เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑ ก.ย. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! วันนี้วันพระ วันพระเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ให้เราทำบุญกุศลกันไง วันพระ วันโกน มันไปเข้ากับจันทรคติ วันพระ วันโกน เห็นไหม พระจันทร์ น้ำขึ้น น้ำลง น้ำเป็น ปลา ปลาเป็นสิ่งมีชีวิตมันก็มีความรื่นเริงของมัน นี่เวลาน้ำเป็น เวลาน้ำตาย เวลาน้ำแห้ง น้ำลง ปลามันเกยตื้น ปลามันติด มันเกยตื้น มันมีความทุกข์ของมัน

นี่วันพระ วันโกน ถ้าวันพระ วันโกนนะ วันนี้วันทำบุญกุศลของเรา ถ้าวันทำบุญกุศลของเรา บุญกุศลเพื่อหัวใจของเรา ถ้าหัวใจมันมีคุณธรรมในหัวใจนะ สิ่งที่เราทำมา เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีศรัทธาความเชื่อ มีความเชื่อศรัทธา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ สิ่งที่วางธรรมวินัยนี้ไว้ แล้วมีพระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นผู้ที่ทรงธรรมทรงวินัย พยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เรามีความเชื่อมั่นไง

ถ้าเป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาตำรับตำราขึ้นมาก็ว่ามันเป็นฉลากยาๆ ถ้าเราศึกษาฉลากยา เรารู้ถึงคุณสมบัติของยานั้น ถ้ารู้ถึงคุณสมบัติของยานั้น เราก็มีความเชื่อ เราก็แสวงหาคุณสมบัตินั้น แต่ตำรับตำรา คุณสมบัติที่ยาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นตำรายาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคญาณในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชำระล้างกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสร็จสิ้นไปแล้ว แล้ววางตำรานี้ไว้ๆ เราก็ศึกษาตำรานั้นไว้ เราก็มีความเชื่อของเรา มีความศรัทธาของเรา มีความตั้งมั่นของเรา มันถึงมีทาน ศีล ภาวนา

คำว่า “ทาน ศีล ภาวนา” เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตำราๆ บอกไว้ว่าอย่างนั้น ถ้าเรามีการทำทานของเรา เพื่อให้จิตใจของเรามันยอมรับความเป็นจริง ยอมรับความเป็นจริง เห็นไหม

สัจจะความจริงๆ ของสรรพสิ่งในนี้มันเป็นอนิจจังทั้งนั้นแหละ สิ่งที่เป็นอนิจจัง ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นไว้ของเรา มันก็จะเป็นความทุกข์ของเรา แล้วทำบุญกุศลของเรา ทำทานของเราไปเพื่อบุญกุศล เพื่ออำนาจวาสนาบารมี คำว่า “อำนาจวาสนาบารมี” ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราทำบุญกุศลของเรามันต้องได้ผลตอบแทนในทางร่มเย็นเป็นสุข

ความร่มเย็นเป็นสุข จิตใจเราร่มเย็นเป็นสุข อำนาจวาสนาบารมีของเรา สิ่งที่การกระทำทางโลกนั้นเป็นบุญกุศลที่จะต่อเนื่องกันไป มันเป็นอามิสๆ ไง สิ่งที่ทำทานๆ ทำทานของเราขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับเราๆ ถ้าเห็นคุณประโยชน์ มันทำได้ เพราะเราไม่เห็นคุณประโยชน์ คนที่ไม่เห็นคุณประโยชน์ ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เขาบอกว่าสิ่งนั้นเป็นของเขา เขาเสียสละออกไปมันเสียประโยชน์ของเขา เขาจะเอาประโยชน์ของเขา เขาเลยไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดเลย

แต่เรามีศรัทธามีความเชื่อ จิตใจมันเป็นธรรมๆ ขึ้นมา มันเสียสละไปแล้ว สิ่งที่เสียสละไปแล้ว เสียสละไปเราก็เห็นอยู่ มันไม่ไปไหนหรอก มันก็อยู่กับโลกนี้ แต่ใครใช้ประโยชน์กับมันล่ะ คนที่ใช้ประโยชน์กับมันเขาได้ใช้ประโยชน์กับสิ่งที่เราแสวงหามา แล้วเราได้อะไร? เราได้ความพอใจ ได้ความอบอุ่นหัวใจ หัวใจของเรา สิ่งนั้นเป็นผู้นำๆ

ฉะนั้น ถ้าเวลาจิตใจคนที่เป็นธรรมๆ แล้วจะมาประพฤติปฏิบัติ เวลามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันต้องฝึกหัด การฝึกหัดของใจ ที่เรามาทำบุญกัน เราฝึกหัดใจของเรา เวลาเราเกิดขึ้นมา พ่อแม่ว่าเราเกิดขึ้นมา เป็นเราๆ ขึ้นมา ความสุข-ความทุกข์ในหัวใจของเรา พ่อแม่ก็ปรารถนาความดีกับเราทุกๆ คน ในชาติในตระกูลของเรา ทุกคนปรารถนาให้ญาติของตัวมีแต่ความสุขความเจริญทั้งนั้นแหละ นี่ความสุขความเจริญ เจริญแล้วมันมุมมองของใครล่ะ แล้วเรามีความสุขความเจริญตามแบบนั้นไหมล่ะ

ถ้าเราไม่มีความสุขความเจริญตามที่เขาต้องการ แต่เรามีความต้องการ ความสุขความเจริญในหัวใจของเราไง จะอยู่โคนไม้ จะอยู่เรือนว่าง จะอยู่ที่ไหนมันก็มีความร่มเย็นเป็นสุขของเขา ถ้าใจมีความร่มเย็นเป็นสุขของเขา เห็นไหม

ตำรายาๆ ตำรายาคือทฤษฎี คือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะฝึกหัดใจของเราๆ เวลาฝึกหัดใจของเรา ฝึกหัดไป การฝึกหัด เนื้อยาๆ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เรื่องอริยสัจ เรื่องสัจจะความจริง มันเป็นความจริงตามนั้น เราศึกษามาเราก็เชื่อมั่นตามนั้น

เวลาเราจะปฏิบัติขึ้นมา ในขวดยาของเรามันไม่มียา ในขวดยาของเรา ในร่างกายของเราไง ในหัวใจของเรามันยังไม่มีคุณธรรมขึ้นมา ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาปฏิบัติขึ้นไป เวลาจิตมันเริ่มมีความสงบ เริ่มมีความรู้ ความเห็นขึ้นมา สิ่งนี้ผิดไหม? มันไม่ผิด มันไม่มีผิดเพราะอะไร เพราะว่าจิตมันพัฒนาของมันขึ้นไป มันก็ต้องมีวิวัฒนาการของมัน มันต้องพัฒนาของมันขึ้นมาใช่ไหม ถ้าไม่พัฒนาขึ้นมามันก็เป็นเรื่องโลกไง โลกียปัญญา ปัญญาที่เขามีความรู้ความเห็นของเขา นั่นเป็นวิชาชีพของเขา ใครมีการศึกษามาอย่างไร องค์ความรู้ของเขา มันเป็นวิชาชีพของเขา เขามองสังคมในมุมมองของเขา แล้วมุมมองของเขา ดูสิ เวลาปฏิบัติไปตามจริตนิสัย

นี่ก็เหมือนกัน เราจะทำความจริงของเราขึ้นมา ถ้าจิตใจของเรามันสงบระงับเข้ามา มันรู้มันเห็นสิ่งใดนี่ผิดไหม? มันไม่ผิดหรอก มันไม่ผิด แล้วจะก้าวเดินอย่างไรต่อไปล่ะ? สิ่งที่มันไม่ผิด แต่มันก็ต้องพัฒนาขึ้นไป ทำความมั่นคงของใจให้มากขึ้น ทำความสงบของใจเข้ามาให้จิตใจตั้งมั่น

ถ้าจิตใจตั้งมั่นแล้ว เวลาออกฝึกหัดใช้ปัญญามันจะพัฒนาของมัน พัฒนาด้วยความเห็นต่าง ความเห็นที่เราเคยใช้ปัญญา เรามีศรัทธาความเชื่อ เราก็มีความมั่นคงในใจของเรา เวลาเราปฏิบัติไปทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมมันรู้เห็นแตกต่างออกไปอย่างนี้

เวลาพอมันเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาที่มันพิจารณาของมันขึ้นไป มันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป มันเป็นภาวนามยปัญญา เราเห็น เราจะมีความแตกต่างระหว่างโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นกับเรา

ถ้ามันทำอย่างนี้ไปมันจะถูกต้องหรือยัง มันก็ไม่ถูกอีกล่ะ เวลาบอกว่าผิดก็ไม่ผิดนะ ไม่ผิดเพราะอะไร ไม่ผิดเพราะว่าการฝึกหัด การฝึกหัดของเราขึ้นไป ดูเด็กทุกคน ธรรมชาติของคน คนต้องเดินได้ แต่กว่าเขาจะเดินได้ เขาล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เขาต้องเดินได้

แต่หัวใจมันละเอียดกว่านั้น หัวใจละเอียดกว่านั้น เวลามันล้ม มันล้มไปแล้ว มันท้อแท้ มันมีแต่ความทุกข์จนเข็ญใจ แต่เวลามันจะดีขึ้น เวลาเราพัฒนาขึ้น เวลาจิตมันสงบขึ้นมา เราก็ตื่นเต้นไปกับมัน เวลาจะเป็นจริงขึ้นมา เราก็รักษาไว้ไม่ได้ เวลามันล้มลุกคลุกคลานขึ้นมามันจะมีความทุกข์ทั้งนั้นแหละ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง มันเป็นความทุกข์ความจริงตลอด เวลามันมีความสุขล่ะ เวลาจิตมันสงบขึ้นมามันมีความสุข ความรู้ความเห็นต่างๆ

ความรู้ความเห็นนั้นมันเป็นการยืนยันว่าจิตใจเราพัฒนาได้ แต่มันไม่ใช่การยืนยันว่านี้เป็นธรรมๆ เพราะมันไม่อยู่กับเรา นี่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สงบแล้วเดี๋ยวมันก็คลายตัวออกมา มีปัญญา เวลามีปัญญาทะลุปรุโปร่ง โอ๋ย! มีความปลอดโปร่งมากเลย พอหลายๆ วันเข้า พอมันคลายตัวออกมา มันก็เกิดความสงสัยอีกแล้ว

จะว่ามันผิดมันก็ไม่ผิด จะว่ามันถูกมันก็ไม่ถูก มันไม่ถูกเพราะอะไร ไม่ถูกเพราะว่าวุฒิภาวะ ถ้าวุฒิภาวะคนที่เขามีกำลังของเขา เขาจะทดสอบของเขา เขาจะไม่ชะล่าใจ ไม่มักง่าย มีความรอบคอบ ดูแลหัวใจของเรา ตั้งสติไว้ เรามีหน้าที่ทำของเรา น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน เรามีหน้าที่ทำความเพียร

คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร เราต้องมีความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ แต่ความเพียรนั้นก็ต้องเป็นความเพียรตามสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิคือว่า ในตำรายานั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตำราว่าไว้อย่างนั้น ตำราว่าไว้อย่างนั้น เวลาเราปฏิบัติไป ความรู้ความเห็นเราไป ก็บอก “เราว่าอย่างนี้ เราว่าอย่างนี้ เรามีความรู้มากกว่า เรามีปัญญามากกว่า ปัญญาเราทะลุปรุโปร่งมากกว่า” มากกว่านั่นล่ะกิเลสมันหลอกทั้งนั้นแหละ สมุทัยมันเจือปนเข้ามา

ฉะนั้น ถ้ามันสงสัย ทำสิ่งใดไปแล้วมันไม่ก้าวหน้า กลับมาพุทโธไว้ กลับมาทำความสงบของใจไว้ ทำความสงบของใจไม่เสียหาย ทำความสงบของใจ ทำให้ใจตั้งมั่น ใจมันตั้งมั่นมันก็ไม่ท้อแท้ มันก็ไม่ถอยกรูดๆ มันก็ไม่ถอยลงไปจนน่าเบื่อหน่าย เราเดินก้าวหน้าไปไม่ได้ เราก็ถอยมาที่ความสงบของใจ ถอยมา ถอยมาตั้งจิตใจไว้ ให้มั่นคงไว้ แล้วถ้ากำลังมันเข้มแข็งแล้วมันฝึกหัดใช้ปัญญาไปได้

เราเคยอยู่กับครูบาอาจารย์มานะ เวลาจิตเราดี เราตั้งขึ้นมา กายนี้ใสไปหมดเลย ไปรายงานท่าน ท่านบอก “สมาธิดีเกินไป” คำนี้คนไม่เคยได้ยิน แล้วสมาธิดีเกินไป พอมันตั้งกายขึ้นมามันใสเป็นแก้วไปหมดเลย แล้วมันพิจารณาไป มันพิจารณาไปมันก็ใสอยู่อย่างนั้นแหละ ไปถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกนั่นล่ะสมาธิดีเกินไป พอดีเกินไป สมาธิเข้มแข็งเกินไป ปัญญามันอ่อนไง

ถ้าปัญญามันพิจารณาของมัน สมดุลของมัน สิ่งที่ตั้งเป็นกายขึ้นมา ที่ว่ามันใสๆ มันจะละลายลง มันจะแปรสภาพของมันไป ถ้าแปรสภาพอันนั้นคือไตรลักษณ์ คือมันแปรสภาพให้เราดู เห็นไหม ดูสิ เวลาเราพิจารณากาย เราตั้งกายขึ้นมาก็ต้องให้กายมันแปรสภาพ ให้มันเน่า ให้มันพอง ให้มันพุมันพองไป

โดยธรรมชาติ คนตายแล้ว ถ้าไว้ ร่างกายต้องเน่าไป ต้องย่อยสลายไปแน่นอน แต่นี้มันเป็นโดยธรรมชาติไง แต่โดยจิต ให้มันรู้ให้มันเห็นโดยปัจจุบัน ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงเดี๋ยวนั้นเลย มันจะเป็นคาหัวใจเลย มันเห็นชัดๆ มันสำรอก มันสังเวช มันสะเทือนใจอันนั้น นี่มรรค สิ่งที่มรรคคือว่าภาวนามยปัญญา

ฉะนั้น เวลาภาวนาไปๆ เราเคยเป็น เวลาภาวนาไป คำพูดนี้ไม่ค่อยอยากพูด เพราะพูดไปทุกคนบอกว่าฉันสมาธิดี จะเอาบ้างไง

มันไม่ดีหรอก เพราะรู้ไง พอมันเห็นกาย มันใสอยู่อย่างนั้นแหละ มันคงที่ของมันอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วเราก็ภาวนา วุฒิภาวะมันไม่ถึง มันยังไม่เข้าใจ ก็ไปถามอาจารย์ อาจารย์บอกว่าสมาธิเอ็งดีเกินไป

มันยังเถียงนะ ดีอย่างไร ดีอย่างไร เพราะเราทำสมาธิ พอมันเห็นกายใสเป็นแก้วอยู่อย่างนั้นน่ะ มันให้เป็นไปมันไม่ไป นี่กำลังของสมาธิ แต่กำลังปัญญามันน้อย กำลังของปัญญามันด้อย มันต้องฝึกหัด ต้องใช้ปัญญาให้มากขึ้น ให้มันสมดุลระหว่างปัญญากับสมาธิให้มันสมดุลต่อกัน

เวลาวุฒิภาวะที่มันสูงขึ้น พอมันภาวนาไปแล้วมันก็เข้าใจ มันก็รู้ แต่ถ้าสมาธิมันยังไม่เข้มแข็งขึ้นมา แล้วปัญญาของเราก็อ่อนด้อย จะว่าผิดก็ไม่ผิด จะว่าถูกมันก็ไม่ถูก ถ้าถูกมันก็ต้องปล่อยวาง ถ้าถูก เราก็ต้องสดชื่น ถ้าถูกมันก็ต้องดีสิ อ้าว! จะว่าผิดมันก็ไม่ผิด เพราะมันเป็นทางเดิน ผิดได้อย่างไร เพราะมันไม่พัฒนามา มันไม่ก้าวเดินมา มันจะพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร มันก็พัฒนาขึ้นมา แต่พัฒนาแล้วมันแฉลบ มันไปรู้นู่น รู้นี่ เราบริหารจัดการไม่เป็น

จะว่าถูก ถ้าถูกก็ผิดตรงนี้ไง ผิดตรงที่สมุทัยมันเจือปนเข้ามา ถ้าว่าผิด ถ้าผิดมันก็ต้องเป็นสามัญสำนึกของเรา ถ้าจิตปกติอย่างนี้ จิตที่มันดิบๆ อย่างนี้ จิตที่มันทุกข์มันยาก ที่มันคิดโดยที่เราไม่มีสติปัญญา อย่างนี้เริ่มต้นสามัญสำนึกของเรา ปุถุชนคนหนา เวลามันเบาบางลงๆ มันเบาลงมันก็ดีขึ้น แต่ดีขึ้นมันก็มีสมุทัย ยังมีกิเลสเจือปนมาตลอด เห็นไหม

จะว่าผิดมันก็ไม่ผิด จะว่าถูกมันก็ไม่ถูก การประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ต้องชี้คอยแนะคอยบอก คอยให้อุบายไง คอยให้อุบายดึงมันออกมา ดึงจิตออกมา ดึงออกมาแล้วหัดพิจารณา ถ้าพิจารณาไป ถ้ามันไม่สมดุลของมัน ถอยกลับมา ถอยกลับมาที่พุทโธ ไม่มีผิด ถอยกลับมาที่พุทโธ ตั้งใจไว้ ถ้ามันไปไม่ได้ ถอยกลับมาที่พุทโธ ตั้งใจไว้ ให้มันสงบไว้

ทีนี้มันถอยมันก็ถอยไม่ได้ เพราะมันออกไปรู้แล้ว ออกมีปัญญาแล้ว มันเก่งแล้ว มันเก่ง มันจะไปแล้ว มันบอกมันถูก มันจะไปของมันแล้ว แล้วไปแล้วมันก็เป็นสมุทัย สมุทัยคือสัญญา สมุทัยคือจินตนาการ สมุทัยคือปัญญาที่มันเกิดขึ้นโดยที่กิเลสมันควบคุม มันไปมันก็ออก ไปเห็นแสง เห็นสี เห็นเทวดา เห็นร้อยแปดไปเลย นี่มันไปแล้ว แล้วดึงกลับมามันไม่กลับ เพราะกลับมาแล้วมันสงบเฉยๆ ไง

ดูสิ เด็กมันออกไปเที่ยว เรียกมันกลับบ้าน มันกลับไหม พ่อแม่นั่งเฝ้าประตูบ้านทุกวันเลย ลูกยังไม่กลับสักที ลูกยังไม่กลับสักที นี่ใจมันออกไปแล้วไม่กลับมาสักที แล้วบอกให้พุทโธๆๆ กลับบ้านๆ

กลับบ้านไม่สนุก ถ้าออกไปเล่นแล้วสนุก กลับบ้านไม่สนุก แต่กลับบ้านแล้วปลอดภัย กลับบ้านแล้วพ่อแม่ก็อยู่ที่นั่น พุทธะก็อยู่ที่นั่น ธรรมะก็อยู่ที่นั่น สังฆะก็อยู่ที่นั่น ถ้ากลับบ้าน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ที่นั่น เรากลับไปหาพ่อหาแม่ของเรา เรากลับไปหาพุทโธของเรา พุทโธ กลับบ้านๆ กลับมาที่ความสงบของใจซะ เห็นไหม มันไม่ผิด ถ้าไปข้างหน้าไม่ถูก ไม่ถูกก็กลับมาตั้งมั่นก่อน แล้วเวลาออกไป ออกฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้ามันมีสมาธิเป็นพื้นฐาน เวลาออกไปมันจะมีวิปัสสนา

เราฝึกหัดของเราไป เราใช้ปัญญาของเราไป เพราะเราสร้างบุญกุศลของเรามาขนาดนี้ เราไม่ได้สร้างบุญกุศลขึ้นมาแบบขิปปาภิญญาที่ตรัสรู้ง่าย ที่บรรลุธรรมง่าย เราไม่ได้สร้างบุญญาธิการมาขนาดนั้น ถ้าบุญญาธิการขนาดนั้น เขาก็ไม่หลงไปแบบที่เราหลงอยู่นี่ไง เพราะบุญญาธิการไม่ถึง มันถึงไม่ถูกไง

แต่คนที่มีบุญญาธิการของเขา เขาถูกของเขา เพราะว่าเขามีบุญญาธิการของเขา ถ้าบุญญาธิการของเรา เราไม่ถูก ไม่ถูกก็ฝึกหัดไง ไม่ถูกก็จะทำให้มันถูกอยู่นี่ไง ไม่ถูกก็พยายามพิจารณาอยู่นี่ ไม่ถูกก็พยายามดูแลหัวใจอยู่นี่

ฉะนั้น ถ้าไม่ถูกแล้วทำความสงบของใจเข้ามาแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา คำว่า “ฝึกหัดใช้ปัญญา” ลองผิดลองถูก ถ้ามันถูกมันก็สมดุล สมดุลมันก็ปล่อยวาง ถ้ามันผิด มันไปไม่ได้ อย่างเช่นสมาธิมันมากเกินไป มันก็พิจารณาไปไม่ก้าวเดิน แล้วสมาธิมันน้อยไปมันยิ่งฟั่นเฟือนเลย มันยิ่งเป็นสัญญาหมดเลย

แล้วถ้ามันสมดุลล่ะ สมาธิมันสมดุลของมัน ปัญญาก็สมดุล ปัญญาสมดุลคือมันจับต้องในปัจจุบันนั้น รู้เห็นสิ่งใดก็พิจารณาอย่างนั้น แยกแยะอย่างนั้น นี่ตำรายาชี้ไว้อย่างนี้ แล้วเราก็ต้องแสวงหายาของเรา

ส่วนผสมของยาของเราคือมรรค ๘ ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนผสมของเรา เป็นสมุนไพรที่เราจะทำของเราขึ้นมา ให้เป็นปัญญาของเรา ให้เป็นยาของเรา ถ้าในขวดมันมียา เราก็เห็นอยู่ ตำรายามันก็ปะอยู่ที่ขวด แต่ขวดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายาเต็มเลย ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุธรรมไปแล้ว ตรัสรู้ธรรมไปแล้ว เป็นความจริง แต่ของเรา ร่างกายก็คือขวด ก็ขวดเปล่าๆ ยาก็หาไม่ได้ ตำรายาก็ศึกษามาดีแล้ว แปะไว้เลย การันตีเลย ๕ ดาว ๑๐ ดาวเลย แล้วทำไปได้ไหม พยายามฝึกหัดของเราไป

วันพระ เตือนตัวเองอย่างนี้ เตือนตัวเอง บุญกุศลเราก็ได้สร้างแล้ว เราสร้างของเราขึ้นมาเพื่อให้การภาวนาสะดวกสบายขึ้น ให้มีบุญกุศลส่งเสริม ส่งเสริมในการตั้งสติ ส่งเสริมในการประพฤติปฏิบัติ แล้วเวลาปฏิบัติ ปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา ให้มันเป็นความจริงของเรา ให้ขวดนั้นมียา แล้วเราได้ดื่มกินยานั้น ธรรมโอสถๆ ชำระล้างโรคกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเรา

เพราะมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเรา มันมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ มันถึงทำให้จิตใจเราทุกข์เรายาก มันมีความสงสัย มีความวิตกกังวล มีทุกๆ อย่างไปเลย แต่เวลาสำรอก มันคายออกมาแล้ว มันไม่มีสิ่งใดเข้าไปเจือปนในใจนั้นเลย ไม่มีความวิตก ไม่มีความกังวล จะเป็นจะตายมันเป็นเรื่องของสัจจะ เป็นเรื่องของวัฏฏะ เป็นเรื่องของความจริงอันหนึ่ง จิตใจของเรารู้เท่าแล้วมันก็วางหมดแล้ว แต่นี่เราสั่นไหวไปหมด ถ้ามันถึงเวลาของมัน เห็นไหม

ถ้ามีความจริงขึ้นมามันจะเป็นแบบนั้น ถ้าความจริงเป็นแบบนั้น เราฝึกหัดแบบนี้ ให้เป็นความจริงไง ผิดก็ไม่ผิด ถูกก็ไม่ถูก แต่ให้ทำความจริงของเราเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ใครจะว่าผิด ใครจะว่าถูกล่ะ ฉันรู้อยู่ซึ่งๆ หน้าอย่างนี้ มันเป็นความจริงอย่างนี้ มันสำรอก มันคายอย่างนี้ มันเป็นความจริงอย่างนี้

ความจริงของเรานะ ความจริงก็คือความจริง ความจริงมันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติ ใครจะมาส่งเสริมการันตีขนาดไหน นั้นเป็นคำพูดข้างนอก ใจของเรามันรู้ เวลาสงสัยก็รู้ว่าสงสัย เวลามันคายออกก็รู้ว่าคายออก เวลามันตัดขาดก็รู้ว่าตัดขาด เวลาตัดขาด นั่นแหละขณะจิต ขณะจิตที่มันเปลี่ยนแปลงขึ้นไปนะ จากปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

จิตนี้เป็นได้ เป็นได้หลากหลาย เวลาเลวร้าย เลวร้ายนัก เวลามันดี มันดีขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา จนเราก็มหัศจรรย์ เราเป็นคนดีได้ขนาดนี้เชียวหรือ สิ่งนี้เป็นอยู่ในพระไตรปิฎก สิ่งนี้มันอยู่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันมาอยู่ในใจของเราได้อย่างไร เราทำอย่างไร มันมหัศจรรย์ตัวเองขนาดนั้นนะ ถ้าคนเวลามันขลัง เวลาจิตใจมันประเสริฐ มันขลังขึ้นมา มันมหัศจรรย์ขนาดว่ามหัศจรรย์ตัวเอง ว่าตัวเองเป็นได้ขนาดนี้หรือ เอวัง