เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ ม.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ธรรมะเป็นอาหารของใจ ข้าวปลาอาหารเป็นอาหารของกาย ร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหารเพื่อดำรงชีพ จิตใจของเรานะ ถ้าใครมีคุณธรรมในหัวใจ มีคุณธรรมในหัวใจ จะตกทุกข์ได้ยาก จะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ เราจะไม่ทุกข์ร้อนจนเกินไป เพราะมีสัจธรรมในใจ ถ้ามีสัจธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ กราบธรรมเพราะในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันมีวิหารธรรม มันมีความสุขอันนั้นไง

ถ้าว่านิพพาน นิพพานมันคืออะไรล่ะ นิพพานมันคือไม่มีเลยใช่ไหม นิพพานคือมันว่างจนจับต้องสิ่งใดไม่ได้เลยใช่ไหม แล้วถ้าไม่มีมันจะมีความสุขได้อย่างไรล่ะ ดูสิ มันสุขวิมุตติสุข สุขอย่างประเสริฐอันนั้นน่ะ มันต้องมีคุณธรรมในหัวใจสิ ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ เวลาครูบาอาจารย์เรา หลวงปู่ขาว ท่านเดินจงกรมถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่วิหารธรรมของท่านๆ เวลาครูบาอาจารย์ท่านมีวิหารธรรมในใจของท่าน วิหารธรรมอย่างนั้นเกิดขึ้นมาจากการขวนขวาย การค้นคว้า การประพฤติปฏิบัติ การทำความเป็นจริงขึ้นมา แต่เวลาทำบุญกุศลเป็นอามิส เราหวังพึ่งบุญ บุญเป็นที่พึ่งอาศัย บุญ คุณงามความดีเป็นที่พึ่งอาศัย

เวลาเรามีศีลมีธรรม คนที่มีศีลนะ ถ้ามีศีล ศีลต้องคุ้มครองเรา คุ้มครองเพราะอะไร เพราะเราไม่เบียดเบียนเขา เราไม่พูดโกหกมดเท็จเขา เราไม่เอาของมึนเมาเข้ามาในร่างกายของเรา มันคุ้มครองเราๆ มันคุ้มครองเราอยู่แล้วไง ถ้าเรามีศีลมีธรรม ศีลธรรมจะคุ้มครองเรา การคุ้มครองอย่างนี้ เราหวังบุญกุศลเป็นที่พึ่งอาศัย ที่พึ่งอาศัย เราถึงทำบุญกุศลกันอยู่นี่ไง บุญกุศลทำให้จิตใจของเรามันพยายามไขว่คว้า พยายามแสวงหา ความแสวงหาๆ แสวงหาสัจธรรมอันนั้น สัจธรรมอันนั้น ถ้าเป็นสัจธรรมอันนั้น

เราเป็นชาวพุทธนะ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ ถ้าสิ้นสุดแห่งทุกข์ มันสิ้นสุดกันที่ไหน? มันสิ้นสุดที่ในหัวใจของเรา เวลาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตนี้มันเป็นสัจธรรมอันหนึ่ง สัจธรรมอันหนึ่งมันไม่มีสิ้นไป มันมีสัจธรรมอันหนึ่ง มันต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แต่มันสำคัญตรงบุญและบาป

ถ้าบุญและบาป ถ้าบุญกุศล บุญพาเกิด บุญพาเกิด คนที่มีบุญพาเกิด เกิดขึ้นมาแล้วเขาประสบความสำเร็จทางโลกขนาดไหน นั่นบุญพาเกิด ถ้าบาปพาเกิด บาปพาเกิด เกิดมาเป็นคนเหมือนกัน แต่ความทุกข์ความยาก นี่คือบาปพาเกิด แต่การเกิดนี้เป็นอริยทรัพย์ เพราะการเกิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญคนว่าเกิดสูงเกิดต่ำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดแล้วทำคุณงามความดี คนเราไม่ใช่ดีและชั่วอยู่ที่การเกิด คนดีและชั่วอยู่ที่การกระทำ ถ้าการกระทำ ทำคุณงามความดีไง เกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ชาวพุทธมันมีประเพณีวัฒนธรรม วัฒนธรรมนั้นสำคัญมากนะ

เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมาฟื้นฟูของท่าน นี่อริยประเพณี อริยประเพณีนะ ประเพณีของพระอริยเจ้า อริยประเพณี ถือธุดงควัตร อยู่โคนไม้ นี่เป็นอริยประเพณี

“ประเพณีอย่างนี้หรือประเพณีที่มีความสุข ประเพณีของเรา เราต้องประสบความสำเร็จ เราต้องสมความปรารถนา ประเพณีอะไรไปอยู่โคนไม้ ประเพณีอะไร”

นั่นเป็นอริยประเพณี ประเพณีของพระอริยเจ้า ถ้าประเพณีของพระอริยเจ้า เราแสวงหา เราขวนขวายกัน เรากระทำกัน นี่เส้นทาง เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นฟื้นฟูขึ้นมานะ ฟื้นฟูข้อวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรนี้สำคัญมาก ข้อวัตรเหมือนถนนหนทาง ถ้าถนนหนทาง เรามีถนนหนทางสะดวกสบาย เราจะไปถึงเป้าหมายได้สะดวกสบาย แต่ถ้าไม่มีถนนหนทาง เราต้องไปตามป่าตามเขา เราต้องบุกเบิกของเราไปกันเอง ถ้าบุกเบิกไปเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะความบุกเบิกอันนี้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่แล้ว แต่ท่านฟื้นฟูข้อวัตรปฏิบัตินี้มา ถ้าฟื้นฟูข้อวัตรปฏิบัตินี้มา

ดูสิ เวลาท่านพูดกับหลวงตา ให้มีข้อวัตรติดหัวมันไป ให้มีข้อวัตรติดหัวมัน ถ้ามันมีข้อวัตรติดหัวไป ข้อวัตรติดหัวใจ ถ้าข้อวัตรติดหัวใจ มันทำสิ่งใดมันมีความละอาย คนเรานะ ถ้ามันมีความละอาย มีความเกรงกลัวต่อบาป มันทำสิ่งใดมันทำไม่ลงหรอก แต่ถ้ามันไม่รู้ มันบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องที่ของเล็กน้อยๆ

ไอ้ของเล็กน้อยนั่นแหละมันจะพากันเสียหายไปทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าคนที่ประหยัดมัธยัสถ์ คนที่มั่งมีศรีสุขเขารู้จักประหยัดมัธยัสถ์ เขาทำมาหากินของเขาแล้วเขาประหยัด ไอ้เราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของเรา เราทำแล้วเราบอกเราอยากจะมั่งมีศรีสุขเหมือนเขา แต่เราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกัน ใช้จ่ายนั้นเราว่าเป็นความสุขของเราไง การใช้จ่ายอันนั้นเราว่าเป็นความสุข แต่การหามา หามาเป็นความทุกข์ความยากไง แต่คนที่ประหยัดมัธยัสถ์เขาไม่ใช้จ่ายของเขา เขาใช้จ่ายตามความจำเป็นของเขา เขาเหลือของเขา เห็นไหม เพราะความประหยัดมัธยัสถ์อันนั้นทำให้คนเป็นคนดี

นี่ก็เหมือนกัน ข้อวัตรปฏิบัติ ประเพณีๆ เราอาศัยประเพณีนี้ ประเพณีก็ทำให้เราได้ทำบุญกุศลของเรา นี่ประเพณี ประเพณีให้เราได้สร้างคุณงามความดี เพราะประเพณี ประเพณีถ้าบางพื้นถิ่นมันเข้มแข็งกว่ากฎหมายอีก กฎหมายบังคับ คนรู้ได้มันรู้ได้ แต่ประเพณีเขาทำตามๆ กันไป นี่ถ้าเป็นประเพณี

แต่เวลาเราจะเอาความจริงของเรานะ ประเพณีมันทำให้เราหล่อหลอมหัวใจให้มันมีองค์ความรู้ ให้มันอยากศึกษา ให้มันอยากค้นคว้า แต่เวลาจะเอาจริงเอาจังขึ้นมา ทุกข์มันเกิดที่ไหนล่ะ? ทุกข์มันเกิดจากใจของเรา ใจของเราพอใจก็เป็นความสุข ถ้าไม่พอใจก็เป็นความทุกข์ ถ้ามันขัดแย้ง มันพยายามผลักไสก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าพอใจเป็นความสุข แล้วพอใจนั้นมันถูกหรือผิดล่ะ เราก็ต้องมีศีล เรามีศีลแล้ว ทีนี้พอเรามีศีล มีข้อวัตร คำว่า “ข้อวัตรๆ” นี่ถนนหนทางแล้ว

ถ้าข้อวัตร ข้อวัตรอย่างนี้หรือจะทำให้มีความสุขๆ

ก็เราไปขวนขวาย เราไปกว้านมาเป็นของเราทั้งหมด มันยังเป็นความทุกข์เลย แต่ถ้าเราจะมีความสุข เราปล่อยวางของเรา มันปล่อยวางได้ไหมล่ะ มันปล่อยวางไม่ได้หรอก เพราะธรรมชาติของมัน ตัณหาความทะยานอยากมันล้นฝั่งไม่มีต้นไม่มีปลาย มันล้นฝั่งอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้าล้นฝั่งอยู่อย่างนั้นมันไม่มีวันจบวันสิ้น เราต้องมีศีล พอมีศีลขึ้นมา เราจะทำความสงบของใจ เราจะมีสมาธิ ถ้าสมาธิ มันไม่ล้นฝั่งแล้ว

หลวงตาท่านบอกว่าสมาธิคือน้ำเต็มแก้ว ถ้าน้ำเต็มแก้ว น้ำเต็มแก้วของมัน มันมีขอบมีเขตของมัน ถ้ามีขอบมีเขตของมัน มันไม่ล้นฝั่ง ถ้าไม่ล้นฝั่งมันก็มีความสุข มีความสุข เราพอประมาณขนาดนี้

ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด มันสิ้นสุด มันสิ้นสุดอยู่แล้ว แล้วชีวิตนี้เราจะสร้างคุณงามความดีอะไร ถ้าสร้างคุณงามความดีทางโลก มันก็เรื่องของโลก ถ้าสร้างความดีทางธรรม เข้าสู่โคนไม้ เข้าสู่เรือนว่าง เข้าสู่ที่วิเวก เข้าสู่ที่วิเวกค้นคว้าหาใจของตน ค้นคว้าหาใจของตนไง เวลาทำจริงๆ ขึ้นมามันต้องทำที่ตน เวลาพระธุดงคกรรมฐานออกธุดงคกรรมฐาน ออกธุดงคกรรมฐานก็เพื่อหาใจของตน หาใจของตน หาใจๆ ไม่ใช่ มันต้องหาชัยภูมิ เข้าป่าเข้าเขาไป

คำว่า “เข้าป่าเข้าเขา” มันสงบสงัด มันไม่มีสิ่งที่มันจะมาเป็นเชื้อไฟ เชื้อไฟให้กิเลสมันฟูขึ้นมา แต่เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมา ไปอยู่ในที่สงบสงัด ความคิดมันก็ผุดขึ้นมา ถ้าความคิดผุดขึ้นมา เราต้องมีสติมีปัญญาต่อสู้กับมัน ถ้าต่อสู้กับมัน มันจะเป็นมรรคของเราแล้ว เป็นมรรคของเรานะ ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าไม่มีความจริงในหัวใจขึ้นมา มันจะไม่มีคุณธรรมในหัวใจขึ้นมา วิหารธรรมๆ ที่แสวงหามันอยู่ที่ไหน

เวลาสุขเวลาทุกข์ เวลาสุขเวลาทุกข์เป็นนามธรรม มันเกิดดับในใจ เวลามันสุขมันก็สุขชั่วคราว เวลามันทุกข์มันเจ็บแสบหัวใจทั้งนั้น แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา เราก็เห็นว่า อ๋อ! สมาธิเป็นอย่างนี้ มีความสุขมากๆ มีความสุขมากแล้วอยากได้อย่างนี้แล้วมันก็ไม่ได้ สิ่งที่ได้มา ได้มาเพราะสติ ได้มาเพราะปัญญา ได้มาเพราะการกระทำ มันได้มาเพราะการกระทำ

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันต้องมีเหตุมีผลของมัน มันถึงจะได้ความสงบระงับอันนี้มา ความสงบระงับอันนี้มันต้องสติด้วยปัญญาของเรานะ เวลาศึกษามาฟังมามันก็เป็นสัญญาทั้งนั้นน่ะ ถ้าเทียบเคียงเอาๆ มันก็ว่างได้ ว่างได้เพราะมันซาบซึ้งไง

ดูสิ เวลาคนทุกข์คนยากมีแต่คนปลอบใจ ปลอบใจว่าให้คิดได้ ให้ทำได้ พอคิดได้มันก็หายทุกข์อันนั้น นี่ก็เหมือนกัน ศึกษามา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลามันเทียบเคียงขึ้นมาก็ใช่ ความจริง สัจจะทั้งนั้นน่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ กราบธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็แปรปรวนทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเป็นความจริงของเราขึ้นมาล่ะ นี่มันต้องฝึกหัดตรงนี้ไง ถ้ามันมีสติปัญญามันจะย้อนกลับเข้ามา แค่ย้อนกลับเข้ามามันก็แสนยากแล้ว คนเราก็ต้องหวังประสบความสำเร็จทางชีวิต หวังประสบความสำเร็จทางชีวิต แล้วเวลาจะพลัดพรากขึ้นมาก็มาคร่ำครวญร้องไห้กัน

แต่ถ้าเวลาเรามีคุณธรรมในหัวใจ จิตตคหบดีเวลาจะตาย เทวดาเอารถมารอเลย จะไปแล้วนะ จะไปนิมมานรดี จะไปสวรรค์น่ะ เขาจะไปอยู่แล้ว ก็เพราะเขาสร้างของเขาไว้ เขาสร้างของเขาไว้ มันมีคุณธรรมในหัวใจ เขาสร้างของเขาไว้มันไปได้

ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แล้วสมบัติของเรา สมบัติของเราอยู่ที่ไหน สมบัติของเรา ถ้ามันอาศัยจากภายนอก มันอาศัยดำรงชีพ มันเป็นสมมุติ สมบัติสาธารณะ สมบัติสาธารณะเพราะมันเป็นสมบัติอยู่ในโลกนี้ ดูสิ ใครมีความสามารถขนาดไหนก็หาสิ่งนั้นมาเป็นสมบัติของเราได้ ถ้าสมบัติของเราได้ ถ้าเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของเราก็ทำให้นิสัยเราเสียด้วย ถ้าเราใช้จ่ายประหยัดมัธยัสถ์นะ สิ่งนั้นเหลือไว้เพื่อสังคม เพื่อสังคม เพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมีของใจ นี่ไง จิตของมัน

ถ้าจิตมันมีสติปัญญา สมบัตินั้นมันเป็นประโยชน์ได้ ถ้าจิตไม่มีสติปัญญา สมบัตินั้นมันทำให้เราเสียนิสัยได้ ทำให้เราเสียหายได้ ถ้ามันเสียหายได้นะ นี่สมบัติภายนอกไง แล้วถ้าสมบัติภายนอกอย่างนี้ เวลาเรามีศีล เรามีสติปัญญาของเรา ถ้ามันเป็นมิจฉา มิจฉาคือว่ามันคิดผิดเห็นผิด คิดผิดเห็นผิด มันก็เหมือนกับสมบัติของเรา เราใช้ทางเสียหาย มันทำให้นิสัยเราเสีย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นมิจฉา มันส่งออกไป มันไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ ความรู้เห็นนั้นมันเป็นไสยศาสตร์ คำว่า “ไสยศาสตร์” ไม่ต้องมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็มีอยู่แล้วไง ฤๅษีชีไพรเขามีอยู่ดั้งเดิมอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาออกค้นคว้าออกประพฤติปฏิบัติกับเขา ไปศึกษากับเขาแล้ว แล้ววางไว้หมด มาค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ โดยชอบโดยสัจธรรมอันนี้ไง ถ้าสัจธรรม มันเป็นมรรค เป็นมรรคมันเกิดที่ไหน เป็นมรรคมันเกิดที่ไหน เป็นมรรคมันเกิดที่จิตไง

เวลาจิตมันเป็น เวลามันทุกข์มันยาก จิตมันทุกข์มันยาก แล้วทุกข์ยากโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยนะ แต่ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิฝึกหัดใหม่ๆ ถ้ามันหยาบๆ อยู่ มันเป็นสมาธิมีความสุขมาก แต่จับต้องมันไม่ได้ ไม่รู้แนวทางในการเข้าไง ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าออกไง ถ้าชำนาญในการเข้าออก เรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราระลึกถึงอารมณ์นี้ไว้ได้ อารมณ์ที่เราเริ่มต้นอย่างไร เราวางอารมณ์อย่างไร เรากำหนดพุทโธอย่างไร เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิอย่างไร ถ้ามันสงบเข้ามา เราจำเหตุอันนั้น จำเหตุที่ทำได้ ถ้าผลอันนั้น ผลอันนั้นปล่อยวาง

อยากจะได้ผลอันนั้น อยากจะได้ผลอันนั้น อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนั้น แต่เวลาที่ทำอย่างนั้นทำไมมันถึงได้ล่ะ ที่จะเป็นอย่างนั้นเราทำอย่างไร ที่จะเป็นอย่างนั้นน่ะ ย้อนกลับไปที่นั่น พอย้อนกลับไปที่นั่น ของเคยทำ กิเลสมันรู้เท่า เราก็ต้องหาอุบาย หาทางพลิกแพลงขึ้นมา ถ้าพลิกแพลงขึ้นมา ชำนาญในวสี ถ้าเข้ามามันก็สงบได้

ความสงบนั้นเกิดจากการกระทำ ความสงบนั้นเกิดจากคำบริกรรม ความสงบนั้นเกิดจากปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันคลายความยึดมั่นของมัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คนเราเกิดมามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ คือร่างกายนี้ ขันธ์ ๕ คือความรู้สึกนึกคิด เกิดจากจิตปฏิสนธิจิต แต่เราไม่เห็นปฏิสนธิจิต เราเห็นแต่วิญญาณรับรู้ วิญญาณทางตา ทางจมูก ทางหู ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางสมอง คิดได้ คิดได้นะ เรารู้ได้แค่นี้เพราะเราเข้าไม่ถึง เพราะเราเข้าไม่ถึง เราถึงไม่ได้สมาธิไง ถ้าได้สมาธิก็สมาธิแบบวิทยาศาสตร์ สมาธิแบบที่เขาทำวิจัย เขาทำวิจัยเขาก็ตั้งโจทย์ เขาก็ทำของเขาเป็นสมาธิได้ สมาธิก็ล่อเข้ามาเรื่อยเป็นสมาธิได้ มันก็เป็นสัญญา มันไม่เป็นปัจจุบันหรอก

แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบัน ถ้ามันพิจารณา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เหตุเราสร้างให้ดี เวลาสงบเข้ามา พอสงบเข้ามา เราทำความสงบได้ จากปุถุชนจะเป็นกัลยาณปุถุชน ปุถุชนคนหนา คนหนาคือมันหนาแน่นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เวลาถ้ามันพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันปล่อยวางเข้ามาได้ มันปล่อยวาง ทำไมมันติดขัดล่ะ มันติดข้องไง นี่ไง รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันเป็นบ่วงและเป็นพวงดอกไม้ ถ้ามันเป็นบ่วงก็คือเวลาโกรธ เวลามันรัดคอเลย ถ้ามันลุ่มหลงก็เป็นพวงดอกไม้ไง สิ่งนี้มันเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้ มันไม่ใช่ตัวมารนะ แค่มารมันล่อ บ่วงของมารและพวงดอกไม้แห่งมาร

แต่ถ้าเรารู้เท่าขึ้นมา สิ่งที่มารเอามาล่อ รูป รส กลิ่น เสียง นี่มารเอามาล่อ เอามาล่อ เรามีสติปัญญารู้เท่า ถ้ารู้เท่า จิตมันไม่ยึดไม่มั่นของมัน กัลยาณปุถุชน จากปุถุชนคนหนา คนหนาคือกระทบไม่ได้ กระทบไม่ได้ กระทบไม่ได้เลย ปุถุชน เวลาถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนกระทบ เออ! เข้าใจ นี่อายตนะไง กระทบ กระทบ พวงดอกไม้แห่งมาร ถ้ามันยกย่องสรรเสริญ ถ้ามันเจ็บช้ำน้ำใจก็บ่วงรัดคอ มันรู้เท่าๆ ขึ้นมา นี่กัลยาณปุถุชน ถ้ากัลยาณปุถุชน ถ้าทำอย่างนี้ได้ ทำอย่างนี้ได้นะ มันจะเข้าสมาธิได้สะดวกขึ้น

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าทำความสงบของใจของเราได้จนจิตตั้งมั่น จิตมันมีกำลังของมัน น้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันจะไปค้นคว้าของมัน จะเกิดมรรค มรรคอันนี้ มรรคอันนี้เป็นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนรื้อค้นขึ้นมา ตรัสรู้เองโดยชอบ มันไม่มีใครรู้เรื่องนี้ แล้วใครสั่งสอนอย่างนี้ไม่ได้ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นเอง ตรัสรู้เอง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ

นี่ไง ไม่มีกิจจญาณ สัจจญาณ เราไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะมันมีกิจจญาณ สัจจญาณ มีสัจจะ มีการกระทำในหัวใจ วิหารธรรมจะเกิดตรงนี้ เกิดตรงที่การกระทำ เกิดตรงที่ประพฤติปฏิบัติ เวลามันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันเลาะ มันถอดมันถอนของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันเลาะมันถอดมันถอนขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนแล้วมันเหลืออะไรๆ เวลาสังโยชน์มันคายออก มันสละทิ้งไป คนเราเป็นคนที่สละความเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจ มันสละทิ้งไป มันเป็นคนสละเอง เป็นคนขว้างทิ้งไปเอง แล้วมันเหลืออะไร คนทิ้งเขา คนทิ้งเขา คนทำลายเขา แล้วใครเป็นคนทำลาย ใครเป็นคนทิ้ง แล้วใครเป็นคนเหลือล่ะ

วิหารธรรม อกุปปธรรม

แล้วก็บอกศึกษาธรรมมาๆ ในทางวิชาการนะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หลวงตาท่านคัดค้านตลอด ความเป็นอนัตตา ความเป็นอนัตตาคือมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป แล้วสิ่งที่เราค้นคว้าการกระทำมาเป็นความจริงในหัวใจแล้ว มันก็ยังต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปอีกใช่ไหม มันต้องหายไปจากใจเราใช่ไหม คือมันเป็นของเราไม่ได้ใช่ไหม คือเราค้นคว้าการกระทำมาแล้วเป็นสมบัติของเราไม่ได้ใช่ไหม มันจะต้องเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น มันจะต้องแปรปรวนอยู่อย่างนั้นใช่ไหม

มันไม่เป็นอย่างนั้นถ้ามันเป็นอกุปปธรรม อฐานะที่จะแปรปรวน แต่เริ่มต้นเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นเพราะว่าสิ่งที่การกระทำ ระหว่างไง ระหว่างที่การกระทำ ระหว่างที่การพิจารณาของมัน มันต้องเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นไตรลักษณ์ มันต้องเป็นไตรลักษณ์ เห็นสัจจะ เห็นความจริงอันนั้น แล้วใครเป็นคนเห็น? จิตนี้เป็นคนเห็น จิตนี้เป็นคนกระทำ จิตนี้สำรอก จิตนี้ได้คายตัวมันออกไป พอคายตัวมันออกไป ดั่งแขนขาด เวลากิเลสมันขาดเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่วิหารธรรม คุณธรรม สัจธรรม ถ้ามีคุณธรรมอย่างนี้

ครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้ามีอกุปปธรรม มีคุณธรรมอย่างนี้ ท่านจะมีคุณธรรมในใจ คนที่มีคุณธรรมในใจ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส การว่าสีลัพพตปรามาสคือการลูบการคลำมันไม่มีหรอก คนดียังเคารพพ่อแม่เรา คนดียังรู้จักว่าใครเป็นคนดี ยังแยกแยะดีชั่วถูก ถ้าเป็นพระโสดาบัน แยกชั่วแยกดีไม่ถูก ไม่รู้จักใครมีคุณและใครไม่มีคุณ จะเป็นพระโสดาบันได้ไหม พระโสดาบันต้องมีจุดยืน จะต้องแยกถูกแยกผิด แยกดีแยกชั่วได้

ถ้าแยกชั่วไม่ได้ มันก็ลูบๆ คลำๆ เพราะสีลัพพตปรามาสไม่ลูบไม่คลำแล้วไง ถ้าไม่ลูบไม่คลำ มันชัดเจน มันแยกถูกแยกผิดได้ชัดเจน ขาวดำนี่ชัดเจนมากถ้าเป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าพฤติกรรมของเขายังมั่ว ยังทำอะไรผิดพลาด ยังทำอะไรลูบๆ คลำๆ ยังทำอะไรเห็นแต่ผลประโยชน์ ยังทำอะไรเหยียบย่ำแต่คนอื่นไป มันจะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร

ถ้าเป็นพระโสดาบันขึ้นมาจริง นี่คุณธรรมนะ นี่วิหารธรรม แค่พระโสดาบัน ยังไม่ได้ก้าวขึ้นไปเป็นพระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์เลย พฤติกรรมของพระโสดาบันถ้ามันแสดงออกมา มันแสดงออกมาอย่างไร แล้วมีคุณธรรม คุณธรรมอยู่ที่ไหน

เพราะไม่มีคุณธรรมถึงไม่เห็นธรรม ถึงไม่รู้จักธรรม ถึงเหยียบย่ำทำลายกันตลอด แต่ถ้ามันรู้มันเห็นนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ หลวงตาเวลาท่านถึงที่สุด กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า กราบถึงคุณธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะรู้ได้อย่างใด เราจะรู้ได้อย่างใด เพราะความลึกซึ้งอันนั้น ขนาดมรรคญาณที่มันเท่าทันแล้วนะ มรรคญาณนี้ทำลายกิเลสไปแล้วนะ ท่านยังเห็นความละเอียดลึกซึ้งของมันว่า ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะรู้ได้อย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่รู้แล้วนะ ทั้งๆ ที่ท่านรู้แล้ว ท่านยังบอกเลย ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะรู้ได้อย่างใด ทั้งๆ ที่รู้แล้ว

แต่เวลาในสังคมในปัจจุบันนะ เหยียบย่ำทำลายกันไปทั้งนั้น แล้วบอกว่ามีคุณธรรมในใจไง เราดูพฤติกรรม ดูการกระทำอันนั้นน่ะ แล้วเปรียบเทียบได้ เปรียบเทียบได้ทั้งนั้นน่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เวลาเราคิดพิจารณาเปรียบเทียบ เห็นไหม “มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้ความจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้เราจะไม่นิพพาน”

เขาให้เราคิด เราวิเคราะห์วิจัย ไม่ผิดหรอก ไม่ผิด แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้าแล้วเราไปจับผิดท่าน แล้วเราไปวิพากษ์วิจารณ์ อันนั้นติเตียนพระอริยเจ้า ถ้าเป็นพระอริยเจ้าจริง ถ้าเราไปติเตียนคือเราใส่ไคล้ไง เราใส่ไคล้ ใส่ความ นั่นล่ะความผิดมันเกิดตรงนั้น

แต่ถ้าพฤติกรรมมันเป็นอย่างนั้น เราพิจารณาของเรา เรามีสติมีปัญญา เราแยกเราแยะ มันถูกหรือผิด มันผิดตรงไหน มันเป็นการเชิดชูด้วย เป็นความดีด้วย เป็นความดีเพื่อให้ศาสนามั่นคง ศาสนาเข้มแข็ง ศาสนาด้วยปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราก็มีปัญญาวิเคราะห์วิจัยของเราเพื่อประโยชน์กับเราไง นี่พูดถึงคุณธรรมๆ

คุณธรรม วิหารธรรม ธรรมที่เกิดในใจเรา ใจที่เป็นนามธรรมๆ อยู่นี่ ที่มันล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่ ที่มันไม่มีตัวตนอยู่นี่ ที่มันลำบากลำบนอยู่นี่ ถ้ามันทำไปแล้วมันมีวิหารธรรม มีคุณธรรม มีสัจธรรมในใจดวงนั้น เอวัง

ิด