เทศน์บนศาลา

กิเลสสุมควัน

๑๗ ก.พ. ๒๕๕๘

 

กิเลสสุมควัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะ ธรรมะคือสัจธรรม สัจธรรมนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้นขึ้นมา สิ่งที่รื้อค้นขึ้นมานะ เพราะคนที่มีอำนาจวาสนาบารมี คนที่ไม่มีอำนาจวาสนาบารมี เขาไม่นับถือพระพุทธศาสนา เขาถือทางโลก เขาไม่เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด นี่พูดถึงคนที่ไม่มีวาสนา

คนที่มีวาสนานะ ถ้าคนสร้างอำนาจวาสนามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปรื้อค้นขึ้นมา เพราะสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ คำว่า “เป็นพระโพธิสัตว์” ต้องสร้างบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย จึงมีอำนาจวาสนาบารมี ถึงจะรื้อค้นสิ่งที่เป็นสัจธรรมนี้ขึ้นมา สัจธรรมนี้ เราเกิดมาในปัจจุบันนี้โลกเจริญ เราบอกธรรมะเป็นธรรมชาติๆ สัจธรรม วิทยาศาสตร์ทุกอย่างเราพิสูจน์แล้วเป็นธรรมชาติ แต่สิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังวิเคราะห์วิจัย ยังค้นคว้ากันอยู่ ยังมีสิ่งที่จะเป็นความมหัศจรรย์อีกมากมหาศาล สิ่งนั้น พอเรามีปัญญา พอเราเข้าใจได้ เรามีปัญญา เรารู้ได้ สิ่งนั้นก็สิ้นความสงสัยไป สิ่งที่สิ้นความสงสัยไป ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็ยังแปรสภาพของมันอยู่อย่างนั้น ธรรมชาติ สิ่งที่จะรอเรารื้อค้นอยู่

สัจธรรมๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรมนะ ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด แล้วสิ่งที่เวียนว่ายตายเกิดนี้มันมาจากไหน สิ่งที่มาจากไหน เพราะเวียนว่ายตายเกิด การเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นผลของวัฏฏะ สิ่งที่วัฏฏะ สิ่งนี้มันมีอยู่โดยดั้งเดิม ๓ โลกธาตุนี้มีของมันอยู่อย่างนี้ นรกสวรรค์ ในเรื่องนรกสวรรค์ ภพชาติของมนุษย์ มันมีของมันอยู่อย่างนั้น มันมีของมันอยู่แล้ว มันมีของมันโดยสัจจะความจริงอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงอาศัยสิ่งนี้ ผลของวัฏฏะ เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะนี้ สร้างสมบุญญาธิการมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การสร้างสมบุญญาธิการมา เพราะมีอำนาจวาสนาอย่างนี้ถึงได้รื้อค้นสัจธรรมสิ่งนี้ขึ้นมา พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีอำนาจวาสนา ก็ได้สร้างสมบุญญาธิการขึ้นมา ถึงเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ การตรัสรู้เองโดยชอบต้องมีอำนาจวาสนา

เราสาวกสาวกะ ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ขณะที่ได้ยินได้ฟัง สัจธรรมๆ ที่เรามีศรัทธาความเชื่ออยู่นี่ เราก็มีความเชื่อของเรา เพราะเราได้สร้างอำนาจวาสนามา มันถึงมีศรัทธามีความเชื่อ ถ้าไม่สร้างอำนาจวาสนามา กิเลสมันยุแหย่ กิเลส ความเห็นแก่ตัว สิ่งต่างๆ ที่มันสะสมในหัวใจนี้ มันถือตัวถือตนว่ามันมีปัญญา มันมีความสามารถ มันไม่เชื่อสิ่งนี้ๆ มันจะเชื่อตัวเองไง เชื่อกิเลสไง ให้กิเลสมันครอบงำไง นั้นคนที่ไม่มีอำนาจวาสนา เขาเกิดมาทุกข์จนเข็ญใจ เขาเกิดมามีความทุกข์ความยากขนาดไหนก็เผาลนใจเขาไป ความเผาลนใจนะ เวลาหน้าชื่นอกตรมไง เวลาต่อหน้าก็ว่ามีความสะดวกมีความสบาย ต่อหน้าไง แต่หัวอกตรม

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา บอกเลย ทุกข์นี้เป็นสัจจะ ทุกข์นี้เป็นความจริง ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ ทุกดวงใจ คนที่เวียนว่ายตายเกิดมีทุกข์เผาลนในดวงใจแน่นอน เขาจะหน้าชื่นอกตรมว่ามีความสุขๆ นี่ความทุกข์เผาอยู่ในหัวใจของเขา จะปฏิเสธขนาดไหน พยายามระลึกถึงความสุขของเราเพื่อจะกลบเกลื่อนความเป็นทุกข์ในหัวใจนั้นก็กลบเกลื่อนได้ชั่วคราวเท่านั้นน่ะ มันเป็นจริง ความเป็นจริงอันนั้น สัจธรรมนี้เป็นความจริง สัจธรรมนี้อยู่ในหัวใจของสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิด เห็นไหม ปฏิสนธิจิต เพราะปฏิสนธิจิตเวียนว่ายตายเกิดนี้ถึงได้เป็นผลของวัฏฏะไง

วัฏฏะเป็นสถานะ เป็นที่รองรับจิตที่จิตเวียนว่ายตายเกิด สิ่งที่เวียนว่ายตายเกิด เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสั่งสอนไว้ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ วางธรรมวินัยนี้ไว้ก็ให้เรามนุษย์ได้ศึกษาไง ถ้ามีศรัทธามีความเชื่อ เราศึกษาเราค้นคว้า ค้นคว้าด้วยสมอง ค้นคว้าด้วยการศึกษา ค้นคว้าด้วยตำรับตำรา สิ่งนี้ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปทรมานเอง ดูสิ ไปเอาพระองคุลิมาล ไปเอายสะ ไปเอาต่างๆ สิ่งที่ไปเอาๆ นี่รื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่ในปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ เราศึกษาด้วยสติปัญญาของเรา ถ้าเราศึกษามาขนาดไหน เราศึกษามาแล้ว เราศึกษามาทำไม

เวลาทางโลกเขา เขาศึกษามา ศึกษาด้วยวิชาชีพของเขา เขาเอามาเป็นวิชาชีพ เขาเอามาประกอบอาชีพของเขา นี้เราศึกษาธรรมะมาๆ ธรรมะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาธรรมะมา ปริยัติศึกษาแล้วให้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติเพื่อสิ่งใด ประพฤติปฏิบัติให้เกิดความปฏิเวธ เกิดความรู้แจ้งไง

แต่พอเราศึกษาขึ้นมา เราก็ว่าเรามีความรู้ๆ ทางโลกเขามีความรู้ของเขา เขาศึกษามาเป็นวิชาชีพของเขา แล้วความรู้ของเรา ความรู้ของเราที่เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามาทำไม ศึกษามาเพื่อเป็นสมบัติของเราสิ ศึกษามา เวลากิเลสมันตู่ มันตู่ว่ามันรู้ มันตู่ว่ามันมีความเข้าใจ ถ้ากิเลสมันตู่ ศึกษามา ศึกษามาแล้วมันไม่ประพฤติปฏิบัติ มันก็ไม่เป็นความจริงของเรา

ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ประพฤติปฏิบัติทางไหน ประพฤติปฏิบัติอย่างใด ถ้าประพฤติปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้ง ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ประพฤติปฏิบัติ สอนให้ประพฤติปฏิบัติเพราะเหตุใด เพราะว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาตรัสรู้ธรรมนะ เพราะสร้างสมบุญญาธิการมามาก ถ้าอยู่ทางโลก เวลาพราหมณ์พยากรณ์ ถ้าอยู่ทางโลกจะได้เป็นจักรพรรดิ จักรพรรดิก็คือการรวบรวมแว่นแคว้นขึ้นมา ปกครองชมพูทวีป แต่ทางโลก ทุกคนก็อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะว่าความรู้ของโลก เป็นจักรพรรดิ เป็นผู้รวบรวมแว่นแคว้นขึ้นมา มันต้องมีอำนาจวาสนา มีอำนาจวาสนาต่างๆ แต่ถ้าทางธรรมล่ะ เวลาทางธรรม ถ้าได้ออกประพฤติปฏิบัติจะได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาจะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ คำว่า “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” มันเป็นการยืนยันไง มันเป็นการยืนยันว่าจิตดวงนี้มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ตั้งแต่พระเวสสันดรออกไปมันเวียนว่ายตายเกิด แล้วจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ก็เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็มีปฏิสนธิจิตเหมือนกัน คำว่า “ปฏิสนธิจิต” จิตของเราก็เวียนว่ายตายเกิดแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละ

ถ้าเวียนว่ายตายเกิด การเวียนว่ายตายเกิด บุพเพนิวาสานุสติญาณ มันย้อนอดีตชาติไปไม่มีที่สิ้นสุด แล้วด้วยความที่มีสติปัญญา ดึงจิตนี้กลับมา พอดึงจิตนี้กลับมา เวลาทำความสงบของใจให้มากขึ้น จุตูปปาตญาณ ถ้ามันไม่สิ้นกิเลสมันต้องไปแน่นอนของมัน นี่มันเป็นการยืนยันไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สิ่งนี้เป็นการยืนยัน ยืนยันในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยืนยันในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยืนยันในใจ ยืนยันในใจ

แล้วเวลาจะเป็นความจริงขึ้นมา เวลาทำความสงบของใจเข้ามา เวลาอาสวักขยญาณ ทำลายอวิชชา เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา ถ้าเราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา เวลาไปเทศน์ธัมมจักฯ กับปัญจวัคคีย์ ถ้าไม่มีกิจจญาณ สัจจญาณ ถ้าไม่มีกิจจญาณ ไม่มีการกระทำ เวลาบอกสุภัททะ “ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา อาสวักขยญาณ มันต้องมีกิจจญาณ สัจจญาณ มันมีการกระทำของใจนั้นขึ้นมา มันถึงได้ชำระล้างกิเลสขึ้นไป มันถึงสำรอกมันถึงคายออกไป มันคายออกไป นี่ชำระอวิชชาพญามาร ชำระล้างมัน ถ้าชำระล้างมันถึงเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา ถึงได้แสดงธัมมจักฯ ไง เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค ทำทรมานตน ๖ ปี ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ที่มีความเข้มข้น เข้มงวด เข้มแข็งขนาดไหน ไปปฏิบัติมาทั้งนั้น แล้วมันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะอำนาจวาสนามันไปไม่ได้ เพราะอำนาจวาสนาสร้างมา อำนาจวาสนาสร้างมา มันมีสติมีปัญญาไง มันไม่หลงงมงายไปกับสิ่งใดไง ได้พิสูจน์ตรวจสอบแล้ว ถ้ามันไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ แต่ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนา เราประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เราก็จะยึดมั่นของเรา

สีของใคร ใครอยู่ในสีไหนก็ว่าสีของตัวนั้นดี ใครปฏิบัติทางใดมาก็ว่าทางของตัวดี แต่ความจริงล่ะ ความจริงมันต้องสำรอกคายกิเลสออกไปสิ ความจริงมันต้องมีสิ่งใดที่เป็นกิจจญาณ สัจจญาณ มันมีการกระทำ มันมีสำรอกมันมีคายออก มันต้องเป็นความจริงขึ้นมามันถึงจะเป็นความจริง ถ้าไม่มีความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอำนาจวาสนาอย่างนี้ถึงได้ละทิ้งมาทั้งหมด เวลามาตรัสรู้ก็มาตรัสรู้ด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ถึงได้เข้าใจเรื่องวัฏฏะ อนาคตังสญาณจะเข้าใจ จะมองเข้าใจทั้งหมด แต่มันก็เป็นอำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

ทีนี้อำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ วางธรรมและวินัยนี้ไว้ เพราะเรามาศึกษาไง ถ้าเรามาศึกษา ศึกษาในทางโลก เกิดมาในทางโลก ในทางโลก เวลาโลกเจริญ มันมีความร่มเย็นเป็นสุข มันมีความสุขสงบ ปัจจัยเครื่องอาศัยสมบูรณ์บริบูรณ์ มันก็ถึงคราวความสงบ แต่เวลามันขาดแคลนล่ะ เวลาเกิดภัยพิบัติขึ้นมาล่ะ เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมาล่ะ สิ่งนั้นมันเป็นอนิจจังไง โลกมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เราก็เกิดมากับโลก เวลาเกิดมากับโลก ดูสภาวะแวดล้อมสิ เวลาเช้าขึ้นมา ถ้าจะเข้าหน้าหนาวมันจะเกิดหมอกเกิดควัน เกิดหมอกเกิดควัน เรามองเห็นอะไร เราจะมองเห็นอะไรไหม มันมองได้แต่ระยะสั้นๆ ถ้ามันระยะสั้นๆ เขาต้องรอให้พระอาทิตย์ขึ้น รอให้มีความร้อน หมอกควันนั้นก็จะจางไป เราจะเห็นอะไรชัดเจนขึ้นมา สิ่งที่เราเห็นชัดเจน นี่พูดถึงว่าสภาวะแวดล้อม

ผลของการเกิดในวัฏฏะนะ ถ้าเกิดในวัฏฏะ สภาวะแวดล้อมที่ดีจะทำให้สังคมนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าสภาวะแวดล้อมนั้นเสียหาย ทำให้ชีวิต ดูสิ เวลาเกิดอากาศเป็นพิษ ถ้าสิ่งนั้นเกิดอากาศเป็นพิษ เขาต้องมีหน้ากาก สวมหน้ากากเพื่อป้องกันอากาศที่เป็นพิษ เพราะต้องหายใจ แต่ถ้าอากาศที่มันบริสุทธิ์ล่ะ อากาศที่มันมีออกซิเจนที่ดี โอโซนที่ดี เราก็อยากอยู่สภาวะแวดล้อมแบบนั้น นี่พูดถึงผลสภาวะแวดล้อมการเกิดในวัฏฏะ สิ่งนี้เวียนว่ายตายเกิด ผลของวัฏฏะ นี้พูดถึงคนมีสติมีปัญญาเขายังเข้าใจได้ เขายังหลีกเร้นได้เพื่อประโยชน์กับชีวิตของเขา

แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ล่ะ เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนานะ เรามีอำนาจวาสนาหรือไม่ ถ้ามีอำนาจวาสนา ดูสิ เวลาในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ถ้าในครอบครัวนั้นถ้ามีบุญกุศล จะสื่อสารกัน จะคุยกันด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส จะมีความเข้าใจกัน จะมีความอบอุ่นในครอบครัวนั้น ถ้าครอบครัวนั้นมีความคิดแตกแยก มีความคิดแตกต่างกันไป มันจะมีความขัดแย้งกัน ถ้ามีความขัดแย้ง ครอบครัวมีความกระทบกระเทือนไหม? มันมีแน่นอน ถ้ามันมีแน่นอนขึ้นมา สิ่งที่กระทบกระเทือนนั้นน่ะ สิ่งนั้นมันมาจากไหนล่ะ? สิ่งนั้นเกิดจากทิฏฐิมานะของแต่ละบุคคลที่มีมุมมองแตกต่างกัน ถ้ามุมมองแตกต่างกันอย่างนี้มันเกิดมาจากไหน? ก็เกิดมาจากนิสัยของเขา เกิดมาจากเขาสร้างของเขามา เขาถึงมีมุมมองอย่างนั้น

แต่ถ้าเรามาศึกษาพระพุทธศาสนาล่ะ สิ่งที่ทุกคนมีมุมมองแตกต่างกัน เวลามาศึกษาพระพุทธศาสนา ศึกษาพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นของใคร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับลูกศิษย์ว่า เวลาแสดงยมกปาฏิหาริย์ เราเป็นเจ้าของสวนมะม่วง ทำไมเราจะเก็บผลมะม่วงในสวนนั้นเพื่อมาฉันไม่ได้ แต่เราห้ามไม่ให้คนอื่นเก็บมะม่วงนั้นไปฉัน เพราะเราเป็นเจ้าของมะม่วง เราเป็นเจ้าของสวนมะม่วง

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา เจ้าของศาสนาวางธรรมและวินัยไว้รื้อสัตว์ขนสัตว์ไง ถ้าเราไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ไปศึกษาในสวนมะม่วงนั้น ถ้าไปศึกษา สวนมะม่วงนั้นเป็นของใคร? สวนมะม่วงนั้นเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นของเรา

ถ้าไม่เป็นของเรา เราไปศึกษามาๆ ดูสิ ในเมื่อเรามีทิฏฐิมานะ มีคนมีความคิดความเห็นแตกต่างกันไป พอศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อริยสัจสัจจะความจริงมันมากลั่นกรองไง กลั่นกรองชีวิตของเรา ชีวิตที่มันทุกข์มันยาก ชีวิตที่มันเดือดร้อน ชีวิตที่มันมีแต่ความทุกข์ ถ้ามีความทุกข์ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วมันก็เข้าใจ สิ่งที่มันเข้าใจ ที่มันเข้าใจสัจธรรม เข้าใจชีวิต คนเราเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของเรา

เวลาในวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธ วันพระวันโกนเขาไปวัด ไปวัดนะ ถ้ามีเวลา เขาจะไปวัด ไปวัดเพื่อไปฟังธรรมะ เพื่อไปศึกษาธรรม ศึกษาธรรมเพื่อให้เราเข้าใจไง เวลาศึกษาธรรม เราอยากศึกษาธรรม เราอยากตรัสรู้ธรรม เราอยากมีคุณธรรม เราอยากจะมีศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อชำระล้างกิเลสในใจของเรา เพราะอะไร เพราะเป้าหมายของพระพุทธศาสนา ที่ไหนมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันต้องมีไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาไปเที่ยวสวนๆ เพราะสร้างอำนาจวาสนาบารมีมา เวลาไปเที่ยวสวนเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันสะเทือนใจนะ เราต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ เราต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ ถ้ามันมีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันก็ต้องมีฝั่งตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ทั้งๆ ที่มันยังไม่มี ทั้งๆ ที่มันยังไม่มีธรรมโอสถ ยังไม่มีอริยสัจ ยังไม่มีสัจจะความจริง ยังไม่มีใครสามารถที่จะชำระล้างกิเลสได้ เพราะชำระล้างกิเลสไม่ได้ กิเลสมันบังเงา มันปิดหู ปิดตา มันก็ว่าชีวิตนี้มีความสุข มันก็ดั้นด้นดำรงชีวิตนี้ไป แต่สุดท้ายแล้วมันก็ต้องยอมจำนน ที่ไหนมีการเกิด ที่นั่นต้องมีการตาย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นสภาวะแบบนั้นถึงได้ออกแสวงหาสิ่งที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ออกแสวงอยู่ ๖ ปี ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาก็ว่าของเขา เขาก็ว่าเขาเป็นศาสดา เขาก็ว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เขาว่าเขาพ้นจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษาเล่าเรียนจนหมดแล้ว แต่ความลังเลสงสัยในใจ ถ้าความลังเลสงสัยในใจ เพราะความลังเลสงสัยมันก็ปิดหูปิดตา แล้วก็ต้องเกิดต่อไป เพราะมันมีความสงสัย เพราะสงสัยนั้นคืออวิชชา สงสัยนั้นคือความไม่รู้ ถ้าความไม่รู้มันปิดตาอยู่ มันก็เวียนว่ายตายเกิด สิ่งที่เรามาเวียนว่ายตายเกิดก็เพราะเกิดบนความไม่รู้ ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ศึกษาเข้าใจอยู่นี่

ทีนี้เราไปศึกษาในสวนมะม่วงนั้น สวนมะม่วงนั้นเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราศึกษาขึ้นมา มันก็มีสติมีปัญญา ถ้ามีสติมีปัญญา มันก็เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ นี่ไง ถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราเกิดมาเราก็ทำหน้าที่การงานของเรา เราก็ขวนขวายเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของเรา เราก็ขวนขวายเพื่อดำรงชีวิตนี้ ชีวิตนี้มีปัจจัยเครื่องอาศัย กำเนิด ๔ อาหาร ๔ กำเนิด ๔ เกิดในโอปปาติกะ ในไข่ ในน้ำครำ เกิดในครรภ์ เกิดที่ไหน ดำรงชีวิตอย่างไร ใช้อาหารอย่างใด กินอยู่อย่างใด นี่ไง สิ่งที่กำเนิด ๔

กำเนิด ๔ จิตมันเวียนว่ายตายเกิด มันมีกำเนิดของมัน มันมีอาหารของมัน มันต้องมีอาหารของมันเพื่อดำรงชีพ นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีหน้าที่การงานของเราเพื่อดำรงชีพ ดำรงชีพไว้ทำไม ดำรงชีพไว้ มันก็ต้องตายข้างหน้า ถ้ามันจะตายอยู่ข้างหน้า เรายอมจำนนใช่ไหม ถ้ายอมจำนน เราทำคุณงามความดีมันก็เหมือนโลก เขายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เขาได้ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาก็ซาบซึ้งของเขา แล้วใครทำบุญกุศล เราเป็นชาวพุทธ เราทำบุญกุศล เราอยากร่ำอยากรวย อยากมียศถาบรรดาศักดิ์ เราอยาก นี่โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันมีของมันโดยประจำโลกอยู่แล้ว แล้วเรามีอำนาจวาสนาเท่านี้เองหรือ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันจะมีสิ่งใดคงที่ มีสิ่งใดที่เป็นที่พึ่งอาศัย มีสิ่งใดที่เราอบอุ่นหัวใจได้ล่ะ

เราเวียนว่ายตายเกิดนะ มีอำนาจวาสนานะ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนานะ ศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มตั้งแต่สังคม สังคม ถ้ามีทานในหัวใจ คือมีการเสียสละ มันจะไม่เห็นแก่ตัวจนเกินไป สังคมจะไม่เร่าร้อนจนเกินไปนัก ถ้ามีทาน มีศีล มีภาวนา

ถ้ามีภาวนานะ เราทำหน้าที่การงานของเรา ถ้าเราจะภาวนา ถ้าเรามีความเชื่อมั่น เราอยากจะภาวนา คนเราขนาดเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วศาสนานี้มั่นคงมาก กึ่งพุทธกาล ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง มันก็เจริญในหัวใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เพราะมันเจริญในหัวใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านเทศนาว่าการ เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์ท่าน แล้วเวลาท่านเทศน์ ท่านสั่งสอนเทวดา อินทร์ พรหม แล้วสอนมนุษย์ สั่งสอนพระ สั่งสอนพระ ท่านพยายามสร้างศาสนทายาทขึ้นมา สร้างศาสนทายาทขึ้นมาให้สืบต่อกันไปไง ถ้าเราสร้างศาสนทายาทขึ้นมา เรามีลูกศิษย์ลูกหา

ในการศึกษาการเล่าเรียน มันศึกษาเล่าเรียนทันกันได้ เราเป็นอาจารย์ของเขา เวลาเขาศึกษาจนหมดตำรับตำราแล้วมันก็มีความรู้เท่าทันกัน ถ้ามีความรู้เท่าทันกัน แล้วอาจารย์สอนเท่านี้ เรามีความรู้เท่าทัน ถ้ามันรู้แจ้งได้ มันก็รู้ว่าอาจารย์มีคุณธรรมหรือไม่มีคุณธรรม

แต่นี้เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพยายามสอนของท่าน ท่านวางศาสนทายาทของท่านเพื่อความเจริญของศาสนา ศาสนาเจริญ เจริญในใจนะ หลวงตาท่านพูดบ่อย สิ่งที่จะสัมผัสศาสนาได้ สิ่งที่จะบรรจุธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือหัวใจเท่านั้น คือความรู้สึกเท่านั้น

ฉะนั้น ถ้าความรู้สึกเท่านั้น เราศึกษามาแล้ว เรามีความตั้งใจ เราอยากประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราอยากประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัตินะ เราศึกษามา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแยกแยะไว้ สุตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา สิ่งที่เป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญา ๓

สุตมยปัญญา ปัญญาคือการศึกษา ถ้าศึกษาขึ้นมาแล้ว ศึกษามาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นมา กิเลสมันจะสุมควันแล้ว เวลามีควันนะ ดูทางโลกเขา ถนนหนทางถ้ามันมีหมอกมีควัน มีหมอกหนา การจราจรนั้นจะอันตราย แม้แต่สนามบิน ถ้าหมอกลงจัด ทุกอย่างลงจัด เขายกเลิกการบินเลย เพราะมันจะเกิดอันตราย นี่พูดถึงว่าในทางโลกนะ เวลาเมฆหมอกมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาวะอากาศ แต่เรื่องกิเลสๆ กิเลส สิ่งที่ในหัวใจเรานี่ ปฏิสนธิจิต เวลาเกิดมาเป็นมนุษย์มันมีกายกับใจๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็เป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์เพราะอะไร เพราะมนุษย์มีกายกับใจ

เพราะมนุษย์มีกายกับใจ หัวใจมันทุกข์มันยาก หัวใจที่มันเร่าร้อน ถ้ามันจะมีธรรมโอสถมาเป็นเครื่องดำเนิน ถ้ามีธรรมโอสถมาเป็นเครื่องดำเนิน มันอยู่ที่ไหนๆ ถึงต้องตั้งสติ ต้องมีสติ กำหนดภาวนาพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอจิตสงบเข้ามา ศีล สมาธิ แล้วเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการใคร่ครวญ ปัญญาเกิดจากการรู้แจ้ง สิ่งนี้มันชำระล้างกิเลสขึ้นไป ปัญญามันรู้แจ้ง ชำระล้างกิเลส ถ้ามันทำกิเลสสิ้นไปแล้ว มันจะมีสิ่งใดอยู่ในธรรมธาตุ ในสิ่งที่ความสะอาดบริสุทธิ์ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ

สิ่งนี้เราศึกษามาๆ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถ้าเราอยากจะประพฤติปฏิบัติ ศึกษามาแล้วปฏิบัติอย่างไร คนที่ศึกษามาจบ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค เวลาจะปฏิบัติไปไม่ถูก ไปไม่เป็น ปัญญามากน้อยขนาดไหน สิ่งนั้นศึกษามาเป็นสุตมยปัญญา ศึกษามาเหมือนวิชาชีพของโลกเรา ศึกษามาเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัตินะ แต่เวลาศึกษามาแล้วมันกลับเป็นโทษ มันกลับเป็นโทษเพราะกิเลสมันสุมควันไง กิเลสมันสุมควันนะ เราจะไปทางไหน เราจะไปอย่างไร เราจะปฏิบัติอย่างไร เวลากำหนดพุทโธๆ เราก็เชื่อ เรามีศรัทธาความเชื่อ ผู้ที่สัทธาจริตก็กำหนดพุทโธตั้งใจได้ พอตั้งใจได้ ถ้ามันสงบลงได้ มันสงบลงได้นะ

เวลาพุทโธๆ กิเลสมันก็สุมควันแล้ว เมฆหมอก ควันไฟ มันไม่เห็นหนทางเลย ไม่รู้จะไปทางไหน มันไปไม่ได้ พอไปไม่ได้ ถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อ เรามีคำบริกรรม เพราะอะไร เพราะเราแสวงหาหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเราพุทโธๆ จนจิตมันสงบได้ เมฆหมอกมันสงบตัวลง ถ้าเมฆหมอกมันสงบตัวลง

กิเลสมันสุมควันๆ หมอกควันมันเต็มที่ มันปิดบังไปหมด แล้วถ้าหมอกควันมันทำอะไรไม่ได้ มันเกิดจินตนาการไหม เกิดจินตนาการนะ คนไปอยู่ในที่ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้มันจะคลำไปๆ นี่พุทโธๆๆ มันก็คลำของมันไป มันไม่จริงไม่จังไง ถ้ามันไม่จริงไม่จัง

ถ้ามันมีหมอกควันขนาดไหน เราก็ต้องตั้งสติของเราไว้ มันมีหมอกมีควันใช่ไหม เพราะอะไร เพราะกิเลสมันสุมควัน สุมควันมาเพื่อป้องกันตัวมันเอง กิเลสมันสุมควันมาไง แล้วเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเราก็จินตนาการ จินตนาการของเราไป เวลาศึกษามา เขาศึกษามาเป็นสุตมยปัญญา ศึกษามาเป็นทฤษฎี ศึกษามาเป็นแนวทาง แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนะ เวลาปฏิบัติให้วางไว้ ให้วางไว้สิ่งนี้ก่อน ถ้าเราจะปฏิบัติมันต้องให้เป็นความจริงขึ้นมา

ศึกษานั้นได้แต่ชื่อมา ศึกษา มีความรู้มีความเข้าใจ มันชื่อทั้งนั้นน่ะ เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนั้นมันเป็นกิริยา เวลาสิ่งที่เป็นจริง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ธัมมจักฯ “ถ้าไม่มีกิจจญาณ สัจจญาณ เราจะไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เราจะไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” นี่มันมีความจริงมันมีข้อเท็จจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

เวลาเทศน์ให้ปัญจวัคคีย์ เพราะปัญจวัคคีย์ทำสมาธิ ทำความสงบของใจมาเวลาอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยกัน เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา

เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะใช้ปัญญา ใช้ปัญญา มันเป็นปัญญาในใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ แล้วมันก็เป็นปัญญาของพระอัสสชิ เป็นปัญญาของพระมหานาม แต่ปัญญาคนมันไม่เท่ากัน ปัญญาคนไม่เสมอกัน แล้วกำลังของจิตมันก็ไม่เหมือนกัน ทำไมปัญจวัคคีย์ นักบวช ๕ คน ทำไมบรรลุธรรมขึ้นมา ทำไมมีพระอัญญาโกณฑัญญะองค์เดียวล่ะ อาจารย์ก็คนเดียวกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เทศนาว่าการเอง แล้วนักพรตทั้ง ๕ ก็เป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยกัน

นี่ไง มันมีกิจจญาณ มันมีสัจจะ มีความจริงในใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ ถ้ามันมีกิจจญาณ สัจจญาณในใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ มันเห็นตามความเป็นจริง นี่มีกิจจญาณมีการกระทำ มีมรรค มรรคมันเคลื่อนไป ถ้าเป็นความจริง สิ่งที่มันเป็นจริง มันเป็นจริงในใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ มันถึงมีดวงตาเห็นธรรมไง เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ มันก็ต้องมีสัจจะมีความจริงของเรา

เราศึกษามา ศึกษามาเป็นชื่อ เราได้ชื่อได้นามมา แต่ความจริงยังไม่มี ถ้าความจริงไม่มีเวลาปฏิบัติขึ้นมา กิเลสมันก็สุมควัน ลูบๆ คลำๆ ไปไม่ได้ ไปไม่เป็น ถ้าลูบๆ คลำๆ นะ เราก็ต้องพยายามทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ถ้าจิตใจผ่องแผ้ว พุทโธนี่ไง พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะทำให้หูตาสว่าง ถ้าหูตาสว่างขึ้นมา เราจะเห็นหนทางของเรา มัคโค ทางอันเอก ทางของใจ ใจที่มันจะไปมันต้องมีหนทางของมัน แล้วใจของใครก็ต้องเป็นทางของคนนั้น มรรคผลของใครก็ต้องเป็นมรรคผลของคนคนนั้น ใจของใครที่จะประพฤติปฏิบัติก็ต้องเป็นใจของคนคนนั้น ถ้าคนคนนั้นจะประพฤติปฏิบัติต้องมีความจริงจัง นี่มีความจริงจัง

ถ้าเป็นขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เขาก็ปฏิบัติของเขา เขารู้ง่ายของเขา ก็อำนาจวาสนาของเขา เขาสร้างของเขามา เขาทำของเขามา ถ้าเขาทำของเขามา แต่อย่างเรา เรามีความทุกข์ในใจไหม? มี เรามีความปรารถนาอยากพ้นทุกข์ไหม? มี เรามีการประพฤติปฏิบัติไหม? มี แล้วมันเป็นผลจริงของเราไหม? ไม่จริง ไม่จริงเพราะอะไร เพราะกิเลสมันสุมควันไง กิเลสมันสุมควันขึ้นมา มันลูบๆ คลำๆ มันไปไม่ได้ไง

ถ้ามันไปไม่ได้ เราก็ต้องตั้งสติของเราแล้ว เพราะมันเป็นจิตของเราไง มันเป็นอัตตสมบัติของใจดวงนี้ไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกให้ทวนกระแสกลับเข้าไป แต่โดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติจิตมันส่งออก เวลาความรู้เกิดจากจิต พอเกิดจากจิตมันก็คลายตัวออกไป มันแสวงหานอกจากจิต ถ้าแสวงหานอกจากจิต เราถึงต้องกำหนดพุทโธไง พุทโธๆ มันจะเข้าไปสู่จิต ถ้ามันจะเข้าไปสู่จิต นี่ไง มันจะไปดับหมอกควัน มันจะไปดับสิ่งที่กิเลสมันสุมควันขึ้นมา เพราะกิเลสมันจะรักษาตัวมัน มันต้องทำของมันอยู่อย่างนั้นแน่นอน

ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา จิตสงบมันมีความร่มเย็น ความร่มเย็นเกิดมาจากไหน ความร่มเย็นเกิดมาจากความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านจะสอนประจำ อาหารอยู่ในสำรับ ถ้าใครได้เปิบอาหารนั้นเข้าไป คนคนนั้นก็จะได้อิ่มปากอิ่มท้อง

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆๆ ปัญญาอบรมสมาธิ เราพยายามแสวงหาอาหารของใจ อาหารของใจ ศึกษามาขนาดไหน เป็นความจำ มันเป็นเมนูอาหาร มันไม่ใช่อาหาร มันเป็นเมนูชี้เข้ามาว่าอาหารทำอย่างไร ส่วนประกอบมันเป็นอย่างใด มันต้องมีสติ มันต้องมีสมาธิ มันต้องมีปัญญา แล้วสติ สมาธิ ปัญญา มันเป็นเมนูทั้งนั้น มันเป็นชื่อทั้งนั้น มันยังไม่เป็นความจริงขึ้นมา ถ้ายังไม่เป็นความจริงขึ้นมา กิเลสมันก็สุมควันเสีย เวลาประพฤติปฏิบัติงุ่มๆ ง่ามๆ ทำไม่ถูก เดินหน้าถอยหลัง ไปไม่ได้เลย ถ้าไปไม่ได้ กิเลสมันสุมควันนะ

ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบได้ มันสงบได้ วันนั้นมันจะจางลง มันจะเบาลง ถ้าเบาลงนะ เรามีสติมีปัญญา ถ้าเรายกขึ้นสู่สติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตสงบแล้วรำพึงไปให้เห็นกาย ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้ามันสงบแล้วเราจับเวทนาได้ แต่ถ้าจิตมันยังสงบ เวทนามันเกิดขึ้น เวทนามันจะเป็นอุปสรรค ทุกข์คือความทนอยู่ไม่ได้ เวทนามันเกิดขึ้นมา มันเกิดความทุกข์ความยากขึ้นมา แล้วถ้าจิตเศร้าหมองจิตผ่องใส จิตเศร้าหมองจิตผ่องใสมันก็เกิดความเรรวน มันก็เกิดความไม่แน่ใจ มันก็เกิด มันเป็นอุปสรรคไปทั้งนั้นเลย สิ่งที่ว่าเกิดธรรมารมณ์ๆ อารมณ์ก็เกิดขึ้นมา ก็บีบคั้นใจเราเสีย เราปฏิบัติแล้วเราจะมีอุปสรรค เราปฏิบัติแล้วเรายังไม่ได้ผล มันเป็นอุปสรรคไปหมดเลย นี่กิเลสมันสุมควัน มันพยายามทำให้เราล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น ถ้าจิตมันสงบแล้วเรารำพึงไป รำพึงไปให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้าเป็นเวทนา ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันสงบแล้วเราอยากเห็นสติปัฏฐาน ๔ เราเห็นไม่ได้ เวทนามันเกิดขึ้นมาอยู่แล้ว ถ้าจิตสงบแล้วเราจับเวทนา มันเป็นอาการที่แปลกประหลาด

แต่เดิมเวทนามันเกิดขึ้นมามันเป็นขวากหนาม พอจะนั่งสมาธิ จะทำความสงบของใจขึ้นมา เวทนามันทำให้เราทำได้น้อย เราทำแล้วมันไม่ยั่งยืน เราทำแล้วมันไม่เกิดผล มันทำแล้ว เพราะจิตมันยังไม่สงบ

ถ้าเรามีความเข้มข้น เรามีความเข้มแข็งของเรา เรามีความตั้งมั่น เราไม่ให้กิเลสมันสุมควัน เรามีศรัทธา มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เป็นครูเอกของโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถึงกษัตริย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาทิ้งราชวังมา ละล้าละลังๆ นะ ท่านทิ้งความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายของท่านมา ท่านออกมาเพื่อค้นคว้า ออกมาเพื่อแสวงหาธรรมะในใจของท่าน ท่านทุกข์ยากมาขนาดไหน

แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรามีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแนวทาง เราศึกษามาเป็นสุตมยปัญญา ศึกษามาเป็นแนวทาง ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา กิเลสมันก็สุมควัน มันก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมา ทุกข์คือความทนอยู่ไม่ได้ เวลาทำสิ่งใดขึ้นมาก็เกิดเวทนากีดขวาง ทำสิ่งใดก็เกิดความโลเล เกิดความไม่แน่ใจ

เรา เรายึดพุทโธ แล้วเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงหลวงปู่เสาร์ ระลึกถึงหลวงปู่มั่น ที่ท่านมีความเพียร มีความอุตสาหะ มีความพยายามของท่าน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติยังไม่มีคุณธรรม ยังไม่มีสัจธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นผู้รื้นค้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสวงหาในใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ธรรมวินัยมีอยู่แล้ว ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งชาติไทย หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็เป็นทรัพยากรของชาติ ท่านก็เป็นคนไทย ธรรมวินัยมันมีอยู่แล้ว แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จะไปปฏิบัติที่ไหนเขาก็กลัว เขาก็มีความหวั่นไหว เขาก็ไม่เคยเห็นพระธุดงค์ พระกรรมฐาน ท่านจะไม่ได้ความสะดวกสบายแบบที่เราได้รับกันอยู่นี้เลย

ที่เราจะประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี่ สำนักปฏิบัติก็มี ครูบาอาจารย์ก็มี การปฏิบัติก็ยังเฟื่องฟู ผู้ที่จะส่งเสริม ผู้ที่จะได้บุญกุศลจากผู้ที่ปฏิบัติ มีคนส่งเสริมทั้งนั้นเลย แล้วเรานั่งสมาธิ เราปฏิบัติ เราทำภาวนา แล้วเราจะมาสุมหัวคุยกันทำไม นี่กิเลสมันสุมควันให้เราลุ่มหลง ไอ้นี่ไปปฏิบัติ เราจะห่วง ห่วงแต่ทฤษฎีคนนั้นจะไม่ถูก ทฤษฎีของเราจะดีกว่า เราจะต้องเอาทฤษฎี เอาความรู้ของเราไปวัดกับใคร

วัดกับใจเราสิ วัดกับใจเรา เรามีความรู้มากขนาดไหน เรามีความรู้ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค ธรรมวินัยเข้าใจหมดเลย แต่สมาธิสักตัวมีไหม ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ถอดถอนอวิชชา รู้จักหรือเปล่า ภาวนามยปัญญามันเป็นอย่างไร

ศึกษานี่เป็นสุตมยปัญญา การศึกษาทางวิชาการ การศึกษาตามตำรับตำรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านออกประพฤติปฏิบัติ ตำรับตำราก็มีอย่างนี้ ท่านก็ศึกษาเหมือนกัน ท่านก็เปิดตู้พระไตรปิฎก ท่านก็ค้นคว้า

คนเราเวลาออกประพฤติปฏิบัติ เวลามันจนตรอกขึ้นมาแล้ว ทุกคนก็อยากจะมีทางออกทั้งนั้นแหละ แล้วทางออกใครก็รู้ใช่ไหมว่าตำรับตำรามันอยู่ที่ไหน ตู้พระไตรปิฎกทุกวัดมันก็มีประจำวัดทั้งนั้นน่ะ แล้วเวลาไปศึกษาค้นคว้ามาแล้วมันก็ยิ่งงง

ฉะนั้น เวลาไปศึกษามาแล้ว มันเป็นสุตมยปัญญา จะ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค สมาธิก็ไม่เคยมี สมาธิเป็นอย่างไรไม่รู้จัก แล้วเวลาปฏิบัติไปนะ กิเลสมันสุมควัน เวลามันเคลิ้มๆ มันลอยๆ ก็ “เออ! นี่สมาธิ” นี่กิเลสมันสุมควัน แล้วมันก็จินตนาการไป นี่พูดถึงผู้ที่มีการศึกษาแล้วจะออกปฏิบัตินะ

แต่อย่างเราพระกรรมฐาน พระกรรมฐาน เราบอกว่าเราเป็นพระปฏิบัติ เวลาบวชไปแล้วอุปัชฌาย์ก็ให้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ให้กรรมฐาน ๕ มาอยู่แล้ว เราก็จะปฏิบัติตามความเป็นจริง แล้วเรามีครูมีอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านดูแลหัวใจของท่าน ท่านทำตามความเป็นจริงของท่าน ท่านเข้าป่าเข้าเขาไป ไอ้คนที่จะมาส่งเสริมเขากลัว เขามีแต่แตกบ้านหนี เขาไม่ให้เข้ามาใกล้เลย นี่ท่านอยู่ของท่าน เวลาไปเที่ยวป่า เขาก็บอกว่าพระกรรมฐานท่านไม่ฉันเนื้อสัตว์ ท่านฉันถั่วฉันงา แล้วชาวบ้านเขาก็ไม่มีถั่วไม่มีงา ก็ฉันข้าวเปล่าทั้งนั้นน่ะ ฉันข้าวเปล่าได้ฉันอย่างดี มันจะไม่ได้ฉันเอานู่นน่ะ เพราะเขากลัว เขากลัวว่าเป็นผีปอบ ผีต่างๆ เขาจะหนีเอาน่ะ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ท่านล้มลุกคลุกคลานมาขนาดนั้น แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาจนเป็นความจริง ท่านวางข้อวัตรไว้แล้ว วางข้อวัตร วางแนวทางไว้ แล้วเราจะปฏิบัติ เราจะเอาตามความจริง เราจะเอาความจริงของเรา นี่เขาส่งเสริมมาจนมีแนวทาง

เวลาเราปฏิบัติ เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมา ถ้าเป็นปริยัติเวลาจะมาปฏิบัติ กิเลสมันจะสุมควัน จะลุ่มหลง จะจินตนาการของเขาไปว่าธรรมะจะเป็นอย่างนั้นๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกโปฐิละๆ ใบลานเปล่าๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นๆ มันก็เป็นความว่างเปล่า มันเป็นใบลานเปล่า ๙ ประโยคก็ ๙ ประโยคเปล่าๆ มันไม่มีอะไรเป็นความจริง

แต่เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน เวลาบวชแล้ว อุปัชฌาย์ให้มาแล้ว เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วครูบาอาจารย์ท่านก็พาประพฤติปฏิบัติอยู่ เวลาเราปฏิบัติขึ้นไป นี่กิเลสมันสุมควันนะ เวลาเคลิ้มๆ เวลาเห็น เพราะทางวิทยาศาสตร์ เวลาจิตมันสงบลง สมองมันจะเห็นภาพได้ ถ้าเห็นภาพได้มันก็เป็นนิมิต เวลาคนทำหน้าที่การงานเขาจะเป็นลม พอเขาเป็นลม หวิวๆ เป็นลม เขาเห็นภาพไปหมด โอ๋ย! เห็นกาย เห็นเวทนา วางยาสลบไป เขาเห็น นี่ไง เวลากิเลสมันสุมควันมันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันเป็นจินตนาการ ถ้ากิเลสมันสุมควันมันก็เป็นอย่างนั้น

เราพระกรรมฐานใช่ไหม เรามีครูบาอาจารย์เทศนาว่าการไว้ มันพูดติดปาก มันพูดติดปาก พูดจนชินปาก ฟังจนชินหู แต่ใจมันด้าน ใจมันด้านเพราะใจมันไม่มีความจริง ก็จินตนาการกันไปไง มันมีอะไรเป็นความจริงล่ะ มันมีอะไรเป็นความจริง ถ้ามันเป็นความจริงนะ หัวใจมันไม่คัน ถ้าหัวใจมันยังคันอยู่ มันไม่มีความจริงหรอก

ถ้าหัวใจมันไม่คัน มันอยู่ด้วยความสงบระงับ ถ้าสงบระงับนะ เวลาหลวงปู่มั่น ท่านเทศนาว่าการ หลวงตาท่านบอกว่าแม้แต่อยู่ที่ประตูยังได้ยินเสียงเลย นั้นเป็นอำนาจของธรรมนะ เวลาครูบาอาจารย์ที่จิตใจท่านไม่คัน เวลาท่านแสดงธรรม นั่นน่ะออกมาจากใจ ออกมาจากธรรม มันออกมาจากธรรม มันมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มันมีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย แล้วมันมีธรรมออกมาจากการกระทำนั้น ออกมาจากแนวทางที่ท่านสั่งสอนนั้น

แต่ไอ้เรา ไอ้กรรมฐาน พระเรากรรมฐาน กิเลสมันสุมควัน มันบอกว่ามันมี มันบอกว่ามันเป็น แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ

“มันก็เป็นว่างๆ ไง” เวลามันเป็นนะ “อ๋อ! ก็พิจารณากายไง” พิจารณากาย หมอมันก็พิจารณา เวลาหมอเขาจะผ่าตัดเขาต้องประชุมนะ หมอเขาจะผ่าตัดหัวใจ เขาประชุมหมอเลย ใครมีหน้าที่อย่างใด ถ่ายเอกซเรย์แล้วเอาฟิล์มมาดูว่าควรจะทำอย่างใด เขาประชุมนะ เวลาเขาพิจารณากาย หมอเขาพิจารณากายเขาต้องประชุมเลย หมอที่มีความชำนาญมาประชุมกัน เขาก็ประชุม

นี่ก็เหมือนกัน เห็นกายๆ เห็นอย่างไร ถ้าเห็นกายแล้วมีคุณสมบัติอย่างไร นี่ไง กิเลสมันสุมควัน มันเห็นกาย เพราะคำว่า “เห็นกาย” เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามัน ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ เวลาธรรมกถึก เวลาฝ่ายปฏิบัติ ให้ปฏิบัติ ให้กรรมฐานแล้วเข้าป่าไป ถ้าวินัยธร วินัยธรก็การศึกษา วินัยธรก็เพื่อวินัย นี่วินัยธรกับธรรมกถึก แล้วธรรมกถึกก็ปฏิบัติให้มันรู้จริงขึ้นมาสิ ถ้ามันรู้จริงขึ้นมามันจะเป็นความจริง แล้วความจริงมันอยู่ไหนล่ะ

กิเลสมันสุมควันๆ เตลิดเปิดเปิงไป เวลาคนเราประพฤติปฏิบัติไม่ได้หลักไม่ได้เกณฑ์ เขาก็ว่าคนไม่เต็มบาท จิตไม่เต็มบาทเต็มเต็ง จิตไม่เต็มบาทเต็มเต็ง ดูทางโลก ทางโลกนะ ถ้าคนมีสติปัญญา เขาจะรักษาชีวิตของเขา แล้วดำรงชีวิตของเขาเป็นบัณฑิต แต่ถ้ากิเลส สภาวะแวดล้อมของกิเลสที่มันดิบๆ อย่างนั้นน่ะ เวลามันรุนแรงขึ้นไปทำให้เขาเป็นคนพาล ทางโลกนะ ถ้าเป็นคนพาล คนพาลมีแต่ทำลายสังคม ทำลายชาติตระกูลของตัว แล้วก็ทำลายตัวเอง ทำลายตัวเองเพราะมันเป็นพาล นี่เพราะภาวะของกิเลส ภาวะของกิเลสมันเป็นหมอกควันที่ทำให้จิตใจนั้นมันเหลวไหลไป

แต่ถ้าคนมีสติมีปัญญา คนมีสติมีปัญญาเขาจะเป็นบัณฑิต เขาก็รักษาชีวิตของเขาให้เป็นบัณฑิต รักษาชีวิตของเขาให้มีคุณธรรม คุณธรรมทางโลกไง คุณธรรมทางโลกของเขา ถ้ามันเป็นทางโลก แต่ถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง เราจะเข้าไปค้นคว้าในหัวใจของเรา ถ้าเราไปค้นคว้าหัวใจของเรา ฐีติจิต สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เราจะมาทำจริงทำจังขึ้นมา กิเลสมันจะสุมควันแล้วล่ะ สุมควันเพราะอะไร เพราะมันเป็นความจริงของมัน กิเลส หน้าที่ของมัน มันต้องทำลายความมุมานะ ทำลายความเพียรของเรา เพราะอะไร เพราะความเพียรมันเป็นมรรค ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ นี่เป็นมรรค เป็นมรรคขึ้นมา เป็นมัคโค ทางอันเอก ระหว่างกิเลสกับธรรมมันจะต่อสู้กันในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น

ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเอาจริงเอาจังของเราขึ้นมา ถ้าเอาจริงเอาจังขึ้นมา มันมีความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มันจะต่อสู้ๆ ต่อสู้กับใคร เวลาต่อสู้ก็ต่อสู้กับกิเลสไง การประพฤติปฏิบัติคือเอาชนะตนเองไง ถ้าเอาชนะตนเองได้ กิเลสมันสงบตัวลง กิเลสมันสงบตัวลง เพราะกิเลสมันสงบตัวมันถึงเป็นสัมมาสมาธิ ถ้ากิเลสสงบตัวลง มันสุมควันไม่ได้ ทางกระจ่างแจ้ง ถ้าทางกระจ่างแจ้ง รำพึง รำพึงไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

ถ้าเวทนา ถ้าจิตไม่สงบไปจับเวทนา เวทนาทำให้ล้มลุกคลุกคลาน เวทนาจะทำให้มีอุปสรรค แต่ถ้าพุทโธๆ จิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วนะ มันน้อมไปสู่เวทนา เวลามันจับเวทนา ทำไมมันเอาเวทนามาเป็นที่ลับปัญญา เอาเวทนามาให้จิตได้พิจารณา ถ้าจิตจับเวทนาได้ ถ้าจับเวทนาได้ มันแยกแยะ เวทนามันมาจากไหน อะไรเป็นเวทนา

ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจับเวทนาได้นะ มันเป็นความมหัศจรรย์ เหมือนเราจับไฟ เล่นกับไฟได้ แต่ถ้าคนไม่มีสติปัญญา เราไปจับไฟ เล่นกับไฟ เรามีแต่ความพุพอง เรามีแต่ความเสียหาย เพราะไฟเขาต้องอยู่ในเตา ไฟเขาต้องมีเครื่องมือที่เข้าไปจับต้อง ไม่ใช่เอามือไปจับ แต่เวลาถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบ จิตก็คือมือ มันสามารถจับได้ มันจับได้ มันพลิกแพลงได้ มันด้วยสติด้วยปัญญา มันมีความมหัศจรรย์ ถ้าจิตสงบแล้วจับเวทนา

ถ้าจิตไม่สงบ เวทนานี้เป็นไฟ มันทำให้มือพอง มันทำให้เป็นอุปสรรค มันทำให้เราเดือดร้อนแน่นอน แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้ารำพึงไปเห็นเวทนา มันจับเวทนาได้ มันแยกเวทนาได้นะ เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่มีในเรา เราไม่มีในเวทนา มันพิจารณาอย่างไร มันทำอย่างไร

ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา มันไม่ให้กิเลสมันสุมควัน สุมควัน มันก็จินตนาการมันไป จินตนาการไปรู้ไปว่าเราเห็นกาย เราพิจารณากาย เห็นอย่างไร

อย่าให้กิเลสมันสุมควัน ถ้ากิเลสมันสุมควัน สุมควันมันเป็นอุปสรรคในการภาวนา การภาวนา ถ้าเรามีสติมีปัญญาแจ่มแจ้ง เราแยกแยะของเรา แยกแยะของเรา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เรามีสติ เราก็รู้ว่ามีสติ แล้วพอคนมีสติกับไม่มีสติมันแตกต่างกัน เรานี่แหละเป็นคนปฏิบัติ เวลามีสติขึ้นมา ความคิดดับหมด ไอ้คิดที่เผาลน ไอ้คิดที่มีความทุกข์ ไอ้ความคิดที่มันทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน ถ้ามีสติ คิดทำไม ความคิดเกิดจากไหน เห็นไหม มันดับหมดถ้ามีสติ พอมีสติกับไม่มีสติ ถ้าคนปฏิบัติโดยรู้จริง โดยที่ไม่ให้กิเลสมันสุมควัน มันมหัศจรรย์แล้ว

แล้วพอมีสติ พอสติมันตั้ง สติคือความระลึกรู้ รู้คือความชัดเจน ชัดเจนคือความอิสรภาพ เดี๋ยวเดียวมันไปอีกแล้ว เพราะความเร็วของจิต จิตนี้เร็วกว่าแสง ความคิดนี้เร็วมาก พอเร็วมาก เรามีสติปัญญาเท่าทัน สิ่งที่เร็วที่สุด การเคลื่อนที่ที่เร็ว เราสามารถเหนี่ยวรั้งได้หมดเลย เราเหนี่ยวรั้งได้หมด ความคิดเกิดไม่ได้ เราพุทโธๆ มีสติ มีสมาธิ

ความมีสมาธิ หมอกควันจางลงๆ แต่ขณะที่ใช้ปัญญา ขณะที่ใช้ปัญญาไป กิเลสเป็นสมุทัย “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” ความดำริ ความรับรู้สึก ปัญญามันเกิดจากอะไร? ปัญญาเกิดจากจิต ถ้าจิตสงบขึ้นมา ปัญญาที่เกิดขึ้น มีสัมมาสมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นมันจะเป็นมรรค แต่ถ้าสติ จิต สมาธิมันอ่อนลง อ่อนลงเพราะเราใช้ปัญญามาก มันจะมีสมุทัย สมุทัยคืออะไร คือควันของกิเลสไง กิเลสมันสุมควันเข้ามาแล้ว เกิดควันเกิดหมอก เกิดความมัวหมอง นี่สมุทัย

ถ้ามันมีสมุทัยเจือปนเข้ามา สิ่งที่เราพิจารณาอยู่นี่ มันเป็นความพอใจ มันเข้าข้างตัวเองหมด มันต้องวางตรงนี้แล้วกลับมาทำความสงบของใจเข้ามา ความสงบของใจเข้ามาเพื่ออะไร เพื่อไม่ให้กิเลสมันสุมควัน เพื่อไม่ให้กิเลสมันมีโอกาสต่อต้าน เพื่อไม่ให้กิเลสมันพลิกแพลง ระหว่างกิเลสกับธรรม เวลามันพิจารณาไป เขาพิจารณากันอย่างนี้ ถ้ามีการพิจารณาอย่างนี้ เราต้องมีความเพียรชอบ ความเพียรชอบ ความวิริยะ ความอุตสาหะของเรา เรามีการกระทำ

ความเพียรชอบ ชอบของกิเลสไง เวลาความเพียรชอบ ใครบ้างที่ไม่ทำความเพียรชอบ เราก็ชอบทั้งนั้นน่ะ เราก็ทำด้วยความชอบธรรม เราก็ทำด้วยความขยันหมั่นเพียร เราก็ทำ

ทำใหม่ๆ เริ่มต้นเป็นอย่างนี้ทุกคน เวลาครูบาอาจารย์เราที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาการปฏิบัติยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับคราวหนึ่งจะถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ คราวเริ่มต้น เพราะอะไร เพราะคนไม่เคยทำ คนจะทำงานประสบความสำเร็จทางโลกมาขนาดไหน คนจะมีศรัทธาความเชื่อมาขนาดไหน เวลาจะมาประพฤติปฏิบัติต้องมาทำความสงบของใจให้ได้ ถ้าใจสงบตัวลง จะมีฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้าใจไม่สงบตัวลง โลกียปัญญาทั้งหมด มีความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด ความรู้ท่วมหัว ท่วมหัวๆ แล้วยังมีสังคมยกยอปอปั้น ยังมีสังคมให้ค่าอีก ให้เกิดทิฏฐิมานะมากไปกว่านั้น แล้วจิตมันจะสงบ เป็นไปได้ยากๆๆ

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติต้องวางให้ได้ วางเพราะเหตุใด วางเพราะเราเห็นไง เห็นผลของวัฏฏะ เห็นผลของการเวียนว่ายตายเกิด จิตนี้ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกนะ ถ้าจิตนี้เวียนว่ายตายเกิด จิตในปัจจุบันนี้เรามีสติปัญญามากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ แต่เราจะเอาอัตตสมบัติ เอาสมบัติของจิต ให้จิตมันรู้แจ้ง วิปัสสนาญาณคือปัญญาการรู้แจ้งในตัวเอง ปัญญาการรู้แจ้งให้มันสำรอกให้มันคายอวิชชาความไม่รู้ ความไม่รู้มันไม่รู้เรื่องอะไร มันก็ไม่รู้เรื่องตัวมันเองนั่นแหละ มันรู้ไปทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ กิเลสมันสุมควัน มันพูดได้ปากเปียกปากแฉะ แล้วมันเคลมด้วยว่ามันรู้อย่างนั้น รู้อย่างนั้นนะ มันรู้อย่างนั้นเพราะมันมีตำรับตำราเอาไว้ให้อ้างอิงไง แต่ความจริงของตัวไม่มี

ถ้าความจริงของตัวมี จะไม่ทำให้ลูกศิษย์ล้มลุกคลุกคลาน เพราะจะเป็นการชี้นำ ลูกศิษย์ เวลาผู้ที่เป็นสหธรรมิก ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่เป็นสัทธิวิหาริกหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านสร้างศาสนทายาท ท่านสร้างศาสนทายาทขึ้นมา สร้างผู้ที่มีคุณธรรมในใจ

การแก้จิตนี้แก้ยากนะ มันต้องเอาจิตแก้จิตนะ ถ้าจิตของใครก็แล้วแต่ยังไม่เห็นจิตของตัวเอง ยังไม่รู้จักวิธีการแก้ไขในใจของตัวเอง มันจะไปแก้ใครไม่ได้หรอก ถ้ามันยังแก้ใจของมันเองยังไม่ได้ มันจะไปแก้ใจของใครไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะมันไม่รู้มันจะเอาอะไรไปแก้ มันไม่รู้ แต่ถ้ามันรู้ล่ะ มันรู้อย่างไร

ถ้ามันรู้ เพราะมันรู้มันต้องเห็นกิเลส มันต้องจับกิเลสสิ กิเลสมันสุมควันอยู่นี่ กิเลสมันปิดบังอยู่นี่ แล้วก็ไปเคลิบเคลิ้มกับมันเสีย เพราะกิเลสมันสุมควัน เพราะมันเป็นควัน มันเป็นหมอกควัน มันไม่รู้ มันไม่รู้มันก็คลำไป คลำไปมันก็อ้างอิงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็ไปอ้างอิงตรงนั้นล่ะ แล้วก็อ้างอิงไป ไอ้คนที่ไม่มีวุฒิภาวะฟังแล้วมันก็เชื่อ เพราะอะไร เพราะพูดเหมือนกัน แล้วเทศน์ดี๊ดี พูดนี่น่าฟัง นุ่มนวลอ่อนหวาน ไม่เหมือนหลวงปู่มั่นเลย รุนแรง ไม่เหมือนครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมเลย มันรุนแรง

รุนแรงสิ เพราะมันเห็นกิเลสมันน่ากลัว แล้วมันก็สุมควันปิดหูปิดตา แล้วก็คลำกันไป แล้วปากก็พูดถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจิตมันก็ยังไม่รู้จัก สมาธิตัวหนึ่งมันยังไม่เป็นเลย มันทำจิตสงบไม่ได้ ถ้าจิตสงบไม่ได้ มันไม่เข้าไปสู่ฐีติจิต ไม่เข้าไปสู่เหตุ สู่ต้นเหตุ ไม่เข้าไปสู่ต้นเหตุ

จิตเดิมแท้เป็นผู้เวียนว่ายตายเกิด จิตเดิมแท้ๆ ปฏิสนธิจิต ไอ้เข้าไปเข้าที่ความคิดไง ความคิดไง จินตนาการ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง แล้วก็ไปที่อารมณ์ความรู้สึก แล้วจิตอยู่ไหนล่ะ ความคิดเป็นจิตหรือ อารมณ์เป็นจิตหรือ อะไรเป็นจิต? ไม่มี จิตก็คือจิตไง สมาธิก็คือสมาธิไง แล้วถ้าเข้าสู่สมาธิแล้วยกขึ้นวิปัสสนาอย่างไร

สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่มีภาวนามยปัญญา สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ สมาธิเป็นฐาน เป็นพื้นฐานให้เข้าสู่สัจธรรม ให้ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าไม่มีสมาธิ มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นเชาวน์ปัญญา มันเป็นปฏิภาณ มันเป็นคารม มันเป็นคารมเป็นลิ้นสองแฉก พูดเข้าสู่กิเลส มันไม่เป็นทางธรรม

แต่ถ้าเป็นทางธรรม เราต้องซื่อสัตย์ เราปฏิบัติ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราจะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราไม่ปฏิบัติธรรมไปบูชากิเลสให้กิเลสมันสุมควัน แล้วเราก็ไปบูชามัน เพราะมืดบอด เพราะเราไม่รู้ไม่เห็น เราถึงต้องไปยอมจำนนกับมัน

แต่เรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย ให้มีความวิริยะ ความอุตสาหะ ทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ ถ้าทำความสงบของใจได้ จิตสงบแล้ว หมอกควันต่างๆ มันจางลง พอจางลง จางลง จางลงแล้วเรายกขึ้นสู่กาย สู่เวทนา สู่จิต สู่ธรรมได้ไหม

แล้วก็บอกว่า เราจะไปหากิเลส เราไม่หากายหรอก

กิเลสเป็นนามธรรม กิเลสเป็นนามธรรม กิเลสเป็นความรู้สึก แล้วกิเลสเป็นความรู้สึก กิเลสโดยธรรมชาติของมัน เรากำหนดพุทโธ ถ้าจิตสงบแล้วเราจะต้อนเข้าไปสู่ความจนมุม ถ้ามันจนมุมแล้ว เวลามันออกทางหลบหลีกของมัน มันก็หลบหลีกไปสู่นี่แหละ กาย เวทนา จิต ธรรมเป็นทางออกของมัน ถ้าเป็นทางออกของมัน เราก็จับกาย จับเวทนา จับพิจารณา พอพิจารณาแล้ว ถ้ามีสติปัญญา พิจารณาไปแล้วมันจะเป็นไตรลักษณ์ มันจะแปรสภาพของมัน ถ้ามันแปรสภาพของมัน แปรสภาพไปสู่ความเวิ้งว้าง แปรสภาพไปสู่ความเป็นไตรลักษณ์ คือว่ามันเป็นอากาศธาตุ จนไม่มีสิ่งใด เหลือสิ่งใดไว้ ถ้าเหลือสิ่งใดไว้ แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหนล่ะ กิเลสมันจะไปใส่อะไรล่ะ กิเลสมันใส่อะไรไม่ได้

ดูสิ พิจารณากาย กายมันแปรสภาพของมันไป มันจะพุมันจะพอง มันจะแปรสภาพ ถ้าแปรสภาพขนาดไหน ถ้ามีสติมีปัญญา มันแปรสภาพต่อหน้า แล้วสติมันดี มันแปรสภาพขึ้นมาแล้ว ความรู้สึก ความรู้สึกๆ ความรู้สึกเวลาแปรสภาพแล้วผลของมันไง ผลของสมาธิ เวลาจิตเป็นสมาธิแล้วจิตมันจะมีความสุขความสงบของมัน เวลาจิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา เวลาใช้ปัญญาไปแล้ว มันใคร่ครวญไปแล้ว เวลาผลของมันไง

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เหตุปัจจัย เหตุทำความสงบของใจ ทำใจสงบเข้ามาเพื่อเป็นบาทเป็นฐาน เป็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ยกขึ้นสู่งานของมัน เวลาใช้ปัญญาแยกแยะไปแล้ว เวลามันพิจารณาของมันไป พิจารณากาย กายแปรสภาพของมันไป พิจารณาเวทนา เวทนาย่อยสลายมันไป พิจารณาจิต จิตเข้าไปสู่สภาวะแวดล้อมเดิม พิจารณาธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์มันกระจายออกไป กระจายออกไปด้วยความแยกแยะของปัญญา ปัญญาพิจารณาแยกแยะไปแล้ว เวลามันปล่อยวาง มันทำลายหมดแล้วมันเหลืออะไร มันเหลืออะไร นี่ตทังคปหาน มันพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฝึกหัดใช้ปัญญาอย่างนี้ อย่าให้กิเลสมันสุมควัน กิเลสมันจะสุมควันนะ พอสุมควัน มันจะทำให้เราเลย

เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ ถ้ามันพิจารณาไม่ได้ พิจารณาลำบาก พิจารณาแล้วล้มลุกคลุกคลาน มันเป็นความลำบากลำบน ถ้าพิจารณาไปแล้วมันว่าง พิจารณาแล้วมันไม่มีสิ่งใดเลย พิจารณาไปแล้วมันปล่อยวางหมดๆ นี่มันถลำไป ทางสองส่วนๆ มัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุล ความสมดุลแล้วอะไรมันสมดุล มันสมดุลตรงไหน

ถ้ามันสมดุล เราต้องดึงกลับมา เพราะพิจารณาไปแล้วมันจะเวิ้งว้าง แล้วกิเลสมันก็สุมควัน “นี่ใช่ พิจารณาแล้วนะ มันปล่อย อย่างนี้เป็นโสดาบัน พิจารณาไปแล้วมันปล่อย นี่เป็นสกิทาคามี พิจารณาไปแล้วมันปล่อย นี่อนาคามี พิจารณาไปแล้วปล่อย เป็นพระอรหันต์” นี่กิเลสมันสุมควัน แล้วเวลาพูดธรรมะก็ปากเปียกปากแฉะ แล้วไม่มีอะไรเลยนะ เพราะสิ่งที่การศึกษาการจำมาเขาเรียกว่าสัญญา

สัญญาเวลาจิตมันยังมีหลักมีเกณฑ์ สัญญานั้นก็ชัดเจน เวลาอารมณ์มันเปลี่ยนแปลง ความชัดเจนนั้นหายหมด ต่อไปนี้ก็กลายเป็นเรื่องโกหกแล้ว จากสัญญาก็กลายเป็นโกหก เป็นมดเท็จ นี่ไง เพราะกิเลสมันสุมควันไง สุมควันให้มันถลำไปไง แต่ถ้ามันถลำไป ถ้ามันหลอกตัวเราเองแล้วเราต้องมีสติปัญญา เราจะดึงกลับมา ดึงกลับมาทำความสงบของใจให้มากขึ้น ทำความสงบของใจให้ดีขึ้น พอทำความสงบของใจให้ดีขึ้น กลับไปสู่ๆ ถ้าจิตมันเสื่อมแล้ว ทำให้จิตสงบขึ้นมามันทำได้ยากขึ้น เพราะจิตมันเคยได้แล้ว กิเลสมันรู้เท่าทันแล้ว ถ้ามันสุมควันแล้ว เขาจะรอให้ลมมันพัด ให้ควันมันเปิดไป ถ้ามันสุมควันแล้วเขารอให้พระอาทิตย์ขึ้นเพื่อให้ควันนั้นมันจางไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขารู้ทันแล้วไง เขารู้ทันแล้ว พอมันรู้ทันแล้ว มันสร้างเป็นมลพิษเลยตอนนี้ “พิจารณาแล้ว เราเข้าใจแล้ว เรารู้แล้ว” นี่มันจะหลอกมันจะลวงตลอดไป

ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คำว่า “สมควรแก่ธรรม” สมควรแก่ธรรมที่เราประพฤติปฏิบัตินะ แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมาท่านรู้หมดว่า สิ่งที่ขณะจิตที่มันจะเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นอย่างใด ขณะจิต ถ้ามันขณะจิต ไอ้ที่ว่าปล่อยวางๆ มันไม่มีขณะจิต มันไม่มีขณะที่เป็นไป

ปุถุชน กัลยาณปุถุชน คนที่ทำได้พูดได้ มันจะถูกต้องชัดเจน เวลาคนยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค คำว่า “ยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค” คือจิตสงบแล้วรำพึงไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจะสะเทือนกิเลส สะเทือนหัวใจ

แต่ถ้าเวลาคน จิตมันไม่สงบ หรือจิตสงบ แต่เวลาจินตนาการกายขึ้นมา มันจินตนาการได้ ถ้ามันจินตนาการได้มันก็เกิดเหมือนนิมิต คือมันจินตนาการเฉยๆ คำว่า “จินตนาการ” กิเลสมันสุมควันไง มันไม่เห็นตัวกิเลสไง มันไม่เห็นกิเลส มันไม่สะเทือนกิเลส เพราะจินตนาการ คำว่า “จินตนาการ” มันนอกจิต เพราะจิตมันเป็นผู้จินตนาการขึ้น แล้วเวลาสิ่งที่พิจารณาไปแล้วมันเป็นสัญญา มันเป็นการคาดหมาย เป็นการคาดหมาย รู้โจทย์ก่อน ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้เท่าทันไว้หมดแล้ว เวลากิเลสมันสุมควัน มันสุมควันมันทำอย่างนี้ ทำให้เสียหายอย่างนี้

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านรู้ ท่านถึงบอกว่าวางให้หมด กลับมาที่ความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วย้อนกลับไป ย้อนกลับไป ถ้ามันจับต้องได้ แยกแยะพิจารณาไป พิจารณาไป ถ้ามันปล่อย ปล่อยก็ไม่เป็นไร ปล่อยก็พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า พอพิจารณาซ้ำซากอยู่อย่างนี้ เวลามันขาด มันเป็นปัจจัตตังนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะก็ไม่ได้บอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้บอกพระอัญญาโกณฑัญญะ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

เพราะคำว่า “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศธรรม แล้วเพราะมีอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรมเป็นพยาน ท่านปลื้มใจตรงที่ว่า เวลาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลาประกาศธรรมไปแล้วมันขนได้จริงๆ มันได้ ได้สงฆ์องค์แรกของโลก แต่มันไม่ต้องมีการยืนยัน แต่ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ล่ะ ทำไมพระอัญญาโกณฑัญญะไม่โต้แย้งล่ะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศนาว่าการ ปัญจวัคคีย์นัดกันเลยว่าไม่รับ เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรมก็ไม่มีใครโต้แย้ง แล้วปัญจวัคคีย์ทั้ง ๔ นั้นก็ไม่ได้โต้แย้งว่าอัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหรือยังไม่รู้ ก็ยังไม่รู้จริง แต่เทศนาว่าการไปจนปัญจวัคคีย์ได้เป็นพระโสดาบันทั้งหมด เทศน์อนัตตลักขณสูตรขึ้นมาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ใครโต้แย้งใคร ไม่มีใครโต้แย้งใครเลย ความจริงก็คือความจริง ความจริงก็เป็นอันเดียวกัน อริยสัจมันมีหนึ่งเดียว จะรู้มาแนวทางไหนพระอัญญาโกณฑัญญะมีอำนาจวาสนาบารมีก่อน มีดวงตาเห็นธรรมก่อน แต่เวลาเป็นพระโสดาบันด้วยกันหมดก็เหมือนกันหมด

จะเป็นโสดาบันแนวทางใด มาทางช่องทางใดก็แล้วแต่ โสดาบันก็คือโสดาบัน เวลาเป็นสกิทาคามีก็เป็นสกิทาคามี อนาคามีก็คืออนาคามี พระอรหันต์ก็คือพระอรหันต์ แต่เป็นอย่างไรล่ะ ถ้ากิเลสมันสุมควันมันก็มั่ว มีแต่โกหกมดเท็จ อาศัยปฏิภาณ อาศัยฟังครูบาอาจารย์มาเยอะๆ แล้วก็อาศัยดำน้ำไปเรื่อยๆ ดำน้ำไปเรื่อย ความจริงไม่มี

ถ้าความจริงมี ต้องชี้ขาด ชี้ขาดถึงการกระทำ ชี้ขาดถึงพฤติกรรม พฤติกรรมของสหธรรมิก พฤติกรรมของสังคม พฤติกรรมของการปฏิบัติ มันต้องชี้ขาด คำว่า “ชี้ขาด” เพราะมันขาดมาตั้งแต่ต้น เพราะคนรู้จริงมันขาดมาตั้งแต่ต้น มันชี้ขาดมาตั้งแต่หัวใจ ถ้าหัวใจชี้ขาด เพียงแต่ว่ามารยาทสมควรไม่สมควรไง คำว่า “สมควร” สมควรก็สมควรในหมู่สงฆ์ สมควรในนักปฏิบัติ สมควรในขณะที่แสดงออกว่ามันเป็นสัจจะความจริง สมควร แต่ขณะที่ไปโต้แย้งกันเป็นเรื่องส่วนตัวมันไม่สมควร ไม่สมควรเพราะอะไร ไม่สมควรเพราะจิตดวงนั้นไม่มีเจตนา ไม่มีวุฒิภาวะที่สามารถรู้ได้ จิตดวงนั้นไม่สามารถทำความสงบของใจได้ จิตดวงนั้นไม่สามารถยกขึ้นสู่วิปัสสนา ไม่เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง พูดเท่าไรมันก็พูดกันไม่รู้เรื่อง

ผู้รู้จริงเขารู้จริงของเขา เขาพูดได้ เขาพูดได้ ไอ้ผู้ไม่รู้จริง ผู้ที่ไม่มีวุฒิภาวะ จิตไม่เคยสงบ มันจะยกขึ้นสู่อย่างนั้นไม่ได้ ให้ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค พอจะมาประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันก็สุมควันให้เหลวแหลก ให้ยอมจำนนกับกิเลส ให้กิเลสมันชักจูงไป

แต่ถ้ามันเป็นความจริงๆ เราตั้งสติของเรา เรากำหนดพุทโธของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา ถ้าจิตมันสงบลง แล้วเรารำพึงไปของเรา กิเลสมันก็สุมควันโดยธรรมชาติของมัน กิเลส ทุกดวงใจที่มีกิเลสเป็นอย่างนี้หมด ทุกดวงใจที่มีกิเลสเข้าข้างตัวเองหมด ทุกดวงใจที่มีกิเลส กิเลสมันสุมควัน เพราะมันเป็นงานของกิเลส มันทำอย่างนี้ แต่ที่เราประพฤติปฏิบัตินี้ เราปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติตามธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเมตตา มีพระกรุณา มีพระปัญญาคุณ สิ่งที่ได้วางไว้ วางไว้คือมีแนวทาง วางไว้มีแนวทาง มีแนวทาง มีวิชาการ มีสิ่งชักนำให้เราทำตาม แต่เราทำแล้วโดยจินตนาการ เราทำโดยการสมอ้าง โดยกิเลสเรา มันน่าน้อยใจ มันน่าน้อยใจว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำจริง รู้จริงเห็นจริง แต่เรามันอ่อนด้อย ให้กิเลสในหัวใจมันมีอำนาจมากกว่า ทั้งๆ ที่มีศรัทธามีความเชื่อนี่แหละ ทั้งๆ ที่เดินอยู่ในทางจงกรมนี้

หลวงตาท่านพูดว่า เดินจงกรมอยู่นี่โง่อย่างกับหมาตาย ในทางจงกรมเดินไปเดินมา โง่อย่างกับหมาตาย คือเราไม่ใช้ปัญญาเราเองไง เราไม่ใช้ปัญญาของเรา เราไม่แยกแยะเลย เพราะทุกดวงใจ เพราะการเกิดมีกิเลสทั้งนั้น ไม่ยกเว้นแม้แต่คนพูดอยู่นี่ก็เหมือนกัน ก็ทุกข์ยากมาทั้งนั้นน่ะ ไม่มีใครหรอก ที่ว่าขนาดขิปปาภิญญาก็ทุกข์ ขิปปาภิญญาเขาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเหมือนกัน แล้วกว่าขิปปาภิญญาแต่ละองค์กว่าจะน้อมใจมาปฏิบัติ เขามีทุกข์ยากมาทั้งนั้นน่ะ แต่พอน้อมใจมาปฏิบัติ มันทุกข์มาทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันทุกข์มา มันเป็นสัจจะมันเป็นความจริง

ฉะนั้น อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ มันต้องมีเหตุมีผล เหตุผล จิตมีหลักเกณฑ์ไง จิตมีหลักเกณฑ์ ไม่เหลวไหล ไม่เร่ร่อน ไม่มีมารยาสาไถย ตรงนี้สำคัญมากนะ เราเห็นมีแต่มายาทั้งนั้น

แสดงธรรมตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุด การแสดงธรรมไม่เสียดสี ไม่พูดเคาะ ไม่พูดเหยียบย่ำใคร แต่อย่ามีมายาสิ มายานี่ตัวร้าย เทศนาว่าการมารยาสาไถย มารยาสาไถยมันเป็นเรื่องของกิเลสนะ

ถ้ากิเลสมันสุมควัน มันทำให้เราผิดพลาด ทำให้เราเสียหาย ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน เพราะมันมองไม่เห็นไง มันลูบๆ คลำๆ ไปไง แต่การแสดงออกโดยมารยาสาไถยมันไม่ใช่กิเลสสุมควัน ไอ้นั่นมันกิเลสซ้อนกิเลส มันเป็นเรื่องกิเลส แต่อ้างธรรมะ อ้างว่าแสดงธรรม แต่เป็นมายา มารยาสาไถย หวังประโยชน์ หวังประโยชน์ให้คนเชื่อถือศรัทธา ถ้าศรัทธา มันประโยชน์อะไรน่ะ หวังประโยชน์จากเขา

หัวใจของเขาควรอยู่ในหัวอกของเขา แสดงธรรมมาให้หัวใจของเขาได้มีสติปัญญา แล้วพยายามสร้างศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมาในใจของเขา ให้เกิดมรรคเกิดผลในใจดวงนั้น ถ้าเกิดมรรคเกิดผลในใจดวงนั้น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสร้างศาสนทายาท ท่านสร้างอย่างนั้น เวลาท่านพูดกับหลวงตา ผู้ที่มีพรรษามากไม่ต้องขึ้นมารับบริขาร ให้พระผู้มีพรรษาน้อยๆ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ ให้ขึ้นมารับบริขาร มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวมันไป มันจะได้มีข้อวัตร เห็นไหม ท่านต้องการให้หัวใจอยู่ในหัวอกเขา ข้อวัตรปฏิบัติคือแนวทางปฏิบัติจะได้ติดหัวใจของเขา ถ้าติดในใจของเขา เขาจะไปปฏิบัติที่ไหน เพราะคนที่ไปที่ไหนเขามีหัวใจของเขา เขายังมีชีวิตอยู่ เขายังมีใจเขาอยู่ในร่างนั้น ถ้าเขายังมีใจของเขาอยู่ในร่างนั้น เขาไปประพฤติปฏิบัติที่ไหน เขาจะได้คุณธรรม เขาจะได้เป็นศาสนทายาท เขาจะได้มีคุณธรรมในใจของเขา

ฉะนั้น ถ้าไม่มีมารยาสาไถย จะไม่ไปขโมยศรัทธา ไม่ไปขโมยหัวใจของชาวพุทธ ไม่ไปขโมยศรัทธาในใจของคน ถ้าไม่มีมารยาสาไถย แต่ถ้าแสดงธรรมด้วยมายา อ้างธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ปรารถนาศรัทธา ปรารถนาหัวใจของคน เพราะถ้าหัวใจของคนมันยอมราบลงแล้ว สรรพสิ่งในนั้นจะให้หมด จะได้หมด ฉะนั้น ได้หมด แต่ถ้าเขาเป็นคนที่มีอำนาจวาสนา เดี๋ยวเขาก็มีสติปัญญาของเขา เขาก็จะรู้ตัวของเขาขึ้นมา มันเป็นอนิจจัง มันเป็นสภาวะที่แปรปรวน มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีศรัทธาเดี๋ยวก็เสื่อมศรัทธา มีความเชื่อเดี๋ยวก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าเป็นความจริงๆ ถ้าไม่ให้กิเลสมันสุมควัน ไม่ให้เราลุ่มหลง เราทำความจริงของเรา

ครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรม เวลาท่านเทศนาว่าการ หลวงตาท่านพูดประจำ “จำคำพูดของผมไว้นะ ถ้าผมตายไปแล้ว ใครที่ประพฤติปฏิบัติมาถึงสิ่งที่ผมพูดนี้ จะมากราบศพทีหลัง”

ท่านพูดไว้ รอให้ท่านตายไปแล้วเรายังไม่รู้ ท่านบอกนะ สิ่งที่ท่านเทศนาว่าการไว้ ให้เราจำไว้ ให้เราประพฤติปฏิบัติ ถ้าวันไหน วันไหนหัวใจมันผ่องแผ้ว ถ้าวันไหนหัวใจมันเปิดขึ้นมา จะไปกราบศพ กราบศพท่าน ท่านหวังอะไร ท่านมีมารยาสาไถยกับใคร ท่านบอกท่านตายไปแล้วเราถึงไปกราบศพท่านน่ะ กราบศพเพราะอะไร กราบศพเพราะความซาบซึ้งไง กราบศพเพราะถ้ามันไปเห็น มันไปเห็นมันจะรู้เท่าทันไง ไม่ให้กิเลสมันมาสุมควันให้เราหลงใหลอยู่นี่ไง สุมควันคนที่เจตนาดี สุมควันให้เราล้มลุกคลุกคลาน

คนที่เจตนาร้ายเวลามันสุมควันขึ้นมา มันก็อ้างธรรมะ พูดธรรมะ แต่หัวใจของมัน หัวใจของมันมีเจตนาร้าย มีเจตนาร้ายหรือไม่เข้าใจใจของตัว เพราะมันไม่รู้จักใจของตัว มันไม่เคยเห็นใจของตัว มันจะเอาอะไรไปสอนใคร

มันต้องมีสัจจะความจริงในใจมันถึงจะเป็นความจริงขึ้นมา แล้วภาวนามา จิตแก้จิต หลวงปู่มั่นท่านพูดไว้ “แก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” ท่านองค์อาจท่านกล้าหาญ องอาจเพราะอะไร เพราะท่านได้กำราบอวิชชาในใจของท่านแล้ว แล้วอวิชชา โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

กิเลสเวลามันสุมควัน โอ้โฮ! มันละเอียด กิเลส หลานมันก็สุมควันได้หยาบๆ เวลาไปถึงสกิทาคามิมรรค ลูกของมัน มันสุมควันได้ โอ้โฮ! ลึกลับซับซ้อนเลย พอไปถึงพ่อมัน อนาคามิมรรค มันเป็นควันพิษ แล้วพอมันไปถึงอวิชชา ไปถึงปู่มัน ไม่เห็นเลยว่ามันเป็นควันหรือไม่เป็นควัน มันหลับตั้งแต่ยังไม่เจอ นั่นน่ะมันละเอียดลึกซึ้งแตกต่างกันเยอะนัก ฉะนั้น หลวงปู่มั่น ท่านถึงบอกไง “แก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ หมู่คณะให้ภาวนามา ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” นี่ความอาจหาญของท่าน อาจหาญเพราะท่านรู้จริงเห็นจริง

แต่พวกเราเหมือนกับหมอไม่มีคนไข้ พวกเราไม่เคยมีอุปสรรค ไม่เคยมีอุปสรรคเข้าไปเจอกิเลสแล้วต่อสู้กับกิเลส แล้ววิธีกลไกจะทำกับกิเลสอย่างไร ไม่รู้จัก แล้วท่านจะบอกอะไรล่ะ

ถึงบอกว่า ถ้าเวลาโต้แย้งกัน จิตดวงหนึ่งยังไม่มีความสามารถที่จะรู้ได้ ท่านไม่พูดหรอก อย่างไรก็รู้ไม่ได้ถ้าจิตไม่เคยสงบ จิตไม่มีวุฒิภาวะ ยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่เป็น ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่เป็น กิเลสมันสุมควันแล้วก็หลับหูหลับตา คลำกันไป เอวัง