เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๖ มิ.ย. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะ ธรรมะเพื่อให้หัวใจปลอดโปร่งนะ คนอยู่ที่คับแคบมันจะอึดอัด คนอยู่ที่กว้างขวางมันจะปลอดโปร่ง คำว่า “คับแคบ” คือความตระหนี่ถี่เหนียวมันคับแคบของมัน ถ้ามันคับแคบของมันนะ แต่ตัวเองคิดว่าตัวเองอยู่ในที่กว้างขวาง ความคิด ความรู้สึกมันบีบคั้น แต่คนที่อยู่ที่โล่งแจ้ง อยู่ที่ปลอดโปร่ง เพราะคนนั้นเสียสละ การเสียสละของหัวใจของเราไง

การไปวัดไปวา ไปเห็นสมณะ เป็นมงคลชีวิต การมงคลชีวิต เรา อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา นี่เป็นมงคลชีวิตอย่างหนึ่ง ไม่คบคนพาล จะคบบัณฑิต เกิดในประเทศอันสมควรๆ เกิดจากพ่อแม่ที่สัมมาทิฏฐิ เกิดในประเทศที่ถือพระพุทธศาสนา ถ้าเกิดในประเทศที่นับถือลัทธิต่างๆ เราก็ต้องนับถือตามพ่อแม่ไป

แต่ถ้าเราเกิดมาจากพ่อแม่ที่มีสัมมาทิฏฐิ เลี้ยงลูกมา พยายามสอนลูกให้เป็นคนดี สอนลูกให้เป็นคนดีนะ ดีทางโลกไง แต่ในหัวใจ ถ้าเป็นความดีแล้ว ความดีที่พ้นจากทุกข์ ที่เราไปวัดไปวากัน ไปพบสมณะ ผู้เห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง มงคลชีวิตไง

ถ้ามงคลชีวิตของเรา เห็นสมณะเป็นมงคลชีวิต สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ สมณะมีหลายระดับ ถ้าสมณะ สมณะที่ ๑ เขาก็บอกให้ทำความสงบของใจให้ได้ สมณะที่ ๒ พยายามจะให้เรามีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจ สมณะที่ ๓ ให้เห็นโทษของกามคุณ ๕ ถ้าสมณะที่ ๔ เราอยู่เหนือโลก ถ้าเหนือโลก เราพ้นจากโลกไป ถ้าพ้นจากโลกไป สิ่งนี้เป็นมงคลชีวิต ถ้ามงคลชีวิต มงคลชีวิตเพื่ออะไร? เพื่อเป็นมงคลชีวิตกับเรา ถ้าไปหาสิ่งนั้น นี่เข้าไปใกล้สมณะ ได้ฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเตือนตัวเราเองไง

ฟังธรรม เห็นไหม เรามาประพฤติปฏิบัติกัน เราปฏิบัติเพื่ออะไร? เราปฏิบัติเพื่อความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบมานะ เราไปเห็นสมณะนี่เป็นมงคลชีวิต แต่เราได้สัมผัส ได้สัมผัสสติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ถ้ามีสติปัญญานะ เราจะไม่บีบคั้นตัวเอง เราจะไม่ให้ความคิดกดดันตัวเอง ถ้าความคิดกดดัน ความคิดมันคืออะไร ความคิดมันเกิดดับจากใจใช่ไหม นี่เป็นหน้าที่การงานของเรา เราคิดบริหารจัดการของเรา เรามีสติปัญญา สิ่งนี้มันให้เราขบคิด ขบคิดเพื่ออะไร? เพื่อทำประโยชน์

เพราะย้ำคิดย้ำทำๆ คิดแล้วถึงมีการกระทำ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เห็นไหม มโนกรรมคิดก่อน พอมันคิดก่อนมันเกิดวจีกรรม เกิดกายกรรม มีการกระทำขึ้นมา ถ้ากระทำสิ่งนั้น สิ่งที่ย้ำคิดย้ำทำ ถ้ามันเป็นความคิด มันเป็นปัญญา มีสติมีปัญญา ถ้ามีสติมีปัญญา สิ่งนี้มันจะไม่บีบคั้นตัวเราเอง ไม่บีบคั้นเพราะอะไร เพราะเป็นหน้าที่การงาน เราทำงานเสร็จแล้วเราก็วางไว้ ถ้าเราทำงานเสร็จแล้ว ถ้าทำไม่เสร็จเดี๋ยวค่อยมาทำต่อของเราไป

แต่ถ้าไม่มีสติปัญญา ความคิดเป็นเราๆ มันเจ็บช้ำน้ำใจ มันบีบคั้นๆ แล้วมันเป็นสิ่งใดล่ะ? มันก็เป็นความคิดเราทั้งนั้นแหละ ความคิดมันเกิดจากเรา แล้วมันก็ทำลายเรา นี่เป็นมงคลชีวิตไหมล่ะ

แต่ถ้าไปหาสมณะ ทำความสงบของใจเข้ามา เราเอาสติปัญญาตามความเป็นจริง เราไม่เอาชื่อของมัน นี่ไปร่ำไปเรียนมา ได้ชื่อมันมาแล้วก็มาฟาดมาฟันกัน คนเรามีปากคนละปาก ก็เหมือนมีขวานกันคนละเล่ม ถากเขาไปทั่ว ถากคนนู้นที ถากคนนี้ที ฉันเป็นผู้มีปัญญาไง เป็นนักปราชญ์ไง มันเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมาล่ะ

เราหุบปากซะ แล้วเรานั่งสมาธิของเรา เราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา นี่มงคลชีวิตกับเราไง

เราไปเห็นสมณะ สมณะเป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่าง เป็นผู้ที่กระทำ ทำไมเขาไม่ทุกข์ไม่ร้อนกับชีวิตของเขา ถ้าไม่ทุกข์ไม่ร้อนกับชีวิตของเขา ทำไมเขาทำของเขาได้ จิตใจของเขาทำไมมันปลอดโปร่งอย่างนั้น เขาไม่มีสิ่งใดเป็นสมบัติของเขาเลยนะ เขามีศีลมีธรรมเป็นสมบัติ เขาไม่มีข้าวของเงินทองเป็นสมบัติ เรามีข้าวของเงินทองเป็นสมบัติ เรามีทรัพย์สมบัติมหาศาลเลย แต่ทำไมจิตใจเราทุกข์ยากขนาดนี้ล่ะ ทำไมสมณะเขาไม่มีสิ่งใดเป็นสมบัติของเขาเลย มันเป็นสมบัติสาธารณะ วัดก็เป็นอาราม เป็นที่อยู่ของผู้ไม่มีบ้านไม่มีเรือน อารามเป็นที่อาศัยของผู้ที่สละบ้านสละเรือนมา เขาไม่มีสมบัติอะไรเป็นส่วนตัวเลย มันเป็นสมบัติสาธารณะ สมบัติของชาติ สมบัติของพระพุทธศาสนา แล้วทำไมหัวใจของเขาไม่ทุกข์กังวลอะไรล่ะ เห็นไหม นี่ไม่ทุกข์กังวล

คนเรามันก็กินอิ่มนอนอุ่นก็เท่านั้นแหละ ถ้ามีสติปัญญา เรามีสติปัญญาดูแลใจของเรา ถ้าดูแลใจของเรา มันปล่อยวาง เราไปเห็นสมณะเป็นมงคลชีวิต ทำไมเขาอยู่ได้ ดูสิ พระฉันมื้อเดียวทำไมมันฉันได้ แล้วพระยังอดอาหารอีก เขาอดอาหารทำไม เราหาอยู่หากิน เราเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เรากลัวจะไม่มีสิ่งใดพึ่งอาศัย ทำไมพระเขาบิณฑบาตมาแล้วเขามักน้อยสันโดษ เขาไม่ฉันของเขา เขาทำทำไมล่ะ เขาทำทำไม ไอ้เราเป็นทุกข์เป็นร้อนไป เราเป็นทุกข์เป็นร้อนเพราะความคิดของเรามันทุกข์มันร้อน

แต่ถ้าผู้ที่มีสติปัญญา เห็นไหม สิ่งนี้มันเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์มีกำลัง มันมีกำลังขึ้นมามันก็บีบคั้นหัวใจ เวลากินอิ่มนอนอุ่นขึ้นมามันจะคิดเรื่องอะไร? คิดเรื่องโลกทั้งนั้นแหละ แต่เราเสียสละ เราฉันแต่น้อย เราใช้แต่น้อย คนใช้แต่น้อย เราแต่ใช้น้อยทำไม ก็เราหามามากมายมหาศาลเราก็ต้องใช้ให้สมกับฐานะของเราสิ เราสมฐานะของเรา เรากินให้มาก ใช้ให้มากแล้วก็ไปหาหมอให้หมอรักษา

สุขภาพเกิดมาจากอะไร สุขภาพได้มาจากไหน ก็ได้มาจากเรารักษาทั้งนั้นแหละ สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพจิตมันมาจากไหนล่ะ ถ้าไม่มีสติปัญญารักษามัน แล้วก็เรียกร้องๆ เรียกร้องว่าอยากมี อยากได้ อยากเป็น...อยากมี อยากได้ อยากเป็น มันจะเป็นได้อย่างไรล่ะ อ้อนวอนขอเอาที่ไหนล่ะ

ทำดี ดีกว่าขอพร เราทำคุณงามความดีของเรา เราทำของเรา เราทำของเรา เห็นไหม คนโง่มาก คนฉลาดมาก หลวงตาบอกว่าขนโค เขาโค โคตัวหนึ่งมันมีแต่ขนเต็มตัวมัน มีเขาสองเขา

ในสังคมคนดีมันมีน้อยกว่าคนชั่ว คนที่เห็นแก่ตัวมันมหาศาล แต่เราเกิดมาเป็นสังคม เราเกิดเป็นมนุษย์ สังคมมันเกิดจากมนุษย์ เราเกิดมาเป็นคน เราก็อยู่ในสังคมนั้น แล้วขนโคกับเขาโค แล้วเราจะเป็นขนโคหรือเราจะเป็นเขาโค เราเป็นเขาโค เราทำของเรา ใครจะติฉินนินทามันปากของเขา เกิดมาทุกคนก็ถือขวานกันคนละเล่ม แล้วก็ถากกันไปๆ มันมีประโยชน์อะไร โลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่ นินทา สรรเสริญ ใครจะนินทากาเลเรื่องของเขา เราเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ

แต่ถ้าเป็นเราเป็นจริง เห็นไหม เขาโค พ่อแม่เป็นห่วงลูกห่วงหลาน พ่อแม่ก็ชักนำดูแลไป เขาโค เขาโคมันเป็นประโยชน์ คำพูดของคนที่มีสติปัญญา คำพูดของคนที่เป็นนักปราชญ์มันจะมีประโยชน์ คำพูดของขนโคมีขวานคนละเล่มก็ถากกันไปๆ มันเป็นธรรมะเก่าแก่ ติฉินนินทา ไร้สาระ เราทำจริงของเราหรือเปล่าล่ะ

เราไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งนั้น เพราะอะไร เพราะเรามีสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญา มันมีสติ มันรักษาใจของเรา มันไม่อยู่ในที่คับแคบ มันไม่อยู่ที่อึดอัด มันไม่อยู่ที่ขัดข้อง มันอยู่ที่โล่งโถง ที่มันโปร่ง ที่สบายดี ที่อากาศถ่ายเท

ถ่ายเทเพราะอะไรล่ะ มันเป็นของมันอยู่แล้ว สิ่งทุกอย่างก็มีอยู่แล้ว มันอึดอัด อึดอัดจากไหนล่ะ อึดอัดเพราะกิเลสมันบีบจมูกไง กิเลสมันบีบจมูกไว้ มันหายใจตามที่มันบอก ต้องทำอย่างนี้ ต้องไปกระแสสังคมอย่างนั้น ต้องพอใจอย่างนั้น นี่สังคม แล้วสังคมมันเป็นอะไรล่ะ สังคมมันก็เกิดจากคนโง่ๆ ทั้งนั้นแหละ เกิดมาจากมนุษย์โง่ๆ

แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธล่ะ เรามีมงคลชีวิต เราเกิดในประเทศอันสมควร เกิดมาพบพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้เป็นกษัตริย์ สละทิ้งเพื่อหาโมกขธรรม เวลาพระในสมัยพุทธกาลเป็นกษัตริย์มาบวชๆ เวลาบวชแล้วประพฤติปฏิบัติไปถึงที่สุด เห็นไหม “สุขหนอ สุขหนอ” มันมีความสุข มีความสุข มีความปลอดโปร่ง

มันมีความสุขมาจากไหนล่ะ มันอัตคัดขาดแคลนไปทั้งนั้น มันมีความสุขมาจากไหนล่ะ แล้วเป็นกษัตริย์ทำไมไม่สุขล่ะ

โอ๋ย! เป็นกษัตริย์จะไปสุขได้อย่างไรล่ะ การปกครองดูแลมันเป็นภาระรับผิดชอบไปทั้งนั้นแหละ แต่เวลาออกมาบวชแล้ว ประพฤติปฏิบัติแล้ว จิตใจมันปลอดโปร่ง มันพ้นจากโลก มันเหนือโลก มันมีความสุขของมัน นี่ความสุขหนอๆ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติปัญญา สิ่งที่เป็นสังคมโลกมันก็เป็นสังคมโลก พระเราเวลาประพฤติปฏิบัติแล้ว พระจะบิณฑบาตกับต้นไม้ไหมล่ะ พระเราก็ต้องบิณฑบาตจากคนนี่แหละ เราบอกว่าคน สังคมๆ มนุษย์มาจากสังคม สังคมมันเอาขวานคนละเล่มมาถากถางกัน

เราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง สิ่งใดที่เขามีจริตนิสัย เขามีความเชื่อมาก มีความเชื่อน้อย นั่นเรื่องของเขา เวลาเขาตกบาตรของเขามันเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ เราเป็นชาวพุทธ บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔

“มารเอย เมื่อใด ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงต่างๆ ได้เราจะนิพพาน ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถกล่าวแก้ ไม่สามารถรักษาใจของตัว”

ดูสิ เวลาเขาเป็นบริษัท ๔ อุบาสก อุบาสิกา เขาก็อยากได้บุญกุศลของเขา สิ่งที่เป็นบุญกุศลของเขานะ ความทุกข์ความยาก สิ่งที่เป็นทิฏฐิมานะบีบคั้นในหัวใจ มันเจ็บช้ำน้ำใจมากกว่านั้น การเสียสละเข้ามามันของเล็กน้อยนัก การเสียสละขึ้นมาเพื่อฝึกหัดหัวใจให้หัวใจมันปลอดโปร่ง ไม่ให้มันอยู่ที่คับแคบ มันอั้นตู้ของมันก็ให้มันเปิดกว้างของมัน เปิดกว้างด้วยอะไร? ด้วยการเสียสละ เสียสละใครเป็นคนเสีย มือเป็นคนเสียใช่ไหม? หัวใจ

ไม่คิด ไม่มีความนึกคิด มันจะเสียสละมาจากไหน ถ้ามันเสียสละนะ มันจะเปิดหัวใจมันไง มันเสียสละ ฝึกหัดไง ฝึกหัดเสียสละทาน เสียสละวัตถุมันก็เสียสละได้ ความบีบคั้นหัวใจก็สละได้ ถ้ามันสละได้มันก็ต้องมีสติปัญญาที่จะฝึกหัด จะเสียสละ ถ้าฝึกหัดเสียสละได้ เราก็ไปเห็นว่าของนี้เป็นของเล็กน้อย ที่เขาเสียสละ มือเป็นผู้เสียสละ...ไม่ใช่ คนไม่คิด มันไม่ทำหรอก คนต้องมีเจตนาความรู้สึกนึกคิดมันถึงทำ

ถ้ามันทำขึ้นมา นี่ฝึกหัด ฝึกหัดเปิดให้หัวใจมันโล่งโถง ถ้าหัวใจโล่งโถง นี่ทาน วัฒนธรรมของเขา เขาจะเข้าใจ-ไม่เข้าใจ พ่อแม่พาลูกมา “หนูเคนนะ หนูเคนนะ” ไอ้ลูกมันก็อยากจะเอากลับบ้าน มันจะเคนอะไรของผม ผมไม่ให้

“หนูเคนนู่นนะ”

ก็ต้องฝึกหัดกัน มันไม่รู้เรื่องก็ต้องฝึกหัดมัน สิ่งนี้แล้วมันจะเสียสละอย่างไรล่ะ

นี่มันประเพณีวัฒนธรรม วัฒนธรรมเพราะอะไร เพราะพ่อแม่พามันไปวัด เวลามันโตขึ้นมา มันคิดได้ เราเคยไป เมื่อก่อนไม่อยากทำ ไม่อยากทำ ของของเราทั้งนั้นแหละ แต่พ่อแม่บังคับ “หนูเคนนะ หนูเคนนะ” มันไม่เคน มันจะเอากลับบ้าน

“หนูเคนนะ เคน เคนเสียสละไป” เสียสละอย่างนั้น ฝึกหัดเป็นวัฒนธรรมของเขา พอโตขึ้นมาเขาคิดของเขาได้ เขาจะคิดของเขาได้ เห็นไหม วัฒนธรรมเราปลูกฝังกัน เราปลูกฝังในเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา เราเป็นคนโตแล้ว ข้าวปลาอาหารเราก็หาได้ ทุกอย่างเราก็พอประทังชีวิตได้ แต่ทำไมมันทุกข์อย่างนี้ล่ะ ทำไมหัวใจมันทุกข์ขนาดนี้ ถ้ามันทุกข์ขนาดนี้ มันไม่ต้องการข้าวปลาอาหารนั้น มันไม่ต้องการทรัพย์สมบัตินั้น ทรัพย์สมบัตินั้นเขาเอาไว้ประทังชีวิต ปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ เป็นเครื่องอาศัย ไม่ใช่ความจริง

ความจริงคือสัจธรรม ความจริงคือหัวใจที่มันดิ้นรนอยู่นี่ ความจริงที่มันทุกข์มันร้อนอยู่นี่ สิ่งที่เป็นวัตถุข้าวของว่าเป็นความเป็นจริง เป็นวัตถุที่จับต้องได้ มันเป็นของสมมุติขึ้นมา สังคมเขายอมรับมันถึงมีค่า แต่ไอ้ความรู้สึกนึกคิดของเรา ไอ้สุข ไอ้ทุกข์ ไอ้ความดี ความชั่ว ไอ้ความตระหนี่ถี่เหนียวในหัวใจที่มันบีบคั้นหัวใจมันเป็นความจริง มันเป็นความจริงกับเรา สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่จับต้องไม่ได้ สิ่งที่เป็นนามธรรมมันกลับเป็นความจริง ความจริงเพราะอะไร ความจริงเพราะปฏิสนธิจิตมันเวียนว่ายตายเกิด

คนเกิดมันเกิดมาจากไหน ปฏิสนธิเวียนว่ายตายเกิดมันก็เกิดมา ความรู้สึกนี้มันมาเกิด ความรู้สึกอันนี้มันมาเกิด มันเกิดมาเป็นอะไร? ก็เกิดมาเป็นเรา เกิดมาเป็นเรา เกิดมาเป็นเราเพื่ออะไร? เพื่อมาสร้างสม ดูสิ พระโพธิสัตว์เวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างคุณงามความดี สะสมมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เพื่อพระโพธิญาณ เพื่อจิตใจที่มีบารมี จิตใจที่เข้มแข็ง จิตใจที่เข้มแข็งมันแยกแยะได้

จิตใจที่เข้มแข็ง เห็นไหม ดูสิ เราพูดกับเด็กๆ “เจอคนแปลกหน้าอย่าเชื่อเขานะ คนแปลกหน้าชวนไป อย่าไปนะ” เราห่วงลูกของเราใช่ไหมว่ามันจะไปกับเขา เขาจะมาลักเด็กของเราไป “เจอคนแปลกหน้าอย่าไปกับเขานะ อย่าไปกับเขานะ” ถ้าเด็กมันฉลาดมันไม่ไป มันวิ่งหนีเลย ไม่ต้องสอนมันด้วย มันวิ่งหนีเลย อันนี้คืออะไรล่ะ? เม็ดในของเขา ปฏิสนธิจิตของเขา พันธุกรรมของเขา พันธุกรรมที่สร้างมาดีมันเข้มแข็ง มันแยกถูกแยกผิดได้ตั้งแต่เด็กๆ แต่ถ้าพันธุกรรมมันอ่อนแอ เราพยายามฟูมฟัก เราพยายามดูแลรักษา หัวใจเรายังไม่สบายใจเลย เพราะไม่รู้ว่ามันจะเอาตัวรอดหรือเอาตัวไม่รอด นี่บารมีธรรม จิตที่เวียนว่ายตายเกิด ความรู้สึกที่เป็นนามธรรมๆ

นามธรรมมันต้องการอะไรล่ะ? มันต้องการความจริง มันต้องการสัจธรรม แล้วสัจธรรม ดูสิ โลกนี้เป็นสมมุติๆ มันแปรปรวน มันไม่จริงสักอย่างหนึ่ง แล้วอะไรจริงล่ะ อะไรจริง

ธรรมะเป็นความจริง ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นความจริง ศีลคืออะไร? คือความปกติของใจ ดูสิ ธรรมชาติเป็นความจริงของมัน สิ่งปลูกสร้างนี่มนุษย์สร้างขึ้นมา นี่สมมุติ ธรรมชาติมันจะปรับตัวของมัน ดูสิ ถ้าสิ่งใดมันย่อยสลายไป ธรรมชาติมันก็จะเป็นของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นความจริงของมัน เราต้องการความจริง ต้องการความจริง ถ้าเป็นความจริงแล้วกิเลสมันต่อต้านไม่ได้ เป็นความจริงแล้วจิตใจมันปฏิเสธไม่ได้ มันปฏิเสธความจริงไม่ได้ จิตใจเวลาข้างในมันมีมาร มันเที่ยวหลอกหลอน มันเที่ยวเอาแต่ของสมมุติ เอาของที่โลกเขาสรรเสริญกัน มันไม่เอาความจริง

ความจริง พระหาความจริงอยู่นี่ไง บิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร นี่เอาความจริงไง สิ่งที่ปลูกสร้าง นกก็มีรวงมีรัง ในเมื่อเป็นวัดเป็นวาขึ้นมาก็ทำไว้เพื่อโยมนั่นแหละ ทำไว้เพื่อคนมาพักอาศัยนั่นแหละ พระมันจะมีอะไร พระจะมีอะไร

พระจะเอาความจริง พระจะเอาหัวใจจริงๆ ถ้าหัวใจจริงๆ เกิดที่นี่ เห็นไหม หัวใจมันหวังสิ่งนี้เพราะอะไร เพราะเรามีมาร มารคืออะไร? มารคือตัณหาความทะยานอยาก มันปลิ้นปล้อน เอาสิ่งใดเข้าไป มันแยกมันแยะ มันต่อรอง ดูความคิดเราสิ มันต่อรองตลอดนะ จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ จะเอาอย่างนั้น นี่มันจอมปลอม มันก็เข้ากับสิ่งจอมปลอมใช่ไหม

แต่เราพุทโธๆๆ นี่พุทธานุสติ ความจริง พุทโธๆ ถ้ามันไม่สงบให้มันรู้ไป ถ้าจิตไม่ลงให้มันรู้ไป แล้วถ้ามันเกิดปัญญาให้มันรู้ไป

ถ้ามันไม่เป็นความจริง มันทนกับความจริงไม่ได้ กิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจเรามันทนกับความจริงไม่ได้ ความจริงคือสัจจะ อริยสัจจะ ถ้ามันทนกับความจริงไม่ได้ ที่เราแสวงหากัน แสวงหาอะไร? แสวงหาความจริง แต่ในใจของเรามันมีกิเลส เราอย่าไปนึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราทำแล้วทำไม่ได้ เราทำแล้วมันทุกข์มันยาก เพราะอะไร เพราะกิเลสเรามันหนา ถ้ากิเลสเรามันเบาบาง มันสงบได้ ถ้ากิเลสมันหนา มันต่อต้าน พระเราถึงต้องอดนอนผ่อนอาหาร

เวลาจะต่อสู้กับกิเลส ดูสิ เราทำการค้า เราต้องมีปัญญาใช่ไหม เราจะต่อสู้กัน เราต้องมีปัญญาใช่ไหม แล้วนี่เราจะต่อสู้กับกิเลส เราไม่คิดว่ากิเลสเป็นเรานะ ความรู้สึกนึกคิดเป็นเราไง ไอ้ความสะดวกสบายนี่เป็นเราไง แต่นั่นน่ะคือกิเลส กิเลสมันทำให้เราเสียศูนย์ มันทำให้เราเซซวน มันทำให้การประพฤติปฏิบัติเราง่อนแง่น นั่นล่ะกิเลสทั้งนั้นน่ะ แล้วเวลาเราจะสู้ เราจะสู้ตรงนั้นน่ะ ถ้าสู้ตรงนั้นทำอย่างไร มันก็ต้องมีสัจจะใช่ไหม ตั้งสัจจะ เราจะปฏิบัติอย่างไร เราจะทำอย่างไร ตั้งสัจจะ แล้วมันก็จะมีอุปสรรคร้อยแปดพันเก้า แล้วแต่อำนาจวาสนาของคน นี่เอาความจริงอย่างนี้

มันสู้ความจริงไม่ได้ การเสียสละทานๆ มองทางโลก “พระก็พูดอย่างนั้นเพราะเป็นผู้ได้”...ได้อะไร ได้บริหารจัดการนะ ของมีมากเท่าไรขนาดไหน นี่เป็นของของสงฆ์ สิ่งที่เป็นของของสงฆ์ น้อมลาภสงฆ์มาสู่ตน มันก็เป็นของส่วนรวม มันก็เป็นของชาติ มันก็เป็นของศาสนา มันจะเป็นของใคร

ถ้าเราเชื่อมั่นพระองค์ไหน เราก็ทำบุญกุศลกับที่นั่น เพราะเราลงใจ ถ้าเราไม่ลงใจเราก็ไม่ให้ ทีนี้ผู้ที่มีอำนาจวาสนาเขาก็ทำประโยชน์สาธารณะถ้าทำได้ ถ้าทำประโยชน์สาธารณะ แล้วประโยชน์สาธารณะ เวลาว่าสาธารณะปั๊บ เวลาโดยสมมุติมันก็จัดฉากกัน

แต่ถ้าคนมีคุณธรรมเขาทำ เขาปิดทองก้นพระ ไม่ใช่ปิดทองหลังพระ เขาแอบทำ

หลวงตาท่านแอบทำเรื่องนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์ จนมาโครงการช่วยชาติท่านถึงเปิดเผย คนที่เขาเป็นความจริงเขาไม่อวดหรอก เขาทำปิดทองก้นพระ ความดีไม่ต้องอวดใคร นั่งสมาธิภาวนาจะไปอวดใคร เวลาปัญญาเกิดขึ้นจะไปบอกใคร แต่เวลาปัญญาเกิดขึ้น ระหว่างธรรมกับกิเลสมันซัดกันในหัวใจ นั่นล่ะมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นมงคลชีวิต เป็นมงคลของสัจธรรม เป็นมงคลของหัวใจเราที่เราแสวงหา เอวัง