เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๑ ม.ค. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาเนาะ ตั้งใจฟังธรรมะ เมื่อวานวันเด็ก พอวันเด็กขึ้นมาเป็นวันของเด็กเขา ดูสิ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ เขาเอามาให้เด็กเล่น เอามาให้เด็กดู ให้เด็กมันมีแนวคิด เวลาเขาไปสัมภาษณ์เด็ก อยากเป็นอะไร? อยากเป็นทหาร เขาเอาอาวุธยุทโธปกรณ์มาให้เด็กดูไง วันของเด็ก เราฝังไว้ เราฝังวัฒนธรรม ฝังความรู้สึกนึกคิดให้กับเด็ก สิ่งนั้นเป็นอุดมคติของเขา เขาโตขึ้นมาเขาจะเป็นคนดีของเขา

นี่เป็นวันเด็กนะ เรารักเด็กทุกๆ วัน ไม่ใช่รักเฉพาะวันเด็ก ถ้าเรารักเด็กทุกๆ วัน เราดูแลเขาได้ แต่เราไม่มีความสามารถจะทำได้อย่างนั้นไง ดูสิ เราเอาเครื่องบินไปบินให้ดู งบประมาณใช้น้ำมันไปตั้งเท่าไร แต่เขาก็ทำ เขาทำขึ้นมาเพื่ออะไร? เพื่อฝังไว้ ฝังไว้ให้เด็กมันมีวัฒนธรรมของเขา ให้เขามีความรู้สึกนึกคิดที่ดี เห็นไหม วันเด็ก

แล้วเราก็เป็นเด็กมาก่อน พอเราเป็นเด็กมาก่อนเราต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ถ้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราก็รักตัวเราเองไง รักตัวเราเอง อย่าเอาของสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยเข้ามาตัวเรา เวลาสิ่งที่เป็นสารพิษเขาไม่ให้เข้าตัวเรา แต่เวลาความรู้สึกนึกคิดที่มันไม่ดีขึ้นมา ความรู้สึกนึกคิดที่มันทำให้เราเจ็บช้ำ ทำไมเราไม่ให้มันเข้ามาในหัวใจเรา ทำไมไม่ได้ล่ะ

ฉะนั้น สิ่งที่เราจะรักษา มันต้องรักษา ต้องมีสติ ต้องมีการฝึกหัด นี่เบื้องหลัง เวลาเบื้องหน้า เบื้องหน้าทุกคนก็เห็นสิ่งต่างๆ ว่าเขาประสบความสำเร็จในชีวิต เขาทำสิ่งใดเขาทำแล้วเขามีความดีงามของเขา นั่นเราดูแต่เบื้องหน้าของเขา แต่เบื้องหลังของเขา เขาต้องมีสติ เขาต้องมีความอดทน เขาต้องมีการฝืน ฝืนอะไร? ฝืนความคิดใฝ่ต่ำ ความคิดใฝ่ต่ำมันจะดึงให้เราไปนะ ดูสิ เราจะมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราตั้งใจขึ้นมานะ

คนเราเวลาอ่านพุทธประวัติ อ่านประวัติของครูบาอาจารย์ เราอยากจะพ้นทุกข์ทั้งนั้นแหละ เรามีเป้าหมายของเรา แต่เวลาเรามาปฏิบัติจริงๆ เราจะมีจุดยืนของเรา เราจะมีความอดทนของเราไหม ขันติบารมี ขันติธรรม ขันตินะ ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าติเตียนเราได้ เราอดทนได้ เป็นขันติอย่างหยาบๆ คนที่เสมอกับเราติเตียนเราได้ บอกกล่าวเราได้นี่อย่างกลางๆ เด็กน้อยผู้ที่อ่อนแอกว่าเขาบอกถึงจุดบอดเราได้ อันนั้นล่ะขันติอย่างยอดเยี่ยม เห็นไหม ถ้าเรามีขันติธรรม เรามีความอดทนของเรา เราทำสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรา

ดูสิ เวลาพระออกธุดงค์ อากาศอย่างนี้อยู่ในป่าในเขา ฝนตกทั้งวัน ฝนตกพรำๆ ทั้งวัน เราอยู่ในป่าในเขามันไม่มีที่มุงที่บังไง แต่เรามาอยู่วัดอยู่วามันมีที่มุงที่บัง อยู่ในเรือนว่างมีที่มุงที่บัง เราก็ยังว่ามันชื้นแฉะ มันต่างๆ แต่อยู่ในป่าในเขานะ แล้วฝนมันตก เวลาฝนตก ตกหลายๆ วันเข้ามันรวมตัวเป็นน้ำป่ามา มันพัดมา เราเข้าไปเที่ยวป่าเที่ยวเขาใช่ไหม เราไม่อยู่ชัยภูมิอย่างนั้น เราจะไม่รู้หรอกว่าแหล่งน้ำเป็นอย่างไร ที่มาของน้ำเราเข้าใจไม่ได้ แต่เวลามันมา เราหนีไม่ทันเลย ถ้าเราหนีไม่ทัน เราจะหนีอย่างไร เราจะหนีอย่างไร เราต้องขึ้นที่สูงไว้ๆ แล้วขึ้นที่สูงขึ้นไป

อยู่ในป่านะ เวลาตะไคร่น้ำ พอฝนมันตก มันลื่น มันลื่น มันทำให้เราล้มลุกคลุกคลานอยู่ในป่า แต่ถ้าเวลามันแห้งก็ไปอีกอย่างหนึ่ง นี้พูดถึงว่าเวลาเราเข้าป่าเข้าเขาไป เวลาเราเข้าไปเวลาหน้าแล้ง เทวทัตขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าห้ามบิณฑบาต ไม่รับกิจนิมนต์ ให้บิณฑบาตเป็นวัตร ห้ามรับกิจนิมนต์ ห้ามฉันเนื้อสัตว์ ให้อยู่โคนไม้ ไม่ให้อยู่ในที่มุงที่บัง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ได้ ไม่ได้ ถ้าใครจะถือเคร่งอย่างนั้นได้ แต่เวลาอยู่ในที่มุงที่บัง เวลาหน้าฝนท่านให้อยู่ในที่มุงที่บัง เวลาหน้าแล้ง หน้าแล้งถ้าเราจะออกวิเวก พระเราออกวิเวก ออกต่างๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตแบบนี้ อนุญาตแบบนี้ให้คนเลือกเอา เพราะคนเรา จริตนิสัยของคนชอบแตกต่างกัน ถ้าชอบแตกต่างกัน เวลาชอบแตกต่างกันทำสิ่งใดที่ตัวเองชอบ ตัวเองตรงจริตตรงนิสัย ทำแล้วมันก็ปลื้มใจ แต่ทำอะไรที่มันขัดอกขัดใจ ทำที่เราภาวนาแล้วมันจะราบรื่นดีงาม มันกลับขัดอกขัดใจ มันกลับมีกิเลสพอกพูนขึ้นไป แล้วเวลาความคิดใฝ่ต่ำ เวลามันใฝ่ต่ำมันดึงเราลงไปต่ำ เราฝืนมัน อย่างนี้ไม่ใช่ไปขัดใจมันหรือ

ความคิดใฝ่ต่ำเรารู้ได้นี่ แต่จริตนิสัยนะ จริตนิสัยคือความชอบ ความชอบ ดูสิ คนเราเกิดมามีความชอบแตกต่างกัน ถ้าความชอบแตกต่างกัน สิ่งนั้น ถ้าเราเอาสิ่งนั้นมาพิจารณา เอามาพิจารณาเลยว่าสิ่งนั้นมันมีแก่นสารอะไรไหม ถ้ามันมีแก่นสาร เป็นของเราหรือเปล่า ถ้ามันเป็นของเรา เราพิจารณาของเราไปนะ พอพิจารณาไป พอมาถึงฐีติจิต ถึงรากเหง้าของความคิดนะ มันเข้าใจได้ มันเข้าใจ เราวางได้ แต่ไม่ได้วางที่สิ่งของนั้น มันวางที่หัวใจ มันวางที่ทิฏฐิมานะอันนั้น ถ้ามันวางทิฐิมานะอันนั้น ของนั้นก็อยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ความผูกพัน ความผูกพันของมัน ความยึดมั่นถือมั่น สิ่งนี้ต่างหากมันเป็นกิเลส

สิ่งที่เป็นกิเลส ความยึดมั่นถือมั่นของเรา ความยึดมั่นในใจเราเป็นกิเลส แต่ของนั้นก็อยู่อย่างนั้นแหละ แล้วเราบริหารจัดการได้ดีด้วย แต่ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมัน เรายึดมั่นถือมั่น เราว่าเป็นของของเรา เราเสียใจ เสียใจดีใจไปกับข้าวของอย่างนั้น

เวลาข้าวของอย่างนั้น เห็นไหม วันเด็ก เด็กมันไปเล่นสนุกสนานของมัน สนุกสนาน งบประมาณทั้งนั้นแหละ งบประมาณของชาติเรา เอามาปูพื้นฐานให้เด็กมันได้เรียนรู้ แล้วเราจะทำอย่างนั้นทุกวันๆ ไม่ได้ เพราะว่าเราจะต้องบริหารจัดการ เพราะว่ามันมีเรื่องให้บริหารจัดการเยอะแยะไปหมด

แล้วชีวิตเราก็เหมือนกัน ชีวิตเรามันมีเรื่องให้ต้องจัดการมหาศาล มันไม่ใช่มีแต่แสดงน้ำใจความรักต่อกัน แต่ความรักต่อกันมันฝังอยู่จิตใต้สำนึก ความรักต่อกันความผูกพันต่อกัน สิ่งนี้คำว่า “เพื่อนๆ” หายากมากนะ

คำว่า “เพื่อน” เวลาคำว่าเพื่อน เพื่อนแท้ เพื่อนแท้ แม้แต่ลับหลังเรา แม้แต่เราผิดพลาดพลั้งไปเขาจะช่วยเหลือเจือจานเรา เพื่อนเทียม คนเทียมมิตร คนเทียมมิตรเวลาคบกัน คบแต่ตอนเรามีความสุข เวลามีความทุกข์มันไม่รู้จัก คำว่า “เพื่อนๆ” น้ำใจ น้ำใจที่เราเก็บไว้ลึกๆ ในหัวใจ เราเก็บของเราได้ เรามีความผูกพันกับใคร เรามีต่างๆ ความผูกพันอันนี้มันสะเทือนใจนะ มีอะไรผูกพันมันสะเทือนน้ำตาไหลเลยล่ะ สิ่งนี้เราเก็บไว้ในใจของเราได้ แต่เวลาบริหารจัดการ ชีวิตของเรามันต้องมีสิ่งต่างๆ มหาศาลเลย

ดูพระสิ พระเวลาพูด โอ๋ย! มีเมตตา จะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ ยังเห็นแก่ตัว หลบเข้าป่าเข้าเขาไปเดินจงกรมอยู่นั่น ไปภาวนาอยู่นั่น

นั่นล่ะเขาจะเอาตัวรอด ถ้าเอาตัวรอดได้แล้ว สิ่งที่เอาตัวรอดได้ เวลาจิตใจของคนมันพลิกแพลง มันปลิ้นปล้อนในหัวใจ เอามันไว้ได้อย่างไร แล้ววิธีการ เวลาพระสมัยพุทธกาลนะ เวลาบวชแล้ว ผู้เฒ่า บวชเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ ธรรมกถึก ไปขอกรรมฐานจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเข้าป่าเข้าเขาไป แล้วไปประพฤติปฏิบัติ เวลามีความสงสัย มีสิ่งใดที่แก้ไขไม่ได้จะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้อุบายๆ ให้อุบายกลับไปแก้ไข แล้วถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เข้าใจเรื่องวิถีแห่งจิต เรื่องความรู้สึกนึกคิด เรื่องความหลอกหลอน เรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเอาอะไรมาสอนล่ะ ครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าท่านไม่ภาวนาของท่านมา ท่านจะเอาอะไรมาบอกเราล่ะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งสมาธิภาวนาจะต่อสู้กับกิเลส ครอบครัวของมาร ดูพญามารมันยกพลของมันมา มันจะทำลาย ทำลายบัลลังก์ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตบะธรรมที่กำลังประพฤติปฏิบัติ พญามารขนกันเป็นครอบครัวมาเลย เวลาโต้ตอบเป็นบุคลาธิษฐาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ย “มารเอย สิ่งที่เราได้ประพฤติปฏิบัติมา พยานของเรามันมีมหาศาล คุณงามความดีของเรา จะเอาสิ่งที่เธอพอใจ จะมาทำลายมันทำลายไม่ได้หรอก” ถ้ามันทำลายไม่ได้ แล้วใครเป็นพยานล่ะ

เวลาเป็นพยาน เอาแม่ธรณีเป็นพยาน เวลาแม่ธรณีบีบมวยผม เพราะเราได้ทำบุญกุศลไว้ ได้กรวดน้ำไว้ สิ่งนี้เรากรวดน้ำไว้มันเป็นพยาน มันก็เลยเป็นประเพณีของเรา เราก็ต้องทำบุญเสร็จ เวลาให้พรต้องกรวดน้ำ ไอ้นี่มันน้ำเพื่อให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขามั่นคงของเขา แต่คนที่มีน้ำใจๆ ความระลึกรู้ เพื่อนแท้ๆ ความเป็นจริงในหัวใจมันผูกพัน ความผูกพันอันนี้มันซาบซึ้ง แล้วมันมีความจริงใจต่อกัน

คำว่า “จริงใจ” ไม่ใช่มิตรเทียม ไม่ใช่คนเทียมมิตร สิ่งที่เป็นค่าน้ำใจๆ เวลาประพฤติปฏิบัติไป สิ่งนี้มันจะมีในใจของเรา เราจะเข้าใจได้ๆ แล้วเราปฏิบัติไป สิ่งที่ว่าของของเราทั้งนั้นแหละ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพิจารณาของท่านไป เวลาบอกว่าเวิ้งว้างไปหมด มันว่างไปหมด เวลาจิตมันมหัศจรรย์ขนาดนั้น เวลามองสิ่งใด ภูเขาเลากาทะลุไปหมดเลย มันไม่มีสิ่งใดขวางหน้าเลย แล้วมันมหัศจรรย์ขนาดนั้น

ธรรมะเตือนเลยนะ สิ่งที่เราเวลาจิตใจที่มันส่งออกไป มันทะลุภูเขาต่างๆ ไปมันเกิดจากอะไร มันเกิดขึ้นมาจากจิตเดิมแท้ มันเกิดขึ้นมาจากฐีติจิต สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมันเกิดขึ้นจากจุดและต่อม คือเกิดขึ้นจากฐีติจิต เกิดขึ้นจากภวาสวะ เกิดขึ้นจากภพ ให้ถอนกลับมา ให้ย้อนกลับมาๆ พอท่านมาทำลายตัวท่านเอง ทำลายจิตใต้สำนึก ทำลายภวาสวะ ทำลายภพแล้ว ท่านบอกว่าสิ่งที่เวิ้งว้าง ที่มันว่าง ที่มันทะลุปรุโปร่งไปนั่นล่ะกองขี้ควาย นี่เวลาคนที่ภาวนาไปแล้ว

แต่เวลามันไปเห็นใหม่ๆ มันมหัศจรรย์นะ ทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้ ทำไมมันมองไป สายตามองไปมันทะลุปรุโปร่ง เวลาเราภาวนา จิตเราเป็นสมาธิ เวลาออกจากสมาธิทำไมมันมีความสุข มันมีความสบายของมัน สิ่งนี้มันเป็นคุณสมบัติของจิตไง ถ้าคุณสมบัติของจิต เวลาจิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันมีความทุกข์ความยากของมัน นั่งอยู่มันก็เบียดเบียนเรา เบียดเบียนคือว่าความคิดมันทำให้เรานั่งไม่ได้ มันต้องลุกไป ลุกไปแล้วจิตมีแต่ฟุ้งซ่าน มีแต่ความคิดเพ้อเจ้อไปเต็มกำลังของมัน เวลาเราพุทโธๆ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันสงบแล้ว จิตมันสงบระงับของมันมีความสุขมาก เวลาลุกขึ้นมาจากภาวนา มันเดินไปเหมือนลอยไป มันเบา มันมีความสุขไป

นี่คุณสมบัติของมัน คุณสมบัติของมันอย่างพื้นฐาน คุณสมบัติมันสูงขึ้น คุณสมบัติของมันที่พิจารณาไปแล้วมันทะลุปรุโปร่งไป แต่มันมาจากไหนล่ะ มันมาจากไหน เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา ท่านเคยทำของท่านมา นี่ไง การแก้จิตๆ ไง

พระสมัยพุทธกาลเวลาไปภาวนาแล้วมีปัญหาขึ้นมา ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แก้ให้แต่ละชั้นแต่ละตอนเข้าไป แก้แล้วเราก็ไปปฏิบัติต่อของเรา พอถึงที่สุดแห่งทุกข์เหมือนกันหมด

คำว่า “เหมือนกัน” สิ่งที่เหมือนกัน เห็นไหม เวลาพระที่ว่าเห็นแก่ตัวๆ เวลาแสดงตัวว่าเป็นพระ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ จะมีเมตตาโลก เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมาก็เห็นไปภาวนาอยู่คนเดียว เห็นแต่เข้าทางจงกรม นั่งสมาธิภาวนา...นั่นแหละสุดยอด สุดยอดเพราะอะไร นั่นล่ะวิหารธรรม ถ้าไม่มีวิหารธรรม วิหารธรรมนั้น ใจนั้นมันสุขสงบระงับ มันจะเอาวิธีการมาบอกเรา ถ้าไม่มีวิหารธรรมนะ มันก็มีสมมุติโลกนี่แหละ สมมุติโลกก็วิธีการไง ศึกษาธรรมะมาแล้วก็มาคุยกันไง ก็บอกวิธีการไง

“ทำอย่างไรครับ”

“อ้าว! จิตสงบก็พิจารณากายสิ ทำจิตสงบนะ จิตสงบแล้วพิจารณากาย”

“แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ”

“ก็พิจารณากายสิ”

“แล้วกายพิจารณาอย่างไรล่ะ”

“อ้าว! พิจารณาก็...”

เห็นไหม

แต่ถ้าคนเป็นนะ ถ้าจิตมันสงบแล้วพิจารณากายเห็นกายไหม ตั้งกายขึ้นมาได้ไหม ถ้าตั้งขึ้นมาได้แสดงว่าจิตมีกำลังพอ ถ้ามีกำลังพอ เราแยกแยะไปให้มันวิภาคะ ให้มันขยายส่วนแยกส่วนมันทำได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ กำลังก็ไม่พอ ก็ต้องวาง ก็ต้องกลับมาพุทโธอีก กลับมาพุทโธทำให้จิตมันสงบเข้าไป แล้วจิตสงบแล้ว พอจะพิจารณากาย กายมันหายไปแล้ว กายจับไม่ได้แล้ว

วิธีการที่เรารำพึงถึงกาย ตั้งกายขึ้นมาให้ได้มันก็เป็นวิธีการอันหนึ่ง วิธีการเราจะใช้ปัญญาแยกแยะก็เป็นวิธีการอันหนึ่ง วิธีการอย่างนี้เขาเรียกวิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญารู้แจ้งในสติปัฏฐาน ๔ แต่เวลาเราใช้ปัญญาของเราตรึกในธรรมๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรามาตรึกไง เวลาตรึกในธรรม เวลาเราขี้เกียจขี้คร้าน เราทำสิ่งใดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกตัวอย่างขึ้นมาว่าพระองค์นั้นอดีตชาติเขาเป็นอย่างไร เขาได้สร้างบุญกุศลมาขนาดไหน เขาทำแล้วเขาประสบความสำเร็จอย่างไร คนคนนี้ พระองค์นี้เขาเคยได้ทำวิบากกรรมไว้มา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาก็มีปัญหาของเขา นี่ตรึกในธรรม

แล้วตรึกในธรรม เราใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันตรึกในธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรามาตรึกเป็นตัวอย่าง เป็นตัวอย่างว่าให้จิตนี้มันได้บริหารจัดการ ให้ได้เคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวคือให้มันสลัดสิ่งที่ความคิดใฝ่ต่ำ ความคิดใฝ่ต่ำมันเกิดขึ้นมาโดยอวิชชา โดยความไม่รู้ มันจะเกิดในใจของเราตลอดเวลา เราก็ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย พอพึ่งอาศัย มันตรึกในธรรมๆ มันเห็นคุณเห็นโทษมันก็คายของมัน มันก็สลัดไอ้ความคิดใฝ่ต่ำนั้นไป ถ้าความคิดใฝ่ต่ำ มันก็กลับมาสู่สมถะ คือกลับมาสู่ตัวมันเองก็เป็นสมถะ มันก็เป็นกำลังของใจ นี่พิจารณาอย่างนี้

ปัญญามันมีหลากหลาย ปัญญาอบรมสมาธิอย่างหนึ่ง ปัญญาวิปัสสนาอย่างหนึ่ง ปัญญาในคำบริกรรมอย่างหนึ่ง แล้วเวลาเราใช้ปัญญาของเราโดยสามัญสำนึกเขาเรียกว่าโลกียปัญญา ปัญญาจากกิเลสไง ปัญญาจากภพไง ปัญญาจากภวาสวะไง ภวาสวะ อวิชชามันครอบงำไว้ไง มันก็ใช้เป็นโลกียปัญญา

เวลาทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบ ตรึกในธรรมก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอจิตมันสงบเข้ามาแล้วเรารำพึงถึงกาย เรายกกายขึ้นมา แล้วเราพิจารณากายของเราได้ ใช้ปัญญาอย่างไร ปัญญามันแยกแยะอย่างไรล่ะ ถ้าปัญญามันแยกแยะ ปัญญาวิมุตติมันพิจารณากายโดยการเทียบเคียง การเทียบเคียง จิตสงบแล้วมันจับกายได้ มันสะเทือนหัวใจ มันเทียบเคียงได้ มันใช้ปัญญาไปได้ ปัญญาวิปัสสนามันจะสำรอก สำรอกสักกายทิฏฐิ มันสำรอกทิฏฐิได้เลยแหละ ทิฏฐิคืออะไร? ทิฏฐิคือมันฝังมากับใจไง อนุสัยไง มันมากับเราไง มันสำรอกมันคายของมันออกได้ไง ถ้ามันคายออก มันคายออกได้อย่างไร? มันคายออกด้วยวิปัสสนาญาณไง มันไม่ใช่คายออกโดยการตรึกในธรรมไง มันไม่ได้คายออกโดยโลกียปัญญาไง มันต้องโดยภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ เป็นวิปัสสนาการรู้แจ้งไง ปัญญามันมีหลายขั้นหลายตอนขึ้นไป นี่ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด” แล้วถ้าเป็นมิตร มหามิตรเลย คือคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือคบธรรมะ คบสัจธรรม คบสัจธรรม ตรึกในธรรมๆ แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติ พยายามกระทำให้มันเป็นสมบัติของเราไง ถ้าเป็นสมบัติของเราก็เป็นสันทิฏฐิโก คือการกระทำของเรา เราทำเป็น เราทำเป็น เรารู้ เราทำเป็น เราทำได้ คนทำเป็นทำได้กลัวอะไร คนทำเป็นทำได้เขาก็ทำของเขาตลอดไปใช่ไหม

คนทำไม่เป็นทำไม่ได้สิ รู้วิธีการแต่ยังทำไม่ได้ มันก็หวั่นไหวน่ะสิ แต่คนทำเป็นทำได้กลัวอะไร เพราะเขาทำเป็นเขาทำได้ แล้วเขาทำแล้วมีผลด้วย เขามีผลของเขาเป็นความจริงของเขาด้วย ถ้าเป็นผลของเขา นี่อกุปปธรรม

ของเรากุปปธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตากุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะเป็นอนัตตา สภาวะแปรปรวนไปตลอดไป แต่ถึงเวลาเราทำได้ทำเป็นแล้วได้ผลของธรรม อกุปปธรรม อฐานะที่เปลี่ยนแปลง อฐานะที่เคลื่อนไหว เป็นความจริงอย่างนั้น เป็นความจริงแท้ๆ

ธรรมจริงเกิดขึ้นมาได้จากอะไร? เกิดขึ้นมาได้จากคบธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คบมิตรแท้ คบมหามิตร คบศาสดา ให้ศาสดาเป็นที่พึ่งแล้วปฏิบัติของเราให้เป็นความจริงของเรา ให้เป็นสมบัติของเราในใจของเรานี้ เอวัง