เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๑ พ.ย. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ สัจธรรมไง สัจธรรมแสวงหา ชีวิต เห็นไหม ชีวิตนี้เวียนว่ายตายเกิด เวลาเกิดมาแล้ว เวลาไร้เดียงสามันน่ารักน่าชัง แต่เวลาโตขึ้นมาแล้วมันมีแต่ความทุกข์ความยาก ความทุกข์ความยาก กิเลสมันบีบคั้นหัวใจ ถ้ากิเลสมันบีบคั้นหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน สอนถึงสัจธรรม สัจธรรมมันเป็นเช่นนั้น มันมีของมันอยู่อย่างนั้น แต่คำว่า “มีของมันอยู่อย่างนั้น” เราเข้าใจของเรากันเองไงว่ามันมีอยู่อย่างนั้นโดยที่เราไม่ได้ทำสิ่งใดเลย

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามันมีของมันอยู่อย่างนั้น แต่ต้องมีการกระทำสัจจะความจริง ศีล สมาธิ ปัญญาเข้าไปชำระล้างตามความจริงอย่างนั้น มันถึงจะชำระล้างอย่างนั้น เพราะชำระล้างอย่างนั้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากหน้ามือเป็นหลังมือนะ จากที่ว่าความทุกข์บีบคั้นในหัวใจ มันจะมีความปลอดโปร่ง มีความโล่งโถง สัจธรรมๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐอย่างนี้ไง ประเสริฐเลอเลิศ ประเสริฐเหนือโลก เหนือโลกเหนือสงสาร เหนือการเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นสัจจะความจริงอันหนึ่ง แต่สัจจะความจริงอันนี้มันละเอียดอ่อนลึกซึ้งจนผู้ที่มีอำนาจวาสนาถึงจะเข้าไปรื้อค้นถึงสัจจะอันนั้นได้

เวลาธรรมมาคุยกันด้วยความเข้าข้างตนเอง ด้วยความเห็นแก่ตัวไง “ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ของมันมีอยู่แล้ว เดินเข้าไปเผชิญหน้ามัน เข้าไปเจอมัน”

เดินหน้าเข้าไปเจอมัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องสร้างบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ “มีความรู้เสมอเรา มีความเห็นเหมือนเรา ความรู้เสมอเรา ความเห็นเหมือนเรา” ดูสิ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนก็มีความรู้ทุกคนมีความเห็นทั้งนั้นน่ะ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วซาบซึ้งๆ ซาบซึ้งก็เวียนว่ายตายเกิด เวียนว่ายตายเกิดด้วยความไม่รู้ตัวไง มันไม่รู้ตัวมันเองหรอก มันรู้ตัวมันเองไม่ได้เพราะมันไม่มีสัจจะความจริงในหัวใจ

ถ้ามีสัจจะความจริงในหัวใจ เห็นไหม ที่ว่ามันเป็นเช่นนั้นเองๆ...มันเป็นเช่นนั้นเอง แต่คนต้องไปรื้อค้นไปเห็นสัจจะความจริงอันนั้นมันถึงเป็นเช่นนั้นเอง แล้วเป็นเช่นนั้นเอง นี่ทำลายภวาสวะ ทำลายภพทำลายหัวใจ หัวใจมันเหนือโลก มันเหนือความเป็นเช่นนั้นเอง เพราะความเป็นเช่นนั้นเองมันเหมือนขาดสติเหมือนขาดปัญญา เหมือนแร่ธาตุ แร่ธาตุต่างๆ มันรู้ตัวมันเองไหม นี่มันไม่รู้ตัวมันเองเลยล่ะ แล้วมันมีคุณค่าสิ่งใดไหม มันมีคุณค่าต่อเมื่อคนเอามันมาใช้ประโยชน์ไง

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของเรามันมีคุณค่ามาก มีคุณค่ามาก แต่กิเลสมันพาใช้ กิเลสมันพาใช้ มันพาให้เราทำหน้าที่การงาน ทำให้เราคิด ทำให้เราค้นคว้า ทำให้เราเป็นขี้ข้ามัน มันพาใช้ กิเลสมันพาใช้ มันยังไม่ใช่ธรรมะพาใช้ ธรรมะพาใช้คือพวกเรานี่ไง

ถ้าธรรมะพาใช้ เราขวนขวายของเรา เราทวนกระแส คำว่า “ทวนกระแส” นะ มันชอบสิ่งใด มันต้องการสิ่งใด มันปรารถนาสิ่งใด เราทำฝั่งตรงข้าม มันอยากไป ไม่ไป มันอยากทำ ไม่ทำ มันไม่อยากเดินจงกรม ไม่อยากนั่งสมาธิภาวนา พามันทำ

“ทำไปทำไม ทำหน้าที่การงานแล้วมันได้ผลตอบแทน ไอ้นี่เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนามันไม่เห็นได้สิ่งใดเลย”

ไม่เห็นได้สิ่งใดเลย มันไปค้นคว้าเอาความจริงไง ค้นคว้าหาใจของตัวไง ค้นคว้าถ้ามันได้ขึ้นมา สัมมาสมาธิ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แม้แต่มันสงบระงับเข้ามามันก็มีความสุขของมันแล้วล่ะ

ทีนี้ความสุขของเรา คนเราเกิดมา เกิดมา ดูสิ คนจีนด้วย คนจีนต้องมีหน้าที่การงาน คนจีนเป็นคนที่ประหยัดมัธยัสถ์ คนที่ขวนขวาย คนจีนเขาต้องทำการงานไง เขาวัดกันด้วยผลงานไง แล้วเห็นมาบวชพระ เห็นมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นว่าขี้เกียจไง ไม่ทำหน้าที่การงาน แต่นั่นน่ะทำยิ่งกว่าที่เขาคิดไง เพราะหลวงตาท่านบอกว่า “หน้าที่การงานทางโลกที่ทำมาแล้ว ที่ว่าขวนขวายมานะ อย่าเพิ่งว่าเป็นงานอันวิกฤตินะ งานการประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันเสียสละชีวิต”

เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา เวลาหลวงตาท่านเดินจงกรมจนตกทางจงกรม เดินทั้งวันทั้งคืน คำว่า “เดินทั้งวันทั้งคืน” งานต่อเนื่อง งานต่อเนื่องนี้แสนยากนะ งานทำเริ่มต้นขึ้นมา ไฟไหม้ฟาง ไอ้พวกไฟไหม้ฟางไง ฮึดฮัดอยู่พักหนึ่ง ฮึดฮัดอยู่พักหนึ่ง พอไปช่วงกลาง ช่วงปลาย ล้มเหลวหมด

นี่ไง การทำต่อเนื่องๆ แล้วการทำต่อเนื่อง ๗ วัน ๗ คืน ๗ เดือน ๗ ปี เวลาทำต่อเนื่องขึ้นไป เวลาทำต่อเนื่อง การทำต่อเนื่องมันต้องมีเหตุมีผลของมันถึงทำต่อเนื่องได้ ถ้าเรามีเหตุมีผล เราทำสิ่งใดแล้วมันสงบระงับเข้ามา ทำแล้วมันมีประโยชน์ขึ้นมา เราจะชื่นใจ เราจะทำแล้วจะมีความสุขของเราไง

ทำต่อเนื่องๆ ทำแล้วไม่ได้ผลสิ่งใดเลย ทำแล้วมีแต่ความบีบคั้น ทำแล้วมีแต่ความทุกข์ความยาก ทำอย่างนั้นมันก็ไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดไง ถ้ามันจะได้มันก็ได้ที่ว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ เห็นไหม “อานนท์ เธอบอกเขาเถิด ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด อย่าบูชาเราด้วยอามิสเลย”

สิ่งที่เรามาบูชากันมันเป็นบูชาด้วยอามิส อามิสนี้ปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อดำรงชีวิต เป็นอามิส แต่เราก็ขวนขวายของเรา เพราะมันเกิดจากหน้าที่การงานของเรา เกิดจากพลังงานของเรา เราไปแลกเปลี่ยนเอาสิ่งนี้มาถวายทานไง

แต่ถ้าเราปฏิบัติบูชาๆ การเคลื่อนไหว การกระทำ กิจจญาณ สัจจญาณ มันเกิดการกระทำ มันเกิดเป็นความจริงขึ้นมา ใจมันได้สัมผัส มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก “ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด” มันจะมีโอกาสได้ ได้ส้มหล่น

เวลามันส้มหล่น เวลามันฟลุก มันเป็นขึ้นมานี่มหัศจรรย์มาก แต่ทำอีกไม่ได้ ทำอย่างไรจะให้เป็นอย่างนั้นอีกไม่ได้ เราต้องฝึกฝนๆ จนชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าออกไง สมาธิมันก็เกิดยาก เวลาเกิดแล้วจะรักษาไว้ได้อย่างไร

แต่ถ้าผู้ที่ชำนาญแล้ว จิตตั้งมั่นๆ เพราะทำความสงบของใจบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันตั้งมั่น พอมันตั้งมั่นขึ้นมา พอตั้งมั่นขึ้นมา ถ้ามันเป็นมิจฉาหรือว่าสมุทัยมันเจือปนเข้ามา มันขี้เกียจไง มันไม่ทำสิ่งใด แต่มันตั้งมั่นแล้ว ตั้งมั่นแล้วเวลามันเสื่อม เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา เรารู้ว่ามันจะเสื่อมไง เราต้องมีสติมีปัญญารักษามัน การรักษามันก็ฝึกหัด หน้าที่การงานทำสิ่งใดก็อยู่กับงานนั้น ฝึกหัดให้มันเจาะจง เจาะจงคือสติ ถ้าเจาะจงมีสติ เราทำสิ่งใดมันฝึกหัดให้เป็นจริตเป็นนิสัย ถ้าเป็นนิสัยมันทำจริงทำจัง ทำสิ่งใดก็ทำเพื่อประโยชน์กับตัว แล้วเวลาเข้าทางจงกรม นั่งสมาธิ มันก็มีสติยับยั้งไม่ให้มันคิดนอกลู่นอกทางไง นี่ถ้าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันมีความชำนาญของมัน นี่เหตุที่มันปกป้องดูแล

โคตัวหนึ่ง ปล่อยให้มันไปเพ่นพ่านตามแต่ความพอใจของมัน

โคตัวหนึ่ง เราผูกเชือกไว้ ผูกไว้กับต้นไม้ เรามีหญ้ามีน้ำให้มันกิน นี่ก็เหมือนกัน เราดูแลรักษาหัวใจของเรา รักษาโคตัวนั้นไว้ เวลาเข้าทางจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ก็ดึงเชือกมา จับเชือกมา เอาโคนั้นมาใช้งาน ถ้าใช้งานขึ้นมา ทำให้มันดีงามขึ้นมา นี่งานของเราๆ ที่ปฏิบัติบูชาๆ ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติบูชาอย่างนี้ ถ้ามันได้ตามความเป็นจริง

โคถึก เวลามันแข็งแรงของมัน มันขวิดของมัน มันทำของมันด้วยอำนาจของมัน มันจะเตะมันจะถีบสิ่งใดก็ได้ หัวใจของเราเวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันบีบคั้นในหัวใจ มันจะทำอย่างไรก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ แต่เรามีสติมีปัญญา เราฝึกโคตัวนั้นให้เชื่อง ฝึกโคตัวนั้นให้อยู่ในอำนาจของเรา ฝึกหัวใจของเรา พลังงาน ความรู้สึก ความคิดที่มันแผ่กระจายไป ความคิดที่มันดีดดิ้น ความคิดที่มันถือตัวถือตนว่ามีปัญญามาก ความคิดที่ว่ารู้ปัญญา รู้ซึ้ง รู้ทุกอย่างไปหมด

ถ้ามีสติเท่าทัน เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันคือปล่อยวาง ผลของมันคือความสงบ ผลของมันคือความสงบระงับ ความสงบระงับ พลังงานที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด พอมันสงบระงับแล้วมันมีพลังงานในตัวของมัน มันจะมีความมหัศจรรย์ๆ ถ้าทำได้จริงนะ นี่สมาธิจริงๆ มันมีสติ มีผู้บริหาร มีผู้จัดการไง สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี

จิตเวลามันฟุ้งมันซ่าน มันคิดต้องการจะไปเที่ยวทัศนศึกษา พอมันไปแล้ว ไปเห็นแล้วก็เท่านั้นแหละ ไปแล้วก็พอใจ นี่ไง เวลามันคิดๆๆ มันอยากจะไปทัศนศึกษา มันอยากรู้อยากเห็น นี่เวลาปัญญาเท่าทันมันปล่อยวางหมดเลย ไปมาแล้ว รู้รอบขอบชิดแล้ว ทำสิ่งใดเราก็รู้เท่าหมดแล้ว นี่สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แล้วถ้าจิตสงบแล้วร่างกายก็แข็งแรง สุขภาพกาย สุขภาพจิตดีไปหมดเลย ถ้าดีไปหมดเลย แต่กิเลสมันอยู่กับหัวใจของเรา อวิชชาความไม่รู้มันก็ยุมันก็แหย่ มันก็ทำให้เราทุกข์เรายากตลอดไป

เวลาเราทำหน้าที่การงานนี้ไม่ใช่กิเลสนะ เวลาถ้ามันเป็นกิเลส เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาก็เป็นกิเลสสิ เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐิความถูกต้องดีงาม อันนั้นเป็นมรรค แต่ถ้านั่งสมาธิภาวนา ความอยากได้ อยากดี อยากเป็น อันนั้นเป็นกิเลส กิเลสเพราะตัณหาความทะยานอยากคือสมุทัย ทำหน้าที่การงานของเรา ทำหน้าที่การงานเพราะเราเกิดเป็นคน เกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัยเป็นปัจจัย ๔ ปัจจัยนี้เราทำหน้าที่การงานของเรา แล้วเรามีคุณธรรมในหัวใจของเรา นี่เราทำเพื่อดำรงธาตุขันธ์ ดำรงธาตุขันธ์เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนให้เรามีความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ถ้าความเพียร เห็นไหม เราเกิดมามีชีวิตขึ้นมาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เราก็ดูแลพ่อแม่ของเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา เราหาปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อชีวิตนี้

แล้วถ้าชีวิตนี้ ใช้ชีวิตทางโลก แล้วถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราอยากจะมีเวลาในการประพฤติปฏิบัติ เราบวชเป็นนักพรต เราบวชมาถือพรหมจรรย์ ถ้าถือพรหมจรรย์นี่เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เช้าขึ้นมาเราพยายามบิณฑบาตเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพขึ้นมา จิตใจของเราไม่ฟุ้งซ่านจนเกินไป ปัจจัยเครื่องอาศัยเราก็พอประมาณของเรา เราอยู่โคนไม้ อยู่ในเรือนว่าง อยู่ต่างๆ เราต้องการความสงบสงัด เราต้องการเวลาของเรา เราไม่ต้องการไปบำรุงรักษา เราไม่ต้องการรับผิดชอบมาก เพื่อสงวนเวลานั้นมาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา นี่มันสมบูรณ์ของมัน ถ้าสมบูรณ์ของมัน ถ้ากิเลสมันไม่แซงหน้าแซงหลังนะ ถ้ากิเลสมันไม่ยุไม่แหย่นะ

ถ้ากิเลสมันยุมันแหย่ เห็นไหม “ทำคุณงามความดีขนาดนี้ บวชเป็นพระเป็นเจ้าขนาดนี้สิ่งใดก็ขาดตกบกพร่องไปหมดเลย” ขาดตกบกพร่อง มันขาดตกบกพร่องที่ไหนล่ะ มันขาดตกบกพร่องเพราะความเพียรของเรา ขาดตกบกพร่องเพราะการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันบอกมันขาดตกบกพร่อง ขาดตกบกพร่องเพราะกิเลสมันยุมันแหย่ไง “มันต้องมีทุกอย่างสมบูรณ์แบบแล้วเดี๋ยวเราจะเดินจงกรม ถ้าทุกอย่างสมบูรณ์แบบแล้วเราจะนั่งสมาธิภาวนา” มันหลอกไปข้างหน้าตลอดเลย แล้วทำไม่ได้ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่แสวงหานั้นมันไม่เคยพอ ไม่เคยพอ มันไม่สมบูรณ์ขึ้นมามันก็ไม่ได้นั่งสมาธิภาวนาเสียที นี่ถ้ากิเลสมันยุมันแหย่มันยุแหย่อย่างนี้

แต่ถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา เราเท่าทันหมดแล้ว เท่าทันหมดแล้ว ใช้สอยอย่างไรก็ไม่หมดหรอก ดูสิ ภิกษุเราไม่สะสมไว้แรมคืน ถ้าแรมคืนไปแล้วพรุ่งนี้ใช้สอยมันก็เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ บรรจุภัณฑ์นี้ได้มาเราก็ใช้สอยในวันนี้ ใช้สอยวันพรุ่งนี้เราก็หาของเราใหม่ มันก็ตลอดไป มันจะขาดแคลนไปที่ไหน มันสดๆ ร้อนๆ

ดูสิ ฆราวาสเขาหวังมรรค หวังบุญกุศลของเขา เขาต้องหาอยู่หากินของเขาขึ้นมา เขามีใจเป็นกุศล ของเขานี่เขาให้เราสดๆ ร้อนๆ ทุกวันเลย ถ้ากิเลสมันรู้เท่าๆ มันรู้เท่าอย่างนี้ มันรู้เท่าแล้วมันไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องมาบีบคั้นหัวใจไง ถ้าไม่บีบคั้นหัวใจ งานมันก็เป็นงานขึ้นมา แล้วพองานขึ้นมาก็ว่า “งานแค่นี้หรือ พระบวชมาแล้วก็เดินไปเดินมา นั่งสมาธิไม่เห็นทำงานอะไรเลย”

งานอันนี้แหละงานรื้อภพรื้อชาติ งานถอนภพถอนชาติ ถอนการเวียนว่ายตายเกิด ถอนสิ่งที่มันทุกข์มันยากอยู่นี่

ไอ้ที่เขาอาบเหงื่อต่างน้ำขึ้นมา เขาเลี้ยงร่างกายขึ้นมา เลี้ยงร่างกายขึ้นมาให้กิเลสมันตัวอ้วนๆ สิ่งนั้นมันทำประโยชน์ นี่มันเป็นประโยชน์ ประโยชน์โลก จิตเป็นกุศลๆ ถ้าจิตเป็นกุศลมันคิดดีมันเป็นประโยชน์หมดแหละ ถ้าจิตเป็นอกุศล “เกิดมาเราเป็นคนทุกข์คนจน เราเป็นคนลำบากลำบน” มันคิดตั้งแต่จะทำเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัยมันก็ตัดทอนตัวเอง จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ “โอ๋ย! เรายังไม่พร้อมเลย เราต้องแก่เฒ่าก่อน” นี่มันตัดทอนไปตลอดเลยถ้าจิตมันเป็นอกุศล ถ้าจิตมันเป็นกุศลขึ้นมามันทำได้หมด

ทำหน้าที่การงานขึ้นมา เราก็มีสติของเราขึ้นมา เราก็หัดภาวนาของเรา โคตัวนั้นผูกเชือกมันไว้ โคตัวนั้น โคก็คือเราไง ชีวิตได้มาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เราดูแลพ่อแม่ของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเรามีอำนาจวาสนาของเรา เราออกบวชออกประพฤติปฏิบัติของเรา มันก็ถือพรหมจรรย์ของเรา นี่เราทำของเรา มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน อยู่ที่เราแสวงหา อยู่ที่เราจะจริงจังมากน้อยขนาดไหน

ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เวลาได้มา ได้มาด้วยความทุกข์ความยาก การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก เกิดมาแล้วเราทำประโยชน์สิ่งใด ทำประโยชน์กับโลก ทำประโยชน์กับชีวิตของเรา ให้ครอบครัวเรามั่นคง ให้ทุกอย่างอุดมสมบูรณ์เพื่อชาติเพื่อตระกูลของเรา ของเราไง แล้วตัวตนของเราล่ะ แล้วถ้าเป็นจริงของเราขึ้นมา เกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้วมีประโยชน์อะไรสิ่งใดกับเราบ้าง เราทำประโยชน์อะไรกับหัวใจของเราบ้าง ถ้าทำประโยชน์กับหัวใจของเรา

ดูสิ วัฒนธรรมๆ เขามาเที่ยวประเพณีวัฒนธรรม เขาไม่เคยเห็น นี่ยิ้มสยามๆ ยิ้มสยามคือยิ้มออกมาจากใจ ยิ้มออกมาจากการขัดเกลาของศาสนา ยิ้มออกมาจากการขัดเกลาของธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่เป็นวัฒนธรรมมันยังมีความนุ่มนวลเลย แล้วถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาในใจของเรามันจะขนาดไหน

นี่ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้วนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้ แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย แล้วการเป็นพระอรหันต์ เราศึกษามาแล้วมันสูงส่ง มันสุดเอื้อม เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านบวชมาแล้ว เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าสร้างบุญกุศลก็ได้เป็นเทวดา ก็อยากเป็นเทวดา เทวดาต้องเวียนว่ายตายเกิด ก็อยากเป็นพรหม ถ้าเป็นพรหมก็ยังต้องหมดอายุขัย อยากนิพพาน นี่มันเป็นความจริงเพราะอะไร เพราะมันทุกข์อยู่ที่ใจนี้

เวลาทุกข์อยู่ที่ใจ ถ้ามันทำได้จริง ทำได้จริง เริ่มต้นขึ้นมามันก็จับพลัดจับผลูทั้งนั้นแหละ เพราะงาน งานทางธรรม งานทางนามธรรม งานในหัวใจ ขนาดงานทางเอกสารมันยังผิดพลาดได้เลย แล้วงานของเรา สติมันก็เป็นนามธรรมทั้งนั้น แต่เวลาทำขึ้นมาแล้วสติมันเป็นสัจจะเป็นความจริงเลย แล้วทำสมาธิขึ้นมา เวลามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันจับต้องได้เลย จิตเห็นอาการของจิต มันเป็นความจริง

เวลาทฤษฎีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนทฤษฎีความจริงทั้งนั้นแหละ แต่เวลาทำขึ้นมาแล้วมันจินตนาการ มันคาดมันหมายขึ้นไป มันสร้างภาพทั้งนั้นแหละ ความสร้างภาพมันก็เป็นอันหนึ่ง มันต้องสร้างภาพ มันต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา แต่ถ้าคนทำได้จริงขึ้นมาแล้ว คนทำจริงมันต้องพูดด้วยความจริงสิ เวลาเราทำทีแรกเราว่าเราถูกต้องดีงามของเรา แต่มันไม่เป็นความจริงสักอย่างเลย แล้วมันเสื่อมไปหมดเลย ถ้ายังเชื่อความจริงอันเสื่อมสภาพอันนั้น เราก็ยังจะล้มลุกคลุกคลานอย่างนั้นตลอดไป

ถ้าเราพลิกแพลงหาช่องทาง หาวิธีการของเรา ถ้าเราทำจริงขึ้นมา เอ๊าะ! เออ! มันจับต้องได้ มันจับต้อง จิตเห็นอาการของจิต มันเห็นอาการของมัน มันพิจารณาของมัน มันแยกแยะของมัน

ดูสิ มหายานเขาบอกเลย เวลาจะถอดจิตเหมือนกับปอกกล้วย เวลาเปลือกกล้วยกับกล้วยมันไม่ใช่อันเดียวกันเลย กายกับจิตมันไม่ใช่อันเดียวกัน เวลาเขาจะถอดจิตออกจากร่าง มหายานของเขา พระโพธิสัตว์ เขาจะสร้างสมบุญญาธิการของเขาไปตลอด เขาใช้แต่ฌานโลกีย์ เวลาเขาจะเอาจิตออกจากร่างเขาบอกว่า “เหมือนปอกกล้วยเลย” เขาชำนาญขนาดนั้น เขาพูดเปรียบเทียบได้ กล้วยนี่ปอกเปลือกสิ ปอกเปลือกกล้วย เปลือกกล้วยไม่ใช่กล้วย จิตก็ไม่ใช่กาย แล้วจิตมันออกจากกายอย่างไร คนทำเขาทำได้แค่ไหนเขาพูดได้แค่นั้นแหละ

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ ไอ้กล้วยกับเปลือกกล้วยมันก็เป็นเรื่องของจริง มันเป็นสัจจะความจริงอันหนึ่งอยู่แล้ว แล้วกายกับใจมันก็เป็นความจริงอันหนึ่งอยู่แล้ว แล้วปอกกล้วยกับกล้วยมันก็เป็นฌานโลกีย์ มันจะได้อะไร ดูสิ ระลึกอดีตชาติได้ รู้วาระจิตต่างๆ มันเป็นพลังงานทั้งนั้นน่ะ มันไม่ใช่มรรค

เวลาเป็นมรรค จิตสงบแล้วจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม พอจิตเห็นธรรมขึ้นมายกขึ้นสู่วิปัสสนา มันแยกมันแยะของมัน งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรม งานชอบ งานการรื้อภพรื้อชาติ ไม่ใช่งานไปรับรู้ความรู้สึกของคน ความรู้สึกของเรา เรายังไม่รู้เรื่องเลย แล้วเราไปรับรู้ความรู้สึกของใครล่ะ นี่ความเป็นจริงของเรา เห็นไหม ถ้ามันเป็นมรรคขึ้นมาเป็นมรรคอย่างนี้ เวลามันพิจารณา มันแยกแยะของมัน มันเป็นไตรลักษณ์ เป็นไตรลักษณ์เป็นอย่างไร

ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา นี่ไง จิตเห็นอาการของจิต แล้วมันเป็นความจริง ความจริงขึ้นมา แยกแยะขึ้นมา มันเป็นวิปัสสนา วิปัสสนามันเป็นมรรค เป็นมรรค คิดดูสิ งานชอบ เพียรชอบ ความระลึกชอบ อัตตกิลมถานุโยค ทำแล้วมันผิดพลาดไป กามสุขัลลิกานุโยค ทำแล้วมันนุ่มนวลเกินไป ถ้ามันสมดุลของมัน สมดุลแล้วมันคลายตัวออกๆๆ สังโยชน์มันบางลงๆๆ จนเวลามันถึงที่สุดของมัน มันสมดุลของมัน นี่กิจจญาณ สัจจญาณ มันขาด นี่ไง มรรคมันเป็นอย่างนี้ สังโยชน์มันขาดไป

สังโยชน์ ๑๐ พระโสดาบันละได้ ๓ พระสกิทาคามี กามราคะ-ปฏิฆะอ่อนลง พระอนาคามี ปฏิฆะ-กามราคะขาดไป พระอรหันต์นะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์ ๑๐ ขาด มันขาดอย่างไรล่ะ มันขาดออกไปจากใจอย่างไร

ถ้ามันสมดุลของมันก็เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เวลามันขาดเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป พระโสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติ พระสกิทาคามีอีก ๓ ชาติ พระอนาคามีไม่เกิดบนกามภพ พระอรหันต์สิ้นกิเลสไป เป็นสมณะ ๔ ประเภท บุคคล ๔ คู่ นี่การประพฤติปฏิบัติ มรรคผลของเรา นี่มรรคในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ไปรู้อีลุ่ยฉุยแฉก รู้บ้าบอคอแตก แล้วคำว่า “บ้าบอคอแตก” มันต้องคนรู้ด้วยมันถึงจะบอกได้ว่าอันไหนบ้าบอคอแตก อันไหนเป็นมรรค ถ้าไม่มีคนรู้จริง ไอ้รู้บ้าบอคอแตกนั่นน่ะมันดีงาม ดีงามเพราะอะไร เพราะเป็นฌานโลกีย์ พูดแล้วรู้เรื่อง ไอ้พวกโลกๆ มันคุยกันรู้เรื่อง พอพูดเรื่องมรรคมันงงเลยล่ะ พอเข้าเรื่องมรรคมันไปไม่เป็น มันเดินไม่ถูก

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านดึงมาที่นี่ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้ ฟังธรรมๆ ตอกย้ำหัวใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรม แล้วหัวใจของเราพยายามฝึกฝน ฝึกหัดให้มันมีคุณธรรม ให้มันงอกงามขึ้นมาในหัวใจของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง