เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๕ เม.ย. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ธรรมะคือสัจธรรม ดูสิ เวลากลางวันมันร้อนมาก เมื่อคืน อากาศตอนกลางคืน อากาศมันเย็น อากาศพอสะดวกสบายดี ลมพัดโชยๆ ดูจันทรคราส จันทรคราสคือปรากฏการณ์ธรรมชาติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ นานๆ ครั้งหนึ่งมันจะวนรอบมันมาหนหนึ่ง ปรากฏการณ์ธรรมชาติ แล้วปรากฏทางหัวใจของเราล่ะ ปรากฏทางหัวใจเราเวลามันไฟท์กัน อารมณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้นในหัวใจ แล้วเวลาปรากฏการณ์ธรรมชาติขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่สวยงาม มันเป็นสิ่งที่สวยงาม แล้วมันเป็นปรากฏการณ์นานๆ หนหนึ่ง

เราทำหัวใจของเรา ในหัวใจของเรา ถ้าปรากฏการณ์ของมัน ถ้ามันศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันสมดุลของมัน มันจะมีความสุขในหัวใจนะ แล้วความสุขอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้ มันเกิดขึ้นมาจากการกระทำของเราไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์นะ เวลาวางธรรมและวินัยนี้ไว้ พวกเรามีศรัทธามีความเชื่อในพระรัตนตรัย ในพระพุทธ ในพระพุทธคือในปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทำไมถึงต้องว่าอย่างนั้นล่ะ

ว่าอย่างนั้นเพราะเสียสละไง เป็นพระโพธิสัตว์เสียสละชีวิตแล้วเสียสละชีวิตเล่า เสียสละทุกอย่างเลยเพื่อโพธิญาณไง ถ้าไม่มีการเสียสละอย่างนี้ จิตใจไม่แก่กล้า จิตใจไม่มีบารมีธรรม มีบารมีธรรม หมายความว่า ความคิดที่ดีๆ ความคิดที่มันไม่ใฝ่ต่ำ ความคิดที่มันต่อต้านกับความคิดใฝ่ต่ำ แล้วความคิดที่มันแสวงหา พยายามค้นคว้านั่นคือบารมี นี่ไง ที่เราบูชาๆ เราเชื่อของเราอย่างนั้น นี่พระพุทธ

พระธรรม พระธรรมคือสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้า รื้อค้นขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนเราเกิด แก่ เจ็บ ตายมันทุกข์ยากแสนยาก แล้วคนที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายมันจะมีความสุขมากน้อยขนาดไหน แล้วสิ่งที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายมันเกิดมาจากไหน? มันเกิดมาจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายอย่างนี้ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตายอย่างนี้ แต่ไม่มีใครสามารถมีปัญญารู้เท่า ไม่มีใครทะลุรู้แจ้งไปได้ ไม่มีวาสนาทะลุรู้แจ้งอวิชชาไปได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สัจธรรมๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกราบธรรมเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ แล้วเรามีความระลึก เราเคารพ

พระสงฆ์ พระสงฆ์คือพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก พระสงฆ์คือพระสงฆ์ที่มีสัจธรรมในหัวใจ ถ้ามีสัจธรรมในหัวใจ หัวใจนั้นมีคุณธรรม มันคิดความเลวร้ายไม่ได้ เพราะมันเป็นกุศล-อกุศลไง ถ้ากุศลเกิดขึ้น หลวงตาท่านบอกเวลากุศลเกิดขึ้น เราพยายามเหยียบคันเร่งขึ้นมาเพื่อให้มันอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา เวลาอกุศลมันเกิดขึ้นมา พยายามเหยียบเบรกมันไว้ เหยียบเบรกมันไว้ เรายังเป็นปุถุชนอยู่ ยังมีการเกิดมีการดับเป็นธรรมดา เวลาเกิดขึ้น สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งที่ความดีเกิดขึ้น เราก็เหยียบคันเร่งขึ้นไป สิ่งใดที่มันเกิดขึ้นมามันเป็นบาปอกุศลก็ไปเหยียบเบรกมันไว้ เรายังต้องดูแลรักษาหัวใจของเราไป

แต่ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์ๆ ท่านชำระล้าง ท่านสำรอกคายมันออก ท่านเห็นภัยของมันไง เห็นภัยในกิเลส เห็นภัยในความคิดของเรา เห็นภัยมันมาก สิ่งนี้เป็นแก้วสารพัดนึกของเรา เขาบอกว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกราบพระธรรมๆ สัจธรรมมันแสดงตัวให้เห็นเมื่อคืนนี้” สัจจะๆ แต่สัจจะนี้มันสัจจะของโลก มันไม่ใช่สัจจะของธรรม

ถ้าสัจจะของธรรมมันสัจจะในหัวใจนี้ หัวใจนี้มันทำของมันได้ มันประโยชน์ของมันขึ้นมา ถ้าประโยชน์ขึ้นมา เราเกิดมาเป็นมนุษย์นะ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา คนเราถ้ามีอำนาจวาสนานะ ผิดชอบชั่วดีมันต้องรู้ คำว่า “ผิดชอบชั่วดีใครก็รู้” ผิดชอบชั่วดีเราก็รู้ เราก็อยากจะทำแต่คุณงามความดี แต่ทำไมทำไปแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ

เพราะความไม่ประสบความสำเร็จอันนั้นมันถึงทำให้เราท้อแท้ เพราะความไม่ประสบความสำเร็จอันนั้นทำให้เราทุกข์ยาก แต่ถ้าประสบความสำเร็จล่ะ ถ้าประสบความสำเร็จนะ บุญกุศล ประสบความสำเร็จเราก็ชื่นชม ประสบความสำเร็จเราก็พอใจไง เห็นไหม สุขกับทุกข์ เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมข้ามพ้นทั้งสุขและทุกข์

เวลาความสุขมันเป็นอนิจจังหมดแหละ ความทุกข์นั้นมันก็มาอยู่ชั่วคราว ทำสิ่งใดแล้วผิดพลาด เราขยันหมั่นเพียร มีความพยายามอดทนของเรา มีการกระทำของเรา มันก็มีประสบการณ์ขึ้นมา มันก็ดีขึ้นมาได้ ความสุข ความสุขที่ทำแล้ว ที่ว่ามันประสบความสำเร็จ พอประสบความสำเร็จแล้ว ต่อไปเวลามันบ่อยครั้งเข้าๆ มันก็มีอุปสรรค มีต่างๆ มันเป็นอนิจจังทั้งนั้น มันเชื่อไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ มันเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้ แต่เราต้องอาศัย เห็นไหม

เราเกิดมาเป็นมนุษย์นะ เกิดเป็นมนุษย์ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยนะ เรามีปัจจัย ๔ เพื่อดำรงชีวิตใช่ไหม ดำรงชีวิตไว้ทำไม สิ่งนี้มันดำรงชีวิต สุขและทุกข์ ความประสบความสำเร็จ ความผิดพลาดอันนั้นมันก็เป็นประสบการณ์ มันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจ หัวใจที่หล่อเลี้ยงไป

เราเป็นห่วงกันนะว่าเราเกิดมาเราต้องมั่นคงในชีวิต ทุกอย่างเราต้องสมบูรณ์แบบหมด แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นกษัตริย์ ท่านละทิ้งหมดเลย หลวงปู่พรหมท่านเป็นนายร้อย ท่านเป็นพ่อค้าใหญ่ ท่านมีฐานะของท่าน ท่านมีภรรยาของท่าน แล้วเวลาท่านมีฐานะแล้วท่านปรึกษาภรรยาว่าเราสองคนก็มีฐานะ แล้วเราก็ไม่มีลูกมีเต้า เราอยู่ไป เราตายไปแล้วมันจะเป็นประโยชน์อะไร เราตกลงกันว่าเราออกประพฤติปฏิบัติด้วยกันดีกว่า ประชุมตกลงกันแล้วแจกสมบัติๆๆ แจกสมบัติจนหมดเลย แล้วหลวงพรหมท่านก็ออกบวช ไปประพฤติปฏิบัติเหมือนหลวงปู่มั่น ภรรยาของท่านก็ออกบวช

สิ่งที่มันมีอยู่โลกนี้มันเป็นอนิจจังทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคนมีสติปัญญา ผิดชอบชั่วดีเขารู้ แต่ผิดชอบชั่วดีทางโลกอย่างหนึ่ง ผิดชอบชั่วดีทางโลก มันมีกฎหมาย มีกติกา มีวัฒนธรรมประเพณี เราก็อย่าก้าวล่วงไป เพราะก้าวล่วงไปมันกระทบกระเทือนคนอื่น มันกระทบกระเทือนคนอื่น มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้นแหละ เพราะกระทบกระเทือนหัวใจกันมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้นเลยล่ะ นี่มันเป็นเรื่องผิดชอบชั่วดีทางโลก แต่ผิดชอบชั่วดีทางธรรมล่ะ

เวลาคนเรานะ ปัญญา ปัญญาหรือสติปัญญามันเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นมันก็ควบคุมสิ่งใดได้ทั้งนั้นแหละ คนขาดสติ คนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำสิ่งใดไปมันก็ผิดพลาดทั้งนั้นแหละ เวลาเด็กน้อยมันทำสิ่งใดมันไร้เดียงสา มันน่ารักน่าชังไปหมดล่ะ แต่เราเป็นผู้เฒ่าแล้วมาไร้เดียงสาอยู่ มันเป็นไปได้ไหมล่ะ คนเฒ่าคนแก่มันไร้เดียงสาอยู่ เอาตัวไม่รอดนะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หัวใจ สิ่งที่ว่าเราตั้งเจตนา ทุกคนบอกว่า “มีเจตนาดี มาทำบุญกุศลที่วัด หลวงพ่อเอ็ดเอาๆๆ ตลอดเลย” เอ็ดเอาๆ เอ็ดเอาสิ่งที่ว่ามันผิดพลาดหรือเปล่า มันต้องพัฒนาขึ้นไปไง คำว่า “เอ็ดเอา” มันมีมาตรฐานไง ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือความปกติของใจ ศีลคือข้อวัตร ศีลคือข้อวัตรปฏิบัติที่มันเป็นกติกา ถ้ากติกานี้มันเป็นสากล มันเป็นการบังคับใช้ทั้งหมด เราก็ควรจะอยู่ในขอบนั้น เพราะอะไร มันกระทบกระเทือนหัวใจกันไง

วัฒนธรรมประเพณีเขาไม่ก้าวล่วงกัน เพราะมันสะเทือนหัวใจกัน คนที่มาวัดมาวาก็อยากจะมีความสงบระงับ เข้าไปในวัด ที่อยู่ของผู้ทรงศีล ผู้ทรงศีลแล้วมันสงบระงับไง คนที่จิตใจเขาสูงส่งนะ เวลาเขามา เขาจอดรถอยู่ข้างนอก เขาไม่เอารถเข้ามา เขากลัวกระทบกระเทือนคนอื่น แล้วเขาเดินเข้ามา บอกโยมทำไมเดินเข้ามาล่ะ

เกรงใจ ไม่อยากเอารถเข้ามา จอดไว้ปากทางแล้วเดินเข้ามา

แต่บางคนก็คิดว่ามันไม่เป็นไรๆ นี่สิ่งนี้มันเป็นเจตนา ผิดหรือถูกล่ะ เราตัดสินว่าผิดหรือถูกได้ไหม เราตัดสินว่าผิดหรือถูกไม่ได้ เรายังตัดสินผิดหรือถูกไม่ได้ เพราะมันยังไม่กระทบกระเทือน มันยังไม่ทำใคร แต่ถ้ามันไปกระทบกระเทือนล่ะ

เราจะบอกว่า ถ้ามันเป็นธรรมๆ เป็นธรรมจากหัวใจ ผิดชอบชั่วดีข้างนอกอย่างหนึ่งนะ ผิดชอบชั่วดี จะบอกว่าเรามีเจตนาดีๆ...เจตนาดีของเรา ถ้ามันด้วยความวุฒิภาวะเราอ่อนด้อย เราไปกระเทือนคนอื่น เห็นไหม เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบอกว่าถ้าเราจะเสียสละทาน เสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ อวัยวะเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ไปโรงพยาบาล ไปรักษาดูแล เสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ

เราจะเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต บางอย่างมันรักษาไปแล้ว ถ้าอวัยวะมันเสียหาย ถ้าเก็บไว้มันจะพาให้ชีวิตนี้เสียไปเลย ต้องสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตนั้นไว้

แล้วผู้ปฏิบัติครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติ ซึ้งมาก เวลาหลวงตาท่านพูด เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ เวลากิเลสมันหลอกนะ “อดอาหารก็จะตาย ปฏิบัติไปก็จะตาย นู่นก็จะตาย มันอะไรตายก่อน อะไรตายก่อน” คนเรานะ เวลาบอกคำว่า “ตาย” มันถอยล่นแล้ว ไม่สู้แล้วล่ะ ตาย ถ้าตายเก็บชีวิตไว้ก่อน เอาไว้เดี๋ยวคราวหน้าค่อยว่ากัน

แต่คำว่า “สละชีวิต” เพราะมันสละตาย พอสละตาย มันกระชากหัวใจนะ เราสละตายเลย อะไรตายก่อน ขอดูหน้ามันอะไรตายก่อน อะไรมันตายก่อน อะไรจิตมันออกจากร่างไป ดูก่อน ไล่เข้าไปๆ ถ้าไล่เข้าไปนะ เพราะส่วนใหญ่แล้วที่เราทำกันไม่ได้เพราะเราสั่นไหว หัวใจเราสั่นไหว เราท้อแท้ ถอยกรูดๆ เลย กิเลสมันเอาคำว่า “ตาย” มาขวางไว้

เราสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ถ้าเราสละชีวิตแล้วมันได้ธรรมด้วย ถ้าสละชีวิตไปแล้วถ้ามันได้ธรรมขึ้นมา ได้ธรรมคืออะไร มันไม่เห็นมีอะไรตาย หลวงตาท่านพูดบ่อย ถ้าตายก็กิเลสมันตาย กิเลสมันตาย พลิกศพกิเลสด้วย แต่ของเรา พอมันเอาความตายมาขวาง สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม สละชีวิตเพื่อจะเอาธรรม ทีนี้สละชีวิตขึ้นมา “โอ้โฮ! ปฏิบัติต้องขนาดนั้นเชียวหรือ ปฏิบัติต้องขนาดนั้นเชียวหรือ ไม่เอาหรอก เอาสะดวกสบายดีกว่า เอาสะดวกสบายดีกว่า” นี่ก็ออกไปโลกแล้วล่ะ เพราะอะไร เพราะจิตมันส่งออก จิตมันส่งออก มันพาดพิงถึงสิ่งใดก็คิดถึงสิ่งนั้น

นี่พูดถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติ นานๆ มันปรากฏหนหนึ่ง ปรากฏการณ์ทางหัวใจนะ มรรคญาณมันเกิดขึ้นมานะ ดูครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติขึ้นมา หนเดียวเท่านั้น หนเดียวเท่านั้น เวลาสมุจเฉทฯ หนเดียวเท่านั้น แต่กว่าที่จะหนเดียว มันต้องมีประสบการณ์ ต้องมีการทดสอบตรวจสอบ ทดสอบตรวจสอบจนกว่ามันถึงจะหนเดียวเท่านั้น พอหนเดียวเท่านั้น ไม่มีอีกแล้ว กิเลสตายแล้ว มันไม่มีคนตายครั้งที่สอง ตายแล้วก็คือตายแล้ว แต่ส่วนใหญ่มันไม่ตาย มันแค่หลบหลีก

คำว่า “หลบหลีก” มันละเอียดลึกซึ้ง มันหลบหลีกไปแล้วเราคิดว่ามันไม่มี “มันไม่มี มันว่างหมดเลย หามันไม่เจอ” เพราะอะไร เข้าข้างตัวเองหมดล่ะ นี่ก็เล่ห์กลของมัน นี่ก็เล่ห์กลของมัน วิธีของมัน วิธีของมัน มันทำตัวมันให้หายไป มันเป็นนามธรรม มันหายไปมันหายไปไหนล่ะ มันหายไปอยู่ในใจเรานั่นล่ะ มันไม่หายไปไหนหรอก ซุกไว้ใต้พรม เดี๋ยวเผลอ โผล่มาแล้ว แล้วโผล่มาคราวนี้หนักกว่าเก่า เพราะมันรู้เท่าแล้ว พอมันรู้เท่า นี่ก็คือเล่ห์กลของมันไง

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ถึงบอกกิเลสนี้มันร้ายนัก กิเลสนี้มันร้ายนัก แล้วมันเป็นเรา เราถนอมตัวเรานะ ทำอะไรไม่ได้เลย เดี๋ยวจะเป็นเดี๋ยวจะตาย แต่เวลาบอกจะเป็นจะตายบอก “อู๋ย! เอาขนาดนั้นเชียวหรือ”

มันจะตาย มันจะตายด้วยความรู้สึกนึกคิดก็มี มันตายจริงๆ ก็มี ความตายๆ แต่เวลาความตาย กิเลสเล่ห์กลของมัน มันพลิกแพลงมาตลอด สิ่งที่ว่าผิดชอบชั่วดี คนที่ประพฤติปฏิบัติเขาต้องรู้ของเขา แล้วถ้าจิตใจของเขาพัฒนาขึ้นมาระดับนี้ ทำไมเขาไม่เข้าใจสังคม

หลวงตาท่านพูดเอง จิตที่มันฝึกดีแล้วมันเข้าได้ทุกเม็ดหินเม็ดทราย เข้าได้ทุกอณูของอากาศ เข้าได้หมดเลย มันเป็นเนื้อเดียวกัน มันไม่มีอะไรขัดแย้งกัน มันขัดแย้งก็ขัดแย้งกิเลสเรา ทิฏฐิมานะเราน่ะ ไม่เห็นด้วย ไม่ดีด้วย ไม่พอใจด้วย ถ้าถูกใจเรา ถูกหมดเลย ถ้าขัดใจ ผิดหมดเลย แล้วอันนั้นเป็นธรรมหรือ

ถ้ามันเป็นความจริง มันไม่มีสิ่งใด มันเข้าได้ทุกอณูเลย แล้วจะไม่ให้เข้าใจสังคมได้อย่างไร มันเข้าใจสังคม แต่ครูบาอาจารย์ของเรานะ จิตที่สูงกว่าดึงจิตที่ต่ำกว่า คนที่มีความคิด แล้วความคิดที่เราคิดได้ไม่ทัน ดูสิ ประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่ยังไม่พัฒนา เวลาการพัฒนาห่างกันหลายสิบปี จิตใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลาพัฒนาไปแล้ว เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เขามีเกณฑ์วัดว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว จิตใจของคนที่ปฏิบัติแล้ว เวลาบรรลุธรรม มันอันเดียวกันนั่นแหละ แต่เวลาที่มันจะพัฒนาขึ้นมา แต่ละประเทศ เวลามันพัฒนาขึ้นมาห่างกันหลายๆ สิบปี

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรานี่เหมือนกัน อายุมากกว่าเขา ทุกอย่างมากกว่าเขา แต่ประสบการณ์ทำมาขนาดไหน แล้วเวลาปฏิบัติไป ขิปปาภิญญา ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวเป็นพระอรหันต์ ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวเป็นพระอรหันต์เพราะอะไร เพราะเขาสร้างมาแต่ละภพแต่ละชาติอย่างนี้ไง แต่ละภพแต่ละชาติเขาสร้างของเขามา ความคิดของเขาประเสริฐมากนะ

ดูสิ บางคนความคิดดีนี่ดีมากๆ เลย แต่บางคนความคิดของเขา พ่อแม่สั่งสอนขนาดไหนก็แล้วแต่ เขายังประชดประชัน “พ่อแม่ไม่รักฉัน ไปรักคนอื่น” ทั้งๆ ที่เราปรารถนาดีมันก็พลิกแพลงไป อันนั้นมันผลเวรผลกรรมนะ ผลเวรผลกรรม เราดูแลของเรา เรารักษาของเรา เพราะมันเป็นสายเลือด เพราะมันเป็นสายเลือด คำว่า “สายเลือด” มันมีผลเวรผลกรรมขึ้นมามันถึงได้มาเกิดร่วมกัน การเกิดร่วมกันมันต้องมีเวรมีกรรมมาด้วยกันทั้งสิ้น

แต่เวลามีเวรมีกรรมมาแล้ว เราจะดูแลรักษาด้วยสุดความสามารถของเรา เสร็จแล้วเขาเรียกว่า “อุเบกขา” ถ้ามันไม่มีอุเบกขานะ พรหมวิหารของผู้ปกครอง เราหวัง เราปรารถนาให้เป็นอย่างที่คาดหวังทุกๆ อย่าง แล้วมันไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังแม้แต่อย่างเดียวเลย ทุกข์ไหม

ถ้าทุกข์แล้วนะ เราอุเบกขา อุเบกขาด้วยความเป็นธรรมนะ อุเบกขาด้วยว่าทุ่มเท ทำทุกอย่าง ทำเต็มที่แล้ว กรรมมันเป็นแบบนั้น กรรมของสัตว์ แต่ถ้าเราทุ่มเทแล้ว ทุกอย่างพัฒนาดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น เราสร้างคุณงามความดีกันมา เราสร้างคุณงามความดี สิ่งนี้ประเสริฐกับเรา อันนั้นมันเป็นกรรมเก่า แล้วกรรมใหม่ล่ะ บอก “กรรมๆ เขาเรียกลัทธิยอมจำนน ไม่ทำอะไรเลย” เวลานักวิทยาศาสตร์ เวลาเขาวิจัยพระพุทธศาสนาเขาจะบอกอย่างนี้ บอกว่า “งมงาย ไม่ขวนขวาย”

มันไม่ขวนขวายที่ไหน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “มนุษย์เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร” ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะมันเป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘ ความเพียร ความเพียรชอบ แต่ความเพียรไม่ชอบก็ทำให้ชีวิตมันเหลวไหลไปไง แต่ถ้าความเพียรชอบ ความวิริยอุตสาหะ อันนี้มันเป็นความขยันหมั่นเพียร มันไม่ใช่ปล่อยวางๆ หรอก

มันปล่อยวางด้วยสัจจะ ด้วยความจริง มันหลุดพ้นของมันไป ไม่ใช่ปล่อยวางด้วยอย่างเรา ปล่อยวางด้วยปฏิเสธ ปล่อยวางด้วยความไม่รับรู้ เห็นไหม เวลาเขาวิเคราะห์วิจัยเขาก็บอกว่า “ศาสนาพุทธเป็นลัทธิยอมจำนน เป็นการเชื่อแบบงมงาย”

แต่เวลาปฏิบัติ งมงาย มันเอาหัวใจเราได้อย่างไร งมงาย บวชตั้งแต่สามเณรน้อยจนอายุเป็นร้อยปี ตายไปอยู่ในเพศสมณะ มันงมงายตรงไหน มันมีความสุขความทุกข์ในหัวใจบีบคั้นทั้งนั้นแหละ แล้วมันอยู่ได้อย่างไรล่ะถ้าไม่มีสัจธรรมในหัวใจ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาเขาว่างมงาย กรรมเก่ากรรมใหม่ไง ถ้ากรรมเก่า เพราะกรรมเก่า หมายความว่า จริตนิสัย นิสัยของสัตว์โลกที่เกิดมามันมีเวรมีกรรมมา เขาถึงมีพันธุกรรมของเขาเป็นอย่างนั้น พันธุกรรมทางจิตคือความรู้สึกนึกคิดของเขา นั่นล่ะเวรกรรมของเขาสร้างอย่างนั้นมา นั่นกรรมเก่า

แล้วกรรมใหม่ กรรมใหม่ก็ทำอยู่นี่ไง กรรมใหม่ก็ศีล สมาธิ ปัญญา กรรมใหม่ก็สตินี่ไง มันมีมาขนาดไหน ต้นทุนของเรา ต้นทุนที่ไม่เท่ากัน ต้นทุนที่เราสร้างมา นี่กรรมของเรา แล้วก็บากบั่นของเรา ทำของเรา แล้วถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา มันเป็นจริงขึ้นมาในหัวใจไง

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” จะไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสดๆ ร้อนๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่มีชีวิตอยู่ ประทับอยู่กลางหัวใจของเรา พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่กลางหัวใจของเรา แต่เราไม่มองที่กลางหัวใจของเรา เราไปมองสภาวะแวดล้อม ไปมองข้างนอกหมดเลย ถ้าใครย้อนกลับเข้าไปสู่พุทธะ จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เป็นๆ เอวัง