สุขจนเน่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เราตั้งใจฟังธรรมะ ธรรมะคือสัจธรรม สัจธรรมที่เราแสวงหากันอยู่ไง เราแสวงหานะ เราลงทุนลงแรง เราลงทุนลงแรงเพื่อประโยชน์กับเรา ทางโลกลงทุนลงแรงเพื่อสังคม เพื่อสาธารณะ สมบัติของโลกไง สมบัติของโลกเป็นสมมุติ จริงตามสมมุติ สมมุติมันมีอยู่ ดูสิ ค่าของเงิน ถ้าเขาไม่ลดค่า ค่าของมันโดยธรรมชาติของมัน มันเสื่อมค่ามันอยู่แล้ว มันเสื่อมค่าของมัน เงินเฟ้อมันจะทำให้เงินนั้นมีค่าน้อยลงๆ โดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ทางโลกมันเป็นสมมุติ จริงตามสมมุติไง ว่าไม่จริงมันก็จริง มันมีของมันนะ ถ้าไม่มีของมัน ทำไมเราขวนขวายกัน ทำไมเราต้องทำมาหากินกัน
เราทำมาหากินนะ บวชเป็นพระมาก็ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย การว่ามีปัจจัยเครื่องอาศัย ชีวิตนี้เป็นความจริง แต่จริงตามสมมุติไง แต่เราบวชมา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะมาหาสัจจะความจริงของเรา ถ้าเราจะมาหาสัจจะความจริงของเรา ฟังธรรมๆ เพื่อสัจจะความจริงอันนั้น ถ้าธรรมะออกมาจากหัวใจที่เป็นจริง มันมีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป แต่ธรรมะที่ออกมา ออกมาจากสัญญา ออกมาจากการศึกษา ออกมาจากการค้นคว้า ออกมาจากการศึกษาจำมา ศึกษามาจากธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา แสดงธรรม สัจจะความจริงมันเป็นธรรมทั้งนั้นน่ะ แต่หัวใจของเรามันไม่จริง
หัวใจของเราไม่จริง เราไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นความจำ ถ้าความจำ สิ่งที่เราแสดงออกไป แสดงออกจากความจำไปทั้งนั้นน่ะ แสดงไปแล้ว ถ้าพูดครั้งที่สองครั้งที่สาม พูดไม่เหมือนเดิมแล้วล่ะ แต่ถ้าหัวใจที่เป็นธรรม แสดงเมื่อไหร่มันก็เป็นธรรมเมื่อนั้นน่ะ แสดงเมื่อไหร่ เวลาไหน จะเริ่มต้นเมื่อไหร่ สัจธรรมทั้งนั้น สัจธรรมนั้นมันออกมาจากหัวใจที่เป็นธรรมไง ถ้าออกจากหัวใจที่เป็นธรรม มันมาจากไหนล่ะ
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย สิ่งนั้นยังเป็นคนดิบอยู่ หัวใจยังดิบๆ อยู่ไง ดิบๆ อยู่ ดูสิ ดิบๆ อยู่ก็มีการศึกษา พระเจ้าสุทโธทนะแต่งงานให้ จนมีสามเณรราหุล แต่ด้วยการสร้างบุญญาธิการมา ด้วยการสร้างบุญญาธิการมานะ มีความสุขขนาดนั้นอยู่ในราชวัง เป็นกษัตริย์อยู่ในราชวัง เครื่องความเป็นอยู่มันอุดมสมบูรณ์มันละเอียดอ่อนทั้งนั้นน่ะ แล้วทำไมไม่มีความสุขล่ะ ทำไมไม่เพลิดเพลินกับชีวิตนั้นไป
เวลานางฟ้อนรำ ฟ้อนรำเสร็จแล้ว เวลาถึงที่สุด เวลาเบื่อหน่าย พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เวลาไปเที่ยวเพลิดเพลินอยู่กับมหรสพสมโภช แต่เวลามันถึงจุด มันเบื่อหน่ายนะ มันเห็นนะ มันเห็นการแสดงมหรสพมันไม่มีความสนุกเลย มันน่าเบื่อ มันถึงคราว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลานางสนมภายในเขาฟ้อนรำแล้วเขานอนหลับไปก่อน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพักผ่อน เวลาเขาเล่นจนเหนื่อยแล้วเขาก็หลับของเขาไป เจ้าชายสิทธัตถะตื่นมาเห็นเหมือนซากศพที่มันนอนก่ายกันน่ะ เวลามันเห็นมันเบื่อหน่ายไปหมด นั่นน่ะอำนาจวาสนาบารมี
เวลาออกบวชเพื่อจะพ้นจากทุกข์ ในเมื่อออกบวชเพื่อจะพ้นจากทุกข์ หัวใจยังดิบอยู่ ถ้าของดิบมันต้องมีการกระทำ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล การประพฤติปฏิบัติของใครไม่มีมรรค การปฏิบัตินั้นไม่มีผล
ศึกษามา จำมา ปฏิบัติธรรมให้เหมือน ปฏิบัติธรรมให้จริงจังอย่างนั้น ปฏิบัติธรรมเข้าไปแล้ว ถ้ามันไม่เข้าสู่มรรค เข้าไปสู่ความสมดุล ความพอดี มัชฌิมาปฏิปทาคือความสมดุล ความพอดี ความพอดี ถ้าบอกเราบอกทางสายกลางๆ มันก็แบ่งซ้ายแบ่งขวา แล้ววัดเอาตรงกลาง เราทำพอดี ขีดเส้นเลย แล้วมันก็ไม่ได้ นี่มันไม่ใช่มรรค เพราะอะไร
เพราะเราศึกษา มาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ความสมดุลๆ ทางสายกลางของใคร ทางสายกลางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางสายกลางของพระสารีบุตร ทางสายกลางของพระโมคคัลลานะ ทางสายกลางของใครก็เข้าสู่หัวใจดวงนั้น เพราะหัวใจดวงนั้นมีความสงบระงับเข้ามา หัวใจดวงนั้นได้ประพฤติปฏิบัติมา
ปัญจวัคคีย์ได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอยู่ ๖ ปี เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาก็พยายามจะขวนขวายกันอยู่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญจวัคคีย์ทิ้งไป แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามประพฤติปฏิบัติ ตรัสรู้ธรรมเองโดยชอบ มันเป็นสัจธรรม มันเป็นทางสายกลาง ความพอดีสมดุลในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วแสดงความสมดุลความพอดีอย่างนี้ แล้วปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากมา ๖ ปี ทำความหนักแน่นในหัวใจ สัมมาสมาธิคือความพร้อม แต่ยังไม่มีมรรค ไม่มีกิจจญาณ สัจจญาณในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บอกไม่ได้ เวลาบอกไป จิตใจที่อุปัฏฐากมา ๖ ปีได้ทำสมาธิมา ได้ทำความมั่นคงของใจมา เวลาฟังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม แล้วพระมหานาม พระอัสสชิยังไม่ได้ นี่มันไม่สมดุล ปัญญาของคนไม่เท่ากัน ปัญญาของคนไม่เสมอกัน ทั้งๆ ที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยกัน ๖ ปีเหมือนกัน
นี่ไง ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมไม่มีมรรคขึ้นมา มันจะไม่มีผลขึ้นมา โดยสัจจะ โดยความจริง
ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาที่ออกประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี ใจยังดิบ ยังไม่เป็นสัจธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ใจมันสุข ความสุข ความสงบ ความระงับในหัวใจ วิมุตติสุขๆ
สุขอย่างนี้เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ไปศึกษากับเจ้าลัทธิใดก็แล้วแต่ เขาจะบอกอย่างไร เขาจะสอนอย่างไร ขวนขวายการกระทำของเขา เวลาเราปฏิบัติ เราเข้มข้นของเรา เราอดอาหารของเรา เราพยายามเนสัชชิกของเรา นั่งของเรา ต่อสู้กับเรา มันมีความทุกข์ไหม? มันมีความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ความทุกข์ของเรา เรามีเป้าหมายใช่ไหม เรามีเป้าหมายว่าจะพ้นจากทุกข์ไง เราจะทำหัวใจของเราให้ผ่องแผ้ว เราจะทำหัวใจของเราให้มันสุข ให้มีคุณธรรมขึ้นมา ถ้ามีคุณธรรมขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล การปฏิบัติของใครไม่มีมรรค ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่เกิดความจริงขึ้นมา มันจะเอาความจริงมาจากไหน มันจะเอาอะไรเป็นการยืนยันกับตัวเราเองไง
แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันก็สงบขึ้นมาตามความเป็นจริงของมัน เวลาฝึกหัดออกใช้ปัญญา มันจะเป็นความจริงของมัน มันมีมรรคมีผลอันนั้น ถ้ามีมรรคมีผลอันนั้น สัจจะความจริง สันทิฏฐิโกมันกังวานกลางหัวใจ มันจะมีสิ่งใดสั่นไหวไปล่ะ มันจะมีสิ่งใดคลอนแคลนไปจากใจของเราล่ะ
ถ้ามันมีความจริงขึ้นมา ถ้ามีความจริงขึ้นมา ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ไม่กลัวสิ่งใดเลย เพราะโลกนี้มันสมมุติทั้งนั้นน่ะ มันโกหกทั้งนั้น ของโกหกของหลอกลวง แต่มันมีความจริงของมัน เพราะผลของวัฏฏะไง เวลาใครสร้างอำนาจวาสนาเกิดบนพรหม มันก็ได้สถานะของพรหม มันโกหกแบบพรหม ๘๐,๐๐๐ ปี โกหกอย่างนั้นน่ะ ถ้าไปเกิดเป็นเทวดาก็โกหกแบบเทวดา สมมุติเป็นเทวดาไง ชั่วสมมุติ ชั่วอายุไขหนึ่ง เราเกิดเป็นคน โกหกว่าเป็นคน สมมุติเป็นคน เวลาตายไปแล้วก็จบ แต่มันเป็นจริงไหม จริงตามสมมุติ มันจริงไง จริงตามสมมุติ คำว่า สมมุติ ของเรา คือว่ามันไม่จริงเลย ไม่มีเลย เป็นไปไม่ได้ สมมุติก็คือสมมุติ ทีนี้ความสมมุติมันไม่จริง พอไม่จริงขึ้นมา เราจะมาประพฤติปฏิบัติ เราจะมาเอาความจริงกันนะ
ถ้าเอาความจริงกัน ถ้าเราต้องจริงจัง เราจริงจังของเรา เราปฏิบัติของเรา จริงจังกับใคร? จริงจังกับหัวใจของเราเอง เรื่องของสังคม เรื่องของหมู่คณะมันเป็นเรื่องของเขา เรื่องของเขา แต่เราแสวงหา หมู่คณะเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ เราแสวงหาของเรา มันจะแบบว่าสมความปรารถนาทุกเรื่องไปมันไม่มี ไม่มีหรอก
เวลาสมัยครูบาอาจารย์ของเรา ความเจริญทางโลกยังไม่เจริญ ถนนหนทางไม่มี ไปไหนเดินด้วยเท้าทั้งนั้น สิ่งที่แสวงหามาที่จะเป็นจริงมันก็เป็นจริงจากท้องถิ่น ท้องถิ่นใดเขามีวัฒนธรรมของเขา ทำอย่างไรเขาทำได้ เขามีตามท้องถิ่นนั้น แล้วเรามีศีลมีธรรมของเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติเอาความจริงของเราขึ้นมา แล้วหมู่คณะเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ มันจะเป็นสัปปายะกับเราไหมล่ะ มันไม่เป็นกับเราหรอก เราจะเอาแต่ความพอใจของเรา
แล้วคนเกิดมา เกิดมาชุมชนใด เกิดมาวัฒนธรรมสิ่งใด พอไปเจอวัฒนธรรมต่างมันก็แตกต่างแล้ว มันไม่สมความปรารถนาของเราทั้งนั้นน่ะ ถ้าไม่สมความปรารถนาของเรานะ เราตั้งใจของเรา เราจะทำของเรา ถ้าทำของเรา เรื่องของสังคม เรื่องของหมู่คณะเป็นเรื่องของเขา ถ้ามีครูบาอาจารย์ เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์
ครูบาอาจารย์ ในเมื่ออาจารย์เป็นสัปปายะ ถ้าเป็นสัปปายะนะ เขาจะเชื่อฟังของเขา เขาแสวงหาของเขา เขาทำเพื่อประโยชน์ของเขา ถ้าทำเพื่อประโยชน์ของเขานะ ประโยชน์ของเขา แล้วมันแสดงออกโดยทางโลก กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ในเมื่อเราได้ที่พึ่งที่อาศัย ถ้ามันยังไม่รู้จักกตัญญูกตเวที นั้นมันก็เป็นการแสดงของเขา แล้วเวลาปรารถนา ปรารถนาจะพ้นจากทุกข์ ปรารถนามรรคผลนิพพาน ถ้าปรารถนามรรคผลนิพพาน มันก็เริ่มต้นจากศีล ศีลก็คือข้อบังคับที่เราอยู่ร่วมกันนี่แหละ สิ่งใดที่มันข้ามล่วงก้าวล่วง ผิด เป็นอาบัติหมด ถ้าก้าวล่วง ทีนี้พอก้าวล่วง ถ้าศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมวินัย เราศึกษาไว้ ศึกษาไว้เพื่อเป็นปัญญา ศึกษาไว้เพื่อเข้าหมู่ พอเราไป เราไปสังคม สังคมแตกต่างหลากหลายทั้งนั้นน่ะ ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมา เราองอาจกล้าหาญ เราเข้าได้ทุกสังคม แล้วสังคมเข้าไปทำไม เราเข้าไปทำไม เราจะไปวิเวก เราจะแยกไปอยู่คนเดียว ถ้าอยู่คนเดียว เราก็ไปประพฤติปฏิบัติของเรา
แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติของเรา ถึงเวลาแล้วมันต้องมีการเข้าหมู่ การเข้าหมู่ มีกิจกรรม มีต่างๆ ถ้าเราศึกษา เรามีความเข้าใจ เราองอาจกล้าหาญ เราเข้าได้หมดล่ะ ถูก ผิด เราไปสถานที่ถูก เราก็ทำแล้วเราก็ชื่นชมเขา สถานที่ที่ผิด ถ้าสถานที่ผิด เขาทำของเขาโดยวัฒนธรรมของเขา ด้วยความเชื่อของเขา แต่ไม่ตรงกับธรรมวินัย ถ้าเราไปเห็นสภาพแบบนั้น เราค้านไว้ในใจ เพราะเราค้านไปใครจะเชื่อเรา เขาเพิ่งเห็นหน้า เขาจะรู้จักเราที่ไหน เขาไม่รู้จักหรอก
แต่สมัยนี้ สมัยนี้สังคมมันแคบ สังคมมันแคบ การสื่อสารมันรู้ไปหมดแล้วล่ะ ใครไปใครมานี่เขารู้ แต่ถ้าเราโดยปกติ เขาไม่รู้จักเรา เราจะไปตักเตือนอะไรเขา เราค้านไว้ในใจ มันต้องอยู่ด้วยกันจนกว่าเขายอมรับแล้วเราถึงจะแสดงออกได้ ถ้าแสดงออกแล้วมันเป็นประโยชน์ เห็นไหม นี่ผู้ที่มีธรรม ถ้ามีธรรมอย่างนั้น เพื่อประโยชน์กับเราไง นี่พูดถึงว่า ถ้าเราศึกษามาเพื่อประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเรา เราศึกษาแล้ว เราอยากประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาจริงเอาจังของเรา เราปฏิบัติเพื่อเรานะ เพื่อหัวใจของเรา
มันเหมือนผลไม้ ผลไม้เวลามันออก ใครรดน้ำพรวนดิน เวลามันออกผล ถ้าผลมันอ่อน ผลมันอ่อนมันก็ไม่ติด ผลมันอ่อนมันก็เสีย มันก็หลุดจากขั้วไป ถ้าผลของมันเวลามันแก่ล่ะ เวลามันแก่ ถ้าเขาเก็บผลไม้นั้นไปบ่มไปเพาะ มันก็จะให้มันสุกขึ้นมาเพื่อเป็นประโยชน์กับเขา รสชาติมันดีขึ้นมาเป็นประโยชน์ ถ้าผลไม้เวลามันสุกคาต้น มันหล่นจากขั้วมาอยู่ที่โคนต้นนั้น เมล็ดมันแก่ เวลามันหล่นไปแล้ว เมล็ดนั้นมันก็จะเกิดเป็นต้นอ่อนต้นใหม่ของมันตลอดไป นี่ถ้ามันสุกไง
เวลาผลไม้มันสุก เวลาเราเก็บไว้ ถ้ามันสุกมันก็เน่าเสีย ถ้าเราไม่ใช้ประโยชน์มัน ของสุก ผลไม้ที่เขาใช้ เขากินดิบ กินดิบก็เป็นประโยชน์กับการใช้บริโภคของเขา นี่ไง พูดถึงว่าเวลามันสุก เวลามันสุกนะ ถ้ามันสุก ถ้าเรารักษาไม่ดีมันก็เสียหาย ถ้ามันสุก รักษาไม่ดีมันเสียหาย ไม่เป็นประโยชน์กับใครไง มันไม่เป็นประโยชน์กับใคร แต่ถ้าผลไม้เวลามันออก รู้จักเก็บรู้จักรักษาเพื่อประโยชน์ เราใช้ประโยชน์ได้ ถ้าคนใช้ประโยชน์จากมัน แต่ตัวผลไม้ล่ะ ดูในป่าสิ เวลามันแก่มันก็หล่นจากต้นไป มันก็ไปขึ้นต้นใหม่ มันก็ออกต้นใหม่ ถ้าเมล็ดมันแก่มันก็ขึ้นได้ นี้พูดถึงเรื่องผลไม้นะ
แต่ถ้าหัวใจของเราล่ะ เวลาเราปฏิบัติ ทุกคนจะบอกมีความสุขๆ ความสุข ปฏิบัติต้องมีความสุข นี่เวลาทางโลกเขาคิดกันอย่างนั้น
เวลาปฏิบัตินะ มันมีความสุขจริงๆ แต่ความสุขของเรา เรามีครูบาอาจารย์ที่ดี เรามีหมู่คณะที่ดี มันจะมีความสุขนะ ความสุขคือว่ามันอบอุ่นไง มันไว้ใจได้ เวลาครูบาอาจารย์ที่ดี ถ้าครูบาอาจารย์ที่ดี หมู่คณะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ สิ่งที่เป็นสัปปายะนะ เราฝากชีวิตได้เลยล่ะ แล้วมันรักมันใคร่ มันกลมกลืนกัน นั้นครูบาอาจารย์ที่ดี
ถ้าครูบาอาจารย์ที่เห็นแก่ตัว ครูบาอาจารย์คิดถึงแต่ตนเองก่อน เอาตนเองเป็นที่ตั้ง สิ่งใดก็ต้องครูบาอาจารย์ก่อนๆ ลาภมันก็ไปตกที่นั่นหมดล่ะ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมๆ นะ สิ่งที่ได้มา ท่านจะเจือจานหมู่คณะก่อน เหมือนหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่น ดูสิ เวลาคราวที่อยู่หนองผือ มันเกิดสภาวะสงคราม คำว่า เกิดสงคราม ทุกอย่างมันขาดแคลนไปหมดล่ะ เวลาสิ่งใดมาท่านบอกให้ลูกศิษย์ก่อนๆ
แล้วหลวงตาท่านบอกว่า แล้วผู้เฒ่าล่ะ หัวหน้าไม่จำเป็นต้องใช้หรือ
ท่านบอกว่า หัวหน้าเมื่อไหร่มันต้องได้อยู่แล้ว หัวหน้ามันมีอยู่แล้ว แต่เกิดภาวะสงครามจะมีได้อย่างไร ก็ให้ลูกศิษย์ก่อน
ถึงที่สุดแล้วเขาก็เอามาให้จนได้ ด้วยอำนาจวาสนาของท่าน เห็นไหม ถ้าเป็นหัวหน้า ถ้าเป็นผู้ที่มีบุญมีกุศลมีบารมี มันทำได้ทั้งนั้นน่ะ ถ้าเราไปเจอหมู่คณะที่เป็นธรรมนะ แต่ถ้าเราไปเจอพวกที่เห็นแก่ตัวๆ มันไปกองอยู่ที่หัวหน้าหมด ถ้ามันไปกองอยู่ที่หัวหน้าหมด การปฏิบัติก็เริ่มลำบากแล้ว เพราะหัวใจมันคลอนแคลน
เวลาเราจะประพฤติปฏิบัตินะ เราประพฤติปฏิบัติเพื่อชนะตนเอง ศีล สมาธิ ปัญญา ความมีศีลคือความปกติของใจ แล้วทำความสงบของใจ เราก็พุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิ เพื่อความสงบของใจ แล้วสิ่งที่มันรู้มันเห็น มันไม่เสมอภาค มันไม่เป็นความเป็นธรรม มันเอาไปน้อยเนื้อต่ำใจ เอาไปคิดปลูกฝังในใจ มันร้อยแปดพันเก้า นี่ไง สิ่งที่กิเลสนะ มันได้ช่องไม่ได้เลย ถ้ากิเลสมันได้ช่องนะ มันแสดงตัวทันที
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ดี เราอบอุ่น เรื่องการประพฤติปฏิบัติมันเปิดกว้างแล้ว แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราที่เราไม่ลงใจ ครูบาอาจารย์ไม่เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์ไม่เป็นสัปปายะ ถ้ามันไม่มีที่เป็นที่ไป แล้วเวลาเราไปหาครูบาอาจารย์ที่เราพยายามแสวงหา ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไว้ใจได้ เราจะไปหาที่ไหนเจอ ถ้าเราเจออย่างนี้ เราจะปฏิบัติอยู่นี่ เราต้องเอาตัวเรารอดให้ได้ ยกสิ่งนั้นไว้ เอาแต่สิ่งที่ดี มองแต่สิ่งที่เรารับได้ สิ่งที่รับไม่ได้ แขวนไว้ก่อน เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริงของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริงของเรานะ
ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรมๆ นะ เราปฏิบัติไป เวลาธรรมมันเสมอกัน เราเข้าใจได้เลย พอเข้าใจได้นะ มันตื้นตันใจ เพราะสิ่งนั้นเราวัดค่าไม่ได้ สิ่งนั้นเราเข้าใจไม่ได้ สิ่งนั้นเราเข้าใจไม่ได้ เราเห็นแล้ว มันผิดจากความเห็นของเราไปหมดเลย แต่มันผิดจากความเห็นของเราไปหมดเลย กิเลสมันได้ช่องๆ ถ้าได้ช่อง
นี่พูดถึงว่า ถ้าเราจะปฏิบัติ เขาบอกว่าปฏิบัติแล้วจะมีความสุขๆ
มันก็ได้ความสุขจริงๆ ความสุขนี้เมื่อจิตสงบ จิตของเรานะ ถ้ามีความสงบระงับเข้ามามันจะมีความสุข สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แต่มันสงบจริงหรือเปล่าล่ะ ถ้ามันสงบไม่จริง มันเป็นการสร้างอารมณ์
เวลาผลไม้ ถ้าสุกจนเสีย สุกจนเน่า ตกหล่นจากต้น มันไม่ได้ประโยชน์จากใคร ถ้าเราบอกว่าความสุขๆ ของเรา ความสุขของเรา ถ้าเราไม่รู้จักรักษา เราไม่รู้จักทะนุถนอมไว้ ไม่รู้จักยกขึ้นสู่วิปัสสนา สุขจนเน่าๆ นะ เวลาปฏิบัติก็ว่ามีความสุขๆ
สุขอย่างนั้นน่ะสุขจนเน่าเสีย ความเน่าเสียไป ผลไม้ที่มันเน่าเสียไป มันเสียหายไปเลยนะ มันก็ต้องปลูกใหม่ ฤดูกาลใหม่ มันถึงจะมีผลไม้นั้นเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา แต่หัวใจของคน อารมณ์ของคน ความตั้งใจของคน ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นน่ะ มันเน่าแล้วเน่าอีก มันเน่าเสียไปแล้วมันไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย เขาบอกว่าปฏิบัติเพื่อความสุขๆ ไง
ความสุขแล้วไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ ความสุขแล้วไม่ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ความสุขแล้วเราทำของเราไม่เป็น มันเน่าเสียหมด พอเน่าเสียไปแล้ว ดูสิ เวลาคนเกิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกอดีตชาติไป บุพเพนิวาสานุสติญาณ เวลาท่านเวียนว่ายตายเกิดมาไม่มีต้นไม่มีปลาย การเวียนว่ายตายเกิดไม่มีต้นไม่มีปลาย แสดงว่ามันเกิดกี่ภพกี่ชาติล่ะ ไม่มีต้นไม่มีปลายคือนับไม่ได้เลย
นี่ไง ที่ว่าเวลามันเน่าเสียไง เวลาจิตที่มันเน่าเสีย เวลาความสุขของเรา จิตของเราประพฤติปฏิบัติแล้ว มันสุกแล้วมันใช้ไม่เป็น มันเน่ามันเสียหาย ความว่าเน่าเสียหายไป
๑. มันเสื่อม
๒. ความเจริญก้าวหน้าไม่มี
๓. ไม่มีคนชี้นำไง คิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นคุณธรรมๆ ไง
มันเน่าเสีย เน่าเสียคือเน่าเสียจากโอกาสนั้น เน่าเสียจากความเป็นไปนั้น แล้วพอเน่าเสียแล้ว จิตเวลาสำนึกได้ สำนึกได้ เราก็มาฟื้นฟูใหม่ ถ้าเราสำนึกไม่ได้ เราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม ก็ยึดสิ่งนั้นไป เวลาตายไป เวลาตายไป เน่าเสียจนตายไป ตายไปก็เวียนว่ายตายเกิดตามวัฏฏะไง เวียนว่ายตายเกิดไม่มีต้นไม่มีปลาย ก็จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้น
แต่ถ้ามันเป็นความรู้สึกของเราล่ะ อารมณ์ความรู้สึกล่ะ อารมณ์หนึ่งก็ภพชาติหนึ่ง ความคิดหนึ่งก็ภพชาติหนึ่ง ความยึดติดหนึ่งก็เป็นภพชาติหนึ่ง ความภพชาติ ภพชาติที่มันละเอียด ภพชาติที่มันสร้างขึ้นในสัญญาอารมณ์ เกิดดับๆ ก็ภพชาติหนึ่งๆ ภพชาติอย่างนี้ สวรรค์ในอก นรกในใจ เวลาสวรรค์ในอก ถ้ามีความสุขมันก็มีความสุขของมัน ถ้ามันมีนรก นรกอยู่ในหัวใจ ในหัวอกในหัวใจมีแต่นรกทั้งนั้นน่ะ มันมีแต่ความสงสัย มันไม่มีทางออก นี่สวรรค์ในอก นรกในใจ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นความจริง แต่ถ้าสวรรค์ในอก นรกในใจ เวลาตายไปมันก็ไปตามนั้นแหละ ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว นี่นรกสวรรค์จริงๆ
เวลาจิตมันเวียนว่ายตายเกิดมันจะไปประสบของมัน นรกสวรรค์ ถึงเวลาแล้วไปถึงที่นั่นแล้วก็ไปคอตกอยู่ที่นั่นไง ไปเสียโอกาส ไปเสียดายโอกาสอยู่นั่นไง แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำ หนึ่ง สอง อำนาจวาสนาเรามีเท่านั้น แล้วพอบอกปฏิบัติต้องมีความสุข
ความสุขของเรานะ ความสุขเวลาปฏิบัติไป สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี มันเป็นความจริงของเขา เป็นความจริงๆ ถ้าจิตสงบมันสุขจริงๆ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติจะปฏิบัติด้วยความสุข มันสร้างภาพ มันสร้างอารมณ์ขึ้นไป มันก็ไปสร้างอารมณ์ไงว่าเป็นความพอใจ ความพอใจว่าเป็นความสุขไง มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีของจิตด้วย ถ้าอำนาจวาสนาบารมีของจิตมีเท่านั้น มันก็ว่าสิ่งนั้นคือการปฏิบัติธรรม สิ่งนั้นคือการปฏิบัติธรรม แต่การปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมโดยวัฒนธรรมประเพณี
ในปัจจุบัน เวลาผู้นำๆ ผู้ปกครองประเทศ เขาก็บอกอยากจะให้ประชาชน อยากจะให้ทรัพยากรมนุษย์ได้ศึกษาธรรมะเพื่อทรัพยากรมนุษย์นั้นจะได้เป็นคนดี ทรัพยากรมนุษย์นั้นจะมีความสุข คนมีความสุขทำหน้าที่การงานก็จะเป็นการงานที่ดี แล้วทำแล้วประชาชนก็มีความสุข ผู้ปกครองก็มีความสุข ประเทศชาติก็จะเจริญงอกงาม ก็คิดอย่างนั้น ก็ต้องการอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องโลกไง ปฏิบัติเป็นโลกๆ ไง ปฏิบัติเป็นโลกก็ปฏิบัติเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ ปฏิบัติเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ ปฏิบัติแล้วก็ปฏิบัติของเรา ปฏิบัติแล้วเป็นคนดี คนดีก็ทำหน้าที่การงาน ทำหน้าที่เพื่อโลกไง
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเรานะ เราปฏิบัติอย่างนั้นเป็นสังคม นั่นเป็นเรื่องของสังคม เป็นคุณงามความดี ความดีของโลก สุขจนเน่า ถ้ามีความสุข มีความพอใจ ชื่นชมกันว่าสิ่งนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม
เป็นการปฏิบัติธรรม ใช่ ถ้าเป็นครั้งเป็นคราว เป็นการสังคม เป็นการชักนำกัน อันนั้นมันเป็นเรื่องโลกนะ แต่เวลาจะปฏิบัติจริงๆ เราจะเอาจริงเอาจังของเรา แม้แต่เวลาจิตสงบ คนเราจะสงบมันก็สงบแตกต่างกัน เวลาคนสงบนั้นเขาสงบได้ลึก สงบได้บ้างเป็นชั่วคราวก็แตกต่างกัน เวลาคนมีความสงบแล้วจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา จะยกขึ้นสู่สัจธรรม สัจธรรมคือความจริง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ถ้าเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาคือภาวนามยปัญญา ปัญญาการรู้แจ้งในหัวใจของเรา เพราะการรู้แจ้งในหัวใจของเรามันเปิดเผยว่าอวิชชา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ ความไม่รู้มันสร้างอารมณ์ สร้างความรู้สึกนึกคิดต่างๆ มันเกิดมากับเราตลอด มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะสถานะของมนุษย์ไง
มนุษย์เกิดมามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ คือมีร่างกาย เทวดาเขาไม่มีกายเนื้อ พรหมก็ไม่มี พรหมเขาเป็นทิพย์หมด ฉะนั้น เราเกิด เรามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เวลาเขาเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมเขามีแต่นามธรรม เป็นนามธรรมของเขา นรกอเวจีของเขาก็เป็นนามธรรมของเขา ทีนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ถ้ามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ในสถานะของมนุษย์ ถ้าสถานะของมนุษย์ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ร่างกายนี้มันต้องการอาหาร ดูสิ การหายใจเข้าและหายใจออก ออกซิเจน ถ้าขาดออกซิเจน สมองตาย ๕ นาทีเป็นอัมพาตเลย ร่างกายนี้มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ แล้วเวลาบำรุงร่างกายขึ้นมา ตั้งแต่ทารก เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วจะเติบโตขึ้นไปจนแก่เฒ่า แล้วมันก็ชราคร่ำคร่า ถึงที่สุดแล้วเราก็ต้องลาจากกัน
ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แต่การพลัดพรากเป็นที่สุด การพลัดพรากไปเรื่องบุญกุศลกับการพลัดพรากไปด้วยบาปอกุศล การพลัดพรากไปโดยพระอริยบุคคล ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปนิพพาน จะไปนิพพาน เทศน์สอนไปตลอดทางเลย คืนนี้เราจะต้องไปนิพพาน พระอานนท์ตามอุปัฏฐากไป มันเศร้าสร้อย เพราะว่าเสียใจไปตลอดทาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการไปตลอดทาง จนถึงที่สุดแล้ว สุภัททะจะเข้ามาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะร่ำลือกันแล้วว่าคืนนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เพราะข่าวมันออกไปก่อน จะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอานนท์ไม่ให้เข้า เพราะผู้อุปัฏฐากเห็นว่าป่วยไข้ กำลังจะสิ้น จะลาธาตุขันธ์ นี่ไง ไม่ให้เข้า
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า อานนท์ เธอปล่อยเขามา เขามาที่ก็เพื่อนี้ด้วย ท่านอนาคตังสญาณ ท่านรู้ของท่านหมด มาก็เพื่อที่นี่ ยังจะไปเอาพระอรหันต์องค์สุดท้าย สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล อานนท์บวชให้ แล้วคืนนี้ปฏิบัติ คืนนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพาน สุภัททะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เป็นสาวกองค์สุดท้าย
นี่ไง เวลาจะพลัดพราก มันชำระล้างกิเลสในหัวใจจบสิ้นแล้ว เพราะมันสุขแล้ว สุขนี้เป็นวิมุตติสุข ไม่ใช่สุขแบบโลก สุขแบบโลกน่ะสุขจนเน่า สุขแล้วไม่รู้จักรักษา สุขแล้วไม่รู้จักการพัฒนา ถ้าสุขแล้วไม่รู้จักการพัฒนานะ ดูแลรักษาไม่เป็น เน่าเสียหายหมด ถ้าเน่าเสียหายหมด เน่าเสียหายจากมรรคจากผล เน่าเสียหายจากอำนาจวาสนาบารมีที่สร้างบุญญาธิการเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมีศรัทธามีความเชื่อจะออกมาประพฤติปฏิบัติ เวลาออกประพฤติปฏิบัติลงทุนลงแรงทั้งนั้นน่ะ
ดูสิ เขาทำงานทางโลกกัน เขาก็ต้องลงทุนลงแรงกันทั้งนั้นน่ะ ถ้าเป็นผู้บริหารเขาใช้สมองทำงาน เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะรักษาใจเราอย่างไร เราจะดูแลใจเราอย่างไร ถ้าปฏิบัติทางโลก เขาว่าปฏิบัติต้องมีความสุขๆ
ความสุขอย่างนั้น มันความสุขเป็นการบรรเทาทุกข์ ความสุขอย่างนั้นเป็นความสุขที่พอใจ ความสุขอย่างนั้นมันเป็นอามิส ความสุขอย่างนั้นเพราะเราตั้งอารมณ์ไว้ ตั้งเป้าไว้ว่าเราปฏิบัติเพื่อความสุข เราปฏิบัติเพื่อความสุข ความสงบ ความระงับ ความสุข ความสงบ ความระงับ อย่างนั้นมันเป็นความสุข ความสงบ ความระงับทางโลก นี่ไง มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ถ้ามันสงบเข้ามา สมาธิคือมันสงบจากขันธ์ ๕ เข้ามา ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าอารมณ์ของคน ขันธ์ ๕ ไม่สมบูรณ์ เกิดเป็นความคิดไม่ได้
ความคิดที่เกิดขึ้น รูปคืออารมณ์ สิ่งที่เป็นอารมณ์ อารมณ์ความคิด ความคิดความคิดหนึ่งมันจะประกอบไปด้วยรูป มันจะประกอบไปด้วยเวทนา ประกอบไปด้วยสัญญา ประกอบไปด้วยสังขาร ประกอบไปด้วยวิญญาณ มันถึงเป็นอารมณ์ นี่พูดถึงอารมณ์มันก็เป็นต้นตอ แต่เวลาถ้าจิตมันสงบ มันสงบจากรูป รส กลิ่น เสียง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันสงบเข้ามา มันถึงจะเป็นตัวมัน
ถ้ามันสงบเข้ามาโดยสัมมาสมาธิ โดยสัมมาสมาธิ ที่ว่า พุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา สงบเข้ามานะ สงบเข้ามาแล้ว ถ้ามันเป็นมิจฉา ถ้ามันมิจฉา สงบโดยการขาดสติ สงบโดยไม่มีการควบคุม แต่ถ้าเรามีสติ เราพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราควบคุมดูแลหัวใจของเราเข้ามา เวลามันสงบเข้ามา มันสงบเข้ามาเป็นขณิกสมาธิ สงบเข้ามาเล็กน้อยมันก็คลายออก เราก็ต้องดูแลรักษาแล้ว เพราะอะไร เพราะมันมาจากไหนล่ะ
คนเรานะ ถ้าเราไม่ศรัทธา เราไม่มีความเชื่อของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติไหม ทุกคนก็อยากสุขสบายทั้งนั้นน่ะ เวลาเราปฏิบัติ เขาเรียกบุญกิริยาวัตถุ เราจะทำอย่างไรก็ได้ ทำไมเราต้องมานั่งขัดสมาธิ
การนั่งขัดสมาธิเป็นท่ามาตรฐาน ท่ามาตรฐาน เพราะการนั่งอย่างนี้ การนั่งสมาธินี้เป็นท่าที่นั่งได้นานที่สุด แล้วการนั่งเพื่ออะไร นั่งเพื่อรวบรวมมีสติปัญญา อบรมบ่มเพาะหัวใจไง ตบะธรรมไง ให้มันสงบเข้ามา ไม่ให้มันคิดฟุ้งซ่านออกไป เวลามันคิดฟุ้งซ่านออกไปนะ มันส่งออก เราคิดถึงรอบโลก มันไปได้รอบโลกเลย ตัวนั่งอยู่นี่ แต่ความรู้สึกนึกคิดมันไปตลอด ฉะนั้น เรานั่งสมาธิเป็นบุญกิริยาวัตถุ แล้วเวลาเราทำเพื่อรักษา เพื่อมีสติปัญญา รั้งใจไว้ให้อยู่กลางหัวอก ถ้ารั้งใจไว้กลางหัวอก พุทโธๆ เป็นขณิกสมาธิ เข้าแล้วเดี๋ยวมันก็ออก มันต้องฝึกให้ชำนาญ โดยภาคปฏิบัติโดยพื้นฐานมันเป็นแบบนี้ทั้งนั้น เป็นอย่างนี้เพราะอะไร
เพราะผลไม้ผลหนึ่งมันต้องผสมเกสรของมัน มันถึงได้ออกเป็นผล ออกเป็นเกสร เป็นเมล็ดอ่อน แล้วเจริญเติบโตขึ้นมา นี่มันเป็นธรรมชาติของมัน จิตของคน จิตของเรามันยังดิบๆ อยู่ ดูสิ จิตของเรามันมีอวิชชา อวิชชา โดยธรรมชาติของมัน เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติคราวเริ่มต้นที่ว่ามันยาก มันยากตรงนี้ มันยากที่ว่าเราไม่เคยรู้จัก เวลาเราไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็คาดหมายไป จินตนาการไป ผู้ใดคาดหมายธรรม มันคาดหมายได้หมด แล้วคาดหมายแล้วมันก็เป็นโทษกับตัวเราเองไง เพราะเราคาดหมายว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น เวลาจิตสงบแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นตรงข้าม พอเป็นตรงข้ามขึ้นมา แล้วอะไรมันจริงล่ะ เพราะเราคาดหมายของเราไปเอง
ถ้าเราทำความจริงของเรา โดยพื้นฐาน โดยทุกดวงใจเป็นอย่างนี้หมด เริ่มต้นปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้หมด เว้นไว้แต่คนที่เขายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาดูแลรักษาใจของเขาโดยคิดว่าไม่ได้เป็นการปฏิบัติ แล้วมันเป็นไป ถ้ามันเป็นไปนะ เวลาเขาจะตั้งใจเอาจริง มันไม่ได้แล้ว ถ้าไม่ได้ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เพราะการกระทำ การกระทำมันต้องทำศีล สมาธิ ปัญญา ศีลโดยพื้นฐาน ศีลทุกคนรักษาได้ เพราะศีลมันเป็นข้อห้าม แค่เราดูแลใจเรามันก็เป็นศีลแล้ว ถ้าเป็นศีลแล้ว แล้วความคิดมันปกติไหมล่ะ ถ้าความคิดปกติ ศีลคือความปกติของใจ ศีลคือข้อห้าม เราไม่ทำความผิดพลาดไปข้างนอก แต่ความคิดมันมี ความคิดมันมี ถ้าความคิดมันมี เราพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมาให้จิตมันสงบเข้ามา
พอจิตมันสงบเข้ามา ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ มันเป็นโดยข้อเท็จจริงนะ ขณิกสมาธิมันสงบระงับ มีความสุขๆ เดี๋ยวก็คลายออก พอคลายออกไป เราตั้งสติมากขึ้น ใช้บริกรรมให้เข้มข้นขึ้น บำรุงรักษาให้มากขึ้น มากขึ้นนะ ถ้ามันละเอียดเข้าไปมันจะเป็นอุปจารสมาธิ คำว่า อุปจารสมาธิ จิตมันสงบ มันยังได้ยิน รับรู้ได้ รับรู้เสียงต่างๆ ได้ แต่มันยังไม่มีความถนัด ไม่มีความชำนาญ ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ ต่อเนื่องไปจนละเอียดเข้าไป มันจะเป็นอัปปนาสมาธิ
ถ้าอัปปนาสมาธิ เข้าไปพัก แต่ถ้ามันเข้าอัปปนาสมาธิไม่ได้ก็ไม่จำเป็น แค่อุปจารสมาธิ เวลาจิตเข้าไปเป็นอุปจาระ คือเข้าไปสมาธิแล้วมันรับรู้ได้ มันรับรู้เสียงได้ มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมได้ แต่ถ้ามันเป็นกิเลสนะ มันก็เห็นนิมิตได้ เห็นนิมิต เห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม เห็นต่างๆ เห็นคือวัฏฏะไง ผลของวัฏฏะไง
จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะใช่ไหม กามภพ รูปภพ อรูปภพมันมีของมันอยู่แล้วใช่ไหม มันมีอยู่โดยข้อเท็จจริง วัฏฏะมันมีของมันอยู่อย่างนั้น เพียงแต่จิตเวลาเวียนว่ายตายเกิด เราจะไปอยู่ในสถานะไหน ถ้าไปเกิดเป็นพรหมก็ไปอยู่บนพรหมนั้น เป็นเทวดาก็อยู่ภพเทวดานั้น ถ้าเป็นมนุษย์ล่ะ จิตนี้มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ พอเวียนว่ายตายเกิด ถ้าจิตมันสงบเข้ามา สิ่งนั้นมันมีของมันอยู่แล้ว แต่ใครไปรู้ไปเห็นนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามันรู้มันเห็นนี่ส่งออก ถ้าส่งออกไปนะ ถ้าเราติดตามไป สิ่งที่ส่งออกไปมันมีแต่ความเสื่อม เสื่อมแน่นอน เสื่อมแน่นอนเพราะอะไร เพราะจิตมันส่งออก พลังงานที่มันใช้ออกไปแล้วไปรับรู้สิ่งต่างๆ นี่มันออกไป แล้วเป็นอะไรล่ะ? มันเป็นมิจฉาไง แล้วถ้าคนเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงของเขา มันจะเน่าแล้วล่ะ
เวลาจิตสงบแล้วมันมีความสุขแน่นอน แล้วมันมีความรับรู้อะไรต่างๆ แน่นอน ถ้ามีความรับรู้อะไรต่างๆ มันก็เป็นผู้วิเศษไง ถ้าเป็นผู้วิเศษ เป็นคนเหนือคน เป็นคนเหนือเขา ถ้าคนเหนือเขาก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ มีความสุขไหม? มี เพราะมันเกิดทิฏฐิมานะ ถ้าเกิดทิฏฐิมานะเป็นความสุข เดี๋ยวจะเน่าแล้ว พอเน่าไปคือส่งออก เน่าไปคือไม่เข้าสู่มรรค
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ หรือฟังเทศน์แล้วได้สะกิดใจ สะกิดใจแล้วหาทางเข้าไปสู่สัจจะความจริง กลับมาทำความสงบอีก ทำความสงบใหม่ ถ้าจิตสงบแล้ว เราภาวนาต้องการความสงบ แล้วมันออกรู้เอง มันออกรู้เอง เราไม่ได้บังคับ เราไม่ได้ต้องการ แต่มันออกรู้เอง ออกรู้เองมันก็เป็นจริตเป็นนิสัย ถ้าเป็นจริตเป็นนิสัย เราก็ต้องตั้งสติมากขึ้น หนึ่ง เราตั้งสติเพื่อกำหนดพุทโธ ตั้งสติเพื่อปัญญาอบรมสมาธิ แล้วต้องตั้งสติเหนี่ยวรั้งใจไว้ด้วย เวลาจิตมันสงบแล้วมันจะรู้ มันเป็นช่องทางของมัน ถ้าช่องทางที่มันจะออกทางนี้ มันจะออกทางนี้ตลอดไป แต่ถ้าพอจิตสงบแล้วเรารั้งไว้ไม่ให้ออก รั้งไว้ไม่ให้ออก ให้สงบไว้ๆ เพราะเราต้องการตรงนี้ เราต้องการศีล สมาธิ แล้วเราพยายามจะฝึกหัดให้มันเกิดปัญญา ไม่ใช่ปล่อยให้มันออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ นี่การออกไปรับรู้
บางคนถ้าจิตมันสงบนะ ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนา จิตสงบก็สงบเข้ามาปกติ สงบเข้ามาเฉยๆ สงบก็จิตสงบ ไม่รู้ไม่เห็นอะไร แล้วสงบดี สงบแล้วมีความร่มเย็น สงบแล้วมีความปลอดโปร่ง สงบแล้วมันมีกำลัง มันสดชื่น มันมีกำลัง ถ้ามันมีกำลังนะ แล้วทำอย่างไรต่อ ถ้ามีกำลังแล้ว เราก็ยกขึ้น ฝึกหัดรำพึงไป รำพึงไปที่กาย ถ้ามันไม่มีสิ่งใด พอนั่งไปสักพักหนึ่งเวลามันเข้าไปสงบมันก็ดี มันก็มีความสุข ถ้ามันคลายออกมา มันคลายออกมามันรับรู้อะไร นั่นล่ะเวทนา เวทนากาย เวทนาจิต เวทนาคือการรับรู้ รับรู้ เราจับอารมณ์ความรู้สึกนั้นพิจารณาได้เลย การพิจารณาคือการฝึกหัด
การพิจารณาทำอย่างไร พิจารณาก็ต้องตั้งท่าตั้งทางอีกใช่ไหม
การพิจารณาก็จับความคิด จับความคิดแล้วตีแผ่มัน การพิจารณาคือจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมขึ้นมา จับ ถ้าจับแล้วมันพิจารณา ถ้าการพิจารณาแล้วก็วางท่าวางทางจะพิจารณาเลย ต้องเตรียมกองทัพใหญ่โตว่าฉันจะพิจารณานะ พอเตรียมท่า หายแล้ว เพราะจิตมันเคลื่อน พอจิตมันขยับนะ มันส่งออกแล้ว ถ้ามันเคลื่อน ทำไม่เป็นมันก็คือไม่เป็นน่ะ ถ้าทำไม่เป็นมันจะล้มลุกคลุกคลานอยู่ตรงนี้ ถ้ามันทำไม่เป็นนะ ถ้ายังติดความสงบนั้นอยู่ ยังไม่เป็น เอาว่าสิ่งที่ตัวเองรู้นั้นเป็นประโยชน์นะ เดี๋ยวก็เน่า สุขจนเน่า สุขนะ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบแล้ว จิตสงบระงับแล้ว เพื่อกำลังแล้ว เราต้องยกขึ้นวิปัสสนา ในเมื่อเราเกิดมา เราเกิดมาสถานะของมนุษย์ใช่ไหม
เราจะเกิดมา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเราพยายามทำ เราจะทำหัวใจของเราให้เหนือ เป็นอริยบุคคลขึ้นมา เป็นสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่มีคุณค่า คุณค่ามันเกิดจากไหน คุณค่าทางโลกเขา คุณค่าของเขา ทรัพย์สินเงินทองเป็นคุณค่าของเขา คุณค่าทางโลก ทำบุญกุศลก็เป็นอามิส ใครมีบุญมากบุญน้อยก็จะไปเกิดตามวัฏฏะ
คุณค่าของธรรม ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล คุณค่าของเราคือมรรคคือผล คุณค่าของเราคือศีล สมาธิ ปัญญา คุณค่ามันจะเกิดตรงนี้ไง จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้ๆ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเอาอะไรมาปฏิบัติ เราเอาหัวใจมาปฏิบัตินะ ร่างกายเราได้มาเป็นมนุษย์ด้วยกันทุกๆ คน แต่เวลาปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ยืน เดิน นั่ง นอน การกระทำนั้นเพื่อหัวใจอย่างเดียว เพราะหัวใจมันอยู่ในร่างกายนี้ มันถึงจำเป็นต้องเอาร่างกายนี้มาสมบุกสมบันเพื่อเข้าไปค้นคว้าหาใจดวงนี้
ถ้าค้นคว้าหาใจดวงนี้ได้ เราพยายามยกจิตขึ้น ยกขึ้นด้วยสติปัญญาของเรา ไม่ต้องให้ใครเชิดชู ให้ใครมารับรอง ให้ใครมาค้ำประกัน ความรู้ความเห็นของเรา ความจริงของเรามันจะประกันหัวใจของเรา มันจะเป็นความจริงของเรา มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก
หลวงตาท่านบอกว่าท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาถ้ามีบุคคลที่สาม หลวงปู่มั่นไม่เคยถามท่านเลย แล้วท่านก็ไม่พูดด้วยถ้ามีบุคคลที่สามอยู่ แต่ถ้าเมื่อใดอยู่กันตัวต่อตัวนะ ไม่ท่านถามก่อนก็หลวงปู่มั่นจะถามก่อน นี่ไง มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกในใจของหลวงปู่มั่น และมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกในใจของหลวงตา มันเป็นความจริงๆ สิ่งที่เป็นความจริง
เรามาปฏิบัติ เรามาเอาหัวใจของเรา หัวใจของเราที่เรารักษาอยู่นี่ สุขแล้ว ถ้ามีความสุขแล้วเรายกขึ้นสู่วิปัสสนา สุขแล้วเราพยายามฝึกหัด การยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันทำแล้ว เวลาบอก ก็เราวิปัสสนาแล้ว ถ้าสุขแล้วมันจะเน่านะ เวลากิเลสมันครอบงำมันจะอ้างอย่างนั้นว่า เราก็ได้พิจารณาแล้ว
การพิจารณาของเรา การพิจารณาอย่างนั้นมันเป็นภาพลวงตา รู้จักคำว่า ภาพลวงตา ไหม เวลาเราจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา เราจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เวลาจิตมันสงบ ถ้ามันจับได้ มันจับได้เป็นความจริงนะ มันตั้งได้ ถ้าสมาธิมันดีนะ มันตั้งได้ พอตั้งได้นะ เวลารำพึงไป ให้มันย่อยสลายไป ให้มันแปรสภาพไป ให้มันพุพองไป ให้มันเป็นของเน่าเปื่อยไปขนาดไหน มันเป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าจิตมีกำลัง แล้วทำแล้วมันสมดุลกับมัน ความสมดุล ความสมดุลของมรรค ความสมดุลของมรรคคือการฝึกหัดใช้ การฝึกหัดใช้ปัญญาโดยเจโตวิมุตติคือการรู้การเห็นโดยสมาธิ
ถ้าสมาธิ ถ้าจิตสงบแล้วเราพิจารณากาย เราตั้งกายขึ้นมา แล้วรำพึง รำพึงคือการคิด แล้วใช้ปัญญาอย่างไรล่ะ ปัญญาๆ คือกำลังของใจแล้วสิ่งที่มรรคมันแปรสภาพ มันเป็นวิภาคะ คือมันขยายส่วนแยกส่วนจากว่าเป็นนิมิต คำว่า นิมิต คือการเห็นภาพ เห็นภาพของร่างกาย เห็นตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงมันจะสั่นไหวสะเทือนหัวใจ มันสั่นไหวสะเทือนหัวใจ เท่ากับมันไปสั่นไหวสะเทือนกิเลส นี่เวลามันเห็นสัจธรรมความเป็นจริงนะ
แต่ถ้าจิตมันไม่สงบ หรือมันสงบแล้วมันเห็นของมัน มันพิจารณาของมัน แต่มันไม่เป็นมรรค ไม่เป็นมรรคตรงไหน ไม่เป็นมรรคเพราะว่าสมาธิ กำลังของจิตมันไม่พอ ถ้ากำลังของจิตไม่พอ สิ่งที่รู้ที่เห็นเขาเรียกว่ามันเป็นสมุทัย ความเป็นสมุทัยคือจินตนาการของเราไง ความเป็นสมุทัยคือตัวตนของเราไง ตัวตนที่เราพยายามจินตนาการ พยายามให้มันเป็น นี่ภาพลวงตา ถ้ามันเป็นภาพลวงตา เวลาภาวนาไป คำว่า ภาพลวงตา กิเลสมันหลอกตั้งแต่ต้น ถ้าภาพลวงตาแล้วมันก็บอกว่า เป็นอย่างนั้น พิจารณาแล้ว
เพราะเราได้ศึกษามาหมดแล้ว เรารู้หมดแล้ว แล้วกิเลสนะ เวลาภาพลวงตา มันก็ลวงตามาจากข้อมูลของเรานั่นแหละ มันก็ลวงตามาจากข้อมูลที่เราได้ศึกษาธรรมะมานั่นแหละ เราก็ลวงตาโดยที่เราได้ฟัง ฟังจนชินหู พูดจนชินปาก แต่หัวใจมันด้าน หัวใจมันด้าน หัวใจมันดื้อ หัวใจมันด้าน หัวใจมันขโมยเขา ไปขโมยข้อมูลของครูบาอาจารย์ เหมือนองค์นั้น เหมือนองค์นี้ ทำแล้วมันเหมือน เหมือนครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทั้งนั้นน่ะ
ครูบาอาจารย์ที่ท่านเทศน์ไม่ผิดหรอก ครูบาอาจารย์ที่ท่านเทศน์ ท่านบอกทางไว้เพื่อให้เราประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เป็นสมบัติของเรา เป็นอุบาย เป็นสารตั้งต้นให้เราปฏิบัติ แล้วถ้ามันเป็นจริงๆ มันต้องเป็นจริงของเราขึ้นมา มันไม่ใช่ภาพลวงตา ถ้าเป็นภาพลวงตา มันไม่มีผล เพราะมันมีสมุทัย ความว่าสมุทัยคือกิเลสของเรามันเข้าไปเจือปน การทำ การปรุงยา การสร้างยา เขาจะไม่ให้มีสิ่งที่เป็นเชื้อโรคเข้าไปปลอมปน ถ้าปลอมปน มันจะประกอบขึ้นมาเป็นยารักษาโรคไม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน มรรคๆ มรรคคือมัคโค ทางอันเอก ที่เราจะชำระล้างกิเลส แล้วก็ให้กิเลสมันเข้ามาปลอมปน สมุทัยคือกิเลสของเรามันเข้าไปปลอมปน ถ้าไปปลอมปนนะ สิ่งที่เห็นขึ้นมาก็เป็นภาพลวงตา ภาพลวงตา มันจะเน่าแล้วนะ มันจะเน่าแล้ว มันจะเน่าเพราะเราเชื่อไง มันจะเน่าเพราะเราทำแล้วมันไหลลงต่ำไปไง ไหลไปตามกิเลสไง แล้วจะฟื้นขึ้นมาอย่างไร มันฟื้นขึ้นมาไม่ได้
แต่ถ้าเรามีสติ เรามีสติ มีความสำนึกรู้ มันวัดค่าของการใช้ปัญญา ถ้าจิตสงบแล้วใช้ปัญญา เวลามันเป็นความจริง เวลามันปล่อย มันจะมีการปล่อย พิจารณาแล้วมันปล่อย มันปล่อยอะไร พอมันพิจารณาร่างกาย ถ้ามันแปรสภาพไปแล้ว ภาพนั้นมันชัดเจน มันย่อยสลายไปต่อหน้า ย่อยสลาย มันปล่อยคือว่าพิจารณาสิ่งนั้นอยู่แล้วงานมันเสร็จไง งานมันเสร็จ มันสลายไป มันกลายเป็นอากาศธาตุ มันว่างไปหมดเลย มันว่างไปหมด นั่นแหละมัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลของมัน แต่ความสมดุลของมัน เราต้องปฏิบัติซ้ำ ซ้ำเข้าไป นี่จะยกขึ้นสู่วิปัสสนา ยกขึ้นสู่วิปัสสนา แล้วฝึกหัดทำซ้ำๆๆ เป็นประสบการณ์ของใจ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นแต่ละขั้นตอนไป แต่การกระทำ ทำบ่อยครั้งเข้าๆ ทำแล้วทำเล่า
ทีนี้พอทำแล้ว พอเราทำได้ จิตเราสงบแล้วเรายกขึ้นสู่วิปัสสนา เราเห็นกาย เราพิจารณาแล้ว พิจารณาแล้วมันปล่อย มันปล่อย คราวหน้าทำ ทำได้ไม่ได้ การทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะสมาธิไม่พอ สมาธิพอไปแล้ว สมาธิเข้มแข็งเกินไป สมาธิเข้มแข็งเกินไป เวลาตั้งกายขึ้นมา กายนี้ชัดเจนมาก แล้วรำพึงให้มันเป็นอะไรมันไม่เป็น ภาพมันจะอยู่อย่างนั้นน่ะ นั่นน่ะสมาธิมันแรง ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมา สมาธิเข้มข้นเกินไปก็ผิด สมาธิที่อ่อนแอเกินไปก็ผิด สมาธิถ้าเข้มข้นขึ้น เวลามันพิจารณาไปแล้วมันไม่ไปหรอก พอพูด สมาธิมันเข้มข้นขึ้นมา อ๋อ! ฉันสมาธิเข้มข้นเกินไป...ไม่มีหรอก ให้มันเข้มข้นไปเถอะ ถ้ามันอ่อนสิ สมาธิมันอ่อนแอเกินไปมันตั้งไว้ไม่ได้ แล้วเวลามันตั้งขึ้นไปนะ ถ้ามันเป็นภาพลวงตา ภาพลวงตามันก็หลอก มันหลอกไป
ถ้ามีครูบาอาจารย์ ท่านจะคอยชี้นำ คอยประคองให้เราทำของเราไป มันได้มากได้น้อยขนาดไหน เราต้องมีความเข้มข้นของเรา ต้องมีความจริงจังของเรา เพราะเราต้องการความจริง เราเกิดมาหลายภพหลายชาติ เราเกิดมาแล้วเกิดมาเล่า เพราะอายุเรา อายุเราเท่าไรล่ะ แล้วก่อนหน้านั้นเราเป็นอะไรมา นี่ไง การเกิดมากี่ภพกี่ชาติ ในเมื่อการเกิดมา ภพชาติของเราซ้ำซากมหาศาล ทีนี้การเกิดมาซ้ำซากมหาศาล สิ่งที่เราทำ เราทำ เราจะสำรอกเราจะคายมัน ถ้ามันสำรอกมันจะคาย แล้วเราจะมีโอกาสอย่างนี้อีกเมื่อไหร่ แล้วโอกาสอย่างนี้มันจะหามาจากไหน โอกาสอย่างนี้ เพราะอะไร ในการประพฤติปฏิบัติมีครูมีอาจารย์คอยชี้นำเลยล่ะ แต่ถ้าเราปฏิบัติมาโดยความเชื่อมั่นของเราว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงๆ ของเรา เป็นความจริงของเรา
เวลาความจริงนะ เวลา ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ความจริงแค่อ้าปากก็รู้แล้ว เพราะมันมีที่มาไง มันมีที่มา นี่เรามีศรัทธามีความเชื่อ มันเป็นวุฒิภาวะของจิตระดับหนึ่ง มีศรัทธาความเชื่อ คนที่มีความเชื่อ ความเชื่อศรัทธาเข้มข้นต้องระวัง เพราะเขาศรัทธามาก แล้วสะเทือนใจเขาไม่ได้นะ ถ้าไปสะเทือนใจเขา พอเขาเสื่อมศรัทธาแล้วเขาต่อต้านเลย
ฉะนั้นว่า ถ้าคนมีศรัทธา ระดับศรัทธามันก็เป็นวุฒิระดับหนึ่ง ถ้าเรามีสติของเรา เราฝึกหัดใช้ปัญญาของเราแล้วนะ มีสติแล้วเราหัดบริกรรมพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบ จิตมันมีหลักมีฐาน มันก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง แล้วถ้าจิตมันสงบแล้วนะ จิตสงบแล้ว ถ้ามันเสื่อมไปแล้ว ศรัทธาความเชื่อของเรามันมี แต่มันเสื่อมไปแล้วเราจะทำอย่างไร
ถ้าคนมีกำลังของเรา มันเสื่อมไปแล้ว ถ้ามันเสื่อม มันต้องเสื่อมแน่นอน โดยธรรมชาติของมันเลย จิตเจริญแล้วต้องเสื่อม แล้วถ้าจิตเจริญแล้วเสื่อม แล้วเราเสื่อมแล้ว เราฝึกหัด เพราะมันเสื่อม เราถึงรู้จักวิธีการรักษา พอเรามีวิธีการรักษา จิตถ้าเรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เรารักษาแต่เหตุมันไว้ รักษาแต่เหตุคือวิธีการของเรา เรารักษาหัวใจของเรา มันเสื่อม เสื่อมก็กลับมาตรงนี้ เสื่อมก็กลับมาตั้งใจ เสื่อมก็กลับมาพุทโธ เสื่อมก็กลับมาปัญญาอบรมสมาธิ เสื่อมก็กลับมาที่นี่ เราสร้างเหตุของมันไป เพราะความเชื่อมั่นของเรา เราสร้างเหตุไป มันจะไม่สงบได้อย่างไร มันสงบแน่นอน
ฉะนั้น เวลาคนที่เขาทำเป็นแล้ว ถึงว่าจิตนี้เวลาเจริญแล้วต้องเสื่อมแน่นอน แต่ถ้าคนทำเป็นจนรักษาได้เป็น มันไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันเสื่อม มีแต่เวลามันใช้สมาธิ เวลายกขึ้นสู่วิปัสสนา เวลามันใช้มากแล้วมันอ่อนลง ถ้าเรายังไม่มีความชำนาญ อ่อนลง มันก็ยังจะพยายามทำงานต่อไป ยังตะบี้ตะบันจะพิจารณาไปให้ได้ นั่นน่ะจนพิจารณาไปแล้ว ถึงปัญญามันก็ไปไม่รอดหรอก เพราะอะไร เพราะว่าสมาธิชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความไม่ชอบธรรมมันขัดแย้งกัน แต่คนปฏิบัติมันไม่รู้ คนปฏิบัติมันก็ตะบี้ตะบันจะทำเข้าไป
จนกว่าเมื่อไหร่ได้สติ หรือมีครูบาอาจารย์บอกแล้วระลึกได้ อ๋อ! มันจะย้อนกลับมาสมาธิเลย เพราะอะไร เพราะว่าสมาธินี้แหละเป็นตัวหนุนให้ดีที่สุด ถ้าขาดสมาธิ ปัญญาที่เกิด ปัญญาล้มลุกคลุกคลาน วิปัสสนาไปร้อยหนพันหนมันไม่ไปไหนหรอก มันซ้ำๆ ซากๆ อยู่นั่นน่ะ มันเป็นสัญญา มันเป็นข้อมูลเดิม มันเป็นภาพลวงตา แล้วก็หลอกลวงหัวใจให้สมบุกสมบันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าเมื่อไหร่วางได้ แล้วกลับมาที่ความสงบของใจ พอใจมันสงบแล้ว พอกลับไปทำ ทำไมมันง่าย ทำไมคราวที่แล้วมันทำไม่ได้ ทำไมคราวนี้มันได้
มันได้เพราะมันความสมดุลไง มันได้เพราะเรากลับมาสัมมาสมาธิ สัมมากัมมันโต สัมมาวายาโม สัมมาทุกอย่าง พอสัมมาทุกอย่าง พอขับเคลื่อนไปมันก็สมดุล สมดุลมันก็ปล่อย ถ้าไม่สมดุลมันก็ยักแย่ยักยันอยู่อย่างนี้ แล้วเราไม่รู้เพราะอะไร เพราะสมาธิมันเป็นสมถะ สมาธิมันไม่ใช่ปัญญา ตอนนี้กำลังใช้ปัญญาแล้ว กำลังเข้มข้นแล้ว มันจะใช้ปัญญาของมันไป ใช้ปัญญาไปก็กิเลสมันหลอกไง นี่ไง ครอบครัวของมารมันปั่นหัวเอาไง ครอบครัวมันปั่นหัวเอาเพราะอะไร เพราะเรากำลังเข้าไปเผชิญหน้ากับมันไง
เวลานักปฏิบัตินะ การขุดคุ้ยหากิเลส การขุดคุ้ยคือการเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงนี่แสนยาก สิ่งที่เห็นมันเป็นสุขจนเน่าหมดล่ะ สิ่งที่เห็นคือภาพลวงตาทั้งนั้นน่ะ ภาพลวงตาเพราะอะไร เพราะความคิดของคนมันคิดอยู่แล้ว ความคิดของคนมันคิดอยู่แล้ว เวทนาของจิต เวลาเวทนา ความอาลัยอาวรณ์ ความละเอียดอ่อน แค่ความเฉา ความหงุดหงิดในใจนั่นก็เวทนา แต่เราก็จับไม่ได้ เราก็ไม่รู้อันนี้เป็นเวทนา เวทนามันต้องเจ็บปวดแสบร้อนถึงว่าเป็นเวทนา ไอ้แค่ไม่พอใจนี่ไม่ใช่...นั่นล่ะก็เวทนา เวทนากาย เวทนาใจไง
แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติแล้ว เขาก็จับได้หมดแหละ เขารู้เลยว่ามันขยับอย่างไร แต่ของเรา เราปฏิบัติใหม่ เราปฏิบัติใหม่ เราพยายามเข้มข้นของเรา เรายังทำสิ่งใดไม่ได้ เราเข้มข้นของเรา แล้วเราก้าวเดินของเราไป ถ้ามันเจริญแล้วเสื่อม มันเจริญแล้วเสื่อมเพราะว่าความชำนาญของเรา ความชำนาญในวสี ความชำนาญการประพฤติปฏิบัติ พอมันชำนาญแล้วควบคุมได้ทุกอย่าง มันควบคุม มันดูแลรักษาใจทั้งนั้นเลย เพราะมีความชำนาญ อาศัยความชำนาญ พอความชำนาญแล้ว ตั้งแต่นั้นไป มันมั่นคงของมัน มันก็ยังเสื่อมของมันอยู่ มันยังเสื่อมได้ เสื่อมได้เพราะมันมาแต่เหตุ มันมาจากการมีสติ มาจากคำบริกรรม มาจากปัญญาอบรมสมาธิ แล้วจิตมันก็สงบเข้ามา แล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันกำลังก้าวเดิน นี่ยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ
ที่มันซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือความชำนาญนะ ไม่ใช่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พูดบ่อยๆ จนคนฟังเบื่อหน่าย หลวงพ่อมีแต่ซ้ำๆๆ อยู่นั่นน่ะ
การซ้ำ การกระทำให้มันชำนาญ พอมันชำนาญขึ้นไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะปล่อยวางขนาดไหน เราไม่ให้มันเสียหายไง สุขจนเน่าๆ สุขจนเน่าเพราะรักษาไม่เป็น สุขจนเน่าเพราะทำแล้วกิเลสมันหลอก สุขจนเน่ามันไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นวิมุตติสุขล่ะ
ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไอ้สิ่งที่สุขนั้นมันตทังคปหาน มันชั่วคราว ของชั่วคราวคืออนิจจังไง อนิจจังคือความไม่แน่นอนไง สิ่งที่ไม่แน่นอน สิ่งที่ไม่คงที่ มันไม่แน่นอนอยู่แล้ว โลก ชีวิตเรามันไม่แน่นอนอยู่แล้ว ความจริงคือความไม่แน่นอน มันเป็นของมันคือว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันเป็นอนัตตา คือมันแปรสภาพไป มันแปรอยู่แล้ว ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด คนเกิดมาตายหมด ตายเมื่อไหร่เท่านั้นเอง การปฏิบัติมาล้มลุกคลุกคลาน มันผิดพลาด ผิดพลาดเพราะว่าเราไม่เป็น ถ้าผิดพลาดเพราะเราไม่เป็น แล้วเรามีครูบาอาจารย์ใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครูเอกของโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้พ้นกิเลสไป เวลาไปเทศนาว่าการ ได้พระปัญจวัคคีย์ ได้ยสะ พระอรหันต์เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมา ท่านปฏิบัติของท่านมามันมีความจริงอยู่แล้ว ถ้ามีความจริงอยู่แล้ว สิ่งที่เราปฏิบัติ เราเอาความจริงของเราไง ถ้าเราเอาความจริงของเรา เราทำของเรา รักษาใจของเรา
ถ้ามันพิจารณาของมันไป ถ้ามันจิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา พิจารณาซ้ำๆ ซ้ำเพื่อประโยชน์อันนี้ ถ้าถึงประโยชน์อันนี้ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลาถึงที่สุดมันขาด คำว่า ขาด พิจารณากาย เวลาพิจารณากายจนมันขาด เวลามันปล่อยนะ มันก็ปล่อย ปล่อย เวลามันขาด มันปล่อย แล้วมันมีสังโยชน์ขาดออกไปอีก มันมีพิจารณาเวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา มันก็ปล่อย มันปล่อยก็คือมันปล่อย ปล่อยแล้วก็ต้องพิจารณาซ้ำๆ ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบมีกำลังขึ้นมา มันพิจารณาเวทนา มันจับเวทนาเล่นได้เลย
แต่ถ้าจิตมันไม่สงบนะ เวลาไปหาเวทนา เวทนาปวดอีกสองเท่าสามเท่าเลย เพราะจิตมันไม่สงบ ถ้าจิตสงบแล้ว พอจิตสงบ จิตมันมีกำลัง จิตสงบแล้ว จิตมีกำลัง จิตมันมีปัญญา มันจับต้องสิ่งใด มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ จิตกลั่นออกมาจากอริยสัจ กลั่นออกมาจากสติปัฏฐาน ๔ ถ้ามันพิจารณาเวทนา
พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม มันพิจารณาสิ่งใดก็ได้ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าจับได้ พิจารณาซ้ำๆ เวลามันขาด สังโยชน์มันขาดไป อกุปปธรรม ถ้าอกุปปธรรม อฐานะที่แปรสภาพ นี่ธรรมแท้ๆ ไง ถ้าธรรมแท้ๆ อย่างนี้มันอยู่ในใจแล้ว ดูสิ เวลาเราจะปฏิบัติต่อเนื่องไป เราทำความสงบของใจให้มากขึ้นแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา เวลาเดินวิปัสสนา นี่สกิทาคามิมรรค ถ้าพิจารณาขึ้นไป เวลามันเสื่อม ถ้ามันเสื่อมลงมา มันมีอกุปปธรรม มีสถานะของโสดาบันรับไว้ มันไม่เสื่อมมาเป็นโลกไง
ถ้าเวลาเราเสื่อม เวลาเราพิจารณาไป เวลาจิตมันเสื่อม เสื่อมมา มันเสื่อมออกมาเป็นปุถุชนนะ ถ้าปุถุชนมันก็เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แต่ถ้าพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันขาด มันมีอกุปปธรรมรองรับ ไม่ไปแล้ว นรกนี้ไม่ไปอยู่แล้ว ไปไม่ได้อยู่แล้ว มันไปไม่ได้เพราะเหตุใด มันไปไม่ได้ พระโสดาบันจะมีสติ ไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำในศีล
ถ้าไม่ลูบคลำในศีล ดูนางวิสาขา นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน เวลาหลานนางวิสาขาตาย นางวิสาขาร้องไห้ ร้องไห้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถาม วิสาขา เธอเป็นอะไร
หลานเสียชีวิตไป
แล้วถ้าโลกนี้ ผู้หญิงทั้งหมดเป็นหลานของเธอ เธอต้องไม่ร้องไห้ทุกวันหรือ
ได้สติเลย เห็นไหม คำว่า สติ นี่พระโสดาบัน พระโสดาบันจะสุขจะทุกข์ขนาดไหนนะ ถ้าใครสะกิดปั๊บ สติมาทันที สติมาทันที ฉะนั้น เวลาคนมันจะตาย เวลามันทุกข์ สติมันไหว มันเข้ามาอยู่สถานะตรงนี้ มันถึงไม่ไปนรกแน่นอน ตกลงอบายไม่มี พระโสดาบันปิดอบายภูมิ ถ้าถึงเวลาสติสมบูรณ์ สมบูรณ์ในสถานะของพระโสดาบัน นี่ไง อันนี้มันถึงไม่เน่าไง
สุขจนเน่าเพราะไปติดสุขอยู่อย่างนี้ มันเน่ามันเสียอยู่นั่น ไม่มีอำนาจวาสนาขึ้นมา แต่ถ้ามีอำนาจวาสนาขึ้นมา วิมุตติสุขไม่เน่า วิมุตติสุข สุขสมบูรณ์ดีแท้ แต่ถ้ายังเวียนว่ายตายเกิด ปฏิบัติถ้ายังไม่ได้หลัก ความเน่านะ ผลไม้มันเน่าเสีย มันเน่าเสียจากผลไม้นั้น แต่จิตของเราเวลาเน่านะ เน่าคือเน่าจากมรรคจากผลไง แต่ใจจริงๆ ปฏิสนธิจิตมันก็อยู่ของมัน จิตนี้ไม่เคยตาย มันไม่เสียไม่หาย มันไม่ย่อย ไม่บุบสลาย แต่มันสร้างเวรสร้างกรรม มันมีเวรมีกรรมของมันมา เวลาเน่ามันหมดโอกาสจากการเข้าสู่อกุปปธรรม
ถ้าเราเข้าสู่อกุปปธรรม มันจะเข้าอย่างไร การยกเข้าสู่อกุปปธรรม เรายกใจของเราขึ้น แล้วเราใช้สติปัญญาของเรา สติปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญานี้เกิดจากการภาวนา เวลามันเกิดขึ้นมา เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน เราอยากหวังครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง มีสิ่งใดก็จะซักถามครูบาอาจารย์ให้ครูบาอาจารย์คอยชี้ทางเรา แต่เวลาเราปฏิบัติของเราขึ้นจริง เวลาปัญญามันเกิด นี่มัคโค ทางอันเอก ทางของเรา ปัญญาของเราเกิด ถ้าปัญญาของเราเกิด เรารู้เราเห็นสิ่งใด ครูบาอาจารย์เทศนาว่าการมามันรู้หมด มันรู้หมดเพราะอะไร ถ้าเป็นความจริงมันอันเดียวกัน ถ้ายังไม่เป็นความจริง เราว่าเป็นเหมือนกัน
ธรรมดาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าไม่เป็นความจริง มันจะอ้างคำว่า เหมือนกันๆ
ทำไมต้องเหมือนๆ เหมือน ดูสิ สินค้าที่มีชิ้นเดียวในโลกมันจะมีค่า สินค้ามีสองชิ้นสามชิ้นขึ้นมา ค่ามันน้อยลงแล้ว อันนี้ก็เหมือนกัน โสดาบันก็เป็นโสดาบันของใจของบุคคลคนนั้น มีอันเดียวในโลก แล้วมันไม่เหมือนใครหรอก เราต้องการความจริงของเรา เราต้องการวิมุตติสุข เราต้องการความสุขจริงๆ เราไม่ใช่สุขแบบโลกๆ สุขจนมันเน่ามันเสียหายไป เราไม่ต้องไปคาดหมายว่าจะเหมือนใครเลย พยายามปฏิบัติของเรา พยายามพิจารณาของเรา พยายามใช้ปัญญาของเรา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมามันก็เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรานะ
จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ พระอรหันต์ทุกองค์ จิตนี้ต้องกลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้ต้องกลั่นออกมา จิตนี้ต้องมีวิปัสสนา จิตนี้ต้องมีการกระทำมาผ่านออกมาจากอริยสัจ แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านผ่านออกจากอริยสัจไป เราก็ผ่านของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราผ่านของเราตามความเป็นจริงขึ้นไป มันต้องไม่เหมือนใคร ไม่ต้องไปเหมือนใคร พูดความจริงของเรา พูดความจริงออกมา ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมาแล้ว กลั่นออกมาเหมือนกัน แต่กลั่นออกมาจากวิธีการที่แตกต่างกัน กลั่นออกมาจากวิธีการที่แตกต่างกัน เพราะอำนาจวาสนาของคนมันไม่เหมือนกัน จิตแต่ละดวงมันไม่เหมือนกัน ทีนี้เอาความจริงของเราๆ ความจริงอันนี้สำคัญ ฉะนั้น ให้ขยันให้หมั่นเพียร ทำของเราขึ้นมา อย่าปล่อยให้มันเน่าเสีย
ผลไม้เวลามันเน่ามันเสียไป มันก็แค่ผลไม้เน่าเสียไปเท่านั้นน่ะ จิตของเราๆ จิตของเรานะ ดูสิ หน้าชื่นอกตรม เราดูแลกัน ทักทายกัน เวลาใครทุกข์ใครร้อน เราก็พยายามให้กำลังใจต่อกัน เราช่วยกันได้แค่นี้ เราช่วยกันได้แค่นี้ ถ้าหัวใจของเราล่ะ หัวใจของเราต้องอยู่กับเราตลอดไปนะ
เวลาคนที่ตายๆ เวลาเกิดมาพ่อแม่ตั้งชื่อให้ เวลาตายไปแล้วใครตั้งชื่อให้น่ะ ตายไปเกิดอยู่ภพชาติใด ใครตั้งชื่อให้ กรรมทั้งนั้นน่ะ กรรมมันพาไป กรรมที่ทำพาไป แต่ในปัจจุบันนี้เราทำกรรมดี เราจะสร้างกรรมดี
จะทำบุญร้อยหนพันหนไม่เท่าถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับการทำสมาธิได้หนหนึ่ง การทำสมาธิได้ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นหนหนึ่ง ภาวนามยปัญญาสามารถทำให้หัวใจของเราเป็นอริยบุคคลได้ ทำให้ใจของเรามั่นคงได้ แล้วพอใจเรามั่นคงได้ ใจของเรามั่นคงได้ มั่นคงด้วยมรรคด้วยผลของเรา มั่นคงด้วยการกระทำของเรา
การกระทำของเรา การกระทำในหัวใจนะ การกระทำ เวลาภาวนาไปนะ เวลาออกฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาที่ใช้ฝึกหัดนี้เหนื่อยมาก เหนื่อยมาก เวลาใช้ปัญญาไป แต่เวลาเข้าสมาธินะ เวลาพุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันสงบเข้ามา มีความสุขมาก มีความสุข เดี๋ยวมันก็คลายออกมา
แต่เวลาไปทำงาน ไปทำงานต้องลงทุนลงแรงแล้ว ไปทำงานนะ หนึ่ง ต้องยกขึ้นสู่กาย จับเวทนา ยกขึ้นสู่จิต ยกขึ้นสู่ธรรมารมณ์ แล้ววิปัสสนามัน เหนื่อย เหนื่อยมากๆ เวลาใช้ปัญญาไป รู้สึกเหนื่อยอ่อนมาก แต่ก็จะทำ แต่ก็จะทำ แล้วเวลามันปล่อย มีความสุขมาก ความสุขเวลาพิจารณาแล้วมันวาง มีความสุขมาก มีความสุขเพราะอะไร มีความสุขเพราะว่ามันได้ละได้วาง
การละวาง ดูสิ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราพุทโธๆ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันละวาง ละวางจากขันธ์ ละวางอารมณ์ชั่วคราว แต่เราจิตสงบแล้วเรายกขึ้นสู่กาย สู่เวทนา สู่จิต สู่ธรรม เวลาพิจารณาไป พิจารณาอะไร กาย จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นความรู้สึกนึกคิด จิตเห็นกาย จิตเห็นต่างๆ การเห็นมันมีระหว่าง จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม เวลามันสำรอกมันคาย เวลามันคาย วิปัสสนา มันคายอะไรน่ะ? ความยึดมั่นถือมั่น ทิฏฐิมานะ มันคาย มันรู้ของมัน
เวลาความสุข ความสุขจากสมถะ ความสุขจากพุทโธๆๆ พุทโธเวลาสงบเข้ามา สงบด้วยคำบริกรรม สงบด้วยสติ สงบเข้ามาเฉยๆ ก็มีความสุข สุขมากๆ เลย แต่เวลาพิจารณาไป เวลาพิจารณาไป เวลามันปล่อย มันสุข ตัวมันเบา มันสุขแบบปัญญาชนน่ะ มันสุขแบบมีปัญญา มันสุขแบบเราบริหารจัดการน่ะ มันสุขแบบเราทำงานเสร็จแล้ว แล้วทำงานเสร็จแล้ว พุทโธๆ จิตสงบไปแล้ว สงบเข้าไป เรามีกำลัง แต่จะไปไหนก็ยังไม่รู้ แต่ดี ดีมากๆ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ดีมากๆ มหัศจรรย์มาก แต่เวลาฝึกหัดใช้ปัญญาไปแล้ว มันดีด้วย มันมีปัญญาด้วย อ๋อ! ภาวนามยปัญญามันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ ภาวนามยปัญญา
แต่เมื่อมันยังไม่สมดุล จิตมันไม่สมดุล ไม่มรรคสามัคคี เราจะไม่รู้จักว่ามรรคสามัคคี สมุจเฉทปหานมันเป็นแบบใด แต่ถ้าเราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เราซ้ำแล้วซ้ำเล่าของเรา พิจารณามีประสบการณ์ของเรา พิจารณาอะไร พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี่มรรค ทางเดินมันสมดุลของมัน ถ้ามันสมดุลมันก็ปล่อย สมดุลมันก็ปล่อย เวลามรรคสามัคคี มรรคสามัคคี มรรคมันรวมตัวแล้วมันสมุจเฉทปหาน มันขาด อันนี้จบเลย เวลามันมีความสุข ความสุขนี้เกิดจากความเพียร มนุษย์จะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ¬ของจิต
จิตในเมื่อมันสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันทำงานของมัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับปัญจวัคคีย์ ถ้าไม่มีกิจจญาณ ไม่มีสัจจญาณ ไม่มีวงรอบ ๑๒ เราไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเรามีกิจจญาณ สัจจญาณ มีวงรอบ ๑๒ เราถึงปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เธอจงเงี่ยหูลงฟัง เห็นไหม มันมีมรรคไง มันมีมรรคมีการกระทำไง
แล้วมีการกระทำ เราทำตามความเป็นจริงของเรา ไม่ต้องไปห่วงว่าจะเหมือนใคร ทำความจริงของเราให้เป็นความจริงของเรา เพราะความจริงของเรามันไม่เสียหายไง
นี่จะบอกว่าเวลาปฏิบัติไปแล้วมันมีเจริญแล้วเสื่อม เวลาเราปฏิบัติใช่ไหม ปฏิบัติไม่ได้ก็ล้มลุกคลุกคลาน ในเมื่อปฏิบัติ งานทางโลก เราพยายามศึกษาทำหน้าที่การงานกัน เรายังมีความผิดพลาด ขับรถไปบนถนนมันยังหลงทาง แล้วเวลาปฏิบัติไป ทางอันเอกๆ มันเป็นนามธรรม แล้วจะเริ่มต้นตรงไหน จะเริ่มต้นตรงไหน จะไปอย่างไร แล้วจะจบสิ้นอย่างไร
ถ้าเริ่มต้น เริ่มต้นอยู่กลางหัวอก เริ่มต้นอยู่ฐีติจิต เริ่มต้นจากสัมมาสมาธิ จากตัวตนของเรา ถ้ามันเริ่มต้นจากตัวตนของเรา มันเจอสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ปฏิสนธิจิตที่เวียนว่ายตายเกิดนี้เริ่มต้นจากตัวที่มันเวียนว่ายตายเกิดมันสงบเข้ามาเป็นตัวตนของมัน นี่สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน แล้วจิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา ให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง
ก็เห็นแล้ว ก็ทำมาหมดแล้ว
ไอ้นั่นมันภาพลวงตาทั้งนั้น เพราะจิตมันยังไม่สงบดี จิตเห็นอาการของจิต พอเห็นอาการของจิต มันสะเทือนกิเลสแล้ว มันสะเทือน มันจะเห็นกิเลสแล้ว
เวลาเราบอกเราปฏิบัติธรรมๆ เราต้องการมีคุณธรรม เราต้องการเป็นอริยบุคคล แต่เราไม่รู้จักว่ากิเลสเป็นอย่างไร นี่เราไม่รู้จักว่ากิเลสเป็นอย่างไร แล้วใครเป็นกิเลส แล้วกิเลสตัวมันเป็นอย่างไร แล้วเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเห็นกิเลสไหม เห็นกิเลสไหม มันพิจารณาไป มันปล่อย มันจะรู้เลยว่าเห็นกิเลสไหม
เวลามันสำรอกมันคายออก สังโยชน์ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ-ปฏิฆะอ่อนไป กามราคะ-ปฏิฆะขาดไป รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชามันขาดไปจากใจ สังโยชน์ ๑๐ ขาดหมด สังโยชน์ ๑๐ สำรอกคายออกไปหมด แล้วมันมีอะไรไปร้อยรัดมัน มันมีอะไรไปจัดการกับมัน มันมีอะไร ถ้ามันรู้มันเห็น มันเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ นี่ไง กิจจญาณ สัจจญาณ ถ้ามันมีกิจจญาณ สัจจญาณอย่างนี้ มันจะเข้าสู่วิมุตติสุข เข้าสู่อกุปปธรรม ไม่ใช่สุขจนเน่า
เราไปห่วงกัน อยากสุข อยากมีคุณธรรม แล้วการปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน มันจะเน่ามันจะเสียมันจะหายของมันนะ แต่ถ้าเราทำไป เราปฏิบัติไปตามสู่อำนาจวาสนา ตามสู่จิตของเราที่มันจะเข้าสู่สัจจะ เข้าสู่สัจจะคือปฏิบัติ เรารู้ คนปฏิบัติมันรู้ ปฏิบัติแล้วมันได้มรรคได้ผล ปฏิบัติแล้วมันมีผลตอบแทนไง
เราปฏิบัติไป ทำการค้าแล้วขาดทุนทุกเที่ยว แล้วเราจะมีทุนต่อไปเท่าไรล่ะ แต่เราทำสมาธิ สมาธิมันเสื่อมบ้างเจริญบ้าง แต่ทำแล้วจนกว่ามันจะชำนาญในวสี มันก็มั่นคงขึ้นมา ยกขึ้นสู่วิปัสสนา พิจารณาแล้วมันปล่อยวางขนาดไหน มันปล่อย มันปล่อยขนาดไหน มันไม่มีผลตอบรับ มันไม่มีขณะจิต มันไม่ถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ เราจะต้องปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเราทำกิจการของเราขึ้นมาจนมันกำลังจะได้ผลตอบแทนอยู่แล้ว แล้วถ้าเราเบื่อหน่าย หรือเราทำแล้วผิดพลาด เราจะไม่ได้ผลตอบแทนสิ่งใดกลับไปสู่ปุถุชนเหมือนเดิม ได้แต่ประสบการณ์ปฏิบัติเท่านั้น
เราทำจริงทำจังของเรา แล้วเราทำของเรา ยกขึ้นสู่วิปัสสนา แล้วใช้ปัญญาแยกแยะของมันไป ถึงที่สุดถ้ามันขาด พอมันขาดปั๊บ มันเป็นอกุปปธรรมปั๊บ เราจะมีการเปรียบเทียบไง ถ้าเรามีการเปรียบเทียบขึ้นมา เราปฏิบัติเอง เราปฏิบัติเอง เราก็เห็นความผิดพลาดเอง เราก็เห็นความถูกต้องเอง ถ้าทั้งความผิดพลาด ทั้งความถูกต้อง เราก็รู้เห็นไง นี่ปฏิบัติอย่างนี้ปฏิบัติโดยกิเลส ปฏิบัติโดยสมุทัย ปฏิบัติโดยความเห็นผิด
พอมันเข้าสู่ธรรม ปฏิบัตินี้เป็นธรรม เราจะเห็นเลยว่าถ้าเป็นธรรม สัจธรรมมันเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นกิเลสมันเป็นแบบนี้ ระหว่างถูกกับผิด สุขกับทุกข์ เวลาถึงความจริงแล้ว ข้ามพ้นทั้งสุข ข้ามพ้นทั้งทุกข์ ทุกข์ก็ไม่เอา สุขก็ไม่เอา ไม่เอาแล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ
ก็มันเป็นวิมุตติไง เป็นความเหนือโลกไง เป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ไง เป็นสิ่งที่พูดออกมาเป็นสมมุตินี้ไม่ได้เลย แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ
มันเป็นแบบว่าผู้ที่รู้จริงเห็นจริงเขารู้เหมือนกัน เห็นเหมือนกัน แล้วเขาสื่อกันได้ ถึงปิดบังกันไม่ได้
บอกว่ารู้แล้วสอนไม่ได้ รู้แล้วพูดไม่ได้ ไม่มี รู้แล้วพูดได้ รู้แล้วสอนได้ เพียงแต่ว่ามันสมควรไหม พูดแล้วมันเป็นประโยชน์ ถ้ามันพูดไปแล้วให้เขาเหยียดหยามให้เขาดูถูก ผู้พูดไม่มีผลสะเทือนหรอก แต่เราไปให้เขาได้โทษทำไม พูดไปให้เขาเป็นโทษของเขาเอง มันเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์ที่เขามืดบอดแล้วเขาหลงว่าเขามีปัญญา เขาได้ยินได้ฟังแล้ว เขาได้เวรได้กรรม มันถึงว่าพูดแล้วได้ประโยชน์ไหม พูดแล้วมันไม่ไปกระทบกระเทือนใคร พูดแล้วไม่ให้ใครเสียหาย นั้นถึงควรพูด เอวัง