เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๘ ก.ย. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ตั้งใจฟังธรรมะ เพราะเราแสวงหา เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เปรียบเทียบในทางโลก ถ้าเปรียบในทางโลก เจ็บไข้ได้ป่วยก็เข้าโรงพยาบาล ธรรมโอสถๆ เขาหายาเพื่อรักษาไข้ รักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยของเขา รักษามาเพื่อให้เป็นคนปกติ คนสมบูรณ์ แต่เวลาเราฟังธรรมะๆ เวลาธรรมะ เริ่มต้นจากการเสียสละทาน การรักษาศีล การภาวนา มันเป็นธรรมโอสถ เป็นวิธีการที่จะรักษาหัวใจของเรา รักษาหัวใจของเราให้มันมีความสุขจริง

ความสุข เห็นไหม ความสุขจากความสงบระงับ ความสุขจากเห็นธรรม ความสุขจากมีคุณธรรม เห็นธรรมๆ ไง จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต เราจะเห็นว่าความเจ็บไข้ได้ป่วย ความจะรักษาเยียวยาหัวใจของเรามันจะรักษาเยียวยาหัวใจของเราอย่างไร จิตเห็นอาการของจิตไง เหมือนไปหาหมอ เวลาหมอเขาตรวจอาการไข้ คนเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคสิ่งใด เขาจะรักษาอาการไข้ตามแต่คนเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น

นี่ก็เหมือนกัน จิตเห็นอาการของจิต จิตมันมีกิเลส มีตัณหาความทะยานอยาก มีความเดือดร้อนในหัวใจ ถ้ามีความเดือดร้อนในหัวใจ จิตเห็นอาการของจิตมันเกิดสัจธรรม สัจธรรม เห็นไหม วิธีการๆ ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นวิธีการ เป็นทางอันเอก เป็นมัคโค เป็นการเข้าไปรักษาหัวใจของเรา ถ้ารักษาหัวใจของเรานะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเขาให้หมอรักษา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาต้องจิตแก้จิต จิตรักษาหัวใจของตัวเอง

ถ้าจิตรักษาหัวใจของตัวเอง ถ้าคนอื่นแก้ไขให้ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีฤทธิ์มีเดชนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปมยกปาฏิหาริย์ ไปแสดงฤทธิ์กับเขา มีฤทธิ์มีเดชทั้งนั้นแหละ แต่ฤทธิ์เดชมันส่งออกมาจากจิต มันส่งออกไปข้างนอก เวลาฤทธิ์เดชขึ้นมา เวลาใครทำคุณไสยเรา เราก็เจ็บไข้ได้ป่วย แต่เขาไม่สามารถทำให้หัวใจเราสะอาดบริสุทธิ์ได้ ทำให้หัวใจเราเจ็บช้ำน้ำใจได้ เวลามีฤทธิ์มีเดชมันก็ทำได้แค่เรื่องฤทธิ์เรื่องเดช แต่มันไม่ใช่มรรค มันไม่ใช่ธรรมโอสถ มันไม่ใช่ยา มันไม่สามารถเข้าไปรักษาหัวใจของใครก็ได้ไง

ฉะนั้น คนที่ประพฤติปฏิบัติ คนที่มีสติมีปัญญา เราบอกว่าเราอยากจะรักษาหัวใจของเราให้ดีงาม รักษาหัวใจของเราให้พ้นจากทุกข์ ทำไมเราต้องมาบากบั่น ทำไมเราต้องมาทุกข์ทรมานอย่างนั้นล่ะ เราทุกข์ทรมานอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ฆราวาสธรรมนะ อนุปุพพิกถา ให้เขาเสียสละทาน คำว่า “เสียสละทาน” การเสียสละคือสละความตระหนี่ถี่เหนียว คือความเห็นแก่ตัว

ถ้าคนเห็นแก่ตัว ทำอะไรก็แล้วแต่เขาจะเอาเป็นประโยชน์ของตัว เห็นแก่ตัวๆ เพราะเห็นแก่ตัวมันเลยไม่ได้สิ่งใดเป็นประโยชน์ เพราะการเห็นแก่ตัว จิตใจไม่สาธารณะ ไม่เปิดกว้าง พอไม่เปิดกว้าง มันไม่ยอมรับเหตุผลไง มันไม่มีเหตุมีผลจะไปแก้หัวใจของตัวเองได้ ฉะนั้น เราต้องเสียสละทาน เพื่อความตระหนี่ถี่เหนียว เพื่อฝึกหัดใจของตัว พอฝึกหัดใจของตัวนะ มันเสียสละทาน ผลของมัน เห็นไหม ผลของมันคือบุญ ผลคือมันจะเกิดบนสวรรค์ ผลของมันคือเกิดดี ผลของมันคือได้รับการชื่นชมกับสังคม

การชื่นชมของสังคม ผลของมันดี ให้ถือเนกขัมมะ พอถือเนกขัมมะ เพราะมันไปสวรรค์มันก็เป็นผลของวัฏฏะไง มันมีดีใจ เสียใจ มีประสบความสำเร็จ ไม่ประสบความสำเร็จไง ให้ถือเนกขัมมะ เนกขัมมะก็มาถือพรหมจรรย์ พอถือพรหมจรรย์ขึ้นมาแล้ว เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาถือพรหมจรรย์แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเทศน์เรื่องอริยสัจ เรื่องทุกข์

เริ่มต้นบอกว่าทุกข์เลย เราก็ทุกข์กันอยู่แล้ว ทุกข์มันเหยียบย่ำ ทุกข์มันทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ แล้วทุกข์เรื่องอะไรอีก ทำไมจะต้องทุกข์มากไปกว่านี้

ทุกข์นี้ทุกข์ประจำธาตุขันธ์ ทุกข์ประจำโลก ทุกข์ที่มันมีอยู่โดยทั่วๆ กัน แต่ไม่มีใครเห็นสัจจะความจริงทุกข์อันละเอียดไง หัวใจนะ ทุกข์คือความคงอยู่ไม่ได้ ทุกข์คือความทนอยู่ไม่ได้ คงอยู่ไม่ได้ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไง หัวใจมันเคลื่อนไหวตลอดเวลาไง เราไม่เห็นมันไง ถ้าเราไม่เห็น เราถึงจะต้องทำบุญกุศลกันเพื่อให้จิตใจเป็นสาธารณะ ให้จิตใจเรารับฟังเหตุฟังผล ถ้าฟังเหตุฟังผล เราก็มีศีล คือความปกติของใจเข้ามา ถ้าจิตใจมันปกติเข้ามา แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาขึ้นมา เวลาฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้ไง

มันก็ทุกข์ มันก็ยากอยู่แล้ว ทำไมต้องทำให้มันทุกข์มันยากขึ้นมา

ก็มันทุกข์มันยาก มันทุกข์มันยากประจำธาตุขันธ์ เราก็เลยคิดว่าวางเฉยแล้วมันก็ไม่ทุกข์ไง...วางเฉยมันจะไปแก้อะไรได้ วางเฉย วางเฉยมันก็เข้าไปสู่กิเลสเหมือนเดิม แต่ถ้ามันจะแก้ไข มันต้องทำสมาธิเข้ามา ทำสมาธิเข้ามา

เราหยิบจับสิ่งใด ถ้าเราวางมันก็เบา จิตใจของเรา ธรรมชาติของมัน ไฟฟ้า ดูสิ มันลัดวงจร ใครเข้าไปใกล้มันตายหมดนะ มันช็อตตายหมด เห็นไหม พลังงานของจิตมันเปรียบเหมือนไฟฟ้า มันอออกมา สันตติ มันมีอยู่อย่างนั้นแหละ มันดูดอยู่อย่างนั้นแหละ มันติดอยู่อย่างนั้นแหละ มันเป็นอยู่อย่างนั้นแหละ มันอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วมันออกมาอย่างไรล่ะ

ออกไปที่ธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ สัญญาคือความจำได้หมายรู้ ดูเชาวน์ปัญญา สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง เดี๋ยวก็คิดได้ เดี๋ยวก็คิดไม่ได้ สังขาร เวทนา มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น

เวลาพุทโธๆๆ เข้าไป ไฟฟ้านี้ พลังงานนี้ให้สงบตัวลง ไฟฟ้านี้ไม่ให้สืบต่อ ไม่ให้เสวยอารมณ์ ไม่ให้มันไปแบกหามความคิด ไม่ให้มันทุกข์มันยากจนเกินไป คนที่ทำอย่างนี้ คนที่จะรู้อย่างนี้ คนที่จะไปรู้เห็นอย่างนี้มันต้องมีความพร้อมของใจไง ใจมันต้องมีความพร้อมก่อนไง ถ้าใจมันไม่พร้อมมันก็คิดเอาเองไง “อ้าว! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราไบรต์มากเลย โอ้โฮ! ปัญญาเยอะมากเลย” แต่ปัญญาอย่างนี้เป็นฟืนเป็นไฟ ปัญญาอย่างนี้เผาลนตัวเอง

ปัญญาที่ว่าเรามีปัญญา ปัญญาเผาลนตัวเอง เขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาโลก วิชาชีพ สัญชาตญาณ แต่ถ้าเป็นปัญญาในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา

เขาบอกว่า “ไม่ศึกษาก็ไม่รู้ ไม่ศึกษา ไม่ค้นคว้าก็ไม่รู้”

อ้าว! ก็ศึกษาค้นคว้ามาเพื่อให้มันเห็นช่องทาง เห็นช่องทางว่ามันจะไปช่องนี้ แต่ถ้าไม่ทำจะเกิดขึ้นมาได้ไหม ถ้าไม่ได้ทำ ถ้าจิตมันสงบ สงบมันก็เหมือนเผอเรอ ตอนนี้เหมือนเผอเรอ ว่างๆ ว่างๆ พอทำกันวางเฉย พยายามวางเฉยกัน แล้วบอกว่า “นี่เป็นสัมมาสมาธิ โอ้โฮ! วางเฉยแล้วมันมีความสุข วางเฉย”

อ้าว! ก็ธรรมดา คนเรามันแบกหามสิ่งใดมันก็ทุกข์มันก็ยาก วางเฉยซะ วางเฉยซะ แต่วางเฉยไม่ใช่สมาธิ วางเฉยไม่ใช่ เพราะสมาธิมันต้องมีสติ ถ้ามีสติ พุทโธๆ มีสติมันสงบเข้าไป สิ่งนี้มันจะเป็นสัจจะเป็นความจริง

ชีวิตของคนนะ ดูสิ เวลามันมีมหรสพสมโภช มันมีความสนุกคึกครื้นของมัน ชีวิตเกิดใหม่ เด็กเวลาเกิดขึ้นมา ในตระกูล ในครอบครัวก็มีแต่ความรื่นเริง ชีวิตมันก็ต้องเผชิญภัยของมันตลอดไป นาฬิกาชีวิต เวลานาฬิกา เวลามันชำรุดเสียหาย เขาไปให้ช่างซ่อมมันก็กลับมาอีก แต่นาฬิกาชีวิตของเรานะ นาฬิกาชีวิตของเรามันย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริตจนเป็นนิสัย มันทำของมันเป็นจังหวะเวลาของมันเลย นี่เวลาชีวิต มัน ๒๔ ชั่วโมงอยู่อย่างนั้นแหละ

แล้วเวลาตายไปล่ะ เวลาตายไป เห็นไหม ๑๐๐ ปีของเราเท่ากับ ๑ วันของสวรรค์เขา ในพระไตรปิฎก นางฟ้าเขาไปเก็บดอกไม้กันบนสวรรค์ แล้วมีนางฟ้าคนหนึ่งสิ้นชีวิตลงมาเกิดในโลกนี้ ใช้ชีวิต ๑๐๐ ปีไง ใช้ชีวิต ๑ ชีวิตแล้วกลับไป ทำคุณงามความดีของเขาแล้วกลับไปบนสวรรค์ เขาถามว่า “ไปไหนมา”

“มาเกิดแล้ว ๑ ชาติ”

นาฬิกาชีวิต นาฬิกาชีวิตของแต่ละภพแต่ละชาติมันไม่เหมือนกัน ถ้ามันไม่เหมือนกัน นาฬิกาชีวิตมันเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาเราจะมานั่งสมาธิภาวนาของเรา ทำสิ่งใดเราก็ทำได้ อาบเหงื่อต่างน้ำแบกหาม เราทำได้ทั้งนั้นแหละ เพราะเราเป็นขยันหมั่นเพียร แต่เวลาตั้งสติกำหนดพุทโธ เอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรานี่ทำไม่ได้ ถ้าทำสิ่งนี้ได้มันจะเป็นประโยชน์กับเราไง ถ้าทำอย่างนี้เป็นประโยชน์กับเรา เราจะมาซ่อมแซมนาฬิกาชีวิตของเราไง เราจะมาซ่อมแซม เห็นไหม

ผลของวัฏฏะ จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดขึ้นมา แต่ละภพแต่ละชาติขึ้นมามันเวียนว่ายตายเกิดมา คนเราเกิดมาถึงจริตนิสัยไม่เหมือนกัน เกิดมาในท้องพ่อท้องแม่เดียวกัน ความคิดก็แตกต่างกัน ความรู้สึกความนึกคิดนี้ก็แตกต่างกัน ความแตกต่างกันอย่างนี้ แต่ถ้าเข้ามาถึงความสงบของใจแล้วมันเป็นอันเดียวกัน อันเดียวกันคือว่าถ้าเข้ามาถึงพลังงานแล้วมันเหมือนกันหมด

สมาธิก็คือสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แต่การทำสมาธิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ทำได้ถึง ๔๐ วิธีการ แล้วแต่ความถนัด ความถนัดคือว่ามันชอบ มันทำแล้วมันปลื้มใจ ชื่นใจ เอาตรงนั้นแหละ แต่ถ้าเราทำแล้วมันขัดมันแย้ง เพราะจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน เพราะเวรกรรม นาฬิกาชีวิตแต่ละคนแต่ละภพแต่ละชาติมาไม่เหมือนกัน พยายามทำของเราให้ได้

เรามาสร้างบุญกุศล เราอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ประสบความสำเร็จในชีวิตนี้มันก็แค่อาศัย เป็นเครื่องอาศัยดำรงชีวิตนี้ไป แต่จิตนี้ถ้าเราศึกษาธรรมๆ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตนี้มันไม่เคยเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วมีโอกาส ไปบนสวรรค์นะ มันก็เพลินของมันไป ชีวิตมันก็เพลินของมัน เพราะมันเป็นทิพย์สมบัติ เป็นพรหมก็เท่านั้นแหละ เท่านั้นมันก็อยู่ของมันอายุขัย บางทีมันก็เบื่อหน่ายนะ มันเบื่อหน่าย มันจำเจ มันจะเอาอะไรขึ้นไปมากกว่านั้นล่ะ

ถ้าเขามีอานุภาพ เทวดาที่เขามีฤทธิ์มาก แสงเขามากกว่า สมบัติเขามากกว่า เขาก็เพลินของเขา ขึ้นไปบนสวรรค์แล้ว อ้าว! ทำไมเทวดาองค์นั้นกับเทวดาเราทำไมไม่เหมือนกันล่ะ ทำไมเทวดามีฤทธิ์ไม่เหมือนกัน ทำไมทำทุกอย่างไม่เหมือนกัน...ไม่เหมือนกันทั้งนั้นแหละ เพราะว่าอำนาจวาสนาของคนมันไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น เวลาเวียนว่ายตายเกิดขึ้นไปแล้ว สิ่งนี้ถ้ามันย้อนกลับมา เราเป็นมนุษย์ประเสริฐที่สุด เพราะมนุษย์มันต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มนุษย์นอนสิ กลางคืนนอนสิ ยุงกัดนะ ริ้นมันกัดนะ ต้องหามุ้งกาง นี่มันมีร่างกาย เราต้องบำรุงรักษาไง พอบำรุงรักษา ดูสิ รักษาไว้มันก็ไม่เป็นอย่างที่เราว่า ไม่อยากให้ยุงกัด ไม่อยากให้ริ้นไรมันตอมเลย อยากให้นอนสุขสบายเลย มันก็ไม่เป็นจริงทั้งนั้นแหละ แล้วเดี๋ยวมันก็ชราคร่ำคร่า เรารักษามันอย่างไรแล้วมันก็ชราคร่ำคร่า มันเป็นคติ มันเป็นภาพชัด เป็นรูปธรรมที่ให้เห็นไง ให้คนได้สติปัญญาไง เราทำมาหากิน ทำมาหากินเพื่อชีวิต ชีวิตนี้เราทำมาหากินมาเพื่อเรานี่แหละ แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นอนิจจัง มันก็ต้องแปรสภาพไป มันไม่มีอะไรคงที่เลย แล้วเรามีอะไรเป็นสมบัติล่ะ

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าการครองเรือนนะ วิดทะเลทั้งทะเลเลย เอาปลาเล็กๆ ตัวหนึ่ง ชีวิตทั้งชีวิตเลย หาความสุขกัน ค้นคว้าหากัน ปลาเล็กๆ ตัวหนึ่ง ปลาเล็กๆ นะ แต่การวิดทะเลทั้งทะเลมันเหนื่อยยากแค่ไหน แล้วได้ปลามาตัวหนึ่งมันสมกับความดำรงชีวิตนี้ไหม นี่คติธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ แล้วเรามาคิดสิ แล้วเราไม่เอาปลาตัวหนึ่ง เราจะเอาตัวเราเอง ถ้าตัวเราเองมันมีคุณค่าแค่ไหน จิตใจเรามีคุณค่าแค่ไหน ถ้าจิตใจเรามีคุณค่าแค่ไหนนะ มันมีสติแล้ว มันจะคิดหาทางออกแล้ว

ถ้ามันคิดหาทางออก เห็นไหม เขาอาบเหงื่อต่างน้ำมาทุกข์ยาก เวลาชาวนา เอ็งน้ำกินเหงื่อน้ำไคลกูนะ กูทุกข์กูยากมาตลอดนะ แต่ในเมื่ออาชีพชาวนาไง สุจริตไง สัมมาอาชีวะก็เลี้ยงชีพชอบไง แต่เวลาเขาทำธุรกิจ เอ็งกินเหงื่อกินไคลกูนะ ต้องให้ราคากูสูงขึ้นมานะ นี่ความคิดของเขา เห็นไหม

เวลาเราทำหน้าที่การงานในโลกเรายังต้องมีความเพียร ความวิริยอุตสาหะขนาดนั้น แล้วเราทำอย่างนี้เราก็ทำของเราได้ ทำแล้วมันก็เปรียบเทียบกับสังคมเพราะมันเห็นภาพใช่ไหม นี่รูปธรรม เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะเกิดเป็นมนุษย์มันเตือนใจๆ

ถ้ามีคติธรรมนะ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ท่านยังหาทางออกเลย อู้ฮู! เราต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายหรือ นี่ไปงานศพเขาเวียน ๓ รอบ เขาล้างหน้าศพ เห็นทุกวัน ไม่ได้คิดเลย คิดไม่เป็น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เอ๊ะ! เราต้องเป็นอย่างนี้หรือ ถ้าเราเป็นอย่างนี้เราต้องหาทางออกที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เห็นไหม ถ้าเกิดเป็นมนุษย์มันมีโอกาสอย่างนี้มันได้คิดๆๆ แล้วอะไรเป็นจริงๆ ล่ะ

เราจะวิดทะเลทั้งทะเลเลย เอาปลาตัวหนึ่ง อ้าว! วิดไปเถอะ เอ็งวิดไป แล้วคนแข่งกันวิดเยอะด้วย ใครๆ ก็อยากจะวิดกับเอ็งนั่นแหละ แล้วก็แย่งปลาตัวนั้นน่ะ แย่งปลากันแล้วก็ไม่ได้ปลาสักตัว

แต่ถ้าเรามาพุทโธๆ ของเรา เรามาประพฤติปฏิบัติของเรา เราไม่แย่งกับใคร เราจะหาสติ เราจะหาสมาธิ เราจะแสวงหาปัญญาของเรา นั่งนิ่งๆ ทำได้ยากมาก เวลาอาบเหงื่อต่างน้ำทุกข์ยากไปทั้งนั้นแหละ อู้ฮู! ชีวิตนี้ทุกข์ยากๆ ให้นั่งเฉยๆ กำหนดลมหายใจเข้าออกมันก็ทำไม่ได้ ให้เดินจงกรม เดินไปเดินมามันก็เดินตกทางจงกรม มันทำอะไรไม่ได้หรอก เพราะมันไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอกไง แต่ถ้าเรามีจริตมีนิสัย มีอำนาจวาสนาตรงนี้สำคัญมาก

จะบอกว่า เทวดา อินทร์ พรหมต่างๆ เขาเพลิดเพลินของเขา ชีวิตของเขาเพลิดเพลินของเขาอย่างหนึ่ง ตกนรกอเวจีไปมันมีแต่ไฟบรรลัยกัลป์ มันเผาไหม้ มันทุกข์ยากทั้งนั้นแหละ มันไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติหรอก มาเกิดเป็นมนุษย์นี่ภพกลาง มีร่างกายและจิตใจ ถ้ามีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ เราแสวงหา แล้วมีส่วนน้อยมาก เพราะในพระไตรปิฎกสมัยพุทธกาลเขาไปต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “อะไรๆ ก็ให้ถือศีล ๕ อะไรๆ ก็ให้ปฏิบัติ แล้วมนุษย์จะไม่มีในโลก นิพพานกันหมดเลย จะไม่มีใครค้างอยู่ในโลกเลย”

นี่ไปต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ บอก “มนุษย์จะเป็นพระอรหันต์หมดเลย จะมีศีล ๕ หมดเลย จะมีศีล ๘ หมดเลย จะไม่มีครอบครัวหมดเลย โอ๋ย! โลกนี้จะไม่มีคนอยู่อีกแล้ว”

มันเป็นไปไม่ได้หรอก ตัณหาความทะยานอยากในใจของคนมันขับไสอยู่อย่างนั้น เป็นไปไม่ได้ มันก็ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นแหละ แต่ถ้าทำจริงๆ เป็นแบบนี้ นี่ฟังธรรม ฟังธรรมๆ นะ ฟังธรรมก็เรื่องของกายกับใจนั่นแหละ หัวใจเรานั่นแหละ แต่เวลาเราคิด เราคิดของเราเอง แล้วเราคิดไม่ทัน คิดไม่ไหว เพราะกิเลสมันคอยสอดคอยแทรก กิเลสมันมีข้อโต้แย้ง “เอาไว้ก่อนก็ได้ อย่าเพิ่งคิดเลย เอาไว้เมื่อนั้นก็ได้ เอาไว้เมื่อนี้ก็ได้ ตายแล้วเราค่อยกลับมาคิดก็ได้” นี่กิเลสมันจะโต้แย้งตลอด นี่ถ้าเราคิดเอง

แต่ถ้าฟังครูบาอาจารย์ มันไม่มีโอกาสโต้แย้งไง กิเลสโผล่หน้ามาสิ เพราะกิเลสอย่างนี้มันก็เกิดจากจิตใจครูบาอาจารย์มาแล้วทั้งนั้นแหละ แล้วครูบาอาจารย์กระทืบมันจนเอามันอยู่ไง เอามันอยู่แล้ว แล้ววิธีการทำอย่างไรถึงเอามันอยู่

แต่ถ้าเราไปคิดเองนะ โอ๋ย! มันคิดได้ทุกคนแหละ เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสมบัติกลาง พระอาทิตย์ส่องไปทุกบ้านทุกเรือนทั้งนั้นแหละ ดูพระอาทิตย์ขึ้นสิ มันลำเอียงไหม คนรวยคนจนไหม มันลำเอียงใครพระอาทิตย์น่ะ เวลาแสงมันส่องไปมันส่องไปทุกบ้านทุกเรือน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ไม่มีกำมือในเรา” แบหมดเลย ใครจะศึกษาก็ได้หมดเลย ไม่มีคนรวยคนจน ไม่มีถือเขาถือเราเลย

“อานนท์ ไม่มีกำมือในเรา” แบตลอด แต่มันเอากันไหมล่ะ มันศึกษาไหมล่ะ มันปฏิบัติไหมล่ะ มันเอาหรือไม่เอา แล้วเราบอกเราก็รู้แล้วๆ ไง...รู้แล้วกิเลสมันพารู้ไง กิเลสมันรู้แล้วมันบอกเก็บไว้ก่อน เราจะสนุกเพลิดเพลินไปก่อน เอาไว้ก่อน สนุกเพลิดเพลินไปก่อน กิเลสมันชอบอย่างนั้นแหละ กิเลสมันเข้ากันอย่างนั้น

แต่ถ้าเราฟังธรรมจากครูบาอาจารย์นะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราบวชมาตั้งแต่เณร บวชมาตั้งแต่เด็ก ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ได้อย่างไร ฉันแต่น้อย ฉันแต่พอดำรงชีวิต ไม่ใช่ว่าอดอยากนะ ลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศไทย ลูกศิษย์ลูกหามหาศาล ท่านดำรงชีวิตของท่านเพราะท่านมีวิหารธรรม ท่านมีความสุขแท้ในใจ ท่านมีคุณธรรม เราแสวงหาอย่างนั้น

จิตใจของเรานี่แหละ จิตใจของท่านก็เป็นแบบเรานี่แหละ เพราะท่านบวชใหม่ก็เป็นแบบเรานี่แหละ เป็นปุถุชนเหมือนกัน แต่ท่านพัฒนาจิตใจของท่าน ท่านทำของท่านจนถึงที่สุดของท่าน เราก็เป็นมนุษย์ เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นเจ้าของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับเรา เรามีมรดกตกทอดมาถึงเรา ถ้าเราขวนขวาย เรากระทำ เราก็มีสิทธิเหมือนกัน เราทำได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าอย่าให้กิเลสมันปัดแข้งปัดขาไง กิเลสมันจะปัดแข้งปัดขาล้มลุกคลุกคลานตลอดเวลา ตั้งใจของเรา

งานทางโลกเราก็ทำ คนดี ทางโลกมันก็ทำดี เวลาภาวนามันมีสัจจะมันก็ทำของมันไปได้ ถ้าคนมันเหลวไหลทางโลก มาปฏิบัติ มาเป็นพระยิ่งเหลวไหลใหญ่ ถ้ามันจริง มันจริงมาตั้งแต่นั้น นิสัยจริงก็คือนิสัย มันอยู่ที่จริตนิสัย จริงจังก็อยู่ที่จริตนิสัย ถ้าจริงจังมันก็ทำของมันได้ ทำจริงขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับเรา เอวัง