เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๕ มี.ค. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ เด็กมาวัด เด็กมาวัดมาวัดหัวใจของเขา พ่อแม่พามา พามาให้คุ้นเคย คุ้นเคยกับวัด วันหลังเข้าวัดเข้าวาแล้วมันไม่เคอะไม่เขิน เห็นไหม พอมันเคอะมันเขิน ไปไหนก็ไม่อยากไป คนเราไปไหนแล้วอยากไปมันมีความสุขนะ ถ้าไปไหนแล้วโดนบังคับ โดนขู่เข็ญ มันไม่อยากไปหรอก แต่คนอยากไป คนอยากไปคือเจตนาที่ดี

เจตนา เจตนาที่ดีกับเจตนาที่มันขัดแย้ง เวลาขัดแย้ง มันผลักดันของมัน เราพาเด็กมาวัดมาวา มาเพื่อวัดหัวใจของเขา เขามาแล้ว เหมือนเด็กมันไร้เดียงสา มันแสดงออกตามแต่จริตนิสัยของเขา พ่อแม่ พ่อแม่ก็ขัดเกลา พ่อแม่ก็ดูแล ดูแลขัดเกลาของเราขึ้นมา เวลาเขามีคู่ครอง โซ่ทองคล้องใจ มันมีโซ่ทองคล้องใจของเรา แต่เวลามันโตขึ้นมาล่ะ เวลาโตขึ้นมา เวลาลูกของเรา ทุกๆ คนนะ ถ้าลูกของเรามีความสุข พอแล้วล่ะ ลูกนะ ขอให้มีความสุข ขอให้เป็นคนดี เป็นคนดีแล้วมีความสุขไง

ถ้าคนดีมีความสุข มันมาจากไหนล่ะ? มันก็มาจากศีลมาจากธรรม ถ้ามีศีลมีธรรมขึ้นมาก็เป็นคนดีของเขา ใครๆ ก็ว่าเป็นคนดีหมดแหละ เด็กทุกคนว่าเด็กมันดี แล้วบอกพ่อแม่ไม่ฟังฉันเลย พ่อแม่ไม่ฟังฉันเลย แต่เวลาเขาจะวัดกัน เขาวัดกันด้วยศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ มันวัดกันที่นี่ มันไม่ต้องไปเถียงกันว่าความดีของใครดีกว่าใคร ความดีก็คือความดีนั่นล่ะ แต่ถ้ามันมีศีลมีธรรมเป็นเครื่องวัดหมาย สิ่งนี้มันจะทำให้อวิชชา ทำให้ตัณหาความทะยานอยากที่มันล้นฝั่งมันล้นออกมาไม่ได้ ถ้ามันล้นออกมาไม่ได้ เราจะเป็นคนดีของเรา

ทำดี เห็นไหม ทำดีเหมือนปลาเป็น ปลาเป็นมันต้องว่ายทวนน้ำนะ การว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อจะไปวางไข่ เพื่อผสมพันธุ์ของมัน เพื่อชาติตระกูลของมันนะ ปลาตายมันสบายๆ มันลอยไปตามน้ำ แต่มันไปเน่าเปื่อย มันไปไม่เป็นประโยชน์ของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เด็กมันมาวัดมาวาเพื่อเหตุนั้น ผู้ใหญ่ล่ะ ผู้ใหญ่ของเรานะ ชีวิตของเรา เราได้เผชิญโลกมามากแล้ว เราเผชิญโลกมามากแล้ว โลกมันก็เป็นแบบนี้ แล้วความจริงมันอยู่ที่ไหนล่ะ ความจริงมันอยู่ที่ไหน ถ้าความจริงนะ ความจริง สัจจะความจริงมันอยู่ที่ไหน

ถ้าสัจจะความจริง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี เราค้นหาความสุขกันนะ เราแสวงหาความสุข ความมั่นคงของชีวิต แล้วความมั่นคงของชีวิต เราแสวงหามาเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย มันเป็นสมบัติสาธารณะ สมบัติจริงๆ ของเราคือหัวใจของเรานี่ หัวใจของเราที่กลางหัวอกนี่ ถ้ามันมีศีลมีธรรมขึ้นมามันมั่นคงของมัน ถ้ามันมั่นคงของมันขึ้นมา ถ้ามั่นคงขึ้นมา เราจะมีปัญญา มีปัญญาขึ้นมา มีปัญญา ปัญญาที่ไหน? อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐตรงไหนล่ะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหาอยู่ ๖ ปี ปัญจวัคคีย์เป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยกัน แสวงหามาด้วยกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้น ปัญจวัคคีย์เป็นผู้อุปัฏฐาก การอุปัฏฐากมา แสวงหามาด้วยกัน แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามค้นคว้า ทำทุกรกิริยา โลกเขาเขาบอกว่าอะไรที่มันเข้มข้น อะไรที่มันทำแล้วเป็นประโยชน์ๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พิสูจน์มาหมดแล้ว พิสูจน์มาหมดแล้ว มันเป็นประโยชน์ไปไม่ได้ ไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันเป็นอดีตอนาคต อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ถ้ามันไปติดสุขก็ติดสุขซะ ถ้ามันเข้มข้น เข้มข้นจนมันเป็นอัตตกิลมถานุโยคซะ ความสมดุลๆ ความพอดี มัชฌิมาปฏิปทาคือความสมดุล ความพอดี ความพอดี พอดีของใคร พอดีของใคร

ดูสิ เด็กมันก็พอดีของมัน เด็ก ถ้าปล่อยมันวิ่งเล่นตามความพอใจของมัน มันก็ว่าผู้ใหญ่คนนี้ดี แต่ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ บางคนเขาเลี้ยงลูก เขาเล่นกันคนละบท แม่ก็เล่นบทหนึ่ง พ่อก็เล่นบทหนึ่ง แม่ก็เล่นบทเอาใจ พ่อก็เล่นบทกติกา นี่มันต้องเล่นคนละบทไง ความดีของใครล่ะ ความดีของใคร ความดี ปล่อยมันสุขสบายมันก็เป็นความสุขของมันนั่นแหละ แต่ความสุขอย่างนั้นมันเป็นความสุขแค่ความสุขความไร้เดียงสา คนเรามันต้องโตขึ้นมา มันต้องมีที่ยืนในสังคม มันต้องมีสติมีปัญญาเพื่อรักษาชีวิต เห็นไหม ขอให้ลูกเป็นคนดีและมีความสุขเถิด มีความสุขนี่พ่อแม่พอใจแล้ว ถ้าพ่อแม่พอใจ นี่ความดีของใคร ความดีมันคิดค้น มันคิดค้นอย่างไร

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกรื้อค้นๆ ปัญจวัคคีย์ก็ไปด้วยกัน ปัญจวัคคีย์คือนักบวช ๕ องค์ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๖ ทำมาด้วยกันๆ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” แล้วความสงบระงับเราไปหาที่ไหนล่ะ? ความสงบระงับเราหาที่ใจ นี่ไง เรามาหาที่ใจ มาหาตัวตนของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่ ถ้าสอนที่นี่นะ คนจะเข้ามาหาใจของตัวเองได้ คนคนนั้นต้องมีศักยภาพ ถ้าไม่มีศักยภาพ มันส่งออก

ทุกคนจะเห็นความบกพร่องของคนอื่น แต่ทุกคนจะไม่เห็นความบกพร่องของตัวเอง จิตมันส่งออกไปรับรู้เรื่องของคนอื่นทุกๆ คน แต่มันไม่เคยรับรู้เรื่องของตัวมันเอง ถ้าไม่รับรู้เรื่องของตัวมันเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจมันสงบเข้ามาได้มันจะเข้าไปสู่ตัวของมันเอง ถ้าเข้าสู่ตัวของมันเอง ตัวของมันเองคืออะไร...หาไม่เจอ

ดูพระ พระเวลาออกธุดงค์ ออกธุดงค์ ออกค้นคว้า ไปค้นคว้าอะไร แบกบาตร แบกกลดเข้าป่าเข้าเขา แบกบาตร แบกกลดเดินธุดงค์ไป ธุดงค์หาใครล่ะ? ก็หาหัวใจของตัวนั่นล่ะ ถ้าหาหัวใจของตัว ถ้าจิตสงบขึ้นมา มันสงบขึ้นมา มันทึ่ง มันทึ่งเพราะอะไร

ดูสิ มนุษย์เราเกิดมาเราจะมีทรัพย์สมบัติเพราะอะไร เพราะเรามีบัญชียืนยันว่าเรามีทรัพย์สมบัติมากน้อยแค่ไหน นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันสงบเข้ามา ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีสมาธิของมัน แล้วเราก็บอกเราศึกษามา ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกคนก็ว่ามีสมาธิ...สมาธิแบบนี้เป็นสมาธิของปุถุชน คนถ้าขาดสมาธิ คนถ้าขาดสมาธิเลย ขาดสติ คนบ้าเขาเข้าโรงพยาบาล

คนที่มีสติ เขาทำสมาธิขึ้นมา บางคนสมาธิสั้น-สมาธิยาว คนสมาธิยาวเขาทำงานของเขา เขามีสติ เขามีสมาธิของเขา เขาทำสิ่งใดแล้วเขาทำด้วยความอดทน ด้วยความมานะบากบั่นของเขา เขาจะมีความสุขของเขา คนสมาธิสั้นทำอะไรแล้วก็ แหม! มันเกินกำลังๆ นี่สมาธิสั้นเขาต้องฝึกหัดขึ้นมา นี่เป็นสมาธิของปุถุชน

ศีล สมาธิ ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือสมาธิที่เกิดจากการภาวนา ถ้าสมาธิเกิดจากการภาวนา จิตมันค้นคว้า จิตมันมีการกระทำ ดูสิ เด็กนะ เวลามันไปถึงพ่อแม่มันก็แบมือ พ่อแม่ก็ให้มัน ทุกคนนะ มันแบมือก็ต้องให้มัน นี่ก็เหมือนกัน ว่าสมาธิจะแบมือแล้วเขาจะให้มาไหม มันไม่มีหรอก

สิ่งที่เราคิดขึ้นมามันเป็นสัญญาอารมณ์ สัญญาอารมณ์เกิดจากจิต สัญญาอารมณ์นี้เรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะเข้าไปสู่จิต ถ้าเข้าไปสู่จิต เข้าไปสู่จิตเข้าไปตัวของจิตเอง ถ้าเข้าสู่ตัวของจิตเอง นี่ไง สิ่งที่มีค่าๆ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ศีล สมาธิ สมาธิมันเป็นแบบนี้ไง สมาธิไม่ใช่สัญญาอารมณ์ที่เราคาดหมายเอา แล้วเราจินตนาการเอา สิ่งนั้นมันไม่ใช่สมาธิ นี่ไง เรามาค้นคว้า มาค้นคว้าเพื่อเหตุนี้ไง

ดูสิ ญาติโยมเราทำบุญกุศลแล้ว บุญกุศลนี้เป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิส ทุกคนก็สามารถจะทำได้ แต่เวลาทำแล้วทุกคนอยากประพฤติปฏิบัติ ทุกคนอยากเอาความจริง อยากได้อัตตสมบัติ อยากได้สมบัติแท้ๆ อยากได้ความสุขแท้ๆ

ความสุขทางโลกเขาไปเที่ยวเตร่สนุกเพลิดเพลินของเขา เขาว่าเป็นความสุขของเขา เป็นความผ่อนคลายของเขา แต่ในศาสนา ในศาสนานะ “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” โคนไม้นั่นน่ะ ในบ้านของเรา ในห้องพระของเรา ในที่นอนของเรา เรานั่งสมาธิ เราทำที่นั่น ความสุขมันเกิดที่นี่ไง ถ้าความสุขมันเกิดที่นี่ เราต้องเสียเงินเสียทองอะไรจะมาค้นหาความสุขขึ้นมาได้ ความสุขเกิดจากที่นี่ เห็นไหม ผู้ที่มาปฏิบัติถึงมาปฏิบัติกัน

พระเห็นภัยในวัฏสงสาร มาบวช มาบวชมันไม่ใช่บวชเล่นนะ บวชจริงๆ บวชจริงๆ บวชใจไง เห็นไหม บวชเล่นๆ บวชเล่นๆ ก็บวชประสาโลกๆ ไง บวชเล่นๆ บวชเพื่อความสนุกไง แต่ถ้าบวชจริงๆ นะ บวชแล้วอุปัชฌาย์ยกเข้าหมู่ ถ้ายกเข้าหมู่แล้วนะ ดูสิ พระเรา ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรม เวลาข้อวัตรปฏิบัติ เช้าออกมาเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราบิณฑบาตเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพ สิ่งนี้เป็นความสะอาดบริสุทธิ์ สัมมาอาชีวะ ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ของญาติโยมเขา ญาติโยมเขา เขามีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เสียสละทาน ทานคือให้ชีวิต ให้ชีวิตกับสมณะ แล้วสมณะบิณฑบาตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง อาหารนี้เพื่อดำรงชีวิต ดำรงชีวิตไว้เพื่อค้นคว้า เพื่อแสวงหา เพื่อสัจจะความจริงในใจอันนั้น

ถ้าสัจจะความจริงในใจอันนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม ฉันแล้วเข้าสู่โคนไม้ เข้าสู่เรือนว่าง เข้าสู่ธรรม ค้นหาใจของตัว นี่งานของพระ ไม่ได้บวชเล่นๆ บวชจริงๆ บวชจริงๆ ค้นคว้าหาใจของตัวให้เจอ ถ้าค้นคว้าหาใจของตัวให้เจอ “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” มันมีความสุข มีความสงบ มีความระงับแล้ว คนที่มีความสุขทำสิ่งใดมันก็เป็นการเป็นงานขึ้นมา

คนเรามีแต่ความทุกข์ความยาก มีแต่ความเครียด ทำอะไรสิ่งใดขึ้นมาแล้ว ทำสิ่งใดทำเพื่อบรรเทาทุกข์ บรรเทาความเครียดมันก็ทุกข์ยากพอสมควรอยู่แล้ว พอพุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันบรรเทาความเครียด ความกดดันในหัวใจ พอบรรเทาความกดดันในหัวใจ ใจมันมีความสงบเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธิ ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านพยายามส่งเสริม ส่งเสริม ส่งเสริมยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา

ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาคือปัญญาการรู้แจ้ง รู้แจ้งในตัวตนของตัวเองนะ ไม่ต้องไปรู้แจ้งเรื่องคนอื่น ไม่ต้องไปรู้แจ้งเรื่องโลกภายนอก ไม่ต้องไปค้นคว้าเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ไม่ต้อง ไม่ต้อง รู้แจ้งในใจของตัว ในใจที่เวียนว่ายตายเกิด ในใจที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะนี้ ในใจที่มันมีสิ่งใดขัดข้องในหัวใจนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาอย่างนี้เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากวิปัสสนา ปัญญาเกิดจากการกระทำ ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากสมอง ปัญญาเกิดจากสัญญา ปัญญาเกิดจากการค้นคว้า นั่นมันสุตมยปัญญา ปัญญาอย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ให้เราศึกษา ศึกษาเป็นแนวทาง ศึกษาเป็นแนวทาง

เราศึกษากันแล้วเราก็มาเถียงกันปากเปียกปากแฉะว่าแนวทางนี้ถูกต้อง หรือแนวทางนี้ไม่ถูกต้อง เพราะในแนวทางนั้นเขียนศีล สมาธิ ปัญญา เขียนมรรคผลนิพพาน เราก็วิเคราะห์วิจัยมรรคผลนิพพานกันในตำรับตำราไง มันไม่เกิดเป็นความจริงขึ้นมาในหัวใจไง ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วท่านมีสติ ท่านรู้ว่าใครมีสติ

กิเลส พญามาร ลูกหลานของมาร มันจะไม่มีปัญญาเข้ามาทับถมหัวใจดวงนั้น ถ้ามีสติมันยับยั้งได้ ถ้าใครมีสติ พวกครอบครัวของมารไม่สามารถจะเหยียบย่ำหัวใจดวงนั้นได้ ถ้ามีสติ ถ้าเกิดคำบริกรรมขึ้นมา พุทโธๆ ถ้าจิตเป็นสมาธิขึ้นมา หัวใจดวงนั้นจะมีสัมมาสมาธิ แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาเกิดจากการค้นคว้าในหัวใจ ปัญญาเกิดจากการค้นคว้าสัจจะความจริง

สัจจะความจริงในโลกนี้ ไม่มี มันเป็นอนิจจัง มันแปรสภาพ มีสิ่งใดคงที่? ไม่มี แต่เวลาจิตเข้าเป็นสัมมาสมาธิ เวลามันค้นคว้าขึ้นไปแล้ว อกุปปธรรมมี ธรรมเหนือโลกในใจนี้ สิ่งที่ในหัวใจที่มันแปรปรวน ใจของเรา อารมณ์ที่มันแปรปรวนอยู่นี่ อารมณ์ที่มันเหยียบย่ำหัวใจอยู่นี่ เวลามันค้นคว้าขึ้นมา มันสำรอกมันคายตัณหาความทะยานอยาก มันทำลายครอบครัวของมารไปแล้ว มันมี มันไม่มีอยู่ข้างนอก เวลามันมี มันอยู่กลางหัวใจ มีอยู่ที่ความรู้สึก ไอ้ความรู้สึกที่แปรปรวนอยู่นี่ ไอ้ความรู้สึกที่มันเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี่ เวลามันมีขึ้นมามันมีที่นี่ แต่สสารไม่มีคงที่ ไม่มี ไม่มี แต่เวลาค้นคว้าเข้าไปแล้วนะ อกุปปธรรม

กุปปธรรมนะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี่กุปปธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอนัตตา อนัตตาคือความแปรปรวน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นี่คืออนัตตา การเห็น เห็นอนัตตา แล้วอนัตตานั่นหรือจะคงที่...ไม่มีๆ สิ่งที่โลกนี้ที่เราแสวงหากันนี้ไม่มี แต่เวลามีจริงๆ ขึ้นมามันมีอยู่กลางหัวอก มีอยู่กลางหัวอก มีอยู่จริง แล้วความจริงอันนี้ เวลาพูดพูดได้ทั้งนั้นแหละ แต่เวลาเรามีครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ของเรา ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ เวลาพระปฏิบัติขึ้นไป ขึ้นไปหาท่านๆ ให้ท่านแก้ไขๆ แล้วมันจริงหรือไม่จริง ท่านจะรู้ของท่าน แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติเข้าไปถึงจุดหมายเดียวกัน แล้วคุยกันรู้เรื่อง

เวลาหลวงปู่มั่นท่านฝากไว้ หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดให้ฟังประจำ หลวงปู่มั่นจะบอกว่า หมู่คณะให้จำไว้นะ หลวงปู่ขาวได้คุยกับเราแล้วนะ หลวงปู่ขาว ต่อไปถ้าเราตายไปแล้วนะ ถ้าไม่มีที่พึ่ง ให้พึ่งมหานะ มหาดีทั้งข้างนอก ดีทั้งข้างใน

ข้างนอกคือจริตนิสัย ข้างนอกคือข้อวัตรปฏิบัติ ข้างนอกคือความที่เราจับต้องได้ ข้างในๆ ข้างในคือในหัวใจไง นี่ไง สิ่งที่คงที่ๆ ไง ถ้าสิ่งที่มันคงที่มันมีอยู่แล้ว มันแปรปรวนไปไม่ได้ มันทำสิ่งอื่นที่ขัดแย้งกับสัจจะความจริงไม่ได้ นั่นไง สิ่งนี้มี

เราแสวงหากัน เราจะบอกว่า ตั้งแต่ความไร้เดียงสาของเด็ก เด็กมันเกิดมามันก็มีชีวิตของมัน นี่ผลของวัฏฏะ คนเราเกิดมานะ เกิดมาแล้ว เกิดมาในวัฏฏะนี้มีกรรมเก่า-กรรมใหม่ คนเรามีกรรมเก่า-กรรมใหม่ กรรมเก่าก็จริตนิสัยของเขา เขาสร้างของเขามา เขาชอบอย่างนั้น อารมณ์อย่างนั้น กรรมใหม่ๆ คือเรามาแก้ไขกันอยู่นี่ อะไรที่มันขัดแย้งหัวใจนี้ เราพยายามฝืนมันๆๆ ฝืนมันก็คือการแก้ไข การแก้ไขไง ถ้าเราไม่ฝืนมันนะ เราชอบสิ่งใด เราย้ำคิดย้ำทำอยู่อย่างนั้น จริตนิสัยมันก็จะหนักหนาไปข้างหน้า ถ้าเรามาแก้ไข นี่กรรมเก่า

กรรมใหม่ กรรมใหม่เราก็พยายามประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี้ กรรมใหม่เราจะทำได้ต่อเมื่อเรามีศรัทธามีความเชื่อ เราถึงจะทำไง ถ้าเรามีเป้าหมาย เราทำได้นะ ถ้าเรามีเป้าหมายนะ ใจมันอ่อนแอไง ดูครูบาอาจารย์เราท่านนั่งตลอดรุ่ง ท่านทำอย่างไร เพราะท่านต้องการแก้ไขใจของท่านไง

ใจนี้แก้ไขยาก ดูสิ เวลาเด็กของเรามันเก เราจับขังที่ไหนก็ได้ แต่เราไม่สามารถขังหัวใจของเขา ไม่มีใครสามารถขังหัวใจของคนได้ หัวใจของคนมันต้องขังด้วยศรัทธาความเชื่อของเขา แล้วมีศีล สมาธิ ปัญญา มันจะจับมาขัง ทุกขัง เวลามันทุกข์ มันขังเรา แต่เราจะขังทุกข์ เอามันไว้ในกรงนี้ แล้ววิปัสสนามัน ใคร่ครวญมันด้วยปัญญาญาณ ปัญญาญาณ ด้วยมรรคญาณ ทางอันเอกเข้าไปสู่ตัวของเรา

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น ชี้ทาง ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีแนวทางของท่าน ท่านชี้ทางที่ถูก เราก็พยายามกระเสือกกระสนทำให้ได้เถอะ ถ้าเราอยากพิสูจน์อาจารย์นั้น เราก็พยายามทำตามที่ท่านบอก แล้วถ้าพอจิตเราเป็นไปไม่เหมือนกับที่ท่านพูด แสดงว่าอาจารย์นี้พูดผิด อาจารย์นี้พูดผิด เราพิสูจน์ได้ เราพิสูจน์ได้เลย ถ้าอาจารย์แนะนำแล้วเราทำตามนั้นเลย แล้วดูจิตมันลงไหม จิตมันเป็นอย่างนั้นไหม ถ้าไม่เป็นแสดงว่าอาจารย์ขี้โม้ ถ้าอาจารย์จริง อาจารย์จริงมันเข้าไปถึงจุดเดียวกัน ถ้าจุดเดียวกัน อันนั้นถึงว่าเป็นความจริงไง

เราจะเชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ คำว่า “เชื่อได้-เชื่อไม่ได้” มันอยู่ที่ประสบการณ์ไง เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของตัว ไม่ให้เชื่อๆ ความเป็นจริงมันเกิดจากใจของเรา อย่าเพิ่งเชื่อ แล้วเราพิสูจน์ๆๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้พิสูจน์ เพราะการพิสูจน์นั้นคือการกระทำ การพิสูจน์นั้นคือมรรค การพิสูจน์นั้นจะทำให้ใจได้ประสบความจริง การพิสูจน์ๆ ขอให้พิสูจน์ทำความจริงขึ้นมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกพระอานนท์ไว้ “อานนท์ เธอบอกประชาชนนะ อย่าบูชาเราด้วยอามิสบูชาเลย ปฏิบัติบูชาเราเถิด ให้ปฏิบัติบูชา” เวลาปฏิบัตินั้น การพิสูจน์นั้นมันจะเข้าไปพุทธะในหัวใจ มันจะเข้าไปสู่สัจจะความจริงในใจอันนั้น มันจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ใจดวงนั้นจะได้สัมผัส ใจดวงนั้นจะได้ความจริงกับใจดวงนั้น เอวัง