อ้าว ฟังธรรมะ ธรรมะนี้อยู่ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติจะค้นคว้ามาได้ ค้นคว้ามาจากกลางหัวใจ เวลาอาศัยการค้นคว้าก็เข้าป่าเข้าเขาไปเพื่อหาความสงบของใจ ถ้าใจมันค้นคว้าได้นะมันเห็นความเป็นจริง เห็นใจ เห็นทั้งการเวียนว่ายตายเกิด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ นี่มันมาจากไหน? เราสงสัยกันชีวิตนี้มาจากไหนไง
อดีตชาติ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จิตนี้มันเวียนว่ายตายเกิดมาไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วถ้าไม่มีที่สิ้นสุด จุตูปปาตญาณมันจะไปข้างหน้า แล้วถ้ามันชำระล้างกิเลสได้ อาสวักขยญาณ เห็นไหม ถ้ามันชำระล้างกิเลสได้ ถ้ายังชำระล้างกิเลสไม่ได้ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไปไม่มีวันจบวันสิ้น มันไม่จบไม่สิ้นก็ยังสงสัย แล้วถ้ามันสงสัยนะ เวลาจุตูปปาตญาณ อนาคตถ้ามันเวียนว่ายตายเกิดมันก็ยังไป มันก็ยังไม่จบ อาสวักขยญาณมันชำระล้างอวิชชามันถึงเข้าใจไง เข้าใจว่า อ้อ ตัวนี้ที่มันมาจากบุพเพนิวาสานุสติญาณ มาจากอดีต แล้วถ้ามันไม่จบสิ้นมันจะไปอนาคต
นี่ที่เป็นฌานสมาบัติ สิ่งที่เป็นอภิญญาที่รู้ได้ แต่อาสวักขยญาณมันชำระล้างกิเลสออกไปในหัวใจมันถึง อ้อ อวิชชาตัวไม่รู้นี่เอง เพราะมันรู้แจ้งแล้วมันก็ไม่ไปไหน ไม่รู้แจ้งมันก็จบ ถ้ารู้แจ้งมันจบ พอมันจบแล้ว นี่สิ่งนี้ที่ว่าขุดค้น พยายามฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้ไง ฟังธรรมเพราะทุกคนก็มีสิทธิเสรีภาพ ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้ ทุกคนก็มีหัวใจ ทุกคนก็มีพุทธะ ทุกคนก็มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสถิตอยู่กลางหัวใจทุกๆ คน แต่เวลาเราตะครุบเงากันไง เวลาเราค้นคว้านี่ค้นคว้าต้องที่นั่นๆ
ต้องที่นั่นก็ต้องแบบฝึกหัด มันเป็นแบบฝึกหัดที่เราจะเปรียบเทียบขึ้นมาในใจ เห็นไหม เราดูเด็กๆ สิ เด็กๆ นี่มันไร้เดียงสา มันทำอะไรมันอยากรู้อยากเห็น มันไม่รู้นะมันไร้เดียงสา เพราะมันไร้เดียงสา ดูมันเลียนแบบผู้ใหญ่ ดูมันน่ารักเนาะ เด็กๆ มันทำอะไรมันอยากทำ พ่อแม่ก็ดีใจตบไม้ตบมือให้ นี่ถ้ามันไม่รู้มันก็อยากทำให้รู้ แต่พอมันโตขึ้นมามันรู้แล้ว พอมันรู้แล้วมันกลับไม่รู้ นี่รู้ผิดชอบชั่วดี เด็กๆ นะเวลาไปโรงเรียน ครูเขาสอนห้ามดูดบุหรี่ ห้ามเล่นการพนัน ห้ามกินเหล้าเมายา นี่มันไม่ดีทั้งนั้นแหละ มันไม่ดีทั้งนั้นแหละ เขารู้ทั้งนั้นแหละ
เด็กๆ มันจะถามเลย ไม่ดีแล้วดูดทำไม? เออ มันถามพ่อแม่มันนะไม่ดีแล้วดูดบุหรี่ทำไม? อ้าว ไม่ดีกินเหล้าทำไม พ่อกินเหล้าทำไมก็มันไม่ดี กินทำไม? มันรู้นะ แต่พอโตขึ้นมามันก็กิน โตขึ้นมาก็เล่นการพนัน เวลาที่มันไร้เดียงสา มันไม่รู้มันอยากรู้ของมัน เห็นไหม แต่เวลาโตขึ้นมาแล้วมันมีกิเลส มีอวิชชา มีตัณหาความทะยานอยากขับหัวใจขึ้นไป มันจะเอาของมัน มันจะทำของมันให้ได้ตามประโยชน์ของมัน นี่เวลาอวิชชา ความไม่รู้ๆ ไม่รู้ตอนเป็นเด็กมันก็ไร้เดียงสา
เด็กๆ นะพ่อแม่ไม่ดูไม่แล นี่มันก็ตาย พ่อแม่ดูพ่อแม่แล พ่อแม่ถ้าไม่ดูไม่แลก็ฝากคนอื่นเขาเลี้ยง ฝากคนอื่นเขาดูแล นี่ด้วยความรักความผูกพัน นี่สายบุญสายกรรม นี่สายบุญสายกรรม ด้วยความรัก ด้วยสัญชาตญาณของมนุษย์ สัญชาตญาณของสัตว์มันก็รักลูกเป็นธรรมดา มันรัก มันผูกพัน ความรักความผูกพันนั้นทำให้เราต้องแสวงหาเพื่อความสุขของเรา เพื่อความพอใจของเรา ถ้าเราไม่ทำของเรามันก็เหมือนเราไม่รับผิดชอบตามหน้าที่ของเรา
นี่ความผูกพันอันนั้น เห็นไหม แต่เวลาโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่เราต้องผูกพันตัวเราเอง เราต้องดูแลตัวเราเอง ดูแลตัวเอง มีการศึกษา มีหน้าที่การงานขึ้นมาแล้ว ทำไมไม่มีสติปัญญา? ตอนเด็กๆ ก็รู้ ดูดบุหรี่ก็ไม่ดี กินเหล้าก็ไม่ดี เล่นการพนันก็ไม่ดี อะไรไม่ดีทั้งนั้นแหละ ไอ้สิ่งไม่ดีๆ ทำหมดเลย แล้วที่ดีๆ ล่ะ? ดีๆ ศึกษามา ดีๆ เราทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีมันจืดชืด มันไม่เห็นมีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเราเลย มันเป็น มันเป็นประโยชน์กับจิต มันเป็นประโยชน์กับเจตนา เจตนาอันบริสุทธิ์ เจตนาที่ดี
กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดแตกต่างกัน
เจตนา เห็นไหม เจตนาการกระทำ นี่มันทำให้จิตมันได้รับผลของมัน ถ้ารับผลของมัน ทำดีก็ต้องได้ดี ทำชั่วก็ต้องได้ชั่ว แล้วความดีของโลก ความดีของวัตถุ ความดี ทำบุญกุศลขนกันมา ขนกันมาเป็นภูเขาเลากา บริหารจัดการเลย แต่เรานั่งสมาธิ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันสงบ นี่เวลามันสงบมันเวิ้งว้าง มันยิ่งกว่าภูเขาเลากา แล้วมันไม่เบียดเบียนใครเลย แล้วมันเป็นคุณงามความดี ความดีที่ละเอียดขึ้นไปไง ความดีของเรา ความดีของเรา เราแสวงหาได้ หน้าที่การงานก็ทำ คนเขาแข่งขันกันที่นั่น
หน้าที่การงาน สมบัติทางโลกเขาต้องมีจำนวนของเขา เขาต้องมีการนับจำนวนของเขา แต่คุณงามความดี ถ้าเป็นสมาธิมันจำนวนของใครล่ะ? แล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมา ภาวนามยปัญญาที่เกิดขึ้นจากใจล่ะ? ถ้ามันเกิดขึ้นมาจากใจมันทำได้ของมัน มันรู้ตามความเป็นจริงของมัน นี่ฟังธรรมๆ ฟังที่นี่ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ฟ้าดินถล่มนะ เวลาเจ้าคุณอุบาลีท่านพูด ท่านมั่นเทศน์แต่เรื่องใกล้ๆ ตัวเรานี่แหละ ก็เรื่องของเรา เทศน์แต่เรื่องของเรา เราเหยียบย่ำกันอยู่นี่ก็เรื่องชีวิตประจำวัน ก็เรื่องหายใจเข้าและหายใจออก ไอ้เรื่องเจ็บปวดขบเมื่อยในตัวเรานี่แหละ ไอ้เรื่องความเครียดในใจเรานี่แหละ มันก็เรื่องของเราทั้งนั้น ทำไมต้องให้พระบอก ทำไมต้องให้คนบอก
นี่ถ้าเด็กไร้เดียงสามันก็รู้นะ มันรู้ของมัน แต่โตขึ้นมานี่ศึกษาด้วย ศึกษาพระไตรปิฎก ศึกษาเข้าใจหมดเลย ศึกษาพระไตรปิฎกทำไมมันทำไม่ได้ล่ะ? ปริยัติ ปริยัติต้องปฏิบัติ ปริยัตินี่การศึกษา นี่เป็นปูนหมายป้ายทาง คือเป็นเครื่องดำเนิน ทฤษฎี ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา นี่เราไปเฝ้าศาสดา เดี๋ยวนี้เขาจะไปอินเดียกัน ไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ คนเขาไปเขาก็ได้ประโยชน์ของเขานะ ไปแล้วเขาจะได้ตอกย้ำว่าฉันเป็นชาวพุทธนะ ฉันมีที่พึ่งนะ ฉันมีสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ไปย้ำตัวเองไงว่าเป็นชาวพุทธ
แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติแล้ว เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส อยู่ที่ไหนจะอยู่ถึงฟากตะวันตก อยู่ที่ไกลแสนไกล ปฏิบัติตามเรา เหมือนจับชายจีวรของเรา นี่คนที่เขาอยู่ที่นั่น เขาอยู่ที่นั่นเขานับถือศาสนาอื่น เขาอยู่ที่นั่นเลยนะ คนที่อยู่ใกล้ชิดเรา ไม่ปฏิบัติตามเรา เหมือนอยู่ห่างไกลมาก ห่างไกลมาก แล้วตอนนี้เราจะอยู่ไกลขนาดไหน แต่เราประพฤติปฏิบัติตามธรรมและวินัย เห็นไหม เหมือนจับชายจีวรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เลย
นี่ไงเราจะเอาจริงๆ เราจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ เราจะพุทโธของเราจริงๆ เราจะต้องไปอินเดียไหม? อินเดียเขาไปแต่คนที่เลื่อนลอย คนที่ไม่มีความเป็นจริงในใจ ไม่มีความเชื่อมั่นตัวเอง ต้องไปหาสิ่งต่างๆ ให้ตอกย้ำตัวเองว่าฉันเป็นอะไรๆ ก็ฉันเป็นชาวพุทธไง ชาวพุทธก็หาศาสดาของเราเพื่อความอบอุ่นของใจ แต่ถ้าเราเป็นจริงของเราล่ะ? เราเป็นจริงของเรา เห็นไหม หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ
นี่สิทธิเสรีภาพ พุทธะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่กลางหัวใจ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ใครทำความสงบของใจเข้ามา มันสงบได้มันก็มีความรู้ได้ มันก็มีความสุขได้ ความสุขความสงบ คุณงามความดีอันละเอียดไง เราไม่ต้องไปหาจากวัตถุภายนอก นี่หาจากวัตถุภายนอก ถ้าคนมีอำนาจวาสนาบารมี ทำสิ่งใดแล้วจิตใจเขาเป็นธรรมนะ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ นี่ทรัพย์สมบัติอยู่ที่คนที่ใจเป็นสาธารณะเขาจะเป็นประโยชน์ เกื้อกูลกับสังคม แต่ถ้ามันไปอยู่กับคนตระหนี่ถี่เหนียวมันไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย มันก็เป็นแร่ธาตุที่จะตกอยู่กลางโลกนี้ไป มันเป็นสมบัติสาธารณะไง
คุณงามความดีเท่านั้น บาปและบุญเท่านั้นติดหัวใจนี้ไป แล้วถ้าเราพุทโธ พุทโธ จิตมันสงบเข้าไป มันเป็นสมาธิขึ้นมา สมาธิหนหนึ่ง เวลาจะตายคิดถึงจิตที่ตั้งมั่น จิตที่เป็นสมาธิ ถ้าเราทำใจให้เกาะเกี่ยวอารมณ์นี้ไว้มันเกิดบนพรหม เพราะมันขันธ์เดียวไง สัมมาสมาธิ ถ้ามันตั้งมั่นหนึ่งเดียวนั่นล่ะพรหม แต่ถ้าเป็นเทวดาล่ะ? เทวดาก็ทำบุญกุศลกันอยู่นี้เกิดเป็นเทวดา แล้วเวลาทำบุญกุศลแล้วเกิดความเศร้าหมอง เกิดเป็นอะไร? มันก็เกิดเป็นเปรตไง นี่สุคโตๆ ถ้าปัจจุบันมันดี มันไปดีของมัน ถ้าปัจจุบันนี้เราเอาปัจจุบันนี้ให้ดี
ปัจจุบัน เห็นไหม ถ้าวันนี้ดี พรุ่งนี้ก็ดี เราห่วงอนาคตว่าเราจะเป็นอย่างไร ถ้าห่วงว่าเป็นอย่างไร เอาปัจจุบันนี้เรากำหนด ถ้าทำสมาธิได้จิตมันก็สงบเข้ามา ถ้าทำสมาธิได้มันเกิดปัญญานะ นี่การเคลื่อนไหว การดำรงชีวิตของเราประจำวันนี่แหละ แต่จิตใจมันมีคุณธรรม มันมีความสุข คำว่ามีความสุขนะ ความสุขอยู่ที่ไหน? ความสุขอยู่ที่ความพอใจไง มันพอใจกับชีวิตนี้นะ มันพอใจกับความเป็นอยู่ของเราไง แล้วก็มองไปสิ มองไปสังคมที่เห็นเขาดิ้นรนกัน มันสังเวชไง มันเกิดธรรมสังเวช ทำไมพวกนี้เขาเอาแต่ของที่ไม่เป็นของเขา ทำไมเขาไปหาสิ่งที่ว่าไม่เป็นสมบัติของเขา แล้วสมบัติของเขา เขามองข้าม เขาไม่หา เขาไม่เอา จิตใจของเรานี่เป็นของเรา จิตใจของเราเป็นของเรา ถ้าพูดอย่างนี้ไปมันก็เถียงกันทั้งวันไม่มีวันจบ
นี่พูดถึงถ้าคนฟังธรรมๆ ครูบาอาจารย์ที่มีหลักมีเกณฑ์ท่านจะเห็นว่าน้ำใจของคน ใจของคนสำคัญที่สุด แต่ถ้าสังคมโลก สังคมที่จิตใจเขาหยาบช้า จิตใจเขาหยาบ จิตใจเขามองได้แต่วัตถุไง เขามองได้แต่สิ่งนั้น แล้วมองวัตถุเอามาทำไมล่ะ? เอามาเผาลนใช่ไหม? เอามาแล้วมีแต่ความทุกข์ความยาก เราเป็นขี้ข้ามันไง นี่สร้างบ้านซะใหญ่โตเชียว เวลานอนก็นอนตรงนั้นแหละ สร้างบ้านไว้แล้วก็จ้างเขามารักษา สร้างบ้านไว้แล้ว นี่มันเป็นอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าของเราล่ะ? ของเรานี่บ้านเราจะเล็กจะใหญ่โตขนาดไหนเรามีความสุขของเราไง เราบำรุงรักษา เราเก็บเราดูแลของเรา ถึงเวลาเราก็ภาวนาของเรา นี่ถ้ามีปัญญา จิตสงบแล้วถ้ามีปัญญามันอิ่มเต็ม ถ้าใจมันไม่พร่อง ถ้าใจมันไม่พร่องนะมันไม่เดือดร้อน
หลวงตาท่านสอนประจำ "ไม่ติดเรา" คือจิตใจเราไม่พร่อง จิตใจเราไม่มีความวิตกกังวล เราทำสิ่งใดด้วยความองอาจกล้าหาญ ทำสิ่งใดด้วยความเป็นสุข จิตใจมันบกมันพร่อง จิตใจมันพร่องนะ นี่เขย่ามันก็ดัง แล้วมันไม่มีวันอิ่มเต็ม ทำอะไรไปห่วงกลัวเขา กลัวนั่นจะเป็นอย่างนี้ กลัวนี้จะเป็นอย่างนั้น กลัวคนนี้จะเป็นอย่างนั้น กลัวเขาไปหมดกลัวเขาว่าไง เพราะอะไร? เพราะมันติดตัวมันเอง แต่ถ้าจิตใจมันอิ่มเต็ม จิตใจมันเต็มนะ ใครมันจะรู้ดีกับหัวใจของเรา ใครมันจะรู้ดีกับการกระทำของเรา เราเป็นคนกระทำเอง เราต้องมีสติปัญญา เขาว่าต้องมีสติปัญญาเราจะคัดแยก เราจะคัดเลือก
แม้แต่อาหาร อาหารที่เป็นพิษ ลองกินเข้าไปสิมันก็เป็นโทษ ถ้าอาหารมันไม่เป็นพิษล่ะ? แม้แต่อาหาร แม้แต่การกินการอยู่ แม้แต่อาหารไม่เป็นพิษ กินมากเกินไปมันก็ต้องไปเข้าฟิตเนสกัน ไปลดความอ้วน กินเข้าไปแล้วก็ไปลด แต่ถ้าดูพระเรา ฉันเพื่อดำรงชีวิต ฉันแค่มื้อเดียว นี่แล้วว่าพระ คนกินมื้อเดียวอยู่ได้อย่างไร? คนกินมื้อเดียวอยู่ได้อย่างไร เวลาภาวนามันยังสัปหงกโงกง่วง เขายังผ่อนอาหาร ฉันแต่พอดำรงชีวิต ถ้ามันยังโงกง่วง อดอาหาร อดอาหารมันจะได้ผลไง มันจะได้ผลต่อการภาวนา
คนเรานะถ้าภาวนาแล้วถ้าเห็นผลขึ้นมามันทำได้ คนเราถ้าภาวนาแล้วไม่เห็นผล มันทุกข์ มันยากไปหมดแหละ เห็นไหม ความทุกข์ความยาก คนทำหน้าที่การงานเขาต้องมีความเพียรของเขา เขายังต้องมีสติปัญญาของเขาเพื่อประสบความสำเร็จของเขา เราจะภาวนา แล้วภาวนาแล้ว ดูสิกิเลสมันมีชีวิต กิเลสมีชีวิตมันอยู่กับธาตุรู้ มันอยู่กับภวาสวะ เราจะเคลื่อนไหว จะทำอะไรกิเลสถ้ามันไม่กระเทือนมันนอนเฉย มันนอนอยู่ใต้พรมในหัวใจของเรา มันอยู่ใต้จิตใต้สำนึก อยู่อย่างนี้ ถ้าเรายังอยู่ในอำนาจของมันมันเย็นเฉย แต่ถ้าวันไหนเราเอาจริงเอาจังขึ้นมาจะสะเทือนมัน นี่ผลประโยชน์มันขัดแย้งแล้ว เพราะธรรมะมันจะเข้าสู่หัวใจของเรามันต่อต้านแล้ว
ปฏิบัติแล้วก็ยาก ทำนู่นก็ยาก ทำนี่ก็ยาก เวลากิเลสมันฟื้นมา ทำความเพียร ความเพียรที่เคยทำได้ ความเพียรที่เรามีความสุขใจ เรามีความพอใจกับชีวิตเรามันบอกเลย เราเป็นคนไร้ค่า สังคมเขาไม่ยอมรับ สังคมไหนไม่ยอมรับ สังคมไหนมันจะสูงกว่าธรรม สังคมไหน โลกธรรม ๘ มันมีลาภเสื่อมลาภ สังคมไหน? ถ้าหัวใจมันมั่นคงขึ้นมา หัวใจเรา ดูสิหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์นี่สังคมไหน? สังคมไหนมีเทวดามาอวยพรบ้าง สังคมไหนมีคนมาเชิดชูบ้าง แต่ครูบาอาจารย์ของเราอยู่ในป่าในเขา ทำไมเทวดา อินทร์ พรหมมาเชิดชู มาฟังธรรม สังคมไหน?
นี่เราตื่นเต้นไปเองไง กลัวคนนู้นไม่ยอมรับ กลัวคนนี้ไม่ยอมรับ กลัวๆ ไปหมดเลยไง เพราะกลัวไปหมดมันถึงได้ทุกข์ยากไง แต่ถ้าเรามีสติปัญญา ถ้าเราทำความสงบของใจขึ้นมาได้ อันนั้นมันสุขโดยตัวของมันเองเลย สุขโดยข้อเท็จจริงเลย แต่ถ้ามีสติปัญญาเราก็ไล่ต้อนไง เราไล่ต้อนความคิด เราไล่ต้อนไม่ให้กิเลสมันยุมันแหย่ ไม่ให้มันยุมันแหย่ในตัวของเรา เราพิจารณาของเรา แยกแยะของเรา ถ้าเรามีปัญญาอย่างนี้มันรักษาหัวใจ นี่ถ้าคนประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้รักษาหัวใจได้ เพราะว่าสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง มันมีความเจริญ มันมีความอับเฉา มันเป็นเรื่องปกติ
ถ้าเรื่องปกติ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เรารักษาเหตุของเรา เราดูแลของเรา แม้แต่ชีวิตของเรา เราเติมน้ำมันของเรา เราดูแลไฟของเรามันจะลุกโชติช่วงตลอดไป ความคิด ปัญญาของเราที่มันสว่างไสว ที่มันลุกโชติช่วง ถ้าเรามีสติปัญญาดูแลรักษาไป ชีวิตของเรามันจะไม่อับเฉา ชีวิตของเราจะไม่ให้กิเลสมันครอบงำ แล้วเวลากิเลสมันครอบงำจะไปหาใครล่ะ? อยู่บ้านนี่นั่งคอตกเชียว เศร้าอยู่นั่นล่ะคนเดียว แล้วใครจะมาช่วยล่ะ? นี่ไงพุทธะอยู่ที่กลางหัวอกไง ปัญญาของเรา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รักษาที่นี่ ดูแลที่นี่ รักษาใจของเราที่นี่ แล้วมันจะพัฒนาขึ้นไป
พอพัฒนาขึ้นไป เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ของเราพัฒนาขึ้นไปแล้ว อยู่ในป่าในเขา เดินจงกรมนั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืนนะ ๗ วัน ๗ คืน เป็นเดือนเป็นปีเพราะอะไร? เพราะต้องการจะเอาๆ มันจะได้มรรคได้ผลของมัน มันจะเอาให้ได้ จะพ้นจากทุกข์ จะไม่เวียนว่ายตายเกิด จะไม่มาอีกแล้ว จะไม่มาอีกแล้ว แต่ของเราไม่รู้ไง มาอย่างไรก็ไม่รู้ อยู่อย่างนี้ก็ยังหาเงินหาทองอยู่ แล้วไปข้างหน้าก็ยังไม่รู้จะไปไหน นี่เราทำคุณงามความดีของเรา ปัจจัยเครื่องอาศัย มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย
ชีวิตนี้ กวฬิงการาหาร อาหาร ๔ ในวัฏฏะ กวฬิงการาหาร อาหารของมนุษย์ วิญญาณาหาร อาหารของเทวดา ผัสสาหาร อาหารของพรหม มโนสัญเจตนาหาร เป็นการสมานวัฏฏะทั้งหมด มโนสัญเจตนาหาร นี่อาหารที่ว่าเกิดภพใดชาติใดก็ต้องมีอาหาร มีเครื่องอยู่อาศัย มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เทวดายังต้องมีอาหารของเขา พรหมก็มีอาหารของเขา นี่เวลาพรหมเขากินอย่างไร? เขาอยู่อย่างไร? เทวดาเขากินอย่างไร? เขาอยู่อย่างไร? มนุษย์กินอย่างไร อยู่อย่างไร?
เพราะมนุษย์ต้องกินต้องอยู่ มนุษย์ต้องแสวงหาไง แต่ถ้าเป็นเทวดาก็เป็นทิพย์ เขาเกิดจากบุญของเขา พรหมก็เกิดจากบุญของเขา บุญที่เราทำกันอยู่นี้ นี่เวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ มามาจากไหน? ไปไปอย่างไร? ฟังธรรมๆ เตือนตัวเราเองไง ตอนนี้เรามีศักยภาพ เราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีหู มีตา ตานี่ตาเนื้อเราก็ดูโลกนี้ แต่ถ้าพุทโธ พุทโธจนตาในมันเปิดนะ มันเห็นมรรคเห็นผล เห็นการดำเนิน มันจะรู้ทางไปของมัน กายก็ไปทางหนึ่ง จิตก็ไปทางหนึ่ง กายมันก็ต้องทิ้งไว้ในโลกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เห็นไหม พระอานนท์วิตกวิจารณ์มากว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ศพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำอย่างไร
อานนท์ เธออย่าเดือดร้อนไปเลย มันเป็นหน้าที่ของกษัตริย์ หน้าที่ของลูกศิษย์ของเราเขามีอยู่
แล้วถ้าเกิดถ้าเขาถามว่าจะทำอย่างไรล่ะ?
อ๋อ ถ้าอย่างนั้นเขาจะถามก็บอกว่าให้ทำเหมือนศพจักรพรรดิ พันด้วยผ้าขาว ๗ ชั้น ราดด้วยน้ำมัน ด้วยสำลีแล้วพัน พันแล้วเอาไว้รางเหล็ก เผาอย่างไร ต้องทิ้งไว้ที่นี่นะร่างกายนี้ แต่จิตใจๆๆ จิตใจจะเศร้าหมอง จิตใจจะผ่องใส จิตใจจะมีคุณสมบัติ จิตใจจะมีคุณงามความดี บุญกุศลอยู่ที่นี่ ทำที่นี่เป็นสมบัติของเรา เอวัง