เทศน์บนศาลา

ผู้มีราตรีเดียว

๒๖ ก.ค. ๒๕๕๗

 

ผู้มีราตรีเดียว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะเป็นที่พึ่งนะ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” เราก็แสวงหากันอยู่นี่ไง เราอยากมีที่พึ่ง อยากมีที่พึ่งที่ความเป็นจริง เราไม่ต้องการที่พึ่งที่เราไว้ใจไม่ได้

แม้แต่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เรามีอำนาจวาสนา มีอำนาจวาสนาขนาดไหน แม้แต่ชีวิตของเรา เรายังไว้ใจไม่ได้เลย หายใจเข้าออก หายใจเข้าไม่ออก หายใจออกไม่เข้าก็ตาย แม้แต่ชีวิตของเรา เรายังไว้ใจไม่ได้เลย เกิด รู้วันเกิด แต่วันตายไม่มีใครรู้หรอก วันตาย จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราพึ่งไม่ได้ เราจะหาสิ่งที่พึ่ง “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” แล้วธรรมมันอยู่ไหนล่ะ

สิ่งที่เราศึกษากัน ศึกษากันด้วยทิฏฐิมานะนะ “ธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งนี้เป็นธรรม”

สิ่งที่เป็นธรรมๆ มันเป็นธรรมอย่างนั้นจริงๆ แต่มันเป็นธรรมต่อเมื่อใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์แล้ว มันถึงมองสิ่งใดแล้วเป็นธรรม แต่ในเมื่อจิตใจของคนมีกิเลส มันจะเอาธรรมะมาจากไหนล่ะ กิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้นน่ะ เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ

มันเป็นธรรมทางทฤษฎีไง ถ้าทางทฤษฎี ใช่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกธรรมะเป็นธรรมชาติ สิ่งที่เป็นธรรมชาติ มันมีของมันอยู่ แต่มันเป็นทางทฤษฎี มันไม่เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา ถ้าเรามีธรรมจริง “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด ธรรมเลอเลิศ ธรรมประเสริฐ ประเสริฐที่ไหน ประเสริฐเพราะมันไม่เวียนว่ายตายเกิดไง แต่การที่ไม่เวียนว่ายตายเกิด สิ่งที่การไม่เวียนว่ายตายเกิดมันมหัศจรรย์ขนาดไหน แต่เวลาสิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันบีบคั้นใจ ใครๆ ก็รู้ได้ ใครๆ ก็รู้ สิ่งที่เรารู้อยู่นี่ เรารู้ว่ากิเลสมันครอบงำหัวใจของเรา แต่เวลาที่มันมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด แล้วมันไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดมันเป็นอย่างไรล่ะ มันเป็นอย่างไร ถ้ามันเป็นอย่างไร เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รื้อค้นอย่างนี้ การรื้อค้นอย่างนี้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมานะ

เวลารื้อค้นขึ้นมา เห็นไหม “เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา” เป็นผู้ที่มีราตรีเดียว เป็นผู้มีราตรีเดียว เวลาเผยแผ่ธรรมๆ ไป ได้ปัญจวัคคีย์ ได้ยสะขึ้นมา เวลาเทศนาว่าการจนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดนะ เป็นผู้ที่มีราตรีเดียวเหมือนกัน “เธอจงอย่าไปซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก เธอจงอย่าไปซ้อนทางกัน เวลาเธอ ๖๐ องค์ทั้งเรา พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์”

บ่วงที่เป็นโลก เราโดนบ่วงทางโลกรัดคอกันอยู่นี่ เราเกิดมากับโลก เราเป็นมนุษย์แล้วก็ปากกัดตีนถีบเพื่อความมั่นคงของชีวิต แล้วกิเลสตัณหาความทะยานอยากก็ครอบงำ ครอบงำอยู่อย่างนี้ นี่บ่วงที่เป็นโลก แล้วบ่วงที่เป็นทิพย์ล่ะ ดูสิ บ่วงที่เป็นทิพย์ คนจะทำคุณงามความดีขนาดไหน คนจะสร้างบุญญาธิการ ดูสิ ที่เขามีความเชื่อถือกันๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหม

นี่เขาบูชาไฟ ชฎิล ๓ พี่น้อง ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ไปทรมาน เขาบูชาไฟนะ เขามีฤทธิ์มีเดชนะ ดูสิ ในโรงไฟของเขา เขามีพญานาค เขามีฤทธิ์ขนาดที่เอาพญานาคไว้ในโรงไฟของเขาได้ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปพักกับเขา เขาไม่ให้พัก ไม่ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพักเพราะกลัวว่ามาแล้วจะมีชื่อเสียงมากกว่า ก็กีดกันไม่ให้พัก แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นถึงอำนาจวาสนา ไม่ใช่ต้องการมีชื่อเสียง ไม่ต้องการไปเอาลาภสักการะของใคร

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นจากบ่วงที่เป็นโลก บ่วงที่เป็นโลกก็ลาภสักการะ บ่วงที่เป็นทิพย์ สิ่งที่เป็นคุณงามความดีต่างๆ แต่นี่เขาบูชาไฟของเขา นี่บ่วงที่เป็นทิพย์ พูดถึงถ้าเขาตายไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ไปทรมาน แล้วเขาไปไหนล่ะ

นี่บ่วงที่เป็นทิพย์ เขาก็เกิด เกิดเป็นทิพย์ของเขา เพราะเขาทำบุญของเขา เขามีกสิณของเขา เขาเพ่งของเขา เขามีฌานของเขา เขาไปไหนล่ะ เห็นไหม บ่วงที่เป็นทิพย์ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปสอนนะ จะไปทรมานชฏิล ๓ พี่น้อง เขาไม่ให้พัก เขาว่าเขาเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ แต่ตระหนี่ถี่เหนียว กลัวคนอื่นเขาจะมาชิงลาภสักการะของตัว ไม่ให้พักๆ

แต่ด้วยปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าสมณะ สมณะคือผู้ที่ละแล้วซึ่งทางโลก แล้วไม่ให้สมณะด้วยกันพึ่งพาอาศัย มันจะเป็นสมณะไหม” มันจนด้วยเหตุผลไง สมณะไม่ให้สมณะพัก เป็นสมณะได้อย่างไร สมณะก็ต้องให้สมณะพึ่งพาอาศัยสิ สมณะต้องให้พักสิ ก็ต้องให้พัก ให้พัก ถึงให้ไปอยู่ที่โรงไฟไง

ตอนเช้าขึ้นมาก็คิดว่าพญานาคต้องทรมาน ต้องเสียชีวิตไปแล้ว อ้าว! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ “เออ! สมณะนี้มีความสามารถมาก แต่ไม่มีความสามารถเท่าเรา จะทำอย่างไร สมณะนี้มีความสามารถมาก แต่ไม่มีความสามารถเท่าเรา” เห็นไหม ติดบ่วง ติดบ่วง

จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องพูดตรงๆ เลยล่ะ “เธอไม่ใช่พระอรหันต์หรอก เธอไม่ใช่พระอรหันต์”

คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนมีฌานโลกีย์ จนมีความรู้ต่างๆ ก็ถือตัวถือตนเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดาเลย เรื่องของกิเลสชัดๆ แล้วก็ถือตัวถือตนว่าตัวเองมีความรู้มาก แล้วตัวเองก็คิดว่าความคิดของเราจะไม่มีใครจะมากล้ำกรายได้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทงเข้าไป “เธอไม่ใช่พระอรหันต์หรอก”

นี่ยอมรับนะ พอยอมรับถึงยอมละทิฏฐิ แล้วมาศึกษากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาบูชาไฟ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศนาว่าการนะ โทสะเป็นของร้อน โมหะเป็นของร้อน ตาเป็นของร้อน รูปเป็นของร้อน ไฟมันเป็นของร้อน ตบะธรรม มันเผา มันแผดเผา ความร้อน ได้ใช้ปัญญา พอใช้ปัญญา ปัญญาแยกแยะไป แยกแยะตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป ถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์หมดเลย พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์ เป็นผู้ที่มีราตรีเดียว ราตรีเดียว เห็นไหม

เพราะธรรมชาติมันก็หมุนของมันไปไง ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติก็วัฏฏะไง ธรรมชาติก็หมุนเวียนไปตามธรรมชาติไง ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ แต่ผู้ที่มีราตรีเดียว จิตใจเขามีราตรีเดียว หนึ่ง ไม่มีสอง มันเป็นธรรมชาติตรงไหนล่ะ มันแปรสภาพที่ไหนล่ะ

ผู้ที่มีราตรีเดียวพ้นจากทุกข์ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด แล้วไม่มีเวียนว่ายตายเกิดแล้วมันอยู่อย่างไรล่ะ อยู่ของเขาอย่างไร ผู้มีราตรีเดียวเขาอยู่ของเขาอย่างไร เขามีของเขาอย่างไร เขารู้ของเขาอย่างไร เขามีราตรีเดียว แล้วเราเองเราก็ประพฤติปฏิบัติ เราอยากมีธรรมเป็นที่พึ่ง เราถึงจะประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา ถ้าความจริงของเราจริงนะ เรามีราตรีเดียวจริงหรือเปล่าล่ะ เรามีกี่ราตรีล่ะ

เราเวียนว่ายตายเกิด ภพชาติมันยาวไกลนัก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนบุพเพนิวาสานุสติญาณ จิตที่เวียนว่ายตายเกิดไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วถ้าไปข้างหน้า จุตูปปาตญาณ มันจะหมุนเวียนของมันไปถ้ามันยังมีอวิชชา มีความไม่รู้บังตาของมันนะ เพราะความไม่รู้บังตา ถึงว่าตัวเองมีความรู้มีความสามารถ

ความรู้ความสามารถของเรา ความรู้ความสามารถสิ่งใด ถ้าความรู้ความสามารถของเรา เราต้องมีสติ เราต้องทำสมาธิได้ เราต้องทำความสงบของใจได้ เราต้องมีภาวนามยปัญญาถ้ามีความสามารถจริง ไอ้นี่มันไม่มีความสามารถจริง มันถือทิฏฐิมานะตามแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันบีบคั้น แล้วมันผลักไสไป ก็ถือตัวถือตนว่าตัวเองมีความรู้มาก ถือตัวถือตนว่าตัวเองฉลาดมาก...ฉลาดของกิเลสทั้งนั้นน่ะ ถ้ายังทำความสงบของใจของเราไม่ได้ แล้วถ้าทำความสงบของใจจะทำอย่างไร

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาทำฌานโลกีย์กัน ทำฌานสมาบัติกัน ทำต่างๆ เขาก็เกิดปัญญาขึ้นมาไม่ได้ เพราะเขาไม่มีปัญญาของเขา แล้วเวลาทำเข้าไปแล้ว จิตมันสงบเข้าไปแล้วมันเป็นราตรีเดียวไหมล่ะ

เวลาจิตสงบเข้ามามันปล่อยวางหมดมันก็เป็นหนึ่ง เป็นหนึ่งเป็นราตรีไหม เป็นหนึ่ง เห็นไหม เป็นหนึ่งมันเข้าไปพัก เวลามันคลายออกมา ถ้ามันเข้าไป ถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐิมันจะรู้ว่าเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิ ความก้าวหน้า การก้าวหน้าที่จะเดินต่อเนื่องกันไปมันอีกมหาศาลเลย แต่ไม่มีคนชี้แนะไม่มีคนชี้นำ เวลาเข้าไปสงบ “ราตรีเดียว หนึ่งเดียว” หนึ่งเดียวมันคลายออกมามันหนึ่งเดียวตรงไหนล่ะ

นั่นล่ะตัวภพตัวชาติเลยล่ะ มันไม่ใช่หนึ่งเดียวหรอก นี่ล่ะตัวเวียนว่ายตายเกิด ปฏิสนธิจิตๆ ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในใจนั่นล่ะ มันจะมาหนึ่งที่ไหน มันเข้าไปพักเฉยๆ นั่นล่ะภวังค์ นั่นล่ะที่เกิดของมันเลยล่ะ ที่เวียนว่ายตายเกิด แต่เราก็บอดเสีย ตาใจของเรามันบอด มันก็ไม่เข้าใจสิ่งนั้น ฉะนั้น ทำความสงบของใจทำอย่างไร ทำอย่างไรเพื่อจะให้ใจสงบ แล้วใจสงบแล้วมันเป็นรากฐาน เห็นไหม สมถกรรมฐาน

เราบวชเป็นพระมานะ พระกรรมฐานๆ ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานของพระๆ ครูบาอาจารย์ท่านเป็นห่วงมาก เวลาพระขาดสติ เวลาพระดำรงชีพด้วยความขาดสติ ท่านจะบอกว่านั่นมันเป็นเรื่องของฆราวาส นั่นเป็นเรื่องของโลกๆ เขานะ โลกๆ คนที่เขามีมารยาทสังคมเขายังมีความสำรวมระวังมากกว่าเรานะ เราเป็นพระนะ เป็นพระเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าเป็นพระเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร การเคลื่อน การเหยียด การคู้ การจะทำสิ่งใดมันต้องมีสติ ถ้ามันฝึกหัดสติมาตั้งแต่นั่น ถ้าฝึกหัดสติขึ้นมา มันสมกับความว่าเราเห็นภัยในวัฏสงสารไง ถ้าเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราเห็น เห็นโทษของการเวียนว่ายตายเกิด เห็นไหม

สิ่งที่เป็นโทษที่สุดคือการเกิดและการตาย

“การเกิดและการตาย แล้วเวลาเกิดและการตายมันมีโทษที่สุดที่ไหน สิ่งที่เป็นโทษที่สุดคือเราขาดตกบกพร่องต่างหากล่ะ ชีวิตของเรามันไม่มีความสมบูรณ์ต่างหากล่ะ เราจะต้องหาอยู่หากินมาเพื่อความมั่นคงชีวิต” นั่นเวลาโต้แย้งขึ้นมา กิเลสมันโต้แย้งมันก็โต้แย้งอย่างนั้น “เราต้องมีความมั่นคงของชีวิตก่อน มีความมั่นคงของชีวิตแล้วเราค่อยมาปฏิบัติ” นี่เวลาคิดถึงเรื่องของโลกไง

แต่ถ้าคิดแบบธรรม เห็นไหม การเวียนว่ายตายเกิด จิตนี้มันเกิด เวลาเกิดในวัฏฏะมันก็เกิดเป็นภพเป็นชาตินี้ เวลามันเกิดอารมณ์ เกิดความรู้สึก เกิดความบีบคั้นของใจ นั่นมันก็เกิดแล้ว ความเกิด การเกิด เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาเกิดวันวิสาขบูชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระล้างกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชำระล้างสิ่งที่เกิดดับๆ ในใจ สิ่งที่เกิดดับๆ ในใจชำระล้างหมด แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรินิพพานในวันวิสาขบูชาเหมือนกัน นี่เป็นความมหัศจรรย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

ฉะนั้น เราเห็นแต่ว่าการเกิดและการตาย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าให้บาปให้โทษมากที่สุดกับชีวิต เราก็บอกเราก็เกิดมาแล้วไง แล้วก็รอวันตายไง เกิดมาก็รอวันชีวิตหนึ่งไง ชีวิตนี้ก็จะหาอยู่หากิน ชีวิตนี้ก็จะทำความมั่งมีศรีสุข ชีวิตนี้ก็ประสบความสำเร็จ ชีวิตนี้จะมีบุญกุศล ชีวิตนี้...ไอ้ชีวิตนี้ๆ ที่คิดอยู่นั่นล่ะมันเกิด มันเกิดความทุกข์ความยาก มันเกิด นั่นน่ะมันเกิด

ฉะนั้น ถ้ามันเกิด มันเป็นโลกียปัญญา เป็นเรื่องของโลก เรื่องของโลกก็ถูกต้องไง ถ้าเรื่องของโลก คนที่มีสติมีปัญญาทำมาหากิน มีหน้าที่การงาน ก็ถูกต้องทางโลกของเขา นี่ผลของวัฏฏะๆ การเกิดมาไง แล้วเกิดมา เรามีสติปัญญาคัดเลือกไหม เรามีสติปัญญาแยกแยะไหม เราเกิดมาชีวิตทางโลกก็เป็นอย่างนี้ ทุกคนจะมีหน้าที่การงาน แล้วจะต้องทำหน้าที่การงานของเราไปอย่างนี้ แล้วพอจะเกษียณ พอวางมือแล้วก็ส่งต่อกันไป แล้วทีนี้ก็จะมาหาทางออก

ลูกที่กตัญญูกตเวทีก็พยายามจะพาพ่อพาแม่ไปหาที่พึ่งอาศัย พาพ่อพาแม่เข้าวัดเข้าวา เตรียมตัวตาย เพราะรู้ว่าจะต้องตาย แล้วจะต้องตายแล้วทำอย่างไรล่ะ จะทำได้ไหมล่ะ แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราระลึกของเราเอง ไม่ต้องให้ใครพาไปไง เรามีสติปัญญา เรามีสติปัญญากับหัวใจของเรา หน้าที่การงานก็ทำหน้าที่การงานสิ่งนั้น

พระเราก็มีข้อวัตรปฏิบัติ พระเราก็ต้องมีหน้าที่ ข้อวัตรปฏิบัติคือการดำรงชีพ แล้วถ้างานของพระๆ สิ่งที่เป็นภัยที่สุดคือการเกิดและการตาย ถ้าการเกิดและการตาย ถ้าเรามีสติมีปัญญามันจะย้อนกลับมา เห็นไหม การเกิดที่เกิดอารมณ์ เราเกิดพุทโธ ถ้ามันคิดนอกเรื่องนอกราวมันก็คิดของมันไปโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราบังคับแล้ว บังคับว่างานของใจๆ งานของใจถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน มันก็คิดตามแต่อิสระของมัน มันจะคิด

แล้วเวลามันคิดไปมันจะคิดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์เป็นธรรม มันคิดได้น้อยมาก ถ้ามันคิด มันคิดแต่เรื่องกิเลสทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันคิดมันก็ไปกว้านเอาฟืนเอาไฟมาเผาตัวมันเองทั้งนั้นน่ะ เหมือนกับเด็กน้อยที่มันไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นคุณ มันทำของมันโดยสัญชาตญาณของมัน ความไร้เดียงสาของมัน มันหยิบจับอะไรก็ให้โทษกับเด็กน้อยนั้นทั้งนั้นน่ะ เพราะว่าเด็กน้อยมันไม่รู้ว่าอะไรเป็นของมีคม อะไรเป็นของที่เป็นอันตราย ของอะไรที่จะกินได้กินไม่ได้ มันหยิบใส่ปากหมด เวลาเด็กมันคิด มันทำของมันอย่างนั้น

จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันคิดตามธรรมชาติมันก็คิดแบบนั้นน่ะ ไม่ว่าจะเรื่องดีขนาดไหน สิ่งที่เป็นคุณหรือเป็นโทษมันก็ไม่เข้าใจของมันทั้งนั้นน่ะ ถ้ายังไม่เข้าใจ นี่โลกียปัญญา ปัญญาของโลกๆ การเกิดและการตายของอารมณ์ อารมณ์มันเกิดแล้วล่ะ พออารมณ์มันเกิดขึ้นมามันก็ให้ผลเป็นทุกข์ทั้งนั้นน่ะ แล้วอารมณ์เกิดขึ้นมาแล้วก็ยึดมั่นเสียด้วยนะ มันมีความพอใจของมัน เห็นไหม ฉะนั้น บังคับ บังคับให้นึกพุทโธ

ระลึกพุทโธ พุทธานุสติ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วใครที่ภาวนาเป็นแล้ว พุทโธเฉยๆ ก็ได้ ลมหายใจเฉยๆ ก็ได้ เวลาจิตใจของเรา ถ้าโดยธรรมชาติของมัน เวลามันเกิดมันตาย ความรู้สึกนึกคิดมันเกิดมันตายในหัวใจเราตลอดเวลา คนที่มีความชำนาญนะ ครูบาอาจารย์ที่ทำสมาธิจนจิตตั้งมั่นๆ เขาจะควบคุมสิ่งนี้ได้ตลอดเวลา ถ้าควบคุมสิ่งนี้ได้เพราะอะไร เพราะเขาฝึกหัดจนเขามีความชำนาญของเขา

แต่ผู้ที่ฝึกหัดใหม่ๆ แม้แต่ความสงบก็ไม่เข้าใจของมัน แม้แต่ความสงบก็ไม่เข้าใจว่าความสงบเป็นแบบใดนะ เพราะเราไม่เคยได้สัมผัส เรามีการศึกษามาก เราฟังเทศน์มามาก เราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์บอกว่า “จิตสงบ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ความสุขสงบมันมีความสุขมาก มีความสุขมาก” เราก็จินตนาการของเรา ถ้ามันปล่อยวางๆ มันสบายใจๆ ก็บอกว่า “เออ! ความสุขเป็นแบบนี้เนาะ ที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเป็นความสุขๆ เราก็ได้ประสบแล้วเนาะ มันว่างๆ มันสบายๆ เนาะ”...นี่มันไม่ใช่ๆ

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เราต้องการพิสูจน์ตามความเป็นจริง เรากำหนดพุทโธของเราเลย เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา

ถ้าธรรมชาติของจิตมันเกิดดับๆ มันคิดของมันโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ถ้าเป็นหน้าที่การงานทางโลก เวลาทำงานก็ต้องคิด มีสติแล้วก็คิดหน้าที่การงานของเรา ทำข้อวัตรก็เหมือนกัน เราก็อยู่กับข้อวัตร แต่ถ้าพอมันผ่อนจากงานแล้วเราถึงพุทโธ ถึงมาอยู่กับใจของเรา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นหน้าที่การงานของเรา เราก็ทำหน้าที่การงานของเรา เราจะบริหารจัดการอย่างไรเราก็ใช้ปัญญาของเราไป จบจากงานแล้วเราก็จบ จบแล้วเราก็กลับมาพุทโธ ถ้ากลับมาพุทโธ นี่พูดถึงการรักษาใจๆ ผู้ที่ชำนาญแล้วเขาจะรักษาใจอย่างนั้น

แต่ของเรา เราปฏิบัติใหม่ เรารักษาใจของเรายังไม่เป็น รักษาใจของเราไม่เป็น เราก็พยายามกำหนดพุทโธ มันก็ต้องบีบ ก็ต้องบังคับต้องขู่เข็ญกัน ต้องบังคับ ถ้าไม่บังคับมันก็เร่ร่อน มันก็เกิดดับๆ ความรู้สึกนึกคิดมันเกิดดับแล้วมันสร้างเอาแต่ความเป็นพิษเป็นภัยเข้ามาให้กับใจเราทั้งนั้น แม้แต่คิดเรื่องธรรมมันก็ไม่พอใจ คิดเรื่องธรรมมันก็ตีตัวไปก่อนไข้ว่า “เราจะเป็นอย่างนั้น เราจะเป็นอย่างนั้น” นี่แม้แต่คิดเรื่องธรรม

แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ตรึกในธรรมๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสอนพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเวลานั่งสัปหงกโงกง่วง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้ตรึกในธรรม ตรึกในธรรมเพื่อแก้ความโงกง่วงอันนั้น ให้ตรึกในธรรม

ตรึกในธรรมคือธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้ไง แสดงธรรมเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่องอริยสัจ เรื่องสัจจะความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ แล้วเราตรึกเรื่องนั้น เอามาขยายความให้จิตมันทำงาน ทำงานกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น แล้วถ้าเวลามันตรึก มันไม่ได้ตรึกอย่างนั้น เพราะกิเลสมันมากมันก็คิดตามประสามัน ถ้าคิดตามประสามัน ถ้ามีสติ อันนั้นก็เป็นธรรมของเราไง

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสดงธรรมเอาไว้ แต่เวลามันเกิดดับๆ มันก็คือการแสดงกิริยาของใจ ใจของเรามันก็แสดงกิริยาแล้ว นี่มันเกิด มันเกิดคือความคิดมันเกิด พอมันเกิด คำว่า “มันเกิด” ความคิดมันเกิด ความคิดมันเกิดนี่มันเสวยแล้วนะ มันเสวยอารมณ์แล้วมันถึงเป็นความคิด แต่เรายังภาวนาไม่เป็น เราจะไม่รู้ว่าเสวยคืออะไร เสวยอย่างไร

“ก็เราคิด มันเสวยตรงไหน”

ก็ยังไม่เป็นไง

แต่ถ้าเป็นเดี๋ยวจะรู้ ถ้ายังไม่เป็น มันคิดแล้วมันถึงว่ามันเป็นเรา เราก็สติปัญญาพร้อมตรงนี้ พร้อมที่สิ่งที่มันเกิด ตรึกในธรรมๆ ก็ธรรมะมันเกิด ธรรมะคือการเกิดดับ ธรรมะคือมันเสวยอารมณ์ อารมณ์มันเกิด อารมณ์มันเกิด ถ้ามีสติปัญญา เราก็จับอารมณ์นี้พิจารณาของเราไป มีสติปัญญาเท่าทัน เท่าทันกับความคิด

ถ้าเราเท่าทันกับความคิดนะ กิเลสมันอาย พอเท่าทันความคิด เพราะอะไร เพราะเราก็ย้ำคิดย้ำทำอย่างนี้มาตลอด ถ้าพอมันอาย มันปล่อยๆ คำว่า “ปล่อย” ถ้าเราหยิบของหนักอยู่มันก็หนัก เวลาปล่อยมันต้องเบา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเวลามันคิด มันเสวยอารมณ์ เราไม่รู้เท่าทันมันตลอดไป เวลามันปล่อย “มัน เอ๊ะ! มันแปลกๆ” แต่เดี๋ยวก็คิดอีก

ถ้าผู้ฝึกหัดใหม่ ถ้าคิดอีกก็มีสติไล่ความคิดนั้นต่อเนื่องไป เพราะที่เราคิดมารอบที่แล้วมันแปลกๆ มันวาง มันวาง แต่มันวางแล้วมันก็เสวยอีก เพราะความเร็วของมัน ผู้ฝึกหัดใหม่จะไม่ทัน แต่ถ้ามีความขยันหมั่นเพียร มีอำนาจวาสนา มันจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิต่อเนื่องไปเรื่อยๆ พอพิจารณาไป ความเกิดดับ อารมณ์เกิดนั่นแหละจับแล้วพิจารณาไป นี้คือการตรึกในธรรมของเรา

ธรรมของเราคือสัจธรรมของเรา สัจธรรมคือความเกิดและความดับของอารมณ์ความรู้สึกที่มันเกิดบนใจดวงนี้ แล้วมีสติปัญญาจับต้องมันแล้วพิจารณาของมันไป พิจารณาไปเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันปล่อยๆ บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้าๆ มันจะละเอียดขึ้นๆ แล้วเรามีความต่อเนื่องขึ้นไป เพราะเราเห็นผลแล้ว เราเห็นผลเพราะมันปล่อย มันปล่อยแล้วมันมีความแปลก มีความเบา มีสิ่งที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็น แล้วมันชัดเจนขึ้นๆ การปล่อยมันจะนานขึ้น ยาวขึ้น มากขึ้น ความสงบมันจะมีมากขึ้น

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจนชำนาญแล้วเขาจะรักษาใจของเขาได้เพราะว่าเขารู้เท่าทันความคิดของเขาทั้งหมด ถ้ามันรู้มากเข้า มีสติปัญญามากขึ้น เพราะมันคิด มันคิดเรื่องอะไรล่ะ ถ้ามันคิด โดยหลักมันก็คิดรูป รส กลิ่น เสียง นี่แหละ สิ่งที่มันได้สัมผัส สิ่งที่มันได้กระทบ มันก็คิด มันจับต้อง เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง เสียงต่างๆ รสต่างๆ สิ่งที่พัดเข้ามาในอารมณ์ พัดเข้ามาในคลองของใจ มันจับหมด มันหิวมันกระหาย มันจับของมันทั้งนั้นน่ะ แล้วเราก็รู้ว่ามันเกิดอย่างไร มันดับอย่างไร แต่ถ้าเราพิจารณาของเราบ่อยครั้งเข้ามันเห็นโทษแล้ว “ก็ความคิด ความคิดเรานี่เอง”

เหมือนหมาเห่าใบตองแห้ง ลมพัดมามันก็เห่า ลมพัดใบตองมันก็ไหว มันก็มีเสียงเป็นธรรมดา ถ้าหมามันรู้เท่ามันก็ไม่เห่าไง มันก็เรื่องธรรมดา ถ้ามันมีปัญญา ลมพัดมาใบไม้มันก็ไหว ใบไม้ไหวมันก็มีเสียง เราก็รู้ เราก็ปล่อย เราก็ไม่เห่า เราก็ไม่ต้องเหนื่อย แต่หมาเห่าใบตองแห้งมันจะเห่าของมันอยู่อย่างนั้น เสียงอะไรกระทบมันก็จะเห่าของมันอย่างนั้นน่ะ

จิตใจของเราก็เหมือนกัน มีสิ่งใด อารมณ์สิ่งใดมากระทบ มันก็คิดของมัน ยึดของมัน มันพิจารณาของมันแล้วมันก็คิดว่ามันฉลาดด้วย แต่พอเราฝึกหัด เราฝึกหัด เรามีสติ ก็จับความรู้สึกนึกคิดแยกของมันๆ เห็นโทษของมัน

ถึงจะคิดไม่คิด เหตุการณ์อย่างนั้นมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่พอคิดแล้ว คนที่เขาพูด เสียงที่มากระทบ เขาไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้นก็ได้ แต่เวลาด้วยวุฒิภาวะของเรา ด้วยความเห็นของเรา เราเข้าใจผิดก็ได้ เราเข้าใจถูกก็ได้ แล้วเราก็คิดไป เราก็คิดไป เราคิดไป คิดไปแล้วมันคืออะไร? นั่นล่ะไฟ มันก็เผาเรา

แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ เขาจะพูด รูป รส กลิ่น เสียงมันจะมีเรื่องสิ่งใดก็แล้วแต่ รูป รส กลิ่น เสียง เห็นไหม เสียงอันวิจิตร รูปอันวิจิตร มันไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของเราล่ะ ตัณหาความทะยานอยากของเราที่เราไปจับแล้วเราก็คิดต่างหากล่ะ อันนี้คือกิเลส รูป รส กลิ่น เสียงมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่เพราะว่าเราไม่ได้ฝึกหัด เพราะเราปฏิบัติใหม่ เราถึงไม่เข้าใจสิ่งใด เราถึงเอาสิ่งนั้นมาเป็นโทษกับใจของเรา ถ้าสติปัญญามันพิจารณา มันไล่ของมันทัน มันปล่อยๆ มันปล่อยเพราะอะไร

มันปล่อยเพราะว่า ไอ้นี่มันไฟๆ สิ่งที่เกิดดับๆ ในใจเรามันเป็นไฟ มันเป็นไฟ เห็นไหม ธรรมชาติของผู้รู้มันรู้เฉยๆ แต่ถ้ามันรู้ด้วยกิเลสมันก็เป็นไฟ แต่เพราะเราฝึกหัดๆ มันรู้โดยธรรม พอรู้โดยธรรมนะ รู้โดยธรรมคือสติปัญญาไง สติปัญญามันทันมันก็ปล่อย พอมันปล่อย ปล่อย มันก็เป็นหนึ่ง ปล่อยวางมันก็เป็นตัวมันเองใช่ไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ บ่อยครั้งเข้าๆ มีความชำนาญเข้า

พุทโธก็เหมือนกัน เราบังคับให้จิตพุทโธเลย ถ้าคนถนัดศรัทธาจริต ศรัทธาจริตไม่ต้องมีเหตุผลจนเกินไปนัก เรามีศรัทธามีความเชื่อมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธานุสติ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราระลึกถึงพ่อถึงแม่ของเรา เรายังมีความอบอุ่นหัวใจ เราคิดถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรา เราก็มีความอบอุ่นหัวใจ นี่เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อจิตใจมันยังไม่เป็นพุทธะ จิตใจมันยังไม่เป็นธาตุรู้โดยธรรมชาติของมัน ก็อาศัยพุทธานุสติ อาศัยระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธๆ บังคับเลย ท่องเลย พุทโธๆ คำบริกรรม

บริกรรมบ่อยครั้งเข้าๆ ถ้ามีสติปัญญาบริกรรมอย่างนี้ ยึดมั่นอย่างนี้ เพราะอยู่กับคำบริกรรม มันมีการเคลื่อนไหว เหมือนน้ำ น้ำที่เป็นน้ำเสีย มันจะรีไซเคิล เขาต้องกวนน้ำ เขาต้องกวนให้ออกซิเจนเข้าไป ให้สัตว์ต่างๆ ให้แร่ธาตุหนักมันตกลงไป ให้มันสะอาดขึ้นมา เขาทำของเขา

จิตใจของเราถ้ามันคิดของมันโดยธรรมชาติของมัน มันเอาแต่ฟืนแต่ไฟมาเผาตัวมันเอง พุทโธๆๆ ถึงที่สุดแล้วมันมีการเคลื่อนไหว มีการเคลื่อนไหวมันก็ต้องมีการสลัดสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยในตัวของมันเอง ถ้ามันมีการเคลื่อนไหว

แต่ถ้าเราคิดล่ะ เราคิดของเรามันก็เคลื่อนไหว เราคิดมันก็เกิดดับ มันก็เคลื่อนไหว แต่เคลื่อนไหวโดยมารไง เคลื่อนไหวโดยอวิชชาไง แต่ถ้ามันเคลื่อนไหวโดยธรรม เคลื่อนไหวโดยธรรม พุทโธๆๆ เราไม่ต้องแยกแยะอะไร เราเกาะพุทโธไว้ เกาะพุทโธขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ พุทโธๆ จนจิตมันละเอียดเข้ามาๆ ละเอียดเข้ามาคือมันพุทโธชัดๆ

เริ่มต้นก็พุทโธไม่ค่อยได้ พุทโธแล้วมันก็มีความเครียด พุทโธมันก็หวั่นไหวไปตลอด แต่เราพุทโธของเราบ่อยครั้งเข้าๆ บ่อยครั้งเข้ามันอยู่กับพุทโธ อยู่กับพุทโธ มันเลยพุทโธได้ พุทโธได้มันก็คล่องตัวแล้ว

แต่เราพุทโธไม่ได้ มันขัดแย้งกัน กับพุทโธที่มันคล่องตัวขึ้นมา แล้วพุทโธๆ จนมันละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา มันเริ่มสบายแล้ว เริ่มสบาย ถ้าเริ่มสบาย อวิชชาก็เข้ามาสอดแทรกแล้ว พอมันเริ่มสบายแล้ว “พุทโธมันจะละเอียดแล้ว พุทโธจนพุทโธไม่ได้”...มันเริ่มสบาย มันยังทำได้อยู่เยอะแยะ มันยังทำไปข้างหน้าอีกเยอะแยะเลย ถ้าเวลามันเดือดร้อนมันก็เดือดร้อนจนเกินไปนัก เวลาพุทโธขึ้นมา มันดีขึ้นมาเล็กน้อยขึ้นมา กิเลสมันก็ให้ค่าจน “โอ้โฮ! สมาธิดีมาก โอ้โฮ! มันดีมาก” มันให้ค่าไปก่อน

ทำไม่ได้มันก็เดือดร้อน พอจะทำได้ กิเลสมันก็หลอกอีก ถ้ามีสติปัญญานะ มันจะมีเกิดสิ่งใด พุทโธถ้ามันจะสบายอย่างไร ถ้ายังพุทโธได้ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ เพราะมันจะดีขึ้นไปกว่านี้ มันจะดีขึ้นไปกว่านี้ พอดีขึ้นไปกว่านี้แล้วมันจะมีกำลัง ถ้ามีกำลังขึ้นมา พอจิตมันสงบขึ้นมา พอมันคลายตัวออกมามันก็ไม่มีความทุกข์ความยาก

การปฏิบัติมันก็ทุกข์มันก็ยากอยู่แล้ว เพราะผู้ปฏิบัติใหม่ กิเลสมันก็ขัดแข้งขัดขาไปตลอด มันตัดขาตัวเอง ทำลายตัวเองตลอด ทั้งๆ ที่ปฏิบัติไม่ได้มันก็ล้มลุกคลุกคลาน พอปฏิบัติจะเป็นจะได้ขึ้นมา สมุทัยมันก็สอดเข้ามา “เป็นอย่างนั้นๆ” แล้วมันไม่เป็นจริง มันจะค้างอยู่อย่างนั้นน่ะ

ถ้ามันสงบเข้ามา สงบเข้ามาจนเป็นอัปปนาสมาธิ เวลามันสงบจนสักแต่ว่ารู้ เป็นผู้มีราตรีเดียวหรือไม่

ถ้าเวลาเราปฏิบัติ เวลาผู้มีราตรีเดียว ผู้มีราตรีเป็นหนึ่ง ผู้มีราตรีเดียวไม่มีวันนี้พรุ่งนี้ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต อยู่ในปัจจุบันตลอด ผู้ที่มีราตรีเดียว แต่เวลาเข้าสมาธิมันเป็นหนึ่ง เป็นราตรีเดียวไหม นี่ไง เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ผู้ที่มีราตรีเดียวมันเป็นแบบใด อะไรเป็นที่มีราตรีเดียว อะไรเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติ

ถ้าเป้าหมายของการปฏิบัติ ผู้ที่มีราตรีเดียวมันยังอีกยาวไกล มันต้องสำรอก มันต้องคายกิเลสออกไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป อย่างเราปุถุชนคนหนามันเวียนว่ายตายเกิดไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีต้นไม่มีปลายแล้วมันจะมีราตรีเดียวได้อย่างไรล่ะ มันมีภพมีชาติอยู่ข้างหน้า ถ้าจิตนี้ไม่ได้ชำระล้างกิเลส มันต้องเวียนว่ายตายเกิดไปอีกมหาศาล แม้แต่ภพชาติหนึ่ง อายุขัยหนึ่ง ถ้ามันไปเกิดเป็นสัตว์ แมลงวันก็ ๗ วัน ถ้าไปเกิดเป็นพรหมนี่กี่หมื่นปี เวียนว่ายตายเกิดไปในวัฏฏะ มันเป็นภพชาติภพชาติหนึ่งเลย แล้วภพชาติมันต่อเนื่องกันไปไม่มีวันจบวันสิ้น ไม่มีวันจบวันสิ้นเพราะอะไร เพราะมันไม่มีการสำรอก มันไม่มีการคายออก มันไม่มีการประพฤติปฏิบัติ

แต่เพราะว่าเราเห็นโทษของมัน เราเห็นภัยในวัฏฏะเราถึงมาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระ เราจะเป็นนักรบ จะรบกับใคร? จะรบกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราไม่ใช่ไปรบกับสังคม เราไม่ใช่รบกับใครทั้งสิ้น เราเกิดมาเราก็เป็นสัตว์สังคมคนหนึ่งเหมือนกัน เราเป็นสัตตะผู้ข้อง เราถึงได้เกิดมาในวัฏฏะ พอเกิดมาแล้ว แต่ด้วยอำนาจวาสนาบารมี เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการเกิดและการตาย

เหตุผลสำคัญที่สุด การเกิดและการตาย เพราะเกิดมาทุกคน เกิดแล้วตาย ถ้าเกิดแล้วตาย แต่สิ่งที่ตามมา วิบาก วิบากที่ตามมาตั้งแต่เกิดมา ตั้งแต่พ่อแม่ดูแลมาจนมีการศึกษามา จนมีหน้าที่การงานมา จนมีครอบครัวต่อไปก็ได้ หรือว่ามาบวชเป็นพระ เราบวชพระ เห็นภัยในวัฏสงสาร เราจะไม่มีครอบครัวของเรา เราจะประพฤติพรหมจรรย์ เราจะเอาใจของเราให้รอดพ้นจากการเกิดและการตายให้ได้ แล้วเราปฏิบัติขึ้นมา เริ่มต้นขึ้นมาปฏิบัติมันจะได้ผลจริงจังของเรามาขนาดไหน

ถ้ามันจริงจังขึ้นมา เห็นไหม เวลาจิตมันเข้าอัปปนาสมาธิ มันสงบนิ่งอยู่ มันเป็นราตรีเดียวหรือเปล่า? ไม่ เพราะนี่มันเข้าสู่ภวาสวะ เข้าสู่ภพ เข้าสู่ภพแต่ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาเพราะภาวนาไม่เป็น ถ้าภาวนาเป็น จิตสงบแล้วคลายตัวออกมา จากอัปปนาสมาธิเข้าไปจะมีความสุข ความสงบ ความระงับขนาดไหน นั่นเป็นผลของสมาธิ แต่ถ้าเป็นฤๅษีชีไพรเขาเข้าฌานสมาบัติ ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

แล้วถ้ามีอำนาจวาสนาคำว่า “สัญญาเวทยิทนิโรธ” เข้าไปพัก แล้วเวียนถอยเข้าถอยออก เขาก็ได้แค่นั้น ถอยเข้าถอยออกมันจะมีกำลัง พอมีกำลังขึ้นมาจะมีอภิญญา ถ้าคนมีอำนาจวาสนาได้ยินเสียงเทวดาคุยยังได้ยินเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นทิพย์ พอมันเป็นทิพย์ ถ้าจิตมันมหัศจรรย์ไง

จิตนี้มหัศจรรย์นัก ถ้าทำความสงบของใจเข้าไปมันจะมีพลังงานของมัน แล้วพลังงานมันเป็นพลังงานทางโลก ฌานโลกีย์ เรื่องของโลก ฤๅษีชีไพรเขาทำของเขาได้ นี่สมัยพุทธกาล สมัยที่โลกยังไม่เจริญ เทคโนโลยียังไม่มี การเหาะเหินเดินฟ้าเป็นความมหัศจรรย์ การรู้วาระจิตเป็นเรื่องมหัศจรรย์ แต่พอวิทยาศาสตร์เจริญ โลกเจริญขึ้นมาแล้ว เครื่องจับเท็จมันมี จะรู้วาระจิตเขาใช้เครื่องจับเท็จ เวลาจะเหาะเหินเดินฟ้าเขาก็ไปเครื่องบิน ไปบอลลูน เขาไปได้ทั้งนั้นน่ะ เหาะเหินเดินฟ้าก็ได้ ถ้าหูทิพย์ โทรศัพท์เดี๋ยวนี้ไปได้รอบโลกเลย

ฌานโลกีย์เรื่องของโลก เรื่องของโลกสมัยที่โลกยังไม่เจริญมันก็เป็นความมหัศจรรย์ แต่โลกเจริญขึ้นมาแล้วมันเป็นการพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ทางโลกพิสูจน์ได้หมดเลย พิสูจน์ได้แล้ว พิสูจน์ได้ก็ทำได้หมด แล้วทำได้หมด แล้วชำระล้างกิเลสไหม นี่ไง ถึงบอกมันเป็นเรื่องโลกไง มันเป็นเรื่องโลก ถ้าพูดถึงเข้าฌานสมาบัติ

แล้วถ้าทำสมาธิล่ะ ถ้าทำสมาธิ ถ้ายังไม่เกิดปัญญา มันมีภพมีชาติรออยู่ข้างหน้า มันไม่ใช่ผู้มีราตรีเดียว แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาเข้าไปสงบโดยที่ไม่มีเหตุมีผล “เป็นผู้มีราตรีเดียว เป็นผู้เป็นหนึ่ง”...หนึ่งอะไร หนึ่งมีภพชาติรออยู่ข้างหน้า หนึ่งยังต้องเวียนว่ายตายเกิดใช่ไหม

แต่ถ้าพอจิตมันสงบแล้วเรามีครูมีอาจารย์ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มา เขาก็สอนแค่นี้ แล้วเวลาออกมา เข้าฌานสมาบัติ เวลาเข้าถึงสมาธิ เวลามันคลายตัวออกมาล่ะ

เวลาเราปฏิบัตินะ คำว่าพุทโธๆ คำว่า “พุทโธ” พุทธานุสติ มันเป็นความจำเป็นระหว่างการปฏิบัติตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุด เพราะคำบริกรรมพุทโธมันเป็นการบังคับใจให้ได้พัก ใจถ้าทำงานไม่เป็น มันก็ว่านี่เป็นผู้ที่มีราตรีเดียว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รื้อภพรื้อชาติแม้แต่เล็กน้อยเลย แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไป เวลาปฏิบัติไป มันทำงาน คนทำงานมันต้องอ่อนล้า จิตเวลาวิปัสสนา งานวิปัสสนาข้างหน้าจะทุกข์ยากมหาศาลเลย แล้วเวลาคนทำงานจนเหนื่อยล้า คนทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน ถ้าไม่บังคับให้มาพุทโธ โอกาสทำงานมันจะทำงานไปได้ตลอดรอดฝั่งไหม

พุทโธมีความจำเป็นมาก มีความจำเป็นเพราะมันต้องใช้ระหว่างการประพฤติปฏิบัติ ระหว่างเริ่มต้นจนถึงที่สุด มันต้องมีการพัก การทำนะ เราจะทำงาน เราอยากได้งาน เราเป็นคนจริงจังขนาดไหน ถ้าอยากได้งาน ทำไปเถอะทำจนฟั่นเฝือ ทำเข้าไป ทำจนไปไม่รอด ถ้าไม่มีพุทโธให้จิตนี้ได้พักระหว่างทาง เห็นไหม มันมีความจำเป็นไง จำเป็นขนาดไหน

มีความจำเป็นขนาดที่ว่า ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านให้กำหนดพุทโธ ให้ทำสัมมาสมาธิ ให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอจิตมันสงบเข้าไปแล้ว แล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา ออกฝึกหัดใช้ปัญญา

ปัญญาจะไม่เกิดขึ้นจากสมาธิ สมาธิทำให้เกิดขึ้นปัญญาโดยตัวเองไม่ได้ สมาธิก็คือสมาธิ

ดูสิ คนที่ร่างกายแข็งแรง คนที่เขาออกกำลังกายตลอดมันก็ร่างกายแข็งแรง แล้วถ้าคนที่ออกกำลังกาย คนที่เขาทำให้ร่างกายแข็งแรงเขาฉลาดด้วย เขาก็เป็นประโยชน์ คนที่ออกกำลังกาย ร่างกายแข็งแรง แต่เขาเป็นคนไม่ค่อยฉลาด จะว่าเขาเป็นคนโง่ เดี๋ยวจะว่าเขาเกินไป ก็เขาเป็นคนไม่ฉลาด มันฉลาดขึ้นมาไหมล่ะ ร่างกายแข็งแรง แต่มันฉลาดขึ้นมาไหมล่ะ

ไอ้โง่-ไอ้ฉลาดมันต้องฝึกหัดใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน สัมมาสมาธิมันก็ทำให้จิตใจเรามีกำลัง มันก็ทำให้จิตใจนี้เข้มแข็ง จิตใจนี้มีกำลัง แต่ถ้ามันโง่ล่ะ คนที่จิตใจที่มันมีกำลังแต่มันโง่ มันทำอะไร แต่ถ้ามันฉลาดล่ะ ถ้ามันฉลาด เราต้องฝึกให้มันฉลาดมากขึ้นๆ ให้มันฉลาดรู้เท่าทันกิเลสไง เพราะอะไร เพราะกิเลสเป็นเรา จะทำสิ่งใดทำไม่ได้เพราะมันเป็นเรา ทะนุถนอมไปทั้งหมดเลย แต่ถ้ามันเป็นกิเลสที่มันจูงจมูก อันนั้นไม่ต้องทะนุถนอม อันนั้นไปเลย

เรากำหนดพุทโธให้จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราก็ใช้ปัญญาในรูป ในรส กลิ่น เสียง แล้วพิจารณาบ่อยครั้งเข้า ถ้าจิตมันสงบขึ้นเราก็พิจารณาต่อเนื่องๆ ไป ความต่อเนื่องไป เวลาจิตสงบแล้วมันจะเห็นว่าจิตเวลามันเสวย

ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ เวลาความคิดมันเสวยอะไร ก็เป็นความคิด มันเสวยตรงไหน

นี่ไง แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านใช้ปัญญาอบรมสมาธิจนจิตมันสงบ จิตสงบนะ จิตสงบ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นที่จิตมันคิด เราจะจับขโมย ถ้าเราไม่เห็นว่าขโมยมันขโมยต่อหน้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นขโมย ทางการสืบสวนเขาจะสืบสวนได้ว่ามันมีเหตุมีหลักฐานว่าคนนั้นขโมย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเห็นอาการของจิต จิตมันเห็นว่าขณะที่มันเสวยอารมณ์ ขณะที่มันคิด มันคิดมันคืออะไร พอมันคิดแล้วมันถึงเป็นอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นรูปอารมณ์ความรู้สึก ถ้าจิตมันเห็นกันนะ เห็นว่ามันเสวย เห็นเสวย เสวยอะไร

รูป รส กลิ่น เสียงเป็นสัญญา แต่ถ้าเราไม่มีสัญญา ไม่มีสัญญาการศึกษามาว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรๆ เราจะคิดสิ่งนั้นขึ้นมาไม่ได้ เวลามันเสวยนะ มันเสวยข้อมูล สัญญา พอเกิดสัญญามันให้รับรู้ รับรู้มันก็เกิดสังขารปรุง สังขารปรุงมันก็มีเวทนา ชอบไม่ชอบใช่ไหม ชอบไม่ชอบขึ้นมา สังขารมันปรุงมันก็มีวิญญาณรับรู้ ถ้ามันจับได้ มันเสวย ถ้ามันเสวย มันจับ พอมันจับสิ่งนั้นแล้ว นี่จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต นี่การฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาแบบนี้ ถ้ามันมีสติมีปัญญา ยกขึ้นสู่วิปัสสนา เพราะจิตต้องเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม ถ้าจิตมันเห็น

ถ้าจิตไม่เห็นล่ะ ถ้าจิตไม่เห็น เราก็ต้องทำความสงบของใจเข้ามาแล้วหมั่นสังเกต สังเกต ถ้ามันไม่เห็น บังคับให้รำพึงถึงกาย

คนเราโดยธรรมชาติของใจ มันต้องรักตัวมันเอง ถ้ารักตัวมันเอง มันก็ว่า “สรรพสิ่งนี้เป็นของเรา เราเกิดมามีกายกับใจ กายเป็นของเรา” นี่ถ้าเราจะพิจารณากายโดยปัญญา แต่ถ้าเราทำความสงบของใจ ใจมันเป็นสัมมาสมาธินะ แล้วถ้าเป็นสัมมาสมาธิ สมาธิมันแนบแน่นขึ้นมา ดูที่ว่าเราใช้เป็นเจโตวิมุตติ เวลาเราน้อมไปที่กายมันจะเห็นกายของมัน เจโตวิมุตติ เราจะน้อมไปจับที่เวทนาก็ได้ จับสิ่งใดก็ได้ นี่การฝึกหัดใช้ปัญญา

ปัญญาที่มันจะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจากไหน ปัญญาที่เราศึกษากันนี่ปัญญาทางโลก ปัญญาเป็นข้อมูล ปัญญาเป็นการวิจัย ปัญญาเป็นการค้นคว้า เป็นการศึกษา อันนี้เป็นสัญญา เห็นไหม เวลาจะปฏิบัติถึงบอกว่าพุทโธๆ ก็ตัดตรงนี้ไง

เวลาเรากำหนด พุทโธๆ กัน กำหนดพุทโธ จิตมันบริกรรม มันเกิดขึ้น คนเราออกกำลังกาย ร่างกายจะแข็งแรงใช่ไหม จิตเวลาบริกรรม พุทโธๆๆ ไป แล้วถ้ามันเคลื่อนไหวของมัน แล้วมันมีกำลังของมันขึ้นมา พอมีกำลังขึ้นมา มันเกิดขึ้นโดยการปฏิบัติใช่ไหม มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการค้นคว้า เกิดขึ้นจากสัญญา ฉะนั้น ปัญญาที่เกิดขึ้น ปัญญาที่เราศึกษามันเป็นสัญญา มันเป็นปริยัติ เวลาปริยัติแล้วต้องปฏิบัติ เวลาปฏิบัติมันจะเกิดขึ้นจากการกระทำ

ถ้ามันจะเกิดขึ้นจากการกระทำ เวลาจิตมันสงบแล้วถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั่นน่ะ มันเกิดขึ้นจากการกระทำ เกิดขึ้นจากการกระทำเพราะจิตมันสงบ จิต จิตสงบๆ พอจิตสงบ ปัญญาเกิดขึ้นจากจิต

ปัญญามันเกิดขึ้นจากจิต มันไม่ได้เกิดขึ้นจากสมอง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการค้นคว้าที่เราทำวิจัยกัน เราค้นคว้ากันที่ว่าเรามีปัญญาๆ...ไม่ใช่เลย

ฉะนั้น เวลาจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา สมาธิมันจะเกิดปัญญาเองไม่ได้ ต้องฝึกหัดใช้ ต้องค้นคว้ามันถึงจะเป็นปัญญาขึ้นมา แต่เวลาปัญญาที่เราวิจัย ปัญญาที่เราค้นคว้า ปัญญาที่มันเป็นเรื่องโลก มันไม่ต้องวิจัย มันเกิดเอง สิ่งที่มันเกิดเองจนเราต้องเริ่มต้น ตั้งแต่เริ่มต้นว่าการเกิดและการตายนี้เป็นโทษอย่างยิ่งกับชีวิตของเรา นี่ไง เราถึงพยายามจะค้นคว้าตรงนี้ แล้วความคิดที่มันเกิดดับๆ มันเกิดในอารมณ์

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ถ้ามันเกิดในอารมณ์มันเกิดอยู่แล้ว ความคิดมันเกิดอยู่แล้ว เราถึงจะต้องบังคับ เราถึงต้องปัญญาอบรมสมาธิ เราถึงต้องกำหนดพุทโธเพื่อความสงบระงับ ปล่อยวางจากอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้ อารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้มันเกิดโดยธรรมชาติ

“ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ” ก็ความคิดมันเกิดโดยธรรมชาติใช่ไหม สิ่งที่เรารู้สึกนึกคิดมันเกิดโดยธรรมชาติใช่ไหม แล้วจิตของเรามันเป็นอวิชชา จิตของเราโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ที่ว่าผู้ที่ภาวนาใหม่ก็คิดว่าความรู้สึกนึกคิดอันนี้เป็นปัญญา แต่ความจริงมันเป็นสัญญา มันเป็นโลกียปัญญา เราถึงต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราถึงต้องกำหนดพุทโธๆ ให้จิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามามันก็มหัศจรรย์ใช่ไหม พอจิตสงบเข้ามา “นี่เป็นผู้ที่มีราตรีเดียว”...ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะยังไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นผู้มีผลวัฏฏะอยู่ข้างหน้า เป็นผู้ที่มีภพมีชาติที่จะเวียนว่ายตายเกิดไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด

ฉะนั้น เวลาออกฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต ถ้าปัญญาเกิดจากจิต จิตถ้ามันเห็นของมัน ถ้าจิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม เวลามันใช้ปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากจิตเพราะจิตมันสงบ จิตเป็นสมาธิ จิตจริง จิตเป็นสมาธิจริงๆ มันพ้นจากการครอบงำของสมุทัย พ้นจากการครอบงำของมาร มันเห็นตามความจริงของมัน มันเห็นตามความจริงของมัน ถ้าเห็นตามความจริง จับตรงนั้น พอเห็นตามความเป็นจริงนะ มันจะมีรสชาติตลอดไปนะ พอจิตมันสงบแล้วมันก็มีความสงบ มีความสุขของมันมาก เวลามันออกฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะตื่นเต้นๆ มันพบขุมทรัพย์ มันพบขุมทรัพย์ มันพบสิ่งที่มันฝึกหัดปัญญา ปัญญาที่มันจะเกิดขึ้นจากการวิปัสสนา

ถ้ามันเกิดวิปัสสนา ถ้ามันจับต้องได้ พิจารณาได้ แยกแยะไป จับได้ ถ้ามีกำลังก็แยกแยะไปๆ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่มันจะ “วูบหาย วูบหายเลย ตั้งไม่ได้ ภาพมันเคลื่อน” มันจะเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร

มันเป็นแบบนี้เพราะเริ่มต้นปฏิบัติ หญ้าปากคอก มันมีอวิชชา อวิชชาก็คือพญามาร พญามารมันหวงแหน พญามารมันหวงแหนภวาสวะ ภพ หวงแหนภวาสวะคือฐานของใจ เพราะมันอยู่บนนี้ กิเลสมันอาศัยเป็นบ้านเป็นเรือนของมัน แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญาคือธรรม

“เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

แล้วธรรมมันอยู่ที่ไหน ธรรมไม่เคยมีสักที เวลาฝึกหัดศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา มันมีธรรมขึ้นมา สิ่งที่กิเลสมันคุ้มครอง มันอยู่อาศัยบนหัวใจนี้ แล้วเราทำศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นมา สภาวธรรมมันมีขึ้นมาบนใจ มันต่อต้านกัน มันมีการกระทำกัน ระหว่างกิเลสกับธรรมมันต้องมีการประหัตประหารกัน มันต้องมีการกระทำต่อกัน มันถึงจะรู้ว่ากิเลสกับธรรมใครใหญ่กว่ากัน

เวลาธรรมที่มันใหญ่ขึ้นมา มันมีอำนาจขึ้นมา ทำสมาธิมันก็มีธรรมขึ้นมา มันก็สุข ถ้ามันเกิดวิปัสสนาขึ้นไปมันสุขมากกว่า เพราะมันจะได้รับผลของธรรม นี่ความสุขมากกว่า แต่ถ้าเวลาทำไปๆ มันเสื่อม สมาธิมันจางลง กิเลสมันก็มีกำลังมากขึ้น มีการกระทำ มีการต่อกรกัน ปัญญาอย่างนี้มันเกิด พอปัญญาอย่างนี้มันเกิด ฝึกหัดใช้ของเรา แยกแยะของเรา ทำของเรา ก้าวเดินต่อไปเรื่อยๆ

“เวลาปฏิบัติไปมันล้มลุกคลุกคลาน จะทำสิ่งใด จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้มันก็แสนทุกข์แสนยาก แล้วเวลาทำไปแล้วทำไมมันยุ่งยากขนาดนี้ แต่เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา พอจิตสงบแล้วให้ใช้ปัญญา ปัญญามันจะฟาดฟันกับกิเลสอย่างนั้น”

ศึกษามา ค้นคว้ามาเยอะแยะ แต่มันไม่ใช่สมบัติของเรา ถ้ามันไม่ใช่สมบัติของเรา มันเกี่ยวกับจริตนิสัย เกี่ยวกับกิเลสหยาบ กิเลสปานกลาง กิเลสละเอียด กิเลสของคนแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน มันก็ไม่เท่ากัน อารมณ์ของเราคนเดียวมันยังแปรปรวน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย นี่มันยังแปรปรวน แล้วเอาสูตรสำเร็จอย่างนั้น เอาสูตรสำเร็จแล้วจะมาฆ่ากิเลสมันเป็นไปได้อย่างไร กิเลสมันปลิ้นปล้อน กิเลสมันหลอกลวง กิเลสมันหลบหลีก

ถ้ามันหลบหลีกมันก็ต้องใช้ปัญญาปัจจุบัน ปัญญาปัจจุบัน ปัญญาที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ถ้าปัญญาปัจจุบันเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น เกิดขึ้นขณะที่ว่ากิเลสมันกำลังงอกงาม แล้วเรามีสติปัญญา ถ้าจับมันได้ก็ปั่นหัวมันเลย ตัดหัวมันเลยด้วยปัญญา ด้วยความคมกล้าของปัญญา ถ้ามันปั่นหัวมัน ตัดหัวมันได้ มันก็ปล่อยๆ ทำบ่อยครั้งเข้า มีความชำนาญมากขึ้น ทำบ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุดเวลามันขาด เวลามันขาดนะ เวลามันขาดขึ้นมา มันเป็นปัจจัตตัง

เวลาถ้ากิเลสมันขาด กิเลสในหัวใจของเรา แล้วมันขาดจากใจของเราออกไป เรารู้ได้ชัดเจนมาก เขาเรียกว่า “ขณะจิต” ถ้าขณะจิต เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านสนทนาธรรม ท่านสนทนาธรรมกันเรื่องอย่างนี้ ถ้ามันขาดโดยความเป็นจริงจะพูดได้ชัดเจนมาก ทีนี้พอพูดได้ชัดเจนมาก มันรู้ขึ้นมากับจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นจะชัดเจนกับจิตดวงนั้น แล้วจิตดวงนั้นพอชัดเจน มันมีความมหัศจรรย์ เพราะสิ่งนี้โลกเขาแสวงหา ทุกคนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ต้องพยายามเข้าสู่เป้าหมายนี้ แล้วคนที่ปฏิบัติเข้าสู่เป้าหมายนี้ อริยสัจมันมีหนึ่งเดียวไง ใครจะปฏิบัติทางวิธีการสิ่งใด จะปฏิบัติตามแนวทางใด ปฏิบัติตามลัทธิใด

ลัทธิ หมายถึงว่า นิกายต่างๆ ของพระพุทธศาสนา

จะปฏิบัติตามลัทธิใด จะปฏิบัติตามนิกายใด จะปฏิบัติสิ่งใดแล้วแต่ เวลาเข้าสู่ความจริงก็ความจริงอันนี้ ความจริงอันหนึ่งนี้ ผู้มีราตรีเดียวๆ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นคว้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ได้สัจจะความจริงแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ ชาวพุทธจะนิกายใด จะช่องทางปฏิบัติใด ถ้าเป็นความจริงก็เป็นความจริงอันเดียวกัน ถ้ามันไม่เป็นอันเดียวกันมันจะเป็นผู้มีราตรีเดียวได้อย่างไร

แต่นี่ผู้ปฏิบัติแล้วถ้ามันเข้าสู่สัจจะความจริง เวลามันพิจารณาแล้วมันขาด มันมหัศจรรย์มาก แล้วมหัศจรรย์นี้เป็นผู้มีราตรีเดียวหรือยัง? ยัง เพราะเกิดอีก ๗ ชาติ อย่างน้อยเกิดอีก ๗ ชาติ ๗ ชาติคือมีชีวิตอีก ๗ หน การเกิดอีก ๗ หน ภพชาติอีก ๗ หน มันราตรีเดียวไหม? มันอีกมหาศาลเลย ถ้าอีกมหาศาล ถ้ามีคนมีสติปัญญานะ มีความสุข ความสุขเพราะอะไร

ระหว่างที่เราปฏิบัติ เวลาทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด เวลาปฏิบัติแล้วเป็นผลขึ้นมา นี่สุข เราก็อยู่กับความสุขของเรา แล้วเราปฏิบัติต่อเนื่องขึ้นไป ทีนี้ปฏิบัติต่อเนื่องขึ้นไป “โดยธรรมชาติของความรู้สึกนึกคิดเราปฏิบัติไม่เป็น เราก็ล้มลุกคลุกคลานขนาดนี้ แต่เราปฏิบัติเป็นแล้วมันจะต้องเบาบางลง” นี่ความคิดของเรา

แต่ในทางความเป็นจริง ในเมื่อหลานกิเลสมันก็มีเล่ห์เหลี่ยมของมันก็เพียงเท่านี้ ถ้ามันเป็นลูก มันมีลูกกิเลส มันก็ต้องมีกำลังมากกว่า เล่ห์กลของมันจะมหาศาลเลย ฉะนั้น สิ่งที่เรามีกำลังแล้ว เราปฏิบัติเป็นของเราแล้ว ถ้าเราไม่หลง ไม่ติดว่านี่คือนิพพาน ถ้าใครหลงติดว่านี่คือนิพพาน

เขาบอกผู้ที่มีราตรีเดียว ผู้ที่มีราตรีเดียวคือเขาทำลายอดีตอนาคต ทำลายการเคลื่อนไปของจิต มันถึงเป็นหนึ่งเดียว แต่ถ้ามันยังไม่ทำลายการเคลื่อนไป มันยังมีการสะสมอีกมหาศาล ถ้าสะสมอีกมหาศาล เราทำความสงบใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วเรายกขึ้นสู่กาย สู่เวทนา สู่จิต สู่ธรรม สู่สติปัฏฐาน ๔ อันละเอียด

ถ้าสู่สติปัฏฐาน ๔ อันละเอียด เราจับแล้ว แม้แต่เราผ่านมาแล้ว เราผ่านการประพฤติปฏิบัติในความเป็นจริง เราพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ จนสังโยชน์ สักกายทิฏฐิความเห็นผิดมันขาด มันขาดออกไปจากใจ พอมันขาดออกไปแล้วมันมั่นใจ มั่นใจมาก

เริ่มต้นจากเราไม่มีต้นไม่มีปลาย คือเราจับต้นชนปลายไม่ได้ เราไม่รู้ว่ามันจะขึ้นต้นที่ไหนแล้วจบลงที่ไหนในการเวียนว่ายตายเกิดของจิตดวงนี้ ขณะที่เราเป็นปุถุชนมันไม่มีต้นไม่มีปลาย เราจับต้นอะไรไม่ได้เลย แต่เพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นแนวทางเท่านั้น เวลาเราคิด เราก็คิดตามแนวทางในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มันไม่เป็นข้อเท็จจริงกับใจของเรา

แต่เราเป็นชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ บริษัท ๔ ก็เป็นเจ้าของศาสนา เราศึกษามาแล้วเราก็มีสิทธิ เรามีสิทธิ เราจะนึกจะคิดของเรา เราก็เป็นผู้ที่มีสิทธินึกคิดเท่านั้น แล้วเราปฏิบัติขึ้นไปมันไม่เป็นความจริง เราก็เวียนว่ายตายเกิดตามนั้น เวียนว่ายตายเกิด แต่เราไม่รู้จริงในใจของเรามันถึงเวียนว่ายตายเกิดไง

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรามีสติมีปัญญาสามารถทำความสงบใจของเราเข้ามาได้ แล้วพอใจสงบแล้วเราใช้ปัญญาของเราเป็นภาวนามยปัญญา ชำระล้างจนสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสมันขาดไป พอมันขาดไป มันรู้ขึ้นมาจากใจ ถ้าเกิดอีก ๗ ชาติ คำว่า “เกิดอีก ๗ ชาติ” นี่คนมีความหวังนะ เกิดอีก ๗ ชาติ เพราะมันคำนวณได้แล้วไง มันนับได้ มันคำนวณได้ เหมือนคนติดคุกแล้วมีวันกำหนดออก มีวันกำหนดออก ๗ ชาติ

แต่ถ้าเราไม่ต้องกำหนดออกว่าวันไหน เราจะทำให้เป็นปัจจุบันนี้เลย ถ้าปัจจุบัน ทำความสงบใจเข้ามาแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา วิปัสสนา เพราะขณะที่เราภาวนาเป็น พื้นฐานมันจะบอกว่าวิธีการทำแบบนี้ ถ้าวิธีการทำแบบนี้ปั๊บ เวลาเราจิตสงบแล้วเราจับ เราจับ เราทำได้ จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม พิจารณาของเรา พิจารณาในปัจจุบัน สิ่งใดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่ต้องไปเอาอดีต ไม่ต้องไปเอาสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว อันนั้นระยะห่างมันกว้างเกินไป เอาปัจจุบัน จิตสงบแล้วมันจับต้องสิ่งใด ตรงนั้นน่ะ แล้ววิปัสสนาไป จะเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม เราวิปัสสนา แต่กิเลสมันก็ละเอียดขึ้น กิเลสมันละเอียดขึ้น มันพลิกแพลงขึ้น ปัญญาที่เราเคยใช้เราก็เคยใช้ แล้วเราใช้ของเรา พิจารณาของเราบ่อยครั้งเข้าๆ มันเยอะมันก็จะปล่อย คำว่า “ปล่อย” คือ ตทังคปหาน

ที่บอกว่าการกำหนดพุทโธจำเป็นตั้งแต่เริ่มต้นและระหว่างที่ปฏิบัติ จนถึงที่สุด พุทโธ จิตต้องได้อาศัยพัก จิตนี้ต้องอาศัยลับความคมกล้าของจิต จิตนี้ต้องอาศัยสิ่งนี้เพื่อปลุกปลอบให้จิตมีกำลัง ให้จิตมีปัญญาขึ้นมา เวลามีปัญญาขึ้นมา ปัญญามันก็จะแยกจะแยะของมัน ถ้ามันเหนื่อยล้า พิจารณาไปแล้วมันไม่ก้าวหน้า กลับมาพุทโธ กลับมาพุทโธเพราะเหตุใด กลับมาพุทโธให้มันคมกล้า จะให้มีกำลังขึ้นมา เพราะถ้าเราขุดคุ้ยหากิเลสจนจับกิเลสได้ จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม การขุดคุ้ยหาตัวตนของมัน ถ้ามันจับตั้งได้แล้ว เหมือนกับเราจับจำเลยได้ เราจับผู้ต้องหาได้ มันจะอยู่กับเรา เราจับได้

แต่ถ้าจับไม่ได้ จิตสงบขนาดไหนก็จับไม่ได้ไง ที่บอกว่าปัญญาจะเกิดเองๆ...เป็นไปไม่ได้ ปัญญาจะเกิดเองโดยสมาธิไม่ได้ สมาธิเป็นสมาธิ ปัญญาเป็นปัญญา แต่ถ้าไม่มีสมาธิมันก็เป็นกิเลสล้วนๆ มันเป็นสมุทัยล้วนๆ ถ้ามีสมาธิ สมาธิทำให้สมุทัยสงบตัวลง แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาๆ มันต้องขุดคุ้ยหากิเลสจนเจอ ถ้าหากิเลสเจอ จับกิเลสไว้ได้ มันเป็นผู้ต้องหาแล้ว เราจะวิปัสสนามันเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าจะวิปัสสนาเมื่อไหร่ก็ได้ เวลาถ้ามันทำงานไปแล้วถ้ามันเหนื่อยมันอ่อนขึ้นมา เราก็กลับมาพุทโธไง เราก็พุทโธ พุทโธถึงจำเป็นตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุด มันคอยทำให้มีกำลัง คอยทำให้มันมีความสงบระงับ คอยส่งเสริมให้มีปัญญาก้าวเดินไปได้

ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิมันเป็นสมุทัยทั้งหมด ไม่มีสมาธิ เห็นไหม หลานกิเลส ลูกกิเลสมันพลิกแพลงๆ “ผู้มีราตรีเดียว ผู้ที่ปล่อยวางไปแล้วมันจะต้องไปภาวนาอะไรมากมายขนาดนั้น” เวลาภาวนาไป เวลาถ้าจิตใจมันอ่อนแอ ปัญญาความคิดอย่างนี้จะเกิดขึ้น แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานนั่นน่ะ

แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา ล้มลุกคลุกคลานแล้ว เห็นไหม การเกิดและการตายอีก ๗ ชาติ เราจะเวียนว่ายตายเกิดอีกหรือไม่ ถ้าเราจะไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก เราจะต้องมีกำลังมากขึ้น คนทำงาน ครูบาอาจารย์ที่ทำงานท่านลงทุนลงแรงไปมากกว่านี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีครูมีอาจารย์ ท่านยังรื้อค้นของท่านขึ้นมาได้เอง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านขึ้นมา ท่านมีครูบาอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ครูบาอาจารย์ที่ชี้นำไม่มี ท่านก็ต้องหาที่ปรึกษา ถ้าเราไม่มีที่ปรึกษา ไม่มีผู้ปรึกษา เราก็ปรึกษาเอาจากตำรับตำรา ปรึกษาเอาตามทางวิชาการ เปิดเพื่อปรึกษา ถ้าเราใช้ปัญญาของเราไปไม่ตลอดรอดฝั่ง เราออกจากสมาธิ ออกจากภาวนา เราก็ค้นตำรา ออกมาเปรียบเทียบเคียง แล้วเทียบเคียงเสร็จแล้วเราก็มาเอาความจริงในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่มันค้นคว้า มันประพฤติปฏิบัติของมันตามความเป็นจริงแบบนี้

เวลามันท้อมันแท้ขึ้นมา ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมา ความทุกข์ที่ท่านลงทุนลงแรงไปมันมากกว่าเรามหาศาล เพราะอะไร เพราะในการปฏิบัติในปัจจุบันนี้ตำรับตำราก็มี ตำรับตำราทางกรรมฐานก็มี ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแล้วได้ผลขึ้นมา ท่านเขียนประวัติของท่านไว้เป็นแนวทางก็มี คำว่า “ก็มี” คืออำนาจวาสนาของท่าน เราเอามาเทียบเคียง แล้วถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา เรามีวุฒิภาวะแค่ไหนเราจะรู้ได้เลยว่า ๑ ๒ ๓ ๔ มันถูกหรือไม่ถูก

ถ้ามันถูกขึ้นมา มันถูกขึ้นมาแล้วมันก็เชื่อถือได้ไง มันถูกขึ้นมาแล้วมันก็เป็นสิ่งที่เอามาเป็นคติธรรมที่เราจะพยายามค้นคว้าขึ้นมาได้ไง แต่ถ้าเราจะทำให้เป็นเหมือนแบบนั้นๆ...ไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นปัจจุบันของท่าน มันเป็นอำนาจวาสนา มันเป็นกิเลสในใจของท่าน แล้วคุณธรรมที่ท่านได้สร้างสมขึ้นมามันสมดุลกันๆ มันก็ชำระกิเลสของท่านเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วมันติดขัด มันติดขัดแล้วมันไม่มีกำลังพอ เราก็เทียบเคียงสิ ครูบาอาจารย์องค์นี้ท่านถนัดวิธีการอย่างนี้ ครูบาอาจารย์องค์นี้ท่านถนัดอย่างนี้ ท่านทำอย่างไร แล้วเราถนัดอย่างไร ถนัดแล้วปฏิบัติแล้วได้ผลหรือไม่ ถนัดแล้วปฏิบัติแล้ว กิเลสมันยุบยอบลง ปฏิบัติแล้วมันปล่อยมันวาง มันทำให้จิตใจเราเบาบางขึ้นมาเราก็ทำได้ เห็นไหม เอาสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านทุกข์ท่านยากมาเป็นคติธรรม มาเป็นกำลังใจของเรา แล้วเราก็ทำความจริงของเราให้เกิดขึ้น ทำความจริงให้เกิดขึ้น

หมั่นกระทำ กระทำของเราบ่อยครั้งเข้าๆ กำลังมันต้องพัฒนาขึ้นไง ถ้าสมาธิ คนที่ทำมีความชำนาญ พอสมาธิมันเบาบางท่านก็กลับมาทำสมาธิให้มากขึ้น แล้วถ้าออกใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาจนฟั่นเฝือ ท่านก็กลับทำสมาธิ ถ้ากลับทำสมาธิ สมาธิมันแก่กล้าเกินไป ท่านก็ฝึกหัดใช้ปัญญา นี่ความสมดุล มรรค ๘ ธรรมจักร จักรที่มันเคลื่อน ปัญญาที่มันหมุน มันจะเห็นนะ เห็นว่าเวลาปัญญาเรามันหมุน ปัญญาที่มันฟาดฟัน มันมหัศจรรย์นะ “เอ๊ะ! เมื่อก่อนโง่ก็โง่เสียเหลือเกิน ทำอะไรก็ไม่เห็นก้าวหน้าเลย แต่ในปัจจุบันนี้ แหม! ทำไมปัญญามันยอดเยี่ยมขนาดนี้”

ยอดเยี่ยมต่อเมื่อ มีสมาธิ ยอดเยี่ยมต่อเมื่อมันเป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาที่ถูกต้องดีงาม

แต่ถ้ามันเป็นมิจฉา เพราะสมุทัยมันเข้ามาสอดเข้าไป มันเป็นปัญญาเหมือนกัน แต่ปัญญาสมุทัย ปัญญาของกิเลส “เป็นอย่างนั้นแล้ว ปล่อยวางแล้ว ผู้มีราตรีเดียวแล้ว ผู้เป็นหนึ่งเดียวแล้ว” เราก็เชื่อเพราะเราคิดเอง สักเดี๋ยวมันก็เสื่อม เสื่อมแล้วก็ต้องต่อสู้กันบ่อยครั้งเข้าๆ นี่ระหว่างกิเลสกับธรรมมันพลิกแพลงอยู่ในหัวใจของเรานะ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เวลามันปล่อยๆๆ ปล่อยแล้วอย่าชะล่าใจ

คนที่ปฏิบัติปล่อย ปล่อยก็คือปล่อย ปล่อยก็คือวงรอบหนึ่งของปัญญา วงรอบหนึ่งของปัญญาที่เราทำความสะอาดในบ้านเราสะอาดแล้ว เราอาศัยอยู่ในบ้าน เดี๋ยวก็สกปรกอีก ในเมื่อมันยังมีกิเลสอยู่ในใจ กิเลสมุทัยมันคายแต่พิษ มันคายแต่ความให้เราชอกช้ำทั้งนั้นน่ะ ถ้าเราชะล่าใจ มันก็ต้องแสดงตัวของมันธรรมดา ถ้าเราไม่ชะล่าใจนะ เราอยู่บ้านอยู่เรือนของเรา เราก็เก็บรักษาของเรา เราเป็นคนเก็บกวาดเอง เรารู้ เก็บได้ง่ายๆ เก็บกวาดอยู่อย่างนั้นน่ะ จนมันถึงที่สุด เก็บกวาดบ้านมันก็ต้องเป็นวัตถุ มันจะอยู่อย่างนั้น

เก็บกวาดธรรม มัชฌิมาปฏิปทามันสมดุลของมัน เวลามันสมุจเฉทปหาน มันขาด พับ! โลกนี้ว่าง เห็นไหม โลกกับธรรมแยกออกจากกัน เป็นความจริง โลกนี้ราบหมด รวมใหญ่เต็มที่เลย นี่ความสุขเต็มที่ ความสุขมันประกาศขึ้นมาที่ไหน? มันประกาศขึ้นมาจากใจ มันเป็นสันทิฏฐิโกกับใจดวงนั้น

ถ้าใจดวงนั้นมีความสุข แล้วออกมาแล้วมันละล้าละลังแล้ว การค้นคว้าพิจารณาต่อเนื่องไปมันละเอียดขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่ละเอียดขึ้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ต้องทำสมาธิให้แข็งแรงขึ้น พอแข็งแรงขึ้นแล้ว การค้นคว้า การหา ระหว่างขณะจิตที่ทำไปแล้ว สติปัฏฐาน ๔ ขณะที่ทำไปแล้ว กาย เวทนา จิต ธรรม สมุจเฉทปหานมันขาดหมดเลย แล้วจะเริ่มต้นจุดต่อ ต่อเนื่องไปอย่างไร

เริ่มต้นต่อเนื่อง ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านจะให้กำลังใจยกขึ้น ทำให้เกิดมหาสติ-มหาปัญญา มันต้องทำให้สติแก่กล้า ทำให้สมาธิเข้มแข็ง แล้วแสวงหา พยายามขุดคุ้ยหาให้เจอ ถ้าหาเจอได้ มันเจออะไร? ก็เจอ กาย เวทนา จิต ธรรมนั่นแหละ แต่นี้มันจะเป็นพ่อ

สิ่งที่เป็นพ่อ พ่อบ้านในบ้าน พ่อเป็นหลักชัยในบ้าน ปู่ย่าตายยายเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ เราก็ดูแลรักษาไว้ แต่พ่อแม่ในบ้านจะเป็นคนควบคุมทั้งหมด ถ้าในการประพฤติปฏิบัติ นี่แม่ทัพ แม่ทัพเขาจะมีกษัตริย์เป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่แม่ทัพ ความโลภ ความโกรธ ความหลงอันนี้สำคัญมาก

ถ้าความโลภ ความโกรธ ความหลง เวลาถ้าจับต้องได้มันจะฟูขึ้นมา

ถ้าจับต้องไม่ได้นะ ถ้ายังค้นคว้าหาไม่เจอ “ว่าง หาสิ่งใดก็ไม่ได้ โอ๋ย! เป็นผู้ที่มีราตรีเดียว หนึ่งเดียวเท่านั้น” หนึ่งเดียวแล้วรักษาใจไว้นะ หนึ่งเดียวโดยการรักษาไว้ กลัวมันจะไม่หนึ่งไง แต่มันจะเป็นหนึ่งได้อย่างไร เพราะว่าถ้าโลกกับธรรมแยกออกจากกันโดยสัจจะก็ยังตัดกามราคะไม่ได้ มันจะหนึ่งเดียวไปไหน นี่ในกามราคะ มันจะหนึ่งเดียวไปไหน มันก็ต้องหมุนไปในวัฏฏะ มันยังมีภพชาติข้างหน้า มันจะหนึ่งที่ไหน

หนึ่งของเรา ราตรีเดียว ไม่มีวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ ไม่มีเมื่อวานกับพรุ่งนี้ มันเป็นราตรีเดียว ราตรีเดียวเพราะจิตนี้มันเป็น เอโก ธมฺโม จิตนี้เป็นหนึ่ง ไม่ใช่สอง เอโกหมายถึงจิตเอก จิตหนึ่ง แล้วมันเป็นหนึ่งอย่างไรล่ะ ถ้าสมาธิก็จิตหนึ่งเหมือนกัน แต่หนึ่งของสมาธิไม่ใช่หนึ่งของธรรม แล้วถ้ามันมีของมันล่ะ มันมีของมัน มันต้องค้นคว้า ต้องมีมหาสติ-มหาปัญญา เพราะมันจับต้องได้ พอจับต้องได้ มันฟูขึ้นมา รุนแรงมากนะ รุนแรงมาก มันรุนแรงเพราะอะไร

เพราะว่าโดยธรรมชาติ เราไม่รู้ว่าเสือใหญ่ พญามารอยู่ในใจ เราก็อยู่กับมันด้วยความสงบระงับ แต่ถ้าเรารู้เมื่อไหร่ เราจะอยู่ได้ไหม เราอยู่ในบ้านของเรา แล้วบ้านของเราปลอดภัย แต่ถ้าบ้านของเรามันมีมหาโจรอยู่ในบ้าน เรากล้าอยู่ในบ้านนั้นไหม เราอยู่ในบ้านกับมหาโจรในบ้านเราไม่ได้หรอก เพราะมหาโจรมันจะเอาทรัพย์สมบัติด้วย แล้วถ้าเราขัดขืน มันฆ่า มันฆ่า

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นตัวมัน เราก็ไม่รู้จักมันเหมือนกัน แต่พอเราค้นคว้า เราจับต้องได้ เราขุดคุ้ยหาเจอนะ นี่! นี่! นี่! สิ่งนี้มันเป็นกามราคะ แล้วกามราคะมันจะต่อสู้กันอย่างไร

เวลาต่อสู้ ถ้ามันสู้ไม่ไหวก็ต้องกลับมาพุทโธอีก พุทโธนี่แหละเป็นตัวที่ทำให้มีกำลังขึ้นมา พุทโธทำให้ต่อสู้ พุทโธก็คืออาวุธ พุทโธทำให้เกิดสติปัญญาจะเข้าไปต่อสู้กับกามราคะ ตรงนี้รุนแรง การปฏิบัติตรงนี้รุนแรงมาก ถ้ารุนแรง เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้ถึงที่สุดให้ได้ มันจะล้มลุกคลุกคลาน

การปฏิบัติมันต้องมีครูบาอาจารย์เป็นหลังอิงแล้วพยายามต่อสู้ ต่อสู้กับกามราคะในหัวใจ กับวายร้ายในใจ วายร้ายนี้สำคัญมาก แม่ทัพใหญ่ที่ความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งใดๆ มันก็หามาพอกพูนในใจนี้ สิ่งใดๆ ที่เวียนว่ายตายเกิดมาก็เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุนี้ทั้งนั้นน่ะ แล้วเพราะเหตุนี้แล้วเราจะถอนมันอย่างไรล่ะ

ถ้าเราจะถอนนะ ถ้าจับได้แล้วพิจารณาซ้ำ พอพิจารณาซ้ำ สิ่งที่เป็นแม่ทัพ เล่ห์กลมันจะมหาศาล พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มันละเอียดเข้าไป ละเอียดเพราะอะไร เพราะเป็นมหาสติ-มหาปัญญา

เพราะเราล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่แรก ขณะที่เราล้มลุกคลุกคลานมา เราปฏิบัติขึ้นมา จับจด พอยืนตัวได้แล้วก็ยังเซซวนตลอดเวลา จนขนาดที่ว่าทำด้วยความมั่นคง ทีนี้ความมั่นคง สิ่งที่ว่ากามราคะ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเป็นน้ำป่า น้ำที่รุนแรง สิ่งที่รุนแรง รุนแรงในการปฏิบัตินะ รุนแรงระหว่างการปฏิบัติในหัวใจ ระหว่างกิเลสกับธรรมที่มันเผชิญหน้าต่อกันนี่รุนแรงมาก

ทีนี้การรุนแรงมาก ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาจนมีคุณธรรมอย่างนี้ ท่านจะเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาทั้งวันทั้งคืนอยู่ของท่านองค์เดียว ท่านจะหลีกเร้น หลีกเร้นไม่ใช่หลีกเร้นประชดประชันใคร หลีกเร้นเพราะในใจมันกำลังประหัตประหารกันระหว่างกิเลสกับธรรมที่มันต่อสู้กัน มหาสติ-มหาปัญญาต่อสู้กับกิเลสไง ต่อสู้กับพญามารที่มันใช้จอมทัพเข้ามาเพื่อครอบงำจิตใจดวงนี้ไง จิตใจดวงที่ว่าเป็นของเราๆ จิตใจที่เวียนว่ายตายเกิดที่เราหาใครก็ไม่เจอ เวลาปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน “ผู้มีราตรีเดียว” จิตสงบก็ว่า “มีราตรีเดียว มันไม่มีอะไรอีกแล้ว ไม่มีอะไรอีกแล้ว” เวลาปฏิบัติไป มันเผชิญหน้ามหาศาล

พิจารณาซ้ำพิจารณาซากขึ้นมาด้วยมหาสติ-มหาปัญญา รุนแรงมาก รุนแรงขนาดไหน พัก แล้วปฏิบัติ พักแล้วพยายามต่อสู้กับมัน มันจะปล่อยวางแล้วขนาดไหน รื้อค้นตลอด เล่ห์กลของมัน เล่ห์เหลี่ยมของจอมทัพร้ายกาจนัก ร้ายกาจกับใคร? ร้ายกาจกลางหัวใจ เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมันก็ว่าสิ่งนี้ดีงาม เวลามันปล่อยวางขึ้นไปก็นึกว่าสิ่งนี้สุดยอด เวลามันจะปล่อยมันก็ล่อลวงนะว่า “ควรจะปล่อยอย่างนี้ ควรจะทำอย่างนี้” เรามัชฌิมาปฏิปทาไม่สมดุลสักที ปล่อยขนาดไหน ปล่อยแล้วมันเดี๋ยวก็พลิกแพลงกลับมา เพราะระหว่างกิเลสกับธรรม มันพยายามเอาตัวรอดอย่างเดียว มันจะทำให้เราเสื่อมถอย

แต่เพราะเราได้ประพฤติปฏิบัติมา เราได้มีแนวทางมา เรามีครูบาอาจารย์เป็นคติเป็นแบบอย่าง เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ เราปฏิบัติ สิ่งที่ผ่านมามันแค่ปฏิบัติมามันแค่ ๒ ขั้นตอน เวลาทำต่อเนื่องๆ ไป จนถึงที่สุดมันเข้าไปทำลายกลางหัวใจนะ เข้าไปทำลายกลางหัวใจเพราะมันละเอียดลึกซึ้งไง ละเอียดเข้าไป

สิ่งที่เราทำมา เปลือกส้ม เนื้อส้ม ใจกลางของส้ม ความละเอียดเข้าไป ปอกส้มมันมีหลายซับหลายซ้อน เวลาเข้าไป เราจะทำเข้าไป พิจารณาเข้าไปถึงที่สุดแล้วเวลามันขาด มันสะเทือนเลื่อนลั่นกลางหัวใจเลย เพราะมันจะไม่เกิดบนกามราคะ

กามราคะนี่เทวดาลงมาไง เทวดายังเสพกามกันอยู่ไง มันสะเทือนเลื่อนลั่นเลย สะเทือนเลื่อนลั่นกลางหัวใจ เพราะอะไร เพราะหัวใจมันเป็นตัวเกิด ก็ปฏิสนธิจิต ภวาสวะ ภพ ที่ว่าหนึ่งเดียว ที่ว่าเป็นนามธรรมที่ไม่มีใครเคยรู้เคยเห็นมัน แต่เราเป็นคนทำเอง แล้วมันเกิดขึ้นมาต่อหน้า ต่อสายตาของธรรมที่เกิดขึ้นกับใจ เวลามันทำลายแล้วว่างหมดเลย เราพิสูจน์กันไป ตรวจสอบต่อเนื่องไป แล้วมันยังจับเศษส่วนของมันได้ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็ปล่อยๆๆ ปล่อยก็คิดว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม...ไม่ใช่ มันปล่อย ปล่อยเพราะว่าเราเก็บเศษเก็บสิ่งที่มันคาใจออก

ถ้าเก็บสิ่งที่คาใจออก ละเอียดขึ้นไปๆ ละเอียดขึ้นไปก็หมดเลย จับสิ่งใดไม่ได้เลย ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ สิ่งที่ว่า “ผู้มีราตรีเดียว เพราะมันไม่มีสิ่งใดแล้ว มันเป็นผู้มีราตรีเดียว”...ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะว่าถ้าดับขันธ์ที่นี่ไปเกิดบนพรหม อีกภพชาติหนึ่ง ราตรีได้อย่างไร มันมีอนาคตไง เพราะมันเกิดได้ มันยังมีภวาสวะ มันมีภพ มันมีจิต มันต้องไป แล้วมันราตรีเดียวได้อย่างไรล่ะ ชาติหนึ่งราตรีเดียวได้อย่างไร อายุของพรหมมันยาวไกลขนาดไหน ถ้ามีสติมีปัญญานะ มันจะทำความสงบให้มากขึ้น

พอสงบมากขึ้นมันจะละเอียดมากขึ้น ละเอียดเพราะมันจะเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไง มันจะเป็นปัญญาญาณ ถ้ามีปัญญาญาณ อรหัตตมรรค มีอรหัตตมรรคมันถึงจับภวาสวะ จับภพได้ จับภพได้ก็จับจิตเดิมแท้ได้ จับจิตเดิมแท้ ภวาสวะ ตัวภพ ตัวภพเกิดบนพรหม ละเอียดขนาดไหนมันก็มี แต่ละเอียดขนาดไหนก็ต้องสติปัญญาที่ละเอียดลึกซึ้งขนาดนั้นมันถึงจะจับกันได้ ถ้ามันจับได้แล้วพิจารณาโดยความละเอียดนะ

การพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นมาจนเป็นน้ำป่าขนาดที่ว่ามีสมาธิเป็นพื้นฐานแล้วต้องมีปัญญา มันเป็นปัญญาสังขาร มันเป็นปัญญาในขันธ์ แต่เวลาขันธ์ไม่ใช่จิต เวลาจิตมันเป็นเฉพาะจิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต เวลาจิตของมันละเอียดขึ้นไปแล้วเป็นพลังงาน เป็นพลังงานคือมันเป็นจิตเดิมแท้

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ผู้ข้ามพ้นกิเลส”

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสๆ ถ้าผ่องใสมันไม่ใช่ขันธ์นะ แล้วมันจะเกิดปัญญาอย่างไรล่ะ

ปัญญาในตัวของมันเองนะ ปัญญาในตัวมันเอง ปัญญาญาณ ญาณหยั่งรู้มันเป็นญาณ ไม่ใช่ความคิด แล้วทำอย่างไรล่ะ

มันถึงมีครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ท่านจะรู้ของท่าน แต่ของเรา เราปฏิบัติแล้วเราก็จินตนาการคาดหมาย พยายามจะขโมยของพระพุทธเจ้ามา แล้วพยายามจะไปขโมยของครูบาอาจารย์มาเป็นสมบัติของเราด้วย มันก็เลยเป็นผู้ที่มีราตรีซับซ้อน เพราะราตรีในจิตนี้มันก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่แล้ว ยังไปขโมยมาให้มันเป็นการทุจริตในการปฏิบัติอีก ซับซ้อนเข้าไป

แต่ถ้าทำจริงของเรามันจะละเอียดลึกซึ้งขึ้นมา มันจะเห็นชัดของมัน จะชัดเจนขึ้นมา เวลาอรหัตตมรรคเข้าไปจับ จับสิ่งนี้ได้ การจับมันเป็นวุฒิภาวะที่สูงส่งมาก เพราะว่าถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านพอปล่อยวางหมดแล้ว มันจะไม่หันกลับ ไม่มีพลังงานชนิดใดย้อนกลับเข้ามาสู่ตัวมันเอง พลังงานทุกชนิดต้องคลายตัวออก พลังงานทุกชนิดต้องส่งออก พลังงานที่จะย้อนกลับไม่มี แต่เพราะมันเป็นอรหัตตมรรค คำว่า “อรหัตตมรรค” เป็นมรรคไง มรรคอันละเอียด มันมีกำลังขึ้นมา มันจะย้อนกลับ ถ้าย้อนกลับ มันก็จับตัวมันได้ ถ้าย้อนกลับจับตัวมันได้ แล้วเอาปัญญาสิ่งใดจะไปขุดคุ้ยล่ะ

มันตั้งให้สมดุล พอสมดุลขึ้นมามันเข้าไปสู่ตัวมันเอง แล้วจะทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ปฏิสนธิจิต ภพ ภวาสวะ สิ่งที่จะไปเกิดบนพรหม เห็นไหม เพราะทำลายจบสิ้น เพราะไม่มีภพ ไม่มีภวาสวะ ไม่มีภพ ไม่มีสิ่งต่างๆ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นิพพานนั้นคือผู้ที่มีราตรีเดียว เพราะไม่มีภพ ไม่มีสถานที่ ไม่มีการเวียนว่าย ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีทั้งการไปและไม่มีการมา มันอยู่ของมันอย่างนั้น ถึงว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์เป็นภาระ มีสิ่งที่อยู่อย่างนั้น

สิ่งที่ทำลายๆ มา ทำลายอวิชชา ทำลายกิเลส ไม่ได้ทำลายขันธ์ ไม่ได้ทำลายสิ่งใดทั้งสิ้น ยิ่งทำลายยิ่งสะอาดยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งทำลาย ชีวิตยิ่งผ่องแผ้ว ชีวิตนี้ยิ่งสมดุล ชีวิตนี้ยิ่งมีคุณค่า มีคุณค่าไว้ทำไม

มีคุณค่าไว้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา อีก ๔๕ ปีนั้นคือการแสดงธรรมรื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว เวลาครูบาอาจารย์ปฏิบัติไปแล้ว สิ่งที่มีอยู่ก็คือมีอยู่ ผู้ที่มีวุฒิภาวะเสมอกัน ผู้ที่มีวุฒิภาวะเหมือนกันมันถึงกันได้ด้วยความเสมอกัน

อาหาร ๔ มโนสัญเจตนาหาร ความถึงกันได้ ความเป็นไปได้ คนที่มีวุฒิภาวะเหมือนกัน ชอบเหมือนกันก็อยู่ในสังคมเดียวกัน คนที่มีวุฒิภาวะสูงส่งขึ้นมาเขาอยู่ในความสูงส่งของเขา เห็นไหม ผู้ที่มีราตรีเดียว

ผู้ที่มีราตรีเดียวมันต้องมีการรื้อค้น มันต้องมีการกระทำ มันต้องมีการสำรอก มันต้องมีการประหัตประหารขึ้นมามันถึงจะมีราตรีเดียว เพราะได้ทำลายกิเลสอวิชชา ทำลายทุกๆ อย่าง เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา” เอวัง