เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อ้าว ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ธรรมะเพื่อจรรโลงหัวใจนะ ทุกคนเกิดมาปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ปรารถนาความสุข ความสุขของพ่อของแม่ในครอบครัวอบอุ่น ความสุขของลูกพ่อแม่ตามอกตามใจ พ่อแม่ส่งเสียเล่าเรียน นี่ความสุขของลูก ความสุขแบบนี้ความสุขตามธาตุขันธ์ สุขทางโลกไง ธาตุขันธ์ของเราได้กินอาหารที่เอร็ดอร่อย ได้พักได้ผ่อนที่พอใจมันมีความสุข ความสุขแบบนี้เขาก็หาได้ทั่วๆ ไปไง ใครๆ ก็หาได้ สิ่งที่หาได้นี้ยังต้องมีบุญกุศลถึงจะหาได้ เพราะบางคนเกิดมาปากกัดตีนถีบ
ในสมัยพุทธกาลนะมีพระอรหันต์องค์หนึ่งไม่เคยกินข้าวอิ่มแม้แต่มื้อเดียว ข่าวมันร่ำลือไปมหาศาลเลย จนพระสารีบุตรได้ข่าว ได้ข่าวก็ไปถามท่านว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ? จริง เหตุผลล่ะ? เหตุผล เห็นไหม เวลาบวชใหม่ไปข้างหลัง เขาจะใส่บาตรมันก็หมดซะก่อน พระเขาก็มีความเห็นใจนะ เขาบอกวันนี้ไม่ได้ให้อยู่ข้างหน้า เมื่อวานคนใส่บาตรก่อนเขาบอกใส่ข้างหน้าก่อน ข้างหลังไม่ได้ วันนั้นเขาก็เลยตั้งใจไม่ใส่ข้างหน้าไปใส่ข้างหลังอีก กรรมของคนที่ทำมาแบบนั้น พระสารีบุตรมีความสงสารมากถึงบอกว่าวันนี้ฉันให้อิ่มนะ จับบาตรไว้ จับบาตรคือบารมีของพระสารีบุตร ถ้าไม่จับบาตรไว้อาหารมันจะพร่องไปโดยธรรมชาติของมันเลย นี่จับบาตรไว้แล้วให้พระองค์นั้นฉันจนอิ่ม อิ่มมื้อเดียวนะมื้อนั้นได้ฉันข้าวอิ่ม อิ่มมื้อนั้น วันนั้นก็นิพพานเลย
นี่แม้แต่คนนะเวลาปากกัดตีนถีบ เวลามันขาดตกบกพร่อง สิ่งที่ว่ากินอาหารเอร็ดอร่อย นอนสะดวกสบายเป็นความสุขๆ บางคนก็ขาดแคลนนะ ถ้าบางคนขาดแคลน นี่ขาดแคลนเราก็พอใจของเรา คำว่าพอใจของเราคือว่าถ้ามันมีสติปัญญารักษาใจเรา เรามีอำนาจวาสนาเท่านี้ เราทำบุญมาอย่างนี้ เราจะขยันหมั่นเพียรเพราะเราได้การขาดตกบกพร่องมา เราจะเติมเต็มตั้งแต่ชาตินี้ เราจะเติมเต็มไป มันก็ไม่ทุกข์ใจไง มันไม่ทุกข์ใจเพราะเราทำมาอย่างนี้เองไง เราทำมาของเราอย่างนี้
ฉะนั้น ปรารถนาความสุข คนเราปรารถนาความสุข ความสุขอย่างนี้เป็นความสุขประจำโลก ความสุขอย่างนี้เกิดจากบุญกุศล เกิดจากกุศลที่เราทำมา เราทำของเรามา เราทำของเรามาไง ถ้าเราทำมา ดูสิพระอรหันต์เหมือนกันทำไมฉันข้าวไม่เคยอิ่มแม้แต่มื้อเดียว ทุกข์นะ คนเราไม่เคยอิ่มหนำสำราญแม้แต่มื้อเดียวเลย มันขาดตกบกพร่อง มันก็สงสัยว่า เอ๊ะ อิ่มนี่มันเป็นแบบใด เพราะไม่เคยอิ่ม เรามีแต่ความหิวกระหาย ฉันแล้วมันก็ครึ่งท้องค่อนท้อง มันไม่เคยอิ่มสักที นี่ได้บุญกุศลของพระสารีบุตร เห็นไหม พระสารีบุตรเป็นเสนาบดีแห่งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตใจมันแทงทะลุปรุโปร่ง แต่เวลาเขาถามเขาถามเพื่อปฏิสันถาร ถามเพื่อความมั่นใจเท่านั้นแหละ แต่ท่านมาอนุเคราะห์มาสงเคราะห์ไง
นี่ก็เหมือนกัน เรามีสติมีปัญญาเราสงเคราะห์ตัวเราเอง สงเคราะห์ตัวเอง เห็นไหม เราขาดตกบกพร่อง แล้วเราเสียสละไปมันก็ยิ่งขาดตกบกพร่องไปใหญ่สิ แล้วมันจะเอาสิ่งใดมามีความสุขมีความอิ่มเต็มของเราล่ะ? นี่มันก็ต้องแสวงหา รักษาไว้มันก็จะเป็นความสุขของเราไง ดูสิเขาบิณฑบาตมาขนาดไหน เวลาจะฉันมันหายไปเอง หายไปเอง นี่เวลาพระสารีบุตรใส่บาตรให้แล้วจับไว้ๆ ได้บุญกุศลของพระสารีบุตร อาหารนั้นมันจะอยู่คงที่ของมันไง
นี่ก็เหมือนกัน คำว่าเสียสละๆ ของเรา นี่เสียสละไปมันก็ขาดตกบกพร่องไป แล้วมันจะมีความสุขได้อย่างไรล่ะ? มีความสุขเพราะจิตใจเรามันดิ้นรน มันน้อยเนื้อต่ำใจ มันคิดมากของมันไป เห็นไหม แต่ถ้าเราเสียสละของเรา สิ่งที่วัตถุเราทุกข์เรายากมาเราก็เสียสละของเราได้ คนอื่นเขาก็เสียสละของเขา ดูสิครูบาอาจารย์ของเราท่านเสียสละๆ มากกว่าเราอีก หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสละชีวิตนะ หลวงปู่มั่นท่านสลบถึง ๓ หนเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลากั้นลมหายใจนะ คิดว่านี่เราจะต่อสู้กับกิเลส จะเอาชนะตนเองไง สลบถึง ๓ หน นี่สลบไปเลยนะ ๓ หน แล้วฟื้นขึ้นมาเอาอีก หลวงปู่มั่นท่านก็บอกท่านสลบถึง ๓ หนเพราะท่านเล่าให้หลวงตาฟัง แต่ไม่ใช่คราวเดียวกัน เวลาท่านนั่งท่านป่วยของท่าน แล้วนั่งๆ ไปมันวูบสลบไปเลย รู้สึกตัวขึ้นมานอนอยู่ รีบลุกขึ้นมานั่งต่อ
นี่สิ่งที่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเสียสละ ท่านเสียสละแม้แต่ชีวิตของท่าน ท่านยังเสียสละของท่านได้เลย เสียสละเพื่อจะเอาชนะใจของตนเองไง แต่เราแพ้มาตลอด เราแพ้มาตลอดแล้วกิเลสมันครอบงำอยู่มันก็น้อยเนื้อต่ำใจ ทำไมคนนั้นเขาเป็นแบบนั้น คนนี้เขาเป็นแบบนี้ แต่คนทั่วโลกเขามองดูนะ บอกว่าไอ้คนที่ขาดตกบกพร่องเขาดีเนาะ เขามักน้อย เขาสันโดษ เขาอยู่ของเขาได้ เขายังอิจฉาเรา เพราะเขาหาของเขามาเขามีแต่ความทุกข์ เขาหาของเขามาเขามีภาระรับผิดชอบ ไอ้ของเรานี่ทุกข์จนเข็ญใจเราก็มีอยู่มีกินของเราเท่านี้ เขาเห็นว่า เออ คนๆ นี้เขาประหยัดมัธยัสถ์นะ คนๆ นี้เขามีความสุข เขากลับอิจฉาเรา
นี่คือเรื่องของความนึกคิด เรื่องของน้ำใจไง มันไม่ใช่เรื่องของวัตถุ แต่ของเรานี่เราอยากเป็นอย่างนั้น เราอยากเป็นแบบเขา เขาอยากเป็นแบบเรา มันอยากกันไปหมดเลย แต่การเสียสละทาน การทำบุญกุศล เห็นไหม นี่สร้างสมบุญญาธิการไปมันจะเกิดอำนาจวาสนาบารมี เวลาขาดตกบกพร่องมันมีคนเห็นใจ มีคนเกื้อกูล อันนี้มันเป็นสัจจะเป็นความจริงเลย แต่ถ้าเรามีสัจจะความจริงแล้ว นี่มันเป็นสุขเป็นทุกข์ประจำโลก ทุกคนเกิดมาปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ แต่ความสุขอย่างนี้มันเป็นอนิจจัง สุขเวทนา ทุกขเวทนา มันเกิดๆ ดับๆ อยู่ในหัวใจเรานี้
ถ้าเราจะเอาความจริงของเรา เห็นไหม เราตั้งใจเรา เราตั้งใจเรานะ ทำบุญกุศลแล้วก็บุญกุศลแล้ว ทุกอย่างก็สมบูรณ์อยู่แล้วล่ะ พอสมบูรณ์แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ถ้าสมบูรณ์แล้วเราพยายามตั้งสติ เรามีคำบริกรรมของเราแล้ว รักษาใจของเรา เด็ก เด็กถ้าพ่อแม่สั่งสอนมา พ่อแม่ดูแลมา หนูอย่างนี้ผิดนะ อย่างนี้ไม่ควรทำนะ ควรทำอย่างนี้นะ จริงอย่างนี้จริงๆ หรือ? นี่เด็กมันก็ยังไม่เชื่อใช่ไหม?
นี่ก็เหมือนกัน ใจของเรามันเร่ร่อน ใจของเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ บอกให้ทำความสงบของใจ ทำสมาธิ แล้วทำไปทำไม ฉันก็เป็นคนดีอยู่แล้ว สุขสบายอยู่แล้ว สุขสบายมันได้มาตามอัตภาพ อัตภาพของบุญกุศลมันได้มาตามอัตภาพ แต่เราจะขวนขวายทำให้มันยิ่งขึ้นไปกว่านี้ไง ความดีที่ยิ่งไปกว่านี้ยังมีอยู่ เราต้องแสวงหาสิ่งใด เราต้องขวนขวายเราถึงจะมีความสุขของเรา เราจะมีความมั่นคงในชีวิตของเรา ครูบาอาจารย์ของเรานะท่านอยู่ในป่าในเขา ท่านนั่งสมาธิ ภาวนาท่านหาความมั่นคงในใจของท่าน
ถ้าความมั่นคงในใจของท่านนะ ถ้าจิตมันสงบเข้ามาได้มันมีความสุข มีความสุขมันมีการกระทำไง อย่างเช่น เรานี่เราทุกข์เรายากใครเป็นคนทุกข์คนยากล่ะ? แล้วบอกคนทุกข์คนยาก ถามตัวเองว่าใครทุกข์ใครยากล่ะ? แล้วบอกว่าทุกข์ว่ายาก ถามตัวเองว่าใครทุกข์ใครยากล่ะ? อ้าว ร่างกายมันทุกข์มันยากหรือ? นี่ทรัพย์สมบัติมันทุกข์มันยากหรือ? ญาติพี่น้องมันทุกข์มันยากหรือ? ไม่มีใครทุกข์ยากเลย มีใจเราทุกข์ยากอยู่คนเดียว ใจเรานี่ทุกข์ยากอยู่คนเดียว
นี่ก็เหมือนกัน เวลานั่งสมาธิไปอารมณ์มันทุกข์ยากหรือ? นี่เราแสวงหา เราแสวงหามรรค ผล นิพพาน ความแสวงหามันเป็นตัณหาความทะยานอยากหรือเปล่า มันทำให้เราทุกข์ยากหรือเปล่า มันไม่ใช่ทั้งนั้นแหละ พอจิตมันสงบเข้ามามันปล่อยความคิดเข้ามา เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราแสวงหาทรัพย์สมบัติขึ้นมา เราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นของเราๆ มันเป็นของเราโดยสิทธิ์ แต่เราใช้จ่ายไปมันก็เป็นของคนอื่นต่อไป นี่เราแสวงหาสิ่งนี้ไว้ เวลาเราสิ้นชีวิตไปเป็นของใครล่ะ? มันก็เป็นมรดกตกทอดไป
จิตเหมือนกัน เวลาทำบุญกุศล บุญกุศลที่เราปรารถนาบุญ ทุกคนปรารถนาความสุขๆ ถ้าเราทำสิ่งใดสมความปรารถนา เห็นไหม บุญกุศลมันตกอยู่กับใจ มันตกผลึกๆ ตกผลึกที่ใจ มันเป็นทิพย์ๆ ทิพย์สมบัติ ทิพย์สมบัติที่ไหนล่ะ? เวลาเทวดา อินทร์ พรหมนะเขากินวิญญาณาหาร วิญญาณาหาร อาหารเขาก็เป็นวิญญาณาหารคืออารมณ์ความรู้สึกของเขา นี่แล้วบอกว่าความรู้สึกเราก็นึกเอาสิ คนไม่เคยเห็นภาพนั้นนึกภาพนั้นออกไหม? คนไม่เคยทำมันจะนึกได้ไหม? มันไม่ได้หรอก
นี่เขากินวิญญาณาหาร แต่เรากินกวฬิงการาหาร อาหารเป็นคำข้าว เราก็หาทรัพย์สมบัตินั้นมา ทรัพย์สมบัติเพื่อเป็นของเรา แต่เวลาเทวดา อินทร์ พรหมของเขา เขาก็นี่เป็นทิพย์สมบัติของเขา ทิพย์สมบัติของเขา นี่เวลาทำบุญกุศลมันตกลงที่นี่ อำนาจวาสนาบารมีมันเกิดที่นี่ มันกระทำไง มันมีเจตนา มันมีการกระทำ มันถึงรู้ของมัน ถ้ามันรู้ของมัน นี่ความรับรู้อันนี้มันซับลงที่ใจๆ ซับลงที่ใจ คนทำบุญใหม่ๆ ทำบุญแล้วมีความสุขมาก มีความแช่มชื่นมาก พอทำไปๆ นี่มันชักจืดชืด จืดชืดเพราะมันคุ้นชิน แล้วคุ้นชินมันก็ต้องพัฒนาขึ้น
นี่ทาน ทำบุญร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับเกิดสมาธิขึ้นหนหนึ่ง ขนาดนั้นเชียวหรือ? นี่ทำบุญร้อยหนพันหน พันหน เราถือศีลบริสุทธิ์ เรามีศีลสะอาดบริสุทธิ์บุญกุศลมากกว่าทำทานตั้งพันหน แล้วศีลบริสุทธิ์ถ้ามันเกิดสมาธิขึ้นมา ถ้าเกิดทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบเข้ามา โอ้โฮ มันเท่ากับถือศีลถึงพันหนเชียวหรือ? นี่ความดีที่ดีขึ้น เราก็ยังไม่เคยได้สัมผัสไง แต่ถ้าเรามีความมุมานะ มีการกระทำของเรา เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ความสงบจริงๆ นะ เวลาสงบแล้วมันเวิ้งว้าง มันเบานะ นี่เวลาทำสมาธิได้นะ ออกจากสมาธิไป เวลาเราก้าวเดินไปมันเหมือนลอยไป
ดูสิคนเรามันเคลื่อนไปด้วยการลอยไม่ใช่การก้าวเดิน มันเป็นไปได้อย่างไรล่ะ? แต่ในเมื่อวัตถุธาตุ ร่างกายมันก็เดินของมันไปนี่แหละ แต่ความรู้สึกมันเบา มันไปตลอด มันเวิ้งว้างไปหมดเลย นี่ความสุขอย่างนี้มันเกิดจากไหนล่ะ? ไปหาซื้อไม่มี ไม่มีธุรกิจบริการไหนเขาจะบริการเราได้ จะมีเงินมากมายขนาดไหนก็หาคนบริการอย่างนี้ไม่ได้ สิ่งที่บริการอย่างนี้ได้เกิดจากสติ เกิดจากคำบริกรรมของเรา เราเองต่างหากที่จะสามารถขวนขวายหาคุณงามความดีให้เรา มาทำบุญกุศล เห็นไหม เห็นสมณะเป็นมงคลของชีวิต เห็นครูบาอาจารย์ สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ เขามีความสงบระงับในใจของเขา
ถ้าเห็นก็เป็นมงคลชีวิต นี่ได้เห็นสมณะ ทำบุญกุศลได้เห็นสมณะเป็นมงคลของชีวิต เวลาเราทำบริกรรมของเราจิตมันสงบเข้าไป เห็นไหม เราได้สัมผัส เราได้สัมผัส เราได้ความเข้าใจ สิ่งที่มีค่า สิ่งมีค่าเวลาครูบาอาจารย์ท่านไปเทศนาว่าการที่ไหนท่านบอกไปเอาน้ำใจคน ไปเอาน้ำใจคน หัวใจของคนนี่สำคัญมาก หัวใจของคน คนนะหัวใจนี่ เวลามันดีนะ เวลามันมีสติปัญญามันคิดแต่เรื่องดีๆ จิตใจที่เป็นสาธารณะมันช่วยประโยชน์กับสังคมโลกมหาศาลเลย จิตใจที่มันเห็นแก่ตัวนะ เวลามันคิดเอาเปรียบนะ มันเอาเปรียบคนอื่นไปหมดเลย มันจะไปฉ้อฉลเอาทรัพย์สมบัติของคนอื่นเป็นของตัวเองให้หมดเลย แล้วพอเอาเป็นของตัวแล้ว ถ้าไม่พอใจแล้วมันถึงกับทำลายชีวิตตัวเองก็ยังได้เลย
นี่เวลามันร้ายมันร้ายสุดๆ เลย มันทำลายสังคมทำลายโลกมาหมดเลย แล้วมันก็ทำลายหัวใจของตัวเอง แต่จิตใจของคนที่ดี มันคิดดีๆ มันสร้างประโยชน์มหาศาล นี้จิตใจที่ดี จิตใจที่ร้ายเกิดพญามาร มารมันครอบงำแล้วมันขับไสก็ให้เป็นธาตุของมัน ทำของมันไป เวลาจิตใจที่มันคิดดีๆ เป็นธรรม สัจธรรมๆ สัจจะเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมวินัยไว้ให้เราศึกษา ให้เราค้นคว้า ให้เราประพฤติปฏิบัติ มันเป็นแนวทางที่เราจะกระทำ ระหว่างกิเลสกับธรรมมันอยู่ในหัวใจของเรา
หัวใจของเรามันมีกิเลสโดยพื้นฐาน เพราะอวิชชามันทำให้เรามืดบอด เพราะตาเราบอดเราถึงได้มาเกิดกันอยู่นี้ ถ้าตาเราสว่างไสวเราจะอยู่บนสวรรค์ บนอินทร์ บนพรหมไหม? เราอยากจะมาทุกข์มายากอย่างนี้ไหม? แล้วถ้ามันอยู่บนเทวดา บนอินทร์ บนพรหมมันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร? เพราะอายุขัยมันก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเป็นผลของวัฏฏะไง นี่เพราะตามันบอดไงมันถึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ไง เพราะสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาสวักขยญาณถอนความอวิชชา ถอนความไม่รู้ในใจอันนั้นออกไปแล้ว หูตามันสว่างแล้วมันจะไม่เคลื่อนไหวไปไหน มันจะมีความสุข
ความสุขยิ่งกว่าพรหม เพราะพรหมนี่ผัสสาหารเขาอยู่ของเขา เขาหมดอายุขัยของเขา แต่สิ่งที่ชำระล้างอวิชชา ความบอดของใจ มันทำลายอันนั้นไปหมดแล้ว มันอยู่ของมันด้วยความสุขของมัน เห็นไหม ถ้าความสุขอย่างนี้ที่มันอยู่ขึ้นมา มันอยู่ขึ้นมาเพราะอะไรล่ะ? เพราะมีสติ เพราะมีปัญญา ค้นคว้า ค้นคว้าจากความมืดบอดนี่แหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนพระอรหันต์ พระอรหันต์เขามีหูตาสว่างแล้วต้องไปสอนเขาทำไม? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอนพวกหูตาบอดอย่างพวกเรานี่
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็รู้ได้ด้วยปัญญาของมนุษย์ ด้วยวิทยาศาสตร์ว่าเราเป็นมนุษย์ มนุษย์นี่ทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์กันแล้วเกิดจากพ่อจากแม่ เวลาตายไปแล้วก็ไปถึงป่าช้า แล้วก็จบกันไปไง แต่ธรรมบอกไม่จบ ไม่จบเพราะอะไร? เพราะพันธุกรรมของจิต พันธุกรรมของจิต การเวียนว่ายตายเกิดเป็นการตัดแต่งพันธุกรรม การเวียนว่ายตายเกิด ทำบุญกุศลมันตัดแต่งหัวใจ คนที่เสียสละมันพยายามตัดแต่งหัวใจของมัน พันธุกรรมของมันได้พัฒนาของมัน มันพัฒนาของมันแล้ว
ดูสิเวลาเขาตัดแต่งพันธุกรรมแล้วเขาก็ต้องทดลองปลูกใช่ไหมว่าตัดแต่งแล้ว ตัดแต่งพันธุกรรมแล้ว ปลูกแล้ว พิจารณามัน นี่พยายามผสมพันธุ์ ข้ามพันธุ์ให้มันดีขึ้นมา จิตใจเวลาเกิดภพชาติหนึ่งภพชาติหนึ่งก็ได้มาทดลองปลูกชาติหนึ่ง ชาติหนึ่งเป็นคนดีขึ้นมา เป็นคนเลวลงไป นี่พันธุกรรมของมันจะแตกต่างของมันไป มันจะตัดแต่งที่ไหน ตัดแต่งก็ด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ยามันอยู่ตามตู้ยา เห็นตู้ยาอยู่ในบ้านไม่เคยเปิดใช้ ไม่เคยดูแล ไม่เคยเอายามากินเลย
ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎกมันก็อยู่ในตู้ ก็ใส่กุญแจไว้ เอาไว้เช็ดเอาไว้ถู เอาไว้กราบเอาไว้ไหว้ไง ไม่ได้เปิดมาศึกษาเลย พอศึกษามามันก็ตำรายามันก็ตัดแต่งพันธุกรรม เพราะมันมียามาตัดแต่งหัวใจ หัวใจมันตัดแต่งแต่ละภพแต่ละชาติมันก็ตัดแต่งของมันไป พัฒนาของมันไป พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ตัดแต่งขึ้นมาจนเป็นพระโพธิสัตว์ วาสนาเต็มขึ้นมาแล้ว เวลาเกิดขึ้นมาเป็นชาติสุดท้ายแล้วเจ้าชายสิทธัตถะก็ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะมีอำนาจวาสนาบารมี
เราเป็นสาวก สาวกะ เราเกิดมานี่ เกิดมาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครแสดงธรรมก็แล้วแต่ ในพุทธกาลนี้มันก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเองโดยชอบ แล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้ เราไปศึกษาเราก็ไปจำมา เราก็ไปก็อปปี้มา แล้วเราก็มาพูดกันต่อๆ ไป เห็นไหม เราก็ไม่ได้ทำ ฉลากยาๆ ทั้งนั้นแหละ ถ้าเราเปิดตู้ยา ตู้ยาเราเปิดมาเราก็ได้ดื่มยา นี่เราเปิดหัวใจไง หัวใจเรามันพอใจ หัวใจมันจะทำ หัวใจมันเสียสละทานขึ้นมา หัวใจมันมีหลักมีเกณฑ์ หัวใจมันก็จะประพฤติปฏิบัติ มันมีสติปัญญามันก็บังคับใจได้ บังคับให้จิตมันพุทโธ พุทโธ พุทโธบังคับให้มันทำ
นี่บอระเพ็ดมันขม แต่มันเป็นยา สิ่งหอมหวานกินแล้วมันเกิดโรคภัยไข้เจ็บ พุทโธ พุทโธมันไม่ยอมเอา หัวใจมันไม่เอาหรอกพุทโธนี่ มันเบื่อ แต่ถ้าคิดเรื่องความรัก ความชอบ ความชัง โอ้โฮ มันชอบๆๆ แต่พุทโธ พุทโธมันไม่เอา แล้วมันไม่เอามันก็ไม่ทำ พุทโธ พุทโธคือพุทธะ พุทธะคือพุทธศาสดา พุทโธคือผู้รู้ ผู้รู้คือหัวใจ คือสัจธรรม คือธาตุรู้ คือตัวเรานี่แหละ แต่ตัวเรามันไม่เอา มันไม่เอาตัวมัน มันจะเอาแต่ความคิดไง มันเอาแต่สิ่งล่อไง เอาแต่พญามารมาล่อไง แต่เวลาพุทธะมันไม่เอา
ถ้ามันเอาพุทโธ พุทโธจนกว่ามันสงบระงับเข้ามา มันสงบระงับเข้ามาเพราะมันไปไม่ได้ มันบริกรรมพุทโธ พุทโธครอบงำไว้มันเป็นรั้วกั้นจิตไม่ให้แส่ออกไป ไม่ให้ส่งออก มันพัฒนาขึ้นมา แล้วพัฒนาขึ้นมา นี่หัวใจของเราไง หัวใจของเรา หัวใจของสัตว์โลก นี่เรามีคุณค่าที่นี่ ถ้าเราแสวงหาที่นี่ เราจะได้ประโยชน์ที่นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเอาน้ำใจคน เอาน้ำใจนะ เห็นไหม ดูสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เราไปวัดไปวาก็ต้องมีสิ่งปลูกสร้างที่มันมหัศจรรย์ขึ้นมา เป็นอเมซิ่งเลยว่าสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่หัวใจของคนมันจะเป็นอเมซิ่งมากกว่า ถ้าใจมันทำของมันได้ แล้วรู้จำเพาะตน รู้ที่ใจของเรา ไม่ต้องให้ใครมาหลอก
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใคร ให้เชื่อสัจจะ ให้เชื่อความจริง ให้เชื่อการกระทำที่มันจะเป็นกลางหัวใจของเรา เห็นไหม เขาไปอินเดียกัน ไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ไประลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เป็นๆ องค์จริงๆ กลางหัวใจ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันก็เกิดมาจากทาน เกิดมาจากศีล เกิดมาจากภาวนา เกิดมาจากการกระทำของเรา เราแสวงหาเอง เรากระทำเอง เราจะเปิดตู้ยา เราจะเปิดหัวใจไม่ให้หัวใจมันมืดบอด
หน้าที่ทางโลกเราก็ทำของเราไป ทำของเราไป เพราะเราเกิดมามีชีวิต เห็นไหม วัว ควายมันต้องอยู่ต้องกินของมัน เขาเอามาไถนามันก็ต้องทำงานไปด้วยกินไปด้วย เราก็เหมือนกัน ในเมื่อเกิดมามีปากมีท้องก็ต้องรักษาชีวิตนี้ไว้ แล้วรักษาชีวิตนี้ไว้ จะใช้จ่ายไปให้กิเลสมันใช้หรือจะให้ธรรมะมันใช้ หรือให้สติปัญญา นี่เราค้นคว้า เราค้นคว้า ใครจะถากใครจะถาง ใครจะว่าเราโง่ ใครจะว่าเราเซ่อ อันนั้นมันปากของคน แต่ของเรา เราทำแล้วเราได้ประโยชน์ เรารู้ของเราเอง ปากของเขา เขาจะว่าเราโง่เราเซ่อขนาดไหนมันก็เรื่องของเขา เราต่างหากมันรู้เอง เราทำจริง เรารู้จริงของเรา นี่หัวใจของเราจริงๆ เราเป็นเจ้าของหัวใจของเราแล้ว ให้ใครมาเหยียบย่ำ ให้ใครมาเหยียดหยาม
ใจของเราก็คือใจของเรา เรามีความเชื่อมั่นขนาดไหนเราก็ทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ หัวใจของเราแท้ๆ ไม่ต้องไปไว้ที่คนอื่น ไว้ที่กลางหัวอกนี่แหละ แล้วรักษาเอาด้วยสติ ด้วยปัญญา เอวัง
<