เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๔ พ.ค. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ เราทุกคน เราเกิดมาเราปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ แล้วผู้ที่ปฏิบัติก็ปรารถนาจะถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ จะได้มรรคได้ผล คำว่า “ได้มรรคได้ผล” มันเป็นความคิดนะ ตัณหาซ้อนตัณหา พวกเรามีตัณหาความทะยานอยากอยู่แล้ว ตัณหาความทะยานอยากในการประกอบสัมมาอาชีวะ อย่างนี้ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าไม่ใช่กิเลส เพราะมันเป็นหน้าที่ แต่ถ้าตัณหาซ้อนตัณหาสิ ตัณหาซ้อนตัณหา จะเอาให้ได้ จะเอาให้เป็น ไม่ได้ก็ตีโพยตีพาย อันนี้เป็นความทุกข์ทั้งนั้นแหละ

เราทำตามสัจจะตามความจริงของเรา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุมันสมควร เหตุมันสมดุล มันต้องให้ผล ที่มันไม่ให้ผลเพราะเราขาดตกบกพร่อง แต่เราไม่เห็นความขาดตกบกพร่องของเรา เราคิดว่าเราทำสมบูรณ์ๆ ไง...มันทำเกินไป คำว่า “เกินไป” อัตตกิลมถานุโยค ทำรุนแรงเกินไปก็ไม่ใช่ ทำอ่อนแอเกินไปก็ไม่ใช่ แล้วคิดว่าเราทำเต็มที่ เราทุ่มทั้งตัวเลย แต่ทุ่มทั้งตัว ถ้าพูดถึงทางโลก พันธุ์กล้ามเนื้อ ไม่มีสมอง ถ้ามีสมอง สมองก็จะคิดบำรุงรักษาเต็มที่แล้ว เราทำเต็มที่แล้ว ทำเต็มที่แล้ว ไม่อย่างนั้นมันจะมีอุทธัจจกุกกุจจะ

อุทธัจจกุกกุจจะคือความฟุ้งซ่าน เวลาอุทธัจจะนี่ความเกินกว่าเหตุ มันมีของมันนะ ในสังโยชน์นั่นแหละมันบอก ในสังโยชน์ เราทำเกิน เราว่าเราทำมุมานะ เราทำจริงจัง เราทำเข้มแข็ง เราทำนี่

ความเข้มแข็งนะ เริ่มต้นเข้มแข็ง เพราะคนเรามันอ่อนแออยู่แล้ว ความง่วงเหงาหาวนอนคืออุทธัจจกุกกุจจะ คือเราศึกษามาก รู้มาก สมองมันทื่อ ทำสิ่งใดทำไม่ได้เลย ทำจริงจัง ทำเข้มแข็ง

อุทธัจจะ เห็นไหม รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์เบื้องบน เราทำเกินไปๆ ถ้าทำเกินไป ไม่สมดุล มันก็ไม่ใช่ แล้วคิดว่าตัวเองจะใช่ เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตัว แล้วคนทำมันไม่มีประสบการณ์ แล้วก็ตีโพยตีพายจะเอาอย่างนั้น แล้วจะให้จบพอดีนะ เทศน์จบเลยบอกว่าเราเรียนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วทำให้ครบเลย แล้วก็บอกว่าไม่เห็นได้อะไรเลย นี่จะหาว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโกหก

เวลาหลวงตาท่านพูดถึงนะ ท่านบอกว่าให้ประพฤติปฏิบัติมา ถ้าปฏิบัติไม่ได้ ถ้าปฏิบัติมันไม่ถึงนะ เราจะพาไปหาพระพุทธเจ้าเอง ไปฟ้องพระพุทธเจ้า นี่เวลาท่านพูดนะ

แต่ของเราทำอย่างนั้นมันเป็นเรื่องโลกๆ โลกๆ คืออัตตา คือความคิดของเรา ความคิดของเราแล้วมันจะเป็นประโยชน์ต่อเรา...มันไม่เป็น ดูตอนนี้ทางโลก สินค้าขายตรงมันเป็นการขายตรงเพื่อให้สินค้าราคาถูกลง เพราะไม่มีพ่อค้าคนกลาง แล้วเวลาขายตรง ขายตรงขึ้นไป เพราะว่าสินค้าของเราไม่ใช่สินค้าบนชั้นวางสินค้าที่เขาเลือกได้ เราเข้าขายตรงกับผู้ซื้อ เราอธิบายถึงคุณภาพ เราอธิบายถึงต่างๆ นี่สินค้าขายตรง มันเป็นธุรกิจ มันเป็นระบบธุรกิจอันหนึ่ง

แต่เวลาพวกสินค้าขายตรงเขาบอกเลยนะ ความเชื่อถือ ให้ตลาดเชื่อถือ เขาไม่ค่อยเชื่อถืออยู่แล้ว เพราะว่าเซลล์ ใครๆ เห็นก็บอกว่าน่ากลัวๆ สิ่งต่างๆ เขาทำให้น่าเชื่อถือเพราะสินค้าเขาต้องมีคุณภาพ ใช้แล้วได้ประโยชน์ตามนั้น นี่การขายตรงมันก็เป็นธุรกิจอันหนึ่ง

ไอ้พวกแชร์ลูกโซ่ๆ มันมาทำปั่นป่วนหมดเลย แล้วเวลาแชร์ลูกโซ่ เวลามา เวลาเขาจะเสนอสินค้าของเขา เขาไม่มีสินค้าของเขา เขามีแต่กำไร เขามีแต่คนที่เข้ามาก่อนก็ได้ประโยชน์ไป คนเข้ามาทีหลังเป็นเหยื่อทั้งนั้นเลย

สินค้าขายตรงของเขา สินค้าเขาต้องมีคุณภาพของเขา เขาทำเพื่อประโยชน์ของเขา นี่ข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงมันมีของมันอยู่อย่างนั้น ทำจริงมันก็ได้ของมันจริง ถ้าคนที่เขามุมานะ เขามีความอดทนของเขา เขาสร้างธุรกิจของเขา ไอ้คนที่เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ เพราะมันมีไง ในเมื่อระบบธุรกิจของเขามีอยู่แล้ว ถ้าธุรกิจของเขามีอยู่แล้ว เขาเข้ามาฉาบฉวยไง

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยมันมีอยู่ เวลาเข้ามา เราจะเข้ามาทำธุรกิจขายตรงโดยข้อเท็จจริงหรือเราจะเข้ามาทำแชร์ลูกโซ่ มันอยู่ที่ใครเข้ามาทำธุรกิจนั้น ถ้ามีสติมีสัมปชัญญะ...ใช่ การขายตรง การทำต่างๆ ธุรกิจมันยั่งยืน มันเป็นความสุจริต มันมีธรรมาภิบาลของมัน มันทำแล้วมันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นบุญกุศล มันเป็นคุณงามความดี แต่ถ้าเป็นแชร์ลูกโซ่ เจตนาของเขา เขาว่าเขาได้ผลประโยชน์ เขาได้ผลประโยชน์ เขาจะเอาแต่ผลประโยชน์ เอาแต่ผลประโยชน์ ถ้าเอาผลประโยชน์ มันเข้ามาเริ่มต้นมันก็ได้ผลประโยชน์ชั่วคราว แต่ต่อไปมันไม่ได้อะไรเลย มีแต่ความเสียหาย มีแต่โทษทั้งนั้นแหละ ถ้าคนจะเข้ามาทำมันต้องมีคุณงามความดีในหัวใจ ว่าอย่างนั้นเลย ถ้ามีคุณงามความดีในหัวใจ เราทำของเรา เราทำคุณงามความดีของเรา ถ้าทำได้มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น

คิดเอาแต่ได้ๆ มันไม่ได้ ถ้าไม่ได้ มันจะย้อนกลับมาเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งคือวุฒิภาวะอ่อนด้อย ประเด็นหนึ่งคือหัวใจมันไม่ซื่อสัตย์ พอไม่ซื่อสัตย์ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม มันไม่สมควรแก่ธรรมหรอก มันไม่สมควรแก่ธรรมมันก็ไม่ได้สัจจะไม่ได้ความจริงอันนั้น ถ้าไม่สมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรมมันต้องได้สัจจะอันนั้น แล้วตอนนี้สังคมเขาบอกว่า “ทำดีไม่ได้ดี ทำดีไม่ได้ดี คนทำชั่วได้ดีมีถมไป” แล้วก็คิดว่าจะทำชั่วกันอย่างนั้นหรือ กิเลสเวลามันหลอกมันล่อมันเป็นอย่างนั้นนะ

เราทำดีไม่ได้ดี มันไม่ได้ดีตรงไหนล่ะ มันไม่ได้ดีตรงไหนถ้าเราทำคุณงามความดี ความดีของเราความดีเล็กน้อย เวลาพระโพธิสัตว์นะ เขาเสียสละชีวิต เป็นหัวหน้าสัตว์เสียสละชีวิตตลอดเพื่อคุ้มครองหมู่สัตว์ เขาเสียสละชีวิตของเขามาเพื่อประโยชน์ๆ เขาถึงมีอำนาจวาสนาบารมี

เราทำอะไรของเรามา ทำสิ่งใดไม่ได้สิ่งใดก็ตีโพยตีพายจะเอาให้ได้อย่างนั้น เอาให้ได้อย่างนั้น แล้วมันจะไปเอามาจากไหนล่ะ เพราะมันเป็นความคิด เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ มันยิ่งบีบคั้นหัวใจ ยิ่งปฏิบัติยิ่งทุกข์ยิ่งยาก

แต่ถ้าเรามาด้วยบุญ ด้วยความเอิบอิ่ม ด้วยความพอใจของเรา เราพอใจเพราะอะไร เราพอใจเพราะเราเกิดเป็นมนุษย์นะ ถ้าเราเป็นคนที่มีศีลมีธรรม เราก็ประเสริฐแล้ว สัตว์มนุษย์ประเสริฐกว่าสัตว์เดรัจฉาน แล้วสัตว์มนุษย์ สัตว์มนุษย์มีหัวใจ มีหัวใจสนใจในเรื่องธรรมะ เรื่องศีลธรรม ถ้าศีลธรรม เห็นไหม

เวลาทางโลกเขาทำธุรกิจ เขาทำหน้าที่การงานกัน เขาแข่งขันกันเพื่อผลประโยชน์ เพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ของเรา เราทำของเราเป็นนามธรรมหมดเลย สติก็เป็นนามธรรม สมาธิก็เป็นนามธรรม ปัญญาก็เป็นนามธรรม มันเป็นนามธรรม มันไม่มีสิ่งใดจะพิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้เลย แต่ทำไมเรายังสนใจ ทำไมเรายังมาค้นคว้ากันอยู่ล่ะ ความรู้สึกรู้สึกนึกคิดอย่างนี้มันแตกต่างกันแล้ว คุณภาพของคนมันแตกต่างกันแล้ว ถ้าคุณภาพมันแตกต่างกัน ถ้าเราทำสิ่งนี้ได้ นี่ธรรมโอสถ

ถ้าธรรมโอสถนะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเขาไปหายากัน หาหมอกัน เขารักษาร่างกายของเขา จิตใจของเราป่วยไข้ไหม ถ้าจิตใจของเรา เราประกันได้ว่าจิตใจเราป่วยไข้เพราะเรามีกิเลส พอกิเลสมันบีบคั้นในหัวใจของเรา ถ้าจิตใจของเราป่วยไข้ เราจะรักษาหัวใจของเรา หัวใจเรียกร้องความรักษา เรียกร้องผู้ดูแลมัน ถ้าเรียกร้อง เรียกร้องอย่างไร จิตใจต้องการความดี จิตใจต้องการความปรารถนาทั้งนั้นแหละ แล้วจะเรียกร้องเอาจากใครล่ะ

ถ้าเรียกร้องเอาจากใคร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาประพฤติปฏิบัติมา ๖ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มา พยายามขวนขวาย ขนาดอาฬารดาบส อุทกดาบสรับประกันส่งเสริมขนาดไหนก็ไม่เชื่อๆ เพราะมันไม่เป็นความจริงไง แต่เวลาความจริงเป็นความจริงขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเป็นความเป็นจริงในหัวใจของเรา เห็นไหม

เวลาเราบอกเราคิดไม่มีใครรู้ เราทำสิ่งใดก็ไม่มีใครรู้ ความลับเราจะปกปิดไว้ แต่ความลับมันไม่มีในโลก มันไม่มีในหัวใจของเรานี่ไง เวลาเราคิดอะไรสิ่งใดที่มันน่าขยะแขยง “อื้อหืม! คิดได้ขนาดนี้เชียวหรือ” แล้วมีสติสัมปชัญญะยับยั้งมันๆ แต่ถ้ามันคิดคุณงามความดีเราก็ส่งเสริมๆ นี่ความลับมันไม่มีในโลก แล้วเวลาความลับอย่างนี้ เวลาเราจะปกปิดไว้ แล้วคุณธรรมเราอยากได้ เราอยากจะให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปั้นแต่งเลย จะให้เราเป็นพระอรหันต์ ให้เราเป็น มันจะปั้นแต่งได้อย่างไรล่ะ เพราะว่ามันอยู่ภายใน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เล็งญาณๆ ก็เล็งญาณในหัวใจของคนไง เล็งญาณในหัวใจของคนมันจะเปิดไหม หัวใจของคนเขาจะฟังไหม ถ้าพูดไปแล้วเขาไม่ฟัง พูดธรรมะไป เขาตีความไปทางโลก ไปไหนมา สามวาสองศอกเลย

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศนาว่าการนะ อนุปุพพิกถา คนที่ยังไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อ พยายามแสดงธรรมให้เขาเสียสละของเขา คำว่า “เสียสละ” จิตใจมันประเสริฐ เราหัดเสียสละ คำว่า “เสียสละ” เสียสละอารมณ์เรานี่แหละ เสียสละความหงุดหงิดนี่แหละ ทำไมเรามองคนนี้ มองสังคมแล้วทำไมหัวใจเรามันดิ้นรนล่ะ ทำไมหัวใจเราเป็นอย่างนี้ ถ้าหัวใจอย่างนี้แสดงว่าหัวใจเราไม่มีพื้นฐาน หัวใจของเราไม่เป็นสาธารณะ หัวใจของเราไม่เป็นประโยชน์ มนุษย์ก็มนุษย์เหมือนกัน ทุกคนก็อยากจะทำความดีเหมือนกัน แต่วุฒิภาวะของเขามีเท่านั้น เขาทำได้แค่นั้น เราน่าจะสงสารเขา

ถ้าเราสงสารเขานะ เราทำเป็นตัวอย่าง เขาจะไหลไปทางไหน เราก็ไม่ไหลไปกับเขา เวลาเขาเห็นเรา เห็นแล้วว่าเรามีจุดยืนของเรา เขาก็แปลกใจว่า “เอ๊ะ! ทำไมเขามีจุดยืนของเขา ถ้าเขาเริ่มเอ๊ะ! แสดงว่าเขาอยากจะศึกษา เขาอยากจะค้นคว้า ถ้าอยากค้นคว้า อนุปุพพิกถา ให้เขาเสียสละทาน เสียสละทานของเขา ถ้าเขาเสียสละของเขาได้ จิตใจเขาเปิดกว้างขึ้นมา เขาจะได้สวรรค์ของเขา ได้สวรรค์คือสวรรค์ในอกไง เขาต้องมีความสุขของเขา จิตใจเริ่มปกติ มันไม่คิดเรื่องสิ่งที่เผาไหม้ตัวเอง จิตใจเขาเริ่มเป็นปกติ ถ้าเขาตายไป เขาจะได้ไปสวรรค์ ถ้าไปสวรรค์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ถือเนกขัมมะเลย ไม่ใช่ไปสวรรค์ เอาเดี๋ยวนี้ เอาเนกขัมมะ คือว่าไม่ไปคลุกคลีกับสิ่งที่เป็นอกุศลเดี๋ยวนี้ ถ้าเดี๋ยวนี้ เพราะจิตใจเขาควรแก่การงาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเทศน์อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เวลาพูดถึงเรื่องทุกข์ ทุกคนบอกมีความทุกข์ๆๆ...อันนี้มันเป็นวิบาก มันเป็นผลของทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ เหตุแห่งทุกข์มันมีสมุทัย ความสมุทัย ตัณหาความทะยานอยากอันนั้นมันไม่ทันมัน มันหลงใหลไปกับมัน มันถึงได้เกิดความทุกข์ เกิดความไม่พอใจ ไม่อยากได้ พยายามผลักไสๆๆ อยากได้ มันไม่มาๆๆ เหตุผลมันอยู่ตรงนี้ ทุกข์ควรกำหนด กำหนดที่ว่าเราไม่พอใจ เราไม่พอใจในความทุกข์ แล้วผลมันมาจากไหน ถ้าผลมาจากไหน แต่เราไม่เห็น เราไปคร่ำครวญกัน คร่ำครวญก็แบบโลกไง แบบโลกที่มันเป็นโลก เป็นโลกหมายความว่าจิตมันส่งออก ส่งออกมันอยู่ที่ขันธ์ ๕ ส่งออกมันอยู่ที่อารมณ์ มันไม่ได้อยู่ที่จิต มันส่งออกไปที่อารมณ์ แล้วนี่เป็นวิบาก แล้วเราก็ไปนับผลตรงนั้นว่าทุกข์ๆๆ แต่เวลาเป็นความสุขทำไมไม่บ่นล่ะ ก็ผลเหมือนกัน ส่งออกเหมือนกัน เวลาส่งออก “โอ๋ย! อันนี้ชอบใจ อันนี้รื่นเริง”...นั่นก็ทุกข์ ทุกข์อย่างละเอียด ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ และทุกข์ดับไป

เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ จิตใจมันต้องละเอียด ละเอียดเพราะอะไร ละเอียดนะ ถ้าจิตใจคนละเอียดลึกซึ้ง จิตใจคนมีหลักมีเกณฑ์แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ทำสมาธิ การทำสมาธิก็เพื่อต่อต้านกับเหตุนี้ เพื่อทำจิตใจของเราให้มั่นคง ให้จิตใจของเรามีกำลัง ถ้าจิตใจมีกำลัง เวลามันรู้มันเห็นของมัน มันจะเป็นความจริงของมัน ถ้ามันไม่มีกำลัง มันเป็นวิปัสสนึก มันสร้างภาพ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด จิตนี้มหัศจรรย์นัก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้เป็นได้ทุกอย่าง ถ้ามันจะเป็นคนดี มันสร้างตัวมันเป็นเทวดาเลย ถ้ามันจะเป็นคนชั่วนะ มันคิดทำลายคนได้มหาศาลเลย แต่ทีนี้พอจิตมีสติปัญญา เราฟังธรรมๆ เห็นไหม สินค้าขายตรงเขามีระบบของเขาอยู่แล้ว เราก็ว่าระบบนี้มันดี เข้าไปแล้วกูจะเอาผลประโยชน์ไวๆ มันจะลงทุนเอาแต่ผลประโยชน์เลย ไม่มีสินค้า ไม่มีอะไรเลย เป็นแชร์ลูกโซ่ไปเลย

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติไม่มีเหตุมีผลเลย ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย แล้วก็ตีโพยตีพายว่าจะได้หรือจะไม่ได้ไง เพราะว่าจิตใจยังไม่ทำความสงบของใจ ถ้าทำความสงบของใจได้ ถ้าทำความสงบของใจนะ เวลาทำความสงบของใจ ดูสิ เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูด กำหนดจิตอยู่ในกายนี้หลายๆ ชั่วโมงนี่เป็นสมถะ ถ้าจิตสงบแล้วพิจารณากายนี้ เห็นกายนี้ จิตเห็น แต่นี่ไม่ใช่จิตเห็น อารมณ์เห็น เพราะเราคิด เราคิด เราตั้งใจ อารมณ์ทั้งนั้นแหละ แต่ก็อยู่ในกายนี้ ไม่ให้ไปยุ่งนอกเรื่อง

เวลาจิตของเราคิดร้อยแปดไป เราบังคับให้คิดพุทโธ พุทโธๆ เราคิดพุทโธของเรา มันมีคำบริกรรม ถ้ามันสงบเข้ามามันก็สงบเข้ามาได้ ถ้ามันไม่สงบเข้ามา เราก็ดูแลรักษาของเรา ทำของเราให้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา ประโยชน์กับเราไง ประโยชน์ที่ไหน

ประโยชน์ที่ คนเรานะ ถ้ามันมีจุดยืน มันมีสามัญสำนึก มันจะเป็นคนดีของมัน คนเราถ้ามีศีลมีธรรมนะ กฎหมายไม่ต้องบังคับใช้เลยล่ะ กฎหมายบังคับใช้ต่อเมื่อคนมันออกนอกเรื่องนอกราว ถ้าคนมีศีลมีธรรมนะ ทีนี้มีศีลมีธรรมตั้งแต่มโนกรรม ตั้งแต่ความคิดแล้วมันจะทำลายข้างนอกไหม แล้วถ้ามันประพฤติปฏิบัติเข้าไปต่อหน้า มันก็จะได้มรรคได้ผล

ถ้ามันปฏิบัติประสาโลก ที่เขามา เขาปฏิบัติประสาโลก ปฏิบัติวิทยาศาสตร์ คือทำให้เหมือน ทำให้สมบูรณ์ จบแล้ว

ทำให้เหมือนมันเป็นสัญญา มันเป็นการก็อปปี้ การก็อปปี้ เขาเป็นคนดี เราก็อยากเป็นคนดีกับเขา ถ้าอยากเป็นคนดี เด็กๆ ดูสิ เมื่อวานเขามา พอพ่อเขากราบ ลูกก้มลงกราบตามเลย เออ! เราเห็นกับตาเลยนะ พอพ่อลงกราบปั๊บ ลูกมันกราบตามเลย นี่ทำให้เหมือน ทำให้เป็น ไอ้นี่มันเป็นเรื่องโลกไง เด็กมันก็ดูตัวอย่างพ่อแม่มันนั่นแหละ พ่อแม่ทำตัวอย่างไร เด็กมันก็ทำตามนั้น ถ้าเด็กทำตามนั้นนะ เด็กทำตามนั้นก็เป็นความดีไหม? เป็น

นี่ก็เหมือนกัน ทำให้เหมือนๆ ทำให้เหมือนคือเราพยายามประพฤติปฏิบัติไง มันเป็นเรื่องโลกไง ถ้าเราทำมากขึ้นๆ ต่อไป มันเป็นของเราแล้ว ถ้าเป็นของเรา ปัญญามันเกิดแล้ว ถึงบอกว่าพระอรหันต์ร้อยองค์ก็ร้อยอย่าง ไม่มีใครเหมือนกันหรอก เพราะจริตนิสัยเหมือนกันมันไม่มี ดูสิ ในระหว่างพระพุทธศาสนาเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด ไม่มีใครเทียบเท่าได้หรอก ไม่มีเลย เป็นไปไม่ได้

แล้วดูสิ เวลาพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา พระติเตียนทั้งหมดว่าทำไมไม่ตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะ เพราะพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก เพราะพระพุทธเจ้าเทศน์ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก ถ้าตั้งก็ต้องตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะ นี่คิดแบบโลกไง

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ เราตั้งตามสมบัติของเขา มันเป็นของเขา มันเป็นของพระโมคคัลลานะ เป็นของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรเขาสร้างอำนาจวาสนาของเขามา เขาปรารถนาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เขาได้สร้างบุญกุศลของเขามา แล้วเขาทำตามบุญกุศลนั้น แล้วเขามารับผลของเขาตามอำนาจวาสนาของเขา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ไปบิดเบือนอะไรทั้งสิ้น

แต่เราคิดเป็นวิทยาศาสตร์ไง ทำให้เหมือน ทำให้เป็นแล้วจะเป็นไง ทำให้เหมือน ทำให้เป็นมันก็สร้างสมอำนาจวาสนาบารมี แต่เวลามันเป็นจริงขึ้นมา มันเป็นจริงเพราะมันต้องสมดุลกับใจดวงนั้น ถึงได้บอกว่า มรรคเวลามันมรรคสามัคคี มันสมดุล สมดุลอย่างไร? สมดุลกับใจดวงนั้น สมดุลกับกิเลสดวงนั้น สมดุลกับความเพียรอันนั้น สมดุลกับหัวใจดวงนั้นที่สร้างสมมาตรงจริตตรงนิสัย ตรงเข้าไปสู่ฐีติจิต ตรงเข้าไปสู่ภวาสวะ ทำลายภพของชาตินั้น มันตรงอย่างนี้ไง ถ้ามันตรงอย่างนี้มันต้องเป็นแบบนั้น ทีนี้ครูบาอาจารย์ที่เป็นเป็นอย่างนี้ คนเป็นไม่ต้องอาศัยตำรา มันเป็นตลอด

แต่ถ้าเราไม่เป็น เราต้องหนีบตำราไปด้วย นี่เอาตำรามาเลยนะ ถือมาเลย “ถ้าหนูไม่เป็นพระอรหันต์ หนังสือหลวงพ่อก็ผิด”

เราบอกว่า หนังสือกูถูก มึงผิด ผิดเพราะอะไร เพราะทำให้เหมือนไง จริงๆ หนังสือมันเป็นประโยชน์ เพราะว่าถ้าเขาไม่ได้อ่าน เขาไม่ได้ทำเลย เขาก็ไม่ได้ทดลองกรรมฐานเรา ทดลองการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้ เขาได้ทดลองแล้ว แต่เขาทดลองด้วยสัญญาอารมณ์ ด้วยจินตนาการ ด้วยสัญญาอารมณ์มันสร้างภาพได้ เพราะเรารู้ว่าจิตมันสร้างภาพได้ ใครมาพูดอย่างไร พอฟังเราก็รู้แล้ว พอสร้างภาพได้ แล้วอย่างนี้พอสร้างภาพได้มันก็เหมือนคนทุกข์คนจน “เราทำอะไรผิดไปหมดเลย ถ้านายทุนผู้มีสตางค์ทำอะไรถูกไปหมดเลย”

มันจะคิดอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะมันยังไม่มีสมาธิไง มันไม่มีพื้นฐานก็ว่าเราเป็นคนทุกข์คนจนใช่ไหม คนทุกข์คนจนทำอะไรผิดไปทั้งนั้นแหละ ไอ้คนรวยๆ ทำอะไรไม่เคยผิดเลย

ไอ้คนรวยๆ เขาทำอะไร ทำไมเขาถึงรวยล่ะ เขารวยเพราะว่าเขาต้องมีสติปัญญาของเขา เขารักษาสมบัติของเขา เขาถึงมีมารยาทของเขา เขารู้ว่าอะไรควรไม่ควรของเขา เขารู้กาลเทศะของเขา เขาทำอะไรแล้วเขาต้องมีสติปัญญา

ไอ้เราคนจนๆ ไม่เคยได้อะไรมาเลย เราได้อะไรมาจะทำอะไรก็ทำไม่ถูก ก็ต้องทำสมาธิสร้างฐานขึ้นมาให้จิตมันเข้มแข็งขึ้นมา พอเข้มแข็งขึ้นมาแล้วมันจะย้อนกลับไปเลย “เมื่อก่อนทำไมไม่รู้เนาะ เมื่อก่อนทำอะไรไปก็ไม่คิดเนาะ” นี่ถ้ามันสำนึกนะ ถ้ามันไม่สำนึกมันก็ยังตีโพยตีพายต่อไปนั่นล่ะ ถ้าตีโพยตีพายก็เป็นที่วุฒิภาวะของเขา อำนาจวาสนาของเขา นี่คนประพฤติปฏิบัตินะ

นี่พูดถึงว่า เวลาโลก มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน มุมมองไง ถ้ามุมมองของเรา เราปฏิบัติของเรานะ แล้วเราทบทวนในหัวใจของเรา หัวใจมันบอกจริงหรือไม่จริง หัวใจเรานี่ ถ้ามันไม่จริงนะ มันสงสัย มันยังสงสัย มันยังน่าจะ หรือ น่าจะอยู่อย่างนั้นแหละ

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ ไม่มีอะไรเหลือเลย ในหัวใจ ในหัวใจไม่มีอะไรเหลือเลย สำรอกคายหมด แล้วสำรอกคายหมด ดูสิ แล้วต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ถามด้วย มันเป็นอย่างนั้นเลย ถ้ามันเป็นอย่างนั้นเลย นี่สัจจะความจริงอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า เราตั้งใจ เราปรารถนากัน เราทำคุณงามความดีกันเพื่อประโยชน์ แต่คนที่ยังอยู่ในสังคมโลกเขามองแบบประสาโลก เราจะบอกว่าในกลุ่มชน ในกลุ่มชนเขามีความคิดหลากหลาย ถ้าความคิดหลากหลาย เราตั้งสติของเรา แล้วทำของเรา จะให้คนคิดเหมือนเราไม่ได้ แล้วจะให้เขามีมุมมองเหมือนเราไม่ได้ แต่เราจะอ่อนด้อยไป ใครมาติเตียน ใครมาชักนำแล้วเราเห็นใจเขาไง เห็นใจเขา อยากจะประจบประแจงเขา ยอมเขาไปหมด หลักการก็ไม่มีน่ะสิ

สัมมาทิฏฐิมันต้องมีจุดยืน สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิที่ถูกต้องดีงาม ต้องมีจุดยืน ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิหลงแล้วนะ ยังพยายามยืนของตัวเองขึ้นมา มันเป็นมิจฉาคือความผิดพลาด ก็ยังจะพยายามหาจุดยืนไง แต่สัมมาทิฏฐิต้องมีจุดยืน เราเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วถ้ามีใครติฉินนินทาเราจะคล้อยตามไป แล้วสัมมาทิฏฐิมันอยู่ไหน สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิที่ความถูกต้อง ความถูกต้อง ความดีงาม ข้อเท็จจริงมันอยู่ไหน มันต้องอยู่ในหัวใจของผู้ที่ปฏิบัติจริง ผู้ที่รู้จริง มันถึงเป็นจุดยืนให้เป็นที่พึ่งของสังคม เอวัง