เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ ม.ค. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ธรรมะคือสัจจะ สัจจะเราก็เข้าใจได้ เราเข้าใจของเราได้ แต่เราไม่รู้ความจริง ความเข้าใจของเรากับความจริงเป็นคนละชนิดกัน ถ้าเป็นความจริงนะ เราเข้าเผชิญกับความจริง เราเข้าเผชิญกับความจริงนั้นไม่ได้ แต่นี่เราเข้าใจว่าเป็นสัจจะ สัจธรรมๆ แต่เราก็สงสัย เราก็ลังเล ความลังเลสงสัยของเรา มันจับไม่มั่นคั้นไม่ตาย จับไม่มั่นคั้นไม่ตาย การกระทำสิ่งใดทำแล้วมันไม่เป็นเอกภาพหรอก แต่ถ้าทำความจริงนะ มันต้องมีศรัทธา

คนที่มีศรัทธามากเวลากำหนดพุทโธ นี่ศรัทธาจริต ศรัทธาจริตกำหนดพุทโธ ตั้งใจ มันเชื่อ แต่ถ้าคนที่เป็นปัญญาชน ปัญญาชนมันจะมีความสงสัย ความสงสัยของเราเพราะเรามีปัญญา

ฉะนั้น ปัญญามันทำให้โลกเจริญได้ เวลาปัญญา ทางตะวันตกเขาบอกต้องให้ถามปัญหา เด็กนี้ให้ถามปัญหา เด็กนี้มีปัญหา เขาจะถามของเขาตลอดไป แต่เด็กของเราให้เคารพผู้ใหญ่ การเคารพผู้ใหญ่ เราเชื่อเรื่องอาวุโส ทีนี้อาวุโส การเชื่อผู้ใหญ่มันเป็นมารยาท แต่ความสงสัยของเรา เราก็เก็บไว้ในใจของเรา ถ้าเก็บไว้ในใจ

นี่ฟังธรรมๆ ฟังธรรมนะ ฟังธรรม ธรรมที่ออกมาจากหัวใจที่เป็นสัจธรรมนะ ออกมาด้วยความมั่นคง ด้วยความจริงจัง ด้วยความจริงจังเพราะอะไร เพราะสิ่งนั้นมันกินใจ แต่ถ้ามันออกมาด้วยความที่เราไม่แน่ใจ ถ้าเราไม่แน่ใจ ทำสิ่งใดเราก็ไม่แน่ใจ ความไม่แน่ใจของเรา จะพูดสิ่งใดไปมันก็ไม่แน่ใจ ความไม่แน่ใจทำให้คนฟังก็ไม่แน่ใจไปด้วยไง นี่ฟังธรรมๆ เพื่อความจริง อันนี้เป็นสัจธรรมนะ สัจธรรมมันมาจากไหนน่ะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย การสร้างอำนาจวาสนาบารมี การสร้างอำนาจวาสนาบารมีมาเพื่อให้หัวใจเข้มแข็ง หัวใจนี้เข้มแข็ง หัวใจแก่กล้า หัวใจแก่กล้าสิ่งใด ฟังสิ่งใดมันยิ่งมีจุดยืน จุดยืนยิ่งกว่าทางตะวันตกเขาให้ถามๆ เพราะจุดยืนของเรามันแยกแยะ มันแยกแยะได้เลย แยกแยะได้ว่าอะไรควรไม่ควร อะไรเชื่อหรือไม่เชื่อ

ถ้าไม่เชื่อ เห็นไหม ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นกวาง เกิดเป็นต่างๆ เป็นหัวหน้าสัตว์ หัวหน้าสัตว์ สัตว์มันมีปัญญาพยายามพาฝูงของตัวหลบจากการล่าของนายพราน มนุษย์ มนุษย์ที่มีปัญญา มนุษย์ที่เป็นพรานป่าเขาต้องมีไหวพริบของเขามาก นี่เวลาพระโพธิสัตว์เกิดเป็นหัวหน้ากวาง เกิดเป็นหัวหน้าลิง เกิดเป็นต่างๆ การเกิดอย่างนี้เป็นสัตว์ แต่เป็นหัวหน้า เป็นผู้มีปัญญา มีปัญญาเพราะว่าสร้างอำนาจวาสนาบารมี ไม่เชื่อสิ่งใด พาฝูงสัตว์นั้นหลบหลีก หลบหลีกจากการไล่ล่าของมนุษย์ นี่พระโพธิสัตว์ๆ จะเกิดเป็นสิ่งใดก็แล้วแต่ จะสร้างอำนาจวาสนาบารมี

เรามาทำบุญกุศลกัน ทำบุญกุศลให้หัวใจเรายอมรับ ถ้าหัวใจยอมรับการเสียสละ การเสียสละเพื่อพัฒนา เสียสละเพื่อหัวใจเข้มแข็งขึ้นมา ทีนี้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม เสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ถ้าเสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม เราระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเรา เวลาภาวนาไป เวลาเราเข้มแข็ง เราเข้มแข็งนะ กิเลสมันมาหลอกมาล่อ มันบอกว่า “ภาวนาไปเดี๋ยวจะพิการ เดี๋ยวภาวนาไปจะเจ็บไข้ได้ป่วย เดี๋ยวภาวนาไปจะเสียชีวิต”

ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีสติปัญญานะ “เสียชีวิต อะไรจะเสียชีวิตก่อน ขอดูก่อน”

แต่เราบอกจะเสียชีวิตเราก็เบาแล้ว เราก็ถอยแล้ว

การสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ถ้าสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมแล้วมันเกิดขึ้นมา เห็นไหม อะไรมันตาย สิ่งมีชีวิตมันไม่มีสิ่งใดตาย สิ่งที่จะตายไปคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเรามันจะตายไป มันจะตายไปด้วยอะไร? ตายไปด้วยขันติธรรม ด้วยความอดทนของเรา ด้วยขันติธรรม ด้วยสมาธิธรรม ด้วยปัญญาธรรม

ขันติมีความอดทน อดทนไว้ทำไม? อดทนไว้เพื่อแก้ไขไง อดทนไว้เพื่อจับมันขึ้นมาพิจารณาไง อดทนเพื่อไปต่อสู้กับมันไง แต่ถ้าเราไม่มีขันติธรรม เราไม่มีความอดทนเลย เราพ่ายแพ้มาตลอดเลย ถ้าพ่ายแพ้ตลอด เราก็ไม่มีเวที สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน แม้แต่ที่ตั้งการงาน เวทีของเรามันล้มไปเลย มันพับไปเลย ไม่มีเวที ไม่มีสถานที่ให้ต่อสู้

เวลาทำบุญกุศล เราไปวัด เวลาเราคุ้นเคยเราคุ้นชินกันในพระพุทธศาสนานะ การฟังธรรมนี้แสนยาก ถ้าการฟังธรรมแสนยาก ดูสิ เวลาพระเราไปธรรมทูตๆ เวลาเขาเผยแผ่ ไปเผยแผ่ให้ใคร ไปเผยแผ่ให้พวกชาวพุทธเรานี่แหละ ไปเผยแผ่ให้กับคนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศ พออยู่ต่างประเทศแล้วมันแหงาไง ไม่มีที่ทำบุญ เวลาไปพอมีพระเขาก็อบอุ่นของเขา ถ้าอบอุ่นของเขา เห็นไหม ถ้าเขาขาดแคลนเขาจะเห็นคุณค่าเลย

แต่ของเรา เราคุ้นชิน เราเคยชินของเราว่าทำที่ไหนก็ทำได้ เวลาฟังธรรมะๆ ที่ไหนก็ฟังได้ การฟังแบบนี้โลกมันเจริญ สมัยพุทธกาลนะ ไม่มีเทคโนโลยี ต้องธรรมจากปากเท่านั้นแหละ ออกมาจากปากขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในปัจจุบันนี้มันมีเทคโนโลยี มีวิทยุ มีต่างๆ เราก็ฟังธรรม แต่ฟังธรรมเพราะว่าเราเกิดไง เราเกิดมา เกิดในประเทศอันสมควร เกิดในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา ถ้าพระพุทธศาสนา เราก็ฟังธรรมของเราอย่างนั้น

แต่ถ้าฟังธรรมนะ เวลาประพฤติปฏิบัติครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเวลาฟังเทศน์ๆ นี่อันดับหนึ่ง ฟังเทศน์อันดับหนึ่งเพราะอะไร เพราะเวลาเราฟังเทศน์ เรานั่งฟังเทศน์ด้วยความสงบ เวลาใจมันรับ ซับเข้ามา เวลามันซับเข้ามามันแก้ไข

เวลาเราทำงานนะ เวลามีสิ่งใดผิดพลาด สิ่งใดสงสัย เราจะแยกแยะอย่างไร นี่เวลาภาวนาเหมือนกัน มันมีความสงสัยสิ่งใด แล้วครูบาอาจารย์เทศนาว่าการ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเวลาเทศนาว่าการ เริ่มต้นพื้นฐานตั้งแต่สมาธิขึ้นไป แล้วเริ่มจากโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล แต่ท่านไม่ได้บอกว่าตรงนี้เป็นอะไร ตรงนี้เป็นอะไรเท่านั้นเอง เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านก็เทศน์อยู่นี่แหละ แต่ท่านไม่ได้บอกชื่อ

ไอ้พวกเราบอกชื่อนะ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล เราบอกแต่ชื่อ แต่เราไม่มีข้อเท็จจริง ชื่อนี่บอกหมด เราพูดออกมาแยกแยะเลยนะ มันเป็นอย่างนั้นๆ แต่ไม่มีเนื้อหาสาระเลย ไม่มีข้อเท็จจริงเลย

แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเทศน์ความจริงนะ ท่านเทศน์ของท่าน มรรค ๔ ผล ๔ ท่านเทศน์ของท่านไปแต่ท่านไม่ได้บอกชื่อ เวลาผู้ที่ภาวนาไปเขาจะเข้าใจ ผู้ที่ภาวนาไป พื้นฐานเขาทำสมาธิอย่างไร ถ้าสมาธิมันสงบเข้ามาแล้ว เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดถึงขั้นของสมาธิใช่ไหม จิตของเราสงบแล้วเราว่า “นี่เป็นความว่าง ความว่างคือนิพพาน ความว่างคือความสุขของเรา”

ท่านบอกว่าสมาธิคือความว่าง ความว่างนี้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นมิจฉานะ มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นมิจฉาขึ้นมาก็ความว่างเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา ความว่างเป็นนิพพาน ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิความว่างนี้เป็นพื้นฐาน เป็นเวที เป็นพื้นฐานที่เราจะค้นคว้า เราจะค้นคว้ากิเลส

กิเลสเป็นนามธรรม กิเลสเป็นนามธรรม ทุกคนบอกว่า “บอกมาสิว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหน จะไปฆ่ามัน จะจับกิเลสมาประหารเลย กิเลสมันอยู่ที่ไหน”

แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหนล่ะ กิเลสมันก็อยู่หลังความคิดเรานี่ไง เราจะทำสิ่งใดกิเลสมันอยู่เบื้องหลังหมดแหละ

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดบนหัวใจเราไม่ได้เลย”

ถ้าไม่ดำริ ไม่มีความคิด จะเอาปัญญามาจากไหน ถ้าเราไม่ดำริ ไม่มีความคิด เอาปัญญามาจากไหน ปัญญาที่จะไปสู้กับกิเลสเอามาจากไหน เราก็ต้องดำริ เราก็ต้องมีปัญญาของเรา แยกแยะของเรา

แล้ว “มารเอยเธอเกิดจากความดำริของเรา” เราคิดอะไร เราทำอะไร มารมันอยู่หลังความคิดเรา เราก้าวสิ่งใด มารมันชักจูงไปหมดเลย แล้วทำอย่างไรล่ะ

เราถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบเข้ามามันสงบระงับ ถ้ามันสงบระงับเข้ามา เราฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันมีสมุทัยเจือปนมาแน่นอน เวลามีสมุทัยเจือปนมาเพราะว่าจากความไม่รู้ จากความที่ไม่ชำนาญของเรา แต่ถ้ามันเป็นความจริง ขันติธรรม ขันติคือความอดทน ความอดทน ความมุมานะ มีการกระทำ พอทำนะ มันจะเกิดเวทีของเรา เวทีของเราคือสมถกรรมฐานนี่ไง

เขาบอก “มันไม่จำเป็น ทำไมต้องทำสมถะ ทำไมต้องทำความสงบของใจ เราใช้ปัญญาไปเลย”...นี่ปัญญาของอวิชชา ปัญญาของความไม่รู้

เวลากาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อสิ่งใดเลย แล้วไม่ให้เชื่อแล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม สะอาดบริสุทธิ์ ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติของท่านมาท่านมีคุณธรรมของท่าน ท่านมีแนวทางของท่าน แต่ของเราล่ะ เราฟังมาแล้วไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อกิเลสไง พอฟังมาแล้วมันพยายามดัดแปลง พยายามเคลมว่าเป็นของเราไง “นั่นก็ถูกต้อง เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ เหมือนกันๆ เหมือนหมดแหละ” มันจะเหมือนกันได้อย่างไร

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ดูสิ เอตทัคคะ ๘๐ องค์ พระอรหันต์ทำไมมีความถนัดแตกต่างกันไป พระอรหันต์มีความชำนาญแตกต่างกันไป แต่เวลาที่ว่าเข้าสู่อริยสัจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนบอกเอง สิ่งที่ประเสริฐที่สุด อาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้ ญาณชำระกิเลสอันนั้นสำคัญที่สุด แต่ถ้าจริตนิสัย จริตนิสัยแต่ละองค์ เอตทัคคะ ความชำนาญ ความชำนาญของแต่ละองค์ แต่ความชำนาญอย่างนั้นได้ใช้มรรค ๔ ผล ๔ ทำลายอวิชชาไปแล้ว ความชำนาญนั้นมันก็เป็นความชำนาญเพื่อที่มีคุณธรรมรองรับ คุณธรรมรองรับ ทำสิ่งใดก็เป็นประโยชน์หมดไง

แต่ถ้าเราไม่มีคุณธรรมรองรับ ความชำนาญของเรา แต่มันมีอวิชชาความปกคลุมในหัวใจของเรา ถ้าเราถูกต้องเราก็ว่าถูกต้อง ถ้าชอบใจ เราก็ว่าถูกต้อง ไม่ชอบใจ เราก็ว่าไม่ใช่ แต่ถ้าเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ กลั่นออกมาจากอริยสัจ อริยสัจนะ เป็นสัจจะความจริง จิตใจที่มันกลั่นออกมาแล้ว ความชำนาญให้เป็นความชำนาญอันนั้น คำว่า “มันไม่เหมือนกัน” มันก็ไม่เหมือนกันเพราะความชำนาญมันแตกต่างกันไป มันจะเป็นสิ่งใดไปถ้ามันไม่เหมือนกัน

แต่เวลามันเป็นความจริง ความจริงมันเกี่ยวกับอริยสัจ ความจริงมันเกิดกับความเห็นจริงอันนั้น ถ้าความเห็นจริงอันนั้นมันเหมือนกัน เหมือนกันตรงนั้น เหมือนกันตรงอาสวักขยญาณ เหมือนกันตรงชำระล้างกิเลสนั้น แต่ความชำนาญนั้นไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ไม่เหมือนกัน

เวลาฟังครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ สาธุ! ก็เป็นของท่าน ผู้รู้จริง กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อๆ ไม่ใช่ไม่ให้เชื่อครูบาอาจารย์นั้น ไม่ใช่ไม่ให้เชื่อในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เราศึกษาแล้วไม่ให้เชื่อความเคลม ไม่ให้เชื่อความเห็นของเราต่างหาก ไม่ให้เชื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันพยายามจะบอกว่าเหมือนกันนั่นน่ะ

มันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่เวลาเป็นความจริงแล้วความจริงอันเดียวกัน เป็นความจริงอันเดียวกัน แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป “อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ เวลาเรานิพพานไปเราก็เอาสมบัติของเราไปคนเดียว เราเอาสมบัติของเราไปคนเดียว”

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเวลานิพพานก็เอาสมบัติของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรไป แล้วเราล่ะ เราจะเอาอะไร เราจะเอาความจริงของเรานี่ไง เราจะเอาความจริงของเรา ถ้าเราเอาความจริงของเรา เรามาทำบุญกุศลเพื่อเหตุนี้ ทำบุญกุศลเพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมีของเรา

แต่ถ้าทางโลกนะ ทำบุญก็เพื่อบุญ บุญเพื่อความสุขความสงบของเรา บุญเพื่อคุณงามความดีของเรา ความดีของเราอยู่แล้ว เราทำความดีเพื่อความดี หน้าที่การงานเราก็ทำหน้าที่การงานของเราไป ทำหน้าที่การงานของเราไป มีสติมีปัญญาแยกแยะไป

คนเรา เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ เป็นศาสดาด้วย เวลาพราหมณ์นิมนต์ไว้แล้วลืมใส่บาตรทั้งพรรษาเลยนะ นี่ขนาดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังถึงคราว

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานแล้วเดินไป สิ่งที่ว่าข้ามคลองไป เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระหายน้ำเหลือเกิน ให้พระอานนท์ไปตัก พระอานนท์ไปตักนะ สิ่งที่ไปตัก ไม่อยากทำๆ เพราะน้ำขุ่น แต่เวลาตักขึ้นมา แล้วพระอานนท์ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สิ่งที่ไม่เคยเป็นมันเป็นแล้ว น้ำขุ่นๆ อยู่ เวลาตักมันใส่สะอาดหมดเลย”

ท่านบอกว่า “มันเป็นอย่างนั้นแหละ” ไม่ตื่นเต้นสิ่งใดเลย

“แล้วมันเป็นเพราะเหตุใดล่ะ”

“เป็นเพราะเราเคยทำไว้ๆ เราเคยเป็นพ่อค้าต่าง เราเคยทำไว้”

อันนั้นคือเวรคือกรรมไง แต่อำนาจวาสนาเวลาจะตักน้ำใสขึ้นมาเลย ใสเฉพาะตรงที่ตักนั่นน่ะ นั้นเพราะอะไร เพราะอำนาจวาสนาบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังยอมรับเศษส่วนของมัน

นี่เหมือนกัน ชีวิตของเรานะ เวลามันผิดพลาด เวลามันเพลี่ยงพล้ำไป เราตั้งสติไว้ มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมันก็มีความผิดพลาด มีสิ่งต่างๆ แต่ก็มีครูบาอาจารย์แก้ไข

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราเป็นหมู่เป็นคณะ บวชเป็นพระมา ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ มีอะไรผิดพลาด คุยกัน พิจารณาแยกแยะกัน ถ้าจิตใจที่สูงกว่า สูงกว่าหมายความว่าเรามีข้อสงสัยสิ่งใด เราเปิดอกไป ท่านฟังแล้วท่านเข้าใจได้ ท่านแก้ของเราได้ นี่ครูบาอาจารย์ที่จิตใจที่สูงกว่าท่านจะดึงเราขึ้นไป แต่ถ้าคุยกันโดยจิตใจสามัญสำนึกเสมอกัน เราก็ปรึกษากันเพื่อเป็นที่ปรึกษาเท่านั้นแหละ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านดึงขึ้นเลย ดึงขึ้นด้วยอุบาย ถ้าอุบายดึงขึ้น ถ้าทำสิ่งนั้นมันจะเป็นประโยชน์สิ่งนั้น ฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้ไง

ทำบุญกุศลนี้เป็นเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องวัฒนธรรม เรื่องวัฒนธรรมมันก็สร้างหัวใจนี่แหละ สร้างหัวใจเพราะอะไร เพราะเรามีน้ำใจ เรามีเจตนา เรามีการกระทำ น้ำใจอันนั้นมันก็เข้าสู่ใจนี้ แล้วใจนี้ ฟังธรรมๆ ตอกย้ำๆ สิ่งนี้มันเป็นเปลือก สิ่งนี้เป็นเปลือก เป็นกระพี้ แล้วเป็นแก่น ถ้าเป็นแก่นคือสัจจะความจริงในใจของเรา

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีตั้งแต่พื้นฐาน ตั้งแต่ขึ้นไป เราทำเพื่อเหตุนี้ ทำเพื่อบุญกุศล เพื่อคุณงามความดีของเรา นี่ทำไว้ประจำโลก ทำประจำโลกคือทำไว้กับโลก แต่ในใจของเราใครจะรู้ ในใจ ในความรู้สึกของเราใครจะรู้ว่าเราจะมีคุณธรรมมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราทำตรงนี้ อันนี้ต่างหากที่มันเป็นความจริง อันนี้ต่างหากที่มันจะไปกับเรา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปก็เอาแต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป ครูบาอาจารย์ท่านเอาของท่านไป เราก็จะเอาของเราไป ถ้าเราเอาของเราไปนะ เราพยายาม พยายามของเรา ตั้งสติไว้ หายใจเข้าและหายใจออกตั้งสติไว้ สิ่งที่กระทบนี่เรื่องข้างนอกทั้งนั้นเลย เรื่องข้างนอกเราไปกว้านมาแผดเผาใจของเรา

แต่เรื่องข้างในของเรา ถ้ามันขาด ปัจจัย ๔ มันขาด ทุกอย่างอะไรมันขาด มันขาด มันมีคนเกื้อหนุนจุนเจือได้ มีคนเกื้อหนุนจุนเจือได้ แต่เวลามันทุกข์มันยาก มันจะเอาออกจากใจมันแสนยาก แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนดวงตาเห็นธรรมนี้มันยิ่งยากขึ้นไปใหญ่ แต่ยากขนาดไหนมันก็เป็นการสว่างโพลงจากภายใน มันไม่มีสว่างโพลงมาจากภายนอก มันจะสว่างโพลงจากภายใน จากภายในคือตัวหัวใจ

ปฏิสนธิจิต การเวียนว่ายตายเกิด จิตนี้มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แต่เราไม่เห็นว่าจิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะอย่างไร เวลาพิจารณาไป ภาวนาไป นั่นแหละมันเห็นชัดหมด บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ มันต้องเห็นชัดของมัน มันมีที่มาที่ไปไง ไม่อย่างนั้นถ้ามันไม่มีที่มาที่ไป เวลาเราปฏิบัติไป เราปฏิบัติไปเพื่อความสงสัยใช่ไหม เราปฏิบัติไปเพื่อความไม่รู้ใช่ไหม

ถ้าเราปฏิบัติไปมันไปแก้สงสัยว่าเรามาจากไหนไง บุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วมันจะแก้ความสงสัยอีกว่ามันไปอนาคตอย่างไร แล้วถ้ามันถึงที่สุดแล้วมันชำระล้าง มันสำรอกคายออกไปอย่างไร จิตที่เวียนว่ายตายเกิด แล้วมันจบสิ้น มันจบสิ้นมันไม่ไปอีกแล้ว แล้วมันอิ่มเต็มในตัวของมัน นี่สว่างโพลงจากภายใน สว่างโพลงจากที่นี่

ที่พูดนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเป้าหมายอย่างนี้ทั้งหมด แต่ในพระพุทธศาสนา หลวงตาท่านบอกว่าห้างสรรพสินค้ามีสินค้ามากมายมหาศาล

นี่ก็เหมือนกัน ตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา เรื่องของทาน เรื่องของบุญกุศล คนก็เข้าใจกันได้อยู่แล้ว เรื่องของนรกสวรรค์ ใครจะเชื่อไม่เชื่อนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าใครยอมรับความจริงมันก็มีของมันอยู่แล้ว จิตเวียนว่ายตายเกิดไง แล้วจิตมันสว่างโพลงจากภายใน มันถอดถอนใจทั้งหมด มันข้ามพ้นไปหมด แล้วสิ่งใดจะพิสูจน์ได้

หัวใจไง ความรู้สึกพิสูจน์ได้ อย่างอื่นเราแค่รับฟังมาเท่านั้นน่ะ สิ่งที่จะสัมผัสธรรมะได้คือหัวใจ คือนามธรรม คือความรู้สึกของเรา เอวัง