็นเสือ เวลาคำรามขึ้นมามันน่ากลัว เวลาหมามันอยากเป็นเสือมันห่มหนังเสือแล้วมันก็เห่า เวลาหมามันเห่าใครไปกลัวหมาบ้าง หมามันเห่าเขาก็เอาหนังสติ๊กยิงมันก็ไปแล้ว หมามันก็คือหมาไง
นี่ก็เหมือนกัน เวลาว่าอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วกิเลสมันห่มหนังเสือ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บันลือสีหนาทนี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝึกฝนขึ้นมา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเป็นผู้ทำความสงบของใจเข้ามา ตนเป็นผู้ที่มีสมาธิ ตนเป็นผู้มีความสุขในหัวใจแล้วตนก็ใช้ปัญญาของตน เวลาธรรมจักรมันเคลื่อนไปแล้วมันชำระล้างกิเลสในหัวใจเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป
นี่บันลือสีหนาท บันลือสีหนาทเพราะความเป็นจริงอันนี้ไง ถ้าคนจะบันลือสีหนาท มันจะเอาที่ไหนบันลือล่ะถ้ามันไม่มีประสบการณ์ของมันไม่มีความจริงในหัวใจของมัน ถ้ามันไม่มีความจริงในหัวใจของมันมันทำได้อย่างไร สมาธิก็ชื่อสมาธิ สมาธิเป็นอย่างไร? แล้วปัญญาก็เป็นชื่อปัญญา แล้วปัญญามันเป็นอย่างไร? อ้าว ปัญญาก็จำนี่ไง ปัญญาก็สมองนี่ไง ปัญญาก็ความคิดนี่ไง ปัญญาก็การรื้อค้นวิจัยนี่ไง ปัญญานี่ไง ปัญญาอย่างนี้ใครๆ ก็มีนะ แล้วไอน์สไตน์มันก็ตายไปแล้ว ผู้มีปัญญาที่ว่าโลกยอมรับก็ตายไปหมดแล้ว แล้วตายไปแล้วมันได้อะไรล่ะ? มันมีอะไรเป็นประโยชน์กับมันล่ะ?
นี่คำว่าปัญญาของโลก โลกียปัญญา แต่ถ้ามันมีความจริง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไอ้หมาตัวนั้น ไอ้อวิชชา ไอ้ความเห็นแก่ตัวนั่นน่ะมันต้องมาสำรอกมาคายของมัน มันเปลี่ยนจากหมาเป็นเสือ เสือเพราะอะไร? เสือเพราะมันมีศักดิ์ศรีไง เสือ เสือเพราะมันมีคุณธรรมของมัน เห็นไหม มันเป็นนักล่ามันหวงถิ่นของมัน นี่หวงถิ่นคือที่อยู่ของมันไง ถ้าจิตมันสงบแล้วมันพิจารณาของมัน เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จะพึ่งได้ต่อเมื่อต้องมีคุณธรรมในหัวใจ จะพึ่งได้นะแล้วมันเห็นไง มันเห็นความเปลี่ยนแปลง
เวลาคนที่ประเสริฐนะ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้องค์เดียว สอนสามโลกธาตุ คนๆ เดียวนะ เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูหลวงปู่มั่นสิ เวลาเทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์ๆ ฟังเทศน์จนรับไม่ไหว ต้องส่งเทวดาไปให้กับสัทธิวิหาริกลูกศิษย์ของท่านเทศนาว่าการต่อบ้าง ช่วยกัน คนๆ เดียวเทวดา อินทร์ พรหมยังหวังพึ่ง นี่สิ่งที่หวังพึ่งๆ เพราะอะไรล่ะ? หวังพึ่งว่าจิตใจของเรานะ เวลาจิตของเราเวลาเราทุกข์เรายาก ในใจของเราเราก็รู้ของเราใช่ไหม เทวดา อินทร์ พรหม จิตใจของเขา เขาก็บีบคั้นใจของเขาเหมือนกัน
นี่ความบีบคั้นในหัวใจ ดูสิเราบริหารจัดการได้ทุกๆ อย่างเลย แม้แต่ข้าวของเงินทองไม่มีเราก็กู้ยืมเขามาใช้ได้ เวลาหิวกระหายขึ้นมาก็หาคนอื่นมาเจือจานได้ หิวกระหายก็หายืมหากู้เขามาใช้สอยได้ แต่เวลามันทุกข์มันยากจะไปกู้จากใครล่ะ? จะไปหาใครมาช่วยล่ะ? นี่มันจะไปเอามาจากไหนช่วยล่ะ? ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เวลาเทวดา อินทร์ พรหมเขาก็มีความบีบคั้นอย่างนี้เหมือนกัน พอเขาบีบคั้น คนที่บีบคั้น ดูสิเทวดาตายไหม? พรหมตายไหม? เวลาคนจะตายคอตกไหม? เวลามันบีบคั้นในหัวใจ หัวใจทุกข์ไหม? ถ้ามันทุกข์แล้วทำอย่างไร เป็นถึงเทวดาช่วยตัวเองไม่ได้ เป็นถึงเทวดาช่วยตัวเองไม่ได้ ทำอย่างไรล่ะ?
นี่ไงถึงมาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำรอกคายความเป็นสัตว์ เสือต่างๆ ออกไปจากหัวใจ สำรอกคายสิ่งที่เป็นสุนัข คายต่างๆ ออกไปจากใจ แล้วคายอย่างไร? คายอย่างไร? ถ้าคายอย่างไร ที่นี่ต่างหาก ในหัวใจเราต่างหาก ความสุขความทุกข์ในใจของเราต่างหาก สิ่งที่กระแสสังคม สิ่งที่มันแปรสภาพของมัน มันเป็นอนิจจังไม่มีอะไรคงที่หรอก ใครจะมีอำนาจวาสนาสูงส่งขนาดไหนก็เป็นวาระของเขา
นี่คนมีบุญมาเกิดนะ คนมีบุญมาเกิด ฤดูกาลต่างๆ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนจะร่มเย็นเป็นสุข สังคมจะมีความรื่นเริง สังคมจะอบอุ่น เวลาคนชั่วมาเกิดมันแห้งแล้ง มันมีแต่ภัยพิบัติ มันมีแต่ความทุกข์ความยากไปทั้งนั้นแหละ นี่ขนาดสภาวะแวดล้อมนะ เพราะอะไร? เพราะคนดีคนชั่ว คนดีคนชั่ว ถ้าคนมันดีจริง นี่เกิดมาทั้งสภาพมันแห้งแล้งก็พัฒนาจนมันดีขึ้นมาได้ จนมันมั่นคงขึ้นมาได้ ถ้ามั่นคงขึ้นมาได้ นี่วาระ เกิดร่วมกับคนมีบุญ บุญพาเกิดๆ แม้แต่เราเองเราก็มีบุญกุศลมีบาปอกุศลในหัวใจของเราเป็นแดนเกิด เกิดมาแล้วเจอผู้นำที่ดี เจอสังคมที่ดี สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา
นี่บุญพาเกิด นี่บุญทั้งนั้นแหละ ทำแล้วเราไม่ได้สิ่งใด ทำแล้ว ทำบุญแล้วไม่ได้บุญ บุญมันเป็นอะไรล่ะ? ไอ้นั่นมันบาป นี่พอทำสิ่งใดแล้วพยายามแสวงหาให้ผลตอบแทนให้ได้ดั่งใจเรา ไม่รู้จักเลยว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ อริยทรัพย์มันเกิดมาอย่างไร? แล้วสิ่งนี้มีค่า มีค่าคือความสุขความทุกข์ในใจ สิ่งที่มีค่าคือความรู้สึกอันนี้มีค่าอย่างไร? ดูสิทางร่างกาย ดูสิร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปหาหมอ เวลามันทุกข์ใจขึ้นมาก็ไปหาจิตแพทย์ แล้วเวลาจะพ้นจากทุกข์มันเอาอะไรไปพ้นล่ะ? จิตแพทย์มันพาให้พ้นทุกข์ไหม? จิตแพทย์มันก็ทำให้จิตที่มันผิดพลาดไป จิตมันเสียหายไปกลับมาเป็นปกติ เป็นปกติก็เป็นปุถุชน ปุถุชนคนหนา คนหนาคือคนพึ่งตัวเองไม่ได้
นี่รูป รส กลิ่น เสียงนะ เวลามันพัดมา ลมพัดมาตื่นเต้นไปหมดเลย นี่คำนินทาไง เวลานินทามันผ่านหูมาเดือดร้อนไปหมดเลย แต่เวลาปุถุชนคนหนา ถ้าทำให้คนบางเป็นอย่างไร? ทำให้คนบางก็ต้องมีปัญญา นี่ปัญญาแล้ว ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาโลกียปัญญา ปัญญาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาทฤษฎีมา ศึกษามาแล้วก็ซาบซึ้ง แค่ทฤษฎีก็ทึ่งแล้ว เอ๊ะ พระพุทธเจ้ารู้ได้ขนาดนี้เชียวหรือ? โอ๋ย พระพุทธเจ้าพ้นทุกข์ไปได้เชียวหรือ? เอ๊ะ พระพุทธเจ้าก็เป็นคนเหมือนกันทำไมพ้นทุกข์ได้ ไอ้เราปฏิบัติมาเกือบเป็นเกือบตายไม่เห็นได้อะไรเลย
ไม่เห็นได้อะไรก็เพราะบารมีมันอ่อนแอไง ทำก็ทำไม่จริงไง หัวใจก็โลเลไง พอทำไปก็คาดหมายไปไง นี่มันคาดหมายคาดเดาไปหมดเลย จะมีคุณธรรมขนาดนั้น ปฏิบัติแล้วยอดเยี่ยมขนาดนั้น ในโลกนี้ไม่มีใครปฏิบัติได้เข้มแข็งไปกว่าเรา ในโลกนี้ไม่มีใครปัญญาดีไปกว่าเรา ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งไปกว่าเรา ในโลกนี้ไม่มีใครสู้เราเลย มันเอาตัวมันไม่รอด แต่ถ้ามันใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ ความที่เป็นเราๆ ความที่เก่งกาจ เก่งกาจมันเป็นเก่งกาจโดยตัณหาความทะยานอยากมันล้นฝั่ง ดูสิเวลาน้ำท่วมมันล้นเขื่อน มันไหลของมันล้นของมันไป อันนี้ความเห็นของเรา ปัญญาของเรามันล้นฝั่ง มันล้นฝั่งมันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก มันทำลายมาหมดแล้วล่ะ เขากั้นไว้ไม่ให้มันทำลายสิ่งใด มันก็ท่วมไปหมด ทำลายทรัพย์สินเขาไปหมด
นี่ก็เหมือนกัน ความคิดเรามันทำลายตัวเราไปหมด แล้วมันจะไปทำลายคนอื่นเรายังไม่รู้เรื่องเลย แล้วบอกว่ามีปัญญามากๆ แต่ถ้ามีสติปัญญา เห็นไหม ความคิด นี่ความคิดเป็นการสื่อสาร การสื่อสารการต่างๆ ความคิดเป็นการสื่อสาร ถ้าเป็นความคิดที่ดี ความคิดที่ดีก็หาประโยชน์มาสื่อสาร สื่อสารเพื่อความเข้าใจต่อกัน ถ้าเรามีปัญญาเราจะสื่อสารเพื่อประโยชน์กับเขา แต่ความคิดที่มันไปกว้านเอาฟืนเอาไฟมา ทุกอย่างมันขัดใจ มันไม่พอใจ มันไม่ได้ดั่งใจ อันนี้คือตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้นแหละ แล้วเราจะคิดอย่างไรให้มันเป็นประโยชน์ล่ะ?
มีสติปัญญาตามความคิดมันก็ปล่อยความคิดขึ้นมา เพราะความคิดมันเกิดดับ ความคิดถ้ามีสติปัญญามันก็หยุดนะ ถ้าความคิดไม่มีสติปัญญามันท่วมท้นนะ ความคิดเวลามันโกรธ เห็นไหม เวลามันโกรธ เวลามันหลง เวลาคนหลงใหล เวลาเตือนมันมันยังไม่ฟังเลย มันยังไปติเตียนคนที่เตือนว่าให้โทษกับมันนะ แต่วันไหนมันได้สติขึ้นมามันจะเห็นคุณกับเขาเลย เพราะอะไร? มันขาดสติ มันขาดปัญญา แต่ถ้ามีสติปัญญามันแยกแยะของมัน มันเข้าใจของมัน มันปล่อยของมัน ปล่อยความคิด แล้วปล่อยได้อย่างไรล่ะ?
นี่จากคนหนา คนหนาสิ่งใดมามันเป็นของเรา เราคิดเองมันจะเป็นโทษได้อย่างไร? ความคิดนี่ก็ของเราทั้งนั้นแหละ ปัญญาก็เป็นของเราทั้งนั้นแหละมันจะเป็นโทษได้อย่างไร? เป็นโทษเพราะตัณหาความทะยานอยาก เพราะหมามันห่มหนังเสือ มันเป็นหมา แต่มันอ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือหนังเสือนั้นคือสีหนาท คือเสือบันลือสีหนาท อ้างธรรมอันนั้นแต่ตัวเองเป็นหมา นี่เป็นหมามันก็ไม่รู้มันก็ไม่เข้าใจ มันก็คิดเบียดเบียนตัวเองตลอดเวลาไง แต่ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมามันแยกแยะ นี่มันแยกแยะของมัน
ความคิด ความคิดนี้ก็คิดมาแล้ว ความคิดให้โทษมาแล้วมันปล่อยได้ มันปล่อยได้ นี่จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ปุถุชนคนมีสมาธิเหมือนกัน สมาธิของปุถุชน สมาธิของโลก นักวิทยาศาสตร์เขาทดลองวิทยาศาสตร์เขาต้องมีสมาธิของเขา ไอ้สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิของปุถุชน สมาธิของโลกๆ มันเป็นโลกียปัญญา เป็นเรื่องโลก เป็นโลกทัศน์ เป็นตรรกะ แค่นี้ โลกมีแค่นี้ แต่เพิ่งมาเป็นกัลยาณปุถุชน มันเท่าทันความคิดของตัวมันปล่อย มันปล่อย มันปล่อยก็แปลกแล้ว เอ๊ะ เอ๊ะความคิดเราก็ควบคุมได้เนาะ ความคิดคอนโทรลได้ ความคิดนี่ให้คิดก็ได้ ไม่ให้คิดก็ได้ นี่มันสงบมาแล้ว มันสงบ
กัลยาณปุถุชนมันเห็นโทษไง เห็นโทษของความคิด เห็นโทษของความคิดแล้วมันจับต้องได้ มันวางได้ วางได้เพราะสติเพราะปัญญา พอวางได้ๆ นี่เป็นกัลยาณปุถุชน แล้วจิตสงบขึ้นไป ทำให้มั่นคงขึ้นมามีความสุขแล้ว จิตสงบหมายความว่ามันไม่ปรากฏตัวมันเอง มันไม่ปรากฏ มันไปรับรู้สิ่งต่างๆ ธรรมดาของจิตมันเสวยอารมณ์ นี่โดยสัญชาตญาณ โดยความเป็นจริงความรู้สึกมันเป็นอย่างนี้ แต่เวลามันเป็นกัลยาณปุถุชนมันควบคุมได้ มันรู้มันเห็นของมัน มันไม่ปรากฏอารมณ์ความรู้สึก ไม่ปรากฏต่างๆ แต่มันรู้โดยตัวมันเอง
นี่สัมมาสมาธิจนความมั่นคงขึ้นมามันก็มีความสุขของมัน เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจะไปของมันแล้ว สิ่งนี้ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง แล้วพิจารณาไปมันเห็นจริงของมัน มันไม่ใช่เห็นโดยตำรา ไม่ใช่เห็นโดยการคาดหมาย ไม่ได้เห็นด้วยจินตนาการ ไม่ได้เห็นอย่างนั้นหรอก เห็นอย่างนั้นมันเห็นแบบโลกๆ คาดเดา การปฏิบัติธรรมด้นเดาธรรมได้ธรรมด้นเดา คาดเดาธรรมก็ได้ธรรมคาดเดา ถ้าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริงของธรรม แล้วปฏิบัติตามความเป็นจริงของธรรมมันเป็นอย่างไร? นี่ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริงของธรรมมันจะเห็นเป็นความจริง
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา
มันเห็นเป็นอนิจจัง เห็นเป็นทุกขัง เห็นเป็นอนัตตา พอเห็นอนัตตา นี่ไงที่ว่าสิ่งที่แปรสภาพๆ มันแปรสภาพโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว สิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด ทุกอย่างแปรสภาพหมด ดูสิคนเกิดแล้วมันต้องตายทั้งนั้นแหละ ไม่มีสิ่งใดคงที่มันแปรสภาพตลอด แต่เราก็นอนใจว่ามันยังอยู่กับเราไปก่อน ยังอยู่กับเราไปก่อน แต่พอจิตมันสงบแล้วจิตมันเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง มันพิจารณาของมัน มันเห็นในปัจจุบัน เห็นในปัจจุบันมันเห็นตามความเป็นจริง มันถึงเป็นสัจจะในหัวใจนั้น เป็นผู้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น นี่มันสำรอกความเป็นสุนัขนั้นออก สำรอกความหลงตัวเองนั้นออก
ถ้าสำรอกมันออก นี่มันบันลือสีหนาทมันจะเป็นเสือตามความเป็นจริงนะ สัจธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้แล้วปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริงของเรา มันก็เป็นธรรมวินัยของเรานี้ไว้ เห็นไหม ถ้ารู้จริงเห็นจริงแบบนี้ แล้วมันจะไปตื่นเต้นกับสิ่งข้างนอกไหม? แล้วมันไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำ ไม่โกหก ไม่หลอกลวง ไม่ฉ้อฉลกับตัวเอง นี่ไงฉ้อฉล นั่งปฏิบัติธรรม เอาไว้ก่อน มันผัดวันประกันพรุ่ง หลอกตัวเองไปวันๆ หนึ่ง หลอกตัวเองไปวันๆ ตั้งใจทำจริงแล้วก็ไม่ได้จริงสักคนหนึ่ง ปฏิบัติแล้วไม่มีใครได้ดั่งใจสักคนหนึ่ง
เราปฏิบัติตามเวลาที่เราตั้งใจไว้ ถ้ามันไม่ได้ ไม่ได้ก็ปฏิบัติไปก่อน ไม่ได้ก็เป็นตบะธรรมแผดเผามัน แผดเผาความคิด แผดเผาสิ่งที่ตัณหาความทะยานอยาก แผดเผาไอ้สิ่งที่มันเหนือหัวใจ แผดเผาไอ้ที่มันล้นใจ แผดเผามันไปเรื่อย แผดเผามันไปเรื่อย มันไม่จริงก็ให้มันรู้ไป ภาวนาไปเรื่อย นี่ตบะธรรม มีตบะธรรมทำของเราด้วยความหมั่นเพียรของเราไปมันต้องสงบได้ ถ้ามันทำของมันได้ตามความเป็นจริง
นี่สิ่งที่ว่าสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง มันแปรสภาพของมันอยู่อย่างนี้ ใครจะมีทิฐิมานะว่าตัวเองเป็นคนดี ตัวเองทำเพื่อประโยชน์ นี่สัจธรรมเป็นสุจริต คุณธรรมมันเป็นการยืนยัน ทางโลกเขาแย่งชิงความชอบธรรมกัน ดูกฎหมายสิมันตีความกันไปเรื่อย มันแย่งชิงความชอบธรรม แล้วความชอบธรรมผิดชอบชั่วดีนักปราชญ์ต้องรู้ สัจจะความผิดชอบชั่วดี คนนี่รู้ได้ แม้แต่ผิด ชอบชั่วดีกฎหมายใครๆ ก็รู้ ใครๆ ก็อ่านได้ ใครๆ ก็ตีความเข้าข้างตัวเอง แต่ถ้าเป็นสัตตะบุรุษ ที่ไหนไม่มีสัตตะบุรุษ ที่นั่นไม่ใช่สภา ที่ไหนไม่มีคนมีคุณธรรม ที่นั่นไม่ใช่สัตตะบุรุษ เราอยากเป็นสัตตะบุรุษ เราทำคุณงามความดีของเรา เราอย่าน้อยใจ สังคมเป็นแบบนี้ สังคมมันแปรสภาพของมันไป อยู่ที่ว่าคนดีมากหรือคนชั่วมาก สิ่งนี้มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น
แต่ของเรา เราต้องย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาหัวใจของเรา ให้มีจุดยืนของเรา เห็นไหม เราย้อนมาจุดยืนของเรา แล้วเราภาวนาของเรา ไม่อย่างนั้นเราจะบอกว่าพุทธศาสนาเขาสอนให้คนทำคุณงามความดีกัน เราก็เป็นชาวพุทธก็เหมือนกัน ทำไมมันมีปัญหาไปตลอดเลย ปัญหาอย่างนี้มันเป็นปัญหาว่าคนดีมากหรือคนชั่วมาก ผิดชอบชั่วดีทุกคนรู้ได้ ถ้าผิดชอบชั่วดีเรารู้ได้ ทำไมเราไหลไปสิ่งที่กระแสสังคมอย่างนั้นล่ะ?
ถ้าผิดชอบชั่วดีเรารู้ได้ แม้แต่ผิดชอบชั่วดีเรารู้ได้ ถ้าเรามาปฏิบัติมันก็ไม่หลอกตัวเอง ถ้าผิดชอบชั่วดีเราก็ตะแบง เราก็ฉ้อฉลของเราไป แล้วเราบอกเราจะปฏิบัติธรรม เราอยากจะเป็นคนที่สะอาดบริสุทธิ์ เราอยากจะเป็นคนที่มีคุณธรรม แล้วมันเป็นคุณธรรมได้ไหมล่ะ? ต้นคด ปลายมันจะตรงไหม? ต้นมันคด แต่ถ้าเราขึ้นต้นที่มันตรง เพราะต้นที่มันตรง ตรงก็มีแค่นี้เอง ตรงก็มีชุมชนเราน้อยเอง แต่ให้เราตรงของเรา เราซื่อสัตย์กับเรา เราหวังคุณธรรมของเรา เราหวังสัจธรรม เราหวังคุณงามความดีในหัวใจของเรา เราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จะทุกข์จะยากอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีของคน ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรสัจจะ สมควรตามความเป็นจริง สมควรของเนื้อแท้ของธรรมนั้น เราต้องการธรรมแบบนี้ เอวัง
ด