เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o ธ.ค. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ตั้งใจฟังธรรม สัจธรรมๆ เวลาเราทุกข์เรายากไง ถ้าเราทุกข์เรายาก นั่นน่ะเวลาเขาปฏิบัติธรรม สัทธรรมปฏิรูป ปฏิรูปคือความเห็น ความเห็นความเข้าใจ ความคาดหมายของตัวเอง แต่ถ้าเป็นฟังธรรมๆ ฟังธรรม สัจธรรมความจริงนะ เวลาจิตใจมันได้รับสัมผัส ความสัมผัส สิ่งที่สัมผัสธรรมมันมีความสุข ความสุขคืออะไร ความสุขคือมันสัจจะตัวมันเองไง สัจจะตัวเขาเอง สัจจะของหัวใจ ถ้าเราเข้าไปถึงใจของเรา สุขมันหาได้ที่นี่ไง แต่เราเองเราต้องแสวงหา

เวลาเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอะไร? สอนเรื่องทาน ศีล ภาวนา ทาน ทานคือเรื่องของสังคม ศีล ศีลคือเรื่องของความปกติของใจ ถ้าเรื่องของภาวนา ภาวนาเรื่องส่วนตัวแล้ว เห็นไหม สุขทุกข์มันอยู่ที่ใจ แต่คนเรามันอยู่ในสังคมมันต้องมีกฎกติกา

วันนี้วันหยุด วันรัฐธรรมนูญ วันสำคัญๆ เลยล่ะ สำคัญเพราะว่ามันเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ถ้ากติกาสูงสุดของประเทศ เราต้องปฏิบัติตามนั้น ถ้าปฏิบัติตามนั้นเพื่อความสงบระงับของสังคมไง

แต่เวลาสังคม ดูสิ รัฐธรรมนูญฉีกกันมากี่ฉบับแล้ว ฉีกแล้วฉีกอีกเพราะมันขัดใจไง มันขัดแย้งๆ แล้วเราทำอะไรไม่ได้สมความปรารถนา เขาว่ามันไม่เป็นปัจจุบัน มันไม่เป็นปัจจุบัน มันล้าสมัย มันต้องเขียนใหม่ให้มันเป็นสมัยใหม่ไง นี่พูดถึงว่าให้ทันสมัย ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อเราจะประพฤติปฏิบัติของเราได้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมนะ เผยแผ่นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาเสวยวิมุตติ เสวยวิมุตติสุขอยู่คนเดียว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เสวยวิมุตติสุขแล้วมันท้อใจว่าจะสอนใครได้อย่างไร เพราะมันละเอียดลึกซึ้งไง สุดท้ายเสวยวิมุตติสุขแล้วจะเอาใครก่อน จะเอาอาฬารดาบส อุทกดาบสเพราะว่าเป็นอาจารย์ เคยร่ำเรียนมากับเขา เขามีความสงบของใจ เขาจะสามารถหยั่งรู้ความรู้สึกนี้ได้ เขาก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว จะเอาใครดีๆ เล็งเห็นปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ค้นคว้า คนค้นคว้า คนแสวงหา อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี การค้นคว้ามามันเปิดหัวใจไง มันเปิดหัวใจ จิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจยอมรับสัจจะความจริง

ไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ ได้ปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ ไปเทศน์ยสะ เธอกับเราทั้งหมด ๖๑ องค์ พ้นจากบ่วงที่เป็นโลก บ่วงที่เป็นโลกคือการสรรเสริญการนินทา ลาภสักการะ การยกย่องสรรเสริญ นี่บ่วงที่เป็นโลก แล้วบ่วงที่เป็นทิพย์ บ่วงที่เป็นทิพย์ทำบุญกุศลแล้วคาดหมายว่าเราจะได้บ่วงที่เป็นทิพย์ พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์ เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก

คำว่า “เร่าร้อนนัก” สังคมมันเร่าร้อนนัก จิตใจของเรากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันแผดเผา เวลามันทุกข์มันจนมันเข็ญใจขึ้นมา เราก็แสวงหาเพื่อความดำรงชีวิต เพื่อความมั่นคงของเรา ปัจจัยเครื่องอาศัย เวลาปัจจัยเครื่องอาศัยขึ้นมา คนเรา มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เป็นสัตว์การเมือง มันต้องอยู่ด้วยกันไง พออยู่ด้วยกันมันก็แข่งดีแข่งเด่น หลวงตาท่านว่าแข่งชั่ว แข่งดีแข่งชั่ว การขวนขวายมันไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมมันต้องเผื่อแผ่ เราดูแล เราเห็นใจต่อกัน

เราเห็นใจต่อกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมๆ เพราะสัตว์โลกมันเป็นแบบนั้น สัตว์โลกเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ถ้าจิตใจคนที่มีคุณธรรม จิตใจที่สูงส่งกว่า เศรษฐีสมัยพุทธกาลเขาจะมีโรงทานของเขาประจำหน้าบ้านของเขา เพราะเขารู้ว่าคนทุกข์คนเข็ญใจ คนจนคนปากกัดตีนถีบแล้วสร้างเนื้อสร้างตัวมา เขาจะระลึกได้ เขาจะเห็นคุณค่าของเงิน เขาจะเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราแสวงหามา เขาจะเห็นน้ำใจของคน แล้วคนไหนเป็นคนดี คนไหนเป็นคนขวนขวาย เขาจะให้โอกาสคนคนนั้น เขาจะช่วยดูแลคนคนนั้น เพราะอะไร เพราะเราเป็นคนทุกข์คนจนมาก่อน

คนที่เป็นคนทุกข์คนจนมาก่อน แล้วพยายามขวนขวาย พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา เขาจะเห็นใจๆ เห็นใจเพราะปากกัดตีนถีบกว่าจะทำขึ้นมาได้ เพราะสัตว์สังคมๆ เขามีการแข่งขันกันตลอด ทุกๆ เรื่องมีการแข่งขัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมๆ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของสังคม “เธออย่าไปซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก โลกนี้เร่าร้อนนัก จน ๔๕ ปี จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตต้องตายในคืนนี้”

แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตายไปแล้วจะเอาสิ่งใดเป็นที่พึ่ง เอาสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

ธรรมและวินัยเราบัญญัติไว้ดีแล้วจะเป็นศาสดาของเธอ เป็นที่พึ่งของเธอ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เราก็วางใจกัน เราก็ว่าพระปฏิบัติสมัยพุทธกาล ออกพรรษาแล้วขวนขวายจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไปถามเรื่องปัญหาไง ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าทำมาถูกหรือผิด สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กรรมฐานมา ไปบิณฑบาตมาในป่าในเขาขึ้นมาแล้วมันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว แล้วจะไปพึ่งใครล่ะ

“อานนท์ ธรรมวินัยเราบัญญัติไว้ดีแล้ว” ก็เชื่อตามๆ กันมา จนเขาเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพาน พระกัสสปะเป็นผู้ทำสังคายนา สังคายนาร้อยกรองมาแล้วเรียบร้อยเลย นี่รัฐธรรมนูญ ธรรมและวินัยๆ เขาสังคายนา พระอรหันต์ทำสังคายนาต่อเนื่องมา แล้วจดจารึกมาๆ นี่รัฐธรรมนูญ แล้วเวลาเราตีความล่ะ เวลาพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เวลาแต่งจดจารกันมา ทำจดจารกันมา ขยายความกันมา สิ่งที่ขยายความกันมา แล้วเราเป็นที่พึ่งที่อาศัย มันประเพณีวัฒนธรรม มันเป็นความเชื่อของสังคม เป็นความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น แต่ละท้องถิ่นแตกแยกกันไปเป็นนิกาย เป็นความเชื่อต่างๆ

ความเชื่อ พอความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อเป็นหัวรถจักร เพราะศรัทธาความเชื่อจะลากให้เราเข้ามา ศรัทธาความเชื่อเพราะอะไร เพราะถ้าเราไม่เชื่อ จิตใจเราจะมีสิ่งใดเป็นที่พึ่งที่อาศัย เป็นเครื่องอยู่ เวลานักปฏิบัติต้องมีคำบริกรรม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเป็นเครื่องอยู่ เพราะจิตใจเราปล่อยไม่ได้

เวลาปล่อยไป เห็นไหม คนเกิดมาคนเกิดมาโดยอวิชชา คนเกิดมาด้วยความไม่รู้ ถ้าคนมีอำนาจวาสนา พระโพธิสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมา เกิดมาสร้างแต่คุณงามความดี ส่งเสริมจริตนิสัยขึ้นมา ของเรา เราพยายามมีที่พึ่งของเรา ธรรมวินัยเป็นเครื่องกรอง คนทำดีๆ ดีอย่างไร ดีก็ดีศีล ๕ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ สิ่งนี้เป็นเครื่องหมาย เป็นรั้วกั้น แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นไป ความจริงมันมาจากไหนล่ะ ความจริงมาจากไหน? ความจริงมันมาจากการกระทำ

ดูสิ รัฐธรรมนูญบังคับเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ใครทำคุณงามความดี ใครทำขนาดไหน มันทำคุณงามความดี มันไม่ผิด มันไม่ผิด มันเป็นคุณงามความดี คุณงามความดีส่งเสริมขึ้นมา กฎหมายก็รองรับ กฎหมายก็ส่งเสริมขึ้นไป

นี่ก็เหมือนกัน พระไตรปิฎกๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราค้นคว้า เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราเปิดพระไตรปิฎกในใจของเรา ถ้าเปิดพระไตรปิฎกในใจของเรา “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรู้อย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็วางธรรมวินัยไว้อย่างนี้ เราปฏิบัติขึ้นไป เวลาปฏิบัติขึ้นไป ปากกัดตีนถีบเหมือนกัน เวลาคนเขาปากกัดตีนถีบ ทุกข์จนเข็ญใจ แล้วพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนมีฐานะขึ้นมา เขาระลึกถึงน้ำใจของคน ระลึกถึงคนที่เจือจานเรา คนที่เคยเกื้อกูลเรา เรากว่าจะทำธุรกิจ กว่าเราจะทำการค้าของเรา กว่าเราจะสร้างเนื้อสร้างตัวของเราได้ มันมีบุญมีคุณ เห็นไหม กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี

นี่ก็เหมือนกัน พระไตรปิฎกเป็นหลักของชาวพุทธเรา เราศึกษาขึ้นมา เราค้นคว้าขึ้นมา แล้วมันเป็นความจริงมากน้อยขนาดไหน ถ้าเป็นความจริงมากน้อยขนาดไหน ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ทุกๆ ข้อนะ บัญญัติไว้เพื่อให้คนหน้าด้าน ให้คนหน้าด้านอยู่ในกรอบ ส่งเสริมคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ใครที่ศรัทธาก็ให้ศรัทธาเจริญมากขึ้น คนที่ไม่ศรัทธา เขาจะมาศรัทธาในศาสนา พระไตรปิฎกทุกข้อเขียนไว้อย่างนี้ทั้งนั้นแหละ จรรโลงๆ จรรโลงคนดี คนส่งเสริม คนดีต้องเชิดชูเขา คนชั่วต้องกดเขาไว้ แต่ความเป็นจริงทำได้ไหม ไอ้คนชั่วมันมีกำลัง มันมีอิทธิพล เราจะไปทำสิ่งใดมันล่ะ ถ้าทำไม่ได้ มันก็มีธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้นะ

เราธุดงค์ไป เวลาพระสารีบุตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาววัชชีบุตร ภิกษุทำความเห็นแก่ตัว ถึงเวลาสวดปาติโมกข์เขาก็เอาขันเรี่ยไรเงินมาแล้วมาแบ่งกัน พระไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับ ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระสารีบุตร เพราะเป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร ให้ไปกล่าวตักเตือน พระสารีบุตรบอก โอ้โฮ! เขาดุร้ายมาก พวกนั้นเป็นพวกนักเลงหัวไม้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้เอาพระไป แล้วลงพรหมทัณฑ์เขา ไล่เขาออกไปไม่ให้อยู่ในที่นั้น

นี่ไง แล้วถ้าที่ไหน ภิกษุเวลาเราธุดงค์ไป ภิกษุเขามีความเห็นผิด เราไปองค์เดียวแล้วเราจะไปคัดค้านเขาได้อย่างไร คนเชิดชู สิ่งที่คนเชิดชู คนกด คนที่หน้าด้าน แล้วเราคนเดียวไปอยู่ในกลุ่มของนักเลงหัวไม้ เราจะไปตักเตือนอะไรเขา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้ค้านไว้ในหัวใจ เวลาเขาลงอุโบสถ เขาทำสิ่งใดที่ผิดแผกไปจากข้อเท็จจริง ให้ค้านในหัวใจ คือเราไม่ร่วมเวรร่วมกรรมไปกับเขาไง สายบุญสายกรรม ให้ค้านในหัวใจ คือเราไม่เห็นด้วย เราไม่ยอมรับในกรรมอันนี้ แต่ในเมื่อเราอยู่ในสังฆะอันนี้ เขาต้องการกติกาอย่างนี้ เราก็รับทราบ แต่เราค้านไว้ในใจ เพราะเรารู้ถูกรู้ผิดไง

นี่ไง ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นชั้นเป็นตอน ถ้าศึกษาไป อ่านพระไตรปิฎก ค้นคว้าแล้วมันเป็นคติ มันเป็นแบบอย่างให้เราได้เอามาเป็นหลักยึด แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราไป เป็นความจริงของเราขึ้นมาไหม ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เวลาจิตมันสงบเข้ามามันเห็นคุณค่านะ เห็นคุณค่าเพราะอะไร เห็นคุณค่าเพราะเวลาจิตเราธรรมดาส่งออก คำว่า “ส่งออก” คือพลังงาน คือความคิด ความคิดเกิดจากจิต ถ้าความคิดเกิดจากจิตนะ คนที่มีอำนาจวาสนามันจะคิดแต่เรื่องน้ำใจของเขา

หลวงตาท่านบอกว่า ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา ไม่เคยคิดเรื่องของตัวเองเลย คิดถึงแต่เรื่องของคนอื่นไง คิดแต่อยากจะช่วยเหลือ คิดแต่เกื้อกูลคน ท่านตื่นนอนขึ้นมาท่านคิดแต่เรื่องแบกโลก เรื่องความสงบสุขตั้งแต่ในวัดออกไป พระปฏิบัติอย่างไร พระบิณฑบาตมาแล้วมีข้อวัตรปฏิบัติไหม ฉันเสร็จแล้วได้ภาวนาไหม ได้อยู่โคนไม้ไหม ได้ค้นคว้าได้วิจัยในใจของตัวหรือเปล่า ฆราวาสเขามาทำบุญ ทำบุญเสร็จแล้วเขามีความทุกข์ความยากมาอย่างไร เขากลับไปแล้วเขาจะมีความรู้สึกอย่างไรของเขา สังคมที่ความเป็นอยู่ นี่ท่านคิดของท่าน คิดแต่เรื่องของคนอื่น เรื่องของคนอื่นคือจิตใจเป็นสาธารณะ

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติล่ะ เราประพฤติปฏิบัติ เราคิดแต่เรื่องของคนอื่น ยิ่งคิดเรื่องของคนอื่น เรื่องของคนอื่นไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าเรื่องของคนอื่น เวลานั่งสมาธิไป ห่วงไปหมด มีธุระ เราต้องรับผิดชอบ ไม่มีวันสงบหรอก

แต่เวลาเราจะบังคับ พุทโธๆๆ เราไม่ต้องคิดเรื่องของใคร เรื่องของสังคม เรื่องของเรา เราก็รับรู้กันอยู่แล้ว แล้วเราจะช่วยเหลือเจือจานเขาได้อย่างไร ถ้าเราช่วยเหลือเจือจานเขา กำหนดพุทโธๆ ก่อน ทำความสงบของใจเราเข้ามา ถ้าเราสงบ เหตุการณ์อย่างไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้น เราสามารถชี้นำได้ เราสามารถแก้ไขได้ เราสามารถบอกเหตุผลได้ ถ้าเราสามารถบอกเหตุผลผิดถูก ถ้าเป็นบัณฑิต บัณฑิตเขาฟังเหตุฟังผล เหตุและผลลงสู่ธรรม ถ้าคุยด้วยเหตุด้วยผลได้ เราก็สามารถจะคุยกับเขาได้ ถ้ามันคุยด้วยเหตุด้วยผลไม่ได้ แต่จิตใจของเรา เรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราเห็นโทษของมันไง ถ้าการกระทำอย่างนี้ ทำต่อไปข้างหน้าอย่างนี้ เจออุปสรรคอย่างนี้ แต่เขาจะฝืนทำไป ก็กรรมของสัตว์ เห็นไหม

เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านบอกว่าท่านทำหน้าที่ของท่านแล้ว ท่านได้เทศนาว่าการแล้ว มันก็เป็นกรรมของสัตว์แล้ว กรรมของสัตว์คือว่าสิ่งที่ท่านบอกสิ่งที่ท่านเตือนจะเป็นประโยชน์กับคนคนนั้นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นประโยชน์กับคนคนนั้นมันก็กรรมของสัตว์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ของเขามันก็ตกอยู่ตรงนั้นแหละ เพราะว่าท่านพูดเพื่อประโยชน์กับเขา เวลาฝนตกมาแล้วใครมีโอ่งมีไหรองรับ เขาจะได้น้ำ ได้ใช้ประโยชน์ของเขา ถ้าใครคว่ำโอ่งคว่ำไห ไม่เชื่อของเขา มันก็ไม่ได้ประโยชน์ของเขา เห็นไหม มันเป็นประโยชน์ของเขาเอง เราทำหน้าที่ของเราแล้ว มันเป็นประโยชน์ของเขาเอง เขาเอาประโยชน์ของเขาหรือไม่เอาประโยชน์ของเรา นั่นเป็นเรื่องของเขา

ในพระไตรปิฎก เวลาคนที่เขามีความทุกข์ความยาก แล้วเขาช่วยตัวเองเขาไม่ได้ แล้วไปหาใครก็ไม่มีใครช่วยได้ เวลาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกถึงที่มาที่ไปเลย ทำไมมันเป็นแบบนั้น เหตุที่มันเกิดขึ้นมา กรรมเก่ากรรมใหม่ เวลากรรมเก่า กรรมเก่าคือสันดาน กรรมเก่าคือความต่อต้านในใจ กรรมเก่าคือการเห็นแก่ตัวที่มันดื้อด้าน แต่กรรมใหม่ กรรมใหม่คือปัจจุบันนี้เราเห็นโทษของมันหรือเปล่า ถ้าเราเห็นโทษของมัน เราจะแก้ไขของเราหรือไม่

ถ้าเราแก้ ถ้าพูดถึงที่มาที่ไปปั๊บ มันมีเหตุมีผลทำให้ตัวเองสะท้อนใจ ถ้าสะท้อนใจขึ้นมา จะชื่นชมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ประเสริฐนัก เป็นผู้ที่หงายภาชนะที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นมา ถ้ามันหงายขึ้นมามันก็ได้ประโยชน์ของมัน ถ้าภาชนะมันคว่ำอยู่ ดูสิ ฝนตกแดดออกขนาดไหนมันไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดเลย ถ้าจริตนิสัยของเรามันมีทิฏฐิมานะ มันไม่ได้ฟังใครเลย มันว่ามันถูกอย่างเดียวๆ มันเอาสีข้างเข้าถูเขาตลอดไป แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันต้องแทงเข้าไปสู่ใจดำ แทงเข้าไปสู่ต้นเหตุนั้น ถ้าต้นเหตุนั้นมันเปิดขึ้นมามันก็ฟังเหตุฟังผล ถ้ามันฟังเหตุฟังผล นี่บัณฑิต

ทุกข์ของบัณฑิตคืออยู่ใกล้กับคนหน้าด้าน คนหน้าด้านมันไม่ฟังเหตุฟังผล ดูสิ เวลาเรามีปัญหากัน คนที่เราเจรจากับเขาแล้วเขาไม่ฟังเหตุฟังผล เอาสีข้างเข้าถูอย่างเดียว คนหน้าด้านเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง บัณฑิตมันสุขสงบนะ บัณฑิตนะ ผิดพลาดมันมีธรรมดา คนเราจะไม่มีผิดพลาดหรือ ความผิดพลาดมันธรรมดา แต่เราคุยกันแล้วเราเข้าใจ เราคุยกันแล้ว ถ้าเขาเข้าใจ เราให้อภัยเขาไหม เราให้อภัยอยู่แล้ว เพราะอะไร เพราะเราก็ผิด เราก็เคยทำผิดมา เราก็เคยทำผิดพลาดมา เพราะขาดสติแล้วทำผิดพลาดกันทั้งนั้นแหละ คนมีความผิดพลาด ไม่ใช่พระอรหันต์

เวลาพระอรหันต์มันสติสมบูรณ์ๆ แต่มันก็ยังอยู่ที่กรรม เวลาอยู่ที่กรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปปรินิพพาน เทศน์สอนไปตลอดทางเลย แล้วเวลาไป ไปถึงแหล่งน้ำ “อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน เรากระหายน้ำเหลือเกิน” ไปให้พระอานนท์ตักน้ำมา พระอานนท์บอกว่า “โอ้โฮ! เกวียนมันเพิ่งผ่านไป นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฉันข้างหน้าเถิด ที่นี่น้ำขุ่น” ไม่มีความปรารถนาให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดื่มน้ำนั้นเลย

“อานนท์ เรากระหายเหลือเกิน”

พระอานนท์ ด้วยความจำนนว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกขอถึง ๓ หน ก็เอาบาตรจะไปตักน้ำ น้ำขุ่นๆ อยู่ เวลาจะตักขึ้นมามันใสเฉพาะตรงที่จะตักนั่นน่ะ มันใสเฉพาะที่จะตัก พอตักขึ้นมา ไปถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วมันมหัศจรรย์ เพราะคนได้เผชิญ คนได้ประสบกับตัวเองมันจะมหัศจรรย์

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดื่มน้ำ เห็นแล้วชื่นใจ ทั้งๆ ที่ว่าทั้งดีใจทั้งเสียใจไปตลอดเลย เสียใจๆ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ครูบาอาจารย์ของเรากำลังจะนิพพาน จิตใจจะไม่สั่นไหว แต่มันปลื้มใจ ปลื้มใจเพราะมันเกิดความมหัศจรรย์มาตลอดเลย ตั้งแต่โลกธาตุหวั่นไหว ทำไมมันเป็นอย่างนั้น

เวลาไปแล้ว น้ำขุ่นๆ เวลาตักไปแล้วมันใส ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่านี้เป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะเหตุใด มันมีที่มาที่ไปทั้งนั้นแหละ เราเคยเป็นพ่อค้าโคต่างในชาติหนึ่ง เราจูงโคที่จะไปค้าขาย ไปตามหลังเขา เห็นน้ำขุ่น ก็สงสารวัว ก็ดึงไว้ไม่อยากให้มันกินน้ำ กรรมอันนั้นมันให้ผลมาถึงตรงนั้น

แล้วความที่จะตักแล้วทำไมมันใสขึ้นมาล่ะ ใสเฉพาะตรงนั้นน่ะ

มันใสเฉพาะตรงนั้นเพราะอำนาจวาสนา ดูสิ การสร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วคิดดูสิ มาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นครูสอนตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหมลงมา

เวลาโลก พระเจ้าอชาตศัตรูจะไปตีลิจฉวี จะตีได้หรือไม่ได้

บอกว่า ไม่ได้ เพราะเขายังถืออปริหานิยธรรมที่สอนไว้นั้นอยู่

ใครจะทำอะไรจะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ได้หรือไม่ได้ นี่ดวงตาของโลกๆ ไง พระอานนท์คร่ำครวญนะ ดวงตาของโลกมันจะดับลง ท่านสร้างคุณประโยชน์ขนาดนั้น ตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหมพึ่งอาศัย ดวงตาของโลก แล้วคิดดูสิ บุญอันนั้น เวลาจะตักมันใสหมด น้ำใสเพราะอะไร เพราะการกระทำของท่าน คุณงามความดีของท่าน ท่านได้ทำอย่างนั้นมา ทั้งๆที่มีกรรมนะ

กรรมเก่ากรรมใหม่ เวลาท่านอธิบายให้คนอื่นฟังไง มันเหมือนกับเปิดภาชนะที่คว่ำอยู่ให้มันหงายขึ้นมา หงายขึ้นมาให้รับรู้สิ่งนั้น แล้วให้แก้ไข นี่ธรรมๆ มาเตือนหัวใจของเรา ถ้ามันสะเทือนหัวใจของเรา สะเทือนหัวใจของเรา ให้เปลี่ยนมุมมองของเรา โปรแกรม สิ่งที่โปรแกรมในใจถ้ามันเปลี่ยนแปลงแล้วชีวิตเราเปลี่ยนเลย

แต่เวลามันทุกข์ๆๆ อยู่นี่ แล้วโปรแกรมก็ทำซ้ำๆๆ อยู่นี่ ฟังธรรมๆ เพื่อแก้ไขมันๆ ไง พอแก้ไขจากภายใน แล้วใครแก้ไขล่ะ? ใจของเรามันแก้ไข มนุษย์มีกายกับใจๆ ใจนี้สำคัญมาก ฉะนั้น ที่ฟังธรรมๆ เพื่อหงายภาชนะนี้มา เพื่อให้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดมา ให้การกำหนดชีวิตดำรงชีวิตมันเปลี่ยนแปลงไป

แล้วเปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไปก็ทำมาหากิน โอ้โฮ! ร่ำรวย มีเกียรติศัพท์เกียรติคุณเลย แต่เวลาครูบาอาจารย์เราเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงบวชพระ เปลี่ยนแปลงบวชแล้วธุดงควัตรเข้าไปในป่า เปลี่ยนแปลงเขาอยู่กับโลกเขาเจริญรุ่งเรือง อันนี้เปลี่ยนแปลงทำไมเข้าไปอยู่โคนไม้ ทำไมเข้าไปอยู่ในป่าในเขาล่ะ

การเปลี่ยนแปลงนะ การเปลี่ยนแปลงเพื่อผลบุญกุศล เพื่อผลของวัฏฏะ การเปลี่ยนแปลงไปเพื่อเป็นวิวัฏฏะ การเปลี่ยนแปลงเพื่ออัตตสมบัติให้จิตใจที่มืดบอดมันได้สว่างไสว มันได้รื้อค้นในใจของมัน อัตตสมบัตินะ มันสำรอก มันคายนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส

เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาฟังเทศน์เรื่องอะไร เทวดา อินทร์ พรหมเขาไม่มีวิชชาของเขาเลยหรือ แต่เขาไม่รู้ถึงหัวใจของเขา เขาไม่รู้ถึงว่าการถอดถอนความไม่รู้ในใจทำอย่างใด ถึงมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะเหตุนี้ไง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทงทะลุปรุโปร่ง แทงทะลุนะ “เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา” เป็นไก่ตัวแรก เป็นศาสดาองค์แรก เอกํ นาม กึ มีหนึ่งเดียวเท่านั้น เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์ เวลาฟังเทศน์ ฟังเทศน์เหตุนี้ เหตุเพราะว่าอัตตสมบัติ ถ้ามันเป็นวิวัฏฏะ วิวัฏฏะ เราจะทำสมบัติของเรา ฟังธรรมก็เพื่อใจของเรา ถ้าใจของเรามันดีนะ ถ้าเป็นเรื่องภายในก็ดี แม้แต่ความคิดก็คิดดี

ถ้าความคิดนะ ความคิดไม่ดี ดูพระอรหันต์สิ เวลาคิด เวลาเสวยอารมณ์ผิดหรือถูก แต่สิ่งที่คิดไม่ดีเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าคิดเรื่องดีๆ ล่ะ นี่คือเสวยอารมณ์ สิ่งที่ว่ามันเสวยอารมณ์เป็นความรู้สึกนึกคิดมันเกิดจากจิต แล้วถ้าจิตมันถึงที่สุดแล้ว จิตมันถึงที่สุดแล้วนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส เอวัง