เทศน์เช้า วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมะ ธรรมะคือสัจจะ ทุกคนต้องการสัจจะอันนั้น สัจจะอันนั้นเป็นความจริง แต่ของเราเป็นความจอมปลอม จอมปลอมตรงไหน? จอมปลอมเพราะมันเป็นสมุทัย ความว่าสมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่ไม่พอใจก็พยายามผลักไสไม่ต้องการพบสิ่งนั้น สิ่งที่ความปรารถนา ตะครุบเท่าไรมันก็วิ่งหนีเราไป มันถึงว่าเป็นสมุทัย มันถึงไม่เป็นความจริง
มันจริงโดยสมมุติ มันว่าไม่จริง มันมีได้อย่างไร ไม่จริงมันพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ มันเป็นสสาร มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่จับต้องได้มันแปรปรวนตลอดเวลา มันไม่คงที่ของมัน มันถึงเป็นความจอมปลอมไง ความจอมปลอมจะไปแสวงหาสัจจะความจริงมันเป็นไปไม่ได้ จะแสวงหาสัจจะความจริงมันต้องเอาความจริงเข้าไปแสวงหาสัจจะความจริง ความจริงที่เป็นสิ่งไม่ตายคือสัจจะ คือปฏิสนธิวิญญาณ จิตปฏิสนธินี้ไม่เคยตาย ไม่เคยบุบสลาย มันเวียนว่ายตายเกิดตามวัฏฏะ ตามเวรตามกรรมของมัน ถึงวาระที่มันได้เสวยผลของมัน กรรมนั้นเสวยผล เสวยผลเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เสวยผลเป็นนรกอเวจี สิ่งนั้นเป็นความจริง แต่ความจริงนี้โดนห่อหุ้มไว้ด้วยอวิชชาด้วยความไม่รู้ นั่นคือตัณหาความทะยานอยาก เอาตัณหาความทะยานอยากนั้นไปแสวงหาความจริงมันถึงเจอความจริงไม่ได้
การจะเจอความจริงนั้นจะต้องทำความสงบของใจเข้ามา ทุกคนเวลาเอาความจริงนั้นเอาความสงบของใจเข้ามา ใจสงบเพราะเหตุใด ใจสงบเป็นความจริงได้อย่างไร
ใจสงบเป็นความจริงได้เพราะมันเป็นหนึ่ง เป็นหนึ่งคือสิ่งที่มันมีอยู่ โลกนี้เป็นของคู่ ไม่มีสิ่งใดที่เป็นหนึ่ง สัมมาสมาธิที่เป็นหนึ่ง เป็นหนึ่งเข้าไปชั่วคราวแล้วมันก็คลายตัวออกมา ก็มาสู่ความจอมปลอมอย่างนี้ ความจอมปลอมอย่างนี้ ในเมื่อมีสสารมีวัตถุ มันก็มีเงาของมัน มีเงาเพราะมีแสง แสงมันสะท้อนก็เป็นเงาของมัน จิตใจ ปฏิสนธิจิตมันเป็นความจริงของมัน แต่มันแสดงตัวออกมาด้วยผ่านเงาของมัน เงาของมันคือความรู้สึกนึกคิด คือสัญญาอารมณ์ เอาสัญญาอารมณ์นี้ไปแสวงหาความจริง มันถึงไม่ได้ความจริง เอาสัญญาอารมณ์นี้ไปศึกษาธรรมะมา แล้วก็เคลมว่าเป็นสัจธรรมๆ เวลาภาวนาขึ้นมาก็ว่าว่างๆ ว่างๆ...ว่างๆ ใครเป็นคนบอกว่าว่าง สสารคือสัจจะความจริง คือหนึ่งนั้นมันมารับรู้มันก็เป็นความว่าง ก็บอกว่าเป็นความว่างขึ้นมา แล้วก็เอาสิ่งจอมปลอมนั้นไปแสวงหาความจริงมันก็ไม่ได้ความจริงไง
สัตว์ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ต้องการความพอใจ สัตว์มันแสวงหา มันต้องดำรงชีวิตของมัน เวลาสัตว์มันต้องมีสติปัญญาของมันนะ ถ้าไม่มีสติปัญญาของมัน มันรักษาชีวิตของมันไม่รอดนะ สัตว์กินพืชมันเป็นอาหารของสัตว์นักล่า สัตว์นักล่ามันแสวงหาอาหารของมัน ถ้ามันทำผิดพลาดขึ้นไปมันก็ไม่ได้อาหารนั้น ความได้อาหารนั้นมันต้องมีสติมันต้องมีปัญญาไง สัตว์มันยังมีสติมีปัญญาของมัน มันจะหาความสุขของมัน มันพยายามประทังชีวิตของมัน
มนุษย์ มนุษย์เกิดมามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ สัตว์ประเสริฐ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ดูสิ ดูมนุษย์สมัยหินสิ เขาทำอะไรของเขา เขาล่าไง เขาล่าของเขา เวลาเขาล่าของเขา เขาจะล่าของเขา เขาอ้อนวอนขอให้เขาประสบความสำเร็จไง เขาอ้อนวอนขอทุกอย่างเพราะว่าเขาไม่มีที่พึ่งของเขาไง
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ให้ทำคุณงามความดี แต่คุณงามความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณงามความดีของโลก คุณงามความดีของโลกคือการเสียสละ การเจือจานกัน นี่ความดีของโลก ความดีของโลกคือความสงบร่มเย็นของสังคม ผู้มีปัญญา ผู้มีอำนาจ ผู้เป็นธรรมเขาเจือจานกันๆ นั่นเป็นความดีของโลก
แล้วความดีของธรรมล่ะ เวลาเราจะแสวงหาของเรา เราจะมาควบคุมใจของเรา เราจะทำสมาธิของเรา ดูสิ มันควบคุมได้ง่ายไหม ถ้าเราว่าเป็นคนจริง เราเป็นคนจริงเราต้องสามารถเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเราสิ สิ่งที่มันเป็นความคิด เอาไว้ในอำนาจของเราสิ อย่าให้มันเบียดเบียนเราสิ ทำไมความคิดของเราแท้ๆ ทำไมมันเบียดเบียนเราล่ะ มันเบียดเบียนเรา เห็นไหม ดูสิ เพราะอะไร เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาถึงวางธรรมและวินัยนี้ไว้ ฉะนั้น เวลาเราเป็นปัญญาชน เราเป็นคนที่เห็นคุณประโยชน์ เราจะรักษาศีล เราจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา
ถ้าเราจะรักษาศีล ถ้ารักษาศีล สิ่งที่เรารักษาศีลใครเป็นคนรักษาล่ะ ศีลเป็นข้อห้าม ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ มันเป็นข้อห้าม มันเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ธรรมและวินัยเป็นศาสดาๆ แล้วถ้าเราพอใจ เราพอใจ เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นพุทธมามกะ เรายอมรับว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของเรา ศาสนาของเรา เราก็ต้องบังคับตัวเราไง เพราะเราพอใจ เราอยากจะกระทำ ถ้าเราอยากกระทำ อยากกระทำแล้วพอไปกระทำ ดูสิ สิ่งที่เป็นความจริงคือหนึ่งเดียว สมาธิ สัมมาสมาธิคือหนึ่งเดียวเท่านั้นแหละ แต่มันคลายตัวออกมามันก็เป็นสองนั่นแหละ มันรับรู้อารมณ์ เวลาเข้าไปสู่สัมมาสมาธิมันก็เป็นหนึ่ง เป็นหนึ่งเพราะมีความสุข แล้วความสุข ดูสิ ถ้าเป็นฤๅษีชีไพรเขาไม่เข้าใจว่ามันเป็นหนึ่ง เขาเข้าใจว่าเขามีคุณธรรม
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลามันสงบเข้ามาแล้วมันก็คลายตัวทั้งนั้นแหละ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจังมันถึงเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะเราปรารถนา เราอยากได้แล้วมันไม่สมความปรารถนา เวลาแสวงหามาด้วยความวิริยะ ความอุตสาหะ เวลาเรารักษาไว้ไม่ดีมันก็เสื่อมของมันไป ถ้าเสื่อมของมันไป ดูสิ ครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนให้ชำนาญในวสี ชำนาญในการรักษา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ แล้วถ้าสร้างเหตุแล้วผลมันต้องตามมาเป็นเรื่องธรรมดา
ถ้าเราสร้างเหตุ เหตุของเราๆ เหตุของเราลุ่มๆ ดอนๆ มันก็มาลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนกัน เดี๋ยวดีเดี๋ยวไม่ดี เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายมันก็อยู่ของมันอยู่อย่างนั้น ถ้ามันเป็นหนึ่ง สิ่งที่เป็นหนึ่ง ถ้าเราพอใจขึ้นมาเรารักษาศีลของเรา ถ้าเรารักษาศีลของเรา เรารักษาที่นี่ รักษาที่นี่ ไอ้ข้อห้ามนั้นมันเป็นเรื่องข้างนอกแล้ว ไอ้นี่พอจะรักษาศีลขึ้นมามันก็ลำบากลำบนไปหมด ทำอะไรก็เก้งๆ ก้างๆ ทำอะไรมันขัดขวางไปหมดเลย เราจะเป็นอิสระ เราจะทำอะไรเพื่อความพอใจ ไม่มีสิ่งใดทำได้สักอย่างหนึ่งเลย มันมีแต่ความกีดขวางความรู้สึกไปหมดเลย ถือศีลทำไมมันลำบากขนาดนี้ ถือศีลทำไมมันยุ่งยากขนาดนี้ ถือศีลทำไมมันวุ่นวายขนาดนี้
ก็ไปวิเคราะห์กันที่ศีลไง ไม่กลับมาที่ใจล่ะ ถ้าใจมันกลับมาเป็นปกติ ศีลมันก็กองอยู่ข้างนอกนู่นน่ะ นี่รักษาที่เป็นหนึ่ง มันเป็นศีลขึ้นมา แต่พอถ้าเรามาปฏิบัติ เราภาวนาแล้ว เราภาวนาแล้วเรารักษาใจเราแล้ว ศีลมันเป็นของหยาบๆ อันนี้มันเป็นศูนย์ มันไม่ใช่ศีลเลย มันปฏิเสธหมดเลยว่าเรานี้ดีแล้ว เรานี้ถูกต้องดีงามแล้ว ไม่ต้องเอาสิ่งนั้นมาบังคับ ไอ้นี่ก็เป็นศูนย์ไง
ศีลมันก็เป็นศีล ถ้าเราทำความผิดพลาดไปโดยความพลั้งเผลอ โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต่างๆ นี้เราก็วิรัติเอาขึ้นมาใหม่ คนเรา เราขาดสติได้ คนเราพลั้งเผลอได้ คนเรามันมีเวรมีกรรมนะ มีเวรมีกรรมของเราและของเขา เราเวลามีสิ่งใดเกิดขึ้นเราก็ว่าเป็นเวรเป็นกรรมของเรา แล้วมันเป็นเวรเป็นกรรมของเขาล่ะ เขาก็มีกรรมของเขานะ ทุกคนมีเวรกรรมกับเขา นี่ผลของวัฏฏะ เวลามาพบมาประสบกัน สิ่งใดที่มันกระทบกระเทือนกันเราก็มากระทบกระเทือน มันมากระทบกระเทือนเพราะมันมีเวรมีกรรมต่อกัน มันเป็นวาระ เราไม่ตั้งใจ เราไม่ปรารถนา เราไม่ต้องการ ที่เรามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราต้องการความสงบระงับของเรา เราไม่ต้องการวุ่นวายกับใครเลย แต่ทำไมเรามาเจอกันล่ะ
เรามาเจอกันนี่ผลของวัฏฏะไง ผลของวัฏฏะคือเราได้สร้างเวรสร้างกรรมมาแม้แต่ชาติใดก็แล้วแต่ ถึงเวลาแล้วมันถึงเวลาเป็นไป หมุนเวียนไปมันต้องเจอไปอย่างนั้น ถ้าเจอไปอย่างนั้นนะ เรามารักษาใจเราไง สิ่งที่ประสบ สิ่งที่เจอ ก็เจอ เจอแล้วรักษาความปกติของใจไง เจอแล้วรักษาของเราไว้ รักษาใจของเราให้เป็นปกติไว้ นั้นมันเป็นการกระทำของเขา นั้นเป็นการกระทำของเขานะ
แพ้เป็นพระๆ แพ้เป็นพระชนะ ๒ ชั้นนะ ชั้นหนึ่งเราชนะอารมณ์เราเอง ชั้นหนึ่งเราชนะการที่เขาต้องการให้เรามีความรู้สึก เราไม่มีความรู้สึก เราชนะ ๒ ชั้น ๓ ชั้น เขาว่าแพ้เป็นพระกลับชนะ แล้วชนะมากด้วย แต่ถ้าเป็นมาร มารเอารัดเอาเปรียบมันจะได้ประโยชน์ มันสร้างเวรสร้างกรรมไปทั้งนั้นแหละ แล้วสร้างเวรสร้างกรรม แล้วอย่าเสียใจนะ เวลาสร้างเวรสร้างกรรมไป เวลามาพบสิ่งใดแล้วเราก็มาคร่ำครวญกัน ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ เราก็ทำคุณงามความดีมาตลอด ทำไมมันเป็นอย่างนี้
กรรมเก่ากรรมใหม่นะ เวลากรรมมันให้ผลขึ้นมา มันเป็นไปตาม กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มันมีของมัน มันเป็นของมัน แล้วเราปฏิเสธได้อย่างไรล่ะ คำว่า ปฏิเสธไม่ได้ คือมันเป็นเหตุสุดวิสัย มันเป็นเหตุสุดวิสัย เหตุที่ควบคุมไม่ได้ มันมาอย่างไรล่ะ
แต่ถ้ามันเจอสภาพแบบนั้น เราตั้งสติของเรา เรารักษาศีล เราไม่ใช่รักษาศูนย์ รักษาศีลๆ ก็ความปกติของใจ ถ้ามันผิดพลาดขึ้นไป ความผิดพลาดเรามีสติปัญญา เราเข้าใจได้ไง สรรพสิ่งที่มีชีวิตมันปรารถนาความสุขทั้งนั้นแหละ แล้วเราเป็นมนุษย์ เราก็ปรารถนาความสุข เราเสียสละของเราให้คนอื่นได้ความสุขนะ เราเสียสละ เรายื่นมือออกไป ดูสิ เราให้ของเด็ก เราให้ของสัตว์ สัตว์มันได้กินจากเรานะ มันเดินตามเลยล่ะ มันขอบคุณด้วย เวลามันหิวกระหาย มันได้อิ่มท้องมันนะ มันขอบคุณนะ มันจงรักภักดี นี่ไง ผลของมันไง แต่ผลของมัน มันเกิดโดยสัจจะ เราไม่ต้องไปเรียกร้อง ไม่ต้องไปเรียกร้องหรอก มันเป็นจริงของมัน แล้วเราไปเรียกร้องอะไรล่ะ
ถ้ามันเป็นจริงรักษาศีลของเรา เราทำความปกติของใจของเราเข้ามา นี่ไง มันไม่เป็นศูนย์ไง นี่รักษาศีลแต่มันจะเป็นศูนย์ มันเรียกร้อง มันจะเอา ปฏิบัติก็ปฏิบัติยาก ทำอะไรก็ทำไม่ได้
มันทำได้ ทำได้ของเรา ทำได้ของเรา รักษาหัวใจของเรา ถ้ามันผิดพลาด ผิดพลาดก็ไม่เป็นไร ก็เมื่อก่อนไม่ได้ทำมันก็ผิดพลาดมาตลอดอยู่แล้ว แล้วพอมีสติปัญญาจะมาคัดแยก ถ้ามันผิดพลาด ผิดพลาดเราก็ตั้งต้นของเราใหม่ เราก็ทำของเราใหม่ เวลาทำของเราใหม่ มันเป็นศีล เป็นศีล เราปฏิบัติของเราให้เป็นสมาธิ ทำไมต้องทำสมาธิล่ะ สมาธิมันจะมีคุณค่าอะไรล่ะ มันต้องเกิดปัญญาสิ มันต้องมีมรรคมีผล
มันจะมีมรรคมีผลเพราะเราเอาความจริงเข้าไปค้นคว้า เอาความจริงเข้าไปค้นหา เอาความจริงนะ อย่าเอาความคิดเอาความรู้สึกของเราไปค้นคว้าไปค้นหา เวลาเขาเจรจากัน เขาบอกอย่าใช้อารมณ์สิ เราอย่าเจรจากันด้วยอารมณ์ เราต้องเจรจากันด้วยเหตุผลสิ คนเขาจะเจรจากันเขายังต้องใช้ปัญญาเลย เขาไม่ใช้อารมณ์นะ เขาใช้เหตุใช้ผล เราเจรจากันด้วยเหตุด้วยผล
นี่ก็เหมือนกัน เราจะไปแยกแยะ เราจะไปค้นคว้ากิเลสของเรา เราก็ต้องมีสัมมาสมาธิ เพราะสัมมาสมาธิเป็นบาทเป็นฐาน เป็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน มันเป็นที่เกิดที่ตายไง มันเป็นที่เกิดที่ตาย เวลาเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนนี้จะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ฝั่งตรงข้าม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วตายไหมล่ะ ในเมื่อสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว เรามีร่างกาย เรามีสิ่งสสาร มันต้องเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา แต่หัวใจถ้ามันยังไม่ได้ปฏิบัติไป มันก็เวียนว่ายตายเกิดไปกับสสารนั้น ไปเกิดธาตุ ๔ นั้น ธาตุ ๔ มันเปลี่ยนแปลงไปก็มีความเสียใจดีใจไปกับมัน พอมีความเสียใจดีใจไปกับมัน ผลนี้มาตกอยู่ที่หัวใจ
แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ใจนี้พ้นจากอวิชชา พ้นจากความไม่รู้ มันจะแปรปรวนอย่างไร สสาร สิ่งที่ธาตุ ๔ นี้มันจะแปรปรวนไปอย่างไรเรายิ้มเลย อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายก็ต้องดับเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตก็ต้องนิพพานในคืนนี้
นิพพานในคืนนี้คือว่าดับสิ้น สิ่งที่ว่าสอุปาทิเสสนิพพาน สิ่งที่เศษส่วนที่มันเหลือทิ้งอยู่นี่ ตั้งแต่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาต้องมีชีวิตอยู่ อีก ๔๕ ปี เผยแผ่ธรรมมาๆ มันก็ชราคร่ำคร่าเป็นธรรมดาของมัน เกวียนนี้เก่าแก่ชราคร่ำคร่าเหลือเกินนัก เราต้องขับเกวียนรักษาเกวียนมาด้วยความทุกข์ความยาก นี่มันต้องดับไปเป็นธรรมดา มันดับไปแล้ว มันดับสิ่งที่เกิดมาแล้วมันถึงดับไง แต่หัวใจมันไม่เกิดอีกๆ เพราะมีสติมีปัญญาแยกแยะจนอาสวักขยญาณทำลายอวิชชาในหัวใจมันหมดไปแล้วไง ถ้าหมดไปแล้วมันจะเอาอะไรไปเกิดล่ะ มันไม่มีการเกิดมันก็ไม่มีการตายไง
แต่ขณะที่เราจะค้นคว้า เวลาจิตมันสงบเข้ามาแล้วเราจะเอาสิ่งนี้เข้าไปค้นคว้า จิตสงบแล้วมันจะไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ทำไมต้องเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นอย่างอื่นไม่ได้หรือ
เห็นอย่างอื่นก็ได้ เพราะเห็นอย่างนี้มันไม่พ้นไปจากจิต จากธรรมหรอก จากธรรมคือสภาวธรรม สภาวธรรมที่มันเห็นสิ่งใด ธรรมารมณ์ๆ อารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้ามีสัมมาสมาธิ มันจับมันแยกแยะของมันได้ไง แต่ถ้าไม่มีสมาธิ อารมณ์เป็นเรา คิดเก่ง คิดแน่ คิดยอด ยอดของความคิด โอ๋ย! ใครจะฉลาดเท่าเรา เห็นไหม นี่อารมณ์เป็นเรา
แต่ถ้าจิตมันสงบเข้าไปแล้ว อารมณ์คือเงาไง ความรู้สึกนึกคิดเกิดจากใจไง เวลาเราจะไม่เจรจากันด้วยอารมณ์ เราจะไม่เคลมเอาว่าสิ่งที่เรารู้เราเห็นนี้เป็นของเราไง ถ้าเรารู้เราเห็นของเรา จิตมันสงบแล้วจิตมันจับของมันได้ไง ถ้าจิตมันจับได้ จิตมันก็แยกแยะของมันไง แยกแยะด้วยปัญญาไง ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นอย่างนี้ไง ถ้ามันแยกแยะด้วยปัญญาของมัน ระหว่างกิเลสกับธรรมมันต่อสู้กัน
เวลากิเลส กิเลสก็ว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว ดีแล้ว เราศึกษาแล้ว เรามีปัญญาแล้ว เราเป็นผู้รอบรู้แล้ว...กิเลสทั้งนั้นเลย เวลาปัญญามันเกิด มันแยกแยะของมันนะ ปัญญามันเกิดโดยเนื้อของปัญญา มันแยกมันแยะ มันพิจารณาของมันด้วยกำลังไง ด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ ด้วยกำลังของปัญญา มันแยกแยะมันก็ปล่อย แล้วใครปล่อยล่ะ รู้แล้วอะไรมันปล่อย มันปล่อยอย่างไร
ถ้ามันปล่อยแล้วเป็นตทังคปหานไง มันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันขาดล่ะ เวลาปล่อยแล้วมันขาดแตกต่างกันอย่างไร นี่ผู้รู้จริงไง ผู้รู้จริงเพราะหนึ่งเดียวมันรู้ไง สัจจะความจริงมันรู้ไง มันไม่ใช่สัญญาอารมณ์รู้ไง ไม่ใช่เคลมเอาว่าเป็นของเราไง เขาไม่ใช้อารมณ์ตัดสินไง เขาไม่ใช้ความพอใจและไม่พอใจ ถ้าเราพอใจก็อันนี้ใช่ อันนี้เป็นปัญญา อันไหนไม่พอใจ อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ไม่ใช่
ไอ้ไม่พอใจนั่นแหละใช่ ไม่พอใจเพราะกิเลสมันไม่พอใจไง ไม่พอใจเพราะกิเลสมันโต้แย้งไง ไอ้ไม่พอใจนั่นล่ะอะไรไม่พอใจ แยกแยะสิ มันเป็นจริงของมันไง พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ต้องตก โดยสัจจะ พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ต้องตก โลกมันหมุนไป พระอาทิตย์ต้องหมุนไป
นี่ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นมันก็ต้องดับ มันเป็นจริงของมัน นี่ไง ถ้ามันแยกแยะ มันเป็นข้อเท็จจริง มันเข้าใจจริง สติปัญญามันเห็น ถ้ามันเห็น ถ้าเราทำของเรา ปฏิบัติของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา สัตว์ดำรงชีวิตของมัน มันต้องมีสติรักษาเพื่อชีวิตรอด เพื่ออยู่เพื่อกินดำรงชีวิต หาอาหารแต่ละมื้อๆ มันต้องแลกมันมาด้วยชีวิต สัตว์ป่ามันต้องแลกมาด้วยชีวิต เผลอเมื่อไหร่มันก็ตาย ดำรงชีพของมันนะ ด้วยชีวิตของมันเข้าแลก มันต้องมีสติปัญญาคอยรักษาตัวรอด
มนุษย์ มนุษย์เกิดมาปฏิญาณตนว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ฉลาด ตะครุบเอาแต่สมบัติสาธารณะ สมบัติของทุกๆ คน แก้วแหวนเงินทองทุกคนแสวงหาได้ ตำแหน่งหน้าที่การงานทุกคนแสวงหาได้ แต่อริยทรัพย์ สัจจะความจริง อัตตสมบัติ สมบัติที่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แม้แต่คนตายไปเผาเชิงตะกอน เผาแต่ร่างกาย เผาแต่ธาตุ ๔ นั่นน่ะ มันเผาความรู้สึกอันนั้นไม่ได้
ตบะธรรม ศีล สมาธิ ปัญญามันจะแผดเผา มันจะกำจัด มันจะสำรอก มันจะคายของมัน สิ่งที่แผดเผาคืออริยมรรค คือสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วฝากไว้กับบริษัท ๔ อุบาสก-อุบาสิกา มอบพินัยกรรมไว้ให้เป็นมรดกตกทอด เราก็ได้แต่กระดาษแผ่นหนึ่ง แต่เราไม่ได้สัจจะความจริง
ถ้าเราได้สัจจะความจริง เราจะไม่ถือศูนย์ เราจะถือศีล เราจะเกิดสมาธิ เราจะเกิดปัญญา เราจะเกิดการแยกแยะเพื่อเป็นอัตตสมบัติ สมบัติของเราแท้ๆ ไม่มีใครมาช่วงชิง ไม่มีใครมา พญายม ยมบาลทุกอย่างเอาไม่ได้ ไม่มีใครจะมาแย่งสมบัติอันนี้ได้ มันเกิดเป็นปัจจัตตัง เกิดเป็นสันทิฏฐิโกกลางหัวอกของเรา นี่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ประเสริฐอย่างนี้ เอวัง