เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ ก.ย. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ เห็นไหม ทุกคนเขาแสวงหาเพื่อความมั่งมีศรีสุข เราแสวงหาความสุขสงบในหัวใจ การแสวงหาความสุขสงบในหัวใจมันหายากกว่าแสวงหาความมั่งมีศรีสุข ขนาดว่าทำความมั่งมีศรีสุขของโลกเขา เขาแข่งขันขนาดนั้น เขายังบอกว่าเขามีความทุกข์มากๆ ทุกข์มากเพราะเขาเห็นผลกำไรขาดทุน เขาถึงมีความมุมานะของเขา เขาทำของเขา นั่นเรื่องอำนาจวาสนาบารมีของคน

แต่การแสวงหาความสุข ความสงบในหัวใจ เห็นไหม หัวใจของเรา คนที่เขาแสวงหาความมั่งมีศรีสุขเขาก็ต้องเกิดจากความรู้สึกนึกคิดของเขา อำนาจวาสนาของเขา เขาถึงได้คิดของเขาอย่างนั้น คนที่ทำร้ายตัวเอง อยากร่ำอยากรวย อยากมั่งมีศรีสุข แต่ไปเที่ยวเบียดเบียนคนอื่น นี่ความมั่งมีศรีสุขเหมือนกัน อันหนึ่งเขาทำด้วยสุจริต ด้วยคุณธรรม อีกอันหนึ่งเขาทำด้วยความคดโกง ความเห็นแก่ตัวของเขา การแสวงหาความมั่งมีศรีสุขอันนั้นมันสร้างเวรสร้างกรรมไหม

แต่ความสร้างเวรสร้างกรรมที่คุณงามความดี เราก็สร้างเวรสร้างกรรมเหมือนกัน กรรมดีๆ ไง กรรมคือกรรมดี การกระทำ การแสวงหาความมั่งมีศรีสุขอย่างนั้นยังต้องมีศีลธรรม จริยธรรมในหัวใจนะ คนที่มีสติมีปัญญา สิ่งนี้มันเป็นคุณธรรมในหัวใจ ถ้าคุณธรรมในหัวใจ แล้วเรามีสติมีปัญญา เราถึงได้ค้นคว้า การจะค้นคว้า หน้าที่การงานของเขา เขาขวนขวายของเขาเพื่อผลงานของเขา แล้วบอกว่าเวลามีความศรัทธามีความเชื่อในพระพุทธศาสนา แล้วก็มานั่งเฉยๆ หายใจเข้าแล้วหายใจออก ไม่เห็นทำอะไรเลย พระบวชมาไม่เห็นทำอะไรเลย ทำไมไม่ศึกษาไม่เล่าเรียนล่ะ

การศึกษาเล่าเรียนนั้นเขาศึกษาเล่าเรียนแล้วมันมีวันจบ การศึกษาเล่าเรียนนั้นมันเป็นภาคปริยัติ กรรมฐานเราก็มีการศึกษาเล่าเรียน หลวงปู่มั่น เห็นไหม สิ่งที่เป็นตัวอักษร ท่านจะไม่นั่งเสมอเลย ถ้ามีตัวอักษรตัวหนังสือ ท่านจะไว้ให้สูงที่สุดเลย ท่านบอกว่า ตัวอักษรมันสื่อธรรมะได้ ธรรมะเขาจะสื่อออกมาด้วยตัวอักษรนี่แหละ ตัวอักษรนี้เขาสื่อออกมา ฉะนั้น ท่านเคารพบูชามาก

แล้วบอก “บวชมาไม่มีการศึกษา ไม่ศึกษา ไม่เล่าเรียนเลย”...ศึกษา ตำรับตำราที่ไหนก็ค้นคว้าได้ มีครูบาอาจารย์คอยเป็นตัวอย่าง เป็นผู้ชี้นำด้วย แต่ศึกษามาศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ศึกษามาเป็นทางวิชาการแล้วจะออกขวนขวาย ออกการกระทำ เพราะการศึกษาพอมันจบแล้วก็คือจบ แล้วก็เอากระดาษแขวนไว้ด้วยความภูมิใจว่าเรามีปัญญาไง แต่ความร่มเย็นเป็นสุขมันเป็นสุขจริงไหมล่ะ มันมีแก่นสารในหัวใจจริงไหมล่ะ

ถ้ามันไม่มีแก่นสารจริงในหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางภาคปริยัติคือการศึกษา สุตมยปัญญา แล้วถ้าเราเริ่มประพฤติปฏิบัติ เราเริ่มศึกษาแล้วเรามีอำนาจวาสนา เราก็จินตนาการ จินตมยปัญญา ถ้าจิตใจมันสงบระงับแล้วมันจินตนาการไป โอ้โฮ! มันนึกว่านิพพานๆ จินตมยปัญญา เห็นไหม แล้วต้องศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา ถ้าจิตมันเป็นจริง สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ถ้าปัญญาเกิดจากการภาวนา นั่นล่ะ อันนี้มันจะเข้าไปสู่หัวใจ นี่ความร่มเย็นเป็นสุขในใจ มันจะเข้าไปสู่ความสงบร่มเย็น เพราะอะไร เพราะมันมีธรรมโอสถไง

สัจธรรม เห็นไหม ฉลากยาๆ สุตมยปัญญา ศึกษามานี่ฉลากของมันคือทฤษฎี คือภาคทฤษฎี ภาคทฤษฎีแล้วเราก็ต้องค้นคว้าขวนขวายหาสิ่งที่เป็นตัวยามาใช่ไหม ถ้าตัวยาขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคญาณ สิ่งนี้เป็นสัจจะความจริง สัจจะความจริงของใจดวงนั้นไง ผู้แสวงหามา ใจดวงใดแสวงหามาก็ใจดวงนั้นจะได้สัมผัสความจริงอันนั้น ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เห็นไหม ถ้าเห็นอันนั้นมันมีความละอาย

อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ไม่คบคนพาล เราก็ว่าคนพาลข้างนอกทั้งหมดแหละ เราไม่เคยเห็นว่าจิตใจเราเวลามันพาล มันบีบบี้สีไฟของเรา มันบอกว่า “นั่นก็รู้แล้ว นี่ก็เข้าใจแล้ว” นี่มันพาลทั้งนั้นแหละ เวลาพาลในใจไปคบมันทำไม ทำไมเราไม่คบบัณฑิตล่ะ ทำไมไม่คบสติปัญญาที่เป็นความจริงล่ะ

สติปัญญาที่เป็นจริง มันจริงขึ้นมามันจะมีความรู้สึกของมัน มันจะมีความสงบระงับ มันจะมีรสของธรรม คือมีความสุข มันจะมีความสุข ความสงบ มีความระงับ สิ่งนี้เป็นความจริง ความสุขในหัวใจมันเป็นสิ่งนี้ ถ้าสิ่งนี้เราหามา เราเข้าใจสิ่งนี้ได้ ถ้าเข้าใจสิ่งนี้ได้มันมีหิริ โอตตัปปะ มันมีความละอายไง มันไม่ต้องไปถามว่าอันนู้นถูก อันนี้ผิด ถูกหรือผิด ถูกหรือผิด ผิดเพราะมันความมั่นใจ

ดูสิ หลวงปู่ตื้อไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสั่งสอนมาทั้งนั้นแหละ แล้วเคารพบูชาหลวงปู่มั่นมาก เวลาไปอยู่ที่หนองผือ เวลาเขาแจกอาหาร หลวงปู่ตื้อท่านฉันเลย หลวงปู่มั่นท่านถาม “ตื้อ ทำไมทำอย่างนั้นล่ะ”

“อ้าว! ก็ผมหิว อ้าว! ก็ฉันเลย”

พอฉันเลย มันข้อวัตร สิ่งที่ฉันเลย เห็นไหม แต่เพราะหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่ตื้อท่านอยู่มาด้วยกัน หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนอบรมหลวงปู่ตื้อมา อาจารย์อบรมลูกศิษย์มา จะรู้ว่าลูกศิษย์มีคุณธรรมแค่ไหน คุณธรรมในหัวใจมีแค่ไหน แล้วในปัจจุบันนี้ใครทำอะไรก็บอกทำไมหลวงปู่ตื้อทำได้ ทำไมหลวงปู่ตื้อทำได้

หลวงปู่ตื้อท่านมีคุณธรรม ท่านนั่งสมาธิทีหนึ่ง ๗ วัน ๗ คืน ท่านอดอาหาร ท่านนั่งภาวนาทั้งวันทั้งคืน ทำไมไม่เอาแบบนั้นบ้างล่ะ นี่เวลาเราอ้างอะไรถูกอะไรผิด เราก็อ้างแต่ว่าเราพอใจไง

ฉะนั้น เวลาพระที่มีคุณธรรมนะ ดูสิ หมู่บ้านบางระจัน พระที่ว่าออกรบๆ ผิดไหมน่ะ ผิดไหม เวลามีข้าศึกมาเขาจะมายึดประเทศ เขาจะมาตีเมืองไทย ทำไมเขาพาชาวบ้านออกรบล่ะ

“โอ๋ย! ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไอ้นั่นมันผิดนะ ไม่ใช่กิจของสงฆ์”

เวลามันเป็นคราวจำเป็นนะ หนึ่ง คราวจำเป็น คราวที่ว่าจิตใจของคนสูงส่งแค่ไหน ถ้าสูงส่งแค่ไหน เราจะบอกว่าถ้าทำเพื่อประโยชน์คนอื่น ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เอ็งทำหรือเปล่าล่ะ ถ้าเอ็งจะทำเอ็งก็ทำประโยชน์ของเอ็ง นี่ก็เหมือนกัน เวลานั่งสมาธิภาวนา เวลาทำประโยชน์จริงๆ มันมองไม่เห็น แต่ถ้ามันไปทำธุรกิจมันเห็น อยากได้อยากดีนี่มันเห็น แล้วอยากได้อยากดีนั่นเป็นอะไรน่ะ? มันส่งออกไป เห็นไหม

แต่ถ้าประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์สาธารณะมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ประโยชน์สาธารณะถ้าเกิดขึ้นได้มันต้องมีสัจจะมีความจริงในใจ ถ้ามีสัจจะความจริงในใจมันถึงจะเอาคุณธรรมนี้เผื่อแผ่ประโยชน์สาธารณะได้ ในเมื่อตัวเองยังไม่มีคุณธรรมในหัวใจจะเอาอะไรไปเผื่อแผ่ประโยชน์สาธารณะล่ะ

อเสวนา จ พาลานํ มันมีแต่คนพาลทั้งนั้นแหละ มันพาลเพราะอะไร เพราะมันบิดเบี้ยว อยากจะให้คนยอมรับ อยากให้คนนับหน้าถือตา อยากไปทำไม ถ้ามันอยากแล้ว นั่นล่ะ เล่ห์กลมันจะเกิดตรงนั้นแหละ ถ้ามันอยากไปแล้วมันก็เล่ห์กลใช่ไหม

ฉะนั้น เราชาวพุทธใช่ไหม เรากราบผ้าเหลืองกัน ยกให้พระๆ กราบผ้าเหลืองกัน เพราะผ้าเหลือง ธงชัยพระอรหันต์ห่มห่อร่างกายนั้น เขาพูดสิ่งใด คนเขาต้องคล้อยตาม เขาเชื่อ เพราะอะไร เพราะจิตใจของเรามันคล้อยตามสิ่งนั้นอยู่แล้ว คล้อยตาม นี่ธงชัยพระอรหันต์ ธงชัยพระอรหันต์ แต่มันยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์

ธงชัยพระอรหันต์ เราได้ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ถ้าธงชัยพระอรหันต์ เขาเชื่อตรงนั้นๆ ถ้าจิตใจของเรา เราต้องเข้ามาดูแลใจของเราก่อน ถ้าใจของเรามันเป็นความจริงๆ ขึ้นมา

เวลามันมีเหตุคราวจำเป็น คราวจำเป็นที่มันจะเป็นประโยชน์ มันจะเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ เขาทำเพื่อประโยชน์ ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ทำประโยชน์ส่วนตน ถ้าประโยชน์ส่วนตน เพราะมันมีธรรมวินัยบังคับไว้อยู่แล้ว ถ้าธรรมวินัยนี้บังคับอยู่แล้ว เราจะไม่ทำสิ่งนั้น จะไม่ทำสิ่งนั้น

ดูสิ เวลาพระกัสสปะบวชตอนแก่ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรมานมาจนเป็นพระอรหันต์ เวลาเป็นพระอรหันต์ พระกัสสปะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อายุเท่ากัน ๘๐ เหมือนกัน

“กัสสปะเอย เธอก็อายุปานเรา แล้วเธอเป็นพระอรหันต์ด้วย ทำไมต้องถือธุดงค์ๆ อยู่นี่”

พระกัสสปะเป็นเอตทัคคะเลิศในทางธุดงค์ ท่านถือผ้า ๓ ผืนนะ ธุดงควัตร ๑๓ ท่านถือครบ แล้วเป็นพระอรหันต์ทำไมต้องไปทรมานตนล่ะ ทำทำไม เป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระกัสสปะ “เธอก็เป็นพระอรหันต์แล้ว อายุก็ปานเรา แก่เฒ่าชราภาพขนาดนี้แล้ว ทำไมยังต้องมาถือธุดงควัตรอยู่อย่างนั้น”

“ข้าพเจ้าพอใจ ข้าพเจ้าทำด้วยความเต็มใจ”

“แล้วเธอเห็นประโยชน์อะไรที่ทำ เธอเห็นประโยชน์อะไร”

“ประโยชน์ต่อเมื่ออนุชนรุ่นหลังได้เป็นคติ ได้เป็นแบบอย่าง”

เห็นไหม พระอรหันต์นะ ถือธุดงควัตร เพราะธุดงควัตร ศีลในศีลไง ศีลก็คือศีล ๒๒๗ ๒๑,๐๐๐ ข้อ นี่คือศีล ธรรมและวินัย แต่ธุดงควัตรเป็นการขัดเกลา เป็นการตั้งกติกากับตัวเองให้มากขึ้น ถ้าใครไม่ถือธุดงค์ก็ไม่ปรับอาบัติ แต่ถ้าศีล ๒๒๗ ศีล ๒๑,๐๐๐ ผิดเป็นอาบัติหมด ผิดจากวินัยเป็นอาบัติหมด ผิดข้อบังคับ เป็นหมด เป็นอาบัติหมดเลย แต่ธุดงควัตรถ้าไม่ถือก็ไม่ผิด แล้วถือบางข้อก็ได้ ไม่ถือบางข้อก็ได้ นี่ไง เพราะอยู่ที่ความเต็มใจ อยู่ที่ความสมัครใจ ศีลในศีล ธุดงควัตรเป็นศีล เป็นเครื่องขัดเกลา

“แล้วเธอเห็นประโยชน์อะไร เธอเห็นประโยชน์อะไร”

“เห็นประโยชน์กับอนุชนรุ่นหลัง”

ต่อไปอนุชนรุ่นหลังจะประพฤติปฏิบัติ ก็มาดูตำรับตำราว่าพระกัสสปะทำอย่างไร ธุดงควัตร ๑๓ ทำอย่างไร ต่อไปมันก็จะมีตัวอักษรเท่านั้นแหละ คนทำมันก็ว่ากันไป ใครมีมุมมองอย่างใดก็ว่าสิ่งนี้ถูก ใครมาขัดเกลากิเลส มาเบียดเบียนตนก็ว่าอย่างนี้ไม่ถูก

ผิดถูกมันอยู่ที่ไหนล่ะ ผิดถูกมันอยู่ที่ไหน

มันอยู่ที่ว่าจิตใจผู้ที่เป็นธรรมเขาทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อประโยชน์กับคนอื่น ถ้าเป็นประโยชน์กับคนอื่น เราถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าถูกต้อง ถูกต้องคือเพื่อประโยชน์ เพื่อคุณงามความดี เพื่อความมั่นคง เพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ว่าอย่างนั้น แต่ถ้าทำเพื่อตัวเองๆ ตัวเองกิเลสทั้งนั้นแหละ ทำเพื่อตัวเอง นี่ผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าผลประโยชน์ทับซ้อน

เวลาเรานั่งภาวนากันนะ เวลาเป็นอาบัติเล็กน้อย เวลามานั่งภาวนามันเกิดนิวรณธรรมแล้ว นิวรณธรรมกางกั้น ปิดกั้นสมาธิ นิวรณธรรม ถ้าเราพุทโธๆ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตใจมันชื่นบาน พุทโธๆ มันยังมีความอบอุ่นในหัวใจ พอมีความอบอุ่นนะ ถ้ามีความอบอุ่น พุทโธๆ จนจิตมันละเอียดเข้าไปๆ ความที่เป็นสมาธิ รสของธรรมมันจะบอก แต่ถ้าเราพุทโธๆ มันกังวลไปหมดเลย “หลอกตัวเอง เมื่อกี้ยังทำอาบัติมาเลย แล้วก็มาพุทโธๆ” นี่มันอยู่ในใจ ความลับไม่มีในโลก เราเป็นคนทำเอง สิ่งที่เป็นนิวรณธรรมมันกางกั้น แล้วถ้าเขาทำอย่างนั้น ถ้าใจของเขาไม่มีคุณธรรม สิ่งนั้นมันจะไปฟูอยู่ในใจ มันทำให้เราลงไม่ได้

ฉะนั้น พระเราเวลามีสิ่งใดถ้าเป็นอาบัติจะปลงอาบัติทันที ถ้าปลงอาบัติแล้วมันจะหายหมดเลยหรือ ปลงอาบัติคือว่าสารภาพ สาธุ สุฏฐุ ข้าพเจ้าได้ทำความผิดมา ข้าพเจ้าจะไม่ทำอีกแล้ว ข้าพเจ้าจะสำรวมระวังไปข้างหน้า แล้วที่ผิดแล้ว ผิดแล้วก็ยกไว้ เหมือนกับสารภาพแล้วมันทำสิ่งใด มันภาวนาไปข้างหน้ามันก็ไม่เกิดนิวรณ์ ไม่เกิดความลังเล ไม่เกิดความสงสัย ไม่เกิดความโยกคลอนในหัวใจ แต่ถ้ามันดีจริง มันมีประโยชน์กับมัน แต่เราเองพยายามกวาดขยะ พยายามกวาดสิ่งที่ไม่ถูกต้องไว้ใต้พรมแล้วกลบไว้ แล้วเราก็จะว่า เราทำดี เราทำดี แล้วก็บอกไอ้นู่นถูก ไอ้นี่ผิด ตีความกันไป

แต่ถ้าเป็นความจริงๆ เป็นวาระ ครูบาอาจารย์ท่านเป็นวาระของท่าน ท่านถึงเวลาของท่าน เช่น หลวงตาเราเวลาออกมาโครงการช่วยชาติ เขาว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่ใช่กิจของสงฆ์

กิจของสงฆ์ในนวโกวาท กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง กวาดลานเจดีย์ ทำความสะอาด ล้างห้องน้ำ นี่กิจของสงฆ์ แต่นี้มันเป็นเรื่องของหัวใจของชาวโลก หัวใจของประเทศชาติ ๖๐ กว่าล้านหัวใจที่มันเศร้า ที่มันวิตกกังวล ที่มันไม่มีที่พึ่ง แล้วมีเอกบุรุษคนหนึ่งมาชี้นำ มายกขึ้นมา ไม่ใช่กิจของสงฆ์

เวลากิจของสงฆ์นั่นมันข้อบังคับ แต่ความสุข-ความทุกข์ในหัวใจของคน ๖๐ กว่าล้านคน แล้วมีผู้นำขึ้นมาทำให้หัวใจมันชุ่มชื่นขึ้นมา ถึงมันจะทุกข์มันจะยาก แต่มันก็มีโอกาส ถึงมันจะทุกข์มันจะยากมันก็ฟื้นฟูขึ้นมาใช่ไหม ถ้าใจมันเข้มแข็งขึ้นมามันได้ประโยชน์หมดแหละ ประโยชน์สาธารณะไง ประโยชน์กับประเทศชาติไง ไม่ใช่ประโยชน์กับตัวท่านไง ท่านทำของท่าน นี่ถึงวาระ ถึงวาระ แต่คนก็ว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่ใช่กิจของสงฆ์

กิจของสงฆ์คืออะไรล่ะ กิจของสงฆ์คือโฆษณาชวนเชื่อตัวเองใช่ไหม พยายามโฆษณาตัวเองใช่ไหม นั่นกิจของสงฆ์ กิจของสงฆ์ นั่นผลประโยชน์ของตน

แต่นี่ไม่ใช่ เสียสละนะ เหนื่อยยากมาก ทั้งเหนื่อยยากมาก ทั้งมีคนขัดแย้ง เพราะการทำงานทุกๆ งานจะไม่ราบรื่นหรอก มันต้องมีอุปสรรคไปทั้งนั้นแหละ ทำไมจะต้องมาเสียสละ ทำไมต้องมามีอุปสรรค ทั้งๆ ที่อยู่กุฏิ อยู่ที่วัดมันก็สุขสบายอยู่แล้ว เพราะในใจไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝงแล้ว ในใจผ่องแผ้วแล้ว ทำไมต้องออกมาทุกข์มายาก นี่พูดถึงว่าเวลาทำ ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ทำเพื่อตนเอง ทำเพื่อประโยชน์ ทำได้ทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น สิ่งนี้เราถึงบอกว่า ถ้าถูกหรือผิด มันต้องย้อนเข้ามาที่ในหัวใจของเราก่อน ถ้าหัวใจเรามันยังมีสิ่งใด เห็นไหม หลวงตาท่านสอน ถ้าเรายังค้นคว้าเห็นความขาดตกบกพร่องของเรา ทุกคนต้องเห็นแน่นอน ทุกคนเขาต้องเห็นว่าเราขาดตกบกพร่องอย่างใด แต่ถ้าเราพยายามถม พยายามรักษา พยายามทำให้ความขาดตกบกพร่องนั้นสมบูรณ์ ถ้าสมบูรณ์ เราค้นหา เราค้นคว้าความขาดตกบกพร่องในใจเราไม่ได้ ใครก็ค้นไม่ได้ ใครก็ค้นหาความขาดตกบกพร่องนี้ไม่เจอ ถ้าเขาค้นหาไม่เจอ แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอโดนโลกธรรมเสียดสี นินทาสรรเสริญ ให้เธอจงดูเราองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เพราะเราโดนมากกว่านั้น”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดนเขาโจมตี โดนเขาถากถาง โดนเขาใส่ความมหาศาลเลย เพราะท่านเป็นศาสดา ท่านเป็นผู้นำ เพื่อจะเผยแผ่ศาสนาพุทธ ต้องให้ศาสนาพุทธนี้มั่นคง สิ่งนี้บอกว่าถ้าในหัวใจมันไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง แล้วมันต้องไม่มีใครติฉินนินทา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ถ้าใครโดนเสียดสีนินทาให้ดูเราเป็นตัวอย่าง ให้ดูเราเป็นตัวอย่าง”

หัวใจของคนเขาบกพร่องในใจของเขา ติฉินนินทา เขาอิจฉาตาร้อนในใจของเขา มันก็แสดงออกมาอย่างนั้นแหละ วางแผนวางอะไรเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ไอ้คนคิดบงการก็นั่งอยู่ข้างหลัง ไอ้คนที่มาแสดงออกมันก็ได้รับผลประโยชน์มา แล้วหาตัวคนทำไม่เจอ หาคนทำไม่เจอ แต่นี้เป็นโลกธรรม ๘ นี่พูดถึงว่ามองโลกไง ไม่มองมุมเดียว มองทั้งความสุจริต ความเป็นจริงของเรา มองทั้งสิ่งที่เราได้สัมผัสที่เขาจะเข้ามาได้สัมผัสกันว่าเขามาในมุมมองอย่างใด เขามาอย่างไร

ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ถ้าใจดวงนี้สงบระงับแล้ว ใจดวงนี้เป็นความจริงแล้ว อันนั้นวางไว้ มันเป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์มันคิดอย่างนั้น สัตว์มันทำอย่างนั้น มันเป็นเรื่องเวรกรรมของสัตว์ แต่จิตใจของเรา เรารักษาขึ้นมา สัตตะผู้ข้องนี้ให้พ้น ถ้าพ้นแล้ว เห็นไหม ความสุข ความสงบ ความระงับในใจของเราจะสมบูรณ์ เอวัง